
Yaaba (1989)
: Idrissa Ouédraogo ♥♥♥♡
ณ หมู่บ้านเล็กๆในประเทศ Burkina Faso แทบทุกคนเรียกหญิงชราคนหนึ่งว่า ‘แม่มด’ ไร้ญาติขาดมิตร ชอบทำตัวแปลกแยกจากผู้อื่น แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กชายวัยสิบขวบเรียกเธอว่า Yaaba แปลว่า Grandmother เมื่อน้องสาวล้มป่วยได้ย่าคนนี้ช่วยชีวิตไว้, นำเสนอด้วยวิธีการอันเรียบง่าย บริสุทธิ์ แต่มีความงดงามจับใจ
เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รับรู้จักด้วยซ้ำว่าประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) ตั้งอยู่แห่งหนไหน? คำตอบคือฟากฝั่ง West Africa ห้อมล้อมรอบด้วย Mali, Niger, Bene, Togo, Ghana และ Ivory Coast (ไม่มีชายฝั่งติดทะเล), เมืองหลวงชื่อ Ouagadougou, มีอาณาบริเวณ 274,223 ตารางกิโลเมตร (ครึ่งหนึ่งของประเทศไทย), จำนวนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2021 คือ 23.6 ล้านคน
ดินแดนแห่งนี้ในช่วงทศวรรษ 11-13 เคยเป็นถิ่นฐานชนชาว Mossi ต่อมาถูกปกครองโดย Mali Empire และ Songhai Empire จนกระทั่งปี ค.ศ.1896 การมาถึงของ French Empire เข้ามายึดครอบครองอาณานิคม Mali ก่อนได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1960 ตั้งชื่อประเทศ Republic of Upper Volta (1958-84) โดยมีนาย Mauric Yameogo หัวหน้าพรรค the Union Democratique Valtaique (UDV) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการทหาร แต่ด้วยความไร้ศักยภาพด้านอื่น เศรษฐกิจเลยย่ำแย่ ถูกโค่นล้มอำนาจ ทำการรัฐประหาร ภายหลังเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Burkina Faso แปลว่า ประเทศของผู้มีความซื่อสัตย์ (Country of the Upright People)
Burkina Faso ถือเป็นประเทศยากจนลำดับต้นๆของโลก ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเนื่องจากภัยแล้ง ความเสื่อมของดินซึ่งกำลังแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) การขาดแคลนน้ำ ไม่มีทางออกทางทะเล นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงมนุษย์ (Human Security) ประชาชนไม่รู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 70 และประชากรมีอายุเฉลี่ยเพียง 44 ปี เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะเอดส์และมาลาเรีย
แต่ขณะเดียวกับ Burkina Faso ยังมีทรัพยากรธรรมชาติประเภทแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุม 22% ของพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์กลับยังไม่เป็นไปอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีการพัฒนากิจการเหมืองแร่อย่างจริงจัง การสำรวจแหล่งแร่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

แม้ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่เติบโตสักเท่าไหร่ แต่ทว่า Burkina Faso กลับให้กำเนิดผู้กำกับชื่อดัง Idrissa Ouédraogo เคยคว้ารางวัลจากทั้งสามเทศกาลหนังใหญ่ (Cannes, Venice, Berlin) ยกตัวอย่าง Yaaba (1989) เข้าฉาย Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัลนักวิจารณ์ FIPRESCI Prize นั่นคือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว!
ผมรับรู้จัก Yaaba (1989) ระหว่างตอนเขียนถึง Hyènes (1992) ซึ่งผกก. Djibril Diop Mambéty (ก่อนหน้าสรรค์สร้าง Hyènes) ได้เคยช่วยงานเบื้องหลัง ถ่ายทำสารคดี Parlons Grand-mère (1989) นำเสนอความยุ่งยาก เสี่ยงอันตราย ในการถ่ายทำยังดินแดนทุรกันดารห่างไกลของ Burkina Faso
เอาจริงๆผมไม่ได้มีแผนจะเขียนถึง Yaaba (1989) ถ้าไม่บังเอิญพบเห็นว่าหนังผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เลยตัดสินใจลองดูสักหน่อย ระหว่างรับชมอาจรู้สึกว่าเอื่อยๆ เฉื่อยๆ ถึงระดับน่าเบื่อหน่าย แถมเนื้อเรื่องราวมีนักวิจารณ์ให้คำเรียก ‘Naïve Cinema’ แต่นั่นคือวิถีชีวิตอันเรียบง่าย จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ แฝงความเป็นมนุษย์นิยม (Humanism) และตอนจบอาจทำให้หลายคนแน่นจุกอก มิอาจกลั้นหลั่งธารน้ำตา
Idrissa Ouédraogo (1954-2018) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Burkinabé เกิดที่ Banfora, Upper Volta แล้วไปเติบโตขึ้นยังชนบท Ouahigouya ครอบครัวทำการเกษตรกรรม ส่งบุตรชายไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยัง Institut africain d’éducation cinématographique ณ Ouagadougou (INAFEC) แล้วเดินทางสู่ฝรั่งเศส เข้าศึกษาต่อ Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) จบออกมาก่อตั้งสตูดิโอ The Future of Film ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Les Films de la Plaine กำกับหนังสั้น Pourquoi (1981), Poko (1981)**คว้ารางวัล Best Short Film จาก Panafrican Film and Television Festival of Ouagadougou (FESPACO)
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Yam Daabo (1986) แปลว่า The Choice ได้รับการบูรณะ 4K โดย World Cinema Project (ของผกก. Martin Scorsese) เมื่อปี ค.ศ. 2022 แต่ปัจจุบันยังไม่มีจัดจำหน่าย Home Video ก็เลยต้องรอไปก่อน ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ
- Yaaba (1989) คว้ารางวัล FIPRESCI Prize และ Prize of the Ecumenical Jury: Special Mention จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
- Tilaï (1990) คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
- Samba Traoré (1993) คว้ารางวัลพิเศษ Silver Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
- The Heart’s Cry (1994) คว้ารางวัล OCIC Award – Honorable Mention จากเทศกาลหนังเมือง Venice
- September 11 (2002) คว้ารางวัล UNESCO Award และ FIPRESCI Prize จากเทศกาลหนังเมือง Venice
สำหรับ Yaaba (1989) แปลว่า Grandmother นำจากเรื่องเล่าก่อนนอน เรื่องเล่าก่อนนอน ที่ผกก. Ouédraogo เคยรับฟัง และยังคงจดจำไม่รู้ลืมมาจนถึงปัจจุบัน
Yaaba (1989) based on tales of my childhood and on that kind of bedtime storytelling we hear just before falling asleep.
Idrissa Ouédraogo
ณ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง นำเสนอเรื่องราวของหญิงชรา Sana อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับ ใครต่อใครจึงเรียกเธอว่ายัยแม่มด ยกเว้นเพียงเด็กชายวัยสิบขวบ Bila เรียกเธอว่า Yaaba คอยให้ความช่วยเหลือ แอบนำอาหาร สิ่งข้าวของต่างๆมาแบ่งปัน แม้บ่อยครั้งจะถูกบิดาสั่งห้าม ลงโทษทัณฑ์ ก็ยังคงฝืนทำตาม
วันหนึ่งน้องสาว (มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง) Nopoko ล้มป่วยหนัก นอนซมซานอยู่บนเตียง บิดาเชิญหมอผีมาทำการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย แต่ไม่ทำให้อาการดีขึ้น, Bila จึงขอความช่วยเหลือจากคุณย่า เธออุตส่าห์เดินทางไปต่างหมู่บ้านเพื่อเชิญหมอชื่อดังมารักษา แม้ถูกบิดาขับไล่ ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยว แต่เพียงดื่มยาเพียงไม่กี่วัน อาการน้องสาวกลับดีขึ้นตามลำดับ
ถ่ายภาพโดย Matthias Kälin (1953-2008) ตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์/สารคดี สัญชาติ Swiss ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), สารคดี Lumumba: Death of a Prophet (1991), Hyènes (1992) ฯ
เนื่องจากสถานที่ถ่ายทำอยู่ยังหมู่บ้านชนบทห่างไกล การเดินทางไม่ค่อยสะดวก จึงเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย งานภาพจึงไม่สามารถใส่ลวดลีลาอะไร เน้นความเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ ตั้งกล้องถ่ายทำ (มากสุดคือการแพนนิ่ง) ให้นักแสดงเดินเข้า-ออก กระทำสิ่งโน่นนี่นั่น ความสูงระดับสายตา
ผมสังเกตงานภาพส่วนใหญ่ มักถ่ายให้เห็นนักแสดงเต็มตัว (Full Shot) ไม่ก็ถ่ายติดทิวทัศน์พื้นหลัง (Long Shot และ Extreme-Long Shot) ยกเว้นเมื่อมีการซุบซิบนินทา พูดคุยสนทนา ถึงพบเห็นภาพถ่ายระยะกลาง-ใกล้ (Medium และ Close-Up Shot) ถ่ายทอดอารมณ์(ไม่พึงพอใจ)ออกทางสีหน้า
หนังปักหลักถ่ายทำยังหมู่บ้านชนบท Tougouzagué Village ทางตอนเหนือของ Burkina Faso ไม่ห่างไกลจากชุมชนที่ผกก. Ouédraogo เคยอาศัยใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งนักแสดงทั้งหมดก็มาจากคนละแวกนั้น … ใครอยากรับรู้รายละเอียดให้หารับชมสารคดีเบื้องหลัง Parlons Grand-mère (1989)
ตัดต่อโดย Loredana Cristelli (เกิดปี 1957) เกิดที่อิตาลี แล้วไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Zürich ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพยนตร์ของ Alain Tanner, Jean-Luc Godard, Nicolas Gessnet, ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), Hyènes (1992) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเด็กชาย Bila เริ่มต้นระหว่างเล่นซ่อนหากับเพื่อน เกิดความฉงนสงสัยถึงหญิงสูงวัยคนนั้น เธอคือใคร? มาจากไหน? อาศัยอยู่แห่งหนใด? ก่อนได้ยินเสียงซุบซิบนินทา ชาวบ้านต่างกล่าวหาเธอว่าคือยัยแม่มด แต่เขาไม่รู้สึกถึงความโฉดชั่วร้าย จึงนำอาหาร ของฝากไปแบ่งปัน ชวนพูดคุย แม้ถูกขับไล่ บิดากระทำร้ายร่างกาย เด็กชายก็ไม่เชื่อฟังใคร เรียกอีกฝ่ายว่า Yaaba อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
ลีลาการดำเนินเรื่องหนังมีความเอื่อยเฉื่อย ค่อยเป็นค่อยไป หลายครั้งปล่อยแช่ภาพทิ้งไว้ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสวิถีชนบทที่ไม่รู้จะเร่งรีบร้อนไปไหน อย่างฉากความตายของ Yaaba ก็ตั้งกล้องห่างๆ ปล่อยให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศความสูญเสีย เศร้าโศกเสียใจ มีความเรียบง่าย ตราตรึง โดยไม่รู้ตัวธารน้ำตาอาจหลั่งไหลออกมา
เพลงประกอบโดย Francis Bebey (1929-2001) นักแต่งเพลงสัญชาติ Cameroonian ในตอนแรกร่ำเรียนคณิตศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนเป็นสาขาวิทยุกระจายเสียง University of Paris จากนั้นมุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเรียนต่อปริญญาโท New York University แล้วหวนกลับ Ghana ทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง, ช่วงต้นทศวรรษ 60s ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส ผันตัวสู่งานศิลปะ เขียนหนังสือ นวนิยาย และยังแต่งเพลงโดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน ผสมผสานเข้ากับคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีไฟฟ้า ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Yam Daabo (1987), Yaaba (1989) ฯ
วิถีชนบทมีความเรียบง่าย อาศัยอยู่กับธรรมชาติ เสียงประกอบ (Sound Effect) จำพวกสายลม จิ้งหรีดเรไร ฝีเท้าเด็กๆวิ่งไล่ ฯ จึงมีความโดดเด่น เน้นความกลมกลืน ผิดกับเพลงประกอบของ Bebey ทำการผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน เข้ากับคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีไฟฟ้า สร้างสัมผัสแปลกแยก แตกต่าง ฟังดูผิดที่ผิดทาง … แต่สอดคล้องเข้ากับสถานะภาพของ Yaaba ในสายตาชาวบ้านทั่วไป เธอคือยัยแม่มด บุคคลนอกรีต ไม่ได้รับการยินยอมรับจากสังคม
สำหรับผกก. Ouédraogo เรื่องราวของ Yaaba (1989) คือนิทานกล่อมเด็ก เรื่องเล่าก่อนนอน แฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต สอนให้รู้จักเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมนุษยธรรมต่อเพื่อนร่วมโลก ไม่ใช่คอยแต่เอารัดเอาเปรียบ ดูถูกเหยียดหยาม อวดอ้างบารมี กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน
มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะครุ่นคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะเด็กชาย Bila หรือคุณยาย Yaaba เหมารวมผกก. Ouédraogo (อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ Burkina Faso จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้เติบโตสักเท่าไหร่) ต่อให้ถูกสังคมตีตรา ขับไล่ ผลักไส แต่นั่นคือสิทธิ เสรีภาพของมนุษย์ ไม่มีใครสามารถบีบบังคับให้ทำอะไรนอกจากตัวเราเอง
พฤติกรรมดื้อรั้น เอาแต่ใจ ชอบใช้ความรุนแรงของบิดา คือภาพสะท้อนสังคม/การเมืองของประเทศ Burkina Faso อย่างที่อธิบายไปตอนต้นว่าตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ประธานาธิบดีคนแรก Mauric Yameogo บริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการ รวบอำนาจทั้งหมดในมือ และยังห้ามมิให้มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผลลัพท์ความเห็นแก่ตัวของผู้นำ เกือบจะทำประเทศล่มจม
หลายคนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อาจทำให้เกิดภาพจำว่า Burkina Faso/ทวีปแอฟริกัน เป็นดินแดนล้าหลัง ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ในความเป็นจริงมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น! ผมแนะนำให้มองเชิงสารคดีเชิงชาติพันธุ์ (Ethnofiction) บันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน การต่อสู้ดิ้นรน สร้างเรื่องราวเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจผู้ชม แบบนี้จะมีประโยชน์กว่านะครับ
เข้าฉาย Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม สามารถคว้ามาสองรางวัล
- FIPRESCI Prize
- Prize of the Ecumenical Jury: Special Mention
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้หนังมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลต่างๆทั่วโลก กวาดรางวัลอีกมากมาย และยังได้รับการโหวตจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma ติดอันดับ 5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 1989
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 2K ไม่แน่ใจว่าเสร็จสิ้นตั้งแต่ปีไหน แต่เพิ่งมีจัดจำหน่าย Blu-Ray+DVD โดยค่าย La Traverse (ของฝรั่งเศส) พร้อมเบื้องหลังสารคดี Parlons Grand-mère (1989) ที่ผ่านการบูรณะแล้วเช่นเดียวกัน
แม้หนังจะมีความเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ แต่เรื่องราวนำสู่ตอนจบได้อย่างมีมนุษยธรรม แฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ผมว่าแค่เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการเป็นภาพยนตร์ดีๆเรื่องหนึ่ง คุ้มค่าแก่การเสียเวลา ไม่ต้องคาดหวัง อาจได้รับความประทับใจกลับคืนมา
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply