
Sound of the Mountain (1954)
: Mikio Naruse ♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนวนิยายเสียงแห่งขุนเขา ผลงานของ Yasunari Kawabata นักเขียนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม, เรื่องราวของบิดาสูงวัยใกล้ฝั่ง พบเห็นรอยแตกร้าวในครอบครัว บุตรชายคบชู้นอกใจภรรยา บุตรสาวใกล้เลิกราหย่าร้างสามี เขาทำอะไรไม่ได้นอกจากทอดถอนลมหายใจ
แม้เรื่องราวจะนำเสนอปัญหาครอบครัววุ่นๆวายๆ แต่มันสามารถสะท้อนผลกระทบจากสงครามโลกครั้งสอง (Post-War) ความพ่ายแพ้ทำให้ตกเป็นเมืองขึ้นสหรัฐอเมริกา คนหนุ่มสาวซึมซับแนวคิด-ค่านิยม-วัฒนธรรมตะวันตก ค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ วิถีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น
ผกก. Naruse แม้เป็นคนหัวก้าวหน้า เคยหย่าร้างภรรยา แต่ก็โหยหาชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ พ่อ-แม่-ลูกอาศัยอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า นั่นคือความขัดย้อนแย้งที่ไร้หนทางออก ไม่สามารถสำแดงปฏิกิริยาโต้ตอบ เพียงทำใจ และทอดถอนลมหายใจ
เกร็ด: หนังสือชีวประวัติ The Cinema of Naruse Mikio (2008) ของ Catherine Russell มีการระบุว่า Sound of the Mountain (1954) คือภาพยนตร์ที่ผกก. Naruse มีความชื่นชอบโปรดปรานมากที่สุดในบรรดาผลงานของตนเอง
ส่วนตัวมีความคาดหวังอย่างสูงลิบ! จากสารพัดคำโปรยที่ว่ากล่าวมา ระหว่างรับชมก็ครุ่นคิดว่าหนังทำออกมาดี เรื่องราวค่อนข้างซับซ้อน นำเสนอผ่านมุมมองบิดาสูงวัย เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานใจ แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากผมอ่านเรื่องย่อต้นฉบับนวนิยาย โอ้โห! มันมีความหาญกล้า ซับซ้อนกว่าหลายเท่าตัว และสิ่งสร้างความตกตะลึง เพิ่งเอะใจ ‘เสียงแห่งขุนเขา’ มันคือเสียงอะไร? หนังไม่มีการอธิบายใดๆ เหมือนผกก. Naruse หลงลืม? ไม่ได้ยิน?
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Yasunari Kawabata, 川端 康成 (1899-1972) นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Literature เมื่อปี ค.ศ. 1968 เกิดที่ Kita-ku, Osaka ในครอบครัวฐานะมั่นคง แต่สูญเสียบิดา-มารดาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่กับปู่-ย่า ลุง-ป้า แต่ทุกคนต่างล้มหายตายจากตอนเขาอายุ 15, โตขึ้นสามารถสอบเข้าเรียนมนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ Tokyo Imperial University ค้นพบความชื่นชอบผลงานของ Rabindranath Tagore
ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ร่วมกับผองเพื่อนรื้อฟื้นนิตยสาร Shin-shichō (New Tide of Thought) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตีพิมพ์บทความ เรื่องสั้น หลังเรียนจบได้เข้าทำงานยัง Bungei Sunju (The Artistic Age) เริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่องสั้น The Dancing Girl of Izu (1926), พัฒนาบทหนัง A Page of Madness (1926), นวนิยายเด่นๆ อาทิ Snow Country (1934), Thousand Cranes (1949-51), The Sound of the Mountain (1949-54), The Master of Go (1951), The House of the Sleeping Beauties (1961), The Old Capital (1962) ฯ
(เรื่องที่ทำตัวหนา คือเรื่องที่ได้รับการพิจาณาจากคณะกรรมการ Nobel Committee ให้คว้ารางวัล Nobel Prize in Literature)
สำหรับ 山の音 อ่านว่า Yama no oto ใช้ชื่ออังกฤษ The Sound of the Mountain โดยมีพื้นหลัง Kamakura (บ้านหลังปัจจุบันของ Kawabata) นำเสนอสารพัดปัญหาครอบครัว อันเกิดจากผลกระทบ/ความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) ตีพิมพ์ระหว่าง 1949-54 (แยกตีพิมพ์หลายนิตยสาร) ก่อนรวมเล่มจัดจำหน่าย ค.ศ. 1954
เรื่องราวของชายสูงวัยใกล้เกษียณ ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ บ่อยครั้งหูแว่ว เกิดความหวาดกลัว ‘เสียงจากขุนเขา’ ครุ่นคิดว่านั่นคือสัญญาณความตาย เวลาหลับนอนมักฝัน(เปียก)ถึงลูกสะใภ้ เลยมอบความรักความเอ็นดูให้มากกว่าลูกๆของตนเอง ต่อมาค้นว่าบุตรชายแอบคบชู้นอกใจภรรยา สานสัมพันธ์หญิงอื่นจนตั้งครรภ์ ขณะที่บุตรสาวก็มีปัญหากับสามี หนีกลับมาบ้านพร้อมหลานๆ ไม่รู้จะแก้ปัญหาครอบครัวยังไง เลยทำได้เพียงทอดถอนลมหายใจ
เกร็ด: นวนิยาย The Sound of the Mountain ได้รับรางวัล Noma Literary Prize (จัดโดย Noma Cultural Foundation มูลนิธิในเครือ Kodansha) และเมื่อปี ค.ศ. 2002 ได้รับเลือกจาก Bokklubben World Library (ของประเทศ Norway) ติดอันดับ 100 Greatest Works of World Literature
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งการมาถึงของ Repast (1951), Lightning (1952) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับ และกวาดรางวัลในญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน
สำหรับ Sound of the Mountain (1954) ผกก. Naruse มอบหมายให้นักเขียนหญิง Yoko Mizuki (1910-2003) ทำการดัดแปลงบทภาพยนตร์ มีการปรับแก้ไขรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ตัดทิ้งประเด็นล่อแหลม (อย่างความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับลูกสะใภ้) นำเสนอผ่านมุมมองชายสูงวัย (ทำให้ไม่เห็นเบื้องหลังตัวละครอื่นๆ) และตอนจบที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง … คงเพื่อให้อนุมัติผ่านกองเซนเซอร์ กระมังนะ!
(ผมไม่เคยอ่านต้นฉบับนวนิยาย แต่เท่าที่อ่านจากเรื่องย่อค้นพบว่านักเขียน Kawabata มีความหาญกล้า นำเสนอเรื่องราวที่ซับซ้อน รุนแรง และสุดโต่งกว่าฉบับภาพยนตร์หลายเท่าตัวมากๆ ฉบับภาษาไทยแปลโดย อมราวดี)
เรื่องราวของชายวัยชรา Shingo Ogata (รับบทโดย Sō Yamamura) แทนที่บั้นปลายจักได้มีชีวิตสงบสุข กลับประสบปัญหาครอบครัวที่ไม่รู้จะแก้ไขอะไรยังไง?
- บุตรชาย Shuichi (รับบทโดย Ken Uehara) แอบคบชู้นอกใจภรรยา Kikuko (รับบทโดย Setsuko Hara) กลับบ้านดึกดื่น ไม่เคยสนใจใยดีครอบครัว แถมยังทำเธอคนนั้นตั้งครรภ์
- บุตรสาว Fusako (รับบทโดย Chieko Nakakita) มีปัญหากับสามี จึงพาลูกๆกลับมาบ้าน พร่ำบ่นว่าบิดาไม่เคยดูแลเอาใจใส่ เทียบไม่ได้กับลูกสะใภ้ แถมเลือกคู่ครองไม่ดีให้อีกต่างหาก
สารพัดปัญหารุมเร้าจน Shingo ไม่รู้จะแก้ปัญหาอะไรยังไง จึงจำต้องขอให้ Kikuko หย่าร้างบุตรชาย อะไรที่มันผิดพลาด ก็ปล่อยให้เลยผ่านไป ทำได้เพียงเริ่มต้นชีวิตใหม่ ท้องฟ้าสดใส
Sō Yamamura หรือ Satoshi Yamamura ชื่อจริง Koga Hirosada, 古賀 寛定 (1910-2000) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tenri ได้รับการค้นพบโดย Kenji Mizoguchi มีผลงาน The Love of the Actress Sumako (1947), Portrait of Madame Yuki (1950), The Lady of Musashino (1951), Princess Yang Kwei Fei (1955), ร่วมงานกับ Ozu ตั้งแต่ The Munekata Sisters (1950), Tokyo Story (1953), Early Spring (1956), Tokyo Twilight (1957), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sound of the Mountain (1954), Akitsu Springs (1962), Tora! Tora! Tora! (1970) ฯ
รับบท Shingo Ogata นักธุรกิจสูงวัยใกล้เกษียณ เริ่มรู้สึกได้ว่าร่างกายอิดๆออดๆ ทำอะไรๆเชื่องชักช้า ยังคงโหยหาอดีตคนรัก (พี่สาวของภรรยาที่พลันด่วนเสียชีวิต เลยแต่งงานกับน้องสาวแทน) เอ็นดูรักใคร่ลูกสะใภ้ Kikuko แต่ไม่รู้จะทำอะไรยังไงกับบุตรชาย Shuichi แอบคบชู้นอกใจภรรยา และบุตรสาว Fusako พาลูกๆกลับมาบ้าน ต้องการเลิกราหย่าร้างสามี
จากบทบาทพี่ชายคนโต Tokyo Story (1953) แต่งหน้าย้อมสีผมจนกลายเป็นชายสูงวัย เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ขยับเคลื่อนไหวอย่างเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้า ขาดความกระตือรือล้น ในตอนแรกไม่พยายามทำความใจปัญหาของลูกๆ จนกระทั่งรับรู้ว่า Kikuko ทำแท้งเพราะไม่ต้องการมีบุตรกับ Shuichi นั่นทำให้เขาเกิดความฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด พยายามควบคุมตัวเอง แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ปั่นป่วนคลุ้งคลั่งภายใน หลังจากนั้นลุกขึ้นมาเผชิญหน้า ช่วยหาหนทางแก้ปัญหา ถึงอย่างนั้นทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินเยียวยา
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าทำไมผกก. Naruse ถึงตัดสินใจเลือก Yamamura ที่อายุขณะนั้นแค่ 43-44 ปี รับบทตัวละครอายุย่าง 60+ ทั้งๆก็มีนักแสดงสูงวัยระดับตำนานอยู่หลาย Chishû Ryû, Takashi Shimura ฯ พวกเขาย่อมสามารถเล่นบทบาทลักษณะนี้ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
ถ้าให้คาดเดาก็อาจเพราะ Yamamura อายุไล่เลี่ยกับผกก. Naruse และ Yasunari Kawabata ตอนเขียนนวนิยายเล่มนี้ พวกเขาเคยพานผ่านสงคราม ประสบการณ์ชีวิตละม้ายคล้ายกัน เลยน่าจะเข้าใจตัวละครได้ดีกว่านักแสดงสูงวัยจริงๆ … กระมังนะ!
Setsuko Hara ชื่อจริง Masae Aida, 会田 昌江 (1920-2015) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของฉายา ‘the Eternal Virgin’ เกิดที่ Hodogaya-ku, Yokohama มีพี่น้อง 8 คน เมื่อพี่สาวคนโตแต่งงานผู้กำกับ Hisatora Kumagai กลายเป็นใบเบิกทางให้ตนเองวัย 15 ปี ลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญา Nikkatsu Studios แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Do Not Hesitate Young Folks! (1935), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Daughter of the Samurai (1937), ผลงานเด่นๆ อาทิ No Regrets for Our Youth (1946), A Ball at the Anjo House (1947), The Idiot (1951), Repast (1951), Sound of the Mountain (1954), ร่วมงานผู้กำกับ Ozu ทั้งหมดหกครั้ง Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Tokyo Twilight (1957), Late Autumn (1960) และ The End of Summer (1961)
รับบท Kikuko แต่งงานกับ Shichi ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ในบ้านสามี ก้มตาก้มตาทำงานบ้าน ปรนิบัติบิดา-มารดาฝ่ายชายเป็นอย่างดี แต่ความสุภาพเรียบร้อยเกินไป ทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย เริ่มกลับบ้านค่ำมืด ดื่มสุราเมามาย แอบคบชู้นอกใจ และเมื่อเธอตั้งครรภ์ เลือกทำแท้งเพราะไม่อยากมีภาระรับผิดชอบกับสามีเช่นนี้
หลังจาก Repast (1951) ทำให้ผมแอบคาดหวังว่าบทบาทของ Hara จะหลุดจากกรอบนางฟ้า แต่เกินกว่าครึ่งเรื่องเธอยังคงเป็นแม่คนดี ทำหน้าที่แม่ศรีเรือนได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนสร้างความเบื่อหน่าย เอือมระอา รับรู้สึกไม่ต่างจาก Shichi โหยหาความแตกต่าง บุคคลสามารถสร้างสีสัน ระริกระรี้ โสเภณีบนเตียง
ตั้งแต่หลังจากทำแท้ง เดินทางกลับบ้าน เพราะหนังนำเสนอผ่านมุมมองบิดา Shingo ผู้ชมจึงไม่มีโอกาสพบเห็นปฏิกิริยาอารมณ์ นั่นเป็นสิ่งโคตรๆน่าเสียดาย ผมอยากเห็นมากๆว่า Hara จะจัดการกับตัวละครอย่างไร แม้ช่วงท้ายหวนกลับมาร่ำไห้ บีบน้ำตา ก็เหลือเพียงความซาบซึ้ง เศร้าโศก และยิ้มรับวันใหม่
ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, 玉井正夫 (1908-97) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsuyama ยังไม่ทันเรียนจบเข้าฝึกงานสตูดิโอ Teikoku Kinema Geijutsu ก่อนย้ายมา Ichikawa Utaemon Production จากนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Japanese Society Of Cinematographers (JSC) พอมาปักหลักอยู่ P.C.L./Toho กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Beyond Love and Hate (1951), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Summer Clouds (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่น Godzilla (1954), Happiness of Us Alone (1961) ฯ
งานภาพตาม ‘สไตล์ Naruse’ มักเต็มไปด้วยบทสนทนา กล้องจึงไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว (แต่ก็มีบ้างระหว่างคุยไปเดินไป) ละเล่นกับพื้นที่ ช่องว่าง ระยะห่าง แสงสว่าง-เงามืด และสำหรับ Sound of the Mountain (1954) ยังเต็มไปด้วยทิวทัศน์ภูเขาสูงใหญ่ ห้อมล้อมรอบจากทุกทิศทาง
ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น ฉากภายในทั้งหมดล้วนถ่ายทำในสตูดิโอ Toho แต่ฉากภายนอก ท้องถนนหนทาง ทิวทัศน์ภูเขา และสวนสาธารณะช่วงท้าย ดูแล้วน่าจะเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง ณ Kamakura





ระหว่างทางกลับบ้าน Shingo ยืนเหม่อมองดอกทานตะวัน พร่ำเพ้อรำพันกับ Kikuko โหยหาช่วงเวลาตอนยังหนุ่มแน่น มีความสดใส ร่าเริง เบิกบาน (เหมือนดอกทานตะวัน) แต่พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ย่างสู่ความสูงวัย ชีวิตเต็มไปด้วยความปัญหามากมาย ครุ่นคิดอยากถอดศีรษะไปล้าง ทำความสะอาด ให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย … แต่ทว่าเรื่องราวของหนังกลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ สารพัดปัญหารุมเร้ารอบกาย
หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Naruse’ คือการเดินไปคุยไป เหนื่อยก็หยุดพักชมวิว จากนั้นเดินต่อคุยต่อ มันดำเนินผ่านช่องทางแคบๆ หรือมีบางสิ่งอย่างห้อมล้อม ผนังกำแพง ทิวทัศน์ธรรมชาติ เงาอาบฉาบในช่วงเวลาต่างๆ ฯ


ในค่ำคืนฝนตกหนักจนหลังคารั่วไหล ยุคสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลยต้องจุดเทียนไข หัวข้อการสนทนาระหว่าง(บิดา) Shingo กับ (มารดา) Yasuko กล่าวถึงมุมมืดที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจ อดีตเขาชื่นชอบพี่สาวของเธอ แต่ไม่รู้ล้มป่วยหรืออะไร เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เลยตัดสินใจแต่งงานกับ(น้องสาว) Yasuko ไม่ได้ด้วยความรัก แต่เพราะหน้าตาละม้ายคล้ายคลึง เลยมักปฏิบัติต่อเธออย่างเพิกเฉยเย็นชา
เกร็ด: ในนวนิยายมีการกล่าวเหตุผลที่ Shingo เอ็นดูรักใคร่ลูกสะใภ้ Kikuko เพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายอดีตคนรัก/พี่สาวของ Yasuko แต่หนังตัดประเด็นนั้นทิ้งไป และเนื่องจากไม่มีการฉายภาพย้อนอดีต (เพื่อให้ความละม้ายคล้ายคลึงระหว่าง Kikuko กับพี่สาวของ Yasuko) ผู้ชมจึงไม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ตัวละคร


เมื่อครั้นบิดา Shingo ขอให้เลขาส่วนตัว Kinuko พาไปยังบ้านชู้รักของบุตรชาย Shuichi สังเกตว่าระหว่างทางเดินไปคุยไป เงามืดน่าจะยามบ่ายๆ แผ่ปกคลุมทางเดิน มอบสัมผัสก้าวเข้าสู่มุมมืด ราวกับกำลังจะเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้าย … แต่ทว่าครั้งนี้ Shingo แค่มาดูลาดเลา ยังไม่อยากจะพบเจอเธอคนนั่น


ครอบครัวของเพื่อนผู้ล่วงลับ ร้องขอให้ Shingo รับซื้อหน้ากาก Noh หน้าตาเหมือนเด็กน้อย (กะเทย?) รอยยิ้ม ดูราวกับมีชีวิต ในหนังสวมใส่โดยเลขาสาว Kinuko และครึ่งหลัง Shingo สวมใส่ขณะสนทนากับ Yasuko หลังจาก Kikuko เพิ่งทำแท้ง (ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเธอทำแท้งมา) ทั้งสองครั้งล้วนสื่อนัยยะถึงการปกปิดบังเบื้องหลังความจริงอะไรบางอย่าง สำแดงความเพิกเฉยเฉื่อยชาต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ไม่ได้มีอะไรลุ่มลึกซึ้งมากไปกว่านั้น
ต้นฉบับนวนิยาย บุคคลที่หยิบหน้ากาก Noh มาสวมใส่คือ Kikuko แล้ว Shingo พูดบอกกับเธอว่าแสดงออกเหมือนหน้ากากที่ไร้อารมณ์ ไม่เคยสำแดงความต้องการแท้จริงออกมา นั่นทำให้หญิงสาวร่ำร้องไห้ภายใต้หน้ากาก … นี่คือหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ Kikuko ตัดสินใจเลิกราหย่าร้างสามี


เช้าวันหนึ่งหมอกลงหนา น่าจะอากาศเย็นๆ Kikuko เลือดกำเดาไหล Shingo เข้ามาช่วยแล้วบังเอิญพบเห็นรอยแผลเป็นบนหน้าผาก เกิดจากอะไร? ทำไมต้องพยายามปกปิดไว้?
สอบถามจาก Shuichi รับรู้ว่ามารดาของ Kikuko เคยพยายามทำแท้งแต่ไม่สำเร็จ แผลเป็นบนหน้าผาเกิดจากตะขอที่หมอพยายามเกี่ยวทารกออกจากครรภ์ เธอพยายามปกปิดบังคงเพราะรู้สึกละอายใจ เหมือนตนเองไร้ค่า ไม่มีใครอยากให้เกิดมา แต่เฉพาะเวลาล้มป่วย ไม่สบาย สีหน้าซีดเผือก ถึงพบเห็นรอยแผลเป็นดังกล่าวได้ชัดเจน … ช่วงเวลาที่ล้มป่วย ไม่สบาย ไม่สามารถทำการทำงานอะไร คือช่วงเวลาที่เธอรู้สึกไร้ค่า รอยแผลเป็นจึงปรากฎเด่นขึ้นมา
นั่นกระมังคือเหตุผลที่เธอมอบความรัก ปรนเปรอนิบัติบิดา-มารดา ครอบครัวสามีเป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้ตอนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงหลังจากทำแท้ง เพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกเหมือนคนไร้ค่า และไม่อยากให้ทารกน้อยกลายเป็นแบบตนเอง


บิดา Shingo เค้นความจริงจากปาก Shuichi ระหว่างเดินไปคุยไป ก้าวขึ้นสู่จุดชมวิว รายล้อมรอบด้วยต้นไม้-ขุนเขา (สถานที่ที่สื่อถึงการถูกห้อมล้อม ไร้หนทางออก) ค้นพบว่า Kikuko เพิ่งกลับจากการทำแท้ง ทั้งสองจึงเกิดการโต้เถียง แสดงความไม่พึงพอใจ … สังเกตว่าตลอดทั้งซีเควนซ์ ทั้งสองจะยืนอยู่เคียงข้าง ตำแหน่งตั้งฉาก เพื่อสื่อถึงมุมมองคิดเห็นที่ไม่ตรงกันต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
Shuichi เคยเป็นชายหนุ่มหล่อ เรียนเก่ง อนาคตไกล แต่ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ได้รับบาดแผลในใจ จึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีปกติ เบื่อหน่ายชีวิตเรียบง่าย โหยหาความตื่นเต้น คบชู้นอกใจภรรยา สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน



บิดา Shingo ตัดสินใจเดินทางมาพบเจอกับชู้รักของ Shuichi สังเกตว่าพวกเขานั่งคุยอย่างเป็นทางการ หันหน้าเข้าหา (สัญลักษณะของการเผชิญหน้า) ก่อนค้นพบว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ และตั้งใจจะเก็บลูกไว้เลี้ยงเองแม้เลิกรากับ Shuichi
ในมุมมองของ Shingo นี่ถือเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างแท้จริง! ภรรยาของบุตรชายปฏิเสธมีบุตรกับเขา ถึงขนาดไปทำแท้ง ขณะที่ชู้รัก สังคมไม่ให้การยินยอมรับ แต่เธอกลับตั้งครรภ์ และต้องการเก็บลูกไว้เลี้ยงเอง … นี่แสดงถึงความวิปริต ผิดปกติของสังคมสมัยใหม่ (Post-War) ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้ามจากวิถีที่เคยเป็นมา
สิ่งที่บิดาทำได้ในขณะนี้ก็คือ จ่ายเงินปิดปาก ในมุมมองของเขามันอาจคือหนทางสมเหตุสมผลที่สุด แต่มันใช้สิ่งถูกต้องเหมาะสมจริงๆนะหรือ? สังเกตจากปฏิกิริยาสีหน้า สายตาของหญิงสาว ก็น่าจะบอกได้ว่าเธอรับรู้สึกเช่นไร


สำหรับลูก-เมีย ในตอนแรกหลังรับประทานอาหาร Shingo นั่งตรงระเบียง เหม่อมองทิวทัศน์ หันหลังให้ทั้งสอง แสดงถึงการไม่เคยให้ความสนใจ แต่หลังจากบุตรสาวพูดระบายความอัดอั้น พร่ำบ่นบิดาเลือกสามีไม่ดี เขาจึงเดินกลับมานั่ง เผชิญหน้าภรรยาและบุตรสาว ยินยอมรับความผิดพลาด ฟังคำซุบซิบนินทา


แต่สำหรับลูกสะใภ้ Kikuko เกือบตลอดทั้งซีเควนซ์ Shingo เดินเคียงข้าง หันหน้าทิศทางเดียวกัน ทิวทัศน์ด้านหลังคือต้นไม้สูงใหญ่ที่มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ (น่าจะช่วงฤดูใบไม้ร่วง ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว พวกเขายังสวมใส่เสื้อคลุมหลายชั้น) เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ฉันท์บิดา-ลูกสะใภ้ จบสิ้นลงหลังหย่าร้างสามี แต่เมื่อเหม่อมองรอบข้าง ไม่มีภูเขาห้อมล้อมขวางกั้น นั่นคือสัญญะแห่งอิสรภาพ และการเริ่มต้นชีวิตใหม่


ตัดต่อโดย Eiji Ooi, แต่ขึ้นชื่อในเครดิต Hideji Ooi, 大井英史 ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse ตั้งแต่ Wife (1953) จนถึง Scattered Clouds (1967)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของบิดา Shingo Ogata นำเสนอเฉพาะสิ่งที่เขาประสบพบเห็น หรือได้รับฟังมาเท่านั้น! ช่วงแรกๆทำตัวเพิกเฉย ปฏิเสธยุ่งเกี่ยวปัญหาของลูกๆ แต่ตั้งแต่รับรู้ว่าลูกสะใภ้ Kikuko ตัดสินใจทำแท้ง เขาจึงแทบมิอาจอดกลั้น พยายามพูดคุยหาหนทางออก ถึงอย่างนั้นทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินแก้ไข
- อารัมบท แนะนำตัวละคร
- Opening Credit
- หลังเลิกงาน Shuichi ชักชวนเลขาสาวไปเป็นเพื่อนเต้นรำ
- บิดา Shingo เดินทางกลับบ้าน สนทนากับลูกสะใภ้ Kikuko
- Kikuko ตระเตรียมอาหารเย็น ปรนิบัติบิดา-มารดาของสามีเป็นอย่างดี
- แต่สำหรับ Shuichi พอกลับมาถึงบ้านก็ตรงเข้าหลับนอน ไม่ได้สนใจภรรยาสักเท่าไหร่
- ครอบครัวแตกร้าว = หลังคารั่วไหล
- ระหว่างทางไปทำงาน บิดาสอบถามบุตรชายว่าจะเอายังไงกับ Kikuko
- Fusako พร้อมกับลูกๆกลับมาถึงบ้าน พร่ำบ่นปัญหากับสามี
- ค่ำคืนนี้ฝนตกหนัก หลังคารั่วไหล
- วันถัดมา Shingo ขอให้เลขาสาวพาไปยังบ้านชู้รักของ Shuichi
- เพื่อนของ Shingo ขอให้เขาซื้อหน้ากากการแสดง Noh
- มื้อเย็นรับประทานอาหารพร้อมหน้า ดื่มสุราเมามาย หัวข้อสนทนาคือความล้มเหลวในชีวิตครอบครัว
- ตื่นเช้ามา Kikuko เลือดกำเดาไหล
- Shingo เดินทางไปพบกับเพื่อนของชู้รัก Shuichi แนะนำให้เขาหย่าร้างกับ Kikuko
- ค่ำคืนนี้ Shuichi ดื่มหนักเมามาย โซซัดโซเซกลับบ้าน
- การทำแท้งของ Kikuko
- เช้าวันถัดมา Kikuko ร่วมออกเดินทางไปกับ Shingo แวะเวียนไปยังโรงพยาบาล
- อีกวันถัดมา Kikuko ดูอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
- Shingo จึงเค้นสอบถาม Shuichi จนรับรู้ว่าเธอทำแท้ง
- พอกลับมาบ้านจัดแจงโน่นนี่นั่น พูดคุยให้คำแนะนำกับ Kikuko
- เผชิญหน้าปัญหาที่สายเกินแก้ไข
- Shingo เดินทางไปพบเจอกับชู้รักของ Shuichi
- Fusako ระบายความอัดอั้นภายในออกมา
- Shingo นัดพบเจอกับ Kikuko
การนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของบิดาเท่านั้น ผมมองว่าเป็นทั้งจุดเด่นและด้อยของหนัง
- จุดเด่นคือผู้ชมสามารถทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร มุมมองของผู้สร้าง อารมณ์ศิลปินที่ต้องการนำเสนอออกมา
- แต่จุดด้อยคือผู้ชมตัดสินจากเพียงสิ่งที่ได้ยิน ได้รับฟังมา ไม่ได้รับรู้เบื้องหลัง เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาเหล่านั้น
เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō, 斎藤一郎 (1909-1979) นักไวโอลิน แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba ร่ำเรียนไวโอลินและแต่งเพลงจาก National Music School จากนั้นกลายเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Mother (1952), Lightning (1952), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Yearning (1964), ผลงานเด่นอื่นๆ The Flavor of Green Tea over Rice (1952), The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), A Geisha (1953) ฯ
งานเพลงในหนังของผกก. Naruse ล้วนเป็นบทเพลงคลาสสิก บรรเลงโดยเครื่องดนตรีตะวันตก เพื่อเป็นตัวแทนการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ ภาพยนตร์คือสื่อร่วมสมัย แต่มักมีกลิ่นอายเศร้าๆ เหงาซึม โหยหาบางสิ่งอย่าง วิถีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่กำลังเลือนหาย สูญสลายตามกาลเวลา
Sound of the Mountain (1954) นำเสนอเรื่องราวของชายสูงวัย Shingo พบเห็นสารพัดปัญหาของลูกๆ ในช่วงแรกๆครุ่นคิดว่าโตๆกันแล้ว น่าจะสามารถหาหนทางแก้ปัญหาอะไรๆได้เอง แต่เมื่อรับรู้ว่าลูกสะใภ้ทำแท้ง ชู้รักบุตรชายตั้งครรภ์ บุตรสาวหย่าร้างสามี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตกอยู่ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง สายเกินแก้ไข ทำอะไรไม่ได้นอกจากทอดถอนลมหายใจ
สำหรับผู้ชมต่างชาติที่ไม่เคยอ่านต้นฉบับนวนิยาย พยายามค้นหาความหมายชื่อหนังจากในหนัง คงไม่ได้รับคำตอบใดๆ ผมเพิ่งพบเจอว่าในใบปิดมันมีคำโปรยภาษาญี่ปุ่นเขียนอธิบายไว้
溢れくる愁いに ひとりきく山の音 愛情のなだれか 女の嗚咽か……
With overflowing sorrow, I listen alone to the Sounds of the Mountain. Is it an avalanche of love, or the sobs of a woman…?
ในบริบทดังกล่าว ความหมายของ Sound of the Mountain คือเสียงแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว อันเนื่องจากความรักและการสูญเสีย บิดาอยากให้ลูกๆดำเนินตามวิถีทางถูกต้อง ตามครรลองคลองธรรมที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือปฏิบัติมาช้านาน แต่การดำเนินไปของยุคสมัย ทำให้ทุกสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไป … มันช่างแตกต่างจากนวนิยายเสียงแห่งขุนเขา ของ Yasunari Kawabata โดยสิ้นเชิง!
ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) คือตัวกระตุ้นสำคัญ (Catalyst) เร่งความเปลี่ยนแปลงของประเทศญี่ปุ่น คนหนุ่มสาวซึมซับแนวคิด-ค่านิยม-วัฒนธรรมตะวันตก ค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ วิถีชีวิตดั้งเดิม สามี-ภรรยาเคยอยู่กินกันจนแก่เฒ่า บุรุษคือหัวหน้าครอบครัว, ปัจจุบัน(นั้น)พออยู่กันไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้าง ไม่อยากตั้งครรภ์ก็ทำแท้ง แม่เลี้ยงลูกเดี่ยว ฯ สตรีเริ่มได้รับสิทธิ์เสียง เสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น
ผกก. Naruse แม้เป็นคนหัวก้าวหน้า เคยหย่าร้างภรรยา แต่เขามีชีวิตคาบเกี่ยวสงครามโลกทั้งสองครั้ง ความเปลี่ยนแปลงที่มันก้าวกระโดดเกินไป ยิ่งพออายุย่างใกล้ 50 ปี ไม่จึงใช่เรื่องง่ายจะยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับแนวคิดสมัยใหม่ … ผลงานยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) จึงมักมีกลิ่นอายโหยหา อาลัยอาวรณ์ ครุ่นคิดถึงอดีต (Yearning และ Nostalgia)
ไม่แตกต่างจากผู้แต่งนวนิยาย Yasunari Kawabata เริ่มเขียนผลงานเรื่องนี้ตอนอายุ 51 ปี ยุคสมัยนั้นถือว่าคือผู้สูงวัย ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ หลงๆลืมๆ ดวงตาพร่ามัว หูแว่ว (ได้ยินเสียงเพรียกจากขุนเขา) ทั้งยังรำพันความเศร้าโศกจากการสูญเสียญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตระหนักว่าความตายย่างใกล้เข้ามา
The defeat of Japan cast a shadow over my fiftieth year, making it seem like the end of my life. The deaths of Kataoka, Yokomitsu, and Kikuchi, occurring around the same time, made my fiftieth year feel like the deepest, darkest valley. Looking back, I find it almost unbelievable that I survived to publish my complete works. I truly doubted I would even reach fifty, and perhaps, with a renewed sense of hope, I began a new chapter in my life.
During the war, and especially after the defeat, my long-held belief that the Japanese people have lost the capacity to feel true tragedy or misfortune has grown stronger. This lack of capacity to feel probably means that there is no essence to be felt. After the defeat, I can only return to the ancient sorrows of Japan.
Yasunari Kawabata
มีนักวิจารณ์วรรณกรรม แสดงความคิดเห็นถึงผลงานยุคหลังสงครามของ Kawabata มักมีลักษณะแสวงหาสถานที่แห่งความตาย “before he knew it, he had found his own place to die” ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องต้องจบลงอย่าง Happy Ending แต่แค่ไม่ทิ้งร่องรอยความเสียใจไว้เบื้องหลัง “each reached a completion where he would have been happy to die, and each story was written so that it would have been fine no matter where it ended.”
เมื่อตอนออกฉายได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม #ติดอันดับ 6 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Kinema Junpo และนักแสดงนำชาย Sō Yamamura คว้ารางวัล Mainichi Film Awards สาขา Best Actor (ยุคสมัยนั้นมีประกาศแค่ผู้ชนะ ไม่มีรายชื่อเข้าชิง)
นอกจากนี้หนังยังคว้ามา 4 รางวัลจาก Asia Pacific Film Festival ครั้งที่ 1 (จัดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น)
- Best Actor (Sō Yamamura)
- Best Actress (Setsuko Hara)
- Best Sound
- Best Music
ฉบับที่ผมรับชมนั้นน่าจะ Rip มาจากคอลเลคชั่น Mikio Naruse – 5 films ของค่าย Carlotta Film (ฝรั่งเศส) ประกอบด้วย Sound of the Mountain (1954), Flowing (1956), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Yearning (1964) และ Scattered Clouds (1967)
ระหว่างรับชม ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังทำออกมาได้ดี มีความลุ่มลึก ซับซ้อน แม้จะไม่มีอะไรโดดเด่น น่าจดจำเป็นพิเศษ, แต่หลังจากอ่านเรื่องย่อต้นฉบับของ Yasunari Kawabata เกิดความตระหนักว่าผกก. Naruse ดัดแปลงออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง เต็มไปด้วยข้อจำกัดโน่นนี่นั่น และปัญหาใหญ่ที่ผมกล่าวมาแล้วหลายครั้ง อะไรคือเสียงแห่งขุนเขา? พยายามตั้งใจสดับฟัง แต่เหมือนจะไม่ได้ยิน!
จัดเรต pg กับการคบชู้ แท้งลูก เลิกราหย่าร้าง
ใครเคยอ่านวรรณกรรมมาก็ต้องผิดหวัง
หนังไม่มี ไม่ได้ยินเสียงแห่งขุนเขาใดๆ
เรียกได้ว่า ถ้ามองในมุมของการดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่องดัง ใครๆถือว่าเป็นผลงานน่าผิดหวังของ Mikio Naruse กันแทบทั้งนั้น และจะไปยกย่องผลงานเรื่องอื่นๆมากกว่า (แต่ถ้ามองเป็นหนังเรื่องนึงโดดๆ ไม่ยึดกับวรรณกรรมต้นฉบับ ก็อาจจะพอดูได้ แต่ถือว่าไม่ได้ยินเสียงแห่งขุนเขาอันเป็นชื่อหนังอยู่ดี)