The Ghost of Yotsuya

The Ghost of Yotsuya (1959) Japanese : Nobuo Nakagawa ♥♥♥♡

หนังผีญี่ปุ่นทุนต่ำ ทำออกมาในสไตล์กึ่งๆละคอนเวที (Kabuki Play) ละม้ายคล้าย The Ballad of Narayama (1958) แพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ ‘Trick Film’ สำหรับสร้างความหลอกหลอน บรรยากาศสยองขวัญคลาสสิก

The greatest masterpiece of occult films in the world.

Francis Ford Coppola

Shintoho Co. Ltd. (新東宝株式会社) แปลตรงตัว New Tōhō Company คืออดีตสตูดิโอภาพยนตร์ ‘Big Six’ [Daiei, Nikkatsu, Shochiku, Toei Company, Toho] ในยุคสมัย Golden Age of Japanese Cinema (1950-59), แค่ชื่อก็บ่งบอกว่าผู้ก่อตั้งคือกลุ่มคนแยกตัวออกมาจาก Toho Company ภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหยุดงาน Toho Labor Dispute (1946-48), ผลงานของค่ายช่วงปีแรกๆยังพอมีหนังดังอย่าง Stray Dog (1949), The Life of Oharu (1952) ฯ แต่ช่วงปลายทศวรรษ 50s เมื่อเปลี่ยนประธานบริษัทเป็น Mitsugu Ôkura หันมาสร้างหนังทุนต่ำ (Low-Budget) เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ถ้าไม่หนังผี (Ghost Film) เหนือธรรมชาติ (Horror/Supernatural) ก็ไซไฟต่างด้าว (Sci-Fi) ผลลัพท์เลยขาดทุนเสียส่วนใหญ่ จำต้องประกาศล้มละลายปี ค.ศ. 1961 และภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย Jigoku (1960)

Nobuo Nakagawa ถือเป็นสมาชิกคนสำคัญในยุคหลังของสตูดิโอ Shintoho ย้ายมาจาก Toho ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 ผลงานแทบทั้งหมดคือหนังผี (Ghost Film) เหนือธรรมชาติ (Horror/Supernatural) จนได้รับฉายา “Master of Kaidan-geki (Ghost Story)” ผลงานเด่นๆ อาทิ The Ghost of Kasane Swamp (1957), Black Cat Mansion (1958), Military Police and Ghost (1958), The Ghost of Yotsuya (1959), Lady Vampire (1959) และทิ้งท้ายกับ Jigoku (1960)

ผมรับรู้จักผกก. Nakagawa เมื่อตอนเขียนถึง Jigoku (1960) หรือ The Sinners of Hell พร่ำบ่นว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือตอนนั้นยังอ่อนด้อยประสบการณ์ก็ไม่รู้ ช่วงหลังๆแอบรำคาญ Hideo Kojima อวยนักอวยหนาถึงกระแสหนังคัลท์ (Cult Film) เลยตั้งใจว่าจะลองหวนกลับมาดูอีกสักครั้ง แล้วบังเอิญพบเจอ The Ghost of Yotsuya (1959) เป็นอีกเรื่องผ่านการบูรณะจะให้พลาดได้ไงกัน!

เกร็ด: เรื่องราว Yotsuya Kaidan เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน! แถมปีเดียวกันนี้ยังมี The Ghost of Yotsuya (1959) กำกับโดย Kenji Misumi ของสตูดิโอ Daiei ซึ่งผ่านการบูรณะ 4K ในคอลเลคชั่น Daiei Gothic: Japanese Ghost Stories ผมยังสองจิตสองใจว่าจะหามารับชมหรือไม่?


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Yotsuya Kaidan, 四谷怪談 คนไทยนิยมเรียกตำนานผีแม่นาคญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าผีญี่ปุ่นมีชื่อเสียงโด่งดัง ประพันธ์โดย Tsuruya Nanboki IV, 四代目鶴屋南北 (1755-1829) สำหรับการแสดงละคอนคาบูกิ (Kabuki Play) ตั้งชื่อว่า 東海道四谷怪談 อ่านว่า Tōkaidō Yotsuya Kaidan แปลตรงตัว Ghost Story of Yotsuya in Tokaido ทำการแสดงครั้งแรกยัง Nakamuraza Theater ในกรุง Edo (ปัจจุบันคือ Tokyo) เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1825

เรื่องราวของธิดาคหบดีตระกูลค้าข้าว Oiwa, お岩 ตกหลุมรักโรนินหนุ่มไร้สังกัด Tamiya Iemon, 伊右衛門 ด้วยความที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า บิดาของฝ่ายหญิงจึงพยายามหักห้ามปราม กลับถูกฝ่ายชายลอบสังหารแล้วแสร้งว่าจะช่วยติดตามล้างแค้น ทำให้ทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน ถึงอย่างนั้นชีวิตสมรสกลับไม่ราบรื่น สันดานธาตุแท้ปรากฎ ผลาญสมบัติตระกูลจนหมดสิ้น เลยตัดสินใจลงมือสังหารภรรยาและบุตร เพื่อจะได้แต่งงานใหม่กับ Oume, 青梅市

ความเคียดแค้นของ Oiwa กลายเป็นวิญญาณอาฆาต ไม่ยอมไปผุดไปเกิด ติดตามมาหลอกหลอน Iemon ในค่ำคืนแต่งงานกับ Oume ทำให้เขาพลั้งพลาดเข่นฆ่าภรรยาใหม่ รวมถึงสังหารหมู่ครอบครัวฝ่ายหญิงจนไม่เหลือใคร พยายามหลบหนีไปอาศัยอยู่วัดบนภูเขา แต่จดแล้วจนรอดก็มิอาจดิ้นหลุดพ้นผลกรรม ถูกกลืนกินเข้าไปในโลกแห่งความมืด แยกไม่ออกระหว่างความจริงกับโลกวิญญาณ

ด้วยเรื่องราวความเฮี้ยนของผีแม่นาง Oiwa จึงเชื่อกันว่าศาลเจ้า Oiwa Inari Tamiya Shrine ตั้งอยู่ที่ Yotsuya (ใกล้ๆกับย่าน Shinjuku) ถูกสร้างเพื่อสะกดวิญญาณไม่ให้ออกมาอาละวาดหลอกหลอนทำร้ายผู้คน, แต่เรื่องจริงนั้นหาได้เป็นอย่างเสียงลือเล่าขาน Oiwa และ Iemon ที่คือต้นแบบตัวละครนั้น มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1636 ต่างเป็นบุคคลได้รับนับหน้าถือตา ชีวิตแต่งงานราบรื่นสงบสุข ประกอบกิจการค้าขายสำเร็จมั่งคั่ง จนสามารถสร้างวัดและศาลเจ้า Oiwa Inari Tamiya Shrine และในยามชรายังสร้างพระรูปพระโพธิสัตว์คันนง (หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม) ประดิษฐานอยู่ที่วัด Yakushiji Temple

Yotsuya Kaidan วาดโดย Utagawa Kuniyoshi

กระแสนิยมของ Yotsuya Kaidan จากละคอนคาบูกิ ถูกดัดแปลงไปเป็นสื่อต่างมากมาย ทั้งภาพวาด (ukiyo-e) นวนิยาย ดัดแปลงภาพยนตร์ อนิเมะ ฯ มากมายนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม เทศกาลเทศกาลบง (Obon) ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าช่วงเวลาดังกล่าววิญญาณบรรพบุรุษจะกลับจากนรกภูมิ จึงมีการจุดไฟรอรับหน้าบ้าน จัดสำรับอาหาร การละเล่น และในวันสุดท้ายจุดไฟเพื่อส่งวิญญาณกลับ

สำหรับสื่อภาพยนตร์ ได้รับการดัดแปลงครั้งแรกตั้งแต่ยุคหนังเงียบเมื่อปี ค.ศ. 1912 (ฟีล์มสูญหายไปแล้ว) จากนั้นระหว่าง ค.ศ. 1913-37 มีการสร้างซ้ำถึง 18 ครั้ง! จนกระทั่งผกก. Kinoshita Keisuke ปรับปรุงแนวทางใหม่ The Ghost of Yotsuya: Part I & Part II (1949) เปลี่ยนจากเรื่องผีๆสางๆ มาเป็นจิตหลอน ความรู้สึกผิดของตัวละคร

ส่วนสองฉบับดัดแปลงมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดนั้น ออกฉายปีเดียวกัน!

  • The Ghost of Yotsuya (1959) ฉบับของผกก. Nobuo Nakagawa จากสตูดิโอ Shintoho โดดเด่นกับสารพัดลูกเล่นภาพยนตร์ในการสร้างความหลอกหลอน … เลยมักได้รับยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าคือ Yotsuya Kaidan ยอดเยี่ยมที่สุด!
  • The Ghost of Yotsuya (1959) ฉบับของผกก. Kenji Misumi จากสตูดิโอ Daiei เลื่องชื่อในโปรดักชั่นงานสร้าง การแสดง บทหนังที่มีความลงตัวกว่า

Nobuo Nakagawa, 中川 信夫 (1905-84) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน โตขึ้นตั้งใจจะเป็นนักเขียนนวนิยาย แต่เปลี่ยนความสนใจมาเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ Kinema Junpo ก่อนเข้าร่วม Makino Film Productions กลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ รับอิทธิพลจาก Itaro Yamagami, Mansaku Itami, Yasujirō Ozu, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Tôkai no kaoyaku (1935), ผลงานในยุคแรกๆมักเป็นแนว Comedy, Period Drama, ช่วงสงครามก็ถ่ายทำสารคดี (Documentary), กว่าจะเริ่มมีชื่อเสียงก็เมื่อสรรค์สร้างหนังผี (Ghost Film) แนวเหนือธรรมชาติ (Horror/Supernatural) อาทิ Vampire Moth (1956) [หนังแวมไพร์เรื่องแรกของญี่ปุ่น], The Ghost of Yotsuya (1959), Jigoku (1960) ฯ

สำหรับ The Ghost of Yotsuya (1959) คือการดัดแปลงภาพยนตร์ครั้งที่ 21 และยังเป็นครั้งที่สองของสตูดิโอ Shintoho หลังจาก The Ghost of Yotsuya (1956) กำกับโดย Mori Masaki แต่ฉบับใหม่นี้เกิดขึ้นจากคำเรียกร้องขอของ Mitsugu Ôkura (ก้าวขึ้นมาเป็นประธาน Shintoho ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956) เพราะต้องการให้ถ่ายทำด้วยฟีล์มสีครั้งแรก!

นอกจากนี้ท่านประธานยังอยากให้หนังมีส่วนผสมสไตล์คาบูกิ (Kabuki Stylized) เพื่อเคารพคารวะบทละคอนต้นฉบับ, และเรียกร้องขอให้เพิ่มฉาก 戸板返し, Toita-gaeshi (บานประตูศพผุดขึ้นจากหนองน้ำ) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ ครั้งแรกของการแทรกใส่ฉากนี้ในสื่อภาพยนตร์

ความสนใจของผกก. Nakagawa ต้องการสำรวจ “the depth of human karma” มอบหมายนักเขียน Masayoshi Ônuki พัฒนทบทหนังความยาวประมาณ 200 หน้ากระดาษ เห็นว่าผ่านการอนุมัติจากท่านประธาน Mitsugu Ôkura แต่ทว่าผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshihiro Ishikawa กลับนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจนได้ความยาว 450 หน้ากระดาษ

เกร็ด: ญี่ปุ่นยุคสมัยนั้น การนำเอาบทหนังที่พัฒนาโดยคนอื่นไปปรับปรุงแก้ไข (Revised) ถูกมองว่าไม่เหมาะสมควร เหมือนเป็นการทรยศหักหลังเพื่อนร่วมอาชีพ หาใช่เรื่องที่จะยินยอมความโดยง่าย แต่โชคดีว่า Ishikawa ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าแผนก จึงสามารถเอาตัวรอดจากการถูกขับไล่ออกอย่างหวุดหวิด


นำแสดงโดย Shigeru Amachi, 天知 茂 ชื่อจริง Noboru Usui, 臼井登 (1931-85) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nagoya สืบเชื้อสายซามูไร Mizuno Jurozaemon, หลังเรียนจบมัธยมเข้าร่วมสตูดิโอ Shochiku เป็นตัวประกอบอยู่สองปีก่อนย้ายมา Shintoho แจ้งเกิดกับ The Ghost of Yotsuya (1959), Jigoku (1960), The Tale of Zatoichi (1962) ฯ

รับบท Iemon Tamiya โรนิน/ซามูไรเร่ร่อน ฐานะต่ำต้อย ไร้หัวนอนปลายตีน พยายามสู่ขอธิดาคหบดี Oiwa แต่ถูกบิดาของเธอกีดกัด ผลักไส ใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามจนสร้างความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ ลงไม้ลงมือสังหารโหด แล้วแสร้งบอกว่าจะช่วยล้างแค้น แต่หลังจากครองรักกันไม่นาน สันดานธาตุแท้จึงเริ่มปรากฎ พอหมดรักเลยลงมือวางยาพิษ เข่นฆ่าภรรยาเพื่อจักได้แต่งงานใหม่

แรกเริ่มต้นสตูดิโออยากได้ Arashi Kanjûrô นักแสดงนำในสังกัด Shintoho แต่พอได้ยินข่าวสตูดิโอ Daiei ก็เร่งรีบสร้างอีกโปรดักชั่น The Ghost of Yotsuya วางตัวนักแสดงนำ Kazuo Hasegawa ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกว่า กลัวว่าถ้าต้องประชันกันอาจส่งผลเสียต่อ Kanjûrô เลยขอให้เปลี่ยนนักแสดงนำมาเป็น Tetsurô Tanba ที่เคยรับบทนำ The Ghost of Kasane (1957) แต่ทว่าผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshihiro Ishikawa ไม่เห็นพ้องด้วยสักเท่าไหร่ “the image was different” สุดท้ายเลยส้มหล่มใส่ Shigeru Amachi จากความประทับใจภาพยนตร์ Military Police and Ghost (1958)

ภาพลักษณ์ของ Amachi ถือว่าเหมาะเข้ากับตัวละคร Iemon ดูก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ เย่อหยิ่งทะนงตน ไม่ชอบให้คนอื่นดูถูกเหยียดหยาม ราวกับสัตว์ร้ายที่สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองสันชาตญาณ นั่นทำให้หลังจากฆาตกรรมภรรยา วิญญาณอาฆาตหวนกลับมาหลอกหลอน หัวใจจึงเริ่มสั่นคลอน แสดงอาการหวาดหวั่น สีหน้าสั่นสะพรึง พยายามทำตัวเข้มแข็ง ชักดาบขึ้นมากวัดแกว่ง … น่าเสียดายตัวละครขาดมิติตื้นลึกหนาบาง ไม่มีการอธิบายเบื้องหลังความเป็นมา พยายามตีตราว่าคือคนเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย ต้องได้รับผลกรรมคืนตอบสนองอย่างสาสมควร

ต้องถือว่า The Ghost of Yotsuya (1959) คือผลงานแจ้งเกิด Amachi อาจไม่ได้โด่งดังทะลุฟ้า หรือได้รับโอกาสรับบทนำบ่อยครั้งนัก (ไม่ได้รูปหล่อเหลาตามมาตรฐานวงการภาพยนตร์) แต่ก็สามารถปักหลักยืนยาว เห็นเครดิตภาพยนตร์กว่า 120 เรื่อง!


Katsuko Wakasugi, 若杉嘉津子 ชื่อจริง Katsuta Etsuko, 勝田 英津子 (1926-) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nanyang, Yamagata มารดาเสียชีวิตในวันที่เธอเกิด ได้รับการอุปถัมภ์จากครองครับ Katsuta เติบโตขึ้นยัง Otsuka, Tokyo หลังเรียนจบมัธยม ทำงานธนาคาร Mitsubishi (ปัจจุบันคือ Mitsubishi UFJ), หลังสงครามสมัครเข้าร่วมสตูดิโอ Daiei กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่เพราะรีบร้อนแต่งงาน เลยย้ายมาปักหลัก Shintoho กลายเป็นนักแสดงนำหลักร่วมหัวจมท้ายจนกระทั่งปิดกิจการ

รับบท Oiwa ธิดาคหบดีตระกูลค้าข้าว เพราะความไร้เดียงสาต่อโลก จึงลุ่มหลงคารม ตกหลุมรักโรนินหนุ่ม Tamiya Iemon เชื่อว่าเขาจักล้างแค้นให้กับบิดา หลังแต่งงานยินยอมอดรนทนใช้ชีวิตอย่างขัดสน ไม่เคยคิดนอกใจสามีกลับถูกวางยาพิษ ทำให้สูญเสียรูปโฉมก่อนเสียชีวิต กลายเป็นวิญญาณอาฆาตแค้น และเมื่อรับรู้ว่าบุคคลเข่นฆ่าบิดาก็คือเขาคนนี้ จึงทั้งสาปแช่ง ติดตามมาหลอกหลอน ไม่ยินยอมไปผุดไปเกิดใหม่

Wakasugi คือตัวเลือกแรก ตัวเลือกเดียวของสตูดิโอ Shintoha เธอไม่ใช่คนที่มีรูปโฉมงดงามนัก แต่กล้าได้กล้าเสี่ยง กล้ายินยอมให้แต่งหน้าอัปลักษณ์ กลายร่างเป็นวิญญาณอาฆาต เห็นว่าเป็นโรคกลัวความสูงแต่ก็พร้อมอดทนอดกลั้น เล่นสตั๊นเองทุกช็อตฉาก ผกก. Nakagawa เห็นความทุ่มเทดังกล่าวเลยสร้างปัจฉิมบทให้ตัวละครได้ไปสู่สุขคติ โหนสลิงโบยบินขึ้นสวรรค์ (เธอบอกว่าตอนเข้าฉากสุดท้ายนี้ ไม่รู้สึกกลัวความสูงเลยสักนิด!)

แม้ผมรู้สึกว่า Wakasugi อายุมากไปหน่อย (ตัวละครน่าจะแค่ 20 ต้นๆ แต่เธออายุเกิน 30+ ไปแล้ว) ส่วนเรื่องการแสดงถือว่าพอใช้ได้ ตอนเป็นมนุษย์มีแต่ระทมทุกข์ทรมาน เต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้น แถมสามียังกดขี่ข่มเหง ดูถูกเหยียดหยาม แถมสถานะทางสังคมค้ำคอเอาไว้ เลยไม่รู้จะทำอะไรยังไง แต่พอตายแล้วกลายเป็นวิญญาณอาฆาต ราวกับได้รับการปลดปล่อย สีหน้าเคียดแค้น เสียงพูดโหยหวน ภาพลักษณ์สยดสยอง ติดตามมาหลอกหลอน ทวงคืนความยุติธรรมจนกว่าจะสาสมแก่ใจ


ถ่ายภาพโดย Tadashi Nishimoto, 西本正 (1921-97) เกิดที่ Chikushino, Fukuoka อพยพตามครอบครัวสู่ Manchuria โตขึ้นเข้าร่วมแผนกถ่ายภาพ Manchukuo Film Association หลังสงครามเดินทางกลับญี่ปุ่น กลายเป็นผู้ช่วยตากล้องในสังกัด Toho ก่อนย้ายมา Shintoho ผลงานเด่นๆ อาทิ Black Cat Mansion (1958), The Ghost of Yotsuya (1959), จากเดินทางสู่ Hong Kong เข้าร่วมสตูดิโอ Shaw Brothers ใช้ชื่อ Ho Lan-Shan กลายเป็นตำนานกับ The Love Eterne (1963), Come Drink with Me (1966), The Way of the Dragon (1972) ฯ

งานภาพของหนังแพรวพราวไปด้วยลูกเล่น ‘Trick film’ ละเลงแสงสี ลมฟ้าฝน รับอิทธิพลการแสดงคาบูกิ (Kabuki Play) เพื่อสร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ บรรยากาศหลอกหลอน ผู้ชมสมัยนั้นคงขนหัวลุกพอง แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เอ็ฟเฟ็กเหล่านั้นเริ่มดูไม่ค่อยสมจริง กลายเป็นความสไตล์ลิสต์ (Stylish) … แต่เราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับความคิดสร้างสรรค์ สยองขวัญคลาสสิก

ปัญหาใหญ่ของหนังคือเรื่องคุณภาพสี แม้ผ่านการบูรณะ HD ผมยังรู้สึกว่ามีความซีดเซียว สีตก นี่ไม่ใช่ความจงใจของผู้สร้าง แต่เพราะเลือกใช้กระบวนการสีของ Fujicolor ที่เพิ่ง(ลอกเลียนแบบ)ผลิตขึ้น เริ่มใช้ครั้งแรกกับ The Ballad of Narayama (1958) มันจึงเทียบไม่ได้กับพวก Eastmancolor หรือ Technicolor จากฟากฝั่งตะวันตกที่ผ่านการทดลองผิดลองถูกมานานหลายปี

เกร็ด: The Ghost of Yotsuya (1959) ฉบับของสตูดิโอ Daiei เพราะทุนหนากว่าจึงนำเข้าฟีล์มสีของ Eastmancolor เลยสามารถอยู่ยงคงกระพัน ผ่านการบูรณะแล้วยังได้สีสันสวยสดใส


ด้วยความที่เกินกว่า 70% ของหนังถ่ายทำตอนกลางคืน ปกคลุมด้วยความมืด มันจึงมองไม่ค่อยเห็นสีสันสักเท่าไหร่, ปัญหาคือตอนกลางวันและฉากภายนอก ลองสังเกตภาพจากฉบับบูรณะ มีความซีดเซียว สีตก เหมือนภาพถ่ายเก่าๆที่เมื่อเก็บไว้นานๆจะเริ่มออกน้ำตาล

โดยเฉพาะวัตถุสีแดง(เลือด) ผมคาดเดาว่าผกก. Nakagawa พยายามสร้างความโดดเด่น เห็นชัดเจน หลายครั้งเหมือนจะใช้เป็นวัตถุเชิงสัญลักษณ์ (ถุงใส่ยาพิษ, มีดป้องกันตัว, สร้างสัมผัสอันตราย/ความตาย) แต่มันดันกลมกลืนเข้ากับสีอื่นๆ บางครั้งออกโทนส้มเสียด้วยซ้ำ หมดความน่าสนใจไปโดยพลัน

ผมไม่อยากเสียเวลาอธิบาย ‘Trick’ ทั้งหลายเหล่านี้ ชวนให้นึกถึงมายากลของ Georges Méliès เป็นการนำเอาสารพัดลูกเล่นภาพยนตร์ การจัดแสงสี-เงามืด, ภาพซ้อน (Double Exposure), Cross-Cutting, Whip-pan รวมถึงลูกเล่น Special Effect อย่างสายลม หมอกควัน แผ่นดินแยก แต่งหน้าแต่งตาตัวละคร (Prosthetic Makeup) ฯ มาทำให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ สร้างสัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ วิญญาณอาฆาต โลกหลังความตาย … รับชมอย่างเพลิดเพลิน ประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างภาพยนตร์ก็เพียงพอแล้วละ

ผมขอกล่าวถึงฉากที่ถือเป็น ‘Iconic’ ของหนังสักหน่อยแล้วกัน ผีห้อยโหนจากบนเพดาน เห็นว่าไม่ได้มีการใช้ลูกเล่นหลอกตาอะไร เพียงให้นักแสดงห้อยโหน/ผูกติดอยู่เบื้องบนจริงๆ เพื่อสื่อว่าไม่มีทางที่ Iemon จะสามารถดิ้นหลบหนี ความอาฆาตแค้นของ Oiwa จักติดตามไปทุกทิศทาง ทุกแห่งหน ไม่ว่าด้านบน-ล่าง เพดาน หนองน้ำ หรือผุดขึ้นจากผืนแผ่นดิน

จุดจบของ Iemon แตกต่างจากตำนาน Yotsuya Kaidan ที่จะถูกกลืนกินเข้าไปในโลกแห่งความมืด แยกไม่ออกระหว่างความจริงกับโลกวิญญาณ เวียนวนไร้หนทางออกตราบชั่วกัลปาวสาน, แต่หนังจบลงด้วย Osode และ Yomoshichi สามารถฆ่าล้างแค้นได้สำเร็จ ซึ่งวินาทีสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ จะมีฉายภาพนิมิตแห่งความตาย (ร้อยเรียงเวรกรรมทั้งหลายเคยกระทำเอาไว้) ก่อนทิ้งตัวนอนริมหนองน้ำ สถานที่ที่เขาทอดทิ้งภรรยาให้จมลงก้นเบื้องล่าง … กงเกวียนกรรมเกวียน เวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

เอาจริงๆตำนาน Yotsuya Kaidan มันไม่มีทางจบลงอย่าง Happy Ending เพราะความอาฆาตของวิญญาณ ต่อให้สามารถล้างแค้นสำเร็จก็เท่ากับเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมให้กับตนเอง ไม่มีใครได้ไปผุดไปเกิด ล่องลอยขึ้นสรวงสวรรค์ แต่ระหว่างโปรดักชั่นผกก. Nakagawa รู้สึกเห็นใจนักแสดงนำหญิง Katsuko Wakasugi มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท เล่นฉากสตั๊นเองทั้งหมด (ทั้งห้อยโหยเพดาน, ผุดขึ้นมาจากหนองน้ำ) เลยสรรค์สร้างตอนจบนี้เพื่อให้เธอไปสู่สุขคติ –“

ตัดต่อโดย Shin Nagata, 長田信

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Iemon Tamiya เริ่มจากพยายามโน้มน้าวบิดาของ Oiwa แต่เกิดความขัดแย้ง เข่นฆ่าแกง หลังจากนั้นใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความหลอกลวง แต่งงานครองรักกันไม่นานก็แอบสานสัมพันธ์หญิงคนใหม่ ตัดสินใจวางยาพิษภรรยา ก่อนได้รับผลกรรมคืนตอบสนอง

  • Opening Credit กับการแสดงคาบูกิ
  • เมื่อแรกรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน
    • Iemon พยายามโน้มน้าวบิดาของ Oiwa สู่ขอแต่งงาน แต่เขาปฏิเสธเสียงขัดแข็ง เกิดความขัดแย้ง ลงมือเข่นฆ่าแกง แรกพบเจอกับ Naosuke ช่วยเป็นประจักษ์พยาน
    • Iemon ล่อหลอก Oiwa ว่าจะล้างแค้นให้บิดา พากันออกเดินทางหลบหนี ก่อนลงมือฆ่าปิดปาก Yomoschichi คู่หมั้นของ Sode (น้องสาว Oiwa) ตามคำร้องขอของ Naosuke
  • เมื่อจืดจางน้ำตาลยังว่าขม
    • หลายปีถัดมา Iemon แต่งงานกับ Oiwa มีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก แต่เธอยังเรียกร้องขอสามีให้ล้างแค้นแทนบิดา
    • ส่วน Sode แม้ใช้ชีวิตอยู่กับ Naosuke แต่เรียกร้องให้อีกฝ่ายล้างแค้นแทนบิดา ถึงจะยินยอมครองคู่อยู่ร่วมกัน
    • ครั้นหึ่ง Iemon ให้ความช่วยเหลือขุนนาง Ito แนะนำให้รู้จักหลานสาว Oume
    • Naosuke โน้มน้าวให้ Iemon วางยาพิษภรรยา เพื่อจะได้แต่งงานใหม่กับ Oume
  • คบคนชั่วพาตัวต้องอับจน
    • Iemon วางยาพิษ Oiwa จนสูญเสียโฉมก่อนหมดสิ้นลมหายใจ
    • Iemon และ Naosuke ช่วยกันนำศพไปทิ้งน้ำ
    • Iemon แต่งงานใหม่กับ Oume แต่พอจะขึ้นห้องหอ พบเห็นภาพหลอนอดีตภรรยา Oiwa พลั้งพลาดสังหารหมู่ทั้งตระกูล
  • คบคนดีให้ผลจนวันตาย
    • Iemon หลบหนีไปอาศัยอยู่ยังวัดบนภูเขา แต่ยังคงถูกสารพัดคนตายติดตามมาหลอกหลอน
    • Naosuke สารภาพความผิดต่อ Sode
    • Sode พบเจอกับ Yomoschichi ที่สามารถเอาตัวรอดชีวิต
    • Sode และ Yomoschichi เดินทางไปสังหาร Iemon ล้างแค้นให้กับบิดาและพี่สาว

เพลงประกอบโดย Chumei Watanabe, 渡辺 宙明 ชื่อจริง Michiaki Watanabe, 渡辺 宙明 (1925-2022) นักแต่งเพลงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nagoya, Aichi ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในบทเพลงออร์เคสตรา วาดฝันโตขึ้นอยากทำเพลงประกอบภาพยนตร์ แต่โตขึ้นเลือกเรียนคณะจิตวิทยา University of Tokyo ตามคำร้องขอบิดา ระหว่างนั่นก็ร่ำเรียนการแต่งเพลงกับ Saburo Moroi, ภายหลังบิดาเสียชีวิตก็หันเหสู่การทำเพลงประกอบภาพยนตร์เต็มตัว เข้าร่วมสตูดิโอ Shintoho ผลงานเด่นๆ อาทิ The Ghost of Yotsuya (1959), Jigoku (1960) ฯ

งานเพลงทั้งหมดของหนัง บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น อาทิ Shamisen, Koto, Nohkan flute, Taiko Drum, ฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง, รวมถึงอุปกรณ์ทำเสียงประกอบ (Sound Effect) ฯ สร้างสัมผัสเหมือนกำลังรับชมการแสดงละคอนคาบูกิ (Kabuki Play)

เท่าที่ผมสังเกตการใช้บทเพลง มักดังขึ้นระหว่างการต่อสู้เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ หรือตัวละครกระทำสิ่งเลวร้ายบางอย่าง ทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดหวั่นสั่นสะพรึง โดดเด่นที่สุดคือเสียงขลุ่ย (Nohkan flute) ดังขึ้นหลังความตายของ Oiwa มันช่างบาดแหลม กรีดแทง เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน

ตำนานผีแม่นาคญี่ปุ่น Yotsuya Kaidan สร้างขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนเสี้ยมสอนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะบุคคลที่หมกมุ่นอยู่กับโลภะ-โทสะ-โมหะ ไม่รู้จักควบคุมสติอารมณ์ ใช้ชีวิตตอบสนองสันชาตญาณ อยากได้อะไรต้องได้ ไม่พึงพอใจอะไรก็โต้ตอบด้วยความรุนแรง โกรธเกลียดเคียดแค้น “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ทำอะไรกับใครไว้นั้น ท้ายที่สุดย่อมได้รับผลกรรมคืนตอบสนอง

Iemon Tamiya คือโรนิน/ซามูไรเร่ร่อนที่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงในกิเลสตัณหา (โมสะ) ทั้งยังละโมบโลภมาก (โลภะ) ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมระบายอารมณ์ออกมา (โทสะ) พยายามชี้นำผู้ชมว่าหมอนี่เป็นคนโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย สมควรต้องตีตนออกให้ห่างไกล อย่างทำพฤติกรรมใดๆเลียนแบบตาม

แต่ผมรู้สึกว่าข้อคิดดังกล่าว เป็นบทเรียนที่เฉิ่มเฉย ล้าหลัง! นั่นเพราะมุมมองสมัยใหม่ พยายามสร้างค่านิยมให้รู้จัก “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” หนังเรื่องนี้ไม่เคยพยายามอธิบายเบื้องหลัง สาเหตุผล ทำความเข้าใจ Iemon ทำไมถึงกลายเป็นคนเช่นนั้น? เอาแต่นำเสนอพฤติกรรมโฉดชั่วร้าย ตีตราบุคคลอันตราย ทั้งหมดคือการฟังความข้างเดียว บางคนอาจรู้สึกสงสารเห็นใจเสียด้วยซ้ำ

เฉกเช่นเดียวกับ Oiwa ในมุมของคนรุ่นก่อนคงรู้สึกสงสารเห็นใจ เธอทำผิดอะไรถึงถูกสามีทรยศหักหลัง บังเกิดความอาฆาตแค้น ตายแล้วกลายเป็นวิญญาณหวนกลับมาหลอกหลอน โต้ตอบเอาคืน สิ่งที่นายเคยทำกับฉัน ต้องได้รับผลกรรมติดตามทัน!

แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่ ยัยนี่แม้งก็เห็นแก่ตัว โฉดชั่วร้ายไม่แพ้กัน! หมกมุ่นมักมากในรัก (ตามต้นฉบับคือระริกระรี้อยากแต่งงานกับ Iemon พร้อมจะหนีตามสามีไปด้วยซ้ำ) และยึดติดกับความอาฆาตแค้น (ทั้งบิดาและตนเอง) ไม่รู้จักปล่อยละวาง ตายแล้วแทนที่จะอยู่ในโลกคนตาย กลับกลายเป็นวิญญาณติดตามมาหลอกหลอนคนเป็น สร้างเวรสร้างกรรมไม่รู้จักจบจักสิ้น

สำหรับผกก. Nakagawa ช่วงปักหลักทำงานอยู่ Shintoho ถือเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการงานเลยก็ว่าได้! สรรค์สร้างหนังผีที่สามารถเสี้ยมสอนบทเรียนชีวิต สะท้อนกฎแห่งกรรม หลักคำสอนพุทธศาสนา ใครทำอะไรใครไว้ ย่อมได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง … เจ้าตัวมองว่าผลงานยุคนี้มีความทั่วๆไป เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย (ทั้งเรื่องงบประมาณ, ระยะเวลาทำงาน ฯ) ตลอดทั้งชีวิตสร้างหนังผีก็แค่ช่วงนี้เท่านั้น แต่กลับได้รับการจดจำ กล่าวขวัญ เหนือกาลเวลาที่สุด

I thought they were just okay, but when they were released, the reviews were quite good, and… some people even went so far as to praise them as legendary, and that is how it remains to this day.

Nobuo Nakagawa ให้สัมภาษณ์กับ Kinema Junpo ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 1974

Shintoho Ghost Story (คล้ายๆกับ Universal Monsters และ Hammer Horrors) แม้เพียงยุคสมัยสั้นๆในช่วงปลายทศวรรษ 50s แต่อาจถือว่าเป็นแม่แบบพิมพ์ให้กับ J-Horror (ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็มีหนัง Horror ฉายอยู่ประปราย แต่ทว่าไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีจุดโดดเด่นชัดเจนเหมือนยุคสมัยของ Shintoho) สร้างกระแสนิยมภาพยนตร์ที่นำเอาปรับปรา/ตำนาน(ผี)พื้นบ้านญี่ปุ่น มาใส่ลูกเล่นอันแพรวพราว มุ่งเน้นบรรยากาศหลอกหลอน หวาดสะพรึงกลัว และเคลือบแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ


หนังใช้ทุนสร้าง ¥18 ล้านเยน (=$50,000 ดอลลาร์) ยุคสมัยนั้นก็ยังถือว่าน้อยนิด ไม่มีรายงานรายรับ แต่กระแสตอบรับถือว่าดีเยี่ยม นักวิจารณ์สมัยนั้นยกย่องระดับมาสเตอร์พีซเลยก็มี!

Nobuo Nakagawa’s ghost films have a reputation of their own… Nobuo Nakagawa, who was supposed to have been completely buried in the paper theater subcontracting factory Shintoho, has managed to rediscover the world of obsession in this way. Japan’s surreal tradition is now beginning to be revived.

นักวิจารณ์ Sato Shigeomi จากนิตยสาร Eiga Hyoron, 映画評論

ผมลองค้นดูเล่นๆก็แอบคาดไม่ถึงว่า The Ghost of Yotsuya (1959) ได้รับการโหวตติดอันดับ “Best Japanese Movies Ever Made” ของนิตยสาร Kinema Junpo ถึงสองครั้ง

  • Kinema Junpo: Top 100 best Japanese movies ever made (1999) ติดอันดับ #107
  • Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made (2009) ติดอันดับ #124

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ HD (High-Definition) โดย National Film Center และ Tokyo National Museum of Modern Art จัดจำหน่าย Blu-Ray โดยค่าย Happinet เมื่อปี ค.ศ. 2019 แต่เหมือนจะไม่มีซับไตเติ้ล วางขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น

แม้เรื่องราวจะดูเอื่อยๆเฉื่อยๆ การแสดงไร้มิติ องค์ประกอบต่างๆก็คลุกเคล้าไม่ค่อยกลมกล่อมสักเท่าไหร่ แต่ความแพรวพราวในลูกเล่นภาพยนตร์ มันช่างเพลิดเพลินบันเทิงใจที่ได้รับชม ปัจจุบันแม้ไม่สามารถเรียกมาสเตอร์พีซ ยังคงความสยองขวัญคลาสสิก

จัดเรต 15+ คดีฆาตกรรม วิญญาณร้ายหวนกลับมาหลอกหลอน

คำโปรย | The Ghost of Yotsuya ภาพยนตร์สยองขวัญทุนต่ำ เพลิดเพลินไปกับลูกเล่นภาพยนตร์อันแพรวพราว สร้างความหลอกหลอน บรรยากาศสยองขวัญคลาสสิก
คุณภาพ | สยองขวัญคลาสสิก
ส่วนตัว | เพลิดเพลิน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: