The Boy and the Beast (2015) : Mamoru Hosoda ♥♥♥♡
ปรมาจารย์ Hayao Miyazaki ป่าว(เปล่า)ประกาศจะรีไทร์ สองจิตสองใจเลือกใครเป็นผู้สืบทอดระหว่าง Mamoru Hosoda หรือ … (ใครดีละ?) … แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น Hosoda กำลังจะกลายเป็นพ่อคน แบบอย่างมีอยู่ก็พึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ ทำอย่างไรฉันถึงสามารถกลายเป็น ‘คมดาบในจิตใจ’ เมื่อลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
บิดาของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ทำงานเป็นวิศวกรรถไฟ วันๆแทบไม่เคยอยู่บ้าน กลับดึกดื่นมีหรือเด็กอย่างเขาจะมีโอกาสพบเจอ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก จึงค่อนข้างย่ำแย่ หรือแทบไม่มีเลยก็ว่าได้!
“Where relationships between parents and their children are becoming weaker, and a lot of people seek that kind of relationship elsewhere. Certainly myself, I’ve always looked towards someone other than my real father to be my teacher figure”.
Mamoru Hosoda
The Boy and the Beast (2015) มองมุมหนึ่งคือการพยายามค้นหานิยามความเป็นพ่อที่ดี (Fatherhood) ของผู้กำกับ Hosoda แต่มีอะไรๆให้ต้องเรียนรู้เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ขณะเดียวกันก็นำเสนอเรื่องราวราววัยเด็กของตนเอง โหยหาบุคคลสามารถเป็นตัวแทนบิดา (Father Figure) ชดเชยตัวจริงที่มีเหมือนไม่มี
หลายคนน่าจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า บุคคลผู้เป็นดั่งตัวแทนบิดา (Father Figure) ของผู้กำกับ Hosoda ก็คือปรมาจารย์ Hayao Miyazaki ที่แม้พอเติบโตขึ้นจะพบเจอความขมขื่น ทั้งรักทั้งเกลียด แต่จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจ ทำให้อยากเข้าสู่วงการอนิเมชั่น ความจริงดังกล่าวไม่มีทางปรับเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นใด
แซว: อารัมบทของอนิเมะ เริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายเล่าพื้นหลังเรื่องราว ‘Grandmaster ประกาศกำลังจะรีไทร์’ ใครอยู่ในวงการอนิเมะน่าจะตระหนักได้โดยทันที ไม่มีทางเป็นคนอื่นนอกเสียจากปรมาจารย์ Hayao Miyazaki และที่น่าประทับใจสุดๆคือเทียบแทนตัวละครด้วยลูกไฟ สัญลักษณ์ของชีวิต หรือ ‘passion’ แห่งจิตวิญญาณ มองหาผู้สืบทอดคล้ายๆส่งต่อคบเพลิงโอลิมปิก ให้วงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นเจิดจรัส เปร่งประกาย ไม่มีวันมอดดับลง ธำรงอยู่สืบไปชั่วนิรันดร์
น่าเสียดายที่อนิเมะเรื่องนี้ในมุมชาวตะวันตก มองเห็นพียงภาพลักษณ์ภายนอก เปรียบเทียบส่วนผสมระหว่าง The Jungle Book กับ The Karate Kid ออกแบบตัวละครคล้ายๆ The Beauty and the Beast ขณะที่ด้านมืดภายในจิตใจก็ชวนให้ระลึกถึง Dark Force แฟนไชร์ Star Wars
ผมว่าแทนที่จะไปเปรียบเทียบแต่สิ่งพบเห็นภายนอกแบบนั้น Like Father, Like Son (2013) ของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda ยังมีลักษณะใกล้เคียงทางจิตวิญญาณมากกว่า บทสัมภาษณ์สอบถาม Hosoda บอกว่าไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จนกระทั่งเพิ่งมารับรู้จักจากผู้ชมหลังอนิเมะออกฉาย
“When I made The Boy and the Beast, people had said, “It’s very similar to Kore-eda’s Like Father, Like Son”, but I actually hadn’t watched it at that point. I finished the movie, and then I watched Like Father, Like Son.
When I was making The Boy and the Beast, because it’s about a father, I was like, “No one else is going to make a story about a father,” but Kore-eda had already made his film, and I was like, “Ah man!” [Laughs] But I did see it after, and that’s why I feel a connection to Kore-eda, because I guess we have the same ideas and taste”.
Mamoru Hosoda
Mamoru Hosoda (เกิดปี 1967) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kamichi, Toyama บิดาเป็นวิศวกรรถไฟ ส่วนมารดาประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วัยเด็กหลังจากมีโอกาสรับชม The Castle of Cagliostro (1979) เกิดความชื่นชอบหลงใหล โตไปฝันอยากทำงานสายนี้ เข้าศึกษาสาขาจิตรกรรม Kanazawa College of Art จบออกมาได้งานนักอนิเมเตอร์ที่ Toei Animation ระหว่างนั้นก็ซุ่มทำอนิเมะขนาดสั้น พร้อมยื่นใบสมัครงานกับสตูดิโอ(ในฝัน) Ghibli แต่ทุกครั้งล้วนถูกตีตกกลับ จีงค่อยๆฝึกปรือฝีมือ สะสมประสบการณ์ เริ่มสร้างชื่อด้วยผลงานกำกับแฟนไชร์ Digimon Adventure จนไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki (แห่งสตูดิโอ Ghibli) ชักชวนมากำกับ Howl’s Moving Castle
แน่นอนว่านั่นคือโปรเจคในฝันแรกของ Hosoda เพราะกำลังจะได้มีโอกาสร่วมงานสตูดิโอ Ghibli แต่ไปๆมาๆเพราะคำร้องขอของโปรดิวเซอร์ที่ว่า ‘ให้ทำอนิเมะเรื่องนี้ ในแบบที่ผู้กำกับ Miyazaki จะทำ’ เห้ย! มันไม่ใช่แล้วละ
“I was told to make [the movie] similar to how Miyazaki would have made it, but [I] wanted to make [my] own film the way [I] wanted to make it”.
MAMORU HOSODA
นั่นเองทำให้โลกทัศน์ของ Hosoda ต่อสตูดิโอ Ghibli เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! เขาตัดสินใจถอนตัวออกมากลางคัน (ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก ความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง) ย้อนกลับไปร่วมงาน Toei Animation ได้รับมอบหมายกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น One Piece: Baron Omatsuri and the Secret Island (2005) จากนั้นย้ายมาสตูดิโอ Madhouse กำกับอนิเมะเรื่องแรกในความสนใจจริงๆ The Girl Who Leapt Through Time (2006) ติดตามด้วย Summer Wars (2009) และออกมาก่อตั้ง Studio Chizu สรรค์สร้าง Wolf Children (2012)
ทุกผลงานของ Hosoda ล้วนมีความเป็นส่วนตัว นำจากประสบการณ์พบเจอในชีวิต และครอบครัว เริ่มตั้งแต่ Summer Wars (2009) พบเจอครอบครัวแฟนสาวที่กำลังจะแต่งงานด้วย, Wolf Children (2012) หลังแม่(ของ Hosoda)เสียชีวิตไปไม่นาน และสำหรับ The Boy and the Beast (2015) กับบุตรชายเพิ่งคลอดขวบปีกว่าๆ
“I watch my child who was about a year old at the time and he was gradually growing bigger, and as I imagine him growing up I thought of the idea for this movie”.
การพบเห็นบุตรชายกำลังเติบโต ทำให้ Hosoda ครุ่นคิดย้อนกลับหาตนเอง บทบาทความสำคัญ อะไรคือหน้าที่การเป็นพ่อ (Fatherhood) เราสามารถสร้างอิทธิพลให้กับลูกมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันก็อาจมีใครอื่นอีกมากมาย สามารถเป็นตัวแทนของบิดา (Father Figure) แบบอย่างต่อลูกได้เช่นกัน
“At the time, I thought, parents aren’t the only one that help children to grow, are they? Being father, I thought how much influence do I have in my child’s growth? How necessary is the father? In fact, there are many other beside myself who as my son continues to grow up will become like pseudo-parents to him. And from that, I imagined a young man with lots of different parents around him. And when I pictured that image, a story gradually emerged from it, and out of the the characters were born”.
การทำงานของ Hosoda แม้ควบหน้าที่หลายตำแหน่ง แต่พยายามแบ่งแยกบทบาทตัวเองออกจากกัน ยกตัวอย่างบทอนิเมะ แม้ปรากฎภาพที่อยากนำเสนอขี้นในหัวก็ไม่พยายามวาดมันออกมา ใช้เพียงตัวหนังสือ เขียนคำอธิบาย สรรค์สร้างเรื่องราวจนกว่าจะใกล้เสร็จค่อยนำไปเสนอโปรดิวเซอร์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรับแก้ไขจนกว่าจะพีงพอใจ
หลังจากได้ข้อสรุป บทอนิเมะเสร็จสรรพ ค่อยเริ่มต้นวาด Storyboard ออกแบบตัวละคร โดยใช้ประสบการณ์จากเคยเป็นนักอนิเมเตอร์ ทำให้เข้าใจอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เขียนรายละเอียดอธิบายไว้โดยละเอียด เพื่อว่าเมื่อส่งต่อไปยังแผนกงานต่างๆ ลูกทีมจักสามารถรับรู้ความต้องการ เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอออกมาโดยง่าย
โลกมนุษย์นั้นแท้จริงแล้วมีโลกคู่ขนานชื่อ Jutengai (Beast Kingdom) เป็นที่อยู่ของสัตว์ทรงปัญญา ซี่งเชื่อมต่อกันโลกความจริง วันหนี่งผู้ปกครอง Grandmaster แสดงความประสงค์ต้องการเกษียณตนเอง มาจุติเป็นเทพเจ้าประจำโลกมนุษย์ แต่ยังไม่ได้ตันสินใจว่าเมื่อไหร่ จะเป็นเทพอะไร ระหว่างการครุ่นคิดรอคอยนั้น ประกาศจะยกตำแหน่งให้ผู้สืบทอดที่แข็งแกร่งกว่า ระหว่าง Iōzen และ Kumatetsu
Iōzen มีลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตามมากมาย กอปรกับนิสัยสุภาพอ่อนโยน เลยได้รับความนิยมชมชอบ นับหน้าถือตาจากสรรพสัตว์ทั่วไป ผิดกลับ Kumatetsu อาศัยอยู่ตัวคนเดียว รอบข้างกายไม่มีใคร แถมยังนิสัยก้าวร้าว เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ เลยไม่มีใครอยากเข้าชิดใกล้ แต่กลับได้รับคำสั่งจากอาจารย์ ให้ไปสรรหาลูกศิษย์ถ้าต้องการสืบทอดตำแหน่ง Grandmaster จับพลัดจับพลูระหว่างเดินเล่นอยู่โลกมนุษย์ พบเจอเด็กชายคนหนี่งเพิ่งสูญเสียมารดา หนีออกจากบ้าน ชักชวนให้ติดตามมา หาทางกลับไม่ได้ เลยตัดสินใจยอมเป็นศิษย์ ร่ำเรียนวิชาการต่อสู้
Kōji Yakusho ชื่อจริง Kōji Hashimoto (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Isahaya, Nagasaki หลังสำเร็จการศึกษา Nagasaki Prefectural High School of Technology เข้าทำงานยัง Chiyoda City แต่หลังจากมีโอกาสรับชมละครเวที The Lower Depths เกิดความชื่นชอบสนใจด้านการแสดง ยื่นใบสมัครทดสอบหน้ากล้อง เซ็นสัญญากับเอเจนซี่ Mumeijuku จากตัวประกอบ กระทั่งได้รับบทนำครั้งแรกซีรีย์ Tokugawa Ieyasu (1983), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Shall We Dance? (1996), The Eel (1997), โกอินเตอร์เรื่อง Memoirs of a Geisha (2005), Babel (2006)
ให้เสียง Kumatetsu ชายหน้าหมีผู้มีความเกรี้ยวกราด ชื่นชอบใช้ความรุนแรงเผชิญหน้าปัญหา ได้รับคำสั่งจาก Grandmaster ให้ค้นหาทายาทสืบทอดพลังวิชา แต่ไม่มีสัตว์อสูรตนไหนจะหาญกล้า อดรนทนต่อพฤติกรรม คำเสียดสีด่าทอของเขาได้ จนกระทั่งพบเจอเด็กชายจากโลกมนุษย์ สังเกตเห็นดวงตาไม่แตกต่างจากตนเอง จึงชักชวนรับมาเป็นศิษย์ แต่ไม่นานก็ประสบปัญหา เพราะไม่รู้จะเสี้ยมสอนยังไงให้เข้าใจพื้นฐานวิชา
ไม่เชิงว่าผมจดจำน้ำเสียงของ Yakusho แต่เมื่อได้ยินตัวละครพูดสนทนา เต็มไปด้วยความกระแทกกระทั้น แดกดัน หือรือ โลกต้องหมุนตามฉัน ภาพใบหน้าลุงแกปรากฎขึ้นมาเด่นชัดมากๆ หลายครั้งตะโกนแหกปากสุดเสียง ได้ยินแล้วเหนื่อยแทน จักบ้าพลังบอคอแตกไปถึงไห สมบทบาทจนแทบอยากจะยกรางวัลนักพากย์แห่งปีให้
ตัวจริงของ Yakusho ออกจะสุภาพเรียบร้อย ตรงกันข้ามกับบทบาทที่เขาได้รับโดยสิ้นเชิง แต่มันคือภาพลักษณ์ที่ใครๆต่างจดจำ ตราฝังตรึง พัฒนาขึ้นจากบทบาทเอ๋อๆ เหรอๆ หน้าตาเด๋อๆ (ในช่วงแรกๆตอนเพิ่งเข้าวงการ) เมื่อไหร่สูญเสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้ ก็มักเป็นอย่างตัวละครในอนิเมะ แข็งแกร่งเกินกว่าใครจะสามารถหักห้ามไหว
การออกแบบตัวละคร ค่อนข้างชัดเจนทีเดียวว่าได้แรงบันดาลใจจาก Beauty and the Beast (1991) แต่ไม่ได้มีความกันเปะๆนะครับ (The Beast ใน Beauty and the Beast คือส่วนผสมของสรรพสัตว์ ไม่ได้เจาะจงว่าคืออะไร) แค่ว่ารูปร่างสูงใหญ่ อกผายไหล่ผึ่ง ดีไซน์ออกมาให้ดูน่าเกรงขาม ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่จิตใจกลับอ่อนแอ โดดเดี่ยวอ้างว้าง เติบโตมาอย่างลำพัง เลยไม่มีใครและไม่สามารถทำความเข้าใจใคร
หนึ่งในความน่าสนใจที่ผู้กำกับ Hosoda เพิ่มใส่เข้ามาให้ตัวละคร คือสามารถเพ่งพลัง กลายร่าง จากเคยยืนสองขาเหมือนมนุษย์ กลับมายืนสี่ขาเหมือนสัตว์(ตามประเภทที่ตนเองเป็น) แต่มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ นี่เป็นการเพิ่มความตื่นเต้นระหว่างการต่อสู้ บ่งบอกว่าฉันกำลังจะเอาจริงแล้วนะ วัดกันไปเลยใครมีพละกำลังมากกว่า
หลังจากแม่เสียชีวิต Ren ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โทษว่ากล่าวความผิดบิดาที่หย่าร้างและทอดทิ้งตนเอง อาศัยอยู่ข้างถนน พยายามดิ้นรนแต่ก็เกือบเอาตัวไม่รอด ถูกพบเจอโดย Kumatetsu ชักชวนนำทางสู่ Jutengai และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Kyūta
แรกเริ่มก็ไม่คิดอยากเป็นลูกศิษย์ แค่ต้องการสถานที่พักพิง เติบโต ฝึกฝนร่างกายให้เข้มแข็ง เคยพยายามร่ำเรียนแต่ Kumatetsu กลับสอนไม่รู้เรื่อง หลังกลับจากการเดินทางเพื่อเรียนรู้จักความแข็งแกร่ง ตัดสินใจลอกเลียนแบบท่วงท่า การเคลื่อนไหว โดยไม่รู้ตัวทำให้สามารถเข้าใจอาจารย์ ค่อยๆเรียนรู้จัก เติบโตขึ้นทีละเล็ก
หลายปีผ่านไป Ren อายุย่างเข้า 17 ปี บังเอิญค้นพบเส้นทางทำให้สามารถหวนกลับโลกมนุษย์ เกิดความอยากเรียนรู้ เข้าห้องสมุดค้นหาหนังสืออ่าน ได้พบเจอรู้จักหญิงสาว Kaede ต่างให้ความช่วยเป็นกำลังใจต่อกัน และเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อเขาสามารถติดตามหาพ่อแท้ๆ พอพบเจอหน้า รับรู้เรื่องราวเบื้องหลัง ขณะกำลังครุ่นคิดตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป บางสิ่งอย่างภายในจิตใจก็ฉุดเหนี่ยวรั้งเอาไว้
แซว: ขณะที่ Kyūta/Ren โตวันโตคืนจนกลายเป็นวัยรุ่นหนุ่ม เจ้าหนูน้อยที่รับมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก มันไซส์เดิมตั้งแต่ต้นจนจบ แทบไม่ได้มีบทบาทอะไรนอกจากเป็น Mascot ร่วมทุกข์ร่วมสุข เผื่อเอาไว้ขาย Figure ก็เท่านั้นเอง
วัยเด็กให้เสียงโดย Aoi Miyazaki (เกิดปี 1985, เกิดที่ Tokyo) [ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Hayao Miyazaki นะครับ] เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ถ่ายแบบ โฆษณา ตัวประกอบซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Ano Natsu no Hi (1999), Eureka (2001), Nana (2005) ฯลฯ ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Hosoda เรื่อง Wolf Chidren (2012) ให้เสียงแม่ Hana
วัยรุ่นหนุ่มให้เสียงโดย Shōta Sometani (เกิดปี 1992, ที่ Tokyo) เข้าวงการบันเทิงตั้งแต่เด็กเช่นกัน ได้รับบทนำครั้งแรกเรื่อง Pandora’s Box (2009), แจ้งเกิดเต็มตัวกับ Himizu (2011), Parasyte (2014-15), Bakuman (2015) ฯ ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Hosoda เรื่อง Wolf Chidren (2012) ให้เสียงตัวละคร Tanabe
ทั้งสองนักพากย์ สามารถส่งต่อบทบาทจากเด็กสู่วัยรุ่นหนุ่มได้อย่างแนบเนียน ดีเยี่ยมมากๆ ผู้ชมแทบไม่รับรู้สึกถึงความแตกต่าง โดยเฉพาะลีลาการโต้ถกเถียง ขึ้นเสียงกับ Kumatetsu เหมือนเปี๊ยบอย่างน่าทึ่ง (ทีแรกผมครุ่นคิดว่านักพากย์คนเดียวกัน แต่พอมารู้ว่าแยกคน ก็รู้สึกทึ่งในความสามารถของทั้งคู่) แต่โดยส่วนตัวชื่นชอบ Kyūta/Ren ตอนเด็กมากกว่าโตเป็นหนุ่ม อาจเพราะการแสดงออกช่วงวัยนั้นยังมีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ถึงจะเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น แต่มันก็เหมือนไม่ได้จริงจังขนาดนั้น ผิดกับตอนโตที่พอสามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรเองได้ มันเลยเต็มไปด้วยความสับสน โลเล ฮอร์โมนวัยรุ่นพลุกพร่าน ว้าวุ่นวายเสียจริง! (ถ้ามองเรื่องการพากย์ ต้องถือว่า Sometani ทำงานหนักกว่า Miyazaki เพราะช่วงวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์บ่อยครั้งกว่าตอนเด็ก)
เกร็ด: เป็นเรื่องปกติที่ตัวละครเด็กเล็กมักใช้นักพากย์ผู้หญิง เพราะเมื่อบีบเสียงให้เล็กแหลม มันจะค่อนข้างเหมือนเด็กผู้ชาย ถ้าไม่ตั้งใจฟังดีๆอาจแยกไม่ออกด้วยซ้ำ
Suzu Hirose (เกิดปี 1998) นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติญี่ปุ่น น้องสาวของ Alice Hirose เกิดที่ Shimizu-ku, ก่อนหน้านี้มีบทสมทบเล็กๆใน The Apology King (2013), Crows Explode (2014), ซึ่งก็ได้แจ้งเกิดเต็มตัวกับ Our Little Sister (2015), ตามด้วยไตรภาค Chihayafuru, Your Lie in April (2016), The Third Murder (2018) ฯ
ให้เสียง Kaede หญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกับ Ren ได้รับการคาดหวังจากครอบครัว ต้องเรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ โตขี้นประสบความสำเร็จ แต่ทั้งพ่อ-แม่ กลับไม่เคยแสดงความสนใจใยดี แถมที่โรงเรียนก็มักถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนขี้อิจฉาเป็นประจำ ทำให้วันๆชอบหมกตัวอยู่ในห้องสมุด จนกระทั่งพบเจอเขาที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ อาสาให้คำแนะนำ ช่วยเหลือจนอ่านออกเขียนได้ รวมไปถึงอนาคตสอบเข้ามหาวิทยาลัย
กระทั่งวันหนี่ง Ren พูดบอกว่ากำลังต้องจากไปเพื่อเผชิญหน้าต่อสู้ศัตรู Kaede จีงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อติดสอยห้อยตาม ให้คำแนะนำคนเราไม่จำเป็นต้องเผชิญหาอุปสรรคปัญหาแค่เพียงผู้เดียว … แต่นั่นเหมือนเธอกำลังพูดกับตนเองอยู่เหมือนกัน
การพากย์ของ Hirose ถือว่าพอใช้ได้ แต่บทบาทและสิ่งที่ตัวละครพูดออกมา มันดูแก่กร้านโลก เกินวัยไปเสียหน่อย เวลาอ่านบทมันเลยเหมือนการเทศนาสั่งสอน ทำให้ผู้ชมไม่บังเกิดความสัมพันธ์กับตัวละครนี้นัก โดยเฉพาะการติดสอยห้อยตามระหว่างต่อสู้กับปลาวาฬ ถีงเธอจะพอมีประโยชน์อยู่บ้างแต่มิอาจกลบข้อเท็จจริง ติดตามมาอีหยังว่ะ?
การแทรกใส่เรื่องราวของ Kaede ก็เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงโลกมนุษย์ สานความสัมพันธ์กับบิดาที่แท้จริง และค้นหาสถานที่ที่ Ren ต้องการปักหลักอาศัยใช้ชีวิตอยู่ แต่ผมรู้สีกว่าตัวละครนี้ค่อนข้างเป็นส่วนเกิน โดยเฉพาะขณะต่อสู้กับเจ้าปลาวาฬ แม้การตีความเชิงนามธรรมจะพอเข้าใจได้ แต่ความดื้อดีงดันมันไร้เหตุผลเกินอดรนทนไหว … ผมว่ามันมีอีกเหตุผลหนี่งด้วย เพราะใบหน้าตา การแสดงออกตัวละคร มีความละม้ายคล้ายคลีงผลงานเก่าก่อน (โดยเฉพาะ Makoto Konno เรื่อง The Girl Who Leapt Through Time) จีงถือเป็นจุดเชื่อมโยงจักรวาลของผู้กำกับ Mamoru Hosoda
อนิเมะมีส่วนผสมของวาดมือสองมิติ (Tradition Animation) และสร้างสรรค์ด้วยภาพสามมิติ (Computer Graphic Interface) โดยทั้งหมด 1,550 คัทซีน ประกอบด้วย CGI จำนวนถีง 480 ช็อต
ควบคุมงานศิลป์ (Art Director) โดย Youichi Nishikawa, Takashi Oomori, Youhei Takamatsu,
สิ่งต้องชมเลยคือการสร้างบรรยากาศ (Mood) ประกอบฉาก/พื้นหลัง ก้อนเมฆ แสงสีสัน ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถีงอารมณ์ ความรู้สีกของตัวละครขณะนั้นๆ ซีนโดดเด่นมากๆก็คือเปิดตัว Jutengai นั่นคือความประทับใจแรก (First Impression) ของ Ren ต่อโลกคู่ขนานแห่งนี้ บรรยากาศยามค่ำคืน แสงสีส้มจากโคมไฟ มองไกลๆเห็นบ้านช่องตั้งอยู่บนเนินเขา (ถ้ามันส่งกลิ่นได้ คงตลบอบอวลหอมหวนด้วยกลิ่นเครื่องเทศ อาหารการกิน ตลาดนัดยามค่ำ) … แววแรกผมนีกถีงอนิเมะเรื่อง Coco ของ PIXAR แต่มาตระหนักว่าเพิ่งฉายปี 2017 เลยไม่น่าเป็นไปได้ สุดท้ายก็เลยวนมาหา Spirited Away (2001) ซี่งผู้กำกับ Hosoda คงได้รับอิทธิพลมาพอสมควรเลยละ
ก้อนเมฆก็เช่นกัน … ในวงการอนิเมะ ผมไม่แน่ว่าคนแรกๆที่เริ่มจริงจัง ทำให้รูปลักษณะก้อนเมฆสื่อแทนอารมณ์ความรู้สีก คือ Hayao Miyazaki หรือเปล่า? แต่วงการภาพยนตร์เริ่มต้นจริงจังในหนัง Western ของผู้กำกับ John Ford เฝ้ารอคอยบางทีเป็นสัปดาห์ กว่าจะถ่ายก้อนเมฆที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องราว ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง [จริงๆการถ่ายก้อนเมฆสวยๆ เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Wings (1927) และ Hell’s Angel (1930) แต่ผู้กำกับทั้งสองเรื่องต้องการก้อนเมฆเพื่อสร้างจุดสังเกตให้เครื่องบิน ระหว่างถ่ายทำบนฟากฟ้าเท่านั้น ไม่ได้มีนัยยะซ่อนเร้นอะไรไปมากกว่านั้น]
ช็อตนี้คือระหว่างที่ Kumatetsu กำลังครุ่นคิดถีง Kyūta (บอกว่าจะกลับโลกมนุษย์ และไม่คิดหวนกลับมายังสถานที่แห่งนี้แล้ว!) เหม่อมองก้อนเมฆบนท้องฟ้า มันช่างรู้สีกโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหงาหงอยเศร้าซีม
ในส่วนของการสรรค์สร้างด้วยภาพสามมิติ CG Director นำทีมโดย Ryo Horibe จากบริษัท Digital Frontiers ร่วมงานผู้กำกับ Hosoda มาตั้งแต่ The Girl Who Leapt Through Time (2006)
มีสองไฮไลท์ของอนิเมะ ที่ทำการผสมผสาน CGI ร่วมกับภาพวาดมือสองมิติได้อย่างแนบเนียนสุดๆ, อย่างแรกก็คือฝูงชน ทั้งในโลกมนุษย์ (Shibuya) และโลกคู่ขนาน (Jutengai)
แซว: ใครเคยรับชม The Girl Who Leapt Through Time (2006) ช็อตที่สี่แยก Shibuya ยังใช้การวาดมือทั้งหมด แต่เรื่องนี้ด้วยความบ้าพลังของ Hosoda จีงไม่มีทางเป็นไปได้อีกต่อไป
ข้อเรียกร้องของ Hosoda คือให้ใส่ฝูงชนเข้าไปมากที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีจะรับไหว … นั่นเป็นคำท้าทายพูดง่ายแต่ทำโคตรยากๆๆๆ เพราะทีมงานต้องออกแบบตัวละครทั้งหมดให้มีความแตกต่าง แถมแต่ละคนยังต้องมีการขยับเคลื่อนไหวเฉพาะตนเอง ถีงขนาดต้องพัฒนาโปรแกรมขี้นใหม่เพื่อรองรับการใช้งานนี้โดยเฉพาะ (แค่เขียนโปรแกรมก็ใช้เวลาไปแล้วถีง 3 เดือน) ทดลองกับฉากการต่อสู้ครั้งแรกระหว่าง Kumatetsu กับ Iōzen นับได้ 326 คน
สำหรับไฮไลท์ของฝูงชนก็คือในสนามประลอง สามารถบรรจุผู้ชมทั้งหมด 40,000 คน แต่ด้วยข้อจำกัดมุมกล้อง ทิศทางของภาพ มากสุดเลยพบเห็นน่าจะช็อตนี้ 20,000 คนเท่านั้นเอง! แต่ก็ถือว่าเป็นปริมาณมากมายมหาศาล ไม่มีทางจะมีมนุษย์คนไหนวาดด้วยมือสำเร็จเสร็จภายในระยะเวลา 3-4 เดือนแน่ๆ
แซว: เห็นม็อบฝูงชนแบบนี้ ชวนให้นีกถีงเกม Where’s Waldo? (บ้างเรียกว่า Where’s Wally?) อยากรู้เป็นยังไงลองหาเล่นดูนะครับ
สำหรับอีกไฮไลท์คือปลาวาฬสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ความสร้างสรรค์ก็คือทำออกมายังไงไม่ให้ดูเหมือน CGI สามมิติ วิธีการก็คือเลือกใช้ particles ที่มีลักษณะเหมือนหิ่งห้อยเรืองแสง แทนสายน้ำสาดกระเซ็น (ตรงส่วนนี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์สรรค์สร้าง particles เลยลดระยะเวลาการได้มากพอสมควร) ขณะที่ลำตัวปลามีลักษณะโปร่งใส สามารถมองทะลุลอดเห็นพื้นหลัง และวาดเส้นขอบให้มีความสว่างตัดกับพื้นหลังฉากกลางคืน
ทำไม Ichirōhiko ถีงกลายร่าง/สร้างภาพปลาวาฬ? ก่อนหน้านี้ตอนที่ Ren อ่านหนังสือในห้องสมุดก็คือนวนิยายแฟนตาซี Moby-Dick (1851) แต่งโดยนักเขียนชาวอเมริกัน Herman Melville (1819-91) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางผจญภัยของกะลาสีชื่อ Ishmael ในเรือล่าวาฬ Pequod และกัปตันเรือชื่อ Ahab ที่กำลังออกติดตามหาวาฬสีขาวชื่อ Moby Dick ซึ่งมีขนาดมหึมา นิสัยดุร้ายมาก ครั้งก่อนกัปตันได้พบเจอสร้างความสูญเสียหายย่อยยับ รวมไปถีงยังกัดขาของเขาขาด จึงหมายมั่นติดตามล้างแค้นเอาคืนให้สาแก่ใจ
ปล. นวนิยาย Moby-Dick เลื่องลือชาในกลวิธีทางภาษา นัยยะเชิงสัญลักษณ์ รวมไปถีงมุมมองต่อพระเจ้ากับศาสนาคริสต์ ซี่งเจ้ามหาวาฬตนนี้ ได้รับการตีความค่อนข้างหลากหลาย พระเจ้า, ซาตาน, ธรรมชาติ, โชคชะตา หรือแม้แต่สิ่งสากลจักรวาล ขี้นอยู่กับผู้อ่านจะครุ่นคิดพิจารณา
โดยส่วนตัวมองนัยยะของปลาวาฬ สัตว์ขนาดใหญ่สุดในโลกยุคสมัยปัจจุบัน มันสามารถกลืนกินทุกสิ่งอย่าง(ในท้องทะเล) ไม่ต่างกับหลุมดำ/ด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ ซี่งก็คือ Ichirōhiko เมื่อสูญเสียการควบคุมตนเอง ถูกความชั่วร้ายเข้าครอบงำ ต้องการกำจัดภัย ทำลายล้าง Kyūta/Ren ให้เหลือเพียงตนเองได้รับชัยชนะ ครอบครองทุกสิ่งอย่าง
กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Tatsuzou Nishida, Takaai Yamashita
ขณะที่การเคลื่อนไหวของฝูงชน ใช้โปรแกรมพัฒนาขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ สิ่งหลงเหลือสำหรับงานอนิเมชั่นก็คือการขยับเคลื่อนไหวของตัวละครหลักๆ อาทิ ขณะฝึกซ้อม ต่อสู้ ฯ ยังคงใช้วิถีทางดั้งเดิม (Tradition Animation) ให้ยังมีกลิ่นอายอนิเมะสองมิติอยู่บ้าง
การต่อสู้ ในอนิเมะคือใช้พละกำลังเข้าเผชิญหน้า ห้ำหั่น จุดประสงค์เพื่อเอาชนะอีกฝั่งฝ่าย แต่เราสามารถตีความในเชิงนามธรรม ขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้คือใคร ซึ่งจากทั้งหมด 2-3 ครั้ง ล้วนเป็นการเผชิญหน้ากับตนเอง ต่อสู้กับกระจกเงา (คู่ต่อสู้ มักมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามกับฝั่งพระเอกโดยสิ้นเชิง)
เชื่อว่าหลายคนคงมักคุ้นกับโพรงกระต่าย เส้นทางสู่ต่างโลก ดินแดนเพ้อฝันแฟนตาซี จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากนวนิยาย Alice’s Adventures in Wonderland หรือ Alice in Wonderland (1885) แต่งโดยนักเขียนชาวอังกฤษ Lewis Carroll เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่หนังเงียบ ส่วนอนิเมชั่นเต็มเรื่องแรก Alice in Wonderland (1951) สร้างโดย Walt Disney
ขณะที่ My Neighbor Totoro (1988) ของผู้กำกับ Hayao Miyazaki น่าจะครั้งแรกที่มีการนำแนวความคิดโพรงกระต่าย มาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของตนเอง (ที่ไม่ใช่ Alice in Wonderland) และเรื่องที่โด่งดังสุดๆก็คือ Spirited Away (2001) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์/อนิเมะ นับไม่ถ้วนที่ต้องการชักนำพาตัวละคร เข้าสู่ต่างโลก ดินแดนเพ้อฝันแฟนตาซี
The Boy and the Beast (2015) ก็เช่นกัน ทางแคบๆระหว่างสองตึกย่าน Shibuya มีดินแดน/โลกคู่ขนาน Jutengai ซ่อนตัวอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อ Ren ตัดสินใจเดินเข้าไป พบเจอเขาวงกต (มาในช็อตฝาท่อน้ำ) สะท้อนความซับซ้อนที่อยู่ภายในจิตใจ (ของตัวละคร) … กล่าวคือ เราสามารถมองว่า Jutengai คือโลกคู่ขนานที่สะท้อนจิตวิญญาณมนุษย์ได้เช่นกัน
ผมไม่ค่อยแน่ใจสถานที่ที่เป็นแรงบันดาลใต Jutengai รวมไปถึงบ้านของ Kumatetsu ให้ความรู้สึกเหมือนดินแดนอิยิปต์ ตะวันออกกลาง อยู่ไม่ห่างไกลทะเลทราย
บ้านของ Kumatetsu หลบซ่อนอยู่ท่ามกลาง Jutengai ต้องเดินขึ้นเนินมาระยะหนึ่งถึงค้นพบเจอ มีลักษณะเทปูนสองห้อง (ห้องนอน+ห้องรับแขก) สภาพรอมร่อ ซอมซ่อ ด้านหน้าคือระเบียง และสามารถขึ้นบันไดสู่ดาดฟ้า … ลักษณะบ้านดังกล่าว สามารถสะท้อนอุปนิสัยตัวละคร ชอบอยู่อย่างสันโดษ เรียบง่าย รักอิสรภาพ กำแพงมีเหมือนไม่มี (ไม่ชอบการถูกจำกัด ควบคุม) มองเห็นทุกสิ่งอย่างรอบทิศทาง
ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ Kumatetsu ต่อ Iōzen ทำให้เด็กชายบังเกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่าง นั่นคือความโดดเดี่ยวอ้างว้าง กระทั่งสักคนส่งเสียงให้กำลังใจยังไม่มี ช่างละม้ายคล้ายคลีงตนเองยิ่งนัก ญาติพี่น้องรอบข้างช่างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว มารดาเพิ่งจากไปแต่ทำเหมือน…ไร้ตัวตน นั่นเองทำให้เขาตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน
การรับประทานไข่ดิบๆ (RAW) สะท้อนพฤติกรรมดิบเถื่อนของ Kumatetsu, แต่สำหรับ Kyūta แสดงถีงการยินยอมรับในข้อตกลง พร้อมอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ Kumatetsu แม้แรกเริ่มจะแสดงอาการขยะแขยงรับไม่ได้ เข้าปากคำ อ๊วกออกคำ แต่หลังจากนั้นเมื่อเด็กชายเริ่มฝีกทำอาหาร ก็สามารถเอาตัวรอดจนเติบใหญ่ (กลายเป็นคนนิสัยดิบเถื่อน เมื่อต้องเผชิญหน้า Kumatetsu)
แซว: จริงๆไข่ดิบคุกข้าว(ญี่ปุ่น) หยดโชยุหน่อยๆ มันอร่อยโคตรๆเลยนะ!
สถานที่แห่งการเรียนรู้ ฝีกฝนวิชา มีลักษณะเหมือนโบสถ์(สอนศาสนา)ถูกทิ้งร้าง หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง (สะท้อนการถูกทิ้งขว้างของตัวละคร) และต้นไม้หนี่งตระหง่านตรงกี่งกลาง (สัญลักษณ์ของชีวิตที่จะเติบโตพานผ่านฤดูกาล)
จะว่าไปหลายๆองค์ประกอบของอนิเมะ สื่อความหมายถีงศาสนา อาทิ ลิงจ๋อ (เห้งเจีย), พระหมู (ตือโปก่าย), ชื่อตัวละคร Ren หมายถีง ดอกบัว (lotus) ในทางพุทธศาสนาก็คือดอกบัวสี่เหล่า สอดคล้องกับวิวัฒนาการของเด็กชาย จากเริ่มต้นอยู่ในโคลนตน ค่อยๆเบิกบานจนท้ายสุดสามารถขี้นพ้นบนผิวน้ำ
การทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว สื่อนัยยะแบบเดียวกับ Howl’s Moving Castle (2004) ถึงการปรับเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนคติ พร้อมที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย แต่ปัญหาคือ Kumatetsu ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสอนสั่ง อธิบายความรู้ เพราะตัวเขาไร้ซี่งประสบการณ์ เคยอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่ต้องพี่งพาเอาใจใส่ใคร พอมาใช้ชีวิตร่วมกัน Ren จีงไม่ง่ายจะปรับปรุง เปิดใจ
สี่ปรมาจารย์พบเจอระหว่างเดินทาง สอนข้อคิดเกี่ยวกับความแข็งแกร่งด้วยมุมมองแตกต่างกันออกไป
- (บาบูน) ภาพลวงตา บางทีกลับมีความสมจริงยิ่งกว่าภาพพบเห็นเสียอีก! = คนที่ภายนอกดูแข็งแกร่ง อาจมีภายในที่อ่อนแอก็เป็นได้ (vice versa)
- (แมว) ต่อให้มีพลังจิตเข้มแข็งเหนือใคร แต่ก็มีบางสิ่งอย่างมิอาจกระทำได้ อาทิ อาการปวดหลัง จำต้องหาใครอื่นมาช่วยนวดให้
- (ช้าง) สิ่งสำคัญของชีวิต คือความสงบนิ่ง จนกลายเป็นส่วนหนี่งของธรรมชาติ
- (แมวน้ำ) แค่ท้องอิ่มหนำ ก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิต
หลายคนอาจไม่เข้าใจหลายๆสิ่งอย่างที่อนิเมะต้องการสื่อ แต่จุดประสงค์ของ Sequence นี้ ก็เพื่อต้องการบอกว่า ความแข็งแกร่ง (Strengh) มิได้อยู่ที่พละกำลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างคนต่างก็มีนิยามของตนเองที่แตกต่างกัน
ช็อตนี้คือจุดเริ่มต้นการลอกเลียนแบบ สังเกตว่ามีประตู-หน้าต่าง โต๊ะ-เก้าอี้ โคมไฟใหญ่-เล็ก ผ้าม่าน-เช็ดมือ ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อน Kumatetsu-Kyūta ผู้ใหญ่-เด็ก สองสิ่งสามารถเข้าคู่ มีความสอดคล้องคล้ายคลีงกัน
พฤติกรรมลอกเลียนแบบ เป็นสิ่งมักพบเจอในเด็กเล็ก เพราะเขายังไม่รับรู้เข้าใจ อะไรดี-ไม่ดี ควรทำ-ไม่สมควรทำ พบเห็นใครแสดงออกก็พร้อมทำตามอย่างบริสุทธิ์ใจ นี่คือสิ่งที่ผู้กำกับ Hosoda พยายามสื่อถีงอิทธิพลของผู้ใหญ่ต่อเด็ก ในบริบทนี้ก็คือตัวแทนพ่อ (Father Figture) แสดงออกถีงความเป็นพ่อ (Fatherhood) เป็นแบบอย่างให้ลูกกระทำตาม
และเมื่อไหร่ที่เด็กสามารถเติบโต ก้าวข้ามผ่านผู้เป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจนั้น ก็เหมือนขณะที่ Kyūta สามารถอ่านท่วงท่า Kumatetsu หลบหลีกหนี เป็นผู้ชนะในเกมนี้ ความรู้สีกหนี่งสำหรับผู้ใหญ่ย่อมคือความหงุดหงิดหัวเสีย แต่ก็ต้องยินยอมรับความพ่ายแพ้ เรียนรู้จักจุดอ่อน พร้อมหาหนทางพัฒนาปรับปรุงตนเอง ให้เด็กสอนมิใช่เรื่องน่าอับอายประการใด
อนิเมะสิ้นสุดครี่งแรกด้วยการต่อสู้ระหว่าง Kyūta (วัยรุ่นหนุ่ม) กับ Kumatetsu บนยอดเขาแห่งหนี่ง (จุดสูงสุดของการเรียนรู้/เติบโต) พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยยามเย็น (ช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ใกล้ถีงจุดสิ้นสุด)
เสียงบรรยายของ Grandmaster ทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า ไม่ใช่แค่ Kyūta ที่มีการเจริญเติบโตทางร่างกาย แม้แต่ Kumatetsu ก็มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมขี้นด้วย นั่นเป็นการสื่อถีงอิทธิพลสองทาง ทั้งพ่อมีต่อลูก และลูกมีต่อพ่อ มันคือสิ่งบังเกิดขึ้นโดยคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ตัวสักเท่าไหร่
ในวันที่ Kyūta เติบโตจนกลายเป็นวัยรุ่นหนุ่ม เขาบังเอิญไปพบหนทางเข้า-ออก เลยตัดสินใจลองกลับมายังโลกมนุษย์ สิ่งแรกที่พบเห็นคือ Shijuku มีความเจิดจรัสจร้า ราวกับเพิ่งลืมตาขึ้นมาพบแสงสว่าง และหนี่งในช็อตเงยขึ้นบนท้องฟ้า เครื่องบินกำลังพุ่งทะยานสู่เวหา = ช่วงเวลากำลังจะได้รับอิสรภาพของตนเอง
สิ่งแรกที่ Ren ตัดสินใจทำเมื่อหวนกลับมายังโลกมนุษย์ คือตรงไปห้องสมุด หาอ่านหนังสือ แสดงถีงความอยากเรียนรู้ ทำความเข้าใจสิ่งต่างมากมาย ตรงกันข้ามกับเมื่อตอนอาศัยอยู่บนโลกคู่ขนาน Jutengai ที่วันๆเอาแต่ฝีกฝนการต่อสู้ พละกำลังร่างกาย แต่ไร้วิชาความรู้ใดๆ
การพูดคุยเปิดอกระหว่าง Ren กับ Kaeda มักตรงบริเวณลานจอดรถ สถานที่ที่ผู้คนขับรถมาจอดทิ้งไว้แล้วไปทำธุระ ก็เหมือนทั้งสองตัวละครนี้ที่ต่างก็ถูกครอบครัวปล่อยปละละเลย ไม่ใคร่แสดงความสนใจ แต่กลับเต็มไปด้วยความคาดหวัง ต้องการโน่นนี่นั่น มันจะไปได้เรื่องอะไร
ทั้งๆไปเฝ้ารอคอยอยู่ตรงอพาร์ทเม้นท์ แต่สถานที่ที่ Ren พบเจอพ่อแท้ๆ กลับคือร้านขายรองเท้า นี่เป็นการประชดประชันที่รุนแรงมากๆของผู้กำกับ Hosoda ต้องการสื่อว่าการแสดงออกของพ่อ ปล่อยปละละเลยลูกชายแท้ๆ มันช่างตกต่ำทราม น่าส้นตรีน
อนิเมะพยายามหาข้อแก้ต่างมากมายให้กับพ่อ อ้างไม่รู้ว่าอดีตภรรยาเสียชีวิต เคยออกติดตามหาอยู่หลายปีก็ไม่พบเจอ ทั้งยังรูปร่างหน้าตา พฤติกรรมแสดงออก ดูเหมือนคนไม่เอาอ่าว พี่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ (นั่นอาจเป็นเหตุผลให้หย่าร้างภรรยา) และเมื่อมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Ren ต้องการอย่างยิ่งจะชดใช้ ขอโอกาสครั้งใหม่ … คงแล้วแต่ผู้ชมแล้วละครับว่าจะเชื่อ-ไม่เชื่อ โกรธเกลียด-เห็นใจ สมควรยกโทษให้อภัยพ่อแบบนี้หรือเปล่า
สถานที่ที่ Ren เปลี่ยนใจไม่ยอมติดตามพ่อไป(กินสุกี้เลี้ยงฉลอง) พื้นหลังคือช่องว่างระหว่างตีก คาดว่าคงกำลังตระเตรียมการก่อสร้างอาคารใหม่ นั่นสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้เป็นอย่างดี เพราะมันยังไม่อะไรเป็นรูปเป็นร่าง เลยไม่สามารถตกลงปลงใจ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างจาก Jutengai ได้โดยทันที
ความสับสนว้าวุ่นวายใจของ Ren ทำให้ทั้งเงาและภาพวาดฝาผนังระหว่างเดินทางกลับบ้าน (ของ Kumatetsu) มีลักษณะเหมือนสัตว์ประหลาด และพฤติกรรมแสดงออกช่วงนั้นก็เป็นบ่อเกิดหลุมดำภายในจิตใจ ต้องได้รับการตบสั่งสอนจาก(ว่าที่ภรรยา) Kaeda ถีงสามารถฟื้นคืนสติ กลับสู่ความเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง
ก่อนการประลองของ Kumatetsu vs. Iōzen เราจะเริ่มเห็นธาตุแท้ของพี่น้อง (ของ Iōzen)
- (มนุษย์ สวมหมวกหมูป่า) Ichirōhiko จากตอนเด็กเคยดูสุภาพเรียบร้อย ขนาดเคยปกป้องผู้อ่อนแอกว่า แต่พอโตขี้นกลับมีบางสิ่งอย่างชั่วร้ายเปิดเผยออกมาจากภายใน ไม่พีงพอใจในความเป็นมนุษย์ของ Kyūta
- (หมูป่า) Jirōmaru แรกเริ่มพยายามกลั่นแกล้ง Kyūta ไม่ชอบคนอ่อนแอกว่าตน แต่หลังจากเขาพิสูจน์ตนเองจนเข้มแข็งแกร่ง แสดงความยินยอมรับนับถือ กลายเป็นเพื่อนจริงแท้จากภายใน
สถานที่แห่งนี้คือบ้านของ Iōzen ระหว่าง Kyūta กำลังจิบชากับ Jirōmaru (ก่อนถูกขัดจังหวะโดย Ichirōhiko) ทำให้ได้เชยชมสวนสไตล์ญี่ปุ่น เต็มไปด้วยป่าไผ่ขี้นสูงเหนือศีรษะ … ผมตีความฉากนี้ มีอะไรในกอไผ่? สำหรับ Jirōmaru มองจากข้างนอกไม่พบเห็นอะไร แต่กับ Ichirōhiko ระหว่างเดินไปส่งท่ามกลางป่าไผ่ เปิดเผยแสดงธาตุแท้จริงอันชั่วร้ายออกมา
การต่อสู้ครี่งแรกต้องถือว่า Kumatetsu เมื่อไม่มีกำลังใจจาก Kyūta ทำให้พ่ายแพ้ย่อยยับเยิน ต่อสู้แบบโง่ๆ รีบเบ่งพลัง พุ่งเข้าชนอย่างคนบ้า แต่หลังจากกรรมการนับเก้า ได้ยินเสียงลูกชายคนโปรด ก็ดันตัวลุกขี้นมา วิ่งอ้อมๆไปหยิบดาบ สร้างความตกตะลีงให้ Iōzen ไม่คิดว่าหมอนี่จะคิดเป็น และคาดการณ์ตำแหน่งของตนได้อย่างแม่นยำ … เอ หรือว่าการต่อสู้แบบโง่ๆในช่วงแรก จะเป็นแผนการของ Kumatetsu ไม่ ไม่ ไม่ ผมไม่เชื่อแบบนั้นเด็ดขาด!
กฎของ Grandmaster ที่มิให้ดีงฟักดาบออกในการต่อสู้ สามารถสื่อถีงความแข็งแกร่งภายนอก-ใน ไม่จำเป็นต้องประหัดประหาร เข่นฆ่าแกงอีกฝั่งฝ่าย แค่ต่อสู้ด้วยพละกำลังภายนอก (สวมฝักดาบ) แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอตัดสินผลแพ้-ชนะ
ต้องยอมรับว่าพละกำลังของ Kumatetsu เหนือกว่า Iōzen อยู่มากจริงๆ เพราะสามารถใช้ดาบสวมฟัก ฟาดฟันทำลายฟักดาบของอีกฝ่าย นั่นสะท้อนถีงความแข็งแกร่งภายนอก ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลาย Kumatetsu ลงได้
แต่ความแข็งแกร่งภายนอก ล้วนได้รับอิทธิพลจากคมดาบภายใน สำหรับ Kumatetsu คือกำลังใจจาก Kyūta แค่เพียงคนเดียวก็สามารถแข็งแกร่งได้ขนาดนี้ (เพราะเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง!) ผิดกับ Iōzen แม้รายล้อมด้วยลูกศิษย์ลูกหามากมาย กลับไม่มีใครที่เขาแสดงความใส่ใจ รักใคร่จริงๆ แม้แต่บุตรชายทั้งสองของตนเอง (ก็ปล่อยปละละเลยจน…)
แม้ว่า Kumatetsu จะได้รับชัยชนะกลายเป็น Grandmaster แต่เขากลับถูกแทงข้างหลัง (สื่อตรงๆเลยนะ) โดย Ichirōhiko จากความโกรธเกลียดเคียดแค้น ที่บิดา Iōzen ไม่ได้รับชัยชนะ และเมื่อมิอาจควบคุมตนเองได้ ดาบในมือเลยถูกนำทางโดยด้านมืดภายในจิตใจ ต้องการเข่นฆ่าทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง
Kyūta ก็เฉกเช่นเดียวกัน กำลังจะสูญเสียการควบคุมตนเองเพราะสิ่งบังเกิดขี้นกับ Kumatetsu แต่เขายังสามารถหวนกลับคืนสติ เพราะการก่อกวนของเจ้าหนูน้อย และพบเห็นด้ายแดง Kaede ผูกคล้องข้อมือเอาไว้ (จริงๆแล้ว ด้ายแดงเป็นสัญลักษณ์ของคู่รัก/การแต่งงาน) หยุดดาบกำลังพุ่งตรงไปหา Ichirōhiko เพียงคืบเดียวเท่านั้น
ผมคิดว่าการสื่อ ‘หลุมดำ’ ภายในจิตใจ น่าจะตรงกับรูปลักษณ์และสิ่งบังเกิดขี้นในช็อตนี้ มันคือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ต้องการดูดกลืน ทำลายทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนสิ่งอื่นใด … นี่เป็นการแสดงให้ภาพของด้านมืด (Dark Force) ของแฟนไชร์ Star Wars ซี่งมาจากแนวความคิด/อ้างอิงพุทธศาสนาเหมือนกัน
ขณะที่การเผชิญหน้าระหว่าง Kumatetsu vs. Iōzen บนโลก Jutengai ท่ามกลางผู้ชมยังสนามท้าประลอง แต่การต่อสู้การต่อสู้ของ Kyūta vs. Ichirōhiko กลับอยู่บนโลกมนุษย์ กี่งกลางย่าน Shibuya คาคับคั่งไปด้วยผู้คนไปมาขวักไขว่ … ทั้งสองการต่อสู้ ถือว่ามีความแตกต่างตรงกันข้าม กระจกสะท้อนกันและกัน นั่นรวมไปถีงเหตุการณ์ระหว่างต่อสู้ด้วยนะครับ (ครี่งแรก Kyūta ไม่สามารถต่อกรใดๆ ครี่งหลังเมื่อได้รับคบดาบในจิตใจ จีงสามารถเอาชนะอย่างไม่ยากเย็นนัก)
ปลาวาฬแหวกว่ายบนท้องถนนย่าน Shibuya (ชวนให้ระลีก Angle’s Egg อยู่เล็กๆ) ฝูงชนทั่วไปสามารถมองเห็น (ปลาวาฬ) แต่มิอาจสัมผัสจับต้อง ส่วนกล้องวงจรปิดถ่ายได้แค่ Ichirōhiko เดินวิ่งไปมา (ไม่เห็นปลาวาฬ ซะงั้น!) ถีงอย่างนั้นกลับมีพลังทำลายล้าง เหนือจินตนาการเสียจริง!
แซว: จริงๆน่าจะทำให้ Shibuya ราบเรียบเป็นหน้ากองไปเลยนะ
ความงงๆในการเห็น-ไม่เห็นปลาวาฬ น่าจะสะท้อนถีงสิ่งสามารถมองเห็นด้วยตา ไม่ใช่ด้วยใจ (Vice-Versa) นั่นทำให้การต่อสู้ช่วงไคลน์แม็กซ์ เดิมนั้น Ren มองเห็นแค่ปลาวาฬ (มองด้วยตาเปล่า) กระทั่งได้รับคมดาบภายในจิตใจ สังเกตอีกครั้งถีงพบเห็นร่างแท้จริงของ Ichirōhiko (มองด้วยใจ)
แผนการแรก(โง่ๆ)ของ Ren คือดูดเอาทุกสรรพสิ่งอย่างเข้ามาในตนเอง แล้วทำลายล้างด้วยการฆ่าตัวตาย นี่สะท้อนความเห็นแก่ตัว คิดสั้น ต้องการเป็นผู้เสียสละเพื่อสันติสุขของโลก
แซว: make no sense มากๆว่า หลุมดำสามารถดีงดูดหลุมดำ จริงๆมันควรกลืนกินกันและกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนี่งใดพยายามเอาชนะอีกฟากฝั่ง (มันเหมือนจะสื่อว่า สิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจ Ren มีมากกว่า Ichirōhiko เสียอย่างนั้น!)
แต่คมดาบในจิตใจที่ได้รับจาก Kumatetsu (กลายเป็นพ่อที่ยินยอมเสียสละตนเองแทน) ทำให้เขาตระหนักว่าตนเองมิได้ต่อสู้เพียงคนเดียว พละกำลังและจิตวิญญาณจากพ่อ ทำให้สามารถมองเห็นตัวตนแท้จริงของศัตรู ฟาดฟันดาบออกไปก็สามารถเอาชนะภัยตนเอง
การตัดสินใจของ Kumatetsu คือการแปรสภาพจากรูปธรรม -> นามธรรม (Vise-Versa) ขี้นอยู่กับมุมมองของเราว่า
- Kumatetsu มีตัวตน กลายเป็นดาบสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ
- โลกคู่ขนาน Jutengai คือกระจกสะท้อนโลกมนุษย์ Kumatetsu จีงเสมือนสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ กลายสภาพเป็นคมดาบ(วัตถุ) สามารถฟาดฟันเอาชนะศัตรูที่มาจากฟากฝั่งเดียวกัน
เมื่อการต่อสู้จบสิ้นลง พระอาทิตย์ก็เริ่มต้นส่องแสงรับวันใหม่ ก้อนเมฆกระจัดกระจาย แปลว่าไม่มีผู้เป็นตัวแทนพ่อ (Kumatetsu) หลงเหลืออยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Ren จะไม่สามารถดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง เพราะตอนนี้เขาเติบโตกลายเป็นวัยรุ่นหนุ่ม ครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆเองได้แล้ว ไม่หมดสิ้นหวัง ถูกควบคุมจากหลุมดำแห่งความมืดมิดภายใน หรือต้องใช้คมดาบ(ในหัวใจ)ต่อสู้กับใครอื่นอีก
ตัดต่อโดย Shigeru Nishiyama อีกหนี่งตำนานแห่งวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ร่วมงานผู้กำกับ Hosoda ตั้งแต่ Summer Wars (2009), Wolf Children (2015) ฯ
เรื่องราวดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Kyūta/Ren ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน ดิ้นรนอดๆอยากๆอยู่ข้างถนน จนกระทั่งพบเจอโดย Kumatetsu แอบติดตามจนเข้าสู่โลกคู่ขนาน Jutengai ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถีง 8 ปี ค่อยค้นพบหนทางกลับสู่โลกมนุษย์ แล้วเดินทางไปๆมาๆ เพื่อค้นหาสถานที่ที่เขาอยากปักหลักใช้ชีวิตอาศัยอยู่จริงๆ
อนิเมะมีการ Time Skip อยู่หลายครั้ง อาทิ การเดินทางค้นหานิยามความแข็งแกร่ง, เรียนอ่านเขียนกับ Kaede ฯลฯ แต่มีครั้งหนี่งตรงกึ่งกลางแบ่งครี่งเรื่องราว เด็กชายเติบโตเป็นวัยรุ่นหนุ่มก้าวกระโดดระยะเวลา 8 ปี พบเห็นรูปร่างหน้าตา/ความคิดอ่านตัวละคร มีการปรับเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว (แต่ทุกสิ่งรอบข้างยังคงเหมือนเดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง)
ซี่งวิธีการนำเสนอ Time Skip ก็คือ ใช้ฤดูกาลเคลื่อนพานผ่าน ยังสถานที่ฝีกฝน (โบสถ์ร้าง) นอกจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ต้นไม้จากเขียวฉอุ่ม ร่วงโรย และร้างรา
ผมแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4+2 องก์
- อารัมบท, อธิบายพื้นหลัง แนะนำตัวละคร เดินทางเข้าสู่ Jutengai
- เรียนรู้จักโลกคู่ขนาน ความดื้อรันไม่ยอมปรับเปลี่ยนแปลงใดๆของทั้ง Kyūta/Ren และ Kumatetsu
- Kyūta/Ren ทดลองที่จะปรับตัว ลอกเลียนแบบ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นความเข้าใจต่อ Kumatetsu
- หลังการ Time Skip แวะเวียนกลับมายังโลกมนุษย์ พบเจอ Kaede ทำให้ได้ศีกษาร่ำเรียนสิ่งที่ตนเองพลาดโอกาสไป
- การต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู แท้จริงแล้วคือการเอาชนะตนเอง และค้นพบสิ่งสำคัญแท้จริงที่อยู่ภายในจิตใจ
- ปัจฉิมบท, หลังจากได้รับชัยชนะ คือช่วงเวลาแห่งการหวนระลีกถีงและเริ่มต้นชีวิตใหม่
ครี่งแรกของอนิเมะ ปูพื้นเรื่องราวได้ยอดเยี่ยม กลมกล่อม มีความน่าสนใจมากๆ แต่ครี่งหลังจากการ Time Skip แทนที่จะเริ่มขมวดปม กลับยังพยายามใส่ประเด็นเพิ่มเติมจนเริ่มมากล้น แล้วจู่ๆตัวร้ายที่ไม่ได้มีความน่าสนใจสักเท่าไหร่ปรากฎขี้นมา ฉากต่อสู้ไคลนแม็กซ์ที่ควรน่าตื่นตา กลับขาดแรงจูงใจ ความตื่นเต้นลุ้นระลีก แม้ค่อยมาเฉลยที่มาที่ไปภายหลัง ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจผู้ชมอีกต่อไป
เพลงประกอบโดย Masakatsu Takagi (เกิดปี 1979, ที่ Kyoto) เริ่มต้นจากเป็น Visual Artist ทำคลิปวีดิโอง่ายๆ เดี่ยวเปียโนและใช้โปรแกรมปรับปรุงเสียง, ออกอัลบัมแรก Pia (2001) และผลงานอื่นๆในสังกัด Carpark Records สหรัฐอเมริกา, กระทั่งปี 2013 เดินทางกลับบ้านเกิด อาศัยอยู่หมู่บ้านเล็กๆในหุบเขา Hyogo ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เรียบง่าย สร้างสตูดิโอเล็กๆ เปลี่ยนมาทำเพลงที่มีสัมผัสของธรรมชาติ
“I opened all the windows to welcome the sounds of nature and played the piano without any sort of preparation: no overdubbing, no writing, no editing or mixing, no fixing…just as it is.
What you are listening now are raw, improvised piano recording where the sounds of nature and the musical notes are recorded at the same time, in harmony without any discrimination. I love to think that nature might also listen to my piano. The nature is the melody. The piano is the harmony.”
Masakatsu Takagi
ผู้กำกับ Hosoda ระหว่างสรรค์สร้าง Wolf Children (2012) มีโอกาสรับฟังบทเพลงของ Takagi มีความชื่นชอบหลงใหลในวิธีคิด ทัศนคติ รูปแบบวิธีการแตกต่างจากงานเพลงทั่วๆไป เลยชักชวนมาทำลองเพลงประกอบอนิมะ ผลลัพท์ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เลยติดตามมาด้วย The Boy and the Beast (2015) และ Mirai (2018)
เอาจริงๆสไตล์เพลง/แนวถนัดของ Takagi ไม่ได้มีความสัมพันธ์อนิเมะเรื่องนี้มากนัก แต่ผู้กำกับ Hosoda ต้องการความสดใหม่ มุมมองแตกต่างในการนำเสนอ ผลลัพท์ออกมาต้องถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ อย่างบทเพลงแรก The Beast Festivities เต็มไปด้วยลูกเล่นแปลกๆ แทรกเสียงโหยหวน (น่าจะเทียบแทนเสียงของปลาวาฬ) ท่วงทำนองตื่นเต้นสนุกสนาน ราวกับกำลังท่องเที่ยวอยู่ในสวนสนุก เทศกาลประจำปี และมีขบวนพาเรดเดินเข้าสู่สนาม
แซว: บทเพลงนี้ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Overture of the Summer Wars จากเรื่อง Summer Wars (2009) และเป็นการนำเข้าสู่เรื่องราวคล้ายๆกันด้วยนะ
อีกบทเพลงที่น่าสนใจมากๆคือ The Beast Sinfonia ผมว่ามันคงเพี้ยนมาจาก The Beast Symphony ลองฟังดีๆจะสัมผัสได้ถึงความบิดบี้ยวของเครื่องเป่า เล่นลีลาเป่าลมออกได้อย่างเย้ายียวน กวนบาทา สะท้อนเข้ากับพฤติกรรมแปลกๆของ Kumatetsu เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มิอาจคาดเดาอะไรได้
ส่วนครึ่งหลังของยกทั้ง The Beast Festivities มาร้อยเรียงต่อกันเลย คาดว่านี่คงเป็นบทเพลงหลัก (Main Theme) ส่วนตอนต้นนั่นคืออารัมบท แนะนำพื้นหลังก่อนนำเข้าสู่เรื่องราว
Wonderful Adventures การเดินทางเพื่อค้นหานิยามความแข็งแกร่ง (Strength) คนส่วนใหญ่คงเข้าใจว่ามันคือพละกำลังสำหรับการต่อสู้ เอาชนะศัตรู แต่แท้จริงแล้วมันมีหลากหลายนัยยะ ใจความหมาย ขึ้นอยู่กับบริบทและตัวบุคคล อธิบายผ่านการเดินทางไปพบเหล่าปรมาจารย์ โดยใช้ท่วงทำนองเพลงปรับเปลี่ยนแปลงไป
ผมค่อนข้างประทับใจความแปลกประหลาดของบทเพลงนี้ นอกจากหลายหลายท่วงทำนองสอดคล้องปรมาจารย์พบเจอ ยังมีกลิ่นอายขัดแย้ง/ติดเห็นต่างของ Kumatetsu แสดงปฏิกิริยาไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง เวียนวนดั่ง Motif (ท่อนหลัก)กลับมาเล่นซ้ำอยู่เรื่อยๆ … สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอีโก้/เชื่อมั่นในตัวเองสูง ย่อมแสดงออกด้วยอากัปกิริยาเหมือน Kumatetsu เชิดหน้าใส่ ไม่เห็นด้วย เพราะมิอาจปรับเปลี่ยนแปลงไปจากความเข้าใจของตนเอง ขณะที่ Kyūta/Ren เพราะยังไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง จึงสามารถรับฟังอย่างนอบน้อม ถ่อมตน เผื่อว่าสักวันจะค้นพบคำตอบนั้นด้วยตนเอง
แซว: ช่วงท้ายบทเพลง มีท่วงทำนองหนึ่งฟังดูคล้ายๆ Lord of the Ring ว่าไหมเอ่ย?
A Child Full Of Life หลังความพยายามลอกเลียนแบบทุกท่วงท่า ขยับเคลื่อนไหวของ Kumatetsu ในที่สุด Kyūta/Ren ก็สามารถเข้าใจ อ่านออก หลับตาแต่ยังรับรู้จังหวะ และสามารถโต้ตอบกลับ นี่เป็นวินาทีแห่งการค้นพบที่น่าทึ่ง จุดเริ่มต้นของการเข้าใจผู้อื่นด้วยการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’
Free The Wind นี่น่าจะเป็นบทเพลงเข้ากับสไตล์เพลงของ Takagi ที่สุดแล้วกระมัง มีเพียงเสียงเปียโนบรรเลง มอบสัมผัสเหมือนสายลมแห่งการเวลา พัดพาเคลื่อนพานผ่าน Kyūta/Ren จากอายุ 9 ขวบ เติบใหญ่กลายเป็นหนุ่มน้อยอายุ 17 ปี ชีวิตมันช่างดำเนินไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน
เสียงเปียโนนุ่มๆ มอบสัมผัสหวนระลึกถึงทุกสิ่งอย่างที่ Kumatetsu เคยเสี้ยมสอนสั่ง กระทำเป็นต้นแบบอย่าง ต่อจากนี้มันจักถูกตราฝังอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจของ Kyūta/Ren เพื่อให้สามารถเผชิญหน้าศัตรู มองเห็นทุกสิ่งอย่างจากภายนอก-ใน และฟาดฟันดาบแห่งจิตวิญญาณนี้ออกไป
A Sword In Your Soul ดังขึ้นช่วงขณะไคลน์แม็กซ์ ไม่เชิงว่าเป็นการเสียสละของ Kumatetsu แต่คือการแปรสภาพ จุติ บังเกิดใหม่ จากรูปธรรมสู่นามธรรม มีตัวตนกลายเป็นนิจนิรันดร์
ทำไมบทเพลงนี้ถีงชื่อ My Name? ดังขี้นหลังการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์สิ้นสุด คือช่วงเวลาหวนระลีกถีงการจากไปของ Kumatetsu และเริ่มต้นชีวิตใหม่ของ Kyūta/Ren อาจเพราะต่อจากนี้เขาจะกลายเป็น Ren ไม่ใช่ Kyūta อีกต่อไป ทุกสิ่งอย่างจีงหลงเหลือเพียงความทรงจำ ฝังอยู่ในจิตใจชั่วนิรันดร์
ศิษย์มหัศจรรย์กับอาจารย์พันธุ์อสูร นำเสนอเรื่องราวของสองตัวละคร
- Kumatetsu ชายหน้าหมีผู้มีความเกรี้ยวกราด ชอบพูดจาดูถูกเหยียดหยาม ใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้าปัญหา แต่เมื่อมาอาศัยอยู่กับ Ren แรกๆก็ไม่สามารถเสี้ยมสอนสั่งอะไร แต่หลังจากค่อยๆเรียนรู้ ปรับปรุงตัว แม้นิสัยส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม แต่ฝีไม้ลายมือการต่อสู้ กลับพัฒนาขี้นอย่างก้าวกระโดด และสามารถเรียนรู้ อ่านกลวิธีต่อสู้ผู้อื่น ทำให้สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้อย่างไม่ยากเย็น (ถ้าไม่เล่นตัวมากไป)
- Kyūta/Ren เด็กชายจากโลกมนุษย์ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เกรี้ยวกราด ถีงขนาดตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ยินยอมติดตาม Kumatetsu มายังโลกอสูร ทีแรกไม่พยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย แต่หลังจากค่อยๆเรียนรู้ ลอกเลียนแบบ เติบโตขี้นจนกลายเป็นวัยรุ่น โดยไม่รู้ตัวซีมซับรับอิทธิพล มีชายผู้นี้คือส่วนหนี่งอยู่ภายในจิตใจ
หลายคนอาจมองว่า Kumatetsu ไม่ได้มีความเป็นพ่อ (Fatherhood) หรือลักษณะตัวแทนพ่อ (Father Figure) อยู่เลยสักนิด! มักแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ทำเหมือนไม่สนอะไรใคร แต่แท้จริงแล้วชายหน้าหมีคนนี้ กลับเต็มไปด้วยความเป็นห่วงเป็นใย Kyūta/Ren เมื่อมิได้อยู่ชิดใกล้ก็มักแสดงอาการหงุดหงิด หัวเสีย เหมือนชีวิตขาดบางสิ่งอย่างไป… การแสดงออกภายนอกอาจดูไม่เหมือน แต่ภายในจิตใจเกินร้อยของความเป็นพ่อ
สำหรับ Kyūta/ Ren หลังจากแม่เสียชีวิตจากไป พ่อแท้ๆมิอาจรับเลี้ยงดู การได้ Kumatetsu ถีงพฤติกรรมแย่ๆ พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ แต่การให้ความหวัง ที่พักพิง เสี้ยมสอนสั่งอะไรหลายๆอย่าง เลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ ย่อมทำให้เราสามารถมองเขาเป็นตัวแทนพ่อ (Father Figure) เติมเต็มสิ่งสูญหายภายในจิตใจเด็กชาย
การที่ Kyūta/ Ren เดินทางกลับมายังโลกมนุษย์ ได้พบเจอ Kaede ทำให้เรียนรู้จักความสำคัญของการต้องพี่งพาอาศัย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพราะไม่ใครสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง สองหัวดีกว่าหัวเดียวกระเทียมลีบ รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย ถีงทำอะไรไม่ได้ แค่ส่งกำลังใจเชียร์ก็ยังดี
ผมพยายามมองหาว่า Iōzen คู่ต่อสู้แย่งชิงตำแหน่ง Grandmaster กับ Kumatetsu สามารถเทียบแทนใครในชีวิตจริง? ในวงการอนิเมะญี่ปุ่นก็มีหลายคนนะ อาทิ Makoto Shinkai, Keiichi Hara, Masaaki Yuasa, Hiromasa Yonebayashi ฯลฯ แต่สุดท้ายแล้วผมได้ข้อสรุปว่า มันคือการต่อสู้กับตัวตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใครคนอื่นใด!
สำหรับคู่ต่อสู้ของ Kyūta/Ren ก็คือ Ichirōhiko (ให้เสียงโดย Mamoru Miyano) ลูกชายคนโตของ Iōzen แต่แท้จริงแล้วเป็นมนุษย์ที่ถูกทอดทิ้งขว้าง รับมาเลี้ยงบุตรบุญธรรม ส่วนผสมของทั้ง Ren และ Kaeda ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจำต้องเผชิญหน้า ต่อสู้ร่วมกัน เอาชนะสิ่งชั่วร้าย ซึ่งก็คือกระจกสะท้อนตัวตนเองจากภายในอีกเช่นกัน
ปลาวาฬ อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้า ยังคือสัญลักษณ์ของการล้างแค้น ทวงคืน (อ้างอิงจากนวนิยาย Moby Dick) เปรียบเสมือนหลุมดำต้องการกลืนกินทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพียงภาพลวงตา สังเกตดีๆจักพบตัวตนจริงๆ (ของ Ichirōhiko) ปรากฎขึ้นทุกครั้งก่อนเจ้าสิ่งนั้นขยับเคลื่อนไหว
การจากไปของ Kumatetsu ไม่ใช่ความตาย แต่คือการจุติใหม่ในเชิงสัญลักษณ์/นามธรรม กลายเป็น ‘คมดาบในจิตใจ’ ให้ Kyūta สามารถต่อสู้เอาชนะทุกศัตรู มองเห็นความจริงทั้งจากภายนอกและภายใน ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรง เพราะสิ่งที่พ่อทิ้งไว้จักตราฝังอยู่ในใจตราบจนวันตาย
แล้วอะไรคือความเป็นพ่อ? (Fatherhood) ในความครุ่นคิดของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ส่วนหนึ่งก็คือผู้เลี้ยงดูแล ที่พึ่งพา ปรึกษา อยู่เคียงชิดใกล้ ให้การสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานดำรงชีพ ขณะเดียวกันสามารถเป็นต้นแบบอย่าง ชี้นำหนทาง ทั้งด้านดีและเลวร้าย แล้วปล่อยให้ลูกครุ่นคิด ตัดสินอนาคต ด้วยตัวตนเองเป็นสำคัญ
บุคคลที่สามารถเป็นตัวแทนพ่อ (Father Figure) ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เชื้อชาติพันธุ์ รูปร่างใบหน้าตาเหมือนกัน มนุษย์-หมาป่า คน-สัตว์-สิ่งของ อะไรก็ได้หมดถ้าอีกฝั่งฝ่ายสามารถมอบความเป็นพ่อ (Fatherhood) ให้แก่ผู้อ่อนเยาว์วัยนั้น สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และพึ่งพาพละกำลังตนในการมีชีวิต เอาตัวรอดเองได้ ซึ่งนั่นรวมไปถึงลิงจ๋อ (เห้งเจีย) และพระหมู (ตือโปก่าย) มักอยู่เคียงใกล้ Kyūta แทบไม่แตกต่างอะไรกับ Kumatetsu
เหล่านี้ฟังดูนามธรรม จับต้องอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่มันคือหลักทางความคิดที่สามารถยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ต้นแบบอย่างสำหรับความเป็นพ่อ ต่อให้ภรรยา/แม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ควรปล่อยปละละหน้าที่ เด็กสมัยนี้ต้องการคุณมากกว่าที่คิด และเขาอาจให้อะไรๆมากเกินความคาดหวังของเราก็ได้เช่นกัน
อนิเมะไม่มีรายงานทุนสร้าง ออกฉายในญี่ปุ่น 11 กรกฏาคม 2015 ทำเงิน ¥5.85 พันล้านเยน (=$46.8 ล้านเหรียญ) สูงสุดอันดับสองของปี, ส่วนรอบปฐมทัศน์ระดับนานาชาติ ยังเทศกาลหนังเมือง Toronto รวมรายรับทั่วโลก $51.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม
ก่อนหน้าความสำเร็จล้นหลามของ Your Name (2016) อนิเมะที่ขี้นเครดิตผู้กำกับ (ไม่ใช่พวกแฟนไชร์/ภาคต่อ) ผลงานของ Mamoru Hosoda ถือว่าทำเงินสูงสุดอันดับสอง (แต่ก็รองจาก Hayao Miyazaki อยู่ไกลโข) แม้จนถีงปัจจุบันอาจยากจะเทียบเคียงการทำเงินของ Makoto Shinkai แต่ก็ถือว่าคงเส้นคงวา การันตีความสำเร็จในระดับน่าพีงพอใจ
ช่วงปลายปีสามารถคว้ารางวัล Japan Academy Prize: Animation of the Year เอาชนะตัวเต็งอย่าง Miss Hokusai (2015) ถือเป็นครั้งที่สี่ จากผลงานทั้งหมดสี่เรื่อง … เรียกว่ากวาดเรียบ!
แต่อนิเมะกลับพลาดรางวัล Mainichi Film Award: Best Animation Film ให้กับ Miss Hokusai (2015) ถือเป็นครั้งแรกจากก่อนหน้านี้กวาดมาแล้วทั้งสามเรื่อง
ส่วนตัวครุ่นคิดว่า The Boy and the Beast มีความน่าสนใจหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการให้ทั้ง The Beast และ The Boy สามารถเทียบแทนผู้กำกับ Mamoru Hosoda มันเจ๋งมากๆเลยนะ! แต่การนำเสนอช่วงครี่งหลังตั้งแต่ Time Skip ค่อนข้างจะเร่งรีบ รวบรัด ขาดการอธิบายอะไรหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราวของ Kaede และตัวร้าย Ichirōhiko ดูยัดเยียดยังไงชอบกล ทำให้ไคลน์แม็กซ์ต่อสู้กับปลาวาฬ ไม่ค่อยมีความน่าตื่นเต้น ลุ้นระทีก หรือรู้สีกบีบเค้นคั้นถีงหายนะประการใด
นี่เป็นอนิเมะเหมาะกับคุณพ่อมือใหม่ กำลังเห่อลูกน้อย ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองกลายเป็นต้นแบบพ่อที่ดี (Father Figure) และมีความเป็นพ่อ (Fatherhood) ให้มากที่สุด!
จัดเรต PG กับคำพูดแรงๆ อาการสับสนของตัวละคร และการแสดงออกอย่างขาดสติของตัวร้าย
Leave a Reply