ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44

ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓) หนังไทย : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ♥♥♥♡

จินตหรา สุขพัฒน์ สำเร็จการศึกษามัธยมปลาย ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ โรงเรียนสตรีอรุณรัชต์วิทยา ทั้งๆที่สนิทสนมกับเพื่อนร่วมชั้นทุกคนเป็นอย่างดี แต่เมื่อต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตก็เริ่มเหินห่าง เพราะความแตกต่างทางสังคม ครอบครัว และเป้าหมายอุดมการณ์เพ้อฝัน ค่อยๆเรียนรู้จักโลกกว้าง ที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิ โอกาส ความเสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ แต่อาก้อง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล รังสรรค์เรื่องราวที่สะท้อนประเด็น Feminist ออกมาได้อย่างเจ็บแสบสันต์ รวดร้าวราน น่าจะจี้จุดรำคาญของคนที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ(ทางเพศ) ได้อย่างทุกข์ทรมานกายใจ

และแม้คุณค่าทางศิลปะอาจมีไม่มากนัก แต่ความละเอียดอ่อนของเรื่องราว สมฉายา ‘ผู้กำกับเม็ดทราย’ ค่อยๆทวีความคลุ้มคลั่ง อึดอัดอั้นของอิสตรี รุนแรงไปจนถึงจุดเสียสติแตก นั่นคือความสุดโต่งของโลกทัศนคติทางเพศ ผลลัพท์ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเปิดกว้างในยุคสมัยนั้น แต่อะไรๆทีละเล็กละน้อยย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

โลกยุคสมัยปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๖๑ ก็ใช่ว่าเรื่องราวเหตุการณ์แบบ ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ จะตกยุคล้าสมัยหมดสิ้นไป จริงอยู่สิทธิสตรีได้ส่งมอบโอกาส ความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นมาก แต่ในส่วนมุมมืดก็มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ผู้หญิงหากินบางจำพวกก็ฉกฉวย กอบโกยกินจากบุรุษที่ยินยอมพร้อมจับจ่าย, สรุปแล้วมันอาจไม่ใช่ประเด็นเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมที่ควรถกเถียงถึง แต่คือโลกทัศนคติของสังคม เศรษฐกิจ และกิเลสตัณหาราคะภายในจิตใจคนเสียมากกว่า

บัณฑิต ฤทธิ์ถกล (พ.ศ. ๒๔๙๔ – ๒๕๕๒) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และอัสสัมชัญพานิช จากนั้นเริ่มทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เขียนคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ ตามด้วยบทภาพยนตร์ ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับในภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ โบตั๋น (พ.ศ. ๒๕๑๘), เสือภูเขา (พ.ศ. ๒๕๒๒), ฉายเดี่ยวครั้งแรก คาดเชือก (พ.ศ. ๒๕๒๗) จากนั้นผูกขาดสร้างภาพยนตร์ให้บริษัทไฟว์สตาร์ กลายเป็นตำนานกับ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗), สตางค์ (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๑๔ ตุลา สงครามประชาชน (พ.ศ. ๒๕๔๔) ฯ

หลังเสร็จจากไตรภาคแรกของ บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), บุญชู ๒ น้องใหม่ (พ.ศ. ๒๕๓๒) และ บุญชู ๕ เนื้อหอม (พ.ศ. ๒๕๓๓)** อาก้องคงอยากเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานบ้าง แต่ก็ไม่ยอมทอดทิ้งนักแสดงที่ตนปลุกปั้นมา จินตหรา สุขพัฒน์ สร้างหนังเรื่องนี้เพื่อให้เธอแสดงศักยภาพความเป็นลูกผู้หญิง ไม่มีอะไรที่สู้ลูกผู้ชายไม่ได้

แซว: บุญชู ๕ เนื้อหอม คือภาคสามของแฟนไชร์บุญชูนะครับ ใครไม่เคยดูอาจงุนงงสับสน เพราะเหตุอะไรลองไปหารับชมกันเอง แล้วจะขำกลิ้งในความกวนประสาทของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ในวันจบการศึกษาของนักเรียนหญิง ส.อ.ว. (สตรีอรุณรัชต์วิทยา) ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ คุณครูประจำชั้น (นฤมล นิลวรรณ) ให้โอวาทครั้งสุดท้าย บอกให้ทุกคนรักษาความสมัครสมานฉันท์ เหนียวแน่นกลมเกลียว สนิทสนมกันไว้จนแก่เฒ่า แต่ในโลกความเป็นจริงเมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิต ต่างวิถีทางที่แทบไม่มีโอกาสมาบรรจบพบกันอีกเลย
– ลำยง (จินตหรา สุขพัฒน์) ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ได้เข้าประกวดนางงาม จบมาเป็นนักข่าว รับเรียนรู้ถึงโลกความจริงที่ผู้หญิงถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้ชาย ต้องการนำเสนอข่าวเพื่อตีแผ่มุมมืดของสังคม
– สุนทรี (ศศิมาภรณ์ ไชยโกมล) เพื่อนสาวที่เข้าประกวดนางงามด้วยกัน ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นที่ต้องตาของหนุ่มใหญ่นักธุรกิจ/การเมือง ขายตัวแลกเงินทองมหาศาล ตั้งท้องนอกสมรส(ไม่รู้มีพ่อหรือเปล่า) สุดท้ายชีวิตตกต่ำเหลือเพียงตนกับลูกสองคน
– ขันทอง (สมรัชนี เกษร) เพื่อนสนิทลำยงตั้งแต่อนุบาล เป็นคนเรียบร้อยแสนดี แต่ถูกพ่อแม่จับแต่งงานกับ พงศธร (ตฤณ เศรษฐโชค) หนุ่มหล่อร่ำรวย เจ้าชู้ประตูดิน บีบบังคับให้เธอเป็นนกในกรงอยู่กับบ้านห้ามคบพบพรรคเพื่อน ใช้กำลังซักซ้อมกระทำทารุณ มิอาจโต้ตอบกล้ากระทำการใดขัดขืนสามี และครอบครัวของตนเอง
– ลินดา (ปวีณา ชารีฟสกุล) สาวมั่นเรียนเก่ง ทำงานเป็นนักการตลาด ต่อมาเป็นเลขาเจ้าของสถานบันเทิง อาบ-อบ-นวด (เด็กเสี่ยง) เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจ เลยยินยอมให้ ลำยง เข้าไปถ่ายภาพภายในสถานประกอบการ หลงคิดว่าคงเป็นการประชาสัมพันธ์ แต่ที่ไหนได้กลับถูกทรยศหักหลังเปิดโปง โกรธเกลียดไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงจนมองหน้าไม่ติด
– ลัดดา (ทิพย์ ธัมมศิริ) อดีตหัวหน้าห้องที่มีชีวิตสมถะ แต่งงานกับเสี่ยร้านก๋วยเตี๋ยว รักหรือเปล่าไม่รู้แต่ชีวิตมีความสุขดี เมื่อเห็นเพื่อนๆมีความขัดแย้งมองตาไม่ติด พยายามประสานรอยร้าว แต่กลับกลายเป็นร้าวลึกใกล้จุดแตกหัก
– เพลินวรรณ (รัญญา ศิยานนท์) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของลำยง เรียนมหาวิทยาลัยทีเดียวกัน รับฟังเข้าใจเรื่องราวทุกอย่างของลำยง จบมากลายเป็นเซลล์ขายทุกอย่างอย่างแคล่วคล่องว่องไว และทำให้เพื่อนรักอิจฉาด้วยการแต่งงาน (ไม่มีเพื่อนร่วมห้องคนไหนรวมทั้งคุณครู คิดว่าสาวมั่นอย่างเธอจะลงเอยด้วยการแต่งงานได้)

สำหรับนักแสดงของพูดถึงเพียง จินตหรา สุขพัฒน์ ชื่อจริง จิตติ์ธนิษา สุขขะพัฒน์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๘) ชื่อเล่นแหม่ม นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่พระประแดง, สมุทรปราการ มีเชื้อสายมอญ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ระหว่างเข้าเรียน ปวช. ที่โรงเรียนกิตติพาณิชย์ ทำงานพิเศษที่บริษัทโตโยต้า ไปเข้าตาแมวมองจับมาเป็นนางแบบโฆษณาผ้าอนามัยลอริเอะ (เห็นว่าเป็นนางแบบคนแรกของบริษัทเลยนะ) ด้วยเหตุนี้เลยได้ไปเข้าตาผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (พ.ศ. ๒๕๒๘) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที จากนั้นเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของค่ายไฟว์สตาร์ ผลงานเด่นอาทิ แก้วกลางดง (พ.ศ. ๒๕๒๘), ปัญญาชนก้นครัว (พ.ศ. ๒๕๒๙), ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), สะพานรักสารสิน (พ.ศ. ๒๕๓๐), คู่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๑), บุญชู ผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) ฯ

รับบทลำยง สมัยเรียนถือว่าเป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆ คุยได้หมดอย่างไม่เคยมีปัญหาปากเสียงใดๆ แต่หลังจากเรียนจบค่อยๆพบเห็นด้านมืดของสังคม เริ่มจาก
– เพื่อนสองคนรีบร้อนแต่งงาน หนึ่งดูมีความสุขดี อีกคนกลับเงียบหายไม่ค่อยได้รับการติดต่อ (ทั้งๆที่เคยสนิทสนมกันดี)
– ประกวดนางงาม แต่กลับถูกล่อลวงให้ไปขายตัว
– ฝูงผู้ชายปากหมา วันๆนั่งด่ากราดไม่ทำอะไร เลยถูกขับรถเฉี่ยวกระโดดตกน้ำเน่า
– ทำงานเป็นนักข่าว พบเห็นสถานบันเทิงเต็มไปด้วยเด็กสาวอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ แถมยังมีการค้าประเวณี
– บนโต๊ะอาหาร พบเห็นหัวหน้าผู้ชายพูดคุยเกี่ยวกับภรรยา/ชู้รัก อย่างขบขันหน้าไม่อายรับไม่ได้
– เด็กหญิงคนหนึ่งติดต่อขอช่วยเหลือ เธอป่วยเป็นโรค…(น่าจะ AIDS) แต่กลับถูกทิ้งขว้างไม่มีใครสนใจ
– และบรรณาธิการข่าว(หัวหน้าของเธอเองที่เป็นผู้ชาย) ใช้อำนาจเด็ดขาดปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของตนเอง

ความอัปลักษณ์ของสังคมที่พบเห็น บุรุษเป็นใหญ่กดขี่ข่มเหงสตรีเพศ ค่อยๆกัดกร่อนกินทำลายจิตใจ ลำยง ให้เกิดความหวาดระแวงตื่นกลัว แค่มองเห็นชายสองคนขับรถบรรทุกที่อุตส่าห์ให้ความช่วยเหลือ กลับเพ้อไปไกลว่าพวกเขาคงครุ่นคิดทำอะไรตนเอง จนกระทั่งสุดท้ายถึงได้เรียนรู้ว่า ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนในโลกที่ชั่วร้าย บุคคลดีๆในสังคมก็มีอยู่ถ้าไม่ปิดกั้นตัวเองอย่างสุดโต่ง

ถือเป็นบทบาทยอดเยี่ยมทรงพลังที่สุดในการแสดงของ จินตหรา สุขพัฒน์ (ไม่แน่ใจว่าดีที่สุดแล้วหรือยังนะ) จากเคยสวมกระโปรงบานน่ารักสดใสไร้เดียงสา ค่อยๆแปรสภาพเป็นความเครียดคลุ้มคลั่งวิตกจริตแทบบ้า ทำไม! ทำไม? เพื่อนๆของฉันถึงยินยอมก้มหัวให้กับความชั่วร้ายในสังคม ผมว่าโดดเด่นกว่าอีกบทบาท Feminist เรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด (พ.ศ. ๒๕๓๗) เป็นไหนๆ

ถ่ายภาพโดย พิพัฒน์ พยัคฆะ ตากล้องขาประจำของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผลงานเด่น อาทิ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ผลงานอื่นๆ อาทิ ฉันผู้ชายนะยะ (พ.ศ. ๒๕๓๐), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔), ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ ใช้เทคนิคร่วมสมัยเป็นปกติ อาทิ แพนนิ่ง, เคลื่อนติดตาม, ซูมเข้า-ออก ฯ โดดเด่นหน่อยคือการแพนนิ่ง+ซูม เพื่อเป็นการชี้ชักนำสายตาของผู้ชม ให้จับจ้องมองโฟกัสใครบางคน ที่กำลังจะมีความสำคัญในช็อตถัดๆมา

ฉากประกวดนางงาม, สถานบันเทิง, อ่างอบนวด จะมีการจัดแสงที่ค่อนข้างมืดมิดเป็นพิเศษ (สะท้อนว่า นี่คือกิจกรรมที่มักมีเบื้องลึกอันชั่วร้ายบางสิ่งอย่าง) หลายช็อตถ่ายย้อนแสง และมักมีการเคลื่อน+ซูมเข้าหาชายคนหนึ่ง มักเป็นอาเสี่ยหรือบุคคลที่พร้อมจับจ่ายใช้เงินซื้อความสุขสำราญของตนเอง

ช็อตนี้ที่แทบดูไม่ออกว่าคืออะไร แต่มันจี๊ดมาก เพราะมีใครคนหนึ่งจับจ้องมองหญิงสาวผ่านกล้องส่อง ตอนแรกก็เป็นภาพใบหน้า แต่ก็เลื่อนมาเป็นบั้นท้าย สะท้อนสิ่งที่อยู่ในความสนใจของการประกวดนางงาม ได้อย่างตรงไปตรงมาถึงที่สุด

รายการพิเศษของลำยง สังเกตว่าตอนเธอพูดต่อหน้ากล้องเพื่อแสดงทัศนคติความคิดเห็น จักมีผู้ชายคนหนึ่่ง ใครก็ไม่รู้ทำงานอยู่ข้างหนัง นี่เป็นการสะท้อนถึง ผู้หญิงยังไม่ได้รับโอกาส บทบาท เอกเทศของตนเอง จำต้องมีบุรุษกำกับชี้ชักนำอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา

เฉกเช่นเดียวกับโต๊ะทำงานของเธอ ด้านหลังคือหัวหน้าผู้ชาย ความหมายเดียวกันกับช็อตนี้

ฉากย้อนอดีตของลินดา ครูสั่งให้วาดภาพแต่เธอกลับละเลงภาพสีดำส่งให้ ตั้งชื่อว่า ‘กลางคืน’ นี่สะท้อนตัวตนจิตใจภายในของตนเอง และอาชีพการทำงานต่อไป ที่แม้เป็นคนเฉลียวฉลาด แต่ทำงานเป็นนักบัญชีในสถานอาบอบนวด อนาคตช่างมืดมิดสนิทเสียกระไร

ขันทอง เป็นผู้หญิงเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ มีคุณเลอค่ายิ่งกว่าเพชรพลอย แต่ด้วยความอ่อนแอ หัวโบราณ ทำให้ไร้ซึ่งความกล้าจะคิดพูดกระทำบางสิ่งอย่างเพื่อตนเอง, สถานที่สนทนากับลำยง ตรงริมตลิ่งข้างแม่น้ำเจ้าพระยา (ชีวิตลุ่มๆดอนๆ) พื้นหลังมีสองสะพานคู่ขนาน (เส้นทางของพวกเธอที่ไม่อาจมาบรรจบ) และสังเกตช็อต Close-Up ใบหน้าของทั้งสอง
– พื้นหลังใบหน้าของลำยง จะเป็นตึกสูงเกินขอบเขตภาพ แสดงถึงทัศนคติที่ไม่หวาดกลัวเกรงผู้ชาย
– พื้นหลังของขันทอง ตึกสูงระดับหนึ่งแต่ไม่เสียดฟ้า คือยังมองตนเองต่ำต้อยไร้ค่าในโลกแห่งผู้ชาย

แม้มิได้มีการพูดบอกออกมาตรงๆว่า นที (สันติสุข พรหมศิริ) กลายเป็นคนรัก/แฟน ของลำยงได้เช่นไร แต่ช็อตนี้ถือว่าอธิบายทุกสิ่งอย่าง เพราะภาพพื้นหลังคือธนบัตรแบงค์ดอลลาร์ เหตุผลคือชื่อเสียง เงินๆทองๆ ผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้นสินะ

ผมคิดว่าการที่อาก้อง ไม่พยายามพูดบอกประเด็นนี้ออกมาตรงๆ เพราะกลัวผู้ชมจะรับไม่ได้กับภาพลักษณ์ของ สันติสุข พรหมศิริ จึงแทรกใส่เหตุผลให้คนไปสังเกตตีความกันเอาเอง

ในฉากระลึกความหลังของลำยง หลังจากพูดคุยสนทนากับเพื่อนสนิทขันทองแล้วร่ำลาเดินกลับบ้าน ช็อตนี้กล้องจะเคลื่อนติดตามทั้งคู่ เริ่มจากขณะนั่งหลบหมุม กวาดหมุนเคลื่อนขึ้นซูมออก เป็นการสะท้อนวิถีชีวิต เส้นทางเลือกเดินของทั้งคู่ ที่แตกต่างคนละทิศละทางกัน

ช่างท้ายของหนัง ลำยง ถูกสั่งย้ายไปทำงานยังจังหวัดหนองคาย ได้พบเจอเพื่อนชายเก่าก่อนที่ชอบเดินติดตามเธอตั้งแต่สมัยเรียน แม้จะมีเข้าใจผิดกันบ้างแต่ก็เริ่มพบเห็นความจริงใจ ช็อตสุดท้ายกล้องเคลื่อนออกจากภายนอกห้องพัก/บ้านหลังหนึ่ง นี่ราวกับเป็นการสะท้อนว่า ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง ความต้องการเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของอิสตรี ยังคงเป็นสิ่งหลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจของคน ไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยออกมามากเท่าที่ควร

เฟดเป็นภาพวาด และขึ้นคำกลอนทิ้งทาย

เธอไม่เพียงทอผ้าดอกที่รัก
แต่เธอถักทอชีวิตผลิต ผสาน
เธอทอโลก ทอแรง แต่งตำนาน
เป็นสายธารที่หล่อเลี้ยงเคียงแผ่นดิน

– เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรางวัลซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ตัดต่อโดย พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์ อีกหนึ่งขาประจำของอาก้อง ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป (พ.ศ. ๒๕๓๕), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (พ.ศ. ๒๕๓๖) ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ ลำยง เริ่มตั้งแต่วันสำเร็จการศึกษา กระโดดปีถัดมางานเลี้ยงรวมรุ่นครั้งแรก ซึ่งระหว่างเรื่องราวดำเนินไป เธอพบเจอสวนทางเพื่อนเก่ามากมาย ก่อเกิดเป็นเป็นความขัดแย้งถึงขนาดมองหน้าไม่ติด ซึ่งหลายทีจะมีการแทรกภาพช่วงเวลาแห่งความทรงจำประทับใจสมัยเรียนของคนๆนั้น แวบเข้ามาในความครุ่นคิดถึงของเธอ

เพลงประกอบโดย จรัล มโนเพ็ชร และ ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์, มีลักษณะสร้างความประทับใจ ‘Impressionist’ ให้กับผู้ฟัง ระยิบระยับราวกับความเพ้อฝัน ตกสวรรค์มาพบโลกความเป็นจริง ไม่ใช่มุ่งเน้นบีบคั้นหรือขับเคลื่อนทางอารมณ์

หลายครั้งของหนังมีการใช้บทเพลงคำร้อง ขับขานด้วยวงคอรัสหญิงล้วน ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่เป็นกลุ่มเด็กสาว เมื่อเรียนจบออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง, ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ มีลักษณะในเชิงให้กำลังใจ อาจทำให้หลายคนน้ำตาซึมร้องไห้โดยไม่รู้ตัว

“ก่อนจากกันไป ขอดวงใจจงผูกสัมพันธ์
จำไว้ว่าจะอยู่ร่วมกัน อย่าผันแปรไป
ต่างมีความฝัน ทุกคืนวันเต็มเปี่ยมหัวใจ
เดินรุดหน้าไปสู่จุดหมาย ดีหรือร้ายไม่ลืม”

บทเพลงลูกทุ่งน่ารักๆ เมื่อครั้น ลำยง โบกขึ้นรถบรรทุกจะกลับบ้าน, ชื่อเพลง แม่แตงร่มใบ แต่งคำร้อง/ทำนองโดย ไพบูลย์ บุตรขัน (พ.ศ. ๒๔๕๙ – ๒๕๑๕) ผู้ได้รับฉายาว่า ‘อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย’ ต้นฉบับขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ แต่ที่ใช้ในหนังจากอัลบัมหยิบสิบ รวมเพลงลูกทุ่ง/ลูกกรุงที่เคยได้รับความนิยมในอดีต ขับร้องโดย นิค นิรนาม (คณิต อุทยานสิงห์) ได้รับความนิยมประสบความสำเร็จอย่างสูง อัลบัมชุดนี้ทำยอดขายเกิน ๑ ล้านตลับ

สำหรับบทเพลง Ending ของหนัง ชื่อ มารักกันใหม่ แต่งทำนองโดย สง่า ทองทัช คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร ในหนังขับร้องโดย พัชรา แวงวรรณ นักร้องนำโอเวชั่น มีผลงานในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๕- ๒๕๓๒

ส.อ.ว. ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ คือภาพยนตร์แห่งการทวงถามคุณค่าและศักดิ์ศรีของสตรีเพศ เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่ทำไมถึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง เมื่อหญิงสาวหัวขบถพบเห็นเข้ากับตัว เก็บกดสะสมความอัดอั้นทุกข์ทรมานใจจนถึงขีดสุด เมื่อถึงเวลาปะทุระเบิดเลยกระทำบางสิ่งอย่างออกมาเพื่อโต้ตอบกลับ ถ้าเป็นปัจจุบันนี้คงได้รับการยกย่องสรรเสริญเชิดชู แต่ยุคสมัยนั้นที่ยังปิดกั้นเสรี เลยโดนสั่งสอนเอาคืนด้วยความรุนแรงพอเป็นพิธี และถูกสั่งย้ายหนีไปประจำยังดินแดนไกลปืนเที่ยง คงมิได้จับข่าวใหญ่ระดับนี้อีกแล้ว

สาวไทยส่วนใหญ่ในยุคสมัยอดีต มักยินยอมรับโชคชะตากรรมอันเลวร้ายของตนเอง ขลาดความหาญกล้าขัดขืน ย้อนแย้ง กระทำการโต้ตอบใดๆ (เพราะตนเองยังต้องพึ่งพาบุรุษในการดำเนินชีวิต) แต่โลกปัจจุบันนี้นั้นแตกต่าง ผู้หญิงสามารถทำงานเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไร้ซึ่งความจำเป็นต้องยินยอมก้มหัวถูกผู้อื่นกดขี่ข่มเหง

พัฒนาการของโลก ก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม นี่ฟังดูดีเลิศประเสริฐศรี แต่ขณะเดียวกันแสงสว่างอันเจิดจรัสจ้า ย่อมก่อให้เกิดเงามืดมิดสนิทกว่าเดิมอยู่ฝั่งตรงข้าม

อย่างความสุดโต่งที่ ลำยง ก้าวไปถึง สะท้อนทัศนคติแปรสภาพกลายเป็นอคติ เหมารวมไปหมดว่าผู้ชายทุกคนในโลกต้องชั่วช้าเลวทราม ไม่รับฟังความเหตุผลหรือข้ออ้างโดยบังเอิญ บุรุษทุกคนคือ สัตว์-ตรู ให้ตายเถอะ! โลกมันไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้นเสียหน่อย

นี่ย่อมคือสิ่งที่อาก้อง พยายามสอดแทรกนำเสนอเข้าไปด้วย (เพราะตนเองเป็นผู้ชาย ก็มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ในหลายๆแง่มุม) เรียกว่า ‘เหรียญสองด้าน’ การเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นสิ่งถูกต้องดีงาม แต่ควรให้อยู่ในระดับเหมาะสมควร ไม่ใช่โลภละโมบหลงระเริงเกินเลยเถิด แบบเช่น #MeToo เรียกร้องให้ผู้หญิงกล้าเปิดเผยสิ่งชั่วร้ายที่ตนเคยถูกกระทำ แรกๆนั้นดูดีเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่หลังๆมานี่เริ่มมีการแอบอ้าง เหมารวมผู้อื่นไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย แถมยังจองเวรจองกรรมล้างผลาญ ‘ล่าแม่มด’ เอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง นี่มันไม่มากเกินไปหรอกหรือ?

มันกรรมอะไรที่ทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่ข่มจากผู้ชาย? อธิบายง่ายๆคือกงกรรมกงเกวียน จากความที่ชาติก่อนๆอาจเคยเกิดเป็นบุรุษ กระทำการกดขี่ข่มเหงใช้ความรุนแรงทำร้ายศรีภรรยาคนรักของตนเอง มาปัจจุบันชาตินี้เลยกลับตารปัตรเกิดเป็นหญิง โดนโต้ตอบทุกสิ่งเคยทำไว้อย่างสาสมควร มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนกว่าจะละเลิกการจองเวร อโหสิกรรมให้กัน สักวันก็จักหลุดจากวังวงแห่งความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน

ความสำเร็จของหนัง เข้าชิง ๒ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (จินตหรา สุขพัฒน์)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

และได้รับ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ ๑๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๓

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆ คือพัฒนาการตัวละครของ จินตหรา สุขพัฒน์ หลังจากพบเห็นสิ่งอัปลักษณ์ชั่วร้ายมากมายในสังคม ค่อยๆกัดกร่อนกลืนกินทำลายจิตใจ แสดงความเจ็บปวดรวดร้าวได้อย่างแสบซ่านถึงทรวง ลุ้นระทึกว่าหนังจะนำพาไปถึงจุดสิ้นสุดตรงไหน และเธอจักสามารถเข้าใจ ‘ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เป็นเช่นนั้น’ ได้หรือเปล่า

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
– สำหรับผู้หญิง นี่คือภาพยนตร์ที่จะเสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำ มอบโอกาส ให้เรียนรู้จักคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นหญิงของตนเอง กล้าครุ่นคิด พูดบอก และกระทำแสดงออกมา ในความเสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษ
– สำหรับผู้ชาย ถือเป็นการตักเตือนสติ สอนให้ครุ่นคิด มอบสิทธิและโอกาสให้ผู้หญิง ไม่มองว่าเธอคือวัตถุสิ่งของ(ทางเพศ)มีความต่ำต้อยกว่า เรียนรู้จักความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นสิ่งน่ารักน่ายกย่องสุดในสังคม

จัดเรต 13+ กับด้านมืดของสังคม เหมาะกับเปิดให้นักเรียนมัธยม/กำลังจะจบการศึกษา มีประโยชน์มากๆแน่

TAGLINE | “ส.อ.ว. ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ส่งให้ จินตหรา สุขพัฒน์ กลายเป็นผู้นำสิทธิสตรีหญิงแห่งประเทศไทย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: