Zero for Conduct (1933) : Jean Vigo ♥♥♥
แม้จะความยาวเพียง 40 กว่านาที แต่นี่คือโคตรภาพยนตร์แนว Surrealist แบบเดียวกับ Un chien andalou (1929) และ L’Age d’Or (1930), เรื่องราวของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ทนไม่ไหวแล้วต่อความเข้มงวดกวดขันเกินไปของครูอาจารย์ ตัดสินใจรวมกลุ่มต่อต้านก่อกบฏเล็กๆ ไม่ได้เพื่อเรียกร้องต่อรอง แต่ระเบิดออกซึ่งความอึดอัดอั้นตันใจ เหตุการณ์นี้กลายเป็นอิทธิพลให้ The 400 Blows (1959) และ if… (1968)
การจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เข้าใจ มองแค่เบื้องหน้าผิวเผินย่อมเข้าไม่ถึงอย่างแน่นอน ผมเองก็คาดคิดผิดเพราะชื่อของ Jean Vigo ก็นึกว่าจะมาแนว Poetic Realism แบบเดียวกับผลงานชิ้นเอก L’Atlante (1934) แต่ที่ไหนได้ดูจบแล้วต้องหวนกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกรอบ เพื่อตั้งใจครุ่นคิดติดตามจนพอจะเกิดความกระจ่างแจ้ง แนวคิดใจความสำคัญไม่ได้ยากเย็นแสนเข็นเท่าไหร่ แต่เนื้อหาระหว่างทางนี่สิ! เล่นเอาเหงื่อตกได้ง่ายๆ
Jean Vigo (1905 – 1934) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พ่อของเขา Eugène Bonaventure Vigo อดีตเคยฝักใฝ่ฝั่งฝ่าย Anarchist ทำงานบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ La Guerre sociale กับ Le Bonnet rouge แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เปลี่ยนข้างมาเป็นพวก Pacifism (รักสงบ) ทำให้ถูกจับขังแล้วฆ่าปิดปากจากพวกนักการเมืองหัวรุนแรง Socialist ทำให้ภรรยาและลูกต้องหลบๆซ่อนๆ ถูกส่งไปเรียนนอก ใช้ชื่อ Jean Sales ปกปิดบังตัวจริง
เมื่อเติบโตขึ้นหวนกลับคืนฝรั่งเศส ทำงานเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ แต่ตลอดชีวิตของ Vigo มีโอกาสสร้างหนังเสร็จเพียง 4 เรื่องเท่านั้น ประกอบด้วย
– หนังเงียบ À propos de Nice [about Nice] (1930) สร้างขึ้นเลียนแบบ Soviet Newsreels นำเสนอวิถีชีวิต ประจำของของผู้คนในเมือง Nice
– La Natation par Jean Taris [Jean Taris, Swimming Champion] (1931) สารคดีนักว่ายน้ำชื่อ Jean Taris ที่เต็มไปด้วยเทคนิคล้ำยุคมากมาย อาทิ ภาพ Close-Up, Freeze Frames เรือนร่างของนักว่ายน้ำ ฯ
– Zéro de Conduite [Zero for Conduct] (1933) เรื่องราวของกลุ่มนักเรียนหัวขบถ 4 คน ที่ทำการลุกฮือขึ้นยึดอำนาจจากครูที่โรงเรียน
– L’Atalante (1934) คู่รักข้าวใหม่ปลามัน ขึ้นเรือออกเดินทาง เกิดพลัดพรากจาก และหวนกลับมาพบเจอ
ประมาณปี 1932 มีโอกาสรู้จักกับ Jacques-Louis Nounez นักธุรกิจฐานะร่ำรวยที่มีความสนใจสร้างภาพยนตร์ หลังจากรับฟังเรื่องเล่าประสบการณ์วัยเด็กของผู้กำกับ Vigo เมื่อครั้นถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่ Millau ยินยอมมอบทุนสร้างให้ 200,000 ฟรังก์
Bruel, Caussat และ Colin คือสามนักเรียนที่ชอบสร้างความวุ่นวายให้กับโรงเรียน วางแผนหาเรื่องกลั่นแกล้งครูอาจารย์จนถูกลงโทษกักบริเวณ ‘Zero for Conduct’ อยู่เป็นประจำ แต่พวกเขาก็เว้นอาจารย์ใหม่ไว้คนหนึ่ง Huguet (รับบทโดย Jean Dasté) ด้วยท่าเดินเหมือน Charlie Chaplin ต่างเป็นที่รักใคร่ของเด็กๆ เว้นแต่บรรดาอาจารย์ด้วยกันที่ไม่ประทับใจเท่าไหร่ สำหรับ Tabard เหมือนเป็นนักเรียนใหม่ที่ยังไม่ใครรับเข้าพวก ชอบยืนจับจ้องมองทั้งสามอยากเข้าร่วม วันหนึ่งถูกครูใหญ่เรียกตัวเข้าพบประมาณว่าไม่ให้คบ Bruel เป็นเพื่อน เกิดความหงุดหงิดหัวเสียอย่างรุนแรง ด่ากราดผู้ใหญ่ทุกคนที่พยายามชี้ชักนำเสี้ยมสอนควบคุมตนเอง จนได้รับโอกาสเข้าร่วมกลุ่มกลายเป็นสหายทั้ง 4 ร่วมกันยึดโรงเรียนในงานเลี้ยงประจำปี
เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด เลยเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่น พบเจอเห็นใครตามท้อนถนนก็นำมาจับแต่งตัวเข้ากล้อง สำหรับเด็กๆทั้ง 4 ล้วนอ้างอิงจากเพื่อนๆวันเด็กของ Vigo โดยอวตารของเขาคือ Tabard (หัวโจ๊กผู้นำการปฏิวัติ) และคำพูดช่วงท้ายที่แปลว่า
“Shit on you!”
นี่คือประโยคที่พ่อของเขาตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งถึงทุกประเทศในโลกที่มีระบอบปกครองแบ่งแยกชนชั้นฐานะ
สำหรับนักแสดงที่น่าสนใจคือ Jean Dasté (1904 – 1994) สัญชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้โด่งดังกับการเป็นนักแสดง/ผู้กำกับละครเวที สู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ Jean Renoir จนมีผลงานสมทบร่วมกันหลายเรื่อง ซึ่งหลังจากร่วมงานกับ Vigo เรื่องนี้ ถูกใจมากจนมอบบทแสดงนำให้ใน L’Atalante (1934), รับบท Surveillant Huguet ครูสอนหนังสือที่ชอบเดินเหมือนตัวละคร The Tramp ของ Charlie Chaplin กลายเป็นที่รักใคร่ของเด็กๆ แต่ไม่ถูกใจอาจารย์ทั้งหลายในโรงเรียน เพราะมองว่าสนิทสนมกับเด็กจนเกินไปเป็นสิ่งไม่เหมาะสมควร
ถ่ายภาพโดย Boris Kaufman หลังจากร่วมงานทั้ง 4 เรื่องกับ Jean Vigo ค่อยๆไต่เต้าจนได้ข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ Hollywood มีผลงานดังอย่าง On the Waterfront (1954), Baby Doll (1956), 12 Angry Men (1957) ฯ
ตัดต่อโดย Jean Vigo, เรื่องราวดำเนินไปในมุมของเด็กๆทั้งสี่ เริ่มจาก Bruel, Caussat พอถึงโรงเรียนก็จะมี Colin เข้ามาเสริมทัพ และหลังจาก Tabard ที่จับจ้องมองห่างๆ สุดท้ายก็ได้กลายเป็นสมัครพรรคพวกสหายทั้งสี่
หนังแนว Surrealist ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพและตัดต่อ มักมิค่อยมีความสลักสำคัญเท่ากับสิ่งที่ปรากฎอยู่ในภาพนั้น ซึ่งสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจได้หลากหลาย
กิจกรรมที่ Bruel กับ Caussat นำมาโชว์ข่มกันในรถไฟ ประกอบด้วย
– มายากลเลื่อนนิ้ว เห็นเหมือนนิ้วโป้งกุดหาย
– เป่าทรัมเป็ตขนาดเล็ก ที่เหมือนจะกดไม่ได้
– เป่าลูกโป่งสองลูก วางลงบนหน้าอกทำเหมือนนมสาว
– นำขนเหน็บใส่เสื้อกางเกงกลายร่างเป็นไก่/นก ให้ดูตลกขบขัน
– สุดท้ายทั้งคู่ต่างหยิบซิการ์มาคาบสูบ
นัยยะของการเลียนแบบ อวดอ้าง แข่งขันกันนี้ สะท้อนถึงความต้องการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ของเด็กๆทั้งสอง คงจะดียิ่งกว่าที่ชีวิตกระโดดข้ามไปตอนโตเลย ไม่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยหน่ายกับอาจารย์ที่โรงเรียน
หอนอนรวม ถึงจะเต็มไปด้วยกฎระเบียบความเข้มงวด เวลานอนต้องนอน แต่เด็กๆกลับไม่มีใครยินยอมทำตามคำสั่ง พอไฟดับ ครูประจำหอหลับ ก็ลุกขึ้นมาเล่นโน่นนี่นั่น ไม่เป็นอันหลับนอน, พอถึงรุ่งเช้าเวลาต้องตื่น ขนาดว่าครูประจำหอปลุกนักเรียนทุกคนกลับไม่มีใครลุก จนกระทั่งอาจารย์ผู้คุมกฎสุดเหี๊ยบเดินเข้ามาตรวจ ทุกคนต่างฝืนตัวเองลุกขึ้นยืน แต่พอลับหลังก็หวนกลับไปซุกหัวนอนใหม่
เหล่านี้สะท้อนถึงกฎระเบียบไม่ใช่สิ่งที่ใครๆอยากใคร่ทำตามนัก ถ้ามันมีช่องทางซิกแซกหลีกเลี่ยงก็จะรีบบึ่งตรงไป ประเด็นนี้สามารถมองได้สองมุมมอง
– (มุมของเผด็จการ) บุคคลที่ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม ย่อมต้องถูกลงโทษ
– (มุมของอนาธิปไตย) กฎระเบียบเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องมีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ทั้ง Sequence นี้ พยายามสื่อให้เห็นถึงอาจารย์ Huguet พยายามปรับตัวเข้ากับเด็ก แรกๆก็ดูเก้งๆกังๆ แต่ไม่นากลายเป็นที่รักของทุกคน ซึ่งสิ่งที่ตัวละครนี้ต้องแลกมาคือการปล่อยปละละเลย รับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ข้างหลังตนเอง บางอย่างผิดกฎระเบียบของสังคม (เช่น สองคนนี้แลกบุหรี่กันสูบ, กลุ่มของ Caussat วางแผนปฏิวัติโรงเรียน) แต่เลือกมองข้ามไม่สนใจ มอบอิสระให้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม
การกระทำของเด็กๆอยู่ในความจับจ้องมองของอาจารย์/ผู้คุมกฎ ซึ่งเมื่อไหร่เห็นอะไรที่ผิด ก็จักยึดไว้ให้กลายเป็นของตนเอง (ช่วงระหว่างพัก อาจารย์ผู้คุมกฎแอบเข้ามาในห้องเรียน นำเอาสิ่งของผิดกฎของเด็กๆไปหมดสิ้น เสร็จแล้วในคาบเรียนยังมาแอบด้อมๆมองๆอยู่ตรงหน้าต่างอีก คอยหาเรื่องจับผิดอยู่แทบทุกวินาที!)
มันมีความพิศวงเล็กๆของ Sequence นี้ ที่ผมเองก็ยังครุ่นคิดไม่ออก ทำไม Caussat ถึงขอกาวน้ำจากเพื่อนๆทุกคน แล้วนำไปเทราดยังด้านหลังกองหนังสือ นั่นเป็นการทำกาวดักหนูหรือเปล่านะ?
สิ่งที่อาจารย์ Huguet กระทำอยู่นี้ (ครูที่ต้องการเป็นเพื่อนกับเด็กๆ ไม่ใช่แค่ผู้ควบคุมกฎ) สื่อถึงความกลับหัวกลับหาง (เหมือนคนยืนด้วยมือ) ตารปัตรจากสิ่งที่สังคมทั่วไปยินยอมรับ บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายต่างไม่เห็นด้วย แต่นั่นไม่ใช่กับเด็กๆที่เกิดความชื่นชอบประทับใจเคารพนับถือ
ภาพที่เขาวาดอยู่นี้ ช็อตถัดๆมาจะกลายเป็นอนิเมชั่นสองมิติ ภาพของครูผู้คุมกฎจากร่างผอมกลายเป็นอ้วนท้วมสมบูรณ์ นัยยะเสียดสีล้อเลียนถึงการกระทำของเขา ที่ยักยองสิ่งผิดกฎของเด็กๆให้กลายเป็นของตนเอง (โกง)กินสักวันไปเรื่อยๆ สักวันย่อมไม่ต่างอะไรกับรูปวาดนี้
ใครเคยรับชม The 400 Blows (1959) น่าจะจดจำ Sequence นี้กันได้, อาจารย์ Huguet เดินนำแถวนักเรียนพาไปไหนก็ไม่รู้ไร้จุดหมาย (คงแค่เดินเล่นออกกำลังกาย) แรกๆตอนออกจากโรงเรียนก็เห็นเรียงแถวอย่างดี แต่พอถึงหัวโค้งก็เริ่มสะเปะสะปะทางใครทางมัน แถมครูคนนี้ก็มิได้ใคร่สนใจเด็กๆนัก แต่แปลกประหลาดพวกเขากลับยอมติดตามไล่หลังไปติดๆแบบไม่มีใครแตกแถวเลย
คือถ้าเป็น The 400 Blows นักเรียนคนหลังๆจะเริ่มปลีกหนีไปทีละคนสองคน จนสุดท้ายหายหัวไปหมดสิ้น! สะท้อนถึงความโหยหาอิสระของมนุษย์ที่ไม่มีใครคิดอยากเดินแถวตรงตามกฎระเบียบ แต่มันตรงกันข้ามกับหนังเรื่องนี้ที่ต้องการจะสื่อถึงอีกแบบ ผู้นำที่ไม่ได้มองตนเองเป็นผู้คุมกฎหรือชนชั้นเหนือกว่า แต่ก็สามารถทำให้(เด็กๆ)ทุกคนเคารพทำตาม เดินไม่มีแตกแถวจนกลับโรงเรียน
ครูใหญ่ (รับบทโดย Delphin) ผู้มีตำแหน่งสูงสุดในโรงเรียน แต่กลับมีรูปลักษณะแคระแกรน ว่าไปก็สูงพอๆกับเด็กนักเรียน นี่เป็นการสะท้อนเสียดสีและล้อเลียน ต่อให้บุคคลผู้มีอำนาจล้นฟ้าแค่ไหน สุดท้ายก็แค่คนธรรมดาต่ำต้อย สูงเทียบเท่าประชาชนเดินดิน
หมวกสวมใส่เหนือศีรษะ เป็นสิ่งสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจบารมีและสติปัญญา, เริ่มต้นฉากนี้มา ครูใหญ่วางหมวกไว้ด้านหลังโต๊ะทำงาน แล้วครอบด้วยกระจกแก้วอีกชั้นหนึ่ง ราวกับว่าต่อให้สิ่งสูงค่าบารมีล้นฟ้า ย่อมต้องมีบางสิ่งอย่างอยู่เหนือกว่า ครอบงำตนเองให้ต้องอยู่ในกฎกรอบ
เพราะอาหารกลางวันกินถั่วมาก็ไม่รู้กี่มื้อแล้ว ใครกันจะไปทนไหว เด็กๆทั้งหลายจึงลุกฮือกันขึ้นมาประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ ด้วยการนำมาเขวี้ยงขว้างใส่คนโน้นนี่นั่นจนเละเทะดูไม่ได้ แม้ว่าความผิดนี้ไม่ได้อยู่ที่แม่ครัวเลยนะ แต่เด็กชาย Colin กลับก้มหน้า(ร้องไห้) นั่นเพราะแม่เขาเป็นคนทำครัว พบเห็นแบบนี้ยินยอมรับได้เสียที่ไหน!
(นี่เป็นชนวนเหตุผลให้ Colin กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มปฏิวัติ)
วิชาวิทยาศาสตร์ ครูสอนกายภาพมีลักษณะอ้วนท้วมสมบูรณ์ ตรงกันข้ามกับกระดูกผอมกะหร่อง นี่น่าจะไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่ต้องการสะท้อน ไม่ว่ามนุษย์คนไหนก็มีภายในเป็นโครงกระดูกเหมือนกัน จะแบ่งแยกชนชั้นความไม่เท่าเทียมกันเพื่อ!
ผมมีความรู้สึกว่ารูปลักษณ์ ท่าทางลีลา การเคลื่อนไหวของอาจารย์คนนี้ ชวนให้ระลึกถึง The Blue Angel (1930) หนังพูดเรื่องแรกของประเทศ Germany นำแสดงโดย Emil Jannings ในบทครูร่างใหญ่ผู้คร่ำครึเทอะทะ ตัวละครนี้แทบไม่แตกต่างกันเลย
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งของ Tabard คือตอนเดินเล่นนอกโรงเรียนพูดคุยกับ Bruel ครูใหญ่เห็นเข้าเรียกไปคุย อ้างโน่นนี่นั่นให้เลิกคบหาสมาคม เก็บกดความคลุ้มคลั่งมาจนถึงคาบเรียนนี้ ครูวิทยาศาสตร์ผู้ไม่เคยสนใจอะไรยื่นมือเข้ามาจับ ถูกด่าสวนกลับโดยพลัน
“I say you’re full of shit!”
หลังจากร่างข้อตกลงเรียกร้องสิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียม เกิดเป็นฉากสงครามปาหมอน (Pillow Fight) ที่กลายเป็นตำนาน คิดว่าน่าจะเพราะคือครั้งแรกที่ปรากฎในภาพยนตร์ มันมีความฟุ้งกระจาย ขนนก(แห่งอิสรภาพ) ปลิวว่อนไปทั่วทั้งฉาก
เมื่อเกิดความอิ่มหนำสำราญในอิสรภาพ ก็ตามด้วยการกรีธาเดินขบวนสวนสนามสู่ … อะไรก็ไม่รู้นะ แต่นำเสนอด้วยภาพสโลโมชั่น ราวกับว่าสิ่งที่พวกเขากระทำอยู่นี้ สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแม้แต่น้อย
อาจารย์ประจำหอพักผู้กลายเป็นตัวประกัน/เชลย ถูกจับมัดแล้วยกเตียงตั้งขึ้น เบื้องหน้ามีเสาไม้เล็กตัว T แต่ดูเหมือนไม้กางเขนยังไงชอบกล … นั่นคือนัยยะของช็อตนี้ที่ผมมองเห็นเลยนะ พระเยซูคริสต์ผู้ลงมาจุติเพื่อไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วกลับถูกบีบบังคับให้ต้องชำระโทษด้วยการตรึงกางเขนจนหมดสิ้นลมหายใจ
เพราะฉากนี้มันทำให้ผมครุ่นคิดว่า ผู้กำกับ Vigo ไม่ใช่เพียงพวกคลั่งไคล้ Anarchism แต่ยังปฏิเสธต่อต้านศาสนาด้วยนะ เพราะคือองค์กร/หน่วยงานที่สร้างความเหลื่อมล้ำชนชั้นให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจนเลย
สิ่งที่สหายทั้งสี่กระทำในงานประจำปีของโรงเรียน ขึ้นไปอยู่บนหลังคา เขวี้ยงขว้างทุกสิ่งอย่างลงมาเพื่อทำลายงานให้ต้องยุติล้มเลิก นี่เป็นการสะท้อนถึงความอึดอัดอั้นภายในของพวกเขาที่สะสมไว้ภายใน สุดท้ายระเบิดออกมาเพื่อเป็นการบอกว่า ฉันจะไม่ยอมรับในทุกสิ่งที่ถูกพวกท่านทั้งหลายกดขี่ข่มเหงกระทำมาอีกต่อไป
บนหลังคาคือท้องฟ้า นั่นคือสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพทางความคิด ไร้กฎกรอบขอบเขตแดนใดๆจะครอบงำคลุมหัวพวกเขาอีกต่อไป
เพลงประกอบโดย Maurice Jaubert สัญชาติฝรั่งเศส น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย แต่ก็มีผลงานดังๆ อาทิ L’Atalante (1934), Hôtel du Nord (1938), Port of Shadows (1938), Le Jour se lève (1939) ฯ
เนื่องจากการบันทึกเสียงในทศวรรษนั้น ยังเป็นสิ่งลองถูกลองผิดในวงการภาพยนตร์ แถมคุณภาพต่ำอีกต่างหาก ผู้กำกับ Vigo เลยมุ่งเน้นที่จะใช้บทเพลง Soundtrack และ Sound Effect (หวูดรถไฟ, เสียงฝีเท้า, เด็กๆร้องเพลง วิ่งเล่น ฯ) สนทนากับผู้ชมมากกว่า
ลักษณะการใช้บทเพลง เพื่อพรรณาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงขณะนั้น อาทิ
– ขณะอยู่บนรถไฟ Bruel กับ Caussat ต่างอวดอ้างสารพัดของเล่น ท่วงทำนองเต็มไปด้วยรสสัมผัสของความเพ้อฝันแฟนตาซี,
– ช่วงตอนที่เด็กๆทำสงครามปาหมอน ‘Pillow fight’ เสียงแตร/ทรัมเป็ด และกลองแต็ก ราวกับเดินพาเรดสวนสนาม มุ่งสู่โลกใบใหม่แห่งการปฏิวัติ ฯ
– ต่อกับ Pillow Fight ตอนสโลโมชั่น เสียงร้องเพลงที่มีทำนองโหยหวนล่องลอย ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ก็เพียงแค่ความฝัน มิอาจสำเร็จกลายเป็นจริงได้
เปรียบโรงเรียนกับสังคม ชุมชน ประเทศชาติ หรือโลกใบนี้ ที่ล้วนต้องมีชนชั้นผู้นำปกครอง คือครู อาจารย์ใหญ่ ผู้นำประเทศ มหาอำนาจโลก คอยสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้บุคคลผู้ใต้สังกัดทำโน่นนี่นั่นตามประสงค์ เมื่อใดฝ่าฝืนขัดคำสั่งจักถูกลงโทษกักบริเวณ ขังคุก วันหยุดห้ามกลับบ้าน ‘Zero of Conduct’
เกร็ด: Conduct แปลว่า ความประพฤติ, ในบริบทของชื่อหนัง Zero of Conduct พฤติกรรมเป็นศูนย์ เลยถูกกักบริเวณเมื่อถึงวันหยุด
เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เด็กนักเรียนทั้งหลายที่เป็นสัญลักษณ์แทนด้วยประชาชนคนทั่วไป ก็มิสามารถอดรนฝืนทนต่อความเรื่องมากที่เสมือนเชือกรัดตัว บีบแน่นมากๆก็อึดอัดทุกข์ทรมานหายใจไม่ออก พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างให้สามารถผ่อนคลายพันธการนี้ออกได้
สิ่งที่ผู้กำกับ Vigo นำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือชีวประวัติผสมอิทธิพลของพ่อตนเอง พยายามสร้างอุดมคติของความคอรัปชั่นชั่วร้าย ชนชั้นผู้นำทั้งหลายไม่มีใครเป็นคนดี (เว้นแค่ครูที่เป็นตัวตลก) สมควรต้องถูกฉุดดึงคร่าลงมา เคยอยู่สูงเสียดฟ้าให้ตกต่ำเรี่ยดิน เรียกร้องหาความเสมอภาคเท่าเทียม มิใช่ Anarchism แบ่งแยกอภิสิทธิ์ชนชั้นผู้นำ อยู่เหนือกว่าประชาชนตาดำๆ
แนวคิดของอนาธิปไตย (Anarchism) คือปรัชญาการเมืองซึ่งถือว่า ‘รัฐเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา’ ไม่มีความจำเป็นและให้โทษแก่ประชาชน คัดค้านผู้มีอำนาจหรือองค์การลำดับขั้นบังคับบัญชาในการชี้นำความสัมพันธ์ของมนุษย์ สนับสนุนสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการรวมกลุ่มอย่างสมัครใจ ไม่มีลำดับชั้นหัวหน้า-ลูกน้อง เรียกว่าเสรีภาพของปัจเจกชน
ฟังดูก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีสังคมไหนในโลกจะสามารถธำรงอยู่ในอนาธิปไตยได้เลยนะครับ นั่นเพราะคือระบอบที่ขาดผู้นำ ทำให้บุคคลใต้สังกัดมีความกระจัดกระจายหรือภาวะยุ่งเหยิง เมื่อทุกคนต่างแสดงความเห็นแก่ตัวออกมา สุดท้ายแล้วจักแก่งแย่งชิงดีเด่นจนในที่สุดทั้งระบบก็ล่มสลาย
อนาธิปไตย เหมาะกับสังคมที่มนุษย์หรือทุกสิ่งมีชีวิตมีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรมสูงส่ง ไร้ซึ่งความแก่งแย่งชิงดีเด่น เต็มด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อารีย์ ต่างคนต่างใช้ชีวิต(ของตนเอง) ขณะเดียวกันก็พึ่งพิงพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างสงบสุขสันติ ทุกอย่างมีความเสมอภาคเท่าเทียม … อุดมคติเช่นนี้ ไม่มีทางพบเจอในโลกยุคสมัยทุนนิยมอย่างแน่นอน
ก็ด้วยใจความที่เป็นแนวคิดต่อต้านรัฐบาล อนาธิปไตย ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้หลังรอบฉายปฐมทัศน์ถูกแบนในประเทศฝรั่งเศสโดยทันที ไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รวมแล้ว 12 ปี โชคดีเหลือรอดไม่ถูกไฟไหม้/ระเบิดลง ได้รับการบูรณะรวมใน Blu-Ray ของ L’Atlante (1934) หารับชมใน Youtube ก็น่าจะมีอยู่
แซว: ตอนฉายรอบปฐมทัศน์ มีทั้งผู้ชมที่ส่งเสียงโห่ไล่ และปรบมือชื่นชม หนึ่งในนั้นนักเขียน/นักกวี Jacques Prevert บอกว่าตัวเองปรบดังสุดเลย
ส่วนตัวค่อนข้างก้ำกึ่งชอบ-ไม่ชอบ คือรู้สึกเสียเวลาที่ต้องดูซ้ำรอบสองเพื่อครุ่นคิดวิเคราะห์ เมื่อกระจ่างแจ้งแล้วก็มิได้เกิดความพึงพอใจสักเท่าไหร่ คับข้องขุ่นเคืองในโลกทัศนคติแคบและเห็นแก่ตัวของผู้กำกับ Jean Vigo ก็เอาเป็นว่ารู้สึก SO-SO ไปก็แล้วกัน
แนะนำคอหนังแนว Abstract/Surrealist ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ตีความ, สนใจแนวคิดของ Anarchism และรู้จักผู้กำกับ Jean Vigo ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับแนวคิดอนาธิปไตย อันจะปลูกฝังแนวคิดทัศนคติผิดๆให้กับเด็ก-วัยรุ่นได้
Leave a Reply