
Arirang (2011)
: Kim Ki-duk ♥♥♥♥
พิเคราะห์ภาวะเป็นอยู่ของผู้กำกับ Kim Ki-duk หันกล้องถ่ายสารคดีเกี่ยวกับตนเอง (Self-Portrait) พยายามอธิบายเหตุผล ระบายอารมณ์อัดอั้น ก่อนหน้านี้เคยสร้างภาพยนตร์ปีละเรื่องสองเรื่อง ทำไมปัจจุบันถึงเงียบหายไปนานสองสามปี, คว้ารางวัล Prix un certain regard จากสายการประกวดรอง Un Certain Regard เทศกาลหนังเมือง Cannes
สองสามปีมันอาจเป็นช่วงเวลาน้อยนิด แต่สำหรับ Kim Ki-duk ที่สามารถถ่ายทำหนังเรื่องหนึ่งเสร็จในสิบกว่าวัน มันช่างเยิ่นยาวนาน ทุกข์ทรมาน เหตุเกิดจากปัญหาระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า Dream (2008) เกือบทำให้นักแสดงนำหญิงเสียชีวิต! และยังการจากไปของเพื่อนร่วมงานโดยไม่กล่าวลา เลยครุ่นคิดเล็กคิดน้อย มองว่าตนเองถูกทรยศหักหลัง … สารพัดเหตุการณ์เลวร้ายถาโถมเข้าใส่ ทำให้ผกก. Kim Ki-duk ล้มป่วยซึมเศร้า เลยละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง กักขังตนเองอยู่ในบ้านชนบท ไม่ออกไปไหน ไม่ทำอะไร ทุกข์ทรมานท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ
แม้ต้องทนเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน แต่ความเป็นศิลปินของ Kim Ki-duk คือแรงผลักดันที่ทำให้อยากจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ เลยตัดสินใจหันกล้องเข้าหาตนเอง ถ่ายทำสารคดี ‘Self-Portrait’ พยายามอธิบายเหตุผล ระบายอารมณ์อัดอั้น ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด สำหรับเยียวยารักษาแผลใจ
Through Arirang I climb over one hill in life.
Kim Ki-duk
Through Arirang I understand human beings, thank the nature, and accept my life as it is now
ผู้ชมส่วนใหญ่มักบอกว่า Arirang (2011) เป็นภาพยนตร์ที่มีความเห็นแก่ตัว (Selfishness) หลงตนเอง (Narcissism) หมกมุ่นอยู่ในโลกีย์ (Self-Indulgence) คำกล่าวอ้างฟังไม่ค่อยขึ้น และสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจอะไรในตัวผกก. Kim Ki-duk ก็แทบไม่มีเหตุผลอันใดในการรับชม ทนทุกข์ไปกับความทรมานของผู้อื่น
แต่ถ้าคุณสามารถอดรนทน ทำความเข้าใจเหตุผล จะค้นพบว่านี่เป็นภาพยนตร์ของศิลปินแท้ๆ (Ultimate Film Auteur) ใช้สื่อภาพยนตร์สะท้อนตัวตน (Self-Reflection) ระบายความรู้สึก (Expressionism) แทนการสารภาพบาป (Confessional Film) เคลือบแฝงปรัชญาชีวิต หวนกลับหาธรรมชาติ สูงสุดกลับสู่สามัญ
และสิ่งน่าสนใจมากๆคือลีลาการนำเสนอของผกก. Kim Ki-duk สำหรับคนที่ดูหนังเป็นจะไม่รู้สึกน่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด! ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนในวงเหล้า รับฟังมันระบายอารมณ์อัดอั้น ปลดปล่อยตนเอง คาดหวังว่าเมื่อค่ำคืนนี้พานผ่าน ทุกสิ่งอย่างจักถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง เข่นฆ่าอดีตให้ตกตายจากไป
Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม เพราะสถานะทางสังคมต่ำกว่าใคร แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง, พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบีบบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือ (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์
พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบทกับ Korea Scenario Writers Association พัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), ผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)
จุดเริ่มต้นของ 아리랑, Arirang (2011) คืออุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ Dream (2008) นักแสดงนำหญิงถูกปล่อยทิ้งไว้บนเชือกแขวนคอโดยไม่มีใครเอะใจอะไร โชคดีว่าบริเวณนั้นมีบันได ผกก. Kim Ki-duk ขึ้นไปคลายเชือกได้สำเร็จ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดกลัว ปั่นป่วนจิตใจ ตลอดชีวิตไม่เคยประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้
An actress almost got in a fatal accident during the filming of Dream (2008). While filming a scene of committing suicide, the actress was left hanging in the air with no one able to do anything. Luckily, we had left a 50 cm ladder below for just in case. If I didn’t quickly jump on that ladder and untie the rope… I totally lost it for a while and cried without anyone knowing. That moment which I never want to recall, made me look back on the 15 films I frantically made during my 13 year film career.
Kim Ki-duk
แต่จุดแตกหักที่สร้างความสิ้นหวังให้กับ Kim Ki-duk คือการทรยศหักหลังของผู้ช่วยคนสนิท ในหนังไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็น Jang Hoon เคยช่วยงาน/ผู้ช่วยผู้กำกับมาตั้งแต่ Samaritan Girl (2004), 3-Iron (2004), The Bow (2005), Time (2006), ก่อนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Rough Cut (2008) จากบทหนังของ Kim Ki-duk
ปัญหาคือผลงานเรื่องที่สอง Secret Reunion (2010) คาดกันว่า Jang Hoon นำเอาเรื่องราวที่ Kim Ki-duk อ้างว่าเคยพัฒนาไว้ เอาไปสานต่อโดยไม่เคยขออนุญาต (ไม่ให้เครดิตด้วยนะ) นั่นทำให้เขางอนตุ๊บป่อง ครุ่นคิดว่าตนเองถูกทรยศหักหลัง เลยตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เดินทางกลับต่างจังหวัด กักขังตนเองอยู่ในบ้าน ปฏิเสธติดต่อโลกภายนอกอยู่สองสามปี
เกร็ด: ตามคำกล่าวอ้างจากโปรดิวเซอร์ ต้นฉบับของ Secret Reunion (2010) พัฒนาขึ้นโดยนักเขียน Jang Min-seok, ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Kim Joo-ho & Choi Kwan-young เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ก่อนการมาถึงของผกก. Jang Hoon หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับเรื่องราวของ Kim Ki-duk แม้แต่น้อย!
I hope director Kim can find consolation through Arirang. He is a great teacher and I still respect him very much. I feel very sorry as a pupil of his.
Jang Hoon
สองสามปีผ่านไป เอาจริงๆไม่มีใครเร่งเร้าให้ผกก. Kim Ki-duk หวนกลับมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ แต่คือตัวเขาเองนะแหละที่มิอาจอดรนทน ความเป็นศิลปินในสายเลือด จึงพยายามครุ่นคิดทำบางสิ่งอย่าง ใช้เพียงกล้องดิจิตอล Canon EOS 5D Mark II นำแสดง-ถ่ายภาพ-ตัดต่อ ควบคุมสร้างด้วยตนเองทั้งหมด ‘One-Man Band’
I have no regrets spending my life on films, but still I cannot live without films. I want to walk side by side in life with films.
Kim Ki-duk
ด้วยความที่เป็นโปรเจค ‘One-Man Band’ ผกก. Kim Ki-duk จึงต้องจัดเตรียมทุกสิ่งอย่างให้พร้อมสรรพในแต่ละช็อต เลือกตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง วางองค์ประกอบภาพ รวมถึงจัดแสงไฟ(ยามค่ำคืน) มันจึงไม่มีอะไรดูน่าตื่นตาตื่นใจมากนัก แถมคุณภาพของกล้องดิจิตอลก็ตามมีตามเกิด สร้างสัมผัสดิบๆหยาบๆ (Rawness) ได้บรรยากาศสมจริง (Realist) ในสไตล์สารคดี (Documentary-like)
ไฮไลท์ของหนังคือลีลาการตัดต่อ แพรวพราวด้วยลูกเล่น ‘montage’ เริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงกิจวัตรประจำวัน จากนั้นเมื่อผกก. Kim Ki-duk ก๊งเหล้า ดื่มโชจู พบเห็นภาพสะท้อน/เงาของตนเอง ก็เริ่มสาธยาย ระบายโน่นนี่นั่น ซึ่งระหว่างพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย ก็มักแทรกภาพประกอบคำบรรยาย นังเหมียวเดินไปเดินมา ต้มน้ำชงกาแฟ ตัดฟืนทำอาหาร ขับรถแม็คโครขุดดิน กล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านโปสเตอร์หนัง รางวัลเคยได้รับ รวมถึงฟุตเทจภาพยนตร์ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ฯลฯ
หนังเริ่มต้นยามเช้า ลุกขึ้นจากเตียง ล้างหน้าล้างตา ต้มน้ำดื่มกาแฟ ตัดฟืนทำอาหาร ปลดทุกข์กลางธรรมชาติ ฯ เหล่านี้มองผิวเผินไม่ต่างจากกิจวัตรประจำวันทั่วๆไป แต่สำหรับผกก. Kim Ki-duk กลับคือวังวนแห่งความทุกข์ แต่ละสิ่งอย่างที่เขาทำล้วนเคลือบแฝงความเก็บกด อดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย … ผมเห็นบางคนตีความการล้างหน้า = Baptist ชำระล้างจิตใจ, ปลดทุกข์ก็คือระบายความอัดอั้นตันใจ ฯ เหมารวมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จักทำให้เขาราวกับได้ถือกำเนิดใหม่



ภาพช็อตนี้ที่กลายเป็นโปสเตอร์หนัง ร่องรอยส้นเท้าแตก (รวมถึงบาดแผลจากรองเท้า) มักคือสัญลักษณ์ของบุคคลผู้กรากกำ ทำงานหนัก สวมใส่รองเท้าไม่พอดีกับขนาดเท้า หรือก็คือผกก. Kim Ki-duk พยายามบอกกับผู้ชมว่า ฉันเจ็บมามาก พานผ่านอะไรมาเยอะ, บางคนอาจมองว่านี่คือจุดตกต่ำในชีวิต โดนกดขี่ ย่ำยี ทำให้ป่นปี้ ฯ
เกร็ด: เหตุผลจริงๆของส้นเท้าแตกคือดื่มน้ำน้อยจนผิวขาดน้ำ และมักเกิดร่วมกับภาวะโปรตีนเคราตินมากเกินไป แก้ปัญหาโดยการดื่มน้ำเยอะๆ อาบน้ำอุณหภูมิปกติ สวมใส่รองเท้าไซส์พอดี หรือไม่ก็ทาโลชั่นฟื้นบำรุงผิวแห้ง

ใครกันมาเคาะประตู? คำตอบคือไม่มีใคร หรือวิญญาณจากไหน แต่เป็นเสียงเพรียกเรียกร้องทางใจของผกก. Kim Ki-duk เต็มไปด้วยความคร่ำครวญโหยหา ครุ่นคิดว่ามีคนมากมายเฝ้ารอคอยให้เขาก้าวออกจากสถานที่แห่งนี้ เพื่อที่จะรังสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป ปลุกตื่นจากฝันร้าย … แต่จริงๆคือไม่มีใครเคาะประตูอยู่ภายนอก ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นภายในจิตใจของเขาเอง

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวหลัก ผกก. Kim Ki-duk จะมีการจัดแต่ง มัดผม ใช้กล้องแทนกระจก ลักษณะของ “Breaking the Fourth Wall” เพื่อสร้างความเลือนลางระหว่างชีวิตจริง vs. ภาพยนตร์ (Reality vs. Fictional) นี่อาจรวมถึงแสงไฟสีแดงอาบฉาบครึ่งหนึ่งใบหน้า (ซุกซ่อนอารมณ์เกรี้ยวกราดภายใน)

ผมไม่สามารถอธิบายลูกเล่น ‘Montage’ ของหนังได้ทั้งหมด แต่อยากให้ลองสังเกต เปรียบเทียบ หัวข้อสนทนาที่ผกก. Kim Ki-duk กำลังพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย มีความสัมพันธ์อะไรกับภาพที่ปรากฎแทรกเข้ามา?
ระหว่างเพ้อรำพันถึงความยุ่งยากในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ มีการแทรกภาพตนเองกำลังต้มน้ำชงกาแฟ (การสร้างภาพยนตร์ = ชงกาแฟ) และเมื่อสร้างเสร็จได้เดินทางไปฉายตามเทศกาลต่างๆ (นั่งดื่มกาแฟชมวิวทิวทัศน์, กล้องเคลื่อนเลื่อนถ่ายให้เห็นสารพัดรางวัลเต็มชั้นเก็บของ) … คร่าวๆประมาณนี้ น่าจะเพียงไปต่อยอดกันเองได้กระมัง


หนังเต็มไปด้วยการเผชิญหน้าระหว่าง Kim Ki-duk vs. Kim Ki-duk
- Kim Ki-duk นั่งดื่มโชจูกับ Kim Ki-duk (เมาแล้วคุยกับตนเอง) มักมีลักษณะปุจฉา-วิสัชนา สอบถาม-คำตอบ ก่อนพูดสาธยายเรื่อยเปื่อย แล้วจู่ๆก็ร่ำร้องบทเพลง Arirang
- Kim Ki-duk นั่งดู Kim Ki-duk ที่ถ่ายทำเอาไว้ มันคงเป็นความอึดอัด กระอักกระอ่วน นี่กรุทำอะไรลงไป? ในมอนิเตอร์กำลังมึนเมา พูดสาธยายเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องอดรนทนดูตนเอง เพื่อเลือกหาฟุตเทจน่าจะพอใช้งานได้
- Kim Ki-duk คุยกับเงาของตนเอง (กล้องมักถ่ายเห็นด้านข้าง) สอบถามเกี่ยวกับชีวิต อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด





แต่ในบรรดาการเผชิญหน้า Kim Ki-duk vs. Kim Ki-duk ที่น่าสนใจที่สุดนั้นคือระหว่างรับชม Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ซึ่งตอนฤดูหนาว (Winter) นำแสดงโดย Kim Ki-duk ทำการฝึกฝนร่างกาย-จิตใจ ผูกตนเองกับหินก้อนใหญ่ พร้อมอุ้มพระพุทธรูป ปีนป่ายขึ้นบนยอดเขา (ช่วงระหว่างปีนเขาก็มีเพลงประกอบ Arirang แต่ในเวอร์ชั่นที่แตกต่างออกไป) มันช่างเหน็ดเหนื่อย จดจำความยากลำบาก พอถึงจุดสูงสุดก็เหม่อมองกลับลงมาเบื้องล่าง
เมื่อตอนที่ผกก. Kim Ki-duk สรรค์สร้าง Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) เพียงต้องการสร้างพื้นที่แห่งความสุขสงบขึ้นในใจ ใครจะคาดคิดถึงว่าในอนาคตเขาจะประสบโชคชะตาคล้ายๆคลึงกัน เมื่อหวนกลับมารับชมหนังเรื่องนี้ จึงแทบมิอาจกลั้นหลั่งธารน้ำตา ความรู้สึกอัดอั้นภายในพรั่งพรูออกมา กลายเป็นแรงผลักดันให้สามารถพลิกฟื้น คืนชีพ คลายจากอาการซึมเศร้าโศก


ไคลน์แม็กซ์ของหนังไม่ใช่ว่าผกก. Kim Ki-duk เดินทางไปเข่นฆ่าใคร รวมถึงฆ่าตัวตายจริงๆ ทั้งหมดล้วนเป็นเพียงการจัดฉาก เคลือบแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ตัดขาดความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านั้น รวมถึงทำลายอดีตตนเองให้จบสิ้นไป หลังจากนี้จักได้ถือกำเนิด กลายเป็นบุคคลใหม่ คลายจากอาการซึมเศร้าโศกเสียใจ
ปล. ปืน เป็นอาวุธที่ผกก. Kim Ki-duk เคยประกอบขายมาตั้งแต่สมัยทำงานโรงงาน (ใครเคยรับชม Address Unknown (2001) น่าจะจดจำได้เป็นอย่างดี) เลยไม่แปลกจะมีความเชี่ยวชาญด้านกลไก ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยของสื่อภาพยนตร์

아리랑, Arirang อ่านว่า อารีรัง เพลงพื้นบ้านของชาวเกาหลีที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล (Unofficial National Anthem) มีลักษณะคล้ายๆนิราศ เกี่ยวกับการเดินทางผ่านช่องเขา ลาจากคนรักเพื่อไปทำสงคราม ประมาณว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี และได้รับเลือกจากองค์กร UNESCO ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติถึงสองครั้ง (ค.ศ. 2012 ของเกาหลีใต้, ค.ศ. 2014 ของเกาหลีเหนือ)
เชื่อกันว่า อารีรัง มีต้นกำเนิดจากภูมิภาคภูเขาของอำเภอ Jeongseon, จังหวัด Gangwon มีการจดบันทึกเอกสารเมื่อปี ค.ศ. 1786, สันนิฐานว่า อารี (아리) หมายถึง สวยงาม, รัง (랑) สื่อถึงผู้เป็นที่รัก หรือเจ้าบ่าวในภาษาเกาหลีโบราณ เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “ผู้เป็นที่รักของฉัน”
บทเพลงนี้มีการเรียบเรียง เปลี่ยนคำร้อง มากมายหลายร้อยพันเวอร์ชั่น แต่ย่อหน้าแรก/สองบรรทัดแรกคือสร้อย ที่ทุกฉบับของเพลงนี้จะต้องเวียนวนมาขับร้อง อารีรัง อารีรัง อารารีโย ฉันกำลังข้ามผ่านช่องเขาอารีรัง
ต้นฉบับเกาหลี | คำอ่านเกาหลี |
---|---|
아리랑, 아리랑, 아라리요… 아리랑 고개로 넘어간다. 나를 버리고 가시는 님은 십리도 못가서 발병난다. 청천하늘엔 잔별도 많고, 우리네 가슴엔 희망도 많다. 저기 저 산이 백두산이라지, 동지 섣달에도 꽃만 핀다. | Arirang, arirang, arariyo… Arirang gogaero neomeoganda. Nareul beorigo gasineun nimeun Simnido motgaseo balbyeongnanda. Cheongcheonhaneuren janbyeoldo manko, Urine gaseumen huimangdo manta. Jeogi jeo sani baekdusaniraji, Dongji seotdaredo kkonman pinda. |
คำแปลอังกฤษ | คำแปลไทย |
---|---|
Arirang, arirang, arariyo… You are going over Arirang hill. My love, if you abandon me Your feet will be sore before you go ten ri. Just as there are many stars in the clear sky, There are also many dreams in our heart. There, over there, that mountain is Baekdu Mountain, Where, even in the middle of winter days, flowers bloom. | อารีรัง อารีรัง อารารีโย… ฉันกำลังข้ามผ่านช่องเขาอารีรัง เขาคนนั้น ที่ทิ้งฉันไว้(ที่นี่) จะไม่เดินแม้ระยะทางเพียง 10 ลี้ ก่อนที่เท้าของเขาจะเจ็บ เช่นเดียวกับดาวมากมายในท้องฟ้า หัวใจฉันก็มีความเศร้าโศกมากมายเช่นกัน ภูเขาลูกนั้นคือภูเขาแพ็กดู ที่ซึ่งมีดอกไม้ผลิบาน แม้ในวันสุดท้ายของฤดูหนาว |
ในหนังมีคำอธิบายจากผกก. Kim Ki-duk ถึงเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อหนัง และบทเพลง Arirang ไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ผมขอขยายความเพิ่มเติม เปรียบชีวิตดั่งการเดินทาง ต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม กว่าจักสามารถปีนป่ายข้ามภูเขาสักลูกหนึ่ง เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด ทนเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่เมื่อเราพานผ่านมันได้สำเร็จ ณ จุดสูงสุด สิ้นฤดูหนาว จักพบเห็นดอกไม้เริ่มผลิบาน ทิวทัศน์ธรรมชาติงดงามตระการตา
Arirang (2011) คือภาพยนตร์/สารคดีที่ผกก. Kim Ki-duk พยายามอธิบายเหตุผล ระบายอารมณ์อัดอั้น ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด สำหรับเยียวยารักษาแผลใจ (มองหนังในลักษณะจิตบำบัดก็ได้กระมัง) ขณะเดียวกันผมยังมองว่าคือการหวนกลับหารากเหง้า ทบทวนอดีต เพื่อค้นหาตัวตนเองแท้จริง รวมถึงความหมายของชีวิต
ผมไม่ได้ใคร่สนใจสิ่งที่ผู้กำกับพูดระบายออกมา มีความจริง-เท็จมากน้อยแค่ไหน? แต่ทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนคือการเผชิญหน้ากับตัวตนเอง Kim Ki-duk ในกระจก, สบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall), เงาของ Kim Ki-duk, เสียงเคาะประตู (ก็น่าจะ Kim Ki-duk), Kim Ki-duk จับจ้องมอง Kim Ki-duk บนจอมอนิเตอร์, รับชมตนเองในภาพยนตร์ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) รวมถึงการกระทำอัตวินิบาต ฆ่าตัวตาย(ในภาพยนตร์)เพื่อจักได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
Life to me is sadism, self-torture and masochism. Torturing others, getting tortured, and torturing oneself. Eventually, most people wish to settle for self-torture, right?
Kim Ki-duk
บ้านชนบทของผกก. Kim Ki-duk ไม่ต่างจากวัดกลางน้ำในภาพยนตร์ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ตัวเขาขณะนี้เทียบได้กับตอนฤดูใบไม้ร่วง (Fall) เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ไม่สามารถยินยอมรับสภาพเป็นจริง อคติต่อโลกภายนอกที่เหี้ยมโหดร้าย ทัณฑ์ทรมานตนเองในสภาพอากาศหนาวเหน็บ การสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบดั่งการแกะสลักหฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) เพื่อให้สามารถสงบจิตสงบใจ เสร็จสิ้นแล้วราวกับจะได้ถือกำเนิดใหม่
วิธีคิดของผกก. Kim Ki-duk มีความละม้ายคล้ายลัทธิอัตถิภาวนิยม (Existentialism) แนวคิดทางปรัชญาที่เน้นการพิเคราะห์ภาวะความมีอยู่ของตนเองในสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง เพื่อกล้าเผชิญปัญหา เรียนรู้จักตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม … ลัทธิที่ถือว่าการค้นคว้าหาสารัตถะ ทำให้ผู้คิดออกห่างจากความเป็นจริง ซึ่งความเป็นจริงที่แท้ก็คืออัตถิภาวะของแต่ละบุคคล ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมและสภาพซึ่งตนเองได้สะสมเอาไว้ ประสบการณ์ ความทุกข์ที่มีอยู่ ในการเผชิญหน้ากับโลกที่ไร้ความหมาย ไม่ได้มีความพิเศษพิโศอะไร
ถึงผมจะไม่เคยได้รับชมผลงานหลังจากนี้ (นอกจาก Pietà (2012)) แต่ก็รับรู้สึกว่า Arirang (2011) ต้องคือจุดเปลี่ยนยุคสมัย ก่อนและหลัง บุคคลพานผ่านช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง ย่อมมีมุมมองต่อตัวตนเอง ต่อโลกใบนี้ ต่อทุกสิ่งอย่างที่แตกต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง!
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในสายการประกวดรอง Un Certain Regard สามารถคว้ารางวัล Prix un certain regard เคียงคู่กับ Stopped on Track (2011) และเห็นว่าตลอดทั้งงานผกก. Kim Ki-duk ให้สัมภาษณ์แค่เพียงครั้งเดียว บอกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้หายจากโรคซึมเศร้า แต่ไม่นานกลับมีท่าทางเศร้าๆซึมๆ จู่ๆลุกขึ้นมาขับร้องเพลง Arirang อย่างควบคุมตนเองไม่อยู่
หนังเรื่องนี้อาจจะหาซื้อแผ่น DVD/Blu-Ray ค่อนข้างยาก แต่ทางออนไลน์หาพบเจอได้ง่ายๆ ถ้าอยากดูคุณภาพดีหน่อยต้องตามเว็บสตรีมมิ่ง หรือตามมีตามเกิดก็ Youtube, Dailymotion ฯ
ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าสารพัดข้ออ้างของผกก. Kim Ki-duk ฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ มันเหมือนเป็นการสร้างเรื่องราว เลือนลางระหว่าง Reality vs. Fictional แต่ก็เข้าใจจุดประสงค์ที่ต้องการระบายความอึดอัดอั้นตันใจ ซึ่งสิ่งคาดไม่ถึงคือลูกเล่น ลีลาการนำเสนอ ใช้ประโยชน์จากสารพัดข้อจำกัด ‘One-Man Band’ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
After this rather depressing experience, I felt like revisiting Fellini’s 8½ (1963), Truffaut’s Day for Night (1973), and Bob Fosse’s All That Jazz (1979), all self-reflexive meditations on the creative process, but far more colorful and joyous than Arirang (2011).
นักวิจารณ์ Emanuel Levy
จัดเรต pg กับการระบายอารมณ์อึดอัดอั้นตันใจออกมา
Leave a Reply