
Pietà (2012)
: Kim Ki-duk ♥♥
Pietà ภาษาอิตาลี แปลว่า ความสงสาร, แต่ทว่าภาพยนตร์ Pietà (2012) ที่อุตส่าห์คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice กลับดูน่าสมเพศเวทนา เต็มไปด้วยข้อครหา นั่นเพราะผู้กำกับ Kim Ki-duk ยังคงเคียดแค้นฝังหุ่น ไม่สามารถปล่อยละวางได้สักที!
ผมเคยกล่าวเอาไว้ตอน Arirang (2011) คือภาพยนตร์/สารคดีที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของผกก. Kim Ki-duk ผ่านการชำระล้าง ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่ แต่คาดไม่ถึงว่าวิวัฒนาการกลับถดถอยหลังลงคลองอย่างน่าผิดหวัง! สรรค์สร้างผลงานเพียงเพื่อระบายอารมณ์อัดอั้น สำแดงความเป็นศิลปิน โดยไม่สนห่าเหวอะไรใครอีกต่อไป!
อุตส่าห์ตั้งชื่ออย่างหรูหรา Pietà (2012) แต่ทว่าใจความของหนังเกี่ยวกับการล้างแค้น (Revenge Film) มารดาลูกหนี้คนหนึ่ง ปลอมตัวอ้างว่าคือมารดาของพนักงานทวงหนี้จอมโหด เพื่อที่จะเสี้ยมสอนความเป็นมนุษย์ ก่อนทำบางสิ่งอย่างเพื่อให้เขารู้สึกเหมือนตกตายทั้งเป็น … มันมีความน่าสงสารตรงไหน?
ปล. ผมอยากแนะนำให้หารับชม Arirang (2011) เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่ผกก. Kim Ki-duk บังเกิดอคติรุนแรงต่อระบอบทุนนิยม (Anti-Capitalism) แล้วต้องการเข่นฆ่าล้างแค้น (Revenge Film) โต้ตอบเอาคืนบุคคลทรยศที่มีความละโมบโลภมาก จนละทอดทิ้งความเป็นมนุษย์
ชัยชนะรางวัล Golden Lion ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของผกก. Kim Ki-duk และวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ (คือภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่สุดจากสามเทศกาลหนัง Big 3) แต่ทว่ากลับเต็มไปด้วยข้อครหา เพราะว่าปีนั้นมี The Master (2011) ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson ที่เหนือกว่าทุกกระเบียดนิ้ว
The rules are very specific. A film may only win one award. The exception is actors. A film could win for actor and one of the other awards, but a film can’t win for actor and Golden Lion. The Master was awarded best director because we really thought Paul Thomas Anderson’s directing was fantastic. And it allowed us to award the actors. Nobody else could have played these roles. It’s a three-handed triumph.
Michael Mann ประธานกรรมการสายการประกวดปีนั้น
มันมีกฎระเบียบของเทศกาลสำหรับภาพยนตร์ที่คว้ารางวัล Golden Lion จะไม่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลอื่น! แต่ทว่าคณะกรรมการปีนั้นคลั่งไคล้การแสดงของ Philip Seymour Hoffman และ Joaquin Phoenix เลยตัดสินใจมอบ Best Actor ให้กับนักแสดงทั้งสอง และเพิ่มเติมสาขาผู้กำกับแก่ Paul Thomas Anderson กลายเป็น The Master (2012) เหมาไปสามรางวัล ก่อนโยนส้มหล่นให้ Pietà (2012) อย่างไม่มีใครคาดคิดถึง!
เกร็ด: ภาพโปสเตอร์หนังนำแรงบันดาลใจจาก Pietà (1498-99) งานประติมากรรมแกะสลักหินอ่อน พระแม่มารีโอบอุ้มร่างพระเยซูคริสต์ลงจากไม้กางเขน ทำขึ้นโดย Michelangelo Buonarroti (1475-1564) สัญชาติ Italian แห่งยุคสมัย Renaissance ตั้งอยู่ในมหาวิหาร Saint Peter’s Basilica ณ Vatican City

Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม (Bully) แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง (Child Abuse), พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือห้าปี (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์
พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบท Korea Scenario Writers Association แล้วพัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), กำกับผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996) และแจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)
ระหว่างสรรค์สร้าง Dream (2008) เกิดอุบัติเหตุขึ้นในกองถ่าย นักแสดงนำหญิงเกือบที่จะถูกแขวนคอเสียชีวิต นั่นสร้างความตื่นตระหนก ตกใจกลัว ทำให้ผกก. Kim Ki-duk รู้สึกผิดอย่างรุนแรง! และหลังจากนั้นไม่นานลูกศิษย์เอก/ผู้ช่วยผู้กำกับ Jang Hoon นำเอาบทร่างหนังโดยไม่ขออนุญาต ไปสรรค์สร้าง Secret Reunion (2010) กลายเป็นความบาดหมาง ตกอยู่ในความสิ้นหวัง ทำการปลีกวิเวก ลงโทษตนเอง กักขังตัวอยู่ในบ้านชนบท ห่างหายตัวไปนานสามปี ก่อนถ่ายทำสารคดี Arirang (2011) อธิบายเหตุผล ระบายอารมณ์อัดอั้นทั้งหมดออกมา
เกร็ด: จริงๆแล้ว Jang Hoon ไม่ได้ขโมยบทหนังของผกก. Kim Ki-duk (ผมอธิบายไปแล้วในบทความ Arirang (2011)) มันเป็นข้ออ้างไร้สาระ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองมากกว่า!
ระหว่างการสรรค์สร้าง Arirang (2011) ทำให้ผกก. Kim Ki-duk บังเกิดความเข้าใจปัญหาของตนเอง คือความละโมบโลภมาก อิจฉาริษยาลูกศิษย์เอก นั่นเพราะ Rough Cut (2008) (จากบทของ Kim Ki-duk) และ Secret Reunion (2010) (ที่ครุ่นคิดว่าถูกขโมยบทหนังไป) ต่างประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! ทำไมฉันถึงไม่มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง?
While filming Arirang, I came to understand why I had ended up in such a rut and realized that the biggest problem was my own greed. By making Pietà, I wanted to ask if there would be a future in what we call faith. Pietà is a testament to the reality of the extremely monetary society in which we live. At the same time, the film shows how tragic the result of such extreme capitalism can be. If wars in the past were about a collision of ideologies, then modern wars seem to derive from greed.
Kim Ki-duk
เมื่อตระหนักว่าตนเองบังเกิดความโลภ อยากได้อยากมี จึงอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่นำเสนอความชั่วร้ายของระบอบทุนนิยม เงินคือปีศาจร้าย ท้าทายความเป็นมนุษย์ นำพาหายนะมาสู่โลกใบนี้
Money is the Devil of our age. Money has become a god that tests humans. I made the film to indict this tragedy of ours, but nothing has changed. Money threatens relationships between individuals as well as between nations. If nothing is done to change it, some unavoidable disaster will befall all of us.
เรื่องราวของ Lee Kang-do (รับบทโดย Lee Jung-jin) พนักงานทวงหนี้ผู้มีจิตใจอํามหิต เลือดเย็น ถ้าลูกหนี้ไม่ส่งเงินตามกำหนดเวลา จักทำการหักแขนหักขา เอาเงินค่าประกันสุขภาพมาจ่ายคืนแทน สร้างความโกรธเกลียดเคียดแค้นให้บรรดาลูกหนี้ ไม่รู้จักความประณีประณอมบ้างเลยหรือไร?
กระทั่งวันหนึ่งได้พบเจอหญิงวัยกลางคน Jang Mi-sun (รับบทโดย Jo Min-su) อ้างตนเองว่าคือมารดาของ Lee Kang-do ร่ำร้องขอให้บุตรชายยกโทษให้อภัย ในตอนแรกใครกันจะหลงเชื่อ แต่เมื่ออาศัยอยู่ร่วมสักพักก็เริ่มใจอ่อน เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ลาออกจากงาน กลายเป็นเด็กน้อยในอ้อมอกมารดา
แต่แท้จริงแล้ว Jang Mi-sun หาใช่แม่แท้ๆของ Lee Kang-do บุตชายของเธอกระทำอัตวินิบาตหลังถูกทวงหนี้ กลายเป็นคนพิการ จึงครุ่นคิดแผนการล้างแค้น ล่อหลอกให้เขาหลงเชื่อว่าตนเองคือมารดา แล้วลงมือเข่นฆ่าตัวตาย เพื่อให้เขารู้สึกเหมือนตกตายทั้งเป็น!
Lee Jung-jin, 이정진 (เกิดปี ค.ศ. 1978) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Nowon-gu, Seoul สำเร็จการศึกษาพืชกรรมสวน (Horticulture) Konkuk University ต่อด้วยสาขาการแสดง Hanyang University ทำงานเป็นนายแบบก่อนได้รับการค้นพบโดย Jeong Young-beom ซีอีโอของ Star J Entertainment เริ่มมีผลงานซิทคอม ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Pietà (2012), Eun-ha (2016) ฯ
รับบท Lee Kang-do เนื่องจากวัยเด็กถูกมารดาทอดทิ้ง จึงขาดความรัก ความอบอุ่น เติบโตขึ้นเลยมีจิตใจอำมหิต เยือกเย็นชา ทำงานเป็นพนักงานทวงหนี้ พร้อมใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่ายเงินตามกำหนด, แต่หลังจากได้พบเจอหญิงวัยกลางคน Jang Mi-sun อ้างว่าคือมารดา โดยไม่รู้ตัวเริ่มบังเกิดความมีเมตตา แสดงความสงสารเห็นใจ แต่ทุกสิ่งอย่างมันสายเกินไปไหม?
ผมแอบเสียดายที่ผกก. Kim Ki-duk ไม่เลือกใช้นักแสดงขาประจำ Cho Jae-hyun เพราะบทบาทนี้มันช่างมีความละม้ายคล้าย Crocodile (1996) ชายผู้ใช้ชีวิตโดยสันชาตญาณ ด้วยความรุนแรง ดิบเถื่อน ไม่รู้ไปโกรธเกลียดเคียดแค้นใครมา เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น พร้อมระเบิดอารมณ์คลุ้มคลั่งได้ตลอดเวลา และครึ่งหลังเมื่อสิ่งต่างๆหวนย้อนกลับหา “กรรมสนองกรรม” ก็จักได้รับทเรียน เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนใหม่
ภาพลักษณ์ของ Lee Jung-jin แม้มีความดุดัน ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด ตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องการแสดงผมรู้สึกว่าเขาไม่สามารถปลดปล่อยตนเอง กลัวๆกล้าๆ ไม่อยากถลำตนเองลึกลงไป เลยยังทำได้ไม่สุดทางสักเท่าไหร่ … เทียบไม่ได้กับ Cho Jae-hyun ภาพยนตร์ Crocodile (1996) ที่กล้าระเบิดอารมณ์อย่างไม่บันยะบันยัง
และโดยเฉพาะครึ่งหลังเมื่อ Lee Kang-do เริ่มแสดงความเป็นมนุษย์ออกมา มันเหมือนเขาขาดความเชื่อมั่นว่าหมอนี่จักสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้จริงๆ ผลลัพท์เลยค่อนข้างน่าผิดหวัง ตัวละครมีความตื้นเขิน ยังเข้าไม่ถึงเบื้องลึก ผู้ชมเลยจึงไม่บังเกิดความสงสารสักเท่าไหร่ … ผมมองความล้มเหลวในการแสดงของ Lee Jung-jin ได้ทำลายความหมายของชื่อหนัง Pietà ลงโดยสิ้นเชิง!
Jo Min-su, 조민수 (เกิดปี ค.ศ. 1965) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul ระหว่างเรียนมัธยมเข้าตาแมวมอง เริ่มจากแสดงโฆษณา โด่งดังกับซีรีย์โทรทัศน์ Sandglass (1995), Piano (2001), เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติกับภาพยนตร์ Pietà (2012) ฯ
รับบท Jang Mi-sun หญิงวัยกลางคนแสร้งว่าคือมารดาของ Lee Kang-do พยายามพิสูจน์ตนเอง ยินยอมอดกลั้นฝืนทน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ยินยอมรับ กลายเป็นเด็กน้อยในอ้อมอก ขาดเธอไม่ได้! ซึ่งพอทำสำเร็จก็เริ่มดำเนินตามแผนการแท้จริง ล่อหลอกว่าถูกลักพาตัวก่อนกระโดดตึกลงมาเสียชีวิต นั่นจะทำให้เขามีสภาพไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น!
เห็นว่า Jo Min-su ไม่ค่อยชื่นชอบผลงานของผกก. Kim Ki-duk เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงมักถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อ เต็มไปด้วยภาพโป๊เปลือย (เอิ่ม แล้วหนังเรื่องนี้มันดีเด่นกว่าเรื่องอื่นตรงไหน?) แต่ก็ยินยอมนัดเจอ พูดคุย คาดไม่ถึงอีกฝ่ายจะแตกต่างจากที่คาดคิดเอาไว้
I was not very comfortable with Kim’s movies. In movies like ‘Bad Guy,’ ‘Island’ or ‘Time’ women are victims. And there is nudity, much nudity. So I didn’t really like his movies.
Jo Min-su
บทหนังที่ Jo Min-su ได้อ่านนั้นมีความสุดโต่ง รุนแรง จนดูเกินเลยความเหมาะสม แต่ทว่า Kim Ki-duk กลับยินยอมปรับลดลงมาในระดับยินยอมรับไหว นั่นคือสิ่งที่เธอแอบคาดไม่ถึง เลยยินยอมตอบรับความท้าทายใหม่ๆ
I didn’t think I could handle it. I told him that. And he said, ‘let’s just do it to a level you are comfortable with’ and he adjusted it for me. [I have to thank Kim Ki-duk for giving her the chance] to work with new material from what I was used to in the past.
ตั้งแต่การปรากฎตัวครั้งแรก Jo Min-su มีสีหน้าซึมเศร้า หมองหม่น ดูเป็นคนอมทุกข์ เก็บกดอัดอั้นความสิ่งบางอย่างไว้ภายใน ช่วงแรกๆผู้ชมมักครุ่นคิดว่าคือความรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งบุตรชาย ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไถ่บาป ความผิดพลาดเคยกระทำ, จนเมื่อเปิดเผยเบื้องหลังความจริง มันกลับคืออาการขัดแย้ง ต้องการล้างแค้น แต่เมื่อเริ่มรับรู้จักอีกฝ่าย ก็บังเกิดความสงสารเห็นใจ เข้าใจว่าทำไม Lee Kang-do ถึงกลายมาเป็นบุคคลเช่นนั้น
ถึงผมไม่เคยรับชมผลงานอื่นๆของ Jo Min-su ก็บอกได้ว่านี่คือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด! ไม่ด้อยไปกว่า Kim Hye-ja ภาพยนตร์ Mother (2009), Yoon Jeong-hee ภาพยนตร์ Poetry (2010), และเมื่อไม่กี่ปีก่อน Youn Yuh-jung ภาพยนตร์ Minari (2020) … นักแสดงหญิงเกาหลีใต้ ต้องถือว่ายิ่งแก่ยิ่งเก๋า
Someone somewhere has given me something to remember, a memory to hold onto. ‘Ah, that is the actor that went to Venice.’ That’s what will remain, I suppose
ถ่ายภาพโดย Cho Young-jik, 조영직 (เกิดปี ค.ศ. 1979) ร่ำเรียนการถ่ายภาพจาก Kyunghee University และ Korean Film Academy ทำงานถ่ายทำสารคดี ก่อนแจ้งเกิดกับ Mother is a Whore (2011) และโด่งดังภาพยนตร์ Pietà (2012) ฯ
คล้ายๆแบบ Address Unknown (2001) มีการย้อมเฉดสีน้ำตาลให้ดูอับเฉา หมองหม่น บรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง แถมยังถือกล้องสั่นๆ ใช้เพียงแสงธรรมชาติเท่านั้น! เปลี่ยนจากถ่ายทำด้วยฟีล์มมาเป็นกล้องดิจิตอล CANON 5D Mark II ทำลายสัมผัสอันหยาบกร้าน ใบหน้านักแสดงดูเรียบเนียน นึกว่าทำศัลยกรรมพลาสติก? … ภาพจากกล้องดิจิตอล มอบสัมผัสโลกสมัยใหม่ที่ดูจอมปลอม หลอกลวง
ในตอนแรกผกก. Kim Ki-duk ตั้งใจที่จะเดินทางไปถ่ายทำยังทวีปยุโรป+ญี่ปุ่น แต่ทว่าไม่สามารถหานักแสดงเหมาะสม เลยหวนกลับมาเกาหลีใต้ เลือกย่านการค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics Shopping Center) Sewoon Cheonggye Shopping Mall ตั้งอยู่ 160 Cheonggyecheon-ro, Jung District, Seoul
Originally, it was my intention to shoot Pieta in France and Japan, and we worked for months in preparation. However, I couldn’t cast the right actors for key roles and so decided to shoot in Korea. In the end, I think it was a better choice since I find filming in Korea much more comfortable and productive.
Kim Ki-duk
ตามสไตล์ Kim Ki-duk หนังใช้เวลาเตรียมงานสร้าง 10 วัน, โปรดักชั่นถ่ายทำ 20 วัน และหลังการถ่ายทำอีก 30 วัน!
ชื่อหนัง 피에타 มองผ่านๆเหมือนเขียนด้วยน้ำหมึก แต่ผมรู้สึกว่าเหมือนคราบน้ำมันเครื่องจักรที่เลอะเปลอะเปลื้อน สามารถสื่อถึงอาชีพเกี่ยวกับเครื่องจักรกล (Mechanical) ที่ผกก. Kim Ki-duk เคยใช้แรงงานเมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่น และหนังเรื่องนี้ที่ลูกหนี้แทบจะทุกคนล้วนทำงานสายนี้
นี่ไม่ได้จะสื่อว่าอาชีพ(วิศวกร)เครื่องกล คือกลุ่มคนที่ชอบกู้หนี้ยืมสิน แต่สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนชนชั้นแรงงาน (Working Class) เครื่องจักรขับเคลื่อนประเทศชาติ ที่มักถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ฉกฉวกโอกาสจากบรรดานายทุน/เจ้าหนี้นอกระบบ
ปล. วินาทีที่ชื่อหนัง 피에타 ปรากฎขึ้นมา จักได้เสียงกรีดร้องของมารดา Jang Mi-sun เต็มไปด้วยความคร่ำครวญ ทุกข์ทรมานจากการสูญเสียบุตรชาย ใช้เครื่องจักรกลลงมือฆ่าตัวตาย

ในห้องพักของ Lee Kang-do (ตอนยังไม่มีมารดา) เต็มไปด้วยขยะ เศษอาหาร ก้างปลา ตับไตไส้พุง ทอดทิ้งเกลื่อนกลาดเต็มห้อง หลับนอนตัวคนเดียว เปลี่ยวใจเมื่อไหร่ก็ช่วยตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าอะไรใคร ภาพที่ใช้ปาเป้าคือรูปหญิงสาวเปลือยหน้าอก คาดว่าน่าจะคือตัวแทนมารดา จงเกลียดจงชังเพราะทอดทิ้งไปตั้งแต่เด็ก … เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตโดยสันชาติญาณ ไร้เป้าหมาย ไร้ความฝัน หายใจเข้าออกไปวันๆ




มันเป็นความน่าอัศจรรย์ของสื่อภาพยนตร์ เพราะมันไม่มีสักช็อตที่พบเห็นมือถูกบดโดยเครื่องกด (Press Machine) แต่ทว่าผู้ชมกลับสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด เสียงกรีดร้องทุกข์ทรมาน เก็บกดความอัดอั้น อยุติธรรมของสังคม
บทสัมภาษณ์หนึ่งของผกก. Kim Ki-duk เปรียบเทียบเครื่องจักรกลเหล่านี้ไม่แตกต่างจากจรวดมิสไซล์ สัญลักษณ์ความรุนแรง เข่นฆ่าแกง มันอาจสร้างคุณประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ก่อให้เกิดโทษร้ายแรงกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงย้อนกลับมาหาเจ้าของเองได้อีกด้วย
There are no scenes of actual bodily harm in the film, but you can feel what it would be like should you be crushed by a press machine. To me, the machines in the film are the same as missiles. We shudder whenever really reflecting upon how many nuclear warheads exist in the world. Even those who have created and possessed them are afraid of the power of such weaponry. Why, then, are we still building such lethal devices? Are we humans really that dumb? I cannot understand why our political leaders, who claim to be smart, continue this dangerous chess game with nuclear missiles for pawns.
Kim Ki-duk

ระหว่างทางกลับบ้าน Lee Kang-do ลื่นหกล้มหัวคะมำ ทำเอาเจ้าไก่ดิ้นหลุดมือ (สื่อถึงบางสิ่งอย่างกำลังจะเข้ามาขัดจังหวะ/ทำลายวิถีชีวิตที่เคยเป็นอยู่) พอดิบพอดีพบเจอหญิงวัยกลางคนที่จะอ้างตัวว่าคือมารดา ส่งมอบคืนเจ้าไก่ตัวนั้น … การหวนกลับมาของมารดา ได้ทำให้ Lee Kang-do บังเกิดมนุษยธรรมขึ้นในใจ

Jang Mi-sun น่าจะแอบติดตาม Lee Kang-do มาจนถึงห้องพัก พอเขาเปิดประตู ก็รีบตรงเข้าไปล้างจาน เก็บกวาด ทำความสะอาด อยากจะทำหน้าที่มารดา แต่เพราะไม่ได้พูดอธิบายใดๆ เลยถูกขับไล่ ผลักไส ยัยบ้านี่ต้องการทำอะไร? บุกรุกเข้ามายุ่งวุ่นวายกับชีวิตฉันทำไม? ลื่นไถลล้ม ย่ำเหยียบเศษกระจก (ทำเอาชีวิตแตกร้าว สูญเสียความมั่นคง)

จะว่าไป Jang Mi-sun ไม่เคยเอ่ยกล่าวประโยคคลาสสิก “I’m your mother.” {ไม่ใช่ Star Wars} เธอจงเลี่ยงใช้คำพูดอย่าง “I’m sorry I abandoned you.” “Forgive me for coming so late.” เท่านี้ก็เพียงพอให้ Lee Kang-do และผู้ชมครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเธอคือมารดาของเขา
สถานที่ที่ Jang Mi-sun พูดคุยกับ Lee Kang-don อยู่ในตรอกแคบๆ รายล้อมรอบด้วยกองขยะที่ถูกทิ้งขว้าง เปรียบได้กับสถานที่ที่มารดาทอดทิ้งบุตรชาย (ในเชิงสัญลักษณ์)

ระหว่างที่ Lee Kang-do เดินทางมาทวงหนี้กับลูกหนี้รายหนึ่งที่อาศัยอยู่กับมารดา มีการตัดต่อภาพมารดา (ลูกหนี้) → มารดา (Jang Mi-sun) พวกเธอทั้งสองอยู่ตำแหน่งทิศทางตรงกันข้าม ภายใน-นอกร้าน ยื่นหน้าจากฝั่งขวา-ซ้าย พยายามร้องขอโปรดจงเมตตา-แสดงความสมน้ำหน้าแล้วย่ำเหยียบอีกฝ่าย (หลังถูกผลักตกตึก)
นี่ไม่ได้จะสื่อถึงภาพสะท้อนมารดาของลูกหนี้-เจ้าหนี้ แต่เพราะ Jang Mi-sun เคยตกอยู่ในสถานเดียวกับมารดาลูกหนี้ เธอจึงลองเรียนรู้ สลับฝั่ง ทำในสิ่งตรงกันข้าม เพื่อจักได้เกิดความเข้าใจ Lee Kang-do และให้เขาละลายกำแพงน้ำแข็ง ยินยอมเปิดรับตนเอง


ลำตัวปลาไหลที่มีความยาว จึงมักถูกใช้แแนสัญลักษณ์ลึงค์ อวัยวะเพศชาย กินแล้วเสริมกำลังวังชา ขณะเดียวกันถือเป็นอาหารหรูหราของคนเกาหลี & ญี่ปุ่น, Jang Mi-sun ลงทุนซื้อมาให้รับประทาน แต่ทว่า Lee Kang-do กลับเลี้ยงเอาไว้ในตู้ปลา น่าจะด้วยความโล้เล้ลังเลใจ ยังไม่อยากตอบรับอีกฝ่าย หรือจะมองว่าคือของขวัญจากมารดาชิ้นแรก เลยต้องการทะนุถนอม เก็บรักษาเอาไว้ก่อน

Lee Kang-do เรียกร้องขอให้ Jang Mi-sun พิสูจน์ว่าคือมารดา แต่เธอก็ไม่มีหลักฐานอะไรใดๆ เขาจึงเรียกร้องขอให้
- เฉือนเนื้อตนเองให้รับประทาน (เห็นเลือดไหลหยดติ๋งๆ ก็ไม่รู้หั่นจากตรงไหน) ตั้งคำถามถึงการเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข
- ทำการล่วงละเมิดทางเพศ เริ่มจากยัดมือเข้าไปในช่องคลอด ตามด้วยร่วมเพศสัมพันธ์ ฉันเกิดมาจากทางนั้น ย่อมสามารถหวนย้อนกลับไปทางนั้น
ไอ้สองสิ่งที่ Lee Kang-do กระทำนี้ มันไม่สามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ที่จับต้องอะไรได้เลย แค่เพียงสำแดงการใช้อำนาจบีบบังคับให้ Jang Mi-sun ยินยอมทำตามคำสั่ง และส่งคืนสิ่งที่มารดาเคยมอบให้กับบุตร (มารดาให้เลือดเนื้อบุตรชาย = Lee Kang-do เฉือนเนื้อคืนให้กับมารดา, คลอดออกมาทางช่องคลอด = ต้องการหวนกลับเข้าไปภายในนั้น) ซึ่งผมรู้สึกว่าแม้งโคตรไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผล ซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้ชมจะสามารถทำความเข้าใจ
สองสิ่งดังกล่าวคงเป็นการสะท้อนแนวคิดของหนัง กระทำในสิ่งย้อนแย้ง ตรงกันข้าม “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” จักทำให้เราแปรเปลี่ยนจากอคติต่อต้าน เป็นให้การยินยอมรับอีกฝ่าย … แต่ในบริบทนี้มันทำแบบนั้นได้ด้วยเหรอ??


หลังเสร็จจากการพิสูจน์ตนเองของ Jang Mi-sun เธอแอบปล่อยเจ้ากระต่ายน้อย (ที่ Lee Kang-do นำมาจากลูกหนี้ที่ฆ่าตัวตาย) ออกวิ่งไปบนท้องถนน ก่อนถูกรถพุ่งเข้าชน มันคือตัวแทนความไร้เดียงสาของ Lee Kang-do (การตอบรับมารดาจะทำให้เขาสูญเสียความอำมหิต โฉดชั่วร้าย กลายเป็นเด็กน้อยละอ่อนเยาว์วัย) กำลังได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ แต่โชคชะตาของเขานั้น ท้ายที่สุดแล้วจักพบเจอเหตุโศกนาฎกรรม (ตามแผนการของ Jang Mi-sun)

เช้าวันถัดมา Jang Mi-sun นำเอาปลาไหลในตู้มาปิ้งย่าง ทำอาหารเช้าให้บุตรชาย นั่นถือเป็นการทำลายความตั้งใจของ Lee Kang-do ที่อาจจะอยากเก็บมันเอาไว้ (ในมุมของ Jang Mi-sun ครุ่นคิดว่ามันคือแค่อาหาร แต่สำหรับ Lee Kang-do มันอาจมีอะไรมากกว่านั้น) ทำให้พอเขาตื่นขึ้นมา ไม่มีความอยากอาหาร เร่งรีบออกไปทำงาน
ภาพสะท้อนในตู้ปลาของ Jang Mi-sun ก็เคลือบแฝงลับลมคมในอะไรบางอย่างเช่นกัน ราวกับเธอเป็นผู้ล่า และปลาไหลตัวนี้/Lee Kang-do คือเหยื่อที่ถูกตกขึ้นมา

การได้พบเจอ Jang Mi-sun ทำให้ Lee Kang-do เกิดความชะงักงัน โดยปกติแล้วลูกหนี้เบี้ยวไม่จ่ายเงิน ก็จักถูกลงโทษทัณฑ์ แต่ทว่าชายหนุ่มพ่อลูกอ่อนนี้ เมื่อพูดเล่าถึงภรรยา จำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงดูทารกน้อย ถึงขนาดขันอาสา ยินยอมกลายเป็นคนพิการ ชั่วขณะนั้นทำให้เขาครุ่นคิดย้อนกลับหาตนเอง จึงบังเกิดเมตตา ยินยอมให้โอกาสอีกฝ่าย … เป็นครั้งแรกในชีวิต!
ผมชอบการเลือกใช้สถานที่แห่งนี้ รายล้อมรอบด้วยเครื่องจักรกล ซอกหลืบเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังสามารถบังเกิด ‘มนุษย์ธรรม’ ขึ้นภายในจิตใจของ Lee Kang-do

ลูกหนี้คนสุดท้าย เล่าว่าไม่มีความตั้งใจจะคืนเงินตั้งแต่แรก กู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้ชีวิตช่วงสุดท้าย เพ้อรำพันถึงภูมิทัศน์เกาหลีใต้ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป จากนั้นเดินขึ้นบันไดสู่เบื้องบนแล้วกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย สูงสุดกลับสู่สามัญ พร้อมๆกับ Lee Kang-do เลิกทำอาชีพพนักงานทวงหนี้สิน (เดินลงมาถึงชั้นล่างพอดิบดี)

ผมนึกถึง 3-Iron (2004) ที่นางเอกพยายามยืนบดบังพระเอกไม่ให้ซ้อมตีกอล์ฟ, มาคราวนี้ Jang Mi-sun เอารูปตนเองมาติดแทนภาพวาดหญิงสาว (ตัวแทนของมารดาตอนที่ยังไม่รับรู้จัก) เพื่อให้เขาเลิกเล่นเกมปาเป้า (สัญลักษณ์ของความรุนแรง เขวี้ยงขว้างมีดด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้น) จักได้มีจิตใจอ่อนโยน กลับตัวกลับใจกลายเป็นคนใหม่

ค่ำคืนนี้ Jang Mi-sun ช่วยให้ Lee Kang-do สำเร็จความใคร่ นี่มันใช่หน้าที่ของมารดาตรงไหนกัน? แต่ผมมองฉากนี้ในเชิงสัญลักษณ์ของการสร้างความสุข พึงพอใจ (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) ให้กับบุตรชาย ถือเป็นบทสรุปการกระทำของเธอทั้งหมด เพื่อว่าต่อจากนี้จักได้เตรียมตัวเริ่มต้นแผนการแท้จริง!

หลังจากสำเร็จความใคร่ให้กับ Lee Kang-do ภาพถัดมา Jang Mi-sun ทำการล้างหน้า ส่องกระจก เสยผม และแอบเหม่อมองนอกหน้าต่าง เหล่านี้คือสัญลักษณ์ความเปลี่ยนแปลง พร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นแผนการล้างแค้น/เปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมา

การสูญหายตัวไปของ Jang Mi-sun ทำให้ Lee Kang-do เกิดอาการลุกลี้ร้อนรน กระวนกระวาย เพราะตอนนี้เขาขาดมารดาไม่ได้ ซึ่งตอนเธอกลับมาห้อง (หลังแวะเวียนไปเยี่ยมบุตรชายตัวจริง) ภาพใบหน้านี้ช่างมีความสองแง่สองง่าม บางคนอาจพบเห็นความอมทุกข์เศร้าโศก สมเพศเวทนา ผมมองว่าคือรอยยิ้มกริ่มแห่งชัยชนะ (เพราะสามารถเข้ามามีบทบาท สำคัญในชีวิตของ Lee Kang-do ทำตามแผนการสำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง)

คล้ายๆแบบบ Crocodile (1996) ที่ใช้การเป่าเค้กวันเกิด คือสัญลักษณ์แทนการถือกำเนิด เกิดใหม่ (Rebirth) ของ Lee Kang-do สามารถกลับตัวกลับใจ จากเคยอำมหิต เหี้ยมโหด เยือกเย็นชา ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กลายเป็นคนอ่อนไหว จิตใจอ่อนโยน มีเมตตากรุณา ครุ่นคิดถึงหัวอกผู้อื่น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

คำขอวันเกิดของ Jang Mi-sun (เจ้าของวันเกิดควรเป็นคนขอไม่ใช่หรือ?) ให้ปลูกต้นสนริมแม่น้ำ (Pine Tree สัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ ชีวิตที่ยืนยาว อนาคตสดใส) และเธอยังบอกเป็นลางด้วยว่าถ้าฉันตาย ให้ฝังศพใต้ต้นไม้นี้ เผื่อว่าจะได้ถือกำเนิด เกิดใหม่ กลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบใหญ่ (หรือคือกลายเป็นตราบาปฝังใจ Lee Kang-do ไปจนวันตาย)

วันหนึ่ง Jang Mi-sun แสร้งทำเป็นว่ามีคนแปลกหน้า/ลูกหนี้นิรนามบุกเข้ามาในห้องพัก ลักพาตัวเธอไปทำอะไรสักอย่าง นั่นสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับ Lee Kang-do หัวใจตกหล่นลงตาตุ่ม กลับมาพบเห็นมีดทิ่มแทงกลางอกรูปภาพมารดา … แต่แท้จริงแล้ว Jang Mi-sun เองต่างหากที่ค่อยๆทิ่มแทงมีดลงไปตรงหัวใจ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Lee Kang-do ออกติดตามหาบรรดาลูกหนี้ที่เคยหักแข้งหักขา พบเห็นโชคชะตากรรมของพวกเขาที่แตกต่างกันไป แทบทั้งนั้นล้วนหมดสิ้นสภาพ ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย บางคนทำงานไม่ได้ บางคนอาศัยอยู่ในโรงเรือน
หนึ่งในนั้นบวชเป็นพระ อาศัยอยู่บนยอดเขา แต่เพราะนั่งรถเข็น (คงถูก Lee Kang-do หักแข้งหักขา) เลยไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอก การมาถึงของ Lee Kang-do ถ้าเป็นคนก่อนคงไม่สนห่าเหวอะไร (จิตใจคับแคบ) แต่ตอนนี้กลายเป็นคนใหม่ เลยเข้ามาช่วยยกรถเข็นให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ (จิตใจกว้างขวาง) … ถ้าเราไม่จำกัดตนเองอยู่ภายในขนบกฎกรอบ ทัศนคติอันคับแคบ เรียนรู้จักครุ่นคิดถึงหัวอกผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองโลกในมุมต่างออกไป จักทำให้พบเห็นทิวทัศน์กว้างใหญ่ขึ้นกว่าเก่า


สถานที่สุดท้ายที่ Lee Kang-do ออกติดตามหามารดา ช่างมีบรรยากาศลึกลับ โดยเฉพาะการใช้แสงสีแดงตัดกับผนังน้ำเงิน (เพราะเป็นแม่สีตรงกันข้าม อาจจะสื่อถึงความขัดแย้งภายในจิตใจของ Jang Mi-sun) เปิดตู้เย็นพบเห็นเพียงคราบเลือด ก่อนมานั่งหลับยังรถเข็น และมีตะขอเหล็กอยู่เคียงข้าง
ตะขอ ชวนนึกถึง The Isle (2000) ใช้สัญลักษณ์ตะขอเกี่ยวเบ็ดตกปลา ในบริบทนี้อาจสื่อถึงการตกเป็นเหยื่อ
- บุตรชายแท้ๆของ Jang Mi-sun ตกเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ ขาพิการ ไม่สามารถทำงาน เลยใช้ตะขอฆ่าตัวตาย
- Jang Mi-sun นั่งอยู่ด้านหลังตะขอ ขับร้องบทเพลงกล่อมเด็ก เธอไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของใคร แต่ยินยอมเป็นเหยื่อเพื่อล่อหลอก Lee Kang-do ให้หลงติดกับดัก
- Lee Kang-do ผลอยหลับอยู่ด้านหลังตะขอ โดยไม่รู้ตัวตกเป็นเหยื่อของ Jang Mi-sun และแสงสีแดงมอบสัมผัสอันตราย หายนะใกล้เข้ามาเยือน


ผมชื่นชอบภูมิทัศน์ความตายของ Jang Mi-sun เมื่อก้าวไปยืนริมตึกร้าง น่าจะเป็นการถ่ายย้อนแสงและปรับความสว่างให้เจิดจร้า จนเห็นทิวทัศน์อันเลือนลาง เจือจาง ชีวิตใกล้จบสิ้น ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ก่อนลาจากโลกใบนี้ไป
ความตั้งใจของ Jang Mi-sun ต้องการฆ่าตัวตาย กระโดดลงจากตึกร้างต่อหน้า Lee Kang-do เพื่อให้เขาตกอยู่ในความสิ้นหวัง มีสภาพไม่ต่างจาก “ตายทั้งเป็น” แต่หนังยังแทรกใส่อีกตัวละครหญิงสูงวัยคนหนึ่ง (หนึ่งในมารดาของลูกหนี้) แอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง กำลังจะผลักตก แต่ไม่ทันได้สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว จุดประสงค์น่าจะเพื่อให้เธอเป็นตัวแทนบุคคลมากมายที่มีความเคียดแค้นเคืองโกรธ ต้องการเอาคืนเจ้าหนี้สุดโหด (แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีความหาญกล้า ลุกขึ้นมาเผชิญหน้า สุดท้ายไม่ได้ทำอะไรสักสิ่งอย่าง)


ตามพินัยกรรม/คำกล่าวที่ Jang Mi-sun เคยทิ้งให้ไว้ก่อนตาย Lee Kang-do เลยขุดหลุมฝังศพข้างต้นสนที่ปลูกไว้ ทำให้พบเจอชายแปลกหน้าสวมเสื้อถักไหมพรม (ที่เคยคิดว่ามารดาถักให้ตนเอง) ผมว่าเขาคงตระหนักรับรู้ความจริง (ว่า Jang Mi-sun ไม่ใช่มารดาแท้ๆ) แต่ทว่าความสัมพันธ์แม่-ลูก แม้บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ทำให้ทุกสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร์
นั่นเองทำให้ Lee Kang-do ลักขโมยเสื้อไหมพรมมาสวมใส่ (เพราะต้องการเป็นบุตรของ Jang Mi-sun) นอนแนบอิงมารดาในหลุมฝังศพครั้งสุดท้าย ก่อนทำการรดน้ำหล่อเลี้ยงต้นสนให้เติบใหญ่


Lee Kang-do ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย หลบซ่อนอยู่ใต้รถขนผักของอดีตลูกหนี้รายหนึ่ง แล้วปล่อยให้ลากพาตนเองออกถนนใหญ่ พบเห็นคราบเลือดดำเนินไปตามทาง (เลือดเยอะขนาดนั้นน่าจะไม่รอดแล้วกระมัง) ผมครุ่นคิดว่าผกก. Kim Ki-duk ต้องการนำเสนอสังคมเปื้อนเลือด โลกยุคสมัยนี้ที่กลายเป็นระบอบทุนนิยมเต็มตัว มันช่างอำมหิต โฉดชั่วร้าย วังวนแห่งหายนะ เส้นทางสู่ความตาย
และภาพสุดท้ายถ่ายทิวทัศน์ขุนเขา คงชักชวนผู้ชมให้หวนกลับหารากเหง้า ธรรมชาติแห่งชีวิต อย่าไปหมกมุ่นยึดติดกับเงินๆทองๆ วัตถุสิ่งของนอกกาย

ตัดต่อโดย Kim Ki-duk, หนังไม่ได้จำเพาะเจาะจงมุมมองการนำเสนอ แต่สามารถเหมารวมว่า Lee Kang-do คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว เพราะหลายครั้งเริ่มต้นจากลูกหนี้ และครึ่งหลังเมื่อเปิดเผยความจริง เพียงเล่าผ่านมุมมองมารดา Jang Mi-sun
- เรื่องราวของพนักงานทวงหนี้
- Lee Kang-do อาศัยอยู่ตัวคนเดียว หลับนอนคนเดียว ช่วยตัวเอง ตื่นเช้าไปทำงาน
- ทวงหนี้สองสามี-ภรรยา พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้ถูกหักแขนขา แต่ก็ไม่สามารถต่อรองร้องขออะไรใดๆ
- ระหว่างทางกลับห้อง พบเจอหญิงแปลกหน้า ติดตามมาที่ห้อง อ้างว่าตนเองคือมารดา บุกเข้ามาจัดแจงโน่นนี่นั่น
- ทวงหนี้ชายคนหนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ลากพามายังตึกร้าง ผลักตกลงมาขาหัก
- ทวงหนี้ชายคนหนึ่ง แต่กลับชิงฆ่าตัวตายไปก่อน
- พิสูจน์ความเป็นมารดา
- ค่ำคืนนี้ Lee Kang-do โทรศัพท์หา Jang Mi-sun เรียกเธอมาพิสูจน์ความเป็นมารดา
- เช้าวันถัดมามารดาทำอาหารเช้าให้ แต่เขารับประทานไม่ลง
- เดินทางไปทวงหนี้ชายหนุ่มคนหนึ่ง ภรรยาเพิ่งตั้งครรภ์ อาสาหักแขนตนเองเพื่อนำเงินประกันมาเป็นค่าใช้จ่าย แต่ทว่า Lee Kang-do กลับทำไม่ลง
- Lee Kang-do กลับมารับประทานอาหารกับมารดา
- ทวงหนี้ลูกค้าคนสุดท้าย ยืมเงินมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ใช้เวลาช่วงสุดท้าย ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย
- ความเปลี่ยนแปลงของ Lee Kang-do
- Lee Kang-do กลับมาบ้าน พร่ำบ่นถึงความชั่วร้ายของเงิน
- สองแม่ลูกเดินทางไปท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง
- ขากลับบ้านมีอดีตลูกหนี้แอบติดตาม จับกุมมารดาเป็นตัวประกัน แต่สามารถเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด
- Jang Mi-sun กลายเป็นที่พึ่งพิงของ Lee Kang-do เริ่มที่จะขาดแม่ไม่ได้
- Jang Mi-sun สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ ติดต่อไม่ได้ (แอบไปเยี่ยมบุตรชายเก็บไว้ในตู้เย็น) Lee Kang-do พยายามออกติดตามหา ครุ่นคิดว่าถูกลูกหนี้เก่าลักพาตัวไป
- มารดากลับมาบ้าน ชวนกันเป่าเค้ก Happy Birthday
- การล้างแค้นของ Jang Mi-sun
- Jang Mi-sun แสร้งทำเป็นว่าถูกลักพาตัว
- Lee Kang-do จึงออกติดตามหา ไล่เรียงจากลูกหนี้เก่าที่ต่างมีความเคียดแค้นฝังหุ่น
- Jang Mi-sun ลงมือล้างแค้นเจ้าหนี้ที่เป็นต้นสาเหตุโศกนาฎกรรม
- Lee Kang-do เดินทางมายังร้านของลูกหนี้คนสุดท้าย พบเจอว่าได้ฆ่าตัวตาย ก่อนได้รับโทรศัพท์มารดา
- เดินทางมายังตึกร้าง ก่อนที่เธอจะกระโดดลงมาเสียชีวิต
- Lee Kang-do ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย
เพลงประกอบโดย Park In-young, 박인영 (เกิดปี ค.ศ. 1969) ฝึกฝนเล่นเปียโน ไวโอลินตั้งแต่อายุหกขวบ เดินทางไปร่ำเรียนการแต่งเพลงที่ New York University มีผลงานเพลง K-Pop ประกอบซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อาทิ Pietà (2012), Moebius (2013), Human, Space, Time and Human (2018) ฯ
ระหว่างรับชมผมแทบไม่ยินเพลงประกอบใดๆ (ที่ไม่ใช่ ‘diegetic music’) แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี บางครั้งได้ยินเสียงเปียโนคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ นั่นคือหนึ่งในสไตล์ผกก. Kim Ki-duk สำหรับหนังที่บรรยากาศตึงเครียด บทสนทนาเยอะๆ มักเลือกบทเพลงมุ่งเน้นสร้างความกลมกลืน คอยแทรกแซมอยู่ตามช่องว่าง หรือเสริมเติมเข้ากับเสียงประกอบ (Sound Effect) แนบเนียนจนหลายครั้งแยกแยะไม่ออก (ว่าคือเสียงเพลง หรือเสียงประกอบ)
สำหรับ Closing Credit มีอยู่สองบทเพลง Pietà (เสียงร้องอันโหยหวน) และ Sorrow (บรรเลงกีตาร์ด้วยความคร่ำครวญ) สามารถรำพันความรู้สึกอันเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ โหยหาอาลัย ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป
สำหรับบทเพลงกล่อมเด็ก (Traditional Korean Lullaby) ที่มารดาขับร้องคือ 섬집아기 แปลว่า Island Baby นำจากบทกวีของ Han In-hyun, 한인현 (1921-69) ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1946 ก่อนถูกเรียบเรียงกลายเป็นบทเพลงโดย Lee Hong-yeol, 이흥렬
เกร็ด: Han In-hyun ได้แรงบันดาลใจบทกวีนี้ระหว่างทำงานเป็นครูสอนหนังสือ อาศัยอยู่ชุมชนติดทะเลในจังหวัด Gyeonggi (ปัจจุบันอยู่เกาหลีใต้) ทำให้หวนระลึกถึงช่วงเวลาวัยเด็กเคยอาศัยอยู่ยัง Hamheung (ปัจจุบันอยู่เกาหลีเหนือ) ซึ่งก็เป็นชุมชนติดทะเลเช่นเดียวกัน
จะว่าไปบทกวี/เนื้อคำร้องบทเพลงนี้ มันช่างสอดคล้องกับเรื่องเล่า(อุปโหลก)ของ Jang Mi-sun เมื่อตอนอธิบายเหตุผลที่เธอทอดทิ้งบุตรชาย Lee Kang-do
ตันฉบับเกาหลี | คำแปลอังกฤษ |
---|---|
엄마가 섬그늘에 굴 따러 가면 아기가 혼자 남아 집을 보다가 바다가 불러주는 자장 노래에 팔베고 스르르르 잠이 듭니다 아기는 잠을 곤히 자고 있지만 갈매기 울음소리 맘이 설레여 다 못찬 굴바구니 머리에 이고 엄마는 모랫길을 달려옵니다 | When Mother goes to gather oysters in the island’s shade, A baby, left alone, watches over the house. To the lullaby sung by the sea, The baby falls fast asleep, pillowed on an arm. Though the baby sleeps soundly, The seagull’s cry stirs the heart. With a basket of oysters yet unfilled, Mother runs along the sandy path. |
Lee Kang-do ด้วยความที่ไม่มีมารดาอยู่เคียงข้าง คอยให้ความรัก ความอบอุ่น ชี้แนะนำทางถูกต้องเหมาะสม พอเติบใหญ่เลยกลายเป็นคนอำมหิต เหี้ยมโหด เยือกเย็นชา กระทำสิ่งต่างๆตอบสนองตัณหา สัญชาตญาณ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่รู้จักประณีประณอม ไร้จิตเมตตาต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก
จนกระทั่งการมาถึงของหญิงแปลกหน้า Jang Mi-sun อ้างว่าเป็นมารดาของ Lee Kang-do ทีแรกเต็มไปด้วยอคติต่อต้าน แต่หลังจากพิสูจน์ตนเอง อาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก ทำให้เขาเริ่มเกิดความอ่อนไหว ครุ่นคิดถึงหัวอกคนอื่น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เกิดความสงสาร เห็นอกเห็นใจ
การกล่าวโทษมารดาคือต้นสาเหตุพฤติกรรมโฉดชั่วร้ายของ Lee Kang-do ผมมองว่าตื้นเขิน ไร้รสนิยม โลกยุคสมัยนี้มันมีความซับซ้อน ปัจจัยแวดล้อมอื่นอีกมากมาย แถมการหวนกลับมาของเธอ ทำให้ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยน กลับตารปัตรขั้วตรงข้าม … ถ้าหนังสร้างขึ้นเมื่อสัก 40-50 ปีก่อน มันคงมีความน่าเชื่อถืออย่างมากๆ แต่ยุคสมัยนี้ต่อให้ตีความในเชิงสัญลักษณ์ ผมยังรู้สึกไม่ค่อยสมเหตุสมผล ไม่มีความน่าสงสารเห็นใจเลยสักนิด!
To me, Kang-do is a child with arrested development, which was caused by the loss of his mother when he was young. This is why Kang-do blindly follows orders and inflicts such cruelty without a second thought.
Through Pietà, I wanted to show that traumatic experiences could turn humans into unfeeling robots, but also that the process could be reversed. I believe that the appropriate punishment for inflicting cruelty is not sending an emotionless perpetrator to prison or executing him, but instead melting his frozen heart.
Kim Ki-duk
ตัวตนของ Jang Mi-sun หาใช้แม่แท้ๆของ Lee Kang-do แต่คือลูกหนี้คนหนึ่งที่กระทำอัตวินิบาต ทำให้เธอเกิดความโกรธเกลียดเคียดแค้น ครุ่นคิดแผนการล้างแค้น แสร้งว่าเป็นมารดา ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแทรกซึมเข้าไปในชีวิต กลายเป็นส่วนหนึ่ง ขาดไม่ได้ เพื่อตอนที่ตนเองกระโดดตึก หมอนั่นจะตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ไม่ต่างจาก “ตายทั้งเป็น”
Money? The beginning and the end of all things. Love, honor, violence, fury, hatred, jealousy, revenge…
Jang Mi-sun
ผกก. Kim Ki-duk เกิดในชนบท ฐานะยากจน ตั้งแต่เด็กโดนกลั่นแกล้ง (Bully) ดูถูกเหยียดหยาม (Racist) เนื่องจากสถานะทางสังคมต่ำต้อย นั่นคือปมด้อยที่ฝังรากลึกภายในจิตใจ เต็มไปด้วยอคติต่อระบอบทุนนิยม ตั้งแต่สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Crocodile (1996) มักสอดแทรกความโฉดชั่วร้ายของอำนาจการเงิน ถูกนำไปใช้ทำลายโน่นนี่นั่น ตอบสนองตัณหาอารมณ์ จนแทบไร้สูญสิ้นความเป็นคน!
แต่ภาพยนตร์คือสื่อที่สะท้อนมุมมอง/ทัศนคติของผู้สร้าง ในชีวิตจริงของผกก. Kim Ki-duk ยังคงเป็นมนุษย์ที่มีความโลภ-โกรธ-หลง อิจฉาริษยาลูกศิษย์เอก/ผู้ช่วยผู้กำกับ Jang Hoon ประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์ Rough Cut (2008) และ Secret Reunion (2010) ยินยอมรับสภาพความจริงไม่ค่อยได้ ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะสามารถทำความเข้าใจตนเอง
สรรค์สร้าง Pietà (2012) ไม่ใช่แค่นำเสนอความโฉดชั่วร้ายของเงิน แต่ยังความละโมบโลภมากของมนุษย์ ต้องการโน่นนี่นั่น จนไม่สามารถควบคุมตนเอง หาเงินไม่ได้ก็กู้หนี้ยืมสิน เครดิตบูโรไม่ผ่านก็เปลี่ยนมาเจ้าหนี้นอกระบบ (Loan Shark) คิดดอกสูงเฉียดฟ้ายังหน้ามืดตามัวเซ็นชื่อในสัญญา เช่นนั้นแล้วก็ต้องทนรับกรรมกันไป โทษใครไม่ได้นอกจากตัวตนเอง
เกร็ด: ผกก. Kim Ki-duk เล่าว่าในย่านที่ไปถ่ายทำ มักพบเห็นนามบัตรเจ้าหนี้นอกระบบ มากมายเต็มไปหมด และยังเคยพบเห็นใครคนหนึ่งหยิบมันขึ้นมา โทรศัพท์ติดต่อหา คาดเดาไม่ยากว่าจะบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
In Korea, countless people suffer from illegal private loan practices, ending in suicide in many cases. During the filming, I saw alleys strewn with loan sharks’ business cards. Somebody would pick up such a card, call the number, get a loan, be forced to make exorbitant interest payments and suffer with no end in sight.
Kim Ki-duk
ความเคียดแค้นของ Jang Mi-sun ไม่ได้ต้องการเข่นฆ่า Lee Kang-do ให้ตกตายไป แต่ต้องการให้อีกฝ่ายทนทุกข์ทรมานทางใจ ถือเป็นความเจ็บปวดที่เลวร้ายรุนแรง ไม่มีวันลบเลือนหาย ตราบาปฝังใจตราบจนวันตาย … สะท้อนถึงอคติของผกก. Kim Ki-duk ต่อลูกศิษย์เอก Jang Hoon แทนที่จะยกโทษให้อภัย อำนวยอวยชัย กลับยังเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น ไม่สามารถปล่อยละวาง ใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้ระบายอารมณ์อัดอั้น ในลักษณะของการล้างแค้น (Revenge Film)
The title Pietà cannot represent everything about this film, which is a warning against the peril of money and lack of trust or violence between people. In particular, I would like to stress that violence erupts when trust disappears. In my opinion, violence, on a small scale, is terror between individuals and on a large scale, war between countries.
ชื่อหนัง Pietà แล้วทำการเปรียบเทียบภาพโปสเตอร์ Lee Kang-do = Jesus Christ (น่าจะเป็น Satan เสียมากกว่า) และ Jang Mi-sun = พระแม่มารี, เป็นอะไรที่ผมเกาหัว มึงงง ต้องการให้ผู้ชมแสดงความสงสารใคร? Lee Kang-do ที่สูญเสียมารดา? Jang Mi-sun สูญเสียบุตรชาย? … แต่ผมรู้สึกสมเพศเวทนา ผกก. Kim Ki-duk เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากภาพยนตร์ของตนเองเลยสักนิด!
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับจะก้ำๆกึ่งๆ (Mixed Review) แต่กลับคว้ารางวัล Golden Lion โดยประธานคณะกรรมการปีนั้น Michael Mann ให้คำนิยมสั้นๆ “seduced you viscerally.”
- Golden Lion
- Golden Mouse
- Little Golden Lion
- Nazareno Taddei Award
อีกแหล่งข่าวที่ผมอ่านพบเจอเล่าว่า ถ้าหนังไม่ได้ส้มหล่น Golden Lion มีความเป็นไปได้สูงที่ Jo Min-su จะคว้ารางวัล Best Actress แต่ด้วยข้อบังคับที่อธิบายไปแล้ว นี่คงเป็นหนทางออกดีที่สุดในมุมมองประธานคณะกรรมการ Michael Mann แล้วกระมัง!
เสียงตอบรับในเกาหลีใต้ก็ไม่ได้ดีเด่นสักเท่าไหร่ แต่การคว้ารางวัล Golden Lion สร้างความสนอกสนใจให้กับผู้ชมอย่างล้นหลาม ยอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 603,283+ ใบ แถมยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนเกาหลีใต้ส่งลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film (ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ) และเข้าชิง Grand Bell Awards (=Oscar ของเกาหลีใต้)อีกหลายสาขา … ต้องถือว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของผกก. Kim Ki-duk แล้วกระมัง!
- Grand Bell Awards
- Best Film
- Best Director
- Best Actress (Jo Min-su) **คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Kang Eun-jin)
- Best New Actress (Kang Eun-jin)
- Best New Actor (Woo Gi-hong)
- Special Jury Prize **น่าจะเป็นรางวัลพิเศษจากการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ คว้ารางวัล Golden Lion กระมังนะ
- Asian Film Awards
- Best Film
- Best Director
- Best Actress (Jo Min-su)
- Favorite Actress (Jo Min-su) **คว้ารางวัล
ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับ Pietà (2012) เพราะหลายๆสิ่งอย่างทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับ Crocodile (1997) แต่เมื่อเทียบความลุ่มลึก ซับซ้อน และโดยเฉพาะครึ่งหลังผันแปรเปลี่ยนสู่หนังล้างแค้น (Revenge Film) มันกลายเป็นว่าผกก. Kim Ki-duk ยังคงหมกมุ่นยึดติดต่อสิ่งที่เขาควรระบายออกไปหมดแล้วตั้งแต่ Arirang (2011) ผลลัพท์เลยทำให้ทุกสิ่งอย่างถดถอยหลังลงคลอง ไม่หลงเหลือความน่าสงสารเห็นใจ
ปล. ผมคงไม่เขียนถึง The Net (2016) แต่อ่านจากเรื่องย่อชาวประมงเกาหลีเหนือ เครื่องยนต์เสีย ล่องลอยมายังน่านน้ำเกาหลีใต้ แล้วถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน ก่อนส่งกลับประเทศ นั่นทำให้ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป … นี่ก็สะท้อนเหตุการณ์ก่อน-หลัง Arirang (2011) ที่ทำให้ชีวิตผกก. Kim Ki-duk เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!
จัดเรต 18+ กับเจ้าหนี้โหด ใช้ความรุนแรงกับมารดา
Leave a Reply