You Only Live Twice

You Only Live Twice (1967) British : Lewis Gilbert ♥♥♥

ภาพยนตร์ลำดับที่ 5 จอมมหากาฬ 007 คราวนี้ James Bond นั่งเรือดำน้ำไปโผล่ที่ญี่ปุ่น เพื่อจัดการกับองค์กร SPECTRE เปิดตัว Ernst Stavro Blofeld ป้องกันสงครามเย็นที่จะเกิดขึ้นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย, เป็นครั้งแรกของแฟนไชร์ที่ไม่อ้างอิงเรื่องราวตามนิยายของ Ian Fleming เขียนบทภาพยนตร์โดย Ronald Dahl และมี Freddie Young เป็นตากล้อง

ความตั้งใจของผู้สร้าง Albert R. Broccoli และ Harry Saltzman ต้องการดัดแปลง Her Majesty’s Secret Service ให้เป็นหนังเรื่องถัดไป แต่ติดปัญหาเรื่องการหาสถานที่ถ่ายทำในหน้าหนาว และต้องมีหิมะตก จึงหยิบ You Only Live Twice ขึ้นมาดัดแปลงก่อน

ตามลำดับนิยายของ Ian Fleming ที่ตีพิมพ์ หลังจาก Thunderball (1961) จะตามด้วย The Spy Who Loved Me (1962), On Her Majesty’s Secret Service (1963) และ You Only Live Twice (1964)

You Only Live Twice เป็นผลงานลำดับที่ 11 (นับนิยายเล่มที่ 12) ตีพิมพ์วันที่ 26 มีนาคม 1964 ถือเป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้ตีพิมพ์ขณะ Fleming ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องราวถือเป็นบทสรุปของ Blofeld Trilogy, ผมไม่ขอเล่ารายละเอียดที่มาที่ไปของนิยายแล้วกันนะครับ เพราะมันคนละเรื่องกับในหนังเลย (ในนิยาย ตอนจบ Blofeld สู้กับ James Bond ตัวต่อตัว ผลลัพท์… มีใครคนหนึ่งตาย)

แต่มีคำพูดประโยคหนึ่งในนิยาย ที่ผมขอ Quote มานะครับ เป็นคำอธิบายชื่อหนัง

You only live twice:
Once when you are born
And once when you look death in the face

(You Only Live Twice, Chapter 11)

ผู้กำกับ Terence Young ถือว่าอิ่มตัว พอแล้วกับ James Bond ทำให้ผู้สร้างต้องหาผู้กำกับใหม่ ก่อนจะได้ Lewis Gilbert ผู้กำกับชาวอังกฤษที่มีผลงานดังหลายเรื่อง อาทิ Reach for the Sky (1956), Sink the Bismarck! (1960), Alfie (1966) ฯ ตอนแรกที่ Gilbert ได้รับข้อเสนอก็บอกปัด แต่เพราะคำพูดของ Broccoli ที่ว่า ‘นายไม่ควรทิ้งงานนี้นะ เพราะหนังมีฐานผู้ชมมากที่สุดในโลก’ (You can’t give up this job. It’s the largest audience in the world.) นี่ทำให้ Gilbert ตัดสินใจรับ และยังได้กลับมาทำหนัง James Bond อีกรวมทั้งหมด 3 ภาค You Only Live Twice (1967), The Spy Who Loved Me (1977) และ Moonraker (1979)

ช่วง pre-production ผู้กำกับ Gilbert, โปรดิวเซอร์ Broccoli กับ Saltzman, นักออกแบบ Ken Adam และตากล้อง Freddie Young ได้เดินทางไปสำรวจสถานที่ถ่ายทำยังญี่ปุ่น แผนเดิมคือเดินทางกลับอังกฤษเที่ยวบิน BOAC Boeing 707 (Flight 911) วันที่ 5 มีนาคม 1966 แต่ทั้ง 5 ตัดสินใจเลื่อนเที่ยวบิน เพราะต้องการดูการแสดงโชว์สาธิตของนินจา (เพราะอาจมีอะไรน่าสนใจนำมาใส่ในหนังได้), มีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นจากเที่ยวบินนี้ เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก นักบินผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด (นี่ยังกะ Final Destination โชคดีที่รอดมาได้อย่างหวุดหวิด)

เกร็ด: ระหว่างที่ทั้ง 5 อยู่ญี่ปุ่น ได้พบกับ Peter R. Hunt (นักตัดต่อ) ที่มาพักร้อน ต่อมาได้กลายเป็นผู้ช่วยกองถ่าย Second Unit -ของหนังเรื่องนี้ และปีถัดมากลายเป็นผู้กำกับ On Her Majesty’s Secret Service (1969)

สำหรับบทภาพยนตร์ ตอนแรกทีมงานได้ลาก Harold Jack Bloom ไปถึงญี่ปุ่นเพื่อให้ช่วยพัฒนาบทหนัง แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นที่พอใจ ใช้ไม่ได้ กระนั้นไอเดียบางอย่างก็ยังคงเหลือในบทสุดท้ายของหนัง (ได้รับเครดิตว่า Additional Story Material), Ronald Dahl เพื่อนสนิทของ Ian Fleming จึงได้รับการติดต่อให้มาช่วยเขียนบทหนัง

Ronald Dahl นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดัง (อาทิ Charlie and the Chocolate Factory, Matilda, Fantastic Mr Fox, The BFG ฯ) ไม่เคยมีประสบการณ์การเขียนบทภาพยนตร์มาก่อน ตอนที่เขาอ่านนิยายเรื่องนี้ ให้ความเห็นว่า เป็นนิยายของ Fleming ที่ห่วยแตกที่สุด ไม่มีพล็อตอะไรเลยที่สามารถดัดแปลงให้เป็นหนังได้ (Ian Fleming’s worst book, with no plot in it which would even make a movie) Dahl จึงบอกกับโปรดิวเซอร์ ว่าจะสร้างพล็อตใหม่ให้กับหนัง ใช้เวลาเขียนบทร่างแรก 6 สัปดาห์ โดยโครงเรื่องที่คิดได้ นำมาจากนิยาย Dr. No

Sean Connery กลับมารับบท James Bond ครั้งที่ 5 ครานี้เดินทางไปญี่ปุ่น -ผมระลึกถึงหนังเรื่องสุดท้ายของ Cary Grant เรื่อง Walk Don’t Run (1964) ที่ก็ไปถ่ายญี่ปุ่นเหมือนกัน- Bond ภาคนี้ว่ากันตามตรงไม่มีอะไรน่าจดจำเสียเท่าไหร่ … แม้ว่าจะมีการปลอมตัวให้ Bond เป็นคนญี่ปุ่น, ฝึกวิชานินจา, ขับเฮลิคอปเตอร์, แต่งงานกับผู้หญิงญี่ปุ่น และถูกลอบฆ่าเสียชีวิต, กระนั้นผมรู้สึกว่า มันเหมือนเป็นการไปพักร้อน ผ่อนคลาย (kiss kiss) มากกว่าปฏิบัติภารกิจกู้โลก (bang bang), คือปู่แกชิลมากเลยนะครับ ไม่มีความหวั่นวิตกในสถานการณ์ใดๆทั้งนั้น สนใจแต่ honey moon

สาว Bond ภาคนี้… ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเลยนะครับ เป็นตัวประกอบมากๆ มี 2 คน
– Akiko Wakabayashi รับบท Aki เจ้าหน้าที่ Japanese SIS ผู้ช่วยเหลือ James Bond ก่อนที่จะรับเคราะห์กรรมแทนเขาอย่างน่าเศร้าสลด, Aki มีบทค่อนข้างเยอะ เป็นผู้ช่วยชีวิต Bond หลายครั้งครา จริงๆน่าจะให้เธอเป็นสาวบอนด์คนเดียวไปเลยก็ได้
– Mie Hama รับบท Kissy Suzuki หญิงสาวที่ Bond แต่งงานด้วย … คนนี้น่ารักอยู่นะครับ แต่ไม่มีบทเลย นอกจาก Honey Moon!

นักแสดงที่น่าสนใจกว่า Bond Girl คือ Bond-san Friend, Tetsurō Tamba รับบท Tiger Tanaka หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของญี่ปุ่น ท่าทางคำพูดเหมือนพยัคฆ์ที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ เข้มแข็งแกร่ง ดุดัน หนักแน่น นี่เป็นตัวละครที่มีบุคคลิกน่าสนใจมาก เสียดายที่มีบทเป็นแค่ผู้ช่วย ติดตาม James Bond เท่านั้น ไม่ได้แสดงความสามารถอะไรเท่าไหร่

สำหรับตัวร้ายหลัก Donald Pleasence รับบท Ernst Stavro Blofeld หัวหน้าเบอร์ 1 องค์กร SPECTRE, ตอนผมเห็นหน้า Blofeld ครั้งแรก ก็แอบตกใจ รอยแผลเป็นบากนั้น สร้างให้ตัวละครนี้มีความโหดเหี้ยมลึก แม้มือจะชอบลูบหัวแมว แต่ในใจคงต้องการเห็นโลกนี้ลุกเป็นไฟ, จริงๆในหนังเรื่องนี้ Blofeld ก็ไม่ได้มีอะไรน่าจดจำมากนะครับ (นอกจากใบหน้า) แต่เพราะนี่เป็นตัวละครที่แฟนไชร์นี้ปกปิดบังมานาน หลายคนเลยอยากเห็นว่า ใบหน้าของเขาจะเป็นยังไง นี่ถือเป็นหนังที่ทำให้แฟนเดนตายสมหวังแล้วนะครับ

น่าเสียดายที่ Donald Pleasence ปรากฎตัวแค่ You Only Live Twice ภาคเดียวเองนะครับ ภาคอื่นให้นักแสดงคนอื่นนำแสดง (จริงๆถ้าจะทำแบบนั้น ฆ่าตัวละครนี้ให้ตายไปเลยก็ได้ ไม่ต้องให้รอดชีวิตตอนจบ… แต่เอะ หรือไม่รอด?)

หนังยังมีตัวร้ายอีก 2 คนนะครับ คือ Mr. Osato (รับบทโดย Teru Shimada) และเบอร์ 11 (รับบทโดย Karin Dor) ซึ่งชะตากรรมของทั้งคู่ ไม่ต่างอะไรกับตัวประกอบ หาความน่าสนใจไม่ได้เลย

ถ่ายภาพโดย Freddie Young เจ้าของ Oscar: Best Cinematography 3 รางวัลจาก Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) และ Ryan’s Daughter (1970) หนังสร้างขึ้นหลังจาก Young ได้ Oscar มาแล้วสองตัว แต่ต้องบอกว่าแอบผิดหวังเล็กๆ

สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่น อาทิ Himeji Castle ที่ Hyōgo (ใช้เป็นฉากหลังฝึกซ้อมนินจา), สถานีรถไฟ Tokyo Metro ตั้งอยู่ที่สถานี Nakano-shimbashi, โรงแรม Hotel New Otani Tokyo ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ Osato Chemicals, หมู่บ้าน Bōnotsu ใน Kagoshima ใช้เป็นพื้นหลังหมู่บ้านจับปลา (fishing village), ฉากท่าเรือที่ Kobe, และภูเขาไฟ Mount Shinmoe-dake ที่ Kyūshū เป็นพื้นหลังสำนักงานใหญ่ SPECTRE

สำหรับฉากภายในสำนักงานใหญ่ SPECTRE มีการสร้างฉากขึ้นที่ Pinewood Studio, London เพดานสูง 45 เมตร (148 ฟุต) กินพื้นที่รัศมีกว้าง 5 กิโลเมตร มีรางรถไฟและที่จอดเฮลิคอปเตอร์พร้อม ใช้งบประมาณ $1 ล้านเหรียญ

ตัดต่อโดย Thelma Connell ขาประจำของผู้กำกับ Gilbert แต่เพราะหลังจากตัดต่อฉบับแรกเสร็จ ความยาวกว่า 3 ชั่วโมง ได้รับเสียงตอบรับที่แย่จากฉายรอบทดลอง Peter R. Hunt จึงถูกร้องขอให้มาตัดต่อแก้ไขหนังให้ (ตอนนั้น Hunt เป็นผู้กำกับ Second Unit ให้กับหนัง), ต้องบอกว่าการตัดต่อเล่าเรื่องดูดีขึ้นจาก Thunderball พอสมควร (นี่ต้องให้เครดิต Hunt เต็มๆ) แต่อาจเพราะโปรดักชั่น/เรื่องราวของหนังที่ดูธรรมดา จืดชืด เรียบง่าย ขาดความน่าสนใจ โดยรวมจึงทำให้หนังดูไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่

บางทีก็ตรงไปตรงมาเกินไป อย่างตอนที่ Q แนะ Little Nellie ให้ Bond ใช้สำรวจภูเขาไฟ Shinmoe-dake ยังไม่ทันขาดคำ อีก 2-3 นาทีถัดมา ก็ได้ใช้เลย ไม่ต้องรอนาน, ปกติของเล่น Bond พอแนะนำแล้ว กว่าจะได้ใช้ต้องดำเนินเรื่องผ่านไปสักพัก ผู้ชมจะลุ้นว่าได้ใช้ของเล่นใหม่ตอนไหน แต่กับเรื่องนี้ไม่ต้องลุ้น รู้จักปุ๊ปก็ได้ใช้เลย มันเลยเป็นอารมณ์แบบเซ็งๆ, ผมนึกคำถึงคำพูดประโยคแรกของ Q ในภาคนี้ที่ว่า “Look, 007, I’ve had a long and tiring journey, probably to no purpose.” มัน no purpose จริงๆเลย

การนำเข้าสู่ตัวร้าย และการเปิดเผยใบหน้าของ Ernst Stavro Blofeld ถือว่าทำได้น่าสนใจมาก, หลายภาคก่อนหน้า ยั่วให้ผู้ชมได้ยินแค่เสียง เห็นแขนขา (มือลูบหัวแมว) ของเบอร์ 1 ผู้นำ SPECTRE เท่านั้น มาภาคนี้ ทีแรกก็ยั่วด้วยลักษณะเดิม (ผู้ชมตอนแรกคงคิดว่า สงสัยคงจะเหมือนเดิม ยังไม่เห็นหน้า) แต่พอจังหวะที่ Bond พบกับ Blofeld ตัวต่อตัว หนังเปิดเผยให้เราเห็นใบหน้า Blofeld ครั้งแรกเต็มๆ ถือว่าคาดไม่ถึงเลย!

เพลงประกอบโดย John Barry, ด้วยเรื่องราวของ James Bond ภาคนี้ไปถึงญี่ปุ่น เพลงประกอบเลยต้องการให้มีกลิ่นอาย ความงดงามของชาติตะวันออก (elegance of the Oriental sound) ซึ่งเพลง You Olny Live Twice แม้จะไม่ได้มีเครื่องดนตรีพื้นบ้านใดๆ แต่มีความสวยงามดั่งพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า หอมกรุ่น ตลบอบอวลด้วยความรู้สึกดั่งชาวโลกตะวันออก, แต่งเนื้อร้องโดย Leslie Bricusse ร้องโดย Nancy Sinatra ลูกสาวของ Frank Sinatra (ที่พ่อบอกปัดข้อเสนอไป ลูกสาวเลยอาสาแทน)

ได้ยินว่า Nancy ตื่นเต้นตัวเกร็งมากๆขณะบันทึกเสียงร้อง Barry บอกว่ากว่าเธอจะพอใจ ต้องเข้าห้องอัดถึง 25 ครั้ง ขนาดว่าเขาเตรียมแต่งเพลงสำรองไว้แล้ว เผื่อถ้า Nancy ไม่สามารถร้องตามที่ต้องการได้

Title Sequence มีพื้นหลังเป็นลาวาภูเขาไฟที่กำลังปะทุ ภาพเน้นสีแดง ซ้อนภาพกับหญิงสาวญี่ปุ่นสวมกิโมโน มัดผม แสดงกิริยาท่าทางต่างๆ, ส่วนเส้นๆที่เป็นโครงเหมือนร่ม สีน้ำเงิน (เพื่อให้ตัดกับภาพลาวาสีแดง) มองเป็นสัญลักษณ์อาทิตย์อุทัย (แทนประเทศญี่ปุ่น) หรือดวงตาของใครบางคน (SPECTRE), ฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ถือว่าธรรมดาไปเสียหน่อย เสียงร้องของ Nancy Sinatra ก็ดูเหนื่อยๆ แต่ทำนองเพลงมีความไพเราะอย่างยิ่ง แม้ไม่ได้กลิ่นอายของญี่ปุ่น แต่เป็นรสสัมผัสของ Oriental เหมารวมชาวตะวันออกทั้งหมด

หลังจากที่ Thunderball พูดถึงความกลัวของประเทศมหาอำนาจในการโจรกรรมหัวรบนิวเคลียร์, คราวนี้ You Only Live Twice พูดถึงการแย่งชิงพื้นที่บนอวกาศ ระหว่างอเมริกากับสหภาพโซเวียต นี่คือการแข่งขันเพื่อแสดงศักยภาพของความเป็นมหาอำนาจ ในดินแดนที่มนุษย์ยังไม่เคยเหยียบย่าง ก้าวพ้นข้ามผ่านมาก่อน ซึ่งขณะนั้น ว่าไปก็มีเพียง 2 ประเทศที่มีทรัพยากร บุคลากร เงินทุน ที่มีคุณภาพมากพอจะส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจอวกาศได้, มันจึงไม่แปลกที่ ถ้ายานอวกาศของอเมริกาถูกโจมตี พวกเขาจะต้องสงสัยรัสเซีย เช่นกันกับรัสเซีย ถ้ายานอวกาศถูกโจมตี ก็มีเพียงอเมริกาเท่านั้นแหละที่ทำได้

ราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่สองตัวสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อแย่งเนื้อที่ล่ามาได้ แต่ก็หาได้สนใจใครอื่นเพราะไม่คิดว่าจะมีใครกล้าพอจะแย่งเนื้อจากราชสีห์ แต่แล้วเป็นอีกาที่โฉบเข้ามาขโมยเนื้อหน้าด้านๆ แบบไม่เกรงกลัว และราชสีห์ทั้งสองก็ไม่สามารถทำอะไรได้ มองตากันปริบๆ

มันตลกตรง ประเทศที่มองสถานการณ์ออก กลับเป็นประเทศที่ 3 อย่างอังกฤษ เล็งเห็นถึงกลุ่มบุคคล องค์กรที่จะได้ผลประโยชน์สูงสุด ถ้าเกิดสงครามระหว่างสองประเทศอภิมหาอำนาจของอเมริกาและรัสเซีย

การที่หนังเลือกไปญี่ปุ่น มีนัยยะถึงการมองอนาคตของคนสมัยนั้น ว่าญี่ปุ่นอาจกลายเป็นมหาอำนาจประเทศที่ 3 ขึ้นมาก็เป็นได้, เพราะญี่ปุ่นตอนนั้น มีการพัฒนาก้าวหน้าเร็วมากหลังจากพ่ายแพ้สงคราม ในยุค 60s เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จัดงาน World Fair ฯ นี่ก็เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่สูญเสียไป (จากช่วงสงคราม) พอชาวตะวันตกได้เข้าไปเห็นต่างตกใจในความเปลี่ยนแปลงที่ทันโลก รู้สึกเลยว่าญี่ปุ่นนี่แหละน่ากลัว และอาจเป็นตัวสอดแทรกขึ้นมาในอนาคต

มองจากปัจจุบันย้อนไป ญี่ปุ่นคือมหาอำนาจแห่งเอเชีย แต่ประเทศนี้ไม่เคยทำตัวหยิ่งยโส ทำตัวจิ๊กโก๋กร่างแบบพี่เบิ้มอเมริกาหรือรัสเซีย นั่นอาจเพราะบทเรียนสำคัญที่ญี่ปุ่นได้รู้ คือถ้าคุณต้องการครองโลก ไม่มีทางหรอกกับประเทศที่วางตัวเหนือกว่าคนอื่น เน้นสร้างความสัมพันธ์ รักษาหน้าตา เป็นพันธมิตรกับทุกประเทศในโลก แบบนี้อยู่ร่วมกันสงบสุขกว่า จะไปเบียดเบียน อวดเก่งกับใครคนอื่นทำไม, หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็ใช่ว่าจะเหลือแค่อเมริกากลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจนะครับ เป็นประเทศจีนที่พอเปิดประเทศแล้ว ดูก็รู้ว่ามีความตั้งใจ ให้ตนกลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจ พยายามครอบงำโลกอีกประเทศ … น่าเสียดายที่ ผมคงมีชีวิตอยู่ไม่ทันเห็นการล่มสลายของสองประเทศนี้เป็นแน่

You Only Live Twice ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Odeon Leicester Square, London วันที่ 12 มิถุนายน 1967 เป็นหนัง James Bond เรื่องแรกที่ Queen Elizabeth II เสด็จฯทอดพระเนตร, เช่นกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯทอดพระเนตร วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2510 ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา

ด้วยทุนสร้าง $10.3 ล้าน หนังทำเงินในอเมริกา $43 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $111.6 ล้านเหรียญ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังภาคนี้ (มากกว่า Thunderball) แม้การเล่าเรื่องจะเป็นสูตรสำเร็จ ความสนุกเทียบกับ 4 ภาคก่อนหน้าไม่ได้เลย แต่วัฒนธรรมญี่ปุ่น กับเพลงประกอบที่หอมกรุ่น หวานแหวว ทำให้บรรยากาศหนังค่อนข้างผ่อนคลาย เหมือนให้ James Bond ได้ไปพักร้อน มากกว่าไปปฏิบัติการกอบกู้โลก

แนะนำกับ คนชอบหนังแนวสายลับมาดเท่ห์, ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น และอยากเห็นภูเขาไฟ Shinmoe-dake ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG มีฉากการต่อสู้ที่รุนแรงมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นเลือดถือว่าเด็กดูได้

TAGLINE | “You Only Live Twice เป็นหนังสูตรสำเร็จ James Bond ที่มีเพลงประกอบเพราะๆ และเปิดตัว Ernst Stavro Blofeld เท่านั้นแหละ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: