Written on the Wind (1956) hollywood : Douglas Sirk ♥♥♥♥

ลมยิ่งพัดแรง จะสร้างความเสียหายให้กลายเป็นภัยพิบัติ เฉกเช่นเดียวกับมรสุมความรัก ยิ่งเร่งรีบ เร่าร้อน รุนแรง ก็อาจบังเกิดการสูญเสีย บานปลายสู่โศกนาฎกรรม, แต่การจะเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น นักวิจารณ์ Roger Ebert บอกว่าอาจสลับซับซ้อนยิ่งกว่าผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Ingmar Bergman

To appreciate a film like Written on the Wind probably takes more sophistication than to understand one of Ingmar Bergman’s masterpieces, because Bergman’s themes are visible and underlined, while with Sirk, the style conceals the message.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

มองผิวเผิน ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Douglas Sirk คือแนว Melodrama ที่คนไทยมักเรียกว่าละครน้ำเน่า เนื้อเรื่องเฉิ่มเชย (cliché) โปรดักชั่นราคาถูก ฉากภายนอกดูจอมปลอม การแสดง Over Acting นอกจากสีสันสดใส (ของ Technicolor) นอกนั้นก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่น่าสนใจ

แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เริ่มต้นจากบรรดานักวิจารณ์ฝรั่งเศส (โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard) นิตยสาร Cahiers du cinéma สามารถแยกแยะระหว่างเศษขยะกับสิ่งของล้ำค่า คนบ้า vs. อัจฉริยะ เพราะมันมีเพียงเส้นแบ่งบางๆที่เลือนลาง ถ้าไม่สังเกตแล้วครุ่นคิดอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถมองเห็นความแตกต่าง

Written on the Wind (1956) ได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece ของแนว Melodrama ที่สุดของผู้กำกับ Douglas Sirk ด้วยการนำเรื่องราวสุดเชย พยายามสร้างความแตกต่าง (ไม่ให้เชย) แต่สุดท้ายกลับยังลงเอยอย่างที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิดคาดเดาได้ (ผลลัพท์ก็ออกมาเชยๆเหมือนเดิมนะแหละ) … สำหรับคนที่งงๆๆ ให้ลองเปรียบเทียบกับองก์แรกของหนัง เริ่มต้นที่หญิงสาวถูกลวงล่อโดยทายาทมหาเศรษฐี พยายามจะใช้เงินทอง สิ่งข้าวของ เพื่อขอซื้อใจ (แบบเดียวที่เคยทำกับหญิงอื่นๆ) แต่จู่ๆเธอกลับปฏิเสธ ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (ต้องการจะบอกว่าฉันไม่เหมือนใครอื่นใด) แต่หลังจากถูกเขาตามงอนง้อ ตื้อไม่หยุด จนสู่ขอแต่งงานได้สำเร็จ สุดท้ายแล้วมองภาพรวม เธอคนนี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกับหญิงอื่นเลยสักนิด!

อิทธิพลของ Sirkian สามารถเรียกว่าได้ว่า ‘บิดาแห่ง Melodrama’ กลายเป็นแรงบันดาลใจผู้กำกับดังๆอย่าง Rainer Werner Fassbinder, Quentin Tarantino, Todd Haynes, Wong Kar-wai, David Lynch, Guillermo del Toro, John Waters, Lars von Trier หรือแม้แต่ Ryusuke Hamaguchi

หนี่งในนั้นผู้กำกับ Pedro Almodóvar เล่าว่าหลงใหลคลั่งไคล้ Written on the Wind (1956) ฟังดูเว่อๆแต่ก็ไม่น่าเกินจริง รับชมมากกว่าพันรอบ และพร้อมดูซ้ำอีกได้ทุกเวลา!

I have seen ‘Written on the Wind’ a thousand times, and I cannot wait to see it again.

Pedro Almodóvar

Douglas Sirk ชื่อจริง Hans Detlef Sierck (1897 – 1987) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg, German Empire ช่วงวัยรุ่นมีความชื่นชอบละครเวที แต่เข้าเรียนกฎหมายยัง Munich University มีเรื่องให้ย้ายมหาวิทยาลัยมาเป็น University of Jena ตามมาด้วย Hamburg University เปลี่ยนสู่คณะปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ที่นี่ทำให้มีโอกาสรับฟังคำบรรยายทฤษฎีสัมพันธภาพของ Albert Einstein จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโปรดักชั่น Deutsches Schauspielhaus มุ่งมั่นเอาดีด้านการละคร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย

แม้ตัวเขาจะไม่ได้มีเชื้อสาย Jews แต่ตัดสินใจอพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1937 เพราะภรรยากำลังถูกเพ่งเล็ง ได้เซ็นสัญญากับ Columbia Pictures สร้างภาพยนตร์ Anti-Nazi อาทิ Hitler’s Madman (1943), Summer Storm (1944), ย้ายสังกัดมา Universal-International สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955), Written on the Wind (1956), A Time to Love and a Time to Die (1958), และ Imitation of Life (1959)

สไตล์ของ Sirk มีลักษณะ Melodrama มักเกี่ยวกับผู้หญิง ‘woman film’ นำเสนอมุมมองที่อ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจ ปัญหาภายในครอบครัว ด้วยเทคนิคที่ดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ เลยทำให้นักวิจารณ์สมัยนั้นมองข้ามไม่สนใจ บ้างเรียกว่า ‘bad taste’ แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม, เป็นนักวิจารณ์ฝรั่งเศสของ Cahiers du cinéma เริ่มต้นจาก Jean-Luc Godard พบเห็นคุณค่า และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อยุคสมัย French New Wave

“…I am going to write a madly enthusiastic review of Douglas Sirk’s latest film, simply because it set my cheeks afire”.

Jean-Luc Godard เกริ่นนำในบทความวิจารณ์ A Time to Love and a Time to Die (1958)

ดัดแปลงจากนวนิยายขายดี Written on the Wind (1946) แต่งโดย Robert Wilder (1901-74) นักเขียน สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Flamingo Road (1942), Written on the Wind (1946), บทภาพยนตร์ The Big Country (1958) ฯ

เรื่องราวของนวนิยาย ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปี 1932 ทายาทมหาเศรษฐี Zachary Smith Reynolds เจ้าของธุรกิจ Reynolds Tobacco เสียชีวิตจากปืนลั่นหลังงานเลี้ยงปาร์ตี้ โดยมีผู้ต้องสงสัยคือภรรยา Libby Holman และเพื่อนสนิท Alber Walker แต่ก็ไม่ใครถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม

นวนิยายเล่มดังกล่าวได้รับความสนใจจาก RKO Pictures ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงตั้งแต่ปี 1945 (ก่อนนวนิยายรวมเล่ม จัดจำหน่ายเสียอีกนะ) กระทั่งเปลี่ยนมือมา International Pictures ซึ่งหลังเข้ารวมกิจการกับ Universal Pictures (เปลี่ยนชื่อมาเป็น Universal-International) โปรเจคก็ถูกขึ้นหิ้งไม่ได้รับการพัฒนาต่อ ซึ่งมีอีกเหตุผลหนึ่งก็คือครอบครัวของ Reynolds ขู่ฟ้องศาลหากมีการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวขึ้นมา

เมื่อปี 1955, โปรดิวเซอร์ Albert Zugsmith หยิบโปรเจคนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่าจะต้องประสบความสำเร็จทำเงินอย่างแน่นอน มอบหมาย George Zuckerman (1916-96) ให้เป็นผู้ดัดแปลงบท แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง และความเรื่องมากของ Hays Code จึงใช้เวลากว่าครึ่งปีๆปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น จากธุรกิจขายบุหรี่กลายเป็นขุดน้ำมัน จากพื้นหลัง North Carolina มาเป็น Texas ฯลฯ


สองทายาทมหาเศรษฐี Kyle Hadley (รับบทโดย Robert Stack) และน้องสาว Marylee (รับบทโดย Dorothy Malone) เพราะชีวิตเติบโตบนกองเงินกองทอง ครุ่นคิดว่าตนเองจะได้ครอบครองทุกสิ่งอย่าง แต่กลับไม่อะไรสมประสงค์เป็นไปดั่งคาดหวัง นั่นทำให้จิตใจพวกเขามีความบิดเบี้ยว อัปลักษณ์

  • Kyle เป็นคนเก็บกด วิตกจริต ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เลยจับจ่ายอย่างไม่คิดหน้าหลัง ใช้เงินซื้อได้กระทั่งความรัก หลังแต่งงานกับ Lucy Moore (รับบทโดย Lauren Bacall) แม้อาการจะดีขึ้นมาก แต่เมื่อค้นพบว่าตนเองมีปัญหาในความเป็นชาย (Impotence) ก็หวนกลับมาร่ำสุรา (Alcoholism) เกิดความหวาดระแวง ถึงขนาดครุ่นคิดประทุษร้าย เคยตั้งใจจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย
  • Marylee หลังผิดหวังจากความรักต่อ Mitch Wayne (รับบทโดย Rock Hudson) กลายเป็นคนดัดจริต แรดร่าน มักมากในกามคุณ (Nymphomania) เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แถมชอบพูดคำโป้ปด หลอกลวง พร้อมใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น โดยไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี

เหตุการณ์วุ่นๆบังเกิดขึ้นเพราะ Kyle ไม่เชื่อว่า Lucy ตั้งครรภ์กับตนเอง (ยังคงเชื่อว่าตนเองไม่น้ำยาดีพอ) ครุ่นคิดว่าถูกเพื่อนสนิท Mitch ทรยศหักหลัง เลยตั้งใจจะเข่นฆาตกรรม แต่ระหว่างชุลมุนแย่งปืนกันนั้น กระสุนลั่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต!


Rock Hudson ชื่อจริง Roy Harold Scherer Jr. (1925-85) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winnetka, Illinois ครอบครัวหย่าร้างเพราะยุคสมัย Great Depression ช่วงวัยรุ่นค้นพบความชื่นชอบในภาพยนตร์ เพ้อฝันอยากเป็นนักแสดง แต่ไม่สามารถท่องจำบทเลยพลาดโอกาสสำคัญๆมากมาย, อาสาสมัครทหารเรือในสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำเรือขนส่งเครื่องบิน SS Lew Wallace หลังปลดประจำการมุ่งสู่ Los Angeles เข้าตาแมวมอง Henry Wilson เปลี่ยนชื่อให้เป็น Rock Hudson (มาจากสองคำ Rock of Gibraltar และ Hudson River) สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Fighter Squadron (1948), จากนั้นเซ็นสัญญา Universal-International ค่อยๆสะสมประสบการณ์ ได้รับบทนำ Scarlet Angel (1952), ร่วมงานครั้งแรกกับ Douglas Sirk เรื่อง Taza, Son of Cochise (1954), แจ้งเกิดโด่งดังจาก Magnificent Obsession (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ All That Heaven Allows (1955), Giant (1956), Written on the Wind (1956), Pillow Talk (1959) ฯ

รับบท Mitch Wayne เพื่อนสนิทของ Kyle รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก จึงโอนอ่อนผ่อนปรน ยินยอมให้มาโดยตลอด แต่นั่นก็ทำให้เขาดูอ่อนแอ ขาดเขลา ไร้ความเชื่อมั่น/เป็นตัวของตนเอง โดยเฉพาะหลังจากค้นพบ/ตกหลุมรัก Lucy กลับสูญเสียเธอให้เพื่อนสนิท กลายเป็นรอยบาดหมางเล็กๆ แต่ก็ไม่เคยครุ่นคิดจะทรยศหักหลัง

แม้ชื่อของ Hudson จะได้ขึ้น Top Bill (หมายถึงได้รับค่าตัวสูงสุด) แต่บทบาทกลับเป็นเพียง Sidekick รองมือรองเท้า Robert Stack ซึ่งเขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่านั้น พอใจในสิ่งพึงมี (อาจ)เพราะนี่คือตัวละครที่สะท้อนอุปนิสัย ตัวตนเองได้ตรงตัวมากๆ

Almost any other actor I know in the business … would have gone up to the head of the studio and said, ‘Hey, look, man, I’m the star – you cut this guy down or something,’ But he never did. I never forgot that.

Robert Stack กล่าวถึง Rock Hudson

ภายนอกที่ดูสุภาพอ่อนโยน เป็นมิตรกับผู้คน สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ พลังบวกให้ใครต่อใคร แต่ภายในกลับซุกซ่อนความซึมเศร้า หวาดระแวง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง นั่นเพราะ Hudson และตัวละคร Mith Wayne ต่างมีบางสิ่งอย่างจำต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่สามารถเปิดเผย(ว่าตนเองเป็นเกย์)ออกสู่สาธารณะ

เกร็ด: ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่องนี้ Hudson เข้าพิธีสมรสกับผู้จัดการ Phyllis Gates แต่ก็ไม่ได้ยืนยาวนานสักเท่าไหร่ เพียง 3 ปีก็หย่าร้าง (เหมือนว่าพวกเขาแต่งงานเพื่อปกปิดความเป็นเกย์ กระมัง)


Lauren Bacall ชื่อเกิด Betty Joan Perske (1924 – 2014) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Bronx, New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jewish อพยพจาก Romania โตขึ้นเข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts รุ่นเดียวกับ Kirk Douglas กลายเป็นนักแสดงละครเวที Broadways และถ่ายแบบแฟชั่น ได้รับการค้นพบโดย Howard Hawks จับเซ็นสัญญาเจ็ดปี ค่าจ้างสัปดาห์ละ $100 เหรียญ พร้อมตั้งชื่อใหม่ในวงการให้ว่า Lauren ผลงานเรื่องแรก To Have and Have Not (1944) ตกหลุมรักแต่งงานกับ Humphrey Bogart ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง The Big Sleep (1946), Dark Passage (1947), Key Largo (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ How to Marry a Millionaire (1953), Designing Woman (1957), The Shootist (1976), The Mirror Has Two Faces (1996) ฯ

เกร็ด: Bacall ติดชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends อันดับ 20

รับบท Lucy Moore เลขานุการบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ได้รับการค้นพบโดย Mitch Wayne ลากพาตัวออกมาเที่ยวเล่น ตั้งใจแค่จะแนะนำให้รู้จักเพื่อนสนิท Kyle Hadley กลับถูกเกี้ยวพาราสี แล้วล่อลวงขึ้นเครื่องบินมุ่งสู่ Miami ซื้อโรงแรม เสื้อผ้า เครื่องประดับ พร้อมปรนเปลอทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่กลับไม่ประทับใจหญิงสาว ฉันไม่ใช่บุคคลที่จะใช้เงินซื้อได้ ถึงอย่างนั้นหลังจากถูกตามงอนง้อ พรอดคำรัก ขอแต่งงาน เธอกลับยินยอมพร้อมใจ และตั้งมั่นจะทุ่มเทชีวิตที่เหลือให้สามีโดยไม่คิดเป็นอื่นใด

ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของ Bacall ดูปลอมๆ ตาลอยๆ แต่งหน้าลวกๆ ผิดธรรมชาติชอบกล ซึ่งนั่นอาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Sirk ทำให้ตัวละครดูเหมือนตุ๊กตา ของเล่นของมหาเศรษฐี หมดสิ้นความสนใจเมื่อไหร่ค่อยโยนขว้างทิ้ง

ผมมีความประทับใจองก์แรกของหนังมากๆ เพราะนั่นคือเป็น ‘ภาพจำ’ ลีลาการแสดงของ Bacall ที่มีความเซ็กซี่ เย้ายวน สายตาเฉียบคมคาย สวยสังหาร แต่หลังจากการแต่งงาน บทบาทของตัวละครก็ค่อยๆเจือจางจนแทบสูญหาย กลายเป็นตัวประกอบธรรมดาๆทั่วไป ความขัดแย้งช่วงท้ายก็ไม่ได้บดขยี้หัวใจนัก เมื่อเทียบกับความคลุ้มคลั่งของ Robert Stack และ Dorothy Malone แย่งความโดดเด่นไปหมดสิ้น

แซว: Humphrey Bogart ไม่ประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ (สงสัยจะอิจฉาศรีภรรยา) แนะนำให้ Bacall ไม่รับเล่นหนังลักษณะแบบนี้อีก ซึ่งภายหลังเธอให้สัมภาษณ์กล่าวถึงผลงานเรื่องนี้ว่า ‘a masterpiece of suds’


Robert Stack ชื่อจริง Charles Langford Modini Stack (1919 – 2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles แต่ไปเติบโตยัง Adria และกรุง Rome จนกระทั่งอายุ 7 ขวบ (เลยสามารถพูดฝรั่งเศสและอิตาเลี่ยนได้คล่องแคล่ว) บิดาทำธุรกิจโฆษณา ฐานะร่ำรวย โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง University of Southern California ตามด้วย Bridgewater State University ถูกค้นพบโดยโปรดิวเซอร์ Joe Pasternak เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal Studios ผลงานเด่นๆ อาทิ First Love (1939), The Mortal Storm (1940), To Be or Not To Be (1942), ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ย้ายไปเซ็นสัญญาสตูดิโอ Fox แล้วถูกหยิบยืมตัว (โดย Universal) มาเล่น Written on the Wind (1956) และ The Tarnished Angels (1957), ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดน่าจะคือซีรีย์ The Untouchables (1959–1963) คว้ารางวัล Emmy Award: Best Actor in a Series

รับบท Kyle Hadley แม้ร่ำรวยบนกองเงินกองทอง แต่กลับไม่ได้รับการยินยอมรับจากบิดา (ที่สรรเสริญเยินยอเพื่อนสนิท Mitch มากกว่า) พัฒนากลายเป็นปมด้อยตั้งแต่เด็ก มีความหวาดระแวง (ต้องซุกปืนไว้ใต้หมอน) ชอบใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่เคยคิดหน้าคิดหลัง อยากทำอะไรก็ทำ แต่ก็ไม่เคยทำอะไรสำเร็จด้วยตนเอง (ต้องมี Mitch คอยช่วยเหลืออยู่เสมอๆ) นั่นรวมไปถึงการฉกแย่งชิง Lucy พยายามทำทุกสิ่งอย่างจนได้ครองคู่แต่งงาน แต่หลังจากพบว่าตนเองอาจเป็นหมัน นั่นแทบจะกลายเป็นจุดจบสิ้นของตนเองเลยละ

Stack เล่าว่าไม่ได้อ้างอิงตัวละครนี้จากบุคคลใด ทั้งหมดมาจากความครุ่นคิด ตีความ จินตนาการของตนเอง เพราะต้องการลองผิดลองถูก ท้าทายศักยภาพ(ของตนเอง) ซึ่งผลลัพท์ถือว่าประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดเลยกระมัง

I just went and used my imagination, and I was doing DTs and madness and the six stages of drunkenness, and it was a good chance to truly prove that I could either do something pretty good or completely fall on my face.

Robert Stack

สิ่งที่ผมรู้สึกทึ่งกับการแสดงของ Stack คือระดับความคลุ้มบ้าคลั่งที่จะค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน่าสงสารและสมเพศเวทนา ขณะที่ไฮไลท์ผมยกให้ตอนเผชิญหน้า Lucy (ตัวละครของ Bacall) ไม่ยินยอมเชื่อว่าบุตรในครรภ์คือลูกแท้ๆของตนเอง แล้วลงมือทุบตี Bacall ลงไปกองกับพื้นจริงๆ ไม่มีการเตี้ยมกันก่อนล่วงหน้า (ปฏิกิริยาสีหน้าของเธอคือตกใจจริงๆ) … แต่เขาก็พูดขอโทษเธอภายหลังนะครับ

You’re crazy, your eyes are crazy. I don’t mean acting crazy, you really are crazy!

Lauren Bacall

แซว: ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Sirk ต้องการเพิ่มเติมให้ Kyle มีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) และแอบชื่นชอบ Mitch แต่ถูกปัดตกโดยกองเซนเซอร์ Hays Code เพราะยุคสมัยนั้นยังยินยอมรับเรื่องพรรค์นี้ไม่ได้เท่าไหร่ แต่ผู้ชมก็สามารถสังเกตเคมีของทั้งสองได้ระดับหนึ่ง


Mary Dorothy Maloney (1924-2018) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois แต่มาเติบโตยัง Dallas, Texas โตขึ้นตั้งใจอยากเป็นนางพยาบาล แต่มีโอกาสแสดงละครเวทีของโรงเรียน แล้วเข้าตาแมวมอง Eddie Rubin จับเซ็นสัญญาสตูดิโอ RKO ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่พอย้ายมา Warner Bros. เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Dorothy Malone โอกาสดีๆก็เข้าหาทันที พอเป็นที่รู้จักกับ The Big Sleep (1946), ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นหนังเกรดบี จนกระทั่ง Written on the Wind (1956)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress ความสำเร็จก็ไหลมาเทมา อีกบทบาทน่าจดจำก็คือซีรีย์ Peyton Place (1964-68) ได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best TV Star

รับบท Marylee Hadley น้องสาวของ Kyle เติบโตมาด้วยกันกับ Mitch เพ้อใฝ่ฝันว่าชีวิตจะได้แต่งงานครองคู่ (ซึ่งตอนเด็ก Mitch ก็เคยตอบตกลง) แต่พอเติบโตขึ้นกลับถูกตีตนออกห่าง เพราะเขายินยอมรับไม่ได้กับความระริกระรี้ แรดร่าน ทำตัวเอาแต่ใจ ใคร่สนองเพียงกามตัณหา แม้มิอาจครองคู่เธอก็พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้อยู่เคียงชิดใกล้ พร้อมพ่นพิษสำหรับทำลายใครต่อใคร (ที่เข้ามารุมรายล้อม Mitch) ไม่สนทั้งนั้นว่าสิ่งชั่วร้ายใดๆจะบังเกิดขึ้น

เดิมนั้น Malone ผมสีน้ำตาล (brunette) แต่ก็ยินยอมย้อมผมบลอนด์ (platinum blonde) เพื่อสลัดภาพสาวข้างบ้าน ‘nice girl’ ให้กลายเป็นหญิงสาวแรดร่าน มักมากในราคะ ใช้ทุกอวัยวะขยับเคลื่อนไหว โยกยั่วเย้ายวน ราวกับอสรพิษเลื้อยพันแข้งพันขา ไม่พึงพอใจอะไรใครเมื่อไหร่ก็พร้อมฉกกัด พร้อมเข่นฆ่าอีกฝั่งฝ่ายให้ตกตายจากไป

แม้ไม่ได้ดื่มสุราแต่ก็เมามายไปกับตัณหา โดยเฉพาะลีลาโยกเต้นเริงระบำ ทั้งขณะหวนระลึกความหลังริมแม่น้ำ และตอนอยู่ในห้องตัดสลับบิดาเดินตกบันได แสดงถึงความไม่ยี่หร่า ไม่ใส่ใจใครจะเป็นจะตาย สนเพียงตอบสนองความต้องการของหัวใจ แต่ถึงตัวละครจะโฉดชั่วร้ายขนาดไหน ผมละยอมใจที่เธอไม่ยินยอมส่งคนรักติดคุก ให้การด้วยความสัจจริงบนชั้นศาล นั่นทำให้ฉากสุดท้ายหลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า นั่นอยู่ตัวคนเดียวบนโต๊ะทำงาน(ของบิดา) มันช่างเจ็บปวดทุกข์ ทรมาน น่าสงสารเห็นใจ

แซว: เมื่อตอน Malone เสียชีวิตเมื่อปี 2018 กลับไม่มีภาพของเธอปรากฎบน ‘In Memoriam’ ในงานประกาศรางวัล Oscar ปีนั้น เป็นการหลงลืมที่น่าเสียดายยิ่ง


ถ่ายภาพโดย Russell Metty (1906-78) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เริ่มจากผู้ช่วยห้องแลป Standard Film Laboratory ในสังกัด Paramount Pictures ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จากนั้นออกมาเป็นช่างภาพของ Universal Studios และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Bringing Up Baby (1938), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1956), Written on the Wind (1956), Imitation of Life (1959), Spartacus (1961)**คว้า Oscar: Best Cinematography, Color

The angles are the director’s thoughts. The lighting is his philosophy.

Douglas Sirk

‘สไตล์ Sirk’ แทบทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ มีการจัดองค์ประกอบฉากภายในเต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ประดับประดาด้วยต้นไม้/ดอกไม้ ลวดลาย สีสันสวยสดใส ผิดกับฉากภายนอกที่มักใช้ Rear Projecter ไม่ก็ Matte Painting ให้ดูจอมปลอม หลอกลวง (แต่ถ้าถ่ายมุมกว้างไม่เห็นใบหน้านักแสดง ก็จะเป็นหน้าที่ของกองสอง-สาม ทำให้รายละเอียดดูมีความสมจริงอยู่บ้าง)

ช่วงทศวรรษ 50s การมาถึงของ Technicolor สร้างความหลงใหล ประทับใจให้ผู้กำกับ Sirk หลังจากทดลองผิดลองถูกกับ Taza, Son of Cochise (1954) [เห็นว่าถ่ายทำด้วยระบบ 3D ด้วยนะ] ก็ค้นพบวิถีทางที่จะนำเสนอภาพสี ทำอย่างไรถึงจะออกมาให้ดูดี มีความชอุ่มชุ่มชื่น (lush color) ซึ่งก็เริ่มต้นจาก Magnificent Obsession (1954) ถือเป็นเรื่องที่ทำให้ ‘สไตล์ Sirk’ พัฒนามาถึงจุดสูงสุด!

มุมกล้องในหนังของผู้กำกับ Sirk ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนมากมาย แทบทั้งนั้นถ่ายจากด้านหน้า มุมมองเหมือนละครเวที ซิทคอม Soap Opera (เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำในสตูดิโอ) แต่จะไปโดดเด่นเรื่องการจัดแสง สีสัน และเงามืด สร้างบรรยากาศที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก/ปรัชญาของผู้สร้าง

Written on the Wind (1956) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่ถ่ายทำในลักษณะ ‘Flat Widescreen’ ด้วยอัตราส่วน 2.00:1 อ้างว่าเพื่อเก็บรายละเอียดในเฟรมให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้าคุณสามารถหา Blu-Ray ของ Elephant Films ก็จักได้อัตราส่วนตรงตามต้นฉบับแท้ๆ ขณะที่ Criterion Collection มีการตัดบางส่วนออกให้เหลือ 1.85:1 ลองเปรียบเทียบความแตกต่างดูนะครับ

แม้ว่าพื้นหลังเรื่องราวจะคือ Texas แต่หนังไม่เคยไปไกลเกินกว่า California สถานที่ที่พบเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันเยอะๆแห่งนี้ก็คือ Signal Hill, Los Angeles County ทางตอนใต้ติดชายฝั่ง Long Beach ค้นพบว่ามีน้ำมัน ตั้งแต่ปี 1921 ปัจจุบันเหมือนว่ายังขุดนำมาใช้ไม่หมดสักที

น่าจะดูออกกันนะครับ ตึกที่เห็นในภาพนี้มันดูปลอมๆ เหมือนเศษกระดาษนำมาตัดแปะ แต่จริงๆมันคือภาพวาดบนกระจก Matte Painting ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Sirk ให้สถานที่แห่งนี้ไม่มีความสมจริง เพื่อสะท้อนแนวความคิดเกี่ยวกับโลกของมหาเศรษฐี กลุ่มบุคคลบนจุดสูงสุดยอดของพีระมิด ที่ไม่ได้เลิศเลอสมบูรณ์แบบอย่างที่ใครๆเข้าใจกัน

สำหรับคฤหาสถ์ตระกูล Hadley ถ่ายทำยัง Colonial Mansion (ปัจจุบันเหมือนจะถูกรื้อถอนไปแล้ว) ตั้งอยู่บริเวณ Colonial Street ในอาณาจักร Universal Studios Lot หมู่บ้านที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะ

หนังเริ่มต้นอารัมบทด้วยความเร่งรีบ ร้อนรน ลมพัดแรง และเพลงประกอบเร้าอารมณ์ ราวกับมรสุมที่พร้อมทำลายทุกสรรพสิ่งอย่างขว้างหน้าให้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง จากนั้นเสียงปืนลั่น มีสองบุคคลล้มลง บอกใบ้ผู้ชมถึงเรื่องราวโศกนาฎกรรม

เพียงความประทับใจในเรียงขาของ Lucy ก็ทำให้ Mitch ตกหลุมรัก และลากพาเธอออกมาจากบริษัทโฆษณา … เรียวขา คืออวัยวะท่อนล่างของร่างกาย ซึ่งสามารถสื่อถือชนชั้นล่าง กรรมาชน เมื่อเทียบกับความร่ำรวยของตระกูล Hadley สถานะของเธอก็ต่ำต้อยติดดิน

นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงรสนิยมของ Mitch (ไม่ใช่แค่หลงใหลในเรียวขานะครับ) แม้มีเพื่อนสนิทฐานะร่ำรวย แต่เขาไม่ได้ใคร่สนใจในเงินทอง สิ่งข้าวของ ความหรูหรา ตกหลุมรักแค่หญิงสาวคนธรรมดาๆ ชนชั้นล่าง กรรมาชน ที่พร้อมต่อสู้ดิ้นรน มีความสุขในชีวิตไปด้วยกัน

แซว: ช่วงกลางเรื่องจะมีฉากที่โชว์เรียวขาของ Marylee แต่ Mitch กลับไม่แสดงความใคร่สนใจใดๆ

จะว่าไปชุดของ Lucy ไม่ได้มีความเซ็กซี่ยั่วเย้ายวน ส่วนเว้าส่วนแหว่ง ตรงกันข้ามคือปกปิดมิดชิด สีสันจืดๆ ดูสุภาพเรียบร้อยเหมือนผ้าพันไว้ แค่เพียงใบหน้าที่สามารถส่งสายตายั่วเย้ายวนจากภายใน

เบาะหลังรถแท็กซี่ ขณะที่ Mitch พยายามรักษาระยะห่างจาก Lucy แต่เมื่อพวกเขาพูดคุยจะหันมาสบตาประสาน ผิดกับ Kyle เข้ามาแนบชิดใกล้ หันทั่งตัวจับจ้องมองโดยไม่ละสายตา (ในทิศทางตั้งฉาก 90 องศา) ส่วนหญิงสาวดูมีท่าทางอึดอัด นานๆครั้งถึงหันไปสนทนาด้วย

ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนอุปนิสัย ตัวตนของคนทั้งสอง ให้ลองแทนตัวเองคือ Lucy เป็นคุณจะรู้สึกอะไรกับใครแบบไหน ชอบ-ไม่ชอบ ผมมองว่าเป็นรสนิยมส่วนนะครับ … แต่หนังเหมือนพยายามจะชี้นำว่า พฤติกรรมของ Kyle มันไม่น่าอภิรมณ์เอาเสียเลย

หลังจาก Lucy รับรู้ตัวว่ากำลังถูกซื้อใจ ภาพในกระจกช็อตนี้สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเธอ ขณะที่ Mitch พบเห็นตัวเต็มในกระจก แต่เขากลับไม่ปรากฎในเฟรม (ปฏิเสธการแก่งแย่ง เผชิญหน้า หรือแสดงออกความต้องการที่แท้จริงออกมา) ใบหน้าของ Kyle แม้เพียงเสี้ยวส่วนหนึ่ง (ในจิตใจของ Lucy) แต่ยืนอยู่ตำแหน่งที่พร้อมมอบวัตถุข้าวของ สิ่งจับต้องได้ ทุกสรรพสิ่งเหล่านี้

Lucy ครุ่นคิดทบทวนมรสุมแห่งรักที่บังเกิดขึ้นนี้ นี่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการหรือไม่? แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าการเดินออกไปตรงระเบียบ เหม่อมองทิวทัศน์ท้องทะเล (ที่ดูปลอมๆ ฉายจากเครื่อง Rear Projection) สื่อถึงการโหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการถูกซื้อใจ ให้กลายเป็นตุ๊กตาของผู้ใด

รายละเอียดเล็กๆอย่างกระจกสะท้อนภาพเตียงนอน นั่นสะท้อนปลายทางมรสุมแห่งรักครั้งนี้ ในความสนใจของ Kyle เป้าหมายมีเพียงเรื่องของ Sex เท่านั้นแล!

เมื่อ Kyle กลับเข้ามาในห้อง (ของ Lucy) สิ่งที่เขาพบเห็นมีความมืดมิด และแสงสีน้ำเงินหนาวเหน็บจากภายนอกที่สาดส่องเข้ามา นี่เป็นการสร้างสัมผัสบรรยากาศเพื่อสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร (ได้ทั้ง Kyle และ Lucy) นี่ไม่ใช่สิ่งที่หญิงสาวต้องการ และเมื่อทายาทมหาเศรษฐีได้รับรู้ก็สั่นสะท้านถึงทรวงใน

Lucy, you decent?

Kyle Hadley

ประโยคที่ Kyle ส่งเสียงถาม you decent? ถ้าแปลตามบริบทของหนังคือ เธอแต่งตัวเรียบร้อยหรือยัง? แต่มันยังสามารถสื่อถึง เธอทำตัวเหมาะสมในสถานการณ์นี้หรือไม่? ซึ่งการไม่มีใครพูดตอบ บอกโดยนัยว่า นี่ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมเลยสักนิด!

การยินยอมตอบตกลงแต่งงานของ Lucy ไม่ใช่เพราะเธอมีนิสัยกลับกลอกปอกลอกนะครับ แต่หลงเชื่อในคำมั่นสัญญา/พรอดรักของ Kyle ว่าพร้อมจะเสียสละ ทำทุกสิ่งอย่าง ขอโอกาสให้กลับมาคืนดี เริ่มต้นความสัมพันธ์นับหนึ่งใหม่ และสังเกตว่าภาพช็อตนี้จะมีความฟุ้งๆ แสดงถึงการยินยอมยอม ตอบตกลง

นี่คือฉากที่ถือเป็น Written on the Wind ลมปากของ Kyle ที่พยายามโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา สร้างพันธสัญญาแห่งรัก จนสามารถได้แต่งงานครองคู่กับ Lucy แล้วทั้งสองก็สามารถมีความสุขร่วมกันปีกว่าๆ จากนั้นเมื่อมรสุมแห่งรักสงบลง สิ่งหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัก

เราสามารถตีความลมปากของ Kyle คืออุดมคติชาติอเมริกัน (American Dream) ที่เหมือนให้คำมั่นสัญญา ลวงล่อหลอกผู้คนว่า สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยอิสรภาพ ดินแดนแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน แต่ในความเป็นจริงนั้นก็แค่ภาพลวงหลอกตา จุดสูงสุดบนยอดพีระมิด มีเพียงสายลมอันหนาวเหน็บ แบบชีวิตบนกองเงินกองทองของ Kyle (และ Marylee) ที่แม้เลิศหรูสุขสบาย แต่กลับไม่มีมูลค่าทางจิตใจใดๆ

หลังการแต่งงาน ค่ำคืนหนึ่ง Lucy ตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วพบเห็นปืนที่ Kyle ซุกซ่อนไว้ใต้หมอน เพลงประกอบสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะท้าน (สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจของหญิงสาว) แล้วเธอก้าวเดินมาตรงหน้าต่าง เหม่อมองออกไปภายนอกพบเห็นต้นไม้และชายหาด (อิสรภาพไม่ได้เปิดกว้างอีกต่อไป) ราวกับเริ่มตระหนักว่า ตนเองตัดสินใจผิด(ที่แต่งงาน) เพราะไม่สามารถหลบหนีหาย ปฏิเสธความรับผิดชอบ เอาตัวรอดจากความสัมพันธ์นี้ได้อีกต่อไป

Mitch เข้ามาพูดคุยเรื่องการหาแหล่งขุดเจาะน้ำมันแห่งใหม่ กับบิดาของ Kyle แต่กลับถูกสอบถาม จี้แทงใจดำ เรื่องความสัมพันธ์(ระหว่าง Kyle)กับ Lucy … มองเห็นความสัมพันธ์ของการสนทนาครั้งนี้ไหมเอ่ย ขุดเจาะน้ำมัน = คำถามจี้แทงใจดำ

บรรยากาศในร้าน The Cove ใช้โทนสีตุ่นๆ เขียว+น้ำตาล ให้มีสภาพทรุดโทรม เฟอร์นิเจอร์ไม้ก็ดูราคาถูกๆ (ผิดกับหลอดไฟบนเพดาน กลับโมเดิร์นหรูหรา) เพื่อสะท้อนถึงสถานที่สังสรรค์ของกรรมาชน ชนชั้นล่าง (ที่เพ้อใฝ่ฝันถึงอนาคตที่สดใส)

ชุดสีชมพูของ Marylee ทำให้เธอดูเหมือนตุ๊กตาบาร์บี้ โดดเด่นกว่าสีอื่นใดในสถานที่แห่งนี้ แต่ก็พร้อมถูกเชิดชักนำพา ไม่ยี่หร่าต่ออะไร ใครจะนำพาไปไหนก็ได้ทั้งนั้น ปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับสายลม

ความที่ตนเองมีฐานะ ร่ำรวยเงินทอง ถือเป็นชนชั้นสูง จุดสุดยอดบนพีระมิด Kyle จึงชอบดูถูกผู้อื่น (ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนสนิท Mitch ก็เรียกว่า Sidekick) แต่หลังจากชกต่อยพ่ายแพ้ ลงไปนอนกองกับพื้น มุมกล้องเงยขึ้นมาสะท้อนถึงความผิดหวังในชีวิต แม้มีทุกสิ่งอย่างแต่กลับไม่มีอะไรที่เขาสามารถกระทำได้ด้วยตนเองจริงๆ

ส่วนลำดับการต่อสู้ก็ถือว่าน่าสนใจเช่นกัน เริ่มจากการชกต่อยซึ่งถือว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียม จากนั้นฝ่ายหนึ่งชักมีด ละเจ้าของบาร์ก็หยิบปืนออกมา ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงลำดับขั้นของพลังอำนาจ ที่สามารถใช้ควบคุมครอบงำผู้คนให้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยหมัดมวยอีกครั้ง (เหมือนจะสื่อว่า การมีอำนาจในมือ ใช่ว่าจะเกิดผลแพ้-ชนะ หรือได้รับการยอมรับคำตัดสินเสมอไป)

แทนที่หนังจะใช้เทคนิค ‘Flashback ซ้อน Flashback’ กลับเพียงเสียงจากอดีตดังขึ้นระหว่างที่ Marylee กำลังดิ้นพร่านอย่างร่านราคะ (ผมเรียกฉากนี้ว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองของ Marylee) โหยหาความรัก คำมั่นสัญญา (นี่ก็สื่อถึง Written on the Wind ลมปากของ Mitch ที่พอหมดสิ้นมรสุมแห่งรัก พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็ทอดทิ้งให้ Marylee หลงเหลือสภาพดังกล่าว)

ท่วงท่าดิ้นพร่านของ Dorothy Malone อาจดูดัดจริต ผิดมนุษยมนา เหมือนจะ Over Acting แต่สามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจออกมาได้อย่างเหนือจริง (Surreal) และผู้ชมตระหนักได้ถึงความผิดปกติของเธออย่างชัดเจน

ในห้องของ Mitch ยามค่ำคืนปกคลุมด้วยความมืดมิด และแสงสีน้ำเงินที่ชวนให้หนาวเหน็บ เย็นยะเยือก Marylee พยายามอย่างยิ่งจะเกี้ยวพาราสี ใช้แก้วใบเดียวกันแต่ริมฝีปากสัมผัสคนละด้าน เรียกว่าพยายามใช้มารยาเสน่ห์ ยั่วเย้ายวนอย่างสุดๆ แต่เขาก็บอกปัดปฏิเสธ ไม่ยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับนางอสรพิษ

ปฏิกิริยาของ Kyle เมื่อรับรู้ว่าตนเองมีปัญหาความเป็นชาย (อสุจิมีน้อยกว่ามาตรฐาน แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถมีบุตรได้) บทเพลงดังขึ้นอย่างเจ็บปวดรวดร้าว สายตาเหม่อลอย ลุกขึ้นเดินออกมานอกร้าน พบเห็นเด็กชายกำลังควบขี่ม้าเด็กเล่น สะท้อนสิ่งที่เขาครุ่นคิดว่าตนเองคงไม่สามารถมีได้

ผมละขำก๊ากกับการที่ Marylee หลังจากปฏิเสธการรับประทานอาหารกับ Mitch (และ Kyle และ Lucy) เลือกแอ้มหนุ่มพนักงานปั๊มน้ำมัน ให้สามารถเติบเต็มความพลังงานของตนเอง … เข้าใจการเปรียบเทียบนี้ไหมเอ่ย?

การเปิดเพลงแล้วโยกเต้นของ Marylee ภายหลังเสร็จกามกิจกับเด็กปั๊ม (แล้วตำรวจพามาส่งถึงบ้าน) ดูเหมือนเป็นการแสดงความพึงพอใจ ชัยชนะของการเรียกร้องความสนใจ(จาก Mitch) ไม่ยี่หร่าแม้ตนเองสร้างปัญหา สนเพียงต้องการเคียงชิดใกล้ โอบอุ้มรูปภาพถ่ายชายสุดที่รัก แล้วโอลัลล้าไปพร้อมกับเขา

ภาพวาด Abstraction, ดอกไม้ปลอมสีแดง ล้วนสะท้อนถึงตัวตนของ Marylee ที่เอาแต่ครุ่นคิดเพ้อเจ้อ ไม่สามารถจับต้อง ยินยอมรับความจริง พร้อมกระทำทุกสิ่งเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของตนเองเท่านั้น

การตกบันไดจากที่สูง(ชั้นสอง)ลงสู่ที่ต่ำ(ชั้นล่าง) สามารถสื่อความถึงช่วงเวลาขาลง การล่มสลาย พังทลายของทุกสิ่งสร้างสรรค์มา ในบริบทของหนังคือความตายของบิดา หลงเหลือเพียงทายาทที่จะนำพาหายนะให้บังเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านาน

เรายังสามารถตีความฉากนี้ถึงวัฎจักรชีวิต เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ชีวิตเมื่อไปถึงจุดสูง-ก็ต้องหล่นลงมาตกต่ำ ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว ร่ำรวย-ยากจน สุข-ทุกข์ สองสิ่งขั้วตรงข้ามสำหรับเติมเต็มกันและกัน

นี่เป็นรายละเอียดเล็กในช็อตเดียวที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตความแตกต่าง วินาทีที่ Lucy พูดบอกกับ Mitch ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ (กับ Kyle) ปฏิกิริยาสีหน้าของเขาดูเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ยากจะยินยอมรับ ทำใจ ก้าวถอยห่าง เว้นระยะจากเธอโดยไม่รับรู้ตัว

ภายในจิตใจลึกๆของ Lucy ยังคงมีความรู้สึกดีๆต่อ Mitch การจุมพิตหลังจากที่เขาสารภาพรักช็อตนี้ จึงมีความฟุ้งๆ มัวๆ สะท้อนความรู้สึกแท้จริงของหญิงสาว แม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างเหมือนจะสายเกินไปแล้วก็ตามที

ซีนที่ Lucy พูดบอกกับ Kyle ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ปฏิกิริยาของเขาแสดงสีหน้าไม่เชื่อ ไม่รับฟัง ลุกขึ้นเดินไปยังหน้าต่าง (ราวกับหมาจนตรอก) เต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าต้องไม่ใช่บุตรของตน พอเข้าใจแบบนั้นจึงโมโห โทโส โกรธรังเกียจ เข้าไปตบตี ใช้ความรุนแรง แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา

ความตายของ Kyle หลังเหตุการณ์ปืนลั่น เดินตุปัดตุเป๋ออกมาหน้าบ้าน ราวกับจะสื่อว่าเขาไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในคฤหาสถ์/อาณาจักร/ธุรกิจค้าน้ำมันแห่งนี้อีกต่อไป แต่เพราะมันอยู่ในสายเลือดพันธุกรรม วิธีเดียวเท่านั้นคือหมดสูญสิ้นลมหายใจ

บุคคลทั่วไปที่มีความเพ้อใฝ่ฝัน พยายามไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุดของพีระมิด ยังมีเวลาที่สามารถล้มเลิก ย้อนกลับ ละทอดทิ้งเป้าหมายปลายทาง แต่สำหรับทายาทมหาเศรษฐี ทั้งชีวิตเกิดบนกองเงินกองทอง รายล้อมความสุขสบาย นอกจากความตาย วิธีอื่นแทบเป็นไปไม่ได้

ความตายของ Kyle ถ้าว่ากันตามภาพพบเห็น มันควรจะ Marylee เสียด้วยซ้ำที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหา แต่ Mitch ก็ไม่เคยกล่าวโทษ โยนความผิด ถึงอย่างนั้นกลับเคราะห์ซ้ำกรรมซาก เพราะเคยพูดคำ ‘ฉันจะฆ่าแกง’ ความซวยเลยย้อนกลับมาหา

ซีนนี้ Mitch เพียงนั่งอยู่เฉยๆ แต่ Marylee ลุกขึ้นเดินวนไปวนมา พูดคำกรอกหู ยั่วลีลา พยายามอธิบายความคิดบางอย่าง ที่สร้างความหวาดหวั่นระแวงให้ผู้ชม (และ Mitch) ยัยนี่จะโฉดชั่วร้ายไปไหน

ถึงแม้ Marylee จะพูดเรื่องร้ายๆกับ Mitch แต่พอขึ้นศาลจริงๆเธอก็มิอาจใส่ร้ายป้ายสีชายคนรัก หรือยินยอมให้เขาต้องติดคุกติดตาราง ภาพช็อตนี้มีความฟุ้งๆ เบลอๆ หยาดน้ำตาค่อยๆหลั่งไหลออกมา สะท้อนความเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ นี่คือสิ่งคุณธรรมสุดเท่าที่จะมอบให้เขา (เพราะในใจก็ตระหนักว่า ต่อจากนี้ Mitch คงไม่ยินยอมอยู่เคียงข้างตนอีกต่อไป)

สิ่งหลงเหลือสำหรับ Marylee คืออาณาจักร/ธุรกิจขุดน้ำมัน สืบสานกิจการต่อจากบิดา ภาพด้านหลังสื่อถึงอิทธิพลของบรรพบุรุษ คนรุ่นก่อนที่แม้เสียชีวิตจากไปแล้ว แต่ก็ยังคอยครอบงำแนวความคิด กำหนดทิศทางชีวิต ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น และเธอก็กำลังโอบกอดโมเดลแท่นขุดเจาะน้ำมัน มิอาจปลดปล่อยวาง ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเคยยึดถือมั่นเอาไว้

ผมตีความฉากนี้ สะท้อนถึงอุดมการณ์สร้างชาติ ‘American Dream’ ที่มีมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกสหรัฐอเมริกา มาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงทรงอิทธิพล ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง ให้หมกมุ่น ยึดติด เชื่อมั่นจริงจัง ว่าแนวความคิดดังกล่าวนั้นถูกต้อง ยิ่งใหญ่ อันดับหนึ่ง น้อยคนจะสามารถปลดปล่อยวาง ดิ้นหลุดพ้นจากวังวงจรอุบาศว์ดังกล่าว

ตัดต่อโดย Russell F. Schoengarth (1904-74) นักตัดต่อในสังกัด Universal Pictures ผลงานเด่นๆ อาทิ My Man Godfrey (1936), The Phantom of the Opera (1943), The Glenn Miller Story (1954), Written on the Wind (1956) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านสี่ตัวละครหลัก Mitch, Lucy, Kyle, Marylee โดยมักนำเสนอสลับมุมมองกันไปอย่าง แค่เริ่มต้นเรื่องราววันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 1956 จากนั้นเล่าย้อนอดีตตั้งแต่จุดเริ่มต้นวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 1955 จนพานผ่านวันแห่งโชคชะตานั้น

  • อารัมบท, เริ่มต้นด้วยโศกนาฎกรรม
    • นำเสนอความมึนเมาขั้นสูงสุดของ Kyle จากนั้นเสียงปืนลั่นก่อนล้มลง (เสียชีวิต) เฉกเช่นเดียวกับ Lucy (แท้งบุตร)
  • องก์หนึ่ง, มรสุมแห่งความรักของ Lucy
    • Lucy ทำงานเป็นเลขานุการยังบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ถูกพบเจอโดย Mitch ลากพาตัวออกมาจากออฟฟิศ ตั้งใจจะพาไปเดท
    • แต่เมื่อถูกพบเจอโดยเพื่อนสนิท Kyle พยายามแก่งแย่งเธอไปจากเขาทันที พาขึ้นเครื่อง บินตรงสู่ Miami และสู่ขอแต่งงาน
  • องก์สอง, เรื่องราวของ Marylee
    • หลังหมดช่วง Honeymoon คู่รักข้าวใหม่ปลามันก็เดินทางกลับบ้าน
    • Kyle (และ Mitch) ไปลากตัว Marylee ออกจากแฟนใหม่ของเธอ
    • ระหว่างทางกลับบ้านจึงรับรู้ความสัมพันธ์ในอดีตระหว่าง Marylee กับ Mitch เพราะเธอยังคงโหยหา เฝ้ารอคอยที่จะแต่งงาน แต่กลับบอกปัดปฏิเสธ นั่นเป็นสิ่งไม่มีทางบังเกิดขึ้น
  • องก์สาม, เมื่อ Kyle รับรู้ว่าตนเอง(อาจ)มีบุตรไม่ได้
    • ผ่านมาขวบปีหลังการแต่งงาน Kyle เกิดความสงสัยว่าทำไมภรรยาถึงไม่ตั้งครรภ์ จนรับรู้จากหมอว่าน้ำเชื้อของตนอาจไม่เข้าแข็งเพียงพอ
    • Kyle ในสภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง ดื่มด่ำเมามาย ถูกน้องสาว Marylee พูดคำชั่วร้ายกรอกหู จนบังเกิดความหวาดระแวง ใกล้คลุ้มคลั่งเสียสติแตก
  • องก์สี่, การสารภาพรักของ Mitch นำไปสู่โศกนาฎกรรม
    • Lucy สืบเสาะจนได้รับรู้ความจริงจากหมอ ขณะเดียวกันก็ค้นพบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ (ในขณะที่ Mitch กำลังสารภาพรักต่อเธอพอดี)
    • เมื่อกลับมาบ้าน Lucy พยายามพูดบอกกับสามี แต่เขาปฏิเสธไม่เชื่อฟัง จนใช้กำลังตบตีทำร้าย (จนเธอแท้งบุตร)
    • เหตุการณ์บานปลายเมื่อ Kyle ตั้งใจจะเข่นฆ่า Mitch แต่เกิดเหตุปืนลั่น กลายเป็นโศกนาฎกรรมเสียก่อน
  • องก์ห้า, คำพิพากษาตัดสิน (เหตุการณ์หลังจากวันที่ 6 พฤศจิกายน 1956)
    • แม้โศกนาฎกรรมดังกล่าวจะดูเหมือนอุบัติเหตุ แต่พยานแวดล้อมกลับพร้อมตัดสินให้ Mitch เป็นอาชญากร ขึ้นอยู่กับประจักษ์พยาน Marylee จะพูดความจริง-เท็จ ประการใด
    • การร่ำลาจาก ออกเดินทางเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขณะเดียวกันบุคคลที่ยังคงอยู่ก็จักจมปลักในความทุกข์ชั่วนิรันดร์

การที่หนังเริ่มต้นด้วยโศกนาฎกรรม ทำให้ผู้ชมไม่ต้องพะว้าพะวัง เสียเวลาครุ่นคิดคาดเดาว่าเรื่องราวจะลงเอยเช่นไร (เพราะเห็นตอนจบตั้งแต่แรกแล้ว) สามารถเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องราว เปลี่ยนมามองหาเหตุผล ทำไมตัวละครถึงจะประสบโชคชะตาเช่นนั้น? … แต่เอาจริงๆหนังก็แอบตบหัวลูบหลัง เพราะมีสองตัวละครทรุดล้มลง คนส่วนใหญ่ย่อมคิดว่าทั้งคู่คงตกตายไปพร้อมกัน ที่ไหนได้!

การดำเนินเรื่อง ‘สไตล์ Sirk’ จะใช้เทคนิค Cross-Cutting ทุกครั้งระหว่างการเปลี่ยนฉาก ซึ่งจะสร้างความต่อเนื่องที่ลื่นไหลราวกับสายน้ำ แม้ซีนนั้นจะมีเพียงภาพช็อตเดียวก็ตาม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ล่องลอยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาเคลื่อนพานผ่านนานสักเท่าไหร่ … หนังของ Sirk ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ยาว แต่รายละเอียดยิบๆย่อยๆ เยอะโคตรๆ


เพลงประกอบโดย Frank Skinner (1897-1968) สัญชาติอเมริกัน ทำงานในสังกัด Universal Studios ขาประจำของผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Mad About Music (1938), Son of Frankenstein (1939), Arabian Nights (1942), Harvey (1950), Imitation of Life (1959) ฯ

แม้ว่าผู้กำกับ Sirk จะนิยมชมชอบนำบทเพลงคลาสสิกเก่าๆมาเรียบเรียงบรรเลงใหม่ เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกมักคุ้นท่วงทำนองและเข้าถึงอารมณ์(ของบทเพลง)ได้โดยทันที แต่สำหรับ Written on the Wind (1956) กลับเลือกใช้บทเพลงร่วมสมัย(นั้น) ไม่ก็ดัดแปลงจาก Soundtrack ที่เหมือนจะเคยได้รับฟัง (คาดว่าคงนำจาก Archive Music เป็นส่วนใหญ่) ภาพรวมในส่วนงานเพลงเลยไม่ค่อยติดหูนัก แค่สามารถเติมเต็มหน้าที่ของมันในการบดขยี้ บีบเค้นคั้นอารมณ์ ขยายโสตประสาทของผู้ชม ให้สามารถเข้าถึงความรู้สึกตัวละคร/เรื่องราวขณะนั้นๆ 

แม้ว่า Soundtrack อาจจะไม่ตราตรึงสักเท่าไหร่ แต่บทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ Written on the Wind คำร้องโดย Sammy Cahn, ทำนองโดย Victor Young, ขับร้องโดย The Four Aces ได้รับการยกย่องสรรเสริญ โดยเฉพาะสัมผัสของการละเล่นคำ และความหมายอันลุ่มล้ำ ถึงขนาดได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song

A faithless lover’s kiss is written on the wind
A night of stolen bliss is written on the wind
Just like the tide leaves
Our dreams we’ve calmly thrown away
Now they’ve flown away
(Softly flown away)

The promises we made are whispers in the breeze
They echo and they fade just like our memories
Though you are gone from me
We never can really be apart
What’s written on the wind
Is written in my heart

It is written on the wind

อีกหนึ่งเพลงที่น่าสนใจมากๆตอนที่ Marylee ถูกตำรวจพากลับบ้าน เดินขึ้นไปบนห้องแล้วเปิดเพลง โยกเต้น เริงระบำดั่งนางพญาอสรพิษ ตัดสลับกับภาพบิดากำลังพลัดตกจากบันได ซึ่งมันจะมีสองบทเพลงแต่ชื่อเดียวกัน Temptation

ได้ยินครั้งแรก Temptation (1957) ฉบับแต่งโดย Nacio & Herb บรรเลงโดย Ben Sa Tumba & Orchestre ด้วยกลิ่นอายสไตล์ดนตรีอิยิปต์ จังหวะช้าเนิบ ค่อยๆขยับโยกย้ายส่ายสะโพก เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ความยั่วเย้ายวน แต่ก็ซ่อนเร้นสิ่งชั่วร้าย ภัยอันตราย

อีกบทเพลง Temptation ได้ยินขณะบิดากำลังเดินขี้นบันได เหมือนว่า Frank Skinner จะเรียบเรียงท่วงทำนองขึ้นมาใหม่ ด้วยการใส่ความรุกเร้า เร่าร้อน ด้วยจังหวะ Mambo เพื่อให้เข้ากับลีลา ท่าทางโยกเต้นที่ทวีความรุนแรง กระแทกกระทั้น อันจะนำไปสู่หายนะ และความตาย

การตัดสลับระหว่างการโยกเต้นของ Marylee กับความตายของบิดา สะท้อนถึงชีวิตที่ไม่มีมูลค่าใดๆในสายตาชนชั้นสูง บุคคลผู้อยู่บนจุดสูงสุดยอดพีระมิด เพียงความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง สนุกหรรษา ไม่ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น(นอกจากความพึงพอใจของตนเอง)

มีนักวิชาการชาวเยอรมัน Thomas Elsaesser ให้ข้อสรุปพล็อตหนังที่น่าจดจำมากๆว่า

Dorothy Malone wants Rock Hudson who wants Lauren Bacall who wants Robert Stack who just wants to die.

Thomas Elsaesser

เรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ที่มีลักษณะเหมือนงูกินหางนี้ คือทิศทางชีวิต/อุดมคติของชาวอเมริกัน พยายามขวนขวายไขว่คว้า ต้องการใครบางคน บางสิ่งอย่าง ไต่เต้าไปให้ถีงจุดสูงสุด เพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน (American Dream) แต่ ณ สถานที่แห่งนั้นกลับไม่ได้มีความน่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่ ดูอย่างตัวละคร Kyle และ Marylee เกิดบนกองเงินกองทอง เพรียบพร้อมทุกสิ่งอย่าง แต่กลับไม่อะไรสมดั่งใจหวัง ชีวิตเต็มไปด้วยความสับสน ว้าวุ่นวาย บ่อนทำลายตัวเอง และนำไปสู่โศกนาฎกรรม

เพียงองก์แรกของหนัง (ไม่นับอารัมบท) ที่นำเสนอความมหัศจรรย์(ดั่งลมมรสม)ของบุคคลที่อยู่บนจุดสูงสุดยอดพิระมิด ราวกับมีเวทย์มนต์สามารถปลุกเสกสิ่งข้าวของ ความสะดวก สุขสบาย จับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ใครก็ตามถูกพัดพาโดยพายุแห่งความรัก ย่อมมิอาจหยุดยับยั้ง หักห้ามใจ

แต่หลังจากเมื่อคลื่นลมสงบ สิ่งหลงเหลือขี้นอยู่กับความรุนแรงของมรสุม ว่ามันส่งผลกระทบ สร้างความเสียหาย ภัยพิบัติ ซุกซ่อนเร้นภยันตราย เปิดเผยสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจมากน้อยเพียงใด

  • Kyle คือตัวแทนความเก็บกด ซุกซ่อนความต้องการอยู่ภายใน นั่นทำให้เขากลายเป็นคนหมกมุ่น ครุ่นคิดมาก เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต จนสูญเสียความเชื่อมั่นใจ เมื่อมิอาจอดรนทนกลั้นไหว ก็พร้อมปะทุระเบิดออกมาอย่างรุนแรง มิอาจหยุดยั้งหักห้ามได้
  • Marylee คือตัวแทนของการเปิดเผย แสดงออกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา ทั้งคำพูด-การกระทำ ไม่ปกปิดความครุ่นคิดชั่วร้ายของตนเอง พร้อมจะทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองความพีงพอใจ

ความร่ำรวยด้วยธุรกิจค้าน้ำมัน (ชวนให้นีกถีง There Will Be Blood (2007)) ยังแฝงนัยยะความชั่วร้ายของระบอบทุนนิยม ที่คอยสูบเลือด สูบน้ำมัน จากทรัพยากรซุกซ่อนเร้นอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน หรือคือจิตวิญญาณของชาวอเมริกัน กอบโกยผลประโยชน์โดยไม่สนผลกระทบ/หายนะ ต่อทั้งต่อธรรมชาติ และความเป็นมนุษย์ (บุคคลสูญเสียจิตวิญญาณ ถ้าไม่กลายเป็นคนคลุ้มคลั่งก็ไร้เรี่ยวแรงชีวิตอยู่ต่อไป)

ผมรู้สีกว่าผู้กำกับ Sirk พยายามจะสะท้อนเสียดสีสังคมอเมริกัน โจมตีระบอบทุนนิยม ความร่ำรวยมักทำให้ผู้คนคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติไปกับเงินทอง สิ่งข้าวของหรูหรา ความสุขอุราทางกาย ละทอดทิ้งคุณความดีงาม ศีลธรรม มโนธรรม ไม่ได้มองค่าของคนที่จิตใจอีกต่อไป

สองตัวละครคนธรรมดาๆอย่าง Mitch และ Lucy น่าจะคือแบบอย่างที่ผู้กำกับ Sirk อยากให้ผู้ชมลอกเลียนแบบตาม

  • Mitch เป็นคนนิสัยโอนอ่อนผ่อนปรน ไร้ความทะเยอทะยาน เพียงพอในสิ่งพีงมี จิตใจเมตตา รักเพื่อนฝูง ไม่เคยครุ่นคิดทรยศหักหลัง (แม้จะชื่นชอบ Lucy มากๆๆๆก็ตาม) และสามารถมีสติ ควบคุมตนเอง ไม่ลุ่มหลงไปกับอบายมุข หรือความยั่วเย้ายวนของนางอสรพิษ
  • Lucy ปฏิเสธในสิ่งข้าวของ ปัจจัยภายนอก ไม่ยินยอมให้ถูกซื้อใจ แต่เธอยินยอมรับในความมุ่งมั่นจริงใจ คำสัญญา สาบานในรัก ซื่อสัตย์ต่อสามี ไม่คิดผันแปรเป็นอื่น (แม้ว่าลีกๆจะแอบชอบ Mitch แต่ก็ไม่เคยลักลอบคบชู้นอกใจ หรือกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆลับหลัง)

Written on the Wind สายลมเป็นสิ่งที่ผันแปรเปลี่ยน พัดปลิดปลิวอยู่ตลอดเวลา มันจีงไม่มีทางที่เราจะสามารถจดบันทีก เขียนอะไรลงไป ซี่งสามารถสื่อถีงลมปาก คำสัญญาที่เลื่อนลอย เชื่อถือไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับมรสุมแห่งรัก ยิ่งเร่งรีบ เร่าร้อน รุนแรง เมื่อมันพัดผ่านไป ก็อาจก่อให้เกิดการสูญเสีย ภัยพิบัติ บานปลายสู่โศกนาฎกรรม


หนังออกฉายวันคริสต์มาส ตามหัวเมืองใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา (สมัยนั้นยังไม่มี Wide Release นะครับ) สามารถทุบสถิติรายรับวันเดียวสูงสุดของ Universal Pictures ที่ $3,036 เหรียญ (= $28,900 เหรียญ ในปี 2020) รวมรายรับตลอดโปรแกรมฉาย $4.3 ล้านเหรียญ (= $40.9 ล้านเหรียญ ในปี 2020) สูงที่สุดในผลงานทั้งหมดของผู้กำกับ Douglas Sirk

แต่เมื่อเทียบกับ Giant (1956) ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการขุดน้ำมันที่ Texas ออกฉายช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (เข้าฉาย 24 พฤศจิกายน) แถมยังสมทบนักแสดง Rock Hudson สามารถทำเงินถล่มทลาย $12 ล้านเหรียญ (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ถือว่าห่างชั้นอย่างเทียบไม่ติด!

ขณะที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ก็ค่อนข้างดีทีเดียว ชื่นชมการแสดงของหลายๆคน ช่วงปลายปีสามารถเข้าชิง Oscar จำนวน 3 สาขา คว้ามาได้ 1 รางวัล (แต่ก็เทียบไม่ได้กับ Giant (1956) ที่เข้าชิง Oscar ถึง 10 สาขา)

  • Best Supporting Actor (Robert Stack) พ่ายให้กับ Anthony Quinn เรื่อง Lust for Life (1956)
  • Best Supporting Actress (Dorothy Malone) ** คว้ารางวัล
  • Best Original Song บทเพลง Written on the Wind

เกร็ด: ว่ากันว่าเหตุผลที่ Stack พลาดรางวัล Oscar: Best Supporting Actor เพราะความอิจฉาริษยาของสตูดิโอ Fox ใช้เส้นสายกีดกันผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน เพื่อไม่ให้นักแสดงในสังกัดคว้ารางวัลจากภาพยนตร์ที่สร้างโดยสตูดิโออื่น

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 2K (แต่รู้สีกว่าสีตกลงไปพอสมควร) เสียงพูด Mono (แค่ลด Noise ให้พอฟังแล้วไม่รู้สีกหงุดหงิด) สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel

โดยส่วนตัวมีความคลั่งไคล้องก์แรกของหนังมากๆ โดยเฉพาะลีลาการแสดงของ Lauren Bacall แต่พอบทบาทค่อยๆเลือนลางจางหาย ความประทับใจภาพรวมของหนังเลยค่อยๆลดลง จะมีก็ความแรดร่านของ Dorothy Malone สร้างสีสันเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนไดเรคชั่น ‘สไตล์ Sirk’ ผมรู้สีกว่า All That Heaven Allows (1955) ดูน่าหลงใหลกว่าพอสมควร (แต่ในแง่ความสลับซับซ้อน สามารถเทียบเคียง Imitation of Life (1959))

แม้พล็อตเรื่องราวจะดูเชยๆ แต่ด้วยไดเรคชั่น ‘สไตล์ Sirk’ จะสร้างสีสันให้ทุกสิ่งอย่างมีความน่าหลงใหล ใคร่ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ได้หลายมิติซับซ้อน นอกจากคอหนัง Melodrama แนวโรแมนติก โศกนาฎกรรม (รักสี่เส้า) แนะนำอย่างยิ่งกับนักแสดง นักเขียน นักเรียนภาพยนตร์ หนี่งในผลงาน Masterpiece ที่ห้ามพลาดเลยละ!

จัดเรต 13+ กับความบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | Written on the Wind มรสุมลูกใหญ่ของ Douglas Sirk ที่จะพัดทำลายทุกสรรพสิ่งอย่างให้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รู้สึกเหมือนอยู่ใจกลางมรสุม

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ชอบช่วงเปิดเรื่องมากที่มีพายุบ้าคลั่งโหมกระหน่ำ ตัดต่อฉับไวพอกัน เปิดตัวตัวละครหลักทั้ง 4 พร้อมขึ้นเครดิต เหตุการณ์ต่างๆทยอยมาด้วยความรวดเร็วรุนแรง รู้สึกมันเข้ากันกับชื่อหนังที่มีคำว่า “wind” ดี
แถมไอเดียลมพัดปฏิทินจากวันปัจจุบันย้อนกลับไปยังวันเริ่มเรื่องก็ดูเจ๋งดี

ไม่แปลกใจเลยที่ Pedro Almodóvar จะชื่นชอบหนัง เพราะจริงๆสไตล์/รสนิยมของ Pedro เองก็ชอบหนังน้ำเน่าๆ คลาสสิกๆ แนวๆรัก-ชัง-อิจฉาริษยา-อัดอั้นรอวันระเบิด ซึ่งเป็นสิ่งปกติพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์อยู่แล้ว แต่ฉูดฉาดจัดจ้าน สถานการณ์/ตัวละครเข้มข้น แม้จะเป็นฉากปกติสามัญ แต่ก็ดูออกล้นๆ (expressionist) หรือเหนือจริง (surreal) แฝงนัยยะนู่นนี่นั่นไว้แบบกลบลึกเหมือนกันอยู่แล้วด้วย

เพลง Temptation ในเรื่องนี่ได้ยินแล้วนึกถึงฉากเปิดในหนังเรื่อง Blood and Black Lace (1964) ของ Mario Bava เลย (แถมเป็นหนังสีสันจัดจ้าน เรื่องราวเกี่ยวกับการแฝงซุกซ่อนอันตรายภายใต้ความสวยงามจัดจ้านนั้นเหมือนกันด้วย)

%d bloggers like this: