Witness for the Prosecution (1957) : Billy Wilder ♥♥♥♥♡
อีกหนึ่งภาพยนตร์ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ของแนว Courtroom Drama ดัดแปลงจากเรื่องสั้น/บทละครของ Agatha Christie เข้าชิง Oscar 6 สาขา นำแสดงโดย Charles Laughton ที่คงไม่มีเรื่องไหนตลกร้ายไปกว่านี้, Marlene Dietrich เริดเชิดหยิ่ง กับเรียวขาสุดเซ็กซี่ในตำนาน, Elsa Lanchester กัดกับสามีอย่างเมามัน, และ Tyrone Power ผลงานเรื่องสุดท้าย
ตอนจบของหนังเรื่องนี้มีคำพูดร้องขอผู้ชมว่า ‘อย่าเฉลยตอนจบของหนัง’ นี่เป็นครั้งที่ 2 ในวงการภาพยนตร์ถัดจาก Les Diaboliques (1955) ที่มีการร้องขอแบบนี้ ถ้าคุณยังไม่เคยรับชมหนัง พยายามหลีกเลี่ยงบทความนี้เลยนะครับ ผมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสปอยได้จริงๆ แต่ก็จะพยายามเล่นคำลีลา ไม่พูดออกมาตรงๆแล้วกัน
“The management of this theatre suggests that for the greater entertainment of your friends who have not yet seen the picture, you will not divulge, to anyone, the secret of the ending of Witness for the Prosecution.”
Sub-Genre แนว Courtroom Drama คือส่วนผสมระหว่าง Crime กับ Drama มักดำเนินเรื่องในศาล ตัดสินการกระทำถูกผิดของผู้ต้องหา, สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกๆของโลกที่หลายคนอาจรู้จัก อาทิ The Passion Of Joan Of Arc (1928), M (1931) [ศาลเตี้ย], Mr. Deeds Goes to Town (1936) * คว้า Oscar: Best Director, The Life of Emile Zola (1937) ** คว้า Oscar: Best Picture ฯ
อาจเพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์ล่าแม่มด Hollywood Blacklist ต่อบุคคลผู้เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา พวกเขาถูกไต่สวนตัดสินเป็นข่าวใหญ่สาธารณะ ทำให้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50s – 60s น่าจะเรียกได้ว่ายุคทองของ Courtroom Drama อาทิ 12 Angry Men (1957), Anatomy of a Murder (1959), Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961), To Kill a Mockingbird (1962) ฯ แทบทุกเรื่องผู้บริสุทธิ์มักถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่จะรอดตัวหรือไม่นั่นอยู่ที่โชคชะตาบารมีล้วนๆ
Dame Agatha Mary Clarissa Christie หรือ Lady Mallowan (1890 – 1976) นักเขียนนิยาย/บทละคร แนวอาชญากรรม สัญชาติอังกฤษ,
– Guinness World Records จดบันทึกว่านิยายของเธอมียอดขายสูงสุดในโลก ประมาณการ 2 พันล้านเล่ม [ว่ากันว่าเป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิล กับบทละครของ Shakespeare]
– โดยนิยายเรื่องที่ได้รับการยกย่องเป็น Masterpiece ขายดีที่สุดคือ And Then There Were None (1939) แปลเป็น 103 ภาษา ชื่อไทยฆาตกรรมยกเกาะ น่าจะเกิน 100 ล้านเล่มไปแล้ว,
– นอกจากนี้บทละครเวทีเรื่อง The Mousetrap (1952) ถือสถิติเปิดการแสดงยาวนานสุดในโลกที่ West End ปัจจุบันก็ยังแสดงกันอยู่ 25,000+ รอบเข้าไปแล้ว
เมื่อปี 1925, Agatha Christie เขียนเรื่องสั้นหนึ่งตั้งชื่อว่า Traitor Hands ตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ Flynn’s Weekly พอรวมเล่มปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น The Witness for the Prosecution (ฉบับขายอเมริกา) หรือ The Hound of Death (ฉบับขายอังกฤษ) และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งปี 1948 เป็น The Witness for the Prosecution and Other Stories
หลังจาก The Mousetrap เปิดการแสดงเมื่อปี 1952 โปรดิวเซอร์ Peter Saunders เข้าไปพูดคุยกับ Christie มีต้องการดัดแปลง The Witness for the Prosecution ให้กลายเป็นละครเวที แม้เธอจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยเหมาะกับแนว Courtroom Drama สักเท่าไหร่ แต่ก็เขียนให้ตามคำร้องขอ ใช้เวลาเพียง 1 เดือน และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบมีการหักมุมแบบคาดไม่ถึง
“[The ending] was what could have happened, what might have happened, and in my view probably what would have happened…”
ละครเวที The Witness for the Prosecution เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Winter Garden Theatre ณ กรุง London เมื่อปี 1953, ปีถัดมามุ่งสู่ Broadway เปิดการแสดงที่ Henry Miller Theatre รวมทั้งสิ้น 645 รอบ คว้ารางวัล
– New York Drama Critic’s Award: Best Foreign Play
– Edgar Allan Poe Awards: Best Mystery Play
– Tony Award: Best Featured Actor in a Play และ Best Featured Actress in a Play
นิตยสาร Time Magazine ให้การยกย่องว่า
“Broadway’s first really bright evening of crime since Dial ‘M’ for Murder… [It] is frequently tense. And when it is not, it manages in the best English fashion to be entertainingly easygoing.”
ด้วยความสำเร็จระดับนี้มีหรือจะไม่อยู่ในความสนใจของ Hollywood โดยสองโปรดิวเซอร์ Arthur Hornblow กับ Edward Small แห่ง MGM ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์มาราคา $450,000 เหรียญ พร้อมเงื่อนไขเก็บงำตอนจบให้เป็นความลับที่สุด และไม่นานนักก็ได้ Billy Wilder เซ็นสัญญากำกับ
Samuel ‘Billy’ Wilder (1906 – 2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austria-Hungary เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Sucha Beskidzka (ในอดีตคือ Germany ปัจจุบันคือประเทศ Poland) มีความชื่นชอบสนใจในวัฒนธรรมอเมริกัน โตขึ้นอพยพย้ายมาอยู่อเมริกาในปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น Billy เริ่มต้นทำงานใน Hollywood ด้วยการเป็นนักเขียน มีผลงานดังคือ Ninotchka (1939) หนังแนว Screwball Comedy โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน Ernst Lubitsch นำแสดงโดย Greta Garbo, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Major and the Minor (1942) อีกสองปีถัดมามีผลงานฮิตเรื่องแรก Double Indemnity (1944) ตามมาด้วย The Lost Weekend (1945) หนึ่งในสิบเอ็ดเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sunset Boulevard (1950), Sabrina (1954), Some Like It Hot (1959), The Apartment (1960) ฯ
เรื่องราวของ Sir Wilfrid Robarts (รับบทโดย Charles Laughton) ทนายความยอดฝีมือที่สุขภาพไม่ค่อยดีนัก ตัดสินใจรับคดีความของ Leonard Vole (รับบทโดย Tyrone Power) ชายผู้ถูกกล่าวหาฆาตกรรม Mrs Emily French (รับบทโดย Norma Varden) สาวแก่แม่หม้ายฐานะร่ำรวยเพื่อหวังทรัพย์สินมรดก หน้าที่ของทนายความคือทำทุกวิถีทางให้ลูกความพ้นผิด แต่จะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ใครคงตอบไม่ได้นอกจากเจ้าตัวเอง
บทภาพยนตร์แม้จะยึดการดำเนินเรื่องของบทละครเป็นหลัก แต่มีการเพิ่มเติมแก้ไขหลายสิ่งอย่าง อาทิ
– เพิ่มทุกฉากที่ไม่ได้อยู่ในชั้นศาล อาทิ ห้องทำงานของ Sir Wilfrid, ย้อนอดีตบ้านของ Mrs Emily, การพบกันระหว่าง Leonard กับ Christine ฯ
– เพิ่มเติมอาการป่วยของ Sir Wilfried และตัวละคร Miss Plimsoll (รับบทโดย Elsa Lanchester) นางพยาบาลส่วนตัวสุดเขี้ยว เพื่อลดความตึงเครียดในกับโทนหนัง
– ชื่อของภรรยา Lenard Vole จากเดิม Romaine เปลี่ยนเป็น Christine (รับบทโดย Marlene Dietrich)
Charles Laughton (1899 – 1962) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Scarborough, North Yorkshire สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เอาตัวรอดมาได้ทำงานกิจการโรงแรมของครอบครัว ขณะเดียวกันเริ่มสนใจการแสดง เข้าเรียนที่ Royal Academy of Dramatic Art เป็นลูกศิษย์ของ Claude Rains จบมาเป็นนักแสดงละครเวทีพบเจอแต่งงานกับ Elsa Lanchester มุ่งสู่ Hollywood ประกบ Boris Karloff เรื่อง The Old Dark House (1932), โด่งดังจากการคว้า Oscar: Best Actor จาก The Private Life of Henry VIII (1933), ตามด้วย Mutiny on the Bounty (1935), David Copperfield (1937), Rembrandt (1936), The Hunchback of Notre Dame (1939) ฯ ก่อนหน้ารับเล่นหนังเรื่องนี้ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวในชีวิต The Night of the Hunter (1955) แม้ตอนออกฉายจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ได้รับการยกย่องยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
รับบท Sir Wilfrid Robarts ทนายความชื่อดังมากประสบการณ์ ผู้เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม คมคาย มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ ชื่นชอบความท้าทาย คาดว่าคงป่วยจากความเครียด เบาหวาน และสูบบุหรี่จัด จนเป็นลมล้มพบ หัวใจวาย (Heart Attack) โชคดียังมีชีวิตอยู่และเพิ่งตื่นฟื้นออกจากโรงพยาบาล, การทำคดีของเขาเริ่มจากการอ่านใจลูกความก่อน ว่ามีความบริสุทธิ์ใจเป็นคนดีเชื่อถือได้หรือเปล่า ถ้าพฤติกรรมปฏิกิริยาการแสดงออกน่าสนใจ และรูปคดีมีความท้าทาย ถึงค่อยยินยอมตกปากรับทำ
แต่ใช่ว่าคนมากประสบการณ์อย่าง Sir Wilfrid จะอ่านรูปเกมออกทั้งหมด มีหลายสิ่งอย่างไม่คาดคิดเกิดขึ้นมากมายในชั้นศาล ทำให้เขาต้องนวดศีรษะ กุมขมับ นั่งนับเม็ดยา เพื่อผ่อนคลายความเครียดอยู่ตลอดเวลาอย่างน่าเห็นใจ ยิ่งพอถึงตอนจบเป็นอะไรที่คงไม่มีใครคาดคิดถึงจริงๆ เมื่อรับรู้ความจริงถึงกับทรุดตัวลงนั่งอย่างหมดอาลัยผิดหวังในตัวเอง
ช่วงทศวรรษ 50s, Laughton เป็นนักแสดงที่ไม่ค่อยมีใครอยากร่วมงานด้วยเท่าไหร่ อารมณ์ขึ้นๆลงๆ ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย แต่พอเจ้าตัวรู้ว่าจะได้ร่วมงานกับ Wilder แปรเปลี่ยนเป็นคนละคน ทุ่มเทกายใจในกับบทบาทการแสดง ขนาดว่ามาช่วยเหลืองานกองถ่ายตั้งแต่เช้า อ่านบท Off-Screen เพื่อถ่ายทำปฏิกิริยาของตัวประกอบ สอน Dietrich พูดสำเนียงประหลาดๆ นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่ภรรยายังฉงนแปลกใจ
Laughton สร้างตัวละครนี้ด้วยการเลียนแบบ Florance Guedella ทนายความส่วนตัวของเขาและ Dietrich ที่ชอบใส่แว่นข้างเดียว (monocle) แล้วเอาส่องสะท้อนหน้าพยานเพื่อตรวจเช็คว่าเป็นคนเชื่อถือได้หรือเปล่า, ขณะเดียวกันก็เพิ่มการแสดงส่วน Comedy ด้วยคารม ท่าทาง สีหน้า หยอกล้อเล่น กวนประสาทเข้าขั้น กัดกับภรรยา Lanchester ได้อย่างเข้าขาสมผัวเมีย (เนื่องจากบทของ Lanchester ไม่มีในนิยาย จึงเป็นจากนักเขียนหรือไม่พวกเขาก็ดั้นกันสดๆ), ผมรับชมการแสดงของ Laughton มาไม่กี่เรื่อง นี่เป็นบทบาทอันน่าประทับใจ สมจริงจังอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในสามครั้งที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เห็นว่าครั้งหนึ่งแสร้งทำเป็นหัวใจวาย ทดสอบว่าตัวเองสามารถแสดงออกมาได้แนบเนียนแค่ไหน ก็ทำเอาภรรยาเป็นลมล้มพับแทบหมดสติ
Tyrone Edmund Power III (1914 – 1958) นักแสดงชายสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cincinnati, Ohio ลูกชายของนักแสดง Tyrone Power Sr. ตัดสินใจตามรอยเท้าพ่อตั้งแต่เด็ก โตขึ้นกลายเป็น Martinee Idol โด่งดังกับบทบาทพระเอก Swashbuckler และ Romance ในทศวรรษ 30s-40s อาทิ The Mark of Zorro (1940), Blood and Sand (1941), The Black Swan (1942), Captain from Castile (1947), Prince of Foxes (1949), The Black Rose (1950) ฯ เพราะความที่เป็นนักดื่มและสูบบุหรี่จัดวันละ 4 แพ็ก ทั้งๆที่อายุ 40 นิดๆแต่ดูแก่เกินวัยไปมาก และนี่คือผลงานสุดท้ายของเขาก่อนเสียชีวิตปีถัดมาด้วยโรคหัวใจวาย
รับบท Leonard Vole ผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย ความที่ไร้ซึ่งพยานเชื่อถือได้ เกิดอาการลุกลี้ลุกรน วิตกจริตตลอดเวลา แต่เพราะฝีมือของทนายความ Sir Wilfrid สามารถพลิกคดีได้อย่างไม่มีใครคาดถึง (แต่ผลลัพท์มันก็อยู่ที่ลูกขุนตอนจบนะครับ) เปลี่ยนไปราวกับคนละคน ตอนเป็นผู้ต้องหา และหลังจากสิ้นสุดคดีได้รับการตัดสิน ที่แม้แต่ภรรยาตัวเองก็ยังคาดไม่ถึง
เกร็ด: คำว่า Vole มาจากภาษาฝรั่งเศส Voleur แปลว่า thief, burglar, หัวขโมย
ตัวเลือกแรกของบทบาทนี้คือ William Holden เพราะคิวไม่ว่างเลยติดต่อ Tyrone Power ที่ตอนแรกบอกปัดปฏิเสธไป ส่งต่อให้ Gene Kelly, Kirk Douglas, Glenn Ford, Jack Lemmon, Roger Moore พิจารณา แต่สุดท้ายกลับมาตกเป็นของ Power ที่ได้เซ็นสัญญาควบ Witness for the Prosecution (1957) กับ Solomon and Sheba (1959) ด้วยค่าตัวสูงถึง $300,000 เหรียญต่อเรื่อง แต่ขณะกำลังถ่ายทำเรื่องหลังด่วนเสียชีวิตไปก่อน ทำให้ Yul Brynner ต้องเข้ามารับบทแทน
การแสดงของ Power ค่อนข้างจะมิติเดียวตลอดทั้งเรื่องจนกระทั่ง 5 นาทีสุดท้ายที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ถือเป็นการพลิกโฉมตัวละครที่กลับตารปัตร ค่อนข้างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว แต่ความโดดเด่นเทียบไม่ได้กับตัวละครหลักและนักแสดงแย่งซีนที่เหมาเอาไปหมดแล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง, เห็นว่า Power ชื่นชอบการแสดงของตนในหนังเรื่องนี้มาก ยกให้เป็นหนึ่งในสามเรื่องเยี่ยมที่สุดของตนเอง (แต่อีกสองเรื่องไม่เคยให้สัมภาษณ์บอกไว้ว่าเรื่องอะไร)
Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงในตำนานสัญชาติ German เกิดที่กรุง Berlin ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในไวโอลินแต่ได้รับอุบัติเหตุข้อมือหักเลยสูญสิ้นความฝัน ต่อมาเป็นนักร้อง Chorus Girl ออกทัวร์ทั่ว Nerlin แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เข้าตาผู้กำกับ Max Reinhardt ชักชวนมาแสดงละครเวทีจนไปเข้าตา Josef von Sternberg อีกคน ชักชวนให้มารับบทนำ The Blue Angel (1930) โด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลกโดยทันที ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ผลงานเด่น อาทิ Morocco (1930), Dishonored (1931), Shanghai Express (1932), The Scarlet Empress (1934), The Devil Is a Woman (1935) ฯ
ไม่มีใครที่จะสวยสง่า คงภาพลักษณ์เดิมจนแก่ได้ Dietrich ก็เช่นกัน ในช่วงทศวรรษ 50s (วัย 50 กว่า) เพื่อคงความงามยังสาว ไปผ่าตัดทำศัลยกรรมพลาสติก กับเรื่องนี้จะเห็นเครื่องสำอางค์หนาเตอะ สวมใส่วิก (และมีฉากที่แต่งหน้าจนจดจำไม่ได้) เพราะอยู่ในช่วงกำลังทำสวยอยู่ หน้าสดคงโรยราไปมาก
เกร็ด: คนที่แต่งหน้าให้ Dietrich จนไม่มีใครจดจำได้คือ Orson Welles
รับบท Romaine Vole/Helm ภรรยาที่ปากอ้างว่ารัก Leonard อย่างยิ่ง เดิมเป็นนักร้องนักเต้นสัญชาติเยอรมัน ได้รับการช่วยเหลือจากว่าที่สามีตั้งแต่สมัยสงครามโลก อพยพย้ายมาอยู่เกาะอังกฤษจนได้รับสิทธิ์เป็นพลเมือง, ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกสวยคม เริดเชิด นิ่งหยิ่ง ยโสโอหัง มันเหมือนว่าเบื้องลึกภายในมีบางสิ่งอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ คล้ายงูเห่าที่สามารถแว้งกัดผู้อื่นได้ตลอดเวลา หารู้ซึ้งสำนึกบุญคุณต่อใคร เลือกทางง่ายสบายตัวเอง โดนแสงไฟส่องตาก็เดินหนีไปปิดกระจกไม่ฝืนทนทรมาน
ในบรรดาผู้กำกับทั้งหลายที่ Dietrich เคยร่วมงาน มีเพียงสามคนเท่านั้นได้รับคำชมจากปากเธอ มีความชื่นชอบประทับใจอย่างยิ่ง คือ Josef von Sternberg, Orson Welles และ Billy Wilder ซึ่งกับเรื่องนี้ตอนโปรดิวเซอร์ติดต่อไป เหตุผลที่ยินยอมรับเล่นเพราะการได้ร่วมงานกับ Wilder นี่แหละ
การแสดงของ Dietrich คือหัวใจของหนังเรื่องนี้ เพราะเธอคือ Witness พยานคนสำคัญหนึ่งเดียวที่รับรู้ความจริงทั้งหมด แต่มันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ จะสามารถทำให้ลูกขุนและผู้ชมเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน, กระนั้นการแสดงของเธอทั้งหมดก็ยังไม่เท่าเรียวขาสุดเซ็กซี่ที่แย่งซีนไปเต็มๆ เพราะแค่ฉากนั้นฉากเดียวใช้ตัวประกอบ 145 คน สตั๊นแมนอีก 38 ค่าใช้จ่ายสูญไป $90,000 เหรียญ แพงกว่าค่าสร้างฉากศาล London’s Central Criminal Court (The Old Bailey) ที่ใช้เงิน $75,000 เหรียญ, มันคือเรียวขาแห่งตำนานจริงๆ
เกร็ด: ชุดของ Dietrich ออกแบบโดย Edith Head เจ้าแม่แฟชั่นในตำนาน เลิศมากทุกชุด
เห็นการแสดงของ Dietrich ใครๆคงคิดว่าเธอต้องได้เข้าชิง Oscar แน่ เจ้าตัวก็แสดงความมั่นใจถึงขนาดโปรโมทตัวเองล่วงหน้าแบบไม่อายใคร ขณะได้เข้าชิง Golden Globe ก็ตามคาด แต่กลับพลาด Oscar นี่สิน่าแตกเสียหายยับเยิน ว่ากันว่าเหตุผลที่หลุดโผลไม่ได้แม้แต่จะเข้าชิง เพราะสตูดิโอพยายามไม่โปรโมทอีกตัวละครหนึ่งที่เธอกลายเป็น (เพราะมันจะเป็นการสปอยตอนจบไปในตัว) ทำให้คณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ดูหนังมองข้ามไม่ได้สนใจ โชคร้ายจริงแท้!, ด้วยเหตุนี้ทั้งชีวิตของ Dietrich ได้เข้าชิง Oscar แค่ครั้งเดียวจาก Morocco (1930) ไม่เคยได้ Honorary Award แต่ติดอันดับ 9 ฝ่ายหญิง Female Legend ของ AFI’s 100 Years…100 Stars
Elsa Lanchester (1902 – 1986) นักแสดงหญิงสัญชาตอังกฤษ เกิดที่ Lweisham, London พ่อแม่เป็นชาว Bohemian ทำให้ชื่นชอบการร้องเล่นเต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อตั้ง Children’s Theatre นำเอาบทเพลงยุคเก่าๆมาร้องเล่นเต้นจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะเดียวกันก็รับงานแสดง ไนท์คลับ ละครเวที ทำให้ได้พบเจอแต่งงานกับ Charles Laughton ทั้งชีวิตจริงและในหลายๆเรื่องการแสดง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มมีชื่อเสียงตามสามี The Private Life of Henry VIII (1933), David Copperfield (1935), บทบาท The Bride ใน Bride of Frankenstein (1935) ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็นตำนาน
ผลงานส่วนใหญ่ของ Lanchester มักได้รับบทสมทบในเรื่องที่สามีเล่นด้วย ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress สองครั้งจาก Come to the Stable (1949) กับ Witness for the Prosecution (1957)
รับบท Miss Plimsoll พยาบาลส่วนตัวของ Sir Wilfrid เป็นคนจู้จี้จุกจิกเรื่องมาก พยายามจะควบคุมบงการด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ได้รับน้ำใจตอบกลับด้วยความไม่สนหัว จริงๆก็น่าจะปล่อยให้ตายไปเลยนะ พูดไม่ฟังแบบนี้
นี่เป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับหนังอย่างมาก Lanchester รับส่งมุกได้เข้าขาสามี Laughton เป็นอย่างดี ก็คงมีแต่พวกเขาแหละมังที่มองหน้าเข้าใจกันดี แม้ชีวิตคู่จะอยู่ด้วยกันจนตายแต่กลับไม่มีทายาท (เพราะ Lanchester เคยทำแท้งถึงสองครั้งตอนยังวัยรุ่น จึงมีลูกไม่ได้อีกแล้ว) ทำให้ค่อนข้างระหองระแหงพอสมควร แต่ก็ไม่มีใครนอกลู่นอกรอยในชีวิตแต่งงาน
เนื่องจากตอนจบมีการหักมุมแบบคาดไม่ถึง ผู้กำกับ Wilder จึงฉีก 10 หน้าสุดท้ายของบทออก ทำให้ไม่มีนักแสดงคนไหนล่วงรู้ผลลัพท์ของการตัดสินคดีความจนกว่าจะถึงเวลาถ่ายทำ นั่นทำให้ทุกฉากตั้งแต่แรกสุด พวกเขามีความเชื่ออย่างไรก็จะแสดงออกมาเช่นนั้นอย่างไม่มีลับลมคมใน และพอได้รับรู้เฉลยความจริงก็เลยมีปฏิกิริยาอึ้งทึ่งช็อค สภาพอาการไม่ต่างจากผู้ชมสักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Russell Harlan ตากล้องสัญชาติอเมริกายอดฝีมือ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 6 ครั้ง แต่ไม่เคยคว้าสักรางวัล ผลงานเด่นอาทิ Red River (1948), Lust for Life (1956), Rio Bravo (1959), To Kill a Mockingbird (1962), Hatari! (1962), The Great Race (1965) ฯ
ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นฉากถ่ายทำภายใน เน้นภาพ Medium Shot โดดเด่นเรื่องทิศทางมุมกล้อง การจัดวางตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของตัวละคร, ฉากในชั้นศาล จะมีไม่กี่ช็อตเท่านั้นที่เห็นครบทุกองค์ประชุม หลายครั้งใช้มุมกล้องจับจ้องเฉพาะตำแหน่ง เช่น ลูกขุน, ผู้พิพากษา, ฝั่งทนายความ, ผู้ต้องหา, พยาน และผู้สังเกตการณ์ด้านบน เพื่อจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจ้างตัวประกอบทุกคนทุกช็อต
มุมกล้องมีการเปลี่ยนแปลงไปมาแทบจะตลอดเวลา มุมก้ม-ระดับสายตา-มุมเงย เหมือนต้องการจะสะท้อนอะไรสักอย่างที่ผมยังคิดไม่ตกว่าคืออะไร เว้นกับผู้พิพากษาที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก หลายครั้งเป็นมุมเงยขึ้นสะท้อนถึงอำนาจตำแหน่งใหญ่สุดในชั้นศาล
ตัดต่อโดย Daniel Mandell สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ William Wyler และ Billy Wilder คว้า Oscar: Best Edited เจ้าของสถิติ 3 ครั้ง จากเรื่อง The Pride of the Yankees (1942), The Best Years of Our Lives (1946), The Apartment (1960) ฯ
เกร็ด: มีนักตัดต่อ 4 คนที่คว้า Oscar: Best Edited ถึง 3 ครั้ง Daniel Mandell, Ralph Dawson, Michael Kahn และ Thelma Schoonmaker แต่ยังไม่มีใครคว้าตัวที่ 4 ได้สำเร็จ
ใช้มุมมองของ Sir Wilfrid Robarts ในการเล่าเรื่อง และแทรกใส่ภาพย้อนอดีต Flashback ของผู้ต้องหาแทนการพูดเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นอย่างอื่นบ้างนอกจากฉากในชั้นศาล
ความโดดเด่นของการตัดต่ออยู่ที่ฉากในชั้นศาล เลือกตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง สลับไปมาได้อย่างน่าสนเท่ห์ ไม่พบเจอความน่าเบื่อเลย, ส่วนที่ผมค่อนข้างชื่นชอบคือ ขณะพยานขึ้นให้การกำลังพูดในเรื่องที่เรารับรู้มาแล้ว แทนที่หนังจะจับจ้องอยู่แต่ที่การพูดคุยนั้น ก็ตัดมาให้เห็น Sir Wilfrid ฟังแบบหูทวนลม นับเม็ดยาคลายเครียด, ปฏิกิริยาของผู้ต้องหาทำหน้าฉงน, ผู้สังเกตการณ์พูดคุยกระซิบกระซาบ ฯ ใครกันจะไปทนจับจ้องอยู่แต่เรื่องซีเรียส แม้แต่หนังก็เช่นกัน ยังหาเวลาผ่อนคลายสายตา กวาดตาไปรอบๆ มองดูคนอื่นๆบ้างไม่ให้เครียดเกินไป
เพลงประกอบโดย Matty Malneck มีไม่เยอะเท่าไหร่ ใส่มาเฉพาะช่วงเปลี่ยนฉาก คั่นเรื่องราวของหนังเท่านั้น เพื่อเติมเต็มขณะไม่มีบทพูดสนทนาของตัวละคร (เหมือน Sound Effect มากกว่า Soundtrack)
ขณะที่ไฮไลท์คือบทเพลง I May Never Go Home Anymore แต่งโดย Ralph Arthur Roberts คำร้องโดย Jack Brooks ขับร้องโดย Marlene Dietrich และมี Cappella เล็กๆของ Tyrone Power แถมท้าย, นี่เป็นบทเพลงที่แต่งมาเพื่อให้ Dietrich โชว์เรียวขาอันสุดเซ็กซี่เท่านั้น แต่กลับตราตรึงเพราะน้ำเสียงร้องของเธอไม่ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น มีความโดดเด่นในสไตล์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร (และคงไม่มีใครเลียนแบบให้เหมือนได้)
ตัวละครใน Witness for the Prosecution เต็มไปด้วยคนเก่ง เฉลียวฉลาด แต่มักใช้ความรู้ในทางที่ผิด ชั่วร้าย คอรัปชั่น
– ไม่เว้นแม้แต่ Sir Wilfrid Robarts ฉายาจิ้งจอกเฒ่า รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ตัวเองป่วยหนักเกือบตายมาแล้ว แต่หาได้สนใจคำแนะนำของคนรอบข้าง แอบบุหรี่ แอบเหล้า ในที่ที่คนทั่วไปคงคาดคิดไม่ถึง
– Leonard Vole ทั้งๆที่ก็เป็นคนเฉลียวฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับไม่ยอมหางานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง
– Christine Vole เธอเป็นนักแสดงยอดฝีมือ แต่กลับใช้ความสามารถนี้เพื่อหลอกลวงคนอื่น
ฯลฯ
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความกังขาในระบบศาล เพราะมันมีโอกาสความเป็นไปได้ที่
– ผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ถ้าได้ทนายเก่งๆก็อาจจะสามารถเอาตัวรอดพ้นจากโทษทัณฑ์ที่สมควรได้รับได้
– ขณะเดียวกันคนไม่ได้กระทำความผิดใดๆรู้เรื่องใดๆด้วยเลย แต่กลับต้องเป็นแพะรับโทษแทน
แต่มันก็ไม่มีระบบยุติธรรมใดในโลกที่สามารถตัดสินการกระทำความผิดได้อย่างถูกต้อง 100% เว้นแต่กฎแห่งกรรม เราคงได้ต้องทำใจยอมรับเชื่อมั่นในระบบศาล หวังว่ายังคงไม่ถูกทุนนิยมกลืนกินโดยเร็ววัน (มีเงินจ้างทนายเก่งๆราคาแพง การันตีต่อให้ทำผิดอะไรมา โทษที่ได้รับย่อมลดหย่อนลงมาแน่ๆ ขณะที่คนจนๆไม่มีสตางค์จ้างทนาย การันตีนอนคุกแน่นอนเช่นกัน)
ในมุมของทนายความ การรับรู้ความจริงก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ เพราะบางครั้งจำต้องให้การเพื่อปกป้องคนชั่วผู้กระทำความผิด ต่อให้ขัดต่อหลักมโนธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณ ความต้องการของตนเอง แต่ด้วยหน้าที่การงาน เมื่อเลือกอาชีพนี้แล้วต้องเตรียมพร้อมทั้งกายใจ ใครจะถูกผิดต้องวางตนเป็นกลาง นี่แหละครับคือช่องโหว่หนึ่งที่จะทำให้ทุนนิยมสามารถเข้ามาครอบงำระบบยุติธรรมได้
อย่างน้อยที่สุดกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมยังรู้สึกประทับใจ Sir Wilfrid ไม่ใช่แค่ความยียวนกวนบาทามากประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่คืออุดมการณ์ จรรยาบรรณ และความยึดมั่นในข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดมั่นคง เมื่อรับรู้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เขาทรุดลงนั่งอย่างท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากเหมือนคนพ่ายแพ้ แล้วอยู่ดีๆ กฎแห่งกรรมก็ทำหน้าที่ของมันอย่างรวดเร็ว นี่ทำให้ความหวัง/จิตวิญญาณแห่งอุดมการณ์กลับคืนเข้าร่าง ตบท้ายด้วยความตั้งใจครั้งใหม่อย่างแรงกล้า นี่แหละคดีต่อไปที่ฉันต้องการทำ!
ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ $9 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆ, เข้าชิง Oscar 6 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Charles Laughton)
– Best Supporting Actress (Elsa Lanchester)
– Best Film Editing
– Best Sound Mixing
สาขาที่ถูก SNUB อย่างรุนแรงคือ Best Actress (Marlene Dietrich) และการพลาดรางวัล Best Supporting Actress ของ Elsa Lanchester ที่ตกเป็นของ Miyoshi Umeki เรื่อง Sayonara (1957) [ถือเป็นครั้งแรกที่นักแสดงสัญชาติเอเชีย/ญี่ปุ่น คว้า Oscar ไปครอบครอง], ส่วนเรื่องกวาดรางวัลใหญ่ในปีนั้นแบบไม่ค่อยแบ่งใครคือ The Bridge on the River Kwai (1957) ของผู้กำกับ David Lean กวาดไปถึง 7 รางวัล
ส่วน Golden Globe Award หนังได้เข้าชิง 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Motion Picture – Drama
– Best Director
– Best Actor – Drama (Charles Laughton)
– Best Actress – Drama (Marlene Dietrich)
– Best Supporting Actress (Elsa Lanchester) ** คว้ารางวัล
Alfred Hitchcock บ่นขณะให้สัมภาษณ์ ผู้ชมมักเข้าใจผิดคิดว่าเขากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ว่าไปองค์ประกอบของเรื่องราวก็มีความคล้ายคลึงอยู่มาก โดยเฉพาะช่วงไคลน์แม็กซ์หักมุมตอนท้าย มันคาดไม่ถึงสไตล์ Hitchcock จริงๆ
“Many times, people have told me how much they enjoyed Witness for the Prosecution. They thought it was my film instead of Billy Wilder’s. And Wilder told me people asked him about The Paradine Case, thinking he had done it.”
เกร็ด: ผมยังไม่เคยดู The Paradine Case (1947) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock แต่เท่าที่อ่านรายละเอียดพบว่าเป็นแนว Courtroom Drama นำแสดงโดย Gregory Peck, Ann Todd และมี Charles Laughton รับบทผู้พิพากษา ถ้ามีโอกาสสักวันอาจได้เขียนถึง
สิ่งที่ทำให้ผมหลงรักคลั่งภาพยนตร์เรื่องนี้คือสามนักแสดงนำ Charles Laughton, Marlene Dietrich, Elsa Lanchester คนส่วนใหญ่จะบอก Dietrich โดดเด่นแย่งซีนสุด (ขาเธอเด่นกว่าหน้านะ) แต่ผมชื่นชอบความตลกร้ายของ Laughton กวนประสาทได้ใจกว่า
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับการศึกษาพฤติกรรมของคน ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์บางครั้งมาพร้อมกับความคอรัปชั่นชั่วร้าย ทำความเข้าใจไว้เป็นบทเรียน แต่ขออย่าลอกเลียนพฤติกรรมทำตามตัวละครเลยนะครับ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเหมือน …. กรรมมันอาจตามสนองอย่างรวดเร็วทันใจแบบไม่รู้ตัว
เกร็ด: ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของตนเอง Agatha Christie มีความชื่นชอบเพียง Witness for the Prosecution (1957) กับ Murder on the Orient Express (1974)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชื่นชอบแนว Courtroom Drama, นักเรียนกฎหมาย อาชีพทนายความ ผู้พิพากษา, ชื่นชอบนิยายผลงานของ Agatha Christie, แฟนๆผู้กำกับ Billy Wilder และนักแสดงนำ Charles Laughton, Marlene Dietrich, Elsa Lanchester ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมความเห็นแก่ตัว โกหกโป้ปด ไร้สามัญสำนึก
Leave a Reply