Yentl (1983) : Barbra Streisand ♥♥♡
ถึง Steven Spielberg จะยกย่องหนังเรื่องนี้ว่า ‘การกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกดีที่สุดตั้งแต่ Citizen Kane (1941)’ ทั้งยังทำให้ Barbra Streisand กลายเป็นผู้หญิงคนแรกคว้ารางวัล Golden Globe: Best Director กระนั้นความพิลึกพิลั่นของเรื่องราว ก้าวล้ำเส้นเหมาะสมไปสู่ความไม่รู้จักสิ้นสุด ทำให้อุดมการณ์ เป้าหมาย ทุกสิ่งอย่าง พังทลายป่นปี้ย่อยยับเยินลงในพริบตา
เรื่องราวมีอยู่ว่า หญิงสาวชื่อ Yentl (รับบทโดย Barbra Streisand) เพราะความที่เกิดในยุคสมัยผู้ชายยังเป็นใหญ่ เดินนำช้างเท้าหน้า แถมยังอ้างคำพระศาสนา ‘สตรีไม่มีสิทธิ์เสนอหน้า เรียนรู้ แสดงความคิดเห็นโต้ตอบ ขัดแย้งเห็นต่าง หรือได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ’ เธอเลยตัดสินใจปลอมตัวเป็นชาย แอบเข้าไปร่ำเรียนหนังสือ ตกหลุมรักเพื่อนสนิทคู่ขา แต่โชคชะตาจับพลัดให้แต่งงานกับแฟนสาวของเขา
งงไหมเอ่ย? หญิงปลอมตัวเป็นชาย ตกหลุมรักเพื่อนชาย แล้วแต่งงานกับแฟนเพื่อนที่เป็นผู้หญิง … คือก็ไม่ได้ตีฉิ่งกันหรอกนะ แค่ว่า Yentl พยายามปกปิดบังความเป็นหญิงของตนเอง ก้าวข้ามผ่านสถานะเพศสภาพ ทำในสิ่งขัดแย้งต่อขนบวิถีปฏิบัติทางสังคม แต่สุดท้ายแล้วไม่รู้เพราะความหวาดกลัวหรือยังไง เธอจึงมิอาจบากหน้ารับไหวต่อสภาพความเป็นจริง เลิกหลอกตนเองแล้วตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หนีไปเริ่มต้นใหม่ยังดินแดนแห่งความฝันอันห่างไกล
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Yentl คือความขัดแย้งระหว่างขนบวิถี/ความเชื่อสังคม ต่อความต้องการภายในจิตใจหญิงสาว เพ้อวาดฝันดั่งนกโบยบินอิสระเสรี แต่ตราบใดตัวเรายังคุมขังตนเองยืนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ย่อมไม่มีวันได้รับโอกาสนั้นอย่างแน่นอน
Barbara Joan Streisand (เกิดปี 1942) นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews แม่เคยเป็นนักร้อง Soprano จะถือว่าตกทอดมาถึงลูกสาวคงไม่ผิดอะไร ตั้งแต่เด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นผู้มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จ
“I always wanted to be somebody, to be famous . . .You know, get out of Brooklyn”.
ตั้งแต่อายุ 14-15 เริ่มพยายามเสาะแสวงหาโอกาสให้กับตนเอง แม้น้ำเสียงลูกคอจะได้ แต่ร่างกายวัยวุฒิยังเด็กเกินไป ค่อยๆดิ้นรนไขว่คว้าค้นหา จนกระทั่งมีโอกาสร้องเพลงในไนท์คลับแห่งหนึ่ง แค่ค่ำคืนแรกก็ได้รับการจับตาโดยทันที จนมีโอกาสออกรายการทีวี แสดงละครเพลง Broadway ออกอัลบัมแรก The Barbra Streisand Album (1963) คว้าสามรางวัล Grammy Awards
สำหรับผลงานสร้างชื่อในด้านการแสดง คือละครเพลง Broadway เรื่อง Funny Girl ซึ่งได้กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Funny Girl (1968) คว้ารางวัล Oscar: Best Actress เรียกว่าอนาคตในทุกๆวงการ เปิดกว้าง เจิดจรัสจร้าสำหรับเธอ
หลังเสร็จจาก Funny Girl ความใฝ่ฝันของ Streisand อยากรับบทแสดงนำภาพยนตร์ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Yentl: The Yeshiva Boy (1968) แต่งโดย Isaac Bashevis Singer (1902 – 1991) นักเขียนสัญชาติ Polish-American เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Literature ได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาตั้งแต่ปี 1969 มอบหมายให้ผู้กำกับ Ivan Passer สัญชาติ Czechoslovakian พัฒนาบทภาพยนตร์ ตั้งชื่อว่า Masquerade แต่ด้วยความรู้สึกว่า Streisand มีวัยวุฒิและชื่อเสียงโด่งดังเกินไป เลยตัดสินใจถอนตัวออกมา
ต่อมา Leah Napolin นำเรื่องสั้นดังกล่าวพัฒนาเป็นละครเวที Broadway เริ่มทำการแสดง 15 ตุลาคม 1975 ที่ Eugene O’Neill Theatre ทั้งหมด 223 รอบการแสดง ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง (Streisand ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับฉบับนี้)
ส่วนหนึ่งอาจเพราะความสำเร็จของละครเวที หลังจากเสร็จสิ้น A Star Is Born (1976) ทำให้ Streisand กลับมากระตือรือร้นในโปรเจคนี้อีกครั้ง แต่เริ่มรู้ตัวเองแก่เกินไปสำหรับรับบทนำ เลยตั้งใจผันสู่เบื้องหลังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งก็ได้ซุ่มพัฒนาบท และปรับเรื่องราวให้กลายเป็น Musical ใส่บทเพลงเสียงร้องของตนเองเข้าไป น่าจะสร้างความสนใจเพิ่มขึ้นได้มากทีเดียว
เนื่องเพราะยังไม่เคยกำกับภาพยนตร์มาก่อน เลยถูกโน้มน้าวจากโปรดิวเซอร์ Jon Peters ให้ล้มเลิกความตั้งใจ ยื่นข้อเสนอทำคอนเสิร์ตค่าตัว $10 ล้านเหรียญ แต่เจ้าตัวกลับบอกปัดปฏิเสธ กระทั่งแอบปลอมตัวเป็นผู้ชายบุกเข้าบ้านของเขา สร้างความสับสนและประทับใจ จึงยินยอมมอบสัญญาสามปีของ Orion Pictures เพื่อให้สร้าง Yentl ด้วยงบประมาณ $14 ล้านเหรียญ
กระทั่งปี 1980 ขณะโปรดักชั่นกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง Heaven’s Gate (1980) ขาดทุนย่อยยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์(ขณะนั้น) เกือบทำให้ United Artists ล้มละลาย เป็นเหตุให้ Orion Pictures หวาดหวั่นวิตกในบรรดา Mega Project ที่ลงทุนเกิน $10 ล้านเหรียญ พลอยให้ Yentl ถูกยกเลิกงานสร้างทันพลัน
ยังคงไม่ลดละเลิกราโดยง่าย Streisand พยายามดิ้นรนต่อไป จนกระทั่งเมื่อ UA ควบกิจการเข้ากับ MGM (เพื่อไม่ให้บริษัทล้มละลาย) ผู้บริหารใหม่ปรากฎว่าคือเพื่อน/เอเจนท์เก่าแก่ของเธอตั้งแต่สมัยเริ่มเข้าวงการ เลยได้รับไฟเขียวด้วยทุนสร้าง $14.5 ล้านเหรียญ
เรื่องราวมีพื้นหลังเมือง Pechev, Poland เมื่อปี 1873, Yentl Mendel (รับบทโดย Barbra Streisand) ได้รับการสอนหนังสือจากพ่อ Rebbe Mendel (รับบทโดย Nehemiah Persoff) จนมีความเฉลียวฉลาดเกินไป ไม่มีใครอยากแต่งงานครองคู่อยู่ร่วมด้วย แต่แล้วเมื่อถึงวันที่พ่อหมดสิ้นลมหายใจ ถ้าต้องให้หวนกลับไปเป็นหญิงตามขนบวิถีวัฒนธรรม เห็นทีจะขัดต่อความต้องการของตนเอง เลยปลอมเป็นชายแล้วใช้ชื่อพี่ Anshel ออกเดินทางมุ่งสู่ Bychawa ระหว่างนั้นพบเจอกับ Avigdor (รับบทโดย Mandy Patinkin) กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ซึ่งเขามีคู่หมั้นคือ Hadass (รับบทโดย Amy Irving) สมกันดั่งกิ่งทองใบหยก แต่ต่อมากลับถูกถอนหมั้นด้วยเหตุผล พี่ชายของ Avigdor ฆ่าตัวตาย ถือว่าพื้นหลังแปดเปื้อนมีมลทิน ไม่เหมาะสมจะให้ครองคู่อยู่ร่วมกัน ด้วยประการเช่นนี้จึงไหว้วานร้องขอต่อ Anshel โปรดเถิดแต่งงานกับเธอแทน เพื่อฉันจะได้ยังมีโอกาส แค่พบเจอมองหน้าสบตาหญิงที่เคยรักยิ่งก็ยังดี
Streisand รับบท Yentl Mende/Anshel เมื่อตัดผมสั้น สวมแว่น ใส่เสื้อผ้าผู้ชาย แม้ไร้หนวดเครา ก็เพียงพอให้ใครๆหลงเข้าใจผิดคิดว่าคือบุรุษ มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ ถกเถียงคัมภีร์ไบเบิ้ล อย่างเปิดกว้างอิสระเสรี, ถึงกระนั้นเรื่องของชีวิต ความรักๆใคร่ๆ ทั้งๆพยายามแอบซ่อนปกปิดไว้ กลับไถลหลวมตัวอย่างขาดสติ ยินยอมแต่งงานกับผู้หญิงด้วยกันเอง เตลิดเปิดเปิงเมื่อเผยบอกความจริง ชายคนรักยิ่งกลับมิได้ผิดแผกแตกต่างอะไรจากบุรุษอื่น
ต่อให้มองข้ามเรื่องความแนบเนียนหญิง-ชาย แต่ภาพลักษณ์ วัยวุฒิ Charisma ของ Streisand ล้ำหน้าไปกว่าตัวละครมากๆ จึงเป็นไปได้ยากที่จะมองเห็นเธอคือ Yentl หรือ Anshel และยิ่งสุ่มเสียงร้องอันทรงพลังอลังการ ราวกับกำลังดูคอนเสิร์ตการแสดงของ Streisand มากกว่ารับชมภาพยนตร์เรื่อง Yentl เป็นไหนๆ
ผมพยายามตั้งคำถามตัวเอง ความรู้สึกดังกล่าวใช่อคติหรือเปล่า? ก็คิดว่ามีส่วนอยู่เหมือนกัน เพราะ Streisand เป็นคนหัวล้ำก้าวหน้าไปไกลมากๆ จนมีความจำเพาะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง และเธอก็ดันชอบทำตัวดั่งราชินี ไม่ยอมก้มหัวนอบน้อมให้ใครโดยง่าย ยึดตนเองเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล มันเลยมีแต่ความมากกับมาก (more and more) ไกลเสียจนไม่มีใครสามารถฉุดรั้งดึงเธอกลับมา (เหมือนจะไม่ยอมกลับมาด้วยละ)
Mandel Bruce ‘Mandy’ Patinkin (เกิดปี 1952) นักร้อง นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัวเชื้อสาย Jews พ่อเป็นเจ้าของสองโรงงานขนาดใหญ่ People’s Iron & Metal Company และ Scrap Corporation of America ฐานะค่อนข้างดี โตขึ้นได้เข้าเรียน Juilliard School สนิทสนมกับ Kelsey Grammer จบออกมาทำงานโฆษณา จัดรายการวิทยุ โด่งดังกับละครเวที Broadway แจ้งเกิดเรื่อง Evita (1979) คว้ารางวัล Tony Award: Best Actor in Musical ตามด้วยภาพยนตร์ Ragtime (1981), Yentl (1983), The Princess Bride (1987), Alien Nation (1988), ซีรีย์ Chicago Hope (1994 – 2000), Homeland (2011-) ฯ
รับบท Avigdor หนุ่มหล่อเชื้อสาย Jews ผู้ถูกปลูกฝังโลกทัศนคติตั้งแต่เด็ก ในขนบวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของสังคม, เพราะความไม่รู้ตัวตนแท้จริงของ Anshel จึงเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ ช่วยเหลือจุนเจือกันจนได้ดี ถึงขนาดยินยอมมอบ Hadass ให้เป็นคู่ชีวีแทนตนเอง ถือเป็นการเสียสละที่หายากยิ่งทีเดียว
บทบาทของ Patinkin เน้นขายภาพลักษณ์ ความหล่อเหลา เคราดก เซ็กซี่ไม่เบา ขณะที่การแสดงถูกบดบังด้วยรัศมีเจิดจรัสของ Streisand โดยเฉพาะตอนรับทราบข้อเท็จจริงของ Anshel ก็นึกว่าจะสามารถยินยอมรับได้แต่ที่ไหนกัน! ไม่แตกต่างอะไรจากชายอื่น พูดจาโน้มน้าว พยายามครอบงำชี้ชักจูงให้เธอกลับมาเป็นหญิงดั่งวิถีวัฒนธรรมกำหนดไว้ นี่ผมถือว่าหมดสิ้นความหล่อเหล่าลงโดยทันที
แย่งซีนอย่างแท้จริงต้องเธอคนนี้ Amy Davis Irving (เกิดปี 1953) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Palo Alto, California พ่อ Jules Irving เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Actor’s Workshop แน่นอนว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น แต่เธอเลือกไปเข้าเรียน London Academy of Music and Dramatic Art แล้วแจ้งเกิดกับ Off-Broadway, เคยไปคัดเลือกนักแสดง Star Wars ในบท Princess Leia แม้ไม่ได้แต่ก็เข้าตาผู้กำกับ Brian De Palma เล่นเรื่อง Carrie (1976), The Fury (1978), Yentl (1983), Crossing Delancey (1988), Traffic (2000) ฯ
รับบท Hadass Vishkower หญิงสาวผู้ถูกเลี้ยงดูให้อยู่ในขนบวิถีความเป็น Jews ต้องคอยสังเกตจดจำ รับใช้ทำตามคำสั่ง ของพ่อ/สามี/ผู้ชาย ไร้ซึ่งสิทธิ์ในการลืมตาอ้าปากตัดสินใจ แม้ว่าจะตกหลุมรักอยู่กับ Avigdor แต่เมื่อมิอาจได้ครองคู่ก็ค่อยๆทำใจยอมรับได้ ไปๆมาๆหลังจากแต่งงานกับ Anshel ตกหลุมหลงใหล แม้ไม่รู้ว่าแท้จริงเธอจะคือผู้หญิง ก็พร้อมยอมพลีกายเสียสละให้ทุกสิ่งอย่าง
สายตาและภาษากาย เป็นสิ่งที่ทำให้ Hadass มีเสน่ห์อันน่าหลงใหลยั่วยวน ซึ่งหนังก็ได้เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ (ในสายตาของ Yentl) จึงพบเห็นความละมุ่นไม อ่อนโยน งดงามในทุกท่วงกิริยาบท ต้องชมเลยว่า Irving ถ่ายทอดความเป็นกุลสตรี ผู้หญิงดั่งผ้าพับไว้ ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากๆ
แต่น่าฉงนสงสัยไม่น้อย ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress นั้นไร้ข้อกังขา แต่ Razzi Award: Worst Supporting Actress นั่นเป็นไปได้อย่างไร คนแรกคนเดียวในประวัติศาสตร์เข้าชิงสองสาขานี้จากเรื่องเดียวกัน (ตอน Sandra Bullock ยังเข้าชิงคนละเรื่องเลยนะ แต่รายนั้นเหมาทั้งสองรางวัลกลับบ้าน)
ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925 – 2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ บุคคลแรกผู้ทำการทดลอง Bounce Light ก่อให้เกิดแสง Soft Light สามารถคว้า Oscar: Best Cinematographer เรื่อง Out of Africa (1985), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Knack …and How to Get It (1965), Help! (1965), The Three Musketeers (1973), Chariots of Fire (1981) ฯ
สิ่งแรกที่ต้องชมเลยคือการเลือกโทนสี Color Palettes เน้นน้ำตาลเพื่อมอบสัมผัสความโบราณ ยุคสมัยเก่าก่อน ความติดดิน (ลูกรัง) ในขนบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม, หลายๆฉากจัดแสงฟุ้งๆ เพื่อความอบอุ่น พึงพอใจ เป็นสุข แต่เมื่อไหร่ดูแห้งแล้ง สีตกๆ อมทุกข์รวดร้าวทรมาน
ขณะที่ความมืดมิดมีเพียงแสงเทียน นอกจากสะท้อนอนาคตอันหมองมัว เบื้องหน้า/หลังมองไม่เห็นอะไร ยังคือความลึกลับ ด้านมืดที่ปกปิดหลบซ่อนอยู่ภายใน อยากเปิดเผยออกแต่สังคมยังไม่ให้การยินยอมรับ พูดบอกกับเธอก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสเห็นแสงสว่างอยู่อีกหรือเปล่า
การเคลื่อนกล้องมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน คงเพื่อสะท้อนตัวตนของ Yentl ไม่ต้องการหยุดอยู่นิ่งกับที่ อยากจะโบยบินอิสระเสรีดั่งนกบนฟากฟ้า (หลายครั้งจะมีแทรกภาพนกบินเข้ามา สะท้อนความต้องการที่เธอฝันใฝ่อยากเป็น) นอกจากนี้หลายๆช็อตเป็นการมองผ่านสายตาของตัวละคร แทนมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ถึงสิ่งที่เธอพบเห็น เฝ้าสังเกต จับจ้องดู
มีทั้งหมด 4-5 ครั้ง ที่พบเห็นการข้ามน้ำของ Yentl ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำบางสิ่งอย่าง เพื่อเปิดโลกทัศน์ มุมมองใหม่ เลิกจมปลักอยู่กับวิถีดั้งเดิมโบราณ
– ครั้งแรกต้นเรื่อง ธารเล็กๆที่สามารถเดินข้ามได้สบายๆ
– ครั้งสองหลังจากพ่อเสียจึงเริ่มออกเดินทาง หลังจากผ่านค่ำคืนแรกได้ขึ้นเรือข้ามฟาก เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ให้ชีวิต
– (ไม่นับครั้ง) Avigdor พยายามฉุดดึง Anshel ให้ลงเล่นน้ำ แต่เธอดื้นรนยืนกรานปฏิเสธ ไม่สามารถเปิดเผยตนเอง เปลื้องผ้าเปลือยกายออกได้
– ครั้งสามนั่งอยู่บนเกวียนกับ Avigdor ขณะกำลังข้ามสะพานเพื่อมุ่งสู่เมือง Lublin นั่นคือช่วงเวลาเปิดเผยความจริง ยินยอมรับในความเป็นตัวของตนเอง
– สุดท้ายขึ้นเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic ออกเดินทางสู่ดินแดนโลกใหม่
ตัดต่อโดย Terry Rawlings สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นนักตัดต่อเสียง (Sound Editing) ผันตัวมาเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่น อาทิ Watership Down (1978), Alien (1979), Chariots of Fire (1981), Blade Runner (1982), GoldenEye (1995) ฯ
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Yentl Mendel/Anshel หลายครั้งแทนภาพด้วยสายตามุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งจะมีการใช้บทเพลงขับร้อง (แทนเสียงบรรยาย) บางครั้งพบเห็นขยับปาก แต่ถ้ามีเรื่องราวดำเนินควบคู่ไปด้วยก็จะหยุดนิ่งเฉย คงต้องถือว่าเป็นเสียงสะท้อนออกมาจากจิตใจของเธอเอง
ให้ลองสังเกตช่วงขณะของการ Cross-Cutting เปลี่ยนฉาก นี่ต้องชมเชยเลยว่า เลือกภาพที่มีความสอดคล้องด้วยสัมผัส แฝงนัยยะของการเปลี่ยนแปลงซ่อนเร้นอยู่ด้วย อย่างช็อตนี้ จัดวางตำแหน่งระหว่างจดหมาย กับภาพของ Anshel ขณะร่ำจากลา Avigdor ได้งดงามมากๆ
สำหรับเพลงประกอบ แต่งทำนองโดย Michel Legrand, คำร้องโดย Alan Bergman และ Marilyn Bergman
แม้แนวถนัดของ Legrand จะเป็น Jazz ที่หลายๆคนคงคุ้นหูกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1967) ฯ แต่เรื่องนี้ถือว่าย้อนยุคปี 1873 ย่อมไม่สามารถใช้สไตล์เพลงโปรดได้ ถึงกระนั้นงานของ Legrand ยังมีอีกความโดดเด่นหนึ่ง สร้างเสียงที่อันระยิบระยับ จินตนาการเห็นภาพแสงอาทิตย์สาดส่องผืนผิวน้ำเป็นประกาย ราวกับอยู่ในความเพ้อฝันกำลังโบกโบยบินอย่างเป็นอิสระเสรี
Papa, Can You Hear Me? ดังขึ้นสองครั้งในหนัง (ต้นเรื่อง/ท้ายเรื่อง) เป็นบทเพลงที่ Yentl ขับร้องขึ้นเพื่อปลอบปะโลม สร้างขวัญกำลังใจ คาดหวังว่าพ่อผู้ล่วงลับจะมีโอกาสพบเห็นการกระทำ ภาคภูมิใจที่ทุกสิ่งอย่าง ล้วนเกิดจากการครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเอง
บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง This is One Of Those Moments ช่วงเวลาสุดมหัศจรรย์สุดของหนัง พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส คือขณะที่ Yentl ได้เข้าศึกษาต่อ เทียบเท่าเสมอภาคบุรุษ โดยไม่มีใครล่วงรับรู้ว่าแท้จริงเธอเป็นผู้หญิง
The Way He Makes Me Feel คือบทเพลงพรรณาความรู้สึกของ Yentl หลังจากพบเห็นไอ้จ้อนของ Avigdor เกิดความตระหนักขึ้นมาได้ว่าตนเองคือผู้หญิง และเขาทำให้ฉันเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นในจิตใจ
A Piece Of Sky สังเกตว่ามันคือส่วนผสมของ Papa, Can You Hear Me? + This is One Of Those Moments ดูเหมือนการรีไซเคิลทำนอง/คำร้องซ้ำๆ แต่ให้เรียกว่าเป็นการค่อยๆเรียนรู้ เติบโต และเกิดพัฒนาการชีวิตของ Yentl และนี่คือวินาทีสุดท้ายของหนัง ทุกสิ่งอย่างกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอเลือกตัดสินใจ โบยบินมุ่งสู่อิสระภาพเสรีบนฟากฟ้าไกล
Yentl คือเรื่องราวของหญิงสาว ผู้โหยหา ไขว่คว้า ต้องการได้รับอิสระเสรีภาพในการดำรงชีวิต ไม่ต้องการถูกกำหนดกฎกรอบ ครอบงำ ด้วยอิทธิพลวัฒนธรรม ขนบวิถีทางสังคม ที่ล้วนเกิดจากใครสักคนจากอดีตจดบันทึกจารึกไว้ แล้วคนยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น)ตีความแบบเข้าข้างตนเอง เพื่อให้ ‘ผู้ชาย’ ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ ‘ผู้หญิง’ ต้องตกเป็นทาสเบี้ยล่างต่ำต้อย มิอาจเงยหน้าสบหน้า หรือแม้เพียงโอกาสขึ้นมาแค่หายใจ
การปลอมตัวของ Yentl เพื่อปกปิดเพศสภาพแท้จริงของตนเอง นี่คล้ายๆการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเขา’ นำจิตวิญญาณความเป็นหญิง สวมใส่หน้ากากแห่งความเป็นชาย เพื่อสะท้อนว่า หญิง-ชาย มิได้มีความแตกต่างกันแม้แต่น้อย! แต่เพราะเพศกำเนิดมิอาจเลือกเกิดได้ จึงถูกสังคมขีดเส้นแบ่งแยกกีดกัน ลองครุ่นคิดดูสิว่า ถ้าพวกบุรุษทั้งหลายเกิดใหม่กลายเป็นสตรี ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนี้ จักสามารถยินยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า!
ใจความดังกล่าว ทำให้จัดหนังได้เลยว่าเป็นแนว Feminist ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมของสตรี ไม่มีอะไรในโลกนี้ขีดเส้นแบ่งไว้ ทุกสิ่งที่ผู้ชายทำได้ ทำไมผู้หญิงถึงไม่สามารถกระทำได้!
นับแต่อดีตกาลนมนากาเล ชาย >>> หญิง ขณะที่โลกยุคสมัยปััจุบันกำลังก้าวไปสู่นี้ ชาย===หญิง เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม แต่เมื่อไหร่ทุกอย่างกลับตารปัตร ชาย <<< หญิง ก็น่าครุ่นคิดนะว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงขั้นจุดจบของมวลมนุษยชาติเลยรึเปล่า?
สิทธิสตรี คือเรื่องของการเปิดโลกทัศน์ความคิด สร้างสรรค์โอกาส ชี้แนะแนวโน้มความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ในรูปลักษณะกายภาพ เพราะชาย-หญิง ยังไงก็แตกต่างตรงกัน ต่อให้สามารถแปลงเพศ เปลี่ยนวิทยฐานะนำหน้า ก็มิอาจลบเลือนเพศกำเนิดแท้จริงไปได้
โลกยุคสมัยนี้ได้สร้างมายาคติ คำเรียกที่ว่า ‘เพศสภาพ’ หรือจิตวิญญาณความเป็นเพศ ข้ออ้างแห่งสิทธิ โอกาส แต่แท้จริงเพื่อปกปิด/ทอดทิ้ง/ให้หลงลืมรากเหง้าตัวตนต้นกำเนิด บุคคลเหล่านี้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงโชคชะตา ‘กรรม’ ด้วยการแก้ปัญหาปลายเหตุ สนองตัณหา ราคะ พึงพอใจส่วนตน ทำไมไม่รู้จักเพียงพอใจในสิ่งที่มี โลภละโมบโหยหาสิทธิเสรี ยิ่งไขว่คว้าโหยหามาก ก็มักหลงลืมอีกด้านของตัวตนเอง เวียนวนอยู่ในวัฏสังสารไม่รู้จักจบสิ้น
ชัยชนะแห่งอิสรภาพของ Yentl ไม่ใช่ได้มาง่ายๆฟรีๆ ต้องแลกกับการสูญเสียสละ มิสามารถครองคู่อยู่ร่วมกับชายที่ตนตกหลุมรัก หมดสิ้นโอกาสปักหลักตั้งถิ่นฐาน แต่งงานครองคู่ ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขสันติ ในขนบวิถีทางสังคมที่สืบทอดปฏิบัติมานานนม เป็นเหตุให้ต้องมุ่งสู่ อเมริกา ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน เสรีชน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ศาสนา วัฒนธรรม หรือความสูงต่ำ ดำขาว ทุกคนเท่าเทียมกันในโอกาส และความเป็นมนุษย์ (จริงๆนะเหรอ?)
ด้วยทุนสร้าง $14.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $40.2 ล้านเหรียญ ถือว่าไม่เลวทีเดียว
เข้าชิง Oscar 5 รางวัล จาก 4 สาขา
– Best Supporting Actress (Amy Irving)
– Best Art Direction – Set Decoration
– Best Music, Original Song Score and Its Adaptation or Best Adaptation Score ** คว้ารางวัล
– Best Music, Original Song บทเพลง Papa, Can You Hear Me?
– Best Music, Original Song บทเพลง The Way He Makes Me Feel
ขณะที่ Golden Globes Award เข้าชิง 7 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Motion Picture – Comedy or Musical ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actress – Comedy or Musical (Barbra Streisand)
– Best Actor – Comedy or Musical (Mandy Patinkin)
– Best Original Score – Motion Picture
– Best Original Song – Motion Picture บทเพลง The Way He Makes Me Feel
และความพิลึกพิลั่นของหนัง ทำให้ได้เข้าชิง 3 รางวัล Razzie Award
– Worst Actor (Barbra Streisand) [ผมเช็คจากสองสามแหล่ง ชื่อสาขาไม่ผิดแน่นอน]
– Worst Supporting Actress (Amy Irving)
– Worst Musical Score
ไดเรคชั่นการกำกับของ Barbra Streisand ถือว่ายอดเยี่ยมไม่ธรรมดาเลยละ แต่เรื่องราวของ Yentl มันพิลึกพิลั่นเกินกว่าใครๆจะสามารถยินยอมรับได้ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเกิดการก้าวล้ำเส้นเหมาะสมไปไกล ความ ‘More’ อันไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อุดมการณ์ เป้าหมาย ทุกสิ่งอย่างของหนัง พังทลายป่นปี้ย่อยยับเยินลงทันที
แนะนำคอหนัง Feminist, ชื่นชอบเรื่องราวรักโรแมนติก สามเส้า หญิง(ปลอมเป็นชาย)-ชาย-หญิง, สนใจประวัติศาสตร์ วิถีความเชื่อ วัฒนธรรมชาว Jews, และบทเพลงอันทรงพลัง ขับร้องโดย Barbra Streisand
จัดเรต 13+ กับความสัมพันธ์อันพิลึกพิลั่นของตัวละคร
Leave a Reply