
Late Chrysanthemums (1954)
: Mikio Naruse ♥♥♥♥
ดอกเบญจมาศที่เคยเบ่งบาน มาวันนี้ร่วงโรยตามกาลเวลา, เรื่องราวของสี่เกอิชาสูงวัย ในอดีตเคยเบ่งบานสะพรั่ง ได้รับการเด็ดดอม หอมดม แต่พออายุมากขึ้นก็ร่วงโรยตามสังขาร ทำได้เพียงพร่ำเพ้อโหยหา วันวานยังหวานอยู่
菊 อ่านว่า Kiku (หรือ Giku) แปลอังกฤษ Chrysanthemums, เบญจมาศ คือหนึ่งในสองดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่น (อีกดอกคือซากุระ) ถูกใช้เป็นตราประจำจักรพรรดิ ราชวงศ์ญี่ปุ่น … ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กลับใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเกอิชา หญิงขายบริการ
แต่หนังไม่ได้จะทำการดูถูกเหยียดหยามราชวงศ์ญี่ปุ่นนะครับ เพียงต้องการสะท้อนความเสื่อม โรยรา หลังความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) สิ่งต่างๆที่เคยเบ่งบานสะพรั่ง ปัจจุบันล้วนแห้งเหี่ยว ร่วงโรยรา กาลเวลาสำแดงธาตุแท้ของบุคคลนั้นๆออกมา
Late Chrysanthemums (1954) อาจไม่ได้มีลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์โดดเด่น แต่ทีมนักแสดงอันยอดเยี่ยม และเรื่องราวที่ทำการผสมผสานสามเรื่องสั้นของ Fumiko Hayashi คลุกเคล้าเข้ากันโดยนักเขียนหญิง Sumie Tanaka ทำออกมาได้อย่างลงตัว กลมกล่อม … ไม่ใช่หนัง Feminist แต่นำเสนอบทบาทสตรีเพศในญี่ปุ่นหลังสงครามได้เป็นอย่างดี
Late Chrysanthemums is a masterpiece of narrative construction, yet paradoxically many of the things that register most indelibly aren’t essential to the story.
Jonathan Rosenbaum
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งการมาถึงของ Repast (1951) ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของนักเขียนหญิง Fumiko Hayashi (1903-51) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับ และกวาดรางวัลในญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน
เกร็ด: ผกก. Naruse ดัดแปลงบทประพันธ์ของ Fumiko Hayashi ทั้งหมด 6 ครั้ง ประกอบด้วย Repast (1951), Lightning (1952), Wife (1953), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955) และ A Wanderer’s Notebook (1962)
สำหรับ 晩菊 อ่านว่า Bangiku แปลอังกฤษ Late Chrysanthemums ดัดแปลงจาก 3 เรื่องสั้นของ Hayashi เขียนขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วย
- Late Chrysanthemum (1948), เรื่องราวของอดีตเกอิชา O-Kin วัย 58 ปี ทำงานปล่อยเงินกู้นอกระบบ วันหนึ่งได้รับการติดต่อจากอดีตคนรักหนุ่ม Tabe ถูกเกณฑ์ทหารเข้าร่วมสงคราม Asia-Pacific War (1941-45) พยายามแต่งหน้าทำผม ทำตัวเองให้ดูสวยสาวที่สุด แต่ทว่าพอพบเจอเขา กลับกลายเป็นขี้เมา สูญเสียความหล่อเหลา แถมยังจะขอหยิบยืมเงิน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจเผารูปถ่ายเคยเก็บเอาไว้
- シロサギ, Shirosagi (1949)
- 水仙, Suisen ชื่ออังกฤษ Narcissus (1949), เรื่องราวของ Tamae และบุตรชายที่เลี้ยงดูแลมาจนเติบใหญ่ กำลังจะย้ายออกจากบ้าน เตรียมตัวไปทำงาน Hokkaido พอหลงเหลือตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ
ในส่วนของการดัดแปลงบท คงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าผู้หญิงด้วยกันเอง Sumie Tanaka, 田中澄江 (1908-2000) ร่วมงานขาประจำผกก. Naruse ตั้งแต่ Repast (1951), Lightning (1952), Late Chrysanthemums (1954), Flowing (1956), A Wanderer’s Notebook (1962)
Late Chrysanthemums (1954) นำเสนอเรื่องราวของอดีตเกอิชาสี่คน ปัจจุบันอายุมากแล้ว เกษียณตัวจากการทำงาน แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันเป็นประจำ
- O-Kin (รับบทโดย Haruko Sugimura) กลายเป็นเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ อาศัยอยู่กับคนรับใช้หญิงใบ้ ไม่แต่งงาน ไม่มีบุตร วันๆเอาแต่นั่งนับเงิน เดินทางไปทวงหนี้ เก็บหอมรอมริดเพื่อเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์
- Tamae (รับบทโดย Chikako Hosokawa) ร่างกายอิดๆออดๆ ล้มป่วยไมเกรน ทำงานเป็นพนักงานโรงแรม เลี้ยงดูแลบุตรชายจนเติบใหญ่ แต่ไม่ชอบที่เขามีความสัมพันธ์กับหญิงสูงวัย และกำลังจะเดินทางไปทำงาน Hokkaido
- O-Tomi (รับบทโดย Yūko Mochizuki) เป็นคนปากอย่างใจอยาก พูดกับคนหนึ่งอย่างหนึ่ง พูดกับอีกคนอย่างหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นเกอิชาอันดับหนึ่ง แต่ไม่เคยเก็บหอมรอมริด หมดสิ้นไปกับการพนัน พยายามโน้มน้าวไม่ให้บุตรสาวแต่งงานกับชายสูงวัย (บุตรสาวก็เลยเก็บข้าวของ หนีออกจากบ้าน)
- Nobu (รับบทโดย Sadako Sawamura) กู้หนี้ยืมสิน O-Kin มาเปิดกิจการร้านอาหารร่วมกับสามี กลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของผู้คน
Haruko Sugimura, 杉村 春子 (1909-97) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nishi-ku, Hiroshima สูญเสียบิดา-มารดาตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวบุญธรรม มีความชื่นชอบการละคอน Kabuki, Bunraku, บัลเล่ต์, อุปรากร ฯ น่าเสียดายไม่สามารถสอบเข้า Tokyo Music School (ปัจจุบันคือ Tokyo University of the Arts) จึงเข้าร่วมคณะการแสดง Tsukiji Shōgekijō (Tsukiji Little Theatre), ต่อด้วยคณะ Bungakuza, ภาพยนตร์เรื่องแรก Namiko (1932), แจ้งเกิดกับ Morning for the Osone Family (1946), Late Spring (1949), ผลงานเด่นๆ อาทิ Repast (1951), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Late Chrysanthemums (1954), An Inlet of Muddy Water (1953), A Last Note (1995) ฯ
รับบท O-Kin อดีตเกอิชารุ่นน้อง เคยมีวีรกรรมบอกปฏิเสธลูกค้า จนเกือบถูกฆาตกรรม นั่นอาจคือเหตุผลให้เธอเต็มไปด้วยอคติต่อบุรุษเพศ ปฏิเสธแต่งงาน เลือกพึ่งพาตนเอง เก็บหอมรอมริด สนเพียงเงินๆทองๆ กลายเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ มีความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เว้นแม้แต่รุ่นพี่เกอิชาด้วยกันเอง
ภาพจำของ Sugimura คือผู้หญิงสูงวัย ปากจัด นิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงตนเอง ไม่ชอบการแบ่งปัน ปฏิเสธพึ่งพาอาศัยใคร เอาจริงๆบทบาทของเธอไม่ใช่ตัวร้าย แต่พฤติกรรมเหล่านั้นล้วนทำให้ใครต่อใครรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ จนกระทั่ง Late Chrysanthemums (1954) ไม่รู้ครั้งแรกเลยรึเปล่านำเสนออีกด้านหนึ่งของตัวละคร โหยหา เฝ้ารอคอยการหวนกลับมาของชายในฝัน เต็มไปด้วยความระริกระรี้ ดีอกดีใจ สำแดงความอ่อนไหว ก่อนทุกสิ่งอย่างพังทลาย ฝันสลาย บางคนอาจเกิดความสงสารเห็นใจ
ผมยังไม่มีโอกาสรับชมผลงานสวอนซอง A Last Note (1995) แต่ทว่า Late Chrysanthemums (1954) ถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติต่อทั้งตัวละครและการแสดงของ Sugimura หนึ่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด!
Yūko Mochizuki, 望月優子 (1917-77) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo, ยังไม่ทันเรียนจบมัธยม ออกมาเข้าร่วมคณะการแสดง Shinjuku Moulin Rouge ตามด้วย Shinsei Shinpa, ช่วงหลังสงครามเซ็นสัญญาสตูดิโอ Shōchiku เริ่มมีชื่อเสียงจาก A Japanese Tragedy (1953), Late Chrysanthemums (1954), ผลงานเด่นๆ The Rice People (1957), The Ballad of Narayama (1958), Ballad of the Cart (1959) ฯ
รับบท O-Tomi อดีตเกอิชาอันดับหนึ่ง รุ่นพี่ของ O-Kin เป็นผู้ดูแล แนะนำโน่นนี่นั่น ทั้งยังเคยให้หยิบยืมเงิน ด้วยเหตุนี้เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เธอจึงปฏิเสธกู้หนี้ยืมสิน (เพราะ O-Kin ไม่เคยใช้คืนเงินที่หยิบยืม) วันๆไม่เห็นทำการทำงาน จับจ่ายใช้สอยกับการพนัน แบมือขอเงินบุตรสาว จน(บุตรสาว)ขนข้าวของหนีออกจากบ้าน อาศัยอยู่กับ Tamae ดื่มสุรามึนเมามาย หวนระลึกความหลัง วันวานยังหวานอยู่
แม้อายุอานามจะเข้าสู่วัยชรา แต่ทว่าการแสดงของ Mochizuki ต้องถือว่าเต็มไปด้วยสีสัน แก่นแก้ว คึกคะนองเหมือนวัยรุ่น เคยให้บุตรสาวเรียกตนเองว่าพี่สาว เวลาพูดคุยกับใครก็ชอบวางมาด เต๊ะท่า อวดเก่ง ลับหลังอยู่กับ Tamae ถึงสำแดงธาตุแท้ ปากอย่างใจอย่าง พูดกับคนหนึ่งอย่างหนึ่ง พูดกับอีกคนอย่างหนึ่ง
ผมไม่ค่อยคุ้นกับ Mochizuki แต่การแสดงของเธอถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง โดดเด่นไม่ด้อยไปกว่า Sugimura เห็นว่าสามารถคว้ารางวัล Blue Ribbon Award: Best Supporting Actress คงได้เดินสะบัดท่า Marilyn Monroe สมใจอยาก
Chikako Hosokawa, 細川ちか子 (1905-76) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo หลังเรียนจบเข้าร่วมคณะการแสดง Tsukiji Shōgekijō (Tsukiji Little Theatre) ก่อนย้ายมา Shinjuku Theater Company แล้วร่วมก่อตั้ง Shinkyo Theater Company, จากนั้นเซ็นสัญญากับ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) ผลงานเด่นๆ อาทิ Three Sisters with Maiden Hearts (1935), Wife! Be Like a Rose! (1935), Late Chrysanthemums (1954) ฯ
รับบท Tamae พนักงานโรงงานโรงแรม อาศัยอยู่กับบุตรชาย ทั้งรักทั้งหึงหวง รับไม่ได้ที่กลายเป็นแมงดา เกาะกินผู้หญิงสูงวัยกว่า (มันย้อนกลับเข้าหาตนเองตอนเป็นเกอิชา) ทำปากเก่งเมื่อเขาบอกว่าจะไปทำงาน Hokkaido ลับหลังเมื่อนั่งดื่มกับ O-Tomi รำพันความเศร้าโศกเสียใจ แล้วฉันจะทำอะไรยังไงต่อไป
ภาพลักษณ์ของ Hosokawa ดูอ่อนแอ เปราะบาง การเคลื่อนไหวก็เอื่อยเฉื่อย ท่าทางเหนื่อยอ่อนล้า (จากอาการป่วย) แต่เธอกลับพยายามทำตัวเข้มแข็งต่อหน้าบุตรชาย ชอบพูดคำเสียดสีถากถาง เหมือนคนไม่ยี่หร่าอะไร ถึงอย่างนั้นกลับเต็มไปด้วยความหึงหวง ห่วงใย ไม่อยากให้เขาทอดทิ้งจากไป เกิดความเวิ้งว้างว่างเปล่าเมื่อต้องสูญเสียเขาไป
การแสดงของ Hosokawa ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อยกว่า Sugimura หรือ Mochizuki มีทั้งด้านเข้มแข็ง มุมอ่อนแอ และโดยเฉพาะความลุ่มหลงตนเอง (Narcissus) ครุ่นคิดว่าบุตรคือ(สิ่ง)ของฉัน เลี้ยงดูแลมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ แต่มันใกล้ถึงวันที่เขาต้องร่ำลาจากไปตามเส้นทางชีวิตของตนเอง นั่นทำให้มารดา(และผู้ชม)รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ
ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, 玉井正夫 (1908-97) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsuyama ยังไม่ทันเรียนจบเข้าฝึกงานสตูดิโอ Teikoku Kinema Geijutsu ก่อนย้ายมา Ichikawa Utaemon Production จากนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Japanese Society Of Cinematographers (JSC) พอมาปักหลักอยู่ P.C.L./Toho กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Beyond Love and Hate (1951), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Summer Clouds (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่น Godzilla (1954), Happiness of Us Alone (1961) ฯ
งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์โดดเด่น เกินกว่า 90% คือการพูดคุยสนทนาภายในบ้าน/ร้านอาหาร ตัดสลับกลับไปกลับมา (ระหว่างคู่สนทนา) ละเล่นกับทิศทาง มุมกล้อง จัดวางองค์ประกอบ ระยะภาพไกล-กลาง-ใกล้ และมักไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว
วันก่อนผมเพิ่งรับชม Sound of the Mountain (1954) เพลิดเพลินกับภาพทิวทัศน์ ขุนเขา มักปรากฎแทรกคั่นระหว่างฉาก, ตรงกันข้ามกับ Late Chrysanthemums (1954) แทบทั้งหมดถ่ายทำภายใน ส่วนฉากภายนอกพบเห็นเฉพาะระหว่างเดินทางไปยังบ้านคนโน้นนี่นั่น รายล้อมรอบด้วยตึกรามบ้านช่อง ไร้ซึ่งทิวทัศน์ช่วยสร้างความผ่อนคลาย
แต่ยกเว้นซีเควนซ์สุดท้าย อาจต้องเรียกว่าตาม ‘สไตล์ Naruse’ หลังผ่านเรื่องราวอันตึงเครียด เก็บกดดัน มักเลือกสถานที่ถ่ายทำที่เปิดกว้าง มองเห็นทิวทัศน์ห่างไกล เพื่อสื่อถึงการปลดปล่อย(ทางจิตวิญญาณ) ได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกห้อมล้อม พันธนาการเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป
ตัดต่อโดย Eiji Ooi, แต่ขึ้นชื่อในเครดิต Hideji Ooi, 大井英史 ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse ตั้งแต่ Wife (1953) จนถึง Scattered Clouds (1967)
แม้เรื่องราวของหนังจะเริ่มต้นที่ O-Kin แต่การดำเนินเรื่องจะมีการตัดสลับกลับไปกลับมากับ O-Tomi, Tamae (และนานๆครั้ง Nobu) เวียนวนอยู่กับอดีตเกอิชาทั้งสี่ ต่างมีปัญหาวุ่นๆวายๆด้านการเงิน ชีวิตครอบครัว และยังคงคร่ำครวญโหยหาอดีต ครุ่นคิดถึงวันวานยังหวานอยู่
การจะแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ ทำได้ยากทีเดียว เพราะการดำเนินเรื่องตัดสลับกลับไปกลับมาของสี่ตัวละคร ผมเลยขอแบ่งออกเป็นตอนๆ (Episodic) โดยยึดตามที่ระบุไว้ในแผ่น DVD ก็แล้วกัน
- O-Kin: The New Economy
- Opening Credit
- O-Kin จ่ายเงินสำหรับลงทุนอสังหาริมทรัพย์
- O-Kin เดินทางมาร้านอาหารของ Nobu เพื่อทวงหนี้สิน
- Tamae: Mother and Son
- O-Kin เดินทางมา Akane Hotel เพื่อทวงหนี้ Tamae ก่อนพบว่าล้มป่วยไม่ได้มาทำงาน
- O-Kin เดินทางมาหา O-Tomi ชวนคุยตามประสา ก่อนสอบถามถึงอาการป่วยของ Tamae
- O-Kin เดินทางมาบ้านของ Tamae เพื่อทวงหนี้ แต่ไม่มีเงินจ่ายเพราะล้มป่วย นอนซมซาน
- การสนทนาระหว่างแม่-ลูก Kiyoshi บอกว่าตนเองกลายเป็นแมงดา เกาะแก่งหญิงสูงวัยกว่า
- Tamae and O-Tomi
- O-Tomi แวะเวียนมาหา Tamae รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
- Seki มานั่งดื่มร้าน Nobu ชวนคุย สอบถามถึง O-Kin
- Sachiko, a Modern Daughter
- O-Tomi เดินทางมาหาบุตรสาว Sachiko เพื่อขอหยิบยืมเงิน
- ระหว่างบุตรกำลังเลี้ยงอาหาร พูดบอกว่ากำลังจะแต่งงานกับชายสูงวัย
- O-Tomi เดินทางไปเยี่ยมเยียน O-Kin ชวนคุยระลึกความหลัง
- Kiyoshi’s Employment Options
- ณ โรงแรม Akane, Kiyoshi พูดบอกกับมารดา Tamae ถึงงานที่ Hokkaido
- O-Tomi เอาเสื้อคลุมไปขายต่อ แล้วนำเงินมานั่งดื่มร้านของ Nobu และได้พบเจอกับ Seki
- Two Old Lovers
- O-Kin ได้รับจดหมายจากชายคนรักเก่า เฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจต่อ
- แต่เช้าวันถัดมากลับพบเจอ Seki มาขอหยิบยืมเงิน
- O-Kin เดินทางมาทวงหนี้ Tamae วันนี้มีเงินจ่าย แต่ขณะเดียวกันพบเห็น Sachiko เก็บข้าวของ หนีออกจากบ้านไปแต่งงาน (โดยไม่บอกกล่าวมารดา)
- Kiyoshi กับแฟนสาวนั่งดื่มที่ร้านของ Nobu
- The Old Flame Return
- คนรักเก่า Tabe เดินทางมาเยี่ยมเยียน O-Kin พร่ำเพ้อถึงความหลัง
- Getting Drunk
- Tamae นั่งดื่มกับ O-Tomi
- หลังจาก O-Kin เล่นดนตรี Shamisen ถามไถ่จนรับรู้จุดประสงค์แท้จริงของ Tabe
- A Restless Night
- Tamae กับ O-Tomi หลับๆตื่นๆ ต่างนอนไม่ค่อยหลับ
- Tabe เมาเกินกว่าจะกลับบ้าน เลยต้องพักค้างแรมที่บ้านของ O-Kin
- Left Alone
- เช้าวันใหม่ Tabe ลาจากไป
- O-Kin จ่ายเงินลงทุนที่ดินซื้อใหม่
- Tamae & O-Tomi รอคอยรถไฟร่วมกับบุตรชาย Kiyoshi
- Tamae & O-Tomi ระหว่างทางกลับเลียนแบบท่าเดิน Marilyn Monroe
- O-Kin ค้นหาตั๋วโดยสาร เพื่อจะเดินทางไปดูที่ดินซื้อไว้
เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō, 斎藤一郎 (1909-1979) นักไวโอลิน แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba ร่ำเรียนไวโอลินและแต่งเพลงจาก National Music School จากนั้นกลายเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Mother (1952), Lightning (1952), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Yearning (1964), ผลงานเด่นอื่นๆ The Flavor of Green Tea over Rice (1952), The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), A Geisha (1953) ฯ
งานเพลงในหนังของผกก. Naruse ล้วนเป็นบทเพลงคลาสสิก (นอกเสียจากฉากบรรเลง Shamisen โดย Haruko Sugimura) บรรเลงโดยเครื่องดนตรีตะวันตก เพื่อเป็นตัวแทนการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ ภาพยนตร์คือสื่อร่วมสมัย, Opening Credit เริ่มต้นด้วยความระยิบระยับ อดีตที่แสนงดงาม ดอกเบญจมาศเบ่งบาน แต่กาลเวลาทำให้ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยน ดอกไม้แห้งเหี่ยวเฉา ร่วงโรยรา สังขารก็เช่นเดียวกัน หลงเหลือเพียงความระทม ขืนข่ม และความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ
Late Chrysanthemums (1954) ร้อยเรียงเรื่องราวของอดีตเกอิชา ออกจากวงการตามสังขารโรยรา บางคนประสบความสำเร็จกับชีวิตหลังเกษียณ ร่ำรวยเงินทอง กินหรูอยู่สบาย, บางคนต้องต่อสู้ดิ้นรน หาเงินหาทองมาชดใช้หนี้สิน, บางคนลุ่มหลงระเริง ปล่อยตัวปล่อยใจ ครุ่นคิดว่าตนเองยังเป็นสาวอยู่ … แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเหมือนกัน คือต่างถวิลหา ครุ่นคิดถึงช่วงเวลา ความทรงจำจากอดีต
- O-Kin จากรุ่นน้องที่เคยอ่อนน้อมถ่อมตน ประสบการณ์เฉียดตายทำให้ตระหนักว่าผู้ชายพึ่งพาไม่ได้ จึงเริ่มเก็บหอมรอมริด กลายเป็นเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ไม่แต่งงาน ไม่มีบุตร เงินเท่านั้นคือสิ่งมั่นคง ทำให้ชีวิตสุขสบายในบั้นปลาย
- Tamae ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ แต่ยังต้องทำงานหาเงินมาใช้หนี้สิน ครุ่นคิดว่าพอแก่ตัวจะสามารถพึ่งพาบุตรชาย แต่เพราะความหึงหวง เห็นแก่ตัวเอง ท้ายที่สุดเขาจึงเดินทางไปทำงานห่างไกล
- O-Tomi ยังคงใช้ชีวิตอย่างหลงระเริง อดีตเคยเป็นเกอิชาอันดับหนึ่ง เลยไม่เคยเก็บหอมรอมริด หมดสิ้นไปกับการพนัน แบมือขอเงินบุตรสาวบ่อยครั้ง (บุตรสาว)ก็เลยเก็บข้าวของ หนีออกจากบ้าน
- Nobu แม้กู้หนี้ยืมสิน O-Kin มาเปิดกิจการร้านอาหาร แต่ถือว่ามีความมั่นคงระดับหนึ่ง ค้นพบเส้นทางชีวิตตนเอง สามารถคาดหวังอนาคตจักประสบความสำเร็จ
ชีวิตของเกอิชา ไม่ด้วยสวยหรู สุขสบายอย่างที่ใครๆ(สมัยนั้น)ครุ่นคิดเข้าใจ ตอนพวกเธอยังสวยสาว ได้รับความรัก ความเอ็นดู บุรุษมากมายพร้อมปรนเปรอนิบัติ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน ผิวหนังแห้งเหี่ยว เต็มไปด้วยริ้วรอยตีนกา มองหน้าก็หมดอารมณ์ ไร้งานไร้เงิน ก็จำต้องปลดเกษียณ เปลี่ยนหาหนทางรอดอื่น
คนสมัยนั้นไม่ค่อยรู้จักคุณค่าของเงินนัก ได้มาง่ายก็ใช้ไปง่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดถึงบั้นปลายชีวิต สนเพียงความสุขเฉพาะหน้า อนาคตจะเป็นยังไงค่อยว่ากันอีกที, แต่ถ้าเรามองในมุมกลับกัน อิสรภาพชีวิตคือการไม่หมกมุ่นยึดติดกับเงินๆทองๆ แค่เพียงสิ่งของนอกกาย ได้มาเสียไป ทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง … อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองของคุณเองว่าจะเห็นค่าของเงิน (O-Kin & Nobu) หรืออิสรภาพชีวิตสำคัญกว่า (Tamae & O-Tomi) หรือมองหาสมดุลระหว่างกึ่งกลาง แบบไหนล้วนไม่มีถูก-ไม่มีผิดนะครับ
ทุกตัวละครในหนัง (รวมถึงตัวละครผู้ชายอย่าง Tabe, Seki) ล้วนถูกนำเสนอด้วยเรื่องราวอดีต-ปัจจุบัน ซึ่งสามารถสะท้อนถึงประเทศญี่ปุ่นก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Pre & Post War) หลายปีก่อนชีวิตช่างสุขกระสันต์ ดอกเบญจมาศเบ่งบานสะพรั่ง แต่ความพ่ายแพ้สงครามส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย-จิตใจ ปัจจุบันใครๆล้วนแห้งเหี่ยวโรยรา หมดสูญสิ้นราคา ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนไป
ขณะที่คนหนุ่มสาว (Kiyoshi & Sachiko) ตัวแทนญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ เมื่อเติบใหญ่ล้วนมีมุมมองทัศนคติแตกต่างจากคนรุ่นก่อน กล้าพูด กล้าตัดสินใจ กล้าทำอะไรใหม่ๆ โหยหาอิสรภาพ นั่นกระมังคืออนาคตสดใส … แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการทอดทิ้งผู้สูงวัยไว้เบื้องหลัง (เหมือนการหลงลืมตั๋วโดยสารของ O-Kin) ให้ต้องหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง
ผลงานของผกก. Naruse ในยุคหลังสงคราม (Post-War) ล้วนมีใจความคล้ายๆคลึงกัน เต็มไปด้วยการเพ้อรำพัน ใฝ่ฝัน ถวิลหาอดีต ด้วยอายุอานามเพิ่มมากขึ้น ยากยิ่งนักจะปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนแปลงไป … สิ่งใดๆในโลกล้วนไม่จีรังยั่งยืน อนิจจัง ทุกขัง ทำได้เพียงอนัตตา
เมื่อตอนออกฉาย หนังได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม #ติดอันดับ 7 ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Kinema Junpo แต่ก็มีผู้ชม/นักวิจารณ์พร่ำบ่นว่าหนังขาด ‘psychological depth’ เมื่อเทียบกับต้นฉบับเรื่องสั้นทั้งสาม
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ พบเห็นเพียง DVD ของค่าย BFI จัดจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2007 รวบรวมอยู๋ใน Boxset ชื่อว่า Mikio Naruse Collection ประกอบด้วย Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955) และ When a Woman Ascends the Stairs (1960)
หนังอาจไม่มีเหตุการณ์ที่เกินคาดหมาย สร้างความตื่นตาตื่นใจ หรือลูกเล่นภาพยนตร์น่าหลงใหล แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำเพ้อรำพัน อดีตแสนหวานหลงเหลือเพียงความทรงจำ พร่ำบ่นถึงปัจจุบันที่ทุกสิ่งอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไป จิตใจคนก็เฉกเช่นกัน
เอาจริงๆผมอยากจัดเข้ากลุ่ม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะกับผู้ชมสูงวัย 35+ ปีขึ้นไป คือต้องพานผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง ถึงเริ่มพบเห็นคุณค่า รับรู้กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ถวิลหาอดีต วันวานยังหวานอยู่
จัดเรต pg กับอดีตเกอิชา พฤติกรรมเห็นแก่เงิน ดื่มสุราเมามาย
Leave a Reply