Yeelen

Yeelen (1987) Malian  : Souleymane Cissé ♥♥♥♥

จอมขมังเวทย์ฉบับหมอผีแอฟริกัน! บิดาไม่รู้จงเกลียดจงชังอะไรบุตรชาย ถึงขนาดใช้มนต์ดำออกไล่ล่าติดตามหา จำต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน ผจญโลกกว้าง เรียนรู้สิ่งต่างๆ เตรียมพร้อมเผชิญหน้า พิสูจน์ตนเอง เพื่ออนาคตลูกหลาน, คว้ารางวัล Jury Prize (ที่สาม) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

พื้นหลังประมาณศตวรรษที่ 13th ในยุคสมัย Mali Empire (1230-1670) นำเสนอปรับปราของชาว Bambara เกี่ยวกับภารกิจวีรบุรุษ (มีคำเรียก Hero’s Journey หรือ Monomyth) ออกผจญโลกกว้าง เรียนรู้สิ่งต่างๆ สะสมประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมพิสูจน์ตนเอง ต่อสู้กับบิดาผู้จงเกลียดจงชัง

แม้เรื่องราวฟังดูแฟนตาซี (Fantasy) แนวเหนือธรรมชาติ (Supernatural) แต่ความตั้งใจผกก. Cissé ต้องการสะท้อนสถานการณ์การเมืองประเทศ Mali ซึ่งสามารถเหมารวมทวีปแอฟริกันยุคสมัยนั้น ที่มีความแตกแยก เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รัฐบาลกดขี่ข่มเหงประชาชน ทำให้มีการชุมนุมประท้วง สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นแทบจะทุกแห่งหน

ผมรับรู้จัก Yeelen (1987) ระหว่างลองค้นหา “Best African Film of All-Time” พบเห็นปรากฎอยู่แทบทุกๆชาร์ทภาพยนตร์ ลองอ่านเนื้อเรื่องย่อคร่าวๆเกี่ยวกับคุณไสยมนต์ดำ หมอผีแอฟริกัน ฟังดูน่าสนใจอย่างมากๆ … แม้ความเหนือธรรมชาติของหนังจะไม่ได้เว่อวังอลังการ แต่ภาพรวมถือว่าน่าติดตาม มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน แฝงสาระข้อคิดเล็กๆ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

One night I was watching late-night films on … I think it was on Showtime. There was this film called Yeelen (1987). The picture had just started at 2:30 in the morning, and the image was very captivating, and I watched the whole thing. I discovered that it was directed by Souleymane Cissé and came from Mali. I got so excited. I had seen Ousmane Sembène’s films from Senegal-he was the first to put African cinema on the map, in the ‘60s-but I hadn’t seen anything quite like this … the poetry of the film. I’ve seen many, many movies over the years, and there are only a few that suddenly inspire you so much that you want to continue to make films. This was one of them.

Martin Scorsese

Souleymane Cissé (เกิดปี ค.ศ. 1940) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Malian เกิดที่ Bamako ในครอบครัวนับถือมุสลิม โตขึ้นเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยฉายหนัง (Film Projectionist) ทำให้ค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์อย่างจริงจัง ได้รับทุนจากสถาบัน All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยัง Moscow พอหวนกลับ Mali ในปี ค.ศ. 1970 เข้าทำงานกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) เป็นตากล้อง โปรดิวเซอร์ กำกับสารคดี หนังสั้น

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Den muso (1974) แปลว่า The Young Girl นำเสนอเรื่องราวของหญิงใบ้ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ แต่ทั้งครอบครัวและพ่อของเด็กกลับปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ, อาจด้วยเนื้อหามีความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม จึงถูกแบนห้ามฉาย และผกก. Cissé โดนจับเข้าคุกด้วยข้อหารับเงินทุนจากฝรั่งเศส (ก็ไม่รู้มันเป็นความผิดยังไง?) ใช้เวลาในเรือนจำพัฒนาบทหนังเรื่องถัดไป Baara (1978)

สำหรับผลงานชิ้นเอก Yeelen มาจากภาษา Fula หมายถึง Brightness/Light ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าปรัมปราของชาว Bambara (ชนพื้นเมืองในย่าน West Africa) ประมาณการณ์พื้นหลังศตวรรษที่ 13 ในยุคสมัย Mali Empire (1230-1670) ที่ผู้คนยังมีความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์ตรา ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ

เรื่องราวของ Nianankoro ชายหนุ่มชาวแอฟริกัน ต้องออกเดินทางร่อนเร่ไปยัง Bambara, Fulani, Dogon (ดินแดนแถบ West Africa) เพื่อหลบหนีการไล่ล่าติดตามจากบิดา Soma ที่หลังจากพบเห็นนิมิตในอนาคตบุตรชายจะเป็นคนสังหารตนเอง บังเกิดความโกรธเกลียดเคียดแค้น ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ต้องการกำจัดเสี้ยมหนามให้พ้นภัยทาง


ถ่ายภาพโดย Jean-Noël Ferragut, Jean-Michel Humeau

Mali เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ค่อนข้างสูง เต็มไปด้วยชนเผ่าน้อยใหญ่ ใช้ภาษาทางการถึง 13 ภาษา (ไม่นับรวมภาษาฝรั่งเศสที่ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023) การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ผกก. Cissé จึงนำพาตัวละครออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ป่า ภูเขา หนองบึง ทะเลทราย ฯ สื่อสารภาษา Bambara, Fula และ Dogon แสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย ซึ่งยังสามารถเหมารวมได้ถึงทวีปแอฟริกา

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย ถ้าไม่ตั้งกล้องไว้เฉยๆ ก็ขยับเคลื่อนไหวอย่างเอื่อยเฉื่อย (แต่ไม่ได้เชื่องช้าเหมือนพวก Slow cinema) จุดประสงค์เพียงเพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ ความงดงามทิวทัศน์ ย้อมสีเหลือง-ส้มแทนทะเลทราย/ผืนแผ่นดินแอฟริกัน ใช้เพียงแสงธรรมชาติ และนักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด (ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน)

ด้วยความที่มีการใช้คุณไสยมนต์ดำ ทำให้เกิดปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ลูกเล่นภาพยนตร์จึงถูกนำมาใช้สร้างเอ็ฟเฟ็กเหล่านั้น แต่ไม่ได้เว่อวังอลังการเหมือน CGI ออกไปทางทริคมายากลสไตล์ Georges Méliès อาทิ Substitution Splice (หรือ Stop Trick), Reverse Motion, Double Explosure (ซ้อนภาพ), Lens Flare, Fade-to-White ฯ


นี่เป็นช็อตน่าขนลุกขนพองที่สุดของหนัง เด็กชายนำเจ้าแกะ(หรือแพะ?)มาผูกติดกับรูปปั้นเทพเจ้าของชาว Bambara แล้วจู่ๆเจ้าแกะก็งอเข่าหน้า ทำท่าเหมือนกำลังคุกเข่า ก้มลงกราบไหว้ เห้ย! แม้งทำได้ยังไง … คงฝึกเอาแหละครับ มันคงไม่มีวิธีอื่นหรอก แต่สำหรับผู้ชมย่อมรู้สึกเหมือนมีสิ่งเหนือธรรมชาติ ทำให้เจ้าแกะยินยอมศิโรราบต่อเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์

แอฟริกาไม่เชิงว่าเป็นทวีปล้าหลัง แต่ภาพยนตร์ในยุคนั้นยังคือสื่อสมัยใหม่ที่คนส่วนใหญ่ไม่มักคุ้นเคยชิน เมื่อจู่ๆพบเห็นเสาไม้ลุกไหม้ ย่อมรู้สึกตกอกตกใจ นึกว่าเกิดปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ … หลากหลายลูกเล่นของหนังทำออกมาเหมือน ‘Trick film’ มายากลสไตล์ Georges Méliès อย่างซีเควนซ์นี้ก็คือ Substitution Splice (หรือ Stop Trick) ใครช่างสังเกตจะพบเห็นการตัดต่อก่อน-หลังไฟลุกพรึบอยู่แวบหนึ่ง

ระหว่างรับชม ผมนั่งจ้องอยู่นานว่านี่มันภาพอะไร? เห็นไม่ค่อยชัดสักเท่าไหร่? ก่อนพบว่า Nianankoro กำลังจับจ้องมองน้ำในถ้วย(กะลา) พบเห็นภาพซ้อน (Double Explosure) หรือจะเรียกว่าภาพนิมิต บิดาและลุงกำลังออกไล่ล่าติดตามหาตนเอง ใกล้จะมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในอีกไม่กี่อึดใจ

บ้างเรียกว่า man-Hyena หรือ Werehyena มีลักษณะครึ่งมนุษย์ ครึ่งไฮยีนา สัตว์ประหลาดนั่งกินลมชมวิวอยู่บนต้นไม้ ทำนายทายทัก (ราวกับ Prophet) โชคชะตาของ Nianankoro ว่าจะนำพาอนาคตอันสว่างสดใส แต่ต้องแลกมาด้วยจุดจบของอะไรบางอย่าง

ผมพยายามหาข้อมูลว่ามีคำเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ในปรัมปราของชาว Bambara หรือไม่? แม้ไม่พบเจอชื่อเรียก แต่มีคำอธิบายความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ

Among the Korè cult of the Bambara people in Mali, the belief that spotted hyenas are hermaphrodites (=กระเทย/มีอวัยวะชาย-หญิงในตนเอง) appears as an ideal in-between in the ritual domain. The role of the spotted hyena mask in their rituals is often to turn the neophyte (=ผู้เริ่มต้น, พวกมือใหม่) into a complete moral being (=บุคคลผู้ทรงคุณธรรม) by integrating his male principles with femininity.

Fula, Fulani, หรือชาว Fulɓe คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในย่านทะเลทราย Sahara และ Sahel ครอบคลุม West & Central Africa ลักษณะเด่นๆนอกจากสื่อสารภาษา Fula (หรือ Pulaar) ยังคือวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อาศัยอยู่ในบ้านดินปูหลังคาด้วยฟาง อาชีพหลักๆถ้าไม่เลี้ยงวัวสายพันธุ์ N’Dama ก็มักทำการเกษตร (Agriculture), งานโลหะ (Metalwork), งานเครื่องหนัง (Leatherwork) และถักทอผ้า (Textile Weaving)

มนต์ดำของ Nianankoro ที่ใช้ขับไล่ศัตรูผู้มาลุกรานชนเผ่า Fulas เริ่มต้นด้วยการเสกเรียกฝูงผึ้ง สัตว์ตัวเล็กจิ๋ว แต่เมื่อรวมกลุ่มจำนวนมาก ย่อมมีพลานุภาพทำลายล้างยิ่งใหญ่ (สื่อถึงพลังมวลชนที่เมื่อรวมกลุ่มจำนวนมาก ย่อมสามารถโค่นล้มพวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่)

ตามด้วยเสกเพลิงให้มอดไหม้ เผาทำลายทุกสิ่งอย่าง ผมมองถึงการทำลายล้างระบบ โครงสร้าง ถอนรากถอนโคน จะว่าไปเป็นการอารัมบทไคลน์แม็กซ์ ภายหลังการต่อสู้ระหว่างบิดา vs. บุตรชาย ผลลัพท์ไม่เพียงภูมิทัศน์ปรับเปลี่ยน แต่ทุกสิ่งอย่างยังราบเรียบเป็นหน้ากลอง

หนึ่งในมนต์ดำของบิดา Soma คือเสกสุนัข และมนุษย์ครึ่งไฮยีน่า ให้ก้าวเดินถอยหลัง นำเสนอด้วยเทคนิค Reverse Motion มองผิวเผินเหมือนไม่ได้มีนัยยะความหมายอะไร แต่ผมฉุกครุ่นคิดถึงสำนวนไทย “ถอยหลังลงคลอง” สอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของหนังได้เป็นอย่างดี พฤติกรรมบิดาต้องการทำลายล้างบุตรชายแท้ๆ มันคือความเสื่อมถดถอยของอารยธรรมมนุษย์ (และสัตว์)

King Ourama Bolly ขอความช่วยเหลือ Nianankoro ทำการรักษาภรรยา Attou ให้สามารถตั้งครรภ์ แต่บุคคลที่มีปัญหาคือฝ่ายหญิงจริงๆนะหรือ? มันมีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายชายอาจไม่มีน้ำยา ซึ่งนั่นแฝงนัยยะถึงการไร้อนาคต หมดสิ้นทายาทสืบสกุลของพวกผู้นำเผด็จการ

ที่ผมครุ่นคิดเช่นนั้นเพราะหลังจาก Nianankoro ให้ฝ่ายหญิงรับประทานยาปลุกเซ็กส์ ทั้งคู่ก็บังเกิดอารมณ์ทางเพศ มิอาจควบคุมตนเอง หลังเสร็จกามกิจ Attou ก็ตั้งครรภ์โดยทันที (นั่นแสดงว่า Nianankoro มีน้ำเชื้อแรงกว่า King Ourama Bolly)

ลุง Bafing ก็ไม่รู้มีศักดิ์เป็นพี่หรือน้องของบิดา Soma ทั้งสองต่างใช้เสาศักดิ์สิทธิ์ Kolonkalanni แยกย้ายกันออกติดตามหา Nianankoro พอผ่านมาถึงอาณาเขตแดนชนเผ่า Fulas วางท่วงท่า อวดอ้างบารมี ออกคำสั่งให้เปิดเผยเส้นทางหลบหนีของ Nianankoro พฤติกรรมดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจต่อ King Ourama Bolly พยายามจะโต้ตอบด้วยความรุนแรง แต่กลับมิอาจต้านทานพลังอำนาจมนต์ดำ

นี่เป็นซีเควนซ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พลังอำนาจ อวดอ้างบารมี เย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยค่ากว่าตน ทั้งถ้อยคำพูดและการกระทำ ถ้าไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ก็จักสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว มอดไหม้ในกองเพลิง

บิดา Soma นัดหมายพูดคุยกับบรรดาสมาชิก แกนนำชนเผ่า Komo ซึ่งต่างเป็นจอมขมังเวทย์ มีพลังอำนาจ สามารถเล่นคุณไสยมนต์ดำ หลังรับฟังเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้นในอนาคต Nianankoro จักทำให้ทุกคนสูญเสียพลังอำนาจ พวกเขาจึงเห็นชอบด้วยที่จะกำจัดไอ้เด็กเวรตะไล … คนกลุ่มนี้สามารถเปรียบเทียบถึงพวกผู้นำเผด็จการ ลุ่มหลงในพลังอำนาจ เพราะไม่ต้องการสูญเสีย(อำนาจบารมี)จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง

ผมให้ข้อสังเกตสักนิดว่าบิดา Soma รวมถึงบรรดาสมาชิกชนเผ่า Komo เวลาพูดคุยสนทนา ชอบที่จะขึ้นเสียง ตะโกนโหวกเหวก แหวกปากโวยวาย ใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด แถมยังเร่งรีบร้อนรน รวบรัดตัดตอน (พอคู่สนทนาพูดจบ ก็จะเอ่ยปากต่อโดยทันที) แตกต่างตรงกันข้ามกับฟากฝั่ง Nianankoro (รวมถึงมารดา และภรรยา Attou) ต่างเป็นคนพูดน้อย ประหยัดถ้อยคำ สงบเสงี่ยมเจียมตน (ไม่เคยเห็นตะโกนโหวกเหวกโวยวาย) และมักแสดงอารมณ์ทางสีหน้า แววตา เก็บกดอัดอั้นความรู้สึกบางอย่างไว้ภายใน

Dogon อีกหนึ่งชาติพันธุ์ที่พบเจอในประเทศ Mali เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะโดดเด่นนอกจากสื่อสารภาษา Dogon ยังมักอาศัยอยู่ตามหน้าผา ขุนเขา สร้างบ้านด้วยดิน+หิน มีประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม (Dogon art) ความเชื่อศาสนาของตนเอง, โดยผู้นำทางจิตวิญญาณมีคำเรียก Hogon ได้รับเลือกจากความอาวุโส ซึ่งเมื่อรับตำแหน่งหกเดือนแรก จะต้องห้ามอาบน้ำ ไม่ให้ใครอื่นสัมผัสจับเนื้อต้องตัว และมีเพียงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่มีประจำเดือนคอยรับใช้ เตรียมอาหาร ปัดกวาดเช็ดถูบ้าน พอพระอาทิตย์ตกดินถึงได้รับอนุญาตให้กลับไปอยู่กับครอบครัว

แวบแรกผมแอบตกใจ ทำไม Nianankoro ถึงกำลังพูดคุยกับบิดา? แต่แท้จริงแล้วตัวละครนี้คือลุง Djigui รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกัน! ก็เป็นพี่น้องกันอ่ะนะ!

เท่าที่ผมจับใจความจากการสนทนา ลุง Djigui สายตาพร่าบอดเพราะทำการลักขโมย Wing of the Korê ระหว่างใช้งานพบเห็นแสงสว่างอันเจิดจร้า ไม่ทันเอามือปกป้องดวงตา เลยตกอยู่ในความมืดมิดมาถึงปัจจุบัน … แต่แม้มองอะไรไม่เห็น ยังสามารถพบเห็นนิมิต ภาพอนาคต ความเจิดจรัสของลูกหลานอย่างเด่นชัด!

การเผชิญหน้าระหว่าง Nianankoro และบิดา Soma สังเกตว่าจะมีการตัดสลับไปมาระหว่างสองฟากฝั่ง จากภาพระยะไกลสู่ใกล้ โคลสอัพใบหน้า แทรกภาพช้าง vs. ราชสีห์ (สำหรับเป็นตัวแทนบุคคลทั้งสอง) รวมถึงเสาศักดิ์สิทธิ์ Kolonkalanni vs. Wing of the Korê เพื่อสร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน พ่อ-ลูกจับจ้องมองตาไม่พริบ ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน ต้องเข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ตกตายจากไป

เอาจริงๆผมก็ไม่รู้ว่าพ่อ-ลูกคู่นี้ต่อสู้อะไรยังไงกัน แต่ศาสตราวุธทั้งสองต่างส่องแสงสว่าง ‘Yeelen’ ที่มีความเจิดจรัสจร้า พลานุภาพมหาศาล ไม่เพียงทำให้สายตาพร่าเลือนลาง ยังภูมิทัศน์จากท้องทุ่ง กลายเป็นขุนเขา ทะเลทราย ทุกสิ่งอย่างพังทลาย ราบเรียบเป็นหน้ากล้อง … นี่เป็นการสื่อถึงหายนะจากการต่อสู้ เมื่อสองฝ่ายไม่มีใครยินยอมใคร ย่อมนำพาให้เกิดการสูญเสีย ทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง

ซึ่งหลังจากการทำลายล้าง สภาพภูมิทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลง Attou ให้กำเนิดบุตรชาย เติบใหญ่จนเดินได้ วันหนึ่งขุดค้นพบไข่ของบิดา สัญลักษณ์ของการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ แลกเปลี่ยนกับมารดามอบใหม่ Wing of the Korê สำหรับใช้ออกเดินทาง โบยบินสู่อิสรภาพ หลังจากนี้ไม่มีอีกแล้วเวทย์มนตร์คาถา คุณไสยมนต์ดำ มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ตัดต่อโดย Dounamba Coulibaly, Andrée Davanture, Jenny Frenck, Nathalie Goepfert, Seipati Keita, Marie-Catherine Miqueau, Seipati N’Xumalo

หนังดำเนินเรื่องผ่านการผจญภัยของชายหนุ่ม Nianankoro ที่ถูกไล่ล่าติดตามโดยบิดา Soma (โดยมีการสลับสับเปลี่ยนมุมมองดำเนินเรื่องไปมา) ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆของ West Africa

  • อารัมบท, เด็กชายลากจูงแพะไปผูกติดกับรูปปั้นเทพเจ้า
  • บิดา Soma และบุตรชาย Nianankoro
    • บิดา Soma ทำพิธีกรรมเพื่อสร้างเสาศักดิ์สิทธิ์ Kolonkalanni ที่สามารถออกติดตามหาบุตรชาย
    • บุตรชาย Nianankoro พบเห็นภาพนิมิต บิดากำลังไล่ล่าติดตามมาประชั้นชิด ได้รับมอบหมายภารกิจจากมารดา ให้นำเครื่องรางของขลัง(ที่ลักขโมยจากบิดา)ไปขอความช่วยเหลือจากลุง Djigui
    • บิดา Soma ใช้เสาศักดิ์สิทธิ์ Kolonkalanni เดินทางมาถึงบ้านเคยพักอาศัยของ Nianankoro (และมารดา) ยังคงติดตามหาโดยไม่เลิกรา
    • Nianankoro พบเจอกับไฮยีน่ามนุษย์ ทักทายถึงโชคชะตา อนาคต
  • เรื่องราววุ่นๆในอาณาเขตชนเผ่า Fulas
    • Nianankoro เข้ามาในอาณาเขตชนเผ่า Fulas เข้าใจผิดว่าคือโจรลักขโมยวัว
    • พบเจอกับหัวหน้าชนเผ่า Ourama Bolly สั่งประหารชีวิต แต่ทว่า Nianankoro ใช้เวทย์มนตร์หยุดยับยั้งไว้
    • ชนเผ่า Fulas ถูกรุกรานโดยเผ่าคู่อาฆาต King Ourama Bolly จึงขอความช่วยเหลือจาก Nianankoro แลกกับอิสรภาพ
    • Nianankoro เล่นคุณไสยใส่ชนเผ่าศัตรู จนสามารถเอาชนะการต่อสู้
    • King Ourama Bolly ขออีกความช่วยเหลือ Nianankoro รักษาภรรยา Attou ให้สามารถตั้งครรภ์ แต่เขากลับไม่สามารถหยุดยับยั้งช่างใจ ร่วมรักกับเธอจนตั้งครรภ์
    • King Ourama Bolly จึงขับไล่ Nianankoro และภรรยา Attou ออกจากชนเผ่าไป
  • Korê Kaman หรือ Wing of the Korê
    • ลุง Bafing เดินทางมาถึงชนเผ่า Fulas ออกคำสั่งให้ King Ourama Bolly เปิดเผยเส้นทางของ Nianankoro
    • บิดา Soma พูดคุยกับสมาชิกชนเผ่า Komo ทุกคนเห็นชอบด้วยที่จะกำจัด Nianankoro ให้พ้นภัยทาง
    • Nianankoro และ Attou เดินทางมาถึงอาณาเขตชนเผ่า Dogon
    • หลังอาบน้ำชำระล้างร่างกาย พบเจอกับลุง Djigui ได้รับมอบ Wing of the Korê
    • Nianankoro ออกเดินทางมาเผชิญหน้ากับบิดา
    • การต่อสู้ระหว่าง Nianankoro และบิดา Soma
  • ปัจฉิมบท, Attou กับบุตรชาย แวะเวียนมายังสถานที่สุดท้ายของบิดา

เพลงประกอบโดย Michel Portal (นักแต่งเพลง Jazz, คลาสสิก, Avant-Garde สัญชาติฝรั่งเศส) และ Salif Keïta (นักร้อง/นักแต่งเพลงชาว Malian เจ้าของฉายา “Golden Voice of Africa”)

งานเพลงของหนัง ผมฟังแล้วรู้สึกว่าออกไปทาง Avant-Garde ด้วยการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Mali/African ผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีไฟฟ้า (Electronic) สร้างเสียงที่มอบสัมผัสศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติ ราวกับมีเวทย์มนตร์ (โดยเฉพาะกระดิ่ง ราวกับเสียงเรียกของจิตวิญญาณ)

สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือเสียงประกอบ (Sound Effect) นกร้อง ผึ้งตอม จิ้งหรีดเรไร ธารน้ำไหล ไฟลุกไหม้ ฯ ต้องชมเลยว่าทำออกมาได้อย่างสมจริง สะท้อนวิถีชีวิตชาวแอฟริกันที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ จนสามารถเรียกได้ว่า ‘Ambient Music’ แทนการใช้เพลงประกอบเลยด้วยซ้ำ!


Yeelen (1987) นำเสนอเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษ (Hero’s Journey หรือ Monomyth) พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม เรียนรู้จักโลกกว้าง สะสมประการณ์ ต่อสู้ศัตรูผู้มารุกราน และพิสูจน์ตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญหน้าบิดาผู้จงเกลียดจงชัง สรรหาข้ออ้างในการใช้พลังอำนาจทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง

การผจญภัยของ Nianankoro อาจไม่ได้เลิศหรูสมบูรณ์แบบ ด้วยความละอ่อนวัย ยังไม่ค่อยรับรู้ประสีประสา จึงทำอะไรผิดๆถูกๆ บางครั้งไม่สามารถควบคุม(อารมณ์ทางเพศ)ตนเอง แต่ถ้าเขานำมันมาเป็นบทเรียนชีวิต ไม่ย่นย่อท้อแท้ ยินยอมศิโรราบต่อความอยุติธรรม ย่อมฟันฝ่าทุกอุปสรรคขวากหนาม เอาชนะศัตรูผู้มารุกราน

เหตุผลความจงเกลียดจงชังของบิดา เราสามารถวิเคราะห์ถึงอาการหวาดกลัวสูญเสียอำนาจ มักเกิดขึ้นกับบุคคลผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง โดยเฉพาะพวกผู้นำเผด็จการ (ประเทศสารขัณฑ์มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย) จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่าง เล่นคุณไสยมนต์ดำ ออกไล่ล่าติดตามหา เพื่อกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง ไม่เว้นแม้แต่ลูกหลานของตนเอง

Republic of Mali ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1960 มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนแรก Modibo Keïta พยายามจะโอบรับแนวคิดสังคมนิยม ด้วยพรรคการเมืองเดียว แต่เศรษฐกิจของประเทศกลับค่อยๆตกต่ำลง จนเกิดรัฐประหารโดย Moussa Traoré เข้ายึดอำนาจวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 กลายเป็นผู้นำเผด็จการที่ไม่สนหัวประชาชน นักศึกษาพยายามก่อการกบฎถึงสามครั้งแต่ไม่สามารถโค่นล้ม กว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลจะทำได้สำเร็จก็เมื่อ March Revolution ระหว่าง 22-26 มีนาคม ค.ศ. 1991 และใช้เวลาอีกปีกว่าๆออกรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1992

เมื่อตอนผกก. Cissé สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Mali ยังอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการ Moussa Traoré ไม่แตกต่างจากบิดา Soma พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้ตนเองสูญเสียอำนาจ กำจัดบุคคล-ประชาชน-ลูกหลานที่มีความครุ่นคิดเห็นแตกต่าง แต่เชื่อเถอะว่าสักวันต้องถูกโค่นล้ม ประสบความพ่ายแพ้ แม้อาจทำให้ประเทศชาติพังทลายย่อยยับ ภูมิทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลงไป ฟ้าหลังฝน อนาคตที่สดสว่างก็จักดำเนินมาถึง

ชื่อหนัง Yeelen (1987) เปรียบได้กับนิมิตแห่งแสงสว่างของผกก. Cissé วาดฝันถึงอนาคตที่สดใสของ Mali และเหมารวมถึงทวีปแอฟริกา เชื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเผด็จการต้องหมดสูญสิ้นไป ประชาธิปไตยจะเริ่มเบ่งบาน ไข่คือสัญลักษณ์ของการถือกำเนิด เกิดใหม่ ลูกหลานฟักออกมาสู่อนาคตอันสดใส


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัล Jury Prize (ที่สาม) และ Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention นั่นทำให้หนังได้ออกเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!

เกร็ด: Yeelen (1987) ได้รับการโหวตติดอันดับ #94 ชาร์ท Empire: The 100 Best Films Of World Cinema เมื่อปี ค.ศ. 2010

แม้หนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ แต่คาดว่าอยู่ในรายการ African Film Heritage Project ของ World Cinema Project อย่างแน่นอน! ฉบับ DVD ของค่าย Kino Lorber คุณภาพถือว่าพอใช้ได้ เอาไว้ดูแก้ขัดไปก่อน

ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆ รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ประทับใจการใช้ลูกเล่นภาพยนตร์ในการนำเสนอปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้อย่างชาญฉลาด สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดความกระตือรือล้นอยากเขียนบทความนี้มากๆ (ก็เหมือน Marty ที่ดูแล้วมีกำลังใจในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อไป)

ระหว่างรับชม Yeelen (1987) ชวนให้ผมนึกถึงอนิเมะ การ์ตูนฮีโร่ผจญภัย (อย่าง One Piece, Naruto, Dragon Ball ฯ) พระเอกต้องเผชิญหน้าอุปสรรคขวากหนาม ต่อสู้เอาชนะศัตรูผู้มารุกราน พล็อตคล้ายๆเดียวกัน ‘Hero’s Journey’ ที่พอเปลี่ยนพื้นหลังทวีปแอฟริกัน มันช่างดูน่าตื่นตา แปลกใหม่ มนต์เสน่ห์ไม่ซ้ำแบบใคร

จัดเรต pg กับความหน้ามืดตามัวของบิดา จงเกลียดจงชังอะไรบุตรชาย?

คำโปรย | Yeelen นิมิตแห่งแสงสว่างของผู้กำกับ Souleymane Cissé วาดฝันอนาคตอันสดใสให้ประเทศ Mali และทวีปแอฟริกา
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: