Zvenigora

Zvenigora (1928) Ukrainian : Alexander Dovzhenko ♥♥♥♡

‘ทรัพย์ในดินคือสินสมบัติล้ำค่าที่สุด’ แต่คงไม่ใช่สำหรับสหภาพโซเวียต เพราะหนังเรื่องนี้พยายามชักชวนเชื่อให้ผู้คนสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความคิด จากประเทศเกษตรกรรม กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม, เรื่องแรกของไตรภาค Ukraine Trilogy อีกสองเรื่องคือ Arsenal (1929) และ Earth (1930)

ผมรับชมไตรภาคนี้ในลำดับที่กลับตารปัตร คือเริ่มจาก Earth (1930) ตามด้วย Arsenal (1929) ปิดท้ายที่เรื่องนี้ คือมันก็ไม่ได้จำเป็นต้องรับชมเรียงลำดับเพราะเรื่องราวไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน แต่สิ่งที่ผมเห็นคือวิวัฒนาการของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko ที่พัฒนาเปลี่ยนไปได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ
– ในด้านความสวยงามทางภาษาภาพยนตร์/ความเป็นศิลปะ Earth > Arsenal > Zvenigora
– ขณะที่เนื้อเรื่อง ความยากง่ายในการทำความเข้าใจ (ง่ายสุด) Zvenigora > Arsenal > Earth (ลึกล้ำสุด)

เลยขอแนะนำสำหรับคนที่สนใจ Ukraine Trilogy ไล่ดูเรียงตามลำดับดีกว่านะครับ

กระนั้นใช่ว่านี่เป็นไตรภาคที่ผมจะแนะนำให้ใครได้รับชม เพราะมีระดับความยากยิ่งในการทำความเข้าใจ, ส่วนตัวดูหนังยากๆมาก็หลายเรื่อง แต่จะบอกเทียบไม่ได้เลยกับหนังเงียบแนวชวนเชื่อ เพราะมันมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่เราต้องรับรู้ก่อนด้วย ถึงจะสามารถทำความเข้าใจหนังได้อย่างลึกซึ้ง เพราะความไม่รู้นี้แหละทำให้ไม่เข้าใจหนัง พาลให้มึนงงดั่งไก่ตาแตก (คือเราควรต้องเข้าใจเนื้อเรื่องราวของหนังก่อนนะครับ ถึงจะสามารถชื่นชมหลงใหลในความเป็นศิลปะได้)

แต่บทความนี้จะไม่ขอพูดถึงประวัติศาสตร์ของประเทศยูเครนมากแล้วกัน เพราะแค่เนื้อเรื่องจากหนังอย่างเดียวก็พอรับรู้เรื่องได้ (อย่างที่บอกไป ในไตรภาคนี้ Zvenigora ดูง่าย ทำความเข้าใจรู้เรื่องเร็วที่สุด)

Alexander Petrovich Dovzhenko (1894 – 1956) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติโซเวียต ต้นกำเนิดเป็นชาว Ukrainian รุ่นเดียวกับ Sergei Eisenstein, Dziga Vertov, Vsevolod Pudovkin หนึ่งในผู้บุกเบิกทฤษฎีการตัดต่อ Soviet Montage ที่โด่งดัง, เกิดที่ Sosnytsia, Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Ukraine) ตอนอายุ 19 เรียนจบทำงานเป็นครูสอนหนังสือ พอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ จบสงครามเกิด Soviet-Ukrainian ในปี 1919 เข้าร่วมฝ่าย Ukrainian People’s Republic (UPR) ปะทะกับ Red Army ของรัสเซียก่อนพ่ายแพ้ถูกจับเป็นเชลยสงคราม, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรกปี 1926 เริ่มต้นจากเขียนบท ต่อมาเป็นผู้กำกับ ผลงานเรื่องแรก Vasya reformator (1926) ตามมาด้วย Sumka dipkuryera (1927), Zvenyhora (1928) ได้เสียงตอบรับดีมากๆ จนทำให้กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับการจับตามอง และผลงานสามเรื่องถัดมา Ukraine Trilogy (ประกอบด้วย Zvenigora, Arsenal, และ Earth) ประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ที่สุด ได้รับการยกย่องเป็น Magnum Opus

ต้องบอกไว้ก่อนว่า Dovzhenko เป็นคนที่ฝักใฝ่สหภาพโซเวียตนะครับ ถึงต้นกำเนินจะเป็นชาว Ukrainian แต่หลังจากเหตุการณ์ October Revolution การปฏิวัติสังคมนิยมแห่งเดือนตุลาคมอันยิ่งใหญ่ ตัวเขาที่เคยอยู่ฝ่าย UPR พบกับความพ่ายแพ้หมดรูป คิดว่าน่าจะถูกล้างสมองขณะเป็นเชลย … แต่อย่าไปเรียกอย่างนั้นดีกว่า เป็นเปิดโลกทัศน์ใหม่ของตนเองต่อระบอบสังคมนิยม ทำให้นับจากนั้น Dovzhenko มีอุดมการณ์เห็นด้วยเข้าข้างสหภาพโซเวียตสืบมา, สร้างไตรภาค Ukraine Trilogy ก็เพื่อเป็นการชวนเชื่อให้ชาวยูเครน ปรับแนวคิดเปลี่ยนทัศนคติ ยินยอมรับการอยู่ภายใต้/เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่

สำหรับ Zvenigora บทภาพยนตร์เริ่มต้นพัฒนาโดย Maike ‘Mike’ Johansen และ Yurtyk (Yuri Tiutiunnyk) แต่พอ Dovzhenko ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆมากมาย รวมทั้งตัดชื่อทั้ง Johansen และ Tiutiunnyk ออกจากเครดิต, ผมคิดว่าส่วนที่ผู้กำกับทำการแก้ไข คือใจความเข้าข้างฝั่ง Ukrainian People’s Republic เพราะ Tiutiunnyk อดีตเป็นถึงระดับนายพล (General) ประจำกองทัพ Ukrainian People’s Army ในช่วงระหว่างสงคราม Ukrainian-Soviet War ต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งการแก้ไขของ Dovzhenko ปรับเปลี่ยนมุมมองในทิศทางตรงข้าม ให้ประชาชนสนับสนุน USSR แทน

มีนักวิจารณ์บ้างแบ่งเรื่องราวของหนังออกเป็น 13 ส่วน บางคนจะแค่ 6 แต่ผมจะขอเขียน 7 ตอนแล้วหันนะครับ รู้สึกว่าแบบนี้จะเห็นภาพชัดกว่า

ตอนที่ 1: ชายสูงวัยได้เข้าร่วมกับกลุ่มทหาร/นักล่าสมบัติ ที่ตามตำนานว่ากันว่าซ่อนอยู่ในเทือกเขา Zvenyhora (แปลว่า The Ringing Mountains, ภูเขากระดิ่ง) แต่ระหว่างนั้นก็ต้องสู้กับพวก Poles (ชาวโปแลนด์) ที่อาศัยหลบซ่อนอยู่บนต้นไม้ ขณะที่บังเอิญพบทางเข้าสมบัติ เห็นเหมือนวิญญาณของผู้รักษาสมบัติ ตามหลอกหลอนพวกเขาตลอดทั้งเรื่อง

ช็อตนี้ใช้การซ้อนภาพ เห็นแล้วเหมือนวิญญาณของบาทหลวง มือข้างหนึ่งถือลูกประคำ อีกข้างถือตะเกียง (นี่คือผีรัสเซียเหรอเนี่ย!)

ตอนที่ 2: มีประเพณีหนึ่งของหญิงสาวพื้นบ้านเมื่อถึงวัยอันสมควร นำมงกุฎดอกไม้ลอยตามน้ำ ชายใดหยิบขึ้นมาได้จักต้องแต่งงานกับผู้นั้น, หญิงสาวคนหนึ่งลอยมงกุฎด้วยความหวัง แต่กลับเป็นชายสูงวัยที่คว้ามาได้ … ช็อคสิครับ หลายคนยืนหยุดนิ่งไม่ไหวติง ส่วนหญิงสาวก็ทรุดล้มลงเลยละ

ผลลัพท์ของการแต่งงาน ชายแก่มีลูกชายสองคน Pavlo (เชื่อในศาสนา/วิญญาณ) และ Tymish (ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น)

ตอนที่ 3: Tymish กลายเป็นทหารเข้าร่วมสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นเข้าร่วม Bolshevik, ส่วน Pavlo อาศัยอยู่กับชายแก่ ร่วมกันขุดดินเพื่อหาสมบัติจากเทือกเขา Zvenyhora แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็ถูกขัดขวางโดยทหารพุงใหญ่ (เห็นพุงล้นจอเลย) ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน

ตอนที่ 4: ชายแก่เล่าตำนานโบราณให้กับลูกชายหูเบา Pavlo ฟัง, ในยุค pre-Slavic มีหญิงสาวชื่อ Roxana (Mountain Princess) ได้เป็นผู้รวบรวมขวัญกำลังใจของเหล่าทหารกล้า ขับไล่ผู้รุกรานชาว Turkish กับ Viking ให้ออกไปจากดินแดนแห่งนี้

ฉากนี้จะเป็นภาพซ้อนทั้งหมด รู้สึกว่าจะหลายชั้นหลายระดับด้วย การต่อสู้เป็นกราฟฟิกกึ่งๆสโลโมชั่น จัดเป็น Surrealist ที่เห็นแล้วน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว (เห็นว่าตอนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับดัง Andrei Tarkovsky ด้วยนะครับ)

ตอนที่ 5: ทาม้าสีดำให้กลายเป็นสีขาว (ปลอมแปลงตัวเอง) Pavlo เห็นความชั่วร้ายของ Red Army ตัดสินใจทิ้งพ่อทิ้งแม่ (หญิงสาวที่วิ่งตาม Pavlo ผมไม่แน่ใจนักว่าเป็นแฟนหรือแม่นะครับ) เข้าร่วมกับฝั่ง Nationalist สู้รบกับพี่ชาย Tymish ที่เข้าร่วมกลุ่ม Red Army ในช่วงสงครามกลางเมือง

ไฮไลท์ของตอนนี้มี 2 อย่าง
1) การตัดต่อสลับไปมาระหว่าง ภาพการเกษตร vs อุตสาหกรรม, Ukrainian People’s Republic vs Red Army
2) สถาปัตยกรรมเมืองแนว Surrealist มีลักษณะเป็นโครงเหล็กที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้น นี่มีนัยยะถึงโลกอนาคตที่กำลังค่อยตัวขึ้น

ตอนที่ 6: หลังสงคราม Tymish ทำงานสอนหนังสือให้กับ Bolshevik รุ่นใหม่, ส่วน Pavlo กลายเป็นผู้นำลัทธิใหม่ Dadaist/Constructivist เพื่อที่จะหาเงินเข้าองค์กร ประกาศต่อที่สาธารณะว่าตัวเองจะทำการฆ่าตัวตาย ทำให้มีผู้คน(ชนชั้นกลาง/ชั้นสูง)มากมาย ต่างเข้ามาลุ้นรอดูมากมายเต็มทุกที่นั่ง

เกร็ด: ดาดา (Dada) หรือ คติดาดา (Dadaism) เป็นลัทธิหรือกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะในลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ลักษณะโดยรวมมีน้ำหนักไปในแนวทาง’ต่อต้านสังคม’และกฎเกณฑ์ความงามของศิลปะแบบเดิมๆ กล่าวได้ว่า ดาดาใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการกบฏต่อทุกสิ่งที่เคยมีมาในอดีต

นี่เป็นตอนที่ผมรู้สึกขยะแขยงมากๆ โดยเฉพาะขณะที่หนังตัดให้เห็นภาพใบหน้าของเหล่ากระหัง (ชนชั้นกลาง/ชั้นสูง) ที่มีความต้องการอยากเห็นการฆ่าตัวตายของ Pavlo เป็นความอัปลักษณ์ที่เสียดแทงใจดำคนสมัยนั้นแน่ เห็นแล้วอยากเห็นด้วย เข้าข้างกับ Tymish

ตอนที่ 7: รถไฟกำลังมาถึง Zvenyhora, Pavlo เกลี้ยกล่อมให้ชายแก่ระเบิดทำลายรถไฟ แต่เขาทำไม่สำเร็จ เป็น Tymish ที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างมีน้ำใจ ส่วน Pavlo ก็ได้ฆ่าตัวตายสมใจ (แต่คราวนี้ไม่มีใครชม)

สังเกตว่าตั้งแต่ตอนที่ 3 เป็นต้นมา (หลังจากชายแก่มีลูก 2 คน) หนังพยายามที่จะแบ่งออกเป็นสองเรื่องราวคู่ขนาน นำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างแบบตรงกันข้าม แต่จะยังไม่ตัดสินเข้าฝ่ายไหนดีกว่าจนถึงตอนสุดท้าย (คือพยายามให้ผู้ชมเห็นความแตกต่าง/ดีชั่ว เองก่อน) ซึ่งค่อนข้างชัดนะครับว่าบทสรุปเข้าข้าง Tymish ที่อยู่ฝั่ง Bolshevik/Red Army

ซึ่งมีหลายขณะทีเดียวที่หนังทำให้ผมเกิดอคติกับ Pavlo ตั้งแต่การเป็นคนเพ้อฝันไม่ทำการทำงาน ทิ้งพ่อฆ่าแม่(หรือแฟนสาว) อย่างไร้เยื่อใย แถมมีพฤติกรรมปอกลอก หลอกลวง ต่อต้านสังคม สุดท้ายโน้มน้าวชักจูงให้พ่อกระทำการอันชั่วร้ายเพื่อตนเอง (แทนที่เขาจะระเบิดรถไฟเอง กลับชักจูงผู้อื่นให้ทำตาม ส่วนตัวเองอยู่เฉยไร้ใยดี) นี่สนับสนุนแนวทางชวนเชื่อของหนังได้เป็นอย่างดี ว่าการเป็น Nationalist ไม่ได้มีทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นในสังคมเลย รังแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

แต่อคติที่เกิดขึ้นในใจนี้ นึกย้อนไปถึงสมัยก่อน ผมว่ามันย่อมสร้างความขัดแย้งระดับรุนแรงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายเลยนะครับ คือคนที่หลงเชื่อจากหนังสนิทใจ ก็จะเข้าข้างสหภาพโซเวียตแบบซ้ายจัดไปเลย (แบบผู้กำกับ Dovzhenko) หรือถ้าไม่ก็คงต่อต้านแบบสุดๆ รับไม่ได้ทั้งสิ้นทั้งปวง

สำหรับผู้ชมสมัยนี้ หลังจากได้รับรู้ทำความเข้าใจเรื่องราวของหนังแล้ว คงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่คงไม่เกิดอารมณ์สุดขั้วไปทางหนึ่งทางใดเป็นแน่ นี่คือโลกที่วิวัฒนาการหมุนเวียนเปลี่ยนไป ความทรงพลังของหนังค่อยๆลดลง เหลือเพียงช่วงเวลาประวัติศาสตร์ บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ และเนื้อหากลายเป็นที่วิพากย์สนุกคอกับนักดูหนังรุ่นใหม่

Zvenigora คือจุดเริ่มต้นที่ถือว่าเป็นใบสมัครของ Dovzhenko ได้รับการยกย่องยอมรับจาก Joseph Stalin ว่าเป็นหนึ่งในผู้อุทิศตัวให้กับสหภาพโซเวียตโดยแท้ ซึ่งสองผลงานถัดมาใน Ukraine Trilogy เป็นความพยายามต่อเนื่องในการชวนเชื่อให้ประชาชนชาวยูเครน เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง รับเข้ากับโลกยุคใหม่ จากอาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรม แต่จะเป็นยังไงต่อไปก็หาหนังเรื่องถัดไปมารับชมดูนะครับ

ส่วนตัวรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้นะครับ พิลึกดีทั้งๆที่เป็นแนวชวนเชื่อและเครียดแทบตาย เหตุเกิดขณะตอนที่ 2 ผมหลุดหัวเราะแบบท้องไส้ปั่นป่วน คือสงสารหญิงสาวที่ถูกชายแก่หยิบคว้ามงกุฎดอกไม้ นัยยะของฉากนี้คือ ความเชื่อวัฒนธรรมเก่าก่อนเป็นอะไรที่เชยล้าหลัง หญิงสาวน่ารักจิ้มลิ้ม ควรที่จะมีสิทธิ์เลือกสามีของตนเอง แต่การปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตาฟ้าดิน ผลลัพท์แบบนี้ เป็นใครคงช็อค อึ้ง เป็นลมล้มพับไปเลย … แต่ผมกลับฮากลิ้ง ขำหนักมาก

แนะนำกับนักประวัติศาสตร์รัสเซีย ยูเครน สนใจภาพยนตร์แนวชวนเชื่อสมัยก่อน, โดยเฉพาะคอหนังเงียบ ผู้หลงใหล Surrealist กับ Expressionist และนักตัดต่อที่มีความหลงใหลในเทคนิค Soviet Montage ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับแนวชวนเชื่อ ปลูกฝังสร้างความขัดแย้ง

TAGLINE | “Zvenigora หนังชวนเชื่อของ Alexander Dovzhenko คือความสวยงามที่เต็มไปด้วยปมขัดแย้ง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Eura Ladden Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Eura Ladden
Guest

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลดีดีเหล่านี้

%d bloggers like this: