Bright Future (2003) : Kiyoshi Kurosawa ♥♥♥♥
แมงกะพรุน ถูกจับมาเลี้ยงในตู้ปลา มันคงโหยหา คร่ำครวญ อยากหวนกลับสู่มหาสมุทร เปรียบเทียบดั่งหนุ่ม-สาว คนรุ่นใหม่ ต่างถูกบริบททางสังคมกดทับ พยายามปรับตัวเข้าหา กลับสร้างความขัดแย้ง แล้วเมื่อไหร่จะพบเจออนาคตสดใส, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
In Bright Future I wanted to express the contents as the title suggests. Even though there are many negative elements in the film, in the end it becomes positive, just like the jellyfish that emerge from dark water. The audience wonders how they can find positivity amidst all this darkness, which is exactly what I wanted them to feel.
Kiyoshi Kurosawa
ถึงตอนเรียนชีววิทยาผมจะได้แค่เกรด 2 แต่มันเป็น ‘Common Sense’ ที่สัตว์น้ำทะเล (Saltwater) ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับน้ำจืด (Freshwater) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมงกะพรุน (Jellyfish) ขึ้นชื่อเรื่องเป็นสัตว์เลี้ยงโคตรยาก ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่เทเกลืออย่างเดียวจบ ต้องควบคุมระดับความเค็ม อุณหภูมิ ออกซิเจน อาหารการกิน ฯ อะไรอีกไม่รู้มากมาย แล้วจู่ๆกลับสามารถแหวกว่ายในคูคลองที่เต็มไปด้วยมลพิษอีกต่างหาก! … หรือมันเป็นแมงกะพรุนคนละสายพันธุ์?
ผมรับชมผลงานของผกก. Kurosawa มาสามสี่เรื่อง แม้คุณภาพระดับปรมาจารย์ แต่การใช้สิ่งสัญลักษณ์ ตรรกะบางอย่างแม้งโคตรเลอะเทะ เละเทะ ก็ต้องอดกลั้นฝืนทนเพราะมันเป็น ‘Artistic Choice’ ที่ผู้ชมต้องปรับตัวเข้าหา โยนสามัญสำนึกทิ้งไป ถึงสามารถพบเห็นสรวงสวรรค์รำไร
Bright Future (2003) เป็นภาพยนตร์ที่ผมไม่เคยครุ่นคิดจะเขียนถึงมาก่อน จนกระทั่งระหว่างค้นหาว่า Cure (1997) ติดชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของค่ายไหนบ้าง แล้วบังเอิ้ญพบเจอหนังเรื่องนี้ …
- Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made (2009) ติดอันดับ #103
- เทศกาลหนัง Busan: Asian Cinema 100 Ranking (2015) ติดอันดับ #108
เห้ย! แอบตกใจ คาดไม่ถึง เพราะหนังไม่เคยอยู่ในความสนใจ คะแนน IMDB.com ก็แค่ 6.7 เหตุไฉนนักวิจารณ์เอเชียกลับยกยอปอปั้นขนาดนั้น? พอรับชมหนังจบ บังเกิดรอยยิ้ม รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ แนะนำเลยว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่น คนหนุ่ม-สาว น่าจะสร้างกำลังใจให้ชีวิตอย่างมากๆ
Kiyoshi Kurosawa, 黒沢 清 (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะสังคมวิทยา Rikkyo University ระหว่างนั้นได้เป็นสมาชิกกลุ่มภาพยนตร์สมัครเล่น Parodias Unity ร่วมกับ Tatsuya Mori และ Akihiko Shiota ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีภาพยนตร์ของนักวิจารณ์ Shigehiko Hasumi (ที่รับอิทธิพลมาจาก French New Wave) เริ่มต้นสรรค์สร้างหนังสั้น 8mm, ก่อนได้งานผู้ช่วยกองถ่าย The Man Who Stole the Sun (1979), ผู้ช่วยผู้กำกับ Sailor Suit and Machine Gun (1981), กำกับหนังแนว Pink Film เรื่องแรก Kandagawa Pervert Wars (1983), ติดตามด้วย The Excitement of the Do-Re-Mi-Fa Girl (1985), Sweet Home (1989), The Guard from Underground (1992), ช่วงต้นทศวรรษ 90s ใช้เวลาว่างๆพัฒนาบทหนัง Charisma แล้วได้รับทุนการศึกษาจากสถาบัน Sundance Institute จึงมีโอกาสเดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยังสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาไม่สามารถหางานในวงการ เลยผันตัวเข้าสู่ V-Cinema (Vシネマ) สำหรับส่งตรงลง Home Video (Direct-to-Video) เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ สะสมชื่อเสียงจนสามารถยื่นขอทุนสร้าง Cure (1997), License to Live (1998), Charisma (1999), Séance (2000), Pulse (2001) ฯ
เกร็ด: Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Akira Kurosawa
หลังจาก Charisma (1999) และ Pulse (2001) ต่างจบลงด้วยหายนะ วันสิ้นโลก โลกาวินาศ ผกก. Kurosawa เลยครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่จุดประกายความหวัง ดั่งชื่อหนัง アカルイミライ อ่านว่า Akarui Mirai แปลตรงตัว Bright Future
ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับความหวัง อนาคตสดใส ย่อมต้องเกี่ยวกับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว เติบโตในสังคมที่ถูกกดทับ โดนบีบบังคับให้ต้องทำโน่นนี่นั่น ครอบงำด้วยบรรทัดฐานทางสังคม นั่นคือสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ควรครุ่นคิดทบทวนอย่างจริงจัง วิธีการดังกล่าวมันถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า?
I directed Bright Future driven by the idea that I had to confront myself with something that I hadn’t been facing so far: the representation of youth, of young people who feel oppressed by the society in which they live.
Kiyoshi Kurosawa
เกร็ด: ช่วงระหว่างพัฒนาบทหนัง ผกก. Kurosawa มีโอกาสรับชม Nénette and Boni (1996) กำกับโดย Claire Denis แม้พล็อตเรื่องไม่ได้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่จิตวิญญาณวัยรุ่นหัวขบถ ความต้องการเป็นอิสระจากขนบวิถีทางสังคม นั่นคือสิ่งสากลเหมือนกันทั้งโลก!
I had already starting to work on it when I watched Claire Denis’s Nénette and Boni. Denis manages to represent, with such precision, these young people who are out of step with their environment. I was quite surprised by this film, and I thought to myself: ‘Ah, interesting, in France they dare to actually do that!’ To me, Denis’s film was genuinely encouraging.
เรื่องราวของ Yûji Nimura (รับบทโดย Joe Odagiri) และ Mamoru Arita (รับบทโดย Tadanobu Asano) เป็นเพื่อนสนิทสนม ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ต่างทำงานโรงงานแห่งหนึ่ง เป็นที่ถูกอกถูกใจนายจ้าง Fujiwara (รับบทโดย Takashi Sasano) ใช้ให้ทำโน่นนี่นั่น บรรจุเข้าทำงาน แวะเวียนมาห้องพัก นั่งดูโทรทัศน์โดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้ทั้งสอง ก่อนที่ Mamoru ลาออกจากงาน แล้วลงมือสังหารโหด
หลังถูกตำรวจจับกุม ทนายความติดต่อหาบิดา Shinichiro Arita (รับบทโดย Tatsuya Fuji) บอกให้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีทางที่ Mamoru จะรอดพ้นผิด! Yûji ก็แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนในห้องขังเป็นประจำ แต่วันหนึ่งกลับถูกขับไล่ ผลักไส ฝากให้เลี้ยงดูแมงกะพรุน … ก่อนที่ Mamoru จะคิดสั้นฆ่าตัวตาย
บิดา Shinichiro ได้รับรู้เบื้องความจริงทั้งหมดจาก Yûji เห็นอีกฝ่ายในสภาพซอมซ่อ รอมร่อ เสื้อผ้าขาดหวิ่น เลยชักชวนมาทำงานร้านรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า พยายามให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน เอ็นดูราวกับบุตรบุญธรรม แต่ทว่าชายหนุ่มยังหมกมุ่นอยู่กับการติดตามหาแมงกะพรุน ไม่สามารถคลายความเศร้าโศกเสียใจ ต้องหลังจากก่อคดีโจรกรรมกับกลุ่มแก๊งค์วัยรุ่น เอาตัวรอดกลับมาอย่างหวุดหวิด จึงครุ่นคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างจริงจัง เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่ออนาคตสดใส
Joe Odagiri, オダギリ ジョー (เกิดปี ค.ศ. 1976) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tsuyama, Okayama อาศัยอยู่กับมารดาที่ชอบพาไปฝากไว้ยังโรงภาพยนตร์ ทำให้ตั้งแต่เด็กใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ โตขึ้นสามารถสอบเข้า Kochi University ก่อนสละสิทธิ์เพื่อเดินทางไปเรียนภาพยนตร์ยังสหรัฐอเมริกา California State University, Fresno ถึงอย่างนั้นกลับกรอกสาขาผิดเป็นคณะการแสดง เลยจำต้องหันมาเอาจริงเอาจังด้านนี้ เมื่อหวนกลับญี่ปุ่นเริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละคอนเวที แจ้งเกิดจากการรับบทนำซีรีย์ Kamen Rider Kuuga (2000), ภาพยนตร์ Bright Future (2003), Azumi (2003), Blood and Bones (2004), Sway (2006), Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad (2007), Adrift in Tokyo (2007), I Wish (2011), The Great Passage (2013) ฯ
รับบท Yûji Nimura, 仁村雄二 ชายหนุ่มอายุยี่สิบกลางๆ มีชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงหลงใหลแมงกะพรุนของ Mamoru, แม้ได้รับความเอ็นดูจากหัวหน้าที่พร้อมส่งเสริมสนับสนุน แต่เขากลับไม่ชอบพอพฤติกรรมลับๆล่อๆ พยายามชี้นำ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่น ตั้งใจจะโต้ตอบเอาคืน ทว่าพอมาถึงกลับพบเห็นภาพการสังหารโหด
รับรู้ว่าเป็นการกระทำของ Mamoru พยายามมาเยี่ยมเยียนในเรือนจำ กลับถูกขับไล่ ผลักไส ฝากฝังให้เลี้ยงดูแมงกะพรุน ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจาก Shinichiro (บิดาของ Mamoru) แต่ยังไม่สามารถคลายความสูญเสีย เศร้าโศกเสียใจ ต้องหลังจากก่อคดีโจรกรรมกับกลุ่มแก๊งค์วัยรุ่น เอาตัวรอดกลับมาอย่างหวุดหวิด จึงครุ่นคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างจริงจัง เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่ออนาคตสดใส
แม้พอมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Kamen Rider Kuuga (2000) แต่ทว่า Odagiri ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตนเองด้านการแสดง, Bright Future (2003) คือโอกาสที่ทำให้เขาแจ้งเกิดในวงการอย่างเต็มตัว ถ่ายทอดความเป็นคนหนุ่ม มีชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน ขาดเป้าหมายชีวิต ไม่รู้จะทำอะไรยังไง สังเกตเห็นความผิดปกติของสังคม เลยอยากทำบางสิ่งอย่างโต้ตอบ เพื่อพิสูจน์การมีตัวตน กลับตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โชคดีว่าสามารถเอาตัวรอดอย่างหวุดหวิดทุกครั้งไป
ตัวละคร Odagiri เต็มไปวิวัฒนาการด้านการแสดงที่น่าประทับใจ จากบุคคลไร้เป้าหมาย พอสูญเสียที่พึ่งพักพิง (เพื่อนชาย/แมงกะพรุน) ก็ตกอยู่ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง แม้ได้รับความช่วยเหลือจาก Shinichiro ออกติดตามหาแมงกะพรุน แต่ยังไม่สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย กระทั่งได้รับบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญ จึงสามารถยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับสภาพเป็นจริง มองเห็นอนาคตสดใส
Tadanobu Asano, 浅野 忠信 ชื่อจริง Tadanobu Satō, 佐藤 忠信 (เกิดปี ค.ศ. 1973) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama, Kanagawa ด้วยความที่บิดาเป็นเอเย่นต์นักแสดง แนะนำบุตรชายตอนอายุ 16 ให้ลองแสดงซีรีย์ Kinpachi Sensei จึงบังเกิดความสนใจด้านนี้ ติดตามด้วยภาพยนตร์ Swimming Upstream (1990), ผลงานเด่นๆ อาทิ Fried Dragon Fish (1993), Maboroshi no Hikari (1995), Ichi the Killer (2001), The Taste of Tea (2003), Zatoichi (2003), Bright Future (2003), Last Life in the Universe (2003), Invisible Waves (2007), Mongol (2007), โกอินเตอร์ Thor (2011), Silence (2016), ซีรีย์ Shōgun (2024) ฯ
รับบท Mamoru Arita, 有田守 เพื่อนสนิทของ Yûji ทำงานที่เดียวกัน ไปมาหาสู่เป็นประจำ คอยให้คำปรึกษา ชี้แนะนำทิศทางเหมาะสม ภายนอกดูสงบเสงี่ยมเจียมตน แต่เมื่อมีสิ่งใดมากระทบกระทั่ง พร้อมแสดงออกด้วยความรุนแรง “ตาต่อ ฟันต่อฟัน” มิอาจควบคุมอารมณ์ตนเอง พร้อมระบายความอัดอั้นภายในออกมา
การแสดงของ Asano ในภาพยนตร์ Ichi the Killer (2001) คงสร้างความตราตะลึงอย่างมากๆ คนหนุ่มผู้มีความเก็บกด อัดอั้น ระบายอารมณ์ออกมาด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง แต่สไตล์ของผกก. Kurosawa มักไม่นำเสนอภาพความรุนแรงออกมาแบบตรงๆ รอยยิ้มคนธรรมดาที่ซุกซ่อนความโฉดชั่วร้ายไว้ มันน่าหวาดสะพรึงกลัวชิบหาย!
In this film I made the character played by Tadanobu Asano like a monster. Inevitably he will come into conflict with society, with which he has an antagonistic relationship. If you keep the monster alive, you have to destroy society, which means you need an apocalyptic ending. But in this film I didn’t destroy society, because jellyfish live in water. They can escape to the sea, it’s not necessary for them to stay in society. Also, I killed the monster character, Asano, so society continues to exist and people survive.
Kiyoshi Kurosawa
ภาพลักษณ์ของ Asano ช่วงแรกๆก็ดูเหมือนคนหนุ่มทั่วๆไป ราวกับรุ่นพี่ที่พึงพาของรุ่นน้อง แต่หลังจากลงมือสังหารโหด ถูกจับติดคุกติดตาราง แสดงสีหน้าเรียบเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น นั่นสร้างความหลอกหลอน หวาดสะพรึง หมอนี่แม้งฆาตกรโรคจิต สัตว์ประหลาด ปีศาจสวมหน้ากากมนุษย์
แต่ทว่า Mamoru เป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ? หนังอาจไม่ได้พูดอธิบายออกมาตรงๆ แต่เราสามารถสืบค้นหาจากบิดา Shinichiro ในอดีตคงเคยทำสิ่งเลวร้ายมามาก ครอบครัวหย่าร้าง สังเกตจากการสนทนา(ระหว่างบิดา)กับน้องชายก็บ่งบอกสันดานธาตุแท้ได้ระดับหนึ่ง … ข้อสรุปของผม หัวหน้างาน Mr. Fujiwara คือภาพสะท้อนบิดา Shinichiro แสดงพฤติกรรมละม้ายคล้ายคลึง มันจึงจี้แทงใจดำ ชวนให้หวนระลึกความหลัง จนไม่สามารถควบคุมตนเอง กระทำสิ่งที่ระบายอารมณ์คลุ้มคลั่งออกมา
Tatsuya Fuji, 藤 竜也 (เกิดปี ค.ศ. 1941) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Beijing หลังสงครามมาเติบโตยัง Yokohama, Kanagawa โตขึ้นเข้าศึกษาการละคอน Nihon University College of Art ก่อนดรอปเรียนเพื่อร่วมสตูดิโอ Nikkatsu ผลงานเด่นๆ อาทิ In the Realm of the Senses (1976), Empire of Passion (1978), Bright Future (2003), Village Photobook (2004) ฯ
รับบท Shinichiro Arita, 有田真一郎 เจ้าของร้านรับซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ฐานะพอมีพอกิน แต่เพราะไม่มีอนาคต ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เลยถูกภรรยาทอดทิ้ง ไม่เคยพบเจอหน้าบุตรชาย Mamoru มานานหลายปี กระทั่งได้รับการติดต่อจากทนาย เปิดเผยว่าอีกฝ่ายก่อคดีฆาตกรรม ติดคุกติดตาราง ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจ แต่ใครกันจะเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์เช่นนั้น
ความรู้สึกผิดที่ไม่เคยสนใจบุตรชาย ทำให้เขาอยากไถ่โทษ มอบโอกาสสองแก่ Yûji ที่เป็นเพื่อนสนิทของ Mamoru ช่วยกันออกติดตามหาแมงกะพรุน ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ยินยอมรับสภาพเป็นจริง จนสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย และก้าวสู่อนาคตสดใส
ผมจับจ้องอยู่นานทำไมนักแสดงคนนี้หน้าคุ้นจัง? พอหาข้อมูลพบเจอว่าเคยแสดง In the Realm of the Senses (1976) โอ้โห! นั่นเป็นบทบาทติดตา ภาพจำชายผู้มักมากด้วยตัณหา สามารถเสริมเติมเบื้องหลังตัวละคร อดีตเคยกระทำสิ่งบ้าคลั่ง ปัจจุบันเลยมีสภาพ…ประมาณนั้น
ฝีไม้ลายมือของ Fuji ต้องถือว่าระดับ Masterclass การแสดงออกภายนอกอาจมีไม่มาก แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสสิ่งที่อยู่ภายใน ความรู้สึกผันแปรเปลี่ยนไป วิวัฒนาการทางอารมณ์เพื่อปรับตัวเข้ากับการสูญเสีย
- เมื่อรับรู้ว่าบุตรชายก่อคดีฆาตกรรม เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น มือไม้สั่นๆ สีหน้าซีดเผือก พยายามควบคุมตนเองไม่ให้สำแดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง
- จากนั้นตกอยู่ในความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไง พยายามสำแดงความเป็นบิดา แต่ตอนนี้มันก็สายเกินไป
- การมาถึงของ Yûji มองอีกฝ่ายราวกับบุตรบุญธรรม พยายามให้ความช่วยเหลือ ดูแลเอาใจใส่ ทั้งหมดก็เพื่อไถ่โทษตนเองที่ไม่เคยสนใจใยดีบุตรชายแท้ๆ
- และเมื่อได้พบเห็นแมงกะพรุน ทำให้ชีวิตบังเกิดประกายความหวังขึ้นมา
ผมรู้สึกว่าผกก. Kurosawa แทรกใส่ตนเองในตัวละครนี้พอสมควร ตลอดหลายสิบปีสรรค์สร้างภาพยนตร์ ไม่เคยสนใจผู้ชม เพิกเฉยต่อปัญหาวัยรุ่น คนหนุ่มสาวสมัยใหม่, Bright Future (2003) คือครั้งแรกของเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขามองข้ามมาโดยตลอด … มันฟังดูเหมือนการเผชิญหน้าวิกฤตวัยกลางคนของตนเอง เรียนรู้จักการเป็นบิดา หรือเรียกว่า ‘Mature Film’ ก็ได้กระมัง
Since the 2000s, I’ve started to think that I should face something that I had perhaps neglected, despite my interest in the topic – having seen many films in the 1960s and 1970s that explored these matters. However, being born in the generation that came right after that, I hadn’t personally experienced this sentiment and I hadn’t represented it. Bright Future was a first step in that direction.
Kiyoshi Kurosawa
ถ่ายภาพโดย Takahide Shibanushi, 柴主 高秀 (เกิดปี ค.ศ. 1958) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shizuoka สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Tokyo College of Photography ผลงานเด่นๆ อาทิ Barren Illusions (1999), Bright Future (2003), Swing Girls (2004), Be with You (2004), Villon’s Wife (2009) ฯ
จากบทสัมภาษณ์ “Bright Future was a first step in that direction.” นั่นรวมถึงการเลือกใช้กล้องดิจิตอล Sony HDCAM Camera แทนกล้องฟีล์ม ซึ่งสิ่งน่าสนใจมากๆที่ผมพบเจอคือการละเล่นกับผิวสัมผัส (Film Texture) นอกจากย้อมสีให้ดูหมองหม่น ซีดเซียว (บรรยากาศวันสิ้นโลก), บางครั้งเลือกใช้กล้องคุณภาพดี มีความคมชัด, บางครั้งใช้กล้องดิจิตอลราคาถูกๆ ภาพดูหยาบๆ เฟรมเรตต่ำ, บางครั้งถ่ายตอนกลางคืน เต็มไปด้วยเม็ดสี (Noise) มองอะไรแทบไม่เห็นสักอย่าง ฯ … ผมไม่แน่ใจว่านี่คือครั้งแรกหรือเปล่าที่ทำการทดลองเกี่ยวกับ ‘ผิวสัมผัส’ การถ่ายภาพ? แต่สามารถทำให้ผู้ชมบังเกิดอารมณ์ร่วมกับซีนนั้นๆแตกต่างออกไป และแน่นอนว่าต้องเคลือบแฝงนัยยะอะไรบางอย่าง
สองภาพภาพผมที่แคปรูปมานี้มันอาจดูยากสักหน่อย แต่รับชมในหนังจะสังเกตเห็นความแตกต่างทาง ‘ผิวสัมผัส’ อันเกิดจากคุณภาพของกล้องอย่างชัดเจน!
- ภาพแรกของหนังถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held คุณภาพสูง ย้อมสีให้ดูอึมครึม Yûji พร่ำเพ้อถึงความฝัน “The future in my dreams was always bright.” แต่วินาทีที่พูดประโยคนี้ กล้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ถ่ายให้ติดหลอดไฟบนศีรษะ และมีการจัดวางใบหน้าให้อยู่ภายในตะแกรงเหล็ก ราวกับถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่สามารถดำเนินสู่อนาคตสว่างสดใส
- ทีแรกผมครุ่นคิดว่าฉากนี้ถ่ายทำในโรงงาน แต่แท้จริงแล้ว Yûji กำลังฝึกเล่นเกมยิงๆอะไรสักอย่างใน Arcade
- สองสามช็อตถัดไปพบเห็น Yûji กำลังนอนหลับพักกลางวัน นี่เช่นกันถ่ายแบบ Hand-Held ส่ายๆสั่นๆ แต่ใช้กล้องดิจิตอลราคาถูกๆ ภาพคุณภาพต่ำๆ มอบสัมผัสหยาบๆ ราวกับจะสื่อถึงความฝันนั้นไม่ได้งดงาม สวยหรูอย่างใจคาดหวัง
- และพอฟื้นตื่นขึ้นมา ก็ใช้กล้องดิจิตอลคุณภาพสูง งานภาพละเอียด คมชัด แสงสว่างจร้า(ภายนอก)ตัดกับความมืดมิดสนิท(ภายใน)
ผมขอรวบมาอธิบายอาชีพการงานทั้งหมดของ Yûji มาไว้ตรงนี้เลยแล้วกัน
- พนักงานโรงงาน ผมคาดเดาว่าน่าจะเกี่ยวกับการซักผ้า (อาจจะเป็นผ้าที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม) ซึ่งมีความเปลอะเปลื้อน สกปรก นำเข้าตู้ซักผ้า แล้วจะสะอาดเอี่ยมอ่อง
- อาชีพนี้น่าจะเคลือบแฝงนัยยะของสิ่งที่ Yûji ประสบพบเจอในหนังตลอดทั้งเรื่อง ทำให้จิตวิญญาณเปลอะเปลื้อน สกปรกโสมม จากนั้นจะได้รับการซักฟอก ทำความสะอาด ตอนจบกลับกลายเป็นคนใหม่ (อนาคตสดใส = ผ้าขาวสะอาด)
- อาชีพของบิดา Shinichiro เปิดร้านรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า นัยยะคล้ายๆกับการซักผ้า นำเอาสิ่งที่เสียหาย ถูกทอดทิ้ง มาซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่
- จะว่าไปการกระทำของ Shinichiro พยายามช่วยเหลือ Yûji ที่มีสภาพห่อเหี่ยว สิ้นหวัง (เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าพัง) ก็สอดคล้องกับอาชีพรับซ่อมแซม ให้สามารถกลับกลายเป็นคนใหม่
- น้องสาวลากพา Yûji ฝากเข้าทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นพนักงานถ่ายเอกสาร คือการทำซ้ำ ลอกเลียนแบบ ใช้ชีวิตตามอย่างสังคมกำหนดเอาไว้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการเลยสักนิด!
วันหนึ่งหัวหน้างาน Mr. Fujiwara บอกให้ Yûji & Mamoru ช่วยขนย้ายโต๊ะเข้าบ้าน สังเกตว่าตั้งแต่พวกเขารับรู้ว่าถูกใช้งานนอกหน้าที่ ผิวสัมผัสของภาพจะมีความหยาบกระด้าง ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลราคาถูกๆ ดูไม่ค่อยคมชัด แถมพอยกโต๊ะมาถึงห้องบุตรสาว สั่งให้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง เดินวกไปวนมา ไม่สามารถหาข้อสรุปสักที … นี่แสดงถึงความแตกแยกภายในครอบครัว สามี-ภรรยาครุ่นคิดเห็นต่าง บรรยากาศมาคุ ใกล้ถึงจุดแตกหัก
ตอนรับประทานอาหารเย็น แม้กลับมาใช้กล้องดิจิตอลคุณภาพสูง แต่ทว่า Mr. กับ Mrs. Fujiwara ไม่เคยสนใจกันและกัน ตัวใครตัวมัน ช่างเต็มไปด้วยลับลมคมใน ตามคำกล่าวของ Mamoru พายุมรสุม(ครอบครัว)กำลังใกล้เข้ามา ผู้โชคร้ายคือบุตรสาว ต้องอดรนทนมีชีวิตในสภาพแวดล้อมครอบครัวแตกแยก
ภาพถ่ายภายนอก ผมไม่แน่ใจว่ามันยังเป็นข้อจำกัดของกล้องดิจิตอลหรือเปล่า แสงสว่างที่ไม่เพียงพอทำให้พบเห็น Noise ปรากฎขึ้นเต็มไปหมด ช่วยสร้างผิวสัมผัสหยาบกระด้าง สะท้อนความรู้สึกของคนหนุ่มทั้งสองต่อสถานการณ์ขณะนี้
วันว่างๆ งานอดิเรกของ Yûji คือแวะเวียนไปยังศูนย์รวมกิจกรรมบันเทิง Arcade เล่นเกมยิงปืน โยนโบว์ลิ่ง ราวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sanctuary) สำหรับผ่อนคลายจิตวิญญาณ
พอกลับมาทำงาน Yûji ได้รับแจ้งจากหัวหน้า Mr. Fujiwara ว่าจะมอบโบนัส บรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ โดยปกติแล้วนั่นควรเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ระหว่างที่เขานั่งพูดคุยกับ Mamoru (ตรงบริเวณบันได สัญลักษณ์ของการไต่เต้า เลื่อนขั้น สูงกว่าคนที่อยู่เบื้องล่าง) การถ่ายภาพกลับเลือกใช้กล้องดิจิตอลราคาถูก ผิวสัมผัสหยาบกระด้าง แทนความโล้เล้ลังเลใจ ไม่ชอบพอสถานการณ์นี้สักเท่าไหร่
แฟนหนุ่มของน้องสาว หน้าตาดี มีการมีงาน พึ่งพาได้ แถมยังเล่นเกมส์เก่งกว่า Yûji เรียกว่าสมบูรณ์แบบ! นั่นคือแรงกดดันการมีตัวตน อุตส่าห์ฝึกซ้อม Arcade คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sanctuary) การมาถึงของไอ้หมอนี่ ทำลายทุกสิ่งอย่างย่อยยับ โยนโบว์ลิ่งก็ไม่สามารถทำสไตรค์ได้อีกต่อไป …นี่คือลักษณะของการกดทับทางสังคม เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่สามารถทำตามความคาดหวัง(ของครอบครัว/สังคม) รู้สึกเหมือนไร้ตัวตน แล้วฉันจะเกิดมาทำไม?
วันดีคืนดีหัวหน้า Mr. Fujiwara เดินทางมาที่ห้องของ Mamoru นำเอาซูชิมาแบ่งปัน (จะว่าไปแมงกะพรุนบางสายพันธุ์มันก็กินได้นะครับ) อยากจะพูดคุยอะไรสักอย่างแต่กลับหลงๆลืมๆ จากนั้นนั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าจอโทรทัศน์ รับชมการแข่งขันปิงปอง (ชิงแชมป์โลก?) อ้าวเห้ย นี่มันบ้านแกเหรอ? ทำตัวไม่รู้กาละเทศะ? สร้างความวุ่นวายให้คนอื่นทำไมกัน? แต่มันก็ชัดเจนว่าเขาต้องมีปัญหาครอบครัว อาจเพิ่งทะเลาะกับภรรยา หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรสักอย่าง
เกร็ด: ข้างจอโทรทัศน์มีอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ The Sound of Music (1965) ไม่รู้จะเคลือบแฝงนัยยะอะไร?
นี่น่าจะเป็นช็อตลายเซ็นต์ของผกก. Kurosawa บ่อยครั้งชอบถ่ายภาพบนดาดฟ้า ซึ่งขณะนี้มีการย้อมสีเข้มๆ แต่ปรับแสงให้สว่างจร้าๆ (ทำให้ออกมาดูขัดแย้ง/ตัดกัน) เพื่อสะท้อนการแสดงออกภายนอกที่ดูเหมือนปกติของ Mamoru แต่สภาพจิตใจกำลังคลุ้มคลั่งวุ่นวาย โทรศัพท์ติดต่อหา Yûji เพื่อส่งมอบแมงกะพรุน และยังกล่าวว่า “It’s time I was moving on.” นี่มันปักธงหายนะเลยนะเนี่ย!
เหตุผลที่ Mamoru ตัดสินใจลงมือสังหารโหด Mr. & Mrs. Fujiwara ผมครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะทำให้หวนระลึกถึงตนเอง เติบโตในครอบครัวแตกแยก บิดา-มารดาเอาแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ขาดความรัก โหยหาความอบอุ่น จนกระทั่งทั้งสองเลิกราหย่าร้าง ทางใครก็ทางมัน ไม่เคยหวนกลับหามานานหลายปี … ด้วยเหตุนี้จึงมิอาจอดกลั้นฝืนทน ตัดสินใจกระทำการดังกล่าว ระบายอารมณ์อัดอั้น คับข้องแค้น ปลดปล่อยเด็กหญิง(บุตรของ Mr. & Mrs. Fujiwara)ให้เป็นอิสระ
ในสำนักงานทนายความ เมื่อครั้นบิดา Shinichiro เดินทางมาพูดคุยกับทนาย พบเห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ La chinoise (1967) ของผกก. Jean-Luc Godard หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังดอกไม้ ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าเคลือบแฝงนัยยะอะไร ก่อนตระหนักว่าอาจสะท้อนอุปนิสัยหัวขบถ แหกคอก ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบของ Mamoru … กระมังนะ
ทุกครั้งเมื่อขับรถบรรทุกขนาดเล็ก (Mini Truck) จะมีการนำเสนอภาพ ‘Split Screen’ แบ่งแยกคนขับและผู้โดยสารออกจากกัน คั่นแบ่งด้วยภาพพื้นสีดำ ล้วนเพื่อสื่อถึงกำแพงที่มองไม่เห็น ระยะห่างระหว่างคนสอง นายจ้าง-ลูกจ้าง บิดา-บุตร(บุญธรรม) บางครั้งขับรถคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ
ทุกครั้งที่ Yûji เข้าเยี่ยม Mamoru การถ่ายภาพจะด้วยกล้อง Hand-Held ภาพสั่นๆ หันซ้ายหันขวา เดี๋ยวยืนเดี๋ยวนั่ง เดินไปเดินมา ต่างมีท่าทางลุกลี้ร้อนรน กระวนกระวาย ห่วงโหยหาอาลัย เฝ้ารอคอยให้เพื่อนรักกลับออกมา
ตรงกันข้ามกับบิดา Shinichiro เมื่อเข้าเยี่ยม Mamoru จะตั้งกล้องแน่นิ่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวติง จัดวางองค์ประกอบสมมาตร กึ่งกลาง บางครั้งตั้งกล้องอยู่ระหว่างภายนอก-ในเรือนจำ การสนทนามีความเป็นทางการ ไม่พูดคุยเล่น น้ำเสียงราบเรียบ นั่งนิ่งเฉย คงไม่อยากพบเจอ เมื่อไหร่การสนทนาจะสิ้นสุดลง … นี่ก็สะท้อนความสัมพันธ์พ่อ-ลูก เหินห่าง แตกต่าง ไม่สามารถทำความเข้าใจกันและกัน
บิดา Shinichiro พยายามติดต่อภรรยาและบุตรชายอีกคน อยากนัดพูดคุยปัญหาของ Mamoru แต่กลับไม่มีใครอยากมาพบเจอหน้า ซีนเล็กๆนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเหินห่าง บาดหมาง ขนาดบุตรชายบอกว่าเปลี่ยนไปใช้นามสกุลมารดา นี่แสดงถึงความผิดปกติ ย่อมต้องบางสิ่งเลวร้ายเคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่มีทางที่พวกเขาจะหวนกลับมาคืนดี
หนังเลือกมุมกล้องถ่ายติดกำแพง (กีดขวางกั้นความสัมพันธ์พ่อ-ลูก) สีน้ำเงิน (สีแห่งความหนาวเหน็บ เย็นชา) แถมชื่อคาเฟ่ Zima (ภาษา Slavic) แปลว่าฤดูหนาว และภายนอกร้านลมแรง ฝนตกพรำ (ทำให้บรรยากาศเย็นลงขึ้นอีก)
สำหรับ Mamoru ที่อยู่ในเรือนจำ สิ่งถือว่าเป็นประกายความหวังให้มีชีวิตอยู่ต่อ คือแมงกะพรุนฝากไว้กับ Yûji พยายามให้แนะนำ เสี้ยมสอนสั่ง พูดบอกโน่นนี่นั่น เต็มไปด้วยรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน จนทำให้เขารู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ วันหนึ่งเลยถีบใส่ตู้เลี้ยง เจ้าแมงกะพรุนนั้นไหลลงซอกพื้น วินาทีนั้นกล้องคุณภาพต่ำ ถ่ายภาพปฏิกิริยาอันสิ้นหวังของ Yûji นี่ฉันพลั้งพลาดทำอะไรลงไป?
ราวกับว่า Mamoru รับรู้การสูญหายตัวไปของเจ้าแมงกะพรุน เลยทำการขับไล่ ผลักไส ไม่ต้องการพบเจอ Yûji อีกต่อไป! จากนั้นใช้ลวด/เหล็กดัดมาพันนิ้วชี้ (เพื่อชี้ทางออกให้กับ Yûji) ก่อนลงมือกระทำอัตวินิบาต ด้วยภาพถ่ายคุณภาพต่ำที่เต็มไปด้วย Noise สัญญาณ(รบกวน)แห่งความตาย
วินาทีที่กำลังจะลุกขึ้นไปแขวนคอตาย Mamoru หันหน้าเข้าหากล้อง “Breaking the Fourth Wall” และพูดกับผู้ชม “See You” นั่นถือเป็นการทำลายกำแพง/กฎกรอบภาพยนตร์ … แต่หลังจากนี้เขายังหวนกลับมาปรากฎตัวในรูปวิญญาณ(ที่ไม่มีใครมองเห็น)อีกครั้งสองครั้ง
Yûji ก็ราวกับมีสัมผัสที่หก ดึกดื่นลุกขึ้นจากเตียงนอน ดึงพื้นไม้บริเวณที่เจ้าแมงกระพรุนหล่นหาย แล้วพบเจอเจ้าแมงกระพรุนเรืองแสง … หนังนำเสนอราวกับว่า Mamoru ตายแล้วกลายเป็นแมงกะพรุน ไม่ถูกกักขังในเรือนจำ/ตู้ปลา กำลังล่องลอยสู่อิสรภาพ หาหนทางกลับสู่ท้องทะเล แหวกว่ายในมหาสมุทร
ผมมีความรู้สึกคุ้นๆกับตำแหน่งที่ตั้งร้านรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Shinichiro ก่อนตระหนักว่าผกก. Kurosawa เลือกสถานที่ละม้ายคล้ายกันในภาพยนตร์ Tokyo Sonata (2008) บริเวณทางสาม-สี่แพร่ง (ภาพขวาจาก Tokyo Sonata) จุดตัดระหว่างถนน สื่อถึงต่างคนต่างมีเส้นทางชีวิตของตนเอง แล้วมาบรรจบกันยังบ้านหลังนี้
สิ่งที่บิดา Shinichiro กำลังซ่อมแซมอยู่นี้ไม่ใช่แค่โทรทัศน์ ยังต้องการปรับจูนสัญญาณ พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจ Yûji เพื่อเป็นการไถ่โทษ (Redemption) ที่ตนเองเคยปล่อยปละละเลย ทอดทิ้งบุตรชาย Mamoru นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาบังเกิดประกายความหวัง แสงสว่างนำทางชีวิตต่อไป
ในทิศทางกลับกัน Yûji สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกับ Shinichiro เพื่อทำการไถ่โทษความรู้สึกผิดที่มีต่อเพื่อนสนิท Mamoru ผ่านทางบิดาของอีกฝ่าย … กล่าวคือหลังความตายของ Mamoru ทั้งสองต่างจำต้องพึ่งพาอาศัย เยียวยารักษาแผลใจกันและกัน
Yûji พยายามออกติดตามหาแมงกะพรุน เชื่อว่ามันคงแหวกว่ายอยู่ตามคูคลองสักแห่งหน จึงนำอาหารมาล่อตามสะพาน ต้องการพบเห็นอีกสั้งครั้ง! แต่บิดา Shinichiro กลับกล่าวว่าทำแบบนี้รู้สึกไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ (คงครุ่นคิดว่าทำไปคงไม่มีประโยชน์อะไร คูคลองใน Tokyo มีมากมาย โอกาสพบเจอน่าจะน้อยนิด) มีการสลับเปลี่ยนกล้องดิจิตอล จากภาพสวยๆคมชัด ตั้งอยู่นิ่งๆ กลายเป็นเบลอๆหยาบๆ ถือมือสั่นๆ (Hand-Held) … นี่เป็นการใช้ลูกเล่น ‘ผิวสัมผัส’ แทนความรู้สึกหวาดกังวลของตัวละคร
ใครจะไปคาดคิดว่าวันที่ฝนตก Yûji & Shinichiro มาหลบฝนในโรงงานร้าง เต็มไปด้วยขยะที่ถูกทิ้งขว้าง แล้วพบเจอเจ้าแมงกะพรุนแหวกว่ายอยู่ในท่อน้ำเสีย เหมือนเพื่อจะสื่อว่า ณ จุดตกต่ำ ย่ำแย่ที่สุดของชีวิต ล้วนมีประกายความหวังซ่อนเร้นอยู่เสมอๆ
แม้เจ้าแมงกะพรุนจะสร้างขึ้นโดย Computer Graphic (CGI) แต่ก็ทำให้ผมโคตรหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริงที่สัตว์น้ำเค็มจะปรับตัวเข้ากับน้ำจืด แถมคูคลองยังเต็มไปด้วยมลพิษ … ถ้าเป็นปลาหมอคางดำอาจน่าเชื่อกว่า
ถ้ามองแบบทั่วๆไป Mamoru กลายเป็นวิญญาณล่องลอย แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนเพื่อนสนิท Yûji (และบิดา Shinichiro) มองดูสารทุกข์สุขดิบ จากนั้นทำกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อให้เขาล้มเลิกให้อาหารแมงกะพรุน คลายความหมกมุ่นยึดติดกับตนเอง
แต่เอาจริงๆแวบแรกผมนึกว่าบิดามองเห็น Mamoru ในตัว Yûji ซึ่งหนังก็เคลือบแฝงนัยยะดังกล่าว เหตุผลที่เขาพยายามช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เพราะต้องการจะไถ่โทษ/ไถ่บาป (Redemption) จากเคยทอดทิ้ง(ภรรยาและ)บุตรชาย อดีตไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไข แต่สามารถปรับปรุงตนเองเพื่ออนาคตสดใส
ผมค่อนข้างแปลกใจกับฝันกลางวันของ Yûji ทั้งๆขณะที่กำลังหลับอยู่ วิญญาณของ Mamoru แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน แต่ภาพความฝันกลับหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว กำลังก้าวเดิน เผชิญหน้าลมแรง (หนังฉายภาพความฝันด้วยการย้อมสีให้ดูมืดหม่น พร้อมกับปรับความเข้มแสง ท้องฟ้าขาวสว่างจร้า) นั่นคือสิ่งที่เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมา เขาต้องเรียนรู้ ยินยอมรับ ปรับตัวเอง หยุดข้ออ้างติดตามหาแมงกะพรุ่น พึ่งพาอาศัยเพื่อนผู้ลับ ถึงเวลาต้องเผชิญหน้ากับโลกความจริงเสียที!
Yûji ที่ไม่สามารถยินยอมรับความจริง วิ่งหลบหนีจากร้านของบิดา Shinichiro รวมถึงทอดทิ้งงานถ่ายเอกสารที่น้องสาวอุตส่าห์ฟากฝังไว้ แวะเวียนมายังศูนย์เล่นเกมส์แห่งใหม่ ในตอนแรกถูกพวกแก๊งค์วัยรุ่นผลักตกเก้า แต่ขณะลุกขึ้นมา (เป็นช็อตเดียวที่ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลคุณภาพต่ำ) กลับกลายเป็นพรรคพวกเพื่อนเดียวกัน
Yûji ร่วมกับกลุ่มแก๊งค์วัยรุ่น ร่วมกันบุกเข้าปล้นบริษัทที่ตนเองทำงาน นี่ถือเป็นการต่อสู้ โต้ตอบกับระบบ ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ ปฏิเสธทำตามขนบวิถี ค่านิยมสังคม ไม่ยินยอมโดนกดทับ โหยหาอิสรภาพ สนเพียงกระทำสิ่งต่างๆสนองความพึงพอใจส่วนตน … ตลอดซีเควนซ์การโจรกรรม ถ้าไม่ถ่ายด้วยกล้องคุณภาพต่ำ เต็มไปด้วย Noise ก็ใช้กล้อง Hand-Held ส่ายไปส่ายมาจนแทบดูไม่รู้เรื่อง
เหตุการณ์ดังกล่าวนำเสนอคู่ขนาน/ตัดต่อกลับไปกลับมากับบิดา Shinichiro พบเห็นฝูงแมงกะพรุนล่องลอยอยู่ในแม่น้ำ พยายามวิ่งออกติดตาม ตอนนี้อาจยังไม่เข้าใจว่าพวกมันกำลังออกเดินทางไปไหน แต่สามารถเปรียบเทียบแมงกะพรุน = กลุ่มแก๊งค์วัยรุ่น(และ Yûji) กำลังกระทำสิ่งที่พวกเขาครุ่นคิดว่าคืออิสรภาพชีวิต!
ขณะที่กลุ่มแก๊งค์วัยรุ่นถูกตำรวจล้อมจับ Yûji สามารถเอาตัวรอดกลับมาได้อย่างหวุดหวิด! บังเกิดความกลัว สั่นสะท้านทรวงใน จึงตัดสินใจหวนกลับหาบิดา Shinichiro นั่งซึมอยู่ในความมืด ก่อนลุกขึ้นมาถูๆไถๆสายไฟ (สัญลักษณ์ของการโหยหาความสัมพันธ์) จากนั้นพูดขอโทษขอโพย พร้อมแล้วจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นชีวิตใหม่
การเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งนี้ของ Yûji ไม่ได้มาเล่นๆ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง ตั้งใจเรียนรู้งาน และมีความคิดที่จะขยับขยายกิจการ โยนทิ้งเสาอากาศอันเก่า บอกว่าจะซ่อมให้มันสามารถรับสัญญาณระยะไกล ยืนบนหลังคาพบเห็นทิวทัศน์กว้างใหญ่
บิดา Shinichiro ครุ่นคิดที่จะรับ Yûji เป็นบุตรบุญธรรม เดินทางไปขอเอกสารจากสำนักทนายความ แต่พอพบเห็นความทะเยอทะยานของอีกฝ่ายเลยหยุดยับยั้งเอาไว้ก่อน … ประเด็นนี้มันตีความได้หลายแง่หลายง่าม!
- นอาจแค่ว่าหยุดยับยั้งเอาไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบร้อน หาโอกาสว่างๆค่อยพูดคุยสอบถามเอาภายหลัง
- หรือมองว่าบิดาล้มเลิกความตั้งใจ เพราะตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องจำเป็น ความสัมพันธ์เท่าที่เป็นอยู่ก็ดีพอแล้ว ไม่ต้องไปบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ เรียกร้องขอโน่นนี่นั่น
จะว่าไปนี่คือการย้อนรอยกับหัวหน้างานตอนต้นเรื่อง Mr. Fujiwara ที่ไม่เคยพูดคุยสอบถาม จู่ๆก็ออกคำสั่งโน่นนี่นั่น เรียกร้องขอให้ Yûji & Mamoru ช่วยเหลืองานนั่นโน่นนี่ พร้อมเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มเงินเดือน ยัดเยียด แทรกซึม ผลลัพท์ทำให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรม … เรื่องราวครึ่งหลังจึงมีทิศทางตรงกันข้าม Shinichiro เพียงมอบโอกาส พร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่ทว่า Yûji ต้องเป็นคนตัดสินใจเรื่องพรรค์นี้ด้วยตนเอง!
ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยพบเห็นสีเขียว แต่หลังจาก Yûji พานผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมามาก ในที่สุดเขาก็ค้นพบเป้าหมายชีวิต ความต้องการของตนเอง จึงสามารถคลายความหมกมุ่นยึดติด แต่ทว่าบิดา Shinichiro กลับยังอยากรู้อยากเห็นว่าฝูงแมงกะพรุนแหวกว่ายไปไหน? พากันออกวิ่งติดตามมาจนถึงปากอ่าว ล่องลอยออกสู่ทะเล หวนกลับบ้านเกิด ดินแดนแห่งอิสรภาพ
Shinichiro คงไม่ได้ตระหนักว่าแมงกะพรุนมีพิษร้ายแรง, Yûji ก็นึกว่าเขาคงรับรู้เลยไม่ทันพูดเตือน, ผลลัพท์กลายเป็นอุบัติเหตุที่เอาจริงๆสามารถสร้างความคลุมเคลือ หรือให้ผู้ชมตกอยู่ในสิ้นหวัง แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผกก. Kurosawa เพียงใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทสรุป บทเรียนความผิดพลาดให้กับทั้งสอง
นั่นเพราะฉากถัดมายังพบเห็นบิดา Shinichiro กำลังซ่อมแซมพัดลมสีน้ำเงิน รวมถึงวิญญาณของ Mamoru ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง (นี่อาจมองว่า Yûji ได้เข้ามาแทนที่ Mamoru ภายในจิตใจของ Shinichiro) และอาจทำให้พัดลมหยุดหมุน (แบบเดียวกับตอนช็อตไฟเลี้ยงกุ้ง แต่ในบริบทนี้สื่อถึงการมีตัวตนของเขากำลังจะสิ้นสุดลง หมดทุกข์ หมดห่วง ไม่มีความจำเป็นต้องหวนกลับมาอีกต่อไป)
แก๊งค์วัยรุ่นกลุ่มนี้ต่างสวมเสื้อสีขาว (สัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา) ลวดลาย Che Guevara สัญลักษณ์นักปฏิวัติ หัวขบถ ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมทางสังคม พวกเขากำลังก้าวเดินเรื่อยเปื่อย เตะกล่อง เตะลัง ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย ก่อนภาพสีขาวค่อยๆโอบอ้อมล้อม ราวกับต้องการตั้งคำถามถึงอนาคตของพวกเขา วัยรุ่น หนุ่ม-สาว คนรุ่นใหม่ มันจะมีความสว่างสดใส Bright Future ได้หรือไม่?
ตัดต่อโดย Kiyoshi Kurosawa,
หนังดำเนินเรื่องโดยมี Yûji Nimura คือจุดศูนย์กลาง ครึ่งแรกสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน Mamoru Arita แต่เมื่ออีกฝ่ายลงมือสังหารโหดนายจ้าง ทำให้สูญเสียที่พึ่งพักพิง ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากบิดา Shinichiro (ของ Mamoru) ชักชวนมาทำงานร้านรับซ่อมของเก่า ช่วงแรกๆยังปรับตัวไม่ค่อยได้ จนกว่าจะได้รับบทเรียนชีวิต ถึงสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเป็นจริง มองเห็นอนาคตสดใส
- ชีวิตเรื่อยเปื่อยของคนหนุ่ม
- Yûji และ Mamoru ในโรงงานแห่งหนึ่ง
- ยามค่ำคืน Yûji แวะเวียนมาห้องพักของ Mamoru เกิดความหลงใหลแมงกะพรุน
- วันถัดมานายจ้าง Fujiwara ขอให้ Yûji และ Mamoru ช่วยขนของไปที่บ้าน รับประทานอาหารเย็น พร้อมบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ
- นายจ้างแวะเวียนมาห้องของ Mamoru นั่งดูโทรทัศน์อย่างไม่สนห่าเหวอะไรใคร
- Mamoru ส่งมอบแมงกะพรุนให้กับ Yûji
- วันถัดมา Mamoru ยื่นใบลาออกจากงาน Yûji ก็กึ่งๆถูกบังคับให้ต้องลาออกเช่นกัน
- ด้วยความคับแค้น Yûji ตั้งใจจะเดินทางไปจัดการนายจ้าง Fujiwara แต่กลับพบเห็นเพียงความตาย
- ความยึดติดกับ Mamoru Arita
- บิดา Shinichiro (ของ Mamoru) เดินทางมาสำนักงานทนาย รับฟังคดีความของบุตรชาย
- Yûji และ Shinichiro เข้าไปเยี่ยมเยียน Mamoru ในเรือนจำ
- บิดา Shinichiro นัดพบเจอบุตรชายอีกคน แต่ปฏิสัมพันธ์พวกเขาช่างแย่ยิ่งนัก
- Yûji พยายามเลี้ยงดูแมงกะพรุน แต่ก็มิอาจอดรนทนต่อความยุ่งยากวุ่นวาย
- หลังการพบเจอ Yûji ครั้งสุดท้าย Mamoru ตัดสินใจฆ่าตัวตายในเรือนจำ
- การไถ่โทษของ Shinichiro
- Shinichiro พบเจอกับ Yûji พูดคุยบอกเล่าความหลัง จากนั้นชักชวนมาอาศัยทำงานที่ร้านรับซ่อมของเก่า
- ระหว่างทำงาน Yûji พยายามออกติดตามหาแมงกะพรุนในแม่น้ำ
- Shinichiro พยายามโน้มน้าวให้ Yûji ล้มเลิกความตั้งใจติดตามหาแมงกะพรุน
- Yûji หลบหนีออกจากบ้าน แต่ถูกน้องสาวลากไปทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง
- Yûji และแก๊งค์วัยรุ่น ร่วมกันปล้นเงินบริษัท โชคดีว่าเขาสามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จ
- การเริ่มต้นใหม่ของ Yûji
- Yûji หวนกลับมาที่ร้านของ Shinichiro ตั้งใจจะทำงาน เริ่มต้นชีวิตใหม่
- วันหนึ่งพบเห็นฝูงแมงกะพรุนล่องลอยออกทะเล
- และกลุ่มแก๊งค์วัยรุ่น หลังได้รับการปล่อยตัว ก้าวเดินเตะฝุ่นไปวันๆ
ฉบับดั้งเดิมของหนังความยาว 115 นาที แต่ผกก. Kurosawa ได้รับคำแนะนำให้ตัดต่อสั้นลงอีกเพื่อเพิ่มรอบฉาย นำออกฉายต่างประเทศ และได้เงินทุนเพิ่มอีกเล็กน้อย ซึ่งเจ้าตัวก็ยินยอมพร้อมใจตัดโน่นนี่นั่นออกจนเหลือความยาว 92 นาที (ตัดทิ้งไปถึง 23 นาที!) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes … จากบทสัมภาษณ์ผกก. Kurosawa ไม่ได้ด้อยค่าฉบับดั้งเดิม-ตัดต่อใหม่ มองว่าต่างมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ใครชื่นชอบแบบไหนก็หารับชมได้ตามสบาย
It started when the sales agent suggested that a shorter version would be easier to sell to foreign buyers. I’ve never done anything like that before and also it would cost extra money to re-edit it. But then it was decided that I could get the money to do it, so I accepted. Once I’d started to shorten the film, I cut out twenty minutes quite naturally. So the short version is the director’s cut, in a certain sense. I was surprised myself about how easily I managed to cut those scenes out. When we asked the Cannes selection committee which version they preferred, they said they had no preference and that the choice was up to us. So I decided to show the new one.
Q: And which version do you prefer?
It’s difficult to say. I prefer the long version in the sense of its total achievement. I feel the short version has less explanation and is grittier, but it’s also more energetic and has a more primal impact as a result. And this suits the essence of the film better. At the moment this is how I feel about it.
Kiyoshi Kurosawa
เพลงประกอบโดยคู่ดูโอ้ Pacific 231 ประกอบด้วย Takemasa Miyake, 蓮実重臣 และ Shigeomi Hasumi, 三宅剛正 ออกซิงเกิ้ลแรก Are you awake? (1995) ทำการผสมผสาน Electronic Music เข้ากับ Light Music
ตามสไตล์ผกก. Kurosawa ไม่ได้ต้องการบทเพลงที่มีความโดดเด่น ท่วงทำนองติดหู แต่มุ่งเน้นความกลมกลืนพื้นหลัง สร้างบรรยากาศให้เข้ากับซีนนั้นๆ … งานเพลงของคู่ดูโอ้ Pacific 231 ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า บรรเลงออกมาเบาๆ สร้างเสียงที่ฟังดูละมุน นุ่มนวล สัมผัสเหมือนแมงกะพรุนกำลังเริงระบำ
อาจไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบแมงกะพรุน แต่ทว่า Jellyfish Theme เป็นบทเพลงมอบสัมผัสพิศวง ราวกับต้องมนต์ แบบเดียวกับตัวละครจับจ้องมองสัตว์น้ำสายพันธุ์นี้อย่างเคลิบเคลิ้ม หลงใหล อัศจรรย์ใจ มันช่างดูอ่อนแอ เปราะบาง แต่กลับเคลือบแฝงพิษร้ายแรง อันตรายถึงตาย
บทเพลง Closing Credit ชื่อว่า 未来 อ่านว่า Mirai แปลว่า Future แต่ง/ขับร้องโดย THE BACK HORN, ザ・バックホーン วงดนตรีร็อคสัญชาติญี่ปุ่น, เนื้อคำร้องเกี่ยวกับการวาดฝันอนาคตสดใส ใช้ความรัก จับมือกันไว้ จักสามารถพานผ่านทุกอุปสรรคขวากหนาม
ต้นฉบับญี่ปุ่น | คำแปลอังกฤษ |
---|---|
失くした歌が 心にあった いつかは僕ら 消えてしまうけれど 粉雪白く 想いが積もる 小さな革命だった 君が肩に触れた 抱きしめて 恋をした それが全てだった 国境さえ今 消えそうな 雪の花が咲く しゃぼんが飛んだ 壊れて消えた それでもしゃぼんを飛ばそ 空に届くように 千の夜 飛び越えて 僕ら息をしてる 世界は今 果てなく 鮮やかな未来 さよなら今は また逢う日まで ここから向こうは 何も無い真っ白な空白 抱きしめて 恋をした それが全てだった 国境さえ今 消えそうな 雪の花が咲いた 何処まで何処まで 信じてゆける 震えるこの手に 想いがあるさ 心に心に 歌が響いて 僕ら歩き出す 鮮やかな未来 | The song I lost was here in my heart We might all fade away one day Like white powdered snow, my feelings well A small revolution as you touched my shoulder Holding each other, falling in love It was everything Then even the border seemed to disappear Snow blossoms in full bloom Bubbles blown in the air, bursting into the void Still, let’s blow bubbles to reach the sky Beyond a thousand nights We breathe The world is infinite Our bright future lies ahead Good bye for now until we meet again From here, hope lies in the vast space ahead of us Holding each other, falling in love It was everything Then even the border seemed to disappear Snow blossoms in full bloom I’ll keep believing, forever and forevermore These trembling hands hold my emotions A song rings out in this heart, this heart And we start to walk Towards our bright future |
Bright Future can maybe be summarized to the following: a generational problem, kind of like what we discussed with Aldrich’s work, in which an older generation represents society, and a younger generation arrives and comes to face the older one.
Kiyoshi Kurosawa
คนรุ่นใหม่วาดฝันอนาคตสดใส แต่สิ่งที่กีดกั้นขวาง กดทับพวกเขาไม่ให้ดำเนินไปถึงเป้าหมายฝั่งฝัน มักคือขนบวิถี กฎระเบียบข้อบังคับ ความพยายามควบคุมครอบงำของคนรุ่นก่อน คาดหวังให้ลูกหลานต้องดำเนินตามกรอบทิศทางวางไว้ ต้องทำอย่างโน่นนี่นั่น ต้องเป็นอย่างนั่นโน่นนี่ ไม่ต่างจากพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ
มันเป็นเรื่องปกติที่คนสองรุ่น เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อม/ยุคสมัยแตกต่าง ย่อมบังเกิดความขัดแย้ง โต้ถกเถียง ไม่สามารถทำความเข้าใจกันและกัน
- หัวหน้างาน Mr. Fujiwara คาดว่าคงเบื่อหน่ายกับชีวิตครอบครัว โหยหาอิสรภาพ วันหนึ่งให้ความเอ็นดู Yûji & Mamoru พยายามทำเหมือนเพื่อนพ้อง แวะเวียนมาสุงสิงในห้อง แต่นั่นกลับทำให้สองหนุ่มเกิดความไม่พึงพอใจ รู้สึกเหมือนขี้ข้ารับใช้ ผู้ใหญ่เอาแต่ใจ ไม่รับรู้ความแตกต่างทางสถานะเลยหรือไร?
- Shinichiro บิดาของ Mamoru แม้หนังไม่เคยอธิบายว่าเป็นยังไงมายังไง แต่จากร่องรอยพบเห็น หมอนี่น่าจะไม่ใช่บิดาที่ดี คาดว่าคงมีพฤติกรรมไม่ต่างจากหัวหน้างาน Mr. Fujiwara เบื่อหน่ายกับชีวิตครอบครัว โหยหาอิสรภาพ เลยทอดทิ้งภรรยาและบุตรอย่างไม่เคยเหลียวแล
ผกก. Kurosawa คงเริ่มตระหนักว่าตนเองในวัยกลางคน (อายุ 40 ปลายๆ) ไม่เข้าใจวัยรุ่น คนหนุ่มสาว รวมถึงอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี การมาถึงของโลกาภิวัฒน์ สหัสวรรษใหม่ ใครเคยรับชม Pulse (2001) ย่อมรับรู้ถึงความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง พยากรณ์หายนะ วันสิ้นโลก อยากจะล่องเรือหลบหนีไปให้แสนไกล
Let’s live in society and head for the future without giving up hope.
แต่เขาคงตระหนักได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงสรรค์สร้าง Bright Future (2003) ด้วยการอวตารตนเองเป็น(บิดา) Shinichiro หลังเผชิญหน้าความสูญเสีย(บุตรชาย) ต้องการไถ่โทษที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจ พยายามเรียนรู้ เปิดใจ ให้โอกาสกับ Yûji ยินยอมรับสภาพเป็นจริง ทอดทิ้งหายนะไว้เบื้องหลัง แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยประกายความหวัง ก้าวสู่อนาคตสดใส
การโอบรับสิ่งใหม่ๆของผกก. Kurosawa ไม่ใช่แค่ในส่วนพล็อตเรื่องราว แต่ยังรวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ นักแสดงหน้าใหม่ ครั้งแรกใช้กล้องดิจิตอล ทดลองผิดถูกกับผิวสัมผัส (Film Texture) ตัดต่อฉบับสั้น-ยาว (ถือเป็นผู้กำกับที่ไม่มีอีโก้เรื่องความสั้นหรือยาวของหนัง) เพลงประกอบก็ร่วมงานนักแต่งเพลงเพิ่งมีชื่อเสียงไม่นาน
เหล่านี้ทำให้ผมมองว่าผกก. Kurosawa ได้ก้าวผ่านวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) เอาชนะสารพัดความกลัว สามารถโอบรับความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้จักการเป็นบิดา เติบโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็น ‘Mature Film’ ก็ได้กระมัง!
The last scene of Bright Future, the cuddle and embrace scene, represents a kind of reconciliation, a moment during which mutual comprehension becomes possible. I can’t say whether that is a miracle, given that obviously, it’s a fiction, so anything is possible – but yes, I guess that’s how I see it.
แมงกระพรุน (อธิบายเอาตามสัญญะของหนัง) ถูกจับมากักขังอยู่ในตู้ปลาเล็กๆ ไม่สามารถแหวกว่ายไปไหน แต่เมื่อได้รับการปลดปล่อยลงคูคลอง มันจึงพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางหวนกลับสู่ท้องทะเล มหาสมุทรแห่งอิสรภาพ ล่องลอยไปไหนก็ได้ตามใจ
ตอนเข้าฉายญี่ปุ่นเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 เสียงตอบรับค่อนข้างดี จึงมีโอกาสเดินทางไปเทศกาลหนังเมือง Cannes แล้วติดตามต่อด้วยอีกหลากหลายเทศกาลหนังทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเคยเข้าฉายเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๔๘ (ค.ศ. 2005)
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ แต่หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล ทำให้การแปลงไฟล์เป็น DVD หรือหารับชมออนไลน์ (Steaming) คุณภาพออกมาไม่ย่ำแย่สักเท่าไหร่
Bright Future (2003) เป็นภาพยนตร์ที่เกินความคาดหวังของผมไปไกลมากๆ ทั้งนักแสดง พล็อตเรื่องแฝงข้อคิด โดยเฉพาะผิวสัมผัสการถ่ายภาพ เป็นการท้าทายความกลัวของผกก. Kurosawa ต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถยินยอมรับ ปรับตัว มุ่งสู่อนาคตสดใส
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว รวมถึงผู้ใหญ่ตอนต้น อาจรู้สึกว่าตนเองถูกแรงกดดันทางครอบครัว/สังคม เรียนจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ชีวิตไร้จุดมุ่งหมาย ลองหารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มันอาจไม่มีคำตอบเชิงรูปธรรม แต่จักทำให้คุณบังเกิดประกายความหวัง แรงบันดาลใจ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง
จัดเรต 15+ ชีวิตเรื่อยเปื่อย ความรุนแรง การฆาตกรรม
Leave a Reply