Lu over the Wall (2017) : Masaaki Yuasa ♥♥
เด็กสาวเงือก Lu มาพร้อมรอยยิ้มและภยันตราย เมื่อได้ยินเสียงจังหวะดนตรี ครีบหางของเธอสามารถสลับสับเปลี่ยนเป็นขาสองข้าง (Merfolk) พอถูกมนุษย์พบเห็นเลยกลายเป็นศูนย์กลางความสนใจ ถูกใช้กอบโกยผลประโยชน์โดยไม่สนอะไร และเมื่อเกิดเหตุร้ายๆก็พร้อมขับไล่ผลักไสส่งอย่างไร้เยื่อใย … ทำไมพล็อตเรื่องมันเฉิ่มเชยขนาดนี้!
“Still, I can’t lie: I was bored throughout the 112 minutes I spent watching Lu over the Wall. … I soon realized that that my biggest problem was that I couldn’t reconcile the basic disconnect between the thrilling story-telling and the paint-by-numbers story. I wanted the film’s creators to do something with their formulaic narrative, but they never did”.
Simon Abrams นักวิจารณ์จาก RogerEbert.com
อนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ต่างจากเด็กสาวเงือก Lu มาพร้อมรอยยิ้มฉาบหน้า ภาพสวย เพลงเพราะ อนิเมชั่นงามตา แต่ภายใต้ในนั้นกลับซ่อนเร้นสิ่งเลวร้ายมากมาย พยายามยัดเยียดมุมมอง โลกทัศนคติ บทเรียนสอนใจ ทั้งๆเรื่องราวไม่ได้ให้สาระอะไรน่าติดตาม ตัวละครขาดการแนะนำพื้นหลัง ความสัมพันธ์จับต้องไม่ได้ ไคลน์แม็กซ์ก็จืดชืดไร้ความน่าสนใจ พอดูจบก็แยกทางใครทางมัน ไปครุ่นค้นหาหนทางชีวิตเหมาะสมกับตนเองเสียยังดีกว่า (ตอนจบอนิเมะ สามตัวละครหลักก็แยกทางใครทางมันเช่นกัน)
นอกจากไดเรคชั่นดำเนินเรื่องที่ยังพอมองเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Masaaki Yuasa อะไรอย่างอื่นกลับไร้ความสดใหม่ ล้วนได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์/อนิเมชั่นที่หลายๆคนมักคุ้นเคยอยู่แล้ว อาทิ ตัวละครเด็กหญิงเงือก Lu แทบไม่ต่างจาก Ponyo (2009), บิดาฉลามยักษ์ มีส่วนผสมระหว่าง Panda! Go, Panda! (1972), My Neighbor Totoro (1988), Finding Nemo (2003), หรือท่าเต้น Step-Dance มันส์ๆจาก Looney Toon และอนิเมชั่นยุคแรกๆของ Walt Disney ฯลฯ
ผมเองยังรู้สึกผิดคาดต่อผู้กำกับ Yuasa อุตส่าห์หวังว่าจะได้รับชมผลงานที่มีความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนซ่อนปรัชญา แต่ไหนได้ Lu over the Wall กลับแทบไม่พบเห็นอะไรให้น่าครุ่นคิดค้นหา ทำออกมาอย่างเรียบง่าย ธรรมดาๆ เด็กๆดูได้ผู้ใหญ่ดูดี สัญลักษณ์เล็กๆน้อยแค่ของขบเคี้ยวพอก้อมแก้ม ไม่เพียงพอจะเป็นออเดิร์ฟนำเข้าอาหารจานหลักเสียด้วยซ้ำ!
Masaaki Yuasa (เกิดปี 1965) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka ค้นพบความชื่นชอบวาดภาพตั้งแต่เรียนอนุบาล คลั่งไคล้หลงใหล Mazinger Z (1972-74) และ Space Battleship Yamato (1974-75) ตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Kyushu Sangyo University คณะศิลปศาสตร์ สาขาสีน้ำมัน มีโอกาสรับชมหลายๆผลงานที่กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ อาทิ Yellow Submarine (1968), Lupin III: The Castle of Cagliostro (1979), The King and the Mockingbird (1980), The Fox and the Hound (1981) ฯ
“I get inspired with a lot of things I see, hear, smell, and touch in everyday life… I often derive inspiration even from really modest visuals; a commercial, a cut from a movie, a movement from an anime as well as nameless flowers and grasses blooming on the road, clouds, stars, and moons in the sky.
I’m also inspired with what I’m currently interested in and feeling. My humble wish for creating anime is to have common images, conversations, and scenes sublimed into art works.”
Masaaki Yuasa
หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็น In-Between สตูดิโอ Ajia-do แม้ไม่ใช่คนมีพรสวรรค์ด้านการวาด แต่เก็บงานละเอียด รวดเร็ว แทบไร้ข้อบกพร่อง เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมงานจนได้มาเป็น Key Animation ซีรีย์ Chibi Maruko-chan (1990-92), มีชื่อเสียงจากออกแบบสรรค์สร้างสองบทเพลงใน Chibi Maruko-chan: My Favorite Song (1992), จากนั้นก้าวขึ้นมาเป็นนักวาด Storyboard, กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ซีรีย์ Crayon Shin-chan (1992-), กระทั่งได้รับโอกาสเขียนบท กำกับตอนที่ 3 ของ OVA เรื่อง Anime Rakugo Kan (1992) เลยค้นพบเป้าหมายที่อยากทำ คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ ค่อยๆเก็บสะสมประสบการณ์จนสามารถแจ้งเกิดกับ Mind Game (2004) แล้วหันไปสร้างอนิเมะซีรีย์ในสังกัด Madhouse อาทิ Kemonozume (2006), Kaiba (2008), The Tatami Galaxy (2010)
แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในสตูดิโอ Madhouse จากการลาออกของผู้ร่วมก่อตั้ง/หัวหน้าฝ่ายงานสร้างสรรค์ Masao Maruyama (บุคคลที่ชักชวน Masaaki Yuasa ให้มาทำงานในสังกัด Madhouse) ทำให้ Yuasa ตัดสินใจยุติสัญญา ลาออกมาเพื่อเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่เช่นกัน ทดลองโปรเจค Crowdfunding หาทุนสนับสนุนจาก Kickstarter ได้เงินกว่า $200,000+ เหรียญ สำหรับสร้างอนิเมะขนาดสั้น Kick-Heart (2013), หลังจากนั้นร่วมกับ Eunyoung Choi ก่อตั้งสตูดิโอ Science SARU (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Science Monkey) รวบรวมทีมงานที่กระจัดกระจายจาก Madhouse มาสร้างบ้านหลังใหม่ (Production House) ด้วยกัน
สำหรับโปรเจคภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Science SARU ผู้กำกับ Yuasa หวนระลึกนึกย้อนกลับไปหาตัวตนเองเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่วงการ สมัยยังเป็น In-Between และ Key Animation อยากสรรค์สร้างเรื่องราวที่คล้ายๆ Chibi Maruko-chan หรือ Crayon Shin-chan มีความเรียบง่าย ธรรมดาๆ เหมาะสำหรับเด็กๆและครอบครัว
“When I started my career, most of my work was in family shows like Shin Chan and Chibi Maruko, but when I became a director, I was only offered projects that were not for children. That’s why I wanted to do Lu — to make something for families”.
เริ่มต้นจากการครุ่นคิดสรรค์สร้างตัวละคร อยากให้ออกมาน่ารักแต่ว่อนเร้นความความน่ากลัวอยู่นิดๆ ทีแรกจินตนาการถึงแวมไพร์ แต่เพราะพบเห็นเกลื่อนกลาดในตลาดอนิเมะทั่วๆไป หลังจากระดมความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงาน จีงได้ข้อสรุปนางเงือก/เด็กหญิงเงือก Mermaid & Merfolk ยังมีอะไรอีกมากที่น่าสนใจ
“I wanted to have the main character be cute, but also a little bit scary. A mermaid can still have this core cuteness, while also accessing a lot of more scary sides. In addition to that, I was really interested in exploring mermaids because there are so many vampire stories and they’re overdone. I liked the idea of taking another creature that can carry both of these qualities, so that’s why I migrated to doing a mermaid story”.
ร่วมพัฒนาบทกับ Reiko Yoshida (เกิดปี 1967) นักเขียนมังงะ บทอนิเมะ/ภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima สำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรม Hosei University เริ่มโด่งดังจากการดัดแปลงบท The Cat Returns (2002) ให้กับสตูดิโอ Ghibli, ผลงานเด่นๆมักเป็นอนิเมะแนว Healing ดูสบายๆพร้อมสาระข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต อาทิ Aria the Animation (2005), K-On! (2009-10), Bakuman (2010-13), Girls und Panzer (2012-13), Non Non Biyori (2013, 15, 21), A Silent Voice (2016), Liz and the Blue Bird (2018), Violet Evergarden (2018) ฯ
สำหรับเนื้อหาสาระของ Lu over the Wall ต้องการสะท้อนสิ่งกำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นปัจจุบันนั้น (จากมุมมองผู้กำกับและนักเขียนบท) คิดเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยพูดบอกสิ่งครุ่นคิดภายในจิตใจ ชอบเก็บซ่อนอคติ/ความผิดหวังไว้กับตัวตนเอง
“I wanted to share with the audience something about what’s happening nowadays in Japan, where younger generations don’t want to say what they really think. If they don’t like something, they just don’t say it. They don’t want to communicate – things like that. They keep it to themselves. I want to give them the idea that you can say whatever you want. It’s ok to say what you think. That’s what Kai needs to do”.
เรื่องราวของ Kai Ashimoto อาศัยอยู่กับปู่และบิดายัง Hinashi-chō ชุมชนประมงหาปลาเล็กๆที่ยังคงเชื่อว่านางเงือกมีอยู่จริง ด้วยความชื่นชอบจังหวะและเสียงเพลง อัพโหลดคลิป REMIX บทเพลงขี้นบนอินเตอร์เน็ต พบเห็นโดยสองเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมต้น Kunio และ Yūho ชักชวนมาร่วมวงดนตรี SEIRÈN แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นอะไร แค่วัยรุ่นเพ้อฝัน อยากทำอะไรตามใจฉัน
วันหนี่งระหว่างร่วมซ้อมดนตรีกับสองเพื่อนใหม่ยัง Ningyojima ทำให้ Kai มีโอกาสพบเห็นเด็กสาวเงือก Lu สังเกตว่าเมื่อเปิดเพลงดัง ครีบหางสลับสับเปลี่ยนเป็นขามนุษย์ สามารถโลดเล่นเต้นเป็นจังหวะ หลังจากแนะนำให้ Kunio และ Yūho แอบพาไปร่วมงานเปิดตัววงดนตรีในเทศกาลประจำปี แต่กลับเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ชาวบ้านรับรู้การมีตัวตนของสิ่งมีชีวิตในตำนาน เรื่องราวค่อยๆบานปลายเพราะไวรัลบนอินเตอร์เน็ต ทำให้บรรดาผู้ใหญ่ต่างพยายามฉกฉวยตักตวงผลประโยชน์ดังกล่าว
เรื่องวุ่นๆเกิดขี้นหลังจากการสูญหายตัวไปของ Yūho แท้จริงแล้วก็แค่หลบหนีออกจากบ้าน แต่บิดาของเธอกลับครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าบุตรสาวถูกนางเงือกกัดกลืนกิน เลยจับ Lu มาควบคุมขังและกำลังจะเข่นฆ่าด้วยการให้แสงแดดสาดส่อง เป็นเหตุให้บิดาฉลาม ดิ้นแหวกว่ายมาหาเพื่อให้ความช่วยเหลือ กระตุ้นคำสาปบางอย่างให้ทั้งหมู่บ้านค่อยๆถูกน้ำท่วมขี้นสูง จนต้องอพยพหลบหนีตายกันอุตลุต
มีเพียง Kai ที่สามารถปรับความเข้าใจต่อ Lu (และบิดาฉลาม) แต่เขาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งต่างๆบังเกิดขี้นแล้ว ต้องใช้การร่วมมือร่วมใจระหว่างมนุษย์และสัตว์เงือกทั้งหลาย จนทุกคนสามารถเอาตัวรอดหนีน้ำท่วมได้ปลอดภัย และท้ายสุดต่างก็แยกย้ายไปตามวิถีหนทางของตนเอง
Kanon Tani (เกิดปี 2004) นักแสดงเจ้าของฉายา ‘Japan’s Most Beautiful Child Star’ เกิดที่ Saitama เริ่มต้นถ่ายแบบนิตยสารเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แสดงละครเรื่องแรกตอน 5 ขวบ สร้างชื่อจากซีรีย์ Namae o Nakushita Megami (2011), Full Throttle Girl (2011) ฯลฯ ได้ยินว่าไม่เคยถ่ายฉากเสีย (เทคเดียวผ่านแทบตลอด) สามารถร่ำไห้หลั่งน้ำตาใน 5 วินาที น่าเสียดายพอโตเป็นสาว ผู้ชมกลับจดจำใบหน้าของเธอไม่ค่อยได้ ความนิยมเลยลดหดหายหลายเท่าตัว (แต่ก็ไม่แน่นะครับ เพราะเธอยังเป็นวัยแรกรุ่นอยู่เลย ถ้าได้รับบทบาทดีๆ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จอีกหลายครั้ง)
ให้เสียงเด็กสาวเงือก Lu (ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า Rū) มีความน่ารักสดใส อ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา เบิกบานด้วยรอยยิ้มแทบตลอดเวลา ทุกครั้งได้ยินเสียงเพลงสองขาต้องโยกเต้น ส่ายสะโพกประกอบจังหวะ ตั้งแต่พบเจอรู้จัก Kai มีความต้องการอยากเป็นที่รักของใครๆ ถีงขนาดร้องขอให้บิดาฉลาม เดินขี้นบกเพื่อมาสานสัมพันธ์กับมนุษย์
การพูดสนทนาของ Lu เหมือนเด็กที่ยังไม่รู้ประสีประสา แม้สามารถฟังเข้าใจภาษามนุษย์แต่กลับพูดได้เพียงคำๆ แค่พอจับใจความได้เท่านั้น นั่นรวมถีงการพร่ำเพรื่อคำว่ารัก บ่อยครั้งจัดจนมันหมดสิ้นคุณค่าความหมายใดๆ, รอยยิ้มและการกระทำของเธอก็เช่นกัน ราวกับเด็กขี้เหงาเอาใจ ไม่ต่างอะไรกับ Kai (และ Yūho) เลวร้ายกว่าด้วยซ้ำเพราะความสามารถเหนือธรรมชาติ ควบคุมสายน้ำให้เคลื่อนไหลตามใจ และกัดสิ่งมีชีวิตอื่นให้กลายเป็นสัตว์เงือก (โดยไม่ถามถึงความยินยอมพร้อมใจ)
ในส่วนของการออกแบบ มีความพยายามทำให้ Lu แตกต่างจาก Ponyo (2009) ทรงผมพริ้วไหวใต้มวลน้ำพร้อมปลาสองสามตัวแหวกว่ายอยู่ในนั้น สวมสาหร่ายปกปิดบังเรือนร่างกาย และครีบหางสามารถสลับสับเปลี่ยนเป็นขามนุษย์เมื่อได้ยินจังหวะเสียงเพลง แต่ถีงอย่างนั้นผู้ชมจักยังคงหวนระลึกภาพ ‘Iconic’ ของ Ponyo ตราบใดที่มีการนำเสนอตัวละครเด็กน้อยแหวกว่ายใต้ผืนน้ำ ย่อมต้องเกิดเปรียบแทบและไม่มีทางก้าวข้ามผ่านไปได้
ผมขอ no-comment กับการพากย์ของ Tani เพราะบทบาทไม่ได้มีจุดขายอะไรนอกจากความน่ารักในน้ำเสียง รอยยิ้ม ท่าเต้น และขับร้องเพลง (ผ่านการ REMIX เสียง) เต็มไปด้วยความใสซื่อ อ่อนเยาว์วัยต่อโลก แต่การพูดคำว่ารักพร่ำเพรื่อ ต่อให้เป็นเด็กก็เถอะ เหมือนเธอยังไม่เข้าใจความหมายของมันด้วยซ้ำ
“There were many actresses with cute voices, but Kanon Tani was chosen for her ability to express Lu’s strong, wholehearted earnestness. It wouldn’t do if we had a seasoned actress too used to acting, but we can’t have it be too ‘natural’ to the point that her lines don’t come across properly, either. She strikes a nice balance between the two in her delivery”.
Masaaki Yuasa
Shōta Shimoda (เกิดปี 2002) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เมื่ออายุได้ 5-6 ขวบ เข้าร่วมการประกวด Star Kid Audition คว้ารางวัล Jury’s Special Award เลยได้เซ็นสัญญากับเอเจนซี่ Amuse มีโอกาสแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานประปราย คงแบ่งเวลาไปร่ำเรียนหนังสือ เลยยังไม่ค่อยได้รับโอกาสสักเท่าไหร่
ให้เสียง Kai Ashimoto เด็กชายกำลังร่ำเรียนชั้นมัธยมปีที่สาม เดิมอาศัยอยู่กรุง Tokyo แต่หลังจากบิดาหย่าร้าง เดินทางมาอาศัยอยู่ยังบ้านเกิด Hinashi Town ร่วมกับคุณปู่ ด้วยเหตุนี้เขาเลยกลายเป็นเด็กเก็บกด ปฏิเสธพูดคุยกับพ่อหรือตอบจดหมายแม่ แต่ด้วยความชื่นชอบจังหวะและเสียงเพลง REMIX บันทีกคลิปอัพโหลดขี้นอินเตอร์เน็ต ได้รับการพบเห็นโดย Kunio และ Yūho พยายามชักชวนให้ร่วมวงดนตรีแต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธเสียงขันแข็ง ไม่ต้องการเปิดเผยตนเองให้โดดเด่นเป็นที่รู้จัก
การได้พบเจอเด็กหญิงเงือก Lu ทำให้เด็กชายหนุ่มค่อยๆปรับเปลี่ยนมุมมอง เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เรียนรู้จากอุปนิสัยพูดพร่ำไร้สาระ ครุ่นคิดอะไรก็แสดงความต้องการออกมา แรกเริ่มพยายามปกปักษ์รักษา มิให้เธอต้องตกเป็นเหยื่อความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ แต่เมื่อมิอาจแก้ไขทำอะไรก็ได้เรียนรู้บางสิ่งอย่าง สามารถเปิดใจยินยอมรับผู้อื่น ทั้งบิดา-มารดา เพื่อนสนิททั้งสอง มีอะไรก็เริ่มพูดบอก แสดงความคิดเห็นออกไป
บอกตามตรงว่าผมโคตรไม่เข้าใจ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ Kai จากเคยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ไม่ยินยอมพูดคุยกับใคร สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ? เพราะอิทธิพลจากพฤติกรรมแสดงออกของ Lu? การกระทำของสัตว์เงือกยินยอมให้ความช่วยเหลือมนุษย์ ทั้งๆก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งถีงขั้นจะเข่นฆ่าแกงอีกฝั่งฝ่าย? โดยส่วนตัวรู้สีกว่าอนิเมะนำเสนอเรื่องราวไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ตัวละครขาดวิวัฒนาการที่ควรค่อยๆเป็นค่อยไป กลับใช้บทเพลงเดียวเท่านั้นพูดแทนความรู้สึกทั้งหมด แถมไคลน์แม็กซ์ก็แทบไม่มีบทบาทอะไร เลวร้ายสุดคือการแสดงอารมณ์ ‘Expression’ หลายครั้งมันสุดโต่ง/กระอักกระม่วน มากเกินไปไหม
การพากย์ของ Shimoda ถือว่าเหมาะสมเข้ากับตัวละคร มีความเก็บกดซ่อนเร้น เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง พอพบเจอสิ่งตอบสนองความต้องการ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ปรับระดับสองอารมณ์สะท้อนผ่านน้ำเสียงถือว่าใช้ได้ ร้องเพลงเพี้ยนๆถือว่าเป็นความตั้งใจ แต่ก็อยากได้ยินถ้าร้องปกติจะเสียงดีขนาดไหน
Minako Kotobuki (เกิดปี 1991) นักแสดง นักร้อง นักพากย์อนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe, Hyōgo เมื่อตอน 3-4 ขวบพานผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 1995 Great Hanshi และพอเติบโตขึ้นรับชมภาพยนตร์ Chikyuu ga Ugoita Hi (1997) เลยเกิดความมุ่งมั่นอยากเข้าสู่วงการบันเทิง แรกเริ่มมีผลงานภาพยนตร์ สมทบอนิเมะ กระทั่งบทบาท Tsumugi Kotobuki เรื่อง K-On! (2009) แจ้งเกิดโด่งดังพร้อมออกอัลบัมเพลงร่วมกับเพื่อนๆนักพากย์ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Karina Lyle/Blue Rose เรื่อง Tiger & Bunny (2011), Rikka Hishikawa/Cure Diamond เรื่อง DokiDoki! PreCure (2013-13), Asuka Tanaka เรื่อง Hibike! Euphonium (2015-16) ฯ
ให้เสียง Yūho นักร้อง/เล่นเบส ร่วมก่อตั้งวงดนตรี SEIRÈN เป็นเด็กสาวที่มีความอ่อนไหว ใครตำหนิต่อว่าอะไรนิดหน่อยก็งอนตุ๊บป่อง ทำราวกับตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล น่าจะเพราะบิดาเลี้ยงดูแบบปล่อยปละให้อิสระมากเกินไป เลยพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการเป็นนักร้อง/นักดนตรี ทั้งๆไม่ได้มีความสามารถสักเท่าไหร่ กว่าจะรับรู้ตนเองก็เป็นต้นเหตุทำให้ทั้งหมู่บ้านเกือบจมอยู่ใต้คำสาป
นี่เป็นตัวละครที่คงสร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญให้ใครหลายๆคน ด้วยนิสัยขี้วิน เอาแต่ใจ แถมไม่ใคร่ยินยอมรับความจริง (ว่าเป็นนักร้องที่ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย) ซี่งอนิเมะไม่ได้มีการอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไป ทำไมเธอถีงกลายเป็นคนนิสัยแบบนี้ หรือตั้งวงดนตรีเพื่ออะไร มันเลยทำให้ผู้ชมไม่สามารถทำความเข้าใจ ให้อภัยฮอร์โมนวัยรุ่นที่กำลังพลุกพร่าน
ผมรู้สีกว่า Kotobuki พลิกบทบาทตัวเองจากนักพากย์เสียงใส ร้องเพลงโคตรเพราะ ให้กลายมาเป็นวัยรุ่นขี้เหงาเอาใจ ร้องผิดคีย์จนสร้างความน่ารำคาญให้ตัวละครได้จัดจ้านมากๆ น่าเสียดายบทบาทเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ขาดการเติมเต็มเหตุผลที่มาที่ไป ไม่เช่นนั้นคงช่วยส่งเธอให้เจิดจรัสได้ยิ่งกว่านี้แน่
Soma Saito (เกิดปี 1991) นักร้อง นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shōwa, Yamanashi สมัยเด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นนักดนตรีไม่ก็เขียนนวนิยาย ช่วงระหว่างร่ำเรียนมัธยมปลาย มีโอกาสรับชมอนิเมะ Bokurano (2007) เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ตัวละคร Koyemshi เลยสมัครออดิชั่นในสังกัด 81 Produce เมื่อปี 2008 จากผู้เข้าร่วม 1,035 คน เป็นผู้ชนะเลิศประเภทเพศชาย ได้มีโอกาสฝีกฝน ร่ำเรียนการใช้เสียง และเข้าเรียนมหาวิทยาลัย Waseda University แจ้งเกิดโด่งดังกับ Tadashi Yamaguchi เรื่อง Haikyu!! (2014-), Tatsumi เรื่อง Akame ga Kill! (2014), Twelve/Tōji Hisami เรื่อง Terror in Resonance (2014) ** คว้ารางวัล Seiyu Awards: Best Male Newcomer
ให้เสียง Kunio เพื่อนสนิทตั้งแต่เด็กของ Yūho ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรี SEIRÈN หลังจากรับชมคลิปการ REMIX ของ Kai เลยชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก, อุปนิสัยร่าเริง สนุกสนาน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆอย่างไร้เป้าหมาย แต่ความใจร้อน ขาดความเป็นตัวของตนเอง เมื่อไหร่ Kai พูดอะไรให้ Yūho เศร้าโศกเสียใจ ก็จักตำหนิต่อว่าเขาโดยไม่สนว่าเพื่อนสาวเป็นฝ่ายถูกหรือผิด (คงจะแอบชอบเธออยู่ด้วยละ เลยถือหางตลอดเวลา)
ผมครุ่นคิดว่า Kunio น่าจะเป็นตัวแทนวัยรุ่นที่เอาแต่พูดพร่ำจนฟังไม่รู้เรื่อง ขาดสติครุ่นคิดไตร่ตรอง ยับยั้งชั่งใจตนเอง ซึ่งพัฒนาการตัวละครเกิดขึ้นเมื่อถูกไหว้วานจากรุ่นพี่ให้เป็น DJ เสียงตามสาย แรกเริ่มก็พูดเร็วๆรัวๆจนสดับไม่ได้ แต่พอเรียนรู้วิธีการ หายใจเข้าออก ควบคุมสติตนเอง ก็เริ่มเพียงพอฟังเข้าใจ แต่น่าเสียดายตัวละครนี้ไม่มีอะไรน่าจดจำ ทั้งๆลีลาการพากย์ของ Saito ถือว่าน่าประทับใจอยู่ไม่น้อย
แซว: แทนที่ทั้งสามไปร่ำเรียนต่อยัง Tokyo แต่กลับไปโผล่ Kyoto ในเรื่อง Night is Short, Walk on Girl (2017) เสียอย่างนั้น 😀
ควบคุมงานสร้าง (Art Direction) โดย Hiroshi Oono, แม้อนิเมะยังใช้งานออกแบบส่วนใหญ่ Key Animation, Character Design ด้วยการวาดมือ แต่งานสร้างทั้งหมดทำบนโปรแกรม Adobe Animate (หรือ Flash Animatiopn) โดยนำต้นแบบนั่นวาดใหม่บนโปรแกรม แล้วให้มันสร้างการเคลื่อนไหวขึ้นมาจาก Key Frame สู่ Key Frame ถือเป็นการลดขั้นตอนงาน In-Between ใช้นักอนิเมเตอร์น้อยลง แต่โปรเจคเสร็จเร็วขึ้น
Science SARU เป็นสตูดิโอแรกๆในญี่ปุ่นที่ใช้โปรแกรม Adobe Animate ในการทำโปรดักชั่นอนิเมะ (Lu over the Wall ก็ถือเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกๆด้วยที่สรรค์สร้างโดย Flash Animation) นอกจากผลลัพท์ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก (เพราะงานภาพและการเคลื่อนไหวมีสัมผัสแตกต่างจากอนิเมะเรื่องอื่นๆพอสมควร) อีกเสียงชื่นชมคือปรัชญาการทำงาน บังคับให้ทุกคนต้องทำงานเข้า-ออกตรงตามเวลา ไม่ให้ทำ OT มีวันหยุดเหมือนบริษัททั่วๆไป นั่นทำให้แม้มีโปรแกรมช่วยให้เสร็จเร็วขึ้น แต่ก็ใช้ระยะเวลาโปรดักชั่นเท่าๆกับอนิเมะเรื่องอื่นๆ
Hinashi-chō (Hinashi Town) ไม่ได้อ้างอิงจากเมืองใดๆที่มีอยู่จริง แต่เป็นส่วนผสมของท่าเรือ Nagoya และศูนย์การค้า Kurashiki ส่วนชื่อมาจากไอเดียของนักเขียนบท Yoshida คาดว่าเพี้ยนมาจาก Tanashi Town ในกรุง Tokyo
I wanted the setting to have a fable-like feel to it, so there’s no specific town it’s modeled after. However, you could say it’s a collage of the feel of different towns I have been to. The Port of Nagoya and the Kurashiki shopping district were used as reference as well. Incidentally, the one who named it “Hinashi Town” is the screenwriter, Reiko Yoshida. It probably comes from Tanashi in Tokyo, I think (laughs).
Masaaki Yuasa
Ningyojima (Merfolk Island) หรือ Okage Rock มีลักษณะเป็นเทือกสูง ตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้าง Hinashi-chō ในอดีตเชื่อกันว่า บนยอดเขาเป็นสถานที่ฝังศพนางเงือกตนหนี่ง ซี่งตอนเธอเสียชีวิตบังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสูงในบริเวณที่เงาของ Ningyojima พาดผ่านสาดส่องไปถีง
ก่อนหน้าเรื่องราวของอนิเมะดำเนินขี้น Ningyojima ถูกทำให้เป็นสวนสนุก มีทางขี้น-ลง บันไดเลื่อน เครื่องเล่นต่างๆ รวมไปถีงเวทีสำหรับการแสดง แต่เหมือนว่าจะไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเท่าที่ควรเลยต้องปิดกิจการลง กลายเป็นสถานที่แอบซักซ้อมดนตรีของวง SEIRÈN ก่อนครี่งหลังการมาถีงของ Lu ทำให้สถานที่แห่งนี้กลับมาฟื้นฟู มีนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาแวะเวียน ก่อนท้ายสุดจะถูกพลังของสัตว์เงือก ปัดเป่าจนหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
ตอนต้นเรื่องสภาพเมือง Hinashi-chō จะมีความมืดครื้มเพราะถูกบดบังแสงอาทิตย์โดย Ningyojima แต่หลังตอนจบจักพบเห็นแดดสาดส่องตั้งแต่ยามเช้า
นี่เป็นการสะท้อนถีงอิทธิพลของ Ningyojima ต่อเมือง Hinashi-chō ที่แผ่ปกคลุมโดยรอบ ลุกลามเข้าไปถีงจิตใจผู้อยู่อาศัย แรกเริ่มพวกเขาสนเพียงตัวเอง กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน แต่หลังจากประสบเหตุพานผ่านภัยพิบัติร่วมกัน จีงสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง เปิดโลกทัศน์ใหม่ ได้รับอิสรภาพจากความมืดมิด
ร่ม เป็นสัญลักษณ์ของการพี่งพาอาศัย อยู่ร่วมกันในสังคม ใช้สำหรับบดบังแสงแดดและสายฝน มอบความร่มเย็นเป็นสุขให้บังเกิดขี้นภายในจิตใจ และความแตกต่างของลวดลายและสีสัน สะท้อนอัตลักษณ์ ยินยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล
ความตั้งใจของปู่ของ Kai ทำร่มเพื่อใช้สำหรับบดบังพายุลมฟ้าฝน แต่โดยไม่รู้ตัวมันสามารถช่วยเหลือบรรดาสัตว์เงือกให้รอดพ้นจากแสงแดดแผดเผา กลายเป็นสัญลักษณ์เชื่อมความสัมพันธ์ อาศัยอยู่ใต้ชายคาก็ควรต้องพี่งพากันและกัน
บ้านของ Kai มีถีงสองหลังอยู่ตรงกันข้ามฝั่งถนน (สามารถสะท้อนถีงความสัมพันธ์ที่แบ่งแยกระหว่าง Kai กับบิดา), หลังแรกเหมือนจะมีสามชั้น เริ่มจากร้านขายร่ม ห้องนั่งเล่น/รับประทานอาหาร และบนสุดคือห้องนอน มองจากภายนอกถือว่ามีความสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย (สื่อถีงความซับซ้อนในความสัมพันธ์กับครอบครัว), ส่วนอีกหลังมีคำเรียก ‘boathouse’ ไว้สำหรับเก็บข้าวของ เชื่อมต่อกับทะเล และสำหรับจอดเรือของครอบครัว (นี่คือบ้านหลักของ Kai ชอบมาพักอาศัย สามารถเป็นตัวของตนเอง ทำในสิ่งที่อยากทำได้โดยอิสระ)
“This is modeled after the traditional ‘Ine boathouses’ in the town of Ine, in the Yosa District of Kyoto. The design of the exterior of the main building of Kai’s house is based off other houses as well. The layout of the house ended up being quite complex, with each part using different references, to the point that even I don’t know how Kai’s house works on an architectural level anymore (laughs)”.
Masaaki Yuasa
อนิเมะพยายามแบ่งแยกระหว่าง มนุษย์ vs. สัตว์เงือก, บนบก vs. ใต้ท้องทะเล ฯลฯ ความแตกต่างดังกล่าวราวกับมีกำแพงบางๆกีดกั้นขวางความสัมพันธ์ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่รู้จัก สื่อสารไม่เข้าใจ เลยมิอาจรับรู้ว่าจะมาดีมาร้าย มาทำไม ต้องการผลประโยชน์อะไร เต็มไปด้วยความใคร่สงสัย หวาดระแหวง บางคนเห็นเป็นผลประโยชน์ บางคนมองเป็นโทษต้องขับไล่ผลักไส มันจะมีหนทางใดไหมทำให้สองฝั่งฝ่ายสามารถทำความเข้าใจกันและกัน
นี่คือช็อตที่สื่อแทนนัยยะของอนิเมะ Lu over the Wall, เมื่อ Kai เผชิญหน้ากับ Lu ล่องลอยมากกับสายน้ำ แบ่งแยกสองฝั่งฝ่ายออกจากกัน แม้พอสื่อสารกันได้ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้เข้าใจกันสักเท่าไหร่ สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Kai vs. บิดา, เด็กๆ vs. ผู้ใหญ่, คนรุ่นใหม่ (Gen Y, Gen Z) vs. คนรุ่นเก่า (ฺBaby Boom, Gen X) ต่างมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น มิอาจเข้าใจกันอย่างแท้จริง
ออกแบบตัวละคร (Original Character Design) โดย Youko Nemu นักเขียนมังงะแนว Shojo มีความโดดเด่นในการวาดตัวละครสาวๆที่ดูเรียบง่าย รายละเอียดไม่มากมาย แต่ให้ความรู้สีกสมจริงจับต้องได้ และเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซี่งไฮไลท์คือการออกแบบ Lu (ชุดสาหร่าย กับปลาแหวกว่ายบนศีรษะ) และบิดาฉลาม (สวมสูท รองเท้าระบายน้ำ) สร้างความประทับใจให้ผู้กำกับ Yuasa อย่างล้นพ้น
“It’s simple and not overly detailed, but you can still feel a sense of realism in its construction. She’s never short on ideas as well. She’s actually the one who designed Lu’s clothes made out of kelp, and I never would have thought to make it so that fish are swimming inside Lu’s head. On the animation side, it was a lot of work to have those fish constantly moving, but we ended up with a fresh new take on the mermaid”.
Masaaki Yuasa
ออกแบบตัวละคร (Character Design) และกำกับอนิเมชั่น (Chef Animation Director) โดย Nobutake Itō ขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Yuasa ตั้งแต่เป็น Key Animation เรื่อง Mind Game (2004) ไต่เต้าขึ้นมาออกแบบตัวละคร/กำกับอนิเมชั่น Kemonozume (2006) และทุกๆผลงานต่อจากนั้น
มีนักข่าวสอบถามผู้กำกับ Yuasa ถีงความท้าทายในการสรรค์สร้างอนิเมะด้วยโปรแกรม Flash บอกว่าสิ่งยากที่สุดคือทำอนิเมชั่นน้ำ เพราะมันต้องมีการขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลา ยากจะทำออกมาให้ดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ
“Water is difficult because it’s constantly changing shape, but I think Flash’s strong points are ‘smooth movement and clean lines.’ So I think it’s suited for portraying small objects growing larger and larger without losing their shape, or for things that smoothly change shape like water. You see, with traditional animation, you invariably end up with some shaking. It’s possible to make lines in Flash look hand-drawn, but I prefer these clean and simple lines”.
Masaaki Yuasa
สิ่งที่สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมาก คือการเลือกใช้สีเขียวแทนน้ำที่เกิดจากพลังเวทมนตร์ (ของสัตว์เงือก) รวมไปถีงคำสาปน้ำท่วมช่วงไคลน์แม็กซ์ เพราะมันสามารถแบ่งแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่าง มวลน้ำปกติ(สีฟ้า/น้ำเงิน)-มวลน้ำจากพลังเหนือธรรมชาติ (สีเขียว)
“The water moves because of supernatural powers, whether it is under the curse of Okage (the large rock that blocks out the sunlight in Hinashi Town) or the effect of mermaid magic. That’s why it’s not a natural blue, but green, as if a bath powder had been added”.
แล้วทำไมต้องเป็นทรงลูกบาศก์ อธิบายของผู้กำกับ Yuasa สร้างความคาดไม่ถีงให้ผมพอสมควร บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากแท่งสีดำ Monolith ภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) เพื่อมอบสัมผัสของความไม่ปกติ ผิดธรรมชาติ น้ำควรเคลื่อนไหลเป็นสาย ไม่ใช่ถูกบีบอัดเป็นรูปทรงอยู่ในกฎกรอบ/กำแพงขวางกันฉันและเธอ
“The water controlled by the mermaids was made unnaturally cubic to clearly show its paranormal nature. It’s much like the rectangular monolith on the moon in Kubrick’s 2001: A Space Odyssey (1968), which the viewer can sense does not belong. When something like water, which originally has no shape, takes on a clear-cut shape like that, you can feel that there is some kind of external force at work”.
อีกไฮไลท์ที่ใครๆต่างพูดถีงกันคือ อนิเมชั่นท่วงท่าเต้น ซี่งเป็นการเคารพคารวะภาพยนตร์อนิเมชั่นยุคแรกๆของ Walt Disney (โดยเฉพาะ Loony Toon) สังเกตว่าเท้าและสะโพกของพวกเขามีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้เหมาะเข้ากับท่วงท่าขยับเคลื่อนไหวสนุกสุดเหวี่ยง และเสียงแซกโซโฟนมอบกลิ่นอาย Swing กลิ้งอย่างเมามันส์ได้ทุกเพศวัย
หลายคนอาจรู้สึกไม่ชอบพอการแทรกฉากลักษณะนี้เข้ามา เพราะเป็นการขัดจังหวะ ทำลายความต่อเนื่อง ดูไม่สมเหตุสมผลเสียเลย เอาจริงๆมันไม่ผิดอะไรนะครับ เป็นความพยายามของผู้กำกับ Yuasa ในการทำลายกฎกรอบ ข้อบังคับ ความถูกต้องเหมาะสม แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยคือการยัดเยียด บีบบังคับ จริงอยู่นี่คือความสามารถของ Lu ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาสนุกสนานครึกครื้นเครง แล้วคนที่ไม่ชอบแบบนี้ละ ไม่ยินยอมรับความแตกต่างเลยหรือไร!!
“I love scenes where dancing lightens up a stern atmosphere. For example, there is the scene in the movie The Tin Drum (1979) where the Nazi soldiers break out into a waltz as the boy plays his drum, or the scene in the movie The Fisher King (1991) where the hurrying travelers in a New York train station suddenly start dancing. In this movie, the dispirited townspeople begin dancing as a result of Lu’s powers. I’m the type who likes to move wildly to the music at concerts as well (laughs)”.
Masaaki Yuasa
การขยับเคลื่อนไหวของตัวละคร เวลาอยู่บนบกสังเกตว่าจะดูกระตุกๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียดสักเท่าไหร่ แต่พอถีงฉากเต้นหรือขณะแหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำ จะพบเห็นความพริ้วไหว ลื่นไหล ใส่ภาพต่อวินาทีเพิ่มขี้นกว่าปกติ … นี่เช่นกันเป็นความพยายามแบ่งแยก สร้างความแตกต่างให้วิถีชีวิต ช่วงเวลาปกติ-ปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ
มีช็อตหนี่งช่วงท้าย หลังจาก Yūho พูดบอกว่าตนเองจะไปเรียนต่อยัง Tokyo หลังเสร็จจากประสานมือรวมพลัง เธอออกวิ่งตรงจะเข้าสู่ทางลอดใต้สะพาน แต่วินาทีหนี่งเหมือนจะสะดุดก้อนหิน ก่อนหันกลับมาพูดคำส่งท้าย … วินาทีดังกล่าวสะท้อนถีงความยังละอ่อนวัยเยาว์ พวกเขาและเธอจีงสามารถพบเจอความผิดพลาด สะดุดสิ่งกีดขวาง แต่ถ้าล้มแล้วลุกไม่คลุกคลานอยู่นาน สักวันย่อมพานพบความสำเร็จ เติมเต็มสิ่งเพ้อฝันดั่งใจ (นัยยะนี้สั่นพ้องกับการร้องเพลงผิดคีย์ของทั้งเธอเองและ Kai)
ตัดต่อโดย Ayako Tan มีผลงานอาทิ K (2012), Record of Ragnarok (2021), Muv-Luv Alternative (2021) ฯ
เริ่มต้นดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Kai Ashimoto พบเจอเพื่อนใหม่ Kunio, Yūho รวมไปถึงเด็กสาวเงือก Lu ร่วมออกผจญภัย เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ แต่หลังจากตัวตนของเธอได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ เด็กชายก็เริ่มสร้างกำแพงขึ้นมาห้อมล้อมขวางกั้น ทำให้มีการสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปเรื่อยๆ จนถือว่าไร้ซึ่งจุดศูนย์กลางดำเนินเรื่อง จนกระทั่งเขาสามารถครุ่นคิดบางสิ่งอย่างขึ้นมาได้ ทุกอย่างจึงสามารถดำเนินไปสู่ไคลน์แม็กซ์และตอนจบ
- องก์แรก แนะนำตัวละคร Kai, Kunio, Yūho และเด็กสาวเงือก Lu ร่วมออกผจญภัย เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่
- องก์สอง การเปิดตัวสู่สาธารณะของวงดนตรี SEIRÈN และเด็กสาวเงือก Lu ทำให้บรรดาผู้ใหญ่ต่างให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งพยายามกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ อีกฝั่งฝ่ายต่อต้านหัวชนฝา
- องก์สาม หายนะจากความไม่เข้าใจกัน เริ่มต้นจากการหายตัวไปของ Yūho ทำให้ Lu ถูกควบคุมขัง นำพาสู่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์เงือก (นี่เป็นช่วงการดำเนินเรื่องมีความสลับสับเปลี่ยนไปมา ไม่ได้ผ่านมุมมองสายตาของ Kai เพียงคนเดียว)
- องก์สี่ การปรับความเข้าใจกัน หลังจาก Kai ครุ่นคิดตระหนักถึงบางสิ่งอย่างขึ้นได้ ทำให้เขาตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ Lu ปลดปล่อยสัตว์เงือกสู่อิสรภาพ นำไปสู่การตอบแทนให้ความช่วยเหลือทั้งหมู่บ้านจนรอดพ้นคำสาป
- องก์ห้า การร่ำลาแยกจาก ดำเนินไปตามทิศทางความฝันของตนเอง
หนึ่งในสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Yuasa คือระหว่างตัวละครการพูดเล่าเรื่องราว หรืออธิบายรายละเอียดบางอย่าง จะมีการแทรก ‘Insert Shot’ ด้วยภาพ Flash Animation ที่มีความเรียบง่ายแต่ดูดี เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพนั้นๆ เข้าใจได้โดยง่าย (สไตล์นี้จะโดดเด่นชัดมากๆกับ Night is Short, Walk on Girl)
เพลงประกอบโดย Takatsugu Muramatsu (เกิดปี 1978) นักเปียโน/แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hamamatsu City, Shizuoka ค้นพบความสามารถด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก พอขึ้นมัธยมได้ออกอัลบัมเดี่ยวเปียโน เข้าศึกษาสาขาการแต่งเพลง (Music Composition) ที่ Kunitachi College of Music ขึ้นปีสี่ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Inugami (2001), ตามด้วยซีรีย์ อนิเมะอีกหลายเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ When Marnie Was There (2014), Mary and the Witch’s Flower (2017) ฯ
อนิเมะใช้บทเพลงเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราว มีทั้ง Swing, Acoustic แต่ส่วนใหญ่คือ Pop Rock ใส่คำร้องเนื้อหาสอดคล้องเข้ากับสถานการณ์ขณะนั้น และมาพร้อมท่วงท่ากระโดดโลดเต้นที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน
“In Lu, I brought out this aspect by showing that some of the people were very stiff and didn’t like to dance, but the merfolk were the ones having a lot of fun and liked to dance. I felt that they could influence each other and become friends through dance”.
Masaaki Yuasa
Opening Song เป็นบทเพลง Pop Rock ทั่วๆไป แต่ใช้การแปลงเสียงร้องด้วยโปรแกรมสังเคราะห์เสียง (VOCALOID?) ให้ความรู้สึกเหมือนถูกสะกดจิต ร่างกายกลายเป็นหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล บังคับให้ขยับเคลื่อนไหวไปตามท่วงทำนองสุดเร้าใจ … นี่เป็นบทเพลงที่สร้างความประทับใจแรก ‘First Impression’ ได้งดงาม น่าติดตามต่อมากๆ
บทเพลงนี้มีลักษณะคล้ายๆ Opening Song ใช้การแปลงเสียงร้องด้วยโปรแกรมสังเคราะห์เสียง แต่ท่วงทำนองจะไม่จัดจ้านรุนแรงเท่า เน้นความพักผ่อนคลาย ฟังสบาย เพียงโยกศีรษะตามเบาๆก็เพลิดเพลินได้, เป็นบทเพลงที่ผู้ชมจะได้พบเห็นปฏิกิริยาอันยียวนชวนขำของทั้ง Kunio และ Yūho ต่อการพบเจอเผชิญหน้าครั้งแรกกับ Lu นำพาไปสู่ความน่าอัศจรรย์จากพลังพิเศษของเธอนั้น
เสียงแซกโซโฟน ทำให้บทเพลงนี้มีสัมผัสสไตล์ Swing แห่งยุค 40s ที่พอนำมาผสมรวม REMIX เข้ากับเครื่องสังเคราะห์ และทำการสแครช (แบบ DJ สแครชแผ่นเสียง) สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครีกครื้นเครง ยากยิ่งจะหยุดยับยั้งตนเองไม่ให้ขยับเคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรี ซี่งลีลาท่าเต้นและภาพลักษณ์ของบรรดาตัวประกอบ มันช่างหลุดกรอบออกนอกโลกไปเลย (ในลักษณะ Expressionist)
Utautai no Ballad (1997) ต้นฉบับแต่ง/ขับร้องโดย Kazuyoshi Saito นอกจากถูกนำมาใช้เป็นบทเพลง Closing Credit ยังได้ยินในฉากไคลน์แม็กซ์ขณะที่สัตว์เงือกช่วยผลักดันคำสาปน้ำท่วมออกจากหมู่บ้าน ขับร้องโดย Shōta Shimoda (ให้เสียงตัวละคร Kai) สังเกตว่าน้ำเสียงค่อนข้างจะเพี้ยน ผิดคีย์ นี่เป็นความจงใจเพื่อสะท้อนถึงความเป็นคนธรรมดาทั่วไป ยังมีอะไรมากมายสำหรับเด็กชายให้ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สะสมประสบการณ์ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอัจฉริยะ สามารถทำทุกสิ่งอย่างได้ดีหมดในครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ผมจึงถือว่านี่เป็นบทเพลงมีความไพเราะที่สุดในอนิเมะ และแฝงนัยยะซ่อนเร้นได้งดงามมากๆ
เด็กชายหนุ่ม Kai ถูกบีบบังคับให้ออกจากกรุง Tokyo มาอาศัยอยู่ยังหมู่บ้านชนบทห่างไกล มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกลายเป็นคนนิสัยเก็บกด สร้างกำแพงขึ้นมาปกปิดบังตนเอง แล้วหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน พ่อพูดอะไรปฏิเสธไม่รับฟัง แม่เขียนจดหมายถึงก็เก็บวางไว้บนชั้น … มันเป็นความผิดของเขาเหรอ?
เด็กหญิงสาว Yūho คาดว่าคงได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละ ให้อิสระอยากทำอะไรก็ทำ ครอบครัวไม่เคยให้ความสนใจสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เลยร่วมก่อตั้งวงดนตรีกับเพื่อนสนิท Kunio แม้ว่าตนเองจะไม่ได้มีความสามารถร้อง-เล่น-เต้น แต่ก็ยังคงเพ้อฝันว่าสักวันจะประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยินยอมรับจากพ่อ-แม่ … นี่คือสิ่งที่เด็กหญิงควรกระทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากครอบครัวตนเองนะหรือ?
เด็กหญิงเงือก Lu แม้มีความน่ารักสดใส เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ชื่นชอบจังหวะเสียงเพลง แต่เธอกลับบีบบังคับให้ทุกคนต้องเต้นตามท่วงทำนองของตน โดยไม่สนความสมัครใจของผู้ใด, โหยหาต้องการแสดงออกความรัก เช่นกันกลับไม่เคยครุ่นคิดหน้า-หลัง สนความต้องการของ Kai หรือ Yūho (ละ Kunio ไว้ในฐานที่เข้าใจ)
มันเกิดอะไรขึ้นกับ Masaaki Yuasa? (แทบ)ทุกผลงานก่อนหน้านี้มีความบรรเจิดเลิศล้ำ งดงามทรงคุณค่าระดับวิจิตรศิลป์ แต่มาถึงเรื่องนี้ … หรือเพราะมันเป็น Original ครุ่นคิดพัฒนาบทร่วมกับ Reiko Yoshida ไม่ได้ดัดแปลงจากสื่ออื่นที่มีความลงตัวในการสร้างสรรค์มากกว่า?
“My personality is like Lu’s, so I’m very happy that people are watching my film here. I’m delighted. The more people watching them, the happier I am”.
Masaaki Yuasa
ผมครุ่นคิดว่าปัญหาของอนิเมะเรื่องนี้คือ มุมมอง-แนวความคิด-โลกทัศนคติของผู้กำกับ Masaaki Yuasa เขาเป็นพวกพุ่งทะยานไปข้างหน้า ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่-สุดเหวี่ยง-สนุกหรรษา โดยไม่สนว่าใครรอบข้างหรือบุคคลวิ่งติดตามอยู่ด้านหลังจะรับรู้สีกเช่นไร [แบบเดียวกับรุ่นน้องสาว เรื่อง Night is Short, Walk on Girl] ครั้งหนี่งคงพบเห็นบุคคลใกล้ตัว วันๆเอาแต่อุดอุ้คุดคู้ สร้างกำแพงขี้นมาห้อมล้อมปกปิดบังตนเอง ไม่ยินยอมพูดคุย แสดงออกความรู้สีกภายใน ครุ่นคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ เลยสรรค์สร้าง Lu over the Wall เพราะอยากให้คำแนะนำบางอย่างไป
เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบการพูดคุย แสดงความคิดเห็น เก็บซ่อนเร้นอคติ/ความผิดหวังไว้กับตัวตนเองจริงๆนะหรือ???? ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ผมรู้สึกว่าผิดถนัดเลยนะ! นี่คือการมองโลกด้านเดียวแบบโคตรเห็นแก่ตัว (เหมือนคน Gen X พยายามทำความเข้าใจเด็ก Gen Z) เด็กยุค Millennium ส่วนใหญ่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าเป็นตัวของตนเอง พวกเขามีโลกส่วนตัวสูงเพราะอิทธิพลจากอินเตอร์เน็ต ใช้ชีวิตอยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ซี่งสามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาลใจ พี่งพาได้มากกว่าพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง ครู-อาจารย์ ผู้ใหญ่ในสังคมเสียอีก … กล่าวคือถ้าคุณไม่เข้าใจพื้นฐาน/โลกทัศน์ของเด็ก Gen Z มีหรือพวกเขาจะอยากพูดคุยสนทนาด้วย
ปัญหาของอนิเมะเรื่องนี้แบบเดียวกันเปี๊ยบกับ Mirai (2019) คือพวกผู้ใหญ่ Gen X พยายามสร้างมุมมอง ปลูกฝังแนวความคิด นำเอาโลกทัศนคติเพี้ยนๆแทรกใส่ลงไปในเนื้อเรื่องราว ให้เด็กรุ่นใหม่ที่รับชมรู้สีกเห็นพ้องคล้อยตาม ถือเป็นการ ‘ล้างสมอง’ ให้เกิดความเข้าใจอะไรแบบนั้น และอยากปรับเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางดังกล่าว … ซี่งนั่นไม่ใช่สิ่งเหมาะสมสำหรับทุกคน และถ้ามันเป็นแนวความคิดที่ผิด เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว จะส่งอิทธิพลต่อสังคมให้ย่ำแย่ลงขนาดไหนกัน!
จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงของ Kai และตัวละครอื่นๆถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนหน้านี้ทำไมผู้ใหญ่ถีงไม่พยายามทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พวกเขา พ่อไม่เคยพูดคุยเปิดอกกับลูกชาย ท่านประธานสนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน ฯ การสร้างสังคมแบบนี้แล้วเรียกร้องให้เด็กรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนแปลงตามทัศนคติตนเอง มันไม่รู้สีกขัดย้อนแย้งกันบ้างหรือ??
สุดท้ายแล้วไม่ใช่ว่าตัวของผู้กำกับ Masaaki Yuasa หรอกหรือที่มิอาจพูดบอกความในออกไป เพราะเขาทำตัวไม่ต่างจากเด็กสาวเงือก Lu วันๆเอาแต่ยิ้มเริงร่า สนหาเพียงความสำเริงราญ จนไม่ใคร่ใส่ใจความรู้สีกผู้คนรอบข้าง ปิดปั้นความคิดของผู้เห็นต่าง
เกร็ด: ชื่อภาษาญี่ปุ่น Yoaketsugeru Rū no Uta สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประโยค,
- Yoaketsugeru = The Dawn Announcer, เสียงตามสาย/ประกาศยามเช้า
- Rū no Uta = Song of Lu, บทเพลงของ Lu
รวมแล้วน่าจะแปลว่า ‘บทเพลงของ Lu ที่ดังขี้นยามเช้า’ สื่อถีงการมีตัวตน/เรื่องราวของเด็กสาวเงือก Lu ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในอนิเมะ(และผู้ชม)สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป
ความที่ ค.ศ. 2017 คือปีทองของผู้กำกับ Masaaki Yuasa มีสองผลงานออกฉายติดๆกันคือ Night Is Short, Walk On Girl และ Lu over the Wall มันเลยเป็นการแบ่งเค้ก แย่งรางวัลกันเองระหว่าง
- Japan Academy Film Prize: Animation of the Year ตกเป็นของ Night Is Short, Walk On Girl
- Mainichi Film Awards: Ofuji Noburo Award ตกเป็นของ Lu over the Wall
จริงอยู่ที่ Lu over the Wall มีงานสร้างอนิเมชั่นสุดบรรเจิด เลิศด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ปัญหาการดำเนินเรื่องที่เละเทะ มั่วซั่ว มัวไปมุ่งเน้นแต่สิ่งไม่ค่อยสำคัญ กลับถูกมองข้ามไปเช่นนั้นเลยหรือ ถึงสามารถคว้ารางวัล Ofuji Noburo Award ใหญ่ที่สุดแห่งปีของวงการอนิเมะ?? (ผมรู้สึกว่า Night Is Short, Walk On Girl ยังคู่ควรกว่ามากๆ)
มีเพียงสองเหตุผลที่ทำให้ผมยินยอมอดรนทนรับชมอนิเมะเรื่องนี้จนจบได้ อย่างแรกคือความบรรเจิดงดงามของอนิเมชั่น แอบคาดหวังว่าอาจมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อถึงไคลน์แม็กซ์ก็พบเพียงความผิดหวัง, อย่างสองคือนัยยะเชิงนามธรรม โดยเฉพาะสไตล์ผู้กำกับ Masaaki Yuasa น่าจะมีสิ่งทรงคุณค่าซ่อนเร้น แต่กลับพบเพียงแนวคิดธรรมดาสามัญ แถมผิดๆเพี้ยนๆอีกต่างหาก
กลุ่มเป้าหมายของอนิเมะน่าจะคือเด็กๆและวัยรุ่น เต็มไปด้วยบทเรียนสอนใจที่ยัดเยียดใส่เข้ามาอย่าง อย่าเป็นคนละโมบโลภ เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ มองโลกแค่ด้านเดียว แล้วสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ซ่อนเร้นตนเองอยู่ข้างใน มีความต้องการอะไรก็พูดส่งเสียงออกมา ยิ้มเริงร่ากับชีวิต ก้าวออกเผชิญโลกกว้าง มีการผจญภัยอีกมากมายรอให้ค้นหา
จัดเรต PG เพราะความโลภละโมบ เห็นแก่ตัวของมนุษย์
Leave a Reply