
ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐)
: เป็นเอก รัตนเรือง ♥♥♥♡
ร้อยเรียงเรื่องราวความคิดถึง ❤️ อีปู (เฟย์ อัศเวศน์) ฝันถึงแม่แต่ก็เป็นห่วงพ่อ (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว), ไอ้น้อย (เรย์ แมคโดนัลด์) ฝันอยากไปอเมริกาตามหาพ่อ?, เสี่ยโต้ง (วีรดิษ วิญญรัตน์) กระทืบทุกคนเข้าใกล้เมียน้อย (แชมเปญ เอ็กซ์) ฯ นำมาแปะติดปะต่อ กลายเป็นภาพความฝัน วันบ้าๆ ในผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ
คลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย (Thai New Wave) คนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) แต่ถ้านับตามกันปฏิทิน ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin ก่อนหน้าประมาณสองเดือน (แต่เข้าฉายเมืองไทยภายหลัง) และอาจเพราะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับด้วยกระมัง เลยไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในวงกว้างสักเท่าไหร่
แต่กาลเวลาก็ทำให้ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ได้รับคำชื่นชอบจากผู้ชม/นักวิจารณ์ชาวไทย เรียกว่ากระแสคัลท์ก็ได้กระมัง เพราะความดิบ เถื่อน แปลกใหม่ ทำสิ่งไม่เหมือนใคร เต็มไปด้วยลูกเล่น แพรวพราวเทคนิคภาพยนตร์ ‘สไตล์เป็นเอก’ มีความเย้ายียวน กวนบาทา สร้างเสียงหัวเราะ เสียดสีสังคม การเมือง วิถีไทย ได้อย่างแสบกระสันต์ซ่าน
ด้วยความที่เป็นเอกไม่เคยร่ำเรียน/กำกับภาพยนตร์มาก่อน (ทำงานสายโฆษณามาหลายปี) เมื่อมีโอกาสสรรค์สร้าง ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) จึงทำการลองผิดลองถูกหลายๆสิ่งอย่าง เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าทำออกมาในลักษณะ “Low on Drama แต่จะ High on Idea” หรือจะเรียก “Style over Substance” ให้ความสำคัญกับลูกเล่น รายละเอียด เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ไอเดีย มุ่งเน้นสร้างความบันเทิงผ่านลีลาการนำเสนอ ทำให้เมื่อมองภาพโดยรวม เรื่องราวจึงขาดความลื่นไหล ยังไม่ค่อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักเท่าไหร่
ผมเพิ่งมาเอะใจเมื่อตอนซีรีย์เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๖๗) เข้าฉายใน Netflix แล้วเห็นการเปรียบเทียบช็อตต่อช็อตกับภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ภาพถ่ายมีความคมชัดกริบ! เลยลองค้นหาข้อมูลค้นพบว่าผลงานยุคแรกๆของเป็นเอกภายใต้ชายคา Five Star Production ผ่านการ Remaster (น่าจะคุณภาพ HD) เรียบร้อยหมดแล้ว สามารถหารับชมช่องทางสตรีมมิ่งของ TrueID จะให้พลาดได้ไงละ!
เกร็ด: โปสเตอร์ไทยสมัยก่อน มักนำภาพจากฟุตเทจปรากฎอยู่ในหนังจริงๆมาใส่ แต่ทว่าเป็นเอกไม่รับรู้ว่ามันมีกฎเกณฑ์อะไรแบบนั้น เลยถ่ายมาแบบมั่วซั่ว เอาโถส้วมมาเซ็ตถ่าย ผลลัพท์ดูไม่ค่อยสมจริง เลยใช้สำหรับตอนไปฉายเมืองนอก, ส่วนฉบับประเทศไทย เพิ่มเติมรายละเอียดพื้นหลัง แปะติดปะต่อ(โมเสก)ภาพเล็กๆจากหนัง ออกแบบโดย ถก (ปุณลาภ ปุณโณทก)
เป็นเอก รัตนเรือง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร โตขึ้นเดินทางสู่ New York, สหรัฐอเมริกา ช่วงวัยรุ่นไม่ได้มีความชื่นชอบภาพยนตร์สักเท่าไหร่ จนกระทั่งรับชม 8½ (1963) แม้ดูไม่รู้เรื่อง แต่หลงใหลความเป็นไปได้ไม่รู้จบ, สำเร็จการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์และปรัชญาจาก Pratt Institute แล้วทำงานเป็นนักออกแบบ และวาดภาพประกอบอิสระ, หวนกลับมาเมืองไทยเข้าบริษัท The Film Factory กำกับโฆษณาหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคว้าเหรียญทองแดงจาก Cannes Lion Awards เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
หลังกำกับโฆษณามาหลายปี ก็ครุ่นคิดอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวสักเรื่อง นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง รับฟังมาจากผู้ช่วยฝ่ายโพสต์โปรดักชันในบริษัท ชอบเล่าความฝันถึงมารดาเสียชีวิตนานแล้วกำลังสร้างบ้าน จึงเดินทางไปหาหมอดู ถูกทักว่าบ้านในฝันเสร็จเมื่อไหร่บิดาจะเสียชีวิต!
ตอนที่เขาเล่านั้นเขาซีเรียสกับมันมาก เขาเชื่อหมดเลยว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่ผมรู้สึกว่าไม่น่า เพราะเขาคนนี้เป็นคนฉลาดมาก เป็นคนมีรสนิยม มีชีวิตที่ดีมาก เขาแทบจะมีหมดทุกอย่างแล้ว แต่พอเขาเล่าเรื่องนี้เรารู้เลยว่าเขาขาดอะไรในชีวิต จริงๆเขาอาจจะไม่ขาดก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าความฝันของเขาทั้งหมด เป็นเพราะพ่อเขาไม่ได้ให้ความรักอย่างที่เขาอยากได้หรือเปล่า เขาก็เลยไปฝันเอากับแม่ที่ตายไปแล้ว
เป็นเอก รัตนเรือง
นอกจากนี้เป็นเอกยังเล่าด้วยว่านำแรงบันดาลใจจากคดีดัง เสี่ยพันล้าน(เจ้าของแฟลต)ปลาทอง ถล่มโรงแรมมณเฑียร เพราะถูกสถาปนิกหนุ่มแย่งไมค์ร้องเพลงคาราโอเกะ เลยสั่งให้ลูกน้องถูกรุมกระทืบ ยิงกันสนั่นร้านโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ค่ำคืนวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
เกร็ด: บทร่างแรกที่เป็นเอกพัฒนาขึ้น ความยาวประมาณ ๓๐๐ หน้ากระดาษ! วันหนึ่งไปทานข้าวกับท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เอาบทให้อ่าน ถามกลับว่ารู้รึเปล่า ๑ หน้ากระดาษมันประมาณ ๑ นาทีในหนัง เลยได้รับคำแนะนำให้ต้องตัดออกสองในสาม
แม้ว่าเป็นเอกจะมีชื่อเสียงจากการกำกับโฆษณา แต่ไม่มีประสบการณ์ภาพยนตร์มาก่อน จึงไม่มีใครไหนอยากออกทุนสร้าง กอปรกับช่วงนั้นเศรษฐกิจกำลังร่อแร่ ฟองสบู่ใกล้จะแตก วงการหนังไทยก็ซบเซา มีออกปีฉายละไม่ถึงสิบเรื่อง นายทุนที่ไหนจะอยากสนับสนุนผู้กำกับหน้าใหม่
โชคดีที่โปรดิวเซอร์ธีรนันท์ สุขวิบูลย์ พาไปแนะนำเจริญ เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารสตูดิโอ Five Star Production อ่านบทแล้วชื่นชอบ แต่ตอบปฏิเสธเพราะใช้เงินเยอะไปหลักสิบล้าน ต่อรองลดเหลือครึ่งหนึ่ง ๕-๖ ล้านจึงได้รับการอนุมัติ แล้วค่อยไปขอเงินสมทบจากบริษัทโฆษณาอื่นๆที่เคยร่วมงาน
ผมไม่สนใจพล็อตเท่าไหร่ ผมสนใจซับพล็อตมากกว่า แล้วผมไม่ต้องการให้คนดูรู้สึกไปกับตัวละคร ผมต้องการให้แค่สังเกตการณ์ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัวละคร ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึง low on drama แต่จะ high on idea แต่ละฉากจะเต็มไปด้วยไอเดีย เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ วิธีการนำเสนอเรื่อง ผมจะไม่ยัดเอาเหตุการณ์อะไรเข้าไปเพื่อให้เรื่องดำเนิน ฉากหนึ่งมันต้องดันอีกฉากหนึ่งไป
เกร็ด: ระหว่างเขียนบทตั้งชื่อหนังว่า คิดถึง เพราะทุกตัวละครมันคิดถึงกันหมด แต่โปรดิวเซอร์ธีรนันท์ สุขวิบูลย์ บอกว่าคงขายไม่ได้ เลยตั้งชื่อให้ใหม่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ส่วนภาษาอังกฤษ Fun Bar Karaoke เพื่อให้พ้องเสียง แต่ความหมายแตกต่างกันพอสมควร
ปู (เฟย์ อัศเวศน์) อาศัยอยู่กับบิดา (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) แทบทุกค่ำคืนฝันเห็นมารดาผู้ล่วงลับ กำลังสร้างบ้านโมเดลหลังเล็กๆ แถมยังเคยใช้ปืนยิงบิดาที่แอบเริงระบำกับหญิงอื่น เลยเดินทางไปหาหมอดู ทำนายทายทักว่าวันใดที่บ้านหลังนี้สร้างเสร็จ จักเป็นวันที่บิดาเสียชีวิต!
บิดาของปูเป็นคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด และชอบขับร้องคาราโอเกะ ทั้งยังแอบสานสัมพันธ์กับหยก (แชมเปญ เอ็กซ์) เมียน้อยของเสี่ยโต้ง (วีรดิษ วิญญรัตน์) เจ้าของร้านคาราโอเกะ ซึ่งเมื่อล่วงรับรู้ความสัมพันธ์ ส่งมือปืนน้อย (เรย์ แมคโดนัลด์) มาข่มขู่เอาชีวิต
น้อย เป็นชายหนุ่มขี้อาย เวลาว่างๆมักแวะเวียนมาเซเว่นของปั๋ม (ณัฐณิชา ครองลาภยศ) เพื่อพบเจอกับปู ทั้งคู่แอบมีใจให้กัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยรับรู้เบื้องหลังของกันและกัน จนกระทั่งบิดามิอาจหักห้ามใจตนเองกับหยก เสี่ยโต้งจึงสั่งน้อยให้ฆ่าปิดปาก พอดิบพอดีพบเจอกับปู … สุดท้ายแล้วบิดาจะสามารถเอาตัวรอดจากหายนะครั้งนี้ได้หรือไม่?
เฟย์ อัศเวศน์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๒) นักเขียน นางแบบ นักแสดงชาวไทย ลูกครึ่งเยอรมัน เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนสามคนของนายสุทัศน์ อัศเวศน์ กับนางเอวา อัศเวศน์ เจ้าหน้าที่สถาบัน Goethe ประจำประเทศไทย, ระหว่างเข้าศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับงานถ่ายแบบ นิตยสารแฟชั่น แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่ได้รับโอกาสจากเป็นเอกแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียว ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐)
รับบทปู ภายนอกเหมือนสาวแกร่ง ทำงานขยันขันแข็ง แต่ยามค่ำคืนหลับฝันเห็นมารดาผู้ล่วงลับ เดินทางไปให้หมอดูทำนายทายทัก เกิดความหวาดกลัวจะสูญเสียบิดา ยินยอมทิ้งการทิ้งงาน พยายามทำทุกสิ่งอย่าง (ตามคำแนะนำหมอดู) บริจาคโลงศพ ไข่ต้มแก้เคล็ด ฯ เพื่อปกปักษ์รักษา ห่วงโหยหา ไม่อยากมีชีวิตอยู่ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวจิตวิญญาณ
เหตุผลที่เป็นเอกตัดสินใจเลือกนักแสดงสมัครเล่น ไร้ประสบการณ์ด้านการแสดง (ยกเว้นเพียงไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) เพราะเงินทุนไม่มาก ไม่ค่อยรู้จักใคร (ไปอยู่เมืองนอกเสียนาน และเจ้าตัวไม่ชอบติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ที่บ้านไม่มีโทรทัศน์ด้วยซ้ำ) และวิธีทำงานต้องการความเป็นธรรมชาติ ตัวของตนเอง ไม่ใช่แสดงออกทางอารมณ์ ปรุงปั้นแต่งอย่างเว่อวังอลังการ
สัญชาตญาณล้วนๆ
เฟย์ อัศเวศน์
หนังของเป็นเอกนักแสดงมักมีปฏิกิริยาใบหน้านิ่งๆ เหมือนคนไม่รู้หนาวรู้ร้อน แต่เมื่อกอปรเข้ากับสถานการณ์วุ่นๆวายๆนั้น ผู้ชมราวกับสามารถสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร … ฟังดูละม้ายคล้ายแนวคิดของ Soviet Montage หรือ Kuleshov Effect ไม่จำเป็นต้องนักแสดงอาชีพ ก็สามารถเล่นหนังได้อย่างสมจริง
เฟย์น่าจะรับรู้ตัวเองว่าเล่นหนังได้ไม่ค่อยดีนัก หน้าตาก็ไม่ได้สวยนางฟ้า จึงไม่มีความกระตือรือล้นสานต่องานในวงการ ตอนขึ้นรับรางวัลสุพรรณหงส์ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ให้สัมภาษณ์กับสื่อ “เขาให้มาก็รับๆไป” เลยโดนโจมตีอย่างหนัก! หลังจากนั้นเวียนวนอยู่ในกองถ่าย (เห็นคบหาเป็นแฟนกันอยู่สักพักก่อนเลิกรา) หลังแต่งงาน มีบุตรสามคน ย้ายไปอยู่เยอรมัน “สังคมการเมืองไทยก็ส่วนหนึ่ง” ไม่นานมานี้เห็นแปลนวนิยาย เรื่องฝัน จากต้นฉบับภาษาเยอรมัน Traumnovelle (1926) ของ Arthur Schnitzler เคยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Eye Wide Shut (1999)
ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๕) นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องในพี่น้อง ๗ คน สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นนักร้องนำวง The Bless ก่อนออกผลงานเดี่ยวตามมาอีกหลายชุด ส่วนการแสดงมีทั้งละคอน ภาพยนตร์ ฝากฝันไว้เดี๋ยวจะเลี้ยวมาเอา (พ.ศ. ๒๕๓๕), ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เกิร์ลเฟรนด์ ๑๔ ใสกำลังเหมาะ (พ.ศ. ๒๕๔๕) ฯ
รับบทไพบูลย์ อมรวิวัฒน์ บิดาของปู หลังจากภรรยาเสียชีวิต แทบไม่เคยสนใจใยดีบุตรสาว เอาแต่ดื่มเหล้าเมามาย กลับบ้านดึกดื่นเพราะชื่นชอบขับร้องคาราโอเกะ ทั้งยังเป็นคนฝีปากกล้า วางมาดนักเลง แอบสานสัมพันธ์ชู้สาวกับหยก เลยถูกเสี่ยโต้งระรังควาญ สั่งลูกน้องกระทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส กลับดูไม่รู้สาสำนึกผิดใดๆ
ตอนนั้นปั่น-ไพบูลย์เกียรติ ยังไม่ได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการเพลง คนสมัยนั้นเลยอาจรับรู้จักจากบทบาทการแสดงมากกว่า โดยเฉพาะภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) เล่นเป็นบิดาไม่เอาอ่าว มักมาก ร่านโลกีย์ ไม่เคยสนใจใยดีบุตรสาว (แต่ก็มีฉากโชว์ลูกคอที่น่าประทับใจ) คนพรรค์นี้มักถูกสาปแช่งให้ถูกฆ่าตายไวๆ แต่อุปนิสัยคนไทยรักบุพการี บุตรสาวพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือบิดา คาดหวังว่าท้ายที่สุดจักได้รับบทเรียน ลดละเลิกดื่มเหล้า เที่ยวผับ บาร์ ขับร้องคาราโอเกะ!
ภาพลักษณ์ของปั่น-ไพบูลย์เกียรติ ตอนนั้นยังมีความหล่อ เฟี้ยวฟาว เหมือนเสี่ยเพลย์บอย วัยกำลังดีไม่แก่เกินแกง ส่วนการแสดงไม่ต่างจากเฟย์ ไม่ได้ต้องใช้ฝีไม้ลายมือด้านการแสดงอะไร เพียงเล่นเป็นตัวตนเอง ออกไปทางบันทึกวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันตัวละครเสียมากกว่า พบเห็นกระทำสิ่งโน่นนี่นั่น เกี้ยวพาราสีหญิงสาว ขึ้นเวทีขับร้องรำทำเพลง เลิฟซีนกับแชมเปญ เอ็กซ์ และถูกอัดน่วมโดยลูกน้องเสี่ยโต้ง นอกนั้นไม่อะไรให้กล่าวถึงสักเท่าไหร่
เรย์ แมคโดนัลด์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๐) นักแสดง พิธีกร ลูกครึ่งไทย-สก็อตแลนด์ เกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางไปเรียนมัธยมสหราชอาณาจักร ก่อนย้ายกลับมาเมืองไทย เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมยุวชนสมาคมธำรงไทยสโมสร และเป็นกับตันทีมชุดรองแชมป์โลก ๑๑ ปี ฟุตบอล GOTOOEA CUP ประเทศสวีเดน, จากนั้นรับงานถ่ายแบบ ขึ้นปกปกนิตยสาร a day ต่อด้วยพิธีกรรายการ Teen Talk แจ้งเกิดกับภาพยนตร์เรื่องแรก ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นๆ อาทิ รัก-ออกแบบไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๔๑), เฟค โกหกทั้งเพ (พ.ศ. ๒๕๔๖), หนีตามกาลิเลโอ (พ.ศ. ๒๕๕๒), นาคปรก (พ.ศ. ๒๕๕๒) ฯ
รับบทน้อย มือปืนรับจ้าง ลูกน้องเสี่ยโต้ง เป็นคนตั้งใจทำงาน ขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริด ร่ำเรียนภาษาอังกฤษ คาดหวังเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันแอบตกหลุมรักปู ชอบแวะเวียนมาร้านสะดวกซื้อเผื่อจะพบเจอเธอ พยายามพรอดรัก เกี้ยวพาราสี จนกระทั่งเสี่ยโต้งสั่งเก็บบิดาของปู ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป
แซว: รัก-ออกแบบไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ที่เข้าฉายปีถัดมา ตัวละครของเรย์ ก็วาดฝันเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ตอนจบส่งโปสการ์ดกลับมาให้นางเอก Déjà Vu เหมือนกันเปี๊ยบ!
เป็นข้อเรียกร้องของคุณเชน เจริญ เอี่ยมพึ่งพร (ผู้บริหาร Five Star Production) ต้องการบุคคลมีชื่อเสียงอย่างน้อยหนึ่งคน! แสดงความสนใจเรย์ แมคโดนัลด์ แม้ยังไม่เคยเล่นหนัง แต่ก็โด่งดังจากพิธีกรรายการโทรทัศน์ ทีแรกนึกว่าจะตอบปัดปฏิเสธ พอนัดพบเจอ พูดคุยถูกคอกับเป็นเอก ประมาณห้านาทีก็ตอบตกลงโดยพลัน
เรย์ตอนยังหนุ่มๆ ดูแตกต่างจากภาพจำยุคหลังๆ ละอ่อนวัย จิตใจร้อนรน ล๊อกแล๊กวอกแวก เหมือนคนยังไม่รู้ประสีประสา สายตาเต็มไปด้วยความคาดหวัง ชวนฝัน เด็ดขาดกับเป้าหมาย เหนียงอายกับหญิงสาว กล้ำกลืนกับการตัดสินใจ ถือเป็นภาพสะท้อนวัยรุ่นสมัยนั้นได้เลยกระมัง
ในบรรดาทีมนักแสดงทั้งหมดของหนัง ผมรู้สึกว่าเรย์ คือบุคคลเดียวที่ดูเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา ไม่ต้องพึ่งพาภาษาภาพยนตร์ในการแสดง เลยไม่น่าแปลกใจที่เขาจะกลายเป็นนักแสดงอาชีพ พูดน้อย ต่อยหนัก ชื่นชอบการผจญภัย
ถ่ายภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๑) สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ จากนั้นทำงานผู้ช่วยช่างภาพ บริษัท ซาลอนฟิล์ม ไทยแลนด์ จำกัด ก่อนย้ายมาเป็นโปรดิวเซอร์บริษัทโฆษณา J. Walter Thompson ลาออกไปฝึกงานที่ Hong Kong หวนกลับมาปักหลักเป็นช่างภาพ The Film Factory ร่วมงานขาประจำเป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ถ่ายทำโฆษณา มาจนถึงภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ
ด้วยความที่เป็นเอกมาจากสายโฆษณา แม้ความยาวไม่มากแต่ต้องใส่ใจรายละเอียดแทบทุกวินาที พอมาทำภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) จึงเกิดความมุ่งมั่น ทุ่มเท ต้องการทุกช็อตฉากผ่านการครุ่นคิด มีความสวยงาม จัดจ้านเทคนิคภาพยนตร์ … แต่พอนำมารวมกันมันจะเละๆสักหน่อย เพราะไม่เคยครุ่นคิดถึงภาพรวม ความต่อเนื่อง นั่นจักกลายบทเรียกสำหรับภาพยนตร์เรื่องถัดไป
สไตล์เป็นเอก โดดเด่นกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ จัดจ้านเทคนิคภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ในลักษณะเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน ล้วนมีความหลักแหลม เฉียบคมคาย … ความยียวนกวนประสาทพบเห็นในหนัง ตัวจริงของเป็นเอกก็แทบจะไม่แตกต่างกัน!
ผมรู้สึกประหลาดๆกับอัตราส่วนภาพ Anamorphic Widescreen (2.39:1) เพราะบางช็อตใบหน้านักแสดงหลุดกรอบ เหมือนถูกตัดขอบบน-ล่าง ไม่รู้คือความตั้งใจของเป็นเอก หรือเฉพาะฉบับ Remaster ทำเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง (ได้ยินว่ามีบูมไมโครโฟนหลุดเข้ามาในกล้องหลายฉาก การตัดภาพบนล่างช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยปริยาย)
อัตราส่วนภาพที่เปลี่ยนไปมีผลกระทบต่อหนังค่อนข้างมาก เพราะอัตราส่วนภาพ Anamorphic Widescreen (2.39:1) เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ไกลๆ (Extreme-Long Shot) แต่หนังเต็มไปด้วยช็อตระยะใกล้ (Close-Up) จับจ้องใบหน้า เก็บรายละเอียด และการกระทำ แถมยังเต็มไปด้วยฉากภายในเสียเยอะ สร้างความแออัด คับแคบ มองอะไรโดยรอบไม่ค่อยเห็น เสียอรรถรสในการรับชมอย่างมากๆ
ภาพแรกของหนัง บิดากำลังเริงระบำกับหญิงสาวชุดแดงสุดสวย แต่ทว่าเมื่อมารดาก้าวเข้ามาพบเห็น ยกปืนขึ้นจ่อยิง กระหน่ำซ้ำหลายนัด แสดงอาการหึงหวง เด็ดขาด ปฏิเสธยินยอมความ แม้นี่จะแค่เพียงความฝันของปู แต่มันสะท้อนความต้องการของเธอ อยากเข้มแข็งแกร่งเหมือนมารดา เพื่อจักสามารถควบคุมบิดาได้อยู่หมัด และหันมาสนใจบุตรสาวของตนเองบ้าง
ปล. ภาพซ้ายผมแคปจากฉบับ Remaster อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.39:1), ส่วนขวามือคือ DVD ของ The Legend Collection อัตราส่วน Widescreen (16:9) จะพบเห็นขอบล่างหายไปไม่น้อย มันช่างน่าหงุดหงิดใจไม่น้อย!


หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์เป็นเอก’ ชื่นชอบทำการล่อหลอก (misdirection) ให้หลงเข้าใจผิดๆ จากนั้นตบหัวแล้วลูบหลัง, อย่างฉากนี้สำหรับคนเพิ่งเริ่มรับชมหนัง ยังไม่รับรู้ความสัมพันธ์ หญิงสาวถอดเสื้อ-กางเกงให้ฝ่ายชาย ผู้ชมจะครุ่นคิดประมาณว่าสามี-ภรรยา? ชู้รัก? เกิดความกระอักกระอ่วนเล็กๆ ก่อนเปิดเผยตอนเขียนโน๊ตทิ้งไว้ว่าคือบุตรสาว ทำหน้าที่ดูแลบิดา(แทนมารดาผู้ล่วงลับ)

ตัวละครปู ได้แรงบันดาลใจจากพนักงานในบริษัทโฆษณาของเป็นเอก ผู้ช่วยฝ่ายโพสต์โปรดักชัน แต่ในหนังดูแล้วน่าจะแผนกแคสติ้ง ค้นหานักแสดงมากกว่า (แต่เธอไม่เคยแคสนักแสดงตรงตามสเป็กผู้กำกับสักครั้ง นี่สามารถเหมารวมเรื่องอื่นๆ อยากช่วยเหลือบิดากลับทำแต่สิ่งงมงายไร้สาระ ฯ) ส่วนโฆษณาเครื่องสำอางค์ ครีมทาหน้า น่าจะอ้างอิงถึงเฟย์ที่เคยเป็นนางแบบแป้งเค้กทาหน้า PIAS กระมังนะ!


ช่วงระหว่างพักกองถ่าย ปูยกหูโทรศัพท์ขึ้นมา ภาพตัดไปโทรศัพท์ที่บ้าน บิดากำลังเดินมารับ ร้อยทั้งร้อยผู้ชมย่อมครุ่นคิดว่าทั้งสองกำลังจะพูดคุยสนทนา แต่กลับกลายเป็นว่า ปูโทรจองร้านอาหาร บิดารับโทรศัพท์เพื่อนร่วมงาน นี่คือลีลาการล่อหลอก (misdirection) สไตล์เป็นเอก ให้เกิดความเข้าใจผิด และมันยังเคลือบแฝงนัยยะถึงความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ที่ปรับจูนสัญญาณ(โทรศัพท์)ไม่ตรงกัน


เพื่อนที่คุยโทรศัพท์กับบิดา ตอนที่วางหูเอ่ยคำว่า “สวัสดี” แต่ซับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Goodbye…” นี่เป็นการปักธงความตาย (Death Flag) เพราะวินาทีต่อจากนั้นลูกน้องเสี่ยโต้งสองคนพังประตูเข้ามา แช่ภาพหยุดนิ่งชั่วขณะ (Freeze Frame) แล้วชักปืนขึ้นมาจ่อ ก่อนปลิดชีพชู้รักเมีย(น้อย)เจ้านาย


ช่วงระหว่างที่ลูกน้องเสี่ยโต้งเข้ามาฉุดกระชากลากหยก มีการใช้ลูกเล่นที่หลายคนอาจเรียกติดปาก “Wong Kar-Wai Effect” จริงมันมีชื่อทางการ Step Printing หรือ Slow Shutter ถ่ายภาพด้วยอัตราเร็วต่ำ 6 fps (frame-per-second) แล้วเวลาฉายเครื่องฉาย 24 fps พยายามทำให้มันออกมาเป็น 6 fps ด้วยการพิมพ์ภาพเดิมซ้ำๆ
ถ่ายหนังด้วยอัตราเร็ว 6 fps = 1-2-3-4-5-6
นำมาฉาย 24 fps = 1-1-1-1-2-2-2-2-3-3-3-3-4-4-4-4-5-5-5-5-6-6-6-6
ผลลัพท์ของการทำเช่นนี้ เวลานำฟีล์มไปฉายจะได้ภาพหน่วงๆ แต่ลื่นไหล ให้ความรู้สึกคล้ายๆ ‘Time Lapse’ ซึ่งในบริบทนี้เป็นสร้างความสไตล์ลิสต์ให้กับการต่อสู้ ดูไม่เห็น แค่รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้นเอง
แซว: การต่อสู้ระหว่างหยกกับลูกน้องเสี่ยโต้ง จบลงด้วยการเตะผ่าหมาก (ตลอดซีนนี้มีการสร้างเสียงแหลมๆให้เหมือนลิงร้องเจี๊ยก และหลังถูกเตะมีฉายภาพต้นมะพร้าว) เพื่อเป็นการบอกใบ้หายนะทั้งหมดของหนัง มีต้นสาเหตุจากจ้าวโลกของบุรุษ

ตอนคุยโทรศัพท์ หรือขณะเกิดการต่อสู้ขัดขืนเล็กๆ ผมไม่เห็นว่าภายในห้องพักโรงแรมจะมีแสงสว่างลอดบานเกร็ดในลักษณะดูเหมือนซี่กรงขังแบบนี้ แต่หลังจากเพื่อนของพ่อยินยอมรับความพ่ายแพ้ ลักษณะแสง-เงาดังกล่าวเคลือบแฝงนัยยะไม่สามารถดิ้นหลบหนี ไร้หนทางออก กำลังจะถูกฆ่าตัดตอน

วินาทีที่ถูกฆาตกรรม ถ่ายภาพสะท้อนกระจกในกระปุ๊กเครื่องสำอางค์(ของหยก) ปิดมันลงมาพร้อมกับเสียงปืนดังลั่น! มันช่างเป็นความเป๊ะๆ พอดิบพอดี จริงๆจะเรียก ‘misdirection’ ก็ยังได้ (แค่ปิดกระปุ๊กเครื่องสำอางค์ กลับมีคนถูกยิงตาย) แต่ในบริบทนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีความละม้ายคล้ายคลึง และเคลือบแฝงนัยยะเสียชีวิตเพราะ(เครื่องสำอางค์)ผู้หญิง … ปิดกระปุ๊กเครื่องสำอางค์ = ปิดบัญชี (ศัพท์แสลงของพวกนักเลงเมืองไทย)

หนังไม่ได้อธิบายว่าเกมส์โชว์อะไร แต่มันคล้ายๆรายการเวทีทอง ช่วงคำปริศนา (แต่มันก็มีหลายรายการที่เล่นเกมส์ลักษณะนี้) ถ้าตอบถูกคำหนึ่ง มันจะมีคำซ้ำที่เป็นคำหลักของคำถามถัดไป … พิธีกรคือ ยงยุทธ ทองกองทุน, ส่วนแขกรับเชิญแหล่งข่าวหนึ่งบอกว่า เจนสุดา ปานโต แต่ในเครดิตขึ้นชื่อวัยรุ่นในเกมโชว์ สุธิดา ชูผล ใครหว่า??
แซว: หนึ่งในคำถามที่โชว์ความเป็นเอก อวัยวะใดอยู่ระหว่างเอวกับขา? ผมเชื่อว่าต้องมีคนตอบไอ้จ้อน จ้าวโลก (เพราะหนังชี้นำไอ้สิ่งนี้บ่อยเกิ้น) แต่คำตอบที่ถูกคือสะโพก?

ความฝันของปู (จัดแสงฟุ้งๆ เบลอๆ กล้องเคลื่อนเลื่อนอย่างโฉบเฉี่ยว ปรับโฟกัสเบลอ-ชัดอย่างเมามันส์) พบเห็นมารดากำลังก่อสร้างบ้านโมเดล (พื้นหลังปกคลุมด้วยความมืดมิด) เริ่มจากตั้งเสาคาน ครั้งถัดมาแปะติดผนังกำแพง ประตู หน้าต่าง โดยครั้งหลังๆปูเข้าไปมีส่วนร่วมกับมารดา และเมื่อก่อสร้างบ้านโมเดลแล้วเสร็จ พวกเขายังเข้าไปภายใน (ทาพื้นผนังสีขาวโพลน มองไปทางไหนดูส่องสว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า Minimalist) ชื่นชมความงดงาม รอการติดตั้งรูปภาพสุดท้าย
ยุคสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องยากจะทำการ ‘จิตวิเคราะห์’ ความฝัน บ้านโมเดลคือสัญลักษณ์แทนครอบครัว ที่ปูต้องการอยู่ร่วมพร้อมหน้า แต่เพราะมารดาไม่อยู่ บิดาเลยร่าเริง เที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา เอากับคนอื่นไปทั่ว หาเรื่องใส่ตัว เมื่อบ้านในฝันหลังนี้สร้างเสร็จ บิดาคงได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัย สูญเสียชีวิตในโลกความจริง!





เมื่อปูตื่นขึ้นจากความฝันทีไร มักพบเห็นแหวกว่าย ลอยคออยู่ในสระน้ำ สัญลักษณ์ของชีวิตล่องลอยเคว้งคว้าง ดำเนินไปไร้จุดหมาย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง … อ้างอิงถึงภาพยนตร์ The Graduate (1967)

เซเว่น อีเลฟเว่น (Seven Eleven) เป็นร้านสะดวกซื้อที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศไทย (เพิ่งมีครบ ๑,๐๐๐ สาขาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑) ซึ่งสามารถสื่อถึงเศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน แต่ผมเชื่อว่าตอนนั้นยังไม่มีใครตระหนักว่าเซเว่นจักกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์/จิตวิญญาณประเทศไทย คนสมัยนี้แทบขาดไม่ได้ จะเป็นจะตาย พบเจอแทบทุกแห่งหน ต่างชาติยังชื่นชม ตกตะลึง อันดับหนึ่ง ไม่เหมือนใครในโลก
ขณะเดียวกันเซเว่น อีเลฟเว่น ยังเป็นสัญลักษณ์ของนายทุน (ไม่ต่างจากพวกนักเลง มาเฟีย เสี่ยโต้) กำลังกลืนกินร้านค้าปลีก โชว์ห่วย คนธรรมดาหรือจะสู้พวกเงินหนา … ตัวเลขเศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน แต่คนระดับรากหญ้ากลับยากจนลงทุกขณะ

ครั้งแรกที่บิดาพบเห็นหยก ราวกับพบเจอนางฟ้า เริ่มจากก้าวย่างเดินสโลโมชั่น ถ่ายภาพทรวดทรงองค์เอว ไฮไลท์คือช็อตนี้สะท้อนกระจกหลายบาน มองมุมไหนก็งาม ก่อนเดินเข้ามาจุดบุหรี่ ยั่วหยอกเย้าให้อยากแล้วจากไป หลงเหลือเพียงความประทับใจแรกพบ จดจำไม่รู้ลืมเลือน … ทำเอาหมดอารมณ์กับสาวๆที่อยู่รายล้อมรอบ
มันก็น่าเสียดายที่บทบาทของแชมเปญ เอ็กซ์ มีแค่เพียง Sex Symbol, วัตถุทางเพศ (Object of Desire) ขายความสวย เซ็กซี่ อีโรติก เข้ามายั่วราคะนักแสดง/ผู้ชม ไม่มีตื่นลึกหนาบางอะไรไปมากกว่านั้น … ผมแอบครุ่นคิดว่าบทดั้งเดิม 300 หน้าของเป็นเอก น่าจะมีอธิบายเบื้องหลังตัวละคร เคยทำอะไร? มาจากไหน? เป็นเมียน้อยเสี่ยโต้งได้ยังไง?

ระหว่างที่บิดาขึ้นโรงแรมร่วมรักกับหญิงสาว มีการตัดสลับแทบจะช็อตต่อช็อตกับภาพความฝัน(ของปู) มารดากำลังใช้คัทเตอร์กรีดกระดาษ ตระเตรียมไว้สำหรับสร้างบ้าน การกระทำของเธอนี้อาจไม่มีอารมณ์ใดๆเคลือบแอบแฝง แต่ทว่า ‘Kuleshov Effect’ ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเกรี้ยวกราด(ของมารดา)ในการกรีดกระดาษ และรู้สึกหวาดเสียว(แทนบิดา)ที่จะถูกกรีด … อันนี้ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่าจะสามารถเปรียบเทียบ จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกลแค่ไหน
แซว: ตอนจบของ Sex Scene ส่วนใหญ่คงมองว่าบิดาถึงจุดไคลน์แม็กซ์ น้ำแตกแยกทาง แต่ผมค่อนข้างเอะใจจากสีหน้า เสียงครวญครางที่ดังกึกก้องทั่วตึก มันเหมือนความเจ็บปวดเกิดจากอารมณ์หมด (ก่อนหน้านี้เพิ่งเจอนางฟ้า เลยห่อละเหี่ยวกับผู้หญิงธรรมดา) กระเจี๋ยวหัก (อันนี้อาจเฉพาะผู้ชายที่สามารถเข้าใจความเจ็บปวดดังกล่าว)


ไม่ต้องบอกก็รับรู้ได้ว่าไม่มีเงินทุน! เลยแค่เคลื่อนเลื่อนกล้องมายังใต้ท้องรถ พบเห็นน้ำหยด ว่ากันตามตรงผมไม่รู้มันคืออะไร? ท่อแตก น้ำมันรั่ว สายเบรคขาด? แค่เข้าใจว่ามันมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับรถของบิดา ระหว่างฉายภาพความฝันได้ยินเสียงโครมคราม ตูมตาม ขึ้นกับจินตนาการผู้ชมว่าบังเกิดอุบัติเหตุอะไร จากนั้นตัดมาเช้าวันใหม่ ปูจับจ้องมองบิดาในภาพเปียกปอน เกรอะกรัง ไม่รู้ตกคูคลอง โคลนเลน แหวกว่ายน้ำที่ไหนมา
อุบัติเหตุครั้งนี้ของบิดา ในทางวิทยาศาสตร์ก็คือดื่มเหล้า ขับรถ สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว, แต่สำหรับคนเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ จักเข้าใจว่าเกิดจากคำสาปแช่งมารดาในความฝัน ร่วมรักกับหญิงอื่นถือเป็นการคบชู้นอกใจ กระทำผิดศีล ต้องได้รับผลกรรมติดตามทัน


ตั้งแต่ที่บิดาประสบอุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้จิตใจของปูไม่อยู่กับร่องกับรอย กับเนื้อกับตัว หัวหน้าพยายามพูดแนะนำ กลับเหม่อล่องลอย ไม่ได้ยิน ไม่สนใจรับฟัง หรืออย่างการประชุมครั้งนี้ เสร็จสิ้นนานแล้วแต่เธอยังนั่งจุ้มปุ๊กอยู่ในห้อง โทรทัศน์ไร้สัญญาณ จูนไม่ติด ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ระบายอารมณ์อัดอั้นกับใคร

เจ๊คนนี้สันดานไทยแท้! ทำตัวลับๆล่อๆระหว่างปูสนทนาออกรสกับปั๋ม เหมือนตั้งใจจะขโมยเบียร์กิน แต่พอพวกเธอทั้งสองพูดคุยเรื่องเวรเรื่องกรรม เจ๊แกอดรนทนไม่ไหวจำต้องเข้ามาเสนอหน้า (เสือก) พูดแนะนำให้ไปทำบุญโลงศพ ของพรรค์นี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ … เลยถูกทวงค่าเบียร์โดยปริยาย

ตอนรับชมผมไม่ได้ครุ่นคิดอะไรหรอกนะ ถูกฆ่าระหว่างปลดทุกข์มันก็ทุกข์ดี แต่เพิ่งสังเกตว่ามันกำแพงปูนรึเปล่า กับปืนพกมันสามารถยิงทะลุผนังได้จริงๆหรือ? แล้วมันไม่ใช่ว่าห้องของเป้าหมายควรอยู่ฝั่งซ้ายมือ? (น้อยอยู่ห้องขวาสุด แต่เป้าหมายอยู่ห้องกลาง) ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ
เกร็ด: ในวิกิพีเดีย เขียนถึงข้อผิดพลาดในภาพยนตร์ มีบูมไมโครโฟนหลุดเข้ามาในฉากนี้ แต่ทว่าผมพยายามจับจ้องกลับไม่พบเห็นอะไร อาจเพราะฉบับ Remaster ตัดขอบบนล่างทิ้ง แก้ปัญหาดังกล่าวโดยปริยาย

เมื่อตอนบิดาถูกลูกน้องเสี่ยโต้งอัดน่วม มีการย้อนรอยตอนต้นเรื่องที่ใช้เทคนิค Step Printing (หรือ Slow Shutter) แต่คราวนี้ถ่ายด้วยอัตราเร็วสูงกว่า มันจึงไม่ค่อยมีความหน่วง เพียงกล้องส่ายไปส่ายมา ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สัมผัสถึงความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วง เจ็บตัวด้วยเรื่องไร้สาระ … คลอประกอบบทเพลงพระจันทร์วันนี้ Yokee Playboy รักหรือไม่รัก โดนต่อยแต่ละหมัดมันช่างเจ็บปวดปางตาย
* ในคืนนี้ฉันมีพระจันทร์เป็นใจ
มีดาวเป็นร้อยแต่ไม่มีเธอเคียงกาย
สะพานรักฉันทำให้เธอดวงใจ
สะพานรักฉันทำให้เธอไม่คลายในความฝันฉันมีแค่เธอคนเดียว
คือเธอเท่านั้นที่เจอในทางอันยาวไกล
หยุดหมดหยุดแล้วทุกแนวหยุดรักที่มากมาย
หยุดหมดหยุดหมดหยุดรักที่มากมาย** รักหรือไม่รัก รักหรือไม่รัก
รักหรือไม่รัก รักหรือไม่รัก( * , ** )
ลองหาหนทางนำฉันไป
หลับยิ้มพริ้มพรายให้กับฝันร้าย
ทางที่เลือกเดินอาจสายฉันไม่สน
วันที่หนทางยังแสนไกล
ทางเดินต้องเจอคนอีกมากมาย
ฝากความคิดลอยประปรายไปกับใคร ใครสักคน( ** , ** )

อาการบาดเจ็บสาหัสของบิดา ทำให้ปูยินยอมทำตามคำแนะนำหมอดู ซื้อไข่มาต้ม ปอกเปลือก ลูบวนใบหน้า (กล้องก็เคลื่อนเลื่อนจากซ้ายไปขวาอยู่หลายรอบ) ค่ำคืนนี้จำต้องนั่งเฝ้า ไม่ให้ใครมาหยิบกิน ตามสไตล์เป็นเอก ล่อหลอกผู้ชมด้วยการให้ปูมีธุระด่วน ขึ้นมอไซด์ออกไปนอกบ้าน แล้วบิดามาจากไหนไม่รู้ สภาพหิวโซ กระตือรือล้นที่จะแดกไข่ ลุ้นแทบตาย จู่ๆเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า (นี่ถือเป็นอีกลายเซ็นต์เป็นเอกเลยก็ว่าได้นะ! ต้องมีโทรศัพท์ดังขึ้นขัดจังหวะ) จนครั้งสุดท้ายช่างแม้ง กรูจะแดก … ตบมุกด้วยการปลุกตื่น ฟื้นขึ้นมา คุณหลอกดาว!

ผมไม่ค่อยแน่ใจฉากนี้สักเท่าไหร่ ปูนั่งอยู่บนเตียงนอนเฉยๆ ปล่อยให้วันคืนเคลื่อนพานผ่าน? หรือแค่เปิดๆปิดๆไฟดับ ไม่รู้จะทำอะไรยังไงกับบิดา? แต่สิ่งน่าสนใจคือสัญญาณโทรทัศน์ ที่จู่ๆเหมือนจูนติดรายการอะไรสักอย่าง ซึ่งสามารถสื่อถึงอาการบาดเจ็บครั้งนี้ของบิดา จักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง(ที่คาดไม่ถึง)ขึ้นมาเล็กๆ

วันดีคืนดีราวกับผีเข้า บิดาพูดบอกกับบุตรสาวจะโชว์เสน่ห์ปลายจวัก ลุกขึ้นมาทำอาหาร มันช่างพอดิบพอดีขณะที่ปูกำลังให้อาหารปลาทองในตู้ (บิดาทำอาหารให้ปู = ปูให้อาหารปลาทอง, เช่นนั้นแล้ว ปู=ปลาทอง) … ผลลัพท์ก็เป็นอย่างที่ทุกคนคาดคิดไว้ แต่หลังจากนั้นเขาเริ่มทำการศึกษา อ่านหนังสือ ลองผิดลองถูก จนทำอาหารที่สามารถกินได้ในที่สุด!

ปูอาสาขับรถพาน้อยไปส่งเดาะมอลล์ เอาจริงๆซีนนี้มันไม่มีอะไรเลย ทั้งสองแค่นั่งอยู่บนรถ กินลมชมวิว แต่พอใส่เพลงน้อยก็หนึ่ง กลายเป็นแอบรัก โรแมนติกขึ้นมาโดยพลัน … นี่คือหนึ่งในลายเซ็นต์เป็นเอก ชื่นชอบการถ่ายภายในรถยนต์ สถานที่สำหรับคนสอง พูดคุย ตกหลุมรัก ทิวทัศน์เคลื่อนพานผ่าน
ซึ่งระหว่างการเดินทาง มีแทรกภาพตึกระฟ้ากำลังก่อร่างสร้าง อาจเปรียบได้ดั่งความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มเบ่งบาน … สิ่งที่เป็นเอกต้องการนำเสนอซีนนี้ นอกจากความสัมพันธ์หนุ่ม-สาว ยังคือการแสดงความรักต่อกรุงเทพฯ


หลายครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปูตื่นขึ้นจากฝัน มันจะมีการหมุนกล้อง 90 องศาบ้าง 180 องศาบ้าง (ไม่ใช่องศาเป๊ะๆ แต่เพียงพอให้เห็นทิศทางเปลี่ยนแปลงไป) เพื่อสื่อถึงโลกความจริงที่แตกต่างจากความฝัน
ซึ่งขณะนี้บ้านโมเดลในความฝันสร้างเสร็จแล้ว แต่มารดาบอกว่ายังขาดรูปภาพหนึ่ง จากนั้นปูถูกปลุกตื่นจากเสียงอะไรสักอย่างแตก ก่อนค้นพบว่าบิดาทำรูปที่มารดาเคยถ่ายไว้หลังแต่งงานตกลงพื้น … ความสำคัญของภาพนี้ คือสัญลักษณ์แทนการแต่งงาน ซึ่งการทำตกแตกย่อมสื่อถึงจุดจบ แตกหัก ในบริบทของหนังคือตายจากกันไป


น้อยแวะเวียนมาเซเว่น มอบของขวัญแว่นกันแดดให้กับปู แต่ทว่ากลับติดขาแว่นสลับด้าน ดึงไม่ออกเพราะใช้กาวตราช้าง! ผมมองนัยยะของขาแว่นคนละข้าง สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งสองที่ดูแล้วไม่น่าจะมีโอกาสครองคู่อยู่ร่วม คนหนึ่งคือมือปืนวาดฝันไปอเมริกา อีกคนหนึ่งเป็นบุตรของเป้าหมาย(ที่กำลังจะถูกสั่งฆ่า)ไม่เคยคิดจะเดินทางไปไหน … แต่แม้ทั้งสองมีความแตกต่างตรงกันข้าม แว่นอันนี้คือของขวัญที่มีค่าทางใจมากกว่าเอาไว้ใช้สวมใส่

ด้วยงบประมาณที่จำกัด ถ้าต้องให้เลือกภาพๆเดียวเป็นตัวแทนกรุงเทพฯ มันก็คือช็อตนี้แหละ ไม่ต้องไปร้อยเรียงชุดภาพถ่าย ‘City Symphony’ ให้มันยุ่งยากวุ่นวาย แต่อาจมีแค่คนไทย(ในกรุงเทพฯ)สามารถเข้าใจโดยอัตโนมัติ ฝนตกรถติด เมื่อตอน พ.ศ. ๒๔๔๐ เลวร้ายเช่นไร ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๗ ก็ยังคงบัดซบเช่นนั้น ไม่ว่าผู้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ก็มิอาจเอาชนะปัญหาโลกแตก

เพราะฝนตกรถติดหนัก บิดาจึงอดใจไม่ไหวแวะเวียนเข้าร้านคาราโอเกะ (แต่เขาอาจจะปวดฉี่เลยตั้งใจแค่แวะเข้าห้องน้ำ ก็ได้เหมือนกัน!) บังเอิ้ญพบเจอหยกออกจากห้องน้ำ เพิ่งพี้ยาเสร็จเลยเกิดความอารมณ์บ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง ถาโถมเข้าใส่ โอบกอดจุมพิต จะเอากันตรงตู้ขายน้ำอัดลม มันคงซู่ซ่าไม่เบา
แต่ทว่าในร้านคาราโอเกะ เสี่ยโต้งกับลูกน้อง (หนึ่งในนั้นมีสาวชุดแดงที่เริงระบำในความฝันต้นเรื่องด้วยนะ) กำลังขับร้องคาราโอเกะ เย้ยฟ้าท้าดิน! สังเกตว่าห้องแห่งนี้ทาผนังสีแดง ตรงกันข้ามตอนบิดาพูดคุยกับหยก พบเห็นแสงไฟสีน้ำเงินสาดส่องจากด้านหลัง … สองสีตรงกันข้าม แสดงถึงความขัดแย้ง นำสู่การต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย



หนังนำเสนอคู่ขนาน ตัดสลับแทบจะช็อตต่อช็อต ระหว่างมารดาชี้นิ้วบอกให้ปูขยับเคลื่อนภาพวาดติดฝาผนัง พร้อมกับบิดาถูกลูกน้องเสี่ยโต้งรุมต่อยเตะ เตือนแล้วไม่ฟัง ยังมายุ่งวุ่นวายกับเมียน้อยกรู! … คล้ายๆกับตอนมารดากรีดกระดาษสร้างบ้าน การชี้นิ้วของเธอในครั้งนี้ราวกับเป็นการออกคำสั่งให้ลูกน้องเสี่ยโต้งเตะต่อยสามี คนนอกใจภรรยาต้องถูกลงโทษให้สาสม


วินาทีสุดท้ายในความฝัน มารดากอดกันกลมกับบุตรสาว จากนั้นได้ยินเสียงฟ้าร้อง พบเห็นแสงฟ้าแลบ ภาพแขวนไว้ตกหล่นแตก ปลุกตื่นปู (ล้อกับตอนบิดาทำภาพหล่นแตกในชีวิตจริง คราวนี้ภาพหล่นแตกในความฝัน) บังเกิดลางสังหรณ์ว่าบิดากำลังประสบเหตุอะไรบางอย่าง?
แซว: ไม่ใช่ว่าฝนตกรถโคตรติด แต่เหตุไฉนปูสามารถขับรถไปหาบิดาอย่างทันท่วงที? หรือมันเตะต่อยกันนานหลายชั่วโมงจนฝนหยุดตก?

เพื่อผลักดันเรื่องราวไปให้ถึงจุดสูงสุด เป็นเอกเลยขอทิ้งท้ายด้วยรถระเบิดตูมตาม ให้ทุกสิ่งอย่างมอดไหม้ในกองเพลง แต่มันจะมีช็อตโคตรเท่ห์ ‘Cross-Cutting’ เปลวไฟกับใบหน้าของปู โดยปกติแล้วภาพลักษณะนี้มักสื่อถึงจิตวิญญาณมอดไหม้ แต่ผมกลับรู้สึกเหมือนเธอดีใจที่ทุกสิ่งอย่างกำลังจะจบสิ้นลง
ภาพถ่ายของมารดาที่บิดานำไปใส่กรอบรูปใหม่ ถูกแผดเผาวอดวายในกองเพลิง นี่อาจถือเป็นจุดสิ้นสุดคำสาปแช่ง (ที่มารดาอาจทิ้งเอาไว้) เพราะหลังจากนี้ปูไม่เคยฝันถึงอีก! ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงตัณหาของบิดา ดังคำกล่าวของปั๋ม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ละเลิกเหล้า ไม่เอาแล้วผับ บาร์ คาราโอเกะ (แต่มันอาจเพราะกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกก็ได้นะ) เขาจึงไม่ประสบเหตุเลวร้าย ทั้งยังมีเวลาหลงเหลือโทรศัพท์มาอวยพรวันเกิดบุตรสาวปีถัดไป


ตัดต่อโดย Adrian Brady และหม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๕๐๖) พระธิดาคนโตของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำเป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), คืนบาปพรหมพิราม (พ.ศ. ๒๕๔๖), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ
การดำเนินเรื่องของหนังมีลักษณะกระโดดไปกระโดดมา เอาตามอารมณ์ผู้สร้าง! ตัดสลับไปมาระหว่างปู, น้อย, บิดา และหลายครั้งคราแทรกภาพความฝัน (ปูฝันเห็นมารดากำลังสร้างบ้านโมเดล) ที่มักเป็นการบอกใบ้อนาคต กำลังจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น
- ปูฝันถึงมารดา
- ในความฝัน, บิดากำลังเริงระบำกับหญิงสาวสวย มารดาจึงเอาปืนมาจ่อยิง
- ปูตื่นเช้าขึ้นมา จัดแจงพาบิดาเข้านอน ก่อนออกไปทำงาน
- บิดาคุยโทรศัพท์กับเพื่อน อีกฝ่ายอวดอ้างถึงคู่นอนหยก วางสายไม่นานถูกมือปืนน้อยเข้ามาปลิดชีพ
- ปูฉลองวันเกิดตัวคนเดียว จากนั้นนอนหลับฝันถึงมารดากำลังเริ่มก่อสร้างบ้านโมเดล
- ที่ร้านสะดวกซื้อ น้อยพยายามเกี้ยวพาราสีปั๋ม แต่ดันตกหลุมรักแรกพบปู
- หมอดู/บิดาของปั๋ม ทำนายทายทักความฝันของปู
- ณ ร้านคาราโอเกะ บิดาแรกพบเจอหยก ตกตะลึงในความงดงาม
- ค่ำคืนนั้นบิดาเปิดโรงแรมร่วมรักกับสาวบริการ ตัดสลับภาพความฝันมารดากำลังก่อสร้างบ้านโมเดล
- ระหว่างทางกลับบ้าน บิดาประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ ซมซามกลับมาบ้าน
- ต่อชีวิตบิดา
- ไอ้น้อยนั่งนับเงิน ฝึกภาษาอังกฤษ วาดฝันอยากเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา
- ปูไปทำงาน แต่จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
- บิดาขับร้องคาราโอเกะ เกี้ยวพาหยก พบเห็นโดยเสี่ยโต้ง
- ที่ร้านสะดวกซื้อ ป้าคนหนึ่งแนะนำให้ปูบริจาคโลงศพ ช่วยต่อชีวิตบิดา
- ปูเดินทางไปบริจาคโลงศพ
- หมอดูให้คำแนะนำวิธีการล้างซวย
- บิดาถูกลูกน้องเสี่ยโต้งอัดน่วม แต่ยังได้รับโอกาสไว้ชีวิต
- โอกาสสองของบิดา
- ปูทำพิธีล้างซวย ด้วยการต้มไข่ ปอกเปลือก เอามาลูบไล้ใบหน้า ก่อนผลอยหลับแล้วตื่นขึ้นมา
- ปูเป็นลมล้มพับในร้านสะดวกซื้อ ปั๋มจึงแนะนำให้ไปท่องเที่ยวพักผ่อน คลายความตึงเครียด
- เมื่ออาการบาดเจ็บของบิดาดีขึ้น จึงเริ่มให้ความสนใจบุตรสาว ทำกับข้าวกับปลา
- แต่ทว่าปูยังคงฝันถึงมารดา สร้างบ้านโมเดลใกล้เสร็จ
- ปูขับรถไปส่งน้อย แม้ไม่ได้พูดคุยอะไรกัน แต่มีความโรแมนติกยิ่งนัก
- บทเรียนครั้งสำคัญของชีวิต
- ในความฝัน มารดาสร้างโมเดลบ้านเสร็จแล้ว แต่ยังขาดรูปภาพหนึ่ง
- ระหว่างทางกลับบ้านรถติดหนัก บิดาจึงแวะเข้าร้านคาราโอเกะประจำ
- พบเจอกับหยกตรงทางออกห้องน้ำ ไม่สามารถควบคุมตนเองถาโถมเข้าใจ
- เสี่ยโต้งออกมาพบเห็น สั่งลูกน้องจัดการขั้นเด็ดขาด
- ภาพวาดดังกล่าวปรากฎขึ้นในความฝัน ทำเอาปูสะดุ้งตื่น ดึกดื่นพ่อไม่กลับบ้าน เดินทางไปร้านคาราโอเกะ เผชิญหน้ากับน้อย
- ปัจฉิมบท, ปูทำงานร้านสะดวกซื้อ คุยโทรศัพท์กับบิดา และได้รับโปสการ์ดจากน้อยส่งมาจากสหรัฐอเมริกา
แม้ลีลาการตัดต่อจะสลับมุมมองตัวละครไปมา แต่แกนหลักของหนังนั้นเป็นเส้นตรง ดำเนินเรื่องราวไปข้างหน้า (แต่ก็มีฉาพภาพย้อนอดีตอยู่ครั้งสองครั้ง) ถ้าเรารับรู้พื้นฐานข้อนี้ จักช่วยให้เกิดความเข้าใจหนังง่ายขึ้น … ลีลาตัดต่ออาจไม่ถึงระดับ 8½ (1963) แต่ถือว่าเป็นเอกรับอิทธิพลมาไม่น้อย
เพลงประกอบโดย ไพศาล จำนง และ อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ
ในส่วนของเพลงบรรเลง (Soundtrack) มักถูกใช้เติมเต็มช่องว่าง แทนความรู้สึกตัวละคร ไม่ได้จำเป็นว่าต้องมีท่วงทำนองติดหู เอาตามอารมณ์กู ‘สไตล์เป็นเอก’ แค่สามารถสร้างบรรยากาศ และมีความยียวนกวนประสาท … แต่หลายๆบทเพลงตั้งแต่ท่วงทำนอง Waltz, ความฝันถึงมารดา หรือขณะปูล่องลอยคอบนสระน้ำ ล้วนมีกลิ่นอายความเหงา ห่วงโหยหา ครุ่นคิดถึงบิดา
ในส่วนของเพลงขับร้อง คัทลอกมาจากเครดิตหนังเลยแล้วก็กัน แทบทั้งหมดมีลักษณะเป็น ‘diegetic music’ พบเห็นขับร้อง ดังจากวิทยุ โดยเนื้อร้องมักมีลักษณะตรงกันข้ามกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเสียส่วนใหญ่ แต่ถ้ามันสอดคล้องกัน จะต้องรู้สึกเหมือนเป็นการเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน มีความยียวนกวนประสาท(ตามสไตล์เป็นเอก)สอดแทรกอยู่
- คิดถึง: คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล, ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน, ขับร้อง ไพบูลย์ เกียรติเขียวแก้ว
- บิดาขับร้องในร้านคาราโอเกะ คิดถึงเมียจ๋า แต่กลับกำลังจะพยายามเกี้ยวพาราสีหยก
- พระจันทร์วันนี้: คำร้อง/ทำนอง ปิยะ ศาสตราวาหา, ขับร้องและบรรเลง โยคีเพลย์บอย
- ระหว่างที่บิดาถูกลูกน้องเสี่ยโต้งอัดจนน่วม เพราะดันไปยุ่งกับเมียน้อยหยก พระจันทร์วันนี้ช่างงดงามยิ่งนัก
- My Baby Just Cares For Me: คำร้อง/ทำนอง Walter Donaldson & Gus Kahn, ขับร้องโดย Nina Simone
- ความสุขเล็กๆระหว่างบิดากับบุตรสาว ล้างรถ ทำกับข้าว ดูรูปถ่ายเก่าๆ ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันมานานทีเดียว
- น้อยก็หนึ่ง: คำร้อง/ทำนอง/ขับร้อง อารักษ์ อาภากาศ
- บทเพลงระหว่างปูกับน้อยขับรถกินลมชมวิว ความรักของพวกเขาช่างบริสุทธิ์ แต่เบื้องหลังของทั้งสองมันช่าง !#$%^
- และ Closing Credit
- กัด: คำร้อง โจอี้ บอย & บอย โกสิยพงษ์, ทำนอง สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ & บอย โกสิยพงษ์, ขับร้อง โจอี้ บอย
- ฝนตกรถติด บิดาเปิดวิทยุฟัง จส. ๑๐๐
- เย้ยฟ้า ท้าดิน: คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร, ทำนอง มงคล อมาตยกุล, ขับร้อง วีรดิษ
- เสี่ยโต้ร้องเพลงในร้านคาราโอเกะ ก่อนออกไปพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ มันช่างเย้ยฟ้าท้าดินยิ่งนัก!
ผมเลือกเพลงน้อยก็หนึ่งที่น่าจะถือเป็น ‘Main Theme’ หลักของหนัง ซึ่งเป็นเอกพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวความรักปู-น้อย แทรกคั่นด้วยภาพท้องถนน ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ในลักษณะเปรียบเทียบ เพื่อให้ดูเหมือนการแสดงความรัก/จดหมายรักต่อเมืองกรุงฯ … เหตุผลที่ตัวละครเรย์ชื่อน้อย ก็อาจเพราะต้องการเชื่อมโยงกับบทเพลงนี้กระมัง
น้อยก็หนึ่ง น้อยก็ด้วยหัวใจบริสุทธิ์
วันคืนเปลี่ยนหมุนไปอย่างน่าสนใจ
ฉันเพียงให้หัวใจแสนบริสุทธิ์คุณก็หนึ่งเขาก็ใช่
อยู่ร่วมกันร่วมใจเสริมส่ง
วันคืนเปลี่ยนหมุนไปอย่างน่าสนใจ
ทุกคนให้หัวใจแสนบริสุทธิ์ความรักโปรยปราย
กายและใจเธอและฉันใฝ่ปอง (ฮา)
ความรักโปรยปราย
คลายทุกข์กาย คลายทุกข์ใจถ่ายถอน (ฮา)
ความรักมีจริง ความรักเป็นจริง
ฮือ ฮือ ฮื้อ ฮือ ฮือ น้อยก็ยอมน้อยก็หนึ่ง น้อยก็ด้วยหัวใจบริสุทธิ์
วันคืนเปลี่ยนหมุนไปอย่างน่าสนใจ
ฉันเพียงให้หัวใจแสนบริสุทธิ์แต่คุณก็หนึ่งเขาก็ใช่
อยู่ร่วมกันร่วมใจเสริมส่ง
วันคืนเปลี่ยนหมุนไปอย่างน่าสนใจ (ฮา)
ทุกคนให้หัวใจแสนบริสุทธิ์ความรักโปรยปราย
กายและใจเธอและฉันใฝ่ปอง (ฮา)
ความรักโปรยปราย
คลายทุกข์กาย คลายทุกข์ใจถ่ายถอน (ฮา)
ความรักมีจริง ความรักเป็นจริง
ฮือ ฮือ ฮื้อ ฮือ ฮือ น้อยก็ยอมความรักมีจริงจริง
เก็บเก็บคำรักจริงใจของฉัน
เก็บไว้นานนาน
ช่วยเก็บเอาไว้นานนาน
เก็บไว้นานนาน (ฮา)
แซว: ถ้าข่าวซุบซิบเป็นจริง ซีเควนซ์นี้ยังคือการแสดงความรักของเป็นเอกให้กับแฟนสาวขณะนั้น (เฟย์) ได้ด้วยเช่นกัน โรแมนติกไม่เบา ❤️
ความฝันของปูเกี่ยวกับมารดาสร้างบ้าน ให้หมอดูทำนายทายทัก บอกว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย นี่แสดงให้เห็นถึงวิถีของคนไทย เชื่อคนง่าย ลุ่มหลงงมงาย ใครว่าอะไรเกี่ยวกับศาสนา ไสยศาสตร์ เรื่องเหนือธรรมชาติ มักครุ่นคิดว่าจริงเสมอ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ต่อให้เพื่อนสนิทอย่างปั๋ม (ซึ่งเป็นลูกของหมอดู รับรู้ความปลิ้นปล้อนหลอกลวงของบิดา) พยายามพูดเตือนสติ แสดงความคิดเห็นที่สามารถพิสูจน์ จับต้องได้ กลับไม่เคยเปิดใจรับฟัง … ผู้ชมสมัยนั้นก็อาจคล้ายๆปู “เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา” แต่คนรู้ใหม่เชื่อว่าคงขบขำกลิ้ง แม้งใช่ โดนใจ คนใกล้ตัวเป็นแบบนี้มากมาย
การที่ปูฝันถึงมารดาผู้ล่วงลับ อธิบายง่ายๆก็คือครุ่นคิดถึง คำนึงหา แต่จิตวิเคราะห์กลับบอกว่าห่วงโหยหาบิดา เรียกร้องความสนใจ อยากให้เขาเอาใจใส่ตนเองบ้าง ไม่ใช่ประพฤติตัวแหลกเหลว เอาแต่เที่ยวเล่น ดื่มด่ำสังสรรค์ ตามผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ กลัวจะบังเกิดเหตุการณ์เลวร้าย … นี่ก็สะท้อนวิถีคนไทย มีชีวิตอย่างพึ่งพาอาศัย ต่อให้สมาชิกในครอบครัว(เหมารวมบุพการีและลูกหลาน)ทำตัวเลวร้าย ก็จักร่วมหัวจมท้าย มิอาจปล่อยปละทอดทิ้ง ได้รับการปลูกฝังความกตัญญูกตเวทิตา
ภาพลักษณ์ของน้อย (เรย์ แมคโดนัลด์) คือลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง อันนี้เป็นเอกเล่าเองว่าพ่อมันอาจเป็นทหารจีไอ ได้เมียคนไทย เสร็จภารกิจก็กลับประเทศ ไม่เคยพบเจอหน้าบุตรชาย จึงครุ่นคิดอยากเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ติดตามหาบิดา แต่มันต้องใช้เงินมหาศาล เลยทำงานมือปืนรับจ้าง ลูกน้องเสี่ยโต้ง กระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง เก็บหอมรอมริด ฝึกฝนภาษาอังกฤษ สักวันย่อมสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน
แซว: ผมลองค้นคำว่า ทหาร G.I. เจอสารพัดคำเต็มที่ไม่เหมือนกันเลย Galvanized Iron (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ กองทัพอเมริกันใช้เหล็กชุบสังกะสีผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ภาคสนาม โดยมีการประทับตัวอักษร G.I. ไว้บนอุปกรณ์เหล่านั้น), Greatest Generation, Government Issued, Government Infantry, Gunnery Instructor ฯ เอาว่ามันคือศัพท์สแลง คำเรียกขานทหารอเมริกันเท่านั้นเอง
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าคนไทยยุคนั้น ‘คลั่งอเมริกัน’ มากน้อยแค่ไหน แต่พวกชนชั้นสูง คนมีฐานะ ต่างส่งลูกหลานไปเรียนต่อเมืองนอก เพราะเชื่อว่าการศึกษาดีกว่า อะไรๆเพรียบพร้อมกว่า จบกลับมากลายเป็นเจ้าคนนายคน ได้รับหน้าถือตา ยกระดับสถานะทางสังคม
จะว่าไปตัวละครนี้ก็ถือเป็นตัวตายตัวแทนเป็นเอกตั้งแต่เด็กคงมีความเพ้อใฝ่ฝัน (แต่เขาไม่ใช่ลูกจีไอนะครับ) เติบโตขึ้นเดินทางไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้มีโอกาสเปิดมุมมองโลกกว้าง ค้นพบความชื่นชอบภาพยนตร์ ก่อนหวนกลับมาประเทศไทย กลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกยุคสมัยคลื่นลูกใหม่
แม้ตอนออกฉายจะตรงกับช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ทว่าตอนที่เป็นเอกเริ่มต้นพัฒนาบทหนัง ยังอยู่ในช่วงฟองสบู่กำลังอวบๆ บวมๆ (ยังไม่ถึงจุดแตกโพล๊ะ) สังเกตจากพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อของบิดา ร่ำรวยจากการเล่นหุ้น เลิกงานเมื่อไหร่แทนที่จะกลับบ้าน แวะเวียนไปยังร้านคาราโอเกะ (ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้น) ดื่มด่ำ สังสรรค์ จับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ สุรุ่ยสุร่าย เงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง
อีกสิ่งที่หนังสะท้อนเมืองกรุงฯยุคสมัยนั้น คือความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่ต่างจาก(หนัง)อันธพาลครองเมือง ตั้งแต่เบื้องสูง นักการเมือง เสี่ยบนดิน-ใต้ดิน ล้วนอวดเบ่งบารมี (เพราะมี)คนใหญ่คนโตหนุนหลัง เปิดซ่อง เปิดบ่อน เปิดร้านคาราโอเกะ ตามหลักเศรษฐศาสตร์มี Demand ย่อมมี Supply แถมคนพวกนี้พร้อมปะ-ฉะ-ดะ โดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง (เพราะตำรวจแม้งก็ซื้อได้)
ความตั้งใจของเป็นเอกต้องการให้หนังมีลักษณะคล้ายๆ Manhattan (1979) ของ Woody Allen (หนึ่งในหนังโปรดของเป็นเอก) จดหมายรักถึงกรุงเทพฯ “Bangkok Love Letter” แม้ได้รับเสียงวิพากย์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำภายใน เต็มไปด้วยภาพระยะใกล้ (Close-Up) พอมีทิวทัศน์ภายนอก (ที่สามารถเป็น ‘City Symphony’) แค่เพียงประปราย
แต่ถึงไม่ค่อยมีภาพทิวทัศน์ภายนอก (ที่เป็น City Symphony) สิ่งที่เป็นเอกพยายามนำเสนอออกมานั้นคือวิถีไทย หรือจิตวิญญาณคนไทย นั่นคือสิ่งที่ฝรั่งมังค่า/คนไม่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย ย่อมมิอาจสัมผัสรับรู้ พบเห็นแค่เพียงเปลือกภายนอก มีแต่คนไทยรับชมแล้วอมยิ้ม หัวเราะร่า ดูจบแล้วบังเกิดความภาคภูมิใจ นี่คือคลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin สายรอง Forum Section (ไม่มีการประกวดใดๆ) ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่เป็นเอกกลับรู้สึกอับอาย ไม่ค่อยพึงพอใจกับผลงานนี้สักเท่าไหร่
เวลาไป(ตามเทศกาลหนัง)ก็ต้องไปนั่งดูกับคนดูใช่ไหม ดูทีไรแม้งก็จะมีแต่ความเจ็บปวด รู้สึกอายๆด้วย แบบเหี้ยเอ้ย ดูแล้วมันดูโชว์ออฟ มันดูหวือหวา ดูแบบเหมือนคนแต่งตัวจัด แต่ไม่ค่อยมีอะไรในสมองเท่าไหร่
เป็นเอก รัตนเรือง
พอเข้าฉายในไทย แม้ได้รับคำชื่นชมถึงวิธีการเล่าเรื่องอันแยบยล สไตล์แปลกใหม่ แต่ก็มีตำหนิถึงความไม่กลมกล่อม ดูยาก ท้าทาย ผลลัพท์เลยไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับ … แต่ยังสามารถคว้าสุพรรณหงส์มาสามรางวัล
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ่ายให้กับ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง
- ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว)
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เรย์ แมคโดนัลด์) **คว้ารางวัล
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฟย์ อัศเวศน์) **คว้ารางวัล
- นักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม (แชมเปญ เอ็กซ์)
- นักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม (ณัฐนิชา ครองลาภยศ)
- ลำดับภาพยอดเยี่ยม **คว้ารางวัล
และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ หนังเรื่องได้รับคัดเลือกโดยหอภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๙
คนที่รับชมหนังต่างประเทศมาเยอะ อาจรับรู้ว่า ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ เต็มไปด้วยความ Cliché ผสมผสานคลุกเคล้ายังไม่ลงตัวสักเท่าไหร่ แต่ผมอยากมีโอกาสทันดูหนังตอนเข้าฉายโรงภาพยนตร์เสียเหลือเกิน สมัยนั้นคงจะรู้สึกเฟี้ยวฟ้าว ตื่นตาตื่นใจ เท่ห์ชิบหาย มีผู้สร้างหนังไทยกล้าพอจะทำอะไรบ้าๆบอๆแบบนี้
ไม่รู้ทำไมผมรับชมหนังเรื่องนี้แล้วเกิดความภาคภูมิใจมากเป็นพิเศษ ทั้งๆที่มันไม่มีอะไรปลุกใจรักชาติ แต่อาจเพราะความบ้าๆบอๆที่เป็นเอกได้ใส่ตัวตนเองและจิตวิญญาณความเป็นคนไทยลงไป สามารถสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สาระอาจไม่ค่อยมี ตัวหนังยังไม่กลมกล่อม แต่ความบันเทิงจัดเต็มร้อย ด่าไอ้เxยเป็นเอก ผมว่าพี่แกก็น่าจะรู้สึกยินดีใจ
จัดเรต ๑๓+ กับผับ บ้า คาราโอเกะ
Leave a Reply