Antichrist (2009) : Lars von Trier ♥♥♥♥
ผู้กำกับ Lars von Trier ล้มป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) ระหว่างเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีการ ‘Exposure Therapy’ พัฒนาบทหนัง Antichrist เพื่อเผชิญหน้าความกลัวของตนเอง ท้าทายให้ผู้ชมเอาตัวรอดจากสวนอีเดนของซาตาน
เกร็ด: Exposure Therapy คือการบำบัดที่ทำให้ผู้ป่วยได้สัมผัส/เผชิญหน้ากับแหล่งที่มาของสิ่งหวาดกลัว เพื่อให้รู้สึกมักคุ้นเคยชิน คลายความวิตกกังวล และสามารถก้าวข้ามผ่าน เอาชนะความกลัวต่อสิ่งนั้นได้ในที่สุด
สารพัดสิ่งสุดโต่งพบเห็นใน Antichrist (2009) ล้วนคือความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจผกก. von Trier สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้น ปลดปล่อยอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง เผชิญหน้าปัญหา เอาชนะอาการป่วยซึมเศร้า เพื่อท้ายสุดจักสามารถเอาาชีวิตรอดกลับมา
If Ingmar Bergman had committed suicide, gone to hell, and come back to earth to direct an exploitation/art film for drive-ins, [Antichrist] is the movie he would have made.
John Waters กล่าวยกย่อง Antichrist หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 2009
ผมมีความสองจิตใจสองใจ เอาจริงๆไม่ค่อยอยากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะแค่ชื่อก็สร้างความหวาดระแวง แม้งต้องเต็มไปด้วยสัญญะเชิงศาสนา แต่ระหว่างรับชมค่อยๆตระหนักว่าใจความแท้จริงเกี่ยวกับอาการป่วยซึมเศร้า (เรื่องแรกของไตรภาค ‘Depression Trilogy’) ทั้งสองนักแสดงนำ Willem Dafoe และ Charlotte Gainsbourg ไม่ใช่แค่หมอ-ผู้ป่วย ต่างคือตัวตายตัวแทนผกก. von Trier เข้าสู่ดินแดน Eden (สวรรค์และนรก) รับอิทธิพลไม่น้อยจากภาพยนตร์ The Mirror (1975) ของ Andrei Tarkovsky
ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ของ Lars von Trier ผมถือว่า Antichrist (2009) คือที่สุดของความสลับซับซ้อน และภาพความรุนแรงทางเพศระดับสุดโต่ง ที่ทำให้ Nymphomaniac (2013) ก็แค่หนัง ‘Soft Porn’ เบาๆ ถ้าคุณไม่เตรียมตัวเตรียมใจ บริหารตับไต ก็อาจถึงขั้นทำให้เซ็กซ์เสื่อมได้เลยกระมัง
Lars von Trier (เกิดปี 1956) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Kongens Lyngby, Denmark เป็นบุตรบุญธรรมของ Ulf Trier เมื่อตอนมารดาใกล้เสียชีวิต ค.ศ. 1989 สารภาพว่าบิดาแท้จริงคือ Fritz Michael Hartmann อดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซี และเคยทำงานกระทรวงกิจการสังคม (Ministry of Social Affairs)
โตขึ้นร่ำเรียนทฤษฎีภาพยนตร์ยัง University of Copenhagen ต่อด้วยสาขาการกำกับ National Film School of Denmark ปีสุดท้ายตัดสินใจเพิ่ม ‘von’ เข้าไปกึ่งกลางชื่อ (แบบเดียวกับ Erich von Stroheim และ Josef von Sternberg) บนเครดิตผลงานจบการศึกษา Images of Liberation (1982) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ในส่วนของ Panorama, ติดตามด้วย ‘Europa Trilogy’ และ ‘Golden Heart Trilogy’
หลังภาพยนตร์เรื่องสาม Washington ของไตรภาค USA – Land of Opportunities ถูกระงับทุนสร้าง (นั่นอาจเพราะ Manderlay (2005) ขาดทุนย่อยยับเยินเกินเยียวยา) ทำให้ผกก. von Trier จึงต้องริเริ่มโปรเจคใหม่ สิ่งแรกครุ่นคิดขึ้นคือชื่อภาพยนตร์ Antichrist วางแผนโปรดักชั่นช่วงปลายปี ค.ศ. 2005 แต่ทว่าโปรดิวเซอร์ Peter Aalbæk Jensen ดันพลั้งพลาดเปิดเผยรายละเอียดของหนัง
The project’s working title is Antichrist, an English-language horror film to be set in the US, and be set in nature and based on the theory that it was Satan, not God, who created the world.
Peter Aalbæk Jensen
ความผิดพลาดดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงให้กับ von Trier ถึงขนาดฉีกทิ้งบทหนัง ล้มเลิกแผนงานทั้งหมด ไม่เคยมีมาก่อนที่โปรดิวเซอร์ -บุคคลควรปกป้องภาพยนตร์- เปิดเผยรายละเอียดออกมาถึงขนาดนี้
The producer went out to the media and revealed how the film was going to end. It caused the whole project to collapse. It must be the first time in film history that a producer reveals the end of a film he himself has to produce.
Lars von Trier
ประมาณปี ค.ศ. 2006 ระหว่างที่ผกก. von Trier รักษาอาการป่วยซึมเศร้า (Depression) ได้เข้าคอร์สบำบัด ‘exposure therapy’ เรียนรู้จักวิธีการเผชิญหน้าความกลัว นำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมาพัฒนาบทหนัง Antichrist ขึ้นใหม่ ในตอนแรกตั้งใจจะให้เป็นแนว Horror เพราะเพิ่งรับชมภาพยนตร์อย่าง Ring (1998), Dark Water (2002) แล้วบังเกิดความชื่นชอบประทับใจเป็นพิเศษ
I was not very familiar with horror films. I’ve seen some that I liked. In the old days I liked very much Brian De Palma’s Carrie. I kind of liked The Shining… So I know some of the old films, and then I saw some of the new Japanese ones: The Ring and Dark Water. They were exciting because you could see that they were from another culture. I think that the genre [is such] that you can put a lot of very, very strange images in a horror film, but this is probably not a horror film. It’s like when I tried to make a musical, it didn’t really become a musical. That’s how I am, it seems.
แนวคิดหลักของหนัง ผกก. von Trier นำแรงบันดาลใจจากเคยรับชมสารคดีเรื่องหนึ่ง (ไม่มีการระบุชื่อ) กล่าวถึงผืนป่าคือสถานที่แห่งความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน นั่นเพราะเป็นสถานที่ที่สรรพสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ต่อสู้ดิ้นรน เข่นฆ่าศัตรู-เหยื่อ เพื่อเอาชีวิตรอดตามสันชาตญาณ
I saw a documentary about the original forests of Europe, and all that could be compared, of course, to the ‘original forests’ of anywhere; and the conclusion in that was that the original forest was the place with the maximum of pain, the maximum of death; life and death. There were so many different species trying to kill each other and that’s why in this original forest, well… maybe there are not as many acorns as there are in the film. And that, put together that the idea that these places, these romantic forests, are places that a lot of people would like to go to — including me, I think of this place as the less anxiety-provoking place in the world — that’s kind of interesting. At the same time that we hang it on our walls over the fireplace or whatever, it represents pure Hell.
เกร็ด: ผกก. von Trier เปิดเผยครั้งแรกในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Politiken (ของ Denmark) เมื่อปี ค.ศ. 2007 ว่าตนเองล้มป่วยโรคซึมเศร้า “I assume that Antichrist will be my next film. But right now I don’t know.” ถึงขนาดว่านักแสดงจากอังกฤษบินมาหา ยังไม่สามารถพบเจอหน้า ไร้เรื่ยวแรง พละกำลัง แค่ลุกขึ้นจากเตียงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด
หลังอาการป่วยซึมเศร้าของผกก. von Trier ดีขึ้นตามลำดับ พอมีเรี่ยวแรงพบปะผู้คน ติดต่อเพื่อนนักเขียน/ผู้กำกับ ให้มาช่วยเป็นที่ปรึกษา ขัดเกลาบทหนัง อาทิ Per Fly, Nikolaj Arcel (เครดิต Script Consultants), Anders Thomas Jensen (เครดิต Story Supervisor), และยังรวมถึงนักประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง นักวิจัยด้านเทววิทยา (Theology) รวมด้านอื่นๆอย่าง Misogyny, Anxiety, Horror Films ฯ สำหรับค้นคว้าหาข้อมูลในเชิงลึก
แซว: ตั้งแต่ที่ผกก. von Trier ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Dogme 95 มักใช้เวลาพัฒนาบทหนังแค่ไม่กี่วัน แต่สำหรับ Antichrist (2008) คาดว่าน่าจะใช้เวลาหลักปี เพราะอาการป่วยซึมเศร้า ต้องใช้เวลารักษาเป็นเดือนๆ ปีๆ
เรื่องราวเริ่มต้นที่อพาร์ทเมนท์ ณ Seattle, สามีและภรรยากำลังร่วมเพศสัมพันธ์กันอย่างเร่าร้อน รุนแรง จนไม่ได้ใคร่สนใจบุตรชายวัยไม่กี่ขวบ ตื่นขึ้นกลางดึก แอบออกมานอกเตียงนอน ปีนป่ายขึ้นบนโต๊ะ แล้วพลัดตกลงมาเสียชีวิต
ระหว่างงานศพบุตรชาย ภรรยา (รับบทโดย Charlotte Gainsbourg) ถึงกับเป็นลมล้มพับ นอนพักรักษาอาการป่วยซึมเศร้านานนับเดือน สามี (รับบทโดย Willem Dafoe) ซึ่งเป็นนักจิตบำบัด จึงตัดสินใจพากลับบ้าน ปรับเปลี่ยนวิธีรักษามาเป็นการบำบัด ‘Exposure Therapy’ ทำการพูดคุย ขุดค้นหาสิ่งที่เธอรู้สึกหวาดกลัว แล้วค่อยๆให้เรียนรู้ ปรับตัว เผชิญหน้ากับมัน
สิ่งแรกที่ภรรยาเปิดเผยว่ามีความหวาดกลัวคือ ‘ธรรมชาติ’ นั่นทำให้สามีตัดสินใจพาออกเดินทางมุ่งสู่กระท่อมกลางป่าชื่อว่า Eden สถานที่ที่เมื่อฤดูร้อนปีก่อน เธอเคยมาปักหลักพักอาศัยกับบุตรชาย ตั้งใจจะทำงานวิจัย (Thesis) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การ Gynocide/Femicide แต่ยังไม่ทันเขียนเสร็จบังเกิดแนวคิดบางอย่างที่ผิดเพี้ยน บิดเบือน ฟั่นเฟือน อ้างว่าได้ข้อสรุปสตรีเพศล้วนสืบสายความชั่วร้ายมาแต่โบราณกาล … นั่นทำให้ความเข้าใจของสามีต่อสิ่งที่ภรรยาหวาดกลัว ปรับเปลี่ยนมาเป็น ‘ซาตาน’
ค่ำคืนหนึ่งภรรยาพบเจอเอกสารชันสูตรศพบุตรชาย ได้รับการเปิดเผยว่ามีอาการเท้าผิดรูป/ภาวะเท้าแบน (Foot Deformity) ซึ่งบรรดารูปภาพถ่ายพบเห็นสวมใส่รองเท้าสลับข้างอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เธอไม่ยินยอมความผิดพลาด โทษว่ากล่าวสามี แล้วทำการทุบตี ใช้ความรุนแรง บีบบังคับร่วมเพศสัมพันธ์ จากนั้นล่ามเข้ากับหินลับมีด (Grindstone) เฝ้ารอคอยสัญญาณ(จากซาตาน) เมื่อสัตว์ทั้งสาม (The Three Beggars) อีกา กวาง และสุนัขจิ้งจอก เดินทางมาถึง จักต้องมีใครคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
Charlotte Lucy Gainsbourg (เกิดปี ค.ศ. 1971) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติ French-British เกิดที่ Marylebone, London เป็นบุตรของนักร้อง Serge Ginsbourg และนักแสดง Jane Birkin, เมื่อตอนอายุ 12 ร่วมขับร้องบทเพลงแรกกับบิดา Lemon Incest (1984), ออกอัลบัมแรก Charlotte for Ever (1986), สำหรับการแสดงได้รับการผลักดันจากมารดา เริ่มจากรับบทบุตรสาวของ Catherine Deneuve เรื่อง Paroles et Musique (1984), แจ้งเกิดกับ An Impudent Girl (1985)** คว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, ผลงานเด่นๆ อาทิ 21 Grams (2003), I’m Not There (2007), Antichrist (2009), Melancholia (2011), Nymphomaniac (2013) ฯ
ในเครดิตขึ้นเพียงสรรพนาม She ภายหลังสูญเสียบุตรชาย ล้มป่วยอาการซึมเศร้า นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อกลับมาบ้านก็ยังคงแสดงอาการเจ็บปวดรวดร้าว(ทางร่างกาย) ร่ำร้องไห้ หอบหายใจ มือไม้สั่น พยายามใช้การร่วมรักผ่อนคลายความทุกข์โศก หลังถูกสามีสะกดจิต เผชิญหน้าความกลัว กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ออกเดินทางสู่กระท่อมน้อยกลางป่า ค่อยๆสามารถสงบสติอารมณ์ จนดูเหมือนกลับสู่สภาวะปกติ แต่แท้จริงแล้วความครุ่นคิดของเธอกลับแปรสภาพสู่ความคลุ้มคลั่ง ฟั่นเฟือน กลัวการถูกทอดทิ้ง พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเหนี่ยวรั้งสามีไม่ให้จากไป
ในตอนแรกผกก. von Trier มีความสนใจ Eva Green อาจด้วยความประทับใจจากภาพยนตร์แจ้งเกิด The Dreamers (2003) กล้าเล่น กล้าเสี่ยง เห็นว่าทีแรกเธอก็ตอบตกลง แต่ถูกขัดขวางโดยผู้จัดการส่วนตัว ใช้ข้ออ้างเรื่องสัญญาอะไรสักอย่าง จนเสียเวลาเตรียมงานสร้างไปถึงสองเดือน
Charlotte came in and said, ‘I’m dying to get the part no matter what.’ So I think it was a decision she made very early and she stuck to it. We had no problems whatsoever.
Lars von Trier
แม้ว่า Gainsbourg จะชื่นชอบผลงานของผกก. von Trier แต่ไม่เคยพบเจอ รับรู้จักกันมาก่อน เมื่อมีโอกาสพูดคุยก็รู้สึกว่าอีกฝ่ายดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง ทำให้ตนเองรู้สึกหวาดกังวล (anxiety) เต็มไปด้วยแรงกดดัน แถมระหว่างโปรดักชั่นเนื่องจากปัญหาสุขภาพ (ผกก. von Trier เพิ่งออกจากโรงพยาบาลไม่นาน เลยยังไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำงานสักเท่าไหร่) ทำให้ไม่สามารถให้คำแนะนำอะไร ยิ่งสร้างความตึงเครียด วิตกจริต ไม่รู้สิ่งที่แสดงออกมานั้นเพียงพอ มากน้อยแค่ไหน … แต่ความรู้สึกดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องเข้ากับสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร
เกร็ด: การเตรียมตัวของ Gainsbourg เห็นว่าผกก. von Trier แนะนำภาพยนตร์ The Night Porter (1974) ให้ศึกษาการแสดงของ Charlotte Rampling
บทบาทนี้ไม่ใช่แค่ความหาญกล้าของ Gainsboury แต่แสดงถึงความเชื่อมั่นในทีมงาน ผู้กำกับ และศิลปะภาพยนตร์! พร้อมท้าทายขอบเขต ขีดจำกัด ทั้งทางร่างกาย-จิตใจ สำหรับถ่ายทอดระยะซึมเศร้า (Depressive Episode) จากร่ำร้องไห้ หอบหายใจ มือไม้สั่น พยายามปลดปล่อยตนเองด้วยการร่วมรัก พอผ่านวิกฤตทางกายภาพ ความครุ่นคิดกลับบิดๆเบี้ยวๆ จู่ๆเรียกร้องความสนใจ เริ่มใช้ความรุนแรง แสดงอาการฟั่นเฟือน คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
ในส่วนของไฮไลท์ ผมรู้สึกอึ่งทึ่งกับความระริกระรี้เรื่องเพศของตัวละคร นับครั้งไม่ถ้วนพยายามเรียกร้องขอ บีบบังคับ ใช้กำลังข่มขืนสามี มองมุมหนึ่งคือการปลดปล่อยความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน แต่ดั่งที่ตัวละครของ Dafoe พยายามหยุดยับยั้งหลายครั้ง เพราะมันเป็นเพียงการหลบหนี ‘escapist’ แบบชั่วครั้งชั่วคราว คล้ายการดื่มเหล้ามึนเมาให้ลืมเธอ หาใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต้นสาเหตุ เพียงสิ่งตอบสนองตัณหา กามารมณ์ พอสำเร็จซ้ำๆจนเบื่อหน่าย มันจะทวีความรุนแรง คลุ้มคลั่ง เอาจนเลือดไหล ซาดิสต์ ก่อนกลายเป็นมาโซคิสม์
พบเห็นเรือนร่างกายผอมบางของ Gainsbourg ชวนให้ผมนึกอยากเปรียบเทียบกับ Joaquin Phoenix ภาพยนตร์ Joker (2019) ผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง ช่างดูอ่อนแอ เปราะบาง แต่การใช้ร่างกายของทั้งคู่กลับสำแดงความเข้มแข็ง รุนแรง เต็มไปด้วยแรงผลักดันจากภายใน สามารถกระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง นั่นคือการท้าทายขอบเขต ขีดสุดของร่างกาย
William James ‘Willem’ Dafoe (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Appleton, Wisconsin มีพี่น้องแปดคน, ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนสาขาการแสดง University of Wisconsin–Milwaukee แต่แค่ปีเดียวก็ออกมาเข้าร่วมคณะการแสดง Theatre X in Milwaukee พอย้ายมาปักหลัก New York City จึงได้เข้าร่วม The Performance Group, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจากบทสมทบ Heaven’s Gate (1979), พระเอกเรื่องแรก The Loveless (1981), โด่งดังจากบทตัวร้าย The Hunger (1986), ตามด้วย Platoon (1986), รับบท Jesus Christ เรื่อง The Last Temptation of Christ (1988), Mississippi Burning (1988), Wild at Heart (1990), Shadow of the Vampire (2000), ตัวร้าย Norman Osborn/Green Goblin แฟนไชร์ Spider-Man (2002-07), Antichrist (2009), The Florida Project (2017), At Eternity’s Gate (2018), The Lighthouse (2019) ฯ
ในเครดิตขึ้นเพียงสรรพนาม He ภายหลังสูญเสียบุตรชาย ร่ำร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ แต่พอหนึ่งเดือนผ่านไปก็สามารถหวนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ พบเห็นภรรยาล้มป่วยซึมเศร้า จึงตัดสินใจทำการรักษาด้วยตนเอง ใช้วิธีการ ‘Exposure Therapy’ พูดคุยซักถามถึงสิ่งสร้างความหวาดกลัว จากนั้นสะกดจิต เสี้ยมสอนให้เผชิญหน้า ยินยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่ง จากนั้นออกเดินทางสู่กระท่อมกลางป่าเพื่อให้เธอค่อยๆปรับตัว เกิดความมักคุ้นเคยชิน
แต่หลังจากเขาค้นพบสมุดบันทึก เอกสารงานวิจัยของภรรยา เกิดความตระหนักว่าปัญหาของเธอเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น นั่นคืออาการหลอกหลอน บิดเบือน ฟั่นเฟือน ครุ่นคิดจะช่วยเหลือแต่ก็สายเกินแก้ไข ถูกทุบตี กระทำร้าย ล่ามด้วยหินลับมีด เฝ้ารอคอยสัญญาณ(จากซาตาน) เมื่อสัตว์สัญญะทั้งสามเดินทางมาถึง จักต้องมีใครคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
ก่อนหน้านี้ Dafoe เคยร่วมงานผกก. von Trier ภาพยนตร์ Manderlay (2005) กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม เขียนจดหมายติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ ตอนอ่านบท Antichrist แม้มีความลังเลใจเล็กๆ แต่ได้รับการผลักดันจากภรรยา
Originally, we were thinking of younger people. But Willem sent me a letter asking if I had some work for him. And I said, ‘Sure!’ He was a little reluctant to start with, but then my wife did this brilliant thing. She said, ‘You dare not take the part!’ And you shouldn’t say that to Willem! So he jumped in.
Lars von Trier
ตัวตนของ Dafoe เป็นคนที่มีชีวิตเรียบง่าย อะไรก็ได้ เหมือนคนธรรมดาๆ แต่เรื่องการแสดงกลับชื่นชอบความท้าทาย อาจเพราะใบหน้าดูโฉดชั่วร้าย เลยมักได้รับบทตัวร้าย สามารถโอบรับด้านมืด ปลดปล่อยอารมณ์คลุ้มคลั่ง บ้าบอคอแตกขนาดไหนก็เล่นได้หมด … ถือเป็นสุดยอดนักแสดงที่ไม่รู้จะมีโอกาสได้รับ Oscar เมื่อไหร่กัน?
ด้วยความที่เล่นเป็นนักจิตบำบัด Dafoe จึงต้องเข้าคอร์ส ‘Exposure Therapy’ เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดของ ‘Cognitive Behavioral’ แต่สิ่งน่าสนใจของตัวละครไม่ใช่ขณะพยายามรักษาภรรยา แต่เมื่อรับรู้ว่าอีกฝ่ายจิตหลุด กลายเป็นคนเสียสติ ฟั่นเฟือน ด้วยความที่ตนเองยังอยากมีชีวิต จึงพยายามตะเกียกตะกาย ต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอด ก่อนตัดสินใจ …
แซว: Dafoe พร้อมมากที่จะโชว์ไอ้จ้อนตนเองต่อหน้ากล้อง แต่พอผกก. von Trier พบเห็นขนาดของมันแล้ว ตัดสินใจเลือกใช้ ‘body double’ นักแสดงหนังโป๊ที่มีขนาดเล็กกว่า ไม่งั้นมันจะโดดเด่นเกินหน้าเกินตา
I think the dark stuff, the unspoken stuff is more potent for an actor. It’s the stuff we don’t talk about, so if you have the opportunity to apply yourself to that stuff in a playful, creative way, yes I’m attracted to it.
Willem Dafoe
ถ่ายภาพโดย Anthony Dod Mantle (เกิดปี ค.ศ. 1955) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Witney, Oxfordshire เป็นบุคคลแรกของประเทศอังกฤษที่ใช้กล้องดิจิตอล Red One ถ่ายทำโปรดักชั่นซีรีย์โทรทัศน์ กลายเป็นขาประจำก Thomas Vinterberg, Lars von Trier, Danny Boyle ผลงานเด่นๆ อาทิ The Biggest Heroes (1996), The Celebration (1998), 28 Days Later (2002), Dogville (2003), Slumdog Millionaire (2008) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Antichrist (2009), 127 Hours (2010) ฯ
โดยปกติแล้วผกก. von Trier มักจะอยู่ด้านหลังกล้อง หลายครั้งรับหน้าที่ ‘Camera Operation’ ควบคุมการขยับเคลื่อนไหวด้วยตนเอง แต่เพราะเขาเพิ่งออกจากโรงพยาบาลไม่นาน ร่างกายยังอิดๆออดๆ ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง จะกำกับนักแสดงยังทำไม่ได้ จึงต้องให้อิสระทีมงาน คอยควบคุมงานสร้างเพียงอย่างเดียว
The script was filmed and finished without much enthusiasm, made as it was using about half of my physical and intellectual capacity.
Lars von Trier
แม้ว่าผกก. von Trier จะไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงในการสรรค์สร้างโปรเจคนี้นัก แต่งานภาพของหนังถือว่าแพรวพราวด้วยลูกเล่น โดยเฉพาะซีเควนซ์หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) และจินตนาการเพ้อฝัน (ระหว่างสะกดจิต) มีทั้งภาพขาว-ดำ, ซุปเปอร์สโลโมชั่น, สร้างภาพผ่านคอมพิวเตอร์ (Computer Graphaic) และสำหรับคนช่างสังเกต จากภาพสั่นๆของ Hand-Held แปรสภาพสู่สงบแน่นิ่ง กล้องวางบนขาตั้ง ขยับเคลื่อนไหวด้วยรางเลื่อน เครน ดอลลี่ ฯ
(คล้ายๆแบบ Dancer in the Dark (2000) ที่ซีเควนซ์ Musical ในจินตนาการเพ้อฝัน จะมีไดเรคชั่นแตกต่างจากเหตุการณ์ในโลกความจริง)
หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล RED One คุณภาพ 4K, ส่วนซีเควนซ์ซุปเปอร์สโลโมชั่นใช้กล้อง Phantom V4 สามารถบันทึกภาพด้วยอัตราเร็ว 1,000 เฟรมต่อวินาที, โดยสถานที่ถ่ายทำปักหลักอยู่ในผืนป่า Rhein-Sieg-Kreis, North Rhine-Westphalia, รัฐ Cologne ประเทศ Germany ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคมถึงสิ้นเดือนกันยายน (รวมระยะเวลา 40 วัน)
ในส่วนของงานสร้างภาพ CGI (Computer-Generated Imagery) ทำโดยบริษัท Platige Image ของประเทศ Poland มีจำนวนทั้งหมด 80 ช็อต ระยะเวลาทำงานสองเดือน ส่วนใหญ่จะเป็นการลบปลอกคอสัตว์ โดยไฮไลท์ประกอบด้วยมือเกาะรากไม้ และขยับปากสุนัขจิ้งจอกให้ตรงกับคำพูด “Chaos Reigns”
เกร็ด: บุคคลให้เสียงพากย์ “Chaos Reigns” ก็คือ Willem Dafoe แต่มีการเปลี่ยนแปลงเสียงจนแทบจดจำไม่ได้
พวกป้ายชื่อ เครดิต รวมถึงตอนต่างๆ (Title Card หรือ Intertitles) มักมีลักษณะขูดๆขีดๆ ขาดๆเกินๆ ซึ่งสามารถมอบสัมผัสทางอารมณ์ กรีดกราย เจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน เหมือนผู้ป่วยจิตเวช สภาพจิตใจเหมือนคนไม่สมประกอบสักเท่าไหร่
ยกเว้นเพียง The Three Beggars ปรากฎภาพแผนที่ดวงดาว เพื่อสื่อถึงสามสัตว์สัญญะคือสิ่งสูงส่ง เหนือธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร มาจากไหน ต้องการทำอะไร
พื้นหลังของ Epilogue สังเกตว่าชอล์กขีดๆสองทิศทางตั้งฉาก (แนวราบ-แนวดิ่ง) ซึ่งสะท้อนเข้ากับเรื่องราวหนัง บทสรุปแห่งความบิดๆเบี้ยวๆ แตกต่างตรงกันข้ามกับที่เคยเป็นมา
แตกต่างจาก Melancholia (2011) ที่อารัมบทซุปเปอร์สโลโมชั่นด้วยการประมวลผล ร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ต่างๆกำลังจะบังเกิดขึ้นในวันสิ้นโลกาวินาศ, Antichrist (2009) นำเสนอช่วงเวลาแห่งความสุข (สามี+ภรรยาร่วมเพศสัมพันธ์กันอย่างเร่าร้อนรุนแรง) vs. โศกนาฎกรรมของบุตรชาย ปีนป่ายขึ้นบนโต๊ะ สะดุดล้ม พลัดตกลงจากเบื้องบนเสียชีวิต
โดยปกติแล้วเพศสัมพันธ์มักคือช่วงเวลาแห่งความสุข ถือกำเนิดบุตร แต่หนังกลับเชื่อมโยงตัดสลับไปมากับเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ความตาย นั่นแปลว่าทุกสิ่งอย่าง(ในภาพยนตร์เรื่องนี้)จะมีลักษณะพลิกกลับตารปัตรตรงข้าม … เหมือนสัญญะเครื่องซักผ้า เคลื่อนหมุนวงกลม พลิกกลับไปพลิกมา (มองเข้าไปในเครื่องซักผ้า เหมือนคนสองนัวเนีย กอดรัดฟัดเหวี่ยง)
การเลือกใช้เทคนิค ‘Super Slow-Motion’ ถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ พร้อมบทเพลง Lascia ch’io pianga (แปลว่า Let me weep) เพื่อทำให้ซีเควนซ์นี้มีลักษณะเหมือนบทกวี รำพันความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ โหยหาอาลัย และที่สำคัญคือสอดแทรกสามสัญลักษณ์ The Three Beggars
- อีกา สัญลักษณ์ของความหดหู่ สิ้นหวัง (Despair)
- กวาง สัตว์แห่งความโทมนัส เศร้าโศกเสียใจ (Grief)
- สุนัขจิ้งจอก เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว (Pain)
ระหว่างพิธีศพของบุตรชาย ขณะที่บิดาร่ำร้องไห้ น้ำตาหลั่งไหล แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจออกมาอย่างชัดเจน ตรงกันข้ามกับมารดาที่เก็บงำความรู้สึกเอาไว้ภายใน ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด ก่อนเป็นลมล้มพับ หมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ … นี่แสดงให้เห็นว่าความเจ็บปวดทางจิตใจ เลวร้ายรุนแรงกว่าทางกาย ไม่นานบิดาก็สามารถทำใจกับการสูญเสีย ผิดกับมารดาถึงขนาดล้มป่วยโรคซึมเศร้า จนตอนจบต้องถือว่าไม่สามารถรักษาหาย
ปล. มุมกล้องช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือนมุมมองโลงศพ/บุตรชายผู้ล่วงลับ แหงนเงยหน้ามองบิดา-มารดา ผ่านจุดขาวๆเบลอๆราวกับโลกแห่งวิญญาณ บางคนอาจเห็นเป็นหยาดน้ำตาของบิดา-มารดา ก็ได้เช่นกัน
ภาพสุดท้ายของการรักษาในโรงพยาบาล กล้องค่อยๆซูมเข้าหาแจกันดอกไม้ ตั้งอยู่ข้างๆหยูกยา อาจจะสื่อถึงการบำบัดโดยธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันในความครุ่นคิดๆบิดๆเบี้ยวๆของหญิงสาว นี่คือสัญลักษณ์ของซาตาน สิ่งชั่วร้ายแทรกซึมอยู่ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้
ในช่วงแรกๆจะมีการนำเสนอสารพัดอาการป่วยโรคซึมเศร้า จู่ๆหญิงสาวร่ำร้องไห้ หอบหายใจ มือไม้สั่น จะมีการร้อยเรียงภาพโคลสอัพ ดวงตา ใบหน้า อวัยวะต่างๆในร่างกาย ปรับเฉดสีให้ดูทะมึนๆ ส่ายๆสั่นๆ และยังเบลอหลุดโฟกัส เพื่อสื่อถึงกะจิตกะใจไม่อยู่กะเนื้อกะตัว
แต่ก่อนจะร้อยเรียงอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางครั้งจะมีแทรกภาพพุ่งไม้ ต้นไม้ ผืนป่า ธรรมชาติที่หญิงสาวอ้างว่าคือความกลัว ปรากฎขึ้นทีไรก็มักติดตามด้วยอาการสั่นไหว ไม่สามารถควบคุมตนเอง
หลายคนอาจมองสิ่งน่ามหัศจรรย์สุดของหนังคือภาพถ่ายซุปเปอร์สโลโมชั่น แต่ผมประทับใจลีลาการสะกดจิต เริ่มต้นด้วยถ่ายส่ายๆสั่นๆตามแบบปกติ (ด้วยกล้อง Hand Held) แต่พอหญิงสาวหลับตา สามีเริ่มพูดนำทาง ราวกับกล้องวางลงบนขาตั้ง บังเกิดความสงบสติอารมณ์ ทุกสิ่งอย่างแน่นิ่ง จากนั้นค่อยๆซูมเข้าหาใบหน้า ดวงตา
ปล. เห็นว่ามีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำ “motion control” เพื่อช่วยให้ภาพนิ่งขึ้นด้วย ซึ่งผกก. von Trier เคยใช้ลูกเล่นนี้ตอนสรรค์สร้างภาพยนตร์ The Boss of It All (2006)
ระหว่างการสะกดจิต จะมีการแทรกภาพความครุ่นคิด/จินตนาการของหญิงสาว นำเสนอด้วยภาพซุปเปอร์สโลโมชั่น แต่ละย่างก้าวช่างมีความเชื่องช้า ราวกับถูกบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง ค่อยๆคืบคลานผ่านผืนป่า มาจนถึงกระท่อมหลังน้อยชื่อว่า Eden ปกคลุมด้วยหมอกควัน ราวกับสรวงสวรรค์ สถานที่แห่งความทรงจำ … อ้างอิงถึงภาพยนตร์ The Mirror (1975) ของผกก. Andrei Tarkovsky
ผมจงใจแยกสองภาพนี้ออกมาโพรงจิ้งจอก (Foxhole) กับต้นไม้สูงใหญ่ เพราะมันคือสัญลักษณ์เพศชาย-หญิง สิ่งพบเจอได้ทั่วไปในธรรมชาติชีวิต
- ในบางศาสนา/วัฒนธรรม ลึงค์หรือศิวลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) คือสิ่งเคารพบูชาสูงสุด ประดุจดั่งเทพเจ้า สัญลักษณ์ของพระศิวะ
- ตรงกันข้ามโยนิ/โยนี (อวัยวะเพศหญิง) แทบไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนัก ส่วนใหญ่คือสัญลักษณ์การสืบพันธุ์ ไม่ก็สื่อถึงธรรมชาติชีวิต
- แต่สำหรับยุโรปยุคกลาง อ้างอิงจากคัมภีร์ Malleus Maleficarum ทำการตีตราสตรีเพศที่สำแดงพฤติกรรมนอกรีตว่าคือแม่มด สิ่งชั่วร้าย สืบสายจากซาตาน ต้องแผดเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น
ด้วยคำกล่าวอ้างของภรรยาที่ว่าตนเองมีความหวาดกลัวธรรมชาติ (Nature) วิธีการบำบัด ‘Exposure Therapy’ คือทำให้เธอรู้จักการเผชิญหน้า ยินยอมรับ ปรับตัว หรือก็คือค่อยๆหลอมละลาย กลายเป็นส่วนหนึ่งธรรมชาติ
วิธีการดังกล่าวฟังดูสมเหตุสมผลในตอนแรกเริ่มต้น แต่เมื่อสามีค่อยๆสืบค้นเกี่ยวกับภรรยา กาลต่อมาเรียนรู้ว่าเธอมีอาการบิดเบือน ฟั่นเฟือน หลงผิด ครุ่นคิดว่าซาตานคือผู้สร้างโลก เหมารวมถึงธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งอย่าง การบำบัดด้วยวิธีการนี้จึงผิดพลาดมหันต์! เพราะก่อนหน้านี้จากเคยหวาดกลัวซาตาน กลับเป็นการยินยอมรับ ปรับตัว ฉันกลายเป็นส่วนหนึ่ง สืบเชื้อสายความชั่วร้ายแต่บรรพกาล … กล่าวคือวิธีการนี้ทำอาการป่วยของหญิงสาว เลวร้าย ทรุดโทรมลงโดยไม่รู้ตัว
สัตว์สัญญะทั้งสาม หรือ The Three Beggars อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าคือตัวแทนของ Grief, Pain, Despair แต่มันมีที่มีไปยังไง? ค้นหาจากตำราเล่มไหนก็ไม่พบเจอ? ลองทำความเข้าใจจากบทสัมภาษณ์ผกก. von Trier ดูนะครับ
Truthfully, I can only say I was driven to make the film, that these images came to me and I did not question them.
From my shamanic journeys. All these animals come from a practice I did 10 years ago. It’s a Brazilian technique where you enter a trance through this very powerful drumbeat. There are no drugs involved so it is very safe but very powerful. It’s not really that difficult to enter the parallel world.
Lars von Trier
สิ่งหนึ่งที่สัตว์ทั้งสามมีเหมือนกัน คือเมื่อตอนที่ปรากฎตัวขึ้น(ครั้งแรก) ล้วนสูญเสียลูกของพวกมันเอง (แบบเดียวกับสามี-ภรรยา สูญเสียบุตรชาย)
- เจ้ากวาง ลูกของมันยังติดอยู่ในช่องคลอด
- อีกา ลูกของมันพลัดตกลงมาจากรัง (แบบเดียวกันเป๊ะกับการสูญเสียเด็กชาย) มารดาของมันจึงจับมาฉีกกินเป็นอาหาร
- ส่วนสุนัขจิ้งจอก เหมือนว่าลูกของมันยังติดอยู่ช่องคลอด (แบบเดียวกับเจ้ากวาง) มันจึงพยายามฉีกกินเนื้อ (แบบเดียวกับอีกา)
เอาจริงๆถ้าสัตว์ทั้งสามเอ่ยปากพูดคนละประโยค อาจทำให้หนังตีความง่ายขึ้นกว่านี้ แต่ทว่ากลับมีเพียงแค่เจ้าสุนัขจิ้งจอกเอยกล่าว “Chaos Reigns” ที่สุดแห่งความวุ่นวาย (complete disorder, utter confusion) มักสื่อถึงช่วงเวลาก่อนกาลกำเนิดจักรวาล ที่ทุกสิ่งอย่างไร้ระเบียบแบบแผน กฎธรรมชาติยังไม่ถือกำเนิดขึ้น ผมมองเป็นการอารัมบทหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงองก์สุดท้าย ทุกสิ่งอย่างเต็มไปด้วยความสับสน วุ่นวาย ชาย-หญิงไม่สามารถควบคุมตนเอง คนหนึ่งต้องการมีชีวิต อีกคนพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อฉุดเหนี่ยวรั้ง
ผมพยายามครุ่นคิดหาเหตุผลว่าทำไมหญิงสาวถึงกลัวการข้ามสะพาน? นี่อาจแฝงนัยยะถึงทางเข้าสู่ Eden สถานที่ที่เธอมีความกลัวขึ้นสมอง ต้องใช้เวลาค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ซึ่งฉากถัดๆมาสามีจะให้เธอเริ่มต้นก้าวเดินจากหินก้อนหนึ่งสู่หินก้อนหนึ่ง (สมมติว่ามันคือสะพาน) วิธีการเดียวกับ ‘Exposure Therapy’
แต่หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพัก ผมตระหนักว่าจุดประสงค์แท้จริงอาจเพียงเพื่อต้องการสื่อถึงสารพัดโรคกลัว (Phobia) ของผกก. von Trier กลัวเรือ กลัวเครื่องบิน กลัวความสูง ฯ ในมุมของคนปกติอาจไม่เห็นว่ามันมีอะไร แต่สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ถึงขั้นจะเป็นจะตาย ไม่ใช่เรื่องง่ายจะก้าวข้ามผ่าน เอาชนะ(ความกลัว)ตัวตนเอง
ยามค่ำคืนได้ยินเสียงลูกโอ๊กหล่นใส่หลังคา ฟังดูละม้ายคล้ายพายุลูกเห็บ (Hailstorm) ถ้าอ้างอิงตามความเชื่อศาสนาคริสต์ ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์กระทำสิ่งเลวร้าย ผิดหลักศีลธรรมจรรยา จนฟ้าดินมิอาจอดรนทน พระเจ้าจึงสำแดงความเกรี้ยวกราด (God’s Wrath) ส่งพายุมาทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง
ระหว่างหญิงสาวกำลังหวนระลึกความหลัง (Flashback) จู่ๆได้ยินเสียงกรีดร้องดังกึกก้อง ครุ่นคิดว่าคือลูกน้อยเลยรีบออกตามหา แต่กลับพบว่าไม่ใช่ จึงแหงนมองท้องฟ้า ‘Tilt Up’ สู่ภาพทิวทัศน์ผืนป่า เป็นการบ่งบอกว่าเสียงร้องไห้ดังขึ้นจากธรรมชาติ จากนั้นถึงทำการ ‘Cross Cutting’ กลับสู่ปัจจุบัน
แต่สิ่งน่าสนใจของช็อตนี้คือการ ‘Cross Cutting’ จากทิวทัศน์ผืนป่า ธรรมชาติกว้างใหญ่ พอเริ่มการเฟดช่วงแรกๆ หลายคนอาจครุ่นคิดถึงภาพต้นไม้ใบหญ้า แต่กลับกลายเป็นว่าคือเส้นผมหญิงสาว นี่คือลักษณะของการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Tranform) จากสิ่งหนึ่งสู่อีกสิ่งหนึ่ง ธรรมชาติ = หญิงสาว
สามีพยายามอธิบายว่าเสียงกรีดร้องที่เธอได้ยิน (ในฉากย้อนอดีต) อาจเป็นเพียงหูแว่ว จิตหลอน ครุ่นคิดไปเอง ไม่มีอยู่จริง สังเกตการจัดแสงจะมีความสว่างจร้า ฟุ้งๆเบลอๆ (ใช้เพียงแสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา) กล้องสั่นรุนแรงกว่าปกติเพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์หญิงสาว ไม่พึงพอใจ ไม่อยากยินยอมรับความผิดพลาด ช่วงท้ายของซีเควนซ์ยังพยายามทุบตี กระทำร้ายร่างกายสามี แต่ครานี้ยังสามารถสงบสติอารมณ์
หลังจากหญิงสาวสงบสติอารมณ์ ค่ำคืนนี้เธอจึงพูดอธิบายความครุ่นคิด ข้อสรุปที่ได้รับจากการทำวิจัยเมื่อปีก่อน “Nature is Satan’s Church” เสียงลูกโอ๊กที่ตกหล่นคือสัญลักษณ์ความตาย สิ่งสวยงามอย่างสวน Eden แท้จริงแล้วอาจมีความอัปลักษณ์พิศดาร … แสดงถึงโลกทัศน์ของเธอที่กลับตารปัตรตรงกันข้าม
แม้จดหมายชันสูตรศพจะถูกส่งมาตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง แต่เขากลับเพิ่งเปิดออกอ่านเช้าวันนี้ พอรับรู้เนื้อความใน จู่ๆหันมาสบตาหน้ากล้อง “Breaking the Fourth Wall” จากกล้องเคยสั่นๆกลายเป็นแน่นิ่ง แล้วค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ตัดสู่ภาพความครุ่นคิด/จินตนาการ พบเห็นลูกโอ๊ก(แทนที่จะเป็นฝนตก)ร่วงหล่นใส่ตนเองขณะยืนอยู่นอกบ้าน นี่สามารถแสดงถึงความหดหู่ เศร้าสร้อย อยากจะร่ำร้องไห้ แต่กลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน
ระหว่างฝนตกพรำ สามีปีนป่ายขึ้นไปยังห้องใต้หลังคา สถานที่ราวกับเข้าไปในหัวสมอง/ความครุ่นคิดของภรรยา พบเจอหนังสือ เอกสาร ภาพวาดที่รวบรวมไว้ทำวิจัย และในสมุดจดบันทึก หน้าแรกๆเต็มไปด้วยตัวอักษร อ่านรู้เรื่อง แต่พอเปิดต่อไปเรื่อยๆพบว่าหลงเหลือเพียงลายเส้นขมุกขมัว อ่านไม่ออก ไม่รู้จะว่าเธอกำลังเขียนอะไร
การสูญเสียความสามารถในการเขียน สะท้อนถึงสภาพจิตวิทยาที่ผันแปรเปลี่ยน ผิดเพี้ยน ฟั่นเฟือน ไม่อยู่กับร่องกับรอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ครุ่นคิดว่าตนเองค้นพบ/เข้าใจอะไรบางอย่าง แต่แท้จริงแล้วทุกสิ่งอย่างเพียงเกิดขึ้นในความครุ่นคิดของตนเอง
สามีพยายามจะอธิบายความครุ่นคิดอันบิดเบี้ยว/หลงผิดของภรรยา เธอควรมองประวัติศาสตร์อย่างเป็นกลาง ไม่ใช่นำมาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างว่าสตรีเพศสืบสายความชั่วร้าย! นั่นสร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ปิดกั้น ปฏิเสธรับฟัง แถมยังพยายามใช้กำลังเข้าข่มขืนใจ แต่เขากลับพยายามผลักไส ใครจะไปบังเกิดอารมณ์ จึงวิ่งออกไปภายนอกบ้าน กระทำการช่วยตนเองอย่างรุนแรง
เพราะไม่ต้องการให้ภรรยาสูญเสียตนเองจากการ ‘Masturbation’ จึงยินยอมเข้าไปร่วมเพศสัมพันธ์บริเวณใต้โคนต้นไม้ใหญ่ มีการบีบคอ ตบหน้า ใช้กำลังรุนแรง และระหว่างกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลออกมา (ขณะนี้กล้องจะไม่สั่นๆส่ายๆ แสดงว่าคือภาพจินตนาการเพ้อฝัน) ปรากฎมือมนุษย์เกาะตามรากไม้ ราวกับสถานที่แห่งความชั่วร้าย ประตูสู่ขุมนรก
ผมมองการกระทำของสามีที่เข้าไปร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยา คือความผิดพลาดมหันต์ แม้ตั้งใจเพื่อให้เธอสามารถสงบสติอารมณ์ แต่สารพัดความรุนแรง กลับเหมือนเป็นการส่งเสริม ให้ท้าย เติมเต็มตัณหา ตอบสนองกามารมณ์ หลงผิดเข้าไปใหญ่ ไม่ว่าฉันจะทำอะไร เขายินยอมให้ทุกสิ่งอย่าง
บางคนตีความว่าสามีไม่ได้ร่วมรักภรรยาโคนต้นไม่ใหญ่ด้วยซ้ำไป! ทั้งหมดนี้คือจินตนาการหญิงสาวระหว่างกำลังช่วยตนเอง ให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เติมเต็มตัณหา ตอบสนองกามารมณ์ จมปลักอยู่ใน Eden/ขุมนรกแห่งนี้ด้วยกัน
หญิงสาวพบเห็นซองจดหมายลึกลับ ได้รับคำอธิบายว่าคือรายงานผลการชันสูตรศพ ทำให้ค้นพบบุตรชายมีอาการเท้าผิดรูป/ภาวะเท้าแบนตั้งแต่เกิด นั่นเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยตระหนักรับรู้มาก่อน แต่ทุกภาพถ่ายล้วนเป็นหลักฐาน พบเห็นสวมใส่รองเท้าสลับข้างตลอดเวลา … นี่แปลว่าหญิงสาวไม่ได้เคยใส่ใจอะไรบุตรชายอย่างที่กล่าวอ้างเลยสักนิด!
ปล. การสวมใส่รองเท้าสลับข้าง ยังสามารถสะท้อนถึงความครุ่นคิดที่กลับตารปัตรขั้วตรงข้ามของหญิงสาว เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว โลกสร้างขึ้นโดยซาตาน ฯ
แม้ตอนต้นเรื่องหญิงสาวเคยพยายามกล่าวโทษตนเองถึงความตายบุตรชาย แต่ขณะนั้นยังนอนซมซาน อยู่ในระยะซึมเศร้าโศกเสียใจ ผิดกับขณะนี้ที่ร่างกายได้ฟื้นฟู จิตใจผ่านการบำบัดรักษาหาย เมื่อรับรู้ว่าตนเองคือต้นสาเหตุการตายบุตรชายจริงๆ จึงเกิดปฏิกิริยารุนแรง รับไม่ได้ ทุบตีสามี ทำให้เขาหลั่งเลือด แถมยังเอาหินลับมืดล่ามไว้กับขา ไม่ต้องการให้ดิ้นหลบหนีไปไหน
ผมมองการกระทำรุนแรงของหญิงสาวคือ ‘กลไกปกป้องตนเอง’ ผิดกับตอนต้นเรื่องที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจใดๆ ครานี้หลังผ่านการบำบัด เรียนรู้จักเผชิญหน้าความกลัว และผสมเข้ากับความครุ่นคิดผิดๆเพี้ยนๆ สตรีเพศล้วนสืบสายความชั่วร้าย เลยแสดงออกอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง
แซว: เมื่อตอน Dogville (2003) มีการล่ามคอ Nicole Kidman ให้กลายเป็นสุนัขรับใช้, Antichrist (2009) ทำการเจาะขา ล่ามหินลับมีด เพื่อไม่ให้เขาหลบหนีไปไหน
โพรงจิ้งจอก (Foxhole) สถานที่หลบซ่อนตัวของสามี ระหว่างพยายามตะเกียกตะกายหลบหนีภรรยาป่วยจิต แต่ข้างในหาได้มีสุนัขจิ้งจอกสักตัว กลับเป็นรังของอีกา ส่งเสียงร้องลั่น เขาจึงพยายามทุบตี ฆ่าปิดปาก สุดท้ายเลยถูกพบเจอ ลากกลับออกมา ตกอยู่ในสิ้นหวัง (ตามชื่อตอนที่สาม Despair)
แซว: Melancholia (2011) ก็มีกล่าวถึงการขุดอุโมงค์ ทำหลุมหลบภัย (แต่กลับแค่เอากิ่งไม้มาวางพาดกัน) สำหรับซ่อนตัวในวันโลกาวินาศ และแฝงนัยยะถึงสถานที่ภายในจิตใจ สร้างโลกส่วนตัวสำหรับผ่อนคลายจิตวิญญาณ
พอหญิงสาวลากพาสามีกลับมายังกระท่อมหลังน้อย พยายามบีบบังคับให้เขาร่วมรัก สัมผัสอวัยวะเพศ เพื่อเป็นการระบายอารมณ์อัดอั้นภายใน แต่ขณะเดียวกันปรากฎภาพบุตรชายแวบเข้าในความครุ่นคิด นั่นคืออดีตติดตามมาหลอกหลอน บังเกิดความรู้สึกผิด ตระหนักว่าตนเองคือบุคคลโฉดชั่วร้าย เลยตัดสินใจลงโทษทัณฑ์ตนเองด้วยการตัดปุ่มคริสตอริส … คือขณะนี้ตัวละครมันไม่หลงเหลือสติสตางค์อะไร การกระทำต่างๆล้วนคือแรงผลักดันโดยสันชาติญาณ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
แม้สามีจะไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างภรรยา (เกี่ยวกับ Satan’s Church) แต่การกระทำของเธอที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง ทำให้ต้องเลือกระหว่างต่อสู้ดิ้นรน หรือยินยอมถูกเข่นฆาตกรรม แน่นอนว่าสันชาติญาณเรียกร้องขอให้เขาพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด ปลดเปลื้องพันธนาการ บีบคอ เผาไฟ (เลียนแบบการตัดสินลงโทษแม่มดในยุคกลาง) … ในบริบทนี้ยังสามารถตีความถึงการเข่นฆ่า เผาทำลายสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจวิญญาณ
ระหว่างการก้าวเดินกลับอย่างซุปเปอร์สโลโมชั่น จู่ๆปรากฎภาพมนุษย์มากมาย นอนเปลือยกาย รายล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ แวบแรกชวนให้ผมนึกถึงภาพวาดขุมนรกของ Hieronymus Bosch (1450-1516) จิตรกรชาว Dutch แห่งยุคสมัย Early Netherlandish, Renaissance ผู้เลื่องชื่อลือชาในผลงานศิลปะสวรรค์-นรก วันโลกาวินาศ ฯ
ปัจฉิมบท, หลังจากรับประทานผลเบอร์รี่ (จะมองว่าเป็นผลไม้ในสวน Eden ก็ได้กระมัง) คงทำให้เขาบังเกิดสติปัญญา หันมาร่ำลา The Three Beggars ตัดสินใจออกจากผืนป่า ระหว่างทางพบเจอผู้คนมากมายที่ต่างถูกเซนเซอร์ใบหน้า (เป็นการเหมารวมถึงมนุษย์) กำลังสวนทางไป (หรือก็คือเดินทางไปยัง Eden)
แต่ในบริบทของหนังสถานที่แห่งนั้น Eden แท้จริงคือ ‘Satan’s Church’ แม้มันเป็นตรรกะบิดๆเบี้ยวๆของหญิงสาว เรายังสามารถตีความว่ามนุษย์ยุคสมัยนี้ต่างเห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว ใช้ชีวิตสวนทางกับความเป็นจริง จมปลักภาพมายา ครุ่นคิดว่านรกคือสรวงสวรรค์ มีเพียงฉันที่สามารถตระหนักรับรู้ถึงข้อเท็จจริง
ปล. ซีเควนซ์นี้ชวนให้ผมนึกถึงตอนจบภาพยนตร์ Yellow Earth (1984) ของ Chen Kaige คนส่วนใหญ่ต่างหลั่งไหลไปตามกระแสสังคม แต่มีเพียงเด็กชายคนหนึ่งแหวกว่ายทวนกระแสน้ำ
ตัดต่อโดย Anders Refn และ Åsa Mossberg,
เรื่องราวของหนังเกาะติดสองตัวละครไร้นาม He และ She หลังจากสูญเสียบุตรชาย ภรรยาล้มป่วยโรคซึมเศร้า สามีเป็นนักจิตบำบัดจึงตัดสินใจทำการรักษาเธอด้วยตนเอง ใช้วิธีการ ‘Exposure Therapy’ เริ่มจากความครุ่นคิด สะกดจิต จากนั้นออกเดินทางสู่กระท่อมกลางป่าเพื่อให้เธอค่อยๆปรับตัว เผชิญหน้าความกลัว แต่หญิงสาวกลับกลายเป็นคนบ้า ฟั่นเฟือน แสดงพฤติกรรมรุนแรง ซาดิสม์และมาโซคิสม์
- Prologue
- ร้อยเรียงภาพซุปเปอร์สโลโมชั่น ระหว่างสามี-ภรรยากำลังร่วมรัก บุตรชายประสบอุบัติเหตุตกตึกเสียชีวิต
- One: Grief
- ในพิธีศพ ภรรยาเป็นลมล้มพับ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าหนึ่งเดือน
- สามีที่เป็นนักจิตบำบัด ตัดสินใจพากลับบ้าน ครุ่นคิดหาวิธีรักษาด้วยตนเอง
- พบเห็นอาการป่วยของหญิงสาว ร่ำร้องไห้ หอบหายใจ มือไม้สั่น พยายามใช้การร่วมรักผ่อนคลายความทุกข์โศก
- สามีพูดคุยสอบถามถึงสิ่งสร้างความกลัว เธอตอบว่า ‘ธรรมชาติ’
- ระหว่างขึ้นรถไฟไปกระท่อมน้อยกลางป่า สามีทำการสะกดจิตภรรยา ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
- ระหว่างเดินทางเข้าป่า พักเหนื่อยกลางทาง สามีพบเจอกับเจ้ากวางแท้งลูก
- Two: Pain (Chaos Reigns)
- ทั้งสองยังคงเดินทางต่อ มาจนถึงสะพานข้ามคูเล็กๆ แต่หญิงสาวกลับเกิดอาการสั่นกลัว ออกวิ่งไปยังกระท่อมกลางป่า
- ค่ำคืนนั้นสะดุ้งตื่นจากเสียงลูกโอ๊กหล่นใส่หลังคา
- เช้าวันถัดมาสามีสร้างเกมให้ภรรยาก้าวเดินจากหินก้อนหนึ่งสู่หินก้อนหนึ่ง ค่อยๆปรับตัวเข้ากับความกลัว แต่ทันใดนั้นพบเห็นลูกนกตกลงพื้น อีกาโฉบเข้ามาจิกกินอาหาร
- ภรรยาเล่าความทรงจำเมื่อปีก่อน มาพักอาศัยอยู่กระท่อมหลังนี้กับบุตรชายระหว่างทำวิจัย (Thesis) แล้วได้ยินเสียงร่ำร้องไห้ แต่ไม่ใช่ของบุตรชาย
- หลังจากรับฟังเรื่องเล่าของภรรยา ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เธอหวาดกลัวมาเป็น ‘ซาตาน’
- วันถัดมาจู่ๆอาการของภรรยาก็หายดีเป็นปลิดทิ้ง สามารถเดินทางสะพาน
- แต่ระหว่างหายตัวไปในผืนป่า สามีพบเจอสุนัขจิ้งจอกกำลังกัดกินลูกในครรภ์ หันมาพูดว่า “Chaos Reigns”
- Three: Despair (Gynocide)
- ยามบ่ายฝนตกหนัก ภรรยากำลังหลับนอน สามีขึ้นไปยังห้องใต้หลังคา พบเจอเอกสารงานวิจัยที่เธอทอดเอาไว้ ก่อนค้นพบความผิดปกติหลายๆอย่าง
- ลงมาพูดคุยภรรยาถึงข้อสรุปงานวิจัย ทำให้ตระหนักว่าความครุ่นคิดของเธอดูบิดๆเบี้ยวๆ เหมือนคนหลงผิด ฟั่นเฟือน จากนั้นพยายามจะขอร่วมรัก แต่พอเขาปฏิเสธก็ออกไปช่วยตนเอง จนเขายินยอมร่วมเพศสัมพันธ์กับเธอตรงโคนต้นไม้
- ภรรยาพบเจอจดหมายชันสูตรศพบุตรชาย สามีเปิดเผยว่าบุตรชายอาจมีอาการเท้าผิดรูป/ภาวะเท้าแบน
- ระหว่างที่สามีได้ข้อสรุปความกลัวของภรรยาเป็น ‘ฉัน’ เธอเข้ามาพยายามจะร่วมรัก ทุบตีจนหมดสติ ช่วยให้เขาหลั่งเลือด และยังเอาหินลับมีดล่ามขา
- ฝ่ายชายตื่นขึ้นมา พยายามลากสังขารหลบหนีเข้าไปยังโพรงจิ้งจอก พบเจออีกานั้นส่งเสียงร้อง เลยถูกภรรยาจับได้ ลากพากลับมาที่บ้าน
- ภรรยาพยายามลักหลับ ร่วมเพศสัมพันธ์ จากนั้นตัดปุ่มคริสตอริส
- Four: The Three Beggars
- เมื่อสามีตื่นขึ้นมา พยายามไขเอาหินลับมีดออกจากขา
- พอเห็นสัตว์ทั้งสาม ทำให้ต้องต่อสู้กับภรรยา
- จากนั้นทำการสุมไฟ แผดเผา คล้ายแบบพิธีล่าแม่มด
- Epilogue
- ระหว่างเดินทางกลับ พบเห็นผู้คนไร้หน้ามากมายเดินสวนทางไป
แม้หนังจะดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง (Linear Narrative) แต่มักแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) ไม่ก็ภาพความฝัน/จินตนาการ (ระหว่างการสะกดจิต) ก่อนค่อยๆเลือนลางเข้ากับโลกความจริง … ช่วงท้ายของหนัง สิ่งที่หญิงสาวเพ้อคลั่ง ฟั่นเฟือน กลับบังเกิดขึ้นจริง!
เพลงประกอบโดย Kristian Eidnes Andersen (เกิดปี ค.ศ. 1966) วิศวกรเสียง นักแต่งเพลงสัญชาติ Danish, สำเร็จการศึกษาจาก National Film School of Denmark จากนั้นทำงานออกแบบเสียง (Sound Design) กลายเป็นขาประจำผกก. Lars von Trier ตั้งแต่ Breaking the Waves (1996), แต่สำหรับ Antichrist (2009) ยังรับหน้าที่สร้าง ‘Ambient Score’ ใช้ดนตรีคลาสสิกเลียนเสียงธรรมชาติ พยายามสร้างความกลมกลืนเข้ากับพื้นหลัง
แต่ขอเริ่มต้นบทเพลงที่ใครๆคงจดจำไม่รู้ลืม เต็มไปด้วยความเศร้าโศกโศกา โหยหาอาลัย Lascia ch’io pianga (แปลว่า Let me weep) ดั้งเดิมเคยใช้ชื่อ Lascia la spina, cogli la rosa (แปลว่า Leave the Thorn, Take the Rose) บทเพลง Soprano Aria ภาษาอิตาเลี่ยน ในองก์ที่สองของอุปรากร Rinaldo (1711) ประพันธ์โดย George Frideric Handel (1685-1759) คีตกวี German-British แห่งยุคสมัย Baroque
เสียงขับร้อง Soprano ช่างมีความโหยหวน คร่ำครวญ บีบเค้นคั้นทรวงใน โดยเฉพาะลีลาการลากเสียง และไล่ระดับสูง-ต่ำ ทำได้อย่างหยดย้อย ชดช้อย คล้อยอารมณ์ ผู้ฟังรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแทบแตกสลาย
คำร้องอิตาเลียน | แปลตรงตัวอังกฤษ | แปลอย่างเท่ห์ๆ |
---|---|---|
Lascia ch’io pianga mia cruda sorte, e che sospiri la libertà. Il duolo infranga queste ritorte, de’ miei martiri sol per pietà. | Let me weep over my cruel fate, and let me sigh for liberty. May sorrow shatter these chains, of my torments out of pity alone. | Ah! leave me to the last Relief Of Tears, to utter all my Grief, And let me, thus by Fortune crost, Lament the Liberty I’ve lost. Compassion only can propose The Remedy for all my Woes. And this Regret, you utter here, Should prove by Pity ’tis sincere. |
I remember well going to see Antichrist at the cinema when it came out and it was Handel’s song that stayed with me. It takes a second or third viewing to recognise the work being done by all the bits in-between, the un-music, the audiable, the hum of the world. Silence has never sounded so uncanny.
นักกีตาร์/วิจารณ์ดนตรี Robert Barry กล่าวถึงอัลบัมเพลงประกอบ Antichrist (2009)
งานเพลงของ Andersen เป็นอย่างที่นักวิจารณ์ว่าไว้ ตอนรับชมหนังครั้งแรกมักไม่ได้ยิน ไม่อยู่ในความสนใจ (ถูกกลบเกลื่อนด้วยความเศร้าโศกาของบทเพลง Lascia ch’io pianga) แต่การรับชมครั้งถัดๆมา ดนตรีแอมเบี้ยนลักษณะนี้จะมีความเด่นชัดขึ้น ช่วยสร้างบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง แม้ดังขึ้นเพียงบางครั้งครา กลับทำให้หัวใจวาบหวิว สั่นสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน … มีนักวิจารณ์อีกคนให้คำนิยาม สัมผัสธรรมชาติของ ‘satan’s church’
Antichrist อาจเป็นชื่อหนังที่ฟังดูน่าสะพรึงกลัว หมายถึง ศัตรูของพระคริสต์ (Protestant), ปฏิปักษ์ของพระคริสตเจ้า (Roman Catholic), หรือคือบุคคลไม่ยินยอมรับว่าพระบุตรของพระเจ้าได้ถือกำเนิดลงมาเป็นมนุษย์ ซึ่งการไม่เชื่อในพระเยซู ซึ่งเท่ากับปฏิเสธพระบิดา/พระเป็นเจ้า, ในศาสนาอิสลาม นบีมุฮัมมัดเรียกผู้ต่อต้านพระคริสต์ว่า ดัจญาล (دجال) ผู้หลอกลวง หมายถึง บุคคลที่อัลลอฮ์ส่งมาเพื่อทดสอบความเชื่อของมนุษย์ในช่วงใกล้วันสิ้นโลก
ภาพยนตร์ Antichrist (2009) นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวล้มป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) ระหว่างเข้าบำบัดรักษาด้วยวิธีการ ‘Exposure Therapy’ โดยสามีที่เป็นนักจิตบำบัด ค่อยๆเปิดเผยเบื้องหลัง ความกลัว สิ่งซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจ ค้นพบว่าเธอมีความเชื่อเรื่องซาตาน (ศัตรูของพระคริสต์, Antichrist) คือผู้ให้กำเนิดโลก สตรีเพศสืบสายความชั่วร้ายมาแต่โบราณกาล
(บางคนอาจตีความ He & She ก็คือ Adam & Eve ที่ฝ่ายหญิงหลังรับประทานผลไม้จากสวนอีเดน ทำให้เกิดปัญญา รับรู้ว่าโลกใบนี้สร้างโดยซาตาน)
ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจบทสรุปดังกล่าว จะตระหนักรับรู้ว่า Antichrist (2009) ไม่ใช่ภาพยนตร์ดูหมิ่นพระเจ้า (Blasphemous) แต่ต้องการนำเสนออาการผิดปกติหญิงสาว เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว เกิดอาการหลอกหลอน บิดเบือน ฟั่นเฟือน สติไม่สมประกอบ ครุ่นคิดว่าเพศหญิงคือสิ่งชั่วร้าย พระเจ้าไม่ได้สร้างโลก ธรรมชาติ/ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นของ ‘satan’s church’
สามีของเธอพยายามให้การช่วยเหลือ แต่ตระหนักรับรู้ก้นเบื้องความกลัวของภรรยาช้าเกินไป ทุกสิ่งอย่างเลยพลิกกลับตารปัตร ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรได้อีก หลงเหลือเพียงดิ้นหลบหนี หาหนทางเอาตัวรอด โต้ตอบด้วยความรุนแรง … โดยไม่รู้ตัวสามีซึมซับรับความเชื่อส่วนหนึ่งจากภรรยา ท้ายที่สุดครุ่นคิดว่าเธอคือแม่มด ทายาทซาตาน จึงจับเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น และตอนจบพบเห็นนิมิตแห่งอนาคต มนุษย์ทั้งหลายกำลังมุ่งหน้าสู่ Eden ที่เป็นของซาตาน
Two years ago, I suffered from depression. It was a new experience for me. Everything, no matter what, seemed unimportant, trivial. I couldn’t work. Six months later, just as an exercise, I wrote a script. It was a kind of therapy, but also a search, a test to see if I would ever make another film.
Lars von Trier
ผมพยายามค้นหาเหตุผลที่ผกก. von Trier ทำไมถึงล้มป่วยโรคซึมเศร้า? แต่ก็ไม่พบเจอคำอธิบาย หรือเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อใดๆ นอกเสียจากเล่าว่าตนเองมีปัญหาเรื่องความกลัว (Phobia) กลัวเครื่องบิน กลัวการอยู่คนเดียว ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้เวลาอยู่ในที่สาธารณะ … ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุล้มป่วยซึมเศร้า
การเข้ารับการบำบัด ‘Exposure Therapy’ ทำให้ผกก. von Trier ได้เรียนรู้ ฝึกฝน เผชิญหน้าสารพัดความกลัวของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เขาค้นพบน่าจะคือปมเรื่องบิดา-มารดา เมื่อตอนเธอล้มป่วยนอนติดเตียง สารภาพว่าบุคคลเลี้ยงดูแลไม่ใช่บิดาแท้ๆ (เปรียบเทียบกับตอนสามีเปิดเผยว่าบุตรชายมีอาการเท้าผิดรูป/ภาวะเท้าแบน) นั่นคงสร้างความเจ็บปวด ผิดหวัง ไม่อยากยินยอมรับความจริง
ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของผกก. von Trier นางเอกมักถูกปู้ยี้ปู้ยำ ทำให้สูญเสียเกียรติ นี่ไม่ใช่พฤติกรรมรังเกลียดเพศหญิง (Misogynist) เพราะเขาก็มีภรรยาเป็นตัวเป็นตน(ถึงสองคน) ออกมาให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่ารักชอบผู้หญิง (ไม่ใช่เกย์) แต่ผมมองว่าความสนใจดังกล่าว สะท้อนอคติมารดา ตำหนิต่อว่าถึงความไม่จงรักภักดี สำส่อนทางเพศ สนเพียงกระทำสิ่งสนองตัณหาตนเอง
จุดเริ่มต้นจากอคติมารดา สืบสานต่อไปถึงยุโรปยุคกลาง หญิงสาวสมัยนั้นถ้าทำตัวนอกรีต ต่อต้านสังคม คบชู้นอกใจสามี จักโดนตีตราว่าเป็นแม่มด โฉดชั่วร้าย ทายาทซาตาน ถูกจับกุม คุมขัง ตัดสินโทษประหารด้วยการจุดไฟเผาให้มอดไหม้ ตกตายทั้งเป็น
ถึงอย่างนั้นมันไม่ใช่ความครุ่นคิดหญิงสาวที่ผิดเพี้ยน บิดเบือน ฟั่นเฟือน แต่คือความพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อยของผกก. von Trier เชื่อมโยงจากสิ่งหนึ่งเข้ากับอีกสิ่งหนึ่ง อดีต-ปัจจุบัน เลือนลางโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน ก้นเบื้องความกลัวแท้จริงนั้นก็คือ “ME” ตัวเขาเองนะแหละ
จากครึ่งค่อนเรื่องที่ผกก. von Trier เทียบแทนตนเองเป็นตัวละครของ Charlotte Gainsbourg แต่พอสามีครุ่นคิดตระหนักได้ว่าที่สุดความกลัวคือ “ME” ต่อจากนี้จะเกิดการสลับร่าง เปลี่ยนอวตารมาเป็น Willem Dafoe พยายามดิ้นรน ตะเกียกตะกาย หลบซ่อนตัวในหลุมหลบภัย ก่อนตัดสินใจปลดเปลื้องพันธนาการ ลุกขึ้นเผชิญหน้า เข่นฆ่าภรรยา = ทำลายความกลัวของตนเองให้มอดไหม้วอดวาย
เกร็ด: ชื่อหนังแบบสไตลิส ANTICHRIS♀ เขียนด้วยตัวอักษรใหญ่ และตัวสุดท้าย T เปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์เพศหญิง (♀) สิ่งที่ตัวละคร/ผกก. von Trier มีความหวาดกลัว, เพศหญิง = ธรรมชาติ = สร้างขึ้นโดยซาตาน
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับแตกออกเป็นสองฝั่งขั้วตรงข้าม มีผู้ชมทั้งเป็นลม โห่ล่ เดินออกกลางคัน ทำเอานักข่าวสอบถามผกก. von Trier ทำไมถึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้? ได้รับคำตอบกลับ
I don’t think I have to excuse myself. You are all my guests here, not the other way round. I work for myself, and I’ve made this little film that I’m now rather fond of. I don’t do it for you or for an audience. So I don’t think I owe anybody an explanation.
Lars von Trier
แซว: ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน ผกก. von Trier ยังประกาศกร้าว “I am the best film director in the world.”
แม้หนังจะพ่ายรางวัล Palme d’Or ให้กับ The White Ribbon (2009) แต่ยังสามารถคว้ารางวัล Best Actress (Charlotte Gainsbourg) และคณะกรรมการ Ecumenical Jury ยังมอบรางวัลพิเศษ ‘Anti-Award’ พร้อมประกาศกร้าวว่า “the most misogynist movie from the self-proclaimed biggest director in the world.”
เกร็ด: เจ้าสุนัขจิ้งจอกพูดได้ “Chaos Reigns” ได้เข้าชิงรางวัล Palm Dog (ผ่อนปรนให้เพราะถือว่าสายพันธุ์สุนัขเหมือนกัน) แต่สุดท้ายพ่ายให้เจ้า Dug อนิเมชั่น Up (2009)
ด้วยทุนสร้างประมาณ $11 ล้านเหรียญ (จากการร่วมทุน Denmark, France, Germany, Italy, Poland, Sweden) สามารถทำรายรับได้เพียง $7.4 ล้านเหรียญ โอกาสที่หนัง High Art-House ระดับนี้จะสามารถคืนทุน ทำกำไร เป็นไปได้ยากยิ่งนัก!
แม้หนังถ่ายทำด้วยกล้อง RED One Digital Camera คุณภาพ 4K แต่ฉบับ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion Collection วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2010 ยังเป็นแค่ High-Definition Transfer เอาไว้รับชมแก้ขัดไปก่อน
อาจเพราะผมไล่เรียงรับชมผลงานของผกก. von Trier ตั้งแต่เรื่องแรกมาจนถึง Antichrist (2009) เลยไม่ค่อยรู้สึกแปลกประหลาดใจ แค่เพียงวาบๆหวิวๆทรวงใน แต่ก็ตระหนักว่าความโป๊เปลือย รุนแรงทางเพศ สุดโต่งอย่างที่สุดจริงๆ ถึงอย่างนั้นลีลาการนำเสนอ ภาพถ่ายซุปเปอร์สโลโมชั่น มันช่างงดงาม วิจิตรศิลป์ แค่ว่าความครุ่นคิดบิดๆเบี้ยวๆ สูงส่งเกินอาจเอื้อม มีความส่วนตัวมากไปนิสนึง
ถึงจะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า (Depression) แต่ผมไม่แนะนำให้เปิดหนังเรื่องนี้กับผู้ป่วยอาการนี้นะครับ รังแต่จะสร้างความห่อเหี่ยว สิ้นหวังยิ่งกว่า ข้ามไป Melancholia (2011) เรื่องนี้ดีจริง!
จัดเรต NC-17 กับผู้ป่วยซึมเศร้า (Depression) เพศสัมพันธ์รุนแรง อาการหลงผิด ความครุ่นคิดบิดๆเบี้ยวๆ
Leave a Reply