Zindagi Na Milegi Dobara (2011) : Zoya Akhtar ♥♥♥♥
หนังเรื่องนี้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า ‘ชีวิตนี้มีแค่หนเดียว’ อย่างหลงยึดติดในสิ่งไม่คู่ควร ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าเต็มที่ เหมาะสำหรับถ้าคุณเป็นพวกบ้างานเกินไป มีปมชีวิตครอบครัว หรือยังลังเลใจที่จะแต่งงาน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คำตอบบางอย่างจำต้องใช้ประสบการณ์ชีวิตช่วยค้นหา
Zindagi Na Milegi Dobara เป็นหนังที่ชั่วโมงแรกจะทำให้คุณอึดอัดพอสมควร เพราะความที่ยังไม่เข้าใจว่าต้องการสื่อเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร คับข้องสงสัยในความสัมพันธ์ของสามทหารเสือ (Three Musketeers) ไหนบอกพวกเอ็งสนิทกันโคตรๆไม่ใช่เหรอ ทำไมราวกับกระจกที่แตกร้าวต่อไม่ติด สุมรวมอยู่ในไหใบเดียวกัน เกิดอะไรขึ้นกับพวกแก?
อดทนไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงตอนดำน้ำนะครับ ความมหัศจรรย์ของหนังเริ่มต้นตรงนี้ ในห้วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความอึดอัดทุกข์ทรมาน มันมีความสวยงามบางอย่างแอบซ่อนอยู่ภายใต้ เพียงแต่คุณจะลืมตามองเห็นหลงใหลสิ่งรอบข้าง หรือมืดบอดหลับหูหลับตามองผ่านข้าไม่สน
Zoya Akhtar ผู้กำกับหญิงสัญชาติอินเดีย เกิดในตระกูล Akhtar ที่ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควรในวงการ Bollywood พ่อ-แม่ Javed Akhtar กับ Honey Irani เป็นนักกวี แต่งเพลงและเขียนบทหนัง ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร ทำให้ลูกสาวเกิดความชื่นชอบสายงานนี้ตั้งแต่เด็ก ได้เข้าเรียน New York University Film School สาขาภาพยนตร์ กลับมาเริ่มต้นเป็นผู้ช่วยกำกับ Music Video จากนั้นเป็นหัวหน้าผู้คัดเลือกนักแสดง (Casting Director) ให้กับหนังของพี่ชายอย่าง Split Wide Open (1999), Dil Chahta Hai (2001) [นำแสดงโดย Aamir Khan] ฯ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Luck By Chance (2009) นำแสดงโดย Farhan Akhtar กับ Konkana Sen Sharma เล่าเรื่องนักแสดงหนุ่มที่ดิ้นรนหาทางประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ หนังได้รับคำชมอย่างมากแต่ทำเงินไม่ได้เท่าไหร่
Zindagi Na Milegi Dobara เป็นผลงานลำดับที่ 2 ร่วมกับ Reema Kagti [เหมือนว่า ทั้งสองน่าจะเป็นคู่ขากัน] ได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตชีวิตของพี่ชายตัวเอง (ตัวละคร Imraan ได้พี่ชาย Farhan Akhtar มาแสดงเองด้วย) เป็นเรื่องราวของ ‘สามหนุ่มในช่วงเวลาที่กำลังจะปักหลักตั้งฐาน มีพันธะผูกพันของตนเอง’
“about three guys on the verge of making commitments in life”
พวกเธอแทรกใส่บทกวีของพ่อ Javed Akhtar เป็นเสียงบรรยายประกอบ เพื่อสร้างมิติให้กับหนังด้วย
สำหรับสถานที่ถ่ายทำ ตอนแรกตั้งใจจะไป Mexico ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น Spain เพราะเมื่อได้ค้นคว้าหาประวัติศาสตร์/ประเพณีวัฒนธรรม/และกีฬา (history, culture, sports) ที่น่าสนใจของหลายๆประเทศ ได้ค้นพบชายหาด Nudist Beach, เทศกาลปามะเขือเทศ (La Tomatina) และกิจกรรมวิ่งกระทิง (Encierro) ของประเทศสเปน ที่สอดคล้องกับใจความของหนังในแต่ละช่วงไคลน์แม็กซ์โดยเฉพาะเลย
เพื่อนรักสามทหารเสือ (Three Musketeers) ประกอบด้วย
– Arjun Saluja (Hrithik Roshan) อาศัยอยู่ที่อังกฤษ เป็นนายหน้าธุรกิจ วาณิชธนกิจ (Investment Banking) วันๆก้มหน้าก้มตาหาแต่เงิน ไม่ค่อยมีเวลาว่างสนใจคนรอบข้าง
– Imraan Qureshi (Farhan Akhtar) ทำงานร้านถ่ายเอกสาร ชื่นชอบการเขียนหนังสือ ขับร้อง-แต่งกวี มีความฝันต้องการเป็นศิลปิน
– Kabir Dewan (Abhay Deol) สถาปนิกหนุ่ม ที่ได้หมั้นหมายกับ Natasha Arora (Kalki Koechlin) นักออกแบบภายใน
ตัดสินใจร่วมทริปสละโสด (ฺBachelor) ของ Kabir เดินทางไปประเทศสเปน ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ แต่ละคนจะเลือกสถานที่ กิจกรรมไฮไลท์ และอีกสองคนต้องเข้าร่วม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สำหรับนักแสดง ความตั้งใจแรกคือ Imran Khan กับ Ranbir Kapoor แต่ทั้งสองบอดปัดเพราะต้องการเล่นหนังในสตูดิโอของตนเท่านั้น, Farhan Akhtar คงถูกกึ่งๆบังคับ หลวมตัวเป็นขี้ข้าน้องสาวตั้งแต่ Luck By Chance (2009) จึงเป็นความหลีกเลี่ยงไม่ได้, Hrithik Roshan นักแสดงคนโปรดของผู้กำกับ ตกลงรับเล่นจากคำขอของภรรยา (คงเป็นเพื่อนรู้จักกัน), ส่วนนักแสดงคนสุดท้าย Abhay Deol เลือกจากความที่หน้าตาไม่เข้าพวกที่สุด
ผมคิดว่า สามทหารเสือ ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือ Kabir เพราะเป็นผู้จัดทริปนี้ให้เกิดขึ้น และเป็นคนสุดท้ายที่ปัญหาได้รับการแก้ไข แต่เพราะ Charisma ของ Hrithik Roshan โดดเด่นเหนือกว่าใครเพื่อน ใครๆจึงมองว่า Arjun โดดเด่นที่สุด
Scuba Diving & La Tomatina
Hrithik Roshan (เกิดปี 1974) ซุปเปอร์สตาร์สัญชาติอินเดีย หนึ่งในนักแสดงค่าตัวสูงสุดที่ไม่ได้นามสกุลลงท้าย Khan (Roshan ถือเป็น Superstar รุ่นถัดมาต่อจาก 3 King Khan นะครับ) เกิดที่ Mumbai มีพ่อ Rakesh Roshan เป็นผู้กำกับชื่อดัง (พ่อ-ลูก ร่วมงานกันหลายครั้ง) ทำให้ได้เล่นหนังตั้งแต่เด็ก ได้รับบทนำครั้งแรก Kaho Naa… Pyaar Hai (2000) คว้าสองรางวัลการแสดง Best Actor กับ Best Male Debut จาก Filmfare Award กรุยทางสู่ความสำเร็จ จากผลงาน Kabhi Khushi Kabhie Gham… (2001), Koi… Mil Gaya (2004) ไตรภาค Krrish, ตัวร้ายใน Dhoom 2 (2007), Jodhaa Akbar (2009) ฯ
Arjun Saluja เป็นคนบ้างาน จริงจังกับชีวิต เชื่อว่าเงินทองสามารถซื้อทุกสิ่งอย่างได้กระทั่งความสุข วางแผนอายุ 40 เมื่อไหร่จะเลิกทำงาน เกษียณตัวพักผ่อนใช้ชีวิตอย่างสงบ, แต่ความจริงนั้น Arjun เป็นคนเครียดกับชีวิตเกินไป เคยมีแฟนสาวแต่เลิกกันเพราะหาเวลาว่างให้ไม่ได้ ก้มหน้าก้มตาหาเงินเพราะไม่ต้องการให้ชีวิตตกต่ำลำบากขอคนอื่นกินแบบตอนเด็ก … ผมเชื่อว่าถ้า Arjun ไม่ได้มาทริปนี้ ตอนอายุ 40 ก็คงยังไม่ได้เกษียณแน่ๆ หรือไม่ก็อาจจะเส้นเลือดในสมองแตกตายก่อน
ว่าไป Arjun มีความคล้ายคลึงกับ Athos ของกลุ่มสามทหารเสือพอสมควร เป็นคนที่ไม่สามารถฟื้นฟูตัวเอง กลับคือสู่สภาวะปกติ จึงจมตัวเองลงสู่อบายมุขและไวน์แดง
สิ่งที่ Arjun ค้นพบจากการเรียนดำน้ำ แรงกดดันที่ถามโถมรอบตัวทุกทิศทาง เปรียบได้กับความกดดันในการใช้ชีวิต มันไม่ง่ายที่จะเรียนดำน้ำใช้ชีวิต แต่ความคุ้มค่าคือธรรมชาติ ประการัง ฝูงปลาที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ พวกมันอาศัยอยู่ราวกับไร้ความกดดันใดๆ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชายหนุ่มเรียนรู้เป็นครั้งแรกว่า ถึงชีวิตจะมีอุปสรรค์ทุกข์ยากแค่ไหน แต่อย่าได้ทำเป็นมองข้ามไม่สนใจ เพราะภายใต้ผิวน้ำ/ชีวิตฉาบหน้านั้น ยังมีความสวยงามอันเลอค่า เหนือจินตนาการใดจะสัมผัสได้ นี่ถือเป็นการ’เปิดโลกทัศน์’ ให้หลุดออกจากกล่องที่ครอบเขาไว้, มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก
“The only time a man should be in a box is when he’s dead.”
เกร็ด: จริงๆแล้ว Roshan เป็นนักดำน้ำมืออาชีพเลยนะครับ รับบทคนเป็นโรคกลัวน้ำได้สมจริงทีเดียว
การแสดงของ Roshan มีความหนักแน่น สมจริงจัง สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจได้ว่าเป็นตัวละครนั้น ภาพลักษณ์ถือว่าตรงกับตัวละคร ความโดดเด่น Charisma ก็กินขาด, ไม่รู้ตัวจริงของพี่แกเป็นค้นบ้างานแบบเดียวกับ Arjun หรือเปล่า แต่ล่าสุดได้ยินว่าเมื่อปี 2014 เซ็นใบหย่าขาดกับภรรยา แม้จะมีลูกด้วยกันถึง 2 คนแล้ว หวังว่าคงไม่ใช่เหตุผลแบบเดียวกับในหนังนะครับ
ความเซอร์ไพรส์ของช่วงนี้คือ Katrina Kaif รับบท Laila ครูสอนดำน้ำ เปรียบได้กับผู้แนะนำวิธีการ แนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกต้องให้กับ Arjun ซึ่งเธอก็ได้ทิ้งรอยจูบความประทับใจไว้ให้เขา จดจำถึงความตื่นเต้นสนุกสนานในการใช้ชีวิต
Katrina Kaif นักแสดงสาวสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hong Kong พ่อเป็นนักธุรกิจมีเชื้อสาย Kashmiri ออกเดินทางติดต่อค้าขายทั่วโลก ทำให้ครอบครัวต้องอพยพตามติดไปด้วยตลอด ก่อนมาปักหลักอาศัยอยู่ที่ London, ตอนอายุ 14 ชนะการประกวด Beauty Contest ที่ Hawaii ทำให้ได้เซ็นสัญญาเป็นโมเดลลิ่ง เดินแฟชั่น มีผลงานโฆษณาหลายชิ้น มีโอกาสเป็นตัวประกอบในหนังรวมนักแสดงเรื่อง Boom (2003) ขณะมาถ่ายทำที่อังกฤษ เป็นนางเอกครั้งแรก Malliswari (2004) หนังภาษา Telugu ทั้งๆที่ภาษาไม่ค่อยแข็งแรง แต่ความสวยเซ็กซี่ทำให้ได้รับค่าตัวสูงสุดของอินเดียใต้สมัยนั้น, บทบาทที่เริ่มได้รับการยอมรับ คือ Namastey London (2007) กรุยทางสู่ความสำเร็จ New York (2009), Ek Tha Tiger (2012), Dhoom 3 (2013), Bang Bang! (2014) ฯ
Laila ครูสอนดำน้ำสุดเซ็กซี่ รักอิสระเสรี ชื่นชอบทำอะไรที่ท้าทายอะดรีนารีน ความต้องการของตนเอง, ก็ไม่รู้เธอหลงอะไรกับ Arjun ทำให้ Imraan ที่กล้ากว่ากินแห้วไปเลย สงสัยเพราะความพิศวงของคนที่ยังหาตัวเองไม่พบ เปรียบจิตใจชายหนุ่มได้กับในท้องทะเลลึก มันคงมีความสวยงามของธรรมชาติ ประการังแอบซ่อนอยู่ในนั้น
หุ่นโมเดลลิ่งของ Kaif หนุ่มๆเห็นคงตรึงติดตา และความ ‘free spirit’ จิตวิญญาณที่เป็นเสรีชน รอยยิ้มเหมือนดวงตาเธอจะยิ้มด้วย เป็นความสุขที่เอ่อล้นออกมาจากภายใน, ในบรรดานักแสดงที่ประกบ Kaif ผมรู้สึกว่า Roshan นี่แหละ เคมีเข้ากันเป็นที่สุดแล้ว ทั้งสองร่วมงานกันอีกใน Bang Bang! (2014)
เกร็ด: ริมชายหาดที่สามหนุ่มพบกับครูสอนดำน้ำ ที่นั่นคือ Nude Beach สถานที่ที่หนุ่มสาวสามารถเปลือยทั้งตัวลงเล่นน้ำทะเล แต่เพราะถ้าถ่ายติดใครโป๊ละก็ ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ของอินเดียแน่ ทีมงานจึงต้องกั้นบริเวณที่ถ่ายทำไว้ สร้างความวุ่นวายไม่ให้นักท่องเที่ยวไม่น้อยทีเดียว
ปิดท้ายช่วงนี้ด้วยเทศกาลปามะเขือเทศ La Tomatina จัดบริเวณ Valencian เมือง Buñol ปกติจะจัดวันพุธสิ้นเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่เนื่องจากตอนถ่ายทำไม่ใช่ฤดูเทศกาล ทีมงานจึงต้องสั่งนำเข้ามะเขือเทศจำนวน 16 ตันจากประเทศโปรตุเกส หมดเงินไปถึง ₹10 ล้านรูปี (=$150,000 เหรียญ), ประมาณการเริ่มต้นช่วงปี 1944-1945 เหตุเกิดจากคนสองคนกระทำการประท้วงการเมือง ใช้การขว้างปามะเขือเทศใส่ผู้คนและสถานที่ ไปๆมาๆเริ่มได้ความนิยมจนกลายเป็นประเพณี จนจอมพล Francisco Franco สั่งห้ามก็เงียบหายไปสักพัก พอผู้นำเผด็จการเสียชีวิตก็หวนกลับมาจัดใหม่ทุกๆปี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
นี่เป็นเทศกาลที่ไร้สาระ บ้าบอคอแตกอย่างยิ่ง แต่เพราะมันสอดคล้องกับนัยยะของหนังช่วงนี้ ‘ชีวิตจะเก็บกดความทุกข์เครียดไว้ทำไม ลงกับมะเขือเทศ บีบขย้ำให้แตกแล้วขว้างออกไป’ แบ่งความเจ็บปวดให้ผู้อื่น และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่สุดเหวี่ยง
Skydiving & Father
Farhan Akhtar พี่ชายแท้ๆของผู้กำกับ Zoya Akhtar เกิดปีเดียวกัน (หัวปีท้ายปี) เดิมตั้งใจจะเรียนกฎหมาย แต่ลูกไม้หล่นหนีไกลพ่อแม่ไม่พ้น, มี Robert De Niro เป็นแรงบันดาลใจ เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยและตากล้องให้ Yash Chopra เรื่อง Lamhe (1991) ตอนอายุ 17 เปลี่ยนไปทำงานโฆษณาอยู่หลายปี หันกลับมาเป็นผู้ช่วยกำกับอีกครั้งเรื่อง Himalay Putra (1997) มีผลงานกำกับแจ้งเกิดคือ Dil Chahta Hai (2001) ประสบความสำเร็จล้นหลาม, สำหรับการแสดงเริ่มต้นทีหลัง จากเป็นหนึ่งในนักร้อง Rock On!! (2008) แล้วถูกน้องกึ่งบังคับให้แสดงใน Luck By Chance (2009) ตามด้วย Karthik Calling Karthik (2010) และ Zindagi Na Milegi Dobara (2011) สำหรับบทบาทที่ได้รับการพูดถึงมากสุด คือ Bhaag Milkha Bhaag (2013)
Imraan Qureshi นักเขียนไส้แห้ง ยึดมั่นในอุดมการณ์ หลงใหลในความโรแมนติก และมีความมักมากเล็กๆ (จริงๆก็ไม่เล็กนะ เห็นสาวสวยก็อดใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่) ปัญหาของ Imraan คือการขาด’ความกล้า’ ในการใช้ชีวิต จริงอยู่เขาดูเหมือนเสือผู้หญิง แต่นั่นก็แค่การสวมหน้ากากเสือ เพราะจิตใจภายในของเขาดั่งลูกแมว ไม่ต่างกับ Porthos ของกลุ่มสามทหารเสือพอสมควรเสียเท่าไหร่ อ่อนไหว ทุกข์ทรทาน แอบอิจฉาความสำเร็จของเพื่อนๆ และต้องการค้นหาความจริงบางอย่างในชีวิต
Farhan ปากอ้างว่าที่รับเล่นบทนี้เพราะความที่ ‘fun character’ และ ‘guy who for the longest time takes nothing seriously.’ แต่นี่เขาพูดถึงตัวเองอยู่นะครับ ถือว่าเป็นคนที่มีความอ่อนไหว sensitive, soulful ดูดดื่มพอตัวเลยเลย
ว่าไปเสียงบรรยายที่เป็นบทกลอนขับขาน เป็นเสียงของ Farhan เองเลย นี่ชวนให้ผมนึกถึงหนังของ Andrei Tarkovsky เรื่อง The Mirror (1975) ที่ก็ใช้การอ่านบทกวีของพ่อผู้กำกับ แทรกอยู่เรื่อยๆในหนังเช่นกัน (แต่เรื่องนี้ Tarkovsky ให้พ่ออ่านเองเลย)
กิจกรรม Skydiving กระโดดร่มท้ามฤตยู นี่ชวนให้ผมนึกถึงเกม GTA V อยู่เรื่อย ความบ้าคลั่งของกิจกรรมนี้ เป็นการพิสูจน์’ความกล้า’ผสมดวง คือถ้าสามารถก้าวออกจากเครื่องบินกระโดดลงมาได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง, การได้ลอยตัวท่ามกลางผืนแผ่นท้องฟ้า ทิ้งดิ่งลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก คือการปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นอิสระ ทิ้งความ Ego/Pride ไว้เบื้องหลัง หลังจากการกระโดดครั้งนี้สำเร็จ ก็ไม่มีอะไรในโลกที่ต้องเกรงกลัวแล้ว
เกร็ด: Farhan ตัวจริงชื่นชอบการกระโดดร่มมาก รับบทคนที่กลัวการกระโดดร่มขี้เยี่ยวเร็ด ถือเป็นอีกคนที่แสดงออกมาได้อย่างสมจริง
ไฮไลท์ของช่วงนี้คือขณะที่ Imraan ได้พบกับพ่อ Salman Habib รับบทโดยหนึ่งในนักแสดงระดับตำนานยอดฝีมือของอินเดีย Naseeruddin Shah, หลายคนคงรู้สึกได้ ว่าทั้งสองมีพื้นหลังการใช้ชีวิตคล้ายคลึงกันมาก ต่างก็เป็นศิลปินไส้แห้ง ชีวิตที่ภายนอกเหมือนจะสงบเป็นสุข แต่จริงๆภายในปั่นป่วนว้าวุ่นวาย การได้พบกันกึ่งบังเอิญแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ Imraan สามารถก้าวเดินต่อด้วยตัวเองได้ครั้งแรก ไม่เหลือสิ่งขัดขวางปมปัญหาทางใจอีกต่อไปแล้ว
บทรับเชิญของ Naseeruddin Shah ขอยกย่องว่าสามารถ ‘Seize the moment’ ภายนอกดูสงบนิ่ง หนักแน่น มั่นคง แต่ดวงตา น้ำเสียง การพูด สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในออกมาได้อย่างลึกล้ำ ยากหาใครเปรียบจริงๆ
Encierro
Abhay Deol นักแสดงหนุ่มรุ่นที่สองของตระกูล Deol หลานของ Dharmendra, Deol ไม่ได้เริ่มสนใจการแสดงจากปู่ แต่จับพลัดจับพลูเพราะต้องแสดงในละครของโรงเรียน ทำให้ถูกคาดหวังจับตามอง (เพราะเป็นหลานของ Dharmendra) มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Socha Na Tha (2005) อำนวยการสร้างก็โดยปู่ของเขานะแหละ ประสบความสำเร็จกลางๆ, รู้จักผู้กำกับ Zoya Akhtar จากเคยร่วมงาน Honeymoon Travels Ltd. (2007)
Kabir เป็นสถาปนิกที่ต้องการออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง แต่เป็นคนเออออห่อหมก ตามคนอื่นง่ายกว่าคิดเอง จัดทริปสละโสดปากอ้างว่าต้องการปลดปล่อยชีวิตเต็มที่ก่อนแต่งงาน แต่ความจริงต้องการให้เพื่อนรักทั้งสองช่วยเหลือ ฉันไม่ได้อยากแต่งงาน ช่วยทำอะไรสักอย่างทีเถอะ, ปัญหาของ Kabir คือการเป็นคนง่ายๆ รับได้ทุกอย่าง ปฏิเสธไม่เป็น ทำให้เมื่อมีเรื่องหาทางออกไม่ได้ เลยไม่รู้จะคิดทำอะไรดี
ว่าไปตัวละครนี้คล้ายกับ Aramis ของสามทหารเสือ ที่เลือกไม่ได้ระหว่าง ‘ความเชื่อศรัทธา’ กับ ‘ผู้หญิง’
ภาพลักษณ์ของ Deol ต่างกับ Rohan กับ Farhan โดยสิ้นเชิง ลูกคนรวยการเงินไม่ใช่ปัญหา ทั้งๆที่มักเป็นชอบคิดทำอะไรแปลกๆ ตัวตั้งตัวตีกลั่นแกล้งคนอื่นไปทั่ว แต่พอโดนเข้ากับตัวเองกลับทำอะไรไม่ถูก
Kalki Koechlin นักแสดงหญิง พ่อ-แม่เป็นชาวฝรั่งเศส แต่มาเกิดที่ Pondicherry เลยได้สัญชาติอินเดียด้วย, วัยเด็กมีความสนใจทางด้านจิตวิทยา ต้องการเป็นจิตแพทย์ แต่เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงละครเวทีที่โรงเรียน ทำให้ได้รับการส่งเสริม ไปเรียนต่อ University of London สาขาการแสดง มีโอกาสเล่นละครเวทีหลายเรื่อง, กลับมาอินเดียแจ้งเกิดกับการ Audition หนังเรื่อง Dev.D (2009) รับบท Leni เทียบได้กับ Chandramukhi ในวรรณกรรม Devdas โสเภณีสาวผู้เชื่อในรักแท้ นี่ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วอินเดีย
Natasha Arora คู่หมั้นของ Kabir เป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน (interior designer) ที่ชอบคิดเล็กคิดน้อย คิดมากคิดเยอะ จนหลงมโนไปไกล ติดนิสัยหึงหวง ขี้อิจฉาริษยา ต้องการที่จะควบคุมคนรักจากภายใน (ก็เธอออกแบบตกแต่งภายในนิ) เชื่อว่าถ้าเธอได้แต่งงานอยู่กินกับ Kabir จะสามารถควบคุมกักขังได้อยู่หมัดเลย
Koechlin เป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล ผิวขาวทำให้โดดเด่นมีสง่าราศีกว่าชาวอินเดียทั่วไป ตัดทรงบ็อบทำให้ผมใจละลายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว, ภาพลักษณะนี้ทำให้เหมือนสาวจอมแก่น นิสัยจุ้นจ้านเอาแต่ใจ เห็นแก่ตัวเยอะๆ ผมประทับใจสุดคือสีหน้าของเธอตอน Kabir แนะนำ Laila ให้รู้จักผ่าน Skype ความอิจฉาหึงหวง ‘ยัยนั่นใคร จะมาแย่งผัวฉันเหรอ เกลียดแก!’
ความไม่เชื่อมั่นใน Kabir ของ Natasha ที่ถึงขนาดแอบมาเซอร์ไพรส์ถึง Spain สะท้อนถึงจิตใจของ Kabir เช่นกัน ที่ก็ไม่เชื่อมั่นว่าตนอยากจะใช้ชีวิตคู่กับเธอ, เอาจริงๆทั้งสองมีระดับความเห็นแก่ตัวสูงปี๊ด แต่คนหนึ่งปั้นหน้าเก่ง อีกคนมโนเก่ง เลยเข้ากันได้ดีเหลือเกิน
Encierro วิ่งกระทิง (Running of the Bulls) เป็นหนึ่งในกิจกรรมกีฬาจัดขึ้นที่ Pamplona มีทั้งหมด 8 วัน ระหว่าง 6-14 กรกฎาคมของทุกปี จุดประสงค์เพื่อยกย่องระลึกเกียรติคุณของ Saint Fermin of Amiens นักบุญผู้มีความรักชาติยิ่ง แต่กลับต้องโทษประหารด้วยการใช้เชือกผูกเท้าเข้ากับกระทิง แล้ววิ่งลากไปรอบเมืองจนเสียชีวิต, คาดการณ์ว่าเริ่มต้นในศตวรรษที่ 14 เป็นกิจกรรมเพื่อตรวจสอบสภาพของกระทิงที่นำมาขายทอดตลาด ว่ามีความแข็งแรง เนื้อแน่น ดุดัน การันตีคุณภาพได้หรือไม่ ต่อมากลายเป็นประเพณีสอดคล้องกับตำนานของนักบุญจัดขึ้นทุกๆปี, ในปัจจุบันกระทิงที่วิ่งตอนกลางวัน กลางคืนจะถูกฆ่าให้กลายเป็นอาหารของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
การวิ่งหนีกระทิง เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความ’กล้า’อย่างยิ่ง ไม่ต่างจากการกระโดดร่มเท่าไหร่ เพียงแต่ผู้เข้าร่วมต้องใช้ใจเด็ดเดี่ยวตั้งมั่นปณิธาน และกำลังกายออกวิ่งสุดชีวิต ซึ่งวินาทีก่อนที่ทหารเสือทั้งสามจะเริ่มออกวิ่ง พวกเขาทำสัญญาตายร่วมกัน ถ้าฉันรอดครั้งนี้ไปได้ จะ… นี่อาจดูเป็นการบีบบังคับใจไปสักนิด แต่คือการสร้างอุดมการณ์เป้าหมายชีวิตของตัวเองใหม่ โดยใช้ความเป็นความตายเป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจจริง
การวิ่งหนี ไม่ได้แปลว่าหนีปัญหาอย่างเดียวนะครับ แต่บางครั้งการหนีคือการแก้ปัญหาด้วย, อย่างในกรณีของ Kabir เพราะความที่เขาไม่เคยวิ่งหนีปัญหา การเผชิญหน้ากับกระทิง ที่ถือว่าเป็นตัวปัญหาจริงๆ (ระดับชีวิต) วิธีเดียวก็คือวิ่งหนี ไม่สามารถประจันหน้าต่อสู้ยอมรับได้ นี่คือการแก้ปัญหานะครับไม่ใช่หนีปัญหา
การตัดสินใจตอนจบของ Kabir ถือว่าได้อิทธิพลจากการเปลี่ยนไปของสองสหาย Arjun กับ Imraan ด้วยนะครับ เพราะคนหนึ่งเป็นอิสระจากกรอบความคิดที่ครอบงำของตนเองไว้ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นอิสระจากพันธนาการที่เหนี่ยวรั้งยึดยื้อเอาไว้ Kabir ต้องอาศัยทั้งการเปิดโลกทัศน์ และความกล้าในการตัดสินใจ นี่แหละครับที่เรียกว่า ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ถ้าเพื่อนกันแล้วไม่ช่วย หมาที่ไหนมันจะมาช่วย
Zindagi Na Milegi Dobara
แปลว่า You won’t get this life again, คุณจะไม่มีโอกาสพบเจอชีวิตแบบนี้อีกแล้ว หรือ ‘ชีวิตนี้มีแค่หนเดียว’ เป็นเรื่องราวที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามกับตัวเอง วิถีชีวิต สิ่งที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ใช่ความตั้งใจของตนแล้วหรือไม่? มีความปัญหาเกิดขึ้นหรือเปล่า? และมีความสุขกับสิ่งที่ทำหรือยัง? สามคำถามนี้แทนด้วยสามตัวละคร ถ้าสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด ชีวิตของคุณถือว่าสมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าไม่… ก็แล้วแต่คุณนะครับ
ถ่ายภาพโดย Carlos Catalan ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Zoya Akhtar จากผลงานก่อนหน้า Luck by Chance (2009), ความสวยงามของประเทศสเปนถือว่าตราตรึงมาก โดยเฉพาะขณะ On the Road ที่มีทุกมุมกล้อง ทุกที่นั่ง ทุกทิศทาง (เชื่อว่าบางช็อตที่ถ่ายจากมุมสูง คงต้องใช้โดรนเป็นแน่)
สำหรับไฮไลท์คือ 2 ฉากจาก 2 กิจกรรม ดำน้ำ กับ ดิ่งพสุธา, ถึงยุคสมัยนี้จะมีตัวช่วยเยอะกว่าแต่ก่อน อาทิ กล้อง Hand-Held, กล้องกันน้ำได้, โดรน ฯ แต่การจะเอากล้องไปถ่ายทำในสถานที่ใต้น้ำ กลางอากาศ ยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์เข้าเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมอันท้าทายนั้น ภาพที่ออกมาสวยงามขนาดไหนย่อมเกิดจากความทุ่มเททั้งกายใจของผู้กำกับภาพ
เกร็ด: ถ้าสังเกตดีๆ สามทหารเสือจะผิวสีแทนกันทุกคนเลยนะครับ เห็นว่าเป็น Catalan ที่เสนอแนะผู้กำกับ มีนัยยะถึงการผ่านโลกมาเยอะ
ตัดต่อโดย Ritesh Soni กับ Anand Subaya, จริงๆส่วนนี้ก็อยากชื่นชมนะ เห็นว่าได้รางวัลด้วย ด้วยความเยอะของฟุตเทจที่สวยๆงามๆทั้งนั้น จึงตัดใส่อย่างรวดเร็วฉับไว นำเสนอหลายมุมกล้องทิศทางในกิจกรรมท้าความตายทั้งหลาย แต่ความเยอะของฟุตเทจทำให้มีความเผลอเรอผิดพลาดเยอะมาก กับคนชอบสังเกตจะพบเห็นความไม่ต่อเนื่องบ่อยครั้ง ผมเป็นคนประเภทนี้เลยรู้สึกหงุดหงิดพอสมควร
ถือว่าหนังใช้มุมมองของ Kabir เป็นหลักในการเล่าเรื่อง เริ่มต้นที่ขอสาวแต่งงาน จากนั้นก็งานเลี้ยงหมั้น จุดเริ่มต้นทริปนี้ก็หมอนี่ และไคลน์แม็กซ์ตอนจบเป็นการตัดสินใจของ Kabir, แต่ว่ากันตามตรง ในบรรดาสามทหารเสือ Abhay Deol เป็นคนที่มี Charisma ความน่าสนใจน้อยที่สุดเลย เราอาจรับรู้ว่าเขามีปัญหาตั้งแต่ต้น แต่จะไม่รู้แน่ว่าคืออะไร จนกว่าจะเฉลยพูดออกมาก็ช่วงท้าย ซึ่งหลังจากผ่านไคลน์แม็กซ์มาแล้วสองรอบ เรื่องไม่แน่ใจแต่งงานดีไหม ดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ (ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญท้ายสุดของหนัง) แถมระยะเวลาช่วงนี้ก็น้อยเหลือเกิน ยังไม่ทันได้ซึมซับทำความเข้าใจอะไร ก็รีบเร่งทำสัญญาตาย รอดตัวได้แล้วก็ตัดจบ รวบรัดกระชับเกินไป จุดนี้น่าผิดหวังรุนแรงมาก
เพลงประกอบโดย Shankar-Ehsaan-Loy นักแต่งเพลง Trio มากฝีมือ, กับหนังเรื่องนี้มีฉากร้องเล่นเต้นไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงประกอบภาพการเดินทาง สร้างบรรยากาศแทนอารมณ์ความรู้สึกให้กับหนัง
Dil Dhadakne Do แปลว่า Let (your) Heart Beat, ให้หัวใจเต้นระริกรัว ขับร้องโดย Shankar Mahadevan, Suraj Jagan, Joi Barua เป็นบทเพลงที่รวบรัดการเดินทางของสามทหารเสือ คนหนึ่งจาก Mumbai คนหนึ่งจาก Delhi อีกคนจาก London มาประจบพบเจอกันที่สเปน
บทเพลงที่ผมชอบสุดในหนัง Khwabon Ke Parindey (แปลว่า In the land of hearts, ในดินแดนสี่ห้องหัวใจ) ขับร้องโดย Alyssa Mendonsa, Mohit Chauhan หลังจากได้รับการจุมพิตที่ไม่มีวันลืม Arjun เกิดอาการฟิน เคลิบเคลิ้ม หลงใหล รัก, งานภาพถ่ายการเดินทางบนรถเปิดประทุน เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติเป็นพื้นหลังที่กว้างไกลสุดหูตา ทำนองเบาๆสบาย กีตาร์โฟล์คดีดเบาๆ พร้อมเขย่ามาราคัส ชวนให้จิตใจล่องลอย บินออกจากร่างไปไกล
สำหรับบทเพลงที่ได้รับการพูดถึง และเข้าชิงหลายสำนักคือ Señorita บทเพลง Flamenco ภาษาสเปน ขับร้องโดย Maria del Mar Fernández และสามทหารเสือ Farhan Akhtar, Hrithik Roshan, Abhay Deol ความโดดเด่นอยู่ที่การผสมผสานของท่าเต้นอินเดีย กับ Flamenco ของสเปน
เกร็ด: ฉากนี้ถ่ายทำที่ Alájar ในจังหวัด Huelva คืนที่สามของการถ่ายทำ ชาวบ้านทั้งหลายต่างออกมาร่วมร้องเล่นเต้น แต่งตัวเต็มยศ กระทั่งนายกเทศมนตรี ยังออกมาร่วมเต้นด้วย
ผู้กำกับ Zoya Akhtar ถือว่าตัวเองเป็นคนไม่มีศาสนา (รวมถึงพี่ชาย Farhan Akhtar ด้วย) ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะต้องการบอกว่าผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยึดกับหลักความถูกต้องทางศีลธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต, พวกเขามอง อิสระเสรีภาพ คือเป้าหมายของชีวิต ที่มีลักษณะเป็น Escapist/Escapism ปลดปล่อยตัวเองให้หลุดออกจากกรอบของทุกสิ่งอย่างในชีวิต
ลองทบทวนความไม่เหมาะสมของหนังดูนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Kabir ที่ได้หมั้นหมายเตรียมตัวกายใจพร้อมแต่งงานแล้ว แต่เมื่อได้ค้นพบเรียนรู้แนวคิดเปิดโลกทัศน์อะไรใหม่ๆ เขาเลือกที่จะเลิกกับแฟนสาว (Ending Credit สังเกตดีๆจะพบว่า Natasha มีแฟนใหม่แล้วนะครับ) นี่เป็นสิ่งเลวร้าย บัดซบมากๆในมุมมองของหญิงสาว และ Kabir ถือว่าเป็นคนโคตรเห็นแก่ตัวไม่น่าคบหาสมาคมอย่างยิ่ง
คงมีแต่คนรุ่นเราๆ และเด็กรุ่นใหม่เท่านั้น ที่จะสามารถมองเรื่องราวลักษณะนี้เป็น ‘ความถูกต้องเหมาะสม’ มนุษย์ควรต้องมีอิสระทางความคิดเป็นที่ตั้ง ไม่ยึดติดตัวเองเข้ากับกรอบใดๆ นี่ถือเป็นแนวคิดทางปรัชญา ลัทธิ ศาสนาหนึ่งของโลกเลยนะครับ
ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) คือ แนวคิดที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของแต่ละบุคคน มีความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่งอย่าง เน้นความเชื่อในอิสรภาพ และยอมรับในผลสืบเนื่องจากการกระทำของปัจเจก
ผมไม่ขอวิเคราะห์รายละเอียดประเด็นนี้แล้วกัน แต่จะแนะนำว่าแนวคิดของหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ถูกต้องทุกสิ่งอย่างนะครับ คือบางเรื่องการอยู๋ในกรอบเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ถ้าข้ามเส้นหลุดออกมา บางครั้งมันจะเกิดผลกระทบร้ายแรง ยากที่จะแก้ไขให้อภัยได้, ความต้องการเป็นอิสระ ใครก็สามารถทำได้ แต่ขอให้มีความรับผิดชอบด้วย คือไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น นั่นควรเป็นสิ่งยึดมั่น อุดมการณ์สูงสุดของลัทธินี้เลย
ด้วยทุนสร้าง ₹55 Crore ทำเงินทั่วโลก ₹153 Crore (=$24 ล้านเหรียญ) รายรับแซงหน้า Dhoom 2 กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Hrithik Roshan ขณะนั้น, เข้าชิง 3 รางวัล Asian Film Awards ไม่ได้สักรางวัล
– Best Film
– Best Production Designer
– Best Editor
National Film Award ได้มา 2 รางวัล
– Best Choreography
– Best Audiography
Filmfare Award เข้าชิง 13 จาก 12 สาขา ได้มา 7 รางวัล
– Best Film ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Film (Critics) ** ได้รางวัล
– Best Actor (Hrithik Roshan)
– Best Supporting Actor (Farhan Akhtar) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Abhay Deol)
– Best Supporting Actress (Kalki Koechlin)
– Best Dialogue ** ได้รางวัล
– Best Cinematographer ** ได้รางวัล
– Best Music Direction
– Best Lyricist บทเพลง Señorita
– Best Female Playback บทเพลง Khwabon Ke Parindey
– Best Choreography ** ได้รางวัล
เกร็ด: Zindagi Na Milegi Dobara เป็นเรื่องที่ 3 ที่ได้ Best Film กับ Best Film (Critics) ควบสองรางวัล จาก Filmfare Award ก่อนหน้าคือ Rajnigandha (1975) และ Black (2006)
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ ในแนวคิด บรรยากาศ และเทคนิคการนำเสนอ, ชอบสุดคงเป็นขณะ On the Road กับบทเพลง Khaabon Ke Parinday ที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เพลิดเพลิน หลงใหล ชื่นชมวิวทิวทัศน์สวยๆ (ที่ชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้พบเห็นเป็นแน่) เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆแปลกๆ เหล่านี้คือความเพ้อฝันของคนที่วันๆนั่งอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างผม อยากไปครับแต่ไม่มีเงิน ถึงมีเงินก็ไม่มีเพื่อนไป แต่คนเดียวก็เที่ยวได้นะไม่ได้หาข้ออ้าง แต่ไกลขนาดยุโรป/อเมริกา แค่เก็บเงินเหนื่อยเกินไปแล้ว เที่ยวใกล้ๆญี่ปุ่น เกาหลี สุขใจกว่าเยอะ และไม่เสียใจถ้าชีวิตนี้พลาดโอกาสได้ไป
แต่หนังมีตำหนิอยู่พอสมควร จนผมมิอาจมองข้ามได้เลย นี่เป็นความน่าเสียดายมากๆเลย เพราะแนวคิดของหนังยอดเยี่ยมสุดๆ แถม direction ของผู้กำกับก็น่าสนใจ ให้โทษคงเป็นส่วนของการตัดต่อที่ขาดความรอบคอบ (เห็นว่าหนังเลื่อนฉาย 2 ครั้ง เพราะนักตัดต่อป่วยทำงานไม่เสร็จทัน … ก็ว่าละ!)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังเรื่องนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับวัยรุ่น ใกล้เรียนจบ กำลังทำงาน และคนที่กำลังจะแต่งงาน รับชมแล้วตั้งคำถามกับตัวเอง หาคำตอบให้ได้ ตัดสินใจ ไม่จำเป็นว่าต้องเลียนแบบหนังเรื่องนี้หรือใคร เอาที่เป็นตัวของตัวเอง รับได้ ก็เพียงพอแล้ว
นี่เป็นหนังที่เหมาะกับการส่งต่อเป็น’ของขวัญ’ ให้เพื่อนมากๆนะครับ ถ้าเขาเป็นพวกบ้างานหนักเกินไป มีปมปัญหาชีวิตครอบครัว หรือลังเลใจที่จะแต่งงาน
กับคนที่กำลังจะแต่งงาน ดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดตระหนักบางอย่างขึ้นได้แล้วกำลังจะตัดสินใจไม่เอาไม่แต่งแล้ว คิดให้ดีก่อนนะครับ อย่าหาว่าผมไม่เตือนละ!
จัดเรต 13+ กับกิจกรรมอันบ้าคลั่ง เกรียนๆ เสี่ยงตาย
Leave a Reply