henry-v-1944

Henry V (1944) British : Laurence Olivier ♥♥♥♥

ครั้งแรกจากบทประพันธ์ของ William Shakespeare กับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นกระแสนิยมนำบทละครเรื่องอื่นๆมาสร้างต่อ, กำกับและนำแสดงโดย Laurence Olivier ด้วยวิธีผสมผสาน จำลองการแสดงละครเวทีเข้ากับเหตุที่เกิดขึ้นจริงในบทละคร

ครึ่งชั่วโมงแรกของหนัง เปิดมา ณ โรงละครแห่งหนึ่ง ค.ศ. 1600 ผู้ชมเฝ้ารอคอยการแสดง The Chronicle History of King Henry the Fift with His Battell Fought at Agincourt in France เสียงปรบมือดัง การแสดงบนเวทีเริ่มขึ้น เอะ! หรือว่าหนังจะเล่าเรื่องแบบ บันทึกภาพการแสดงละครเวที แต่กล้องถ่ายให้เห็นทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ผู้ชมเชียร์ เสียงปรบมือ … พอครึ่งชั่วโมงแรกผ่านไป เมื่อเรื่องราวเข้าสู่เหตุการณ์หลัก ราวกับจากนิยายกลายเป็นเรื่องจริง จากการแสดงละครกลายมาเป็นเหตุการณ์จริง ผู้ชมเวทีหายไป หนังดึงดูดเราเข้าเป็นเสมือนหนึ่งในเรื่องราวนั้น

วินาทีนั้นทำเอาผมอึ้ง ทึ่งโดยทันที คิดได้ยังไง! คาดว่าคงเป็นความรู้สึกเดียวกับ Stanley Kubrick ที่ยก Henry V ให้เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด ความเซอร์ไพรส์ยังไม่จบแค่นั้น แต่ผมไม่ขอสปอยต่อแล้วกัน

ดัดแปลงจากบทละครของ William Shakespeare จตุภาค Henriad อันประกอบด้วย Richard II, Henry IV Part 1, Henry IV Part 2 และ Henry V เรื่องราวพรรณาถึงความวุ่นวาย ผลกระทบทางการเมือง ตั้งแต่รัชสมัยของ Richard II กษัตริย์ของอังกฤษ ก่อนและหลังถูกยึดอำนาจโดย Henry IV และรัชสมัยถัดมา โดยหนังนำเฉพาะตอน Henry V มาสร้างเป็นภาพยนตร์

จตุภาค Henriad เนื่องจากมีความยาวมาก จึงไม่ได้รับความนิยมในการสร้างเป็นภาพยนตร์เสียเท่าไหร่ (นิยมสร้างเป็น TV-Series) แต่ก็เคยมีความพยายามของ Orson Welles รวมทั้ง 4 ภาค กลายเป็นหนังเรื่อง Chimes at Midnight (1966) ไว้มีโอกาสจะมาเขียนรีวิวให้นะครับ

ส่วน Henry V ที่คงเป็นภาคได้รับความนิยมสูงสุด มีการดัดแปลงเฉพาะเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง
– Henry V (1944) กำกับและนำแสดงโดย Laurence Olivier ถือว่าเป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทละคร Shakespeare เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ และเข้าชิง Oscar 4 สาขา
– Henry V (1989) กำกับและนำแสดงโดย Kenneth Branagh ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับ แต่ได้เข้าชิง Oscar หลายสาขาทีเดียว

ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คงแปลกไม่น้อยถ้าประเทศอังกฤษจะไม่สร้างหนังชวนเชื่อ Propaganda ออกมา, Henry V ถือว่าเป็นบทละครที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงนั้น เพราะมีเรื่องราวถึงการบุกรุกรานทวีปยุโรป (ในเรื่องคือฝรั่งเศส) และผู้นำของประเทศศัตรู มีความเพี้ยน จิตไม่ปกติ เหมือนดังกับ Adolf Hitler ไม่มีผิด

Winston Churchill (ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง Ministry of Information) เป็นผู้ขอ Laurence Olivier ที่ขณะนั้นรับราชการเป็นทหารอากาศ ให้สร้างหนังชวนเชื่อกับประเทศบ้านเกิดสักเรื่อง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารในการเข้าร่วมสู้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบังเอิญขณะนั้นกองทัพพันธมิตรกำลังยกพลขึ้น Normandy เพื่อจะขับไล่ Nazi ออกไปจากฝรั่งเศส

Olivier มีความสนใจต้องการดัดแปลงบทละคร Shakespeare มาสักพักแล้ว และสนใจ Henry V ด้วยเหตุผลที่บอกไป, ก่อนหน้านี้เคยยื่นของเสนอให้ William Wyler และ Carol Reed มาเป็นผู้กำกับ แต่ทั้งคู่บอกปัด ตนเองเลยตัดสินใจก้าวขึ้นมานั่งแท่นผู้กำกับเสียเองเลย กลายเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ Olivier, ร่วมกับ Dallas Bower และ Alan Dent ดัดแปลงบทภาพยนตร์

ก่อนหน้าที่จะเข้าวงการภาพยนตร์ Olivier เป็นนักแสดงละครเวที บทบาทที่เขาชอบเล่น เป็นตัวเอกในบทประพันธ์ของ William Shakespeare อาทิ Romeo (and Juliet), Macbeth, Hamlet, Othello, King Lear, Julius Caesar, Mark Antony รวมถึง Henry IV, Henri V ฯลฯ เรียกว่าแทบทั้งหมดทุกตัวละคร ทุกบทละคร ต้องเคยสวมบทบาทมาแล้วทั้งสิ้น มีความเชี่ยวชาญ คล่องแคล่ว เข้าใจความลึกซึ้ง ลึกล้ำของ Shakespeare เป็นอย่างดี

พระเจ้าเฮนรีที่ 5 (Henry V) [1386 – 1422] กษัตริย์ประเทศอังกฤษ (King of England) ขึ้นครองราชย์ปี 1413 ต่อจากพระเจ้าเฮนรีที่ 4 จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 1422 ขณะพระชนมายุเพียง 36 พรรษา

พระเจ้าเฮนรีที่ 5 เป็นกษัตริย์นักรบที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกลาง ทรงรวบรวมราชอาณาจักรอังกฤษให้กลายเป็นปึกแผ่น, ในสงครามร้อยปี สามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสในยุทธการอาแฌงคูร์ต (Battle of Agincourt) ด้วยธนูยาวที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้น โดยเสียไพร่พลไปไม่กี่ร้อย ผิดกับฝรั่งเศสที่มีผู้เสียชีวิตกว่าหมื่นคน, จากนั้นรวมราชบัลลังก์อังกฤษเข้ากับฝรั่งเศส ให้ปกครองภายใต้พระมหากษัตริย์องค์เดียว และทรงอภิเสกสมรสกับแคทเธอรีนแห่งวาลัวร์ พระธิดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส

ใครชื่นชอบปู่ Olivier เล่นหนัง Shakespeare นอกจากหนังเรื่องนี้ยังมี Hamlet (1948), Richard III (1955) [สองเรื่องนี้กำกับและแสดงนำ] และ Othello (1965) ที่แต่งหน้าทาผิวดำรับบท Othello

ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard กับ Robert Krasker ทั้งสองคือปรมาจารย์ตากล้องชื่อดังของอังกฤษ, Hildyard คือขาประจำยุคแรกของ David Lean ก่อนการมาของ F.A. Young มีผลงานดังอย่าง Bridge on the River Kwai (1957), ส่วน Krasker ตากล้องชาว Australian โคตรของตากล้องหนังนัวร์ ผลงานดัง The Third Man (1949) ฯ

ตัดต่อโดย Reginald Beck ชาวอังกฤษ ที่มีผลงานดังอย่าง Henry V (1944), Hamlet (1948), The Go-Between (1971), Don Giovanni (1979) ฯ

สามารถแบ่งเรื่องราว ตามเทคนิคการเล่าเรื่องและงานภาพออกได้เป็น 3 ช่วง

1) ครึ่งชั่วโมงแรกของหนังในโรงละคร Globe Theatre คาดว่าคงต้องใช้เครนหรืออะไรสักอย่างที่สามารถเคลื่อนขึ้นลงผ่านตึก 3-4 ชั้น หมุนไปรอบๆได้

กับฉากเปิดเรื่อง London ที่เห็นในหนังนั้นเป็นโมเดลจำลอง ไม่ได้ถ่ายจากสถานที่จริง (การออกแบบคงอ้างอิงจาก ค.ศ. 1600 จริงๆนะแหละ)

ผมไปอ่านเจอว่า ในบทละครที่ Shakespeare เขียนไว้ การปรากฏตัวครั้งแรกของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 รายล้อมไปด้วยขุนนางและผู้คนที่มาเข้าเฝ้ามากมาย แต่ช็อตแรกที่เราเห็นในหนัง นักแสดงที่รับบทยืนอยู่หลังฉาก รายล้อมไปด้วยผู้คนเดินควักไขว่เตรียมพร้อมที่จะแสดง กระแอมในลำคอ ก่อนก้าวเดินออกไปหน้าเวที

กับฉากที่พูดประโยคแรก หนังถ่ายจากด้านหลัง Backstage ให้เห็นผู้ชมในโรงละคร, ช็อตนี้เปรียบเสมือนการควบคุม แนะนำ ปรับตัวให้คนดูหนังมีปฏิกิริยาเฉกเช่นเดียวกับผู้ชมในโรงละคร ตามอารมณ์ที่ควรเป็น อาทิ ตลกก็หัวเราะ ประทับใจก็ปรบมือ ฯ ซักซ้อมให้คล่อง พอผ่านครึ่งชั่วโมงไป ทีนี้อยากจะดีใจ เสียใจ หัวเราะ ก็ตามอัธยาศัยของคุณแล้ว

ถึงช่วงแรกนี้ ผมจะบอกว่ามีหลังฉาก (Backstage) แต่หนังไม่มีบทพูด นอกเหนือจากบทละครของ Shakespeare เลยนะครับ ลำดับตามนั้นหมด แค่ภาพที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในบทละคร นี่เรียกว่าการดัดแปลง ซึ่งต้องบอกว่า หนังสามารถทำได้ลื่นไหลลงตัว บางจุดที่ดูไม่มีอะไรก็ใส่มุกตลกเข้าไป ได้ยินเสียงหัวเราะจากผู้ชม (เสียงปรบมือกับเสียงหัวเราะ ไม่ถือเป็นประโยคพูดของหนัง)

2) หลังผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปแล้ว หนังเข้าสู่ช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง เหตุการณ์จริงกับภาพผสมจินตนาการ, สังเกตจากภาพวาด Glass Painting และการออกแบบฉากที่ดูผิดแปลกจากปกติ บางสิ่งอย่างในช็อตนั้นดูเว่อ ขาดความสมจริง นี่คือส่วนผสมลูกครึ่งระหว่าง Reality กับ Fantasy

สังเกตช็อตนี้ จากภาพวาด Glass Painting ด้านหลัง มีลักษณะแปลกๆ ดูน่าจะเห็นชัดเจนรู้ได้ทันทีว่าเป็นภาพวาด

อย่างช็อตนี้ การออกแบบปราสาทขนาดเล็กเกิ้น, เห็นนักธนู 6 คนที่ยืนอยู่บนกำแพงไหมเอ่ย นี่จงใจทำให้เป็นช็อตตลกนะครับ

หรือในปราสาทของฝรั่งเศส นี่มันอะไรกัน? จะมีคนสติดีที่ไหนออกแบบปราสาทได้พิลึกพิลั่นแบบนี้

3) เมื่อเรื่องราวผ่านมาอีกสักพัก เริ่มต้นจากช็อตนี้ ขณะกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส งานภาพกลายเป็น Reality สมจริงไม่มีภาพวาดพื้นหลัง

เนื่องจากหนังถ่ายทำในประเทศอังกฤษไม่ได้ (เพราะสงครามรุกคืบมาถึงลอนดอนแล้ว) ทีมงานจึงยกพลไปยังประเทศ Ireland ที่ถือว่าเป็นกลางทางสงคราม ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีการเกณฑ์ม้าหลายร้อย นักแสดงน่าหลายพันคนเข้าฉาก

Tracking Shot ติดตามม้าศึกที่กำลังวิ่งเข้าสู่สนามรบ ถ่ายเป็น long-shot จากวิ่งช้าๆ ควบม้าเร่งรี่ประจันหน้า ก่อนเข้าปะทะกับศัตรู

ฉากสงครามต้องถือว่า มีความยิ่งใหญ่อลังการ ด้วยสีสันสวยสดสมจริง เพราะหนังใช้ฟีล์ม Three-Strip Technicolor ทำให้ภาพมีความคมชัด รับกับเสื้อผ้าสีสด และชุดเกราะที่แวววับเป็นอย่างดี, แต่หนังยิ่งใหญ่แค่ขณะกรูเข้าประทะเท่านั้น พอถึงฉากที่สู้รบกันจริงๆ ใช้การตัดข้ามให้เห็นเป็นแค่ Graphic รู้ว่ามีการต่อสู้ ได้ยินเสียง เห็นการปะทะ มีภาพคนตาย ศพนอนเกลื่อนกลาด แค่นั้นนะครับ ไม่มีดาบฟันเลือดสาด แขนขาด หัวหลุด ปรากฏให้เห็น

เมื่อสงครามจบ หนังใช้การย้อนกลับทีละช่วง จาก 3) เป็น 2) ขณะกองทัพอังกฤษ ยาทตราทัพผู้ชนะ เข้าไปยังปราสาทของอาแฌงคูร์ต (Agincourt) จะเห็นพื้นหลังเป็นภาพวาด Glass Painting รูปทรงประหลาดๆ

และตอนจบก็กลับสู่โรงละคร ณ เวทีการแสดง มีเสียงปรบมือเกรียวกราว กล้องเคลื่อนออก เห็นประเทศอังกฤษโดยรอบ (ล้อกับตอนเปิดเรื่องเปะๆเลย)

เพลงประกอบโดย William Walton ได้รับการยกย่องว่ามีความคลาสสิก ไพเราะ เหนือกาลเวลา, ทรัมเป็ต ทรัมโบน เป็นเสียงที่ทำให้เกิดความฮึกเหิม ใช้ในช่วงแรกประหนึ่งการโหมโรง ช่วงหลังๆเป็นการสร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราว (ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างอารมณ์) และเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส สร้างกลิ่นอาย สัมผัสให้กับหนัง

Suite from Henry V เป็นออเครสต้าที่เรียบเรียงใหม่โดย Walton ในปี 1963 โดยนำมาจาก Henry V ฉบับปี 1944 นี้แหละ เพื่อบันทึกลงแผ่นเสียงและแสดงคอนเสิร์ต บรรเลงโดย Philharmonia Orchestra มีทั้งหมด 5 movements ผมนำ Prologue แรกสุดมาให้ฟังกัน

Agincourt Carol (บางทีรู้จักในชื่อ Agincourt Song, Agincourt Hymn, Deo gratias Anglia) เป็นเพลง folk song ของประเทศอังกฤษ ประมาณการณ์ว่าแต่งขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 หลังจากปี 1415 ที่เกิดยุทธการอาแฌงคูร์ต, นำมาใช้ประกอบหนังเรื่องนี้ในช่วงท้ายถือว่าตรงเผงเลยทีเดียว

ใจความของ Henry V คือการนำเสนอความยิ่งใหญ่ (Heroism) ของยุวกษัตริย์ ที่สามารถยกทัพข้ามน้ำข้ามบก รบชนะทหารฝรั่งเศส ทำให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นดินแดนเดียวกัน …

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าใครตามติดประวัติศาสตร์ต่อจะพบว่า จุดจบของสงครามร้อยปี ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส สิ้นสุดที่หลังรัชสมัยนี้ เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 ไม่สามารถเดินทางมาขึ้นครองราชย์ที่ฝรั่งเศสได้ และขณะนั้น พระเจ้าชาร์ลที่ 7 ผู้เกรียงไกร (ได้รับฉายาว่า le Victorieux = ผู้พิชิต) สามารถขับไล่ ยึดกลับ เมืองที่ถูกอังกฤษครอบครองคืนมาได้ทั้งหมด ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่อังกฤษมีอำนาจเหนือดินแดนฝรั่งเศส (สรุปคือสงครามนี้คือ ฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้)

นอกจากมุมมองของผู้นำ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ของอังกฤษและฝั่งพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส หนังยังมีการเล่าเรื่องในมุมของไพร่พล ระดับนายทหารอังกฤษที่เข้าร่วมสู้สงคราม, มีบทสนทนา ความเห็นของพวกเขาต่อสงคราม ต่อผู้นำที่พาพวกเขาเดินทางมา (โดยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ทรงปลอมตัว แอบเข้าไปนั่งสนทนากับนายทหาร) เหล่านี้ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า สงครามมันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำด้วยความหรรษา เพราะทุกการสู้รบมีผู้สูญเสีย อะไรคือสิ่งที่ทำให้ไพร่พลยังคงมีกำลังใจ ยึดมั่นตามอุดมการณ์ที่ผู้นำประเทศต้องการ ถึงขนาดยอมให้ตัวเองกลายเป็นหมากจับอาวุธฆ่าฟันศัตรู เหมือนคนไร้สติที่ดิ้นรนหาที่ตาย กับผู้มีสติดีคงไม่มีวันทำเช่นนั้นแน่ นี่เป็นสิ่งที่ถ้ากษัตริย์/ผู้นำ สร้างขึ้นโดยไม่เข้าใจ ชัยชนะจากสงครามมันก็จะไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

ด้วยทุนสร้าง £475,708 (ประมาณ $2 ล้านเหรียญ) หนังถือว่าประสบความสำเร็จในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่มีตัวเลขรายรับขณะฉายในอังกฤษ ส่วนที่อเมริกาทำรายได้ประมาณ $1 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 4 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Actor (Laurence Olivier)
– Best Art Direction-Interior Decoration, Color
– Best Score

แต่ Laurence Olivier ได้รับรางวัลพิเศษ สำหรับความโดดเด่นในการเป็นทั้งนักแสดง โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับ สร้าง Henry V เป็นภาพยนตร์ (Special Award for his Outstanding achievement as actor, producer and director in bringing Henry V to the screen.)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ต้องบอกว่า ฟังที่ตัวละครคุยกันไม่รู้เรื่องเท่าไหร่, คือศัพท์ยากม๊ากก ต่อให้ตั้งใจขนาดไหน เจอสำนวนลีลาภาษาดอกไม้อันโคตรลึกซึ้งนี้เข้าไป ก็อาจไม่เข้าใจอะไรเลย ผมดูซับอังกฤษยังแทบแย่ แนะนำต้องหาซับไทยมาดูเท่านั้นเลยนะครับ, กระนั้นถึงฟังไม่รู้เรื่อง ก็ยังสามารถชื่นชม เห็นความงดงาม ยอดเยี่ยมของโปรดักชั่นที่โดดเด่น ตราตรึง น่าประทับใจสูงสุดเลยทีเดียว

แนะนำกับคนชื่นชอบภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทละคร William Shakespeare เก่งภาษาอังกฤษมากๆๆ (มีพูดฝรั่งเศสอยู่แปปๆ แต่ถ้าสังเกตหน่อยก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่าพวกเธอพูดอะไร) ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ กษัตริย์เก่งๆ และแฟนหนัง Laurence Olivier ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG เด็กๆดูได้ แต่จะเข้าใจหรือเปล่า

TAGLINE | “Henry V ของ Laurence Olivier นำพาผู้ชมเข้าไปสู่โลกของบทละคร ราวกับตัวหนังสือที่มีชีวิต”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 6. Henry V (1944)  : Laurence Olivier ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: