ช่างมันฉันไม่แคร์

ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙) หนังไทย : หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ♥♥♥♡

ช่างมันฉันไม่แคร์ เป็นคำตัดพ้อรำพันของ สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) และ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ต่อชายคนรักที่นิสัยเปลี่ยนแปลง และสภาพสังคมไทยหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แค่เพียงกว่าสิบปี อะไรๆกลับมีแต่เลวร้ายเสื่อมทรามลง ทอดถอนลมหายใจ ปลงอย่างอ่อนแรง หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติท้องทุ่งนา ไขว่คว้าหาความสงบสุขทางใจเสียยังดีกว่า

ก่อนที่ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล จะมุ่งสู่วิถีความเป็นไทยดั้งเดิมแบบปัจจุบัน ยุคแรกๆของท่านในวงการภาพยนตร์ เด่นชัดเลยว่ามีความลุ่มหลงใหล รับอิทธิพลวัฒนธรรมจาก Hollywood ยุโรป รวมถึงเอเชีย จีน ญี่ปุ่น น่าจะคือผู้กำกับยุค Post-Modern คนแรกๆของเมืองไทย แทบทุกอย่างสามารถอ้างอิงจาก ‘ภาพยนตร์’ เรื่องเก่าก่อนทั้งหมดทั้งสิ้น

ภาพยนตร์ลำดับที่สอง ช่างมันฉันไม่แคร์ โดดเด่นมากด้านการแสดงของ สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) เกือบๆทรงพลังเทียบเท่า Meryl Streep เรื่อง Sophie’s Choice (1982) ขณะที่ไดเรคชั่น พบเห็นอิทธิพลจาก Cabaret (1972) [ป้าโหน่ง วสันต์ อุตตมะโยธิน คล้ายคลึงมากๆทีเดียวกับบทพิธีกรของ Joel Grey], All That Jazz (1979), เพลงประกอบแปลไทย Somewhere Over the Rainbow จาก The Wizard of Oz (1939) ฯ

การใช้ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นปมพื้นหลัง Trauma ให้กับตัวละคร เอาจริงๆผมว่าสัมผัสความเหี้ยมโหดร้ายทารุณของเหตุการณ์ ยังห่างชั้นกับเหตุการณ์ Holocaust สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารนาซีกระทำต่อชาวยิวอยู่หลายนรกขุม แต่คงเพราะนั่นเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปสำหรับคนไทย แบบหนังเรื่องนี้น่าจะอินกว่า (หรือเปล่า?) โชคยังดีไม่จบโศกนาฎกรรมแบบ Sophie’s Choice (1982) นำเสนอหนทางออกสำหรับผู้เหน็ดเหนื่อยหน่ายปัญหาการเมือง แต่ถึงหนีไปไกลสุดปลายขอบฟ้าก็มิอาจหลบพ้นหรอกนะ กระนั้นความสงบสุขมันก็มีอยู่ได้ภายในจิตใจเรา

หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๖) นิยมเรียกว่า หม่อมน้อย (ที่ถูกจริงๆคือ คุณน้อย) ผู้กำกับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวที ทั้งยังสอนวิชากำกับการแสดงในระดับสากล เกิดที่กรุงเทพฯ สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งแต่ยังเล็กชื่นชอบการวาดภาพ/การ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เติบโตขึ้นสนใจประวัติศาสตร์ ปรัชญา ตรรกะ วรรณกรรม การวาดภาพแปรสภาพมาเป็น Story Board จินตนาการออกมาเป็นฉากๆ ท่านพ่อ-แม่ ชื่อชอบรับชมภาพยนตร์ จึงพาไปโรงหนังเฉลิมเขตต์, เฉลิมไทย, เฉลิมกรุง อยู่เป็นประจำ

“จะเรียกว่าผมจบจากสถาบันที่สอนภาพยนตร์ก็ไม่เชิง แต่ผมลาออกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาศิลปะการละคร ตอนเรียนปี ๔ ตอนนั้นราวๆ พ.ศ. ๒๕๒๐ เพราะระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ ๓ ผมออกมาทำหนังกับคุณยุทธนา มุกดาสนิท ตอนนั้นยอมรับว่าติดลมมาก ทำต่อจากเรื่อง ฝนเสน่หา ก็จะมีเรื่อง ชีวิตบัดซบ ผมก็ไปเขียนบท ไปแคสติ้งให้เขามันก็เลยใจแตก ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี”

กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก เพลิงพิศวาส (พ.ศ. ๒๕๒๗) แจ้งเกิด สินจัย หงษ์ไทย คว้ารางวัล ตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม กรุยทางสดใสให้กับผลงานถัดมา พัฒนาบทขึ้นด้วยตนเอง

“ช่างมันฉันไม่แคร์นั้นผมคิดเอง ด้วยสำนึกของประเทศชาติและการเมือง สำนึกของประชาธิปไตย แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ หลังจากที่ทำเรื่องเพลิงพิศวาสมาในยุคที่สังคมบ้านเรา วงการโฆษณาเพิ่งเกิด วัฒนธรรมการบริโภคเริ่มมาสู่บ้านเรามากยิ่งขึ้น ทุกคนกลายเป็นขายสินค้า หนังโฆษณาก็นำเอาเทคนิคที่ดีงามของภาพยนตร์มาใช้ในเชิงขายของ เพื่อนๆและพี่ๆหลายคนที่เก่งๆ ก็ไปเก่งในวงการโฆษณา ซึ่งหลายๆท่านเป็นปัญญาชนคนฉลาดที่เก่งมาก แต่กลับทุ่มชีวิตของตัวเองให้กับวัฒนธรรมการบริโภค”

เรื่องราวของ พิม (สินจัย หงษ์ไทย) นักทำโฆษณามือทอง พบเจอว่าจ้าง เบิร์ด (ลิขิต เอกมงคล) แมงดาขายตัว (ตอนแรกยังไม่รู้ว่าทำอาชีพนี้) ให้มาเป็นนายแบบโฆษณากางเกงในยี่ห้อหนึ่ง ด้วยความซื่อๆเปิ่นๆบ้านนอกคอกนา แค่นี้ถือว่าโชคดีหนักหนา สามารถนำเงินไปแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มากโขทีเดียว ผิดกับ พิม แม้มีชีวิตที่ภายนอกเลิศหรูหราสุขสบาย แต่จิตใจกลับปั่นป่วนพลุกพล่านทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะชายคนรัก คมสัน (สหัสชัย ชุมรุม) ที่เคยช่วยเหลือชีวิตเธอไว้เมื่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พาไปเสียตัวยังเกาะเสม็ด (เสร็จทุกราย) หลังกลับจากไปเรียนต่อนอก เปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคนจนยินยอมรับไม่ได้ พยายามปฏิเสธขัดขืนแต่ผู้หญิงตัวเล็กๆหรือจะสามารถทำอะไร กระทั่งเมื่อความจริงของ สมหวัง (ชื่อจริงของ เบิร์ด) ได้รับการเปิดโปง (จากคมสัน นี่แหละ) เธอจึงต้องเลือกใครคนหนึ่ง ระหว่างความสุขสบายกายหรือรื่นเริงรมณ์ทางใจ

สินจัย เปล่งพานิช นามสกุลเดิม หงษ์ไทย (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๘) นักแสดงหญิงมากฝีมือชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ หลังเรียนจบมัธยมต้นจากโรงเรียนศรีอยุธยา เริ่มเข้าวงการปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ตำแหน่งนางสงกรานต์ช่อง ๕ ตามด้วย Miss Young International เข้ารอบ ๑๕ คน, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก สายสวาทยังไม่สิ้น (พ.ศ. ๒๕๒๕), ประกบ Chow Yun-fat เรื่องกตัญญูประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๒๖), มีชื่อเสียงโด่งดังจาก นวลฉวี (พ.ศ. ๒๕๒๘) และ เพลิงพิศวาส (พ.ศ. ๒๕๒๗) คว้ารางวัลพระราชทาน พระสุรัสวดี สองสาขานำหญิง-สมทบหญิง ในปีเดียวกัน, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. ๒๕๒๙), พลอยทะเล (พ.ศ. ๒๕๓๐), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๑), มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ. ๒๕๓๗), อันดากับฟ้าใส (พ.ศ. ๒๕๔๐), รักแห่งสยาม (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฯ

รับบท พิม หญิงสาวที่มีความ Active สูงมากๆ ทำงานโฆษณาด้วยความละเอียดอ่อน ทุกซอกมุม ให้สมบูรณ์แบบที่สุด นั่นคงเพราะต้องการหลงลืมบางสิ่งอย่างจากอดีต (๖ ตุลา) ไม่ให้มีเวลาครุ่นคิดระลึกถึง รวมถึงแฟนหนุ่มขณะนั้นที่พยายามใช้อำนาจบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ เกลี้ยกล่อมให้แต่งงานครองรักกับตนเอง กระทั่งเมื่อมีโอกาสพบเจอ เบิร์ด/สมหวัง แม้ภายนอกจะดูพึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ตราตรึงกับความซื่อบริสุทธิ์จากใจ เปิดเผยเรื่องราวความทรงจำอันเลวร้ายจากอดีต และยินยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นทุกสิ่งอย่าง

สิ่งแรกที่ต้องชมก่อนเลยคือภาพลักษณ์ เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ สาวรุ่นใหม่ เปรี้ยวจัดจ้าน รสนิยมหรู ดูดีมีระดับ เป็นตัวแทนของผู้หญิงทำงาน แถมความคิดอ่านยังถือว่าหัวก้าวหน้า Feminist ผู้หญิงมีสิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชาย ไม่ยินยอมก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการ หรือถูกใครครอบงำจูงจมูกชี้ชักนำทาง

ถ้าปีก่อนหน้า พี่นกไม่กวาดรางวัลตุ๊กตาทอง ทั้งนำหญิง-สมทบหญิง เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าพลาดแน่ ใช้พลังในการแสดงสูงมักทั้งการเคลื่อนไหว สีหน้าสายตา และหลายครั้งเป็น Long Take เรียกว่าจงใจขายฝีมือล้วนๆ, มีสองฉากที่ถือเป็นไฮไลท์ ตอนเปิดเผยเรื่องราวความทรงจำจากอดีต โคลงเคลงไปมาด้วยสุรา และตอนจบหยาดฝนแทนคราบน้ำตา ไม่ต้องมีคำพูดใดๆมาแทนความรู้สึกจากภายใน

ลิขิต เอกมงคล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๑) ชื่อเล่น แด็กซ์ เกิดที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โตขึ้นพ่อแม่ส่งมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งใจสอบตำรวจแต่พลาดเพราะตาบอดสี เลยหันไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ทันจบได้เข้าวงการเสียก่อน เริ่มจากละคร จดหมายจากเมืองไทย (พ.ศ. ๒๕๒๕) ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล แม้บทบาทไม่มากแต่ได้รับการทาบทามเป็นหนุ่มแพรว กลายเป็นนางแบบ ภาพยนตร์เรื่องแรก ปล.ผมรักคุณ (พ.ศ. ๒๕๒๗), เพลิงพิศวาส (พ.ศ. ๒๕๒๗), นางนวล (พ.ศ. ๒๕๓๐), ฉันผู้ชาย (นะยะ) (พ.ศ. ๒๕๓๑), ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๓๑), ครั้งเดียวก็เกินพอ (พ.ศ. ๒๕๓๑), กลกามแห่งความรัก (พ.ศ. ๒๕๓๒), ขยี้ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ฯ

รับบท สมหวัง หนุ่มบ้านนอกคอกนา เข้ามาแสวงหาโชคในเมืองหลวง เพราะความหล่อเหลาหุ่นดี เลยตัดสินใจเป็นจิ๊กกะโล่ ผู้ชายขายตัว เรียกตนเองว่า เบิร์ด เพ้อฝันอยากโบยบินเป็นอิสระเสรี, วันหนึ่งพบเจอได้รับโอกาสจาก พิม กลายเป็นนายแบบโฆษณากางเกงใน ตกหลุมรักเธอแต่กลับทำตัวป้ำๆเป๋อๆ ไม่รู้จักสูงต่ำเหมาะสม แต่ด้วยความซื่อบริสุทธิ์จากใจ ร้องไห้เคล้าน้ำเมาขอคืนดี เห็นแบบนี้ใครกันจะไม่ใจอ่อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งแอบด้อมๆอยู่นอกบ้าน ได้ยินเสียงคนรักตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ บุกเข้าไปต่อสู้ทำร้าย คมสัน เลยได้รับทราบเบื้องหลังชีวิต เกิดจิตครุ่นคิดให้การช่วยเหลือ และต้องตัดสินใจว่าจะยังรับงานเป็นแมงดาต่อไปอีกหรือเปล่า

อุว่ะ! เป็นการแสดงที่ชวนให้เบือนหน้าหนีเสียเหลือเกิน กับความอ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้ ตรงข้ามกับรูปร่างกล้ามเนื้อกำยำล้ำบึกบึน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะที่ใครจะสามารถเล่นบทบาทลักษณะนี้ได้ ยากยิ่งเสียกว่าการวางมาดเท่ห์ หล่อเก็ก หรือลูกผู้ชายอกสามศอกเป็นไหนๆ, สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดๆคือ การไม่ยินยอมให้ใครดูถูกเหมือนหมูหมาด่าควาย ศักดิ์ศรีความเป็นคน ฆ่าได้หยามไม่ได้

สหัสชัย ชุมรุม ชื่อเล่น ต๊อบ นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่หน้าตาหล่อเหลา มาดเข้มดุดัน ได้รับคำชักชวนจากหม่อมน้อย รับบทนำ ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙), ดีแตก (พ.ศ. ๒๕๓๐), ไปๆมาๆ ไม่ได้อยู่ยงในวงการสักเท่าไหร่

รับบท คมสัน จากเคยเป็นหนุ่มหล่อนิสัยดี ใครๆต่างลุ่มหลงใหลหมายปอง แต่เมื่อเหตุการณ์ ๖ ตุลา ตัดสินใจครองคู่ร่วมชีวิตกับ พิม หลังจากนั้นไปเรียนจบนอกกลับมาเป็นนักธุรกิจ ชัดเจนว่ามีความลุ่มหลงใหลในเงินทอง ทรัพย์สมบัติ มองหญิงสาวเป็นดั่งสิ่งของชิ้นหนึ่ง ออดอ้อนวอนพยายามเกลี้ยกล่อมครอบงำชักจูง แต่กลับยิ่งถูกผลักไสถีบส่งออกห่าง เก็บเอาความคับข้องเคียดแค้น ต้องการพิสูจน์ให้เธอรู้ว่า ฉันนี่แหละคือบุคคลผู้ดีพร้อมสมบูรณ์ทุกสิ่งอย่าง

ใส่สูทผูกไทด์ หวีผมเรียบแปล้ ราวกับหลุดมาจากเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ปาน แถมพฤติกรรมสันดานก็ชัดเจนว่า ข้าต้องได้ครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว แค่ภาพลักษณ์ก็กินขาด สีหน้าสายตาตอนเคียดแค้น แม้งตัวร้ายสุดๆเลย

วสันต์ อุตตมะโยธิน (เกิด พ.ศ. ๒๔๙๘) ชื่อเล่น โหน่ง นักแสดงชาวไทย เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดง เทพธิดาบาร์ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑), ฉันผู้ชาย (นะยะ) (พ.ศ. ๒๕๓๐) ฯ

รับบท … เจ้าของบาร์ Rainbow จับผู้ชายมาขายตัว ธุรกิจกำลังไปได้ดี เพราะสมหวังเป็นผู้สร้างบารมี ด้วยเหตุนี้จึงพยายามกีดกันไม่ให้เขาเลิกร้างลา แต่สุดท้ายก็ทำใจได้ เพราะพระเอกหนังยังไงก็ต้องไป ขอพี่ได้ไหมกลับมาเมื่อต้องการเงิน

แม้บทบาทนี้จะ Stereotype เจ้าของบาร์มักเป็นกระเทย แต่คุณป้ายังสวยเช้ง! เวลานึกถึงนักแสดงเพศที่ ๓ แห่งเมืองไทย วสันต์ อุตตมะโยธิน ต้องเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับการยกย่องกล่าวถึง พบเห็นบ่อยในสื่อโทรทัศน์ แถมปัจจุบันนี้เมื่อโลกเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ เรื่องการดูถูกเหยียดหยามคงน้อยลงมาก โอกาสการงานก็ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

ถ่ายภาพโดย พิพัฒน์ พยัคฆะ ตากล้องขาประจำของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผลงานเด่น อาทิ ด้วยเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๐), บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. ๒๕๓๑), ส.อ.ว.ห้อง ๒ รุ่น ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ผลงานอื่นๆ อาทิ ฉันผู้ชายนะยะ (พ.ศ. ๒๕๓๐), ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. ๒๕๒๙), ข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๕๔๔), ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ

งานภาพโดดเด่นมากๆกับ Long Take ด้วยกล้อง Hand-Held จึงสามารถเคลื่อนติดตามตัวละครเดินไปมาได้อย่างไม่มีสะดุด หลายฉากเจ๋งมากๆ อาทิ
– ต้นเรื่อง แนะนำการทำงานของพิม เดินเวียนวนไปมาผ่านห้องทำงานต่างๆ แสดงถึงความวุ่นวายแต่รอบจัดจ้าน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่งมากๆ
– ร้านมิ่งหลี (ด้านข้างมหาวิทยาลัยศิลปากร) เมื่อหงา คาราวาน ดีดกีตาร์เริ่มขับร้องเพลง ดอกไม้ให้คุณ กล้องเคลื่อนติดตาม สมหวัง ลุกขึ้นเดินไปนั่งเหงาอีกโต๊ะหนึ่ง สะท้อนความแตกต่าง เป็นคนนอก แบ่งแยกปัญญาชน-รากหญ้า
– การค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจนถึงระดับ Close-Up ระหว่างพิม กำลังเล่าความทรงจำจากอดีต (พร้อมเสียง Sound Effect เสียงปืนที่ลอยผ่านเข้ามา)

หนึ่งในลายเซ็นต์ของหม่อมน้อย คือต้องมีการขายเรือนร่างอันเซ็กซี่ของบุรุษ ตั้งแต่ช็อตแรกๆ กล้องเคลื่อนลงมาพบเห็น สมหวัง นอนเปลือยเปล่า ก่อนหยุดลงตำแหน่งที่…, ส่วนฉากเลิฟซีนของ พิม-คมสัน สังเกตว่ามันฝืนๆสักหน่อย ค้างจูบแบบว่าผู้หญิงไม่ค่อยยินยอมนัก ตรงกันข้ามกับตอน พิม-สมหวัง ณ ทุ่งนานอน อ่อนนุ่มนวลละมุ่นไม หวานซึ้งโรแมนติกเสียจริง

หลายๆสถานที่ถ่ายทำของหนัง เลือกสถาปัตยกรรมทรงยุโรป อาทิ
– วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร, อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน เสร็จสิ้น พ.ศ. ๒๔๑๑๙ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม Gothic เลียนแบบโบสถ์ศาสนาคริสต์
– ตึกแถวของร้านมิ่งหลี ด้วยสถาปัตยกรรม Neo-Classic สร้างขึ้นปลายรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๒

ช็อตสวยสุดของหนัง สมหวัง เดินเลียบหาดมานั่งใต้สะพาน กล้องเคลื่อนไปด้านข้างแล้วค่อยๆซูมเข้าที่ใบหน้าของ พิม ท้องทะเลสีคราม มันช่างงดงามเสียเหลือเกิน, พิม ถาม สมหวัง ถ้าเลือกได้อยากเป็นอะไร คำตอบแบบบ้านๆ นายกรัฐมนตรี ฟังดูก็รู้เต็มไปด้วยความเพ้อฝันหวาน พูดสิ่งที่เป็นนามธรรมแบบสุดๆ

ลำดับภาพโดย ปิยกุล เลาวรรณศิริ, เล่าผ่านมุมมองของ พิม และ สมหวัง สลับไปมา เริ่มจากช็อตต่อช็อต ฉากต่อฉาก จนในที่สุดก็ได้อยู่ร่วมชายคา กลายเป็นของกันและกัน

ครั้งหนึ่งเดียวที่เป็นการเล่าย้อนอดีต Flashback ผ่านมุมมองของ พิม ถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ใช้โทนสีน้ำตาลเก่าๆ (มั้งนะ มองไม่ค่อยชัดเท่าไหร่) จะมีเพียงเสียงปืนที่ดังขึ้น ภาพความวุ่นวายสับสนอลม่าน และเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากคมสัน ลอยเรือกันไปถึงเกาะเสม็ด ช่างมีความเงียบสงัด ไร้แม้เสียงสายลมพัด ถือว่าเป็นความทรงจำที่ไม่อยากหวนระลึกถึง แต่ตราตรึงไม่เคยหลงลืมเลือน

ฝั่งสมหวัง ก็มีเหมือนกัน แต่จะมีลักษณะเหมือน Flash เฉยๆ ภาพ-เสียงอันหลอกหลอน ปรากฎแลบแปลบขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง เมื่อตอนขอลาออกจากทำงานเป็นแมงดา ออกวิ่งด้วยอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวอุรา กึกก้องไปด้วยความรู้สึกผิดของตนเอง

ว่าไปก็หลายครั้งทีเดียวที่หนังตัด Sound Effect ออกหมด แล้วใช้คำพูดบรรยาย หรือบทเพลงแทนทำนองอารมณ์ อาทิ
– ถ่ายทำโฆษณา ฝรั่งไม่เห็นจะพูดอะไรสักประโยค!
– ความทรงจำของพิม ไร้ซุ่มเสียงใดๆ
– ฉากจบ เมื่อ พิม พูดบอกรับได้กับ สมหวัง อะไรอื่นช่างมันฉันไม่แคร์

ดนตรีประกอบ สุรชัย จันทิมาธร หรือที่ใครๆรู้จัก หงา คาราวาน อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา น้าหงาและพรรคพวกบางส่วนได้หลบหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยตนเองทำหน้าที่คอยให้ความบันเทิง ขับร้องเพลง ตั้งชื่อว่า สหายพันตา เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง จึงได้เดินทางออกจากป่า

งานเพลงมีความหลากหลายท่วงทำนองและโทนอารมณ์ ขึ้นอยู่กับช่วงขณะเหตุการณ์นั้น อาทิ
– กำลังถ่ายทำโฆษณา ใช้กีตาร์ไฟฟ้า กับจังหวะกลอง สร้างความวุ่นๆอลม่าน นี่มันงานบ้าบอคอแตกอะไรก็ไม่รู้
– ขณะที่ตัวโฆษณาเอง ใช้กีตาร์ดีดรัวๆ ช้าๆ ราวกับภาพสโลโมชั่น และกรับแทนกลอง ร่ำแม่ไม้มวยไทย
– ฉากในบาร์ Rainbow จัดดนตรี Disco
– การแสดงของหนุ่มๆแมงดา อารมณ์ประมาณชนเผ่าชาวเกาะพื้นเมือง
– สมหวัง นำพา พิม เปิดหูเปิดตา เที่ยววัด ท้องนา เสียงขลุ่ยลอยมา โรแมนติกเสียเหลือเกิน
– ไอ้หวังตายแน่, ศรเพชร ศรสุพรรณ ดังขึ้นสองครั้งบนรถแท็กซี่ นี่กระมังเหตุผลตั้งชื่อพระเอก สมหวัง
ฯลฯ

Opening Credit เริ่มต้นด้วยเสียงแซกโซโฟน บทเพลงช่างมันฉันไม่แคร์ เอ่อล้นด้วยอารมณ์โดดเดี่ยว อ้างว้าง ล่องลอย สร้างโทนบรรยากาศให้กับหนังได้อย่างทรงพลัง, น่าเสียดายหาฉบับแซกโซโฟนมาให้ฟังไม่ได้ ก็เอาบทเพลงเต็มๆไปฟังเลยแล้วกัน

สุดขอบสายรุ้ง แปลคำร้องจากบทเพลง Somewhere Over The Rainbow โดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ขับร้องโดย สินจัย หงษ์ไทย, นี่เป็นบทเพลงรำพึงพันโหยหา ถึงดินแดนอันอยู่สุดปลายขอบฟ้า ด้านหลังสายรุ้งงาม มันคงมีความอร่ามสุขี สามารถทอดทิ้งทุกข์โศกเศร้าหมองชีวี เริ่มต้นใหม่ยังสถานที่ ไร้ซึ่งความรวดร้าวรานตราฝังใจ

ว่าไปอารมณ์ ช่างมันฉันไม่แคร์ ก็ถือได้ว่าคือ สุดขอบสายรุ้ง เหมือนกันนะ เพราะไม่สนละทิ้งแล้วกับสิ่งรวดร้าวทุกข์ทรมาน ความสุขแท้สำราญ จึงปรากฎขึ้นภายในจิตใจ

งานโฆษณา ในทัศนคติของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล เปรียบเสมือนการขายฝัน หลอกลวงชาวบ้าน หลักฐานบ่งชี้ชัดถึงยุคสมัยทุนนิยม ที่ได้พยายามเข้าครอบงำ ฉกฉวย คว้าโอกาส แสวงหากำไร ปะปนเปหลบซ่อนอยู่ในเนื้องานศิลปะ เรียกได้ว่าถูกจุนเจือไปด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ แถมยังชักดึงเอายอดฝีมือ(ทางด้านการสร้างสรรค์) นำเงินมาล่อ ก็พากันเข้าห้องหอ ทั้งๆที่สมองก็ปัญญาชน แต่ทำตนไม่ต่างอะไรกับแมงดา หรือคำตัวละครเรียกว่า ‘กระหรี่ทางปัญญา’

อาชีพการงานของพิม ถือได้ว่าสะท้อนยุคสมัยหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ผู้คนเริ่มละทิ้งอุดมการณ์ทางความคิด สติปัญญา หันมาลุ่มหลงใหลในเงินทอง ทาสสิ่งของล้ำค่า ชื่อเสียงความสำเร็จ เปลี่ยนแปลงไปมาจากอดีตโดยสิ้นเชิง

คมสัน ก็เช่นกัน ชายผู้เคยเปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ ความเป็นลูกผู้ชายตัวจริง แต่เมื่อไปเรียนต่อนอก รับอิทธิพลออกจากชาติตะวันตก กลับมาทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง เพรียบพร้อมทุกสิ่ง แต่กลับมีอย่างหนึ่งสูญหายไป นั่นคือ ‘จิตวิญญาณ’ ของตนเอง เพราะเขาได้ขายมันให้กับโลกยุคสมัยทุนนิยมเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ สมหวัง/เบิร์ด หนุ่มบ้านนอกคอกนา ยังไม่ได้ถูกเจือปนด้วยความรู้ ชื่อเสียง เงินทอง ความเปิ่นเอ๋อเหรอช่างดูบริสุทธิ์ซื่อ เอ่อล้นด้วยเกียรติศักดิ์ศรี ‘จิตวิญญาณ’ และความเป็นมนุษย์ ถึงจะมีความเฉื่อยชาล้าหลัง แต่เมื่อท้องอิ่มเรี่ยวแรงกลับคืนมา ก็สามารถกลายเป็นนักแสดง/บุคคลพึ่งพาได้ทุกสถานการณ์

คงต้องถือว่าเป็นกระแสโลกที่ไม่มีใครต้านทานได้ จริงๆมันเริ่มมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๘) แต่ประเทศไทยเพิ่งปรับเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง นับที่หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา (หลังชาวโลกถึง ๓๐ ปี!) คือต้องถือว่าเกินยื้อแล้วจริงๆ เพราะถ้าเราไม่ยอมล่องตาม ก็จะถูกทั้งโลกประณาม ครหาต่อว่าถึงความช้าล้าหลัง

โคมไฟโบราณ มันช่างงดงามเสียเหลือเกิน! นี่เป็นการครุ่นคิดถึง โหยหาอดีต ที่แม้ตอนนั้นชีวิตเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางจิตใจมากเท่ายุคสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งๆอะไรก็ทันสมัยสะดวกสบายกว่า แต่บางอย่างกลับสาบสูญหายไร้ร่องรอย

ช่างมันฉันไม่แคร์, นี่คงเป็นคำพิลึกพิลั่นในยุคสมัยนั้นพอสมควร ที่ถูกต้องควรเป็น ช่างมันฉันไม่สน แต่เมื่อคำว่า สน มันขายไม่ออกเลยเปลี่ยนเป็น แคร์ ต้นกำเนิดภาษาอังกฤษ Care หรือ Careful นี่สะท้อนความร่วมสมัย อิทธิพลชาติตะวันตก ที่เข้ามาผสมผสานคลุกเคล้า ทั้งไดเรคชั่นภาพยนตร์เรื่องนี้ แนวคิดวิถีชีวิตสังคมไทย คำและความหมาย เปลี่ยนแปลงไปแล้วชั่วนิรันดร์

การเลือกของ พิม สะท้อนสิ่งที่เธอโหยหาต้องการมาเนิ่นนาน ไม่ใช่ความสะดวกสบาย เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ แต่คือสุขทางใจ จากชายหนุ่มผู้มีความซื่อบริสุทธิ์ สดใสทางจิตวิญญาณ ต่อให้อดีตจะเคยผ่านอะไรมา เลวร้ายแค่ไหน (หรือติดเอดส์ ก็คงยังรับได้) ใครพูดอะไรก็ไม่สน ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ จะให้ผู้อื่นมาบงการชีวิตเราได้อย่างไร

อะไรที่มันเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง จบสิ้นไป ล้วนคือวัฏจักรแห่งชีวิต ถ้าเราไม่เอาจิตไปยึดเกาะติด ก็ไร้ซึ่งความทุกข์โศก ใคร่ครวญ โหยหา ปลดปล่อยมันไปเสียบ้าง ความสุขสบายใจจักบังเกิด และทำให้มองเห็นความถูกต้องเหมาะสมควรในการเลือกตัดสินทำอะไร

“ขอมอบดอกไม้ในสวน ให้หอมอบอวลสู่ชน
จงสบสิ่งหวังให้สมตั้งใจ ให้คลายหมองหม่น
ก้าวต่อไปตราบชีวิตสุด ดุจกระแสชล
เป็นกำลังใจให้คุณ เป็นกำลังใจให้เธอ เป็นสิ่งเสนอให้คน”

ความสำเร็จของหนัง คว้า ๒ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๕๒๙
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

น่าเสียดายที่ปีนั้นไม่มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง แต่ก็สามารถคาดเดาหลายๆสาขา นักแสดงประกอบชาย-หญิง น่าจะมีลุ้นอย่างแน่นอน, ถ่ายภาพ ตัดต่อ และเพลงประกอบ ก็ไม่น่าพลาดเช่นกัน

หม่อมน้อย ได้ทำการสร้างใหม่ ช่างมันฉันไม่แคร์ ในฉบับละครโทรทัศน์ ผลิตโดยเอ็กแซกท์ ออกอากาศทางช่อง ๕ พ.ศ. ๒๕๓๖ นำแสดงโดย สินจัย หงษ์ไทย, สามารถ พยัคฆ์อรุณ (ตอนนั้นยังเป็นนักมวยอยู่ด้วยกระมัง ร่างกายบึกบึนกำยำ)

หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ รู้สึกเลยว่าผลงานยุคแรกๆของหม่อมน้อย มีความน่าสนใจกว่าช่วงทศวรรษหลังๆเป็นอย่างมาก เพราะความ ‘ไม่แคร์’ ทำให้พบเห็นตัวตน โลกทัศนคติแท้จริง มิได้ถูกปกปิดบังด้วยผ่อนผ้า ย้อนยุคสมัย (Costume Period) งดงามในหฤทัย ย่อมมีความล้ำค่ายิ่งใหญ่กว่าเป็นไหนๆ

สิ่งที่โดยส่วนตัวประทับใจอย่างยิ่งยวด คือการแสดงของพี่นก สินจัย ถือว่าเป็น ‘ตัวแม่’ แห่งวงการบันเทิงไทย สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า ตราตรึงเหนือกาลเวลา

แนะนำคอหนังดราม่า สนใจประวัติศาสตร์ สภาพสังคมไทยภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙, นักทำงานโฆษณา คนในวงการทั้งหลาย ไม่ต้องร้อนตัวแต่ให้ตระหนักไว้, แฟนๆของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, สินจัย หงษ์ไทย ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับ Trauma อันรวดร้าวรุนแรงของเหตุการณ์ ๖ ตุลา ถูกข่มขืน กอดจูบ

TAGLINE | “ช่างมันฉันไม่แคร์ คำตัดพ้อรำพันของ สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) และ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ดังกึกก้องกังวาลย์ในสังคมไทย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: