L’Atalante (1934) French : Jean Vigo ♥♥♥♥♡

(19/12/2017) ชีวิตคือการเดินทาง ขึ้นเรือ L’Atalante มุ่งสู่ Paris พบเจอเรื่องราวต่างๆ สุขทุกข์ หึงหวง พลัดพราก คร่ำครวญหา งดงามด้วยสไตล์ Poetic Realism ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Sunrise (1927), “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

L’Atalante คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นี่มิใช่คำพูดเกินจริงแม้แต่น้อย ทั้งๆเรื่องราวก็มิได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก แต่มีความสวยงาม ซาบซึ้ง กินใจถึงขั้นน้ำตาร่วงไหลรินกันเลยทีเดียว

ผมเคยรับชม L’Atalante ครั้งแรกเมื่อเกือบๆสองปีที่แล้ว ผ่านครึ่งแรกไปก็มิได้ประทับใจอะไรเท่าไหร่ ใคร่สงสัยว่านิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับหนังสูงเกินจริงไปหรือเปล่า จนกระทั่งถึงไคลน์แม็กซ์ตอนจบ โอ้โห! ราวกับโดนฮุคหมัดเด็ดที่ยกสุดท้าย ความรุนแรงถึงขั้นลงไปกองกับพื้นยอมแพ้นับสิบ น้ำตาไหลพรากๆด้วยความดีใจเอ่อล้น

รับชมครั้งนี้จะบอกว่าก็ไม่รอด ขนาดเตรียมตัวเตรียมใจไว้เผื่อแล้ว ยังอดซาบซึ้งเปรมปรีดา โดยเฉพาะวินาทีหนุ่มสาววิ่งโถมเข้าสวมกอด เพราะความทรงพลังของ Poetic Realism อย่างแท้จริง ครานั้นยังไม่รู้จักดีเท่าไหร่ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าคืออะไร

Poetic Realism คือลัทธิ แนวคิด สไตล์ ที่เป็นกระแสนิยมหนึ่งของวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 30s คล้ายๆกับ Soviet Montage, French Impressionism เป็นอิทธิพลสำคัญที่พัฒนาให้เกิด Italian Neorealism, French New Wave ฯลฯ

ในยุคก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์ถ้าไม่ใช่ลักษณะของการสร้างฉากขึ้นถ่ายทำในสตูดิโอ (พวก German Expressionist) ก็มักบันทึกภาพวิถีชีวิตจริง (Realism) คล้ายการถ่ายทำสารคดี, การมาถึงของ Poetic Realism ลักษณะเด่นคือ ‘Recreated Realism’ มีการสร้างเรื่องราวสมมติ โดยนำเสนอวิถีชีวิตของตัวละคร (มักเป็นวัยทำงาน Working Class) สะท้อนสภาพสังคม การทำงาน ดิ้นรนเอาตัวรอด หาความสุขใส่ตนเอง และที่เรียกว่า Poetic เพราะลักษณะของการพรรณา ภาษาภาพยนตร์มีความสวยงามสอดคล้องรับกับเรื่องราวได้อย่างลงตัว (และสะท้อนภาพใหญ่ยุคสมัยนั้นของประเทศฝรั่งเศส)

อธิบายง่ายๆเพื่อคนไม่เข้าใจ Poetic คือบทกวี/บทกลอน ให้นึกถึงกลอนสี่ กลอนแปด กาพย์ยานี เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยเรียนว่ามันต้องมีสัมผัสนอกใน ที่สอดคล้องรับกันตามวรรณยุกต์ สระ หรือรูปเสียง อาทิ

เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม     ดนตรี
อักขระห้าวันหนี     เนิ่นช้า
สามวันจากนารี     เป็นอื่น
วันเดียวเว้นล้างหน้า      อับเศร้าหมองศรี

– โคลงโลกนิติ

สำหรับภาพยนตร์ สัมผัสในมักหมายถึงความสอดคล้องภายในองค์ประกอบนั้นๆ อาทิ ส่วนเนื้อเรื่อง เช่น ต้นเรื่องตัวร้ายฆ่าคนตาย ตอนจบจึงถูกฆ่าตาย, พระเอกต้นเรื่องไม่มีใครรัก กลางเรื่องมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ตอนจบได้มิตรสหายมากมาย ฯ

สำหรับสัมผัสนอก จะหมายถึง ความสอดคล้องระหว่างพล็อตเรื่องราว กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การถ่ายภาพ/ออกแบบ/ตัดต่อ/เพลงประกอบ (รวมเรียกว่า ภาษาภาพยนตร์) อาทิ หนังมีเรื่องราวนำเสนอความชั่วร้ายในจิตใจมนุษย์ การถ่ายภาพก็มักจะต้องเต็มไปด้วยความมืดมัว จัดแสงสีให้ได้สัมผัสอันเยือกเย็น ออกแบบให้ดูขนลุกขนพอง ตัดต่อเนิบนาบให้เกิดความสะพรึง บทเพลงหลอกหลอนจับใจ ฯ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างให้เกิดสัมผัสสอดคล้องรับ มีความเข้ากันเรื่องราวได้อย่างลงตัวสวยงาม

สำหรับผู้กำกับเด่นและผลงานดังแห่งยุค Poetic Realism อาทิ
– La Petite Lise (1930) กำกับโดย Jean Grémillon
– Le Grand Jeu (1934) กำกับโดย Jacques Feyder
– L’Atalante (1934) กำกับโดย Jean Vigo
– Pépé le Moko (1937) กำกับโดย Julien Duvivier **
– La Grande Illusion (1937) กำกับโดย Jean Renoir
– Le Quai des brumes (1938) กำกับโดย Marcel Carné
– La Règle du jeu (1939) กำกับโดย Jean Renoir
– Le Jour se lève (1939) กำกับโดย Marcel Carné

Jean Vigo (1905 – 1934) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พ่อของเขา Eugène Bonaventure Vigo อดีตเคยฝักใฝ่ฝั่ง Anarchist ทำงานบรรนาธิการหนังสือพิมพ์ La Guerre sociale กับ Le Bonnet rouge แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เปลี่ยนข้างมาเป็นพวก Pacifism (รักสงบ) ทำให้ถูกจับขังแล้วฆ่าปิดปากจากพวกนักการเมืองหัวรุนแรง Socialist ตัวเขาจึงต้องหลบๆซ่อนๆ ถูกส่งไปเรียนนอก ใช้ชื่อ Jean Sales เพื่อปกปิดบังตัวจริง

เมื่อโตขึ้นหวนกลับคืนฝรั่งเศส ทำงานเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ แต่ตลอดชีวิตของ Vigo มีโอกาสสร้างหนังเสร็จเพียง 3 เรื่องสั้น 1 เรื่องยาว ประกอบด้วย
– หนังเงียบ À propos de Nice [about Nice] (1930) สร้างขึ้นเลียนแบบ Soviet Newsreels นำเสนอวิถีชีวิต ประจำของของผู้คนในเมือง Nice
– La Natation par Jean Taris [Jean Taris, Swimming Champion] (1931) สารคดีนักว่ายน้ำชื่อ Jean Taris ที่เต็มไปด้วยเทคนิคล้ำยุคมากมาย อาทิ ภาพ Close-Up, Freeze Frames เรือนร่างของนักว่ายน้ำ ฯ
– Zéro de Conduite [Zero for Conduct] (1933) เรื่องราวของกลุ่มนักเรียนหัวขบถ 4 คน ที่ทำการลุกฮือขึ้นยึดอำนาจจากครูที่โรงเรียน (นี่เป็นหนังที่สะท้อนช่วงชีวิตวัยเด็กของ Vigo ที่มีพ่อเป็น Anarchist)
– L’Atalante (1934) คู่รักข้าวใหม่ปลามัน ขึ้นเรือออกเดินทาง เกิดพลัดพรากจาก และหวนกลับมาพบเจอ

ไม่มีหนังเรื่องไหนของ Vigo ที่ประสบความสำเร็จทำเงิน Zéro de Conduite ถูกแบนห้ามฉาย (เพราะมีเนื้อหารุนแรงในเชิงต่อต้านรัฐบาล) ตัวเขาป่วยจากโรควัณโรค ทุกข์ทรมานอยู่ถึง 8 ปี อาการทรุดหนักขณะถ่ายทำ L’Atalante เสียชีวิตไม่นานหลังหนังออกฉาย แต่กาลเวลาผ่านไปเริ่มต้นจากนิตยสาร Sight & Sound
– Critic’s Top Ten Poll ปี 1962 ติดอันดับ 10
– Critic’s Top Ten Poll ปี 1992 ติดอันดับ 6
– Director’s Top Ten Poll ปี 1992 ติดอันดับ 5
– Critic’s Poll ปี 2002 ติดอันดับ 17
– Critic’s Poll ปี 2012 ติดอันดับ 12
– Director’s Poll ปี 2012 ติดอันดับ 22

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังที่นักวิจารณ์ต่างชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ ประทับใจสุดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณสามารถเข้าใจ Poetic Film ได้ละก็ จะมองเห็นความสวยงานที่คนทั่วไปมิอาจรับรู้ได้อย่างแน่นอน

หลังเสร็จจากสร้าง Zéro de Conduite มีโปรดิวเซอร์คนหนึ่ง Jacques-Louis Nounez สนใจร่วมงานกับ Jean Vigo ให้ทุนสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ในตอนแรกเขาเสนอโปรเจค Prison Film เรื่องราวของ Eugène Dieudonné หนึ่งในนักการเมืองฝั่ง Anarchist ที่พ่อของเขาเคยเขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์เมื่อปี 1913 ซึ่งก็ได้ร่วมงานกับ Dieudonné พัฒนาบทภาพยนตร์และยินยอมจะรับบทเป็นตัวเอง แต่หลังจากที่ Zero for Conduct ถูกทางการฝรั่งเศสแบน โปรเจคนี้เลยล่มไปเพราะมีแนวโน้มไม่ได้ออกฉายแน่

โปรเจคอื่นๆที่มีการพูดคุยต่อมา อาทิ
– ดัดแปลงนิยายเรื่อง L’Affaire Peau-de-Balle (1919) เขียนโดย Georges de La Fouchardière (1874 – 1946) ไม่รู้ติดเรื่องลิขสิทธิ์หรือเปล่าถึงมิได้สร้าง,
– Vigo ได้พัฒนาเรื่องราวความสัมพันธ์ของพ่อชนชั้นกลาง (Bourgeois Father) กับลูกชายหัวก้าวหน้า (Progressive Son) [ดูแล้วคงกึ่งๆอัตชีวประวัติของตนเองเป็นแน่]

สุดท้ายเดือนกรกฎาคม 1933 โปรดิวเซอร์ Nounez โยนแนวคิด Scenario ของ Jean Guinée เกี่ยวกับ ‘barge dwellers’ เรื่องราวของคนที่อาศัยอยู่บนเรือบรรทุกชื่อ L’Atalante, แม้ Vigo จะไม่ค่อยชื่นชอบ Scenario นี้นัก แต่ก็ยินยอมตกลงเพราะต้องการเริ่มสร้างหนังสักที ร่วมกับ Albert Riéra พัฒนาบทภาพยนตร์

เกร็ด: ช่วงต้นทศวรรษ 30s ภาพยนตร์/บทเพลง เกี่ยวกับ Barge Dwellers ได้รับความนิยมอย่างสูงในฝรั่งเศส บทเพลงดังๆอาทิ Chanson de halage, Le chaland qui passe

Juliette (รับบทโดย Dita Parlo) เมื่อได้แต่งงานกับ Jean (รับบทโดย Jean Dasté) อาศัยอยู่ร่วมกันบนเรือบรรทุก L’Atalante ออกเดินทางไปพร้อมกับต้นหน Père Jules (รับบทโดย Michel Simon) และเด็กคนรับใช้ Cabin Boy (รับบทโดย Louis Lefebvre) มุ่งหน้าสู่ Paris สถานที่ซึ่ง Juliette แอบหนีออกไปเที่ยวกลางคืน สร้างความโกรธแค้นให้กับ Jean ออกเรือทิ้งคนรักไว้เบื้องหลัง แต่พอเวลาผ่านไปกลับรู้สึกหดหู่เศร้าเสียใจที่ทำเช่นนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ Jules หาทางให้ทั้งสองหวนกลับมาพบเจอคืนดีกัน

Michel Simon (1895 – 1975) นักแสดงสัญชาติ Swiss เกิดที่ Geneva, Switzerland โตขึ้นหนีออกจากบ้านย้ายไปอยู่ Paris ทำงานเป็นพนักงานโรงแรม, คู่ซ้อมนักมวย, นักมายากล, ตัวตลก, โลดโผน สมัครเป็นทหารปี 1914 แต่ถูกไล่ออกเพราะติดวัณโรค และไม่ค่อยเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา, หลังจากเห็นการแสดงของ Georges Pitoëff ในละครเวทีเรื่อง Hedda Gabler จึงตัดสินใจเอาดีด้านนี้ ปี 1920 เริ่มต้นเป็นนักแสดงละครเวที ไต่เต้าจนเริ่มมีชื่อเสียง, ภาพยนตร์เรื่องแรก Feu Mathias Pascal (1925) ในยุคหนังเงียบ ได้รับความนิยมอย่างสูงเพราะใบหน้าอัน(อัปลักษณ์)แปลกประหลาด การเคลื่อนไหวลีลาแตกต่างไม่เหมือนใคร การมาถึงของยุคหนังพูด เมื่อแถมน้ำเสียงกรวดเข้าไปด้วย กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ใครๆจดจำได้ แถมฝีมือการแสดงอันหลากหลาย รับบทได้ทั้ง Action, Comedy, Drama, Tragedy มีความครบเครื่องอย่างที่สุด เป็นหนึ่งใน Superstar ค้างฟ้าโดยพลัน

ผลงานเด่น อาทิ The Passion of Joan of Arc (1928), La Chienne (1931), Boudu Saved from Drowning (1932), High and Low (1933), L’Atalante (1934), Port of Shadows (1939), Beauty and the Devil Mephistopheles (1950), The Two of Us (1967) ฯ

ต้นหน Père Jules ชายสูงวัย (ตัวละครเหมือนจะอายุ 60 ปี) ร่างใหญ่ หน้าตาอัปลักษณ์ รอยสักเต็มตัว ถึงภาพนอกคำพูดจาจะดูค่อยไม่น่าคบหา แต่กลับเป็นคนน่ารัก จิตใจอ่อนไหว รักเลี้ยงแมว ชื่นชอบสะสมโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด พึ่งพาได้ในยามคับขัน

นี่เป็นครั้งแรก(ครั้งเดียว) ที่ Vigo ได้ร่วมงานกับนักแสดงมีชื่อ ซึ่งขณะนั้น Simon อยู่ในสังกัดสตูดิโอ Gaumont Film ของ Nounez พอดี ตบปากรับคำเล่นหนังเรื่องนี้โดยมิได้รับรู้อะไรของหนังเลย แค่สงสารผู้กำกับและอยากให้การช่วยเหลือ

การแสดง Comedy ของ Simon ถือว่าเป็นตำนานของหนังที่ยังได้รับการกล่าวถึง แม้มันอาจไม่ค่อยตลกขบขันเสียเท่าไหร่ในยุคสมัยนี้ แต่มีความคลาสสิกชวนหัว อาทิ ฉากมวยปล้ำตัวเอง, สะดือคาบบุหรี่, ตัดผมสั้นประชด ฯ เหล่านี้แสดงถึงการ’ผ่าน’ชีวิตมามากของตัวละคร ผู้ชมจะรู้สึกเข้าใจ เห็นหัวอก รู้สึกดี เป็นมิตรไม่ตรี เหมือนป๊ะป๋าใจดี

Dita Parlo ชื่อเดิม Grethe Gerda Kornstädt (1908 – 1971) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Stettin, Pomerania (ปัจจุบันคือ Szczecin, Poland) ภาพยนตร์เรื่องแรก Heimkehr (1928) ประสบความสำเร็จโด่งดังชั่วข้ามคืน ในช่วงทศวรรษถัดมาก็ไปๆมาๆทั้ง German และ France ผลงานเด่นอาทิ Melody of the Heart (1929), Tropennächte (1931), L’Atalante (1934), La Grande Illusion (1937) เกือบจะได้ไป Hollywood แต่ติดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ค่อยๆเลือนลางจางหายจากไป

รับบท Juliette หญิงสาวชนบทผู้ไร้เดียงสา ก็ไม่รู้หลงเสน่ห์อะไรถึงยอมแต่งงานกับกัปตันหนุ่ม ออกล่องเรือเดินทางไปด้วยกัน เพ้อฝันกลางวันอยากท่องเที่ยวโลดแล่นไปในดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Paris เมื่อไปถึงก็มีเรื่องเกิดขึ้นมากมายจนเกือบไม่ได้ลงเหยียบย่าง คืนหนึ่งเลยตัดสินใจลักลอบหนีแฟนหนุ่มออกมา ไม่เคยคิดว่าตนเองจะถูกทิ้งขว้างได้ลงคอ แถมความโชคร้ายยังมาเยือนซ้ำโดนโจรขโมยกระเป๋า ก็ไม่รู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปได้อย่างไร

หลายๆช็อต Close-Up ใบหน้าของตัวละครนี้ ทำให้ผู้ชมเห็นอารมณ์ความรู้สึก Expression ของเธอที่มีความน่ารักสดใสไร้เดียงสา รอยยิ้มอันเป็นธรรมชาติออกมาจากภายใน เต็มเปี่ยมด้วยสีสันเริงร่าชีวิตชีวา เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้ Parlo กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานที่ได้รับการจดจำ เคียงข้าง/ตรงกันข้ามกับ Renée Jeanne Falconetti จากเรื่อง The Passion of Joan of Arc (1928)

[ของ Falconetti คือ Close-Up แห่งความทรมานแสนสาหัส ขณะที่ Parlo เป็นภาพความสุขเอ่อล้นที่ออกจากภายใน]

Jean Dasté ชื่อเดิม Jean Georges Gustave Dasté (1904 – 1994) นักแสดง/ผู้กำกับละครเวทีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที แจ้งเกิดกับภาพยนตร์เรื่องแรก Boudu sauvé des eaux (1932) เคยร่วมงานกับ Jean Vigo เรื่อง Zéro de conduite (1933) ผลงานเด่นๆ อาทิ La Grande Illusion (1937), Z (1969), The Man Who Loved Women (1977), Mon oncle d’Amérique (1980) ฯ

รับบท Jean กัปตันหนุ่มที่ก็ยังไร้เดียงสาในชีวิตเช่นกัน เมื่อแต่งงานกับ Juliette มีความต้องการควบคุมบังคับราวกับนกในกรง (แบบเดียวกับที่ออกคำสั่งในการเดินเรือ) แต่คนรักมิใช่ลูกน้องที่จะต้องคอยปฏิบัติตามคำสั่งตลอดเวลา เมื่อเธอแอบหนีไปเที่ยวกลางคืน สร้างความหึงหวง โกรธเคือง งอนตุ๊บป่อง ตัดสินใจในสิ่งทำให้ตัวเองเศร้าโศกเสียใจ หดหู่ทุกข์ทรมานภายหลัง กินไม่ได้นอนหลับ หมดสิ้นเรี่ยวแรงร่างกายไร้วิญญาณ คงเหลือเพียงความหวังเดียวที่พึ่งเท่านั้น

ตัวละครนี้ค่อนข้างมีหลากหลายอารมณ์ อาทิ สุข-ทุกข์ หึงหวงเห็นแก่ตัว ทุกข์ทรมานสิ้นหวังแทบขาดใจ ฯ ล้วนมองเห็นสังเกตได้จากการแสดงออกทั่วไป (รู้สึกจะไม่ค่อยมี Close-Up ใบหน้าสักเท่าไหร่), เอาจริงๆผมจดจำใบหน้าของ Dasté ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่กับ Simon และ Parlo ตราตรึงมิรู้ลืม

สไตล์การกำกับของ Jean Vigo เวลานักแสดงเล่นออกมาไม่ได้ดั่งใจ ตัวเขามักจะลุกขึ้นแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วให้ลอกเลียนแบบตาม จนกว่าจะพึงพอใจถึงค่อยถ่ายฉากถัดไป นี่ทำให้ระยะเวลาการทำงานค่อนข้างล่าช้า เห็นว่าเกินกำหนดและงบประมาณไปมากทีเดียว

ถ่ายภาพโดย Boris Kaufman (1906 – 1980) ตากล้องระดับตำนานสัญชาติ Russian เกิดที่ Białystok, Congress Poland (Russian Empire) น้องคนเล็กของ Dziga Vertov กับ Mikhail Kaufman หลังจากเกิดการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี 1917 ประเทศ Poland ได้รับอิสรภาพ ตัวเขาที่ยังเด็กและครอบครัวตัดสินใจปักหลักอยู่บ้านไม่ไปไหน ขณะพี่ชายทั้งสองเดินทางสู่ Moscow กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ Avant-Gard ชื่อดังแห่งยุค

แต่สายเลือดศิลปินมิอาจเลือนหาย Kaufman หลังเรียนจบจาก University of Paris ตัดสินใจเป็นตากล้อง ร่วมงานขาประจำกับ Jean Vigo (ตั้งแต่เรื่องแรก) และ Dimitri Kirsanoff สมัครเป็นทหารกองทัพฝรั่งเศสสู้รบ Nazi แต่เมื่อ Paris ถูกตีแตกอพยพย้ายสู่ Canada ตามด้วย Hollywood ผลงานเด่นเรื่อง Baby Doll (1956), 12 Angry Men (1957), The Pawnbroker (1964) ฯ คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง On the Waterfront (1954)

งานภาพของหนังเรื่องนี้ถือว่าล้ำเกินยุคสมัยนั้น มีการทดลองต่างๆมากมาย อาทิ จัดวางตำแหน่งองค์ประกอบภาพ, ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับพื้นหลัง/ธรรมชาติ, การเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสัมพัทธ์ ฯ

ช็อตในตำนานของหนัง เหมือนจะเป็นแรงบันดาลใจให้ Titanic (1997) ยังไงชอบกล, ช็อตนี้ถ่ายมุมเงยขึ้นจากด้านล่างของเรือ ภาพขาว-ดำ ถูกปรับให้มีความเข้มสูงมากๆ สังเกตว่านางเอกใส่ชุดเจ้าสาวสีขาวกลืนกับท้องฟ้า ส่วนพระเอกสูทดำกลืนกับเรือ

ฉากการเดินผ่านผืนดิน/ท้องฟ้า ของ ชายหนุ่ม/หญิงสาว (หญิงสาว=ท้องฟ้า, ชายหนุ่ม=พื้นดิน) หลังจากเพิ่งลั่นระฆังวิวาห์แต่งงานกัน สังเกตว่าทั้งสองเดินควงเกี่ยวเกาะกัน สอดคล้องรับความสัมพันธ์กับงานภาพพื้นหลังได้อย่างลงตัว

ฉากหญิงสาวกำลังเดินบนด่านฟ้าเรือ L’Atalante ขณะเดียวกันพื้นหลังจะมีเรืออีกลำแล่นผ่านแซงไปอย่างรวดเร็วกว่า, นัยยะของช็อตนี้ ชีวิตมนุษย์นั้นแสนสั้น ผ่านไปอย่างเชื่องช้าเดี๋ยวก็จบสิ้น แต่โลก/เทคโนโลยี มันเคลื่อนที่ได้เร็ว ยาวนาน และมั่นคงกว่า

ตอนผมเห็นฉากนี้ขนลุกซู่โดยไม่รู้ตัว เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งว่าถ่ายทำอย่างไร? ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นผมคิดว่ามีวิธีเดียวเท่านั้นคือ ถ่ายทำจากสถานที่เหตุการณ์จริง เชื่อว่าเรือลำหลังคงไม่ได้ถูกจ้างวานมาด้วยแน่ ต้องใช้จังหวะ การสังเกต ซักซ้อมที่พร้อมเพียงให้เกิดความบังเอิญแต่แบบจงใจสุดๆ

ช็อตนี้ให้สัมผัสที่เจ๋งมากๆ สะท้อนกับต้นเรื่องที่พระเอก-นางเอก เดินจูงมือกันผ่านทุ่งนาธรรมชาติ ตอนนี้เธอเหลือตัวคนเดียว เดินอย่างเดียวดายอยู่ในเมืองอันกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยเสาคานเหล็กมีลักษณะคล้ายกับกิ่งต้นไม้

สะพาน/ประตูน้ำ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการความสัมพันธ์ (ของคู่รักพระ-นาง), เริ่มต้นจากการเปิดประตูน้ำล้นให้เรือ L’Atalante เคลื่อนผ่านเข้ามา เทียบท่าในเมือง Paris นี่เป็นการสื่อถึงจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ความสัมพันธ์

ครั้งหนึ่งกับการลอดใต้สะพาน นัยยะถึงการมองข้าม ไม่สนใจ ปฏิเสธความสัมพันธ์ (นี่เป็นขณะพระเอก เพิ่งจะทิ้ง นางเอก)

ส่วนบุคคลที่จะมาเชื่อมความสัมพันธ์ให้กลับมาต่อติด Père Jules เดินอยู่บนสะพาน มองลงมาเห็นสภาพของผู้ที่อยู่สองฝั่ง ยากจะเยียวยาถ้าไม่จับมาให้อยู่ตรงกึ่งกลาง

สำหรับการซ้อนภาพเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์หนึ่งของหนัง ชวนให้หวนระลึกถึงบทเพลงลืมตาในน้ำ ของวง Potato, ด้วยข้อจำกัดของการถ่ายทำใต้น้ำสมัยก่อน สังเกตว่านักแสดงต้องว่ายวนเวียนไปมาให้เข้ามาอยู่ในระยะการมองเห็นของกล้อง ซึ่งบังเอิญตรงกับนัยยะของฉากนี้พอดีที่เป็นการเวียนว่ายค้นหาภาพของหญิงสาว ที่ล่องลอยหมุนเป็นภาพเบลอๆไปรอบๆ

โปรดักชั่นของหนังตั้งใจถ่ายทำในช่วงฤดูร้อนปี 1933 แต่ความล่าช้าในการค้นหาสถานที่ และสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ Gaumont ทำให้ล่วงเลยมาถึงปลายพฤศจิกายน 1933 สร้างความยากลำบากให้ Vigo ที่อาการเจ็บปวดอิดๆออดๆเริ่มรุนแรง แถมสภาพอากาศที่ไม่ค่อยเต็มใจ หิมะตกอีก (หลายครั้งเลยต้องถ่ายมุมเงยขึ้นท้องฟ้า เพื่อไม่ให้ติดพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ) ล่าช้าจนกลางเดือนมกราคม 1934 งบประมาณหมด พลอยให้ถูกกดดันเร่งเร้าจากสตูดิโอ (ไม่ได้เงินเพิ่มด้วยนะ) ช่วงครึ่งหลังเลยต้องใช้การถ่ายทำแบบกองโจร (Guerrilla Unit) ตั้งแต่ฉากที่นางเอกพลัดพรากแยกจาก เดินผ่านฝูงชนจริงๆที่เข้าแถวรอทำงาน (แบบนี้ไม่ต้องเสียเงินจ่ายค่าตัวตัวประกอบสักบาท) รวมถึงแอบลักลอบเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ท่าเรือ

Kaufman เป็นตากล้องคนเดียวที่ร่วมงานในภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องของ Jean Vigo โดยเฉพาะ L’Atalante เรียกการทำงานครั้งนี้ว่า ‘cinematic paradise.’

หนังสั้น 3 เรื่องก่อนหน้านี้ Vigo จะเป็นผู้ตัดต่อด้วยตนเอง แต่เมื่อสภาพร่างกายแย่ลงเรื่อยๆ เลยจำเป็นต้องว่าจ้างนักตัดต่อ Louis Chavance หนึ่งในคนที่เคยได้รับชม Zéro de Conduite แล้วชื่นชอบอย่างมาก ทำความรู้จักมักคุ้นจนกลายเป็นเพื่อนร่วมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

(ในเครดิตของ Chavance ตัดต่อหนังเพียง 3 เรื่องเท่านั้น แล้วผันไปเป็นนักเขียนบทแทน)

แต่กลายเป็นว่าพอหนังทดลองฉายรอบ Preview ไม่ได้เสียงตอบรับหายนะ ‘disaster’ จากนักวิจารณ์ ขณะที่อาการป่วยของ Vigo ทรุดหนัก Chavance เลยฉวยโอกาสตัดต่อหนังใหม่ จาก 84 นาทีเหลือเพียง 65 นาทีออกฉาย เผื่อว่าจะทำกำไรคืนมาบ้าง เปลี่ยนชื่อเป็น Le Chaland qui passe (แปลว่า The Passing Barge) แต่กลับกลายเป็นเลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งพอ Vigo เสียชีวิตจากไป ต้นฉบับในวิสัยทัศน์ผู้กำกับก็ได้สูญหายตลอดกาล

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด Henri Beauvais เจ้าของใหม่ของ Gaumont Studio คงมีความชื่นชอบต้นฉบับหนังเรื่องนี้ที่ได้เคยรับชมอย่างยิ่ง เลยทำการ Reconstruction ตัดต่อใหม่ให้มีความใกล้เคียงฉบับที่เขาคุ้นเคยที่สุด แต่เพราะฟีล์ม Negative ได้สูญหายไปแล้ว (คงถูกเผาทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) จึงค่อนข้างตามมีตามเกิดพอสมควร, เดือนกรกฎาคม 1947 ได้นำฉบับนี้ส่งออกฉาย New York City นักวิจารณ์มอบคำชมดีเยี่ยม สุดยิ่งใหญ่ให้เป็นครั้งแรก ‘perhaps the most original and promising of the great French directors.’

ปี 1990 เมื่อหนังกำลังจะกลายเป็น Public Domain สิทธิ์สาธารณะ, Cinémathèque Française (องค์กรอิสระของฝรั่งเศส ที่จัดเก็บบูรณะฟีล์มภาพยนตร์เก่าๆ) ร่วมกับ Jean-Louis Bompoint และ Pierre Philippe ทำการเรียบเรียงตัดต่อฉบับหนังใหม่อย่างลับๆมาตั้งแต่ปี 1987 นำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Classic

สำหรับฉบับ Restored Version ความยาว 89 นาที ที่เราๆได้รับชมกันอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากการตัดต่อใหม่อีกครั้งหลังพบเจอฟุตเทจเพิ่มเติมอีกนิดนึง โดย Bernard Eisenchitz ร่วมกับ Luce Vigo (ลูกสาวของผู้กำกับ Jean Vigo) เสร็จสิ้นเมื่อปี 2001 รวมรวมวางขายในคอลเลคชั่น The Complete Jean Vigo ของ Criterion

มีฉากหนึ่งที่ผมบอกไม่ได้ว่าเป็นจาก Original ต้นฉบับแท้ๆเลยรึเปล่า หรือใช้เทคนิคภาษาภาพยนตร์ที่มีความร่วมสมัยแทรกมาโดยนักตัดต่อยุคหลังๆ, ฉากที่หนุ่ม-สาว หลังจากพลัดพรากแยกจาก ในค่ำคืนหนึ่งขณะกำลังนอนหลับบนเตียง เกิดอาการดิ้นรนนอนไม่หลับ คร่ำครวญหวนคะนึงหาอีกฝ่ายอย่างทุกข์ทรมาน ตัดสลับใช้การ Cross-Cutting ไปมา เพื่อต้องการสื่อว่าพวกเขานั้นเป็นของกันและกัน

ผมนำคลิปนี้มาให้รับชม เพราะมันมีเพลงประกอบเพราะๆแทรกอยู่ด้วย, สังเกตแสงที่สาดส่องมายังใบหน้าของพวกเขา เห็นเป็นจุดดำๆอยู่เต็มไปหมด ส่วนตัวคิดว่ามีนัยยะเป็นการสะท้อนแสงดาวที่อยู่บนฟากฟ้า อาบด้วยแสงจันทราสาดส่องลงมาถึงพวกเขาในค่ำคืนเดียวกัน

เพลงประกอบโดย Maurice Jaubert ที่เคยร่วมงานกับ Vigo เรื่อง Zéro de conduite ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Port of Shadows (1938), Le Jour se Leve (1939) ฯ

บทเพลงของหนังค่อนข้างเก่าทีเดียว แต่ถือว่ามีความคลาสสิกอมตะ กลิ่นอายดนตรีฝรั่งเศส (Accordion) ให้สัมผัสอันนุ่มนวล เรียบง่าย ท่วงทำนองราวกับมีคำร้องที่ดังกึกก้องอยู่ภายใน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ นำพาอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องรับกับเรื่องราวได้อย่างลงตัว

ในช่วงแรกๆของยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน หนังเงียบสู่หนังพูด ยังไม่ถึงจุดที่จะมีการใช้เพลงประกอบพร่ำเพรื่อ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศชี้ชักนำอารมณ์ให้กับหนังเสียเท่าไหร่ นี่ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Vigo ในการเลือกลักษณะของบทเพลงและผู้ประพันธ์ สามารถดึงเอาพลังของหนังออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆของโลกเลยละที่เพลงประกอบมีความทรงพลังสวยงามเช่นนี้

ชีวิตคือการเดินทาง นี่คงเป็นสำนวนที่หลายคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี L’Atalante ใช้การเดินทางบนเรือที่มีความโคลงเคลงไม่แน่นอน บางครั้งหมอกลงจัดต้องเคาะระฆัง เพราะไม่รู้จะพบเจออะไรข้างหน้าบ้าง ถูกชนก็คงได้อัปปางจบสิ้นลงทันที แต่นั่นยังไม่น่ากลัวเทียบเท่ากับการไม่รู้จะไปไหน ล่องลอยคอเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน การเดินทางจำเป็นต้องมีเป้าหมาย ชีวิตก็เช่นกัน

กระนั้นหนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอเป้าหมายปลายทางใดๆ แต่นำเอาปัญหาแทรกใส่เข้ามาเพื่อค้นหาแนวทางคำตอบ ให้ชีวิตสามารถก้าวออกเดินทางไปต่อได้อย่างไม่สะดุดติดขัด, ปัญหาที่ว่านี้คือ ‘ความแตกต่าง’ ของมนุษย์ ชาย-หญิง คนหนึ่งต้องการอย่างหนึ่ง อีกคนต้องการอีกอย่าง ต่างคนต่างใจไม่มีใครเหมือน แต่เมื่อสองคนแต่งงานอยู่กินใช้ชีวิตร่วมกัน มันจึงไม่ใช่อีกแล้วที่นั่นของฉัน แต่คือของเรา ทุกอย่างต้องหารสอง แบ่งปัน เสมอภาคเท่าเทียม พอเพียงอยู่ตรงกลาง ไม่มากไม่น้อย คนสองถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขสันติ

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการเดินทางเพื่อหาจุดกึ่งกลางระหว่างคนสองคน มนุษย์สองฝั่งความคิด หยิน-หยาง ซ้าย-ขวา Anarchism-Totalitarianism [อนาธิปไตย ถือว่ารัฐไม่เป็นสิ่งพึงปรารถนา ต้องการลบล้างอำนาจและการปกครอง, ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ รัฐถืออำนาจเบ็ดเสร็จเหนือสังคม] นั่นคงเป็นสิ่งที่ Jean Vigo ผู้มีความหัวรุนแรง ออกแสวงหาคำตอบมาตั้งแต่เกิดแล้วกระมัง

จริงๆสิ่งที่ผู้กำกับ Vigo ได้ใส่ลงมาในหนังเรื่องนี้ ถือเป็นความคาดไม่ถึงอย่างยิ่ง เพราะผลงานก่อนหน้า Zéro de Conduite ออกไปทาง Anarchist แบบรุนแรงมากๆ แต่หลังจากโดนแบนจากหน่วยงานรัฐ (เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยู่แล้ว) รวมถึงร่างกายที่ทุกข์ทรมานอ่อนแอลงเรื่อยๆ -ได้ยินว่าขณะสร้างหนังเรื่องนี้ บางวันอาการหนักลุกขึ้นไม่ไหว ก็สั่งกำกับอยู่บนเตียงนะแหละ- คงทำให้เริ่มเห็นสัจธรรมของชีวิต มันจะซ้าย-ขวา ทะเลาะเบาะแว้งบ้าบอคอแตกกันไปทำไม เกิดแล้วตายต่างหาคือความจริงแท้ของชีวิต

ว่ากันว่าบั้นปลายชีวิตของ Vigo ทั้งๆที่นอนอยู่บนเตียง คงจะทุกข์ทรมานแทบตาย แต่เจ้าตัวกลับเฮฮาร่าเริง มีชีวิตชีวา ยิ้มแย้มแจ่มใสหลอกผู้อื่นไปทั่วว่าเดี๋ยวก็หายดี กลายเป็นคนมองโลกในแง่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

“[Vigo] made jokes all the time. Spending a day with him was wonderful and grueling, even a few weeks before his death. He was such a vivacious person.”

– Jean Dasté พูดถึงช่วงเวลาสุดท้ายของ Jean Vigo

ผมรู้สึกเสียดาย และสงสารผู้กำกับ Jean Vigo เป็นอย่างยิ่ง เพราะชีวิตจริงไม่เหมือนในหนัง พอวิญญาณออกจากร่างแล้วก็ไม่มีทางหวนคืนกลับมาได้อีก (แทนวิญญาณ=นางเอก, ร่างกาย=พระเอก) ถ้าเพียงเขาอายุยืนยาวนานกว่านี้อีกสัก 10-20 ปี เราคงได้เห็นผลงานการสร้างสรรค์ที่จะทำให้โลกตกตะลึงได้ยิ่งกว่านี้แน่

รับชมหนังเรื่องนี้ ราวกับรักแรกพบที่ยังคงติดตราตรึงฝังแน่นในใจ ซาบซึ้ง เปรมปรีดา แม้จะเคยต้องพลัดพรากแยกจาก แต่ก็มีโอกาสหวนกลับมาพบกันอีกได้อยู่เรื่อยๆ (ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง Casablanca ขึ้นมาอีกเรื่อง)

ระหว่าง Sunrise (1927) กับ L’Atalante (1934) กับผู้ชมทั่วไปน่าจะยกมือโหวตให้หนังเงียบ แต่โดยส่วนตัวขอยกมือฝั่งหนังฝรั่งเศสชื่นชอบมากกว่า ในส่วนของเนื้อเรื่องทรงพลังพอๆกัน แต่ระหว่าง German Expressionist vs. Poetic Film ผมชื่นชอบความงดงามเลิศหรูหรามีระดับในบทกวี กว่าความบิดเบี้ยวติสต์แตก Stylish ของฝั่ง German เป็นไหนๆ

François Truffaut น่าจะคือผู้กำกับที่หลังจากรับชมผลงานนี้เมื่อตอนอายุ 14 ปี 1946 ตกหลุมรักยิ่ง กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

“When I entered the theater, I didn’t even know who Jean Vigo was. I was immediately overwhelmed with wild enthusiasm for his work.”

ภาพยนตร์ดังๆที่รับอิทธิพล มีส่วนเคารพคารวะหนังเรื่องนี้ อาทิ
– Last Tango in Paris (1972) ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci
– Les Amants du Pont-Neuf (1991) กำกับโดย Leos Carax
– Underground (1995) ของผู้กำกับ Emir Kusturica
– In Praise of Love (2001) กำกับโดย Jean-Luc Godard

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับวัยรุ่นคนหนุ่มสาวเป็นต้นไป เรียนรู้จักเข้าใจ ‘ความรัก’ และการใช้ชีวิตคู่ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สองคนย่อมต้องมีความขัดแย้ง หึงหวง ไม่พึงพอใจกัน แต่ใช่ว่าผิดพลาดครั้งเดียวแล้วจะต้องแยกจากไม่ยินยอมให้อภัย หนังเรื่องนี้คือบทเรียนชีวิตที่สอนให้คุณใช้เหตุผลมากกว่าแค่ความรู้สึกจิตใจ อยากที่จะรักแต่งงานร่วมกินอยู่ ก็ต้องเรียนรู้จักให้อภัยเข้าใจกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอหนังรักโรแมนติก กำลังอกหัก หรือชีวิตคู่กำลังมีปัญหา นั่งรับชมด้วยกันสองคน ร้องไห้ไปด้วยกัน ก็อาจทำให้พวกคุณเข้าใจกันและกันมากขึ้น

และผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ชื่นชอบ Poetic Film ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

จัดเรต pg เด็กๆดูได้แต่คงไม่รู้เรื่องกระมัง

TAGLINE | “L’Atalante คือภาพยนตร์แห่งการเดินทางของความรักและชีวิตของผู้กำกับ Jean Vigo ที่มีความสวยงามที่สุดในโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


L’Atalante (1934)

(27/1/2016) นี่เป็นหนังที่เปรียบเหมือนบทกวีที่มีความสวยงามที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง กำกับโดย Jean Vigo ผู้กำกับที่แสนอาภัพ นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้าย เขาเสียชีวิตจากการเป็นวัณโรค ตอนอายุ 29 เท่านั้น แต่นี่คือผลงานที่ได้รับการกล่าวขวัญ โดยเฉพาะ François Truffaut เล่าว่าตอนเขาอายุ 14 เดินเข้าไปในโรงหนัง ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า Jean Vigo คือใคร แต่พอหนังจบออกมา นี่เป็นหนังที่เขาตกหลุมรักในทันที I was immediately overwhelmed with wild enthusiasm for his work.

นิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับหนังเรื่องนี้อันดับ 12 สูงสุดที่เคยได้คืออันดับ 6 ถือว่าสูงมากๆ เมื่อตอนหนังฉายคำวิจารณ์ค่อนข้างแตกออกเป็นสองฝ่าย บ้างก็ว่าหนังเรื่องนี้มันอืด ยืดยาด ด้วยทุนสร้าง 1 ล้านฝรั่งเศส ในสมัยนั้นถือว่าสูงพอสมควร หนังล้มเหลวไม่เป็นท่าใน boxoffice หนังใช้เวลาเป็นทศวรรษก่อนที่จะเริ่มเป็นที่จดจำ ไม่มีใครรู้ความยาวที่แน่นอนของหนังเรื่องนี้ เพราะฟีล์มสูญหายไปช่วงสงคราม เวอร์ชั่นแรกที่ restore ได้ความยาว 65 นาที แต่ก็มีการค้นพบเพิ่มเติมสุดท้ายเวอร์ชั่นปัจุบันได้ความยาวอยู่ที่ 89 นาที

Jean Vigo ทั้งชีวิตของเขากำกับหนังได้แค่ 4 เรื่องเท่านั้น และทุกเรื่องไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จเลย เขาทรมานจากวัณโรคก่อนเสียชีวิตอยู่ 8 ปี ตอนถ่ายทำ L’Atalante ความที่ตอนแรกวางแผนไว้จะถ่ายช่วง Summer แต่เลื่อนเปิดกล้องไปถึงพฤศจิกายน ช่วงหน้าหนาว ทำให้เขาต้องถ่ายทำท่ามกลางหิมะ เขาล้มป่วยในกองถ่ายบ่อยครั้งเพราะอากาศ หนังใช้เวลาถึง 4 เดือนในการถ่ายทำ

ตอนแรกก่อนที่จะกลายมาเป็น L’Atalante Jean Vigo วางแผนที่จะทำหนังเกี่ยวกับนักโทษคนหนึ่งที่เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฝรั่งเศส Eugène Dieudonné ซึ่ง Eugène Dieudonné ก็ตกลงรับปากจะเล่นเป็นตัวของเขาเองด้วย แต่เพราะหนังเรื่องก่อนหน้าของ Jean Vigo เรื่อง Zéro de conduite ถูกแบนในฝรั่งเศส ไอเดียนี้จึงถูกยกเลิกไป Jacques-Louis Nounez ที่เป็น producer ให้ Vigo ไปเจอไอเดียเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิต (barge dwellers) ชื่อว่า L’Atalante เขียนโดย Jean Guinée ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง pop culture ในยุคนั้นอย่าง Chanson de halage และ Le chaland qui passe แต่ Vigo ไม่ชอบไอเดียนี้เท่าไหร่ เขาจึงเริ่มพัฒนาบทหนังโดยใช้แนวคิดนี้แต่เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น

ความที่หนังก่อนหน้า Jean Vigo ไม่มีหนังที่มีนักแสดงชื่อดังเลย นี่จึงเป็นหนังเรื่องแรกที่มีการ casting ของเขา มี 3 นักแสดงนำที่จะต้องพูดถึงเลย Michel Simon ตอนแสดงหนังเรื่องนี้ลุงแกอายุ 40 แต่หนังทำให้ลุงแกดูเหมือนอายุ 60 ฉากในตำนานของหนังเรื่องนี้คือ ฉากมวยปล้ำตัวเองที่ตลกมาก นี่เป็นตัวละครที่ดูรกรุงรัง ภายนอกดูสกปรกซกมก แต่ข้างในเปรียบเหมือนผู้ใหญ่ใจดี นักแสดงนำชายอีกคน Jean Dasté เขาเคยร่วมงานกับ Jean Vigo ในผลงานก่อนหน้านั้น Zéro de conduite ด้วย และนักแสดงหญิง Dita Parlo เธอคือหญิงหม้ายใน La Grande Illusion ทั้งสองเป็นคู่รักที่น่ารักมากๆ แรกๆจะดูเหมือนว่าไม่เข้ากัน เพราะแต่ละตัวละครก็มีความต้องการของตัวเอง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เราจะเห็นพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่พาความรู้สึกเราไปจนถึงจุดที่กลายเป็นความสวยงามและความประทับใจ

ตากล้อง Boris Kaufman ซึ่งเคยร่วมงานกับ Vigo มา เขากลายเป็นตากล้องชั้นนำของโลกคนหนึ่ง ได้ถ่ายหนัง On The Waterfront (1954) ได้ Oscar สาขา Best Cinematography (Black and White) จากหนังเรื่อง Baby Doll (1956) สำหรับ L’Atalante นี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆ การถ่ายภาพที่ทำให้เราเห็นความสวยงามของทิศทัศน์ ดูแล้วรู้สึกหนาวเหน็บ ท้องฟ้าที่ดูกว้างใหญ่ สวยงามผิดปกติ (ใช้ low-angle) ห้องพักที่คับแคบและรกรุงรัง ดูแล้วรู้สึกเลยว่ามันรกจริงๆ ฉากในตำนานคือฉากที่สองคู่พระนางนอนเพ้อฝัน ภาพเงาที่เหมือนสะท้อนแสงจากดวงดาว ถ่ายจากมุมสูง close-up หน้าของทั้งสองที่ดิ้นไปมาอย่างทุรนทุราย ฉากนี้สุดยอดมากๆ สามารถสร้างอารมณ์ให้คนดูรู้สึกตามตัวละครได้จริงๆ

และเมื่อรวมเข้ากับการตัดต่อของ Louis Chavance ช่วงท้ายๆที่เร็วขึ้น จังหวะตัดสลับไปมาของทั้งสอง เป็นอะไรที่เปะๆและลงตัวมากๆ น่าเสียดายจริงๆที่ไม่รู้ว่าฟีล์มหายไปเท่าไหร่ อะไรหายไปบ้าง ถึงกระนั้น 89 นาทีนี้ก็สวยงาม ลงตัวทุกจังหวะ สามารถทำอารมณ์ไปถึงที่สุดได้ เห็นว่าตอนที่ตัดต่อนั้น อาการป่วยของ Jean Vigo ทรุดพอสมควร เพราะการถ่ายทำที่ล่าช้ามากๆ งบประมาณก็ไม่พอ เมื่อ Vigo มาตัดต่อให้เสร็จไม่ได้ ช่วงท้ายๆก็เป็นฝีมือของ Chavance ล้วนๆที่ตัดจนเสร็จ

เพลงประกอบโดย Maurice Jaubert ในหนังมีเพลงประกอบที่หลากหลายอารมณ์มากๆ ทั้งสนุกตื่นเต้น มีที่ตัวละครเล่น เปิดจาก record (เห็นว่าตอนแรกในบทไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเครื่อเสียงเลยนะ เป็น Vigo ที่อยู่ดีๆไปเจอเครื่องเสียงใน flea market เขาเลยซื้อมาเป็นอุปกรณ์ประกอบในหนัง) ฉากช่วงเพ้อของสองคู่พระนางเป็น orchestra ที่ไพเราะมากๆ ตอนดูหนังผมรู้สึกว่าเยี่ยมมากๆ ดูจบแล้วมาเปิดฟังรู้สึกเพลงมันไพเราะขึ้นอีก เพลงเสียงร้องสุดท้ายก่อนที่ทั้งสองจะกลับมาเจอกัน เป็นตัวเลือกที่แปลก แต่ให้ความรู้สึกที่น่าทึ่งมากๆ ความหมายก็ตรงสุดๆ

ความสวยงามของหนังเรื่องนี้เปรียบเหมือนบทกวี สไตล์การกำกับของ Jean Vigo นี้มีคนเรียกว่า poetic realism ก็ใช่เลยละครับ ทั้งเพลงที่ใส่เข้ามา ทำนอง คำพูด เรื่องราว ตัวละคร ความรักของคู่พระนางที่เริ่มต้นจากการแต่งงาน ไม่มีงานเลี้ยง มีแค่พระเอกอุ้มนางเอกขึ้นเรือ คือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ ลงเรือลำเดียวกัน ได้พบกับเพื่อนใหม่ โลกใบใหม่ ถึงกระนั้นในเรือลำเดียวกัน แต่ละคนก็มีความต้องการที่ต่างกัน ครึ่งแรกของหนังอาจจะเป็นอะไรที่ดูสับสนวุ่นวายนิดหน่อย ตัวละครของ Michel Simon แทบจะแย่งซีนคู่พระนางไปแทบทั้งหมด แต่เมื่อคู่พระนางต้องแยกจากกันแล้ว ณ ขณะนั้นผมก็มองเห็นความสวยงามของหนังเรื่องนี้ นี่เป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิต การสร้างความสัมพันธ์ มันคล้ายกับ La Strada ของ Federico Fellini มากๆๆ (ผมดู La Strada ก่อน L’Atalante) ทำให้ผมเห็นความสัมพันธ์ของหนังทั้งสองที่ค่อนข้างชัดเจนมาก คนสองคนเริ่มใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ได้พบเจออะไรใหม่ๆ ได้เจอตัวละครที่คล้ายๆ The Fool ทั้งสองเรื่อง และการตัดสินใจที่จะต้องแยกจากกัน เพียงแค่ว่า L’Atalante มีตอนจบที่ happy ending ผมไม่อาจเทียบได้ว่าตอนจบแบบไหนดีกว่า แต่ L’Atalante มีตัวละครที่เชื่อมกันระหว่างคู่พระนางอีกตัวหนึ่ง (ตัวละครของ Michel Simon) ที่เป็นเหตุผลที่ทำให้พระนางกลับมาเจอกันได้ แต่ใน La Strada ไม่มี เรื่องเลยจบแบบนั้น

เหตุการณ์ที่ทำให้ผมชอบที่สุด คือจังหวะที่คู่พระนางกลับมาเจอกัน ตอนที่ดูผมก็ไม่คิดว่าหนังจะจบแบบนี้หรอกนะ คิดว่าอาจจะเป็นแยกแล้วแยกเลย แต่กลายเป็นว่า หนังนำเสนอความรู้สึกของทั้งสองออกมา ให้เรารู้สึกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกนั้น การลืมตาในน้ำของพระเอกที่ล้อกับเหตุการณ์ต้นเรื่องที่นางเอกท้า (ลืมตาในน้ำก็ยังเห็นภาพเธอ – ยังกะเพลงของ potato) ว่ากันว่าฉากนี้เป็นหนึ่งในฉากตำนานที่ยังมีการพูดถึงในปัจจุบันเลยละ ผมชอบที่สุดก็ ณ จังหวะนั้น ที่ทั้งสองวิ่งสวมกอดเข้าหากัน เพลงขึ้น น้ำตาคลอ เราก็จะร้องไห้ไปด้วย และหนังก็จบ มันสวยงามมากๆ ตลอด 89 นาทีในหนังก็เพื่ออารมณ์ ณ จังหวะนี้

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับทุกคนเลยนะครับ หนังไม่ได้เข้าใจยาก แต่อาจจะดูยากสักหน่อยเพราะเป็นหนังเก่า การตัดต่ออาจจะขาดๆหายๆบ้าง ถ้าทนดูผ่านครึ่งแรกไปได้แล้ว เชื่อว่าจะเริ่มเห็นความสวยงามของมัน จากนั้นก็จะเริ่มลุ้น เริ่มชอบและหลงรัก ตอนจบก็ทำให้เราอิ่มเอิบมีความสุข หนังอาจจะไม่มีอะไรให้คิดวิเคราะห์มากนัก ทาสแมวคงชอบเพราะเห็นแมวน่ารักๆเต็มไปหมด มีฉากหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเห็นในหนังหรือเปล่า คือฉากที่เปิดเพลงผ่านเครื่องเล่น แล้วแมวทั้งหลายต่างนอนหลับตาฟังเพลงกระดิกหางอย่างเพลิดเพลิน

หนังสวยงามจริงๆนะครับ (แม้ภาพจากหนังมันจะดูมืดๆทึมๆก็เถอะ) บรรยากาศของหนังทำให้เราดูแล้วรู้สึกโล่งสบาย ผมเสียดาย Jean Vigo จริงๆ ผมมารู้เรื่องของเขาหลังจากดูหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมทึ่งในผู้กำกับคนนี้ ถ้าเขามีชีวิตอยู่นานๆ เราคงได้เห็นผลงานที่สุดยอดยิ่งไปกว่านี้อีก ลองค้นใน Youtube มีหนังเรื่องนี้อยู่นะครับ หาดูได้เลย ผมถือว่าหนังเรื่องนี้ “ต้องดูเรื่องนี้ก่อนตายให้ได้”

คำโปรย : “L’Atalante คุณต้องดูเรื่องนี้ก่อนตายให้ได้ นี่เป็นหนังที่เหมือนกับบทกวี เรื่องราวความรัก การแยกจาก และการได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง งานภาพที่สวยงามสมจริง เพลงประกอบที่ไพเราะ นี่คือหนึ่งในหนังที่สวยงามที่สุดในโลก”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบLOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

ส่วนตัวผมก็ชอบเรื่องนี้กว่า Sunrise เพราะค่อนข้างหลงไหลในสัมผัสที่สมจริงและงดงาม แม้ Sunrise จะบันเทิง และ เทคนิคอลังการกว่าก็เหอะ แต่ L’Atalante ผมมาชอบจริงๆก็รอบ 2 รู้สึกรอบแรกเข้าไม่ถึงอาจเพราะว่าต้องการให้มันซับซ้อนกว่านี้ละมั้ง ตอนนี้กลับมาดูและสัมผัสรู้สึกถึงความเรียบง่าย และ สวยงาม ฉากโดดน้ำตามหาเจ้าสาวเป็นฉากที่ผมว่างดงามมาก

%d bloggers like this: