
3-Iron (2004)
: Kim Ki-duk ♥♥♥♥♡
เรื่องราวของหนุ่มชายขอบ ชอบแอบเข้าไปหลับนอนในบ้านคนอื่น พยายามฝึกฝน ‘ghost practice’ เพื่อให้ตัวตนค่อยๆเลือนหาย กลายเป็นเหมือนวิญญาณล่องลอย รูปธรรมสู่นามธรรม นี่คืออีกผลงานชิ้นเอกที่ทำให้ผู้กำกับ Kim Ki-duk กลายเป็นอมตะนิรันดร์, คว้ารางวัล Silver Lion: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice
คนที่เคยรับชมหนังอ่านย่อหน้าเกริ่นนำแล้วอาจเกาหัว ไม่ใช่ว่า 3-Iron (2004) คือเรื่องราวรักสามเส้า เตารีดสามอัน หนุ่มชายขอบที่แอบเข้าไปหลับนอนในบ้านหลังหนึ่ง แล้วตกหลุมรักภรรยาสาวสวยที่ถูกสามีกระทำร้ายร่างกาย เลยลักพาตัวเธอหลบหนีไปด้วยกัน หรอกฤๅ???
รักสามเส้ามันเป็นแค่เพียงองค์ประกอบหนึ่งของหนังเท่านั้นนะครับ เราต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตบริบทรอบข้าง ตั้งคำถามถึงการกระทำ ความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น ทำไมหนุ่มชายขอบถึงชอบหลับนอนบ้านคนอื่น? ฝึกฝนวิชาหายตัวไปทำไม? น้ำหนักบนตาชั่งที่เป็นศูนย์หมายถึงอะไร? … อย่ามัวมองแค่สิ่งพบเห็นด้วยตา แต่ควรครุ่นคิดค้นหาเหตุผลที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน
โปสเตอร์ของหนัง รวมถึงชื่อ 3-Iron (จริงๆมาจากไม้กอล์ฟเหล็ก 3) เป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดใจ ทำการล่อหลอก ชี้นำทางผู้ชมให้หลงเชื่อว่าคือแนวรักสามเส้า ชายโฉดหญิงชั่ว คบชู้นอกใจ แต่ทว่านามกร Kim Ki-duk น่าจะสร้างความเคลือบแคลงสงสัย มันต้องมีอะไรลึกลับซับซ้อน ซ่อนปรัชญา จิตวิทยา สารพัดยาๆอย่างแน่นอน!
ผมเองก็แอบคาดไม่ถึงว่าหนังจะความลุ่มลึกล้ำขนาดนั้น ทำเอาความโปรดปรานต่อ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) สั่นคลอนไม่น้อย! พยายามสะท้อนปัญหาสังคมชายขอบ (Marginality) ที่ไร้สิทธิ์เสียง (Voicelessness) ไร้ตัวตน (Invisibility) แล้วแปรสภาพสู่ ‘phantom of cinema’ ก่อนท้ายที่สุดกลายเป็นอุตรภาพ (Transcendence) หรือจะมองถึงการหลุดพ้นจากโลกียวิสัย
Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม เพราะสถานะทางสังคมต่ำกว่าใคร แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง, พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบีบบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือ (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์
พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบทกับ Korea Scenario Writers Association พัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), ผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)
จุดเริ่มต้นของ 빈집 แปลว่า Empty House เกิดจากการพบเห็นใบปลิวโฆษณาที่บดบังรูกุญแจอพาร์ทเม้นท์ แล้วบังเกิดความครุ่นคิดว่าอาจคือวิธีการที่พวกหัวขโมยใช้ตรวจสอบบ้านพัก/ห้องแห่งไหนไม่มีผู้เข้าอาศัยมานาน
I saw a flyer—an advertisement—covering my keyhole, and I realized I would have to remove it in order to insert my key in the lock. And I thought this could be one way a thief could figure out which house has remained vacant for a long time. So it began with sort of a simple idea.
Kim Ki-duk
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นำสู่การสำรวจแนวคิดมีตัวตน-ไร้ตัวตน มองเห็น-มองไม่เห็น ล่องลอยเหมือนวิญญาณ มุมมอง 180 องศาที่มนุษย์ไม่สามารถเหลียวหลัง ฯ
But as I started making this film, I wanted to also explore the idea of haunting, and a ghostlike presence in some ways—something that borders—that’s in-between existence and non-existence—an exercise in invisibility. And I really wanted to explore this idea of human line of vision, of perspective, as in 180 degrees—and whether one could actually stand outside that line of vision to remain invisible.
ช่วงระหว่างพัฒนาบทหนัง ผกก. Kim Ki-duk เล่าว่าก็เขียนบทสนทนา ตัวละครพูดคุยกันทั่วๆไป แต่พอเริ่มต้นโปรดักชั่นจึงค่อยๆตัดทิ้งโน่นนี่นั่น และระหว่างตัดต่อก็พยายามคัดทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด
When I first wrote this narrative, there was dialogue throughout it. During production, I eliminated more and more. In post production, I just kept the very few words that remain. But even without words, I do believe there is much—there’s a lot of dialogue. Laughter and crying, for instance, are I think important elements of dialogue in this film.
It’s not necessarily that the characters don’t need words to communicate, but really it’s a strategy to force the audience to fill in the blanks themselves. So in some ways they insert sort of their own dialogue throughout the film: imagining what they would say—imagining what might be said when there is silence in the film.
I want the audience to watch the characters more closely by reducing the dialogue as much as possible. Most movies have too much dialogue; I don’t think words make everything understandable.
สำหรับชื่อหนังภาษาอังกฤษ 3-Iron ไม่ใช่เหล็กสามชิ้น เตารีดสามอัน แต่คือไม้กอล์ฟเหล็ก 3 ที่ตัวละครใช้ฝึกซ้อมตีกอล์ฟ กีฬาของคนมีฐานะ เพ้อใฝ่ฝันอยากมีสถานะทางสังคมระดับสูง
เรื่องราวของ Tae-suk (รับบทโดย Jae Hee) ชายหนุ่มไร้บ้าน ชอบใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย ขับมอเตอร์ไซด์เร่ร่อนไปทั่ว ทำงานติดใบปลิวโฆษณาตามประตูบ้านพัก/ห้องเช่า เย็นกลับมาดูหลังไหนใบปลิวยังคงติดอยู่ จักงัดแงะเข้าไปอาศัยหลับนอน แล้วซ่อมแซมสิ่งข้าวของเครื่องใช้ ทำบางสิ่งอย่างเป็นการตอบแทน
วันหนึ่งงัดแงะเข้าไปในบ้านหลังใหญ่ ทีแรกครุ่นคิดว่าไม่มีใครอยู่อาศัย จนได้พบเจอภรรยา/อดีตนางแบบ Sun-hwa (รับบทโดย Lee Seung-yeon) ในสภาพบอบช้ำ ถูกสามีกระทำร้ายร่างกาย ทีแรกก็ไม่คิดอยากยุ่งวุ่นวาย แต่ทนเห็นพฤติกรรมฝ่ายชายไม่ได้จึงให้การช่วยเหลือ (ลัก)พาตัวหลบหนีออกจากบ้าน
แต่ทว่าการใช้ชีวิตอย่างไร้หลักแหล่ง Tae-suk สักวันหนึ่งย่อมต้องถูกจับได้ ติดคุกติดตาราง ระหว่างอยู่ในเรือนจำทำการฝึกฝน ‘Ghost Practice’ จนเหมือนล่องหน ไร้ตัวตน สามารถหาตัวออกจากเรือนจำ หวนกลับมาบ้านของ Sun-hwa หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังสามี ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกันโดยอีกฝ่ายไม่รับรู้ตัว
Jae Hee, 재희 ชื่อจริง Lee Hyun-kyun, 이현균 (เกิดปี ค.ศ. 1980) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul เริ่มเป็นนักแสดงตัวแต่วัยรุ่น ผลงานส่วนใหญ่คือซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ 3-Iron (2004), ซีรีย์ Sassy Girl Chun-hyang (2005) ฯ
รับบท Tae-suk ชายหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ เป็นคนเงียบขรึม แทบไม่เคยพูดจา ใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน ปฏิเสธลงหลักปักฐาน แต่มักบุกรุกรานเข้าไปในบ้านพัก/อพาร์ทเมนท์คนแปลกหน้า ไม่ได้ด้วยจุดประสงค์เลวร้าย แค่เพียงอาศัยหลับนอน แล้วตอบแทนด้วยการทำความสะอาด ซ่อมแซมสิ่งข้าวของเครื่องใช้ ฯ ก่อนจากไปอย่างสงบ ราวกับไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น
การได้พบเจอ Sun-hwa ทีแรกไม่ได้อยากก้าวก่าย แต่พอสังเกตเห็นร่องรอยบอบช้ำบนใบหน้า ก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน มอบความหวัง ให้การช่วยเหลือ จริงๆไม่ได้ลักพาตัว แต่เธอเลือกที่จะติดตามเขาไป ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนถูกค้นพบ ไร้หนทางหลบหนี ติดคุกติดตาราง นั่นทำให้เขาฝึกฝน ‘Ghost Practice’ จนเหมือนล่องหน ไร้ตัวตน หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หวนกลับมาบ้านของ Sun-hwa หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังสามี ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกันชั่วนิรันดร์
สำหรับบทบาทนี้ผกก. Kim Ki-duk พยายามมองหานักแสดงหน้าใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แค่ภาพลักษณ์เหมาะสมกับบทบาท วัยรุ่นอุกอาจ หัวขบถ ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบ ร่างกายผอมบาง และท่าทางพริ้วไหว (ให้เหมือนวิญญาณล่องลอยไป) ส่วนเรื่องการแสดงไม่ได้ต้องถ่ายทอดอะไรออกมามากมาย (บทพูดก็ไม่ต้องท่องจำ) เพียงกระทำสิ่งโน่นนี่นั่นตามคำสั่งของผู้กำกับเท่านั้นเอง
I prefer actors with not much or no acting experience. Part of it is that I think they add almost a documentary feel to it—kind of like a realistic element. It’s not always, but generally.
Kim Ki-duk
Lee Seung-yeon, 이승연 (เกิดปี ค.ศ. 1968) นักแสดง/พิธีกร สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul สำเร็จการศึกษาด้านการบิน Inha Technical College แล้วเข้าทำงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน Korean Air, จากนั้นประกวดนางงาม Miss Korea ค.ศ. 2012 ชนะเลิศอันดับสาม ก่อนกลายเป็นตัวแทนเกาหลีใต้เข้าประกวด Miss World ผ่านเข้าถึงรอบสิบคนสุดท้าย, จากนั้นทำงานผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการโทรทัศน์ โด่งดังกับซีรีย์ First Love (1996-97) ภาพยนตร์ 3-Iron (2004) ฯ
รับบท Sun-hwa อดีตนางแบบ ปัจจุบันแต่งงานเป็นแม่ศรีเรือน มักมีเรื่องขัดแย้งกับสามี จนถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นตันใจ จนกระทั่งการมาถึงของ Tae-suk ทีแรกบังเกิดความหวาดกลัวเกรง ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายจะมาร้าย แต่หลังจากคอยสังเกต แอบสอดแนม พบเห็นว่าก็ไม่ได้ทำอะไรเสียๆหายๆ เลยยินยอมเปิดเผยตนเอง เหมือนต้องการร้องขอความช่วยเหลือ ก่อนตัดสินใจซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ ขอติดตามไปทุกแห่งหน
การได้เข้ามาอยู่ในโลกของ Tae-suk ถือเป็นการเปิดมุมมองให้กับ Sun-hwa มีโอกาสเรียนรู้ พบเห็นเรื่องราวครอบครัวต่างๆ กระทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้สุดท้ายพวกเขาจะถูกจับกุม ส่งตัวกลับหาสามี แต่เธอก็ไม่ตกอยู่ในความสิ้นหวังอีกต่อไป
ตรงกันข้ามกับ Jae Hee ที่ยังเป็นนักแสดงนิรนาม ไร้ตัวตน, Lee Seung-yeon คือซุปเปอร์สตาร์ของเกาหลีใต้ เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะนั้นพยายามมองหาบทบาทอันท้าทาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มอบโอกาสนั้น, แรกเริ่มสีหน้าห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวหมดแรง หมดอาลัยตายอยาก แต่เมื่อสามารถหลบหนีออกจากกรงขัง เบิกบานด้วยรอยยิ้ม โบยบินสู่อิสรภาพ เข้าใจความหมายชีวิต ทำให้ไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น จักไม่ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอีกต่อไป
ประสบการณ์ด้านการแสดงของ Lee Seung-yeon รวมถึงริ้วรอยเหี่ยวย่น (ก็ยังไม่ได้แก่ขนาดนั้น เพียงหญิงวัยกลางคน) ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ตัวละคร ดูเป็นคนพานผ่านอะไรมาพอสมควร สามารถถ่ายทอดอารมณ์อันซับซ้อน ความเจ็บปวดชอกช้ำ และโดยเฉพาะรอยยิ้มกริ่มแห่งชัยชนะ มันช่างน่าหลงใหล มารยาหญิง ร้ายกาจจริงๆ
ถ่ายภาพโดย Jang Seong-back, 장성백
งานภาพของหนังค่อนข้างแตกต่างจากผลงานอื่นๆของผกก. Kim Ki-duk เรื่องนี้เหมือนรับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu และ Robert Bresson นิยมตั้งกล้องอยู่กับที่ภายในบ้านพัก/อพาร์ทเม้นท์ นักแสดงเดินเข้า-ออก แอบถ้ำมอง ย่องเบาเข้ามา มักพยายามทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกแยะทิศทาง แผนผังบ้าน ดูราวกับเขาวงกต (สไตล์ของ Ozu) นอกจากนี้ยังขยันเก็บรายละเอียด ถ่ายภาพการกระทำสิ่งเล็กๆน้อย (สไตล์ของ Bresson)
ความมหัศจรรย์ของหนังอยู่ช่วงองก์สุดท้าย เมื่อตัวละคร Tae-suk เริ่มฝึกฝน ‘Ghost Practice’ การถ่ายภาพจะมีอิสระมากขึ้น (ไม่ใช่แค่ตั้งอยู่เฉยๆอีกต่อไป) บางครั้งแทนมุมมองสายตาผู้คุม/ตัวละครอื่น เพื่อพยายามจับจ้องมองหา แต่เขาสามารถหลบซ่อน เหมือนว่าอยู่ข้างหลังกล้อง (หลบอยู่จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่สามารถทำให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สึก/สัมผัสถึงการมีตัวตน) นั่นมีคำเรียก ‘phantom of cinema’ ใช้ประโยชน์จากกรอบ ขอบเขต ข้อจำกัดของเฟรมภาพยนตร์ได้อย่างมหัศจรรย์
One of his jailers calls him a ghost, but it would be more accurate to say that he becomes a phantom of cinema, hiding on the edge of the frame and taking advantage of the literal-minded folk who haven’t fully grasped the potential of the medium.
A. O. Scott นักวิจารณ์จาก The New York Times
ผกก. Kim Ki-duk ใช้เวลาพัฒนาบทหนัง+เตรียมงานสร้างประมาณหนึ่งเดือน เพื่อถ่ายทำเพียง 16 วัน และตัดต่ออีก 10 วัน ก็ไม่รู้จะเร่งรีบร้อนไปไหน … แต่ก็ยังน้อยกว่า Samaria (2004) ใช้เวลาถ่ายทำแค่ 11 วันเท่านั้น!
I chose the objects that I wanted to shoot among the things already in those houses where we did location shooting. The house was a very wealthy house, and there were marble sculptures. I thought they looked very good in the frame and made the house look luxurious.
Kim Ki-duk
ในบทสัมภาษณ์ของผกก. Kim Ki-duk ไม่ได้จงใจเลือกรูปปั้นแกะสลักหินอ่อนนี้มาเป็นตัวแทนของใคร แค่สิ่งที่มีอยู่ในบ้านหรูหลังนี้เลยขอหยิบยืมมาใช้ แต่ผู้ชมมักจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล ตัวแทนหญิงสาว Sun-hwa ราวกับถูกหว่านแห ติดอยู่ในตาข่าย กลายเป็นที่ระบายอารมณ์ ตัณหาความใคร่ของสามี

ไม้กอล์ฟมีอยู่หกประเภท ไล่เรียงจากขนาด คุณภาพ ระยะทางที่สามารถตีได้ไกล-ใกล้ ประกอบด้วย
- หัวไม้หนึ่ง (Driver) มีหัวขนาดใหญ่สุด ก้านไม้ยาวสุด แต่มีองศาหน้าไม้น้อยสุด และตียากที่สุด มักใช้ในการเริ่มเล่นบนแท่นตั้งที
- หัวไม้แฟร์เวย์ (Fairway Wood) ใช้ในการตีบริเวณสนามที่ตัดหญ้าเรียบ และการตีไกล
- หัวไม้ไฮบริด (Hybrid) ใช้ตีระยะไกล มีการเรียงตัวเลขกำหนดองศาสำหรับการตีเพื่อให้สะดวกในการใช้
- ชุดเหล็ก (Iron Set) ใช้ในการตีระยะสั้น ในชุดนี้จะมีหัวที่แตกต่างกันถึง 9 แบบ
- เวดจ์ (Wedge) ใช้สำหรับเล่นลูกในระยะสั้น ส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 100 หลา หรือในกรณีตกหลุมทราย พงหญ้าหนาๆ ออกนอกเส้นทาง ฯ
- พัตเตอร์ (Putter) มีหน้าที่ในการพัตต์ลูกให้ลงหลุม เน้นการผลักลูกกอล์ฟให้กลิ้งไปบนพื้น
เอาจริงๆผมไม่อยากมองเช่นนั้น เราสามารถเปรียบเทียบประเภทไม้กอล์ฟ กับชนชั้นสถานะทางสังคม! หัวไม้หนึ่งกับหัวไม้แฟร์เวย์ สามารถเป็นตัวแทนชนชั้นสูง (High Class) หัวขนาดใหญ่ ตีได้ระยะทางไกล, ไฮบริดน่าจะถือว่าอยู่กึ่งกลาง (Middle Class), ส่วนชุดเหล็ก ก็คือชนชั้นแรงงาน (Working Class)
ที่ผมเปรียบเทียบเช่นนั้นก็เพื่อให้สอดคล้องชื่อหนัง 3-Iron ไม้กอล์ฟเหล็กสาม ซึ่งถือเป็นเบอร์ใหญ่สุดของชุดเหล็ก (มักนับเลขคี่ 3-5-7-9-11-13) แต่เทียบไม่ได้กับพวกหัวไม้ตีได้ไกลกว่า แรงกว่า รูปทรงยังดูยิ่งใหญ่ สง่างามกว่า! สามารถเทียบแทนสถานะ(ชนชั้น)ของตัวละคร Tae-suk ซักซ้อมไม้สามเผื่อว่าสักวันหนึ่งจักมีโอกาสไต่เต้า เลื่อนสถานะชนชั้นทางสังคมให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน

หลายคนอาจมองว่าเป็นการกระทำอันโง่เง่า หลักฐานมัดตัวตนเอง จะถ่ายรูปเซลฟี่กับสถานที่ต่างๆที่แอบเข้าอยู่อาศัยทำไม? แต่ผมมองเหมือนถ้วยรางวัล (Trophy) ของพวกฆาตกร/อาชญากร สัญลักษณ์การมีตัวตน ความสำเร็จที่ได้กระทำบางสิ่งอย่าง เก็บเอาไว้เป็นความภาคภูมิใจ ฝากรอยเท้าเอาไว้บนโลกใบนี้



การทำความสะอาด ซักผ้า รีดผ้า รดน้ำต้นไม้ รวมถึงซ่อมแซมสิ่งข้าวของเครื่องใช้ในบ้านพัก/อพาร์ทเม้นท์หลังต่างๆ ถือเป็นการตอบแทน คำขอบคุณสถานที่แห่งนี้ที่ให้พักอยู่อาศัย แทนที่จะจ่ายเป็นเงิน ก็ทำสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าของ
ซึ่งสิ่งต่างๆที่ Tae-suk ทำการซ่อมแซมนั้น ล้วนเคลือบแฝงนัยยะถึงความผิดปกติ ปัญหาของครอบครัว/ผู้อยู่อาศัยที่ถูกปล่อยปละละเลย ไม่เคยได้รับความสนใจ
- ซ่อมปืนเด็กเล่น แสดงว่ามันอาจมีความรุนแรงเคลือบแอบแฝงในครอบครัว
- ซ่อมเครื่องชั่งน้ำหนัก สัญลักษณ์ของการมี-ไม่มีตัวตนของ Sun-hwa ในสายตาสามีที่สนเพียงเรื่องเพศสัมพันธ์
- ภายหลัง Sun-hwa ทำลายตาชั่งน้ำหนัก เพื่อสื่อถึงความไม่ยี่หร่าต่อการมีตัวตนอีกต่อไป
- ซ่อมนาฬิกา(ชีวิต) เพื่อให้ Sun-hwa สามารถก้าวดำเนินต่อไปได้อีกครั้ง
- ซ่อมเครื่องเล่นซีดี บรรเลงบทเพลงชีวิตใหม่ให้กับ Sun-hwa



ในอพาร์ทเม้นท์ของช่างภาพ เต็มไปด้วยรูปนางแบบใส่กรอบติดฝาผนัง คาดไม่ถึงว่าจะคือบุคคลเคยถ่ายรูป(เปลือย)ของ Sun-hwa ซึ่งก็มีแนวโน้มอาจเคยมีความสัมพันธ์รักใคร่ … อุปนิสัยของเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ แม้ครองตัวเป็นโสด แต่มักมีหญิงสาวมากดกริ่ง เคาะประตู มาหาถึงห้อง
Sun-hwa ยืนจับจ้องมองรูปภาพของตนเองอยู่นาน (มันมีกรงนกวางอยู่ใต้ภาพด้วยนะ) ก่อนตัดสินใจนำออกมาตัดเป็นชิ้นๆ วางเรียงราวกับตารางหมากรุก/กระเบื้องโมเสก ไม่เอาอีกแล้วชีวิตที่มีระเบียบแบบแผน ดำเนินตามครรลองครองธรรม ต้องการปรับเปลี่ยนภาพของตนเองให้กลายเป็นคนใหม่
She wanted to escape from her past. She wanted to change her image herself.
Kim Ki-duk


ภาพถ่ายนักมวยมันช่างสะดุดตายิ่งนัก! คล้ายๆกับ Citizen Kane (1941) คือสัญลักษณ์ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงในตนเอง ประกาศศักดาให้โลกรู้ว่าฉันคืออะไร และเป็นการบอกใบ้โชคชะตาของ Tae-suk ต้องโดนชกจนอ่วมอย่างแน่นอน!

มีนักข่าวสอบถามผกก. Kim Ki-duk ว่าเล่นกอล์ฟหรือเปล่า? ตอบว่าแค่เล่นได้นิดหน่อยแต่ไม่ได้จริงจัง แล้วอธิบายความหมายอันลุ่มลึกล้ำของการตีกอล์ฟที่ไม่ใช่แค่ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด ผู้เล่นต้องใช้สมาธิ สงบจิตสงบใจ ไม่เช่นนั้นตียังไงก็ไม่มีวันเข้าเป้า
A lot of people dismiss golf as sort of the bourgeoisie wealthy people’s sport, but I do believe there is a bit of a meditative and philosophical quality about it. For one, if you try to do well, you won’t do well. No matter how well you play, it’s both infuriating and at the same time a great stress relief. You never know how you are going to hit a ball, and it changes from one to the next. You must empty your mind in order to play golf.
Kim Ki-duk
เหตุผลการตีกอล์ฟของ Tae-suk ปลายเปิดอย่างมากๆ แรกเริ่มอาจด้วยความอยากรู้อยากลอง ต่อมาระบายอารมณ์ใส่สามีของ Sun-hwa จากนั้นทำการเจาะรู ร้อยลวดเหล็ก คล้องไว้กับต้นไม้ เพื่อเวลาตีลูกจะได้ไม่พุ่งทะยานไปไหน
- หลังการ(ลัก)พาตัว Sun-hwa ออกจากบ้าน การซักซ้อมของ Tae-suk มีเป้าหมายคือตึกระฟ้าสูงใหญ่ ดูเหมือนสำแดงอคติ ต่อต้านระบอบทุนนิยม
- ครั้งถัดมาในสวนสาธารณะริมสระน้ำ ด้านหลังลิบๆทำเลียนแบบรุ้งกินน้ำ แต่ทว่า Sun-hwa กลับลุกขึ้นมายืนขวางทาง เหมือนต้องการให้เขาล้มเลิกกิจกรรมอดิเรกนี้
- หลังจาก Tae-suk ถูกนักมวยต่อยหน้าบวม นำลูกกอล์ฟผูกกับเสาไฟฟ้า เหมือนต้องการระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา Sun-hwa พยายามลุกขึ้นยืนขวางเช่นเดิม ถึงอย่างนั้นเขากลับยังดื้อรั้น ดึงดัน หาหนทางตีให้จงได้ แล้วบังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ลูกกอล์ฟกระเด็นกระดอนไปถูกคนแปลกหน้าได้รับบาดเจ็บสาหัส
บางคนอาจมองแค่ว่า Sun-hwa พยายามหักห้าม Tae-suk ไม่ให้ตีกอล์ฟเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน! แต่ผมชอบการตีความ ‘กอล์ฟคือกีฬาของคนมีเงิน’ มันเหมือนว่าชายหนุ่มยังมีความเพ้อใฝ่ฝัน อยากเลื่อนสถานะทางสังคม ใช้ชีวิตเลียนแบบพวกคนรวย หญิงสาวเลยเข้ามายืนขวางกั้น อย่าเลยถ้าจะกลายเป็นอย่างสามีตนเอง
the universal symbol of golf as a sign of affluence… [Tae-suk]’s not yet awakened from the dream of social status and power, [and trycopying] the lifestyle of the rich through golf practice.
Sheng-mei Ma จากหนังสือ Asian Diaspora and East-West Modernity (2012)
แต่เอาจริงๆการตีความนี้ฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ทำไม Tae-suk ถึงอยากเลื่อนสถานะทางสังคม? ไม่ใช่ว่าเพราะรังเกียจชีวิตแบบนั้น ถึงออกมาเร่ร่อนอย่างที่เป็นอยู่หรอกหรือ? มันเหมือนแค่การระบายอารมณ์ แล้วหญิงสาวบอกให้เขารู้จักควบคุมตนเองเสียมากกว่า!



ในขณะที่บ้านทุกหลังงัดแงะเข้าไป ต่างซุกซ่อนอะไรบางอย่างไว้ ค่ำคืนนี้กับบ้าน(เกาหลี)โบราณ แม้แต่บานประตูยังไม่ลงกลอน ภายในไม่มีของมีค่าอันใด Tae-suk ก็ไม่ได้ซ่อมแซมอะไร ราวกับสถานที่อุดมคติ เพียงพอ เรียบง่าย ‘minimalist’ และความสัมพันธ์กับ Sun-hwa ก็มาถึงจุดสูงสุด ยินยอมให้จุมพิต ร่วมรักหลับนอน
ภายหลังเมื่อ Sun-hwa หวนกลับมาบ้านหลังนี้ คู่สามี-ภรรยาแม้ไม่เข้าใจพฤติกรรมของเธอ แต่ก็ไม่ได้ขับไล่ ผลักไส ยินยอมให้หลับนอนพักผ่อน ไม่เข้าไปรบกวนใดๆ นั่นแสดงถึงความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ไมตรีจิตต่อคนแปลกหน้า … ยิ่งช่วยเสริมให้บ้านหลังนี้คือสถานที่อุดมคติอย่างแท้จริง!

สถานที่สุดท้ายเดินทางไปยังห้องเช่าที่มีสภาพโกโรโกโส ภายในพบเจอชายสูงวัยนอนเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ขณะที่ลูกหลานหายหัวไปไหน ทำไมไม่มาดูแลเอาใจใส่ … ผมเพิ่งรับชม Oasis (2002) ของผกก. Lee Chang-don เมื่อไม่กี่วันก่อน แม้เกี่ยวกับคนพิการทางร่างกาย-จิตใจ แต่ก็เกี่ยวกับการถูกทอดทิ้งขว้างไม่แตกต่างกัน

นี่น่าจะสะพานเดียวกับ Crocodile (1996) ภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Kim Ki-duk เกี่ยวกับชายหนุ่ม(และผองเพื่อน)อาศัยหลับนอนใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River ใช้ชีวิตด้วยสันชาตญาณ และมักถูกโต้ตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เคยกระทำอะไรใครไว้ ย่อมได้รับผลกรรมนั้นคืนตอบสนอง … Tae-suk เคยหวนลูกกอล์ฟใส่สามีของ Sun-hwa มาคราวนี้เลยถูกอีกฝ่ายยัดสินบนให้ตำรวจ แล้วระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา

เสื้อผ้าสวมใส่ คือสิ่งหนึ่งที่ใช้แบ่งแยกสถานะทางสังคม สามีของ Sun-hwa เรียกร้องให้เธอสวมชุดเดรสหรูหรา นุ่งน้อยห่มน้อย จับแต่งเหมือนตุ๊กตา จะได้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศของตน แต่ถึงอย่างนั้นลวดลายในภาพนี้กลับมีความแตกต่างตรงกันข้าม!
จะว่าไปคำกล่าวของสามี ส่งเงินไปให้กับครอบครัวของ Sun-hwa นี่แสดงถึงความแตกต่างทางสถานะชนชั้น หญิงสาวยินยอมถูกซื้อใจ แต่งงานเพื่อยกระดับ(สถานะ)ครอบครัว ครุ่นคิดว่าตนเองจะได้กินหรูอยู่สบาย แต่กลับกลายเป็นทาสบำเรอกาม นกในกรงขัง ไม่สามารถโบยบินเพราะมีรูปปั้นเสือเฝ้าอยู่ในสวน

การฝึกฝน ‘Ghost Practice’ ไม่ใช่แค่ Tae-suk พยายามหลบซ่อนตัวอยู่หลังผู้คุม แต่จะมีครั้งหนึ่งจ้องหน้าสบตาผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) แล้วหลบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังกล้อง ซึ่งกล้องก็พยายามขยับเคลื่อนเลื่อนหา หมุนซ้ายหมุนขวา กลับไม่สามารถติดตามได้ทัน … นั่นทำให้ชายหนุ่มกลายเป็น Phantom of Cinema ผู้ชมสัมผัสถึงตัวตน รับรู้ว่าหลบซ่อนอยู่ด้านหลัง แต่ด้วยข้อจำกัดภาพยนตร์จึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตา



เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ Tae-suk ใช้วิชาฝึกฝน ‘Ghost Practice’ ล่องลอยไปยังสถานที่ต่างๆที่เคยเข้าไปหลับนอน ใช้การถ่ายภาพผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person) ทำให้บรรดาผู้อยู่อาศัยต่างสัมผัสได้ เหมือนมีใครบางคนเข้ามาในบ้าน/อพาร์ทเม้นท์ แต่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แล้วจู่ๆบังเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความตื่นตกอกตกใจ
- บ้านของนักมวย มีการเอากระดาษมาปิดดวงตา เหมือนจะถึงการมองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไร้ตัวตน
- อพาร์ทเม้นท์ของช่างภาพ ได้ขโมยภาพถ่ายของ Sun-hwa หลงเหลือเพียงแค่กรอบ (สื่อถึงตัวตนของหญิงสาวที่กำลังจะสูญหายไป) และยังละเล่นกับไฟติดๆดับๆ


นี่เป็นภาพที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเป็นหนังเกี่ยวกับรักสามเส้า คบชู้นอกใจ แต่แท้จริงแล้วมันแค่เพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น! หลังจาก Tae-suk เดินทางกลับมาหา Sun-hwa ใช้วิชาล่องหน หลบซ่อน ไร้ตัวตน ล่องลอยราวกับ(จิต)วิญญาณ เพียงสัมผัสถึงบางสิ่งอย่าง แต่ไม่มีทางที่สามีจะจับได้ไล่ทัน
ผลลัพท์ของเหตุการณ์ดังกล่าว มันอาจฟังดูขัดย้อนแย้ง แต่โดยไม่รู้ตัวทำให้สามีกลายเป็นบุคคลไร้ตัวตนสำหรับ Tae-suk และ Sun-hwa ทั้งสองครองรักกันโดยที่เขาไม่มีทางรับรู้ จับได้ไล่ทัน … นี่ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อมองจากต่างมุม ล้วนมีสถานะไร้ตัวตนด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น!

เหตุผลที่ Sun-hwa ทำให้ตาชั่งกลับไปเสียเหมือนเดิม เพราะเธอมาถึงจุดที่ไม่กังวลกับน้ำหนัก/การมีตัวตนในบ้านหลังนี้ ซึ่งภาพสุดท้ายของหนังเมื่อขึ้นชั่งร่วมกับ Tae-suk เลยกลายเป็นไร้น้ำหนัก ไร้ตัวตน เหมือนว่าทั้งสองเปลี่ยนแปรสภาพกลายเป็นวิญญาณล่องลอย รูปธรรมสู่นามธรรม ปลดเปลื้องตนเองจากกายหยาบ ครอบครัว สังคม และทุกสรรพสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย Kim Ki-duk,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Tae-suk ขับมอเตอร์ไซด์มาย่านคนรวย แขวนใบปลิวโฆษณาบริเวณประตูบ้าน หลังไหนไม่มีคนอยู่จะงัดแงะเข้าไปอาศัยหลับนอน ตอบแทนด้วยการทำความสะอาด ซ่อมแซมสิ่งข้าวของเครื่องใช้ จนวันหนึ่งบังเอิญพบเจอ Sun-hwa ทีแรกไม่คิดอยากยุ่งวุ่นวาย แต่ทนเห็นพฤติกรรมสามีของเธอไม่ได้ จึงให้การช่วยเหลือ (ลัก)พาตัวหลบหนีออกจากบ้าน
ผกก. Kim Ki-duk นิยมชมชอบแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ แต่เรื่องนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ถึงอย่างนั้นก็มีบทสัมภาษณ์ถามจะตั้งชื่อว่าอะไร
If I had used titles, they would be like “empty houses” for the first part, “ghost practice,” for the second and the third, “the ghost.” But I didn’t think it was necessary.
Kim Ki-duk
จริงๆจะแบ่งหนังออกเป็นแค่ 3 องก์ตามคำบอกกล่าวของผกก. Kim Ki-duk ก็ได้นะครับ แต่ผมเลือกที่จะเพิ่มอารัมบท แรกพบเจอระหว่าง Tae-suk และ Sun-hwa จักทำให้เห็นสังเกตโครงสร้างหนังชัดเจนยิ่งขึ้น
- อารัมบท
- Tae-suk ขับมอเตอร์ไซด์มาย่านคนรวย ติดใบปลิวโฆษณาตามประตูหน้าบ้าน
- งัดแงะเข้าไปอาศัยหลับนอนในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง
- กลับมายังย่านคนรวย งัดแงะเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง พบเจอกับ Sun-hwa
- ทีแรกก็ไม่ได้อยากยุ่งวุ่นวาย แต่ทนเห็นพฤติกรรมสามีเธอไม่ได้ จึง(ลัก)พาตัวหนีออกจากบ้าน
- Empty House
- Tae-suk ขับมอเตอร์ไซด์นำพา Sun-hwa ไปติดใบปลิวโฆษณาตามประตูอพาร์ทเม้นท์
- งัดแงะเข้าไปอาศัยหลับนอนในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง ที่อยู่อาศัยของช่างภาพ เคยเป็นคนถ่ายแบบโมเดลของ Sun-hwa
- ย้ายไปบ้านของนักมวยคนหนึ่ง แต่โชคร้ายเจ้าของกลับมากลางคัน เลยโดนชกต่อยจนน่วม
- ต่อด้านบ้านโบราณของคู่รัก ข้าวใหม่ปลามัน
- และสุดท้ายห้องเช่าเก่าๆ คุณปู่ถูกครอบครัวทอดทิ้งให้อาศัยอยู่กับสุนัข เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ทั้งสองจึงช่วยกันกลบฝัง ก่อนถูกลูกหลานเดินทางมาเยี่ยมเยือนเข้าใจผิด
- Ghost Practice
- Tae-suk ถูกตำรวจซักไซร้ แต่ก็ไม่เคยให้คำตอบใดๆ
- สามีของ Sun-hwa ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อล้างแค้นเอาคืน Tae-suk
- Tae-suk ในเรือนจำ ทำการฝึกฝน ‘Ghost Practice’
- Sun-hwa แวะเวียนไปยังสถานที่ต่างๆ(ที่เคยแอบเข้าไปอาศัยหลับนอน)
- The Ghost
- Tae-suk เมื่อฝึกฝนสำเร็จ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ
- เดินทางไปยังสถานที่ที่ตนเองเคยเข้าไปอยู่อาศัย
- ก่อนกลับมาหา Sun-hwa ใช้ชีวิตอยู่กับเธอโดยที่สามีไม่มีวันรับรู้ตัว
ในส่วนของเพลงประกอบมีขึ้นเครดิต Slvian, 슬비안 แต่นี่ไม่ใช่นักแต่งเพลง คือชื่อบริษัททำเพลงประกอบภาพยนตร์ ประกอบด้วย Music Director: Lee Yong-beom และ Sound Director: Kim Woo-geun
Music that does not interfere with the screen. Music with a lot of blank space where the melody does not enter the ear.
Kim Ki-duk
ข้อเรียกร้องของผกก. Kim Ki-duk สร้างความท้าทายให้กับคนทำเพลงอย่างมากๆ ผิดแผกแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆที่มักรังสรรค์ท่วงทำนองอันน่าจดจำ แต่สำหรับ 3-Iron (2004) ต้องพยายามหาหนทางทำให้สรรพเสียงดนตรี กลมกลืนเข้ากับเสียงประกอบอื่นๆ จนผู้ชมส่วนใหญ่แยกแยะไม่ได้ ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่ามีการใช้เพลงประกอบ
Originally, film music should be buried in other sounds on screen, but there is no sound at all in the film. So, the music for the completed is like achromatic color that fills in the lack of ambient sound in the film while blending in like air.
นั่นคือเหตุผลที่ผกก. Kim Ki-duk มอบเครดิตชื่อบริษัท Slvian แทนที่จะเป็นตัวบุคคล เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถรับรู้ จดจำท่วงทำนองเพลง แค่รับรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอย่างล่องลอยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังไม่รู้เรื่อง แค่เพียงสัมผัสได้ว่ามีอยู่จริง!
ตั้งแต่ครั้งแรกได้ยินเสียงเครื่องดนตรีอาหรับ (เปิดจากแผ่นเสียงที่บ้านสามีของ Sun-hwa) ทำเอาผมคาดไม่ถึงอย่างรุนแรง! แถมดังขึ้นอีกหลายครั้งรวมถึง Closing Credit ค้นหาข้อมูลพบเจอบทเพลง قفصة, Gafsa ขับร้องโดย ناتاشا أطلس, Natacha Atlas ประกอบอัลบัม حليم, Halim (1997) ผมไม่ค่อยแน่ใจแนวเพลงสักเท่าไหร่ อ่านจากคำแนะนำอัลบัมบอกเป็นส่วนผสมของ “Arabic singing combined with a wide variety of musical traditions, modern and ancient.” ท่วงทำนองมอบสัมผัสสายลมพริ้วไหว เหมือนวิญญาณคนตายที่ยังเวียนวน ล่องลอยอยู่เคียงข้างคนรักชั่วนิรันดร์
เกร็ด: Gafsa คือชื่อเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ Tunisia ตั้งอยู่ในเขต Oasis กลางทะเลทรายร้อนระอุ
ชื่อหนังภาษาเกาหลี 빈집 อ่านว่า Bin-jip แปลว่า Empty House นำเสนอเรื่องราวการผจญภัยของชายหนุ่มผู้ไม่ชอบลงหลักปักฐาน แต่ราวกับวิญญาณล่องลอย ชอบเข้าไปสิงสถิตยังบ้านพักที่ว่างเปล่า อพาร์ทเมนท์คนแปลกหน้า ไม่ได้ด้วยจุดประสงค์มาดร้าย แค่เพียงขออาศัยหลับนอน พักผ่อนคลายใจ แล้วตอบแทนด้วยการทำความสะอาด ซ่อมแซมสิ่งข้าวของเครื่องใช้ ก่อนจากไปอย่างสงบ
การงัดแงะเข้าไปในบ้านพัก/อพาร์ทเมนท์คนอื่น แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสม ต่อให้ไม่ได้ลักขโมยอะไร แต่เจ้าของไม่รับรู้ ไม่เต็มใจ ถือว่ารุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน! ในส่วนนี้หนังสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในบ้านและทรัพย์สิน บางคนดูจบอาจเร่งรีบเพิ่มกลอนประตู ติดตั้งกล้องวงจรปิดโดยพลัน
ชายหนุ่ม Tae-suk คือตัวแทนคนรุ่นใหม่ (ตามปีที่สร้างน่าจะกำลังเข้าสู่ Gen Y) แตกต่างจากรุ่นพ่อ-แม่ Baby Boomer ที่มักก้มหน้าก้มตาทำงาน หาเงินสร้างบ้าน สร้างธุรกิจ โหยหาความมั่นคง มันไม่ใช่ว่า Gen Y เป็นคนขี้เกียจคร้าน แต่พวกเขาไม่ชอบการถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่น โหยหาอิสรภาพ อยากมีชีวิตส่วนตัว เลยยังไม่รีบเร่งลงหลักปักฐาน … หลายคนมอง Tae-suk คือตัวปัญหา! เพราะทำสิ่งต่อต้านขนบกฎกรอบทางสังคม เป็นบุคคลชายขอบ (Marginality) ประพฤติตัวนอกรีตนอกรอย จึงไม่ได้รับการยินยอมรับ กลายเป็นคนไร้สิทธิ์เสียง (Voicelessness) ราวกับไม่มีตัวตน (Invisibility) ไม่ต่างจากวิญญาณล่องลอย ถูกเหมารวมขยะสังคม แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆนะฤๅ??
สำหรับ Sun-hwa เธอมีอายุมากกว่า Tae-suk ย่อมคือคนรุ่น Gen X เคยเป็นนางแบบ โมเดลลิ่ง สถานะทางการเงิน/ชนชั้นทางสังคมระดับล่าง (ถ้าไม่ Working Class ก็ Lower-Middle Class) แต่งงานกับสามีนักธุรกิจ (Upper-Middle Class) ย่อมเพราะคาดหวังชีวิตสุขสบาย ทำงานแม่บ้าน คนรับใช้ แต่กลับมีสภาพไม่ต่างจากนกในกรงขัง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางหลบหนีออกจากเรือนจำแห่งนี้
หนังใช้ความสัมพันธ์ชู้สาว(รวมถึงเพศสัมพันธ์)ระหว่าง Tae-suk และ Sun-hwa สื่อถึงการพบเจอสิ่งที่ใช่ ทิศทางชีวิตที่อยากดำเนินไป เขานำพาเธอออกจากกรงขัง ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ โบยบินสู่อิสรภาพ ล่องลอยสู่สถานที่ต่างๆ เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ เรียนรู้จักความหมายของชีวิต
การผจญภัยของหนุ่ม-สาว ทำให้ได้เรียนรู้ พบเห็นสิ่งต่างๆจากบ้านพัก/อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งสามารถสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย รวมถึงตีแผ่ปัญหาครอบครัว/สังคม ที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน
- อพาร์ทเม้นท์หลังแรก ชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower-Middle Class) พ่อ-แม่-ลูกอาศัยอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า เหมือนว่าจะรักกันดี แต่ทว่า Tae-suk ซ่อมปืนเด็กเล่น แสดงว่ามันอาจมีบางสิ่งอย่าง/ความรุนแรงเคลือบแอบแฝงในครอบครัว
- บ้านสามีของ Sun-hwa ถือเป็นครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน (Upper-Middle Class) มีความหรูหรา พื้นที่กว้างใหญ่ สิ่งข้าวของราคาแพง งานศิลปะชั้นสูง แต่เจ้าของเป็นพวกมักมาก เห็นแก่ตัว ชอบใช้ความรุนแรง กดขี่ข่มเหง ดูถูกเหยียดหยามพวกที่ต่ำต้อยกว่า ครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อทุกสิ่งอย่าง
- ซ่อมเครื่องชั่งน้ำหนัก สัญลักษณ์ของการมี-ไม่มีตัวตนของ Sun-hwa ในสายตาสามีที่สนเพียงเรื่องเพศสัมพันธ์
- อพาร์ทเม้นท์ของศิลปิน ช่างภาพ มีความโมเดิร์น ทันสมัยใหม่ ฝาผนังเต็มไปด้วยผลงานภาพถ่าย ยังเป็นชายโสด อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ชอบระริกระรี้กับโมเดลของตนเอง (คาดว่าอาจคืออดีตคนรักของ Sun-hwa)
- ซ่อมนาฬิกา(ชีวิต)ให้กับ Sun-hwa สามารถก้าวดำเนินต่อไปได้อีกครั้ง
- Sun-hwa ตัดรูปภาพของตนเองเป็นชิ้นๆ ไม่ต้องการชีวิตที่มีระเบียบแบบแผนตามครรลองสังคมอีกต่อไป
- บ้านนักมวยผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงตนเอง (ติดรูปภาพตนเองขนาดใหญ่ไว้กลางบ้าน) ด้วยศักดิ์ศรีนักมวย พอพบเห็นคนแปลกหน้า จึงชกต่อย (Bully) กระทำร้ายร่างกายจน Tae-suk ฟกช้ำดำขาว
- ซ่อมเครื่องเล่นซีดี บรรเลงบทเพลงชีวิตใหม่ให้กับ Sun-hwa (เธอขอให้ตัดผมสั้น และยินยอมร่วมหลับนอนกับ Tae-suk)
- บ้านสไตล์เกาหลีของสามี-ภรรยากำลังตั้งครรภ์ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยความสุขสงบ จิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ครุ่นคิดประทุษร้ายผู้ใด แม้แต่ประตูก็ไม่ได้ลงกลอน ไม่มีสิ่งข้าวของอะไรให้กลัวสูญหาย
- บ้านหลังนี้ไม่มีอะไรให้ซ่อมแซม สื่อถึงครอบครัวที่อยู่อย่างสงบสุข ไม่มีปัญหาใดๆซุกซ่อนอยู่ภายใน
- ห้องเช่าเก่าๆ สภาพรกร้าง ถูกทอดทิ้งขว้าง เปิดเข้าไปเจอผู้สูงอายุนอนตาย มีเพียงเจ้าสุนัขอยู่ข้างกาย
- ห้องเช่าหลังนี้ก็ไม่ได้ซ่อมแซมอะไร แต่ช่วยจัดแจงฝังศพให้ผู้ตาย ทำหน้าที่แทนลูกหลานที่ไม่สนใจใยดี
สารพัดปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านแต่ละหลัง แสดงให้เห็นว่าไม่มีครอบครัวไหนสมบูรณ์แบบ ต่างคนต่างมีวิถีวุ่นๆวายๆ เต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่ถ้าเราเรียนรู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยความสุขสงบ จิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ครุ่นคิดประทุษร้ายกัน นั่นน่าจะคือความเชื่อในอุดมคติของผกก. Kim Ki-duk ที่จักทำให้ชีวิตสมรสมั่นคงยืนยาว
เมื่อการผจญภัยของ Tae-suk และ Sun-hwa ได้สิ้นสุดลง (ถูกตำรวจจับกุม) แม้ถูกแยกขัง (Tae-suk ในเรือนจำ, Sun-hwa ในบ้านสามี) แต่บทเรียนอิสรภาพ ทำให้ทั้งสองปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ ไม่ยินยอมถูกควบคุมครอบงำ ค่อยๆฝึกฝนตนเอง (Tae-suk ทำให้ร่างกายล่องหน, Sun-hwa จิตใจว่างเปล่า) จนเมื่อได้การปล่อยตัว จึงหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง
It’s hard to tell that the world we live in is either a reality or a dream.
ผมอ่านเจอบทวิเคราะห์หนึ่งที่ตีความว่า Tae-suk คือวิญญาณล่องลอย ไม่ก็บุคคลในความใฝ่ฝันของ Sun-hwa ที่จักนำพาหลบหนีออกไปจากนรกขุมนี้! นี่เป็นการสำแดงอคติ ต่อต้านทุนนิยม/ชนชั้นทางสังคม ฉันไม่น่าแต่งงานกับสามีร่ำรวย คาดหวังความสุขสบาย กลับกลายเป็นขี้ข้าทาส โดนดูถูกเหยียดหยาม กระทำร้ายร่างกาย-วาจา-จิตใจ จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์
ทิศทางกลับกัน Sun-hwa อาจคือบุคคลในความใฝ่ฝันของ Tae-suk อยากพบเจอใครสักคนที่สามารถเติมเต็ม เข้าใจกันและกัน ยินยอมร่วมออกเดินทาง ผจญภัยไปยังสถานที่ต่างๆ โบกโบยบินสู่อิสรภาพ และแม้อาจมีเหตุให้พลัดพรากแยกจาก สักวันหนึ่งเราสองจักหวนกลับมาครองคู่อยู่ร่วมอย่างสงบสุข ชั่วนิรันดร์
การล่องหน ฝึกฝน ‘ghost practice’ หลายคนมองว่าคือลักษณะของ Fantastic Realm หรือ Magical Realism นำเสนอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เลือนลางระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน (Reality vs. Fantasy) แปรสภาพจากรูปธรรมสู่นามธรรม ตัวตน-ไร้ตัวตน มีอยู่-ว่างเปล่า ล้อกับตอนที่ Sun-hwa หลบหนีออกจากบ้าน คราวนี้เปลี่ยนเป็น Tae-suk สูญหายจากห้องขัง กลายเป็นวิญญาณล่องลอยไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อนหวนกลับมาจุดเริ่มต้น 0+0=0
โลกยุคสมัยนี้ที่ใครต่อใครอยากโด่งดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ ได้รับการพบเห็น พิสูจน์(การมี)ตัวตน การฝึกฝน ‘ghost practice’ เพื่อให้ล่องหน ไร้ตัวตน ย่อมเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าผิดปกติ ลับลมคมใน ต้องเคยกระทำสิ่งชั่วร้าย บุคคลอันตราย ไม่ควรอยู่เคียงชิดใกล้ … raremeat.blog ก็ด้วยกระมัง
ในทางภาพยนตร์ อย่างที่อธิบายไปแล้วถึงลูกเล่น ‘phantom of cinema’ ใช้ประโยชน์จากกรอบ ขอบเขต ข้อจำกัดของเฟรมภาพ สร้างสัมผัสถึงสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีตัวตน ตัวละครอาจหลบอยู่หลังกล้อง หลังบุคคลอื่น เหมือนกำลังจะทำอะไรสักสิ่งอย่าง
การแปรสภาพสู่ความไร้ตัวตน ในทางปรัชญาถือเป็นสภาวะที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจมนุษย์ พ้นขอบข่ายของโลกหรือธรรมชาติ มีคำเรียกอุตรภาพ (Transcendence) หรือทางพุทธศาสนาคือภาวะที่พ้นจากโลกียวิสัย ไม่ยึดติดในรูปกายหยาบ น้ำหนักรวมกันเป็นศูนย์ แต่ยังคงหลงเหลือจิตวิญญาณ (กายละเอียด) ล่องลอยเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร
(ใครอยากจะเปรียบเทียบ Tae-suk และ Sun-hwa หลุดพ้นจาก The Matrix (1999) ก็ตามสบายนะครับ!)
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม แม้พลาด Golden Lion ให้กับ Vera Drake (2004) แต่ยังสามารถคว้ามาถึง 4 รางวัล ประกอบด้วย
- Silver Lion: Best Director
- FIPRESCI Prize
- Little Golden Lion
- SIGNIS Award – Honorable Mention
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่มียอดจำหน่ายตั๋วในเกาหลีใต้ 71,566 ใบ รวมรายรับทั่วโลก $3.4 ล้านเหรียญ (ได้เยอะจากอิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน) เป็นหนึ่งในไม่กี่ผลงานของผกก. Kim Ki-duk ที่ประสบความสำเร็จด้านรายรับ มีโบนัสจ่ายทีมงาน
คุ้นๆว่าหนังเคยเข้าฉายเมืองไทยด้วยนะครับ ใช้ชื่อ “เงารัก ซ่อนลึก” เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ในเครือเมเจอร์บางโรงและ House Rama (จำไม่ได้ว่าเข้า Siam & Scala ด้วยไหม)
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวบูรณะ เพียงแค่ DVD, Blu-Ray ที่เป็นสแกนภาพ HD (High-Definition), หรือจะหารับชมออนไลน์ และช่องทางธรรมชาติทั่วไป
พบเห็น 3-Iron (2004) ติดอันดับ Korean Film Archive: 100 Korean Films (2014) เลยแอบคาดหวังอยู่เล็กๆ แต่พอสิบนาทีผ่านไปปรากฎกว่าเกินความคาดหมายอย่างไกลโข พอดูจบก็ยิ่งอึ่งทึ่ง รับรู้สึกว่าแนวคิดไม่ได้ด้อยไปกว่า Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003)
บรรดาผลงานทั้งหมดของผกก. Kim Ki-duk ต้องถือว่า 3-Iron (2004) มีความลุ่มลึกล้ำ ท้าทายสติปัญญาผู้ชมที่สุดแล้ว โดยเฉพาะการฝึกกายให้เลือนหาย แปรสภาพจากรูปธรรมสู่นามธรรม ‘phantom of cinema’ มุ่งสู่อุตรภาพ (Transcendence) เพื่อกลายเป็นอมตะนิรันดร์ … แต่ส่วนตัวยังยกให้ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) คืออันดับหนึ่งในดวงใจ รับชมแล้วทำให้เกิดความสุขสงบขึ้นภายใน
จัดเรต 13+ กับความรุนแรง แอบรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล ชายโฉดหญิงชั่ว
Leave a Reply