kinopoisk.ru

La Notte (1961) Italian : Michelangelo Antonioni ♥♥♥♥♡

หนังรางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ของผู้กำกับ Michelangelo Antonioni นำแสดงโดย Marcello Mastroianni, Jeanne Moreau และ Monica Vitti, นี่เป็นหนังที่ดูยากเรื่องหนึ่ง ถ่ายทอดมุมมอง ความแตกต่างระหว่างสามีภรรยาคู่หนึ่ง ในความกระท่อนกระแท่นของความรักและชีวิตคู่ที่ใกล้จบสิ้น, หนังเรื่องโปรดของ Stanley Kubrick

นี่เป็นหนังที่ผมการันตีว่า ดูจบแล้วคุณอาจไม่เข้าใจอะไรเลย ถ้าไม่คิดทบทวน วิเคราะห์สังเคราะห์อย่างละเอียด ถึงแบบนั้นก็ไม่มีอะไรการันตีว่าคุณจะเข้าใจหนังได้เลย, ผมหลีกเลี่ยงหนังของ Michelangelo Antonioni มาพักใหญ่แล้วนะครับ นับตั้งแต่เขียนรีวิว L’Avventura (1960) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2016 ถึงวันนี้ก็กว่า 7 เดือน (ดูหนังน่าจะเกิน 200 เรื่อง) เพราะรู้ว่าการจะทำความเข้าใจหนังของผู้กำกับคนนี้ ต้องใช้ประสบการณ์การดูหนังสูงมาก (เอาเวลาไปเก็บเลเวลเพิ่ม) ผมจำตอนนั้นได้ดี แทบแย่เลยกว่าจะพอเข้าใจหนังได้ (ย้อนกลับไปอ่าน ก็รู้สึกว่าตัวเองยังไม่สามารถทำความเข้าใจหนังได้ดีเท่าไหร่ – ไว้ถ้ามีโอกาสดูหนังอีกรอบ จะกลับไปปรับปรุงบทความนั้นใหม่นะครับ), กับหนังเรื่องนี้ ผมมีความมั่นใจมากขึ้นเยอะ คือสามารถเข้าใจอะไรๆได้พอสมควร แต่ก็ไม่คิดว่า 100% ทั้งหมดนะครับ แค่เพียงในมุมหนึ่งของหนัง ซึ่งคิดว่า เข้าใจแค่นี้ก็น่าจะพอมองเห็นความล้ำลึกของหนังได้พอสมควรแล้ว

ระหว่างดู La Notte ผมตั้งสมมติฐานกับหนังไปตลอดทั้งเรื่อง เพื่อหาคำตอบว่ามีเรื่องเกี่ยวกับอะไร ลองเปรียบเทียบดูน่ะครับว่าเข้าใจได้ใกล้เคียง เห็นต่างกับผมขนาดไหน, เริ่มต้นจากใครสักคนอยู่ในโรงพยาบาลสภาพร่อแร่ใกล้ตาย มีชายหญิงคู่หนึ่งเดินทางไปเยี่ยม ฤาหนังเกี่ยวกับ ความตาย จุดสิ้นสุด หรือการเริ่มต้นใหม่ของอะไรบางอย่าง ฯ จากนั้นหนังนำเสนอผลกระทบทางอารมณ์ของพวกเขา เรารู้ว่าทั้งสองแต่งงานกัน สามีเหมือนจะไม่เดือดเนื้อร้อนตัวเท่าไหร่ (คือเขาไม่เอาความเจ็บป่วยของเพื่อนติดอยู่ในใจนานนัก) ส่วนภรรยา เธอคิดทบทวนอย่างหนัก ถึงความทรงจำ ความเจ็บปวด ฯ ออกเดินเรื่อยเปื่อยไม่มีเป้าหมาย เหมือนกำลังค้นหาบางสิ่งบางอย่าง, เธอเห็นจรวดพุ่งขึ้นฟ้า น่าตื่นตาตื่นใจมาก (เป้าหมาย ความฝัน ความทะเยอทะยาน จุดเริ่มต้น สูงสุด สิ้นสุด ไร้ขอบเขต ฯ), เธอนัดหมายให้สามีมารับเธอ แถวๆที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่ ทั้งคู่เกิดความรู้สึก Nostalgia กับอะไรๆที่เหมือนเดิม และอะไรๆก็เปลี่ยนไป

ครึ่งหลัง ช่วงเวลากลางคืน ทั้งสองตัดสินใจไป Nightclub ชมการแสดงที่สุดยั่วยวนของนักเต้นผิวสี สามีดูไม่ค่อยตื่นเต้นอะไร ส่วนภรรยากลับสนุกที่เฝ้ามองสามี ภายหลังทั้งคู่ตัดสินใจไปงานปาร์ตี้ของเศรษฐีคนหนึ่ง, ในงานเลี้ยง พระเอกดูมีความสุขมาก เขาแทรกตัวไปมีส่วนร่วมกับงาน และแสดงความสนใจหญิงสาวคนหนึ่ง (ที่เป็นลูกของมหาเศรษฐีและแต่งงานแล้ว) ส่วนนางเอกยืนมองอยู่ห่างๆไม่สุงสิงกับใคร แต่ก็มีชายหนุ่มที่สนใจเธอ เข้ามาชวนไปต่อ แต่ภายหลังเธอก็บอกปฏิเสธไป, ช่วงเวลาหนึ่งในงานเลี้ยง หญิงสาวรู้ว่า เพื่อนที่อยู่ในโรงพยาบาลเสียชีวิตแล้ว นี่เหมือนความรัก/ชีวิตคู่ของเธอได้จบสิ้นลงไปด้วย แต่ฝ่ายชายหาได้สนใจ เขายังคงสนุก ตื่นเต้น ใช้ชีวิตไปข้างหน้า โดยไม่มองข้างๆหรือหันไปด้านหลัง, ตอนเช้า ปาร์ตี้กำลังเลิก ทั้งสองเดินคุยกันในสนาม ถึงความรักที่หมดอายุไปแล้วของพวกเขา ฝ่ายชายพยายามไม่รับรู้ ไม่ยอมรับ แต่เมื่อฝ่ายหญิงหยิบจดหมายขึ้นอ่าน เขาจึงระลึกได้ ว่าครั้งหนึ่งเคยรักเธอมากแค่ไหน

ข้อสรุปที่ผมได้จากหนัง เป็นการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ความแตกต่าง แปลกแยก (Alienation) และความน่าเบื่อ (Ennui) ของชีวิตคู่สามีภรรยาหนึ่ง ที่ใกล้หมดความรัก (เริ่มต้นด้วยกำลังจะตาย) และมองหา เตรียมการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ (คือคงตั้งใจจะเลิกกันนะแหละ แต่ยังหาเวลาเหมาะสมไม่ได้), ซึ่งหนังใช้เวลา ‘กลางคืน’ (ชื่อหนัง La Notte แปลว่า The Night) ที่มืดมิด เสมือนกับปัญหาระหว่างพวกเขา ที่มองไม่เห็น/ไม่เคยมอง/ไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผลลัพท์เปิดกว้างในตอนจบ คือการเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ แต่จะใหม่อีกครั้ง หรือใหม่เอี่ยมไปเลย หนังเปิดกว้างให้ผู้ชมตีความยังไงก็ได้นะครับ

ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Michelangelo Antonioni เล่าถึงชีวประวัติของตนเอง เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เต็มไปด้วยผู้หญิง แม่ ป้า ย่า มีเพียงพ่อกับพี่อีกคนที่เป็นผู้ชาย ตอนแต่งงาน ภรรยามีพี่สาวน้องสาว 5 คน ว่ากันง่ายๆ เขาเป็นผู้ชายที่เข้าใจความรู้สึก อารมณ์อ่อนไหวของผู้หญิงได้เป็นอย่างดี, ซึ่งบางอารมณ์ในบางเหตุการณ์ ผู้ชายเรามักสัมผัส รู้สึก เข้าใจไม่ได้ แต่ผู้หญิงจะอ่อนไหว และอ่อนแอเป็นพิเศษ

หลังได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ ผมก็รู้สึกเลยว่า หนังเรื่องนี้ใช้มุมมองผู้หญิงเล่าเรื่อง และสามารถอธิบายความรู้สึก แสดงอารมณ์ของพวกเธอออกมาให้เห็นได้ชัดเจนมาก, สังเกตเรื่องราวออกไปทาง Feminist เสียด้วย ที่ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจอะไรหลายๆด้วยตนเอง เช่น เลือกไป Nightclub, สั่งให้แฟนมารับ, เลือกปฏิเสธ/ยอมรับผู้ชาย ฯ ขณะเดียวกันก็มีอีกใจความที่แฝงอยู่ คือในสังคมผู้ชายก็มักจะยังมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้หญิงเสมอ เช่นตอนจบ สามีใช้กำลังที่ดูเหมือนจะขืนใจภรรยา บังคับให้ยินยอม ฯ

Marcello Mastroianni (8 1/2, La Dolce Vita) กับหนังเรื่องนี้เขามีมาด playboy รับบทเป็นนักเขียนนิยายที่เท่ห์ มีเสน่ห์ ใส่สูทดูโรแมนติก น่าหลงใหล สาวๆติดตรึม, แต่ข้างในจิตใจของเขาว่างเปล่า เฉื่อยฉา ดังคำพูดหนึ่งใน Nightclub ที่ว่า ‘ตอนนี้ฉันไม่มีแรงกระตุ้นอะไรใดๆ มีแค่ภาพความทรงจำ’ (I no longer have inspirations, only recollections) นั่นทำให้เขาต้องการที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ ที่มีความตื่นเต้นเร้าใจ กระตุ้นตนเองให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง

Jeanne Moreau (Jules and Jim) เธอเป็นนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศสนะครับ ไม่ยักรู้ว่าพูดอิตาเลี่ยนได้คล่องด้วย, หญิงสาวที่มีความอ่อนไหวในทุกๆสิ่ง คิดเล็กคิดน้อยจมอยู่ในอดีต ไม่ปิดกั้นแต่ไม่เปิดรับ, หนังเรื่องนี้ Moreau แต่งหน้าได้แบบว่า เละมาก หาความสวยไม่ได้เลย ภาพลักษณ์ยังกะคนละคนขณะเป็นนางเอก Jules and Jim (1962) คงเพราะผู้กำกับต้องการให้ภาพของเธอตรงข้ามกับ Mastroianni โดยสิ้นเชิง (ผู้ชายดูดีไปเสียทุกอย่าง ผู้หญิงก็ดูแย่ไปเสียทุกอย่าง)

มันมีความบ้าบิ่นหนึ่ง ขณะที่ตัวละคร Moreau เดินๆอยู่แล้วไปพบ ชายหนุ่ม Macho กลุ่มหนึ่ง สองคนกำลังชกต่อกัน เธอตะโกนห้าม (ในแบบสภาพไม่ดูตัวเองเลย) ชายคนที่ชนะหยุดตามคำขอของ และเดินติดตามเธอ (เหมือนตั้งใจจะข่มขืนเธอ), กับฉากนี้เป็นการบอกว่า ในจิตใจของผู้หญิงไม่ได้ชื่นชอบความรุนแรงเท่าไหร่ แต่เมื่อพวกเธอแสวงหา ผู้ชายก็มักยินดีที่จะให้เธอ

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนัง คือการแสดงของทั้งสองนี่แหละ โดยเฉพาะ Moreau ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกอ้างว้าง เจ็บปวดออกมาแบบในระดับที่จับต้อง สัมผัสได้, กับหนังของ Antonioni นักแสดงมักเปรียบเสมือนอากาศธาตุประเภทหนึ่ง มีตัวตนแต่ไร้จิตวิญญาณ (คือเป็นตัวแทนของนามธรรม) แต่ทั้ง Mastroianni และ Moreau จะกลับกัน เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแต่ไร้ตัวตน, Mastroianni มีชีวีตชีวามากขณะในงานปาร์ตี้ ส่วน Moreau ถือเป็นวิญญาณที่ล่องลอยไร้ที่สิงสถิต

ถ่ายภาพโดย Gianni Di Venanzo, ฉาก Opening Credit สวยมากๆ ถ่ายภาพสะท้อนกระจกเห็นเมืองโดยรอบ จากตึกสูงแห่งหนึ่งใน Milan, ขณะนั้นเมืองนี้เต็มไปด้วยตึกสูงที่กำลังสร้างยังไม่เสร็จ และกล้องค่อยๆเคลื่อนลงมา ผมไปอ่านเจอบทวิเคราะห์เปรียบเทียบฉากนี้ เหมือนการเคลื่อนลงจากสรวงสวรรค์สู่โลกมนุษย์ (หรือนรก) มองได้คือ จากชีวิตคู่ที่เคยความสุขสรรค์ ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ

กับคำพูดของชายคนป่วย ที่บอกว่า ตัวเองเป็นเหมือน Sideline ด้านข้าง ช็อตนั้นหมอนี่ก็ไม่ได้อยู่ตรงกลางภาพนะครับ อยู่ริมๆฝั่งขวา จากนั้นผมก็สังเกตภาพหนังเรื่องนี้ตลอด มีหลายครั้งทีเดียวที่ตัวละครจะอยู่ข้างๆ ไม่ซ้ายก็ขวา หรือบางทีเห็นเป็นภาพสะท้อนกระจกอีกด้านหนึ่ง ด้านหลังไวๆของตัวละคร นี่เพื่อเป็นการบอกว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ตรงกลางเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเสมอไป อะไรที่อยู่ข้างๆ เหมือนจะไม่สำคัญ บางทีก็เป็นเรื่องสำคัญ

หนังชอบถ่ายให้เห็นด้านหลังตัวละคร จนผมสังเกตเห็นชุดเดรสของ Moreau จะเห็นแผ่นหลังของเธอเต็มๆเลย ผิดกับ Mastroianni ที่ใส่สูทปกปิดด้านหลัง, ช่วงท้าย เมื่อทั้งสองเดินเคียงคู่กันไป ภาพถ่ายจากด้านหลัง แสดงความแตกต่างโดยสิ้นเชิงของทั้งสอง, ไฮไลท์อยู่ตอนอ่านจดหมาย จะมีถ่ายด้านข้างของ Moreau ด้วย เป็นมุมที่ไม่สวยเท่าไหร่ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ตัวละครของ Mastroianni หยุดที่จะมองไปข้างหน้าอย่างเดียวแล้ว เขาเริ่มมองข้างๆ และหันไปด้านหลัง

La Notte Back.png

หนังเต็มไปด้วยกรง ตาราง ตาข่าย นางเอกพยายามที่จะดิ้นรนออกจากกรงที่ขังตนเอง ผิดกับพระเอกที่พอใจกับการได้อาศัยอยู่ในกรง ฉากตอนจบด้วยท้องทุ่งที่กว้างไกล เหมือนจะไม่มีอะไรที่เป็นกรงกั้นเธอไว้อีกแล้ว แต่ตัวเธอกลับถูกฉุดกระฉากข่มขืน ให้กลับมาอยู่ในกรงของเขาใหม่ (บริเวณนั้นเป็นทราย มองว่าเป็นทรายดูดก็ได้) และกล้องถ่าย long-shot ให้เห็นว่า ต้นไม้ก็สามารถกลายเป็นกรงประเภทหนึ่งได้

ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma คนนี้ขาประจำของ Antonioni เลย คงรู้ใจกันดี, กับหนังเรื่องนี้ใช้ ภาพเล่าเรื่อง หลายครั้งไม่มีบทพูด ไม่บอกอะไรเราเลย ต้องสังเกตจากการกระทำของตัวละคร ภาพที่เคลื่อนไหว และการตัดต่อที่สื่อความหมายอยู่แล้วว่าตัวละครกำลังทำอะไร แต่ทำเพราะอะไร เพื่ออะไร นี่ต้องคิดวิเคราะห์เอาเอง, ยกตัวอย่าง ฉากที่นางเอกออกเดินเรื่อยเปื่อย เราจะเห็นภาพเธอเดินไปเรื่อยๆ การตัดต่อบอกว่าเธอเห็นอะไร แต่ไม่มีการบอกว่า เธอออกเดินทำไม (นี่ต้องคิดเองนะครับ)

ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ช่วงงานปาร์ตี้ ครึ่งหลัง 1 ชั่วโมงเต็มๆของหนัง, หลายคนคงบ่นอุบ นี่มันอะไรกัน ยาวเว่อ ไม่เข้าใจเหตุผล นี่คือไคลน์แม็กซ์ของหนังเลยนะครับ ที่เป็นเหมือนการประมวลผล สรุปให้เราเห็นว่า ชายหญิงคู่นี้ต่างกันยังไง วิธีการดูให้เข้าใจ คือเราต้องสังเกตพฤติกรรม การกระทำของทั้งคู่ ความสนใจและการแสดงออก หนังใช้การตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสอง (น่าจะครึ่งๆพอๆกัน) ขณะพระเอกทำแบบนี้ นางเอกทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร กับคนที่มองออกจะเห็นว่า ทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง งานปาร์ตี้เดียวกันแท้ๆ แต่เหมือนอยู่คนละโลก นี่แหละครับใจความของหนัง

ฉากฝนตกในงานปาร์ตี้ ผมเปรียบเหมือน ห่าลง คือทุกคนกลายเป็นบ้าไร้สติ เพราะฝนนำความชุ่มฉ่ำที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น เช่นกัน พวกเขาจึงต้องการทำอะไรที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะทำ เช่น กระโดดน้ำ จูบรูปปั้น ฯ ชีวิตจริงก็แบบนี้นะครับไม่ใช่แค่ในหนัง เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่าเคยไปงานปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อนมีสระว่ายน้ำ พอกำลังเมาๆกรึ่มๆ ฝนตก ทีนี้ก็รั่วเต็มที่ ไหนๆก็เปียกแล้ว กระโดดลงเล่นน้ำเลยดีกว่า

พอฝนตกแล้วต้องไฟดับ หนังไม่ได้บอกเวลาไว้แต่ประมาณการได้ ตี3-ตี4 ช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด (darkest night) ซึ่งทั้งพระเอก-นางเอก ต่างก็พบกับข้อเสนอที่สุดเย่ายวน ถ้าพวกเขาเลือกที่จะโอบรับสิ่งนั้นมา ก็เท่ากับก้าวผ่านข้ามเส้นขอบเขตของทั้งสอง ไปสู่จุดที่ไม่อาจหวนกลับมาคืนดีกันได้ แต่หนังจงใจทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิ่งนั้น (พระเอก ฝ่ายหญิงปฏิเสธ/นางเอก เธอปฏิเสธ) น่าคิดนะครับว่าทำไม ฤามีสติสัมปัชชัญญะบางอย่างยั้งพวกเขาไว้?

เพลงประกอบโดย Giorgio Gaslini ตอน Opening Credit เป็นการทดลองกับเครื่องดนตรี เป่าโน่น กดนี่ ดีดนั่น ไม่มีความสัมพันธ์คล้องจองใดๆ มีแค่เสียงเท่านั้นที่ออกมา, นี่เป็นเสียงของธรรมชาติที่สร้างขึ้นโดยเครื่องดนตรี หาความเข้ากัน คล้องจองลงตัวไม่ได้ เทียบกับชีวิตคู่ก็หมายถึง ความแปลกแยกแตกต่าง ไม่มีความเข้ากัน, เพลงส่วนใหญ่ของหนัง จะบรรเลงอยู่ใน Nightclub และงานเลี้ยงปาร์ตี้ เป็นแนว Jazz คลาสสิกนุ่มๆ มีแซกโซโฟนเป็นหลัก คลอด้วยเปียโน และเชลโล่ บรรยากาศของเพลงสไตล์นี้ เปรียบเสมือนหมอกควัน ภาพลวงตา โลกของจิตวิญญาณ ความรู้สึก ฯ

นี่แหละครับหนังสไตล์ Antonioni ตอนผมดู  L’Avventura เชื่อว่าตัวเองยังเข้าไม่ถึงหนังได้ขนาดนี้แน่ๆ เปรียบเทียบความลึกล้ำกับการนั่งจิบไวน์ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจถึงจะสามารถรับรู้ รับสัมผัสของเนื้อไวน์ได้ถึงแก่นแท้, และต้องบอกว่า นี่เป็นสไตล์ที่ผมค่อนข้างชอบเสียด้วย นุ่มลึก ละมุนละไม แต่คงไม่ถูกใจกับนักดูหนังสมัยนี้แน่นอน

กับหนังที่มีความซับซ้อน ลึกล้ำ ถ้าเราสามารถหาคำตอบ เข้าใจด้วยตนเองได้ มันจะมีความภูมิใจระดับหนึ่ง และถ้าพบว่าใจความแฝงนั้นมีความโดนใจ ตรงใจ ก็จะกลายสภาพจากชอบเป็นหลงรัก, ผมชอบหนังเรื่องนี้เพราะผมสามารถทำความ ‘เข้าใจ’ หนังได้นะครับ และ ‘หลงรัก’ เพราะสัมผัสของ Alienation  ทำให้ระลึกถึงตนเองขณะนี้ (ผมเป็นเหมือนตัวละคร Jeanne Moreau ที่ชอบมองจากข้างนอก มากกว่าเข้าไปร่วมทำอะไร) ถึงจะไม่ชอบการแต่งหน้าของเธอ แต่ Moreau ทำให้ผมหลงรักการแสดงของเธอยิ่งๆไปอีก

แนะนำกับนักคิดทั้งหลาย, นักปรัชญา, นักเขียน/วรรณกรรม นี่ถือเป็นหนังที่ท้าทายความเข้าใจมาก, คนทำงานสายภาพยนตร์ มีเทคนิคหลายๆอย่างน่าสนใจ, แฟนหนัง Marcello Mastroianni, Jeanne Moreau และ Monica Vitti ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG แต่เด็กต่ำกว่า 15+ ดูไปคงไม่เข้าใจ

TAGLINE | “La Notte ของ Michelangelo Antonioni จะพาคุณไปสัมผัส มองเห็นมุมมองความรักที่แตกต่างของคู่สามีภรรยา นำแสดงโดย Marcello Mastroianni และ Jeanne Moreau ที่จะทำให้คุณเข้าใจจิตวิญญาณของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
11 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 7. La Notte (1961)  : Michelangelo Antonioni ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: