A Simple Life

A Simple Life (2011) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ชีวิตมันไม่ง่ายนะครับ! น่าจะเพราะพานผ่านอะไรๆมามาก ผู้สูงวัยจึงเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ มองโลกในแง่ร้าย หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับหลายๆสิ่งอย่าง หรือคือฉันยังไม่อยากตาย แต่ถ้าเราสามารถปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า เมื่อนั่นบั้นปลายชีวิตถึงพบความเรียบง่าย พร้อมจากโลกนี้ไปสู่สุขคติ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผู้กำกับสวีอันฮัว ตั้งใจจะสรรค์สร้าง A Simple Life (2011) เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายแล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ (ขณะนั้นเธออายุ 63-64 ปี) แต่เพราะความสำเร็จระดับนานาชาติ บ้างยกย่องว่าคืออีกผลงานมาสเตอร์พีซ จึงยังสามารถใช้ชีวิตบั้นปลาย ทำในสิ่งที่หัวใจยังคงเรียกร้องหา (คือได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์อีกหลายๆเรื่องต่อจากนี้)

แต่เรายังต้องถือว่า A Simple Life (2011) คือพินัยกรรมของผู้กำกับสวีอันฮัว (เพราะเธอตั้งใจไว้เช่นนั้น) นำเสนอช่วงเวลาบั้นปลายของตนเอง/สาวใช้สูงวัย เมื่อล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก แค่ก้าวเดินยังยุ่งยากลำบาก พอไม่สามารถทำหลายๆสิ่งอย่างที่เคยทำก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งเรื่องราวของหนังก็เต็มไปด้วยสิ่งค้างๆคาๆมากมาย (หลายคนอาจรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่นั่นคือไดเรคชั่นของหนัง เพื่อให้รับรู้ถึงการเป็นผู้สูงวัยก็ได้แค่นี้แหละ) ถึงเวลาต้องเรียนรู้จักการปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง คลายความหมกมุ่นยึดติด ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า ตายไปเมื่อไหรจักไม่ให้สูญเสียใจเอาภายหลัง

ผมไม่รู้สึกว่าหนังพยายามบีบเค้นคั้นอารมณ์ บังคับน้ำตาผู้ชมไหลหลั่ง (Tearjearker) แต่มันก็อาจแล้วแต่บุคคลนะครับ ใครเซนซิทีฟก็น่าจะซึมๆอยู่บ้าง นั่นเพราะผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้ต้องการสร้างความฟูมฟาย จะเป็นจะตาย แม้ฉากที่ตัวละครแสดงอาการเจ็บปวดยังแทบไม่ปรากฎให้เห็น พยายามสร้างภาพสุดท้าย(ของตนเอง)ให้เข็มแข็งแกร่ง เมื่อฉันจากไปก็ไม่ต้องเศร้าโศกใจ เพราะนั่นคือสัจธรรมแห่งชีวิต


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Boat People (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Song of the Exile (1990), Summer Snow (1995), The Way We Are (2008), A Simple Life (2012) … ทั้งสี่เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวกับผู้สูงวัย

สำหรับ A Simple Life (2012) เริ่มต้นจากโปรดิวเซอร์ Roger Lee, 李恩霖 นำเรื่องราวจริงๆของตนเองกับหญิงรับใช้ จงชุนเตา, 鍾春桃 พื้นเพเป็นคนไถชาน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับการอุปถัมถ์จากคุณยาย (ของโปรดิวเซอร์ Roger Lee) กลายเป็นคนรับใช้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วยกันที่ฮ่องกง รวมระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี! จนกระทั่งล้มป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2003 และเสียชีวิตเมื่อปี 2007

Because I am also getting old, 64 years old, single, I began to worry about loneliness, and I was afraid that I would be too old.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ด้วยความชื่นชอบเรื่องราวดังกล่าวมากๆ ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงโน้มน้าวให้โปรดิวเซอร์ Roger Lee พัฒนาโครงเรื่องราวคร่าวๆ (ภายหลังนำมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือชีวประวัติ 桃姐與我 (2012) แปลว่า Sister Tao and Me) แล้วส่งต่อให้นักเขียน Susan Chan, 陳淑賢 (ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้นนานมาแล้ว The Romance of Book and Sword (1987)) ดัดแปลงสู่บทภาพยนตร์

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 桃姐 อ่านว่าเตาเจี่ย โดยคำว่า 桃 แปลว่าลูกท้อ (Peach), 姐 คือพี่สาว สามารถแปลตรงๆว่า Sister Peach คำเรียกของ จงชุนเตา, 鍾春桃

แม้โปรเจคนี้ได้รับการพัฒนามาสักพักใหญ่ๆ แต่กลับไม่ใครไหนยินยอมออกทุนสร้าง จนสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจให้ผู้กำกับสวีอันฮัว (คงคือเหตุผลหนึ่งเลยกระมัง ตั้งใจจะรีไทร์หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้) กระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับหลิวเต๋อหัว สอบถามตรงๆเลยว่าช่วยเหลือเรื่องการเงินได้หรือเปล่า ผลลัพท์ยินยอมควักกระเป๋าจ่ายล่วงหน้า ¥30 ล้านหยวน (แต่ภายหลังก็ได้ Bona Film Group เข้ามาร่วมสมทบทุน)

I feel so sad. Sometimes when you make a movie, they say, aren’t you afraid to lose money? It’s not the best-selling, it’s not the most famous, but sometimes you’re moved, maybe it’s the action, maybe it’s the script, and the many little drops add together to make me do it. I work hard to make money every day, so I won’t be stupid.

หลิวเต๋อหัว อธิบายเหตุผลที่ยอมควักเนื้อเพื่อโอกาสในการสรรค์สร้าง A Simple Life (2011)

เรื่องราวของ อาเตา (รับบทโดย เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ในบ้านตระกูลเหลียง แต่หนึ่งเดียวที่เธอผูกพันมากที่สุดคือ โรเจอร์ (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) แม้คนอื่นๆจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ แต่เขายังเลือกอยู่อาศัย-ทำงานในฮ่องกง แต่เมื่อเธอจำต้องเกษียณตัวเอง ล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก เพราะไม่ต้องการเป็นภาระใครอื่น จึงมุ่งมั่นจะอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว โดยหลานชายบุญธรรม(โรเจอร์)คอยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถเอื้ออำนวย จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต


เยี่ยเต๋อเสียน, 葉德嫻 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง บิดาเป็นผู้จัดการโรงแรม เติบโตในอพาร์ทเม้นท์ย่านจิมซาจุ่ย หลังเรียนจบทำงานช่างแต่งหน้า พนักงานต้อนรับสายการบิน เคยครุ่นคิดสมัครแอร์โฮสเตสแต่ว่ายน้ำไม่เป็น ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนนักดนตรีกลายเป็นนักร้องประจำวง มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ จับพลัดจับพลูทำอัลบัม แสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ อาทิ Cream Soda and Milk (1981), Dances with Dragon (1991) ฯลฯ ร่วมงานบ่อยครั้งกับหลิวเต๋อหัว ตั้งแต่ The Unwritten Law (1985) ล่าสุดก็เมื่อตอน Prince Charming (1999) แล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ไป 12 ปี ก่อนหวนกลับมาแสดงผลงานชิ้นเอก A Simple Life (2011) [นับรวมทั้งหมดก็ 10 ครั้ง!]

รับบทอาเตา หรือจงชุนเตา, 鍾春桃 แม่บ้านตระกูลเหลียง ทำงานรับใช้ครอบครัวมานานกว่า 60 ปี เป็นคนเจ้าระเบียบ พิถีพิถัน และมีเสน่ห์ปลายจวัก คาดว่าเคยแอบตกหลุมรักบิดาของโรเจอร์ พอไม่สมหวังก็เลยครองตัวเป็นโสด (เพื่อจักอยู่เคียงข้างเขา) ด้วยเหตุนี้จึงเอ็นดูโรเจอร์เหมือนบุตรชายแท้ๆ จนกระทั่งพอแก่ตัว ล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ยืนกรานจะเข้าพักอาศัยยังบ้านพักคนชรา

ช่วงที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่บ้านพักคนชราใหม่ๆ ไม่สิ่งใดๆอะไรๆถูกใจอาเตา (เพราะเคยเป็นคนเจ้าระเบียบ เจ้ากี้เจ้าการ อาหารการกินก็ไม่ค่อยถูกปาก) เคยครุ่นคิดอยากหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ไม่อยากสร้างปัญหาใดๆกับโรเจอร์ จึงยินยอมอดรนทน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถปรับตัว ปล่อยละวางหลายๆสิ่งอย่าง ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออยู่โดยไม่มีอะไรติดค้างคาใจอีกต่อไป

ผู้กำกับสวีอันฮัว ยืนกรานว่าบทบาทอาเตาต้องเป็นของเยี่ยเต๋อเสียน เพราะความสัมพันธ์บนจอเงินกับหลิวเต๋อหัว ช่วงหลังๆมักรับบทแม่-ลูก คือภาพจำที่ผู้ชมรุ่นเก่ายังคงตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

ไม่รู้ทำไมผมเห็นการแสดงของเยี่ยเต๋อเสียน ชวนหวนระลึกถึง Kirin Kiki (ในหลายๆผลงานผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda) ทั้งสองต่างเป็นหญิงแกร่ง มักอดกลั้นฝืนทนต่อความเจ็บปวด ไม่ต้องการแสดงด้านอ่อนแอให้ใครพบเห็น โดยเฉพาะลูกๆหลานๆ ปฏิเสธทำตัวเป็นภาระผู้อื่น จนบางครั้งดูดื้อด้าน เห็นแก่ตัว แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัว ยินยอมรับตามสภาพของตนเอง นั่นจักสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม

ฉากที่ต้องซูฮกเยี่ยเต๋อเสียนก็คือตอนป่วยอัมพาตครึ่งซีก นั่นเป็นการแสดงทางร่างกายที่ต้องใช้พลังอย่างมากๆ ใครเคยมีญาติล้มป่วย น่าจะพบเห็นความแนบเนียน สมจริงจนแยกไม่ออก ทำเอาผมรู้สึกใจหายวูบวาบ เต้นสั่นระริกรัว หวาดกลัวแทนตัวละคร มันช่างเป็นโรคที่มีความเสี่ยง ล้มมาทีเดินไม่ได้ ก็แทบตกตายทั้งเป็น

แต่ไฮไลท์ผมยกให้ช่วงท้ายก่อนเสียชีวิต เหมือนว่าตัวละครจะไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว พูดคุยสนทนาได้อีกต่อไป! เห็นนั่งอยู่บนรถเข็น ให้โรเจอร์ลากเที่ยวเล่นสวนสาธารณะ แต่สีหน้าดวงตาที่ยังขยับเคลื่อนไหว สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมา ราวกับต้องการพูดบอกออกมาว่า ‘ฉันไม่อยากเป็นภาระ แต่ก็ขอบคุณทุกสิ่งอย่าง’

แซว: เยี่ยเต๋อเสียน ให้สัมภาษณ์บอกว่าตนเองไม่ได้อยากเกษียณตัวเองเมื่อสิบกว่าปีก่อนหรอก แต่เหมือนถูกล็อบบี้จากใครบางคนเลยไม่ได้รับการติดต่อว่าจ้าง ซึ่งหลังจากความสำเร็จล้นหลามของ A Simple Life (2011) งานการก็เริ่มไหลมาเทมาอีกครั้ง แต่เลือกรับเฉพาะกับคนรู้จัก เท่าที่ร่างกายยังสู้ไหว

I was viewed by some in the business as a disobedient actress who loves to play the role of a director on set. I am also not great at networking. I guess these are the reasons why I haven’t been offered a lot of work.

เยี่ยเต๋อเสียนกล่าวถึงเหตุผลที่ห่างหายจากวงการบันเทิงไปกว่าสิบปี!

หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโรเจอร์ เหลียง, Roger Leung (梁羅傑 อ่านทับศัพท์ว่า เหลียงโรเจอร์) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ทั้งๆครอบครัวอพยพย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ตนเองยังคงปักหลักทำงานอยู่ฮ่องกง ส่วนหนึ่งเพราะพะวงกับอาเตา สาวใช้ที่เลี้ยงดูแลเขามาตั้งแต่เด็ก มีความสนิทสนมเหมือนพี่สาว จนกระทั่งวันหนึ่งทรุดล้มลง ตรวจพบป่วยอัมพาตครึ่งซีก ใจจริงต้องการพากลับมาอยู่บ้าน แต่เธอยืนกรานขออาศัยอยู่บ้านพักคนชรา เลยจัดหาสถานที่อยู่ใกล้ๆ แล้วแวะเวียนกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาส

นานๆๆครั้งจะได้เห็นหลิวเต๋อหัวรับบทคนธรรมดาๆ ไม่ต้องใช้พลังในการแสดงมากมาย แต่ถึงเล่นน้อยกลับมีความเข้มข้น เพราะตัวละครต้องซุกซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ภายใน เป็นห่วงเป็นใยอาเตา แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแต่ก็รู้สำนึกบุญคุณ อยากให้ความช่วยเหลือ ตอบแทนมากกว่านี้ แต่เธอก็ยืนกรานว่าเพียงพอแล้วละ

หนักสุดของอาหลิวคงเป็นขณะตัดสินใจ บอกหมอไม่ขอยื้อชีวิตเธอไว้ นั่นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวนะครับ แต่คือไม่อยากให้อาเตาต้องทนทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้ การปั๊มหัวใจถ้าฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช่ว่าทุกอย่างจะหวนกลับเป็นปกติ บางคนต้องนอน ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ รับประทานทางหลอดอาหาร ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหว นั่นไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น! … ปล่อยให้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนนั้นยังดีเสียกว่า!

ผมแอบรู้สึกว่าบทบาทนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่อาหลิวยินยอมควักเนื้อ ออกทุนสร้างให้ผู้กำกับสวีอันฮัว ก็ด้วยความรู้สำนึกบุญคุณ เพราะเธอคือบุคคลแรกที่ช่วยเหลือ ผลักดัน ความสำเร็จของ Boat People (1982) ถือว่าให้กำเนิดหลิวเต๋อหัวมาจนถึงทุกวันนี้!


ถ่ายภาพโดย Yu Lik-wai, 余力为 (เกิดปี 1996) ช่างภาพ/ผู้กำกับชาวฮ่องกง ไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังประเทศ Belguim จบจากสถาบัน INSAS (Institut National Superieur des Arts de Spectacle) กลับมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับเจี่ยจางเคอ ตั้งแต่ Pickpocket (1997), Still Life (2006), A Touch of Sin (2013) ฯลฯ นอกจากนี้ยังร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮุยอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1997), A Simple Life (2011), Our Time Will Come (2017)

งานภาพในช่วงแรกๆชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) มีการจัดให้เป็นระเบียบแบบแผน ราวกับกฎกรอบที่ห้อมล้อม บีบรัดจนสร้างความอึดอัด ทุกสิ่งอย่างต้องแม่นเปะ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หลังจากอาเตาทรุดล้มลง ป่วยโรคอัมพาตครึ่งซีก อะไรๆก็เริ่มผันแปรเปลี่ยนไป

ตั้งแต่นั้นมางานภาพของหนังเหมือนได้รับอิสระ คล้ายๆแนวคิดของ ‘Unchained Camera’ ใช้การถือกล้อง Hand-Held ขยับเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร หลายครั้งแทนมุมมองสายตา เมื่อตอนเข้าอาศัยในบ้านพักคนชรา แรกๆยังดูใคร่รู้ใคร่สงสัย กระวนกระวายใจ บรรยากาศน่าหวาดสะพรึงกลัวอยู่เล็กๆ จากนั้นค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพเป็นจริง ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติด ตระหนักว่าชีวิตไม่สามารถหวนกลับเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

หนังเริ่มถ่ายทำในช่วงวันตรุษจีนใช้เวลาเพียงสองเดือน โดยสถานที่หลักๆบ้านพักคนชราตั้งอยู่บริเวณ Mei Foo Sun Chuen ย่านอสังหาริมทรัพย์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาลูน (ตอนนั้นไม่หลงเหลือสลัมแล้วนะครับ) ส่วนอพาร์ทเม้นท์ของโรเจอร์ คืออพาร์ทเม้นท์จริงๆของโปรดิวเซอร์ Roger Lee หยิบยืมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของ พยายามตกแต่งให้เหมือนที่เขาเคยอยู่อาศัยเมื่อหลายปีก่อน

[Mei Foo Sun Chuen] is an unfamiliar Hong Kong. I think the residents and businesses in this place are full of warmth and humanity. Some people will think that the pace here is lazy, but I prefer it. There are more than 700 elderly homes in Hong Kong, 80% of which are privately run, with three types of large, medium and small scales. Staff and volunteers provide 24-hour care.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ฉากแรกของหนังถ่ายทำยังสถานีรถไฟ สัญลักษณ์ของการเดินทาง เหตุการณ์ในหนังคือตัวละครโรเจอร์ (หลิวเต๋อหัว) เหมือนกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน/อพาร์ทเม้นท์ ขณะที่ภาพวาดด้านหลังคือวิถีเซน ขุนเขาสูงตระหง่านคือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะ (หรือคือวัฎจักรชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ถ้าสามารถเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว จักทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติดอะไรหลายๆอย่าง

โดยปกติแล้วสถานีรถไฟควรจะมีผู้คนพลุกพล่าน แต่ช็อตนี้กลับมีเพียงโรเจอร์นั่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ใครคนอื่นๆ สมาชิกในครอบครัวล้วนอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา (นี่แอบล้อกับ Boat People (1982) เพราะอีกไม่กี่ปีฮ่องกงจะหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ เมื่อเวลานั้นมาถึงดินแดนแห่งนี้คงจะ …) ถึงอย่างนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ ทำให้เขายังมิอาจปล่อยละวางจากสถานที่แห่งนี้

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าฮ่องกงมีทะเลทรายด้วยเหรอ? แต่จากภาพที่หนังร้อยเรียงเข้ามานี้สะท้อนความแห้งแล้ว ฤดูใบไม้ร่วง หรือคือความตาย ไม่ใช่แค่สื่อถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือเรื่องราวของตัวละครที่กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่ยังฮ่องกงแห่งนี้ในช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลัง อีกไม่กี่ปีจักหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2049

อาเตาทำอาหารให้โรเจอร์ = ให้อาหารเจ้าเหมียว เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แม้เธอไม่สามารถลูบหัวเขาเหมือนเจ้าแมว แต่ก็สื่อถึงความรัก ความเอ็นดู เป็นห่วงเป็นใย

ไดเรคชั่นของทั้ง Sequence สังเกตว่าตัวละครแทบจะไม่พูดคุยสนทนา ทุกสิ่งอย่างมีความเป็นระเบียบแบบแผน พิถีพิถัน รักษาความสะอาด หรือแม้แต่การจัดวางจานยังให้ต้องสมมาตร (เมื่อมีจานที่สามก็ต้องจัดระเบียบใหม่) รวมถึงทิศทาง-มุมกล้องที่ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975)

การที่หนังใช้งบประมาณสูงถึง ¥30 ล้านหยวน (หมดไปกับค่าโปรดับชั่นเพียง ¥12 ล้านหยวน) ไม่ใช่ว่าหมดไปกับนักแสดงรับเชิญระดับบิ๊กๆๆเหล่านี้รึเปล่า ฉีเคอะ, หงจินเป่า, หวงชิวเชิง, ตู้เหวินเจ๋อ, กวนจินผิง, โปรดิวเซอร์ Raymond Chow หรือแม้แต่ Angelababy ฯลฯ แต่ลึกๆผมแอบดีใจนะที่(ตอนนั้น)หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายแข็งแรง ส่วนใหญ่ก็เข้าวัยเกษียณ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังรวมญาติๆของผู้กำกับสวีอันฮัว ในงานเลี้ยงแห่งการร่ำลา

เฮียหลิวก็ไม่ธรรมดานะ ตอนนั้นอายุย่างเข้า 50 ปี ก็ยังคงหล่ออมตะ

ลิ้นวัว เป็นส่วนที่หลายคนเข้าใจผิดว่าไขมันสูง คอเลสตอรอลสูง จริงๆแล้วกลับตารปัตรตรงกันข้าม เพราะส่วนประกอบหลักของลิ้นคือกล้ามเนื้อ จึงมีโปรตีนสูงกว่าไขมัน สามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะ, โลหิตจาง, วิตามินสูง (เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์และคนหลังผ่าตัด) ทั้งยังช่วยผลิตอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แต่การรับประทานก็ควรเพียงพอดีนะครับ เพราะจะส่งผลต่อตับไต ไทรอยด์ หอบหืด เกิดปัญหาการเผยผลาญในการลดน้ำหนัก และทำให้ภูมิคุ้นกันของผู้สูงวัยย่ำแย่ลง

ถ้าเป็นหนังที่ขายดราม่า ต้องการให้ผู้ชมบีบเค้นคั้นน้ำตา (Tearjerker) ก็มักมีฉากที่ตัวละครทรุดล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ดิ้นรนทนทุกข์ทรมาน แต่ไม่ใช่กับ A Simple Life (2011) ใช้เพียงภาษาภาพยนตร์ ตัดข้ามไปเลย หรือแค่เสียงบรรยายกล่าวถึงเท่านั้น ปฏิเสธนำเสนอให้เห็นด้านอ่อนแอของอาเตา … นี่สะท้อนถึงตัวผู้กำกับสวีอันฮัวได้ชัดเจนมากๆ

อย่างฉากนี้ตอนอาเตาทรุดล้มลงครั้งแรก (กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก) จะพบเห็นแค่เพียงเศษฝุ่นเข้าตา ขยี้หลายครั้งจนเริ่มผิดสังเกต แล้วก็ตัดไปตอนโรเจอร์กำลังลากกระเป๋ากลับอพาร์ทเม้นท์ วันนี้ดันหลงลืมกุญแจ เคาะประตูก็ไม่เสียงตอบ ผู้ชมสัมผัสถึงลางสังหรณ์อันเลวร้าย

อารมณ์ขันของผู้กำกับสวีอันฮัว มักมาในลักษณะตลกร้าย (Black Comedy) ตัวละครทำหน้าเคร่งเครียดจริงจัง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องไร้สาระ ผมละขำกลิ้งตอนอาหลิวอ่านคู่มือใช้เตาแก๊ส เครื่องซักผ้า (พออาเตาเข้าโรงพยาบาล เลยเริ่มตระหนักถึงความยุ่งยากลำบากในชีวิต) และตอนถูกทักผิดว่าเป็นพนักงานล้างแอร์ เพราะดันใส่เสื้อแจ็คเก็ตลายคล้ายๆเดียวกัน (ต่อให้ร่ำรวย ชื่อเสียงโด่งดัง อำนาจล้นฟ้า ก็ไม่แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่สามารถหลบหนีวัฎจักรชีวิต)

ทีแรกผมโคตรสงสัย ทำไมตอนโรเจอร์มาเยี่ยมไข้อาเตาถึงนั่งอยู่ซะไกล? นั่นเพราะหนังต้องการนำเสนอความแตกต่างระหว่างเจ้านาย-คนรับใช้ แม้พวกเขาสนิทสนมเรียกพี่สาว-หลานชาย แต่มันก็มีช่องว่าง ระยะห่าง เส้นแบ่งบางๆที่มองไม่เห็นกีดขวางกั้น … โรเจอร์อยากเข้าไปนั่งใกล้ๆแต่อาเตากวักมือขับไล่ ไม่อยากให้เขาต้องมาเสียเวลามาดูแลคนรับใช้อย่างตนเอง

หวงชิวเชิง (Anthony Wong) รับเชิญในบทเจ้าของธุรกิจบ้านพักคนชรา วางมาดเท่ห์ด้วยการสวมผ้าปิดตาข้างหนึ่ง (เหมือนจะล้อกับการล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีกของอาเตา) ซึ่งระหว่างกำลังพูดคุยสนทนากับเพื่อนเก่าโรเจอร์ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจนเห็นภาพเงาสะท้อนบนผนังกำแพง

ผมรู้สึกว่าทั้งการปิดตาและภาพสะท้อนนี้ เหมือนต้องการสื่อถึงธุรกิจบ้านพักคนชรา จริงอยู่ว่านี่คือวิธีแก้ปัญหาผู้สูงวัย แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนวิถีโลกยุคสมัยใหม่ ความเห็นแก่ตัวของลูกๆหลานๆ … ไม่เชิงว่าเป็นธุรกิจสีเทา แต่มันคาบเกี่ยวสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์

ความประทับใจแรก ‘First Impression’ ต่อบ้านพักคนชรา ผู้สูงวัยส่วนมากเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เอาแต่ใจ บางคนก็เริ่มป่ำๆเป๋อๆ ทำอะไรเซ่อๆซ่าๆ บางคนก็เก็บข้าวของอยากกลับบ้าน (หนังจงใจตัดต่อให้เหมือนอาเตากำลังเก็บเสื้อผ้า แต่แท้จริงแล้วคือใครคนอื่น) แต่ประตูที่ล็อกกุญแจ ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างจากเรือนจำ … นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงสภาพของประเทศเวียดนามใน Boat People (1982) ซึ่งเรายังสามารถเหมารวมถึงฮ่องกง(ขณะนั้น)ได้ด้วยเช่นกัน

ภายในบ้านพักคนชรา จะมีการปรับโทนสีให้ดูเหือดแห้งแล้ง คล้ายๆภาพทะเลทรายที่พบเห็นตอนต้นเรื่อง ให้เข้ากับสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ วัยใกล้โรยรา ไร้ซึ่งความสดชื่น/ชีวิตชีวา

เมื่อครั้นโรเจอร์เดินทางมาเยี่ยมเยียน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ คำตอบของอาเตากลับชื่นชมบ้านพักคนชราดีอย่างโน้น ดีอย่างนั้น สรรเสริญเยินยอปอปั้น แต่มันตรงกันข้ามจากความจริงโดยสิ้นเชิง!

ให้สังเกตภาพจากกระจกเงา โดยปกติควรจะเห็นเต็มตัว/เต็มหน้าตาเพื่อสะท้อนร่างกาย-จิตใจ ภายนอก-ใน แต่มุมกล้องนี้กลับพบเห็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่ง นั่นหมายถึงทั้งหมดที่พูดบอกไม่ตรงกับความรู้สึกภายใน เพียงการสร้างภาพ แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็งแกร่ง (ปฏิเสธแสดงด้านอ่อนแอของตนเองออกมา) … จริงๆสังเกตภาษากาย จะเห็นมือข้างที่ขยับได้ถูๆหน้าขาอยู่นั่น แสดงถึงความกังวล หวาดหวั่นวิตก ไม่อยากจะพูดความจริงออกมา

นี่ถือเป็นอีกตลกร้ายของหนัง แต่ก็ชักชวนทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดในแง่มุมกลับตารปัตร เพราะโดยปกติแล้วบ้านพักคนชรา ก็ตามชื่อคือที่อยู่อาศัยของคนชรา แต่มันยังรวมถึงบุคคลไม่สามารถพึ่งพาตนเอง มารดาสูงวัยไม่อาจดูแลบุตรสาวเลยส่งตัวมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะมีพยาบาล/ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้สูงวัยที่ร่วมแสดงในหนัง ส่วนหนึ่งก็มาจากบ้านพักคนชราจริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มนักแสดงผู้สูงอายุ เลือกมา 8 คนที่มีบทบาทเล็กๆ ไม่เคอะเขินหน้ากล้อง … เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลก็พบว่า ฮ่องกงมีคณะละครเวทีสำหรับผู้สูงวัยอยู่จริงๆ แต่จุดประสงค์หลักๆไม่ได้เน้นเงินๆทองๆ ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ค้นพบศักยภาพตนเอง ‘อายุก็แค่ตัวเลข’

เมื่ออาเตาอาศัยอยู่บ้านพักคนชรามาระยะหนึ่ง ก็สามารถปรับตัวเอง ยินยอมรับสภาพความจริง ร่างกายที่เคยล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ก็ทำกายภาพบำบัดจนอาการดีขึ้นมากๆ จนสามารถเย็บกระดุมเสื้อให้เพื่อนสูงวัย (=ซ่อมแซมร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ) เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมีโอกาสหวนกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ อาเตาก็ตรงไปรื้อค้นสิ่งข้าวของ ทบทวนหวนระลึกความหลัง อาทิ จักรเย็บผ้า (ยี่ห้อคนโสด Singer) เงินค่าจ้างครั้งแรก ผ้าคลุมผืนเก่า รูปถ่ายสมัยยังสาว ฯลฯ เหล่านี้แสดงถึงความหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับอดีต หลายสิ่งอย่างคือความทรงจำฝังใจ ยังไม่สามารถปล่อยละวางได้โดยง่าย

มันแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะมองจากมุมกล้องทิศทางไหน ในการค้นหาคนรับใช้ที่พร้อมมุ่งมั่นทุ่มเททุกสิ่งอย่างเหมือนอาเตา แต่ละคนต่างก็มีข้อเรียกร้อง ความต้องการของตนเอง ซึ่งสะท้อนค่านิยม’ปัจเจกบุคคล’ของยุคสมัยปัจจุบัน … การสัมภาษณ์งานในร้านอาหารแห่งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน (ก่อนหน้านี้ตอนโรเจอร์และอาเตามารับประทานอาหาร เด็กเสิร์ฟก็ดูไม่ยี่หร่าอะไรลูกค้าสักเท่าไหร่)

เมื่อพบเห็นคู่แต่งงานใหม่มาถ่ายรูปในสวนสาธารณะ โรเจอร์กับอาเตาก็เลยเปิดประเด็นสนทนา ทำไมอีกฝั่งไม่ยินยอมแต่งงาน? ซึ่งถ้าสังเกตบุคคลที่อยู่ในความสนใจของแต่ละฝ่าย ล้วนสะท้อนชนชั้น วิทยฐานะ มีความเหมาะสมเข้ากันดี

  • อาเตา ประกอบด้วยคนขายผัก (greengrocer), พ่อค้าปลา (fish-stall owner), ช่างตัดเย็นเสื้อผ้า (haberdasher) … ล้วนคือชนชั้นทำงาน (Working Class)
  • โรเจอร์ คือหญิงสาวจบด็อกเตอร์ตอนอายุ 24 ย่อมถือเป็นชนชั้นกลาง (Medium Class)

สำหรับเหตุผลการไม่แต่งงานของอาเตา ก็ชัดเจนจากปฏิกิริยาที่เธอแสดงออกมา ว่าแอบชื่นชอบบิดาของโรเจอร์ แต่เพราะความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ ยุคสมัยนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงไม่มีทางเป็นได้อย่างแน่นอน!

เป็นความจงใจโคตรๆที่เพื่อนชายผู้สูงวัยมาขอยืมเงินอาเตา (หลังจากฉากที่โรเจอร์กับอาเตาสนทนาเรื่องการแต่งงาน) ในครั้งแรกกล้องถ่ายแบบแอบๆ ปรับโฟกัสให้รอบข้างเบลอๆ (สื่อถึงยังไม่เข้าใจว่าจะหยิบยืมเงินเอาไปทำอะไร) แต่ครั้งที่สองเมื่อเปลี่ยนมาขอยืมเงินจากโรเจอร์ แอบติดตามไปพบเห็นว่ากำลังซื้อบริการโสเภณี

ครั้งที่สามระหว่างเทศกาลกลางปี ชายคนนี้มาขอยืมเงินครั้งที่สามด้วยการยืนอยู่กึ่งกลางระหว่าง ขณะที่โรเจอร์แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ไม่อยากให้หยิบยืมเงิน แต่อาเตากลับบอกว่าให้ๆไปเถอะ สงเคราะห์คนชรา ตอนนี้ยังทำอะไรได้ก็ทำไป พอตกตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีโอกาสทำสิ่งนั้นๆได้อีก … ซึ่งหลังจากการจากไปของอาเตา ชายคนนี้ยังคงพยายามหาผู้ใจบุญคนใหม่ แต่ก็ไม่มีใครช่วยสงเคราะห์เขาอีกต่อไป

เมื่อมารดาของโรเจอร์มาเยี่ยมเยียนอาเตา ก็นำเอาของฝากหลายๆอย่างมอบให้ นอกจากของกินยังมีอีกสองสิ่งน่าสนใจ

  • ถุงเท้า คือสัญลักษณ์ที่แสดงชนชั้นฐานะของอาเตา ในฐานะคนรับใช้ตระกูลเหลียง
  • แต่ต่อมากลับมอบผ้าพันคอของตนเอง ผมมองถึงการยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความเสมอภาคเท่าเทียม

ขณะที่ผู้สูงวัยคนอื่นๆเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดปีใหม่ (น่าจะคือตรุษจีนนะครับ ไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่สากล) แต่สำหรับอาเตาไม่มีบ้านให้กลับ โรเจอร์ก็อยู่กับสมาชิกครอบครัวอื่นๆ เธอจึงมาเดินเที่ยวเล่นงานเทศกาล ทีแรกตั้งใจจะซื้อกังหันที่แขวนอยู่ด้านบนแต่ราคาสูงเกิน เลยสอบถามราคาอีกอันที่วางอยู่ข้างล่าง นี่เช่นกันแอบสะท้อนวิทยฐานะ อาชีพคนรับใช้ได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ … การนั่งอยู่คนเดียวภายนอกรั้วกั้นก็เช่นกัน เป็นการแบ่งแยกตนเองจากผู้อื่น โลกภายนอก ตึกระฟ้าสูงใหญ่

ฟันแท้ คือสิ่งที่ถ้าสูญเสียไปแล้วไม่มีทางงอกเงยขึ้นใหม่ นอกเสียจากจะทำฟันปลอม แต่ถึงอาเตาไม่ยินยอม โรเจอร์กลับบีบบังคับให้ต้องทำ … ผมมองนัยยะของการทำฟันปลอม คือความพยายามยื้อชีวิต ต่อลมหายใจ ต้องการให้เธอยังอยู่ต่อไปอีกสักพัก อย่างน้อยหลังฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ โปรดดูให้จนจบ Ending Credit

เช่นเดียวกับตอนที่มารดาของโรเจอร์ พาอาเตาขึ้นไปยังอพาร์ทเมนท์ (ที่ขับไล่คนไร้บ้านออกไป) มอบให้เป็นสถานที่อยู่อาศัย (คงเผื่อว่าเมื่ออาการดีขึ้น ออกจากบ้านพักคนชราก็จักมาอาศัยอยู่ห้องหับนี้) และดื่มน้ำสร้างความกระชุ่มกระชวย (สามารถสื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ได้เช่นกัน) … แต่เหมือนหนังจะรวบรัดตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเลยนะ ไม่รู้อาเตายังคงอยู่บ้านพักคนชรา หรือตกลงย้ายมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

ฉันอยากกินห่านย่าง ล้อกับตอนต้นเรื่องที่โรเจอร์เรียกร้องให้อาเตาทำลิ้นวัว! แต่สภาพของเธอตอนนี้หลังทรุดล้มลงครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ทำให้ร่างกายกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว สื่อสารด้วยคำพูดแทบจะไม่ได้อีกต่อไป … หลงเหลือเพียงสีหน้า สายตา และเขย่าร่างกายให้สั่นๆ พยายามบอกกับเขาไม่ต้องเป็นห่วงฉัน แต่สภาพนี้ใครกันจะไม่รู้สึกเศร้าสลดเห็นใจ

หลังจากนี้มันจะมีช็อตที่โรเจอร์เดินเอาทิชชู่ไปทิ้งถังขยะ นั่นคือมุมมองของอาเตาต่อสภาพตนเองขณะนี้ ไม่ต่างจากเศษขยะที่กำลังจะถูกทิ้ง กลายเป็นภาระให้ผู้อื่น … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งโรเจอร์ครุ่นคิดเลยนะครับ ระหว่างเดินกลับจากถังขยะ สังเกตดีๆจะพบว่ามือข้างหนึ่งถือธนบัตร น่าจะกำลังไปซื้อห่านย่างมาให้รับประทานอย่างแน่นอน

หลังจากที่อาเตาเข้าโรงพยาบาล อาการถือว่าหนัก แม้โรเจอร์เหมือนไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียด อึดอัดอั้น กล้ำกลืนรับประทานบะหมี่สำเร็จรูปตั้งแต่กลางวันจนยามค่ำคืนก็ยังเห็นถ้วยโฟมวางอยู่ ก่อนคุยโทรศัพท์และบอกกับหมอถึงการตัดสินใจของตนเอง

สังเกตมุมกล้องตั้งแต่ที่โรเจอร์ได้ครุ่นคิดตัดสินใจ มีการถ่ายให้อะไรบางอย่างถูกบดบัง ปรับโฟกัสเบลอๆ มืดดำ แทนถึงสภาพจิตใจตัวละครที่กำลังสูญเสียบางอย่างไป

นี่น่าจะเป็นถุงเท้าคู่ที่มารดา(ของโรเจอร์)มอบให้อาเตา แม้จะถือว่าเป็นสิ่งของต่ำ สัญลักษณ์ของคนรับใช้ แต่สำหรับเขามันคือความภาคภูมิใจที่ได้รู้จัก สนิทสนม มีเธอคอยอยู่เคียงชิดใกล้ตั้งแต่เกิด สิ่งที่สามารถกระทำได้ขณะนี้ก็มีเพียงปัดผมให้ดูดี สวมถุงเท้าให้เรียบร้อย ครั้งสุดท้ายก่อนร่ำลากจากกัน

Reunions and partings are equally hard
The listless east wind, the withered blooms
The silkworm spits out silk until its death
The candle weeps tears until it gutters out
The mirror in the morning reflects wispy hairs
The chill evening moonlight, declaiming poems
No road to the magic mountain…
The eager bluebird quests in search

หลี่ชางหยิน, 李商隱 (ค.ศ. 813-858) นักกวีสมัยราชวงถัง

หลี่ชางหยินตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ไม่สามารถพูดบอก เปิดเผยความสัมพันธ์สู่สาธารณะ จึงทำได้เพียงพรรณาความรู้สึกออกมาเป็นบทกวี ตั้งชื่อว่า 无题 (แปลว่า Untitle) 相见时难别亦难 (ท่อนแรกของบทกวี ยากที่จะพบเจอ ยากที่จะพลัดพรากจาก)

ระหว่างที่ชายสูงวัยคนหนึ่งรำพันบทกวีนี้ออกมา ก็ปรากฎภาพเถาวัลย์เลื้อยเกาะแก่งบนกำแพงปูน พวกมันพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดๆ เพื่อเสาะแสวงหาผืนแผ่นดินสำหรับดำรงชีพรอด แต่ทุกสรรพชีวิตเมื่อถึงจุดๆหนึ่งย่อมต้องตกตาย พลัดพรากจากกันไป คือสัจธรรมที่ไม่มีใครหลบลี้หนีพ้น

ปัจฉิมบทของหนังหลังจากพิธีศพ โรเจอร์กำลังเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ อาเตาที่ควรตกตายไปแล้วกลับปรากฎมาให้เห็นอีกครั้ง? ได้ยังไงกัน? ผมมองว่าเธอคือวิญญาณที่ยังคงล่องลอย ห่วงหวงหา เลยหวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (เป็นผีเฝ้าบ้าน) อาจคือสถานที่สุขคติ(ของอาเตา)ก็เป็นได้กระมัง

ผมไม่ค่อยอยากตีความประเด็นการเมืองของหนังสักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้จงใจแทรกใส่เข้าไปตรงๆ เพียงสิ่งที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิด มองในแง่มุมสภาพของฮ่องกง หลงเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนหวนกลับสู่จีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2046 ใครร่ำรวยมั่งมี ก็สามารถอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศอื่นที่มีความมั่นคง (อย่างสหรัฐอเมริกา) แต่สำหรับหลายๆคนก็คงต้องสู้ชีวิตต่อไป พึงพอใจในสิ่งที่มี อะไรจะเกิดมันก็เกิด อีกไม่นานก็ตกตาย หวังว่าฉันคงไม่มีลมหายใจอยู่ถึงตอนนั้น … แต่ก็ไม่แน่หรอกนะ

ตัดต่อโดย Wei Shufen, 韦淑芬 และ Kwong Chi-leung, 鄺志良 รายหลังมีผลงานเด่นๆอย่าง Painted Faces (1988), King of Beggars (1992), Chungking Express (1994), Ashes of Time (1994), Comrades, Almost a Love Story (1996), Perhaps Love (2005), Cold War (2012) ฯลฯ และร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1999), July Rhapsody (2001), A Simple Life (2011) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของโรเจอร์และอาเตา เคียงคู่ขนานกันไป ซึ่งเราสามารถมองทั้งสองเรื่องราวให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันก็ยังได้

  • เรื่องราวของโรเจอร์ กำลังตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ต่อรองผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ จนแล้วเสร็จสิ้น ฉายรอบปฐมทัศน์
  • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ต้องเกษียณตัวจากการเป็นแม่บ้าน(ของโรเจอร์) เข้าพักยังสถานคนชรา ปล่อยละวางกับช่วงสุดท้ายของชีวิต

ผมของแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 องก์ โดยใช้ชื่อตามโปรดักชั่นภาพยนตร์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเรื่องราว

  • ตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ (Pre-Production)
    • แนะนำโรเจอร์กับอาเตา วิถีของเจ้านาย-สาวรับใช้
    • โรเจอร์ประชุมเตรียมงานสร้างกับผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์
    • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ตัดสินใจเกษียณจากการทำงาน ขอไปอยู่ยังบ้านพักคนชรา
    • โรเจอร์ออกแสวงหาบ้านพักคนชราให้อาเตา (=Scounting Location ออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์)
  • ช่วงเวลาถ่ายทำ (Production)
    • อาเตาย้ายเข้ามายังบ้านพักคนชรา ช่วงแรกๆยังมีความหวาดหวั่นกลัว เต็มไปด้วยอคติ ไม่มีอะไรได้ดั่งใจ เคยครุ่นคิดจะหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพความจริง สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
    • โรเจอร์ (และมารดาของโรเจอร์) เดินทางมาเยี่ยมเยียนอาเตาบ่อยครั้ง พาไปรับประทานอาหาร แวะเวียนกลับอพาร์ทเม้นท์ พร้อมให้การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกทุกสิ่งอย่าง
  • การฉายรอบปฐมทัศน์ และหลังจากนั้น (Premiere & Release)
    • โรเจอร์พาอาเตามารับชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ พบปะดาราดังมากมาย
    • นำเสนอบั้นปลายชีวิตของอาเตา จนกระทั่งทรุดล้มลงอีกครั้ง คราวนี้ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก เฝ้ารอคอยวันตาย และพิธีศพหลังจากนั้น

จริงๆมันควรจะมีหลังการถ่ายทำ (Post-Production) แต่ผมไม่รู้จะแทรกใส่ตรงไหน เพราะรอบฉายปฐมทัศน์ (Premiere) มาเร็วเกินไปมากๆ ช่วงองก์สามเลยเยิ่นเย้อยืนยาวพอสมควร … นี่ทำให้ผมแอบครุ่นคิดว่าหนังอาจมี Director’s Cut เพราะเหมือนตัดต่ออะไรๆหายไปค่อนข้างเยอะ (แต่แค่นี้หนังก็สมบูรณ์อยู่นะครับ ความยาว 118 นาทีถือว่ากำลังดีด้วย)


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

งานเพลงของ Law Wing-Fai จะไม่มีความหวือหวาเท่า Boat People (1982) แต่เน้นความเรียบง่าย (แบบชื่อหนัง) ด้วยการบรรเลงเปียโนนุ่มๆ บางครั้งคลอประกอบเครื่องสาย และเครื่องเป่า (เน้นใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น) เพื่อมอบบรรยากาศเศร้าๆ เหงาๆ รู้สึกโหวงเหวงวังเวง เหมือนกำลังจะสูญเสียบางสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันก็มีความซาบซึ้ง อิ่มเอิบหัวใจ ฟังแล้วผ่อนคลาย ขอบคุณที่ได้รับรู้จักกัน

ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าองก์แรกของหนัง (ไม่นับอารัมบท & Opening Credit) แทบไม่มีการใช้บทเพลงประกอบใดๆ เพราะความเงียบงันสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด นั่นคือความตั้งใจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างโรเจอร์กับอาเตา วิถีชีวิตพวกเขาไม่ต้องสื่อสารก็สามารถรู้ใจกันและกัน

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะการบรรเลงเปียโนช่วงต้นเรื่อง และเสียงโอโบช่วงท้าย (เหมือนจะบทเพลงเดียวกันนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนจิตวิญญาณ(ของอาเตา)ยังคงล่องลอยอยู่เคียงชิดใกล้โรเจอร์ ไม่ได้เหินห่างไกลไปไหน ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย รักและปรารถนาดี โปรดอย่าเศร้าโศกเสียใจกับการจากไป อีกไม่นานเราคงได้พบเจอกันอีก


คนรับใช้ (Maid) คืออาชีพที่สังคมไหนๆ ประเทศใดๆ คนส่วนใหญ่มองว่าต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ความเสมอภาคเท่าเทียมกับเจ้านาย/สมาชิกอื่นๆในครอบครัว เพียงคนนอกที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยร่วมชายคาเดียวกัน คอยปรนปรนิบัติรับใช้ ดูแลกิจการงานบ้านให้มีความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

แต่การจะเป็นคนรับใช้ที่ดีได้นั้น ต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละอุทิศตนเอง เรียนรู้สะสมประสบการณ์ทำงาน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งถึงได้รับการให้เกียรติ เสมอภาคเท่าเทียม แบบเดียวกับ A Simple Life (2011) อาเตาทำงานโดยไม่ขาดตกบกพร่องมานานกว่า 60 ปี มีความสนิทสนมชิดใกล้กับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะโรเจอร์ถึงขนาดได้รับคำเรียกพี่สาว-หลานชาย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีช่องว่าง ระยะห่าง การแบ่งแยก(ชนชั้น)ระหว่างเจ้านาย-บ่าวรับใช้ โลกทัศนคติบางอย่างไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป

ทางฝั่งโรเจอร์ แม้ต้องการให้ความช่วยเหลือ พร้อมว่าจ้างพยาบาล คนรับใช้ ให้อยู่อพาร์ทเม้นท์หลังใหม่ แต่อาเตากลับปฏิเสธดื้อดึงดัน ไม่ต้องการทำตัวเป็นภาระ เขาจึงไม่สามารถทำอะไรนอกจากส่งเธอไปบ้านพักคนชรา แล้วแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยๆครั้ง … เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เขาจึงมิอาจบีบบังคับ ทุ่มเทตนเองให้กับเธออย่างเต็มร้อย แต่ก็มากสุดเท่าที่จะให้ได้

สำหรับอาเตา แม้อ้างว่าไม่ต้องการเป็นภาระกับโรเจอร์ แต่จริงๆมองตนเองคือคนรับใช้ต้อยต่ำด้อยค่า ไม่สมควรได้รับสิทธิ์ดูแลเอาใจใส่จาก(อดีต)เจ้านาย ให้ความช่วยเหลือเท่านี้ก็มากเกินเพียงพอ ไม่ต้องแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยครั้งก็ได้ … แต่ถึงพูดบอกออกมาเช่นนั้น อาเตาก็เฝ้ารอคอยวันที่โรเจอร์จะหวนกลับมาเยี่ยมเยียนหา กลายเป็นช่วงเวลาเล็กๆแห่งความอิ่มสุข ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

บ้านพักคนชรา คือวิธีการแก้ปัญหาหนึ่งของโลกยุคสมัยนี้ เมื่อลูกหลานไม่มีเวลา ไม่สามารถดูแลบิดา-มารดา ญาติพี่น้อง ผู้สูงวัย หรือบุคคลผู้พึ่งพาตนเองไม่ได้ (รวมถึงเด็กเล็กก็ด้วยนะ) เลยต้องไปฝากขังไว้ยังสถานรับเลี้ยง จ่ายเงินให้ผู้คุมช่วยดูแล ไม่ต้องห่วงหาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง

โลกทัศน์ของคนยุคสมัยนี้ การส่งผู้สูงวัยสู่สถานคนชรา (หรือเด็กเล็กสู่สถานรับเลี้ยง) ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายประการใด นั่นคือสิ่งที่ใครๆต่างกระทำกัน เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ความสะดวกสบาย อาจปลอดภัยกว่าอาศัยอยู่บ้านเสียด้วยซ้ำ (เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ/คนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง) แต่มันก็ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ บุพการีของเราเองแท้ๆ ทำไมต้องว่าจ้างคนอื่นให้เลี้ยงดูแล ไม่รู้จักความกตัญญูรู้คุณเลยหรืออย่างไร?

นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่แนวความคิดของสองฟากฝั่ง โต้ถกเถียงกันอย่างเมามันส์ ไม่มีถูก<>ไม่มีผิด แต่ผมแนะนำให้ถามใจตนเองดูนะครับว่า เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คุณยังอยากที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านพักคนชราหรือเปล่า? ผมคนหนึ่งละที่ขอไปบวชเสียดีกว่า

มันไม่จำเป็นว่าหลังเลิกสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งใจจะเกษียณตนเองแล้วมาอยู่อาศัยยังบ้านพักคนชรานะครับ เธอสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนแนวความคิด ค่านิยมคนสมัยใหม่ รวมถึงนำเสนอความเป็นไปได้ของบั้นปลายชีวิต เรียนรู้จักสถานที่ชื่อว่าบ้านพักคนชรา (เรียกเล่นๆภาพยนตร์โปรโมท/แนะนำสถานคนชรา) แก่แล้วไม่รู้ลูกหลาน ญาติพี่น้องให้พึ่งพา ก็เดินทางมายัง The Ballad of Narayama (1958/83) กันดีกว่า!

ผมอดไม่ได้จริงๆกับภาพยนตร์มาสเตอร์พีซ The Ballad of Narayama มีอยู่สอบฉบับ Keisuke Kinoshita (1958) และ Shōhei Imamura (1983) บ้านพักคนชราดูไม่แตกต่างจากเทือกเขา Narayama สถานที่เฝ้ารอความตายของผู้สูงวัย บางคนอาจบอกไม่เห็นเหมือนกันตรงไหน แต่ถ้าคุณเกิดความตระหนักรู้แจ้งเมื่อรับชม จิตสามัญสำนึกก็จักถือกำเนิดขึ้นโดยทันที!

ฉากสุดท้ายชีวิตในความคาดหวังของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็คือสิ่งที่นำเสนอผ่านตัวละครอาเตา หลังเกษียณคงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ จากนั้นค่อยๆปล่อยละวางทีละอย่าง สองสามอย่าง อะไรทำได้ก็ทำ ได้แค่ไหนแค่นั่น ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกังวล อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด สักวันหนึ่งทุกคนต้องตกตาย ขอแค่อย่าเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และไปสู่สุขคติก็เพียงพอแล้วละ


ด้วยทุนสร้าง ¥30 ล้านหยวน (=$5.4 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินในจีนแผ่นใหญ่ ¥69.33 ล้านเยน รายทั่วโลกถือเป็นกำไร กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุดของผู้กำกับสวีอันฮัวโดยปริยาย

  • ฮ่องกงทำเงินได้ HK$27.8 ล้าน (= $3.59 ล้านเหรียญ)
  • ไต้หวันทำเงินเกินว่า NT$60 ล้าน (= $1.9 ล้านเหรียญ)
  • ประเทศไทยใช้ชื่อ “แค่เธอยิ้ม หัวใจก็อิ่มรัก” รายได้ประมาณ 300,000 กว่าบาท

เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แม้พ่ายรางวัล Golden Lion ให้กับ Faust (2011) แต่ยังสามารถคว้ารางวัลอื่นๆมากที่สุดของเทศกาลปีนั้น

  • Volpi Cup for Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
  • Equal Opportunities Award
  • Signis Award – Honorable Mention
  • La Navicella Award

หนังยังได้ตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปีก็กวาดรางวัลมากมายจากหลายๆสถาบันทางฝั่งเอเชีย

  • Asian Film Awards
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว)
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
    • Lifetime Achievement Award มอบให้ผู้กำกับสวีอันฮัว
  • Hong Kong Film Awards
    • Best Film **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (ฉินเพ่ย)
    • Best Supporting Actress (ฉินไห่ลู่)
    • Best Screenplay **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
  • Golden Horse Awards
    • Best Film
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Screenplay
    • Best Film Editing

เกร็ด: ช่วงระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หลิวเต๋อหัวเขียนไดอารีส่วนตัว บันทึกประสบการณ์ทำงาน สิ่งต่างๆที่สังเกตเห็น รวมถึงภาพถ่ายเบื้องหลัง ตอนแรกตั้งใจจะโพสขึ้นบล็อกเพื่อแชร์บนเว็บไซต์แฟนคลับ แต่ไปๆมาๆตัดสินใจรวมเล่ม My 30 Work Days: Diary of Shooting A Simple Life ตีพิมพ์ปี 2012

ผมค่อนข้างชอบหนังนะ แต่ไม่ชอบหลายๆสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง มันสะท้อนค่านิยม/จิตสำนึกแย่ๆของคนยุคสมัยนี้ ทำเหมือนผู้สูงวัยคือปัญหา ภาระบุตรหลาน เมื่อมีเงินแต่ไม่มีเวลา ก็ส่งไปบ้านพักคนชรา ปล่อยให้เฝ้ารอคอยวันตายอย่างเยือกเย็นชา … เป็นสถานที่ที่ไม่ต่างจาก The Ballad of Narayama (1958/83) ของโลกปัจจุบัน!

ปัญหาของโลกยุคสมัยนี้คือ ‘จิตสำนึก’ ที่สูญหาย เพราะฉันต้องไปทำงาน ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ไม่มีเวลาว่างดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว จึงผลักภาระไปให้บ้านพักคนชรา ใช้เงินในการแก้ปัญหา … นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนหนุ่ม-สาว น่าจะสร้างสามัญสำนึกต่อพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ผู้สูงวัยในครอบครัว เรียนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ ตอบแทนท่านในสิ่งที่เหมาะสมควร และขอให้เป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ ถ้าคิดจะส่งพวกท่านไปบ้านพักคนชรา (ไม่ได้จะบอกว่าสถานที่นี้ไม่ดี แต่มันคือ’จิตสำนึก’ของลูกหลานควรจะดูแลบุพการี ไม่ใช่ปล่อยทิ้งขวางให้เป็นภาระผู้อื่น)

แซว: ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนหนังเรื่องนี้ให้ตีพิมพ์วันแม่นะครับ เป็นความบังเอิญอย่างพอดิบพอดี ซึ่งแม้อาเตาไม่ใช่มารดาแท้ๆของโรเจอร์ แต่สัมพันธภาพพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่หรอก

จัดเรต 13+ กับความเครียด ดื้อด้าน เอาแต่ใจของผู้สูงอายุ

คำโปรย | A Simple Life ชีวิตไม่ง่ายของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่เมื่อถึงเวลาก็ควรปล่อยละวางจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด
คุณภาพ | ล่
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: