You, the Living

You, the Living (2007) Swedish : Roy Andersson ♥♥♥♥

“ฉันเกลียดแก เกลียดหมาของแก เกลียดงานที่ทำ เกลียดชีวิต ไม่มีใครเข้าใจฉัน” สิ่งมีชีวิตใน ‘โลกของ Andersson’ เรื่องนี้เป็นพวกไม่รู้จักพอ อยากได้โน่นนี่นั่นทุกสิ่งอย่าง มีอยู่แล้วก็ยังอยากได้ รวยอยู่แล้วต้องการยิ่งๆขึ้นไป ไม่รู้เมื่อไหร่จะรู้จักคำว่า’พอ’

เรื่องที่สองของไตรภาค ‘Living Trilogy’ ประกอบด้วย
– Songs from the Second Floor (2000) หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– You, the Living (2007)
– A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับชมหนังเรื่องนี้แต่หลงเข้ามา แนะนำให้ไปหา Songs from the Second Floor (2000) มาดูก่อนนะครับ ไล่เรียงลำดับตามปีที่สร้าง แต่ถ้าหลวมตัวไปแล้วก็ไม่เป็นไร ทั้งสามเรื่องไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน แค่การรับชมไล่เรียงปีจะทำให้คุณพอมองเห็น เข้าใจความคิดอ่าน ความตั้งใจ ปรัชญาของผู้กำกับ Roy Andersson มากขึ้น

ผมให้คำนิยาม ‘โลกของ Andersson’ มีลักษณะกล้องหยุดนิ่ง, ถ่ายภาพ long take, พื้นหลังเป็นภาพวาดโลกบิดเบี้ยว (grotesque), เรื่องราวสะท้อน เสียดสี ล้อเลียน พฤติกรรมของมนุษย์ ฯ กล่าวคือใน Living Trilogy ผู้กำกับ Roy Andersson ได้สร้างโลกในจินตนาการความคิดของตนเองขึ้นมา มันไม่ใช่ในอุดมคติ แต่เป็นภาพสะท้อนของโลกในมุมที่เขา’เห็น’หรือ’คิด’ (แบบไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน) นำเสนอในรูปแบบ Dark Comedy แต่หลายคนคงจะขำไม่ออก เจ็บอกจุก ให้ตายเถอะ ทำไมเสียดแทงได้ตรงความจริงขนาดนี้

หลังความสำเร็จของ Songs from the Second Floor (2000) ก็มีผู้จัดจำหน่ายหลายรายตามเทศกาลหนัง ให้ความสนใจสนับสนุนโปรเจคเรื่องถัดไปของ Roy Andersson แต่ผมถือว่าใครก็ตามที่หลวมตัวให้เงินแก่ผู้กำกับคนนี้ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คือพี่แกเล่นถลุงเอาไปใช้แบบไม่แคร์สื่อ เห็นว่ารวมๆแล้วมีถึง 18 องค์กร/หน่วยงาน/สตูดิโอ (จาก 6 ประเทศ) สูญไปกับค่าฉากทั้งหมด 50 เซ็ต (สร้างในสตูดิโอทั้งหมด) แต่ละฉากเวลาสร้างขั้นต่ำก็ 3-4 สัปดาห์ ถ่ายจริงโดยเฉลี่ย 2-3 นาทีแล้วก็รื้อทิ้ง ก็ไม่รู้เรียกว่าคุ้มได้หรือเปล่านะ รวมเวลาสร้างหนัง 3 ปี หมดเงินไป 44 ล้าน SEK (=$4.9 ล้านเหรียญ)

เทคนิควิธีการรับชมหนังเรื่องนี้ ผมเขียนไว้แล้วใน Songs from the Second Floor (2000) ไปหาอ่านดูเองได้เลยนะครับ

ได้แรงบันดาลใจมาจากสุภาษิต Old Norse ชื่อ ‘Man is man’s delight,’ นำมาจากรวมบทกวี Poetic Edda ของ Hávamál, ส่วนชื่อหนังนำมาจากฉันท์บทหนึ่งของ Goethe Roman Elegies ปรากฎเป็นข้อความขึ้นตอนต้นเรื่อง

“Therefore rejoice, you, the living, in your lovely warm bed, until Lethe’s cold wave wets your fleeing foot.”

ใครอยากอ่านบทกวีเต็มๆ ‘Man is man’s delight,’ เป็นภาษาอังกฤษ คลิกโลด: http://www.sacred-texts.com/neu/poe/poe04.htm

‘โลกของ Andersson’ เรื่องนี้ ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ อาทิ

  • ผู้หญิงกลางคน (Elisabeth Helander) คร่ำครวญถึงโชคชะตาชีวิตที่ไม่สุขสมหวัง (ก็ไม่รู้เหมือนกันอะไรคือความสุขของเธอ), ปรัชญาชีวิตของเธอคือ ‘What’s the point of living if you can’t get drunk?’ มีฉากหนึ่งผมหัวเราะหนักมาก เมื่อแฟนหนุ่มตั้งใจเซอร์ไพรส์เอาดอกไม้มาให้ เคาะประตูห้อง เปิดออก ยื่นดอกไม้ เธอปิดประตูปัง ดอกไม้คาอยู่ตรงนั้น!
  • ช่างไม้ (Leif Larsson) มีความฝันว่าได้เล่นมายากลชักผ้าปูโต๊ะออก แต่กลับทำให้ถ้วยจานชามอายุกว่า 200 ปีแตกละเอียด… เขาถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า
  • นักล้วงกระเป๋า (Waldemar Nowak) ได้แอบขโมยเงินของ ใครสักคน (Gunnar Ivarsson) ที่ภัตตาคารหรูเพื่อใช้จ่ายค่าอาหาร
  • นักจิตวิทยา (Håkan Angser) ผู้หมดสิ้นศรัทธาในผู้คน หลังจากรักษาคนไข้มากว่า 30 ปี ได้ข้อสรุปว่า ‘มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว สนใจเฉพาะแต่ความสุขของตนเองเท่านั้น’
  • ที่ปรึกษาธุรกิจ (Olle Olson) เข้าร้านตัดผม ถูกช่าง (Kemal Sener) ไถเกรียนก่อนเข้าประชุมกับ CEO (Bengt C. W. Carlsson)
  • นักเล่น Sousaphone ซูซาโฟน [มีลักษณะคล้ายทูบา] (Björn Englund) หาเงินจากการเล่นดนตรีงานศพมาหลายปี ฝากเงินไว้กับธนาคารแต่กลับร่อยหลอลงเรื่อยๆ เพราะธนาคารกำลังที่จะล้มละลาย, ฉากไฮไลท์คือ ตัวละครนี้ขณะมี Sex กับภรรยา ทั้งๆที่ควรมีความสุขแท้ๆ กลับบ่นเรื่องเงินที่หาย
  • หญิงสาว (Jessika Lundberg) ตกหลุมรักนักดนตรีหนุ่มหล่อไอดอล Micke Larsson (Eric Bäckman) จินตนาการวาดฝันได้แต่งงาน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเมนต์บนรางรถไฟ เดินทางไปรอบโลก
  • และคู่สามีภรรยาที่ทะเลาะกัน (Pär Fredriksson กับ Jessica Nilsson) ภรรยาเป็นครูสอนหนังสือด่าว่า ‘old fart’ (ตาเฒ่า) ส่วนสามีคนขายพรมสวนว่า ‘hag’ (ยัยแก่)

พวกเขาปรากฎตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น, ห้องครัว, บาร์, ร้านอาหาร, บันได/ลิฟท์, ที่ทำงาน, ร้านตัดผม, ป้ายรถเมล์ หรือแม้แต่ลานสนามหญ้า

เกร็ด: มีฉากหนึ่งของหนังที่ต้องถ่ายนอก ป้ายรถเมล์ตอนฝนตก เพราะภายในสตูดิโอไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำเยอะขนาดนั้นได้

สังเกตว่าทุกฉากในหนังจะไม่มีเงา มุมมืดเลยนะครับ เพราะตัวละครทั้งหลายเหล่านี้ต่าง ‘มืดหม่น’ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนตัว ‘I want light where people can’t hide in – light without mercy.’

การตัดต่อดำเนินเรื่อง ถือว่ามีลีลาลูกเล่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่นำเสนอไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว มีการย้อนระลึกความทรงจำ (Flashback) ฉากในความฝัน และจินตนาการ ซึ่งตัวละครจะใช้การพูดบอกมองกล้อง ประมาณว่าสนทนากับผู้ชม ขณะนี้กำลังจะ…

ฉากสุดท้ายของหนัง ฝูงบิน B-52 กำลังบินผ่านเมือง… (นั่นเป็นฉากจำลองขนาดใหญ่นะครับ) ที่ตัวละครทั้งหลายอาศัยอยู่, คงเป็นปกติกับคนอยู่ภาคพื้นดิน พอได้ยินเสียงหรือรับรู้การมาของเครื่องบิน ชอบที่จะเงยหน้าแหงนมองท้องฟ้า หมาเห่าเครื่องบิน, ถ้าเปรียบเทียบดั่งความเพ้อฝันจินตนาการ นี่กระมังคือเหตุผลที่มนุษย์ชอบเหม่อมองจินตนาการไปไกล ฉันต้องการอะไรที่มันอยู่สูงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าอะไร แค่ต้องการไว้ก่อน

เกร็ด: ฉากสุดท้ายนี้ล้อกับฉากแรกของหนัง ชายคนหนึ่งสะดุ้งตื่นขึ้น เล่าให้ฟังว่ามีฝันร้าย เครื่องบินทิ้งระเบิดกำลังตรงมา

ผมไม่ขอวิเคราะห์ลงรายละเอียดว่า แต่ละตัวละครมีนัยยะสื่อถึงอะไร มองแค่ภาพรวมจะพบว่า พวกเขาทั้งหลายไม่พอใจชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่ ต่างต้องการขวนขวาย แสวงหาบางสิ่งอย่างที่ดีขึ้นกว่า ทั้งๆที่บางคนชีวิตเป็นสุขกายสบายดีอยู่แล้วด้วยซ้ำ กลับยังต้องการ…อะไรก็ไม่รู้

มันคงเป็นความไม่เข้าใจของผู้กำกับ (รวมถึงตัวผมเองด้วย) มนุษย์เราต้องการอะไรมากกว่าความสุขพอเพียงที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อเอาชีวิตรอด? เพราะความเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก ไม่รู้จักพอ ต้องการเอาชนะ ต้องการเป็นหนึ่ง ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ฯ หนังไม่เชิงให้คำตอบกับเราว่า พวกเขาต้องการอะไร แค่รู้ว่า’ต้องการ’ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ผลลัพท์ของความรู้สึกนี้ ก็คือความไม่พึงพอใจในชีวิต ไม่เป็นสุข อ้างว่าไม่มีใครเข้าใจ!

ก็เอาเถอะครับ คนประเภทนี้มักเถียงไม่ค่อยจะได้ เพราะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง บางสิ่งอย่างถ้าทำแล้วเป็นสุขก็ทำไปเถอะ แต่อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น หรือแสดงออกเกรียนๆแบบพวกเขาในหนังเรื่องนี้ก็พอ ทั้งๆที่ชีวิตมีดีอยู่แล้วแต่ทำเป็นไม่พึงพอใจ ไม่รับรู้ ไม่สนใจ คนประเภทนี้น่าถีบให้ตกตึกเสียจริง!

ความตาย คือหนึ่งในทางออกของชีวิต ที่ผมมองเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่มากๆ, เมื่อตัวละครหนึ่งเสียชีวิตจากจากอาการ Stroke ดูจากสภาพแล้วน่าจะหลอดเลือดในสมองแตก อาการนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่’เครียด’ เกินไป วันๆเอาแต่ต้องการโน่นนี่ อยากได้โน่นนั่น ไม่รู้จักพอ ครุ่นคิดมากจนร่างกายรับไม่ได้ มันคุ้มกันหรือเปล่าที่ถ้าสมมติว่าได้ทุกสิ่งอย่างแล้ว แต่ตัวเองกลับกลายเป็นอัมพาต พิการ เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเสียชีวิต ตายจากโลกไปแล้ว ทุกสิ่งที่ทำมาเอาติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง ทั้งหมดทำไปมีค่าอะไร…ว่ะ!

ผมเคยมีเพื่อนร่วมงาน (สมัยก่อนเคยทำงานบริษัท) ทำงานฝ่ายบัญชี เป็นเส้นเลือดในสมองแตก เพราะความหมกมุ่นทุ่มเททำงานกว่า 20 ปี ไม่สนอะไรใคร เห็นแก่เงินเพียงอย่างเดียว ปรากฎว่าวันดีคืนดีล้มลงครึ่งตัวขยับไม่ได้ ตรวจพบเส้นเลือดในสมองแตก หมดเงินที่เก็บมากับค่ารักษาพยาบาล ตอนนั้นกลับมาทำงาน แต่ก็ไม่มีใครสนใจเหลียวแล มีชีวิตเรียกว่า ‘น่าสมเพศ’ อย่างยิ่ง (คือตอนแรกก็สงสารนะครับ แต่พอรับรู้เรื่องราวที่มาที่ไปของพี่คนนี้ ก็รู้สึกคล้ายกับหนังเรื่องนี้ ต้องบอกว่าไม่มีความน่าเห็นใจแม้แต่น้อย)

ข้อคิดจากหนังเรื่องนี้ กับคนทั่วไปคงได้ว่า ‘จงรู้จักความพอเพียงในชีวิต’ แต่ผมอยากให้มองลึกเข้าไปอีก ไม่ใช่แค่การรู้จักแต่ต้องทำความเข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตให้อยู่ใน’ความพอเพียง’นั้นได้, คือถ้าคุณเพียงรู้จักเข้าใจ แต่ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ นี่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะครับ ดั่งเสือกระดาษ เก่งแต่ในตำรา แนวโน้มเส้นเลือดในสมองแตกยังมีอยู่สูง … เป็นกำลังใจให้แตกเร็วๆนะครับ วันที่จะรู้ตัวคิดได้ก็จะมาถึงโดยทันที

ความยากในการรับชมหนังเรื่องนี้ ผมถือว่าลึกล้ำกว่า Songs from the Second Floor (2000) เสียอีกนะครับ เพราะส่วนตัวมองหาความสัมพันธ์ของแต่ละฉากไม่ได้เลยจนกระทั่งถึงซีนเฉลย … บอกไปเลยนะครับ ตอนกลางเรื่องที่นักจิตวิทยาหันมามองหน้ากล้องพูดบอกกับผู้ชม ‘มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โคตรเห็นแก่ตัว’ นี่แหละครับคือใจความของหนัง

ถ้าคุณสามารถรับชม Songs from the Second Floor (2000) ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งหรือพอสมควร ถึงจะขอแนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ต่อนะครับ จริงอยู่มันอาจไม่น่าอภิรมย์นัก ผมก็แค่ชอบแต่ไม่หลงใหล มันจุกแน่นอกเกินไปที่เห็นมนุษย์ทั้งหลายใน ‘โลกของ Andersson’ แล้วจะยอมรับได้ ตัวผมเองก็เคยเป็นแบบนั้นเลยรู้สึกตัวดี ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่ขอจดจำตราตรึงไว้ไม่ลืมแน่

แนะนำกับคอหนัง Art-House ศิลปิน Surrealist ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ, นักสังคมนิยม นักปรัชญาค้นหาเป้าหมายชีวิต, นักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาไว้ได้ประโยชน์แน่

จัดเรต 15+ กับความ absurd บ้าบอคอแตกของหนัง เด็กเล็กที่ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็นดูไม่เข้าใจแน่

TAGLINE | “You, the Living ของผู้กำกับ Roy Andersson คำว่า ‘พอ’ เป็นสิ่งไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมภาษามนุษย์ แต่ตัวหนังก็สมบูรณ์แบบเพียงพอให้ต้องจดจำ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: