Yellow Submarine (1968) : George Dunning ♥♥♥♥♡
คุณอาจต้องสูบมาลีฮวนน่า (กัญชา) ถึงสามารถทำความเข้าใจโคตรภาพยนตร์อนิเมชั่นระดับ Masterpiece เรื่องนี้! ที่สะท้อนชื่อเสียงความสำเร็จของ The Beatles ทำให้พวกเขาราวกับต้องอาศัยจมอยู่ในเรือดำน้ำ รายล้อมด้วยแรงกดดันรอบทิศทาง ไม่สามารถหลบลี้หนีไปไหน ล่องลอยอย่างไร้อิสรภาพเสรี
เพราะความที่สี่เต่าทอง เซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์ไว้ถึงสามเรื่องกับ Unitied Artists แต่หลังเสร็จจาก A Hard Day’s Night (1964) และ Help! (1965) กำกับโดย Richard Lester พวกเขาเกิดความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย เลยบอกผู้จัดการวง Brian Epstein ว่าเพียงพอแล้ว ไม่ขอเล่นหนังอีก! (ผลงานอื่นๆ จะเป็นแนวสารคดีบันทึกเรื่องราวของวง) นั่นทำให้พวกเขาต้องครุ่นคิดหาหนทางออกอื่น ได้ข้อสรุปคือเลี่ยงไปสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นแทน
แต่ใครจะไปคิดว่าความขี้เกียจคร้านของ The Beatles กลับสร้าง ‘ปรากฎการณ์’ ใหม่ให้แก่วงการอนิเมชั่น กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจต่อ John Lasseter หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ PIXAR
“As a fan of animation and as a filmmaker, I tip my hat to the artists of Yellow Submarine. [Their] revolutionary work helped pave the way for the fantastically diverse world of animation that we all enjoy today”.
– John Lasseter
นอกจากนี้ Yellow Submarine ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของอนิเมชั่นแนว Psychedelic เรื่องถัดๆมา อาทิ Fritz the Cat (1972), Fantastic Planet (1973), Waking Life (2001), Mind Game (2004), Paprika (2006) ฯ
เกร็ด: โปสเตอร์ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ติดอันดับ 20 ชาร์ท The 25 Best Movie Posters Ever จัดโดยนิตยสาร Premiere Magazine
ความนิยมอันล้นหลามทั่วโลกของ The Beatles มีการเปรียบเทียบว่าโด่งดังกว่าพระเยซูคริสต์เสียอีก! นั่นทำให้เวลาปรากฎตัวหรือจะออกจากที่พักไปไหน ต้องถูกรายล้อมด้วยแฟนๆ วิ่งไล่กวดติดตาม หรือขณะขึ้นคอนเสิร์ต กลายเป็นว่าดนตรีคืองานรอง เสียงกรี๊ดผู้ชมสยบทุกสิ่ง!
ข่าวลือสะพัดหนาหูช่วงปี 1966 ว่าพวกเขาต้องการจะยุบวง George Harrison ยื่นใบลาออก แต่ถูกผู้จัดการร้องขอไว้ และอนุญาตให้ทั้งวงพักการออกทัวร์เป็นเวลา 3 เดือน แยกย้ายกันไปทำสิ่งที่สนใจ
– John Lennon แสดงภาพยนตร์ How I Won the War (1967) กำกับโดย Richard Lester ทำให้พบเจอว่าที่ภรรยา Yoko Ono
– Paul McCartney ร่วมกับโปรดิวเซอร์ George Martin ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Family Way (1966)
– George Harrison เดินทางไปอินเดีย ร่ำเรียน Sitar จาก Ravi Shankar
– Ringo Starr พักอยู่บ้านกับภรรยาและลูกชาย
เมื่อครบกำหนดพักร้อนหวนกลับมาพบเจอกัน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 1967, McCartney เสนอให้วงทำอัลบัมต่อไปด้วยการสร้าง Alter Ego ของกลุ่มขึ้นมา เพื่อจะได้ทดลองงานเพลงที่ต่างคนต่างมีความใคร่สนใจ และไม่ซ้อนทับภาพลักษณ์เดิมของ The Beatles
“Why don’t we make the album as though the Pepper band really existed, as though Sergeant Pepper was making the record? We’ll dub in effects and things”.
– Paul McCartney
เกร็ด: Sergeant Pepper คือใคร? ทำไมถึงใช้ชื่อนี้? ผมไปค้นพบเจอคำพูดประโยคหนึ่งของ Paul McCartney เลยตระหนักได้ว่าเป็นการเล่นพ้องเสียงกับคำว่า Music Papers
“Music papers started to slag us off … because [Sgt. Pepper] took five months to record, and I remember the great glee seeing in one of the papers how the Beatles have dried up … and I was sitting rubbing my hands, saying ‘You just wait’.”
ขณะเดียวกันนั้นสตูดิโอภาพยนตร์ United Artists เร่งรัดผ่านมาทางผู้จัดการวง Brian Epstein ให้เติมเต็มสัญญาเล่นหนัง 3 เรื่อง นั่นทำให้เขามุ่งสู่สหรัฐอเมริกา มองหาผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ที่สนใจ รวบรวมทีมงานประกอบด้วย
– George Garnett Dunning (1920 – 1979) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติ Canadian ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลงานอนิเมชั่นขนาดสั้นหลายสิบเรื่อง โด่งดังกับ The Apple (1959) คว้ารางวัล BAFTA Awards: Best Animated Film
– Jack Stokes (1920 – 2013) ผู้กำกับอนิเมเตอร์ สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเคยได้รับมอบหมายทำอนิเมชั่นฉายโทรทัศน์ The Beatles (1965), ต่อด้วยทำไตเติลอนิเมชั่นขึ้นก่อนแสดงทัวร์ Magical Mystery Tour ออกอากาศ Boxing Day ปี 1967
– Robert Balser (1927 – 2016) ผู้กำกับอนิเมเตอร์ สัญชาติอเมริกัน ลูกศิษย์ของ Saul Bass ร่วมทำไตเติ้ล Around the World in 80 Days (1956)
– พัฒนาเรื่องราวโดย Lee Minoff, Al Brodax, Jack Mendelsohn, Erich Segal (นักเขียนนิยาย Love Story) และยังได้นักกวี Roger McGough เข้ามาช่วยขัดเกลามุกสำเนียง Liverpudlian
เมื่อได้ทีมงานครบถ้วน Epstein อัญเชิญทุกคนมาให้รับฟังเพลงอัลบัม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจครุ่นคิดหาข้อสรุปเรื่องราว กลายมาเป็นเมืองใต้ทะเล Pepperland และความจำต้องที่มีบทเพลงใหม่ๆเพิ่มเข้าไปด้วย Lennon–McCartney เลยแต่ง Yellow Submarine เพื่อใช้เป็นชื่อผลงาน/อัลบัมลำดับถัดไป
เกร็ด: ในบทสัมภาษณ์ของ Paul McCartney อธิบายถึง Yellow Submarine แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนาน บทเพลงสำหรับเด็กๆ ‘Children Song’ คงดีไม่น้อยถ้ามีโอกาสอยู่ในเรือดำน้ำสีเหลืองร่วมกันเพื่อนๆทั่งวง
“‘Yellow Submarine’ is very simple but very different. It’s a fun song, a children’s song. Originally we intended it to be ‘Sparky’ a children’s record. But now it’s the idea of a yellow submarine where all the kids went to have fun. I was just going to sleep one night and thinking if we had a children’s song, it would be nice to be on a yellow submarine where all your friends are with a band”.
– Paul McCartney
Pepperland คือดินแดนแห่งคนรักเสียงเพลง หลบซ่อนเร้นอยู่ใต้ทะเลลึก ได้รับการปกปักษ์อารักขาโดย Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band และมีเรือดำน้ำ Yellow Submarine จอดอยู่ตรงยอดพีระมิด คือยานพาหนะลำเดียวสำหรับเดินทางสู่โลกภายนอก
เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มชน Blue Meanies ผู้รังเกียจเสียงดนตรี ลงมาจากเทือกเขา Blue Mountain เข้าโจมตีพลเมือง Pepperland กักขัง Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ไว้ในครอบแก้ว เป็นเหตุให้ Lord Mayor มอบหมายให้อดีตกะลาสี Old Fred ออกเดินทางด้วย Yellow Submarine เพื่อขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก
ถึงสี่ตัวละครหลักจะคือสี่เต่าทอง แต่พวกเขาไม่ได้มาพากย์เสียงให้นะครับ เพราะต่างไม่ประทับใจในอนิเมชั่นซีรีย์ The Beatles (1965) เลยไม่ครุ่นคิดว่าจะออกมาดี ต้องการแค่เติมเต็มสัญญากับ United Artists เท่านั้นเอง
– John Clive พากย์เสียง John Lennon
– Geoffrey Hughes พากย์เสียง Paul McCartney
– Paul Angelis ให้เสียงบรรยาย, Chief Blue Meanie, Ringo และ George
– Dick Emery ให้เสียง Max, Lord Mayor และ Jeremy Hillary Boob
แซว: นอกจากไม่มีผู้หญิง นักพากย์ยังต้องให้เสียงหลายตัวละคร งบประมาณคงไม่เพียงพอแน่ๆ
แต่หลังจากสี่หนุ่มได้รับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก เลยตบปากมาปรากฎตัวช่วงท้าย ขับร้องเพลง All Together Now ถ่ายทำวันที่ 25 มกราคม 1968 ก่อนออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตยังประเทศอินเดีย
การออกแบบตัวละครของ The Beatles ไม่ได้คัดลอกเลียนอนิเมชั่น The Beatles (1965) ซึ่งมีความกิ๊กก๊อกพอสมควร แต่อ้างอิงจาก Music Video ชื่อ Strawberry Fields Forever เว้นเพียง Paul ที่ไม่มีหนวด
The Beatles (1965) ฉบับฉายโทรทัศน์
ออกแบบตัวละครใน Yellow Submarine (1968) โดย Heinz Edelmann (1934 – 2009) นักออกแบบ ดีไซเนอร์ สัญชาติ Czechoslovakia
ตัวแบบอย่าง Music Video บทเพลง Strawberry Fields Forever (1967)
Blue Meanies ชนเผ่าที่โกรธเกลียดเสียงดนตรี ถือว่าเป็นตัวแทนผู้ชั่วร้ายของโลกใบนี้ ออกแบบโดย Heinz Edelmann ที่ไม่ชื่นชอบ Mickey Mouse อย่างมาก เลยสรรค์สร้างตัวละครให้มีลักษณะตรงกันข้าม ผิวสีน้ำเงิน สวมใส่แว่น/หน้ากากดำรอบตา โดยเฉพาะหมวก (แลดูเหมือน Mickey Mouse) แถมเพิ่มนิ้วเป็นหก ฟันเหลือง และจมูกยาวมากๆ
สมุนเอกของ Blue Meanie คือ GLOVE ถุงมือที่มีดวงตาและปาก พลังสามารถจิ้ม ทุบ ทำลายสิ่งข้าวของชาว Pepperland ให้สงบนิ่ง แข็งทึ่มทื่อ พยายามชี้นำหนทางให้ใครๆต้องเห็นพ้อง คล้อยตาม ซึ่งไฮไลท์เมื่อเฉลยนัยยะแท้จริงของสิ่งมีชีวิตนี้ เป็นอะไรที่น่าทึ่ง มหัศจรรย์ใจไม่น้อย
กล่าวคือ GLOVE เป็นตัวแทนของบุคคลผู้ชอบจ้ำจี้จ้ำไช ควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำใครๆให้ดำเนินเดินตามทิศทางความต้องการส่วนตน วิธีเอาชนะคนนิสัยแบบนี้ ก็คือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มอบ LOVE ไปให้กับพวกเขา คาดหวังว่าสักวันหนึ่งคงสามารถครุ่นคิดได้ การไปบีบบังคับผู้อื่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย
ตัวละครที่ถือว่าแย่งซีนสุดๆแบบไม่พูดถึงไม่ได้ Jeremy Hillary Boob, Ph.D. (พากย์เสียงโดย Dick Emery) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านปรัชญา, ฟิสิกส์, พืชศาสตร์, เล่นเปียโน, นักเขียนล้อเลียน, หมอฟัน ฯ แถมยังชอบพูดถ้อยคำสัมผัสบทกวี เพราะเหตุนี้ทำให้เขาไร้พรรคเพื่อนฝูง อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือโดย Ringo Starr ชักชวนมาให้ออกเดินทางสู่ Pepperland ด้วยกัน
ตัวละครนี้แม้ผิวสีน้ำเงิน แต่ก็ไม่น่าใช่ Blue Meanies เป็นการสะท้อนจิตใจที่แสนเวิ้งว้างว่างเปล่า ชุดสวมใส่ก็โทนสีเดียว ไม่มีอะไรงามตาให้น่าพูดถึง นอกจากคำสนทนาประดิษฐ์ประดอย งามชดช้อยสำเนียง Liverpudlian
ความติสต์แตกของตัวละครนี้ก็คือ พูดว่าจะเขียน Footnote แล้วก็ใช้เท้าเขียนจริงๆ
ความที่อนิเมชั่นเรื่องนี้มีทั้งทุนจำกัด และระยะเวลาโปรดักชั่นเพียง 11 เดือน (ถ้าเป็นผลงานของ Disney เรื่องๆหนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี) นั่นทำให้ผู้สร้างต้องครุ่นคิดหาวิธีการ ทำอย่างไรให้ประหยัดงบประมาณ และใช้เวลาทำงานให้น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้หลายๆฉากจึงมีความแปลกแหวกแนว ‘Minimalist’ ผสมผสานรูปภาพถ่ายจากสถานที่จริง ดินแดนต่างๆมักไม่ค่อยมีพื้นหลังสวยๆ (นอกเสียจาก Pepperland) ไร้ซึ่งการจัดแสงเงา อนิเมชั่นมีเพียงระนาบสองมิติ (เพราะสามารถทำอนิเมชั่นได้ง่ายกว่า) และอัตราเร็วภาพ Frame Rate น่าจะแค่ 10-15 fps
“Once upon a time, or maybe twice, there was an unearthly paradise called Pepperland. Eighty thousand leagues beneath the sea it lay, or lie. I’m not too sure”.
Pepperland ถูกเปรียบเทียบว่าคือดินแดนที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ (ก้นเบื้องลึกสุดของท้องทะเล) สิ่งมีชีวิตแบ่งออกเป็นสองเผ่าพันธุ์ คนปกติและ Blue Meanies ต่างเป็นศัตรูคู่ขัดแย้ง ปกติแล้วไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วม จนกระทั่งการเข้ามาถึงของ The Beatles ดนตรีสานสัมพันธ์ ก่อเกิดความสงบสุขชั่วนิรันดร์
การรุกรานของ Blue Meanies ทำให้มนุษย์มีสภาพแข็งทื่อเหมือนหิน สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ แต่มีความเชื่องช้า ไร้จิตวิญญาณ ซึ่งและดูคล้ายภาพวาดงานศิลปะของ Gustav Klimt
สำหรับผลแอปเปิ้ลสีเขียว (Apple Bonkers) เหมือนว่าจะได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Le fils de l’homme (1964) ของ René Magritte (1898-1967) สัญชาติ Belgian แนว Surrealist สื่อนัยยะถึงการหลบซ่อนตัว ปกปิดบัง ไม่เปิดเผยตัวตนธาตุแท้จริงออกมา ซึ่งพอ Blue Meanies นำมาโยนใส่มนุษย์ ทำให้พวกเขาแข็งทื่อกลายเป็นหิน หรือจิตวิญญาณสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
เกร็ด: มีผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหลายคน กล่าวถึงงานศิลป์ของอนิเมะมีลักษณะคล้ายคลึงผลงานของ Peter Max แต่เจ้าตัวยืนกรานว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับโปรเจค น่าจะเป็นอิทธิพลรายล้อมยุคสมัย 60s เสียมากกว่า
Yellow Submarine ได้รับการตีความหลากหลาย เพราะท่อนคำร้อง “We all live in a yellow submarine” สะท้อนถึงสัญลักษณ์การเดินทาง ผจญภัย มีชีวิตพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ซึ่งเข้ากับวิถีของสมาชิก The Beatles ได้เป็นอย่างดี
สีเหลือง มีลักษณะตรงกันข้ามกับน้ำเงิน หมายถึงอารมณ์แห่งความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง บรรยากาศอบอุ่น ซึ่งบางนัยยะเมื่อเสพกัญชา จะทำให้ล่องลอยไปไกลอย่างไร้จุดเป้าหมาย
ก็มีบ้างที่จินตนาการเพ้อถึง Yellow Pill (ยาคลายเครียด) หรือสัญลักษณ์ของสงคราม ชักนำพาความสงบสุขให้หวนกลับคืนสู่ผืนแผ่นดิน … แต่ The Beatles ยืนกรานว่าไม่ได้มีนัยยะอะไรลึกซึ้งถึงขนาดนั้น
เกร็ด: มีการสร้างโมเดล Yellow Submarine เลียนแบบอนิเมชั่นเรื่องนี้ (แต่ก็ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่นะ) ความยาว 15.6 เมตร สูง 4.57 เมตร น้ำหนัก 18 ตัน ออกแบบโดย Mr L Pinch เมื่อปี 1984 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Liverpool John Lennon Airport
Liverpool ประเทศอังกฤษ ยุคสมัยนั้นในมุมมองของอนิเมชั่น ไม่ใช่สถานที่น่าอาศัยอยู่สักเท่าไหร่ ก็ดูจากการร้อยเรียงภาพถ่าย(สถานที่จริง) ที่สะท้อนผลกระทบจากยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม เต็มไปด้วยความสกปรก โสโครก ถูกทอดทิ้งขว้าง แทบไม่เหลือแสงสว่างให้รู้สึกอบอุ่น พักผ่อนคลาย แถมการขยับเคลื่อนไหวมักเวียนวนซ้ำไปซ้ำมา ขาดซึ่งชีวิตชีวา จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์หลงเหลือ
Paul McCartney แต่งบทเพลง Eleanor Rigby อุทิศให้หญิงชราคนหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งให้อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย มีสภาพไม่ต่างจากประเทศอังกฤษยุคสมัยนั้น ไม่มีใครล่วงรับรู้ว่าอนาคตจะดำเนินไปเช่นไร
ลองเดากันสิว่าทีมฟุตบอลอะไร … คำตอบให้ทำแถบดำในช่อง ชุดแดงคือ [Liverpool] vs. ชุดน้ำเงิน [Everton]
หลายๆการออกแบบของอนิเมชั่น ได้แรงบันดาลใจจาก Saul Steinberg (1914 – 1999) นักออกแบบ/วาดการ์ตูน สัญชาติ Romanian ที่มาโด่งดังในสหรัฐอเมริกา
อย่างคฤหาสถ์หลังใหญ่โตขึ้น เต็มไปด้วยประตูที่ก็ไม่มีใครล่วงรับรู้ว่า ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร? ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตากรรม ชักนำพาให้พานพบเจอผู้กอบกู้โลก
Ringo คือบุคคลแรกที่พานพบเจอ Old Fred เพราะตระหนักรู้ตัวได้ว่าถูก Yellow Submarine ติดตามตัวมา จึงรีบวิ่งเข้ามาหลบในคฤหาสถ์ ขับรถเปิดประทุนหรูหราเข้ามารับ … ไม่รู้เหมือนกันว่ามีนัยยะแฝงอะไร
เห็นใครกันบ้างในช็อตนี้ Marilyn Monroe, Buffalo Bill, Mandrake the Magician, The Phantom, John Steed, Linda Thorson (The Avengers Series)
ไฮไลท์ถัดจากช็อตนี้คือ Frankenstein ซึ่งกลายร่างเป็น John Lennon สะท้อนถึงสถานะของเขาขณะนั้น ไม่ต่างจากหุ่นที่ขยับเคลื่อนไหวด้วยกระแสไฟฟ้า
ซีนแรกของ George Harrison นี่ตรงตัวเลยนะ เปิดเข้ามาเห็นนั่งอยู่ท่ามกลางความเป็นอินเดีย พร้อมเสียง Sitar ดังลอยมาแต่ไกล
คนสุดท้าย Paul เหมือนว่าจะงบหมด เปิดประตูได้ยินเพียงเสียงปรบมือ กรี๊ดกร๊าด เพื่อนๆถกเถียงกันว่าใช่ไม่ใช่ เสร็จแล้วก็เดินออกมาคำตอบคือใช่
เมื่อการเดินทางเริ่มขึ้น มีทั้งหมด 5 ทะเล ที่ทั้ง 5 ต้องพานผ่านก่อนไปถึง Pepperland
Sea of Time สถานที่ซึ่งเวลาเคลื่อนที่ไป-กลับ ทำให้ The Beatles จากปัจจุบันย้อนกลายเป็นเด็ก ต่อด้วยแก่ชราผมขาวหงอกโพลน ซึ่งจะมีการนับถอยหลังจาก 1 ถึง 64 (บทเพลง When I’m Sixty-Four), ผมคิดว่านัยยะของท้องทะเลนี้ ต้องการสื่อว่า ‘อายุแค่เพียงตัวเลข’ ภาพลักษณ์เปลือกนอกก็เช่นกัน สามารถเปลี่ยนแปรผันไป แต่จิตใจของคนเราต่างหากยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
Sea of Science (บทเพลง Only a Northern Song) คือทะเลที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ใดๆ อะไรบังเกิดขึ้นก็เป็นไป ตามเนื้อคำร้องเพลงที่ว่า
“If you’re listening to this song
You may think the chords are going wrong
But they’re not
We just wrote them like that”
Sea of Monsters ท้องทะเลที่ทำให้ Ringo กดปุ่ม ‘Panic’ ถูกถีบตัวออกจากเรือดำน้ำ พานพบเจอสัตว์ประหลาดมากมายเต็มไป ซึ่งสะท้อนได้ถึงตัวตน ธาตุแท้ของมนุษย์ มีรูปร่างลักษณะพิลึกพิลั่นแตกต่างกันออกไป
ตัวที่ถือว่าน่าประทับใจสุดมีชื่อว่า Vacuum Man ปากของมันดูดกลืนกินทุกสิ่งอย่าง ใครๆต่างพยายามหลบลี้หนี แม้แต่ Yellow Submarine ก็ไม่สามารถหลุดรอดพ้น จนท้ายที่สุดเมื่อไม่หลงเหลือใคร ‘งูกินหาง’ ก็รับประทานตนเองไป, เป็นตัวที่สะท้อนความโลภละโมบ บริโภคนิยมของมนุษย์ ตะกละตะกลาม แดกมันทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนอะไร สุดท้ายแม้แต่ตัวตนเองก็ไม่ละเว้น
Sea of Nothing ท้องทะเลแห่งความว่างเปล่า นี่เองทำให้พบเจอ Jeremy Hillary Boob Ph.D. (ขับร้องเพลง Nowhere Man) ชักชวนมาร่วมออกเดินทางไปด้วยกัน
Foothills of the Headlands ดินแดนที่เต็มไปด้วยศีรษะ (ขับร้องเพลง Lucy in the Sky with Diamonds) เพราะมนุษย์มากด้วยความครุ่นคิด ไอเดียบรรเจิดหลากหลาย ไม่มีใครเหมือนกัน ถือเป็นทะเลที่สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายใน ‘ตัวตน’ ความแตกต่างของคนออกมา
ผู้กำกับ George Dunning มีความเชี่ยวชาญทำอนิเมเตอร์บนกระจก (มากกว่าบน Traditional Cels) ทั้ง Sequence นี้ถือว่าขายเทคนิคของตนเองโดยเฉพาะ
ลองทายกันสิว่า ชาย-หญิงที่กำลังเต้นรำอยู่นี้คือใคร [Fred Astaire กับ Joan Crawford เรื่อง Dancing Lady (1933)]
จับพลัดจับพลูมาตกอยู่ Sea of Holes ทะเลที่เต็มไปด้วยรูมากมายไม่รู้จักสิ้นสุด แต่ตราบใดสามารถมองกลับหัวกลับหา ก็จะค้นพบเจอหนทางออก
ทะเลแห่งนี้ น่าจะสะท้อนถึงจุดบกพร่อง ความผิดพลาด ช่องโหว่ที่มองไม่เห็น (โดนภาพลวงหลอกตา) ซึ่ง Jeremy Hillary Boob Ph.D. ก็ได้ถูกลักพาตัวไป และไฮไลท์คือ Ringo เก็บรูยัดใส่กระเป๋า
“I’ve got a hole in my pocket”.
การมาถึง Pepperland ของ The Beatles ทำให้ช็อตนี้ จากภาพที่เคยเหือดแห้งแล้ง กลับมาเขียวขจีสดใสขึ้นอีกครั้ง (สังเกตว่ามี จิตรกรยืนอยู่ด้านซ้ายสุดของภาพ)
ผมคิดว่าศีรษะใหญ่ๆที่สี่หนุ่มยืนบนหมวก น่าจะสื่อถือ Sgt. Pepper กระมัง?
การพบเจอกันระหว่าง The Beatles กับ Alter Ego ของพวกเขา Sgt. Pepper ถือได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากับตนเอง อดีต-ปัจจุบัน หนุ่มไร้หนวด-สูงวัยขึ้นมาอีกนิดมีหนวด เมื่อสามารถเห็นพ้องอะไรๆต่อกัน ย่อมสามารถต่อสู้เอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง
Hey Bulldog (หรือ Blue Dog) เป็นซีนที่ ‘Anti-Climax’ อย่างยิ่งเลย เพราะ The Beatles เพิ่งช่วยเหลือ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ได้สำเร็จ กลับมาพบเจออะไรไร้สาระ ไร้เหตุผลเช่นนี้
นั่นทำให้เฉพาะฉบับฉายสหรัฐอเมริกา มีการบันทึกเพลงใหม่ Baby, You’re a Rich Man ขับร้องโดย Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band เพื่อทำการขอบคุณ Ringo ที่พกรูในกระเป๋า ทำให้สามารถหลุดออกจากฟองแก้วได้สำเร็จ
เมื่อมนุษย์เรียนรู้จักที่จะมอบ ‘ความรัก’ ให้กัน สันติภาพจะถือกำเนิดขึ้นบนโลก และเบ่งบานไปถึงสรวงสวรรค์
ช่วงนี้ละครับที่งานภาพดูมึนๆ เมาๆ นำเอาลักษณะของ Psychedelic สร้างความลวดลายตา ซ้อนไปสลับกันมา กลมกล่อมแต่ไม่กลมกลืน … แล้วใครกันยืนอยู่ตำแหน่งสูงสุดของพีระมิดกัน?
ผมอุตส่าห์ลุ้นว่าจะมีภาษาไทยไหม รวมแล้ว ‘All Together Now’ ปรากฎขึ้น 27 ครั้ง จาก 16 ภาษา ไล่เรียงดังนี้ English, French, German, Spanish, Chinese, Italian, Hebrew, Greek, Swedish, Russian, Japanese, English, Greek, Italian, Dutch, Arabic, Spanish, Farsi, Swahili, Sanskrit, French, Hebrew, Swedish, Chinese, German, Japanese, English
สำหรับเพลงประกอบก็ต้องเริ่มจาก Yellow Submarine ถือว่าเป็นลูกของ Paul McCartney (แต่ในเครดิตจะเขียนว่าแต่งคู่กับ Lenon) ขับร้องโดย Ringo Starr จังหวะ-ท่วงทำนองมีความเชื่องช้า (เหมือนคนเมายา) แต่ก็ฟังได้เพลิดเพลินผ่อนคลาย ซึ่งระหว่างนั้นจะได้ยินเสียง Sound Effect มากมาย อาทิ ชนแก้ว, ผิวปาก, สายลมพัด, สายน้ำไหล, ฟ้าผ่า, เครื่องแคชเชียร์, เต้นแท็ปแดนซ์ ฯ ซึ่งล้วนเป็นการบันทึกสดๆพร้อมกันไปเลย นี่เองแหละที่สร้างความ Avant-Garde ให้กับบทเพลงนี้กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของ The Beatles
เกร็ด: บทเพลงนี้มียอดขาย 1.2 ล้านก็อปปี้ใน 4 สัปดาห์ ได้รับ Gold Record แซงหน้าสถิติสร้างโดย Elvis Presley แต่กลับไต่ขึ้นสูงสุดเพียงอันดับ 2 ชาร์ท Billboard Hot 100
เกร็ดเพลง Eleanor Rigby:
– นอกจากเสียงร้องนำโดย Paul McCartney ดนตรีคือเครื่องสาย ไวโอลิน เชลโล่ ไม่มีกีตาร์หรือกลองใดๆประกอบ
– มีคำเรียกแนวเพลงลักษณะนี้ว่า Baroque Pop
– ชื่อ Eleanor มาจาก Eleanor Bron นักแสดงที่ร่วมงานกับ The Beatles ภาพยนตร์เรื่อง Help! (1965) ซึ่งขณะนั้นเพิ่งหน้าใหม่ในวงการ ยังถือว่าอ่อนวัยต่อโลกอยู่มาก
– Rigby ได้แรงบันดาลใจจากชื่อร้าน Rigby & Evens Ltd, Wine & Spirit Shippers
– ส่วนชื่อ Father Mackenzie ในคำร้องเพลง เกิดจาก Paul เปิดหาในสมุดปกเหลือง (สมุดโทรศัพท์)
Eleanor Rigby เป็นบทเพลงที่ไม่มีผู้ฟังสมัยนั้นคาดคิดมาก่อนจะได้ยินจาก The Beatles ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย โดดเดี่ยวเดียวดาย อ้างว้าง หมดสิ้นหวัง นั่นทำให้ติดอันดับ 1 ชาร์ท UK Singles Chart ถึง 4 สัปดาห์ แต่ Billboard Hot 100 สูงสุดแค่อันดับ 11
Nowhere Man แต่งโดย John Lennon ถือเป็นบทเพลงแรกของ The Beatles ที่ไม่เกี่ยวกับความรัก โรแมนติก แฝงปรัชญาถึงการมีตัวตน
“I’d spent five hours that morning trying to write a song that was meaningful and good, and I finally gave up and lay down. Then ‘Nowhere Man’ came, words and music, the whole damn thing as I lay down”.
– John Lennon
บทเพลงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ John Lennon กับสไตล์เพื่อชีวิต แฝงปรัชญา ค้นหาตัวตนเอง เพราะยังเป็นการทดลองเลยไต่อันดับได้เพียงที่ 3 ชาร์ท Billboard Hot 100
Lucy in the Sky with Diamonds คือบทเพลงแนว Psychedelic Rock แต่งโดย John Lennon ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของลูกชายวัยสามขวบ เขียนใต้ข้อความว่า “Lucy – in the Sky with Diamonds”
“I don’t know why I called it that or why it stood out from all my other drawings, but I obviously had an affection for Lucy at that age. I used to show Dad everything I’d built or painted at school, and this one sparked off the idea”.
– John Lennon
อีกแรงบันดาลใจของบทเพลงนี้ นำจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Alice in Wonderland (1865) ของ Lewis Carroll บท Through the Looking Glass
“It was Alice in the boat. She is buying an egg and it turns into Humpty-Dumpty. The woman serving in the shop turns into a sheep and the next minute they are rowing in a rowing boat somewhere and I was visualizing that”.
มีคนช่างสังเกตว่าชื่อบทเพลงนี้ ถ้าเขียนเป็นอักษรย่อจะได้ว่า LSD ชื่อยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่ง John Lennon ให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่ใช่ความตั้งใจ แต่ Paul McCartney บอกว่าเขาเสพไปแต่งเพลงนี้ไป ผลลัพท์ก็เลยออกมาลอยๆ บินได้แบบนี้แหละ
ผลลัพท์ของข่าวลือดังกล่าว ในประเทศอังกฤษเลยถูกแบน แต่ Billboard Hot 100 กลับขึ้นอันดับ 1
หนึ่งในบทเพลงฮิตที่สุดของ The Beatles คือ All You Need Is Love แต่งโดย John Lennon ขึ้นในโอกาสพิเศษ ครั้งแรกของโลกถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตผ่านดาวเทียม 25 ประเทศ ประมาณการผู้ชมกว่า 400 ล้านคน! ด้วยส่วนผสมของ Pop กับ Psychedelic Rock ด้วยเนื้อหาสะท้อนสิ่งสำคัญสุดของมวลมนุษยชาติ ‘ความรักชนะทุกสิ่งอย่าง’ จนมีคำเรียกอิทธิพลบทเพลงนี้ว่า ‘flower power’
ทำนองเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaises ดังขึ้นต้นบทเพลงนี้นั้น คงเป็นความต้องการสะท้อนย้อนแย้งการใช้อำนาจของ ปธน. Charles de Gaulle ผู้เลื่องลือชาว่าปกครองประเทศอย่างเข้มงวด ใช้กำลังรุนแรงกับกลุ่มประท้วงต่อต้านไม่เห็นด้วย ความรักเท่านั้นจะสามารถใช้แก้ปัญหาดังกล่าว
ช่วงท้ายของบทเพลงจะมีการร้อยเรียง Medley หนึ่งในนั้นที่ผมจดจำท่วงทำนองแซกโซโฟนได้คือ Glenn Miller: In the Mood คงเพื่อจะสะท้อนอารมณ์แห่งความปลื้มปีติยินดีละมัง
All You Need Is Love ติดอันดับ 1 แทบทุกชาร์ทเพลงบนโลก รวมไปถึง Billboard Hot 100 และ UK Single Chart, ยอดขายในอเมริกา Gold Record เกินหนึ่งล้านก็อปปี้, นิตยสาร Rolling Stone จัดอันดับ 370 ชาร์ท ‘500 Greatest Songs of All Time’
ปรากฎการณ์ The Beatles ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจบทเพลงของพวกเขา ไม่ว่าเนื้อหาสาระจะเป็นเช่นไร ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนแปลงจิตใจ ลดความขัดแย้ง สงคราม และเมื่อใดสามารถมอบความรักแก่กัน สันติภาพความสงบสุขย่อมบังเกิดขึ้นบนโลก
แต่นั่นเป็นสิ่ง ‘เพ้อฝัน’ โดยแท้ เพราะแม้แต่ John Lennon ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าที่จะถูกฆาตกรรมเมื่อปี 1980 แสดงความครุ่นคิดเห็นของตนช่างไร้เดียงสายิ่งนัก
“Maybe in the Sixties we were naive and like children and later everyone went back to their rooms and said, ‘We didn’t get a wonderful world of flowers and peace.’ … Crying for it wasn’t enough. The thing the Sixties did was show us the possibility and the responsibility we all had”.
– John Lennon, 1980
ความรัก ไม่ใช่สิ่งที่จักทำให้โลกพานพบความสงบสันติสุขหรอกนะครับ สาเหตุเพราะ ‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นย่อมมีทุกข์’ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความสุขกับผู้อื่น ก็ใช่ว่าเขาจะเห็นพ้องตอบสนองเรา บางทีให้มาก-น้อยไป เกิดความอิจฉาริษยาตาร้อนขึ้นอีก สัจธรรมความจริงคือต้องมีสิ่งสองขั้วตรงข้ามคู่กันเสมอ
นั่นเองทำให้ผมมอง Yellow Submarine คือการดำดิ่งสู่โลกแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน (หลังการเสพกัญชา) ทำให้ล่องลอย เพ้อเจ้อ ไร้สาระ จินตนาการถึงสิ่งดีๆที่ไม่มีวันเกิดขึ้น หลบหลีกหนีการเผชิญหน้าความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย
ค่านิยมการเสพกัญชาของคนยุค 60s ก็เช่นกันนะ (พวกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ก็เฉกเช่นกัน) แทบทั้งนั้นด้วยสาเหตุผล ‘Escapist’ ต้องการหลบหลีกหนีโลกความเป็นจริง ด้วยข้ออ้างสูบเข้าไปทำให้โบกโบยบิน ได้รับอิสรภาพเสรี … แท้จริงแล้วคือการหลอกตนเองทั้งนั้น!
แต่มันผิดอะไรที่จะเพ้อใฝ่ฝัน เพราะนี่คือผลงานศิลปะ ภาพยนตร์ อนิเมชั่น นำเสนอจินตนาการผู้สร้าง สะท้อนตัวตนอุดมการณ์ อยากพานพบเจอความสงบสันติสุข ย่อมต้องมีผู้ชมที่สามารถรับเรียนรู้ ทำให้โลกเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีขึ้น
ชื่อเสียง ความสำเร็จอันบ้าคลั่งของ The Beatles ก็เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งคือตำนานเหนือกาลเวลา อีกด้านหนึ่งคือชีวิตที่ไร้อิสรภาพ เต็มไปด้วยความเก็บกดดันถาโถมรอบทิศทาง มันคงสนุกสนานตื่นเต้าเร้าใจในปีแรกๆ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งพวกเขาก็รับล่วงรู้ตนเอง นั่นไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างของชีวิต และจุดจบของวงอีกไม่นานก็จักดำเนินมาถึง
ด้วยทุนสร้างเพียง £250,000 ปอนด์ (=$630,000 เหรียญ) ถือว่าต่ำมากๆเมื่อเทียบทุนสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Walt Disney รายรับเท่าที่มีรายงานคือ $1.27 ล้านเหรียญ ดูแล้วไม่น่าจะขาดทุนเพราะทำให้อัลบัม Yellow Submarine และ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้ผู้กำกับ George Dunning ไม่คิดเคยสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวอีกเลย กลายเป็น Masterpiece เรื่องแรกเรื่องเดียวในชีวิต
อนิเมชั่นได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K และมีการปรับคุณภาพ Soundtrack กลายเป็น 5.1 Stereo วางขาย DVD/Blu-Ray เมื่อเดือนพฤษภาคม 2012 ใครมีลำโพงเจ๋งๆ น่าจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
เกร็ด: เมื่อปี 2009 สตูดิโอ Disney และ Apple Corps จับมือกันที่จะสร้างใหม่ (Remake) อนิเมชั่นเรื่องนี้ให้กลายเป็นสามมิติ โดยผู้กำกับ Robert Zemeckis ที่เป็นแฟนตัวยงของ The Beatles แต่อีกสามปีถัดมาโปรเจคก็ล่ม เพราะผลลัพท์ของ A Christmas Carol (2009) และ Mars Needs Moms (2011) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่
“That would have been a great one to bring the Beatles back to life. But it’s probably better not to be remade – you’re always behind the 8-ball when you do a remake”.
– Robert Zemeckis
ทีแรกผมไม่ได้ชื่นชอบ Yellow Submarine สักเท่าไหร่หรอกนะ (เพราะยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับอะไร) กระทั่งดำเนินมาถึงบทเพลง All You Need Is Love เกิดความกระจ่างแจ้ง ร้องอ๋ออออ ตกหลุมรักอนิเมชั่นเรื่องนี้โดยพลัน เจ๋งว่ะ! ครุ่นคิดได้ยังไง
ในบรรดาสามผลงานของ The Beatles กับ United Artists ไล่เรียงความชื่นชอบ Yellow Submarine (1968) >= A Hard Day’s Night (1964) >> Help! (1965)
เนื่องจากกระแส ‘สายเขียว’ กำลังมาแรงในเมืองไทย ผมเลยอยากจะลองแนะนำให้ใครที่สามารถหาซื้อมาลิ้มลองสูบเสพเองได้ ดูดกัญชาแล้วรับชมภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ดู จะสามารถเข้าใจอะไรๆเพิ่มขึ้น … หรือเปล่า?
จัดเรตทั่วไป เด็กๆดูได้แต่ไม่รู้จะเข้าใจหรือเปล่านะ
Leave a Reply