Zanjeer

Zanjeer (1973) Indian : Prakash Mehra ♥♥♥♡

โซ่ที่พันธนาการเหนี่ยวรั้งความสำเร็จของ Amitabh Bachchan ได้คลายออกครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ ทำให้เขากลายเป็น Superstar ดาวรุ่งดวงใหม่ด้วยฉายา The Angry Young Man ที่ยังเป็นตัวแทนสะท้อนความเกรี้ยวกราดของผู้คน ต่อระบบของอินเดียยุคสมัยนั้น ที่เต็มไปด้วยการโกงกิน และคอรัปชั่น

เกร็ด: ชื่อหนัง Zanjeer แปลว่า โซ่

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอย่างสูงในยุคสมัยนั้น (ถึงขนาดได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘new wave’ คลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์) เพราะเรื่องราวมีใจความสะท้อนภาพความจริง นัยยะถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอยู่ในยุคสมัยนั้น, นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 อีกสามปีถัดมาเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐอินเดีย ผู้นำประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามเศรษฐกิจของประเทศค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ ผู้คนตกงานยากจนลงไปอีก (นี่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นผลพวงต่อเนื่องจากการบริหารประเทศของอังกฤษ และการเข้าสู่ยุคสมัยสงครามเย็นของอเมริกากับรัสเซีย) ผู้คนหันหน้าพึ่งพาด้านมืดของสังคม กลายเป็นมาเฟีย ลักลอบ ปล้นชิง ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการก็เอาหูไปนาตาไปไร่ คดโกงกิน คอรัปชั่น, นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความอึดอัดอั้น คับแค้นข้องใจของชาวอินเดีย นี่พวกเราเคยทำอะไรมา ถึงต้องทนมีชีวิตอดอยากยากลำบากแสนเข็นขนาดนี้

ผมรับชมหนังเรื่องนี้ แค่ต้องการเห็นความสำเร็จครั้งแรกของ Amitabh Bachchan ที่ทำให้กลายเป็น Superstar ดาราดัง แต่ได้พบว่าหนังมีความสำคัญมากกว่านั้นหลายเท่า, คือมันไม่ใช่แค่การแสดงของปู่เท่านั้นที่ยิ่งใหญ่ แต่อิทธิพลความสำคัญของหนัง กับตัวละครที่รับบทได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนชาวอินเดียในยุคสมัยนั้นไปเลย ‘พูดถึงอินเดีย คือ Amitabh Bachchan’ นี่ถือเป็นความยิ่งใหญ่สูงสุดของอาชีพนักแสดงเลยนะครับ

Prakash Mehra (1939 – 2009) ผู้สร้างภาพยนตร์ในตำนานของอินเดีย เกิดที่ Bijnor, Uttar Pradesh ถือเป็นผู้บุกเบิกแนวหนัง Masala ร่วมกับ Amitabh Amitabh นักแสดงขาประจำ สร้างภาพยนตร์ระดับ Blockbuster และ Classic หลายเรื่อง, ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘Golden Directors’ แห่งยุคสมัยนั้นเลย

เกร็ด: Masala film คือแนวหนัง (genre) ประเภทหนึ่งเฉพาะในอินเดีย มีส่วนผสมของ Action, Comedy, Romance, Drama และ Melodrama คล้ายๆกับ Curry Western ที่เป็นการผสมผสานแนวหนัง Western เข้ากับเรื่องราวพื้นหลังของอินเดีย แต่ Masala เป็นการผสมผสานที่มีหลากหลาย กว้างขวางกว่า

เกร็ด 2: Masala คือชื่อเรียกรวมเครื่องเทศต่างๆ (spices) ที่นำมาผสมรวมกัน ใช้เป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการปรุงรสอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอม

เกร็ด 2: หนังสือพิมพ์ The Hindu ได้ทำการรวบรวม สำรวจแนวหนังทั้งหมดของอินเดีย พบว่า Masala เป็นแนวที่ได้รับความนิยมสูงสุด

Salim Khan กับ Javed Akhtar คู่หูนักเขียนบทในชื่อ Salim-Javed ได้พัฒนาบทภาพยนตร์ Zanjeer เพื่อให้ Dharmendra นักแสดงประสบความสำเร็จที่สุดยุคนั้นนำแสดง แต่เพราะคิวงานพี่แกแน่นมาก ติดต่อ Raaj Kumar, Rajesh Khanna, Dev Anand ที่ก็ล้วนบอกปัดทั้งหมด, ผู้กำกับ Mehra จึงได้โน้มน้าวใจโปรดิวเซอร์ให้เลือก Amitabh Bachchan ที่ขณะนั้นยังค้นหาความสำเร็จแรกของตนเองไม่พบเสียที นับตั้งแต่เข้าวงการมาตั้งแต่ปี 1969 แม้การแสดงจะได้รับคำวิจารณ์ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีหนังทำเงินก็ถือว่าเป็นนักแสดงไร้ค่า

Amitabh Harivansh Rai Shrivastava Bachchan (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Allahabad, Uttar Pradesh มีพ่อ Harivansh Rai Srivastava เป็นนักกวีภาษาฮินดีชื่อดังแห่งยุค ตอนแรกตั้งชื่อให้ว่า Inquilaab มาจากบทกวีในช่วงปฏิวัติอินเดีย มีความหมายว่า ‘Long live the revolution.’ แต่โชคดีที่เพื่อนพ่อ Sumitranandan Pant รู้เข้าจึงแนะนำชื่อใหม่ให้เป็น Amitabh ที่แปลว่า ‘the light that will never die.’ แสงที่ไม่มีวันดับ ส่วนนามสกุลมาจากแม่ Teji Bachchan (Bachchan แปลว่า child-like) พ่อชอบที่จะนำใช้เป็นนามปากกาของตัวเอง

แม่ของ Amitabh มีความชื่นชอบในการแสดงทั้งละครเวทีและภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เคยได้รับการติดต่อให้เล่นหนัง แต่เธอสนใจทำงานเป็นแม่บ้านมากกว่า และถือว่าเป็นผู้ผลักดันให้ลูกชายกลายเป็นดารานักแสดง

ผลงานเรื่องแรกเป็นการให้เสียงบรรยายในหนังของ Mrinal Sen เรื่อง Bhuvan Shome (1969) ที่คว้ารางวัล National Film Award สาขา Best Feature Film, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Saat Hindustani (1969)

สำหรับผลงานก่อนหน้า Zanjeer ที่น่าสนใจมากๆคือ Anand (1971) [ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไปแล้วนะครับ] รับบทเป็นพระรองประกอบ Rajesh Khanna ที่ทำให้ Amitabh ได้รางวัล Filmfare Award: Best Supporting Actor เป็นครั้งแรก และตัวหนังยังคว้ารางวัล National Film Awards สาขา Best Feature Film in Hindi อีกด้วย (ใครอยากรู้ว่าชื่อ The Big B ของปู่มาจากไหน เริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้นะครับ)

ในยุค 70s ถือว่าเป็นยุคทองของ Amitabh นอกจาก Zanjeer ที่ประสบความสำเร็จล้นหลามแล้ว ยังมี Namak Haraam (1973), Deewaar (1974), Sholay (1975), Amar Akbar Anthony (1977), Don (1978) ฯ จนได้รับการยกย่องเรียกว่า ‘Shahenshah of Bollywood’ หรือ Star of the Millennium

สำหรับหนังที่ Amitabh ร่วมงานกับ Mehra ทั้งหมด 8 ครั้ง มี 7 เรื่องที่ประสบความสำเร็จในระดับ Blockbuster ประกอบด้วย Zanjeer (1973), Hera Pheri (1976), Khoon Pasina (1977), Muqaddar Ka Sikandar (1978), Lawaaris (1981), Namak Halaal (1982), Sharaabi (1984)

สำหรับหนังเรื่องนี้ Amitabh รับบทนายตำรวจ Vijay Khanna มีปมหลังคือครอบครัวถูกฆ่าอย่างเลือดเย็น กลายเป็นภาพจดจำติดตา โตขึ้นเลือกอาชีพเป็นตำรวจตงฉิน ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง แต่บางครั้งก็ใช้ความรุนแรงจัดการแก้ไขปัญหา

คนที่ดีเกินไป ตรงเกินไป มักตามไม่ได้ไล่ไม่ทันกลโกงของคนชั่ว ช่วงกลางเรื่อง Vijay ถูกยัดไส้ กล่าวหาว่าเป็นผู้คอรัปชั่นกระทำผิดหลักฐานคามือ แม้ตนจะไม่ได้มีความตั้งใจ แต่ก็มิอาจรอดพ้นกลโกงของผู้มีอำนาจการเงินได้ นี่ทำให้เมื่อเขาออกจากคุก เรื่องราวหลังจากนี้คือการแก้แค้นของชายผู้มีความโกรธแค้นเกรี้ยวกราดต่อความอยุติธรรม ทวงคืนในสิทธิ์อันชอบธรรมของตน

การแสดงของ Amitabh ว่ากันตามตรงมีเรื่องที่สุดยอดเยี่ยมกว่านี้อีกมาก เทียบกับ Anand (1971) ยังขโมยซีนได้เหนือชั้นกว่า แต่การรับบทผู้พิทักษ์สันติราชตงฉินที่ถูกอิทธิพลด้านมืดทำให้กลายเป็นผู้ต้องหา สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมสมัยนั้นอย่างรุนแรง เพราะมันหมายถึง “คนดีไม่มีที่ยืนในสังคม” ความเจ็บปวด รวดร้าว อัดอั้น ทำให้เหตุการณ์ช่วงท้ายเปรียบเสมือนการปลดปล่อยราชสีห์ออกจากกรง ประกาศกร้าวก้อง คนชั่วทั้งหลายจงระวังตัวไว้ สักวันกรรมมันต้องสนองพวกแกแบบในหนังเรื่องนี้

สำหรับศัตรูคู่อาฆาตของ Vijay คือ Seth Dharam Dayal Teja (รับบทโดย Ajit Khan) ที่คือคนฆ่าพ่อแม่ของเขาด้วย แต่ตอนเด็กจดจำใบหน้าของฆาตกรไม่ได้ เห็นเพียงสร้อยข้อมือที่เป็นม้าสีขาว นี่ทำให้ภาพในฝันร้ายของ Vijay คือชายชุดดำขี่ม้าขาว (นี่ล้อกับสำนวน ฮีโร่ขี่ม้าขาวที่เป็นสัญลักษณ์ของฮีโร่/วีรบุรุษ กลายมาเป็นผู้ร้ายขี่ม้าขาว ที่มีนัยยะภายนอกเป็นคนดีแต่ข้างในชั่วช้าโหดเหี้ยม)

Ajit Khan (1922 – 1998) เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในหนัง Bollywood นอกจากเรื่องนี้ที่ดังๆแล้วยังมี Nastik (1954), Naya Daur (1957), Mughal-e-Azam (1960) ฯ พอเริ่มมีอายุจากพระเอกก็ผันมาเป็นตัวร้าย Suraj (1966), ตามมาด้วย Yaadon Ki Baaraat (1973)

Javed Akhtar พูดชื่นชม Ajit ว่าได้สร้างภาพลักษณ์มิติใหม่ให้กับตัวละครได้อย่างลึกล้ำ จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้ร้าย ที่มักพูดเสียงนุ่มนวลแต่หนักแน่น นี่ทำให้ตัวร้ายมีความโดดเด่นเทียบเท่ากับพระเอก

“Like Bachchan, Ajit found a new image as villain after Zanjeer. He started a new innings in his career though he was an established hero in the fifties. His villainy started a new trend. Here was a new villain who was soft-spoken yet forceful. We wanted to give a different image to villainy which matched the hero.”

มีศัตรูคู่อาฆาต ก็ต้องมีเพื่อนแท้ Sher Khan (รับบทโดย Pran Krishan Sikand) ในตอนแรกตัวละครนี้เป็นเจ้าของบ่อนการพนัน สิ่งอโคจรทั้งหลาย แต่เมื่อได้พบกับนายตำรวจใหม่ Vijay ทั้งสองเปรียบตัวเองเหมือนราชสีห์ การชกต่อยแบบไม่มีใครยอมใคร ทำให้เข้าใจซึ่งกันและกัน Sher Khan เลิกทุกสิ่งอย่างกลับตัวเป็นคนดี (ตัวละครนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของ คนชั่วกลับใจด้วยนะครับ) และทั้งคู่กลายเป็นสหายรักเพื่อนตาย

Pran Krishan Sikand (1920 – 2013) นักแสดงสัญชาติอินเดีย ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘Villain of the Millennium’ แต่ก่อนที่จะเริ่มเล่นเป็นผู้ร้าย ก็เลยเล่นเป็นพระเอกมาก่อน ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ พอเปลี่ยนมาเล่นผู้ร้ายเท่านั้นแหละดังระเบิด, กับหนังเรื่องนี้ได้สร้างอีกหนึ่งภาพลักษณ์ใหม่ให้กับตัวเองคือ’ราชสีห์’ เพื่อนตายของพระเอก

ภาพลักษณ์ของ Sher Khan โดดเด่นมากๆ ผมสีทองไว้หนวดเครายาวดูเหมือนราชสีห์จริงๆ (ชื่อ Sher Khan ถ้าใครเคยดู The Jungle Book ก็น่าจะจดจำได้ เป็นชื่อของสิงโตที่เป็นศัตรูของเมาคลี) เห็นว่าในตอนแรก Pran ไม่อยากที่จะร้องเล่นเต้นในหนัง แต่ผู้กำกับเข้าไปพูดคุยอ้อนวอนขอร้องไว้ ถ้าไม่มีตัวละครนี้ที่เป็นผู้ช่วยพระเอก คนๆเดียวจะสามารถเอาตัวรอดต่อสู้กับความอยุติธรรมในโลกได้อย่างไร เขาเลยยอมที่จะร้องเล่นเต้นเพลงหนึ่ง ฉากนั้นกลายเป็นตำนานไปเลย

มิตรภาพของสองตัวละครนี้ถือว่า มากมากมาก ผมชอบคำพูดที่ว่า ‘ราชสีห์ด้วยกัน แค่มองตาก็เข้าใจ’ ‘ราชสีห์ไม่ฆ่าราชสีห์ด้วยกัน’ นัยยะของสองประโยคนี้ลึกซึ้งมาก เพราะปัจจุบันนี้ราชสีห์หายากขึ้นทุกที ก็เหมือนคนดีที่หายากยิ่ง ถ้าพบเจอใครสักคนที่จริงแท้ เหมือนได้ค้นพบสิ่งเลอค่าที่สุดในโลก

เกร็ด: Pran เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่ได้รับการยกย่องสูงสุด ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke เมื่อปี 2013

ผลงานอื่นที่ดังๆ อาทิ Madhumati (1958), Jis Desh Men Ganga Behti Hai (1960), Upkar (1967), Shaheed (1965), Purab Aur Paschim (1970), Ram Aur Shyam(1967), Aansoo Ban Gaye Phool (1969), Johny Mera Naam (1970), Victoria No. 203 (1972), Be-Imaan (1972), Zanjeer (1973), Don (1978), Amar Akbar Anthony (1977) Duniya (1984)

และสำหรับคู่รักของ Vijay หญิงสาวจนๆชื่อ Mala (รับบทโดย Jaya Bhaduri) พื้นหลังของเธอเป็นเด็กกำพร้าไม่มีครอบครัว ทำอาชีพลับมีดให้คม แต่ด้วยความแก่นแก้วทำให้ดูเหมือนเป็นสาวห้าวก้าวร้าว แถมพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ราวกับว่าตัวตนของเธอยังไม่ได้รับการขัดเกลาให้เป็นผู้เป็นคนสักเท่าไหร่

Jaya Bhaduri (เกิดปี 1948) ไม่ใช่ใครอื่นไกล ว่าที่ภรรยาของ Amitabh Bachchan หลังเสร็จจากหนังเรื่องนี้ทั้งคู่ก็แต่งงานกัน และได้ร่วมงานอีกหลายเรื่อง (ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ฮิตถล่มทลาย), Jaya เป็นนักแสดงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเล่นหนังได้มีความเป็นธรรมชาติมากๆ มีผลงานทั้ง Mainstream และ ‘middle-of-the-road’ แถมยังถือสถิติเป็นเจ้าของรางวัล Filmfare Awards สูงสุดของฝ่ายหญิง

ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Bhaduri คือ Mahanagar (1963) เล่นเป็นเด็กหญิงที่แม้จะมีบทไม่มากแต่ก็ได้รับการจับตามองทีเดียว ผลงานอื่นๆที่โด่งดัง อาทิ Uphaar (1971), Koshish (1972), Kora Kagaz (1974) และร่วมงานกับ Amitabh ทั้งหมด 5 เรื่อง Abhimaan (1973), Chupke Chupke (1975), Mili (1975) และ Sholay (1975)

ผมประทับใจการแสดงของ Jaya ในหนังเรื่องนี้พอสมควร สงสัยเพราะผมเริ่มฟังภาษาฮินดีออกแล้วกระมัง เลยรับรู้ว่าน้ำเสียงของเธอมีความก้าวร้าว แข็งกระด้าง ผิดปกติจากผู้หญิงทั่วๆไป ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมความแก่นแก้วของตัวละคร นี่เป็นมุมหนึ่งของผู้หญิงที่น่ารักมากนะครับ มิน่าละ Amitabh ถึงหลงใหลจนต้องขอเธอแต่งงาน

ถ่ายภาพโดย N. Satyen, ในยุคสมัย 60s – 70s ถือว่าเป็นเทรนด์แห่งความโฉบเฉี่ยว กล้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว ซูมเข้าออกอย่างฉับไว แต่นี่เป็นเทคนิคที่ตกยุคไปแล้วนะครับ หนังสมัยนี้ไม่ค่อยนิยมถ่ายทำแบบนี้กันแล้ว กระนั้นหนังก็มีเหตุผลประกอบการใช้ที่ชัดเจน ลองสังเกตคิดวิเคราะห์ดีๆ ก็จะพบเห็นความหมายที่ซ่อนอยู่

สังเกตว่าหลายครั้งหนังจะถ่ายภาพระดับ Close-Up ให้เห็นใบหน้าเต็มๆของตัวละคร นี่เป็นการให้ผู้ชมสามารถรับรู้ความรู้สึก อารมณ์ของนักแสดงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ, โดยเฉพาะกับ Amitabh Bachchan เราจะสามารถสัมผัสความเกี้ยวกราดที่อยู่ภายในจิตใจของเขาได้ ผ่านใบหน้า สีหน้า และดวงตา

ตัดต่อโดย R. Mahadik, หนังมีการใช้เทคนิค Montage ตัดภาพสลับไปมาระหว่างสองสามสิ่ง จุดประสงค์หลักๆเพื่อแทนสายตาของตัวละคร เป็นการอธิบายบ่งบอกว่าเขากำลังมองอะไร คิดอะไร หรือฝันอะไร, ฉากต่อสู้ Action เทคนิคนี้ถือว่ามีความคลาสสิกอย่างมาก ถ่ายใบหน้าพระเอก ตัดสลับกับใบหน้าผู้ร้ายไปมาด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความหมายคือจ้องหน้าดูเชิง เตรียมพร้อมจะต่อสู้กัน ซึ่งความเร็วทำให้เกิดการลุ้นระทึกตื่นเต้นนั่งไม่ติดเก้าอี้, ในส่วนนี้ถือว่าเป็นภาษาภาพยนตร์ที่ผู้ชมทั่วไปน่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากเท่าไหร่

สำหรับการตัดต่อ Montage ที่เป็นไฮไลท์ อยู่ตอนต้นเรื่องท้ายเรื่อง ใช้การต่อสู้/ความตาย/เสียงปืน ตัดสลับกับประทัด (ตอนต้น) และพลุ (ท้ายเรื่อง) นี่มีนัยยะเปรียบเทียบความตายกับการระเบิดออก/กึกก้อง/สิ้นสุด ใช้เสียงที่ดังเหมือนกันเป็นสัมผัส (เสียงปืน = เสียงประทัด = เสียงพลุ), นี่น่าจะได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Ashes and Diamonds (1958)

นับตั้งแต่ Kismet (1943) เป็นต้นมา ผมสังเกตพบว่ามันกลายเป็นเทรนด์ของหนัง Bollywood แนว Anti-Hero ที่ฉากแรกมักจะต้องเกี่ยวกับคุก หรือตัวละครเดินออกจากห้องขัง (เห็นบ่อยก็แอบเซ็งๆนะครับ) กับหนังเรื่องนี้ก็ไม่เว้น พ่อของ Vijay เดินออกจากห้องขัง (แม้ไม่ใช่ตัวละครหลัก แต่ก็เกี่ยวกับคุก/ห้องขัง การมีความผิดอยู่ดี)

หนังใช้การดำเนินเรื่องไปข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นมุมมองของ Vijay เริ่มต้นตั้งแต่เด็กที่ได้พบเจอเหตุการณ์บางอย่าง จดจำเป็นภาพความฝันฝังลึกในใจ (มีการตัดสลับกับความฝันนี้บ้าง 2-3 ครั้ง) จากนั้นกระโดดข้ามมาช่วงเวลาตอนโต เริ่มทำงานเป็นตำรวจ และมีการกระโดดข้ามอีกทีตอนติดคุก 6 เดือน

เพลงประกอบโดยสองพี่น้อง Kalyanji Virji Shah กับ Anandji Virji Shah ในชื่อ Kalyanji–Anandji ในฉากต่อสู้ที่ต้องการความตื่นเต้น มีการผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เสียงอะไรก็ไม่รู้ประหลาดๆเข้าไปด้วย ให้สัมผัสของความ Modern ร่วมสมัย, ส่วนทำนองบทเพลงคำร้อง ทั้งหมดใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย ถือว่ามีทั้งที่ไพเราะติดหู และบางเพลงก็ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ (คือมีทั้ง Hit และ Miss)

สำหรับไฮไลท์เพลงประกอบ Yaari Hai Iman Mera, Yaar Meri Zindagi แปลว่า Friendship is my faith, my friend is my life มิตรภาพคือศรัทธา ส่วนเพื่อนแท้คือชีวิต, แต่งคำร้องโดย Gulshan Bawra ขับร้องโดย Manna Dey บทเพลงนี้ไม่ได้มีดีแค่ความไพเราะนะครับ แต่เนื้อหาเพลงมีความหมายดีมากๆ เป็นฉากที่ Sher Khan หลอก Vijay ว่านี่เป็นวันเกิด แล้วร้องเล่นเต้นเพลงนี้เพื่อสื่อสารกับ Vijay ว่านายคือเพื่อนแท้เพื่อนตายของเรา

เกร็ด: บทเพลงนี้ กับ Yeh Dosti จากหนังเรื่อง Sholay (1975) ถือว่าเป็นบทเพลงมิตรภาพลูกผู้ชายของชาวอินเดีย ที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวของหนังวนเวียนอยู่กับชีวิตของตัวละครหนึ่ง Vijay ที่ได้พบกับ 3 บุคคลสำคัญ
1. ศัตรูคู่อาฆาต Seth Dharam Dayal Teja
2. มิตรรักเพื่อนแท้ Sher Khan
3. หญิงสาวที่กลายเป็นคู่ชีวิต Mala

มองได้ว่านี่คือสามสิ่งที่มนุษย์เรา จะสามารถมีความสัมพันธ์สนิทสนมอย่างแนบแน่น, กับเพื่อนและคนรักคงไม่มีใครสงสัย แต่ศัตรูเนี่ยนะคนสนิทของเรา… ใช่แล้วครับ เพราะความโกรธเกลียดเคียดแค้น มันทำให้เราจองเวรจองกรรม จองล้างจองผลาญบุคคลผู้นั้น เรียนรู้จักทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่างเพื่อต่อสู้ต่อต้าน จนบางทีเราอาจเข้าใจศัตรูมากกว่าเพื่อนรัก/คนรัก ก็เป็นได้

อุดมการณ์ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มี’ตัวตน’ของตนเอง, ผมจำไม่ได้ว่าเคยได้ยินใครพูดประโยคนี้ (หรือไม่รู้มโนขึ้นมาเองหรือเปล่า) บุคคลผู้ไร้ซึ่งอุดมการณ์ ก็คือมนุษย์ธรรมดาสากลทั่วไป ที่ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ขาดเป้าหมาย ขาดแรงจูงใจ เกิดเพื่อรอวันตาย กอบโกยเก็บเกี่ยว สนใจแต่ความผลประโยชน์ต้องการของตนเอง

อุดมการณ์ ก็คือเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ความต้องการ มันอาจเป็นแค่คำพูดหรูๆที่ดูดีมีระดับ แต่มันได้สร้างบางสิ่งบางอย่างให้กับผู้ที่มี นั่นคือความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ต้องการครอบครองบางสิ่งอย่างด้วยจุดประสงค์เหตุผล ไม่ใช่โดยสันชาติญาณ, บุคคลที่มีอุดมการณ์ มักคือคนที่ทำการค้นหาบางสิ่งอย่างในชีวิต ไม่สามารถหยุดนิ่งได้จนกว่าจะพบเจอ ได้มาครอบครอง

Vijay ถือว่าเป็นบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ เขาต้องการเป็นคนดี ไม่โกงกิน ไม่คอรับชั่น เพราะภาพฝังใจที่เกิดจากความสูญเสีย ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องได้ประสบพบเจอ เรื่องราวเหตุการณ์แบบเดียวกันตน, จริงอยู่ครั้งหนึ่งเขาเคยที่จะยินยอมเลิกละรา สยบแทบเท้าของหญิงสาวผู้สนเพียงความสุขของตนเอง แต่อุดมการณ์เป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปจนวันตาย เมื่อเขาคิดได้ ประโยคคำพูดสุดคลาสสิกของหนังเรื่องนี้

We’ll also hang such curtains in our home.
And I won’t even bother to know what’s going on…
on the other side of them. Outside…
Outside our beautiful curtains, if people are dying, let them!

ผมพยายามมองหาเหตุผล ทำไมผู้หญิงถึงมีอุดมการณ์เพื่อครอบครัว มากกว่าที่จะสนใจสิ่งรอบข้างของพวกเธอ จริงๆก็ไม่พบคำตอบนะครับ แต่พอมีที่ฟังขึ้นคือธรรมชาติสร้างมา ให้สัญชาติญาณของเพศแม่ต้องรักหวงห่วงลูกในไส้ของตนไว้ก่อน เรื่องอื่นนั้นรองลงมาไม่สำคัญเท่า

ผิดกับผู้ชาย ที่ถือว่ามีโอกาสทางเลือกได้มากกว่า ชีวิตที่ทุ่มเทเพื่อครอบครัว และ/หรือ อุดมการณ์เพื่อสังคมส่วนรวม,

“ผู้หญิงสร้างบ้าน ผู้ชายสร้างเมือง” นี่เป็นอีกสำนวนที่ผมจดจำมา (หรือก็ไม่รู้มโนขึ้นนะครับ) รู้สึกว่าจริงแท้เลยละ เพราะผู้หญิงมักจะคิดถึงส่วนตัวก่อนเสมอ เป็นผู้สร้างบ้านให้กับครอบครัว เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกให้โตขึ้นมากลายเป็น … ส่วนผู้ชาย ควรที่จะมีอุดมการเพื่อสังคมส่วนรวม เพื่อที่จะได้ร่วมกันสร้างเมือง พัฒนาประเทศให้มีความเจริญยิ่งยืน เพื่อครอบครัวจะรับผล(โดยอ้อม)มีกิน อยู่เป็นสุขสบาย

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการสร้างค่านิยมของคำว่า ‘อุดมการณ์’ นำเสนอคุณค่า ประโยชน์ สิ่งที่จะได้รับตอบแทน แม้บางครั้งจะถูกกลั่นแกล้ง ซ้ำเติม หรือทำให้สั่นคลอน แต่ถ้าชีวิตทอดทิ้งหรือไร้ซึ่งเป้าหมายอุดมการณ์ มันก็จะไม่มีค่าอะไรหลงเหลืออยู่เลย

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนตัวตนโดยรวมของประชาชนชาวอินเดียในยุคสมัยนั้น ว่ากันตรงๆเลยคือ คนส่วนใหญ่ไร้ซึ่งอุดมการณ์, ความคอรัปชั่นมันเกิดขึ้นจากตรงนี้นะครับ ผู้คนเห็นแก่ตัว สนแค่ประโยชน์ของตนเอง ใครเดือดร้อนไม่รู้ไม่สนใจ ถ้าฉันไม่ได้ประโยชน์ ทำแล้วลำบาก เรื่องอะไรจะเสียเวลา ว่าไปพวกเขามีสถานะเหมือน Mala ที่พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นข้างนอกไม่เกี่ยวกับตน ก็พยายามเลื่อนผ้าม่านมาปิดทำเป็นไม่รู้ไม่สนใจ ถ้าไม่ที่สุดจริงๆคงไม่ยินยอมเปิดออกดู

ถึงหนังจะมีความตั้งใจดี มีคนชื่นชอบหลงใหลคลั่งไคล้มากมาย แต่ผมเชื่อว่าความสัมฤทธิ์ผลของหนังค่อนข้างต่ำ เพราะคนส่วนใหญ่ โอ้!เจ๋งๆๆ เสร็จแล้วก็เป็นแบบตอนจบหนังเรื่อง Ikuru (1951) ดีแต่ปาก จะให้ทำอะไรแบบนั้นนะเหรอ เพ้อฝันไปหรือเปล่า

อุดมการณ์ มันอาจเป็นสิ่งที่มีแล้วแต่ทำไม่ได้ ผมก็ยังยกย่องนับถือกว่าคนที่มีแล้วไม่เริ่มต้นทำเสียที เพราะเข้าใจว่ามันไม่ได้ง่ายถ้าจะทำบางสิ่งอย่างให้ถึงเป้าหมายความฝัน แต่ความพยายามมีค่ากว่านั่งเฉยๆ นี่คงเป็นสิ่งที่ใครๆสามารถคิดได้ ก็เหมือนกัน วันนี้ไม่มีเงินกินข้าว จะนั่งอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรก็คงไม่มีวันได้กิน ออกไปสิครับ ทำงานหาเงิน เมื่อนั้นแหละไม่ใช่แค่ข้าวหรอก แต่เงินซื้อน้ำซื้อขนม ซื้อโน่นซื้อนี่ก็จะตามมาอีกมากมายนับไม่ถ้วน

หนังไม่มีตัวเลขทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ ₹60 ล้าน (= $930,000) จัดว่า Super Hit, เข้าชิง Filmfare Award 9 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Film
– Best Actor (Amitabh Bachchan)
– Best Supporting Actor (Pran)
– Best Story **ได้รางวัล
– Best Screenplay **ได้รางวัล
– Best Editing **ได้รางวัล
– Best Music
– Best Lyricist เพลง Yari Hai Imaan Mera **ได้รางวัล
– Best Male Playback Singer เพลง Yari Hai Imaan Mera

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจในส่วนอุดมการณ์ของตัวละคร แม้จะมีหลายช่วงที่ขัดใจ โดยเฉพาะตอนพระเอกยอมสยบแทบเท้าของหญิงสาว มันทำให้อารมณ์ จังหวะของหนังสะดุดไปเยอะเลย แต่พอพูดประโยคสุดคลาสสิกนั้น จุดนี้ยังพอให้อภัยรับได้บ้าง

มีส่วนไม่ค่อยชอบอีกหน่อยตอนท้าย ขณะประจันหน้าระหว่างพระเอกกับผู้ร้าย จริงๆมันโคตรคลาสสิกเลยนะ(แต่ผมกลับรู้สึกเชยโคตรๆ) ทั้งสองฝ่ายต้องพูดข้อความประโยคเท่ห์ๆใส่กัน (ประมาณว่าต่อยสู้กันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปะทะคารมฝีปากกันด้วย)

แนะนำกับคอหนัง bollywood ชื่นชอบแนว Masala ผสมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน, นักปรัชญา นักคิดทั้งหลาย มองหาเป้าหมายอุดมการณ์, ตำรวจ นักสืบ เจ้าหน้าที่ทำงานราชการทั้งหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆ Amitabh Bachchan ถึงหนังจะไม่ได้สนุกยอดเยี่ยมที่สุด แต่คือเรื่องที่ส่งปู่ Big B ให้กลายเป็นดาว

จัดเรต 15+ กับฉากต่อสู้ ความรุนแรง คอรัปชั่น

TAGLINE | “Zanjeer ของผู้กำกับ Prakash Mehra ได้ปลดปล่อยพันธนาการของ Amitabh Bachchan ให้เจิดจรัสกลายเป็นดาวค้างฟ้า”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: