Samaria

Samaria (2004) Korean : Kim Ki-duk ♥♥♥♡

สองสาววัยรุ่นยังไม่บรรลุนิติภาวะ เลือกจะขายบริการทางเพศเพื่อนำเงินไปท่องเที่ยวยุโรป วันหนึ่งบิดาบังเอิญพบเห็น แทนที่จะพูดคุยสอบถาม ปรับความเข้าใจ กลับระบายอารมณ์เกี้ยวกราดใส่บรรดาลูกค้าเหล่านั้น, คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลายๆประเทศในเอเชียมักปิดกั้นการสนทนาเรื่องเพศ (อิทธิพลศาสนาน่าจะคือส่วนสำคัญ) มองว่าเป็นเรื่องต่ำตม สกปรกโสมม น่าอับอายขายขี้หน้า ดูอย่างบ้านเราน่าจะเห็นภาพชัดเจน ถือเป็นมหาอำนาจ จ้าวโลกเรื่องโสเภณี ผู้หญิงขายบริการ Bang(c)ock ใครต่อใครต่างรับรู้นอกจากคนไทยด้วยกันเอง

เกาหลีใต้ก็ไม่แตกต่างกันนัก พยายามปิดกั้น ผลักไส ไม่ยินยอมรับความจริง ด้วยเหตุนี้เมื่อบิดาค้นพบว่าบุตรสาวขายบริการ แทนที่จะเปิดอกทำความเข้าใจ กลับสำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ปฏิเสธพูดคุย-รับฟังเหตุผล ลงมือโต้ตอบกระทำร้ายผู้อื่นด้วยความรุนแรง … แต่ถ้าว่ากันตามตรง สถาบันครอบครัวมักคือส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกหลานมีพฤติกรรมแสดงออกเช่นนั้น!

ในขณะที่ Samaria (2004) หรือ Samaritan Girl ได้รับการยกย่องสรรเสริญระดับนานาชาติ สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Berlin แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์ในเกาหลีใต้กลับส่ายหัว เต็มไปด้วยอคติต่อต้าน รับไม่ได้กับประเด็นต้องห้าม เรื่องราวละเอียดอ่อนไหว (ทั้งๆสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงทั้งหมด) ใช้นักแสดงยังไม่บรรลุนิติภาวะ อีกทั้งช่วงปีหลังๆที่ผกก. Kim Ki-duk ถูกกระแส #MeToo ถาโถมเข้าใส่ … ปัจจุบันจึงแทบไม่มีใครอยากจดจำภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆที่องก์สามเคลือบแฝงปรัชญา/แปรสภาพสู่นามธรรมได้อย่างโคตรๆลึกล้ำ

เกร็ด: โปสเตอร์ของหนังนี้ ถ่ายตอน Kwak Ji-Min ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผกก. Kim Ki-duk เฝ้ารอคอยให้เธอเรียนจบมัธยม อายุเกินกฎหมายกำหนดถึงค่อยปล่อยออกมา


Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม เพราะสถานะทางสังคมต่ำกว่าใคร แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง, พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบีบบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือ (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์

พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบทกับ Korea Scenario Writers Association พัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), ผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)

ความสนใจของผกก. Kim Ki-duk มักเป็นเรื่องราวกลุ่มคนชายขอบ บุคคลนอก ที่มักถูกมองข้ามจากสังคม (ตัวของ Kim Ki-duk ก็เฉกเช่นเดียวกัน) ก่อนหน้านี้เคยสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับโสเภณี/หญิงขายบริการ อาทิ Birdcage Inn (1998) โสเภณีเข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่ง โดยไม่รู้ตัวนำพาความวุ่นวายให้บังเกิดขึ้น, Bad Guy (2001) นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างแมงดาหนุ่ม บีบบังคับให้แฟนสาวขายบริการ

There are about 600,000 female prostitutes in Korea, and about 600,000 fathers of prostitutes. These fathers also buy sex from others’ daughters. Therefore, there is no simple criminal-victim relationship. They are all accomplices in this crime.

Kim Ki-duk

สำหรับภาพยนตร์ลำดับที่สิบ 사마리아 อ่านว่า Samaria, นำแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรง รับชมข่าวคราวทางโทรทัศน์ พบเห็นทั่วไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ บุรุษในเกาหลีใต้เวลากระทำความผิดรุนแรงสักเพียงไหน ก็มักถูกนำเสนอในแง่มุมผู้บริสุทธิ์ ไร้ความผิด กล่าวโทษสตรี ใส่ร้ายป้ายสีภรรยาและบุตรสาว ว่าคือต้นสาเหตุพฤติกรรมเลวร้ายเหล่านั้น

In Korea, when you watch the news on TV, the story is almost always told in this way: the men who are guilty are portrayed as evil, and the girls are treated as poor, innocent victims. Some men have actually committed suicide because of this kind of scandal. In my film, I wanted to interpret this in a different way. I tried to give the reasons why these men acted in this way and to show the girls less as victims.

This violence that we see in my films represents a part of the reality of Korean society. I am not making this up. Most of my scripts are inspired by my own experience.


สองสาวเพื่อนสนิท ใฝ่ฝันอยากเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป, Jae-yeong (รับบทโดย Han Yeo-reum) เลยตัดสินใจขายบริการทางเพศ โดยมี Yeo-jin (รับบทโดย Kwak Ji-min) เป็นแม่เล้าคอยติดต่อลูกค้า แต่ทว่าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ตำรวจบุกตรวจค้น ล้อมจับกุม เมื่อไม่สามารถดิ้นหลบหนี เธอจึงกระโดดตึกตกลงมาเสียชีวิต!

การสูญเสียเพื่อนสนิททำให้ Yeo-jin หมดกะจิตกะใจไปท่องเที่ยวยุโรป เธอจึงครุ่นคิดคืนเงินทั้งหมดให้กับลูกค้า ด้วยวิธีซื้อบริการ จ่าย(คืน)เงิน ทำในสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับ Jae-yeong, เหตุการณ์วุ่นๆบังเกิดขึ้นเมื่อบิดา Yeong-ki (รับบทโดย Lee Eol) ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บังเอิญพบเห็นบุตรสาวอยู่ในโรงแรมกับชายแปลกหน้า บังเกิดความเคลือบแคลงสงสัย จึงแอบติดตาม พูดคุยสอบถาม พอตระหนักว่าคือเกิดเหตุการณ์อะไร ดักซุมทำร้ายพวกผู้ชายเหล่านั้น สำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในออกมา

เย็นวันนี้ Yeong-ki ชักชวนบุตรสาว Yeo-jin เดินทางไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพมารดา ขับรถบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ระหว่างทางกลับพลัดติดหล่น ขณะที่บิดาหมดความกระตือรือล้น บุตรสาวกลับพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้(ชีวิต)ดำเนินต่อไปข้างหน้า และวันถัดมาสอนขับรถ เรียนรู้จักกำหนดทิศทาง(ชีวิต)ด้วยตนเอง


สองสาว Jae-yeong (รับบทโดย Han Yeo-reum) และ Yeo-jin (รับบทโดย Kwak Ji-min) ต่างเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ประสบการณ์ภาพยนตร์ยังไม่มาก และต่างยังไม่บรรลุนิติภาวะ (เกาหลีใต้ตอนนั้นยังนับอายุ 20 ปี) ส่วนเรื่องการแสดง … แค่พอไปวัดไปวา

  • Kwak Ji-min, 곽지민 ชื่อจริง Kwak Sun-hee, 곽선희 (เกิดปี ค.ศ. 1985) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul ระหว่างเรียนมัธยม Jinseon Girls’ High School ได้เซ็นสัญญากับค่าย Lions Bridge รับบทตัวประกอบซีรีย์ ภาพยนตร์ แจ้งเกิดกับ Samarian (2004), Red Eye (2005), จากนั้นศึกษาต่อสาขาภาพยนตร์และการละคอน Chung-Ang University จบออกมาพอมีผลงานประปรายแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ หลังแต่งงานจึงรีไทร์ออกจากวงการ
    • รับบท Yeo-jin หรือ Samarian ในตอนแรกไม่เห็นด้วยที่ Jae-yeong ยินยอมเป็นโสเภณี แสดงอาการรังเกียจขยะแขยงพวกผู้ชายที่มาใช้บริการ แต่ความตายของเพื่อนสาวทำให้ปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติ ต้องการเรียนรู้ ทำเข้าใจความรู้สึก ตัดสินใจซื้อบริการพวกผู้ชายเหล่านั้น เพื่อมอบทุกสิ่งอย่างกลับคืนไป
  • Han Yeo-reum, 한여름 ชื่อจริง Seo Min-jeong, 서민정 (เกิดปี ค.ศ. 1983) นักแสดงสัญชาติเกาหลี ระหว่างเรียนมัธยมเดินทางมาออดิชั่น ร่วมรับบทนำ Samarian (2004) ต่อด้วย The Bow (2005) แต่ไม่นานก็เลือนหายไปจากวงการเช่นกัน
    • รับบท Jae-yeong ก็ไม่รู้ที่บ้านมีปัญหาอะไร ถึงต้องการดิ้นหลบหนี อยากเดินทางไปยุโรปร่วมกับเพื่อนสนิท Yeo-jin ถึงขนาดยินยอมขายบริการ ทำงานโสเภณี ค่อยๆเรียนรู้ที่จะสร้างความสุขให้ตนเอง ก่อนเลือกจบชีวิตแทนที่จะถูกตำรวจจับกุมตัว
    • Jae-yeong มีความใฝ่ฝันอยากเป็น Vasumitra แต่ก็ไม่สามารถทำให้ใครบรรลุหลุดพ้น

สำหรับคนที่ฟังภาษาเกาหลีออก (ผมอ่านจากหลายๆความคิดเห็นของชาวเกาหลีใต้) จะรับรู้ว่าบทสนทนาของสองสาว มีความแข็งกระด้าง เหมือนอ่านหนังสือ ท่องข้อความ ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำมากเกินงาม นั่นเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติแยกแยะไม่ออก ถึงอย่างนั้นผมพอจะสรรหาข้ออ้าง (คล้ายๆแบบภาพยนตร์ Daisies (1966)) เพื่อให้พวกเธอดูเหมือนหุ่นเชิดชัก ไร้จิตวิญญาณ ไม่รู้ประสีประสาอะไรต่อการใช้ชีวิต

ผิดกับตัวละครบิดา Yeong-ki รับบทโดย Lee Eol, 이얼 (1964-2022) เป็นนักแสดงอาชีพ มีประสบการณ์จากแวดวงละคอนเวที จึงสามารถถ่ายทอดการแสดงอันเข้มข้น สีหน้าเคร่งขรึม ตึงเครียด เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น พร้อมระบายอารมณ์ กระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง รับไม่ได้ที่บุตรสาวขายบริการทางเพศ จึงดักทำร้ายลูกค้าทั้งหลาย ให้ได้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย-วาจา-จิตใจ

ไฮไลท์อยู่ช่วงองก์สามหลังจาก Yeong-ki ชักชวนบุตรสาว Yeo-jin เดินทางไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพภรรยา/มารดา บรรยากาศปกคลุมด้วยความตึงเครียด อยากจะพูดคุยสอบถาม อยากรับทราบความจริง แต่ทั้งสองกลับไม่สามารถสื่อสารสนทนา เปิดใจยินยอมรับกันและกัน ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น กลับสามารถนำสู่บทสรุปที่ทำให้พ่อ-ลูก สามารถปล่อยวาง และเรียนรู้จักการพึงพาตนเอง … ช่วงองก์นี้มีบทพูดน้อยมาก ทำให้ต้องใช้ภาษากายถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ภายในออกมา ซึ่งทั้งสองนักแสดงทำออกมาได้ดีมากๆ ราวกับวิวัฒนาการตัวละครที่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ชัดเจนขึ้นกว่าเก่า


ถ่ายภาพโดย Seon Sang-jae, 선상재

งานภาพในแต่ละองก์ของหนัง จะมีแนวทาง/มุมมองการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป บ่อยครั้งนำเสนอในลักษณะของการแอบถ้ำมอง (Voyeur) จับจ้องด้วยความฉงนสงสัย

  • Vasumitra นำเสนอผ่านมุมมองของ Yeo-jin มักเฝ้ารอคอยอยู่ภายนอกโรงแรม คอยสอดส่องบริเวณโดยรอบระหว่างเพื่อนสาว Jae-yeong กำลังขายบริการ
  • Samarian สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน
    • ครึ่งแรกยังคงเป็นมุมมองของ Yeo-jin แต่ทว่าสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกับ Jae-yeong (ที่เสียชีวิตจากไป) กลายมาเป็นโสเภณีซื้อบริการ เข้าไปในห้องพักโรงแรมร่วมหลับนอนกับลูกค้า
    • ครึ่งหลังเริ่มต้นเมื่อบิดา Yeong-ki พบเห็นบุตรสาวในโรงแรมกับชายแปลกหน้า จึงแอบติดตาม ถ้ำมอง แล้วสำแดงปฏิกิริยาโต้ตอบกับบรรดาผู้มาใช้บริการ
  • Sonata
    • สองพ่อ-ลูก ร่วมกันออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพมารดา ขับรถบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ สอนขับรถ ก่อนแยกย้ายจากไป

หนังใช้เวลาเตรียมงานสร้างเพียงสามสัปดาห์ และถ่ายทำระหว่าง 27 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 ถ้านับเฉพาะวันที่ทำงานจะแค่เพียง 11 วัน ล่วงหน้าก่อนแผนการเดินกำหนดไว้ 15 วัน! ก็ไม่รู้จะเร่งรีบร้อนไปไหน คุณภาพของหนังเลยออกมาตามนั้นแหละ

ด้วยความที่โปรดักชั่นมีความเร่งรีบ ทีมงานจึงแทบไม่มีโอกาสเดินทางไปค้นหาสถานที่ถ่ายทำ แต่ทว่าผกก. Kim Ki-duk วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะถ่ายทำยัง Hongcheon County, Gangwon Province ซึ่งก็คือบ้านพักตากอากาศของตนเอง เลยไม่ต้องเสียเวลามองหาสถานที่อื่นใด


เผื่อคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทัน นี่คือโปรแกรมแชทในตำนาน MSN (Microsoft Network Messenger) สำหรับรับ-ส่งข้อความออนไลน์แบบทันที (Instant Messenger) เป็นที่นิยมอย่างล้นหลามสำหรับวัยรุ่น Gen Y ในช่วงทศวรรษ 2000s ปัจจุบันยังพอมีคนใช้อยู่กระมัง แต่ก็เสื่อมกระแสนิยมตามกาลเวลา

ตอนผมลองค้นหาใน Google พบเจอชื่อของ Vasumitra ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

  • กษัตริย์องค์ที่สี่แห่ง Shunga Emperor
  • พระสงฆ์นิกายสรวาสติวาท (Sarvastivada) ในช่วงพุทธศตวรรษที่เจ็ด และยังเป็นบรรพบุรุษองค์ที่แปดแห่งพุทธศาสนานิกายเซน (Zen Ancestor)

แต่บริบทของหนังพบเจอในคัมภีร์พุทธวตตังสกสูตร (Avatamsaka Sutra) เป็นพระสูตรนิกายมหายาน (Mahayana) ทรงอิทธิพลมากที่สุดของพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก (East Asia) ถูกเขียนขึ้นเป็นระยะๆตั้งแต่ 500 ปีหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

โดยบทสุดท้ายคัณฑวยูหสูตร (Gandavyuha) บรรยายความถึงสุธนกุมาร (Sudhana) พุทธบริษัทมหายาน ลูกศิษย์ชายผู้อุปัฏฐากดูแลพระโพธิสัตว์กวนอิม ระหว่างการจาริกธรรมไปยังดินแดนต่างๆ ตามคำแนะนำของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พบพานกัลยาณมิตร หรือมิตรสหายผู้ชี้แนะทางธรรมจำนวน 53 คน ทั้งบุรุษ-สตรี อาชีพสูงส่ง-ต้อยต่ำ วรรณะสูง-ต่ำ ภิกษุ ทาส กษัตริย์ กุมาร กุมารี พราหมณ์ นายนาวิก รวมถึงนางคณิกาชื่อ Vasumitrā (แปลว่า Friend of the world) แล้วรู้แจ้งทางเห็นจริงหลังจากสนทนาธรรม

วาสุมิตรา (Vasumitrā) แม้ได้ชื่อว่านางคณิกา แต่ไม่ใช่โสเภณีขายบริการทางเพศ คือหญิงรูปงามที่ชาติปางหนึ่งเคยบริจาคเงินให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้รับโพธิจิต (จิตแห่งการตรัสรู้) ทำให้สามารถปล่อยละวางตัณหาราคะ ชายใดเดินทางมาหาจักได้พูดคุยสนทนา สัมผัสจับเนื้อต้องตัว กอดจูบลูบไล้ (ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์) แล้วจักบังเกิดความเข้าใจทางธรรม ละทอดทิ้งแก้วแหวนเงินทองกองไว้เต็มหน้าบ้าน แล้วหันหน้าเข้าสู่พุทธศาสนา

All who come to me with minds full of passion, I teach them so that they become free of passion. Some attain dispassion just by embracing me, and achieve an enlightening concentration called ‘womb receiving all sentient beings without rejection.’ Some attain dispassion just by kissing me, and attain an enlightening concentration called ‘contact with the treasury of virtue of all beings.’

Vasumitrā

Inspiration with bodhicitta is detachment from lust, giving of wealth is detachment from greed. A single coin may not be much money, but if the mentality of ability to give up what is valued is the same as when giving a lot of money, then this is what is called infinite stores of virtue.

ผมลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับขาหมู ในเกาหลีใต้มีอาหารชื่อจกบัล, Jokbal (족발) คนไทยเรียกกันง่ายว่า ‘ขาหมูเกาหลี’ คือเอาขาหมูไปตุ๋นให้นุ่ม (เหมือนข้าวขาหมู) แต่ทว่าในฉากนี้มันคือทอดกรอบแบบขาหมูเยอรมัน (Schweinshaxe) ไม่รู้ในเกาหลีมีชื่อเรียกอะไรหรือเปล่า?

ในเกาหลีใต้ หมู/ขาหมู หรือถ้าฝันถึงหมู จะหมายถึงประสบโชคดี ร่ำๆรวยๆ (Wealth & Luck) หรือก็คือสองสาวที่สามารถเอาตัวรอดจากการถูกไล่ล่าจับกุมได้สำเร็จ กำลังจะมีเงินเก็บเพียงพอเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรปตามความใฝ่ฝัน … แต่ทว่าตอนจบซีนนี้ Jae-yeong กลับโยนทิ้งขาหมูลงบนพื้น นี่เป็นการแอบบอกใบ้ถึงหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

วัฒนธรรมของชาวเกาหลี(ใต้)จะคล้ายๆญี่ปุ่น ชอบอาบน้ำรวม เปลือยกาย ถูหลังให้กัน แต่ในมุมมองชาวต่างชาติกลับคิดเห็นว่าสื่อถึงความสัมพันธ์เลสเบี้ยน (หญิง-หญิง) ยิ่งฉากจับมือ โอบกอด จุมพิต ยิ่งชวนให้จินตนาการไปไกล แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจใดๆของผกก. Kim Ki-duk เพียงต้องการสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเกาหลี(ใต้)ออกมาเท่านั้นเอง!

เมื่อตอนรับชม Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ผมครุ่นคิดมาตลอดว่าผกก. Kim Ki-duk คงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ก่อนก็ค้นพบว่าอาจไม่ใช่ ด้วยความที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมคริสเตียน อาสาสมัครโบสถ์ Baptist เคยใฝ่ฝันอยากเป็นบทหลวงนักเทศน์ มันเลยเกิดการผสมผสานระหว่างพุทธ+คริสต์ เสียมากกว่า!

อย่างภาพนี้สองสาวหลบซ่อนอยู่หลังรูปปั้นชาย-หญิงที่ถูกทิ้งร้าง สนิมเกรอกรัง คั่นระหว่างด้วยสัญลักษณ์ไม้กางเขน ก่อนสองสาวค่อยๆโผล่หน้าออกมา จับมือควงแขน เดินเคียงข้างไปด้วยกัน … มันดูราวกับการแต่งงานของสองสาว (คนหนึ่งคือตัวแทนรูปปั้นชาย-อีคนคือรูปปั้นหญิง)

สองสาวเดินมานั่งตรงรูปปั้นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า บุตร-หลาน ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ครอบครัวที่สองสาวโหยหา อยากได้รับความรัก ความอบอุ่น ใครสักคนดูแลเอาใจใส่อยู่เคียงข้างกาย

  • การที่หนังไม่เคยเล่ารายละเอียดของ Jae-yeong อาจสื่อถึงการไม่มี ไม่สนใจ ไม่อยากกล่าวถึง อย่างตอนใกล้ตายแทนที่จะให้เพื่อนสาวติดต่อหาบิดา-มารดา กลับอยากพบเจอหน้าลูกค้าคนล่าสุด
  • สำหรับ Yeo-jin สูญเสียมารดาตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่กับบิดาที่แม้มอบความรัก ความห่วงใย แต่เธอก็ยังโดดเดี่ยวเดียวดาย ราวกับไม่มีใครเคียงข้างกาย
Samaria

บิดาพยายามที่จะดูแลเอาใจใส่บุตรสาว เตรียมอาหารเช้า เข้าไปปลุกตื่นด้วยการสวมหูฟังเพลง Erik Satie: Gymnopédies: 1. Lent et douloureux (1888) แต่บรรยากาศตลอดซีเควนซ์นี้นั้น กลับดูเงียบเหงา เศร้าซึม แสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามา แต่ภายในยังปกคลุมด้วยความมืดมิดเป็นส่วนใหญ่

Yeo-jin ต้องถือว่าโตเป็นสาวแล้ว แต่บิดายังคงเจ้ากี้เจ้าการ ดูแลเอาใจใส่ ขับรถไปส่งโรงเรียน ฯ มองผิวเผินการแสดงเหล่านี้ไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่ในมุมของเด็กหญิงที่ต้องการความเป็นส่วนตัว อาจเริ่มรู้สึกว่า ‘Over-Protection’ มากเกินไป!

นี่น่าจะเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากของชาวฝรั่งเศส ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริงไหม แต่ก็ฟังดูน่าอัศจรรย์ ดอกไม้บานจากรูปแกะสลักไม้ของพระเยซู นี่สามารถสื่อถึงประกายแห่งความหวัง ถือกำเนิดจากเศษซากปรักหักพัง … หรือก็คือบิดาที่หลังจากระเบิดพลังจนทุกสิ่งอย่างวอดวาย องก์สามจึงเริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดของตนเอง

อีกสิ่งน่าสนใจของซีนเล็กๆนี้ก็คือ Yeo-jin แสร้งทำเป็นนอนหลับตา ไม่รับฟังเรื่องเล่าบิดา นี่แสดงถึงการสื่อสารอันล้มเหลวระหว่างพ่อ-ลูก ไม่สามารถพูดคุยเปิดใจต่อกัน เหมือนมีกำแพงบางอย่างกีดขวางกั้น

ลูกค้าคนต่อไปของ Jae-yeong นัดพบเจอ ณ เหมือนหินที่(น่าจะ)ถูกทิ้งร้าง ห่างไกลผู้คน มีความสกปรกโสโมม สะท้อนทัศนคติของ Yeo-jin ต่อบรรดาพวกผู้ชายที่ใช้บริการเพื่อนสาว ต่างคือขยะสังคมทั้งหมดทั้งสิ้น

แทนที่ Jae-yeong จะยินยอมถูกจับ เธอกลับกระโดดลงมาจากชั้นบน นางฟ้าตกสวรรค์ นี่ไม่ใช่การครุ่นคิดว่าจะสามารถหลบหนีเอาตัวรอด แต่มันต้องมีแรงกระตุ้น แรงผลักดันบางอย่าง เกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้หญิง ไม่ต้องการให้ครอบครัวค้นพบการแอบขายบริการ ฯ นั่นอาจสำคัญกว่าการมีชีวิตอยู่เสียอีก!

ทั้งๆนี่เป็นฉากสำคัญของหนัง แต่ผมกลับรู้สึกว่าผกก. Kim Ki-duk ทำออกมาไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เร่งรีบ รวบรัด ตัดตอนเกินไป Yeo-jin เต็มไปด้วยความร้อนรน นักดนตรีก็ดูสับสนในตนเอง … การเลือกนักดนตรีอาจเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตอนองก์สาม Sonata (คำนาม) ดนตรีที่เรียบเรียงสำหรับเครื่องดนตรีหนึ่งหรือสองชิ้น ซึ่งอาจคือสิ่งที่เขากำลังประพันธ์อยู่ขณะนี้

และที่น่าหงุดหงิดใจคือภาพช็อตนี้ ภายหลังการสูญเสียความบริสุทธิ์ของ Yeo-jin ถ่ายจากนอกห้องอัดเสียง กระจกใสสะท้อนหลอดไฟระยิบระยับ และได้ยินเสียงน้ำไหลจ๊อกๆ … ราวกับจะสื่อถึงการเฉลิมฉลองของเทวทูต การถือกำเนิดใหม่ของหญิงสาว/แม่พระ Yeo-jin (ความตายของ Jae-yeong = การสูญเสียความบริสุทธิ์ของ Yeo-jin = หลังจากนี้ทุกสิ่งอย่างจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่)

การจากไปของ Jae-yeong ทำให้ Yeo-jin ตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอะไรยังไง อาศัยอยู่ในห้องมืดมิด ตอนแรกครุ่นคิดจะเผาเงิน ส่งกงเต็กไปให้ ก่อนตระหนักได้ว่าตนเองไม่เคยเข้าใจเหตุผลของเพื่อนสาว ทำไมถึงยินยอมขายบริการ? นั่นคือจุดเริ่มต้นเรื่องราวองก์สอง Samaria

ผมลองค้นหามูลเกี่ยวกับ Samaria พบเจออยู่ 2-3 ความหมาย

  • Samaria Flower หรือดอกบัวดิน สัญลักษณ์วันป้องกันการฆ่าตัวตาย (10 กันยายน) สื่อความหมายถึงมิตรภาพ ความหวังใหม่ เป็นกำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่ต่อไป
  • Samaria คือชื่อเมืองหลวงเก่าแก่ของ Kingdom of Israel (ระหว่าง 880 BCE – 720 BCE) มาจากคำว่าภาษาฮีบรู Šōmrōn (שֹׁמְרוֹן) หมายถึง Watch หรือ Watchman หรือ Watch Mountain ปัจจุบันเป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาเล็ก ที่ถูกหลงลืม เหลือประชากรอยู่ไม่ถึงพันคนเท่านั้นเอง
  • ในคัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึง Samaritan woman at the well อยู่ใน Gospel of John 4:4-42 คำสนทนาระหว่าง Jesus Christ กับหญิงสาว(เธอมีสามีห้าคน ก็แล้วแต่จะมองว่าคือโสเภณีหรือไม่)ชาว Samaria ณ Jacob’s Well ในตอนแรกขอให้ตักน้ำในบ่อ แต่เธอตอบปฏิเสธเพราะความขัดแย้งระหว่างชาว Jews กับ Samarian จนเมื่อตระหนักว่าอีกฝ่ายคือใคร จึงออกเดินทางไปแจ้งข่าวกับคนอื่นๆเกี่ยวกับการมาถึงของพระผู้มาไถ่
    • สรุปตามความเข้าใจของผมก็คือโสเภณี/หญิงชาว Samaria ได้กลายเป็นตัวแทน Jesus Christ ในการเผยแพร่ศาสนา บอกเล่าการมาถึงของพระผู้มาไถ่

ในขณะที่องก์แรกของหนัง Vasumitrā เกี่ยวกับนางคณิกา/โสเภณีในพุทธศาสนา, พอองก์สอง Samaria เปลี่ยนมาเป็นบุคคลเผยแพร่การมาถึงของพระผู้มาไถ่ในคริสต์ศาสนา, ส่วนองก์สาม Sonata ไม่ได้อ้างอิงศาสนาไหน แต่อาจคือมุมมองความเชื่อธรรมชาติของผกก. Kim Ki-duk บรรเลงบทสรุป บทเพลงแห่งชีวิต ทุกสิ่งอย่างยังคงดำเนินไปราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น

The title “Vasumitra” is an Indian woman’s name from the Buddhist tale where she understands the exchange of human intimacy by prostituting herself. The title directly expresses Vasumitra’s theory. The title “Samaria” is conscious of a society which curses the decadence of the body. “Sonata,” in spite of these things, means that everything is part of our trivial common day life and never changes.

Kim Ki-duk

ก่อนหน้านี้ Yeo-jin ไม่เคยขึ้นโรงแรม พยายามทำความเข้าใจมุมมอง/ความรู้สึกของเพื่อนสาว Jae-yeong แต่เมื่อตัดสินใจจะคืนเงิน ซื้อบริการอดีตลูกค้า นี่คือครั้งแรกที่เธอขึ้นห้อง เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง มันช่างเปิดหูเปิดตา เปิดโลกทัศน์ใบใหม่ … ถ้าเราไม่จำกัดมุมมองแค่เรื่องของโสเภณี นี่คือวิธีการนำเสนอที่เสี้ยมสอนแนวคิด “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

เฉกเช่นเดียวกับลูกค้าคนนี้ที่รู้สึกอิ่มหนำจากการได้ร่วมเพศสัมพันธ์กับทั้ง Jae-yeong และ Yeo-jin แต่แล้วจู่ๆเธอกลับจ่าย(คืน)เงิน กลายเป็นตนเองที่ถูกซื้อบริการ นั่นทำให้เขาฉุกครุ่นคิด ระหว่างมุมกล้องถ่ายภาพสะท้อนกระจก (สะท้อนกลับหาตัวตนเอง) รีบกดโทรศัพท์หาบุตรสาว พูดคุยสอบถาม ชักชวนมารับประทานอาหารเย็น … คงจะเกิดความหวาดกลัวว่าบุตรสาว (ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับ Yeo-jin) จะแอบไปขายบริการทางเพศ

เมื่อบิดา Yeong-ki ตระหนักรับรู้ว่าบุตรสาวขายบริการ นั่งอยู่ในรถในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ปล่อยให้ใบไม้ร่วงหล่น ไร้กระจิตกระใจครุ่นคิดทำอะไร และเมื่อตอนได้ยินเสียงปลายสาย (ยึดมาจากหนึ่งในลูกค้า) ไม่ใช่แค่สะอื้อ ร่ำไห้ ยังเหมือนได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าคำราม ฟ้าถล่มดินทลาย หัวใจแตกสลาย ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น

สำหรับชายผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ หลังเสร็จกามกิจกับ Yeo-jin แวะมาส่งกลางทุ่งหญ้า (ป่าผืนน้อย สัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตตอบสนองสันชาติญาณ) จากนั้นถูก Yeong-ki เขวี้ยงขว้างก้อนหิน ทำลายกระจกแตก แล้วยังออกติดตาม ระรังควาญขึ้นมาบนอพาร์ทเม้นท์ (ตึกระฟ้าสูงใหญ่คือตัวแทนอารยธรรมมนุษย์) แม้ไม่พูดอะไรออกมาตรงๆ แต่สร้างความอับอาย ขายหน้าครอบครัว จนมิอาจอดรนทนมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

ความตายของชายคนนี้ด้วยการกระโดดตึก สื่อถึงจุดตกต่ำของอารยธรรมมนุษย์ แม้สามารถก่อสร้างหอคอยบาเบล/ตึกระฟ้าสูงใหญ่ แต่เรื่องสามัญสำนึก คุณธรรมประจำใจ คนยุคสมัยนี้กลับยังคงป่าเถื่อน ใช้ชีวิตตอบสนองสันชาตญาณ

ระหว่างทำอาหารเย็นให้บุตรสาว Yeong-ki ยื่นมือไปอังไอร้อนจากเตา นั่นแสดงถึงจิตใจอันลุ่มร้อน เดือดพล่าน จนไม่สามารถรับรู้สึกความเจ็บปวดทางร่างกาย … นั่นเพราะความเจ็บปวดทางใจ มันรุนแรง ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าทางกาย และจักกลายเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันรักษาหาย

และชายผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ ถูกดักสุ่มระหว่างกำลังเข้าห้องน้ำสาธารณะ (สถานที่ที่มีความสกปรก โสมม อาจม ปลดทุกข์ทรมาน) เริ่มต้น Yeong-ki ใช้กุญแจมือชกหน้า ก่อนเปลี่ยนมาเป็นก้อนหินทุบศีรษะ (นำพามนุษย์ถอยหลังสู่ยุคหิน) นี่ถือเป็นจุดตกต่ำสุด ระบายอารมณ์อัดอั้น แสดงออกโดยสันชาตญาณล้วนๆ ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์มนา

ย้อนรอยสองพ่อ-ลูก ต่างพานผ่านช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด สูญเสียใจ นั่งร่ำร้องไห้ ปล่อยให้น้ำจากฝักบัวล้างคราบเลือด รอยเปลอะเปลื้อน ความสกปรกโสมม ถึงอย่างนั้นกลับมิอาจชำระจิตใจให้ขาวสะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส พวกเขาต่างมีมลทิน รอยบาดแผลทางใจ

หลังพบเห็นความตายของลูกค้าคนล่าสุด Yeo-jin จึงตัดสินใจโยนทิ้งบัญชีหนังหมา (ที่จดบันทึกนามกรของลูกค้า) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเธอได้ซื้อบริการ จ่าย(คืน)เงินครบหมดแล้วหรือยัง แต่วินาทีนี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงโรย สภาพจิตใจก็คงไม่แตกต่างกัน

บิดาทำการห่อซูชิ ผมตีความว่าเป็นการนำเอาสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น(ในสององก์ที่ผ่านมา)ห่อเก็บ ม้วนพับ ซุกซ่อนความรู้สึกขัดแย้งไว้ภายใน แล้วชักชวนบุตรสาวออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนหลุมศพภรรยา/มารดา ปีนป่ายขึ้นเขา เริ่มต้นเช้าวันใหม่ คาดหวังว่าอะไรที่มันพานผ่านมาก็ขอให้พานผ่านไป

บิดารับประทานซูชิ (กับโชจู) มากเกินไปจนอ๊วกแตกอ๊วกแตน (จริงๆก็ไม่กี่ชิ้นเอง) เหมือนการที่เขาระบายอารมณ์ สำแดงความเกรี้ยดกราด ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่รู้จักควบคุมตนเองให้มีความพอดิบพอดี ในบริบทนี้มันอาจผสมความเศร้าโศก ทุกข์ทรมานใจ รู้สึกผิดในตนเองที่ไม่สามารถดูแลบุตรสาวให้เป็นไปตามคาดหวังไว้

ขากลับรถติดหล่ม ขณะที่บิดาเพียงลงมาดูแล้วก็ทอดถอนหายใจ บุตรสาวกลับยินยอมเปลอะเปลื้อนโคลนเลน ดึงหินออกจากล้อ เพื่อให้การดำเนินทาง/ชีวิตสามารถดำเนินต่อไป … นี่เป็นฉากที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันกลับเคลือบแฝงปรัชญาอันลุ่มลึกล้ำ สะท้อนตัวตนของพ่อ-ลูกได้อย่างตรงไปตรงมา

  • บิดา หลังจากรับรู้ว่าบุตรสาวขายบริการทางเพศ สำแดงความเกรี้ยวกราดถึงขนาดเข่นฆ่าคนตาย ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยัง
  • ตรงกันข้ามกับบุตรสาว ทำงานเป็นโสเภณีด้วยเหตุผลที่อยากจะเข้าใจเพื่อนสาวผู้ล่วงลับ เมื่อสำเร็จภารกิจ(เอาว่าเธอจ่าย(คืน)เงินกับลูกค้าหมดสิ้น)ก็ถึงเวลาที่ชีวิตจักก้าวดำเนินต่อไป

คงเพราะใกล้ค่ำมืด คืนนี้จึงขอชาวบ้านพักค้างแรม บิดาคงแอบคาดหวังให้บุตรสาวพูดบอกความใน มีอะไรติดค้างคาใจก็ระบายออกมา แต่เธอกลับนิ่งเงียบเฉย แล้วดึกดื่นสะอื้นร่ำไห้ตัวคนเดียว (บิดาทำได้เพียงจับจ้องมองอยู่ภายในบ้าน) แต่ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าการร้องไห้ครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบิดา-มารดา แต่คือครุ่นคิดถึงเพื่อนสาว Jae-yeong อย่างแน่นอน!

จะว่าไปสารพัดเรื่องเล่าของบิดา มักเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา และปาฏิหารย์ แต่นั่นคือสิ่งที่บุตรสาวไม่อยากรับฟัง ปิดหู ปิดตา ปิดกลั้น เพราะเธอเพิ่งสูญเสียเพื่อนสาว เรียนรู้กับตนเองว่า ‘ปาฏิหารย์ไม่มีจริง’ มีแต่สิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง … นี่สะท้อนมุมมอง/ทัศนคติที่แตกต่างระหว่างบิดา-บุตรสาว พวกเขาจึงไม่สามารถพูดคุย สื่อสาร ทำความเข้าใจกันและกัน

เมืองไทยมีสำนวน ‘บุรุษคือช้างเท้าหน้า สตรีคือช้างเท้าหลัง’ ในบริบทนี้เราอาจเปรียบเทียบสถาบันครอบครัว = เรือลำน้อย แต่มันจะมีทิศทางตรงกันข้ามคือ บิดาเป็นผู้ควบคุมหางเสือ (นั่งข้างหลัง) คอยกำหนดทิศทางดำเนินไป ถึงอย่างนั้นเรือลำนี้กลับรั่วซึม ล่มในหนอง สะท้อนความล่มสลายของครอบครัวนี้ ที่ไม่สามารถแล่นไปไหนได้อีก

ซีเควนซ์ในความฝันของ Yeo-jin มีการย้อมสีน้ำเงิน-เขียว (แถวๆ Turqouise, Teal, Pantone, Ocean) พร้อมเสียงดนตรีจากเครื่องสังเคราะห์ สร้างสัมผัสเหนือจริง (Surreal) สะท้อนความครุ่นคิดของเธอ รับรู้ว่าตนเองได้กระทำสิ่งชั่วร้าย น่าอับอาย ถ้าบิดาล่วงรู้ความจริงคงยินยอมรับไม่ได้ ต้องเข่นฆ่าปิดปาก กลบฝังไว้ริมน้ำ กล่อมให้นอนหลับฝันชั่วนิรันดร

แต่เมื่อตื่นขึ้นมาเผชิญหน้าความจริง บิดากลับพยายามสอนบุตรสาวให้เรียนรู้จักการขับรถ จับพวกมาลัย นี่เคลือบแฝงนัยยะเชิงปรัชญาอีกเช่นกัน ถึงการให้โอกาสบุตรสาวได้กำหนดทิศทางดำเนินไปของชีวิตด้วยตนเอง! ซึ่งมุมกล้องจากภาพระยะไกล พบเห็นหินสีเหลืองทาเอาไว้สองเส้นทาง

  • เส้นทางโค้งรูปตัว S สื่อถึงชีวิตที่ผันแปรเปลี่ยน โค้งเคี้ยวเลี้ยวรถ ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ
  • ส่วนอีกเส้นทางถอยหลังเข้าซอง ผมมองว่าคือหนทางเลือกที่จะดำเนินไปข้างหน้า หรือถอยหลังกลับทางเก่า
    • บางคนอาจมองการถอยหลังเข้าซอง คือค้นพบวิถีทาง เส้นทางดำเนินชีวิตของตนเอง

ระหว่างที่บุตรสาวกำลังฝึกซ้อมขับรถ ถอยหลังเข้าซอง มีรถตำรวจเข้ามาจับกุมบิดา ขับนำไปข้างหน้า Yeo-jin เห็นเช่นนั้นจึงรีบเร่งเครื่องติดตาม แต่ด้วยประสบการณ์เพิ่งเริ่มขับขี่ เลยไม่สามารถแก้ปัญหา เอาตัวรอดพานผ่านหล่ม โคลนเลน อุปสรรคขวางกั้น หรือจะมองว่าคือเส้นแบ่งแยก/จุดแตกหักระหว่างเธอกับบิดา ต่อจากนี้ถึงเวลาที่หญิงสาวจักต้องเลือกเส้นทางดำเนินชีวิตด้วยตนเอง โดยไม่มีใครคอยให้การดูแล ปกปักษ์รักษา ไปรับไปส่งอีกต่อไป

หลายคนอาจมองการกระทำของบิดาคือพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ทอดทิ้งบุตรสาวไว้โดยลำพัง แต่การจากไปของเขาถือว่าเป็นการเผชิญหน้าความผิด ยินยอมรับโทษทัณฑ์ที่เคยกระทำอย่างขาดสติ เชื่อมั่นว่า Yeo-jin จักสามารถหาหนทางเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง ถือเป็นบทเรียนให้กับเธอด้วยละ ที่สร้างปัญหาสังคมให้บังเกิดขึ้น

ตัดต่อโดย Kim Ki-duk, อย่างที่อธิบายไปแล้วแต่ละองก์ของหนังมีวิธีการ/มุมมองนำเสนอแตกต่างออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเวียนวนอยู่กับตัวละคร Yeo-jin หรือ Samarian คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว

  • Vasumitra, นำเสนอผ่านมุมมอง Yeo-jin มีความใฝ่ฝันอยากเป็นแบบ Vasumitra
    • Yeo-jin รับบทเป็นแม่เล้าให้กับ Jae-yeong รวมถึงคอยสอดส่อง ดูแลความปลอดภัย หลังเสร็จกามกิจก็พาไปอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ
    • ความสัมพันธ์ระหว่าง Yeo-jin กับบิดา Yeong-ki แม้เต็มไปด้วยความรัก เอาใจใส่ แต่มันกลับเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ขาดความอบอุ่นจากมารดา
    • วันหนึ่งตำรวจบุกตรวจค้น Jae-yeong ไม่สามารถหาทางหลบหนี จึงกระโดดลงมาจากชั้นบน
    • Yeo-jin อุ้มพา Jae-yeong ไปโรงพยาบาล แต่อาการสาหัสเกินรักษาหาย
    • Yeo-jin ยินยอมทำตามคำร้องขอสุดท้ายของ Jae-yeong แต่มันก็สายเกินแก้ไข
  • Samarian, เริ่มต้นนำเสนอผ่านมุมมอง Yeo-jin ก่อนเปลี่ยนมาเป็นบิดา Yeong-ki
    • ความตายของ Jae-yeong ทำให้ Yeo-jin หมดความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป
    • Yeo-jin ติดต่ออดีตลูกค้า ทำการซื้อบริการ และจ่าย(คืน)เงิน
    • วันหนึ่งบิดา Yeong-ki พบเห็นบุตรสาวอยู่ในโรงแรมกับชายแปลกหน้า เลยออกติดตาม สอบถาม ใช้ความรุนแรงกระทำร้ายร่างกาย
    • Yeong-ki เขวี้ยงก้อนหินใส่รถลูกค้าคนหนึ่ง แอบติดตามไปที่คอนโด เผชิญหน้าครอบครัวอีกฝ่าย
    • และครั้งสุดท้ายในห้องน้ำสาธารณะ Yeong-ki ไม่สามารถควบคุมตนเอง กระทำร้ายชายคนนั้นจนเสียชีวิต
  • Sonata, นำเสนอการเดินทางของสองพ่อ-ลูก Yeong-ki และ Yeo-jin ที่ต่างบรรเลงบทเพลงชีวิตของตนเอง
    • Yeong-ki ชักชวนบุตรสาว Yeo-jin ไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพมารดา ขับรถบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย
    • ขากลับรถติดหล่ม บิดาดูหมดกำลังใจ แต่ทว่าบุตรสาวกลับพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป
    • ค่ำคืนนี้หลับนอนบ้านพักบนเขา
    • และเช้าวันถัดมา บิดาสอนบุตรสาวขับรถ ก่อนตนเองยินยอมมอบตัวกับตำรวจ

เพลงประกอบโดย Ji Bark, 지박 ชื่อจริง Park Ji-woong, 박지웅 (เกิดปี ค.ศ. 1977) นักแต่งเพลงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul ในครอบครัวศิลปิน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เดินทางไปเรียนเปียโนและไวโอลินที่สหรัฐอเมริกา Fiorello H. LaGuardia High School of Music & Art ศึกษาต่อคณะแต่งเพลงคลาสสิก Juilliard School ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ John Corigliano (ที่เพิ่งคว้า Oscar: Best Original Score จากภาพยนตร์ The Red Violin (1998)) จึงเปลี่ยนมาเรียนสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ Berklee College of Music, แล้วได้รับชักชวนจากผู้กำกับ Kim Ki-duk ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003), Samarian (2004), Dream (2008) ฯ

ผมมีความโคตรๆประทับใจงานเพลงของ Ji Bark มาตั้งแต่ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) หลงใหลบทเพลงที่มอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ ‘transcendent’ พยายามเลือกเครื่องดนตรีอย่างเปียโน ขลุ่ย ที่มีความพริ้วไหว จิตวิญญาณล่องลอยไป สร้างความผ่อนคลาย เบาสบาย โหยหาสถานที่ที่เป็นนิจนิรันดร์

Opening Theme รวมถึง Girl’s Theme ต่างมีความละมุน นุ่มนวล สัมผัสอ่อนไหว ท่วงทำนองของเด็กหญิงสาวยังละอ่อนวัย บริสุทธิ์สดใสไร้เดียงสา ฟังแล้วเกิดความเอ็นดู ทะนุถนอม พยายามปกปักรักษา ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม คุ้มกันภัยจากสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามาระรังควาญ

บทเพลง Driving To Murder และ Murder ถ้าเป็นภาพยนตร์ทั่วๆไปมักค่อยๆทวีความรุนแรง ใส่อารมณ์กระแทกกระทั้น กรีดกรายสารพัดเครื่องดนตรี เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้น นำเข้าสู่เหตุการณ์คลุ้มบ้าคลั่ง, แต่ทว่า Ji Bark เลือกรังสรรค์ท่วงทำนองที่มีความนุ่มลึก เสียงลากยาวตัดกับตัวโน๊ตกระโดดขึ้นมาเบาๆ พยายามควบคุมตนเองจนกระทั่งมาถึงบทเพลง Murder ที่เพียงสร้างสัมผัสอันตราย ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ความตายกำลังคืบคลานเข้ามา

Bad Dream ของ Yeo-jin เริ่มต้นมีการละเล่นเสียงสังเคราะห์ ใช้เอ็ฟเฟ็กระลอกคลื่น (Ripple Noise) เพื่อสร้างสัมผัสโลกแห่งความฝันอันเลวร้าย จากนั้นช่วงกลางเพลงจะมีการแปรเปลี่ยนมาบรรเลงเปียโน+ไวโอลิน แต่หนังจะตัดทิ้งส่วนนี้ไปเพื่อมาใช้บทเพลง Erik Satie: Gymnopédies: 1. Lent et douloureux (1888) กล่อมเข้านอนชั่วนิรันดร์

สองสาวเพื่อนสนิท Yeo-jin และ Jae-yeong ใฝ่ฝันอยากเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป ถึงขนาดว่ายินยอมขายบริการทางเพศ นี่ดูยังไงก็ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ มันราวกับว่าพวกเธอต้องการหลบหนี (Escapist) จากอะไรสักอย่าง ครอบครัว? สังคม? ประเทศชาติ?

ด้วยความที่หนังไม่ได้นำเสนอเบื้องหลัง อธิบายสาเหตุผลแท้จริง เพราะเหตุใด? ทำไม? Jae-yeong ถึงยินยอมขายบริการทางเพศ? การไปท่องเที่ยวยุโรปเป็นแค่เพียงข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น! แต่เราสามารถสังเกตตรรกะแปลกๆของเธอ พยายามเรียนรู้จักอะไรบางอย่างจากผู้มาซื้อบริการ เลือกกระโดดตึกแทนที่จะถูกจับกุม หรือตอนใกล้เสียชีวิตปฏิเสธติดต่อบิดา-มารดา กลับต้องการพบเจอลูกค้าคนล่าสุด เหล่านี้เพียงพอให้ผู้ชมคาดเดาถึงปัญหาชีวิต ครอบครัว ต้องการหลบหนีจากเกาหลีใต้ไปให้แสนไกล

สำหรับ Yeo-jin แม้สูญเสียมารดาตั้งแต่เด็ก แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบิดาเป็นอย่างดี จึงไม่น่าจะมีปัญหาขัดแย้งใดๆ ไม่จำเป็นต้องขายบริการทางเพศ คงด้วยความสนิทสนม Jae-yeong (บ้างว่าตกหลุมรัก/ความสัมพันธ์เลสเบี้ยน แม้นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของผกก. Kim Ki-duk แต่เราก็สามารถมองไปในทิศทางนั้น) ชักชวนไปไหนไปด้วย ไม่ได้มีเหตุผลจริงจังที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวยุโรป

คาดเดาไม่ยากว่าเมื่อตอน Jae-yeong เสนอความคิดเห็นหาเงินจากการขายบริการทางเพศ Yeo-jin ย่อมต้องไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง สังเกตจากอคติต่อผู้ชายมักมากในกามคุณ แต่เมื่ออีกฝ่ายดื้อรั้น ดึงดัน จึงขันอาสาเป็นแม่เล้า คอยดูลาดเลา พยายามปกป้องเพื่อนสาว และทุกครั้งหลังเสร็จกามกิจต้องพาไปอาบน้ำชำระร่างกาย ไม่ให้เหลือคราบสกปรกโสมมติดตัวกลับบ้าน

เมื่อหายนะบังเกิดขึ้นกับนางฟ้าตกจากสรวงสวรรค์ Yeo-jin จึงยินยอมทำทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะคำร้องขอสุดท้ายที่ต้องการพบเจอลูกค้าคนล่าสุด แต่พอฝ่ายชายตอบปฏิเสธ อ้างว่าไม่ว่าง ติดทำงาน ทำให้เธอต้องยอมกล้ำกลืน เสียความบริสุทธิ์ เพื่อลากพาตัวเขามายังโรงพยาบาล แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข … ความตายของ Jae-yeong = การถือกำเนิดใหม่ของ Yeo-jin

ความตายของ Jae-yeong ทำให้ Yeo-jin ไม่หลงเหลือเหตุผลที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป ในตอนแรกตั้งใจจะเผาเงิน ส่งกงเต็กไปให้ ก่อนตระหนักได้ว่าตนเองไม่เคยเข้าใจเหตุผลของเพื่อนสาว ทำไมถึงยินยอมขายบริการ? ทำไมวาดฝันอยากเป็นอย่าง Vasumitra? ด้วยเหตุนี้เธอเลยตัดสินใจ “ซื้อ”บริการลูกค้าทั้งหลายจากบัญชีหนังหมา ติดต่อมาร่วมเพศสัมพันธ์แล้วคืนเงินให้

การ”ซื้อ”บริการทางเพศของ Yeo-jin มันสิ่งแปลกประหลาด ทำให้ลูกค้าเหล่านั้นฉุกครุ่นคิด บังเกิดความรู้สึก(ผิด) มีชายคนหนึ่งโทรศัพท์หาบุตรสาว อยากพบเจอหน้าเพื่อที่จะ … นี่อาจไม่เหมือนโสเภณี Vasumitra ที่ทำให้บุรุษค้นพบทางธรรม แต่ก็สามารถสร้างความตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง

Yeong-ki ตั้งแต่สูญเสียภรรยา รับบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ของ Yeo-jin มอบความรัก เอาใจใส่ ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม เอ็นดูทะนุถนอม มองผิวเผินเหมือนไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราลองครุ่นคิดดูดีๆจักพบว่า ‘Over-Protection’ มากเกินไปไหม? ปลุกตื่นตอนเช้า ขับรถไปส่งโรงเรียน พยายามพูดสอนโน่นนี่นั่น (แต่เธอกลับแสร้งนอนหลับฝัน) เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่พอพบเห็นบุตรสาวอยู่ในโรงแรมกับชายแปลกหน้า จึงแทบไม่สามารถควบคุมตนเอง

สิ่งที่ผกก. Kim Ki-duk พยายามสะท้อนจาก Samarian (2004) คือพฤติกรรมชายชาวเกาหลี(ใต้)ที่มีความลุ่มหลงระเริง ครุ่นคิดว่าฉันทำในสิ่งถูกต้อง ไม่เคยครุ่นคิดไตร่ตรองตนเอง ปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง แถมสังคมยังให้ท้าย เพราะยึดถือมั่นในระบอบชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy)

ชาวเกาหลีใต้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างตั้งคำถาม บิดาทำผิดอะไร? มันคือหน้าที่ สิทธิ์อันชอบธรรม บุตรสาวขายบริการไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสามารถอดกลั้น หัวหน้าครอบครัวต้องลุกขึ้นมาโต้ตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” สร้างความตระหนักให้กับพวกผู้ชายที่ซื้อบริการหญิงสาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกับบุตร(สาว)ของตนเอง มันช่างเป็นเรื่องน่ารังเกียจ รับไม่ได้ ขยะสังคม

ผมเชื่อว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่น่าจะตระหนักได้ว่า การกระทำของบิดาไม่ใช่สิ่งถูกต้อง! บ้านเมืองมีขื่อมีแป คนเราต้องรู้จักควบคุมตนเอง (แถมเป็นตำรวจ ยิ่งต้องไม่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้อื่น) แก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายทาง กล้าเปิดอก เปิดใจ พูดคุยสอบถาม รับฟังความจากบุตรสาว ทำไปทำไม? มีปัญหาอะไร? เรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่เอาตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล

หลังจาก Yeong-ki ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดจนหมดสิ้น ค่อยเริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดของตนเอง ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอาลัย ชักชวน Yeo-jin ไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพมารดา ร่ำไห้ออกมาเพราะครุ่นคิดว่าตนเองไม่สามารถปกป้องบุตรสาว พอรถติดหล่มก็ไร้เรี่ยวแรงจะทำอะไร แต่การที่เธอพยายามหยิบก้อนหินจนมือเปลอะเปลื้อน เพื่อให้การเดินทางดำเนินต่อไป นั่นน่าจะสร้างความตระหนักให้กับเขา ชีวิตของลูกไม่ใช่สิ่งที่บิดา-มารดาจะตัดสินใจ

ซีเควนซ์ที่ผมชอบสุดของหนังคือการสอนขับรถ สถาบันครอบครัวมีหน้าที่เตรียมความพร้อม/สภาพแวดล้อม ให้คำแนะนำลูกหลาน แต่พวกเขาจะทำอะไรยังไง Yeo-jin ต้องควบคุมพวงมาลัย กำหนดทิศทางชีวิตด้วยตนเอง … เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องโสเภณี อยากจะขายตัวก็ทำไป อาจทำให้หลายคนส่ายหัว รับไม่ได้ แต่นั่นคือสิ่งที่เราควรต้องเปิดใจเช่นเดียวกันนะครับ

ความคิดเห็นย่อหน้านี้มันอาจจะสุดโต่งเกินไป ก็ไม่ต้องไปจริงจังอะไรมากมายก็ได้ ผมมองว่าในอนาคตเมื่อโสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย สังคมก็จักเริ่มเสี้ยมสอนการขายบริการไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ครอบครัวควรเรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ให้การยินยอมรับ รวมถึงมันผิดอะไรที่โคแก่กินหญ้าอ่อน? ชายสูงวัยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกันลูกหลาน? อย่าเอาความรู้สึกตนเองเป็นที่ตั้ง คนจะรักกัน ชอบกัน ร่วมเพศสัมพันธ์ อายุเพียงตัวเลขเท่านั้น!

เรื่องอายุผมไม่อยากแสดงความเห็นเลยนะ เพราะการบรรลุนิติภาวะ (Age of Majority) มันไม่มีมาตรฐานเลยสักนิด ประเทศไทยนับที่ 20 ปี (มั้งนะ), เกาหลีใต้จากเคย 20 ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น 19, ส่วนใหญ่ในโลกคือ 18 แต่บางประเทศ 15-16 แรกมีประจำเดือนก็แต่งงานได้แล้ว! การใช้อายุวัดความเหมาะสมของเพศสัมพันธ์มันจึงไม่ใช่สิ่งถูกต้อง แค่เพียงความรู้สึกส่วนบุคคลเท่านั้นเอง … เอาว่ามันไม่ผิดกฎหมาย กับบุคคลบรรลุนิติภาวะ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วใช่ไหม?

เอาจริงๆภาพยนตร์เรื่องนี้ควรตั้งชื่อว่า Vasumitra มากกว่า Samaria เสียด้วยซ้ำ! นั่นเพราะ Yeo-jin คือโสเภณีผู้มอบความสุขให้คนอื่น โดยไม่ยินยอมรับสิ่งตอบแทนใดๆ แถมยังคืนเงินที่พวกเขาเคยซื้อบริการเพื่อนสาว Jae-yeong ราวกับแม่พระผู้สร้างความตระหนัก เสี้ยมสอนบทเรียนชีวิต

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกับ Vasumitra พยายามเทศนาสั่งสอน สร้างความตระหนักให้กับผู้ชม (ทั้งชาวเกาหลีและทั่วโลก) ถึงปัญหาครอบครัว โสเภณีเด็ก ความเป็นศูนย์กลางจักรวาลของบุรุษเพศ (ในสังคมชายเป็นใหญ่) การไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ใช้ความรุนแรง สำแดงอำนาจ(ตำรวจ)ในทางไม่ชอบธรรม ฯ


แม้หนังได้เสียงตอบรับอย่างย่ำแย่จากนักวิจารณ์ในเกาหลีใต้ แต่พอเดินทางไปฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin สามารถคว้ารางวัล Silver Bear: Best Director นั่นทำให้มุมมองชาวเกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนแปลงไป ยอดจำหน่ายตั๋ว(ในเกาหลีใต้)เพิ่มขึ้นถึง 44,900 ใบ อีกแหล่งข่าวบอกว่าขายได้ 172,000 ใบ ขณะที่ผกก. Kim Ki-duk เคยให้สัมภาษณ์เกินกว่า 200,000+ ใบ แต่ดูแล้วน่าจะยังไม่เพียงพอคืนทุนสร้าง!

ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ พบเห็นเพียงจัดจำหน่าย DVD ฉบับปี ค.ศ. 2005 ไม่ก็ลองค้นหาทางช่องออนไลน์ทั่วๆไป ชื่อภาษาไทย “บาปรัก บาดลึก” ฟังดูผิดเพี้ยนไปไกล

ถ้ามองผ่านการแสดงที่ดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ แนวคิดของ Samaria (2004) ถือว่าลึกล้ำ น่าหลงใหล ตั้งคำถามสิ่งต่างๆมากมาย สะท้อนสภาพเป็นจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถยินยอมรับ ถ้าคุณสามารถเปิดอก ทำความเข้าใจ มันแทบจะทำให้เราเติบโตกลายเป็นคนใหม่

เอาจริงๆผมอยากจัดให้หนังเข้ากลุ่ม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะพฤติกรรมรุนแรงสุดโต่งของบิดา สามารถเป็นบทเรียนเสี้ยมสอนการใช้ชีวิต แต่ผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่สามารถมองข้ามอคติ รับไม่ได้กับสภาพเป็นจริง รวมถึงตัวตนของผกก. Kim Ki-duk เลยขอละเอาไว้ก็แล้วกัน

จัดเรต 18+ กับโสเภณีเด็ก ความรุนแรง เข่นฆาตกรรม

คำโปรย | Samaria มุมมองบิดๆเบี้ยวๆของผู้กำกับ Kim Ki-duk สะท้อนความจริงที่ชาวเกาหลีใต้ไม่มีวันยินยอมทำความเข้าใจ
คุณภาพ | บิดๆเบี้ยวๆ
ส่วนตัว | แม่พระ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: