
Scarecrow (1973)
: Jerry Schatzberg ♥♥♥
ตัวละครของ Gene Hackman เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ จับพลัดจับพลูพบเจอ Al Pacino เพิ่งกลับจากการออกทะเล กลายมาเป็นภาพยนตร์ Road Movie คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ความสำเร็จของ Easy Rider (1969) นำสู่ทศวรรษ 70s แห่ง Road Movie หนังทุนต่ำ โบกรถ/ขับมอเตอร์ไซด์ ออกเดินทางท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา หลายๆเรื่องมักแฝงปรัชญาชีวิต เกี่ยวกับการดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย โดดเดี่ยวเดียวดาย เพียงเพลิดเพลินกับปัจจุบัน ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ
Scarecrow (1973) เป็นภาพยนตร์ที่กลวงโบ๋ ว่างเปล่า ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร แต่สะท้อนวิถีชีวิตชาวอเมริกันทศวรรษนั้น พร้อมภาพถ่ายสวยๆของ Vilmos Zsigmond และคู่หูขั้วตรงข้าม Gene Hackman & Al Pacino ทั้งสองไม่ค่อยถูกกันนักในกองถ่าย (ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร แต่สไตล์การแสดงแตกต่างตรงกันข้าม) แต่ต่างเคยกล่าวว่านี่คือผลงานเรื่องโปรด การแสดงยอดเยี่ยมที่สุด
แม้หนังจะเริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ (ด้วย Long Take หลายนาที) แต่หลังจากนั้นก็อาจทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ส่ายหัว กุมขมับ เต็มไปด้วยความอิหยังว่ะ? มันเหมือนจะมีนัยยะเคลือบแอบแฝง จนกระทั่งคำอธิบายชื่อหนัง Scarecrow ทำให้การตีความทุกสิ่งอย่างกลายเป็นเรื่องล้อเล่น ตลกขบขัน ไร้สาระโดยพลัน!
That’s right, the crows are laughin’. Look, the farmer puts out a scarecrow, right, with a funny hat on it, got a funny face. The crows fly by, they see that, it strikes ’em funny, makes ’em laugh.
Lion
แต่บางคนอาจถูกชะตากับหนัง นักวิจารณ์(อเมริกัน)หลายคนให้การยกย่อง “masterpiece of the American New Wave” ชัยชนะรางวัล Palme d’or แสดงว่าต้องมีดีอะไรบางอย่าง
Scarecrow is simply a masterpiece of the American new wave, a rangy, freewheeling tragicomedyin which Hackman and Pacino give effortlessly charismatic performances… The guys ride the boxcars; they get drunk and laid and into trouble. They even wind up in prison – briefly. And their chaotic, fragile friendship is all that they have. This is a jewel of American cinema.
Peter Bradshaw จากนิตยสาร The Guardian
Jerry Schatzberg (เกิดปี ค.ศ. 1927) ตากล้อง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York City ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish, โตขึ้นเข้าเรียนการถ่ายภาพ University of Miami จากนั้นทำงานเป็นผู้ช่วย Bill Helburn ก่อนออกมารับงานฟรีแลนซ์ ถ่ายภาพนิ่งลงนิตยสาร Vogue, Esquire, McCalls, Glamour, LIFE ฯ ต่อด้วยกำกับโฆษณาโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Puzzle of a Downfall Child (1970), แจ้งเกิดกับ The Panic in Needle Park (1971), Scarecrow (1973) ฯ
ช่วงทศวรรษ 70s หลายๆสตูดิโอขนาดใหญ่ต่างมีความหวาดระแวงหนังทุนสูง หลังจากทุ่มงบมหาศาลก่อนขาดทุนย่อยยับ ความสำเร็จของหนังอย่าง Easy Rider (1969), Midnight Cowboy (1969) ฯ โปรดิวเซอร์เลยเกิดความกระตือลือร้นต่อหนังทุนต่ำ ลดความเสี่ยงได้มาก
I get a call one day from my agent, ‘Al wants you to read the script.’ And Al said, ‘We’ve got this script, both Hackman and I like it. We want to do it, but neither one of us like the director.’
Jerry Schatzberg กล่าวถึงจุดเริ่มต้นโปรเจค Scarecrow (1973)
จุดเริ่มต้นของ Scarecrow คือบทหนังพัฒนาโดยนักเขียน Garry Michael White นำจากประสบการณ์ตรงเมื่อสมัยหนุ่มๆยังไม่ค่อยมีเงิน โบกรถเดินทางข้ามรัฐบ่อยครั้ง ขณะนั้นกำลังออกจาก California มุ่งสู่ Pennsylvania แล้วบังเอิญพบเจอกับชายแปลกหน้าที่มีบุคลิกคล้ายๆ Max Millan นำมาเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจ
ในตอนแรก United Artists แสดงความสนใจซื้อบทหนัง วางแผนนักแสดงนำ Jack Lemmon & Bill Cosby แต่เพราะไม่สามารถหาผู้กำกับเลยขึ้นหิ้งเอาไว้ปีกว่าๆ จนกระทั่ง Al Pacino มีโอกาสอ่านบท “It was the greatest script I have ever read.” จึงทำการโน้มน้าว Warner Bros. ซื้อต่อโปรเจค แล้วมอบหมายผู้กำกับนิรนามคนหนึ่ง (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าใคร) ปรับเปลี่ยนแก้ไขตอนจบแตกต่างจากต้นฉบับ สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Pacino ล็อบบี้สตูดิโอให้เปลี่ยนมาใช้บริการ Jerry Schatzberg ที่เคยร่วมงานภาพยนตร์ The Panic in Needle Park (1971)
การมาถึงของผกก. Schatzberg ก็มีการแก้ไขบทหนังเช่นเดียวกัน แต่ว่าเขาเลือกร่วมงานกับเจ้าของบทหนัง Garry Michael White และเพียงปรับเปลี่ยนตัวละคร & เนื้อหาให้สอดคล้องเข้ากับนักแสดงนำ Gene Hackman & Al Pacino
เรื่องราวของสองคนจร อดีตนักโทษ Max Millan (รับบทโดย Gene Hackman) และอดีตกะลาสีเรือ Francis Lionel ‘Lion’ Delbuchi (รับบทโดย Al Pachino) บังเอิญพบเจอกันบนท้องถนน California ระหว่างพยายามโบกรถ (Hitchhiking) ตั้งใจจะไปเยี่ยมญาติต่างรัฐ จับพลัดจับพลู กลายเป็นคู่หู ร่วมออกเดินทางมุ่งสู่ Pittsburgh วางแผนทำธุรกิจล้างรถร่วมกัน!
แต่ก่อนจะไปถึง Pittsburgh ทั้งสองต่างมีแผนแวะเยี่ยมญาติกลางทาง Max อยากพบเจอน้องสาวอาศัยอยู่ Denver, Lion ต้องการพบเจอหน้าลูกทิ้งไว้กับภรรยาที่ Detroit … สุดท้ายแล้วทั้งสองจักสามารถดำเนินสู่เป้าหมาย กระทำตามแผนการวางไว้สำเร็จหรือไม่?
Eugene Allen Hackman (1930-2025) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Bernardino, California ครอบครัวหย่าร้างเมื่ออายุ 13 ปี สามปีให้หลังจึงหนีออกจากบ้าน โกงอายุสมัครเข้าทหารเรือ ทำงานหน่วยสื่อสาร ประจำการอยู่ประเทศจีนในช่วง Communist Revolution ต่อด้วย Hawaii และญี่ปุ่น จนปลดประจำการเมื่อปี ค.ศ. 1951 แล้วลงหลักปักฐาน New York ดิ้นรนหางานทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความสนใจด้านการแสดง กลายเป็นเพื่อนร่วมห้อง Dustin Hoffman และ Robert Duvall รับบทเล็กๆในซีรีย์โทรทัศน์ แสดงละครเวที Off-Broadway โด่งดังทันทีจากบทสมทบ Bonnie and Clyde (1967)**เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, The Poseidon Adventure (1972); The Conversation (1974), Superman: The Movie (1978), Mississippi Burning (1988), Unforgiven (1992)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, The Royal Tenenbaums (2001) ฯ
รับบท Max Millan อดีตนักโทษเพิ่งถูกปล่อยตัวมาไม่นาน ตั้งใจจะโบกรถออกเดินทางสู่ Detroit เพื่อนำเงินฝากมาลงทุนเปิดกิจการล้างรถ จับพลัดจับพลู ถูกชะตากับ Lion ชักชวนมาเป็นหุ้นส่วน ร่วมกันออกเดินทาง แวะเวียนไปยังสถานที่ต่างๆ พึ่งพาอาศัย ร่วมทุกข์ ร่วมสุข มิตรภาพค่อยๆเบ่งบาน
การแสดงของ Hackman อาจดูไม่ต่างจากภาพจำ ‘typecast’ ชายผู้มีความดื้อรั้น ดึงดัน อึดถึก บ้าพลัง ใบหน้าบูดบึ้งตึง หน้านิ่วคิ้วขมวด จริงจังกับชีวิตตลอดเวลา ใครพูดอะไรไร้สาระมักโต้ตอบด้วยการแดกดัน ประชดประชัน ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่พึงพอใจอะไรก็สำแดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ ใครกลั่นแกล้งพวกพ้อง ก็พร้อมโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสม “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
แต่ความแตกต่างของหนังเรื่องนี้ ที่ถึงขนาด Hackman ยกให้เป็นผลงานการแสดงโปรดปราน นั่นเพราะอิสรภาพในการรังสรรค์ตัวละคร นี่ไม่ใช่ว่าเขาทำการดั้นสดหรือไร (บทพูดส่วนใหญ่มีในบทหนัง ดั้นสดน้อยครั้งมากๆ) คือผู้กำกับไม่ได้เข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย สามารถทำอะไรก็ได้ตามบริบทเรื่องราว … คือเราต้องเข้าใจยุคสมัย Classical Hollywood ที่ทุกสิ่งอย่างต้องเป๊ะๆตามวิสัยทัศน์ผู้สร้าง การมาถึงของ American New Wave ปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน น่าจะคือครั้งแรกที่ Hackman ได้รับอิสระในการออกแบบสร้างตัวละครตามวิสัยทัศน์ของตนเอง
Scarecrow (1973) It’s the only film I’ve ever made in absolute continuity. And that allowed me to take all kinds of chances and really build my character… It was the only film that I made totally in sequence. Any actor will tell you how helpful that is in understanding character development.
Gene Hackman กล่าวถึง Scarecrow (1973) ว่าเป็นผลงาน ‘personal favorite’
แม้หนังจะจบลงอย่างปลายเปิด แต่ผกก. Schatzberg เคยครุ่นคิดวางแผนสร้างภาคต่อ พัฒนาบทหนังเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 2013, Max แต่งงานอยู่กินกับ Frenchy หลายปีให้หลังหวนกลับมาพบเจอ Lion ที่เพิ่งรับรู้ว่าบุตรชายยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองจึงร่วมกันโบกรถ ออกเดินทาง หวนระลึกความหลัง … แต่โปรเจคไม่เคยเดินหน้าเพราะ Hackman เกษียณตัวจากวงการไปก่อน
Alfredo James Pacino (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของ Triple Crown Acting (Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ New York City ในครอบครัวเชื้อสาย Italian-American, วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นนักเบสบอล แต่เพราะทำตัวเสเพล กินเหล้าสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ การเรียนก็ไม่ค่อยดี แถมชื่นชอบสร้างปัญหา มีเรื่องชกต่อยตีบ่อยครั้ง เลยหมดอนาคตด้านนั้น, ตัดสินใจเลือกเข้าเรียนการแสดง Herbert Berghof Studio ได้อาจารย์ดี Charlie Laughton ช่วยส่งเสริมสี่ปี จนสามารถไปต่อที่ Actors Studio ฝึกฝนเทคนิค Method Acting จาก Lee Stransberg กลายเป็นนักแสดงละครเวที สบทบภาพยนตร์ Me, Natalie (1969), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Panic in Needle Park (1971) เข้าตาผู้กำกับ Francis Ford Coppola เลือกมารับบท Michael Corleone กลายเป็นตำนานกับ The Godfather (1972), ผลงานเด่น อาทิ Serpico (1973), Scarecrow (1973), Dog Day Afternoon (1975), Scarface (1983), Dick Tracy (1990), Glengarry Glen Ross (1992), Scent of a Woman (1992) ** คว้า Oscar: Best Actor, Heat (1995) ฯ
รับบท Francis Lionel ‘Lion’ Delbuchi กะลาสีหนุ่ม ห้าปีก่อนทอดทิ้งภรรยาท้องแก่ ออกเดินทางท่องโลกโดยไม่เคยแยแส วันนี้ตั้งใจออกเดินทางกลับบ้านที่ Denver เพื่อพบเจอหน้าลูกเป็นครั้งแรก! แต่พอมาถึงเกิดอาการกลัวๆกล้าๆ Max แนะนำให้โทรศัพท์หาภรรยา ก่อนเธออ้างว่าแต่งงานใหม่ และบุตรชายของเขาเสียชีวิตจากไป นั่นทำให้ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายลงในพริบตา
เกร็ด: ก่อนหน้าการถ่ายทำ Hackman และ Pacino แต่งตัวเหมือนคนเร่ร่อน โบกรถออกเดินทางทั่ว California เพื่อนำประสบการณ์มาปรับใช้กับการแสดง
โดยปกติแล้วเสือสองตัวมักอยู่ร่วมถ้ำเดียวกันไม่ได้ คือถ้าสองนักแสดงนำมีรัศมีดารา (Charisma) ใกล้เคียงกัน มักเกิดการประชัน โต้ตอบ ไม่มีใครยอมใคร! แต่เรื่องนี้ตัวละครของ Pacino ดูอ่อนน้อม ทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา ยินยอมเออออห่อหมก ปฏิบัติตามคำสั่งของ Hackman แทบทุกสิ่งอย่าง … จนเมื่อทั้งคู่ติดคุกติดตาราง Pacino ถึงเริ่มโต้ตอบ เอาคืน พูดย้อนแย้งอย่างเมามันส์
ตอนถูกกระทำร้ายร่างกาย (เพื่อนนักโทษพยายามจะข่มขืน) ก็ว่า Pacino สำแดงอาการหวาดกลัว สั่นเสียวประตูหลังอย่างทรงพลัง, แต่ยังเทียบไม่ได้ตอนรับรู้ว่าบุตรชายเสียชีวิต ปฏิกิริยาแรกแสร้งทำเป็นกระโดดโลดเต้น ยินดีปรีดา(เรื่องเพศลูก) เล่นสนุกสนานกับเด็กๆ ไม่นานก็เริ่มสำแดงความเศร้าโศกเสียใจ ปีนป่ายน้ำพุ ตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ร่างกายหมดเรี่ยวแรง เป็นลมล้มพับ สูญสิ้นความอยากมีชีวิตต่อไป
Pacino เป็นนักแสดงสาย ‘Method Acting’ สามารถสวมบทบาทตัวละครตลอดทั้งการถ่ายทำ สีหน้าเคร่งขรึมจริงจังตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับ Hackman ทุกครั้งก่อนเริ่มแสดงจะนั่งสงบนิ่ง ทำสมาธิ ถอดเข้า-ถอดออกวิญญาณตัวละคร … ความแตกต่างดังกล่าวทำให้การทำงานในกองถ่ายของทั้งสองไม่ค่อยราบรื่นนัก เคยเกือบจะวางมวยกันหลายครั้ง แต่มันก็ช่วยเสริมความสัมพันธ์/ขัดแย้งระหว่างตัวละครได้เป็นอย่างดี
It wasn’t the easiest working with Hackman, who I love as an actor… I love Gene as an actor and as a person.
Al Pacino
ถ่ายภาพโดย Vilmos Zsigmond (1930-2016) ตากล้องสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Szeged, Hungary เมื่ออายุ 17 ได้รับของขวัญจากคุณลุงคือหนังสือ The Art of Light รวบรวมภาพถ่ายขาว-ดำของ Eugene Dulovits เกิดความชื่นชอบหลงใหล ทำงานเก็บเงินซื้อกล้อง ทดลองผิดลองถูกจนได้รับทุนเข้าเรียนต่อ Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) สนิทสนิมกับ László Kovács ร่วมกันแอบถ่ายเหตุการณ์ 1956 Hungarian Revolution แล้วอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา ขายฟุตเทจดังกล่าวให้สถานีโทรทัศน์ CBS แล้วปักหลักอาศัยอยู่ Los Angeles เริ่มจากถ่ายทำหนัง Horror เกรดบี, กระทั่งมีโอกาสเป็นตากล้อง The Hired Hand (1971) ฝีมือเข้าตาผกก. Robert Altman ชักชวนมาร่วมงาน McCabe & Mrs. Miller (1971) จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น American New Wave, ผลงานเด่นๆ อาทิ Deliverance (1972), The Long Goodbye (1973), Obsession (1976), Close Encounters of the Third Kind (1977), The Deer Hunter (1978), Heaven’s Gate (1980), The River (1984), The Black Dahlia (2006) ฯ
ผกก. Schatzberg เคยเป็นช่างภาพนิตยสารแฟชั่น จึงให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพมากกว่าสิ่งอื่นใด เลือกใช้บริการ Vilmos Zsigmond จากความประทับใจภาพยนตร์ The Long Goodbye (1973) โด่งดังกับการใช้แสงธรรมชาติ บันทึกภาพทิวทัศน์มุมกว้าง เหมาะสำหรับหนัง Road Movie ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
การเดินทางเริ่มต้นที่ Bakersfield (California) ไล่เลียงตามลำดับเวลา (Chronological Order) ไปยัง Denver (Colorado), Canon City (Colorado), Reno (Nevada), Hamtramck (Michigan) สิ้นสุดที่ Detroit (Michigan) ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าใช้เวลาโปรดักชั่นนานเท่าไหร่ แต่บทสัมภาษณ์ของ Pacino ปิดกล้องก่อนกำหนดการถึง 17 วัน!
ห้านาทีแรกถือเป็นไฮไลท์การถ่ายภาพของหนังเลยก็ว่าได้! แนะนำสองตัวละครที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม
- Max เดินลงจากเนินเขาอย่างสง่างาม (Long Shot) แต่กลับลอดผ่านรั้วลวดหนามแบบเก้งๆกังๆ
- ก่อนตัดภาพใบหน้า Lion หลบซ่อนอยู่หลังต้นไม้ (Medium & Close-Up Shot) สายตาเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา


แล้วพอทั้งสองพบเจอกันและกัน มีการสลับเปลี่ยนมุมกล้องจากเนินเขา มาเป็นเส้นทางบนท้องถนน Max แสดงออกว่าไม่ชอบขี้หน้าอีกฝ่าย ปฏิเสธพูดคุย ตอบคำถาม ต้องการโบกรถทิศทางตรงกันข้าม … จนกระทั่ง Lion จุดบุหรี่ให้อีกฝ่าย ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท Bromance โดยพลัน!

เพราะไม่รู้ว่าลูกเพศอะไร จึงซื้อของขวัญที่ไม่จำเพาะเจาะจงชาย-หญิง โคมไฟ(ของเล่น) มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างชีวิต หรือคือบุตรของ Lion จะเป็นผู้นำทางบิดาให้พบเจอมารดา … นั่นทำให้เมื่อเขาทราบข่าวจากภรรยา ความตายของบุตร จมปลักอยู่ในความมืดมิดโดยพลัน!

ความขัดแย้งระหว่าง Max กับ Lion จนทำให้ทั้งสองถูกจับติดคุก นั่นคือช่วงเวลาที่ Lion พยายามจะขอคืนดี แต่อีกฝ่ายกลับเพิกเฉย นิ่งเงียบงัน เลยถูกย้อนแย้ง พูดจาเยาะเย้ย ดูถูกเหยียดหยาม กระทั่งวันหนึ่ง Riley (รับบทโดย Richard Lynch) พยายามจะข่มขืนประตูหลัง
ฉากนี้ชวนให้ผมนึกถึง Pulp Fiction (1994) ซึ่งการถูกข่มขืน ประตูหลัง เคลือบแฝงนัยยะของการทรยศ/แทงข้างหลัง เอิ่ม… จินตนาการเอาเองแล้วกันนะครับว่าเป็นยังไง

สถานที่แห่งนี้คือ James Scott Memorial Fountain ตั้งอยู่ยัง Belle Isle Park ณ Detroit, Michigan สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1925 เพื่ออุทิศให้ James Scott ผู้จ่ายเงิน $200,000 เหรียญให้ City of Detroit สร้างน้ำพุแห่งนี้เพื่ออุทิศแก่ตนเอง ???
หลังรับรู้การเสียชีวิตของบุตรชาย ปฏิกิริยาแรกของ Lion คือกระโดดโลดเต้น ปั้นแต่งสีหน้ายินดีปรีดา แต่ภายในจิตใจของเขาไม่ต่างจากน้ำพุ ใกล้จะปะทุความอัดอั้น เศร้าโศกเสียใจ (น้ำตาหลั่งไหลทรวงใน) แสร้งว่าละเล่นกับเด็กๆ ก่อนปีนป่ายขึ้นไปเกาะรูปปั้นสิงโต Max ต้องลากพาลงมา เป็นลมล้มพับ หมดเรี่ยวแรงกาย-ใจ

ตัดต่อโดย Evan A. Lottman (1931-2001) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx พอเติบใหญ่อาสาสมัครทหาร U.S. Army Signal Corps จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Kenyon College และ University of Southern California จบมาเป็นนักตัดต่อสารคดี ได้รับเครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก The Hustler (1961), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Panic in Needle Park (1971), Scarecrow (1973), The Exorcist (1973), Sophie’s Choice (1982) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองคู่หู Max & Lion ตั้งแต่แรกพบเจอบนท้องถนน California ร่วมกันโบกรถ ออกเดินทาง เป้าหมายคือ Pittsburgh แต่แวะเวียนเยี่ยมน้องสาวที่ Denver (Max) และภรรยาที่ Detroit (Lion)
- การผจญภัยของ Max & Lion
- แรกพบเจอบนท้องถนน Bakersfield (California)
- แวะรับประทานอาหาร พูดคุยสนทนา กลายเป็นหุ้นส่วนร่วมกิจการล้างรถ
- กระโดดขึ้นรถไฟมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง เข้าพักโรงแรม
- Lion เล่าเหตุผลที่อีกาหัวเราะเยอะเย้ยหุ่นไล่กา
- Max หิ้วสาวจากบาร์
- Lion หิ้วหุ่นโชว์เสื้อกลับห้องพัก
- เดินเลียบทางรถไฟไปจนถึง Denver, Colorado
- Denver, Colorado
- Max พบเจอน้องสาว Coley ปรับเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสถานที่รับซื้อของเก่า
- Max เกี้ยวพาราสี Frenchy
- แวะเวียนซื้อของฝาก Emmerson Furniture
- ปาร์ตี้อำลาที่ Turk’s Supper Club
- Lion สวมชุดนักบินอวกาศ
- Max มีเรื่องชกต่อ Lion เข้ามาห้ามเลยถูกลูกหลง
- เรือนจำ Cañon City, Colorado
- พอเข้ามาในเรือนจำ Max ปฏิเสธพูดคุยกับ Lion
- Lion ได้เพื่อนใหม่ Riley ชักชวนไปทำงานล้างรถ ตามด้วยจัดรายการโทรทัศน์
- Riley พยายามข่มขืน Lion
- สภาพบาดเจ็บปางตาย Lion ซมซานกลับหา Max หาโอกาสล้างแค้นให้เพื่อนรัก
- Detroit, Michigan
- หลังได้รับการปล่อยตัว โบกรถออกเดินทาง แวะเวียนผับแห่งหนึ่ง Max เต้นระบำเปลื้องผ้า
- เดินทางมาถึง Detroit, Michigan แวะเข้าโบสถ์ Sweetest Heart of Mary Church
- Lion โทรศัพท์หาภรรยา
- Lion แสดงอาการสติแตกที่น้ำพุ James Scott Memorial Fountain
- Max พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือ Lion ตีตั๋วไป-กลับ Pittsburgh ถอนเงินเก็บกลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล
เพลงประกอบโดย Fredric Myrow (1939-99) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York เป็นบุตรของนักแต่งเพลง Josef Myrow ตอนอายุหกขวบครอบครัวย้ายสู่ Hollywood ดำเนินตามรอยเท้าบิดา เริ่มแต่งเพลงตั้งอายุเก้าขวบ โตขึ้นเข้าศึกษา Thornton School of Music ฉายแววจนได้รับทุนมากมาย จบออกมามีออกอัลบัมเพลงคลาสสิก ประกอบภาพยนตร์ อาทิ Scarecrow (1973), On the Nickel (1980) ฯ
งานเพลงของ Myrow มีส่วนผสมของดนตรีคันทรี (Country) [ฮาร์โมนิการ์, Jew’s Harp ฯ] แต่ท่วงทำนองออกไปทางสไตล์ Dixieland นำเสนอการผจญภัยที่มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง เต็มไปด้วยเหตุการณ์ชวนป๋วยปี่แปกอ พานผ่านช่วงเวลาสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก รวมเรียกสีสันชีวิต
ตลอดทั้งเรื่องแทบจะใช้ท่วงทำนองเดียวกันทั้งหมด แค่เพียงสลับสับเปลี่ยนเครื่องดนตรีโดดเด่น ให้กลายเป็นหลากหลาย Variation อย่างตอนต้นเรื่องเสียงเป่าทรัมเป็ตแทนความโดดเดี่ยวเดียวดาย (ชายสองคนเพิ่งรับรู้จักกัน), ระหว่างการเดินทางกลางเรื่อง เปียโน & ฮาร์โมนิกาบรรเลงสลับไปมา (ชายสองโต้ตอบกันไปมา) แล้วเสียงทรัมเป็ตบรรเลงแบบบิดๆเบี้ยวๆ เล่นผิดคีย์ (สื่อถึงความวุ่นๆวายๆ บ้าๆบอๆ ‘mischief’ ของพวกเขา)
Scarecrow (1973) นำเสนอเรื่องราวสองคนเร่ร่อน จับพลัดจับพลู บังเอิญพบเจอระหว่างการเดินทาง จากคนแปลกหน้า กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม พานผ่านเหตุการณ์สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ประสบการณ์เฉียดเป็น-ตาย ก่อบังเกิดมิตรภาพผองเพื่อนที่มั่นคง และน่าจะยืนยาวนาน
ภาพยนตร์แนว Road Movie มักเคลือบแฝงนัยยะเกี่ยวกับการเดินทางชีวิต เมื่อดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ มักพบเจออุปสรรคปัญหา สิ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนชีวิต ภาพสะท้อนสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และประเทศชาติในช่วงเวลานั้นๆ
แม้การเดินทางของ Scarecrow (1973) แทบไม่มีเนื้อหาสาระอะไร ดั่งคำอธิบายชื่อหนังที่ตัวละคร Lion กล่าวว่าไว้ “the crows are laughin’…” แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือภาพสะท้อนวิถีอเมริกันยุคสมัยนั้น Max & Lion ต่างใช้ชีวิตอย่างร่อนเร่ เตร็ดเตร่ สนุกสนานฮาเฮไปวันๆ พวกเขาพยายามตั้งเป้าหมาย(ชีวิต)ว่าจะเปิดกิจการล้างรถ (สัญลักษณ์ของการชำระล้าง ทำความสะอาดจิตวิญญาณ หรือคือเริ่มต้นชีวิตใหม่) กลับแวะเวียนรัฐโน้นที รัฐนี้ที มีเหตุให้ติดคุกติดตาราง เข้ารักษาตัวโรงพยาบาล ท้ายที่สุดหนังจบลงโดยไม่มีใครเดินทางถึงเป้าหมายปลายทาง
ชีวิตคือการเดินทาง บางคนอาจมีเป้าหมาย/ความเพ้อใฝ่ฝัน (American Dream) แต่ไม่ใช่ทุกคนจักสามารถดำเนินไปถึงจุดนั้น หนังนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของ Max & Riley ในทิศทางแตกต่างตรงกันข้าม
- Max จากบุคคลที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง เย็นชา (สวมเสื้อหลายชั้น) จริงจังกับชีวิต ปฏิเสธคบค้าสมาคมใคร แต่ความสนิทสนมกับ Lion ทำให้จิตใจเขาอบอุ่นขึ้น (ยินยอมเต้นระบำเปลื้องผ้า) เอ็นดูห่วงใย พร้อมให้การปกป้องเพื่อนสนิท ถึงขนาดยินยอมล้มเลิกกิจการล้างรถ เดินทางไปถอนเงินเพื่อนำมาเป็นค่ารักษาพยาบาล
- Lion จากเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล แต่ความขัดแย้งครั้งนั้นทำให้เขาเริ่มพูดจาดูถูกเหยียดหยาม ค่อยๆสูญเสียตนเองเมื่อเกือบถูกข่มขืนประตูหลัง และพอรับรู้การเสียชีวิตของบุตรชาย แสดงอาการคลุ้มคลั่ง กลายเป็นคนสติแตก นอนแน่นิ่งเป็นผัก
บางคนอาจบอกว่าความเปลี่ยนแปลงของ Max ดำเนินไปในทิศทางดีขึ้น แต่เราสามารถมองถึงการสูญเสียเป้าหมาย อนาคต และตัวตนเอง, ขณะที่ Lion มันอาจดูสาละวันเตี้ยลง แต่คือการที่เขาได้เผชิญหน้ากับโลกความจริง (ที่เจ้าตัวพยายามหลบหนีออกทะเลมาโดยตลอด)
สหรัฐอเมริกา แม้ในปัจจุบันก็ยังทำตัวไม่ต่างจากหุ่นไล่กา (Scarecrow) อวดเบ่ง ปากเก่ง สำแดงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง พยายามข่มใครต่อใครให้รู้สึกหวาดกลัวเกรง แต่ในสายตาอีกา/นานาอารยะไม่ต่างจากตัวตลก น่าหัวร่อ หลอกตนเองไปวันๆ
แม้เสียงตอบรับในสหรัฐอเมริกาจะออกไปทางผสมๆ รายงานรายรับเพียง $4 ล้านเหรียญ, แต่พอเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes นักวิจารณ์ต่างยกย่องสรรเสริญ สามารถคว้ามาสองรางวัล
- Grand Prix (ชื่อเดิมของ Palme d’Or) เคียงคู่กับ The Hireling (1973)
- OCIC Award รางวัลคุณธรรมดีเด่นจากองค์กร SIGNIS (World Catholic Association for Communication)
ปัจจุบัน Warner Archive Collection ได้ทำการสแกนฟีล์มหนังใหม่ 2K Scans และปรับปรุงคุณภาพ (เรียกว่า ‘digital restoration’ ก็ได้กระมัง) จัดจำหน่าย Blu-Ray (1080p, AVC-encoded) เมื่อปี ค.ศ. 2017
เกร็ด: Cillian Murphy มีความโปรดปรานภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากๆ คือแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนักแสดง และตอบตกลงเล่นหนัง Batman Begins (2005) เพราะรับบทตัวละครชื่อ Scarecrow
Scarecrow (1973) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่แตกต่างจากหุ่นไล่กา เหมือนมันจะมีความสามารถขับไล่อีกาไม่ให้ทำลายพืชผลทางการเกษตร แต่แท้จริงแล้วก็แค่ความเชื่อส่วนบุคคล เรื่องตลกขบขัน ไร้สาระจะคุย … แต่ถ้าคุณชื่นชอบอะไรแบบนั้น มันก็เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล
Crows are laughin’, right. Ya know, in the joint I’ve heard some tales, oh boy, golly I’ve heard some tall tales. But at least those guys had the decency to admit that it was bullshit, you know what I mean? They actually took pride, pride in that it was bullshit. But the crows are laughin’ huh? I mean you’re not playin’ with a full deck man, you got one foot in the grave beyond.
Max Millan
ตัวหนังอาจไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร เพียงสะท้อนวิถีอเมริกัน + ชนชั้นแรงงานทศวรรษ 70s แต่การแสดงระดับมาสเตอร์คลาสของทั้ง Gene Hackman และ Al Pacino ก็น่าจะคุ้มค่าต่อการเสียเวลารับชม
จัดเรต 15+ กับชีวิตเรื่อยเปื่อย ความรุนแรง พยายามข่มขืน
Leave a Reply