
When a Woman Ascends the Stairs (1960)
: Mikio Naruse ♥♥♥♥
เมื่อมาม่าซัง Hideko Takamine ก้าวขึ้นบันไดสู่สรวงสวรรค์ของบุรุษ เธอจักต้องคอยให้บริการ เอาอกเอาใจ ใช้มารยาหญิงละเล่นเกมหัวใจ แต่จะมีใครมอบความรัก ความจริงใจ ให้หญิงขายบริการบ้างไหม?
วันก่อนผมเพิ่งเขียนถึง Flowing (1956) นำเสนอฉากหลังอาชีพเกอิชาที่กำลังเสื่อมความนิยม เพราะค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้เวลาฝึกฝน ความอดรนทน ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นเกอิชา! แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ความพ่ายแพ้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หญิงชาวญี่ปุ่นอับจนหนทาง ไม่สามารถฝึกฝนเกอิชา ไม่อยากเป็นโสเภณีขายบริการทางเพศ มันจึงบังเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา
Hostess แปลว่า ปฏิคม มันช่างเป็นชื่อไทยที่ฟังดูโบร่ำโบราณ, หรือถ้าเรียกว่าเด็กดริ้งค์มันก็ดูแรงไปสักหน่อย, ผมขอเรียกทับศัพท์เลยแล้วกันว่า บาร์โฮส (Bar Host/Hostess) ทำหน้าที่บริการลูกค้า พาไปนั่ง ชงเหล้า รินเบียร์ พูดคุยหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี แต่มีกฎห้ามจับเนื้อต้องตัวเท่านั้นเอง
ขณะที่นักวิจารณ์ในญี่ปุ่นต่างยกให้ Floating Clouds (1955) คือผลงานชิ้นเอกของผกก. Naruse, ฟากฝั่งชาวตะวันตกกลับสรรเสริญเยินยอ When a Woman Ascends the Stairs (1960) อาจเพราะบรรยากาศหนังนัวร์ ดนตรีแจ๊ส บาร์โฮสสมัยใหม่ มีความเป็น ‘westernized’ ที่สุดแล้วกระมัง
When a Woman Ascends the Stairs is a lightness of touch, deft and coolly understated, like its cocktail jazz score.
นักวิจารณ์ Phillip Lopate จาก Criterion
ด้วยความที่ผมไล่เรียงรับชมผลงานของผกก. Naruse หลายเรื่องติดๆกัน พอมาถึง When a Woman Ascends the Stairs (1960) พบเห็นอัตราส่วนภาพ Tohoscope (2.35:1) เกิดความไม่คุ้นเคยขึ้นโดยพลัน! คือมันติดภาพจำว่า ‘สไตล์ Naruse’ ต้องเคียงคู่กับ Academy Ratio (1.37:1) … #WaWAtS เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของผกก. Naruse ถ่ายทำด้วย Tohoscope ถัดจาก Summer Clouds (1958)
หลังจากใช้เวลาปรับตัวเข้ากับอัตราส่วนภาพที่เปลี่ยนไป ผมก็ค้นพบว่า ‘สไตล์ Naruse’ ยังคงเหมือนเดิม แทบไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนมากนัก แต่ภาพกว้างขึ้นทำให้มองเห็นรายละเอียด สถานที่ต่างๆดูครึกครื้น มีชีวิตชีวา สามารถยัดเยียดสาวๆนั่งห้อมล้อมบุรุษ … ราวกับว่า ‘สไตล์ Naruse’ ได้รับการปลดปล่อย วิวัฒนาการขึ้นอีกระดับ
แต่สิ่งเจิดจรัสที่สุดของหนังนั้นคือ Hideko Takamine เมื่อก้าวย่างสู่วัยกลางคน กลายเป็นมาม่าซัง (Mama-san) การแสดงของเธอมีความละเอียด ซับซ้อน ทุกการขยับเคลื่อนไหวล้วนซุกซ่อนความรู้สึกบางอย่าง … แม้ผมจะชื่นชอบความบริสุทธิ์สดใสวัยสาวของ Takamine มากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าประสบการณ์ทำให้เธอเจิดจรัสค้างฟ้า
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) สรรค์สร้าง Repast (1951) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับ และกวาดรางวัลในญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Lightning (1952), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956) ฯ
สำหรับ 女が階段を上る時 อ่านว่า Onna ga kaidan o noboru toki ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ When a Woman Ascends the Stairs สร้างขึ้นจากบทภาพยนตร์ของ Ryūzō Kikushima, 菊島 隆三 (1914-89) โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Akira Kurosawa ตั้งแต่ Stray Dog (1949), Scandal (1950), Throne of Blood (1957), The Hidden Fortress (1958), The Bad Sleep Well (1960), Yojimbo (1961), Sanjuro (1962), High and Low (1963), Red Beard (1965) ฯ
เกร็ด: ครอบครัวของ Ryūzō Kikushima เคยทำธุรกิจผลิตสิ่งทอ แม้กิจการล้มละลายไปตอนสงครามโลกครั้งที่สอง เลยผันตัวมาเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ แต่ก็คงรับรู้จักกิจกรรมยามค่ำคืนเป็นอย่างดี
ธุรกิจบาร์โฮสในย่าน Ginza กำลังได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1950s หนึ่งในมาม่าซังผู้โด่งดัง Keiko Yashiro (รับบทโดย Hideko Takamine) อายุย่างใกล้สามสิบ ต้องเริ่มครุ่นคิดถึงอนาคตว่าจะทำอะไรยังไงต่อไป ระหว่างแต่งงานใหม่ หรือเปิดกิจการร้านค้า/ผับบาร์ของตนเอง … เธอมีผู้ชายอยู่สี่คนหมายปอง ประกอบด้วย
- Mr. Goda (รับบทโดย Nakamura Ganjirō II) นักธุรกิจสูงวัยจาก Osaka เดินทางมา Tokyo เป็นบุคคลเสนอเงินลงทุนให้ Keiko อยากทำธุรกิจอะไรป๋าจัดให้ แต่เธอกลับยื้อๆยักๆ จนถูกรุ่นน้อง Junko Inchihashi (รับบทโดย Reiko Dan) ฉกแย่งชิงจนสามารถมีกิจการของตนเอง
- Matsukichi Sekine (รับบทโดย Daisuke Katō) ชายร่างอวบอ้วน แม้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจาก Keiko แต่เป็นคนโรแมนติก ชอบเอาอกเอาใจ แสดงความเอ็นดูรักใคร่ เคยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนตอนเธอล้มป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมาพยายามสู่ขอแต่งงาน นั่นทำให้เธอพร่ำเพ้อฝัน จินตนาการไปไกล ก่อนได้รับการเปิดเผยจากภรรยา ว่าสามีเป็นคนขี้อวดอ้าง เก่งแต่ปาก ล่อหลอกหญิงสาวมานับไม่ถ้วน
- นายธนาคาร Nobuhiko Fujisaki (รับบทโดย Masayuki Mori) เป็นบุคคลที่ Keiko ตกหลุมรัก ถูกชะตาตั้งแต่แรกพบเจอ ค่ำคืนหลังอกหักจาก Matsukichi ปล่อยตัวปล่อยใจ ยินยอมให้เขาร่วมเพศสัมพันธ์ ก็นึกว่าจะได้ครอบครองรักกัน แต่นั่นกลับเป็นวันสุดท้ายของเขา กำลังจะออกเดินทางไปทำงาน Osaka มิอาจทำตามคำร้องขอ
- หนังไม่ได้อธิบายเหตุผลที่ Keiko ตกหลุมรัก Mr. Fujisaki แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ล้วนมีภาพจำคู่พระนาง Mori & Takamine จากภาพยนตร์ Floating Clouds (1955) เรียกว่าเคยรักกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อนก็ว่าได้!
- ผู้จัดการบาร์ Kenichi Komatsu (รับบทโดย Tatsuya Nakadai) มีความเข้มขรึมจริงจังต่อหน้าที่การงาน (แต่จริงๆคือเป็นพวกปากว่าตาขมิบ) แอบตกหลุมรัก Keiko ชื่นชมในความเป็นมืออาชีพ แต่รับไม่ได้ที่เธอเสียตัวให้กับ Mr. Fujisaki เลยพยายามสารภาพรัก ก่อนถูกบอกปัดปฏิเสธ เพราะเรารู้จักกันดีเกินไป
Hideko Takamine, 高峰 秀子 (1924-2010) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hakodate, Hokkaido หลังจากมารดาเสียชีวิตตอนอายุ 4 ขวบ ย้ายมาอาศัยอยู่กับคุณป้าที่กรุง Tokyo เข้าตาแมวมองสตูดิโอ Shōchiku เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก Mother (Haha) (1929) จนได้รับฉายา ‘Japan’s Shirley Temple’ น่าเสียดายหลายๆผลงานสูญหายไปช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ช่วงทศวรรษ 50s-60s กลายเป็นนักแสดงฟรีแลนซ์ ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Keisuke Kinoshita และ Mikio Naruse ผลงานเด่นๆดังๆ อาทิ Lightning (1952), Twenty-Four Eyes (1955), Floating Clouds (1956), Time of Joy and Sorrow (1958), The Rickshaw Man (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Happiness of Us Alone (1961), A Wanderer’s Notebook (1962), Yearning (1964) ฯ
รับบท Keiko Yashiro ในอดีตเคยแต่งงาน แต่สามีพลันด่วนเสียชีวิต! พี่ชายเป็นทนายความแต่ถูกโกง ติดหนี้ติดสิน ภรรยาทอดทิ้ง แถมยังต้องเลี้ยงดูแลบุตรชายล้มป่วยโปลิโอ … สารพัดความรันทนชีวิตของ Keiko จึงตัดสินใจทำงานบาร์โฮส หาเงินมาจุนเจือครอบครัว แม้ไม่ได้มีความชื่นชอบเลยสักนิด!
คงเพราะไม่ได้ชื่นชอบงานบาร์โฮส จึงพยายามรักษาระยะห่างลูกค้า ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ปฏิเสธรับงานนอกเวลา จนได้รับนับหน้าถือตาจากรุ่นน้อง/ผู้จัดการ ใครๆจึงนิยมเรียกมามาซัง อายุอานามย่างใกล้สามสิบ จึงต้องครุ่นคิด เตรียมตัว วางแผนทำอะไรสักสิ่งอย่าง
อายุอานามของ Takamine แม้ล่วงเลยสามสิบไปไกล (ขณะนั้นย่างเข้า 35-36 ปี) แต่ยังมีความสวยสาว เปร่งประกาย ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เหมือนคนพานผ่านอะไรมามาก เต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิต (Takamine อยู่ในวงการมาตั้งแต่เด็ก พานผ่านการแสดงมาเยอะจริงๆ) พวกลูกเล่ห์ มารยาเสน่ห์ กลวิธีบริการลูกค้า รวมถึงสลับรางรถไฟ จึงมีความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง!
ในส่วนของการแสดง เป็นตัวละครที่มีอารมณ์หลากหลายมากๆ ผมว่าอาจจะมากกว่าตอน Floating Clouds (1956) ด้วยซ้ำนะ! เพราะปฏิกิริยาของเธอต่อชายผู้หมายปองทั้งสี่ ช่างมีความแตกต่างอย่างสุดเหวี่ยง รักคลุ้มคลั่ง ตกอยู่ในความสิ้นหวัง แถมยังปรับเปลี่ยนภายในเสี้ยววินาที มันยิ่งกว่าขึ้นรถไฟเหาะ ปรับตัวตามแทบไม่ทัน
แต่ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้การแสดงของ Takamine จากภาพยนตร์ Floating Clouds (1956) มากกว่าเรื่องนี้ เพราะความประณีตในการค่อยๆไต่ไล่ระดับอารมณ์ไปจนถึงจุดสูงสุด แล้วหวนกลับสู่สามัญ, สำหรับ When a Woman Ascends the Stairs (1960) อย่างที่เปรียบเทียบถึงรถไฟเหาะ ขึ้นสุด ลงสุด แล้วยังจะขึ้นสุด ลงสุด เร็วกว่ากิ้งก่าเปลี่ยนสี มันเป็นความแตกต่างที่ขึ้นอยู่กับผู้ชมชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, 玉井正夫 (1908-97) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsuyama ยังไม่ทันเรียนจบเข้าฝึกงานสตูดิโอ Teikoku Kinema Geijutsu ก่อนย้ายมา Ichikawa Utaemon Production จากนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Japanese Society Of Cinematographers (JSC) พอมาปักหลักอยู่ P.C.L./Toho กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Summer Clouds (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่น Godzilla (1954), Happiness of Us Alone (1961) ฯ
แม้ปฏิกิริยาแรกของผมต่ออัตราส่วนภาพ Tohoscope (2.35:1) จะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่หลังจากสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง สังเกตเห็น ‘สไตล์ Naruse’ ที่แทบไม่แตกต่างจากเดิม เพียงขยับขยายความกว้าง พบเห็นรายละเอียดรอบข้างมากขึ้น ช่วยทำให้หนังมีชีวิตชีวา และดูทันสมัยใหม่ … เป็นการเปลี่ยนแปลงที่วิวัฒนาการ ‘สไตล์ Naruse’ ให้เติบโตขึ้นอีกระดับ
แซว: โดยปกติแล้วภาพยนตร์ถ่ายทำอัตราส่วน Anamorphic Widescreen ชอบท้าทายสุดขอบซ้าย-ขวา แต่ด้วยความที่ผกก. Naruse เคยถ่ายทำหนังในอัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) มาทั้งชีวิต! บ่อยครั้งจึงพบเห็นการจัดวางองค์ประกอบกึ่งกลาง ฉากสนทนามักเหลือขอบที่ว่างซ้าย-ขวา (เป็นความคุ้นเคยชินภายในกรอบของตนเอง)
แม้ภาพยนตร์ของผกก. Naruse ขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศหมองหม่น ชีวิตอับจนหนทาง แต่ไม่เคยมีเรื่องไหนปกคลุมด้วยความมืดมิดมากไปกว่า When a Woman Ascends the Stairs (1960) คาดว่าน่าจะมีการปรับความคมเข้มของแสง-สี ทำให้ได้กลิ่นอายบรรยากาศหนังนัวร์ สะท้อนกิจกรรมยามค่ำคืน ด้านมืดจิตใจคน
พื้นหลังของหนังคือ 銀座, Ginza ในอดีตเคยเต็มไปด้วยผับบาร์ สถานเริงรมณ์ยามรัตติกาล แต่ปัจจุบันกลายเป็นย่านการค้าเลื่องชื่อในด้านความหรูหรา ขายสิ่งข้าวของราคาแพง(ที่สุดในโลก), นอกจากทิวทัศน์ภายนอก ฉากภายในทั้งหมดล้วนถ่ายทำที่สตูดิโอ Toho
โดยปกติแล้วภาพยนตร์ของผกก. Naruse ช่วงระหว่าง Opening Credit มักไม่มีลูกเล่นอะไร เพียงเลือกลวดลายพื้นหลังที่สอดคล้องเข้ากับบรรยากาศเรื่องราว แต่สำหรับ When a Woman Ascends the Stairs (1960) มีการตัดกระดาษแข็ง (Cardboard Cut-Outs) ฉายภาพเงา (Silhouette) ภายในบาร์โฮส เริ่มจากบันไดขึ้นชั้นสอง โต๊ะเก้าอี้ ที่วางขวดเหล้า ฯ น่าเสียดายผมหาเครดิตไม่ได้ว่าเป็นผลงานของใคร
ปล. ระหว่างรับชมเครดิตเพลินๆ บังเอิญพบเห็น Costume Design by: Hideko Takamine นี่แอบคาดไม่ถึงอยู่เล็กๆ แสดงว่าเธอเลือกเสื้อผ้าตัวละครเองทั้งหมด

แม้จะเปลี่ยนมาถ่ายทำด้วย TohoScope แต่เรายังสามารถพบเห็น ‘สไตล์ Naruse’ ได้ตั้งแต่ภาพแรกของหนัง Establishing Shot นิยมถ่ายภาพตรอกซอกซอยแคบๆ ผู้คน-รถราสวนกันไปมา อัตราส่วนภาพกว้างขึ้น ก็แค่เก็บรายละเอียดรอบข้างได้มากขึ้นเท่านั้นเอง

ด้วยความที่ ‘สไตล์ Naruse’ ได้รับการพัฒนามาหลายทศวรรษ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง ผมพยายามเลือกช็อตที่ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นจะยัดเยียดนักแสดงจนล้นเฟรม ไม่กลัวขอบเขตจำกัด แต่หนังเรื่องนี้กลับเว้นช่องว่าง สร้างระยะห่างจากขอบซ้าย-ขวา นั่นคือ “Old habits die hard” พยายามจัดองค์ประกอบภาพให้มีความสมมาตร กึ่งกลาง


มันมีซีนประหลาดๆที่ผมมองว่ามันไม่เวิร์ค แต่แนวคิดน่าสนใจ, เมื่อ Keiko เดินทางกลับมาถึงร้าน ตรงเข้าไปทักทายว่าที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว แต่ทว่ากล้องจับภาพสาวๆกำลังพูดคุย ซุบซิบนินทาถึงเหตุการณ์(ฆ่าตัวตาย)ที่เพิ่งบังเกิดขึ้น ทั้งสามช็อตนี้ต่างถ่ายติด Keiko (และเจ้าบ่าว-เจ้าสาว) อยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง เพื่อสื่อว่าเธอได้ยินทุก(เรื่องซุบซิบ)ทุกสิ่งอย่าง ช่างไม่รู้จักเวล่ำเวลา ความเหมาะสมเลยสักนิด!



มันมีบทความของ Criterion ที่วิเคราะห์การเดินขึ้นบันได 3-4 ครั้งของ Keiko อธิบายรายละเอียดถี่ยิบ ถ่ายจากด้านล่าง-บน, โคลสอัพใบหน้า/รองเท้า, เดินเข้าหา-ห่างออกไป, Tilt-Up & Tilt Down ฯ ทำเอาผมขี้เกียจร่ายยาว เลยแค่จะบอกถึงอารมณ์หญิงสาวขณะก้าวขึ้นบันได
- ครั้งแรกหลังจากแต่งหน้าทำผม พอมาถึงหน้าบันได หยุดชะงักงันชั่วครู่ เงยหน้าแหงนมองดู เสียงบรรยายพร่ำบ่นว่าไม่อยากก้าวขึ้นไปสักเท่าไหร่ เบื่อหน่ายในอาชีพการงานที่ต้องให้บริการลูกค้า แต่ยังต้องอดรนทนทำเพื่อตนเองและครอบครัว
- I hated climbing these stairs more than anything. But once I was up, I would take each day as it came.
- ครั้งสองในค่ำคืนเดียวกัน หลังกลับจากร้านของรุ่นน้อง Yuri Bar พบเห็นอีกฝ่ายประสบความสำเร็จ ลูกค้ามากมายเต็มร้าน ทำเอา Keiko เกิดความโล้เล้ลังใจ ระหว่างก้าวขึ้นบันไดมีการหยุดระหว่างทาง ครุ่นคิดทบทวน ฉันจะทำยังไงต่อไปดี?
- สิ่งที่เธอทำก็คือย้ายจาก Lilac Bar ไปยัง Canton Bar
- ครั้งที่สามหลังจากตกหลุมรัก Mr. Sekine ก้าวขึ้นบันไดอย่างกระตือรือล้น เต็มไปด้วยด้วยรอยยิ้ม เบิกบานใจ
- ครั้งสุดท้ายตอนจบ พอมาถึงหน้าบันได หยุดชะงักชั่วครู่หนึ่ง ก่อนก้าวเดินขึ้นด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ อะไรพานผ่านไปแล้วก็ให้มันพัดผ่านไป ทำได้เพียงเริ่มต้นวันใหม่
แซว: ผมเพิ่งเอะใจว่าไม่เคยพบเห็นฉากระหว่างก้าวเดินลงบันได ถ้าจะกลับบ้านก็ตัดไปภายนอกร้าน … จริงๆมันมีตอนมารดาเดินขึ้น-ลงบันไดบ้าน แต่หนังไม่ถ่ายทำออกมาให้มีนัยยะสำคัญใดๆ

สถานที่ที่ Keiko พบเจอลูกค้าคนโปรดเพื่อขอหยิบยืม/กู้เงินเปิดร้านของตนเอง มีความน่าสนใจเคลือบแฝงอยู่
- Mr. Goda พบเจอในห้องพักโรงแรม สไตล์ญี่ปุ่น นั่งบนเสื่อ Tatami ตกแต่งผนังด้วยภาพวาดภูเขาไฟฟูจิ นั่งพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ
- Mr. Fujisaki พบเจอยังสถานที่ทำงาน ในห้องประชุมธนาคาร สังเกตว่าผนังกำแพงตกแต่งด้วยบล็อกแก้ว มองเห็นภายนอกเลือนลาง สามารถสะท้อนถึงความคลุมเคลือในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง พอเลขาเคาะประตูเรียกก็แสดงท่าขึงขัง จริงจังขึ้นมาโดยพลัน
- Mr. Sekine บังเอิญพบเจอ สวนทางกันในห้างสรรพสินค้า (สถานที่สาธารณะ ผู้คนไปมาขวักไขว่) เลยชักชวนกันมานั่งดื่ม ชวนคุย พูดแนะนำตรงๆว่า Keiko ควรมองหาใครสักคนแต่งงาน ไม่เหมาะสมกับสาวบาร์โฮสสักเท่าไหร่
แซว: จำนวนเงินที่ทั้งสามพร้อมจ่าย มันก็บ่งบอกตัวตน ความจริงใจของพวกเขาได้อย่างชัดเจน! Mr. Goda คือรวยจริง พ่อบุญทุ่ม, Mr. Fujisaki ขี้ตืด ขี้ขลาดตาขาว, Mr. Sekine อ้างอวด ทำเป็นมีเงิน



ที่อยู่อาศัยของ Keiko สะท้อนชีวิตจริง-โลกมายาได้อย่างชัดเจน
- บ้านจริงๆของเธอต้องขึ้นเรือข้ามแม่น้ำ อยู่ย่านชานเมือง ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล สภาพบ้านก็ดูเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์ญี่ปุ่น ห้องนอนชั้นบนมีหน้าต่าง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอก
- ตรงกันข้ามกับบ้านเช่าสุดหรูราคา 30,000 เยนต่อเดือน เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ โต๊ะเก้าอี้ เตียงนอนสุขสบาย แต่ห้องนอนปิดทึบ แทบไม่เคยพบเห็นเปิดม่านหน้าต่าง
Keiko พยายามถกเถียงกับมารดา สาวบาร์โฮสย่าน Ginza จำเป็นต้องสร้างภาพ แต่งตัวเลิศหรู อาศัยอยู่บ้านเช่าราคาแพง เพื่อให้สมวิทยฐานะของตนเอง แต่มันจำต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ? ไม่ใช่ว่าคือข้ออ้าง ความหมกมุ่นยึดติดของตัวเธอเองหรอกฤา?? … ผมมองสิ่งที่เธอทำ คือความพยายามดิ้นหลบหนี (Escapist) จากครอบครัว/โลกความจริงที่โหดร้ายเสียมากกว่า


Keiko ใช้น้ำหอม Narcisse Noir นี่เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Black Narcissus (1947) แถมยังเคลือบแฝงนัยยะคล้ายๆกันอีกต่างหาก! การฉีดน้ำหอม คือหนึ่งในวิธีสร้างภาพ มายาคติ เพื่อปกปิดบังกลิ่น(ตัว)ที่แท้จริง หรือก็คือตัวตนของบุคคลนั้น ทำให้เมื่อผู้อื่นได้รับสัมผัสทางกลิ่น บังเกิดความรู้สึกพึงพอใจ (ทั้งๆที่ตัวเราอาจมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ก็เป็นได้)

หลังจากที่ Keiko เริ่มมีใจให้ Mr. Sekine ใบหน้าของเธอเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความสดใส วันหนึ่งน่าจะแดดออกจร้า เลยเปิดหน้าต่างบ้าน ตากผ้าปูที่นอน แต่หลังจากถอดเสื้อคลุมสีขาว ช่วงเวลาแห่งความสุขก็พลันหมดลง ได้รับโทรศัพท์จากหญิงที่อ้างว่าคือภรรยาของ Mr. Sekine


Keiko เดินทางไปหาภรรยาของ Mr. Sekine พบเจอกันบริเวณชานเมือง ย่านอุตสาหกรรม พบเห็นโรงงานกำลังปล่อยควัน สถานที่แห่งนี้ช่างเวิ้งว้าง ทุรกันดารห่างไกล … คงเหมือนภรรยา(และบุตร)ที่ถูกทอดทิ้งโดย Mr. Sekine
อีกสิ่งน่าสนใจของภาพนี้ เด็กๆสองคนปั่นจักรยานวนรอบมารดาและ Keiko เหมือนเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์วุ่นๆวายๆของบิดา Mr. Sekine อวดร่ำอวดรวย ล่อหลอกหญิงสาวสวยไปทั่ว เคยบังเกิดขึ้น เวียนวน ซ้ำแล้วซ้ำอีก มาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้จักจบจักสิ้น

สำหรับผู้ชมที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง Keiko กับ Mr. Fujisaki นั่นเพราะก่อนหน้านี้นักแสดงทั้งสอง Hideko Takamine & Masayuki Mori เพิ่งเล่นบทคู่พระ-นางภาพยนตร์ Floating Clouds (1955) ชาติปางนี้พวกเขาเลยยังคงตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบเจอ แถมเหตุผลที่ไม่สามารถครองคู่อยู่ร่วม “I don’t have courage to break up my home.” ยังแบบเดียวกันอีกต่างหาก! … ตอนพูดว่ารักครั้งแรกจ้องหน้ามองตา แต่พอถูกถามย้ำกลับค่อยๆเบนหน้าหนี

ตอนต้นของหนัง Keiko เดินทางมาส่งรุ่นน้องเพิ่งแต่งงานกับแฟนหนุ่ม รอขึ้นรถไฟกลับบ้าน (ตอนกลางวัน), ช่วงท้ายของหนังเธอมาส่งลูกค้าคนโปรด Mr. Fujisaki กำลังจะเดินทางพร้อมครอบครัวไปทำงาน Osaka (ยามค่ำคืน)
นี่ถือเป็นอีก ‘สไตล์ Naruse’ ที่ชอบนำเสนอสองสิ่งขั้วตรงข้าม เริ่มต้น-สิ้นสุด หวนกลับสู่สามัญ สารพัดเรื่องราวชีวิตที่ได้พบเจอ ทำให้เธอยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรน เวียนวงกลม ไม่รู้จักจบจักสิ้น


ตัดต่อโดย Eiji Ooi, แต่ขึ้นชื่อในเครดิต Hideji Ooi, 大井英史 ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse ตั้งแต่ Wife (1953) จนถึง Scattered Clouds (1967)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองพร้อมเสียงบรรยายความครุ่นคิดของมาม่าซัง Keiko Yashiro ในช่วงวัยย่างเข้าสามสิบ ใกล้ถึงเวลาเกษียณตัวเอง ต้องเริ่มครุ่นคิดวางแผนถึงอนาคต จะทำอะไรยังไงต่อไป?
- ชีวิตสาวบาร์โฮส
- หนึ่งในสมาชิกบาร์โฮสเพิ่งแต่งงาน รอคอยมาม่าซัง Keiko กลับจากพูดคุยกับเจ้าของร้าน
- พอ Keiko กลับมาถึงร้าน สวนทางกับรถพยาบาล ได้ยินข่าวสาวบาร์โฮสฆ่าตัวตาย
- Keiko เดินทางไปส่งรุ่นน้องสาวขึ้นรถไฟไปฮันนีมูน
- ยามบ่ายเดินทางไปแต่งหน้าทำผม
- พอค่ำมืด Keiko มาถึงร้าน เดินขึ้นบันไดขึ้นไปให้บริการลูกค้าขาประจำ
- Keiko เดินทางไปเยี่ยมชมบาร์โฮสใหม่ของรุ่นน้อง Yuri
- Keiko ย้ายมาทำงานร้านใหม่ Carton Bar ให้การต้อนรับสามลูกค้าขาประจำ Mr. Goda, Mr. Fujisaki และ Mr. Sekine
- หลังเลิกงานอุ้มพารุ่นน้อง Junko กลับบ้านเช่า
- แผนการอนาคต
- ยามเช้า Kenichi เดินทางไปทวงเงินลูกค้าขาประจำ
- Keiko ทำอาหารเช้า พูดคุย ให้คำแนะนำกับ Junko
- Kenichi ร่วมรักกับ Junko
- Mr. Goda อาสาออกทุนทำธุรกิจให้กับ Keiko
- Keiko นำแนวคิดดังกล่าวมาพูดคุยกับ Kenichi ครุ่นคิดแผนการกู้ยืมเงินจากลูกค้าขาประจำคนอื่นๆ
- Keiko & Kenichi เดินทางไปดูสถานที่ที่ครุ่นคิดจะเปิดบริการบาร์แห่งใหม่
- Keiko พบเจอกับ Yuri เล่าถึงเบื้องหลังธุรกิจที่เต็มไปด้วยหนี้สิน ครุ่นคิดแผนการฆ่าตัวตายหลอกๆ
- Keiko เดินทางไปพบเจอ Mr. Fujisaki ชักชวนมาลงทุน, สวนทางกับ Mr. Sekine เลยชวนคุยเรื่องลงทุนเช่นกัน
- วันหนึ่งระหว่างกำลังทำผม Keiko ได้ยินข่าวคราวการเสียชีวิตของ Yuri
- เดินทางไปงานศพของ Yuri กลับได้ยินแต่เรื่องหนี้สิน
- Keiko แสดงความไม่พึงพอใจต่อเจ้าของร้าน
- อนาคตที่ไม่แน่นอน
- Keiko ล้มป่วยแผลในกระเพาะอาหาร เดินทางกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
- ผู้จัดการบาร์เดินทางมาเยี่ยมเยียน
- Mr. Goda แวะเวียนมายังบ้านเช่าของ Keiko พบเจอแต่ Junko
- สารพัดปัญหาครอบครัวของ Keiko
- Mr. Sekine แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน Keiko ที่บ้าน
- Keiko กลับมาทำงาน แต่เธอปฏิเสธลูกค้า
- ระหว่างทางกลับบ้านเช่า พบเจอ Mr. Sekine อาสาขับรถพาไปส่ง
- พี่ชายทนายความ แวะเวียนมาขอหยิบยืนเงิน
- Mr. Sekine หวนกลับมามองของขวัญ ทำให้ Keiko เริ่มมีใจให้อีกฝ่าย
- ความจริงที่โหดร้าย
- Junko ลาออกจากงาน เพราะได้หมั้นหมายธุรกิจกับ Mr. Goda
- ภรรยาของ Mr. Sekine โทรศัพท์ติดต่อหา นัดพบเจอ พูดเล่าเบื้องหลังความจริง
- ค่ำคืนนี้ Keiko ดื่มด่ำเมามาย Mr. Fujisaki เลยฉกฉวยโอกาสพาเธอไปส่งที่ห้อง
- จากนั้นทำการข่มขืน/ร่วมรัก เช้าตื่นขึ้นมาสารภาพความจริงว่ากำลังจะออกเดินทางไป Osaka
- Kenichi แวะเวียนมาหา Keiko พยายามสารภาพรัก แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
- Kenichi ตัดสินใจลาออกจากงาน แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนร้านใหม่ของ Junko
- Keiko เดินทางไปส่ง Mr. Fujisaki ที่สถานีรถไฟ
- ท้ายที่สุด Keiko กลับมาเดินขึ้นบันได ยังทำคงเป็นสาวบาร์โฮสต่อไป
ปล. ก่อนหน้านี้มีบางผลงานของผกก. Naruse ที่ใช้เสียงบรรยาย (Voice-Over) ความครุ่นคิดตัวละคร แต่ไม่ถึงขนาดเล่าโน่นนี่นั่น อธิบายความเป็นไปของเรื่องราว ช่วยให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆง่ายยิ่งขึ้น … นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้ชาวตะวันตก เพราะส่วนใหญ่ไม่รับรู้พื้นฐานวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่น จึงไม่สามารถทำความเข้าใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านั้น
เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi, 黛 敏郎 (1929-97) คีตกวีแนว Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama, โตขึ้นเข้าเรียนสาขาดนตรี Tokyo National University of Fine Arts and Music เป็นลูกศิษย์ของ Tomojirō Ikenouchi และ Akira Ifukube, ด้วยความชื่นชอบดนตรีตะวันตก เลยเดินทางไปศึกษาต่อ Conservatoire de Paris รังสรรค์ผลงาน Symphony, Ballet, Opera, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Street of Shame (1956), Enjō (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ
งานเพลงในภาพยนตร์ของผกก. Naruse มักเลือกใช้บทเพลงคลาสสิก ร่วมงานขาประจำ Ichirō Saitō แต่ทว่า When a Woman Ascends the Stairs (1960) ปรับเปลี่ยนมาใช้บริการ Toshiro Mayuzumi เพราะประทับใจดนตรีแจ๊สนุ่มๆ Cocktail Jazz สร้างบรรยากาศครึกครื้น เริงรื่น เหมาะสำหรับบรรเลงในบาร์โฮส คลอประกอบพื้นหลังเบาๆ เพื่อให้สาวๆ(บาร์โฮส)พูดคุยสนทนากับลูกค้ามาใช้บริการ
สัมผัสของสไตล์เพลง Cocktail Jazz ฟังดูเบาบาง เลื่อนลอย เหมือนชีวิตของ Keiko ดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้จุดมุ่งหมาย เธอโหยหาอะไรสักสิ่งอย่าง พยายามเอื้อมมือไขว่คว้า แต่ไม่สามารถได้มาครอบครอง ทำได้เพียงทอดถอนลมหายใจ แล้วอดรนทน กัดฟันสู้ต่อไป
สาวบาร์โฮส เกอิชา โสเภณี ล้วนคืออาชีพขายบริการ ไม่ต่างจากของเล่น วัตถุทางเพศ (Object of Desire) สำหรับเติมเต็มตัณหาความใคร่ มันอาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมตามสามัญสำนึก ศีลธรรม มโนธรรม (บางประเทศยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย) แต่มันคือห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน คนรวยมีเงินมากมาย คนจนต้องการเงินมาจับจ่ายใช้สอย กลายเป็นสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากทอดถอนลมหายใจ
ทุกครั้งที่ Keiko ก้าวขึ้นบันไดชั้นสอง When a Woman Ascends the Stairs ล้วนเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น เหน็ดเหนื่อยหน่าย ทุกข์ทรมานใจ เพราะมันคือสถานที่ทำงาน ร้านบาร์โฮส หรือจะเรียกว่าสรวงสวรรค์ของบุรุษ! เธอต้องสวมบทบาท เล่นละคอนตบตา ปรนเปรอนิบัติลูกค้า เมื่อพวกเขาได้รับความสุข ถึงตอบแทนด้วยเงินคืนกลับมา
บาร์โฮสว่ากันว่ามีจุดกำเนิดในย่าน Ginza ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มต้นจากคาเฟ่ ขายขนม ขายกาแฟ พัฒนาต่อยอดมาเป็น Snack Bar, Host Bar มีสาวๆมานั่งดื่ม ชวนคุย เรียกลูกค้า จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ธุรกิจนี้กลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
มันอาจฟังดูขัดย้อนแย้ง แต่สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หลังสงคราม (ยุคสมัย Great Depression) ทำให้ผู้คนโหยหาความสุขสำราญ ต้องการดิ้นหลุดพ้นความทุกข์ยากลำบาก (Escapist) สถานที่อย่างบาร์โฮส ทำให้พวกเขาสามารถปลดปล่อย พักผ่อนคลาย หายจากความกังวล
- Mr. Goda ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น ภรรยาคงเลิกเอาอกเอาใจ ไม่ได้ทำการบ้านมานาน เดินทางมา Tokyo บ่อยครั้ง โหยหาใครสักคนสร้างความสุขสำราญ(กาย)ใจ
- Mr. Sekine ด้วยความยากจนข้นแค้น ดูเหมือนทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ชอบจำอวดอ้างว่ามีสตางค์ มอบความหวังให้สาวบาร์โฮสไปทั่ว … แม้เพียงความเพ้อฝัน ก็ราวกับสามารถหลบหนีจากความทุกข์ยากลำบากในชีวิต
- Mr. Fujisaki ทำงานธนาคาร แต่งงานมีบุตรชาย-สาว แต่ดูแล้วคงเบื่อหน่ายชีวิตครอบครัว โหยหาอิสรภาพ ต้องการครองรักกับ Keiko ถึงอย่างนั้นเขากลับเก่งแต่ปาก ตัวจริงก็แค่คนขี้ขลาดเขลา
และสำหรับผู้จัดการ Kenichi Komatsu ทำงานร่วมกันมานาน “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” เข้าใจตัวตนอีกฝ่าย การที่เราสองจะครองรักกัน มันไม่เป็นประโยชน์อันใด เพราะต่างคนต่างไม่มีเงิน ไม่มีความก้าวหน้า อนาคตก็คงต้องจมปลักอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถหลบหนีจากความทุกข์ทรมาน
เมื่อไม่หลงเหลือใครสามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัย Keiko เลยจำต้องก้มหน้าก้มตา ก้าวเดินขึ้นบันได ทำหน้าที่บาร์โฮสของตนเองต่อไป อนาคตมันช่างมืดหม่น อับจน ไร้หนทาง
ผกก. Naruse เป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ ไม่น่าจะชอบเที่ยวกลางคืน บาร์โฮส ไนท์คลับ แต่ความสนใจของเขาล้วนเกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องอดรนทน ต่อสู้ชีวิต โหยหาอิสรภาพ (ที่มักไม่ค่อยมาถึง) และช่วงหลังสงครามโลก (Post War) มักเพิ่มเติมความเปลี่ยนแปลงยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยินยอมรับ ปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่
ในญี่ปุ่น เสียงตอบรับของ When a Woman Ascends the Stairs (1960) ค่อนข้างซบเซาพอสมควร (เลยไม่ได้มีลุ้นรางวัลประจำปีใดๆ) อาจเพราะการมาถึงของของบรรดาผู้กำกับรุ่น Japanese New Wave กำลังนำพาความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น
When a Woman Ascends the Stairs (1960) คือภาพยนตร์เรื่องที่สองถัดจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ที่มีโอกาสเดินทางไปฉายสหรัฐอเมริกา ระหว่างผกก. Naruse ยังมีชีวิตอยู่! แต่สิ่งคาดไม่ถึงคือเสียงตอบรับดีล้นหลาม (ตรงกันข้ามกับ Wife! Be Like a Rose! (1935) ที่ถูกวิจารณ์เสียๆหายๆ จนรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธนำหนังออกฉายต่างประเทศนานนับทศวรรษ) นั่นกระมังคือเหตุผลที่ทำให้หนังได้ 100 คะแนนเต็มจากเว็บมะเขือเน่า และเป็นที่รักใคร่ของชาวตะวันตก
มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ที่การจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Kinema Junpo ฉบับเมื่อปี ค.ศ. 1999 หนังเรื่องนี้จะไม่ติดอันดับใดๆ แต่ทศวรรษถัดมา Top 200 best Japanese movies ever made (2009) #ติดอันดับ 126 อาจไม่ได้สูงมากแต่แสดงถึงการยินยอมรับของผู้ชมสมัยใหม่
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ (แต่ก็น่าจะใกล้แล้วละ) ฉบับของ Criterion Collection มีเพียง HD Digital Transfer จัดจำหน่าย DVD เมื่อปี ค.ศ. 2007 เอาไว้รับชมแก้ขัดไปก่อน
ผมรู้สึกเสียดายตนเองหลายๆอย่าง เพราะติดภาพจำ ‘สไตล์ Naruse’ มันจึงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะเริ่มยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถชื่นเชยชมหนังได้อย่างเต็มอิ่มหนำตั้งแต่ต้นจนจบ … แอบอิจฉาคนไม่เคยรับชมผลงานอื่นๆของผกก. Naruse แล้วมาเริ่มต้นที่หนังเรื่องนี้ ย่อมได้รับประสบการณ์แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง!
แต่ขณะเดียวกันประสบการณ์ที่ผมได้รับครั้งนี้ จะว่าไปมันช่างละม้ายคล้ายเรื่องราวของตัวละคร (และผกก. Naruse) ทำให้เข้าใจความยุ่งยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ … กับแค่ปรับเปลี่ยนอัตราส่วนภาพยังสร้างความวุ่นวายได้เพียงนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมต้องยุ่งยาก ทุกข์ทรมานใจกว่าหลายเท่าตัว!
จัดเรต 15+ สุรานารี วิถีชีวิตยามค่ำคืน สตรีคือวัตถุทางเพศของบุรุษ
Leave a Reply