
Flowing (1956)
: Mikio Naruse ♥♥♥♥
Kinuyo Tanaka รับบทแม่บ้าน/คนใช้ (Housemaid) เข้าทำงานยัง Okiya สถานที่พักอาศัยของสาวๆเกอิชา (Geisha) พบเห็นฉากหลัง ความวุ่นๆวายๆ พวกเธอไม่ได้กินหรูอยู่สบายอย่างที่ใครๆครุ่นคิดเข้าใจกัน
ด้วยความที่ Flowing (1956) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเกอิชา (Geisha) จึงมักถูกเปรียบเทียบกับ Street of Shame (1956) ผลงานสวอนซองของ Kenji Mizoguchi ที่เข้าฉายปีเดียวกัน แต่เกอิชากับโสเภณีมันคนละอาชีพกันเลยนะ!
- Street of Shame (1956) นำเสนอวิถีชีวิต การทำงานของโสเภณี พยายามวิพากย์วิจารณ์กฎหมาย Prostitution Prevention Law หรือ Anti-Prostitution Law ตอนนั้นกำลังได้รับการผลักดัน ผ่านการอนุมัติวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 (ภายหลังหนังออกฉาย) แต่เริ่มใช้จริง 1 เมษายน ค.ศ. 1957
- Flowing (1956) นำเสนอฉากหลัง ความวุ่นๆวายๆของสาวๆเกอิชา ผ่านมุมมองแม่บ้าน/คนใช้ ทำได้เพียงจับจ้องมอง ปล่อยชีวิตล่องลอย เลื่อนไหล ทอดถอนหายใจ ไร้สิทธิ์เสียง ไม่สามารถทำอะไรสักสิ่งอย่าง
เกร็ด: เกอิชา (芸者, Geisha) คือผู้ชำนาญทางศิลปะและให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เป็นเสมือนผู้คอยต้อนรับและปรนนิบัติแขก ไม่ใช่โสเภณีที่มุ่งเน้นขายบริการทางเพศ
ตอนรับชม Flowing (1956) ผมยังรู้สึกลอยๆอยู่กับ Floating Clouds (1955) แต่ด้วยแนวทางนำเสนอที่แตกต่าง ทำเอาตกสวรรค์เลยละ! ไม่มีเรื่องราวซาบซึ้งกินใจ ส่วนใหญ่เวียนวนอยู่ภายใน Okiya แวะออกไปภายนอกแค่บางครั้งครา แถมตัวละครมากมาย เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ
แต่ผมชื่นชอบแนวคิดของหนังนะ พยายามนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองบุคคลที่สาม ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิด ตัดสินเรื่องราว ตัวละคร สะท้อนความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหลไปตามกระแสธารา
The river is everywhere.
Siddhartha (1922) ประพันธ์โดย Hermann Hesse
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งการมาถึงของ Repast (1951) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับ และกวาดรางวัลในญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน
สำหรับ 流れる อ่านว่า Nagareru แปลตรงตัว Flowing, Streaming, ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ Aya Kōda, 幸田文 (1904-90) นักเขียนหญิงสัญชาติญี่ปุ่น โดยเรื่องราวนำจากประสบการณ์ตรง ช่วงต้นทศวรรษ 50s เคยทำงานเป็นแม่บ้าน/คนใช้ยัง Okiya แห่งหนึ่งในย่านโคมแดง Yanagibashi, Tokyo
เกร็ด: Nagareru (1955) ถือเป็นผลงานมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Aya Kōda และยังสามารถคว้ารางวัลวรรณกรรม Shinchō Literary Prize และ Japan Art Academy Prize
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Toshirō Ide, 井手 俊郎 (1910-88) และ Sumie Tanaka, 田中澄江 (1908-2000) พวกเธอทั้งสองต่างคือขาประจำผกก. Naruse เคยร่วมงานกันมาแล้วหลายครั้ง มีการเพิ่มเติมรายละเอียดที่อยู่นอกเหนือมุมมองแม่บ้าน/คนใช้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และปรับเปลี่ยนตอนจบ Rika/Oharu ตอบปฏิเสธแทนที่จะย้ายสถานที่ทำงานใหม่
เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองของแม่บ้าน/คนใช้ Rika (รับบทโดย Kinuyo Tanaka) หญิงหม้ายวัยกลางคน เริ่มต้นย้ายเข้ามาทำงานยัง つたの屋, Tsuta House สถานที่พักอาศัยของสาวๆเกอิชา เจ้าของคือ Otsuta (รับบทโดย Izuzu Yamada) รู้สึกว่าชื่อ Rika ออกเสียงยากไปหน่อยจึงเปลี่ยนเป็น Oharu
ตอนสมัยรุ่งเรือง Tsuta House เคยมีเกอิชามากถึง 7 คน แต่ล่าสุด Namie เพิ่งลาออกเพราะอ้างว่าถูกโกงค่าตัว หลงเหลือสมาชิกเพียงแค่ 2 คน Someka (รับบทโดย Haruko Sugimura) และ Nanako (รับบทโดย Mariko Okada) ส่วนสมาชิกที่เหลือประกอบด้วยน้องสาว Yoneko (รับบทโดย Chieko Nakakita), บุตรสาว Katsuyo (รับบทโดย Hideko Takamine) และหลานสาว/บุตรสาวของ Yoneko ที่ถูกสามีทอดทิ้ง
สารพัดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆบังเกิดขึ้นใน Tsuta House พบเห็นโดย Rika/Oharu ประกอบด้วย
- Otoyo (รับบทโดย Natsuko Kahara) พี่สาวต่างมารดาของ Otsuta พยายามกดดันให้เธอจ่ายหนี้สินที่เคยหยิบยืมไป หรือไม่ก็ตอบตกลงแต่งงานใหม่
- Otsuta ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่เกอิชา Ohama (รับบทโดย Sumiko Kurishima) สามารถหยิบยืมจากลูกค้าเก่า Hanayama ได้มา 100,000 เยน
- แต่ทว่าเงินครึ่งหนึ่งต้องจ่ายค่าปิดปากลุงของ Namie มาทวงเงินให้หลาน สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายถ้าไม่ยอมจ่าย จนมีเรื่องต้องขึ้นโรงพัก
- ท้ายที่สุด Otsuta ตัดสินใจขาย Tsuta House ให้กับรุ่นพี่ Ohama ที่วางแผนจะปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นร้านอาหารแห่งใหม่
Isuzu Yamada, 山田 五十鈴 ชื่อจริง Mitsu Yamada, 山田 美津 (1917-2012) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka ในครอบครัวนักแสดง มารดาเป็นเกอิชา เสี้ยมสอนเล่นดนตรี ฝึกฝนการเต้นตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเซ็นสัญญาสตูดิโอ Nikkatsu โด่งดังกับ Osaka Elegy (1936), Sisters of the Gion (1936), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Flowing (1956), Tokyo Twilight (1957), The Lower Depths (1957), Throne of Blood (1957), Yojimbo (1961) ฯ
เกร็ด: นิตยสาร Kinema Junpo จัดอันดับ Movie Star of the 20th Century ฝั่งนักแสดงหญิงของประเทศญี่ปุ่น Isuzu Yamada #ติดอันดับ 6
รับบท Otsuta แม่เล้าเจ้าของ Tsuta House อดีตเป็นเกอิชาชื่อดัง เคยแต่งงาน ให้กำเนิดบุตรสาว Katsuyo แต่เมื่อสามีจากไป ทิ้งหนี้ก้อนใหญ่ เลยต้องเปิด Okiya เพื่อหาเงินมาใช้หนี้พี่สาว Otoyo ถึงอย่างนั้นกิจการช่วงนี้กำลังซบเซา หลงเหลือเกอิชาในสังกัดเพียงสองคน จำต้องขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ Ohama จนแล้วจนรอด ไร้หนทางออก เลยตัดสินใจขายต่อกิจการ
รูปหน้าเรียวยาวของ Yamada ชวนนึกถึงภาพวาดหญิงสาวในโลกเลื่อนลอย (งานศิลปะ Ukiyo-e) เหมาะมากๆกับบทบาทแม่เล้าเกอิชา อายุอานามกำลังเหมาะสม ช่วงวัยกลางคนใกล้สี่สิบ เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ประสบการณ์ รู้จักใช้มารยาหญิงเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ
การแสดงของ Yamada อาจไม่ได้บดขยี้อารมณ์ ดราม่าเข้มข้น แต่เธอสามารถสร้างบุคลิกตัวละครให้น่าจดจำ ชอบทำตัวอวดเก่ง สร้างภาพเข้มแข็ง ดุดันกับบุคคลในสังกัด, พออยู่ตัวคนเดียว เผชิญหน้าเจ้าหนี้ รุ่นพี่เกอิชา หรือลูกค้นขาประจำ กลับแสดงออกเหมือนลูกแมวน้อย ส่งสายตาออดอ้อน อ่อนไหว พยายามทำตัวให้น่าสงสารเห็นใย เรียกว่าเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม มารยา จนแยกไม่ออกว่าไหนตัวจริง ไหนการละคอน
ฉากน่าประทับใจที่สุดคือตอน Otsuta เตรียมตัวไปพบลูกค้าคนโปรด แต่งองค์ทรงเครื่อง เต็มยศเกอิชาในรอบหลายปี เบ่งบานด้วยรอยยิ้ม ดูสวยสาวขึ้นสิบปี! แต่พออีกฝ่ายผิดนัด ไม่สามารถเดินทางมาหา สีหน้าห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว เต็มไปด้วยความผิดหวัง ทอดถอนลมหายใจ พลันแก่ลงสิบปี!
Hideko Takamine, 高峰 秀子 (1924-2010) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hakodate, Hokkaido หลังจากมารดาเสียชีวิตตอนอายุ 4 ขวบ ย้ายมาอาศัยอยู่กับคุณป้าที่กรุง Tokyo เข้าตาแมวมองสตูดิโอ Shōchiku เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก Mother (Haha) (1929) จนได้รับฉายา ‘Japan’s Shirley Temple’ น่าเสียดายหลายๆผลงานสูญหายไปช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ช่วงทศวรรษ 50s-60s กลายเป็นนักแสดงฟรีแลนซ์ ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Keisuke Kinoshita และ Mikio Naruse ผลงานเด่นๆดังๆ อาทิ Lightning (1952), Twenty-Four Eyes (1955), Floating Clouds (1956), Time of Joy and Sorrow (1958), The Rickshaw Man (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Happiness of Us Alone (1961), A Wanderer’s Notebook (1962), Yearning (1964) ฯ
เกร็ด: นิตยสาร Kinema Junpo จัดอันดับ Movie Star of the 20th Century ฝั่งนักแสดงหญิงของประเทศญี่ปุ่น Hideko Takamine #ติดอันดับ 4
รับบท Katsuyo บุตรสาวของ Otsuta เคยทดลองฝึกฝน ก่อนค้นพบว่าตนเองไม่เหมาะสมที่จะเป็นเกอิชา ตอนนี้โตเป็นสาว ไม่อยากแต่งงาน แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ช่วยเหลือกิจการมารดาก็ไม่ได้ เลยพยายามมองหางานใหม่ ฝึกฝนเย็บปักถักร้อย ก็หวังว่าสักวันจะสามารถเอาตัวรอดด้วยตนเอง
ด้วยวัยวุฒิ 30+ กว่าๆ ทีแรกก็แอบรู้สึกว่า Takamine จะแก่เกินไปไหม? แต่ใบหน้าของเธอยังดูสวยสาว ละอ่อนเยาว์วัย เลยพอยินยอมรับได้ ส่วนการแสดงเอาจริงๆก็ไม่แย่ แต่ถ้าคุณเพิ่งรับชม Floating Clouds (1956) อาจรู้สึกผิดหวังพอสมควร … อันนี้เป็นการพร่ำบ่นเรื่อยเปื่อยเท่านั้นนะครับ มันไม่ใช่ว่านักแสดงจะได้รับบทโดดเด่นตลอดเวลา มันต้องมีเด่นบ้าง-ไม่เด่นบาง ถ้าไม่ได้รับชมติดๆกันคงไม่รู้สึกอะไรหรอก
บทบาทนี้ของ Takamine ชวนนึกถึงตอนแสดงภาพยนตร์ Lightning (1952) หญิงสาวหลังพบเห็นความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วงของสมาชิกครอบครัว เลยเกิดความมุ่งมั่น เสียงขันแข็ง ปฏิเสธการแต่งงาน โหยหาอิสรภาพ ก้าวออกจากพันธนาการกรงขัง, บทบาทใน Flowing (1956) ก็มีความละม้ายคล้ายคลึง แต่จุดแตกหักไม่ใช่การหลบหนี เพียงกำลังมองหาสิ่งที่สามารถทำให้ ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ … พอไม่มีจุดแตกหัก Takamine เลยไม่ได้แสดงความสามารถสักเท่าไหร่
แซว: ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีฉากที่ตัวละครของ Takamine จับจ้องมองฟ้าแลบ (Lightning) … ใครเคยรับชม Lightning (1952) ย่อมเข้าใจสิ่งที่ผมกล่าวถึงนี้
Kinuyo Tanaka, 田中 絹代 (1909-77) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shimonoseki, Yamaguchi ในครอบครัวค้าขายกิโมโน ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเล่นเครื่องดนตรี Biwa เคยเข้าร่วมคณะ Biwa Girls’ Operetta Troupe ต่อมาเซ็นสัญญากับสตูดิโอ Shochiku เริ่มจากมีผลงานหนังเงียบ I Graduated, But… (1929), แสดงหนังพูดเรื่องแรกของญี่ปุ่น The Neighbor’s Wife and Mine (1931) ประสบความสำเร็จล้นหลามจนหลายๆผลงานติดตามมาต้องตั้งชื่อตามอย่าง The Kinuyo Story (1930), Doctor Kinuyo (1937), Kinuyo’s First Love (1940) ฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สองออกจากสังกัดเก่ากลายเป็นนักแสดง Freelance ทำให้มีโอกาสร่วมงานหลากหลายผู้กำกับดัง อาทิ The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), Sansho the Baliliff (1954), The Ballad of Narayama (1956), Flowing (1956), Equinox Flower (1958) ฯ
เกร็ด: นิตยสาร Kinema Junpo จัดอันดับ Movie Star of the 20th Century ฝั่งนักแสดงหญิงของประเทศญี่ปุ่น Kinuyo Tanaka #ติดอันดับ 5
รับบท Rika ตั้งแต่สูญเสียสามีและบุตร เธอจำต้องพึ่งพาอาศัยตนเอง ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น จึงไม่ค่อยมีใครอยากว่าจ้างงาน จนกระทั่งเดินทางมาถึง Tsuta House ได้รับความเอ็นดูจากเจ้าของ Otsuta ตั้งชื่อให้เรียกง่ายๆว่า Oharu กลายเป็นแม่บ้าน/คนใช้ มีความซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง ได้รับชื่นชมไม่เว้นวัน
เกร็ด: ชื่อเล่น Oharu เพราะผู้เขียนนวนิยายชื่นชอบประทับใจภาพยนตร์ The Life of Oharu (1952) แต่สิ่งคาดไม่ถึงคือผกก. Naruse สามารถต่อรอง Kinuyo Tanaka ผู้เคยรับบท Oharu ให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สำเร็จ
แม้หนังจะดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง Rika/Oharu แต่ทว่าเธอเป็นเพียงตัวประกอบพื้นหลัง แม่บ้านปัดกวาดเช็ดถู เตรียมอาหาร ยกข้าวของ เดินทางไปซื้อโน่นนี่นั่น ทำตามคำสั่งนายจ้าง ฯ กับนักแสดงระดับ Tanaka บางคนอาจรู้สึกเสียดายศักยภาพของเธอ ซุปเปอร์สตาร์ค้างฟ้า แต่สิ่งที่หนังต้องการคือพลังดารา (Charisma) เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับนักแสดงคนอื่นๆ ผู้ชมหลายๆคนก็มักคอยสังเกต จับจ้องมองหา นางเอกคนโปรดกำลังทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร
บุคลิกภาพของ Tanaka ก็เหมาะสมกับตัวละคร เป็นคนขยันขันแข็ง ตั้งใจทำการทำงาน ไม่เคยพร่ำบ่น นินทาใครลับหลัง (มีแต่คนอื่นๆที่ชอบเข้ามาซุบซิบโน่นนี่นั่น) จนกลายเป็นที่รัก ได้รับคำชื่นชมจากทุกคน และสิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิเสธทรยศหักหลังนายจ้าง ตอนจบจึงมองทุกคนด้วยความขื่นชม ทอดถอนหายใจต่อโชคชะตาพวกเขา
ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, 玉井正夫 (1908-97) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsuyama ยังไม่ทันเรียนจบเข้าฝึกงานสตูดิโอ Teikoku Kinema Geijutsu ก่อนย้ายมา Ichikawa Utaemon Production จากนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Japanese Society Of Cinematographers (JSC) พอมาปักหลักอยู่ P.C.L./Toho กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Summer Clouds (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่น Godzilla (1954), Happiness of Us Alone (1961) ฯ
งานภาพของหนังถือเป็นการหวนกลับหารากเหง้าของผกก. Naruse ผิดแผกแตกต่างจาก Floating Clouds (1955) ที่ออกตระเวนไปถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ, Flowing (1956) สร้างฉากภายในทั้งหมดขึ้นยังสตูดิโอ Toho บันทึกภาพการสนทนา นานๆครั้งถึงพบเห็นออกไปข้างนอก เดินไปคุยไปนี่นับครั้งได้
หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Naruse’ คือภาพเริ่มต้น Establishing Shot โดยปกติแล้วมันควรจะเป็นทิวทัศน์มุมกว้าง พบเห็นรายละเอียดโดยรอบ แต่ภาพยนตร์ของผกก. Naruse นิยมเริ่มต้นด้วยภาพตรอกซอกซอย ตัวประกอบเดินไปมา (หรือกระทำบางสิ่งอย่าง) บริเวณหน้าบ้าน/ร้านค้า สถานที่ที่กำลังจะมีเรื่องราวบังเกิดขึ้น


เจ้าแมวเหมียว สัตว์สำหรับสร้างความพักผ่อนหย่อนใจให้เจ้าของ ใครละเล่นกับมันแสดงถึงจิตใจดีงาม ใครใช้ความรุนแรง โยนทิ้ง ก็ไม่น่าจะนิสัยดีสักเท่าไหร่ … ผมเลือกภาพช็อตนี้ที่มีความน่ารักน่าชัง เจ้าเหมียวกำลังเลียขน = Otsuta หยิบเสื้อคลุมขึ้นมาสวมใส่ (รักสวยรักงามเหมือนกัน)

ผมจดจำไม่ได้ว่าบุตรสาวของ Yoneko ป่วยเป็นโรคอะไร? แต่เธอเริ่มแสดงอาการเมื่อตอนพี่สาว Otoyo (ของ Otsuta) เดินทางมาทวงหนี้ (หลังจาก Otsuta ปฏิเสธแต่งงานกับผู้อุปถัมภ์ Mr. Maramatsu) … นี่เป็นการนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ Otsuta = Yoneko, พี่สาวขี้งก = บุตรสาวล้มป่วย, เหมือนต้องการจะสื่อว่าพฤติกรรมพี่สาวที่สนเพียงเงินๆทองๆ น้องแท้ๆ(ต่างแม่)ยังไม่ประณีประณอม มันเหมือนคนป่วย(จิต)ชัดๆ
มันจะมีหลายครั้งที่หนังนำเสนอ 2-3 เรื่องราวดำเนินคู่ขนาน ซึ่งแทบทั้งนั้นล้วนเป็นภาพสะท้อน เชิงเปรียบเทียบ หรือบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน!


ใคยเคยรับชม Lightning (1952) น่าจะมักคุ้นกับตัวละครของ Hideko Takamine ระหว่างถกเถียงมารดา เหม่อมองภายนอก พบเห็นฟ้าแลบอยู่ไกลๆ นัยยะก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่ หญิงสาวต้องการทำบางสิ่งอย่างที่ขัดต่อคำสั่งมารดา (ขัดต่อวิถีธรรมชาติ/ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยยึดถือกันมา) … ในขณะนี้ Katsuyo ยังไม่รับรู้ว่าจะทำอะไร เพิ่งบังเกิดแรงผลักดัน ประกายความคิดชั่ววูบ (=ฟ้าแลบ) อยากจะทำบางสักสิ่งอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระมารดา

Otsuta แต่งองค์ทรงเครื่อง แต่งหน้าทำผม (อยู่ชั้นบน) แต่งเต็มยศเกอิชาในรอบหลายปี เพื่อเดินทางไปพบเจอผู้อุปถัมภ์ Mr. Hanayama ระหว่างพูดคุยกับ Oharu ก็พรรณาสรรพคุณตนเองในอดีต (ภาพสะท้อนในกระจก) กล่าวถึงอาชีพเกอิชาสมัยก่อน เมื่อเทียบกับปัจจุบัน … มีการแทรกภาพสาวๆ (อยู่ชั้นล่าง) กำลังเลือกผ้ากิโมโนผืนใหม่ “Young geisha today are just like any other women.”


นี่เป็นฉากที่สำแดงเบื้องหน้า-หลัง วิถีเกอิชา ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด Someka (รับบทโดย Haruko Sugimura) และ Nanako (รับบทโดย Mariko Okada) หลังกลับจากรับงาน ดื่มหนัก มึนเมา แต่ยังคงครึกครื้น เกษมสำราญ ก่อนเกิดอาการคลื่นเหียร วิงเวียน (เพราะดื่มหนักไปหน่อย) รีบตรงไประเบียง อาเจียรสิ่งที่อยู่ในท้องไส้ออกมา … สุขกระสันต์เบื้องหน้า กลับมาทนทุกข์ทรมาน


ถ้าไม่นับอารัมบท-ปัจฉิมบท ตลอดทั้งเรื่องมีเพียงซีเควนซ์นี้ที่ถ่ายติดแม่น้ำ (ผมขี้เกียจหาข้อมูลว่าแม่น้ำอะไร) Katsuyo และ (ใครสักคน) เดินเลียบริมตลิ่ง พูดคุยกันถึงอนาคตอาชีพเกอิชา แต่สิ่งที่เธอสนใจจริงๆคือพยายามมองหาอะไรที่ทำแล้วสร้างรายได้ สามารถพึ่งพา/เอาตัวรอดด้วยตนเอง … นั่นถือเป็นลักษณะของการว่ายทวนกระแสน้ำ (ทิศทางที่เธอก้าวเดิน ก็สวนทางกับเส้นทางน้ำไหล) ปฏิเสธทำตามวิถีที่มารดาพร่ำสอนสั่ง

ต้นฉบับนวนิยาย ตัวละคร Rika/Oharu คือตัวแทนผู้แต่งนวนิยาย Aya Kōda ซึ่งหลังจาก Tsuta House ถูกขายกิจการต่อให้ Ohama ก็ตอบตกลงย้ายงาน สอดคล้องชื่อหนัง Flowing ล่องลอยตามความเปลี่ยนแปลง/กระแสธารา ไม่ได้ฝืนโชคชะตาอย่างที่ผกก. Naruse ปรับเปลี่ยนให้ตัวละครตอบปฏิเสธ อาจด้วยเหตุผลคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ไม่ต้องการทรยศหักหลังนายจ้าง Otsuta หรืออะไรอย่างอื่นก็แล้วแต่
มันมีหลายๆผลงานของผกก. Naruse อาทิ Repast (1951), Sound of the Mountain (1954) ฯ ที่นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร พบเห็นความวุ่นๆวายๆของผู้คนรอบข้าง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอดรนทน เพิกเฉยเฉื่อยชา ตัดสินใจแสดงตนเองออกมา … การตัดสินใจของ Oharus ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะผกก. Naruse มิอาจอดกลั้นความรู้สึกตนเอง จำเป็นต้องแสดงทัศนคติออกมา

มีเฉพาะ Oharu และผู้ชมที่รับรู้อนาคตของ Tsuta House (จากคำบอกกล่าวของ Ohama) แต่เธอไม่สามารถพูดบอก แสดงออกมา ทำได้เพียงสงบนิ่งเฉย ทอดถอนลมหายใจ เต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ
- Katsuyo เป็นบุคคลเดียวที่ปฏิเสธล่อยลอยตามกระแสธารา ก้มหน้าก้มตา ฝึกฝนการเย็บปักถักร้อย (อยู่ชั้นบนของ Tsuta House) เผื่อว่าในอนาคต จักสามารถพึ่งพา/เอาตัวรอดด้วยตนเอง
- ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ (อยู่ชั้นล่าง) ต่างยังคงเพลิดเพลิน หลงระเริง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเคยดำเนินชีวิตมา ปล่อยตัวปล่อยใจ ล่องลอยไปตามกระแสธารา โดยไม่ครุ่นคิดจะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรสักสิ่งอย่าง


เริ่มต้น-สิ้นสุด ถ่ายภาพแม่น้ำ กระแสธารเคลื่อนไหล เพื่อให้สอดคล้องชื่อหนัง Flowing แต่นัยยะของชื่อนี้มันตีความได้หลากหลาย อาทิ
- กาลเวลาเปรียบดั่งกระแสธารา เคลื่อนไหลไปโดยไม่สามารถหยุดนิ่ง (หรือย้อนกลับ)
- ตัวละคร Rika/Ohara ทำตัวเหมือนสายน้ำที่สามารถปรับตัว แทรกซึม กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Tsuta House
- เราควรปล่อยชีวิตให้ไหลตามกระแสน้ำ หรือพยายามว่ายทวนกระแส ตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง หาหนทางกำหนดโชคชะตาชีวิตด้วยตนเอง

ตัดต่อโดย Eiji Ooi, แต่ขึ้นชื่อในเครดิต Hideji Ooi, 大井英史 ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse ตั้งแต่ Wife (1953) จนถึง Scattered Clouds (1967)
ในต้นฉบับนวนิยายจะดำเนินเรื่องผ่านสายตาของแม่บ้าน/สาวใช้ Rika/Ohara ตั้งแต่เดินทางมาทำงานยัง Tsuta House เท่านั้น! แต่ฉบับภาพยนตร์มีการแต่งเติมเรื่องราว บ่อยครั้งนำเสนอผ่านมุมมองของ Otsuta ออกไปพบเจอลูกค้า ขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่เกอิชา ฯ เพื่อให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
(ผมแอบผิดหวังเล็กๆต่อการเพิ่มเติมมุมมองของ Otsuta เพราะมันคลาดเคลื่อนจาก ‘สไตล์ Naruse’ ที่ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการสิ่งต่างๆเอาเอง แต่ก็พอเข้าใจจุดประสงค์ได้ว่าต้องการแนวคิด ‘Flowing’ ให้เรื่องราวมีความต่อเนื่องลื่นไหล ไม่กระโดดไปกระโดดมามากเกินไป)
- การมาถึงของ Rika/Ohara
- Opening Credit ภาพสายน้ำเคลื่อนไหล
- Katsuyo เผชิญหน้ากับ Namie แถลงไขว่าไม่ได้โกงเงิน
- Rika เดินทางมาถึง Tsuta House พบปะนายจ้าง Otsuta ตั้งชื่อให้ใหม่ Oharu
- เริ่มต้นทำงาน เดินทางไปซื้ออาหาร ยามค่ำคืนช่วยแต่งตัวให้กับสาวๆเกอิชา
- ยามดึก Otoyo พี่สาวของ Otsuta เดินทางมาทวงเงิน
- เรื่องวุ่นๆวายๆของเกอิชา
- ลุงของ Namie เดินทางมาทวงเงิน Ohara ออกรับหน้าสื่อ
- Otsuta เดินทางไปพบเจอผู้อุปถัมภ์ Mr. Maramatsu ก่อนแอบชิ่งหนีกลับมาก่อน
- เย็นวันนั้น Otoyo เดินทางมาตำหนิต่อว่า
- บุตรสาวของ Yoneko ล้มป่วย ถูกหมอฉีดยา
- Otsuta เดินทางไปหารุ่นพี่เกอิชา Ohama ขอความช่วยเหลือหยิบยืมเงินจาก Mr. Hanayama
- Ohama เดินทางมามอบเงินให้กับ Otsuta แต่อีกฝ่ายไม่อยู่จึงมอบให้ Oharu
- ลุงของ Namie เข้ามาก่อกวน สร้างความวุ่นวาย, Otsuta ตัดสินใจจ่ายเงินครึ่งแต่ แต่อีกฝ่ายยังคงไม่ยินยอมความ
- การซื้อขาย Tsuta House
- วันถัดมา Otsuta จ่ายหนีบางส่วนให้ Otoya และอีกฝ่ายแสดงเจตจำนงค์ว่าอยากซื้อต่อ Tsuta House
- Otsuta เดินทางไปพูดคุยกับรุ่นพี่เกอิชา Ohama โน้มน้าวให้ซื้อต่อ Tsuta House
- Otsuta แต่งองค์ทรงเครื่อง เพื่อจะไปพบเจอ Mr. Hanayama แต่อีกฝ่ายกลับผิดนัดหมาย
- รุ่นพี่เกอิชา Ohama ตัดสินใจซื้อต่อ Tsuta House จ่ายเงินให้ลุงของ Namie
- อนาคตของ Tsuta House
- หลังขาย Tsuta House ชดใช้หนี้สินหมดสิ้น Otsuta จึงเปิดรับลูกศิษย์ใหม่
- Ohama ชักชวน Oharu ให้ย้ายมาทำงานกับตนเอง
- ร้อยเรียงภาพสมาชิกของ Tsuta House ที่ต่างยังไม่รับรู้โชคชะตาของตนเอง
การลำดับเรื่องราวถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง สามารถแปะติดปะต่อสารพัดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ตัวละครมากมาย แถมยังแตกต่างจากนวนิยายที่ไม่ได้จำกัดมุมมองแค่ Rika/Ohara เพื่อให้เกิดความลื่นไหลดั่งสายน้ำ
เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō, 斎藤一郎 (1909-1979) นักไวโอลิน แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba ร่ำเรียนไวโอลินและแต่งเพลงจาก National Music School จากนั้นกลายเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Mother (1952), Lightning (1952), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Yearning (1964), ผลงานเด่นอื่นๆ The Flavor of Green Tea over Rice (1952), The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), A Geisha (1953) ฯ
นอกเสียจากการบรรเลง Shamisen ที่เกิดจากการเล่นสด (Diegetic Music), เพลงประกอบหนัง (Original Soundtrack) ในสไตล์ Naruse ล้วนเป็นบทเพลงคลาสสิก ด้วยเครื่องดนตรีสากล เพื่อสร้างสัมผัสร่วมสมัย ญี่ปุ่นยุคใหม่
สำหรับ Flowing (1956) เริ่มต้นด้วยเสียงขลุ่ยแห่งความลึกลับ ติดตามความระยิบระยับ (จากการบรรเลงเปียโน) นั่นคือความงดงามของแสงสะท้อนพื้นผิวน้ำ/เกอิชาที่ใครๆต่างจดจำ แต่เบื้องลึก/ฉากหลังของพวกเธอเหล่านั้น หาได้สวยหรู เลิศเลอ ไม่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป
มันเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่มีซับไตเติ้ลบทเพลงบรรเลง Shamisen ที่ขับร้องโดย Isuzu Yamada ร่วมบรรเลงกับ Haruko Sugimura (ทั้งสองต่างเคยฝึกฝนการเป็น Geisha มีความสามารถด้านการเล่น Shamisen ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์) แต่ผมเชื่อว่ามันต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต หรือสายน้ำเคลื่อนไหล เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับตอนจบสิ้นหวัง อนาคตที่ไม่มีอะไรเป็นไปดั่งคาดหวัง … การบรรเลง Shamisen จักค่อยๆเลือนหาย กลายเป็นบทเพลงคลาสสิกปิดท้าย
Flowing (1956) นำเสนอฉากหลังของสาวๆเกอิชา วันๆเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย ชีวิตหาได้สุขสบาย สวยหรูหรา เบื้องหน้าอาจมีการแต่งองค์ทรงเครื่องให้ดูงดงามตา แท้จริงแล้วพวกเธอไม่ต่างจากมนุษย์ธรรมดาๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดเหมือนคนทั่วไป
หนังนำเสนอผ่านมุมมองแม่บ้าน/คนใช้ Rika/Oharu เพิ่งเข้ามาปักหลักอาศัย ทำงานอยู่ Tsuta House แบบเดียวกับผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คอยสังเกต จับจ้อง(ถ้ำ)มอง มิอาจเข้าไปมีส่วนร่วมปฏิสัมพันธ์ใดๆ อะไรบังเกิดขึ้นทำได้เพียงทอดถอนหายใจ ปล่อยให้สายน้ำเคลื่อนไหลตามทิศทางของมัน
กว่าจะเป็นเกอิชาได้นั้น ต้องผ่านการร่ำเรียน ฝึกฝน ไม่ใช่ทุกคนจะมีความสามารถ และต่อให้ศักยภาพถึงก็ใช่ว่าจักประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากใครๆ ถือเป็นศาสตร์ ศิลปะการแสดง(ขั้นสูง) น่าเสียดายกำลังเสื่อมถดถอย สูญสิ้นความนิยมตามกาลเวลา
ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้กระแสนิยมต่อวิถีชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนค่อยๆลดน้อยถอยลง คนรุ่นใหม่โหยหาสิ่งใหม่ๆ ไม่มีความอดทน สนเพียงความรวดเร็ว ฉาบฉวย ทำแล้วร่ำรวย แทนที่จะใช้เวลานับสิบๆปีฝึกฝนการเป็นเกอิชา เปลี่ยนมาทำงาน Host/Hostess หรือขายบริการทางเพศ มันมีความง่าย สะดวกสบาย ได้เงินไม่น้อยไปกว่า
ผลงานยุคหลังสงคราม (Post-War) ของผกก. Naruse มักนำเสนอความเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง เฉกเช่นเดียวกับ Tsuta House อดีตเคยรุ่งเรือง ปัจจุบันมีสภาพรุ่งริ่ง เต็มไปด้วยหนี้สิน ทำให้เจ้าของต้องขายต่อกิจการ แล้วยังครุ่นคิดว่าตนเองยังจะได้ทำงานเดิม เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ล่องลอยไปตามกระแสธารา
ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถหยุดยับยั้ง กระแสธาราก็เฉกเช่นเดียวกัน!
- บางคนเลือกที่จะปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยให้โชคชะตาล่องลอยไป (Otsuta และสาวๆเกอิชา)
- บางคนพยายามเผชิญหน้าต่อสู้ แหวกว่ายทวนกระแส ต้องการกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง (Rika/Oharu และ Katsuyo)
การว่ายตามกระแส หรือทวนกระแส ล้วนไม่มีคำตอบถูก-ผิด แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ผมสัมผัสถึงความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ นั่นเพราะอาชีพเกอิชาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวสู่โลกยุคสมัยใหม่ อีกไม่นานคงหมดสิ้นความนิยม ไม่มีใครทำอะไรได้นอกจากทอดถอนลมหายใจ
เมื่อตอนออกฉาย หนังได้รับตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะทีมนักแสดงนำโดย Isuzu Yamada กวาดรางวัล Best Actress จากทุกสำนัก(ขณะนั้น) Kinema Junpo, Mainichi Award และ Blue Ribbon Award
สิ่งที่ความประหลาดใจคือ หนังไม่ติดชาร์ท Kinema Junpo: Top 100 best Japanese movies ever made เมื่อปี ค.ศ. 1999 แต่อีกทศวรรษให้หลัง Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made เมื่อปี ค.ศ. 2009 สามารถติดอันดับ 31 ถ้านับเฉพาะผลงานของผกก. Naruse เป็นรองแค่เพียง Floating Clouds (1955)
Flowing (1956) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวโดดเด่น หรือเทคนิค/ลูกเล่นน่าจดจำ แต่ทุกสิ่งอย่างเคลื่อนไหลดำเนินไปเหมือนสายน้ำ นำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่สาม แทนสายตาผู้ชม ให้อิสระในการสังเกต ทำความเข้าใจ ตัดสินตัวละคร นั่นกระมังคือสิ่งผิดแผกแตกต่าง เพิ่งได้รับการค้นพบ ไม่ถูกลบเลือนหายตามกาลเวลา
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะ มีเพียงจัดจำหน่าย DVD แนะนำคอลเลคชั่น Master of Cinema ของค่าย Eureka Entertainment มันจะมีบ็อกเซ็ต Naruse: Volume One ประกอบด้วย Repast (1951), Sound of the Mountain (1954) และ Flowing (1956)
ระหว่างรับชมผมไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ มันช่างเลื่อนลอย เรื่อยเปื่อย เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ แต่ต้องชมทีมนักแสดง ประชันฝีมือกันอย่างเมามันส์ ดัดจริตเฉือนคม เพียงพอให้สามารถอดรนทนดูจนจบ
แต่ไฮไลท์จริงๆของหนัง เกิดขึ้นระหว่างทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการนำเสนอ ก่อนค้นพบว่าการดำเนินเรื่องผ่านมุมมองบุคคลที่สาม แม่บ้าน/คนใช้ ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่สามารถทำอะไรใดๆ (แตกต่างจาก Repast และ Sound of the Mountain ที่ตัวละครผู้สังเกตการณ์ สามารถครุ่นคิดตัดสินใจทำบางสิ่งอย่าง) ช่วยผลักดัน ‘สไตล์ Naruse’ ยกสูงขึ้นไปอีกระดับ
จัดเรต pg กับความวุ่นๆวายๆของเกอิชา
Leave a Reply