Zigeunerweisen

Zigeunerweisen (1980) Japanese : Seijun Suzuki ♥♥♥♡

หนังแนว Horror Surrealist ใช้แค่การพูดเล่าเรื่องราว ก็ชวนให้หลอกหลอนขนหัวลุกชูชันได้แล้ว, คว้ารางวัล Honorable Mention จากเทศกาลหนังเมือง Berlin เข้าชิง Japan Academy Prize ถึง 9 สาขา คว้ามา 4 รางวัลรวมถึง Best Picture และ Best Director นักวิจารณ์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยกย่องให้เหนือกว่า Kagemusha (1980) ที่ออกฉายในปีเดียวกันเสียอีก

Zigeunerweisen เป็นภาพยนตร์ที่ดูยากมากๆ ผมครุ่นคิดอย่างหนักมาสักพักแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เหมือนว่าใจความจะไม่ได้มีแก่นสานสาระอะไรนัก มุ่งเน้นนำเสนอภาพ Surrealist ที่แปลกประหลาดพิศดารและเรื่องเล่าที่ชวนให้เกิดความสั่นสะพรึง ขนหัวลุกชูชัน ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือ Masterpiece เลยนะครับ

Seijun Suzuki (1923 – 2017) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nihonbashi, Tokyo สามเดือนก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ Great Kantō สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือล่มสองครั้ง แต่ตัวเขากลับรู้สึกเป็นเรื่องตลก

“But war is very funny, you know! When you’re in the middle of it, you can’t help laughing. Of course it’s different when you’re facing the enemy. I was thrown into the sea during a bombing raid. As I was drifting, I got the giggles. When we were bombed, there were some people on the deck of the ship. That was a funny sight.”

หลังสงครามจบ สอบติดสาขาภาพยนตร์ที่ Kamakura Academy จบมาได้งานกับสตูดิโอ Shochiku เริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ปี 1954 ย้ายมาสตูดิโอ Nikkatsu กลายเป็นนักเขียน และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก หนังเกรดบีเรื่อง Victory Is Mine (1956)

ระหว่างที่อยู่กับ Nikkatsu โด่งดังมีชื่อเสียงกับหนัง Yakuza Action เกรด B ในรอบ 12 ปีสร้างหนัง 40 เรื่อง จนกระทั่ง Branded to Kill (1967) ได้รับการยกย่องว่าเป็น Avant-Garde Masterpiece แต่ตัวเขากลับถูกไล่ออกเพราะเพราะทำหนังอะไรก็ไม่รู้ ‘turning out pictures nobody could understand.’ นี่ทำให้ Suzuki  ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลข้อหาไม่เป็นธรรม ‘wrongful dismissal’ กลายเป็นเรื่องใหญ่โตสาดเทสีกันไปมา ทำให้ถูก Blacklist ไม่สามารถสร้างหนังกับสตูดิโอของญี่ปุ่นนานถึง 10 ปี

ระหว่างนั้นใช้เวลาเขียนหนังสือ กำกับสป็อตโฆษณา ละครโทรทัศน์ รวมถึงรับเชิญ Cameo ในภาพยนตร์ Don’t Wait Until Dark! (1975) จนเมื่อคดีความยุติ กำกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ A Tale of Sorrow and Sadness (1977) ให้กับสตูดิโอ Shochiku แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก กระนั้นทำให้รู้จักกับ Genjiro Arato โปรดิวเซอร์ละครเวทีที่มีความสนใจสร้างภาพยนตร์ ร่วมกันสรรหาทุนสร้างอิสระ (Indy Film) แบบไม่ต้องอยู่ภายใต้สังกัดสตูดิโอใด

“Speaking very practically, I don’t change as a filmmaker. But the studio system offered a very convenient way of working, and independent filmmaking is different.

At Nikkatsu, if I had an idea in the morning, it could be implemented by the afternoon in the studio. It’s much more complicated now.”

– Seijun Suzuki เขียนในหนังสือ Branded to Thrill: The Delirious Cinema of Suzuki Seijun (1994)

ดัดแปลงจากนิยาย Sarasāte no ban (1951) [แปลว่า Disk of Sarasate] เขียนโดย Hyakken Uchida (1889 – 1971), โดยคำว่า Zigeunerweisen (ภาษาเยอรมัน แปลว่า Gypsy Airs หรือ Gypsy Moon) คือชื่อบทเพลงของคีตกวี นักไวโอลินสัญชาติสเปน Pablo de Sarasate (1844 – 1908) ประพันธ์ขึ้นปี 1878 (ช่วงปลายยุค Romantic Era) บันทึกลงแผ่นเสียงปี 1904

นี่เป็นบทเพลงผีสิง … จริงไม่ใช่ผีหรอกนะครับ นาทีที่ (3.35) มันคือเสียงสนทนาที่ดังขึ้นเป็นภาษาสเปนของ Sarasate จับใจความได้ว่าเป็นการแนะนำนักดนตรีให้ลดระดับเสียงลงมานิดหนึ่ง

abajo el -pedal- de la sordina
press down the mute -pedal-

แต่กลับคนที่ไม่รู้มาก่อน แล้วบังเอิญได้ยิน อาจสะดุ้งตกใจ เกิดอาการหลอนๆ คิดว่าเป็นเสียงผีติดมาแน่ๆ

เกร็ด: มีอีกผลงานหนึ่งของ Hyakken Uchida ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Madadayo (1993) โดยผู้กำกับ Akira Kurosawa

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Yōzō Tanaka เพื่อนสนิทของ Suzuki ที่อยู่บ้านใกล้ๆ ชื่นชอบการเล่นโกะเหมือนกัน และใช้เวลาระหว่างดวลนั้นพูดคุยสนทนาบทหนัง

เรื่องราวของหนังดำเนินไปในช่วงทศวรรษ 20s ยุคสมัย Taishō Era (1912 – 1926) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1, Aochi (รับบทโดย Toshiya Fujita) อาจารย์สอนภาษาเยอรมัน ขณะเดินทางไปพักร้อนที่หมู่บ้านริมทะเล บังเอิญพบกับ Nakasago (รับบทโดย Yoshio Harada) อดีตเพื่อนร่วมงาน ปัจจุบันเร่รอนไปทั่วไม่มีหลักแหล่ง (เหมือน Gypsy), ขณะนั้น Nakasago กำลังถูกฝูงชาวบ้านกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรฆ่าภรรยาสาวชาวประมง โชคดีได้ Aochi ช่วยไว้ ทั้งสองรับประทานอาหารร่วมกัน และได้รู้จักกับเกอิชา Koine (รับบทโดย Naoko Otani)

Toshiya Fujita (1932 – 1997) ผู้กำกับ/นักแสดง เกิดที่ Pyongyang, เกาหลีใต้ (ขณะที่ญี่ปุ่นยังยึดครองคราบสมุทรเกาหลีอยู่) เรียนจบจาก Tokyo University เข้าร่วมกับสตูดิโอ Nikkatsu รุ่นเดียวกับ Suzuki ไต่เต้าจากนักเขียน ตากล้อง ผู้ช่วย จนได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Hikō shōnen: Hinode no sakebi (1967) โด่งดังกับ Lady Snowblood (1973) และภาคต่อ Lady Snowblood 2: Love Song of Vengeance (1974), สำหรับการแสดง คงเพราะ Suzuki รู้สึกว่าใบหน้าของ Fujita เข้ากับภาพลักษณ์ของตัวละครมาก เลยร้องขอให้เขามาเป็นนักแสดงนำ

Aochi เป็นชายชาวเมืองผู้เจี๋ยมเจี้ยม สวมใส่เสื้อผ้าสูททันสมัย แต่กลับเป็นคนหัวโบราณ ยึดถือมั่นในกฎกรอบระเบียบ ไม่ชอบทำอะไรนอกลู่นอกรอย เว้นก็รู้จักกับ Nakasago นี่แหละ ที่ทำให้เขาพบเจออะไรๆผิดเพี้ยนพิศดาร กระนั้นมันกลับช่างน่าหลงใหลเสียเหลือเกิน กล่าวคือในใจของ Aochi มีความอยากที่จะเป็นแบบ Nakasago แต่บางสิ่งในใจก็ฉุดดึงรั้งเอาไว้ ไม่มีโอกาสทำตามความต้องการในใจแท้ๆของตัวเองสักที

ผมถือว่า Fujita คือตัวละครนำของหนัง เพราะเรื่องราวดำเนินไปตามสายตาของตัวละครนี้ ที่ค่อยๆมีพัฒนาการเปลี่ยนไปทีละน้อย แต่เพราะความโดดเด่น ฉูดฉาดเทียบไม่ได้กับ Harada เลยได้เข้าชิงเพียงสาขา Best Supporting Actor ของ Japan Academy Prize

Yoshio Harada (1940 – 2011) เกิดที่ Tokyo โตขึ้นเข้าร่วมกับกลุ่ม Haiyūza theater ผลงานการแสดงโทรทัศน์เรื่องแรก Tenka no Seinen (1967) ภาพยนตร์เรื่องแรก Fukushū no uta ga kikoeru (1968) เซ็นสัญญากับ Nikkatsu โด่งดังกับบทเด็กหนุ่มหัวขบถ/ยากูซ่า ขาประจำในหนังของ Fujita, ผลงานเด่นๆ อาทิ Matsuri no junbi (1975), Rônin-gai (1990), Onibi (1997), Still Walking (2008), Someday (2011) ฯ

Nakasago เป็นคนรักอิสระไม่ชอบถูกใครบังคับ ไว้หนวดเครายาวเกรอะรุงรัง สวมผ้าปิดตาข้างหนึ่ง (ก็ใส่ไปแบบนั้นแหละ ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร) ไม่ชอบอยู่กับที่ไหนนานๆ แต่สวมใส่ชุดพื้นเมืองยูกาตะตลอดเวลา ความคิดอ่านกระทำถือว่านอกคอก พิศดาร ไม่ยึดติดตัวเองอยู่ในกรอบ หลงใหลทุกสิ่งอย่างที่อยู่ภายใต้เนื้อหนังมังสา โดยเฉพาะโครงกระดูก มีจินตนาการเพ้อฝันสนใจสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ตนเองกลับเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ

ส่วนตัวรู้สึกว่าการแสดงของ Harada แย่งซีนหนังไปเต็มๆ ทั้งภาพลักษณ์ ท่าทาง คำพูด มีความเฉพาะตัว คิดอ่านกระทำไม่เหมือนใคร สวมยูกาตะทำให้เหมือนค้างคาว/กระหัง ที่สามารถโบยบินล่องลอยไปไหนได้ตลอดเวลา ไม่หลงใหลยึดติดกับอะไรสักอย่าง

หลายปีผ่านไป Nakasago แต่งงานกับ Sono ผู้มีใบหน้าเหมือนกับ Koine อย่างยิ่ง (นักแสดงคนเดียวกัน) มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน แต่ไปๆมาๆภรรยาติดไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) เสียชีวิต Nakasago เลยไปรับ Koine ให้มาเป็นพยาบาล (และภรรยา), สำหรับ Aochi แต่งงานอยู่แล้วกับสาวผมบ๊อบ Shuko (รับบทโดย Michiyo Okusu) มีชีวิตคู่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นทีเดียว

Naoko Otani (เกิดปี 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sumida, Tokyo โด่งดังกับการแสดงละครโทรทัศน์ ผลงานภาพยนตร์มีไม่มาก อาทิ The Human Bullet (1968), Mishima: A Life in Four Chapters (1985), The River with No Bridge (1992) ฯ

Sono เป็นผู้หญิงค่อนข้างบอบบางอ่อนแอ พอได้ยินคำพูดของ Aochi/Nakasago บอกว่าตนหน้าเหมือนเกอิชา ก็เกิดความน้อยใจอย่างรุนแรง คิดว่าเธอน่าจะเป็นชู้กับ Aochi แน่ๆ เพราะตั้งชื่อลูกสาวสื่อออกมาแฝงนัยยะขนาดนั้น

Koine เป็นหญิงแกร่ง แต่ภายในค่อนข้างอ่อนแอทีเดียว ในตอนแรกที่พบกับทั้ง Aochi/Nakasago เหมือนจะตกหลุมรัก Aochi มากกว่า แต่ไปๆมาๆก็หลงใหลในความประหลาดพิศดารของ Nakasago จนโงหัวไม่ขึ้น ยินยอมเป็นทั้งพยาบาล (และภรรยา) พอคนรักจากไปก็ยังคงทุ่มเทกายใจให้ลูก

สองตัวละครนี้มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมากจนแยกกันแทบไม่ออก แต่ก็มีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ นี่กระมังที่ทำให้ Otani ได้เครดิตการแสดงบทบาทนี้ไปเต็มๆ

Michiyo Okusu (เกิดปี 1946) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น แต่ไปเกิดที่ Tianjin เข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1964 แต่เพิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Zigeunerweisen คว้ารางวัล Best Supporting Actress จากทั้ง Japan Academy Prize และ Kinuma Junpo ทำให้มีผลงานเด่นตามมา อาทิ Face (2000), Zatôichi (2003), Haru no yuki (2005)

Shuko สาวผมบ๊อบไฮโซ มีพฤติกรรมรสนิยมแปลกๆ (ก็ไม่รู้จับพลัดพลูอะไรแต่งงานกับหนุ่มเจี๋ยมเจี้ยมอย่าง Aochi) ร่างกายอ่อนแอ แพ้เกสรดอกไม้เห็นเป็นจุดทั่วตัว แต่จิตใจร่านรัก หมกมุ่นในตัณหา ชื่นชอบการใช้ลิ้นเป็นพิเศษ

แค่ภาพลักษณ์ของ Okusu ก็โดดเด่นแย่งซีนไปเต็มๆแล้ว แถมพฤติกรรมแปลกๆของตัวละครอย่าง ตกใจมากๆจะต้องส่องกระจกแต่งหน้า, ใช้ลิ้นเลียตา, แอบซุกขโมยแผ่นเสียง ฯ พฤติกรรมเพี้ยนๆแบบนี้ เหมาะกับ (เป็นชู้กับ) Nakasago ได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย แต่อย่าลืมว่าเพราะ Aochi ชื่นชอบคบคนแบบนี้ แต่งงานกับเธอเลยไม่ค่อยผิดปกติอะไร

หนังไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เราสามารถสื่อความได้ว่า เริ่มต้น Aochi แอบเป็นชู้กับ Sono จนมีลูกด้วยกันถูก Nakasago จับได้จึงเป็นชู้กับ Okusu และ Aochi จับได้ (จากคำบอกเล่าของน้องสาว Aochi ที่ป่วยนอนเพ้ออยู่โรงพยาบาล) ด้วยเหตุนี้วันหนึ่ง Nakasago เลยพูดขึ้นลอยๆแบบจริงจังกับเพื่อนรักคนนี้ ‘แลกเมียกันไหม’

เรื่องราวความสัมพันธ์รักสามเส้านี้ สะท้อนกับกลุ่มขอทานตาบอด 3 คน ชายแก่, ภรรยาสาว และคนใช้หนุ่ม ที่ก็มีความวุ่นวายในรักอุตลุต จนในที่สุดชายทั้งสองดวลตีหัว(ตัวตุ่น)ในกองทราย ส่วนหญิงสาวเล่น Biwa ล่องลอยคอหายไปในท้องทะเล … แล้วกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นเด็กเวรสามคน *-*

ณ จุดๆหนึ่งของหนัง ถ้าคุณคิดว่า Nakasago มันเหี้ยบัดซบแล้ว จะบอกว่า Aochi ก็แทบไม่ต่างกัน แค่การแสดงออกดูเป็นผู้เป็นคนปกติมากกว่าก็เท่านั้น

ถ่ายภาพโดย Kazue Nagatsuka ขาประจำของ Suzuki เลือกถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด (ปกติหนังของ Suzuki จะถ่ายทำแต่ในสตูดิโอเท่านั้น) มักใช้การแช่ภาพ Long-Take ปล่อยให้นักแสดงพูดคุยสนทนาเล่าเรื่องแบบไม่ค่อยขยับไปไหน และมีการจัดวางตำแหน่ง ใส่กรอบให้อยู่ในห้อง/ประตู มีขอบเขตในภาพเหมือนการเปิดดูรูปรวมอัลบัม

สิ่งโดดเด่นไม่ได้ที่ภาษาหรือเทคนิคการถ่ายภาพ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในช็อตนั้นๆ หลายครั้งแปลกประหลาด พิศดาร ดูหลอนๆผิดมนุษย์มนา ถือว่ามีความเป็น Surrealist สอดแทรกอยู่เต็มไปหมด

เนื่องจากผมเองก็มิอาจแปลภาษา ทำความเข้าใจทุกสิ่งสัญลักษณ์ของหนังได้ จักขอนำเสนอเฉพาะที่ครุ่นคิดออกก็แล้วกัน

ปูสีแดงออกมาจากช่องคลอดของหญิงสาวที่เสียชีวิต, คิดว่านี่สื่อถึงประจำเดือน แท้งหรือเลือดตกในแน่ๆ แต่ Nakasago จินตนาการเว่อไปถึง ปูมุดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง กินตับไตไส้พุงที่อยู่ภายในแล้วคืบคลานออกมา แค่พูดออกมาก็หลอนแล้วละ

เรื่องเล่าของเกอิชา Koine ที่ว่ากระดูกของพี่ชาย พอเผาแล้วเห็นเป็นสีแดงชมพู คล้ายสีของดอกซากูระ, จริงๆแล้วในกระดูกก็มีเส้นเลือด/เส้นประสาทอยู่ภายใน แต่มีความเป็นไปได้น้อยมากๆที่พอเผาศพแล้วจะกลายเป็นเถ้าอังคารแล้วจะมีสีแดง (คือก็มีโอกาสอยู่นะ คล้ายๆเผากระดูกแล้วการเป็นพระธาตุ) นัยยะคงสื่อถึงความชั่วร้ายที่ฝังลึกเข้าไปในกระดูก

เกร็ด: เถ้าอังคารสีแดงชมพู เป็นเรื่องที่ไม่มีในนิยาย แต่คุณลุงของผู้ดัดแปลงบท Yōzō Tanaka เมื่อเสียชีวิต เผาศพแล้วเห็นเถ้าอังคารมีสีแดงชมพู ช่างแปลกประหลาดยิ่งนักจึงนำเอามาใส่ในบทหนัง

ฉากที่ Shuko เลียตาของ Nakasago, การเลียมักเป็นสัญลักษณ์ของ Passion, Sex ฯ สิ่งที่ติดคาอยู่ในตาคือบางอย่างที่มาบดบังวิสัยทัศน์ ความเข้าใจถูกผิด ฯ รวมกันจึงสื่อถึง ความจริงที่ Aochi ไม่เคยรับรู้ ภรรยาของเขาลักลอบมีชู้กับ Nakasago

ตอนที่ Nakasago คุยกับ Aochi ในถ้ำ (ต่อรองเรื่องแลกเมีย) มีช็อตหนึ่งที่เห็นเหมือนเขายืนอยู่บนเปลวไฟ (ราคะ) มีร่างของผู้หญิงสามคนซีดเผือกเหมือนศพ นั่นคงคือ 3 คน ที่มีความสัมพันธ์กับ Nakasago ประกอบด้วย หญิงสาวชาวประมง (เสียชีวิตไปแล้ว), หญิงขอทานตาบอด (ลอยคอกลางทะเล น่าจะเสียชีวิตไปแล้ว), อีกคนหนึ่งยังไม่เสียชีวิตขณะนั้น Koine

สำหรับ Direction ที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือขณะที่ Aochi ไปเยี่ยมเยือนแสดงความยินดีกับลูกสาวเพิ่งคลอด หนังใช้การถ่ายจากด้านนอกแล้วมีการเล่นกับประตูบานเล็กบานใหญ่ ในตอนแรกเดินเข้าประตูบานเล็ก แต่พอทราบชื่อของทารกน้อย และกำลังจะอุ้ม ประตูบานใหญ่กลับไหลเปิดออกเองได้อย่างพิศวง และพอส่งคืนให้แม่ กลับเดินออกประตูใหญ่ แล้วอยู่ดีๆก็กลับเลื่อนเข้ามาปิดได้เอง … ฉากนี้สร้างความพิศวงมากกว่าหลอกหลอนแบบแปลกๆ

การตายของ Nakasago ทางการแพทย์บอกว่าติดยาระงับประสาท แต่ดูจากการนำเสนอ หลังจากเห็นเด็กขอทานตาบอดสามคน อาจเกิดความเข้าใจสัจธรรมชีวิตของการ ‘เวียนว่ายตายเกิดใหม่’ ตัดสินใจทรมานตัวเอง (แบบพระพุทธเจ้า) ด้วยการปล่อยให้ร่างกายเปลือยเปล่าท่ามกลางอากาศหนาว พอถึงหน้าร้อนก็ฝังตัวใต้ต้นซากุระ โกนหนวดโกนเครา ปากคาบใบมีดโกน ก็อาจจะบรรลุหลุดพ้น หรือไม่ก็สิ้นลมลงก่อนกลายเป็นส่วนเศษส่วนหนึ่งของโลก, ฉากนี้ผมมองเป็นการสื่อถึงความตายที่เกิดจากธรรมชาติ เสียชีวิตขณะถูกฝังจมดิน อาจแทนด้วยภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว ซึ่งในช่วงทศวรรษนั้นมีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในญี่ปุ่นคือ Great Kantō เมื่อปี 1923

Sono ที่ยังทำใจกับการเสียชีวิตของ Nakasago มีความต้องการทวงคืนสิ่งที่เคยเป็นของเขาจาก Aochi ภาพของเธอที่ปรากฎตัว สวมกิโมโน ยืนหันหลังตรงประตูหน้าบ้าน มีลักษณะเหมือนผีสาวทวงวิญญาณ หวนกลับมาหลอกหลอนถึง 3 ครา ครั้งสุดท้ายกับสิ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะ Aochi ยืนกรานไม่เคยยืมแผ่นครั่ง Zigeunerweisen แต่ภายหลังกลับพบว่าภรรยาของตนแอบขโมยไปซุกไว้

สำหรับการตายของ Aochi เป็นการหักมุมของหนัง ว่าแท้จริงแล้วน่าจะตั้งแต่ตอนคุยกับ Nakasago เรื่องแลกเปลี่ยนภรรยาในถ้ำ ทั้งสองได้เกิดการสลับร่างวิญญาณกัน ซึ่งคนที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้จริงๆคือวิญญาณของ Aochi ในร่างของ Nakasago เรื่องราวถัดจากนั้นเป็นการวนเวียนอยู่บนโลก 49 วัน ซึ่งตอนจบเด็กหญิงสวมชุดนักบวช รอยเท้ามีสัญลักษณ์เหมือน 6 เหรียญ (คล้ายๆรอยพระพุทธบาท) นั่นคือการนำทางสู่ยมโลก, ช็อตตอนจบเป็นภาพเรือรอข้ามแม่น้ำแห่งความตาย Sanzu หรือจะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการลอยคอไร้จุดมุ่งหมาย เหมือนหญิงตาบอดขอทานก็ยังได้

ตัดต่อโดย Nobutake Kamiya, หนังใช้มุมมองของตัวละคร Aochi เป็นหลักในการเล่าเรื่อง แต่ก็จะมีตัดสลับกับ Nakasago อยู่หลายครั้ง

โดยปกติแล้วหนังของ Suzuki ก่อนหน้านี้ มักยาวไม่เกิน 90 นาที ในความควบคุมของสตูดิโอ ถือเป็นครั้งแรกที่สร้างหนังเกิน 2 ชั่วโมง แต่หลายคนคงรู้สึกยาวเกินไปไหม ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่อืดอาด เชื่องช้า ปล่อยยาว long-take แถมเรื่องราวไม่ค่อยดำเนินไปข้างหน้าสักเท่าไหร่

ส่วนตัวกลับรู้สึกว่า หนังมีความพอดิบพอดีไม่มีตกหล่นขาดเกินเลยนะ เทียบกับผลงานของ Andrei Tarkovsky หรือ Béla Tarr จะรู้สึกว่าหนังเร็วติดจรวจเลยละ แถมมีการกวนประสาทเล็กๆด้วยตรงที่มีเสียงบรรยายของใครไม่รู้แทรกเข้ามาถ้าซีนนั้นมันยาวเกินไป

เพลงประกอบโดย Kaname Kawachi มีลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศให้กับหนัง นอกจากบทเพลงบรรเลงขับร้อง Shamisen กับ Biwa ที่เหลือแทบจะไม่มีทำนองใดๆ ใช้กรับ กลอง กระดิ่ง มาราคัส ทำตัวเหมือน Sound Effect เสียมากกว่า

สรุปแล้วหนังเรื่องนี้มันอะไรกัน? ผมคิดว่าคือการรวมเรื่องเล่า เหตุการณ์หลอนๆ เพี้ยนพิศดาร ผ่านบทสนทนา พบเจอในชีวิตจริงของสองตัวละคร Aochi กับ Nakasago โดยใช้การนำเสนอผ่านช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ทศวรรษ 20s ยุคสมัย Taishō Era (1912 – 1926)

ผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในยุคสมัย Taishō สักเท่าไหร่ แต่สามารถเปรียบเทียบหลายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่น่าจะเป็นการนำเสนอให้มีความสะท้อนตรงกันพอดี อาทิ
– เริ่มต้นที่การตายของหญิงสาวชาวประมง และ Aochi ได้หวนกลับมาพบเจอกับ Nakasago สะท้อนถึงการสวรรคตของ Meiji Emperor ทำให้ Crown Prince Yoshihito ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ ตั้งชื่อยุคสมัยใหม่ว่า Taishō
– Spanish Flu เมื่อปี 1918 การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ เหตุการณ์นี้นำมาตรงๆเลย คือสาเหตุการเสียชีวิตของ Koine
– ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 – 1918) ตรงกับช่วงที่ชายขอทานตาบอดสองคนต่อสู้ทุบหัวกันจนจมดิน ขณะที่หญิงสาวล่องลอยคอในมหาสมุทร, ญี่ปุ่นใน WW1 เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร คอยต่อสู้ต้านมิให้ประเทศจีนแพร่ขยายอิทธิพลสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
– แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ Great Kantō เมื่อปี 1923 น่าจะตรงกับการตายฝังดินของ Nakasago
– การเสียชีวิตตอนจบของ Aochi สื่อถึงจุดสิ้นสุดของยุคสมัย Taishō

เราสามารถมองหนังเรื่องนี้เป็นแนว Nostalgia สร้างขึ้นในช่วงปลาย Shōwa (1926–1989) โดยผู้กำกับ Suzuki ทำการหวนระลึกถึงอดีต เกิดทันยุคสมัย Taishō จัดเต็มด้วยเสื้อผ้าหน้าผม พื้นหลัง Art Direction และผสมผสานเรื่องราวรักสามเส้ามีความ Romance ต่อมาสร้างอีกสองเรื่องรวมเรียกว่าไตรภาค Taishō Roman Trilogy ไม่ได้มีความต่อเนื่อง แค่เรื่องราวมีพื้นหลังในยุคสมัยเดียวกัน
– Zigeunerweisen (1980)
– Kagero-za (1981)
– Yumeji (1991)

เกร็ด: คำว่า Roman ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกรุงโรมันนะครับ เป็นคำอ่านภาษาญี่ปุ่นของคำว่า Romance

เนื่องจากโปรดิวเซอร์ Genjiro Arato ไม่สามารถจัดหาสถานที่ฉายหนังเรื่องนี้ได้ (ไม่รู้ยังติด Blacklist อยู่รึเปล่า) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงก่อสร้างเต้นท์ขนาดใหญ่ขึ้นมาเองข้างๆ Tokyo Dome เพื่อจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ สร้างความแปลกประหลาดพิศดาร ดึงดูดความสนใจให้กับผู้ชมอย่างยิ่งจนได้รับโอกาสฉาย Wide Release ในโรงภาพยนตร์ 22 สัปดาห์ ขายตั๋วได้กว่า 56,000 ใบ (ตั้งเป้าไว้แค่ 10,000 ใบเท่านั้น) 

หนังส่งออกฉายในสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้รางวัล Honorable Mention ถ้าเทียบถือว่าคือรางวัลชมเชย (ที่ 3)

เข้าชิง Japan Academy Prize ถึง 9 สาขา คว้ามา 4 รางวัลประกอบด้วย
– Best Film ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actress (Naoko Ôtani)
– Best Supporting Actor (Toshiya Fujita)
– Best Supporting Actress (Michiyo Ohkusu) ** ได้รางวัล
– Best Screenplay
– Best Cinematography
– Best Lighting
– Best Art Direction ** ได้รางวัล

เหมือนว่า Kagemusha (1980) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่เพิ่งคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ติด 5 เรื่องสุดท้าย กลับไม่มีชื่อแม้แต่เข้าชิงรางวัลใดๆของ Japan Academy Prize นี่ผมก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม

ส่วนตัวมองว่า Kagemusha กับ Zigeunerweisen เป็นหนังสองเรื่องที่เทียบกันไม่ได้ ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่อยู่ในระดับตำนานเดียวกันทั้งคู่ แต่เพราะผู้ชมส่วนใหญ่แทบทั้งนั้นจะรู้จักผลงานของ Akira Kurosawa และเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆกับ ใครคือ Seijun Suzuki ?? จึงมักปฏิเสธเสียงแข็งไว้ก่อน ทั้งๆที่ก็ไม่ได้รู้จัก เคยรับชม หรือทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้อย่างถ่องแท้

กระนั้นก็ใช่ว่า Zigeunerweisen ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ระดับนี้ แล้วจะมีสตูดิโอหน้าไหนเห็นคุณค่าซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็น VHS/Laser Disc แต่เพราะกระแส Cult ที่มีมากล้น ปี 2001 ค่อยมีบริษัท Little More Co นำไปทำแผ่น DVD จัดจำหน่าย

ชาวต่างชาติอย่างเราๆ รับชมหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะต้องอาศัยความรู้เข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างมาก และต้องมีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ระดับสูง (จัดให้ที่ Veteran)

ตัวผมเองยิ่งหนังดูยากๆ ชอบมองเป็นความท้าทาย (บางครั้งเขียนบทความ สนุกสนานเพลิดเพลินกว่ารับชมหนังเรื่องนั้นๆอีก) ซึ่งถ้ามันมีสาระประโยชน์ลึกซึ้ง ศิลปะภาพยนตร์อันสวยงามวิจิตรแฝงอยู่ ก็จะชื่นชอบอย่างคลั่งไคล้หลงใหล ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ความลึกลับ ซับซ้อน พิศดารนั้นจัดเต็ม แต่สาระประโยชน์ไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่ เพราะเป็นผลงานที่มีลายเซ็นต์ของศิลปินเด่นชัดไปสักนิด

แนะนำกับคอหนัง/ศิลปินแนว Surrealist ชื่นชอบการครุ่นคิด ความท้าทาย, แฟนๆหนังเรื่องเล่าบรรยากาศสยองขวัญ, สนใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ยุคสมัย Taishō, รู้จักผู้กำกับ Seijun Suzuki ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับเรื่องราวสุดประหลาด แนวคิดโคตรพิศดาร เด็กๆรับชมคงสลบหลับใหล

TAGLINE | “Zigeunerweisen โคตรหนัง Surrealist ของผู้กำกับ Seijun Suzuki อาจดูยากสักนิด เป็นญี่ปุ่นมากไปเสียหน่อย แต่มีความลึกล้ำ พิศดาร ท้าทายสติปัญญาอย่างยิ่ง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

2
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
0 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ฟังดนตรีไวโอลินตอนเครดิตท้ายเรื่องถึงนึกขึ้นได้
ไทยมีการนำทำนองเพลง Zigeunerweisen หรือ Gypsy Moon มาใส่คำร้องภาษาไทยโดย “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)” ในชื่อเพลง “คิดถึง” (หรือ จันทร์กระจ่างฟ้า) บันทึกเสียงครั้งแรก ปี พ.ศ.2494 โดย “เฉลา ประสพศาสตร์” นักร้อง/นักแสดงรุ่นเดอะ (แม่ของพิราวรรณ ประสพศาสตร์ ตอนแก่มักเล่นเป็นคนรับใช้ตัวประกอบในหนังและละครหลายเรื่อง) ต่อมามีคนนำมาขับร้องใหม่มากมาย เช่น จินตนา สุขสถิตย์ (ได้รางวัลเสาอากาศทองคำ), ชรินทร์ นันทนาคร, กุ้ง กิตติคุณ, เท่ห์ อุเทน, เบิร์ด ธงไชย, ฯลฯ รวมถึงนำมาประกอบละครยุคหลังหลายเรื่อง

ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

จังหวะหนังทำให้นึกถึงพวกหนัง Surreal ยุค 60’s-70’s-80’s อย่าง Luis Buñuel (อยากให้เขียนถึงหนัง La Voie Lactée หรือ The Milky Way ปี 1969 บ้าง แนวหลายเส้นเรื่องมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่นักเดินทางหนุ่ม-แก่คู่หนึ่งเดินทางจากฝรั่งเศสไปสเปนบนถนนทางหลวง The Camino de Santiago หรือ The Way of St. James ซึ่งเต็มไปด้วยโบราณสถาน สถานที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์มากมาย แล้วระหว่างทางพบเจอกับบุคคลสำคัญในคริสตศาสนา ประวัติศาสตร์ออกมาเพ่นพ่านไปทั่ว อารมณ์คล้ายๆ The Discreet Charm of the Bourgeoisie กับ The Phantom of Liberty) หรือ Wojciech Jerzy Has (ผกก.The Hourglass Sanatorium (1973) กับ The Saragossa Manuscript (1965))

%d bloggers like this: