Pulse

Pulse (2001) Japanese : Kiyoshi Kurosawa ♥♥♥

การมาถึงของยุคสมัยโลกาภิวัตน์ (Globalization) อินเตอร์เน็ตทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั้งโลก แต่มันทำให้เราคลายความเหงาได้จริงๆหรือ? นั่งอยู่ในห้องมืดๆ หน้าจอสว่างๆ แตกต่างอะไรจากวิญญาณคนตาย?

ยุคสมัยนั้นการจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ยังต้องเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านสายโทรศัพท์ เคเบิล ไฟเบอร์ จับจ้องมองจอตู้มอนิเตอร์ขนาดใหญ่ๆ, ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปมาก โทรศัพท์มือถือ Smartphone ขนาดเล็กกระทัดรัดเท่าฝ่ามือ สามารถยกขึ้นมาเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายได้ทุกที่ทุกเวลา แต่…

Harue: What got you started on the Internet?
Ryosuke: Nothing in particular.
Harue: You don’t like computers.
Ryosuke: Not really.
Harue: Wanted to connect with other people?
Ryosuke: Maybe, I don’t know. Everybody else is into it.
Harue: People don’t really connect, you know?
Ryosuke: What?
Harue: Like those dots simulating humans. We all live totally separately. That’s how it seems to me.

แม้หนังสร้างขึ้นก่อนกาลมาถึงของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media หรือ Social Network) แต่ก็ได้ตั้งคำถามถึงการติดต่อสาร เพื่อนนับพันหมื่นแสนล้านใน Facebook, Twitter, Instragram ฯ มันจะมีสักกี่คนที่เราสามารถพูดคุย พบเจอ พึ่งพาอาศัยได้ในชีวิตจริง!

ในช่วงยุคสมัย New Asian Horror อย่าง Ring (1998), Ju-On: The Grudge (2002), Dark Water (2002), The Eye (2002), A Tale of Two Sisters (2003), หรือหนังไทยอย่าง บุปผาราตรี (พ.ศ. ๒๕๔๖), ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ ล้วนมีลักษณะเด่นคือ ‘Jump Scare’ หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘ผีตุ้งแช่’ ปรากฎภาพสยดสยองพร้อมเสียงประกอบเพื่อสร้างความตกอกตกใจ เกิดอาการหวาดสะพรึงกลัวขึ้นมาทันทีทันใด! แต่ไม่ใช่สำหรับ Pulse (2001) มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศหลอกหลอน สั่นสยิวกาย หายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามาเสียมากกว่า

ผมรู้สึกว่าผู้ชมสมัยใหม่อาจเริ่มไม่เข้าใจศัพท์แสง เทคโนโลยีเก่าๆที่ตกยุคสมัยไปแล้ว (นี่มันล้อกับผู้ชมยุคสมัยนั้น ที่คนรุ่นก่อนก็ไม่เข้าใจศัพท์แสง เทคโนโลยีสมัยใหม่ ล้ำหน้าเกินไป) รวมถึงอนาคตที่ไม่ได้เป็นไปตามคำพยากรณ์ของหนัง (ปัจจุบันคืออนาคตของอดีต อินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำให้โลกพังพินาศวอดวาย) เหล่านี้แปรสภาพ Pulse (2001) ให้กลายเป็นหนังคัลท์ (Cult Following) เราควรสนใจที่แนวคิด ภาพรวม ไม่ต้องไปใส่ใจรายละเอียดผิดๆถูกๆมากนัก

Pulse is best enjoyed if it’s not questioned too closely. It lives visually in a way it cannot live intellectually

นักวิจารณ์จาก The Washington Post

ถึงแม้หนังมีแนวคิดน่าสนใจ ล้ำยุคสมัย มาก่อนกาลเสียด้วยซ้ำ! แต่ข้อเสียค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ ผมรู้สึกว่าผกก. Kurosawa ปรุงปั้นแต่งเกินจริงไปเยอะ การแสดงค่อนข้างแย่ เสื้อผ้าตัวละครดูแปลกตา ลำดับเรื่องราวคู่ขนานทำให้เกิดความสับสน เหตุการณ์หายนะไม่มีคำอธิบายใดๆ ภาพรวมเลยดูไม่ค่อยกลมกล่อมสักเท่าไหร่


Kiyoshi Kurosawa, 黒沢 清 (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะสังคมวิทยา Rikkyo University ระหว่างนั้นได้เป็นสมาชิกกลุ่มภาพยนตร์สมัครเล่น Parodias Unity ร่วมกับ Tatsuya Mori และ Akihiko Shiota ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีภาพยนตร์ของนักวิจารณ์ Shigehiko Hasumi (ที่รับอิทธิพลมาจาก French New Wave) เริ่มต้นสรรค์สร้างหนังสั้น 8mm, ก่อนได้งานผู้ช่วยกองถ่าย The Man Who Stole the Sun (1979), ผู้ช่วยผู้กำกับ Sailor Suit and Machine Gun (1981), กำกับหนังแนว Pink Film เรื่องแรก Kandagawa Pervert Wars (1983), ติดตามด้วย The Excitement of the Do-Re-Mi-Fa Girl (1985), Sweet Home (1989), The Guard from Underground (1992), ช่วงต้นทศวรรษ 90s ใช้เวลาว่างๆพัฒนาบทหนัง Charisma แล้วได้รับทุนการศึกษาจากสถาบัน Sundance Institute จึงมีโอกาสเดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยังสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาไม่สามารถหางานในวงการ เลยผันตัวเข้าสู่ V-Cinema (Vシネマ) สำหรับส่งตรงลง Home Video (Direct-to-Video) เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ สะสมชื่อเสียงจนสามารถยื่นขอทุนสร้าง Cure (1997), License to Live (1998), Charisma (1999), Séance (2000) ฯ

เกร็ด: Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Akira Kurosawa

ด้วยกระแสนิยมของ Ring (1998) ทำให้ผกก. Kurosawa มีความสนใจอยากลองสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับผี “What can I do to show what I think a ghost is?” มองไปโดยรอบพบเห็นการมาถึงของอินเตอร์เน็ต กำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย แต่คนส่วนใหญ่(สมัยนั้น)ไม่เคยครุ่นคิด ทำความเข้าใจอิทธิพล ผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลงที่จักบังเกิดขึ้นในอนาคต

At the time I wrote this film the internet was just starting to become popularized. It was before anybody really had a full idea of what effect it was going to have on our daily lives. Through the power of marketing it just spreads all over—in the case of Japan, to just so many households, I think at the time it was just kind of this unknown force that was spreading like a virus throughout the country and had that kind of ominous and menacing feel to it.

Kiyoshi Kurosawa

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาญี่ปุ่น 回路 อ่านว่า Kairo, แปลตรงตัว Circuit, วงจรไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, แต่เลือกใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Pulse ซึ่งสามารถแปรว่า ชีพจร การสั่นสะเทือน ซึ่งเหมารวมถึงสัญญาณไฟฟ้า/อินเตอร์เน็ต (เป็นคำที่มีนัยยะลึกซึ้งกว่า เพราะสามารถสื่อถึงสัญญาณชีวิต/วิญญาณ = สัญญาณอินเตอร์เน็ต)


หนังสามารถแบ่งออกเป็นสองเรื่องราวคู่ขนาน ก่อนดำเนินมาบรรจบกันเมื่อเข้าสู่องก์สาม

เรื่องราวแรกของ Michi Kudo (รับบทโดย Kumiko Asō) เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุง Tokyo ทำงานร้านดูแลต้นไม้ร่วมกับเพื่อนสาว Junko Sasano (รับบทโดย Kurume Arisaka), เพื่อนชาย Toshio Yabe (รับบทโดย Masatoshi Matsuo) และ Taguchi ที่หายหน้าหายตา ไม่มาทำงานหลายวัน เธอจึงเดินทางไปเยี่ยมเยียนยังอพาร์ทเม้นท์ กลับพบเห็นว่าอีกฝ่ายผูกคอฆ่าตัวตาย!, Toshio พยายามค้นหาเบื้องหลังความจริง แต่เมื่อเข้าไปในห้องต้องห้ามของ Taguchi กลับออกมาในสภาพห่อเหี่ยว สิ้นหวัง, Junko ก็เฉกเช่นเดียวกัน พลั้งพลาดเข้าไปในห้องต้องห้ามของหัวหน้า พบเห็นวิญญาณผี กลับออกมามีสภาพห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวแรง กลายเป็นผุยผง ปลิดปลิวตามสายลม

อีกเรื่องราวเกี่ยวกับ Ryosuke Kawashima (รับบทโดย Haruhiko Kato) นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ เพิ่งเริ่มหัดเล่นอินเตอร์เน็ต แต่เหมือนว่าคอมพิวเตอร์จะเชื่อมต่อผู้ให้บริการด้วยตัวมันเอง แล้วปรากฎภาพบุคคลแปลกหน้าในห้องมืดมิด พยายามขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่สาว Harue Karasawa (รับบทโดย Koyuki) กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ให้คำแนะนำทำการ Bookmark และบันทึกหน้าจอ (Print Screen) เพื่อสืบค้นหาสาเหตุต้นตอ ถึงอย่างนั้นเธอกลับค่อยๆสูญเสียตนเอง ชักชวนเขาหลบหนีไปให้แสนไกล สุดท้ายกลับมาเปิดคอมพิวเตอร์ พบเห็นภาพตนเองในจอมอนิเตอร์ แล้วกล้องอยู่แห่งไหน?

ระหว่างที่ Ryosuke พยายามติดตามค้นหา Harue บังเอิญมาพบเจอ Michi ร่วมออกเดินทางในวันโลกาวินาศ ใครต่อใครต่างสูญหายตัวไปอย่างลึกลึบ ก่อนทั้งสองตัดสินใจขึ้นเรือหลบหนีสู่อเมริกาใต้ ไปให้พ้นจากสัญญาณอันตราย


ในส่วนของนักแสดง นอกจากบทรับเชิญของ Kōji Yakusho แทบทั้งหมดล้วนเป็นนักแสดงหน้าใหม่ เพียงพานผ่านงานถ่ายแบบ โมเดล โฆษณา ยังไม่มักคุ้นหน้าคุ้นตา การแสดงเลยดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาตินัก บทพูดฝืนๆ ท่องอ่าน เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคที่พวกเขาคงไม่เข้าใจสักเท่าไหร่

  • Michi Kudo (รับบทโดย Kumiko Asō) หญิงสาวจากบ้านนอกเข้ามาทำงานในกรุง Tokyo ไม่ค่อยมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มากนัก แต่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นห่วงเป็นใยเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะสนิทสนมหรือไม่ก็ตาม ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียม คอยเสนอตัว พร้อมรับฟังปัญหา แต่กลับไม่มีใครสนใจใยดีเธอสักเท่าไหร่ จนกระทั่งทุกคนกลายเป็นผุยผง
    • Michi เป็นตัวละครเดียวที่สามารถขึ้นเรือหลบหนีสู่อเมริกาใต้ และเหตุการณ์ทั้งหมดสามารถมองว่าเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเธอ
  • Ryosuke Kawashima (รับบทโดย Haruhiko Kato) นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ เพิ่งเริ่มสนใจในคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง จึงขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ Harue และขณะที่ใครๆต่างสูญหายตัวไป พยายามให้ความช่วยเหลือ ปกปักษ์รักษา ร่วมกันออกเดินทาง น่าเสียดายไม่สามารถบรรลุเป้าหมายปลายทาง
  • Harue Karasawa (รับบทโดย Koyuki หลังจากนี้จะโด่งดังจาก The Last Samurai (2003) และไตรภาค Always: Sunset on Third Street) นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ รุ่นพี่ของ Ryosuke มีความสนใจต่อเหตุการณ์ประหลาดๆบังเกิดขึ้น ต้องการขบไขปริศนา ค้นหาใครคือแฮ็คเกอร์ ตระหนักว่าตนเองตกอยู่ในอันตราย พยายามหลบหนีไปให้แสนไกล ก่อนตระหนักถึงความจริงที่ไม่มีใครเอาตัวรอดพ้น

ผมพอจะเข้าใจว่าผกก. Kurosawa สร้างสองเรื่องราวคู่ขนานเพื่อให้ชาย-หญิง (ตัวละครหลักจากแต่ละเรื่องราว) ที่ไม่ค่อยมีความรู้ใดๆเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์/อินเตอร์เน็ตมาพบเจอ แล้วชักชวนหลบหนีไปด้วยกัน แต่ทว่าทั้งสองตัวละครกลับไม่มีพื้นหลัง เรื่องราว พัฒนาการอะไรใดๆ (หรือคือไม่มี Character Development) พวกเขาเพียงเผชิญหน้าสารพัดปัญหารอบข้าง แล้วจับพลัดจับพลูมาพบเจอกัน ผู้ชมเลยไม่รู้สึกอะไรกับตัวละคร ไม่รู้จะเชียร์ให้เอาตัวรอดไปทำไม บางคนอาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำว่าใครคือพระเอก-นางเอก … Koyuki ในบท Harue ยังน่าจดจำหว่า Kumiko Asō เสียอีกนะ!


ถ่ายภาพโดย Jun’ichirō Hayashi, 林淳一郎 (เกิดปี ค.ศ. 1948) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น ผลงานเด่นๆ อาทิ Kyôshû (1988), Ringu (1998), License to Live (1998), Charisma (1999), Pulse (2001), Dark Water (2002), Cyborg She (2008) ฯ

แซว: ตากล้อง Hayashi เป็นคนไม่ชอบหนังผี แต่ก็มักถูกเชื้อเชิญให้ถ่ายทำหนัง Horror หลายสิบๆเรื่องๆ เคยเล่าว่าพยายามรับชม Suspiria (1977) เพื่อศึกษาการถ่ายภาพ นำแรงบันดาลใจมาปรับประยุกต์ใช้งาน … กลับไม่เคยดูจนจบสักครั้ง!

เพื่อสร้างบรรยากาศวันสิ้นโลก โลกาวินาศ จึงมีการย้อมสีภาพให้ดูหมองหม่น ทะมึน อึมครึม ละเล่นกับเงามืด โทนสีซีดๆ (แทบไม่พบเห็นสีสันที่มีชีวิตชีวา) ให้เวลากับการดำเนินไปของเรื่องราวอย่างเอื่อยเฉื่อย กล้องค่อยๆขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า บางครั้งก็ถ่ายทำแบบสโลโมชั่น (Slow Motion) สร้างสัมผัสวิญญาณ/สิ่งชั่วร้ายกำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามา

ตามสไตล์ผกก. Kurosawa ชอบที่จะถ่ายภาพระยะไกล (Long Shot) หลายครั้งปกคลุมด้วยความมืดมิด (ถ่ายผ่านหน้าต่างบ่อยครั้งทีเดียว) มองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่จักทำให้จินตนาการของผู้ชมเตลิดเปิดเปิงไปไกล

นอกจากลูกเล่นภาพยนตร์ทั่วๆไป หนังยังมีการใช้ Computer Graphic (CG) เพื่อสร้างเอ็ฟเฟ็กวิญญาณ ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ และโดยเฉพาะญี่ปุ่นในวันโลกาวินาศ มันอาจดูไม่ค่อยสมจริงนักในปัจจุบัน (ตอนรับชมสมัยนั้นโคตรดูดี) จึงแปรสภาพกลายเป็นหนังคัลท์ (Cult Following)


บ่อยครั้งทีเดียวที่มุมกล้องถ่ายทำจากภายนอก ลอดผ่านกระจกหน้าต่าง หรือตัวละครถูกห้อมล้อมด้วยกรอบ กรงขัง เพื่อสื่อถึงชีวิตที่ถูกควบคุมครอบงำ ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ติดกับดัก มิอาจดิ้นหลบหนีออกมา

วิธีการของผกก. Kurosawa ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง! เริ่มต้นจากทำการล่อหลอกผู้ชม (misdirection) จู่ๆเจ้าของห้อง Taguchi ค่อยลุกขึ้นยืนด้านหลังผ้าม่าน เข้ามาพูดคุยทักทายกับเพื่อนสาว Michi เดินทางมาทวงแผ่นดิสก์ทำงาน ช่างดูไม่มีความผิดปกติอะไรใดๆ แต่แล้วตอนจบของซีน จู่ๆหญิงสาวเดินไปเห็นอะไรบางอย่าง แสดงสีหน้าตื่นตกอกตกใจ ก่อนเปิดเผยภาพฝ่ายชายที่ผูกคอตาย ดูจากสภาพน่าจะผ่านมาหลายวันแล้ว เช่นนั้นบุคคลที่เพิ่งพูดคุยทักทายกันก่อนหน้านี้ ย่อมต้องคือ !#$$%^ เพิ่งมาตระหนักได้ภายหลังแบบนี้ แม้งขนลุกชิบหาย น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า ‘jump scare’ เสียอีก!

แวบแรกเห็นเครื่องแต่งกายของสองสาว ผมเกิดความชะงักงันขึ้นมาโดนพลัน เพื่อนร่วมงานเพิ่งเสียชีวิตแทนที่จะเลือกชุดไว้อาลัย โทนสีเข้มๆหรืออ่อนๆ แต่คนหนึ่งกลับสวมใส่ชุดเดรสดูค่อนข้างหรูหรา อีกคนหนึ่งก็สีสันสดใสเกิ้น มาทำงานร้านต้นไม้ ยุคสมัยนั้นแต่งตัวแฟชั่นกันเลยเหรอ? ไม่เข้ากับบรรยากาศหนังเลยสักนิด!

ผมพอทำความเข้าใจชุดสีสันของ Michi ว่าเป็นคนโลกสวย มองโลกในแง่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยี มีความบ้านๆ สวยใสไร้เดียงสา แต่สำหรับเพื่อนสาว Junko ผมไม่เข้าใจว่าเธอกำลังไปร่วมงานแต่งหรืออย่างไร? สวยก่อนตาย?

ยุคสมัยนั้นเวลาจะเล่นอินเตอร์เน็ตบ้าน ต้องใช้เครื่องโมเด็ม (Modem) เชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้ให้บริการ ISP (Internet Service Provider) … ที่ผมกล่าวมามันกลายเป็นศัพท์โบราณไปแล้วนะเนี่ย ยุคสมัยนี้ไม่ต้องต่อโมเด็ม แค่มีเครื่องรับ-ส่งสัญญาณก็สามารถเล่นอินเตอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แซว: ทีแรกผมเห็นชื่อผู้ให้บริการ ISP ขึ้นว่า UR@NUS ดันไปนึกถึงเทพเจ้าแห่งความตาย จริงๆแล้วมันต้อง Pluto ขณะที่ยูเรนัส หรือดาวมฤตยู คือเทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ หนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะ

ใครหว่า???

จริงๆแล้วหนังมีรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ อยู่ไม่น้อย แต่ผมขี้เกียจเขียนอธิบาย เลยจะยกตัวอย่างฉากง่ายๆตอนที่ Ryosuke เดินทางไปสอบถามนักศึกษาคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับอาการผิดปกติของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

  • บุคคลแรกที่ Ryosuke เข้าไปนั่งคุยอยู่ฝั่งขวาของภาพ ถามคำตอบคำ คงกำลังยุ่งวุ่นวายกับงานเบื้องหน้า
  • แต่พอเอ่ยปากคำว่า “Hacker” งานภาพมีการ Whippan ไปยังรุ่นพี่ Harue ที่กำลังสอนคอมพิวเตอร์อยู่ฝากฝั่งตรงกันข้าม
  • หลังจาก Ryosuke ล้มเลิกความตั้งใจจะสอบถามเพื่อนคนนั้น เดินข้ามมาอยู่ฝั่งขวาของภาพ รุ่นพี่สาว Harue ที่แอบได้ยินการสนทนาเมื่อครู่ ตรงเข้ามาทักทาย สอบถามไถ่ ให้คำแนะนำ

พอจะเห็นสังเกตเห็นลีลาการนำเสนอของผกก. Kurosawa จากที่ผมอธิบายไปบ้างรึเปล่า? ฟากฝั่งขวา (อนุรักษ์นิยม) ตัวแทนความไม่รู้ไม่สน, ตรงกันข้ามกับฝั่งซ้าย (เสรีชน) รุ่นพี่เข้ามาแสดงความสนอกสนใจ

เมื่อตอน Toshio เดินทางไปห้องพักของ Taguchi เปิดไฟครั้งแรกเห็นเพียงร่องรอยดำๆบนฝาผนัง แต่พอปิดแล้วเปิดใหม่พบเห็นเพื่อนตัวเป็นๆ พยายามเดินเข้าหา ก่อนจู่ๆบริเวณนั้นกลับกลายเป็นขี้เถ้าดำๆอีกครั้ง, จุดประสงค์ของซีนนี้ไม่ใช่สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง แต่ต้องการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรอยดำกับคนตาย ให้อิสระผู้ชมลองครุ่นคิดจินตนาการดูก่อนว่ามันเคลือบแฝงนัยยะอันใด (แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในฉากถัดๆไป)

ห้องต้องห้าม (Forbidden Room) ปรากฎอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อพาร์ทเม้นท์ ห้องพัก โรงงานร้าง ฯ มักมีเทปผ้าสีแดงติดห้อมล้อมรอบ สร้างความสะดุดตา บังเกิดแรงดึงดูดให้ผู้พบเห็น อยากรู้อยากเห็น อยากย่างก้าวเข้าไปภายในนั้น!

เกร็ด: ตามความเชื่อพุทธชินโตใน Japanese Folklore รูปปั้นเทพเจ้า หรืออะไรก็ตามที่มีสีแดง แทนสัญลักษณ์การปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ขับไล่ปีศาจ โรคภัยไข้เจ็บ แบ่งแยกโลกมนุษย์กับวิญญาณ

การปรากฎตัวของวิญญาณในห้องต้องห้าม เลื่องชื่อลือเล่าขาน หลายคนบอกว่าคือหนึ่งในฉากหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สยองขวัญที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ Horror

เหตุผมที่มันโคตรหลอกหลอน มีหลากหลายปัจจัยให้ครุ่นคิดวิเคราะห์อย่างมากๆ

  • บรรยากาศฉากนี้ปกคลุมด้วยความมืด มองอะไรไม่ค่อยเห็น เลยบอกไม่ได้ว่านั่นมนุษย์หรือวิญญาณ
  • กล้องถ่ายจากระยะไกล เลยมองอะไรไม่ค่อยเห็นเช่นกัน แล้วให้นักแสดง(ผี)ค่อยๆก้าวย่างเข้ามาอย่างสโลโมชั่น (น่าจะประมาณ x4 สโลโมชั่น เชื่องช้ามากๆ)
  • ท่าเดินบิดๆเบี้ยวๆ เหมือนกำลังสะดุดล้ม (นั่นคือท่าเต้นที่นักแสดง Akiko Kitamura ซักซ้อมมาอย่างดี) คงทำให้หลายคนหัวใจตกหล่นลงตาตุ่ม จินตนาการถึงความไม่สมประกอบ หลอกหลอน หวาดสะพรึง
  • เพลงประกอบที่ค่อยๆไต่ไล่ระดับ ทวีความสั่นสยอง ขนหัวลุกพองทีละเส้นสองเส้น

นอกจากตอนกำลังเดินเข้าหา มันยังมีวิญญาณ(ผี)ค่อยๆยื่นศีรษะโผล่ออกมา นั่นสร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสยองขวัญไม่แพ้กัน! เพราะมันมองอะไรแทบไม่เห็น ทำให้แสงไฟเล็กๆในดวงตา(ของผี)มีความเด่นชัดเจน

ทีแรกผมนึกว่าภาพพักหน้าจอ (Screensaver) เสียด้วยซ้ำ! ถ้าไม่ได้รับการอธิบายจากรุ่นพี่ Harue ว่าคือการโปรแกรมจำลองโมเดลความสัมพันธ์มนุษย์

  • ถ้าสองจุดอยู่ใกล้กันเกินไปจะโดนทำลาย หรือถูกกลืนกิน
    • เมื่อแรกรักคนสองปานจะกลืนกิน แต่นานวันกลับพยายามตีตนออกห่างไกล
  • แต่ถ้าอยู่ห่างกันเกินไปจะเกิดแรงดึงดูดให้หวนกลับมาใกล้กัน
    • มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงโหยหาที่อยู่เคียงข้างใครสักคน

Michi เห็นสภาพเหี่ยวๆของ Toshio จึงอยากเสนอตัว เข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อพูดคุยกับหัวหน้ากลับได้รับคำแนะนำ “คนพรรค์นั้นช่วยไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด” ผมรู้สึกเหมือนเป็นการยัดเยียดบทสนทนา จู่ๆก็แทรกใส่เข้ามา ก่อนหน้านี้ไม่เคยพูดคุยกับใคร วันๆเอาแต่รดน้ำต้นไม้ ใครกันแน่ที่มีความเห็นแก่ตัว ช่วยไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด?

ตัวละครนี้อาจเป็นตัวแทนชนชั้นผู้นำ ทำงานอยู่เบื้องบน(ดาดฟ้า) เลยไม่ยี่หร่าลูกน้อง พนักงานใต้สังกัด ใครอยากทำอะไรก็ทำไม สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน มีจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัวเป็นตั้ง!

แน่นอนว่านางเอก Michi ไม่สนใจรับฟังคำของหัวหน้า พยายามเข้าไปคุยกับ Toshio เสนอตัวให้ความช่วยเหลือ แม้จะถูกอีกฝ่ายบอกปัดปฏิเสธ แต่ก็ได้ล่วงรู้ข้อมูลสำคัญบางอย่าง “Don’t dare go in there!”

ความเชื่อเรื่องผีของ Pulse (2001) มันช่างบิดๆเบี้ยวๆ ฟังดูไร้สาระ แต่ถือว่ามีความเป็นคัลท์ยิ่งนัก! รุ่นพี่คนหนึ่งเล่าทฤษฎีสมคบคิดให้กับ Ryosuke กล่าวว่าวิญญาณล่องลอยมีมากมายนับไม่ถ้วนจนล้นภพภูมิ ทำให้บางส่วนต้องหวนกลับมาบนโลกมนุษย์ อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีใครตระเตรียมไว้ ห้องล้อมรอบด้วยกรอบสีแดง … ศาลพระภูมิ?

เช่นนั้นแล้วเมื่อใครบุกรุกล้ำเข้าไปยังห้องต้องห้าม (ที่มีเทปผ้าสีแดงห้อมล้อมรอบ) ย่อมมีโอกาสพบเจอวิญญาณล่องลอย ผีที่มีรูปร่างหน้าตาจับต้องได้

มนุษย์คนไหนที่ก้าวย่าวเข้าไปในห้องต้องห้าม พบเห็นวิญญาณล่องลอย จะเกิดความห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวแรง สูญเสียความกระตือรือล้นในการชีวิต จากนั้นจักค่อยๆเลือนหาย กลายเป็นผุยผง ถ้าในห้องปิดทอดทิ้งร่องรอยดำๆบนฝาผนัง แต่ถ้าเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ จักถูกสายลมพัดปลิดปลิว

รุ่นพี่ Harue เป็นคนขี้เหงา ตั้งแต่เด็กแม้อาศัยอยู่กับครอบครัว กลับรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย มีความหวาดกลัวตายเพราะครุ่นคิดว่า(ตายไปแล้ว)ต้องอยู่ตัวคนเดียว เหงาหงอย เปล่าเปลี่ยว จึงพยายามสืบค้นหาความจริง ต้องการพบเจอต้นตอ แฮกเกอร์ พิสูจน์ว่าผีมีตัวตนหรือไม่?

เรื่องราวของรุ่นพี่ Harue ไม่ต่างจากโปรแกรมพักหน้าจอ (Screen Saver) ช่วงแรกๆพยายามรักษาระยะห่างกับ Ryosuke แต่พอเริ่มสนิทสนมใกล้ชิด ชักชวนกันหลบหนี ศีรษะพักบนไหล่ แต่พอขบวนรถไฟหยุดจอดกลางทาง ทั้งสองก็มีเหตุให้เหินห่าง พลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์

หลายคนอาจลุ้นเชียร์รุ่นพี่ Harue ให้สามารถเอาชีวิตรอด แต่เป้าหมายตัวละครคือการค้นหาต้นตอ แฮกเกอร์ (Hacker) สตอล์กเกอร์ (Stalker) ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ซ่อนกล้องแอบถ่ายในห้องพักคนอื่น?

หนังพยายามล่อหลอกผู้ชมว่าห้องต้องห้าม (Forbidden Room) จะต้องมีเทปผ้าใบสีแดงติดล้อมรอบบานประตู จริงๆแล้วมันไม่มีความจำเป็นเลยสักนิด! อย่างห้องพักของ Harue พอรับรู้ตัวว่าตนเองถูกแอบถ่าย ปรากฎภาพในจอมอนิเตอร์ เลยตัดสินใจก้าวเดินเข้าไปในห้องนอน (เพียงเก้าอี้สีแดงวางอยู่ตรงประตู) ไม่พบเจอกล้องแอบถ่าย กลับกลายเป็นสัญญาณ = วิญญาณ นั่นคือวินาทีที่เธอตระหนักถึงการมีตัวตนของสิ่งเหนือธรรมชาติ สามารถเทียบเทียบกับห้องต้องห้ามได้เลยกระมัง!

การตระหนักถึงการมีตัวตนของวิญญาณ สิ่งเหนือธรรมชาติ ทำให้หญิงสาวรับรู้ว่าตนเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย รอบข้างกายเต็มไปด้วยเพื่อน/วิญญาณมากมาย เลยไม่รู้สึกเหงาหงอยเศร้าซึมอีกต่อไป ตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพื่อจักได้กลายเป็นวิญญาณ เคียงข้าง ครองรักกับเพื่อน/วิญญาณตราบชั่วกาลปาวสาน (นั่นคือเหตุผลของการโอบกอด จุมพิต ตกหลุมรักความตาย)

เมื่อบรรดาผู้ใช้อินเตอร์เน็ต = เข้าไปในห้องต้องห้าม = จักกลายร่างเป็นเศษฝุ่น ผุยผง นั่นคือเหตุผลของการสูญหายตัวของผู้คน จนเมืองร้าง ท้องถนนว่างเปล่า มีสภาพไม่ต่างจากวันสิ้นโลก โลกาวินาศ

Michi และ Ryosuke ทั้งสองต่างไม่เคยเล่นอินเตอร์เน็ต ยังไม่เคยเข้าห้องต้องห้าม จึงมีโอกาสจับพลัดจับพลู บังเอิญพบเจอบริเวณจุดตัดระหว่างท้องถนน และเบื้องบนน่าจะคือทางรถไฟ รถจอดเสีย ลงมือซ่อมแซม พร้อมแล้วที่จะร่วมออกเดินทางครั้งใหม่

Michi & Ryosuke แวะเวียนไปยังห้องรุ่นพี่ Harue พบเห็นฝาผนังเต็มไปด้วยข้อความขีดๆเขียนๆ 助けるอ่านว่า Tasukeru แปลว่า Help Me! แสดงถึงสภาพสิ้นหวัง โหยหาความช่วยเหลือจากใครสักคน และห้องแห่งนี้ยังมีหน้าต่างเล็กๆ สอดส่องแสงสว่าง(แห่งความหวัง) เหม่อมองออกไปพบเห็นโรงงานร้างแห่งหนึ่ง

ผมดูไม่ออกว่าโรงงานทิ้งร้างแห่งนี้เคยผลิตอะไร แต่บรรดาเครื่องจักรกลที่ถูกทอดทิ้ง คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย เพราะโลกกำลังก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ การมาถึงของอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีสารสนเทศ จักเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมรูปแบบเดิมๆ … อธิบายแบบนี้อาจฟังดูงงๆเลยขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

  • โรงงานสมัยก่อน กระบวนการผลิตต้องใช้แรงงานมนุษย์ อาจมีเครื่องจักรทุ่นแรงบ้างนิดหน่อย
  • การมาถึงของยุคสมัยคอมพิวเตอร์ ช่วยสร้างระบบที่ทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง แต่ยังต้องมีมนุษย์คอยกำกับดูแล
  • และถ้าเทียบกับปัจจุบัน ยุคสมัยปัญญาประดิษฐ์ มันสามารถคิดเองทำเอง ตัดสินใจเองได้ด้วย แรงงานมนุษย์ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป!

ย้อนรอยกับตอนที่ Harue พิงไหล่ Ryosuke ในขบวนรถไฟ, คราวนี้ถ่ายจากด้านหลังรถยนต์ Ryosuke เอียงตัวมาพิงไหล่ Michi แสดงถึงการโหยหาที่พึงพักพิง

  • เมื่อตอน Harue เธอมีความโดดเดี่ยวเดียวดาย กลัวตาย หลังจากเพื่อนๆมหาวิทยาลัยสูญหายตัวไป เลยหลงเหลือเพียง Ryosuke ให้พึ่งพักพิง
  • แต่สำหรับ Ryosuke เพราะเพิ่งสูญเสียรุ่นพี่ Harue จิตใจยังไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อยากร่ำร้องไห้ แต่ลูกผู้ชายไม่สามารถแสดงอารมณ์ใดออกมา

และตอนสตาร์ทรถ ปรากฎว่าน้ำมันหมด (อาจจะสื่อถึงการจมปลักของ Ryosuke ยังคงเศร้าโศกเสียใจ จึงยังไม่สามารถดำเนินไปต่อ) จึงหวนกลับเข้าไปในโรงงาน ซึ่งระหว่างกำลังสูบน้ำมันเข้าแกลอน จู่ๆประตู(ห้องต้องห้าม)ห้อมล้อมด้วยเทปผ้าสีแดงค่อยๆเปิดแง้มออก

ช่วงกลางๆเรื่องที่ Ryosuke รับฟังทฤษฏีห้องผีสิงจากรุ่นพี่ผู้ชาย เคยเอ่ยกล่าวว่าไม่เชื่อ จึงไร้ความแวดระวังภัย แม้เห็นมันเปิดออกเองก็ไม่ได้รู้ครุ่นคิดอะไร แถมโชคชะตายังนำพาให้เขาต้องเดินเข้าไป (ทำฝาแกลอนหลุดหรืออะไรสักอย่าง) … นี่ย้อนรอยตอนรุ่นพี่ Harue เข้าไปในห้องนอนแล้วพบเจอกับวิญญาณ

ในตอนแรกผกก. Kurosawa อยากให้ผีตนนี้สร้างขึ้นโดย Computer Graphic (CG) แต่ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างเลยเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง แต่งหน้าแต่งตา ใส่เอ็ฟเฟ็กเบลอๆเข้าไป แค่นี้ก็สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง โดยเฉพาะขณะยื่นหน้าเข้ามาหากล้อง แล้วจู่ๆปรับโฟกัสเฉพาะบริเวณดวงตาให้มีความคมชัดขึ้นมา

ผีตนนี้ที่พบเจอ มีอิทธิฤทธิ์สามารถจับต้องกายเนื้อ (สัญลักษณ์ของการมีตัวตน) รวมถึงพูดคุยสนทนา เปิดเผยความจริงที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของรุ่นพี่ Harue (ที่เชื่อว่าตายกลายเป็นวิญญาณ จะไม่โดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป) บอกว่าความตายคือ Eternal loneliness… เหงาชั่วกาลปาวสาน

ไม่รู้เหมือนกันว่า Ryosuke ออกจากห้องต้องห้ามตอนไหน ยังไง? แต่มาโผล่ยังตำแหน่งที่รุ่นพี่ Harue ฆ่าตัวตาย! นี่เป็นการย้อนรอยโชคชะตาของทั้งสองที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม (รุ่นพี่ Harue ครุ่นคิดว่าตายไปจะหายเหงา, แต่ทว่า Ryosuke เพิ่งรับรู้มาว่าความตายคือเหงาชั่วนิรันดร์)

และพอถูก Michi ลากพาตัวขึ้นรถ พบเห็นร่องรอยดำๆบนพื้น นั่นย่อมเป็นของรุ่นพี่ Harue (เพราะร่องรองของ Ryosuke จะไปปรากฎอยู่บนเรือตอนจบ) เพื่อแสดงให้เห็นถึงโชคชะตาซ้อนทับ (ระหว่าง Harue และ Ryosuke) นั่นอาจรวมถึงตอนที่ Ryosuke ยืนบดบัง/ซ้อนทับผีในห้องต้องห้ามด้วยเช่นกัน

การตัดสินใจของ Michi ทำการหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่ขอยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับอินเตอร์เน็ต สามารถสะท้อนมุมมองผกก. Kurosawa มีความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ … แต่นี่ใช่สิ่งถูกต้องหรือไม่?

ผมรู้สึกว่าคำถามนี้ “Have I done the right thing?” ผกก. Kurosawa น่าจะสอบถามตัวเองมากกว่า ว่าการกีดกัน ปิดกั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมหรือไม่? แต่เราไม่ต้องไปครุ่นคิดแทนหรอกนะครับ กาลเวลาจะเป็นสิ่งเสี้ยมสอนเขาเอง ปัจจุบันคงรับรู้คำตอบเรียบร้อยแล้วแหละ!

อินเตอร์เน็ต (Internet) เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media หรือ Social Network) มันเป็นดาบสองคมที่มีทั้งคุณประโยชน์ และโทษมหันต์

  • Michi เลือกไม่ยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับสังคมออนไลน์ เขาอาจตกเทรนด์ ตกยุคตกสมัย ไม่ทันคนรุ่นใหม่ แต่ก็สามารถมีความสุขบนโลกความจริง กับสรรพสิ่งมีตัวตนจับต้องได้
  • คนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Gen Y เติบโตมากับอินเตอร์เน็ต เป็นคนทันยุคทันสมัย มีสังคมออนไลน์เป็นที่พักพิงทางใจ ขาดไม่ได้ จะเป็นจะตาย โลกความจริงช่างน่าเบื่อหน่าย สุดท้ายจะมีสภาพไม่แตกต่างจาก Ryosuke กลายเป็นผุยผง ไร้ตัวตนในสังคม

ตัดต่อโดย Junichi Kikuchi, 菊池純一 ผลงานเด่นๆ อาทิ Sumo Do, Sumo Don’t (1992), Shall We Dance? (1996), Charisma (1999), Pulse (2001), I Just Didn’t do It (2006) ฯ

หนังนำเสนอสองเรื่องราวคู่ขนาน Michi Kudo เดินทางมาทำงานร้านต้นไม้ในกรุง Tokyo และ Ryosuke Kawashima นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ดำเนินเรื่องเคียงข้าง ตัดสลับไปมา ก่อนทั้งสองจะมาบรรจบพบเจอเมื่อเข้าสู่องก์สาม ร่วมออกเดินทางค้นหา Harue Karasawa (รุ่นพี่ของ Ryosuke) ก่อนตัดสินใจหลบหนีจากญี่ปุ่น ขึ้นเรือมุ่งสู่อเมริกาใต้

  • อารัมบท, Michi บนเรือโดยสารเดินทางสู่อเมริกาใต้ หวนระลึกเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันพานผ่าน
  • แนะนำตัวละคร
    • การหายตัวไปของเพื่อนร่วมงาน Taguchi ทำให้ Michi เดินทางไปเยี่ยมเยียนที่อพาร์ทเมนท์ ก่อนพบว่าอีกฝ่ายผูกคอฆ่าตัวตาย
    • Ryosuke ทดลองเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แต่มันกลับปรากฎภาพอะไรไม่รู้ เลยไปขอความช่วยเหลือ Harue รุ่นพี่คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • Toshio Yabe หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของ Michi ต้องการสืบหาเบื้องหลังความตายของ Taguchi เดินทางไปที่อพาร์ทเม้นท์ ก้าวเข้าห้องต้องห้าม พบเจอวิญญาณ กลับออกมาในสภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง
    • Ryosuke กลับมาห้องพัก ทำตามคำแนะนำรุ่นพี่ Harue แล้วพามายังอพาร์ทเม้นท์ให้ช่วยตรวจสอบโน่นนี่นั่น
    • Michi เห็นความผิดปกติของ Toshio พยายามจะให้ความช่วยเหลือแต่อีกฝ่ายกลับเงียบงัน เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนสาว Junko Sasano กักขังตนเองในห้อง, ระหว่างทางกลับบ้าน พบเห็นคนกระโดดจากที่สูงฆ่าตัวตาย
    • Ryosuke พบเจอรุ่นพี่ Harue ในห้องสมุด เล่าปรากฎการณ์แปลกๆเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากนั้นเขาพบเจอร่างดำ (Phantom) พยายามวิ่งไล่จับแต่กลับไม่พบเจออะไร รับฟังทฤษฎีเกี่ยวกับวิญญาณจากรุ่นพี่อีกคน
  • หายนะบังเกิดขึ้น
    • Toshio กลายเป็นผุยผง, ขณะเดียวกัน Junko เข้าไปในห้องต้องห้าม พบเห็นวิญญาณ ก่อนถูก Michi ลากพาออกมาแล้วให้อาศัยในห้องพักตนเอง
    • รุ่นพี่ Harue รับรู้ตัวว่าถลำลึกเกินไปกับการค้นหาแฮกเกอร์ ตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง
    • Junko กลายเป็นผุยผงไปเช่นเดียวกัน
    • Ryosuke และรุ่นพี่ Harue ชักชวนกันหลบหนีจากกรุง Tokyo แต่ก็ไปไหนได้ไม่ไกล
    • Harue กลับมาห้องพัก พบเห็นภาพในจอมอนิเตอร์ ก่อนค้นพบต้นสัญญาณแฮกเกอร์
  • Michi และ Ryosuke
    • ระหว่างที่ Ryosuke พยายามออกติดตามหารุ่นพี่ Harue พบเจอกับ Michi รถเสียอยู่กลางถนน
    • ทั้งสองร่วมกันออกเดินทางค้นหา Harue มาถึงยังโรงงานร้างแห่งหนึ่ง
    • ที่โรงงานร้างแห่งนี้ ทั้งสองพบเห็นรุ่นพี่ Harue ฆ่าตัวตาย
    • ทั้งสองตั้งใจขับรถหลบหนีไปให้แสนไกล แต่น้ำมันหมดระหว่างทาง Ryosuke พลั้งพลาดเข้าไปในห้องต้องห้าม
    • Michi ลากพา Ryosuke ขึ้นเรือออกเดินทางหลบหนีจากกรุง Tokyo
  • ปัจฉิมบท, หวนกลับมาบนเรือโดยสาร Michi พูดคุยกับกัปตัน แล้วกลับมาที่ห้องพบเจอเศษผุยผงของ Ryosuke

แนวคิดสองตัวละครคู่ขนาน แล้วมาบรรจบกันในองก์ที่สาม มองผิวเผินมันก็ดูน่าสนใจดี (ก็เหมือนโลกมนุษย์กับวิญญาณมาพบเจอกันในห้องต้องห้าม) แต่ทว่าผกก. Kurosawa ไม่สามารถทำให้ทั้งสองเรื่องราวมีความน่าสนใจเพียงพอ ไม่มีเรื่องไหนน่าติดตาม หรือตัวละครให้ลุ้นตามเชียร์ ผลลัพท์เลยอาจทำให้ผู้ชม(ครั้งแรก)เกิดความสับสน มึนงง จับจุดเชื่อมโยงไม่ได้สักเท่าไหร่


เพลงประกอบโดย Takefumi Haketa, 羽毛田 丈史 (เกิดปี ค.ศ. 1960) นักเปียโน แต่งเพลง เกิดที่ Karuizawa Town, Nagano วัยเด็กมีความหลงใหลดนตรี Jazz หลังเรียนจบได้เข้าร่วมวง AFRIKA เป็นนักคีย์บอร์สำรอง ก่อนผันตัวมาแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ Pulse (2001), ซีรีย์โทรทัศน์ Mujin Wakusei Survive (2003-04), Ruri no Shima (2005) และอนิเมชั่น Vampire Knight (2008) ฯ

ในขณะที่หนังผียุค 2000s โดดเด่นกับวิธีการตุ้งแช่ ‘jump scare’ ทั้งเสียงทั้งเพลงสร้างความตกอกตกใจให้กับผู้ชม แต่ทว่างานเพลงของ Pulse (2001) มักบรรเลงคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ สร้างบรรยากาศวาบหวิว สั่นสยิวกาย ค่อยๆไต่ไล่ระดับความน่าสะพรึงกลัวไปให้ถึงจุดสูงสุด

เสียงหญิงสาวร้องโหยหวนในหลายๆบทเพลง สามารถสื่อตรงๆถึงวิญญาณล่องลอย (แต่ผีในหนังไม่จำจำกัดเพศหญิง) สร้างสัมผัสวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน ราวกับว่าพวกผีเหล่านั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด คร่ำครวญ ทุกข์ทรมานจนแทบมิอาจอดรนทน

幽霊の現象 อ่านว่า Yuurei No Genshou แปลว่า Appearance of the Ghost, ดูจากชื่อก็น่าจะพอคาดเดากันได้ การปรากฎตัวของวิญญาณร้าย ค่อยๆก้าวย่างอย่างบิดๆเบี้ยวๆ สโลโมชั่น จากระยะห่างไกลๆ เห็นชัดขึ้นอย่างช้าๆ สร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจกลัว และพอเสียงร้องโหยหวนดังขึ้น ใบหน้า(ผี)ยื่นเข้ามา ทำเอาอกสั่นขวัญหาย แทบมิอาจควบคุมตนเองอีกต่อไป

อีกบทเพลงที่อยากพูดถึง 順子の運命 อ่านว่า Junko No Unmei แปลว่า Fate of Junko เพื่อนสาวของ Michi Kudo บังเอิญเข้าไปในห้องต้องห้าม พบเห็นวิญญาณร้าย ทำให้ตกตรอมใจ ยินยอมรับความจริงไม่ได้ ก่อนกลายเป็นผุยผง ปลิดปลิวไปกับสายลม ทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ (Michi) ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย

Pulse (2001) สร้างขึ้นในช่วงที่อินเตอร์เน็ตกำลังเริ่มแพร่หลาย กระจายสู่วงกว้าง ผู้คนสมัยนั้นยังไม่ค่อยตระหนักถึงอิทธิพล ความสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงกำลังจักบังเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะให้การยินยอมรับ ย่อมมีบุคคลปฏิเสธต่อต้าน แสดงความกังวลต่อการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครือข่ายออนไลน์ ปัญญาประดิษฐ์ ฯ ถูกไปใช้ในทางชั่วร้าย ก่อเกิดหายนะต่อมนุษยชาติ

แต่ภาพยนตร์ที่นำเสนอหายนะจากเทคโนโลยี ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับข้อบกพร่องของมนุษย์และระบบ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ทางกายภาพ! ไม่เคยมีเรื่องไหนสะท้อนปัญหาทางจิตใจเหมือน Pulse (2001) ตั้งคำถามถึงการเชื่อมโยงสื่อสาร (Connection) เราสามารถสนทนากับคนทั่วโลกผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่จะมีสักคนไหมที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้ในชีวิตจริง?

ยุคสมัยนั้นการจะเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ต จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (ยังไม่มีโทรศัพท์ Smartphone) ใจจดใจจ่ออยู่กับหน้าจอมอนิเตอร์ บางคนติดเกม ติดแชท ติดโลกออนไลน์ ถึงขนาดกักขังตัวเองอยู่ภายในห้อง Hikikomori นั่นทำให้เขาค่อยๆเลือนหาย สูญเสียการมีตัวตนบนโลกความจริง กลายเป็นเศษฝุ่น ผุยผง ไม่ต่างจากวิญญาณคนตาย

หนังพยายามทำการเชื่อมโยงระหว่างสัญญาณอินเตอร์เน็ต = โลกวิญญาณ, ต่างคือสิ่งนามธรรม มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ (แต่ผีในหนังจับต้อง เพื่อสื่อถึงการมีตัวตนไม่ต่างจากมนุษย์) แล้วเปรียบเทียบบุคคลหมกมุ่นในอินเตอร์เน็ต = เข้าไปในห้องต้องห้าม = พบเจอวิญญาณหลอกหลอน จากนั้นค่อยๆสูญเสียตัวตนเอง เรือนร่างกาย กลายเป็นผุยผง ปลิดปลิวไปตามสายลม

จากหนึ่งเป็นสอง เป็นสี่ เป็นสิบหก เมื่อคนหมู่มากกลายเป็นผีอินเตอร์เน็ต เศษฝุ่นปลิดปลิว หลงเหลือเพียงเมืองร้าง ท้องถนนว่างเปล่า ก็เท่ากับการมาถึงของวันสิ้นโลก โลกาวินาศ ผู้รอดชีวิต Michi Kudo คือบุคคล(เดียว)ที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวใดๆกับอินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ นั่นอาจหมายถึงผกก. Kurosawa ด้วยเช่นกัน

I find the idea that one just has to live with this thing (Internet) much more terrifying. You have no chances of running away or fighting it; you’re stuck with it forever.

Kiyoshi Kurosawa

ตอนจบของหนัง ผมมองยังไงก็คือคำพยากรณ์อนาคต ความหวาดกลัวของผกก. Kurosawa ต่อยุคสมัยโลกาภิวัตน์ ถึงอย่างนั้นเขาพยายามแถไถ แก้ต่าง ว่าการนำเสนอภาพโลกาวินาศ สามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดสหัสวรรษ เพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่ … ผมรู้สึกว่ามันฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่

Pulse was 2000, and I think the vague idea I had at the time was that we were really on the cusp of a new century. The idea was to abandon, by destroying everything from the 20th century in order to head into a good, new future. It wasn’t that the apocalyptic vision was negative or despairing, it was positive, a way to get rid of old baggage.

นั่นเพราะเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ความหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีจะค่อยๆลดน้อยลง มันคือสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน … บทสัมภาษณ์นี้ตอนห้าปีหลังสร้าง Pulse (2001) สังเกตว่ามุมมองคิดเห็นของผกก. Kurosawa ต่ออินเตอร์เน็ตได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!

Five years later, clearly the internet, and its use in our lives, has kind of stabilized as part of the infrastructure. But I think you could talk about the threat of technology in terms of nuclear power. Before we have a handle on what it really means we are seduced by its potential power, and it very quickly can spread beyond our ability to contain it. I think technology presents that kind of problem.

แม้ปัจจุบัน (ค.ศ. 2024) อินเตอร์เน็ตยังไม่ก่อให้เกิดวันสิ้นโลก โลกาวินาศ ถึงอย่างนั้นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ สามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องกักขังตนเองอยู่ภายในห้อง กลับยิ่งสร้างความเหงาหงอย โดดเดี่ยวอ้างว้าง เพื่อนนั่งอยู่เคียงข้างกลับสนทนาผ่านโปรแกรมแชท ใจจดใจจ่ออยู่กับเสียงเตือน Notification … เรื่องราวของหนังอาจเฉิ่มเฉยล้าหลัง แต่คำถามเกี่ยวกับการเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสาร (Connection) ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา


เมื่อตอนเข้าฉายในญี่ปุ่น ทำเงินเพียง ¥200 ล้านเยน น่าจะขาดทุนอยู่ไม่น้อย! แต่ได้รับโอกาสเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สายการประกวดรอง Un Certain Regard สามารถคว้ารางวัล FIPRESCI Prize (สำหรับ Un Certain Regard) นั่นเปิดโอกาสให้หนังตระเวรออกฉายทั่วโลก ใช้ชื่อไทย “ไคโร ผีอินเตอร์เน็ต”

หนังถูกซื้อลิขสิทธิ์สำหรับเข้าฉายสหรัฐอเมริกาโดยสตูดิโอ Miramax (ของ Harvey Weinstein) แล้วถูกนำไปหมักโถดองนานถึง 4 ปี! ก่อนขายต่อให้ Magnolia Pictures ออกฉายปี ค.ศ. 2005

Well, I was delighted at first when Miramax picked up the distribution rights, but then time passed, and it never was released, and I heard that there was a sort of sense—it wasn’t my personal outrage—that people were asking why they would buy the rights to a film if they were not going to distribute it. But it’s not every day that Japanese movies get picked up for distribution in the United States, and I figured I’d just wait and see what happened. Now, due to reasons that I am not aware of, it has been passed into Magnolia’s hands and is being released…so I don’t really know.

Kiyoshi Kurosawa

ด้วยเสียงตอบรับระดับนานาชาติดียอดเยี่ยม จึงถูกซื้อต่อไปสร้างใหม่ Pulse (2006) ร่วมดัดแปลงบทโดย Wes Craven นำแสดงโดย Kristen Bell … แถมยังติดตามด้วยภาคต่อ Pulse 2: Afterlife (2008) และ Pulse 3 (2008) ส่งตรงลง DVD

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2024 สามารถหาซื้อ Blu-Ray จัดจำหน่ายโดย Umbrella Entertainment และ The Jokers (ของฝรั่งเศส), หรือใครไม่อยากรอ (วางจำหน่ายเดือนธันวาคม) ก็หาซื้อฉบับ High Definition (HD) ของค่าย Arrow แก้ขัดไปก่อน

ตอนรับชมครั้งแรกผมไม่ค่อยเข้าใจหนังสักเท่าไหร่ แค่ซึมซับบรรยากาศหลอนๆ บางฉากชวนให้ขนหัวลุกพอง แต่พอลองมาครุ่นคิดทบทวน หาอ่านบทความต่างๆ จึงเริ่มแปะติดปะต่อ รับรู้เป้าหมายของผกก. Kurosawa ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมาถึงอินเตอร์เน็ต รำพันถึงอนาคต และพยากรณ์หายนะติดตามมา

รายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยี เครื่องคอมพิวเตอร์ มันอาจดูตกยุคสมัยไปนานแล้ว แต่ถ้าสามารถทำความเข้าใจแนวคิด ตั้งคำถามถึงการติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ นั่นคือจุดที่หนังมาก่อนกาล และยังคงเหนือกาลเวลาในปัจจุบัน

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหลอนๆ ความตาย โลกาวินาศ

คำโปรย | Pulse สัญญาณอินเตอร์เน็ตทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั้งโลก แต่มันทำให้เราคลายความเหงาได้จริงๆหรือ?
คุณภาพ | โดดเดี่ยว
ส่วนตัว | วาบหวิว

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: