Woman in the Dunes

Woman in the Dunes (1964) Japanese : Hiroshi Teshigahara ♥♥♥♥♡

หญิงสาวในทะเลทราย Suna no Onna หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ของผู้กำกับ Hiroshi Teshigahara นี่ไม่ใช่หนัง Sci-Fi แต่เป็น Drama สุดเข้มข้น ที่จะพาคุณไปสู่โลกอันสุด Extreme กับสถานการณ์ที่เงินไม่มีความหมาย การยังมีชีวิตเท่านั้นสำคัญที่สุด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Woman in the Dunes เป็นหนังที่ผมใคร่สงสัย อยากดูมานานมากแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้รับชมสักที สมัยก่อนเพราะคิดอยู่เสมอ ว่านี่อาจเป็นหนังแนว 18+ คล้ายๆ In the Realm of Senses (1976) เลยซื้อกลับไปดูที่บ้านไม่ได้, มาครั้งนี้โตพอมีโอกาสได้ดูเสียที ก็พบว่าไม่ได้ใกล้เคียงกับที่จินตนาการคาดหวังไว้เลย คือมันก็มีความ Erotic ระดับหนึ่งนะ แต่ในสถานการณ์ของหนัง ถือว่านั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก, หนังมีความน่าสนเท่ห์ พิศวง ลึกลับ ที่หนังจบคนดูไม่จบ ต้องมานั่งขบคิดต่อว่าอะไรคือสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ และผมได้ข้อสรุปว่า นี่เป็นหนังที่แฝงแนวคิดทางปรัชญาได้อย่างลึกซึ้งมากๆ ชีวิตคืออะไร? เกิดมาเพื่ออะไร?

ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง The Woman in the Dunes เขียนและดัดแปลงโดย Kōbō Abe ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1962 นี่ไม่ใช่นิยายเรื่องแรกของ Abe ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นะครับ, กับผู้กำกับ Hiroshi Teshigahara ทั้งสองน่าจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน มีการดัดแปลงนิยายสร้างเป็นภาพยนตร์ ร่วมกันถึง 4 เรื่อง ประกอบด้วย The Pitfall (1962), Woman in the Dunes (1964), The Face of Another (1966) และ The Man Without a Map (1968)

นำแสดงโดย Eiji Okada รับบท Niki Junpei อาจารย์สอนหนังสือ นักกีฎวิทยา (ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแมลง) ที่ออกเดินทางมายังทะเลทราย เพื่อค้นหาแมลงตัวหนึ่ง แต่กลับตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก กลายเป็นเสมือนนักโทษที่ถูกขังอยู่ในบ้านใต้หลุมทรายกับหญิงสาวคนหนึ่ง

มีคำพูดประโยคหนึ่ง ยาวๆของพระเอก ที่น่าจดจำมากๆ เป็นบทสรุปย่อชีวิตของเขาก่อนที่จะออกเดินทางมายังทะเลทรายแห่งนี้

“The certificates we use to make certain of one another: contracts, licenses, ID cards, permits, deeds, certifications, registrations, carry permits, union cards, testimonials, bills, IOUs, temporary permits, letters of consent, income statements, certificates of custody, even proof of pedigree. Is that all of them? Have I forgotten any? Men and women are slaves to their fear of being cheated. In turn they dream up new certificates to prove their innocence.”

ตัวละคร Junpei ถ้าเปรียบก็คือมนุษย์ทุกคนในโลก ที่เกิดและใช้ชีวิตไปวันๆ ซ้ำไปซ้ำมา แม้เราจะมีอิสระสามารถคิด พูด ทำอะไรก็ได้ดั่งใจ แต่โลกทั้งใบก็เปรียบเสมือนหลุมทราย มีกำแพงที่มองไม่เห็น เกิด-ตาย วนเวียน ซ้ำๆซากๆ ไม่คิดที่จะหาทางออกไปสู่โลกข้างนอก, Junpei หลังจากกลายเป็นนักโทษในหลุมทราย ช่วงแรกๆเขาพยายามต่อสู้ดิ้นรนขัดขืน เพื่อหาทางหนีเอาตัวรอด แต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่สามารถทำสำเร็จ วนกลับมาสู่ที่เดิม นี่คือวงเวียนวัฎจักรของมนุษย์ ซึ่งเมื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง ขณะที่ทางหนีได้เปิดออก เขากลับเลือกที่จะไม่ไป ยอมจมอยู่ภายในหลุมทราย วังวนแห่งนี้ต่อไป

แมลงที่ Junpei ค้นหาคือด้วงเสือ (Tiger beetle) จัดอยู่ในวงศ์ Cicindelidae มีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา บางชนิดมีสีแดง, น้ำเงิน, เขียว บางชนิดมีสีเหลืองและดำ ดัวงเสือเป็นแมลงนักล่าที่น่ากลัว มันมีเขี้ยวยาวโค้ง นิสัยดุร้าย ขายาว วิ่งได้เร็ว ตัวอ่อนของด้วงเสือก็ดุร้ายไม่แพ้ตัวเต็มวัย, ด้วงเสือวางไข่ในดิน ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะขุดโพรงลึกลงไปถึง 60 เซนติเมตร และรอเหยื่ออยู่ในโพรง เมื่อพื้นดินสั่นสะเทือนแม้เพียงเล็กน้อยมันจะรีบพุ่งออกมา และลากเหยื่อลงไปกินในโพรง, ว่ากันว่าด้วงเสือถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเร็วมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าถ้าด้วงเสือมีขนาดเท่ากับมนุษย์จะวิ่งได้เร็วประมาณ 494 กม./ชม.

กับคนที่ดูหนังมาแล้ว ได้อ่านวิธีการล่าเหยื่อของด้วงเสือ ก็จะระลึกได้ว่า มันคล้ายกับเรื่องราวของพระเอก Junpei ที่ได้ประสบพบเจอในหนัง นี่แสดงถึง แมลงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่แทนด้วยเป้าหมายชีวิตของ Junpei, ซึ่งเป้าหมายของเขา ในหนังอธิบายไว้คือ ต้องการหาแมลงที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน จะได้นำไปตั้งชื่อเป็นของตนเองกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ซึ่งในหนังเขาไม่ได้พบแมลงสายพันธุ์ใหม่ และตอนจบของหนังเขาก็ไม่พบคำตอบของเป้าหมายชีวิตเช่นกัน

Kyōko Kishida รับบทหญิงหม้ายสาวที่เสียสามีและลูกไปจากการโดนทรายถล่ม เธอไม่มีมีชื่อ อาศัยอยู่ในบ้านใต้หลุมทราย วันๆเอาแต่ขุดทรายเพื่อไม่ให้มันถล่มทับบ้าน, วันหนึ่งมีชายหนุ่มจากต่างแดนหลงเดินทางผ่านมา ชาวบ้านได้หลอกพาชายคนนั้นให้มาอาศัยอยู่กับเธอ, แม้เขาจะไม่เต็มใจ แต่เธอพลีกายถวายใจยอมรับ เพราะมันจะทำให้เธอมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการอยู่โดดเดี่ยวคนเดียว

สำหรับตัวละครนี้ Kishida ที่รับบท ต้องการให้เธอเป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของ ‘ผู้หญิงทุกคนในโลก’ แต่ผู้กำกับ Teshigahara ต้องการให้เธอเป็น ‘ตัวแทนของญี่ปุ่น’ แม้ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นในหนัง Teshigahara จะเป็นผู้ชนะ ที่นำเสนอตัวละครนี้ในฐานะ ตัวแทนของญี่ปุ่น แต่ผมมองว่าก็ยังมองเห็นว่า เธอก็เป็นตัวแทนของ ‘เพศหญิง’ และในอีกมุมหนึ่ง เธอคือ ‘กิเลส’ ของมนุษย์

ด้วยความที่ผู้กำกับ Teshigahara และคนเขียนบท Abe มีชีวิตวัยรุ่นผ่านช่วงทุกข์ยากลำบากที่สุดของญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานของพวกเขาจึงมีใจความแฝงหนึ่ง ที่เปรียบเปรยถึงความทุกข์ยากลำบากของการมีชีวิต ซึ่งเราสามารถมองได้ว่าตัวละครหญิงหม้ายในหนัง สามารถแทนได้ด้วย คนญี่ปุ่นทั้งประเทศ (ไม่ใช่แค่ผู้หญิงนะครับ แต่รวมผู้ใหญ่ ลูกเด็กเล็กแดง ทั้งหมดเลย) ที่เหมือนอาศัยอยู่ในหลุมทราย จะไปไหนก็ไม่ได้ ตกกลับลงมาที่เดิม ต้องคอยน้อมรับ ยอมรับทำตามสิ่งที่คนอื่นสั่งโดยดุษฎี

ในประเด็นที่ผมมองเห็น หญิงหม้ายคือตัวแทนของกิเลส ความยั่วยวนที่ยึดติด เป็นคนที่เหนี่ยวรั้ง Junpei โดยใช้ทุกสิ่งอย่างเข้าแม้กระทั่งร่างกายเข้าแลก, เธอไม่ใช่ผู้หญิงที่สวย แต่ในสถานการณ์ที่ ชายและหญิง อยู่ด้วยกัน มันก็ไม่มีอะไรที่จะหักห้ามความต้องการของมนุษย์ได้

กับคนที่มองหนังเรื่องนี้ด้วยประเด็น Feminist ผมว่าคุณมองแคบไปนิดนะครับ จริงอยู่ที่ Junpei ใช้กำลังขืนใจหญิงหม้ายที่ดูแล้วครั้งแรกๆเธออาจไม่ได้สมยอมเลย แต่นั่นไม่ใช่บริบทของหนังเลยนะครับ มันคือจุดเริ่มต้นของการยอมรับ และการเอาคืนในทุกสิ่งที่มี ถ้ามองประเด็นของประเทศญี่ปุ่น นี่คือความ Racist แต่ถ้าในประเด็นของโลกมันคือวัฏจักรของมนุษย์

ถ่ายภาพโดย Hiroshi Segawa นี่เป็นหนังที่ถ่ายภาพ Extreme Close-Up ในระดับที่ว่าถึงรูขุมขน เห็นทรายเป็นเม็ดๆ (ผิวมนุษย์กับผืนทรายก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่) ถ่ายใกล้จนรู้สึกสัมผัสใกล้ชิดได้, กับฉากแรกของหนัง เริ่มถ่ายจากคริสทัลใสเม็ดหนึ่ง ตัดไปเห็นหลายๆเม็ด ตัดไปอีกทีเห็นเป็นก้อนกรวดทราย และตัดไปอีกครั้งเห็นผืนทราย จากระดับเล็กๆ (micro) กลายเป็นมวลรวม (macro) นี่แสดงถึงการเปรียบเทียบของหนัง มนุษย์แต่ละคนเปรียบได้กับเม็ดทรายหนึ่งเม็ด หลายคนก็คือผืนทราย ถึงจะมีเรื่องราวแค่ ชายหญิงคู่หนึ่ง ที่เป็นระดับ micro แต่ก็มีใจความเทียบได้กับ macro โลกมนุษย์/สิ่งมีชีวิตทั้งหมด

มีการถ่ายภาพช็อตหนึ่งของหนัง ที่ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง The Graduate (1967) เชื่อว่าได้แรงบันดาลใจมาจากช็อตนี้แน่นอน

ต้องบอกว่าหนังถ่ายทรายได้สวยมากๆ ซึ่งระหว่างถ่ายทำฉากทรายไถล/ถล่ม Teshigahara ได้รู้ความจริงข้อหนึ่งว่า เขาไม่สามารถทำให้ทรายให้เอียงกว่า 30 องศาได้ เพราะมันจะไหลทันที (I found it physically impossible to create an angle of more than 30 degrees.)

เมื่อพูดถึงหนังเกี่ยวกับทะเลทราย ก็ต้องนึกถึง Lawrence of Arabia (1962) แต่หนังสองเรื่องนี้คนละระดับเลยนะครับ เรื่องนั้นใช้การถ่ายเน้น Macro ภาพไกลๆเห็นเป็นมวลรวม สัมผัสได้ถึงความอบอ้าว ร้อนระอุ, แต่หนังเรื่องนี้ เราจะเห็นทรายเป็นเม็ดๆ เคลื่อนไหวเป็นริ้วๆราวกับมีชีวิต ระดับ Micro แม้จะเป็นภาพขวา-ดำ แต่สัมผัสถึงความเหนียวเหนอะหนะของเม็ดทราย ครั่นเนื้อครั่นตัว หยาบกระด้าง, ถ้า Lawrence of Arabia คือหนังที่สร้างความรู้สึกร้อนระอุให้เกิดขึ้นในจิตใจ Woman in the Dune จะคือหนังที่สร้างสัมผัสหยาบกระด้างของเม็ดทรายในระดับจับต้องได้

ตัดต่อโดย Fusako Shuzui, ในช่วงต้นเรื่องที่ตัวละครและผู้ชมยังไม่รู้เรื่องราวอะไร หนังค่อยๆสร้างปริศนา หยอดคำพูด ให้เกิดความฉงนสงสัย นั่นพูดจริงหรือพูดเล่น หรือกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป, เชื่อว่าหลายๆลางสังหรณ์ในหนัง ผู้ชมย่อมคาดเดาได้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้นจริง เมื่อถึงเวลาสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับตัวละคร ในใจเราจะกระหยิ่ม ‘ว่าแล้วต้องเป็นแบบนี้’ จากนั้นก็จะเฝ้ามองการแสดงออกและครุ่นคิดตาม ถ้าฉันตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น จะทำตัวเช่นไร เหมือนตัวละครนี้ไหม และคิดถึงตอนจบ พระเอกจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

นี่เป็นการตัดต่อที่เหมือนคิดล่วงหน้าแทนผู้ชม ราวกับอ่านใจได้ แต่จริงๆแล้วนั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับวางไว้เป็นเหยื่อล่อ ให้ผู้ชมติดตามแล้วตกลงในหลุมกับดักที่เขาเตรียมไว้ (พูดเหมือนด้วงเสือ) ผมมาย้อนนึกดูก็เป็นแบบนี้จริงๆนะครับ เพราะขณะดูผมก็คิดตามแบบที่เล่าให้ฟังนี้ ฤาว่านี่เป็นหนังที่สามารถควบคุมการคิดของผู้ชมได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมคงต้องกราบคารวะ ยอมศิโรราบให้กับหนังเลยทันที

เพลงประกอบโดย Toru Takemitsu (คนนี้เคยทำเพลงประกอบให้หนังเรื่อง Ran-1985 ของ Akira Kurosawa ด้วยนะครับ) กับหนังเรื่องนี้เพลงประกอบต้องถือว่า Avant-Garde มากๆ เป็นแนวทดลองที่ฟังยาก แต่เหมือนได้สร้างโลกอีกใบให้กับหนัง, เน้นเสียง high pitch แหลมสูง แสบแก้วหู ทำเอาผมไม่แน่ใจเลยว่านั่นเสียงไวโอลินหรือเสียงอะไร ส่วนเครื่องดนตรีอื่นๆก็จะมาแบบประปรายดังขึ้นมาแล้วก็หายไป ฟังไม่ได้สรรพเป็นทำนอง เหมือนเสียง Sound Effect ลมโหยหวน ที่พัดมาแล้วจากไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น, กับฉาก Sex Scene เพลงประกอบแบบว่าหลอน…เข้ากระดูกดำ คือดูแล้วไม่ได้เกิดอารมณ์ความต้องการใดๆทั้งนั้น แต่ขนลุกซู่ มันเหมือนลูกหมาจิ้งจอกตัวหนึ่งกำลังเดินเข้าถ้ำเสือ แล้วถูกขยุ้มฆ่าตายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว

แม้ตรรกะต่างๆในหนังเรื่องนี้จะดูไม่สมเหตุสมผลเลย อาทิ หมู่บ้านเอาเงินมาจากไหน? ขุดทรายไปขาย… แล้วทำไมต้องขุดจากหลุมนี้? ถ้าเราไม่ขุดบ้านอื่นก็จะถูกทรายทับเดือดร้อน … ไหนบ้านอื่น? ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการรับชมหนังเสียไปแม้แต่น้อย เพราะคำตอบของคำถามพวกนี้ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย เป็นองค์ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์อะไร รู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ มีค่าเท่ากับไม่รู้ (เหมือนโลกขนาดใหญ่เท่าไหร่?, ค่า PI ทำไมเท่ากับ 3.14 ? ฯ เรื่องพรรค์นี้ไม่ต้องรู้ก็ได้)

วิธีการจะดูหนังเรื่องนี้ให้สนุก คือคุณต้องคิดตาม หาเหตุผล ทำความเข้าใจหนังด้วยตนเอง ใจความของหนังเกี่ยวกับการค้นหาคำตอบ ชีวิตคืออะไร? เกิดมาเพื่ออะไร? หนังไม่มีคำตอบให้นะครับ แต่ท้าทายให้คุณคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งคุณอาจไม่พบคำตอบก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคำตอบของชีวิตมันไม่ได้หากันมาง่ายๆ แต่ผมก็รู้คำตอบนะครับ และมีคำตอบเดียวเท่านั้นคือ พุทธศาสนา

ผมไม่รู้ว่าผู้กำกับ Teshigahara และคนเขียนบท Abe สร้างหนังเรื่องนี้อิงทางพุทธศาสนามากแค่ไหน (เชื่อว่าอาจจะไม่ได้สนใจหรือศึกษาอ้างอิงอะไรเลย) ซึ่งการวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ทางพุทธ ผมรู้สึกว่าเป็นอะไรที่สนุกมาก, ถ้าเปรียบหลุมทรายแห่งนี้คือ วัฎจักรของมนุษย์ และการเอาตัวรอดคือการหนีพ้นวัฎจักร ความต้องการของมนุษย์มีแค่ กิน/ขี้/ปี้/นอน ในพื้นฐานทั้ง 4 อาหาร/เครื่องนุ่งห่ม/ที่อยู่อาศัย/ยารักษาโรค เมื่อมีเหล่านี้ครบ ก็พอเพียงที่จะมีชีวิตอยู่ได้, พระเอกในหนัง ช่วงแรกพยายามหาทางหนีออกจากวัฏจักรนี้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด หลงใหลยึดติดในรูป/รส/กลิ่น/เสียง/สัมผัส สุดท้ายเมื่อหนทางออกเปิดกว้าง เขาเลือกยอมศิโรราบกับกิเลส กลายเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไปคนหนึ่ง, ถ้าจบแบบทางพุทธ ยังไงพระเอกก็ต้องหนีออกไปเมื่อเห็นทางสว่าง (คือหลุดพ้นจากวัฎจักร) แต่เมื่อไม่ไป นี่แสดงว่า ตัวเขายอมรับความพ่ายแพ้ หลงใหลยึดติดในกิเลส ยอมที่จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรนั้นไม่มีจบสิ้น

ถ้าคุณเป็นชาวพุทธ พยายามคิดต่อหนังให้ได้แบบที่ผมเล่ามาในย่อหน้าที่แล้วนะครับ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ลองไปคิดหาคำตอบในมุมมอง ความเชื่อของตัวคุณเองดูแล้วกัน, ใบ้ให้ว่าคือการมีชีวิต ใช้ชีวิต การยอมรับ และการค้นหาตัวตน สำหรับผมมันไม่มีค่าอะไรเลยที่จะคิดเรื่องพรรค์นั้น เพราะเมื่อมองเห็นทางพุทธแบบนี้ จะเห็นใจความของหนัง คือ การต่อสู้เพื่อหาหนทางหลุดพ้น แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ต่อกิเลสและมาร

นี่แหละครับเหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดูแล้วคิดตามได้ประโยชน์มหาศาล

หนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes และคว้ารางวัล Special Jury Prize มารอง, ปลายปีเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นส่งชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film ได้เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายก่อนแพ้ให้กับ Yesterday, Today and Tomorrow หนังสัญชาติ Italian ของผู้กำกับ Vittorio De Sica, และมีเรื่องตลกคือ ปีถัดมาเมื่อหนังได้ไปฉายที่อเมริกา Hiroshi Teshigahara ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Director จากหนังเรื่องนี้ย้อนหลังด้วย (หนังเรื่องเดียวกันแท้ๆ แต่ได้เข้าชิงสองปีติด) ก่อนแพ้ให้ Robert Wise จาก Sound of Music

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะ หนังที่เป็นตัวแทนประเทศส่งเข้าชิง Best Foreign Language Film ไม่จำเป็นต้องได้ฉายในอเมริกา (แค่เข้าฉายในประเทศที่เป็นตัวแทนภายในเวลาที่กำหนดก็พอ) ส่วนสาขาอื่นๆ ต้องฉายในอเมริกาแล้วเท่านั้นถึงมีสิทธิ์ได้เข้าชิง ซึ่งกรณีนี้ Women in the Dunes ไม่ได้ฉายในอเมริกาปี 1964 เลยได้เข้าชิงแค่ Best Foreign Language Film ในปีนั้น แล้วพอเข้าฉายในอเมริกาปี 1965 จึงได้โอกาสเข้าชิงสาขา Best Director โดยปริยาย

นี่ถือเป็นกรณีพิลึกพิลั่นหนึ่งของ Oscar ที่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ได้ออกกฎเพิ่มเติมว่า ถ้าหนังต่างประเทศเรื่องไหนได้เข้าชิงติด 1 ใน 5 เรื่องสุดท้าย แม้จะยังไม่ได้ฉายในอเมริกา ก็จะหมดสิทธิ์เข้าชิงสาขาอื่นในปีถัดไปทันที, กระนั้นมันก็มีกรณีของ City of God (2002) หนังสัญชาติ Brazillian ที่ผมเคยเล่าไปแล้ว เพราะหนังไม่ได้เข้าชิงติด 1 ใน 5 สาขา Best Foreign Language Film ในปี 2003 ผู้สร้างเลยจัดฉายทั่วอเมริกาในปีถัดมา และหนังได้เข้าชิง Oscar ถึง 4 สาขา

Roger Ebert เปรียบเทียบว่า Woman in the Dunes เปรียบเสมือนเทพนิยาย Sisyphus สมัยใหม่ ที่ชายคนหนึ่งถูกพระเจ้าสั่งให้เข็นหินขึ้นเขาตลอดเวลา เพียงเพื่อให้เห็นก้อนหินตกลงมา, เฉกเช่นกับการขุดทราย ขนทราย มันไม่ได้มีเหตุผลความจำเป็นอะไร ขุดทรายตรงนี้ออกเดี๋ยวมันก็ทับถมขึ้นมาใหม่ ในหนังพระเอกถามหญิงหม้าย ‘นี่เธอขุดทรายเพื่อที่จะเอาตัวรอด หรือเอาตัวรอดเพื่อขุด’ (Do you shovel to survive, or survive to shovel?) คำถามนี้ไม่มีคำตอบ

ผมหลงรักหนังเรื่องนี้เมื่อสักครึ่งชั่วโมงแรกผ่านไป ตอนเริ่มจับใจความได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร คงเพราะความสุดโต่งหลายๆอย่าง โดยเฉพาะงานภาพและเพลงประกอบ ที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเข้าไปถึงข้างในจิตใจ สิ่งที่อยู่ข้างในเนื้อหนังมังสาของนักแสดง สัมผัสได้ถึงความอึดอัดทรมาน เหนียวเหนอะหนะ จมูกได้กลิ่นทราย ความกระหายทำให้แสบคอ กับคนที่สัมผัสได้ จะพบว่าหนังเรื่องนี้มีความสมจริงอย่างที่สุด

ถ้าผมตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นะ จะนั่งคุยแบบเปิดอกกับหญิงสาวให้เข้าใจไปเลยว่าทำไม เพื่ออะไร อาจมีเล่นตัวสักนิดแล้วก็จะยอมรับโชคชะตา ไม่ดื้อดึงดันนานแบบพระเอกในหนังแน่นอน, นี่เพราะผมคิดว่า คนฉลาดไม่ใช่คนที่ดิ้นรน แต่คือคนที่รู้จักหาจังหวะและฉวยโอกาส ดังที่เราจะเห็นได้ในหนัง เมื่อถึงเวลาของมัน เราก็แทบไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย ขณะนั่นแหละถึงจะเป็นการเลือกตัดสินใจที่แท้จริง ว่าเราจะหนีหรือจะอยู่ (แน่นอนว่าผมเลือกหนี)

เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky

เหตุผลเดียวที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้กลายเป็นหนังเรื่องโปรดของผม ทั้งๆที่บอกตามตรงโคตรชอบเลยละ เพราะตอนจบพระเอกเลือกที่จะไม่หนีออกไป ยอมวนเวียนหลงใหลในวัฏจักร นี่ทำเอาผมเสียดายอย่างยิ่ง เพราะถ้าหนังจบที่เขาหนีไป มันจะสมบูรณ์แบบในทางพุทธอย่างสวยงาม

แนะนำกับคนชื่นชอบหนังแนว Drama แนวคิดสุดโต่ง แบบ Avant-Garde, นักกีฏวิทยา นักภูมิศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักมนุษยศาตร์ ศึกษามนุษย์/แมลง ภูมิทัศน์ และการใช้ชีวิตเอาตัวรอดในทะเลทราย, นักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ มีอะไรให้น่าศึกษาเยอะเลย

แนะนำอย่างยิ่งกับนักปรัชญา ศาสนา นักคิดที่ชอบตั้งคำถาม ชีวิตคืออะไร? เกิดมาเพื่ออะไร? หนังเรื่องนี้ไม่มีคำตอบให้คุณนะครับ รังแต่จะสร้างคำถามเพิ่ม กระนั้นมันก็น่าสนใจไม่ใช่เหรอ หนังที่ทำให้คุณต้องขบคิดหาคำตอบ

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศหนังและความ Erotic

TAGLINE | “Woman in the Dunes คือหนังที่ตั้งคำถามกับการเป็นมนุษย์ สุดยอดทั้งงานภาพ เพลงประกอบ และการแสดงที่สมจริง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
5 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 10. Woman in the Dunes (1964)  : Hiroshi Teshigahara ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: