Wolf Children (2012) : Mamoru Hosoda ♥♥♥♡
Hana หญิงสาวตกหลุมรักชายหนุ่มที่เป็นหมาป่า (Werewolf) พวกเขามีลูกสองคน พี่สาว Yuki น้องชาย Ame แต่เมื่อพ่อพลันด่วนเสียชีวิตจากไป แม่จึงต้องเลี้ยงดูลูกรักทั้งสองด้วยตัวคนเดียว
สำหรับเทศกาลวันแม่ปีนี้ ผมขอเลือก Wolf Children อนิเมชั่นรางวัลจากญี่ปุ่น ของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ที่มีผลงานเด่นอย่าง The Girl Who Leapt Through Time (2006), Summer Wars (2009) ฯ ซึ่งเรื่องนี้ Hosoda บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากคำตอบของเพื่อน ที่เขาขอคำแนะนำการเลี้ยงดูลูก
“I happened to meet a young mother who likened her children to having monsters and wild animals in the house,”
จากคำพูดเป็นนัยนี้ Hosoda ตัดสินใจสร้างเรื่องราวโดยใช้สัตว์สัญลักษณ์แทนเข้าไปจริงๆ เลือกหมาป่าคงเพราะคนส่วนใหญ่มักจดจำเป็นสัตว์นิสัยไม่ดี ตามหนังสือเด็ก/เทพนิยาย ยิ่งชอบให้พวกเขาเป็นศัตรูตัวอันตรายไม่ควรเข้าใกล้ (หนูน้อยหมวกแดง, ลูกหมูสามตัว, หมาป่ากับแกะ ฯ) หวังว่าใครก็ตามรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มองหมาป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้
เราสามารถรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้โดยไม่ต้องแทนตัวละครด้วยอะไรเลยก็สามารถเข้าใจทุกสิ่งอย่างได้นะครับ หรือถ้าคุณชอบคิดวิเคราะห์ แทนหมาป่าด้วยจิตใจด้านหนึ่งของมนุษย์ ก็จะพบเห็นความลึกซึ้งสวยงามแอบซ่อนอยู่ด้วย
Mamoru Hosoda (เกิดปี 1967) ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kamiichi, Toyama เริ่มต้นจากเป็น key animator ให้กับสตูดิโอ Toei Animation เกือบได้เป็นผู้กำกับ Howl’s Moving Castle (2004) แต่มีความเห็นไม่ตรงกับผู้บริหาร Ghibli ปี 2005 ย้ายมาอยู่ Madhouse สร้างอนิเมชั่นขนาดยาว 2 เรื่อง The Girl Who Leapt Through Time (2006), Summer Wars (2009) พอปีกกล้าขาแข็ง ปี 2011 ออกมาตั้งสตูดิโอใหม่ Studio Chizu เพื่อรองรับการสร้างอนิเมชั่นของตนเองโดยเฉพาะ
หลังจาก Hosoda คิดเรื่องราวเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ร่วมงานกับ Satoko Okudera ให้ช่วยขัดเกลาบทอนิเมะ ทั้งคู่มีผลงานร่วมกันมาตั้งแต่ The Girl Who Leapt Through Time (2006), Summer Wars (2009) และ Wolf Children (2012)
สำหรับนักพากย์ เลือกใช้บริการของนักแสดงมีชื่อ ไม่ใช้ Seiyuu นักพากย์มืออาชีพ เพราะต้องการเสียงที่สดใหม่มีชีวิตชีวากว่า
Aoi Miyazaki นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีผลงานดังอย่าง Nana (2005) กับ Virgin Snow (2007), พากย์เสียง Hana จากหญิงสาวกลายเป็นแม่ แม้ต้องพบกับความสูญเสียแต่ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวัง รอยยิ้มบางครั้งแม้จะเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยาก แต่ล้วนออกมาจากภายใน ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง, เสียงของ Miyazaki มีความนุ่มนวลอ่อนหวาน ทั้งสุขและเศร้าปนอยู่ ลงตัวกับตัวละครนี้เป็นอย่างมาก
Takao Osawa นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น อยู่ในวงการมีผลงานพอสมควรแต่ยังไม่มีเรื่องไหนที่ได้รับการจดจำ, พากย์เสียงพ่อหมาป่า (The Wolfman) เป็นคนสุภาพอ่อนโยนผิดกับภาพลักษณ์ของหมาป่า คงเพราะการที่ต้องหลบๆซ่อนๆ หวาดกลัวมนุษย์รับรู้ความจริง จึงไม่กล้าทำอะไรผลีผลามกระโตกกระตาก การได้พบเจอกับ Hana เป็นหญิงสาวที่ตกหลุมรัก เข้าใจ และรับได้กับตัวตนแท้จริง ทำให้เขายินดีเสียสละตัวเองเพื่อความสุขของครอบครัว
Haru Kuroki นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น ที่เพิ่งคว้ารางวัล Silver Bear: Best Actress เทศกาลหนังเมือง Berlin จากเรื่อง The Little House (2014), พากย์เสียง Yuki ตอนโต เด็กหญิงสาวที่มีความสามารถปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้โดยง่าย เธอมีความอยากรู้อยากลอง ต้องการไปเสียทุกสิ่งอย่าง แม้ตอนแรกจะชื่นชอบการเป็นหมาป่า แต่เมื่อได้เข้าโรงเรียน รู้จักเพื่อนๆมากมาย ตกหลุมรักชายคนหนึ่ง จึงตัดสินใจโตขึ้นเป็นมนุษย์ ไม่ต้องการเป็นหมาป่าอีกต่อไป
Yukito Nishii นักแสดงหนุ่มหน้าใส ที่มีผลงานเป็นหนึ่งในนักเรียน Confessions (2010), พากย์เสียง Ame ตอนโต เด็กชายหนุ่มผู้ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวกับสิ่งรอบข้าง ไม่ชื่นชอบการไปโรงเรียนพบเจอกับเพื่อนมนุษย์ แต่ได้รู้จักอาจารย์แห่งพงไพร เรียนรู้วิถีของป่า โตขึ้นจึงตัดสินใจละทิ้งความเป็นมนุษย์ เลือกเป็นผู้พิทักษ์พนาวัน
ออกแบบตัวละครโดย Yoshiyuki Sadamoto หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Gainax มีชื่อเสียงโด่งดังจากออกแบบตัวละคร Nadia: The Secret of Blue Water (1990-1991), Neon Genesis Evangelion เป็นทั้งผู้วาดมังงะ และออกแบบตัวละครในอนิเมะ, เคยร่วมงานกับ Hosoda มาตั้งแต่ The Girl Who Leapt Through Time (2006)
หมาป่ามันน่ารักนะครับ เด็กตัวเล็กๆกลายร่างเป็นหมาป่ามีความน่ารักน่าชังอยู่มาก แต่เด็กหนุ่มกับผู้ใหญ่พอกลายร่างเป็นหมาป่าผมว่ามันตลกสิ้นดี แต่ก็เข้าใจความตั้งใจ เพราะนี่เป็นตัวละครลูกครึ่ง มนุษย์-หมาป่า ใบหน้าและทรงผมยังคงสภาพคล้ายมนุษย์ มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนไป
สำหรับภาพพื้นหลัง ช่วงแรกจะเป็นเรื่องราวในเมืองใหญ่ เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องและผู้คนมากมาย, พอออกสู่ชนบท จะเต็มไปด้วยสีเขียวต้นไม้ธรรมชาติ เห็นแล้วผ่อนคลายสบายตาอย่างยิ่ง, แสงสี Lens Flare ถือว่าจัดเต็ม เพราะใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยหมดแล้ว
จะมีอนิเมชั่นฉากหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจเป็นพิเศษ ขณะวิ่งไล่ไถลสกีหิมะของทั้ง 3 แม่ลูก ภาพจะเคลื่อนตามติดตัวละคร (Tracking Shot) ความยากอยู่ที่แทนด้วยมุมมองบุคคลที่ 1 สองข้างทางเคลื่อนผ่าน (เหมือนนั่งสไลเดอร์) และ Partition เกร็ดหิมะที่กระเด็นกระดอน แม้จะเป็นสีขาวโพลน แต่มีความละเอียด ยิบย่อย ปริมาณมากทีเดียวละ
ที่ฉากนี้มีความทรงพลังเป็นพิเศษ คงเพราะได้เพลงประกอบของ Takagi Masakatsu ร่วมด้วยช่วยกัน นี่ถือเป็นผลงาน debut ประกอบภาพยนตร์/อนิเมชั่นเรื่องแรก หลังจากออกอัลบัมเดี่ยวมาหลายชุดตั้งแต่ปี 2001
เพลงประกอบโดดเด่นมากเรื่องจังหวะ ที่สอดคล้องลงตัวกับอนิเมชั่นในฉากนั้นๆได้อย่างพอดิบพอดี เช่นว่า เสียงฉาบดังขึ้นพร้อมกับหิมะสาดกระเซ็น, เสียงทรัมเป็ตทรัมโบนดังขึ้น ในจังหวะกระโดดทะยาน ฯ
บทเพลงมีสัมผัสที่อิ่มเอิบ ซาบซึ้ง สนุกสนานเป็นสุขล้น สดชื่นแจ่มใสราวกับฟ้าหลังฝน เต็มไปด้วยความหวัง แทบจะไม่มีทำนองเศร้าหดหู่แม้แต่น้อย
ขณะที่เสียงฮัมนุ่มๆเบาๆ ที่ร้องคลอประกอบ ราวกับ Lullaby เพลงกล่อมลูกเข้านอน เหมาะกับหนังที่มีบรรยากาศเกี่ยวกับเด็กวัยกำลังเติบโตนี้เหลือเกิน
เกร็ด: Ubugoe แปลว่า เสียงร้องไห้ของเด็กทารก
ตัดต่อโดย Shigeru Nishiyama, เรื่องราวของหนังสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน/องก์
1. การพบเจอตกหลุมรักระหว่าง Hana กับชายหมาป่า ถือเป็นช่วงโรแมนติกของอนิเมะ
2. เมื่อพ่อจากไป แม่จำต้องเลี้ยงดูลูกทั้งสองด้วยตัวคนเดียว นี่เป็นช่วงของการต่อสู้ดิ้นรน
– ในเมือง แต่ผู้คนกลับเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
– ชนบท แรกๆก็ไม่มีใครสนใจ แต่ไม่นานทุกคนกลับเข้าหา ด้วยจิตใจอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
3. การเติบโต และทางแยกของลูกรักทั้งสอง ที่ต้องอาศัยการเข้าใจและยินยอมรับ
วิธีการเล่าเรื่อง เพื่อย่นระยะเวลาของอนิเมะ (ที่แค่นี้ก็ยาวกว่า 117 นาทีแล้ว) มักใช้การประมวลเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ทำเป็น Slice-Show บทเพลงประกอบภาพเรื่องราว ไม่มีบทพูดสนทนาเน้นภาษากายล้วนๆ, หรือตัวละครเดินวนไปวนมา ก็ไม่รู้เวลาผ่านไปเท่าไหร่ รวบรัดตัดตอน เห็นอีกทีพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ฯ
สำหรับเสียงบรรยายจะเป็นของ Yuki ตอนโต พูดเล่าถึงความทรงจำและเรื่องเล่าจากแม่ของตน … ก็ว่าอยู่ทำไมหลายฉากถึงต้องทำให้รวบรัดตัดตอน ก็เพราะเป็นการเล่าผ่านๆของ Yuki ไม่แน่ว่าอาจเป็นไดอารี่หรือหนังสือที่เธอเขียนขึ้น แล้วจินตนาการแทนแม่ของตนเองก็เป็นได้
ผมมอง หมาป่า เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่แทนด้วย สันชาติญาณของมนุษย์
– Yuki ตอนเด็ก มักกลายร่างเป็นหมาป่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทำตามต้องการของตนเองทั้งนั้น
– Ame ตอนเด็ก มักไม่ค่อยกลายร่างเท่าไหร่ นอกจากวิ่งเล่นไล่ตามพี่ Yuki
– Yuki ตอนโต ถ้าไม่จนตรอกก็ไม่กลายร่าง เปิดเผยแสดงสันชาติตัวเองออกมา เรียกว่าเป็นการควบคุม(สันชาติญาณ)ของตนเอง ปกปิดไว้มิดชิด
– Ame ตอนโต เลือกที่จะปลดปล่อยสันชาติญาณของตนเอง เดินไปตามทางที่ตนสนใจ
เกร็ด: Yuki (แปลว่าหิมะ) จะค้นพบตัวเองตอนฝนตก, ส่วน Ame (แปลว่าฝนตก) ค้นพบตัวเองตอนหิมะตก
สันชาตญาณของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายอะไรนะครับ มันคือพฤติกรรมการแสดงออก ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ก็สามารถแสดงออกมาได้ เช่น อารมณ์ความรู้สึก การกินข้าว Sex ฯ, ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นนิพพาน ก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะสันชาติญาณของตนเองได้ นอกจากควบคุม กักเก็บ ซ่อนเร้นบางส่วนไว้ ให้มันอยู่ในกรอบเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ เพื่อให้สามารถกลายเป็นสัตว์สังคม มีชีวิตอยู่ร่วมกันคนอื่นได้
– Yuki เป็นตัวแทนของคนที่พยายามควบคุมความต้องการสันชาติญาณของตนเอง เลือกปฏิบัติตามกรอบกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ นั่นทำให้เธอกลายเป็น’มนุษย์’โดยแท้, กลุ่มคนเหล่านี้เรียกว่าผู้อยู่ในระบบ อาทิ พนักงานบริษัท, ทหาร, ตำรวจ, ครู-อาจารย์, ข้าราชการ ฯ
– Ame เลือกที่จะใช้ความต้องการสันชาติญาณ นำทางชีวิตของตนเอง นี่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ใช่มนุษย์หรือยังไง คือกลุ่มคนที่คิดต่าง นอกกรอบ ไม่ชอบระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม อาทิ ศิลปินนอกคอกทั้งหลาย, นักเคลื่อนไหวรณรงค์, อาชีพอิสระ, Freelance, คนชอบความสันโดษ ไม่ค่อยเข้าสังคมคบหากันใคร ฯ
ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ นำเสนอหน้าที่ของแม่ต่อลูก เริ่มจากส่งต่อความรักพ่อ-แม่สู่ลูก (ในกรณีที่พ่อไม่อยู่แล้ว), เลี้ยงดูให้เติบใหญ่ และสุดท้ายยินยอมปลดปล่อยให้พวกเขาเป็นอิสระ
ชีวิตมนุษย์ก็มีเพียงเท่านี้นะครับ เหมือนตอนจบ Boyhood (2014) ที่ผมชอบพูดซ้ำอยู่บ่อยๆกับคำพูดของแม่ที่ว่า
“I just thought there would be more.”
ในญี่ปุ่น อนิเมะออกฉายสัปดาห์เดียวกับ Brave (2012) ของ Disney สามารถทำอันดับได้สูงกว่า สัปดาห์แรก 365.14 ล้านเยน รวมตลอดโปรแกรมฉาย 4.2 พันล้านเยน ทั่วโลกออกฉาย 34 ประเทศ รายรับทั้งหมดประมาณ $55 ล้านเหรียญ กลายเป็นอนิเมะทำเงินสูงสุดของ Mamoru Hosoda ไปโดยปริยาย
อนิเมะคว้า 3 รางวัลใหญ่จาก 3 สถาบัน
– Japan Academy Prize: Animation of the Year
– Mainichi Film Award: Best Animation Film
– Tokyo Anime Award: Animation of the Year
ผมรู้สึกว่า Wolf Children เป็นอนิเมะที่ค่อนข้างยาวและมีตำหนิค่อนข้างเยอะ เรื่องราวมีความเยิ่นเย้อขาดความกระชับ ประเด็นหลายๆสร้างขึ้นมาอย่างน่าสนใจ (โดยเฉพาะองก์ 2) แต่พอผ่านไปแล้วก็ทิ้งขว้างจบสิ้นหายไปเลย รวมถึงอะไรหลายๆอย่างขาดเหตุผลรองรับที่เพียงพอ มันอาจเพราะความที่เป็นอนิเมะเลยสามารถตัดความสมเหตุสมผลออกไปได้บ้าง แต่กระนั้นการทำเช่นนี้ มันจะกลายเป็นที่พึงพอใจของผู้ใหญ่ได้อย่างไร
ส่วนตัวเลยรู้สึกเพียงชื่นชอบประทับใจ แต่ก็มีความซาบซึ้งกับช่วงท้าย การตัดสินใจเลือกทางเดินของลูกทั้งสอง และแม่ที่ยินยอมปล่อยวางความรู้สึกยึดติด ภาระหน้าที่ของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อจากนี้หลงเหลือเพียงรอยยิ้มที่อิ่มเอิบสุขใจ ไม่เจือปนด้วยความเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบากอีกต่อไป
นี่เป็นภาพยนตร์/อนิเมชั่น ที่เหมาะสำหรับวันแม่และคนเป็นแม่โดยแท้ ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวในโลกที่ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากสายตัวแทบขาดเพื่อเลี้ยงลูกน้อยให้เติบโต และเมื่อวันใดที่เขากลายเป็นผู้ใหญ่ มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ก็ควรที่จะรู้ตัว ถึงเวลาที่จะปลดปลอยให้เขาโผบินด้วยปีกของตนเอง อย่างเหนี่ยวรั้งเพราะลูกไม่ใช่ของของเรา
และลูกๆทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่ตอนเด็กเคยซุกซนเหมือนสัตว์ป่า จะได้เห็นว่ามันเป็นความยากลำบากของพ่อแม่ที่เป็นภาระเลี้ยงดูเรา จริงอยู่รับชมอนิเมะเรื่องนี้อาจไม่รู้สึกอะไรนัก แต่เมื่อใดที่คุณกลายเป็นพ่อแม่มีลูกตัวเล็กๆ ลองกลับมารับชมอีกสักรอบ แล้วคุณจะ… ซาบซึ้งเป็นปีติ น้ำตาไหลย้อยมิอาจหยุดได้
จัดเรต pg เด็กๆดูได้ ผู้ใหญ่ต้องดู
Leave a Reply