Wild Strawberries (1957)
: Ingmar Bergman ♥♥♥♡
(8/7/2017) เมื่อตัวเลขอายุเราเพิ่มขึ้น มักชอบมองย้อนกลับไปหวนระลึกถึงอดีตวันวาน เกิดอารมณ์คิดถึงโหยหา (Nostalgia) วาดฝันอยากกลับคืนสู่ห้วงเวลานั้นอีกครั้ง ทำในสิ่งยังไม่ได้ทำ แก้ไขความผิดพลาด เพื่อชีวิตวันนี้ที่อาจดีขึ้นกว่าเดิม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ความทรงจำก็เหมือนความฝัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวสมองคิดจินตนาการเท่านั้น เพราะเหตุการณ์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจบสิ้นผ่านไปแล้ว เปรียบดั่งสายลมสายน้ำ พัดไหลผ่านไม่มีทางหวนคืน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจะตักตวงกักเก็บภาพ/อารมณ์ความรู้สึก ของช่วงเวลานั้นไว้ได้นานขนาดไหน ตราบจนชีวิตหาไม่?
จริงๆบทความเดิมที่ผมเคยเขียนไว้ รู้สึกยอดเยี่ยมใช้ได้แล้วละ แต่การรับชมครั้งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบบางสิ่งอย่างที่มีความน่าสนใจมากๆ อันอาจทำให้คุณหลงใหลชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นกว่าเดิม และ/หรือ รังเกียจต่อต้านหนังเรื่องนี้ไปเลย (ผมหลายเป็นแบบหลัง)
แนวคิด’ภาพยนตร์’ของ Ingmar Bergman เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีความเข้มงวดเคร่งครัด ภาพยนตร์เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขารู้สึกพักผ่อนคลาย พาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ ความฝัน ที่เป็นเรื่องราวความทรงจำ (ของผู้กำกับที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ) หลีกลี้หนีจากความทุกข์ทรมานในชีวิตประจำวัน
ด้วยเหตุนี้ Bergman จึงมีความหลงใหลในผลงานของผู้กำกับแห่งความฝันอย่าง Andrei Tarkovsky, Federico Fellini, Akira Kurosawa ฯ เกลียดขี้หน้าผู้กำกับจอมปลอมอย่าง Orson Welles, Jean-Luc Godard ฯ
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ Bergman ได้รับชมในโรงภาพยนตร์ (ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ) คือ The Phantom Carriage (1921) ของผู้กำกับ Victor Sjöström สร้างความประทับตราตรึงลึกเข้าไปในจิตใจ แม้ตอนนั้นจะยังไม่สามารถรับรู้เข้าใจเรื่องราวได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ประสบการณ์ทางอารมณ์ ความรู้สึกต่องานภาพ และทุกสิ่งอย่างของหนัง เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเคยลืมเลือน … เป็นไปได้ไหมสักครั้งในชีวิต จะได้ทำงานร่วมกับไอดอล Victor Sjöström
“Getting to know Victor Sjostrom – first through his pictures, and then by meeting him in person – was to me a tremendous personal experience. It all began very early with The Phantom Carriage. I must have been around 12, 13. It made a very deep impression on me. I was deeply shaken by that film. Not that I understood it or anything. I rather think I was struck by its enormous cinematographic power. It was an entirely emotional experience. I can still remember it. I remember certain sequences, certain scenes that made an enormous impression on me.”
โตขึ้นก่อนเข้าวงการได้ทำงานเบื้องหลังเป็นผู้กำกับละครเวทีอยู่หลายปี และเมื่อได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ก็ทำงานควบไปด้วย ทำให้ได้รู้จักกลุ่มของนักแสดงหลายคนที่กลายมาเป็นขาประจำ อาทิ Gunnar Björnstrand, Max von Sydow, Harriet Andersson, Bibi Andersson, Ingrid Thulin ฯ
วันหนึ่งขณะที่ขับรถจาก Stockholm เพื่อไปสู่ Dalarna ระหว่างทางหยุดพักที่ Uppsala บ้านเกิดของเขาเอง ตัดสินใจแวะบ้านของยาย สถานที่ที่ครอบครัวของเขาเคยมาพักในช่วงหน้าร้อนของทุกปี ทันใดนั้นเกิดภาพจินตนาการณ์ขึ้นว่า ‘ผลักเปิดประตูบ้านออก ทุกสิ่งอย่างยังคงเหมือนเดิมตอนเขายังเด็ก’
“So it struck me — what if you could make a film about this; that you just walk up in a realistic way and open a door, and then you walk into your childhood, and then you open another door and come back to reality, and then you make a turn around a street corner and arrive in some other period of your existence, and everything goes on, lives. That was actually the idea behind Wild Strawberries”
Bergman พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมๆกับ The Seventh Seals (1957) ขณะพักรักษาตัวจากโรคกระเพาะและความเครียดอยู่ที่โรงพยาบาล Karolinska Hospital กรุง Stockholm (สถานที่ทำงานของ Isak Borg) เห็นว่านอนค้างอยู่ถึง 2 เดือน, ใช้ภาพลักษณ์ของ Victor Sjöström เป็นต้นแบบในการพัฒนาตัวละคร Isak Borg และคุยตกลงกับโปรดิวเซอร์ Allan Ekelund ถ้าไม่ได้ Sjöström แสดงนำ ก็จะไม่สร้างหนังเรื่องนี้
Victor David Sjöström ในอเมริกามักเรียกว่า Victor Seastrom (1879 – 1960) นักแสดง/ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ Swedish หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ของประเทศสวีเดนตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Phantom Carriage (1921), He Who Gets Slapped (1924), The Wind (1928) ฯ ด้วยความไม่ประทับใจนักกับยุคสมัยหนังพูด เกษียณตัวเองออกจากวงการตั้งแต่ปี 1937 หวนมารับเชิญเล็กๆในหนังของ Ingmar Bergman เรื่อง To Joy (1950) และขณะเล่นหนังเรื่องนี้อายุ 78 ปี
เห็นว่า Bergman มีความเกรงใจ Sjöström อย่างมาก ไม่กล้าเดินทางไปชักชวนพูดคุยด้วยตนเอง ไหว้วานโปรดิวเซอร์ติดต่อให้ ซึ่ง Sjöström ก็ยอมให้โอกาสผู้กำกับได้พูดคุยนำเสนอบท เสร็จแล้วขอเวลาครุ่นคิดสักพัก, ผ่านไปหนึ่งวันโทรไปบอก Bergman ว่าตกลงรับบท โดยมีข้อแม้ต้องเลิกงานก่อน 5 โมงเย็น จะได้กลับบ้านเอนหลังพิงโซฟาจิบเหล้าวิสกี้ … “and had his whiskey punctually, all went well.”
ถ้าคุณเคยรับชม The Phantom Carriage (1921) จะพบความคล้ายคลึงของตัวละครที่ Sjöström รับบทในหนังเรื่องนั้น (แค่หนุ่มแน่นกว่า) ซึ่งเรื่องราวมีการย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต ความสุขที่เคยได้รับ แต่ปัจจุบันกลับ… แนะนำอย่างยิ่งให้ไปหาหนังเงียบเรื่องนี้มารับชมนะครับ
เกร็ด: The Phantom Carriage (1921) เป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่ใช้เทคนิค Flashback ซ้อน Flashback (ย้อนอดีตสองชั้น)
กับหนังเรื่องนี้ Sjöström รับบทศาตราจารย์ Isak Borg อายุ 78 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียวิทยา (Bacteriology) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร ศึกษาเรียนรู้เข้าใจได้ง่าย ผิดกับมนุษย์ที่เขาไม่ชอบเสียเลย เพราะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ยุ่งยากในการสร้างสัมพันธ์, เรื่องราวของหนังเริ่มต้นเมื่อ Lund University มีความตั้งใจประดับเกียรติยศ Jubilee Doctor (ศาตราจารย์ที่มีผลงาน สร้างชื่อเสียงยาวนานกว่า 50 ปี) ให้กับ Isak Borg แต่เพราะคืนนั้นเกิดการฝันประหลาด เช้าตื่นขึ้นมาแทนที่จะเดินทางสู่เมือง Lund ด้วยเครื่องบินตามแผนที่วางไว้ กลับตัดสินใจขับรถไปด้วยตนเอง
พูดถึงความฝันของ Isak Borg คงต้องใช้หลักจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Fred เข้าช่วยอธิบายที่ว่า ‘ความฝันเป็นเรื่องของความปรารถนาที่ถูกเก็บซ่อน กดดันเอาไว้ในส่วนของจิตใต้สำนึก ที่เมื่อจิตสำนึกอ่อนแรงลงในขณะหลับก็จะถือโอกาสแสดงออกมาในรูปของความฝัน ในรูปของสัญลักษณ์’ สำหรับฝันครั้งแรก มีอยู่ 3-4 อย่างที่ชวนให้ครุ่นคิดสงสัย
– ท้องถนนไร้ซึ่งผู้คนสัญจร มีเพียง Isak Borg ตัวคนเดียวเท่านั้น … เพราะนี่คือสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของเขา มองได้อีกอย่างคือความโดดเดี่ยวอ้างว้างลำพัง จากพฤติกรรมการกระทำของตนเอง
– นาฬิกาไร้ซึ่งเข็มเดิน … มองได้คืออนันต์ สถานที่ไร้ซึ่งกาลเวลา อาจหมายถึงช่วงชีวิต(ของ Borg)ที่ใกล้สิ้นอายุไข
– พบเจอชายใส่สูทคนหนึ่ง แต่ปรากฎว่าเป็นเพียงลูกโป่งบอลลูน … ชีวิตของมนุษย์ช่างเปราะบาง ไร้ซึ่งความมั่นคงถาวร
– เกวียนรถม้าเคลื่อนผ่าน แต่ล้อดันติดเสาไฟ พยายามออกแรงแต่ล้อหลุด … ล้อ=วงจรวัฎจักรชีวิต, ติดเสา (กิเลส) คือการยึดติด, ใช้แรงในการดึงฉุดกระชาก คือการฝืนธรรมชาติ
– ในโลงศพมีร่างของเขาเอง … อีกไม่นานตัวเขาก็คงถึงเวลาตาย
บทสรุปของฝันนี้ คือความหวาดกลัวเกรงในความตาย ขึ้นเครื่องบินเต็มไปด้วยความเสี่ยงอันตราย ขับรถไปเองนี่แหละน่าจะปลอดภัยกว่า ระยะทาง 400 ไมล์ (ประมาณ 600 กิโลเมตร) จาก Stockholm สู่ Lund (ตอนใต้ของสวีเดน) มีเวลา 14 ชั่วโมง ถือว่าเหลือเฟือ ขับรถประมาณ 5-6 ชั่วโมงก็ถึง แวะโน่นนี่ได้พอสมควร (ถ้านั่งเครื่องบิน ชั่วโมงนิดๆก็ถึงแล้ว)
แต่การที่ชายวัย 78 ขับรถทางไกลคนเดียวก็อันตรายเกินไปหน่อย หนังจึงใส่ตัวละครลูกสะใภ้ Marianne (รับบทโดย Ingrid Thulin) ที่ตอนนั้นเหมือนว่ากำลังมีปัญหากับสามี Evald (รับบทโดย Gunnar Björnstrand) เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง
Ingrid Thulin (1926 – 2004) นักแสดงสาวสวยหน้าคม สัญชาติ Swedish เกิดที่ Sollefteå, Ångermanland ทางตอนเหนือของประเทศสวีเดน มีความชื่นชอบบัลเล่ต์ ต่อมาได้เข้าเรียนกลายเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Royal Dramatic Theatre, ผลงานดังของเธอส่วนใหญ่ร่วมงานกับ Bergman ทั้งนั้น อาทิ Wild Strawberries (1957), The Magician (1958), Winter Light (1962), The Silence (1963), The Rite (1969), Cries and Whispers (1972) ฯ
Marianne เป็นหญิงที่ภายนอกเข้มแข็งแกร่งแต่ภายในเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า (ต้องสูบบุหรี่เพราะความเครียด) ปมปัญหาของเธอคือ ปล่อยท้องกับ Evald แต่สามีไม่ต้องการ แถมยื่นข้อเสนอให้เลือกระหว่างเขากับลูก ตอนนั้นจึงยังคิดไม่ตกต้องการหาคนช่วยระบาย, การที่ Marianne เสนอตัวร่วมเดินทางกับพ่อสะใภ้ แน่ๆว่าเธอต้องการขอให้เขาช่วย แม้คงไม่คาดหวังอะไรเพราะเคยถูกปฏิเสธเรื่องอื่นก่อนหน้ามาแล้ว กระนั้นก็มีความตั้งใจให้หลายชั่วโมงของระหว่างการเดินทางนี้ ได้ทำความเข้าใจพ่อตาก็อาจล่วงรู้ตัวตนสามี (พ่อลูกแทบทั้งนั้น ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น) ไม่แน่อาจโชคดีขอให้เขาช่วยเหลือได้
Gunnar Björnstrand (1909 – 1986) นักแสดงสัญชาติ Swedish ขาประจำที่สุดของ Bergman (ร่วมงานกัน 23 ครั้ง) เกิดที่ Stockholm ในครอบครัวนักแสดง โตขึ้นเข้าเรียนกลายเป็นนักแสดงที่ Royal Dramatic Theatre ได้รู้จักร่วมงานกับ Bergman ก็ตั้งแต่ตอนนั้น ชักชวนกันมาสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญาในสังกัด Svensk Filmindustri สำหรับผลงานเอกของทั้งคู่ อาทิ Smiles of a Summer Night (1955), The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), Through a Glass Darkly (1961), Winter Light (1963), Fanny and Alexander (1982) ฯ
Evald เป็นผู้ชายที่มีความเบื่อหน่ายในการใช้ชีวิต แต่กลับมีความจริงจังต่อทุกสิ่งอย่าง ความสนใจของเขาคือไม่ต้องการสร้างภาระผูกพัน เช่นมีลูก, คงเพราะความทรงจำจากพ่อตนเอง (ก็คือ Isak นะแหละ) ที่เลี้ยงดูเขาแบบ … ยังไงก็ไม่รู้ แต่คาดเดาได้ว่าคงจะเข้มงวดจริงจังเกินไป ทำให้เขาไม่สามารถดิ้นรน คิดทำอะไรด้วยตนเอง (แต่ก็เห็นว่า Evald ทำงานเป็นหมอแบบเดียวกับพ่อ)
ระหว่างการเดินทางสถานที่หยุดพักแรก เป็นบ้านพักต่างอากาศช่วงฤดูร้อนช่วงวัยเด็กของ Isak ทำให้เขาหวนระลึกถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่ตนเคยตกหลุมรัก Sara ภาพย้อนอดีตเห็นเธอขณะเก็บลูกสตอเบอรี่ กำลังถูกเกี้ยวพาโดย Sigfrid (รับบทโดย Per Sjöstrand) พี่ชายแท้ๆของ Isak ที่ภายหลังทั้งคู่แต่งงานด้วยกัน, ซึ่งเมื่อกลับสู่โลกปัจจุบัน คนที่มาปลุก Isak ให้ตื่นขึ้นคือเด็กหญิงสาวที่ชื่อ Sara โดยไม่รู้ตัวใบหน้าของเธอเหมือนอดีตคนรักในฝันของเขามาก (รับบทโดย Bibi Andersson ควบสองบทเลย) มีความต้องการจะโบกรถเพื่อเดินทางข้ามประเทศไปท่องเที่ยว Italy
Berit Elisabeth Andersson หรือ Bibi Andersson (เกิดปี 1935) นักแสดงหญิงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Terserus Drama School และกลายเป็นนักแสดงประจำ Royal Dramatic Theatre ทำให้มีโอกาสร่วมงานละครเวทีกับ Ingmar Bergman ที่ได้ชักชวนให้มาเป็นนักแสดงขาประจำ และคู่ขา(ชู้รัก) ผลงานเด่นของเธอ อาทิ The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), Brink of Life (1958), The Magician (1958), Persona (1966), The Passion of Anna (1969) ฯ คว้ารางวัล Silver Bear: Best Actress เทศกาลหนังเมือง Berlin จากเรื่อง The Mistress (1963)
Sara ทั้งสองน่าจะไม่ได้เป็นญาติอะไรกัน (คือไม่ได้มีหลักฐานระบุว่าเด็กสาว Sara เป็นลูกของ Sara กับ Sigfrid แต่พฤติกรรมของทั้งสองช่างคล้ายคลึงกันยิ่งนัก) ต่างมีนิสัยแก่นแก้ว เล่นตัว เอาแต่ใจ ตกหลุมรักผู้ชายพร้อมกันสองคน แต่ Sara ในอดีต เพราะค่านิยมสมัยก่อนถ้าแค่มีการกอดจูบล่วงเกิน ก็ถือว่าไม่เหมาะสมแล้ว จึงจำต้องสมยินยอมแต่งงาน แต่ยุคสมัยใหม่ เด็กสาว Sara สามารถเล่นตัวเพื่อให้สองหนุ่มที่อยู่ข้างกายเกิดการต่อสู้แย่งชิง ถูกเนื้อต้องแตะโดยไม่ถือตัวอีกต่อไป … ก็ไม่รู้เด็กสาว Sara จะเลือกใคร? แต่การได้เธอมาร่วมเดินทาง ทำให้ Isak หวนระลึกถึงตนเองในอดีต ทำไมฉันถึงขาดความกล้าที่จะพูดคุย ตัดสินใจ ทำอะไรกับ Sara นะ!
การแสดงของ Andersson ไม่ว่าจะบทบาทไหน ต่างขโมยซีนได้ใจผู้ชมไปเต็มๆ (Bergman เขียนบทเด่นนี้เพื่อเธอ เพราะกำลังรักกันอย่างดูดดื่ม) ใบหน้ากลมๆ ทำให้มีความน่ารักน่าเอ็นดู สร้างรอยยิ้มให้โลกสุขสันต์ เป็นตัวแทนได้ทั้งสาวรุ่นเก่าใหม่, ผมว่าบทบาทนี้ของเธอ ยอดเยี่ยมกว่าเรื่อง Persona (1966) เสียอีกนะ
เมื่อพลาดจาก Sara ทำให้ Isak ต้องแต่งงานกับ Karin (รับบทโดย Gertrud Fridh) เชื่อได้ว่าไม่ได้รักกันจริงหรอก ไม่เช่นนั้นชีวิตคู่ของพวกเขาคงต้องไปได้อย่างราบรื่นแน่ ซึ่งเธอก็ได้แอบลักลอบมีชู้และถูกจับได้ นั่นทำให้เกิดเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อน วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 1917 … เชื่อว่าหลายคนคงคิดไม่ถึงแน่กับสิ่งที่ผมจะวิเคราะห์ต่อไปนี้ เพราะมันทำให้หนังมีความมืดหม่นขึ้นมากๆ Isak เริ่มจากให้ยากล่อมประสาท Karin จากนั้นนำเชื้อไวรัส/แบคทีเรียชนิดร้ายแรง แพร่เข้าสู่ร่างกายอย่างแนบเนียนไม่มีใครตรวจสอบได้ อันเป็นสาเหตุให้เธอเสียชีวิต
หนังไม่ได้พูดถึงการกระทำที่ผมว่านี้ออกมานะครับ แต่ทุกบริบทชี้ไปที่การกระทำนี้
– Isak เป็นนักแบคทีเรียวิทยา เชี่ยวชาญเรื่องไวรัส/สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเป็นอย่างดี
– ในฝันของ Isak ที่ถูกพิพากษา วิเคราะห์ตามหลักจิตวิเคราะห์ของ Freud
> กล้องจุลทรรศน์ส่องเห็นตาตัวเอง (นั่นมีนัยยะถึงเห็นการกระทำของตนเอง)
> Karin ที่ตายแล้วนอนอยู่บนเตียง Isak วินิจฉัยว่าเสียชีวิต แต่เธอกลับลุกขึ้นมาหัวเราะเยาะเย้ยอย่างบ้าคลั่ง (นั่นคือเตียงที่ Isak ฆ่า Karin ถึงตัวจะตายไปแล้ว แต่ในจิตใจเธอยังมีชีวิตอยู่ ลุกขึ้นมาส่งเสียงหัวเราะเยาะอย่างบ้าคลั่ง)
> หน้าที่แรกของแพทย์ “A doctor’s first duty is to ask for forgiveness.” แต่ Isak กลับจำไม่ได้ ซึ่งถัดมามีคำพูดที่ว่า “You mustn’t beg my forgiveness. There is nothing to forgive.” นี่คือการไม่ให้อภัยต่อการมีชู้ของ Karin
แล้วทำไม Isak ถึงต้องฆ่า Karin? ความอิจฉาริษยา และชีวิตคู่ที่ไร้ความสุขสมหวัง (แต่งงานเพราะไม่ได้รักจริง) ถึงมีลูกชายหนึ่งคน แต่เพราะความเย็นชาไม่ได้มีความรักต่อกัน อยู่ต่อไปคงเหมือนตายทั้งเป็น แต่เพราะ Isak อาจใคร่ครวญคิดว่า การปล่อยให้ภรรยาหนีไปกับชู้รัก จะทำให้เขาเสื่อมเสียหน้าตาในสังคม นี่จึงเป็นทางออกสมเหตุสมผลที่สุด(อย่างมีสติ) จัดการฆ่าปิดปาก ด้วยความสามารถทางการแพทย์ของตนเอง ซึ่งพฤติกรรมของเขาต่อจากนั้น ค่อยๆถอนตัวออกจากสังคม ไม่อยากพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับใครอีก นั่นเพราะกลัวว่าความจริงนี้จะได้รับการเปิดเผย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ฝังลึกอยู่ในใจ ไม่สามารถลบเลือนเปลี่ยนแปลงได้
กับเหตุผลที่ผมว่ามานี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถึงสาเหตุที่ทำไมชายแก่ Isak ถึงฝันร้ายตั้งแต่แรก นั่นเพราะเขาเกิดความหวาดหวั่นกลัวต่อความตาย อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ครุ่นคิดนึกย้อนถึงสิ่งที่เคยกระทำมา เริ่มเกิดความสำนึกขึ้นในจิตใจ, อายุก็ปูนนี้ พี่น้องเสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ตัวเองกลับยังต้องทนทุกข์ แต่ยังมีแม่อีกคน (รับบทโดย Naima Wifstrand) อายุเกือบร้อยแต่ยังแข็งแรงอยู่ พบเจอเพื่อฟังคำบ่นพึมพัมตัดพ้อถึงชีวิตคนแก่
จริงๆ Naima Wifstrand (1890 – 1968) อายุน้อยกว่า Sjöström ประมาณ 10 ปี แต่การจะหานักแสดงรับบทหญิงชราอายุ 90 ปี ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว, Wifstrand ตอนสาวอย่างสวยเลย เป็นนักร้อง Operetta ประสบความสำเร็จล้นหลาม ทีแรกตั้งใจจะรีไทร์เมื่อปี 1940 แต่พอรู้จักกับชายหนุ่ม Bergman ก็หลงคารมไม่ยอมเกษียณ มีผลงานร่วมกันทั้งละครเวทีและภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Smiles of a Summer Night (1955), The Magician (1958), Hour of the Wolf (1968) ฯ
มีคู่รักหนึ่งพบเจอกลางทางที่ผมยังไม่ได้พูดถึง คือ Sten Alman (รับบทโดย Gunnar Sjöberg ที่ควบบท Examiner/ผู้ตรวจสอบในฝันของ Isak) และ Berit Alman (รับบทโดย Gunnel Broström) ทั้งสองคงกำลังทะเลาะมีปากเสียงรุนแรงทำให้ขับรถไม่ดูทาง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนจนรถพลิกคว่ำตกข้างทาง, Mr. & Mrs. Alman เป็นคู่สามีภรรยาที่มีปัญหากันอย่างรุนแรง คนหนึ่งเย็นชาพูดแบบไร้ความรู้สึก อีกคนหนึ่งเลือดร้อนพูดจาภาษาหมาเต็มปาก (ก็ไม่รู้แต่งงานอยู่กินกันได้อย่างไร) ว่าไปนี่สะท้อนชีวิตคู่ของ Isak กับ Karin เปะๆเลยนะครับ
ถ้าวิเคราะห์เหตุผลที่ Gunnar Sjöberg ต้องควบสองบทบาท สามีผู้เกรี้ยวกราดและผู้พิพากษาในฝันของ Isak ก็ถือว่าเข้าใจได้ เพราะทั้งสองตัวละครเป็นภาพสะท้อนตัวเองของ Isak เมื่อตอนวัยกลางคน นั่นทำให้เมื่อตอนชายแก่หลับฝัน จึงเก็บไปคิดจินตนาการเห็นภาพของผู้ตรวจสอบเป็นตัวละคร Sten Alman ที่รับรู้เข้าใจความจริง เรื่องราวเบื้องหลังของตนเองอย่างถ่องแท้
แซว: ผมแอบข้องใจทำไมตัวละคร Berit Alman ถึงไม่ใช้นักแสดงเดียวกับที่รับบท Karin ไปเลย เพราะอุตสาห์ใช้นักแสดงซ้ำกันถึงสองคราแล้ว ซึ่งถ้าทำซ้ำแบบนี้อีกรอบ จะยิ่งทำให้หนังลึกล้ำขึ้นกว่านี้อีก (แต่ลึกแค่นี้ ผู้ชมทั่วไปก็ไก่ตาแตกแล้ว)
วิเคราะห์แยกแยะถึงขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงสับสนมึนงงยิ่งกว่าเดิม เคยเข้าใจอะไรมาก่อน พออ่านบทความนี้ราวกับดูหนังคนละเรื่อง ผมจะสรุปใจความโดยย่อให้อีกรอบแล้วกันว่า
เป็นเรื่องราวของชายแก่คนหนึ่ง ในอดีตเคยทำสิ่งชั่วร้ายรุนแรงไว้ (ฆ่าภรรยาของตนเอง) แล้วอยู่ดีๆทางมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งต้องการยกย่องประดับเกียรติคุณในผลงานที่เคยทำ แต่มันคู่ควรกับเขาหรือยังไง? คืนก่อนหน้าวันงาน ชายแก่ได้เกิดความฝัน เป็นภาพจากอดีตที่เก็บกดไว้ ค่อยๆหวนคืนกลับมาหลอกหลอนทวงถาม การเดินทางด้วยรถพาลให้พบเจอกับผู้คนต่างๆ ที่มีชีวิตคลับคล้ายคลึงกับตนเองสมัยก่อน (บางคนหน้าเหมือนเปะๆ, บางคนพฤติกรรม/การกระทำเหมือน) หลับฝันครั้งถัดมาจึงเกิดการพิพากษาตัดสินคุณค่าของตัวเอง แล้วตื่นขึ้นก่อนถึงจุดหมายทันรับรางวัล … ก็คงอยู่ที่ผู้ชมแล้วละ จะตัดสินว่าชายแก่ผู้นี้เหมาะสมคู่ควรกับเกียรติยศความสำเร็จนี้หรือเปล่า?
เราสามารถมองการเดินทางครั้งนี้ของชายแก่ นอกจากหวนระลึกถึงสิ่งที่เคยทำในอดีตแล้ว ยังเป็นสารภาพบาปการกระทำของตนเอง แต่ก็มองได้ว่าเป็นการโบ้ยความผิดให้กับทุกสิ่งอย่าง, จุดเริ่มต้นน่าจะเกิดที่ไม่ได้แต่งงานกับ Sara หญิงสาวรักครั้งแรก ทำให้ผลกระทบกลายเป็นลูกโซ่ ทำอะไรต่อมาก็ผิดพลาดไปเสียหมด ตัดสินใจแต่งงานกับ Karin โดยไม่ได้รัก, ถูกหักหลังโดยด้วยการมีชู้, ฆ่าปิดปากปกปิดหลักฐาน ฯ ผลกรรมที่ได้รับในชาตินี้ก็คือความอ้างว้าง โดดเดี่ยว ไม่มีใครหลงเหลือนอกจากหมาและคนใช้ในบ้านหลังใหญ่
การที่หนังไม่พูดออกมาตรงๆเรื่องชายแก่ฆ่าภรรยา คงด้วยปัญหากองเซนเซอร์สมัยนั้นถ้ารับรู้ความตั้งใจนี้คงไม่ได้ออกฉายแน่ กับผู้ชมสมัยนี้ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงคาดไม่ถึงเช่นกันว่ามีเรื่องราวลักษณะนี้แฝงอยู่, ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่พูดถึง มองได้คือชายแก่ไม่ยอมรับการกระทำของตนเอง (คือไม่รู้สำนึก) แต่เขาก็พยายามหาทางทำสิ่งอื่นทดแทน หลังจากรับฟังคำของสะใภ้ที่บอกว่าเธอท้อง เหมือนว่าเขามีความตั้งใจจะคุยกับลูกชายเรื่องนี้ แต่เพราะ Evald นั่งริมขอบเตียงพูดบอกออกมาตรงๆว่า เพราะรัก Marianne มาก คงเลิกไม่ได้ นี่ทำให้ชายแก่รู้ตัวเองว่าไม่ต้องทำอะไร ไม่ได้ทันทำอะไรให้เกิดขึ้นทั้งนั้น
ชีวิตของชายแก่น่าเห็นใจไหม? กับคนที่ไม่เคยอ่านบทความนี้ส่วนใหญ่คงโคตรสงสารเห็นใจ แต่หลังอ่านบทความนี้เชื่อว่าหลายคนคงส่ายหัว นี่ทำให้ผมไม่ขอแสดงความเห็นดีกว่า เรื่องพรรณนี้จิตใจคนเราเปลี่ยนแปลงง่ายเกิ้น!
แต่ถ้าถามว่า คู่ควรกับการประดับเกียรติยศไหม? นั่นขึ้นอยู่กับคุณจะมองชีวิตส่วนตัวกับการงานเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า, ผมเคยวิพากย์ประเด็นคล้ายๆกันนี้กับหนังเรื่อง Smiles of a Summer Night (1955) ตัวจริงของผู้กำกับ Ingmar Bergman เป็นคนโคตรเสเพลสำส่อน แต่งงานมีเมียแล้วยังคบชู้กับนักแสดงที่ร่วมงานกันด้วยอย่างหน้าไม่อาย แต่นั่นมันชีวิตส่วนตัวของเขา ผลงานตลอดชีวิตมีระดับ Masterpiece หลายเรื่อง อาทิ The Seventh Seal (1957), Persona (1966) และอีกหลายๆเรื่อง ได้รับการยกย่องสูงสุดจากบรรดาผู้กำกับดังทั่วโลก … แล้วคนแบบนี้สมควรหรือที่จะได้รับการเชิดชูระดับนี้!
นี่แปลว่าความตั้งใจลึกๆของ Bergman คงต้องการถามคำถามนี้กับผู้ชมเช่นกัน ระหว่างผลงานภาพยนตร์ กับชีวิตตัวตนแท้จริงของเขา สิ่งไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน? … คำตอบสามารถพิจารณาจากความสำเร็จอันล้นหลามของหนัง กวาดรางวัลมากมายโดยเฉพาะ Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin เข้าชิง Oscar นี่คงทำให้ Bergman หยิ่งผยองเลยละ (ในวงการภาพยนตร์ ‘ชีวิตส่วนตัวต่อให้เลวร้ายแค่ไหน ก็ไม่มีค่าอะไรเมื่อเทียบกับผลงานที่ออกมา’)
- ในเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้า 2 รางวัลใหญ่
Golden Bear
FIPRESCI Prize มอบให้กับ Victor Sjöström กับความทุ่มเทสุดตัวในการแสดง - ในเทศกาลหนังเมือง Venice เข้าฉายในสายการประกวด Parallel Sections คว้ามา 1 รางวัล
Pasinetti Award ร่วมกับ Weddings and Babies (1958)
- เข้าชิง BAFTA Award 2 สาขา
Best Film from any Source
Best Foreign Actor (Victor Sjöström) - คว้ารางวัล Golden Globe Award: Best Foreign Film ร่วมกับ Black Orpheus (1959), Odd Obsession (1959), The Bridge (1959), Wir Wunderkinder (1958) [เหมือนจะไม่ได้มีการประกาศรางวัล]
- เข้าชิง Oscar: Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen พ่ายให้กับ Pillow Talk (1959)
ชื่อหนัง Smultronstället แปลว่า Wild Strawberries มาจากวลี ‘The wild strawberry patch’ เป็นสำนวน/สุภาษิตของประเทศสวีเดน มีความหมายถึง สถานที่ซึ่งมีความสำคัญ อ่อนไหวต่อบุคคลหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง, สำนวนไทยใกล้เคียงสุดคง ‘บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน’ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านนะครับ สถานที่ไหนก็ได้ในโลก ที่ชวนให้เกิดความรู้สึกสุขใจ
สำหรับตอนจบของหนัง สามารถตีความได้ว่าชายแก่กำลังนอนหลับลงเสียชีวิต ซึ่งสิ่งที่เขาวาดฝันคือตัวเองกลับสู่บ้านหลังเก่า หวนคืนสู่การเป็นเด็กตัวเล็กๆอีกครั้ง, นี่เป็นตอนจบที่ผมแทบเควี้ยงคอมทิ้ง ทุกสิ่งที่ชายคนนี้ทำมา ฆ่าภรรยา โป้ปดหลอกลวง ได้รับการยกโทษให้อภัยหมดสิ้น เพียงเพราะแค่ได้สารภาพ ถูกตัดสินพิพากษา (จากจิตสำนึกตนเอง) เท่านี้ก็เพียงพอให้เขาสู่สันติ … เช่นนั้นเลยเหรอ!
ถ้าคุณมองไม่เห็น หรือสามารถมองข้ามสิ่งที่ชายแก่ผู้นี้เคยกระทำ สนใจเพียงภาพรวมของหนัง ก็จะเห็นลักษณะของเรื่องราวคือการหวนระลึกถึงอดีต เดินทางสู่สถานที่แห่งความทรงจำทั้งหลาย เกิดความคิดเพ้อฝันถึงสุขต่างๆนานา บางอย่างที่คับข้องใจต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่เพราะทำไม่ได้เลยต้องรับสภาพตนเองที่เคยเป็นอยู่ น่าเสียดายยิ่งนัก
ปกติแล้วผมรับชมหนังเรื่องนี้ทีไร มักเกิดความรู้สึกรักชอบเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ แต่มาครั้งนี้เมื่อได้สะเดาะคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจหนังอย่างลึกซึ้งแล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ผมส่ายหัวไม่ประทับใจในประเด็นที่ผู้กำกับแฝงไว้แม้แต่น้อย แต่เรื่องคุณภาพของหนังต้องบอกว่าสมบูรณ์ไร้ที่ติ แต่กับสิ่งที่ปกปิดแอบซ่อนไว้นี้ ทำให้ความรู้สึกต่อหนังของผมแปดเปลื้อน เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
กระนั้นผมก็ยังมองว่า หนังคู่ควรกับการ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้คุณอาจเข้าไม่ถึงสิ่งที่แอบซ่อนแฝงซ่อนไว้ แต่หนังได้นำเสนอวิธีการที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง นั่นคือการหวนระลึกพิจารณาคุณค่าชีวิตของตนเอง, อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว ย้อนกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่การมองย้อนระลึกกลับไป ทำให้เกิดการพิจารณาครุ่นคิดตัดสินตนเอง ไม่ว่าจะดีชั่ว ถูกต้องเหมาะสม คุณเกิดความพึงพอใจในชีวิตแล้วรึยัง ถ้าไม่ก็ลองพยายามหาสิ่งใดๆกระทำดูนะครับ ไม่ใช่อยู่นิ่งเฉยรอวันตาย แบบนั้นจะเกิดมาทำไมให้เสียชาติทำไม
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศของหนัง พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของหลายตัวละคร
TAGLINE | “Wild Strawberries ของ Ingmar Bergman จะทำให้คุณหวนระลึกถึงอดีต และค้นหาคุณค่าชีวิตของตัวเอง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO
Wild Strawberries (1957)
จะมีผู้กำกับคนไหนไหมที่หนัง 2 เรื่องที่ฉายในปีเดียวกัน จะได้รับการยกย่องทั้งสองเรื่องว่าเป็นสุดยอดหนัง มีครับ Ingmar Bergman ในปี 1957 มีหนังที่เขากำกับฉาย 2 เรื่อง คือ The Seventh Seal และ Wild Strawberries ผมเขียนรีวิว The Seventh Seal ไปแล้ว วันนี้จะมาเขียน Wild Strawberries
หลังจากที่ The Seventh Seal ได้รางวัล Jury Prize จาก Cannes มา Wild Strawberries ได้ฉายในเทศกาลหนัง Berlin International Film Festival และได้รางวัล Golden Bear หนังฉายที่อเมริกาปี 1960 ได้รางวัล Golden Globe สาขา Best Foreign Film และเข้าชิง Oscar สาขา Best Original Screenplay แต่ไม่ได้ ในนิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับที่ 63 เป็นหนังอันดับที่ 2 ของ Bergman สูงกว่า The Seventh Seal แต่เป็นรอง Persona ที่อันดับ 18 เท่านี้คงการันตีความน่าสนใจได้
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ Bergman กำลังขับรถเดินทางไปเยี่ยมย่าที่บ้านของเธอ และกำลังจินตนาการถึงชีวิตวัยเด็ก เขาเอาไอเดียนี้ไปเสนอ Carl Anders Dymling ที่เป็น producer ของหนัง ซึ่งก็ตกลงให้เขาเริ่มพัฒนาบท Bergman เขียนบทหนังเรื่องนี้เองที่โรงพยาบาล Karolinska ในเมือง Stockholm เหตุที่เขาต้องเขียนในโรงพยาบาลเพราะ เขากำลังรักษาโรคกระเพาะและความเครียด (คงจะเครียดลงกระเพาะ) … เขียนอยู่ 2 เดือน ออกจากโรงพยาบาลมาก็พร้อมถ่ายทำต่อทันที (โรคจะหายไหมนี่)
ผมว่า Bergman คงเอาความรู้สึกที่เขาอยู่ในโรงพยาบาลใส่เข้าไปในบทหนังด้วย จะเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่กำลังเดินทางไปรับรางวัลเกียรติยศจากสถาบันแห่งหนึ่ง เรื่องราวเกิดขึ้นคืนก่อนหน้าที่เขาฝันประหลาดๆ นาฬิการอบๆตัวเขาไม่มีเข็มนาฬิกา ราวกับทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง พอตื่นขึ้นมาแล้วก็เลยเปลี่ยนแผนการเดินทาง แทนที่จะเดินทางโดยเครื่องบินที่กลับเดินทางด้วยรถแทน จุดนี้ผมคิดว่าเหตุผลลึกๆที่เขาเลือกไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน ไม่ใช่เพราะเขาแก่หรือยังไงนะ น่าจะเพราะ “กลัวตาย” เดินทางด้วยรถปลอดภัยกว่าเครื่องบิน และเพราะการเดินทางด้วยรถนี้เอง ทำให้เขาได้ไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆที่เขาเคยใช้ชีวิตตอนวัยเด็ก ได้พบกับแม่ที่อายุเกือบร้อยแล้ว ยังอยู่ทนไม่ตายเสียที
วิธีการเล่าเรื่องนั้นแสนง่าย เราสามารถสังเกตได้ว่าฉากนี้เป็นฉากที่ย้อนอดีต หรือฉากความฝัน เราจะไม่เห็นตัวเอกของเรื่องในวัยเด็กเลย หนังใช้การเล่า Flashback ผ่านมุมมองของตัวละครอื่น แต่ในสายตาของคนแก่ (ตอนที่เขาเป็นเด็กนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) นี่เป็นการเล่าเรื่องที่แปลกนะ คงจะมีบางคนสงสัยว่า ตาแก่นั่นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่จะเห็นเหตุการณ์แบบนั้นได้ยังไง ผมคิดว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่างจินตนาการกับแฟนตาซี คือถึงชายแก่จะไม่รู้ว่าเหตุการณ์นั้นเป็นยังไง แต่เขาคงคิดวิเคราะห์ถึงมันจากผลลัพธ์ที่เขาใช้ชีวิตมากว่า 70 ปี ได้รู้ ได้เข้าใจว่าตอนนั้นน่าจะเกิดอะไรขึ้น … คนดูทั่วไปเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดถึงจุดนี้นะครับ เอาว่า ให้สนุกกับการเล่าเรื่องก็พอ ดูเข้าใจไม่ยากหรอก
มันจะมีฉากความฝัน ที่เราจะสังเกตได้ง่ายเช่นกัน คือมีอะไรผิดปกติบางอย่างในความฝัน เช่น นาฬิกาไม่มีเข็ม หรือ ฉากที่เขากำลังถูกพิพากษา นี่ยังคงเป็นจุดเด่นของ Bergman ที่ตั้งคำถามกับชีวิต และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อเขาอายุ 70 แล้วมาทบทวนเวลาในชีวิตที่ผ่านไป เขาได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง หนังเรื่องนี้บอกว่า เขาจะไม่เหมือนตัวละครในหนังแน่ๆ ตอน Bergman ทำหนังเรื่องนี้เขาอยู่ในวัย 30 ปลายๆ ย่างเข้า 40 นะครับ เพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อปี 2007 นี่เอง รวมอายุ 89 ไม่รู้บั้นปลายชีวิตเขาจะกลับมาดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดแบบที่เขาคิดไว้หรือเปล่า
Victor Sjöström นักแสดงนำของเรื่อง ปู่แกเห็นว่าเกษียนไปแล้ว คือแก่มากๆ ไม่อยากเล่นหนังแล้ว แต่ Bergman ก็ไปลากปู่แกมาแสดงจนได้ Bergman ชื่นชอบ Sjöström มาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ บทนี้เขียนมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ แต่จริงๆไม่ใช่นะครับ Bergman เคยออกมาเล่าให้ฟังทีหลังว่าเขานึกถึง Sjöström หลังจากที่บทเสร็จแล้ว จากคำแนะนำของ Carl Anders Dymling ซึ่ง Bergman ก็ครุ่นคิดอยู่สักพักก่อนจะเห็นด้วย ระหว่างการถ่ายทำ อายุก็เป็นอุปสรรคต่อ Sjöström หลายครั้ง เขาจำบทพูดยาวๆไม่ค่อยจะได้ ซึ่งแต่ละครั้งเขาก็จะโทษตัวเองด้วยการไปแอบหลบมุมแล้วเอาหัวโขกกำแพง เมื่อหลายครั้งเข้าจนห้อเลือด Bergman ได้หาวิธี โดยให้ Ingrid Thulin ที่เล่นเป็นลูกเขย แสดงอาการ หรือพูดประมาณว่าเป็นความผิดของเธอ ในกรณีที่ Sjöström จำบทผิด ซึ่งก็แก้ปัญหาไปได้จนหนังถ่ายจบ
Ingrid Thulin เธอยอดเยี่ยมมากในหนังเรื่องนี้ ดูแล้วอาจจะไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่เธอรับโต้บทกับ Sjöström ได้เยี่ยมมากๆ เธอทำให้เรารู้สึกกับตัวละครนี้ว่าเป็นหญิงแกร่ง แต่มีภายในที่อ่อนแอ ดูแล้วคล้ายๆกับภรรยาที่เสียไปของตัวเอกในเรื่อง นี่เป็นความจงใจที่ต้องสังเกตเอาเสียหน่อยถึงจะพบนะครับ จุดที่ผมเจอ จะพูดว่า ลูกไม้ตกไม่ไกลต้นก็ได้ พ่อเป็นยังไงลูกมักเป็นอย่างงั้น พ่อเจอแม่อย่างไร ลูกก็จะเจอแฟนของลูกคล้ายๆกันนั้น สังเกตดีๆก็จะหาจุดนี้เจอนะครับ
นอกจากนี้นักแสดงขาประจำของ Bergman ยังมากันพร้อมหน้า ทั้ง Bibi Anderson, Gunnar Björnstrand และ Max von Sydow เป็นตัวประกอบสมทบที่ถ้าใครดูหนังของ Bergman หลายๆเรื่องก็น่าจะจำกันได้แล้วละ ที่แย่งซีนที่สุดคงเป็น Bibi Anderson หญิงสาววัยแรกรุ่นกับสองหนุ่ม เธอขอตัวเอกติดรถไปด้วย และมีชายหนุ่ม 2 คนที่แตกต่างกันสุดขั้ว ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเธอจะเลือกใคร นี่เป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์ที่เด่นและชัดเจนมากๆ เปรียบได้เหมือนตาชั่ง ข้างหนึ่งถูก ข้างหนึ่งผิด และตัวละคร Bibi Anderson เปรียบเหมือนสมดุลตรงกลาง ที่ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ในหนังยังมีอีก 2 ตัวละครที่ติดรถไปด้วยแปปนึง มองดูเผินๆทั้งคู่เป็นแค่สองสามีภรรยาที่ต่างกันสุดขั้วเช่นกัน แต่พวกเขาคือสัญลักษณ์ของความบ้าคลั่ง นอกกรอบ นอกรีต ซึ่งหนังก็กำหนดชะตากรรมให้ทั้งคู่ต้องจากไปอย่างเร็วที่สุด เพราะคนทั่วไปไม่สามารถยอมรับคนพวกนี้ได้ แต่อย่าเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะครับ หนังทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับสองตัวละครนี้เท่าไหร่ แต่โลกเราต้องการคนประเภทนี้มากๆ คนนอกรีต คิดต่าง คิดนอกกรอบ ถ้าไม่มีคนพวกนี้อยู่โลกหยุดหมุนแน่นอน
ถ่ายภาพโดย Gunnar Fischer ผมชอบจังหวะการเคลื่อนกล้องนะ ใน 8 1/2 Fellini ใช้การ close-up แล้วแช่ภาพหน้าตัวละครชั่วครู่ ก่อนจะตัดไปที่ฉากความฝันหรือจินตนาการ แต่กับ Wild Strawberries ใช้การเลื่อนกล้องหรือหมุนกล้อง จากตัวละครในปัจจุบัน ไปหาภาพตัวละครในอดีต รู้สึกว่าเทคนิคนี้จะไม่ค่อยมีคนใช้เท่าไหร่ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าสวยงามมากนะครับ ให้อารมณ์ลื่นไหล เหมือนความคิดถึงปนความโหยหวนถึงอดีต
ในหนังเราจะรู้สึกเหมือนเห็นกิ่งไม้เต็มไปหมด ในโปสเตอร์ที่ผมแนบมาก็ยังมีกิ่งไม้อยู่ มันเป็นความจงใจในการถ่ายให้ติดกิ่งไม้พวกนี้นะครับ ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ยั่งยืน แต่กิ่งไม้เป็นสิ่งที่แตกมาจากต้นไม้ ถ้าเรามองว่าต้นไม้เป็นตัวแทนของโลก กิ่งไม้คือตัวแทนของชีวิตที่บอบบาง แตกหักได้ง่าย การเห็นกิ่งไม้มากมายในหนัง คงหมายถึงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จะตีความเป็นแบบไหนก็ได้ หรือจะอาจจะเป็นกิ่งที่เปรียบเหมือนต้น Strawberry ก็ได้ (ต้น Strawberry เป็นพืชล้มลุกนะครับ)
ตัดต่อโดย Oscar Rosander ด้วยการถ่ายภาพที่ลื่นไหล ถ้าไม่ได้การตัดต่อทีเรียบเนียล หนังคงสะดุดไม่น้อย จังหวะของหนังเรื่องนี้ถือว่าเยี่ยมทีเดียว เพราะทำให้เรารู้สึกว่าหนังใช้มุมมองของตัวเอกเป็นหลักเล่าเรื่องตลอดทั้งเรื่อง ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ใช่ ที่ผมเคยบอกไปคือ ฉากในอดีตตัวเอกวัยเด็กนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เลย แต่เขาเห็นภาพเหล่านั้นได้อย่างไร มันน่าทึ่งตรงที่ถ้าคนไม่สังเกตอาจจะไม่รู้เลย เป็นการตัดต่อที่แนบเนียลมากๆ
ก่อนเริ่มต้นเฟดภาพสู่ฉากแรกของหนัง เสียงระฆังดังขึ้นครั้งหนึ่ง, ปกติแล้ว ตามวัด/โบสถ์ สถานที่ต่างๆที่มีระฆัง ดังขึ้นเพื่อเป็นสิ่งบอกเวลา … นี่อาจแปลได้ว่า เสียงระฆังคือการบอกเวลาของความตาย/การตัดสิน/จุดเริ่มต้น
เพลงประกอบโดย Erik Nordgren ถ้าสังเกตหน่อยเราจะได้ยินเพลงประกอบเน้นๆเฉพาะฉากความฝัน อดีตและจินตนาการเท่านั้น นอกจากฉากเปิดเรื่องและปิดเรื่องที่เราจะได้ยิน Orchestra เพราะๆแล้ว ที่เหลือเป็นเพลงที่จะดังขึ้นเมื่อเปิดวิทยุ อยู่ในร้าน หรือเพลงที่มีวงดนตรีเล่นเท่านั้น คงเพราะ Bergman ใส่ความ realistic ลงไปในหนังพอสมควร ให้คนดูสามารถจับต้องได้ เพลงประกอบเลยแทบไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ และไม่ค่อยติดหูด้วย
ในบรรดาหนังของ Ingmar Bergman ผมชอบหนังเรื่องนี้ที่สุดนะครับ คงเพราะหนังเรื่องนี้เข้าใจง่ายที่สุดในบรรดา 3-4 เรื่องที่ผมเคยดูมา แต่เดี๋ยวคงทะยอยดูเพิ่มเรื่อยๆและอาจจะเจอหนังทีดีกว่านี้ คำว่า Wild Strawberries เห็นว่ามาจากแปลมาจากภาษา Swidish ที่แปลว่า The wild strawberry patch คนไทยคงไม่คุ้นกับสำนวนนี้เท่าไหร่ ตีความได้ว่า สถานที่ที่มีค่า มีความสำคัญต่อคนๆหนึ่งอย่างมาก “idiomatically signifies an underrated gem of a place, often with personal or sentimental value” ในหนังมีการพูดถึง Wild Strawberries โดยการเก็บไปกินและเป็นของขวัญให้ลุงคนหนึ่ง ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับชื่อเรื่องเลย (คงจะล้อคำเฉยๆ) ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็น Wild Strawberries ในหนัง คงเป็นเรื่องราวที่ตัวเอกของเรานึกถึง ไม่ใช่แค่สถานที่ต่างๆที่ทำให้เขาระลึกถึงอดีต แต่รวมถึงความทรงจำของเขาที่มีค่ามากๆในสายตาของคนดู
ความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ที่ให้เป็นที่กล่าวขาน คือเรื่องราวที่สะท้อนแนวคิดคุณค่าของการใช้ชีวิต ตั้งคำถามที่ว่า เมื่อคุณแก่ตัวลงไปแล้วย้อนกลับมาคิดถึงอดีต มีอะไรที่มีค่าพอให้น่าคิดถึงบ้าง ในหนังเรื่องราวที่เป็นอดีตของชายแก่อาจดูไม่มีค่าอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ แต่หนังได้ฉุกให้เราคิดต่อ เพราะหนังนำเสนออดีตในมุมมองของคนอื่น ทำให้เขาเข้าใจชีวิตของตนเองมากขึ้น หนังที่ไม่ใช่แค่หนัง แต่เป็นการค้นหาคำตอบ โจทย์ของ Ingmar Bergman ยังคงเกี่ยวข้องกับพระเจ้าและความตาย ฉากพิพากษาถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของแนวคิดนี้เลย มีคำพูดว่า คนที่จะตัดสินตัวเราเองได้ดีที่สุดคือคนรอบข้าง หนังวนเวียนกับแนวคิดนี้ และสุดท้ายเขาได้ทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ชีวิตเขามีค่าหรือเปล่า ให้ไปหาคำตอบเองในหนังนะครับ ส่วนฉากจบสุดท้าย ตัวเอกนอนหลับตา … หวังว่าคงไปสู่สุขคตินะครับ
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้สำหรับคนที่ชอบดูหนังเก่า หนังดีๆ คนสมัยใหม่ก็ดูได้ แต่คงจะรู้สึกเบื่อๆหน่อยเพราะเป็นเรื่องของคนแก่ ถ้าคุณผ่านโลกมามากกว่า 30 ปี ก็แนะนำเลยนะครับ ดูจบแล้วให้ลองคิดเผื่อวันข้างหน้าเมื่อตัวเองอายุมากๆ แล้วจะกลายเป็นแบบในหนังไหม ส่วนผู้สูงวัย ไม่รู้สิครับ ผมจินตนาการเผื่อไปไม่ได้ไกลขนาดนั้น ดูแล้วย้อนกลับมาคิดถึงตัวเอง อย่าเพิ่งท้อไปถ้าชีวิตของท่านไม่มีอะไรที่มีค่าให้น่ากล่าวถึง ใช้เวลาที่เหลืออยู่สร้างมันขึ้นมานะครับ
คำโปรย : “Wild Strawberries หนังของ Ingmar Bergman ที่จะทำให้คุณหวนระลึกถึงชีวิตในอดีต และค้นหาคุณค่าชีวิตของตัวเอง”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] 4. Wild Strawberries (1957) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥♡ […]
[…] 2. Wild Strawberries (1957) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥♡ […]
[…] 2. Wild Strawberries (1957) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥♡ […]