Withnail and I

Withnail and I (1987) British : Bruce Robinson ♥♥♥♥

ภาพยนตร์แนว Black Comedy ที่เป็นอัตชีวประวัติ (Autobiographical) ของผู้กำกับ Bruce Robinson นำจากประสบการณ์จริง เมื่อ’ฉัน’ถูกคุกคามทางเพศจาก Franco Zeffirelli ระหว่างถ่ายทำ Romeo and Juliet (1968)

สำหรับตัวละคร Withnail (มาจาก Jonathan Withnall ชื่อเพื่อนสมัยเด็กของผกก. Robinson) ได้แรงบันดาลใจจากนักแสดง Vivian MacKerrell เป็นเพื่อนที่รับรู้จักผกก. Robinson มาตั้งแต่สมัยร่ำเรียน Royal Central School of Speech and Drama เป็นคนหน้าตาดี ฝีมือการแสดงใช้ได้ แต่อาชีพหลักคือดื่มสุราเมามาย เลยไม่ค่อยได้รับโอกาสแจ้งเกิดในวงการ

Withnail and I (1987) คือภาพยนตร์ของคนขี้เมา เห็นว่ากลายเป็นเกมดื่มเหล้า (Drinking Game) ได้รับความนิยมกับบรรดานักศึกษา(ภาพยนตร์)มหาวิทยาลัย กติกาคือฝ่ายหนึ่งรับบท Withnail อีกฝั่งเป็น ‘I’ ระหว่างนั่งชมหนัง พบเห็นตัวละครของใครดื่มอะไรก็ให้ดื่มตาม ประกอบด้วย

  • ไวน์แดง (Red Wine) เก้าแก้วครึ่ง
  • เหล้าแอปเปิ้ล (Cider) ครึ่งไพน์ (ประมาณ 1/4 ลิตร)
  • น้ำไฟแช็กหนึ่งช็อต อันนี้ดื่มไม่ได้นะครับอาจถึงตาย ให้เปลี่ยนมาเป็นน้ำส้มสายชูแทน (ตามแบบที่หนังใช้)
  • เหล้าขาว (Gin) สองช็อตครึ่ง
  • ไวน์เชอร์รี่ (Sherry) หกแก้ว
  • วิสกี้ (Whiskey) สิบสามแก้ว
  • และเบียร์เอล (Ale) ครึ่งไพน์

ถ้าใครดื่มได้ดื่มหมด การันตีว่าต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลอย่างแน่นอน เล่นเกมนี้พยายามประณีประณอม เอาแค่ร่างกายทนไหว เงินในกระเป๋ามีจ่าย ก็เพียงพอแล้วนะครับ … หรือใครชอบความท้าทายกว่านี้ ลองหากฎกติกาอื่นๆใน Google ดูนะครับ

ผมมีความสนอกสนใจ Withnail and I (1987) เพราะพบเห็นติดอันดับค่อนข้างสูงในชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสัญชาติอังกฤษ, นักวิจารณ์ Roger Ebert ยกให้เป็น Great Movie และสำนักข่าว BBC เรียกคำนิยม “The Ultimate Cult Film”

It achieves a kind of transcendence in its gloom. It is uncompromisingly, sincerely, itself. It is not a lesson or a lecture, it is funny but in a consistent way that it earns, and it is unforgettably acted. Bruce Robinson saw such times, survived them and remembers them not with bitterness but fidelity.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ขอเตือนเอาไว้สักนิดถึงพระศัพท์แสง แสลง สำบัดสำนวนของ Withnail and I (1987) มีความลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อน ในระดับที่ผมยังทำความเข้าใจได้ประมาณ 60-70% เท่านั้นเอง! แต่ถึงแม้เกาหัวขมวดคิ้วอยู่กว่าครึ่งเรื่อง ไคลน์แม็กซ์ของหนังสามารถสังเกตปฏิกิริยาภาษากาย สีหน้าตัวละครเต็มไปด้วยอาการขี้หดตดหาย นั่นทำให้ผู้ชมหัวเราะท้องแข็ง ฮาตกเก้าอี้ แม่เจ้าโว้ย ขำจนน้ำหมูกน้ำตารั่วไหล สงสารเห็นใจและก็สมเพศเวทนา

ปล. ไว้เมื่อมีโอกาส(ตอนเขียนถึงหนังอิตาเลี่ยน) ผมจะหารับชม Romeo and Juliet (1968) อีกสักรอบด้วยมุมมองรสนิยมรักร่วมเพศของผกก. Franco Zeffirelli


Bruce Robinson (เกิดปี 1946) ผู้กำกับ/นักแสดง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นทนายความ Lithuanian Jew แยกกันอยู่กับมารดา ถูกรับเลี้ยงโดยพ่อบุญธรรมซึ่งชอบใช้ความรุนแรงกระทำร้ายร่างกาย ตั้งแต่เด็กเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Central School of Speech and Drama แล้วมีโอกาสเป็นตัวประกอบ Romeo and Juliet (1968), ตามด้วย The Music Lovers (1970), Private Road (1971), The Story of Adèle H. (1975), หลังจากไม่ค่อยได้รับโอกาสด้านการแสดง ผันมาเป็นนักเขียนบท The Killing Fields (1984) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Withnail and I (1987), How to Get Ahead in Advertising (1989), The Rum Diary (2011) ฯ

ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1969-70, Robinson เขียนนวนิยายที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ Withnail and I นำเอาประสบการณ์ชีวิตตนเองที่ได้รับรู้จักเพื่อนสนิทขี้เมา Vivian MacKerrell รวมถึงเหตุการณ์ถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) จากผกก. Franco Zeffirelli ระหว่างร่วมงานภาพยนตร์ Romeo and Juliet (1968)

I wanted to write about my own life, and I’d been trying to do it for years. But I didn’t want it to be a boring, earnest, kitchen-sink drama. I wanted it to be funny, and dark, and hopefully beautiful in places. I wanted to capture the spirit of that time, and the sense of camaraderie that we all had, despite everything.

Bruce Robinson

Robinson มีความสองจิตสองใจที่จะตีพิมพ์ Withnail and I เพราะหวาดกลัวสูญเสียโอกาสในวงการภาพยนตร์ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1980 เพื่อนนักแสดง Don Hawkins ส่งนวนิยายเล่มนี้ให้คนรู้จัก Mordecai Schreiber แนะนำต่อโปรดิวเซอร์ Paul Heller พร้อมจ่ายเงิน £20,000 ปอนด์ เป็นค่าจ้างดัดแปลงบทภาพยนตร์

I’ve always been attracted to stories that are a little bit off the beaten path. I think there’s something exciting about taking risks and trying something new. With ‘Withnail and I,’ I saw a script that was completely different from anything else I had read, and I knew that it had the potential to be something special.

Paul Heller

ในช่วงระหว่างพัฒนาบทหนัง Robinson เกิดความตระหนักถึงบทพูดสนทนา มีความสำบัดสำนวน เป็นอังกฤษมากเกินไป กลัวว่าผู้ชมชาวอเมริกันจะฟังไม่รับรู้เรื่อง แต่โปรดิวเซอร์บอกว่าไม่ติดขัดอะไร พร้อมมอบอิสระในความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังความสำเร็จของ The Killing Fields (1984) ทำให้ Robinson ได้เข้าชิง Oscar: Best Adapt Screenplay จึงเกิดความมุ่งมั่นใจ พัฒนาบทต่อจนเสร็จ และยังได้รับข้อเสนอกำกับหนังด้วยตนเอง

I realized that if I didn’t direct it, nobody else was going to. I felt very strongly about the material, and I knew that I had a very clear idea of how I wanted to tell the story.

Bruce Robinson

เกร็ด: งบประมาณครึ่งหนึ่งของหนังจ่ายโดย HandMade Films ก่อตั้งโดย George Harrison (อดีตสมาชิกวง The Beatle) ซึ่งยังเคยออกทุนสร้างภาพยนตร์อย่าง Monty Python’s Life of Brian (1979), The Long Good Friday (1980), Time Bandits (1981), Mona Lisa (1986) ฯ

ต้นฉบับนวนิยายกับบทภาพยนตร์ ผกก. Robinson เล่าว่ามีความแตกต่างเพียงอย่างหนึ่งเดียวเท่านั้นคือตอนจบ ดั้งเดิมตั้งใจให้ Withnail รินไวน์ใส่กระบอกปืน ยกขึ้นดื่มพร้อมยิงตัวตาย (เพื่อสื่อถึงการดื่มจนตัวตาย) แต่เขารู้สึกว่ามันมืดหม่น “too dark” เลยปรับเปลี่ยนเหลือเพียงคำพร่ำร่ำลาแล้วเดินจากไป


ฉัน (รับบทโดย Paul McGann) อาศัยร่วมอพาร์ทเมนท์เดียวกับ Withnail (รับบทโดย Richard E. Grant) อยู่ย่าน Camden Town, London ช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1969 (เหลืออีก 91 วันจะสิ้นสุดทศวรรษ 60s) ทั้งสองต่างเป็นเพื่อนสนิท/รูมเมทกันมาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนสอนการแสดง แต่ขณะนี้ต่างไม่มีใครว่าจ้างงาน ใช้วันเวลาว่างๆดื่มด่ำสารมึนเมาทุกประเภท

Withnail มีลุงฐานะร่ำรวยชื่อ Monty (รับบทโดย Richard Griffiths) และมีบ้านพักต่างอากาศยัง Penrith ฉันและเขาจึงตัดสินใจร่วมออกเดินทาง บุกป่าฝ่าดงมาจนถึงกระท่อมกลางเขา สภาพรกร้างห่างไกล ไร้สิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ แทนที่ทริปนี้จะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ กลับต้องมาต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาชีพรอดปลอดภัย

แล้วจู่ๆค่ำคืนหนึ่งลุง Monty เดินทางมาเยี่ยมเยือนทั้งสองยังบ้านพักต่างอากาศหลังนี้ ท่าทางมีลับเล่ห์ลมคมใน ส่งสายตา ภาษากายกับฉัน สร้างความสั่นสยิว เสียวประตูหลัง จุดประสงค์แท้จริงคืออะไรกันแน่ และฉันจะสามารถเอาตัวรอดพานผ่านค่ำคืนนี้ หวนกลับกรุง London ได้สำเร็จหรือไม่


Paul John McGann (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, Liverpool บรรพบุรุษอพยพจาก Ireland โตขึ้นเข้าเรียนด้านการแสดงยัง Royal Academy of Dramatic Art (RADA), เริ่มต้นเข้าสู่วงการโทรทัศน์ มีชื่อเสียงจากซีรีย์ Give Us a Break (1983), The Monocled Mutineer (1986), ภาพยนตร์ Withnail and I (1987), แต่โด่งดังสุดเห็นจะคือ Doctor Who คนที่แปด

รับบทฉัน ‘I’ เป็นบุคคลดูไม่มีมั่นคง (Insecurity) หวาดระแวง วิตกจริต หงุดหงิดง่าย แม้เต็มไปด้วยความขุ่นเคืองต่อเพื่อนร่วมห้อง Withnail แต่ไม่สามารถละทอดทิ้งอีกฝ่าย เพราะยังต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ถึงอย่างนั้นความขัดแย้งกลับยิ่งทวีความรุนแรง เมื่อถูกล่อลวงจนเกือบตกเป็นเหยื่อทางเพศของลุง Monty พอดิบพอดีได้รับแจ้งถึงโอกาสการแสดง เลยตัดสินใจร่ำลาจากไปเสียที

เกร็ด: แม้ชื่อตัวละครจะไม่ถูกพูดกล่าวถึงในหนัง (ในเครดิตยังขึ้นว่า ‘… & I’) แต่บทภาพยนตร์และจ่าหน้าโทรเลข พบเห็นปรากฎชื่อ Marwood

ตัวละครฉัน คือตัวตายตัวแทนผกก. Robinson นำจากประสบการณ์ตรง สภาวะทางอารมณ์ของตนเอง เมื่อครั้นอาศัยอยู่ร่วมอพาร์ทเม้นท์กับเพื่อนนักแสดง Vivian MacKerrell และถูกล่อลวงโดย Franco Zeffirelli ระหว่างถ่ายทำ Romeo and Juliet (1968) เห็นว่าทุกถ้อยคำที่โดนคุกคาม จดบันทึกไว้ในไดอารี่ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน ท่าทางจะเคียดแค้นฝังกระดูกดำจริงๆ

McGann คือตัวเลือกแรกของผกก. Robinson แต่เมื่อมาทดสอบหน้ากล้องกลับไม่สามารถสื่อสารสำเนียง Liverpool ถึงอย่างนั้นหลังจากพยายามมองหานักแสดงอื่น กลับไม่มีใครโดนใจสักคน สุดท้ายเลยต้องหวนกลับหา McGann ส่งไปฝึกฝนการออกสำเนียงจนเป็นที่พึงพอใจ

I saw in [Paul McGann] the same kind of vulnerability and sensitivity that I wanted to bring to the character. He’s a very deep, soulful person. I think it’s that quiet strength that he has which really came across in the film. He played it very understatedly, but you could feel the emotion and the sense of turmoil that the character was going through.

Bruce Robinson

สิ่งที่ผมชื่นชอบในตัว McGann คือความสามารถในการต่อล้อต่อเถียงกับ Grant ไม่เชิงว่า ‘น้ำกับไฟ’ เพราะต่างคนต่างก็มึนเมามายในความหลงผิดของตนเอง แต่เมื่อเทียบระดับความคลุ้มบ้าคลั่ง ตัวละครฉันดูมีสติ ความรู้สึกนึกคิด (บ่อยครั้งพูดยับยั้งการกระทำของ Withnail) จิตใจอ่อนไหวเปราะบางกว่า นั่นทำให้ผู้ชมบางคนสามารถเปรียบเทียบ(ฉัน)กับตนเอง เกิดความตระหนักถึงการใช้ชีวิตโลดโผน รู้สึกโชคดีที่ไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์บ้าบอคอแตกขนาดนั้น

คงไม่มีฉากไหนขายศักยภาพด้านการแสดงของ McGann ไปมากกว่าตอนกำลังถูก(ลุง Monty)ต้อนให้จนมุม น้ำเสียงสั้นเครือ สีหน้าซีดเผือก (แถมยังเหลือกางเกงในตัวเดียว) พยายามต่อล้อต่อเถียง ชักแม่น้ำทั้งห้า หาหนทางดิ้นหลบหนีแบบปลาไหล ใครเคยพานผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกันนี้คงขำไม่ออก แต่ถ้าคุณสามารถมองให้เป็น Black Comedy อาจหัวเราะจนน้ำหมูกน้ำตาหลั่งไหลริน

บทบาทนี้ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของ McGann แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ (เพราะมักได้รับการเปรียบเทียบกับ Grant ที่มีความสุดโต่งกว่า) แต่ก็สามารถเอาตัวรอดในวงการโทรทัศน์ได้อย่างสบายๆ


Richard Grant Esterhuysen (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติ Swazi-English เกิดที่ Mbabane, Swaziland (ปัจจุบันคือ Eswatini) โตขึ้นมุ่งสู่ South Africa เข้าศึกษาภาษาอังกฤษและการละคอนที่ University of Cape Town จากนั้นเดินทางมายังอังกฤษ แจ้งเกิดโด่งดังกับ Withnail and I (1987), แต่ผลงานส่วนใหญ่มักได้รับบทสมทบอย่าง Bram Stoker’s Dracula (1992), The Age of Innocence (1993), Gosford Park (2001), Corpse Bride (2005), The Iron Lady (2011), Logan (2017), Star Wars: The Rise of Skywalker (2019) ฯลฯ

รับบท (Vivian) Withnail เพื่อนขี้เมาของฉัน วันๆไม่เคยเห็นห่างจากขวดเหล้า ตื่นเช้ามาต้องดื่มให้มึนเมามาย ทำให้กลายเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน เห็นแก่ตัว หลงตัวเอง อุปนิสัยขี้ขลาดเขลา ไม่ชอบเผชิญหน้ากับใคร ถ้าไม่สามารถเอาชนะด้วยคำพูดเฉียบคมคาย เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายก็เตรียมพร้อมเผ่นหนีเอาตนเองรอด ปล่อยทอดทิ้งฉันเผชิญหน้ากับสิ่งเลวร้าย

In Withnail, he creates one of the iconic figures in modern films.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

จากคำบอกเล่าของผู้กำกับ Robinson พรรณาเพื่อนสนิท Vivian Alan James MacKerrell (1944-95) ว่าเป็นคนมีความสามารถ หล่อเหล่า เก่งจริง เพื่อนๆให้การยินยอมรับ พูดจาตลกขบขัน แต่กลับไม่เคยพิสูจน์ตนเอง “Jack-of-All but Master-of-None” แน่นอนว่าเคยดื่มแอลกอฮอล์จากไฟแช็ค ทำให้ตาบอดมองไม่เห็นอยู่หลายวัน และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำคอ ต้องผ่าตัดกล่องเสียง ให้อาหารทางสายยาง ล้วนเป็นเหตุจากการดื่มเหล้าหนักทุกวี่วัน

มีนักแสดงหลายคนที่อยู่ในความสนใจของผกก. Robinson อาทิ Daniel Day-Lewis, Bill Nighy, Kenneth Branagh, Edward Tudor-Pole, ในตอนแรกไม่ได้อยากเลือก Richard E. Grant เพราะเห็นว่าอวบอ้วนเกินไป เลยสั่งให้ลดน้ำหนักลงครึ่งหนึ่ง กลับมารูปร่างผอมบางเลยได้รับบทนำ

Richard was perfect for the role of Withnail. He had that larger-than-life personality, that incredible energy and charisma that the character needed. He really embodied everything that we were looking for.

Richard was fearless in his approach to the role. He was willing to go to some very dark places with the character, and he was able to find the humor and humanity in even the most difficult scenes. He was a true professional, and a joy to work with.

Bruce Robinson

เกร็ด: ตัวจริงของ Grant เป็นคนไม่ดื่มสุรา ไม่เคยเมามาย แต่ครุ่นคิดว่าตนเองต้องลองสักครั้งเพื่อรับบทบาทนี้ ผกก. Robinson เลยจัดให้จนอ๊วกแตกอ๊วกแตน สลบไสลไป 24 ชั่วโมง ไม่คิดดื่มอีกเลยตลอดชีวิต

ทั้งๆที่สุราทั้งหมดคือน้ำเปล่า/น้ำส้มสายชู แต่ Grant สามารถล่อหลอกผู้ชมหลงเชื่อสนิทใจ ให้รู้สึกว่าตัวละครกำลังมึนเมามายอยู่ตลอดเวลา สายตาดูล่องลอย จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ภายในนั้นเต็มไปด้วยความกะล่อนปลิ้นปล้อน เก่งเรื่องหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอด กลับกลอกปอกลอก ชอบชักแม่น้ำทั้งห้า ปฏิเสธรับผิดชอบอะไรใดๆ ขนาดว่ามีเพื่อนตายอยู่เคียงชิดใกล้ ยังพร้อมทรยศหักหลัง สนเพียงความสุขสบาย พึงพอใจส่วนตน ทั้งน่าสงสารและสมเพศเวทนา

Withnail ถือเป็นบทบาทแจ้งเกิดของ Grant ที่ไม่เคยโดดเด่นไปกว่านี้ น่าเสียดายที่คนสมัยนั้นมองตัวละครเพียงไอ้ขี้เมา วันๆเอาแต่ดื่มเหล้ามึนเมามาย แต่กาลเวลาทำให้กลายเป็น “Iconic” ตัวแทนความสุดโต่ง คลุ้มบ้าคลั่ง นี่ไม่ได้หมายถึงเป็นไอดอลของใครต่อใครนะครับ คือต้นแบบความชั่วร้ายที่คงไม่มีใครสามารถสูญเสียสติแตกไปมากกว่านี้

Withnail was a gift of a role. He’s so larger-than-life, so theatrical, and so funny. But at the same time, there’s something very tragic and vulnerable about him.

Withnail is a character who lives very much in the moment. He’s impulsive, he’s reckless, and he’s always looking for the next thrill. But underneath all that bravado, there’s a real sense of sadness and desperation.

Playing Withnail was a real challenge. He’s such a complex character, with so many different layers and emotions. But it was also incredibly rewarding, because he’s such an iconic figure in British cinema.

Richard E. Grant

Richard Thomas Griffiths (1947-2013) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Thornaby-on-Tees, North Riding of Yorkshire วัยเด็กมีร่างกายผอมบาง เคยพยายามหนีออกจากบ้านหลายครั้ง จนกระทั่งค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง เข้าศึกษายัง Manchester Polytechnic School of Theatre (ปัจจุบัน Manchester School of Theatre) จากนั้นได้เข้าร่วม Radio Drama Company ของสถานีวิทยุ BBC ตามด้วยละครเวที เริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ It Shouldn’t Happen to a Vet (1976), Chariots of Fire (1981), Gandhi (1982), Withnail and I (1987), โด่งดังสุดคือการรับบท Vernon Dursley แฟนไชร์ Harry Potter (2001-10)

รับบทลุง Montague H. Withnail หรือลุง Monty ชายร่างท้วม ฐานะร่ำรวย อดีตเคยเป็นนักแสดง อาศัยอยู่บ้านหรูหราพร้อมสัตว์เลี้ยง แต่ด้วยรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) หลังจากรับฟังคำล่อหลอกของหลานชาย Withnail เกิดความสนใจในตัวฉัน แอบเดินทางไปเยี่ยมเยียนยังบ้านพักต่างอากาศ สบโอกาสก็ใช้คำพูดเกี้ยวพา คาดหวังว่าค่ำคืนนี้จักได้เสพสมหวัง

ตัวละครนี้ไม่ใช่แค่ได้แรงบันดาลใจจาก Franco Zeffirelli แต่ยังผสมผสานภาพลักษณ์ชายอีกคนที่ผกก. Robinson เคยพบเจอเมื่อครั้นยังเป็นนักแสดงที่ West End เป็นคนมีสีสัน ใช้ชีวิตหรูหรา ท่าทางเหมือนนักแสดง ชอบเล่าเรื่องมากมาย และเคยไปเยี่ยมเยียนบ้านที่ Sussex เต็มไปด้วยของสะสม หนังสือ ภาพวาด ราวกับตัวละครหลุดมาจากนวนิยาย

I’ve never talked about this, but the character of Uncle Monty is based on a real person. When I was a young actor, I met this man who was this old actor from the West End. He had been in the war and he had a lot of stories. He was very flamboyant, very theatrical, and very eccentric. He had a house in Sussex that was full of antiques and books and paintings. It was like stepping back in time. I was fascinated by him. He was like a character out of a novel. So when I came to write ‘Withnail and I,’ I used him as a starting point for Uncle Monty.

Bruce Robinson

แม้ผมจะเคยพบเห็นการแสดงของ Griffiths มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนน่าจดจำไปกว่า Withnail and I (1987) -ชวนให้นึกถึงบทบาทในแฟนไชร์ Harry Potter อย่างมากๆ- ทุกคำพูดล้วนเต็มไปด้วยลับเล่ห์ลมคมใน ส่งสายตาหวานแหวว สร้างความสั่นสยิวให้กับคนไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศ อีกทั้งท่าทาง ภาษากาย ชัดเจนถึงเป้าหมายความต้องการ และเมื่อถูกคุกคาม(คงเพราะรูปร่างอวบอ้วน ใหญ่โต)ก็รู้สึกไร้หนทางดิ้นหลบหนี

สิ่งน่าทึ่งที่สุดของตัวละครนี้ไม่ใช่ตอนที่เขาพยายามคุกคามฉัน แต่คือการยินยอมถอยหลัง หยุดยับยั้ง หักห้ามใจตนเอง หลังจากรับฟังคำล่อหลอก ชักแม่น้ำทั้งห้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง Withnail & I แล้วพูดประโยค “If I had known that, I would never have attempted to come between you”. นั่นแสดงให้เห็นถึงความมีมนุษย์ธรรม ไม่ใช่แค่ ‘sex predator’ หมกมุ่นมักมากเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่คือชายคนหนึ่งที่มีความเหงาหงอย โดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย

Richard Griffiths is brilliantly funny as the predatory old queen who has his eye on ‘I’, and he makes Uncle Monty one of the most memorable characters in recent cinema history.

นักวิจารณ์จาก Time Out

The standout performance is Richard Griffiths as Monty, a hilarious, grotesque creation who is still somehow endearing. Griffiths gives him an air of menace beneath the comedy, making him a character that’s both captivating and repulsive.

นักวิจารณ์จาก Empire Online

Griffiths is perfect as Monty, capturing both the humor and the sadness of the character with ease. He brings a great deal of warmth and humanity to the role, making it easy to understand why the other characters are drawn to him despite his flaws.

นักวิจารณ์จาก AllMovie

ถ่ายภาพโดย Peter Hannan (เกิดปี 1941) สัญชาติ Australian แต่เดินทางมาทำงานยังประเทศอังกฤษ มีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง 2001: A Space Odyssey (1968), Performance (1970), ผลงานเด่นๆ อาทิ Monty Python’s The Meaning of Life (1983), Withnail and I (1987) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้จัดจ้านด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ แต่ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงความสกปรกโสมม อะไรก็ไม่รู้รกรุงรังเต็มห้อง คละคลุ้งด้วยหมอกควัน เปียกแฉะโคลนเลน ซึ่งสามารถสื่อถึงสภาพโกโรโกโสของหนุ่มๆทั้งสอง จะมีก็แต่บ้านที่ London ของลุง Monty มีความหรูหรา ฟู่ฟ่า เฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ราวกับโลกคนละใบ!

ตามเรื่องราวของหนัง บ้านพักตากอากาศของลุง Monty ตั้งอยู่ยัง Penrith แต่สถานที่ถ่ายทำจริงๆ Crow Crag อยู่ที่ Sleddale Hall ทางตอนเหนือของหมู่บ้าน Wet Sleddale ใกล้กับ Shap, Cumbria พื้นที่บริเวณนั้นดั้งเดิมเป็นของบริษัท United Utilities ซึ่งต้องการใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการทำเป็นบ้านพักตากอากาศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการจึงนำออกประมูลขาย ปัจจุบันกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล (Private Property) ได้รับการรีโนเวตจนไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป

สำหรับสถานที่ถ่ายทำอื่นๆ ถ้าเป็นพวกผับบาร์ ร้านน้ำชา น่าจะได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แทบไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป ประกอบด้วย

  • อพาร์ทเมนท์ของ Withnail and I ตั้งอยู่ 57 Chepstow Place, Bayswater ย่าน Westminster, Greater London
  • The Mother Black Cap ตั้งอยู่ Tavistock Crescent, Notting Hill
  • บ้านของลุง Monty ตั้งอยู่ 35 Glebe Place, Chelsea
  • Crow and Crown Pub ตั้งอยู่ Stockers Farm, Rickmansworth,
  • King Henry Pub และร้านน้ำชา ตั้งอยู่ Market Square, Stony Stratford ย่าน Milton Keynes, Buckinghamshire

คุณผู้หญิงอาจไม่เข้าใจความน่าขบขันของฉากนี้ ฉันอ่านหนังสือพิมพ์พบเห็นข่าวเกี่ยวกับการแปลงเพศชายเป็นหญิง (นี่คือคำบอกใบ้สิ่งที่ ‘ฉัน’ กำลังจะพบเจอเข้ากับตนเองในอนาคต) จากนั้นมีการตัดภาพหญิงสาวคนหนึ่งรับประทานแซนวิช แล้วจู่ๆไข่แดง(ไม่สุก)ก็ไหลย้อยลงมา … จินตนาการถึงอวัยวะเพศชายที่ถูกตัด ลูกอัณฑะ=ไข่แดง คิดแค่นั้นมันก็รู้สึกเสียวซ่านขึ้นมา

ต่อเนื่องจากฉากก่อนหน้า ฉันนำเอาจินตนาการอวัยวะเพศชายที่ถูกตัด มาบิดๆเบี้ยวๆกลายเป็น “My thumbs have gone weird!” ทั้งๆนิ้วโป้งของเขาไม่ได้ผิดแผกแปลกอะไร แต่ความหวาดระแวง วิตกจริต มันกัดกินทรวงใน รวมถึงอาการมึนเมาค้าง ยังไม่หายสร่างด้วยกระมัง

อพาร์ทเม้นท์ของ Withnail & I เต็มไปด้วยความสกปรก รกรุงรัง ถ้วยชามไม่ได้ล้าง แถมด้วยฝุ่นควันจากบุหรี่ ไอน้ำ ขวดสุราวางเรียงราย ขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยรูปภาพถ่ายแปะตามฝาผนัง สำหรับคนช่างสังเกตก็อาจพบรูปภาพของ Charlie Chaplin, Louis Brook, Elvis Presley, Benny Goodman, Billie Holiday, โปสเตอร์ Gone With the Wind, Modern Times ฯลฯ

ความเน่าฟ่อนเฟะของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์เทียบแทนยุคสมัย Swinging London (60s-70s) ที่แม้วัยรุ่นหนุ่ม-สาวจะมีอิสรภาพในการครุ่นคิดแสดงออก กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนขนบกฎกรอบ สังคม ประเพณี (รวมถึงเรื่องทางเพศ) แต่พวกเขาก็ปล่อยปละละเลย ลุ่มหลงระเริงไปกับ ‘เสรีภาพ’ เหล่านี้

“Boy lands plum role for top Italian director.” หัวข้อข่าวที่ Withnail อ่านจากหนังสือพิมพ์นี้ เป็นการพาดพิงถึงผกก. Franco Zeffirelli อย่างตรงไปตรงมา

“I demand to have some booze!” คำกล่าวได้รับความนิยมมากที่สุดของ Withnail คงไม่ต้องอธิบายกระมัง ขี้เมาทั้งหลายน่าจะเคยพูดประโยคนี้กันทั้งนั้น

น้ำมันไฟแช็ค (Lighter Fluid) เท่าที่ผมลองค้นหาข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่คือสาร Butane, Naphtha ดื่มในปริมาณน้อยทำให้หน้ามืด วิงเวียน อาเจียร ปวดท้องไส้ (ผกก. Robinson เล่าว่า MacKerrell หลังจากดื่มน้ำมันไฟแช็คตามืดบอดมองไม่เห็นอยู่หลายวัน) แต่ถ้าคนมีอาการแพ้รุนแรงก็อาจถึงแก่ชีวิต

แน่นอนว่าผกก. Robinson ไม่ได้ให้ Grant ดื่มน้ำมันไฟแช็ค และอีกฝ่ายก็ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ จึง(แอบ)ใช้น้ำส้มสายชู เพื่อแสดงปฏิกิริยาต่อรสชาติดังกล่าวออกมา

ไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนไหน อย่างในห้องน้ำบาร์ The Mother Black Cap ฉันพบเจอข้อความบนฝาผนัง “I fuck arses”. นั่นยิ่งสร้างความหวาดระแวง วิตกจริต แถมขี้เมาภายนอก(นั่งหน้าห้องน้ำ)จู่ๆพูดคำว่า “Perfumed ponce!” เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ Ponce คือศัพท์แสลงของเกย์ แมงดา, ส่วนคำว่า Perfumed Ponce! น่าจะหมายถึงลักษณะเด่นชัดของเกย์/แมงดา (ประมาณว่า ตลบอบอวลด้วยกลิ่นของความเป็นเกย์)

แม้จะไม่มีตัวละครไหนในหนังสวมใส่แว่น แต่การอ้างอิงถึงโคตรหนังเงียบ Safety Last! (1923) กำกับ/นำแสดงโดย Harold Lloyd สามารถสื่อถึงความโลดโผนในชีวิตของสองหนุ่ม วันๆกระทำแต่สิ่งบ้าบอคอแตก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เต็มไปด้วยอันตราย หลายครั้งไม่รู้รอดชีวิตมาได้อย่างไร

แซว: รับประทานไส้กรอกในห้องน้ำ … ใครเข้าใจนัยยะดังกล่าว ก็อาจขำกลิ้งได้เหมือนกัน

บ้านของลุง Monty ช่างมีความคลาสสิก หรูหรา เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ละลานตา คลอประกอบบทเพลง Schubert: Piano Sonata No. 21 in B Flat Major และรวมถึงดอกกะหล่ำ (Cauliflower) ลักษณะอวบอูมของมัน คือศัพท์แสลงของช่องคลอด/อวัยวะเพศหญิง (Vagina) หรือถ้าเป็นคำกิริยา จะหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ไปพร้อมๆกับช่วยตนเอง (ในกรณีของฝ่ายชายจะทำได้เฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตั้งรับ)

I think the carrot infinitely more fascinating than the geranium. The carrot has mystery. Flowers are essentially tarts. Prostitutes for the bees. There is, you’ll agree, a certain ‘je ne sais quoi’ oh so very special about a firm, young carrot.

Monty 

Crow Crag บ้านพักตากอากาศ ณ Penrith เป็นอะไรที่ผิดความคาดหมายของทั้ง Withnail & I สภาพโกโรโกโส ห่างไกลผู้คน แถมไร้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกใดๆ (เดินทางไปถึงได้ยังไงก็ไม่รู้?) แต่สถานที่แห่งนี้คือสัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อย (escapism) ผ่อนคลายความตึงเครียด หวนกลับสู่สามัญ/ธรรมชาติชีวิต สามารถครุ่นคิดกระทำอะไรก็ได้ ตอบสนองตัณหา สันดานธาตุแท้ โดยไม่ต้องสนอะไรใคร

ถึงอย่างนั้น สองหนุ่มที่อุตส่าห์หลบหนีจากสังคมเมืองที่มีความเน่าเละ ฟ่อนเฟะ แต่ดันมาพบเจอชนบทที่มีความทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ แถมยังถูกไล่ล่าติดตาม (จากลุง Monty) ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นอิทธิพลทางสังคม วังวนแห่งหายนะ … นี่คือลักษณะการวิพากย์วิจารณ์สังคม (Social Commentary) พบเห็นความแตกต่าง/เหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมือง-ชนบท

Journey’s End (1928) บทละครของ R. C. Sherriff (1896-1975) นักเขียนชาวอังกฤษ นำประสบการณ์จากการเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เคยได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Journey’s End (1930) กำกับโดย James Whale

ผมมองเห็นสองเหตุผลในการอ้างอิงหนังสือเล่มนี้

  • ต้องการกล่าวถึงจุดสิ้นสุดการเดินทาง หรือก็คือ Withnail & I มาถึงยังบ้านพักต่างอากาศหลังนี้ แต่การจะมีชีวิตเอาตัวรอด แทบไม่แตกต่างจากสมรภูมิสงครามสนามเพลาะ (Trench Warfare) ในหนังสือเล่มนี้
  • อีกเหตุผลหนึ่งคาดคิดว่า ฉันอ่านเพื่อเตรียมตัวออดิชั่น/ทำการแสดง

“We’ve gone on holiday by mistake”. คำพูดเพี้ยนๆดังกล่าว ได้กลายเป็นประโยคสื่อถึงวันหยุดท่องเที่ยวพักผ่อน ที่อะไรๆล้วนเต็มไปด้วยความผิดพลาด (แบบการมาถึงบ้านพักต่างอากาศแห่งนี้ของ Withnail & I คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้แล้วละ … จริงเหรอ?)

เราสามารถเปรียบเทียบเจ้าวัวตัวนี้ที่กำลังทำท่าไล่ขวิด ไม่ต่างจากลุง Monty (ไซส์เดียวกัน) ที่อีกไม่ช้านานจะเริ่มคุกคามทางเพศกับฉัน สร้างความหวาดกลัวตัวสั่น พูดไม่ออกบอกไม่ถูก และทุกครั้ง Withnail จะหลบหนีหายหัวก่อนใคร ปล่อยให้ฉันต้องเผชิญหน้าศัตรูอยู่เพียงลำพัง

แม้คำพูดขณะนี้ Withnail จะสื่อถึงนักล่าสัตว์ที่แอบมาด้อมๆมองๆหน้าบ้านเมื่อยามเย็น แต่โดยไม่รู้ตัวบุคคลที่กำลังมาถึงในค่ำคืนดึกดื่นนี้คือลุง Monty ซึ่งฉันก็เกือบต้องเสียสละตนเองให้เขาไม่ต่างกัน!

การมาถึงของลุง Monty ช่างเต็มไปด้วยลับเล่ห์ลมคมใน ทั้งคำพูด ภาษากาย สายตาที่เอาแต่จับจ้องมองฉัน จนสร้างความสั่นสยิว หวาดเสียวประตูหลัง ใครสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านี้ ตลอดทั้งซีเควน์เข้าครัวทำอาหาร แม้ไม่รับรู้เรื่องว่าพวกเขาพูดคุยอะไรกัน ก็ยังอาจหลุดหัวเราะ ขำกลิ้ง มิอาจควบคุมตนเอง

ซีนที่ผมชอบมาๆคือตอนทำอาหาร ฉันพยายามเบี่ยงเบน น้ำเสียงสั่นเครือ ต้องการเดินทางกลับตอนบ่าย แต่ลุง Monty กลับสวมใส่ผ้ากันเปลื้อน แล้วหันไปผูกเชือกด้านหลัง กระซิบกระซาบบอกว่า เดี๋ยวเราจะโน้มน้าม Withnail ให้ค้างอีกสักค่ำคืน … น้ำเสียงของลุง Griffiths ช่างนุ่มนวล โรแมนติก และเสียวสันหลังยิ่งนัก!

ค่ำคืนนี้เมื่อฉันอยู่สองต่อสองกับลุง Monty กล้องมักถ่ายภาพโคลสอัพใบหน้า (ทั้งฟากฝั่งฉันและลุง Monty) เพื่อให้เกิดสัมผัสระยะห่างระหว่างทั้งสอง มีความประชิดใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หรือคือฉันกำลังถูกคุกคามทางเพศ ด้วยสีหน้าหื่นกระหาย ค่ำคืนนี้ไม่มีหนทางหลบหนีรอดจากฉันไปได้

เมื่อกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ ฉันพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ชายผิวดำเปลือยกายในอ่างอาบน้ำ (เกย์ชัดๆ) รวมถึงการดูดปุ้นที่มีคำเรียก Carrot (ลักษณะเป็นแท่ง อ้วนกลม ไม่ต่างจากลึงค์) และการถูกแบ่งแยกเฟรมจากเพื่อนๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ฉันปลุกตื่น ฟื้นขึ้นมาโกนหนวดโกนเครา ไม่ยินยอมสูญเสียประตูหลังของตนเองให้ใครทั้งนั้น!

รักร่วมเพศ (Homosexual) ในบริบทของหนังสามารถตีความเชิงสัญลักษณ์ ถึงการทรยศหักหลัง (ทิ่มแทงเข้าข้างหลัง ‘Stab-in-the-back’) กระทำสิ่งที่ฉันไม่ยินยอมพร้อมใจ ฉุดคร่าลงให้ตกต่ำ สูญเสียสามัญสำนึก ความเป็นมนุษย์/ลูกผู้ชาย … นี่ไม่ใช่ลักษณะการต่อต้าน Anti-Gay/Anti-LGBT นะครับ! ต้องมองในเชิงสัญลักษณ์ให้ออกว่าสื่อความถึงอะไร

เมื่อตอนต้นเรื่อง Withnail & I มายืนชมสรรพสัตว์ยัง Regent’s Park, Westminster มุมกล้องถ่ายจากภายนอกรั้วลวดหนาม เลียบๆเคียงๆก่อนเดินไปนั่งตรงเก้าอี้ แต่ตอนจบของหนังหลังจากฉันร่ำลาจากไป ระหว่างการรำพัน Shakespeare ของ Withnail จะมีช็อตที่ถ่ายจากจากภายในสวนสัตว์ พบเห็นยืนเกาะดื่มด่ำอยู่ตรงรั้วลวดหนาม นี่สามารถสื่อถึงการถูกทอดทิ้ง จิตวิญญาณที่ไม่สามารถหลบหนีเอาตัวรอด(แบบฉัน)ออกจากวังวนแห่งหายนะ

I have of late—but wherefore I know not—lost all my mirth, forgone all custom of exercises; and indeed it goes so heavily with my disposition that this goodly frame, the earth, seems to me a sterile promontory; this most excellent canopy, the air, look you, this brave o’erhanging firmament, this majestical roof fretted with golden fire, why, it appears no other thing to me than a foul and pestilent congregation of vapors. What a piece of work is a man! how noble in reason! how infinite in faculty! in form and moving how express and admirable! in action how like an angel! in apprehension how like a god! the beauty of the world! the paragon of animals! And yet, to me, what is this quintessence of dust? man delights not me; no, nor woman neither, though by your smiling you seem to say so.

Hamlet พูดคุยกับ Rosencrantz และ Guildenstern ในองก์ที่สอง ซีนที่สอง บรรทัดที่ 280-291 พรรณาความเศร้าโศกเสียใจหลังการจากไปของบิดา (ตัวหนาคือข้อความที่ตัวละครพร่ำรำพัน)

ตัดต่อโดย Alan Strachan, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/เสียงบรรยายของฉัน ‘I’ ในช่วงระยะเวลาสัปดาห์สุดท้ายที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนสนิท Withnail ออกเดินทางจากอพาร์ทเม้นท์ ไปยังบ้านพักตากอากาศของลุง Monty ณ Penrith ก่อนหวนกลับมาหลังได้รับติดต่องานทำ

  • แนะนำตัวละคร
    • เริ่มจากฉัน แสดงอาการเกรี้ยวกราด หวาดกังวล หมกมุ่นครุ่นคิดมาก ชีวิตเต็มไปด้วมความวิตกจริต
    • เมื่อหวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์พบเจอ Withnail อดรนทนอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ได้ไม่นาน ออกไปภายนอก แวะดื่มยัง The Mother Black Cap Pub พอต้องเผชิญคนแปลกหน้า ก็หาหนทางหลบหนีหัวซุกหัวซุน
    • Danny แวะเวียนมาที่ห้อง พูดคุย ชักชวนเล่นยา
    • ยามค่ำคืนออกเดินทางไปหาลุง Monty เพื่อขอหยิบยืมกุญแจบ้านพักตากอากาศ
  • บ้านพักตากอากาศ ณ Penrith
    • ขับรถออกเดินทาง พานผ่านสถานที่ต่างๆ กระทั่งค่ำคืนฝนตก ค่อยมาถึง Crow Crag
    • สถานที่แห่งนี้ผิดความคาดหมายของทั้ง Withnail และฉัน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสักสิ่งอย่าง
    • ยามกลางวันต้องออกเดินไปยังหมู่บ้าน ขอซื้อฟืน อาหาร และเสบียงกรัง
  • การมาถึงของลุง Monty
    • ค่ำคืนดึกดื่น ลุง Monty ก็เดินทางมาถึงบ้านพักตากอากาศแห่งนี้โดยไม่บอกล่วงหน้า
    • ยามกลางวัน ฉันสังเกตเห็นความผิดปกติของลุง Monty พยายามโน้มน้าวชักชวน Withnail ให้เดินทางกลับกรุง London
    • ยามค่ำคืนนี้ ฉันต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เอาตัวรอดพ้นจากลุง Monty
  • การตัดสินใจของฉัน
    • วันถัดมาได้รับโทรเลข ฉันเลยตัดสินใจเดินทางกลับกรุง London
    • แต่ไม่น่าปล่อยให้ Withnail เป็นคนขับรถ เลยถูกตำรวจจับขึ้นโรงพัก
    • เมื่อกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์พบเห็น Danny และคู่ขายึดห้องเสพยา
    • หลายวันถัดมา ฉันเก็บข้าวของ และบอกร่ำลา Withnail

ลีลาการตัดต่ออาจไม่ได้มีความหวือหวา หรือจัดจ้านเทคนิคทางภาพยนตร์ แต่สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชม ที่แม้อาจรับฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง กลับอยากติดตามพบเห็นโชคชะตาตัวละคร ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะสามารถก้าวออกมาจากอพาร์ทเม้นท์เน่าๆหลังนั้นได้อย่างไรกัน


เพลงประกอบของหนังมีส่วนผสมของ Original Soundtrack (OST) โดย David Dundas & Rick Wentworth และได้ยินจากเครื่องเล่น วิทยุ ผับบาร์ (เพลงฮิตแห่งทศวรรษ 60s) ในลักษณะของ ‘diegetic music’ อาทิ

  • King Curtis: A Whiter Shade of Pale (1967)
    • ดังขึ้นระหว่าง Opening Credit
  • Franz Schubert: Piano Sonata No. 21 in B Flat Major, D. 960
    • ณ บ้านของลุง Monty ในกรุง London
  • The Jimi Hendrix Experience: All Along the Watchtower (1968)
    • สองหนุ่มเดินทางออกจากกรุง London
  • The Jimi Hendrix Experience: Voodoo Chile (1968)
    • ระหว่างสองหนุ่มเดินทางกลับกรุง London
  • The Beatles: While My Guitar Gently Weeps (1968)
    • ดังขึ้นตอนสองหนุ่มเดินทางกลับกรุง London พอมาถึงอพาร์ทเม้นท์ก็ได้ยินบทเพลงนี้ดังขึ้นจากในห้อง เปิดออกมาพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ
  • Al Bowlly: Hang Out the Stars in Indiana (1931)
  • Charlie Kunz: My Friend
  • Charlie Kunz: Walk Hand in Hand

ผกก. Robinson เป็นเพื่อนร่วมรุ่น เคยอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์เดียวกับ Dundas (ร่วมกับ MacKerrell คือก๊วนขี้เมาแห่ง Royal Central School of Speech and Drama) แม้อีกฝ่ายจะไม่เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์ (เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงป็อป) แต่เพราะพานผ่านประสบการณ์เดียวกัน เพียงมองตารู้ใจ เมื่อได้ท่วงทำนองก็ส่งต่อให้ Wentworth เรียบเรียงและกำกับเพลง

งานเพลงเป็นส่วนที่คอยเชื่อมโยงระหว่างฉาก (มักได้ยินขณะไม่มีการพูดคุยสนทนา กำลังออกเดินทาง หรือนำเข้าสู่ฉากนั้นๆ) สำหรับเสริมสร้างบรรยากาศ ให้เกิดความต่อเนื่องลื่นไหล ท่วงทำนองมีทั้งสะท้อนสภาวะอารมณ์ตัวละคร หรือสถานการณ์ที่พวกเขากำลังประสบอยู่ขณะนั้นๆ


เริ่มต้นพบเห็นฉัน นั่งฟังบทเพลง A Whiter Shade of Pale (1967) เป่าแซ็กโซโฟนโดย King Curtis ด้วยลีลาที่ชักชวนให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มล่องลอย เกิดความครุ่นคิด ตั้งคำถามถึงเป้าหมายชีวิต ค้นพบความต้องการของตนเองแล้วหรือยัง? โดยไม่รู้ตัวนั่นสร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจกับฉัน เพราะยังไม่พบเจอสิ่งนั้นเสียที คงจมปลักติดอยู่กับ Withnail ราวกับตะปูที่ไม่สามารถดึงงัด

การเลือกใช้ All Along the Watchtower (1968) ต้นฉบับแต่งโดย Bob Dylan แต่ฉบับโด่งดังสุดคือคัฟเวอร์ของ The Jimi Hendrix Experience ดังขึ้นจากวิทยุระหว่างที่ Withnail & I เริ่มต้นออกเดินทางมุ่งสู่ Penrith ผมถือว่ามีความเป็นวัยรุ่นสมัยนั้นมากๆเลยนะ เพราะคำร้องขึ้นต้นบทเพลงนี้คือ “There must be some kind of way outta here” มันคือสิ่งที่ตัวละครกำลังขวนขวายไขว่คว้า พยายามแสวงมองหา กระทำการดังกล่าวอยู่พอดิบดี!

ปล. เนื้อคำร้องของ All Along the Watch มีความโคตรๆปรัชญามากๆเลยนะ กล่าวถึงตัวตลก หัวขโมย นักธุรกิจ เจ้าชาย บริวาร คนรับใช้ รวมถึงแมวป่า ทุกสรรพชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันในประภาคาร (Watchtower) สัญลักษณ์แทนโลกใบนี้ ต่างพยายามหาหนทางหลบหนี แต่ก็พบว่าไม่ทางดิ้นหลุดพ้น

I Walks หรือ Marwood Walks เป็นบทเพลง OST ของ Dundas & Wentworth ดังขึ้นหลังจากหนุ่มๆมาถึงบ้านพักตากอากาศ Crow Crag พบว่าสถานที่แห่งนี้ไม่มีสักสิ่งอำนวยความสะดวก เช้าวันใหม่ฉันเลยต้องออกเดินไปตามท้องทุ่งกว้าง ติดตามหาความช่วยเหลือจากชาวหมู่บ้านข้างๆ

ท่วงทำนองเพลงนี้ไม่เพียงสะท้อนเหตุการณ์ขณะนั้น ฉันกำลังออกเดินไปตามท้องทุ่งกว้างใหญ่ แต่ยังสภาพจิตใจตัวละครมีความโดดเดี่ยวเดียวดาย เวิ้งว้างว่างเปล่า สถานที่แห่งนี้ไม่มีใครสักคนสามารถเป็นที่พึงพักพิง … แถมไม่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้านละแวกนั้นอีกต่างหาก

Cheval Blanc ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า White Horse, ได้ยินยามค่ำคืน ลุง Monty เปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียง ท่วงทำนองฟังเพลิน เคลิบเคลิ้ม ชวนหลงใหล แต่กลับสร้างความหลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงในให้กับฉัน รู้สึกหวาดเสียวประตูหลังขึ้นมาบัดดล

ช่วงระหว่างขากลับกรุง London ไม่รู้ฉันคิดอะไรถึงยินยอมให้ Withnail เป็นคนขับรถ ซึ่งก็ได้ทำการโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน ซิ่งตัดหน้า แบบลีลาการเล่นกีตาร์ Voodoo Chile (1968) ของ The Jimi Hendrix Experience แน่นอนว่าย่อมต้องถูกตำรวจโบก จับตัวส่งโรงพัก รอดกลับอพาร์ทเม้นท์มาได้อย่างไรกัน??

ทิ้งท้ายกับ Withnail’s Theme บทเพลงที่มีสองเสียงท่วงทำนองตัดกัน ซึ่งสามารถตีความถึงความขัดแย้งระหว่าง Withnail & I หรือจะมองว่าคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร อาจคือสาเหตุผลที่ทำให้เขามีพฤติกรรมรุนแรง สุดโต่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง โหยหาใครสักคนสำหรับเป็นที่พึงพักพิง แต่กลับไม่เคยครุ่นคิดทำอะไรตอบแทนความรู้สึกของอีกฝั่งฝ่าย ผลลัพท์สุดท้ายจึงถูกทอดทิ้ง ไม่หลงเหลือบุคคลใดเคียงข้างกาย

Withnail and I (1987) ทำการสำรวจวัยรุ่นยุค 60s-70s เกี่ยวกับมิตรภาพ เสรีภาพ ความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน สองหนุ่มครุ่นคิดอยากเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ในความเป็นจริงนั้นหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขาต้องต่อสู้ดิ้นรน ไม่ใช่แค่ผู้คนมากมาย ยังรวมถึงต้องเอาชนะตนเอง ไม่ปล่อยตัวกาย-ใจไปกับสิ่งยั่วเย้ายวนรอบข้าง

จริงอยู่ว่า Swinging London ทศวรรษ 60s-70s คือยุคสมัยแห่งการเปิดกว้าง ไม่ยึดติดอยู่กับบริบทกฎกรอบ สังคม การเมือง และอิสรภาพทางเพศ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นช่วงเวลาการมาถึงของยาเสพติด สิ่งมอมเมาเยาวชน ลุ่มหลงระเริงไปกับ ‘เสรีภาพ’ ของตนเอง … ทุกสิ่งอย่างก็เหมือนเหรียญ มีสองด้านเสมอๆ

The film is about the end of an era, the end of the sixties, and the end of a particular kind of friendship. It’s a kind of elegy, really. It’s about the death of youth, and the death of the dream of youth.

Bruce Robinson

เรื่องราวของ Withnail and I (1987) นำเสนอการเดินทางค้นหาเป้าหมายชีวิต ต้องการดิ้นหลบหนีออกจากวงจรอุบาศว์ (อพาร์ทเม้นท์รกๆหลังนั้น คือตัวแทนสภาพสังคมยุค 60s-70s) แต่ไม่ว่าพวกเขาจะดำเนินไปแห่งหนไหน โลกกว้างใหญ่ล้วนรายล้อมด้วยภยันตราย (ทั้งกรุง London vs. ชนบท Penrith) วัวกำลังจะพุ่งชน vs. ลุง Monty กระโจนเข้าประตูหลัง (ส่งผลประทบต่อร่างกาย-จิตใจ) เมื่อตระหนักถึงความจริงข้อนี้ได้ ฉันก็พร้อมแล้วจะก้าวเดินด้วยลำแข้งตนเอง

มิตรแท้ เราควรเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ (ไม่ใช่ให้อย่างเดียว หรือรับอย่างเดียว) การแลกเปลี่ยนด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม จักทำให้มิตรภาพยั่งยืนยาวนาน เขาเห็นความสำคัญของเรา เราเห็นคุณค่าของเขา ต่างฝ่ายถึงสามารถเป็นที่พึ่งพักพิงของกันและกัน, สำหรับ Withnail and I มันมีเพียง Withnail แต่ไม่เคยมีฉัน เวลาเผชิญหน้าปัญหาเขาก็มักเผ่นหลบหนีก่อนใคร แถมชอบพูดจาใส่ร้าย ปัดสวะออกจากตัว นี่ไม่ใช่ลักษณะมิตรที่ดีเลยสักนิด!

สาเหตุที่ฉันจมปลักอยู่กับ Withnail เพราะต่างมีอะไรๆหลายสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึง ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติต่อสังคม การเมือง รวมถึงชื่นชอบดื่มด่ำเมามาย เพียงมองตาก็รับรู้จิตใจ แต่ต่างคนต่างมีสามัญสำนึก/ขีดสุดของตนเองไม่เท่ากัน โชคดีว่าฉันยังพอมีสติ สามารถหยุดยับยั้ง หักห้ามตนเอง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงสามารถตะเกียกตะกายออกจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

การตั้งชื่อตัวละครฉัน ‘I’ ก็เพื่อสามารถเป็นตัวแทนผู้ชม บุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นผกก. Robinson โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่ม-สาว หลายคนอาจเคยพบเจอเพื่อนอย่าง Withnail เกาะติดราวกับตะปู ภาพยนตร์เรื่องพยายามให้คำแนะนำ ตักเตือนภัย ว่าอย่าหลงระเริงเพลิดเพลินไปกับสิ่งมึนเมารอบข้างกาย (แม้เรื่องราวจะคือการดื่มด่ำเมาสุรา แต่สามารถรวมถึงสิ่งอื่นๆที่สามารถทำให้มนุษย์ลุ่มหลงงมงาย) ฟื้นคืนสติให้จงได้ มองหาเป้าหมายชีวิต แล้วมุ่งมั่นก้าวเดินไปให้ถึงปลายทาง

ในแง่อัตชีวประวัติผกก. Robinson ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เชิงว่าคือการค้นหารากเหง้า (เพราะเขาไม่ได้เขียนขึ้นตอนอายุมากแล้ว) แต่คือจดบันทึกการเดินทาง (จะมองในลักษณะ ‘Coming-of-Ages’ ก็พอได้กระมัง) นำเสนอจุดจบยุคสมัย (ทศวรรษ 60s) ช่วงเวลา(ความเป็น)วัยรุ่นที่พานผ่านไป รวมถึงมิตรภาพปลอมๆที่เกิดจากความละอ่อนเยาว์วัยของตนเอง หวังว่าจะเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตสำหรับหนุ่ม-สาวสมัยใหม่


ด้วยทุนสร้าง £1.1 ล้านปอนด์ นี่ไม่ใช่ตัวเลขสูงนักในทศวรรษ 80s แต่ด้วยความที่เป็นหนังเฉพาะกลุ่ม แม้เสียงตอบรับจะดียอดเยี่ยม กลับไม่สามารถทำเงินสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นเมื่อกลายเป็น Home Video ค่อยๆพัฒนาสู่กระแสคัลท์ โดยเฉพาะบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยครุ่นคิดพัฒนาเกมดื่มเหล้า (Drinking Game) โดยไม่รู้ได้รับการโหวตติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหลากหลายสำนัก

  • BFI: Top 100 British films (1999) ติดอันดับ 29
  • BBC: Top 100 Films Poll (2001) ติดอันดับ 38
  • Total Films: 50 Best British Films (2004) ติดอันดับ 13
  • Empire: 500 Greatest Films of all Time (2008) ติดอันดับ 118
  • Empire: The 301 Greatest Movies Of All Time (2014) ติดอันดับ 92
  • TIMEOUT: The 100 Best British Films (2017) ติดอันดับ 15

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะเมื่อปี ค.ศ. 2014 คุณภาพ 2K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยตากล้อง Peter Hannan สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Arrow Films, Criterion Collection, Studio Canal

แม้ผมจะหน้านิ่วคิ้วขมวดกว่าครึ่งเรื่อง (เพราะจับใจความสนทนาได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง) แต่อย่างที่บอกไปว่าพอถึงไคลน์แม็กซ์ มิอาจอดกลั้นเสียงหัวเราะ ขำจนท้องแข็ง น้ำหมูกน้ำตาแทบเล็ดไหล ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครเอาตัวรอดจากการเสียความบริสุทธิ์มาได้อย่างไร ต้องปรบมือให้นักแสดงทั้งสาม เกินความคาดหมายไปไกล

Withnail and I (1987) ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ของคนขี้เมา สาระของหนังเหมาะสำหรับวัยรุ่นหนุ่ม(สาว) นักศึกษามหาวิทยาลัย และเพิ่งจบใหม่ ประสบการชีวิตตัวละคร ‘I’ สามารถเป็นบทเรียนให้ผู้ชมรู้จักระแวดระวังภัย ไม่หลงระเริง ปล่อยตัวปล่อยใจ มึนเมาไปกับความสำราญเล็กๆ ถึงเวลาที่ต้องเติบโต หางานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง ก้าวออกมาจากวงจรอุบาวศ์นั้น

(ผมจัดระดับความยากในการรับชมที่ ‘professional’ เพราะสำเนียงและศัพท์แสงของหนัง ต้องใช้ความเข้าใจภาษาอังกฤษระดับ ‘fluent’ อ่านซับไตเติ้ลภาษาไทยเข้าไม่ถึงอรรถรสอย่างแน่นอนนะครับ)

จัดเรต 18+ กับความมึนเมา ดื่มสุราต่างน้ำ คำด่าทอ พฤติกรรมถูกคุกคามทางเพศ

คำโปรย | Withnail and I ชักชวนผู้ชมมาด่ำดื่ม มึนเมามาย คลายกังวล เพื่อตอนฟื้นตื่นจักได้คืนสติ ไม่ครุ่นคิดทำให้ตนเองต่ำตมลงไปกว่านี้
คุณภาพ | มึ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: