Birdman of Alcatraz
Birdman of Alcatraz

Birdman of Alcatraz (1962) hollywood : John Frankenheimer ♥♥♥♡

Robert Stroud (รับบทโดย Burt Lancaster) เจ้าของฉายา Birdman of Alcatraz หลังฆ่าคนตาย ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต วันหนึ่งพบเจอลูกนกพลัดตกจากรัง ตัดสินใจรับเลี้ยงในห้องขัง ทำให้ค้นพบว่าอิสรภาพแท้จริงอยู่ภายในจิตวิญญาณ 

อาจฟังดูขัดย้อนแย้ง เพราะนกคือสัตว์สัญญะแห่งอิสรภาพ โบยบินอยู่บนท้องฟากฟ้า แน่นอนว่ามันไม่ชอบถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ทว่า Birdman of Alcatraz (1962) หลังจากนักโทษ Stroud รับเลี้ยงดูเจ้านกจนเติบใหญ่ พยายามขับไล่ ผลักไส ปล่อยให้โบยบินออกนอกกรงขัง ถึงอย่างนั้นมันกลับหวนกลับมา ทำไม? … ถ้าอธิบายตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) เพราะเจ้าของเลี้ยงมาดี มีกินอิ่มหนำ ทำไมต้องดิ้นรนกับโลกภายนอก, แต่ในเชิงปรัชญาและภาพยนตร์ ก็อย่างที่เกริ่นไป สามารถสื่อถึงอิสรภาพไม่ใช่สิ่งทางกายภาพ แต่อยู่ภายในจิตวิญญาณ

ตัวจริงของ Robert Stround เพราะไม่พึงพอใจที่ผู้คุมปฏิเสธการเข้าเยี่ยมของมารดา อุตส่าห์เดินทางมาไกล เอาแต่ยึดถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด อ้างว่าไม่ใช่เวลาราชการ จึงลงมือเข่นฆ่าอีกฝ่ายอย่างเลือดเย็น ไร้สำนึก นั่นคือเหตุผลที่ตราบจนวันตาย ไม่เคยได้รับการปล่อยตัว เสียชีวิตภายในเรือนจำ Medical Center for Federal Prisoners วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 … ไม่ได้รับอนุญาตให้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ!

ผู้ชมส่วนใหญ่อาจมองแค่ว่า Birdman of Alcatraz (1962) คือภาพยนตร์ที่พยายามเรียกร้องสิทธินักโทษ ขอโอกาสปล่อยตัว/อภัยโทษ Stround เพราะได้สร้างคุณูประโยชน์ ครุ่นคิดวิจัยยารักษาโรคนก ตีพิมพ์หนังสือ Diseases of Canaries (1933) ฟังดูไม่น่าเชื่อว่านักโทษถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจะสามารถกระทำสิ่งเหล่านี้ … แม้ถูกจองจำ แต่อิสรภาพอยู่ภายในจิตใจของฉัน

ผมรู้สึกว่าเรื่องราวของหนังอ้างอิงจากชีวประวัติมากเกินไปนิด ปัญหาคือผกก. Frankenheimer เป็นแค่มือปืนรับจ้าง (ผู้กำกับเดิมคือ Charles Crichton) เลยมีหลายสิ่งอย่างดูไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่ แต่ทว่าการแสดงของ Burt Lancaster แถมด้วยมารดา Thelma Ritter และผู้คุม Karl Malden ฝีไม้ลายมือล้วนจัดจ้าน ทำให้พานผ่าน 143 นาทีได้อย่างสบายๆ


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Robert Franklin Stroud (1890-1963) เกิดที่ Seattle, Washington บิดาชอบดื่มสุรา ใช้ความรุนแรง (Abusive) หายตัวออกจากบ้านตอนบุตรชายอายุ 13 อาศัยอยู่กับมารดา Elizabeth Jane (1860-1938) และพี่สาวต่างบิดาอีกสองคน, พออายุ 18 เดินทางไปทำงาน Cordova, Alaska ตกหลุมรักโสเภณี Kitty O’Brien อายุ 36 ปี กลายเป็นแมงดาคอยจัดหาลูกค้า วันหนึ่งเจ้าของบาร์ F. K. ‘Charlie’ von Dahmer ปฏิเสธจ่ายเงินค่าบริการ จึงเกิดการต่อสู้ ยิงปืนใส่จนอีกฝ่ายเสียชีวิต ถูกตัดสินจำคุกนาน 12 ปี ณ McNeil Island Corrections Center (MICC)

ระหว่างเป็นนักโทษอยู่ MICC ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรง มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้คุม เพื่อนนักโทษอยู่บ่อยครั้ง จนถูกสั่งย้ายมาอยู่ Federal Correctional Institution, Leavenworth แล้ววันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1916 ใช้มีดทิ่มแทงผู้คุม Andrew Turner เพราะปฏิเสธให้น้องชายเข้าเยี่ยม ภายหลังการพิจารณาคดีถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ทว่ามารดายื่นอุทธรณ์ต่อปธน. Woodrow Wilson ละเว้นโทษประหารแต่เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต

ช่วงปี ค.ศ. 1920, Stroud พบเจอลูกนกกระจอกสามตัวตกจากต้นไม้ ได้รับบาดเจ็บ จึงให้การช่วยเหลือ เลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ การมาถึงของพัศดีคนใหม่ ประทับใจพัฒนาการของนักโทษคนนี้ จึงอนุญาตให้เลี้ยงนก วิจัยรักษาโรค ตีพิมพ์หนังสือ Diseases of Canaries (1933) ทำธุรกิจซื้อ-ขาย ถึงขนาดมีเลขาส่วนตัวในเรือนจำ

ปรากฎการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง ออกกฎหมายห้ามเลี้ยงสัตว์ ห้ามนักโทษทำธุรกิจ แต่ทว่า Stroud ก็สามารถหาช่องทางผ่านนักวิจัยนก Della Mae Jones ตีพิมพ์เรื่องราวผ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สร้างแคมเปญลงนามกว่า 50,000+ ชื่อ จนปธน. Herbert Hoover อนุญาตให้เขาเลี้ยงนก ทำธุรกิจในเรือนจำตามคำร้องขอ 

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1942 เมื่อผู้คุมตรวจพบว่า Stroud ลักลอบผลิตเหล้าในเรือนจำ (จากสารเคมีที่ใช้ทดลองยารักษานก) เลยถูกสั่งย้ายไปเรือนจำ Alcatraz Federal Penitentiary ไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงนกอีกต่อไป ใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสือชีวประวัติ Bobbie และหนังสือประวัติศาสตร์ระบบเรือนจำ Looking Outward: A History of the U.S. Prison System from Colonial Times to the Formation of the Bureau of Prisons.

และเมื่อปี ค.ศ. 1959, ด้วยอายุอานามเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายย่ำแย่ เลยย้ายไปพักรักษาตัวอยู่ Medical Center for Federal Prisoners ณ Springfield, Missouri จนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 สิริอายุ 73 ปี รวมระยะเวลาติดคุก 54 ปี!

เรื่องราวของ Robert Stroud ได้ถูกพัฒนาเป็นหนังสือชีวประวัติโดย Thomas Eugene Gaddis (1908-84) ตั้งชื่อว่า Birdman of Alcatraz (1955) เสียงตอบรับอาจไม่ค่อยดีนัก แต่ได้รับการโจษจัณฑ์อย่างกว้างขวาง เพราะนำเสนอเรื่องราวอาชญากร/ฆาตกรที่เคยถูกตัดสินประหารชีวิต กลับนำเสนอในแง่มุมไม่มีใครคาดคิดถึง

แซว: จริงๆหนังสือเล่มนี้ควรชื่อว่า Birdman of Leavenworth นั่นเพราะ Stroud ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงนกที่เรือนจำ Federal Correctional Institution, Leavenworth ไม่ใช่ Alcatraz แต่ชื่อนี้มันมีพลังอันลึกลับ ชวนให้ลุ่มหลงใหล

Alcatraz, the federal prison with a name like the blare of a trombone, is a black molar in the jawbone of the nation’s prison system.

Thomas E. Gaddis

Charles Crichton (1910-99) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ มีชื่อเสียงจากผลงาน Dead of Night (1945), The Lavender Hill Mob (1951), ได้รับการติดต่อจาก United Artist ชักชวนให้มาดัดแปลงหนังสือ Birdman of Alcatraz (1955) สำหรับโกอินเตอร์ Hollywood เรื่องแรก! ลงมือเตรียมงานสร้าง คัดเลือกนักแสดงเสร็จสรรพ แต่กลับถูกไล่ออกเพราะความขัดแย้งกับ Burt Lancaster

We decided to part in a gentlemanly manner. I found I was not in the same position as I would be in a British studio. There was too much interference.

Had I known that Burt Lancaster was to be de facto producer, I do not think I would have accepted the assignment, as he had a reputation for quarreling with better directors than I. But Harold Hecht, the credited producer, had assured me that there would be no interference from Lancaster. This did not prove to be the case.

Charles Crichton

John Michael Frankenheimer (1930-2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Queens, New York บิดาเป็นชาวเยอรมันเชื้อสาย Jews ส่วนมารดา Irish Catholic, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในภาพยนตร์ เรียนจบคณะภาษาอังกฤษจาก Williams College สมัครทหารอากาศสังกัดหน่วยข่าวกรองประจำอยู่ Burbank, California ได้รับโอกาสถ่ายทำสารคดี ปลดประจำการออกมาทำงานกำกับซีรีย์โทรทัศน์ให้สถานี CBS เคยเป็นผู้ช่วย Sydney Lumet, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Stranger (1957), ต่อมาเกือบได้กำกับ Breakfast at Tiffany’s (1961) แต่ถูก Audrey Hepburn บอกปัดเพราะไม่รู้จัก, กลายเป็นมือปืนรับจ้าง Birdman of Alcatraz (1962), โด่งดังพลุแตกกับThe Manchurian Candidate (1962), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Seven Days in May (1964), The Train (1964), Seconds (1966), Grand Prix (1966) ฯ

เมื่อตอน Frankenheimer ได้รับการติดต่อไปนั้น งานสร้าง บทหนัง(ของ Guy Trosper) ตระเตรียมการใกล้เสร็จสิ้น กำลังจะเปิดกล้องถ่ายทำในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้ไม่สามารถปรับแก้ไขอะไรใดๆ … ด้วยเหตุนี้ Frankenheimer จึงมองตนเองในฐานะมือปืนรับจ้าง (Hired Director)

I can’t really think of a scene in Birdman of Alcatraz I liked. I like the total effect of the film, but I don’t think there was any scene that stands out for me as being extraordinary in any way.

John Frankenheimer


Burton Stephen Lancaster (1913-94) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ชายผู้ขึ้นชื่อเรื่องรับบทตัวละคร ‘Tough Guys’ เกิดที่ Manhattan, New York สมัยเด็กมีความสนใจยิมนาสติกและบาสเกตบอล เข้าเรียน New York University ด้วยทุนกีฬาแต่ลาออกกลางคันมาเป็นนักแสดงละครสัตว์เล่นกระโดดผาดโพน สมัครเป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลดประจำการมาเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Desert Fury (1947) แต่กลับออกฉายหลังภาพยนตร์เรื่องที่สอง The Killers (1946), โด่งดังกับ From Here to Ethernity (1953), Trapeze (1956), Elmer Gantry (1960) **คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, Judgment at Nuremberg (1961), Birdman of Alcatraz (1962), Atlantic City (1980) ฯ

รับบท Robert Stroud จากชายหนุ่มหัวขบถ อารมณ์อ่อนไหว ไม่ชอบทำตามกฎกรอบ วิถีทางสังคม ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมโต้ตอบด้วยความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มารดาเดินทางมาหาแต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม จึงสำแดงความเกรี้ยวกราดใส่ผู้คุม ถือเป็นอาชญากร/ฆาตกรผู้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ภัยสังคมที่ต้องโทษประหาร แต่ได้รับอุทธรณ์จากประธานาธิบดี ลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต

เมื่อติดคุกมานานหลายปี อายุอานามเพิ่มสูงขึ้น และหลังจาก Stroud เริ่มรับเลี้ยงดูแลลูกนก ทำให้คำพูดคำจา กิริยาท่าทาง มีความสุภาพอ่อนน้อม รู้จักพูดขอโทษ-ขอบคุณแก่ผู้คุม ใช้เวลาว่างในศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าวิจัยยารักษาโรคนก ตีพิมพ์หนังสือ ทำธุรกิจค้าขาย กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวง ได้รับนับหน้าถือตาจากผู้คน … ปรับเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การได้รับอภิสิทธิ์ของ Stroud สร้างความไม่พึงพอใจต่อบรรดาคนใหญ่คนโต จนในที่สุดผู้คุมตรวจค้นพบว่าลักลอบผลิตแอลกอฮอล์ในห้องขัง เลยถูกสั่งย้ายไปเรือนจำที่ Alcatraz ไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงนกอีกต่อไป! ทำได้เพียงเขียนหนังสือชีวประวัติ และประวัติศาสตร์ระบบเรือนจำ และการมาถึงของ Battle of Alcatraz (1946) ปฏิเสธเข้าร่วมปฏิบัติการแหกคุก หลังจากสองหัวโจ๊กถูกยิงเสียชีวิต ยินยอมศิโรราบต่อพัศดี ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้ … ตรงกันข้ามกับตอนยังหนุ่มแน่นโดยสิ้นเชิง

Lancaster คือตัวเลือกแรกของผกก. Charles Crichton แต่ทว่าพอใกล้ถึงวันถ่ายทำ ก็ไม่รู้ทั้งสองมีความขัดแย้งอะไรกัน ใช้เส้นสายล็อบบี้โปรดิวเซอร์/สตูดิโอ ปรับเปลี่ยนตัวผู้กำกับมาเป็น John Frankenheimer ที่เคยร่วมงาน The Young Savages (1961) แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสองมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในกองถ่ายบ่อยครั้ง เลือกมุมกล้องไม่ถูกใจก็พร่ำบ่นโน่นนี่นั่น ถึงอย่างนั้นพวกเขากลับกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม และยังมีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง

เกร็ด: โดยปกติแล้วค่าตัวของ Lancaster จะสูงถึง $750,000 เหรียญ แต่ทว่าสตูดิโอโปรดักชั่น Hecht-Hill-Lancaster ทำหนังเกินทุนมาหลายเรื่องติดๆ เลยถูกบีบบังคับจาก United Artist ให้สร้างหนังสี่เรื่องด้วยค่าตัว $150,000 เหรียญ ประกอบด้วย The Young Savages (1961), Birdman of Alcatraz (1962), The Train (1964) และ The Hallelujah Trail (1965)

นักวิจารณ์หลายๆสำนักแสดงความคิดเห็นว่า Robert Stroud อาจคือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Lancaster เพราะโดยปกติแล้วพี่แกมักได้รับบทตัวละครประเภท ‘tough guy’ ดิบเถื่อน ชอบใช้ความรุนแรง แต่หลังจากเริ่มรับเลี้ยงนก ทั้งน้ำเสียง สีหน้า กิริยาท่าทาง ดูมีความสุภาพอ่อนน้อม นั่นคือวิวัฒนาการตัวละครที่ทำให้ผู้ชมบังเกิดความสงสารเห็นใจ

ไคลน์แม็กซ์ระหว่าง Battle of Alcatraz (1946) ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง! ผู้ชมเกิดความตระหนักว่าถ้า Stroud ยังหนุ่มแน่น ย่อมต้องเข้าร่วมกลุ่มกบฏ หาหนทางแหกคุกอย่างแน่นอน! แต่ทว่า Stroud วัยชรา พานผ่านอะไรๆมามาก เข้าใจความสำคัญของชีวิต จึงปฏิเสธต่อสู้ หลบหนี นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาก้มหัวศิโรราบ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ แท้จริงแล้วคือชัยชนะทางจิตวิญญาณ ไม่มีใครพลัดพรากอิสรภาพ(ทางจิตวิญญาณ)ไปจากตนเอง

Lancaster มีความมุ่งมั่นทุ่มเท เอาจริงเอาจังกับบทบาทนี้มากๆ ตลอดระยะเวลาถ่ายทำทั้งกลางวัน-กลางคืน หลับนอนในห้องขังที่สตูดิโอ (ต้องการซึมซับการเป็นนักโทษแยกขังเดี่ยว) ช่วงก่อนโปรดักชั่นเคยพบเจอ Stroud (ตอนถูกจองจำอยู่ Medical Center for Federal Prisoners) หลังจากนั้นพยายามให้ความช่วยเหลือ ออกแคมเปญให้ได้รับการปล่อยตัว (แต่สุดท้าย Stroud เสียชีวิตไปเสียก่อน) และหลังจากออกฉาย กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

Over the years, this is the movie that people walk up to me on the street and want to talk about.

Burt Lancaster


Thelma Ritter (1902-69) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York ตั้งแต่อายุ 11 ค้นพบความหลงใหลด้านการแสดง โตขึ้นเข้าศึกษา American Academy of Dramatic Arts (ADA) แล้วปักหลักอยู่ในวงการละคอนเวทีนานกว่าสองทศวรรษ เข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงวัยกลางคน Miracle on 34th Street (1947), โด่งดังกับภาพยนตร์ All About Eve (1950), Pickup on South Street (1953), Rear Window (1954), Pillow Talk (1959), The Misfits (1961), Birdman of Alcatraz (1962), How the West Was Won (1962) ฯ เป็นเจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress ถึงหกครั้ง แต่ไม่เคยได้สักรางวัล

รับบท Elizabeth McCartney Stroud มารดาของ Robert Stroud ผู้มีความรัก หึงหวง ห่วงใย พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือบุตรชายให้รอดพ้นโทษประหารชีวิต แต่หลังจากเขาแต่งงานกับ Stella Johnson ไม่ชอบขี้หน้าลูกสะใภ้ ออกคำสั่งให้หย่าร้าง ก่อนตัดขาดความสัมพันธ์แม่-ลูก จากไปด้วยความเจ็บปวด เหมือนถูกทรยศหักหลัง

แม้เป็นเพียงบทบาทสมทบ ‘character actress’ แต่ทว่า Ritter ยังคงเจิดจรัสฉาย แย่งซีนความโดดเด่น ทำให้ผู้ชมเข้าใจอิทธิพลของมารดาต่อบุตรชาย (Mother Complex) ดูเข้มงวด จอมบงการ ชอบชี้นิ้วออกคำสั่ง เชื่อมั่นในตนเองสูงลิบลิ่ว ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น! การเติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นทำให้ Stroud มีพฤติกรรมหัวรุนแรง ต่อต้านสังคม ไม่สามารถเอาตัวรอดด้วยตนเอง 

ความเห็นแก่ตัวของมารดา ถึงจุดสูงสุดเมื่อการมาของ Stella Johnson ยัยนี่เป็นใครมาจากไหน ไม่ชอบขี้หน้าตั้งแต่แรกพบเจอ เกิดความหวาดกลัวจะสูญเสียบุตรชาย จึงปฏิเสธทัณฑ์บนเพื่อไม่ให้เขาได้ครอบคู่กับยัยคนนั้น … นั่นอาจคืออิสรภาพของ Stroud แต่มันก็ทำให้เขาสูญเสียที่พึ่งพักพิง ติดสุรามึนมา เลยโดนผู้คุมจับได้ในที่สุด!


Karl Malden ชื่อจริง Mladen George Sekulovich (1912-2009) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois บิดาเป็นชาว Serb มีความหลงใหลในดนตรีและการแสดง ผลักดันบุตรชายให้มีโอกาสขึ้นเวทีตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเดินทางสู่ Indiana เพื่อฝึกฝนการแสดงยัง Goodman School (ปัจจุบันคือ DePaul University) จากนั้นกลายเป็นสมาชิก Goodman Theatre พอเริ่มเก็บหอมรอมริดเข้าศึกษาต่อ Chicago Art Institute แล้วมุ่งสู่ New York เข้าร่วม Group Theatre สนิทสนมกับ Elia Kazan, กลับจากรับใช้ชาติสงครามโลกครั้งที่สอง แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ A Streetcar Named Desire (1951) **คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ On the Waterfront (1954), I Confess (1953), Baby Doll (1956), Gypsy (1962), Birdman of Alcatraz (1962), Patton (1970), ซีรีย์ The Streets of San Francisco (1972–1977) ฯ

รับบทพัศดี Harvey Shoemaker ผู้มีความเข้มงวดกวดขัน ยึดถือมั่นในวิถีทางของตนเอง เชื่อว่าเรือนจำคือสถานที่สำหรับบำบัดรักษา (Rehability) สามารถเปลี่ยนแปลงนักโทษให้กลายเป็นคนใหม่ แต่ไม่ใช่สำหรับ Robert Stroud ย้อนแย้งถึงการเอามาตรฐานตนเองเป็นที่ตั้ง นั่นจักทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นตัวของตนเอง

ปล. เหมือนเป็นสูตรสำเร็จสำหรับ ‘prison film’ พัศดีมักถูกตีตราว่าเป็นคนร้าย โดยปกติมักถูกโยกย้ายตามวาระราชการอยู่เรื่อยๆ แต่ทว่าภาพยนตร์มักเหมารวมบุคคลเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ เปลี่ยนไปทำไมให้วุ่นวาย?, สำหรับ Harvey Shoemaker คือส่วนผสมของ T.W. Morgan (พัศดีประจำ Leavenworth) และ James A. Johnston (พัศดีประจำ Alcatraz)

ภาพลักษณ์ของ Malden มีความเคร่งขรึม จริงจัง ช่วงแรกๆยังเชื่อมั่นว่า Stroud ต้องสามารถกลับตัวกลับใจ แต่หลังความตายของเพื่อนผู้คุมทำให้ทัศนคติของเขาปรับเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง เต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน ประกาศกร้าวว่าจะทำทุกสิ่งอย่างไม่ให้อีกฝ่ายได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก พยายามต่อรอง ขัดขวางธุรกิจ น่าจะใช้เส้นสายยักย้ายมาอยู่ Alcatraz ด้วยกัน

แต่ทว่าพอแก่ตัวเริ่มตระหนักว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลง Stroud เมื่อแอบอ่านหนังสือชีวประวัติ (รวมถึงประวัติศาสตร์เรือนจำ) มือไม้ น้ำเสียงดูสั่นคลอน ราวกับสูญเสียความเชื่อมั่น (คงรับรู้แก่ใจว่าวิธีการของตนเองไม่ถูกต้อง แต่ก็มิอาจทำลายอุดมการณ์ดังกล่าวได้ลง) ถึงอย่างนั้นตอนเกิดเหตุการณ์แหกคุก Battle of Alcatraz (1946) กลับยินยอมรับฟัง เชื่อมั่นในคำพูดของอีกฝ่าย … จากศัตรูกลายเป็นมิตรแท้ เข้าใจกันและกันมากที่สุด

การแสดงของ Malden ถือว่าไม่ธรรมดา มีความลุ่มลึก ซับซ้อน วิวัฒนาการตัวละครในทิศทางตรงกันข้ามกับ Stroud จากเคยเอ่อล้นด้วยอุดมการณ์ เย่อหยิ่งทะนงตน ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นในวิถีทางตนเอง และท้ายสุดให้การยินยอมรับอีกฝ่าย เอาจริงๆสมควรได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor แต่ทว่าปีนั้นมีชื่อเข้าชิงจากภาพยนตร์อีกเรื่อง Gypsy (1962) 


ถ่ายภาพโดย Burnett Guffey (1905-83) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Del Rio, Tennessee หลังเรียนจบเริ่มทำงานพนักงานส่งเอกสาร ก่อนกลายเป็นผู้ช่วยช่างภาพสตูดิโอ Fox, ตากล้องกองสองภาพยนตร์ The Iron Horse (1923), ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ The Informer (1935), Foreign Correspondent (1940), เริ่มได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 ผลงานเด่นๆ อาทิ All the King’s Men (1949), In a Lonely Place (1950), From Here to Eternity (1953), Birdman of Alcatraz (1962) , Bonnie and Clyde (1967) ฯ

เกร็ด: เมื่อตอน Charles Crichton ยังคุมบังเหียรโปรเจคนี้นั้น ได้ติดต่อตากล้อง John Alton ผู้โด่งดังจากซีเควนซ์เต้นบัลเล่ต์ An American in Paris (1951) แต่การเปลี่ยนผ่านมาเป็น John Frankenheimer เลือกช่างภาพใหม่ Burnett Guffey

ประมาณ 95% ของหนังถ่ายทำภายในเรือนจำ ลูกเล่นของงานภาพจึงมักเกี่ยวกับทิศทาง มุมกล้อง จัดแสง-ความมืด กรงขังบดบัง/เงาอาบฉาบใบหน้านักแสดง ระยะใกล้-กลาง-ไกล นานๆครั้งทำการซ้อนภาพ ‘Cross-Cutting’ ให้เห็นการเหลื่อมล้ำ ซ้อนทับ, และด้วยผนังกำแพงห้อมล้อมรอบทุกทิศทาง สร้างความรู้สึกอึดอัด คับแคบ จนกระทั่งช่วงท้ายย้ายออกจากเรือนจำ Alcatraz ถึงค่อยโปร่งโล่งสบาย หายใจทั่วท้อง

มันแน่นอนอยู่แล้วว่า ไม่มีเรือนจำไหนอนุญาตให้พื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ฉากภายในทั้งหมดจึงต้องสร้างฉากขึ้นยัง Columbia Studios … แต่ฉากภายนอกอย่าง Alcatraz Island ถ่ายทำยังสถานที่จริงนะครับ


ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าใครออกแบบสร้าง Opening Credit แต่เห็นเครดิตออกแบบโปสเตอร์โดย Saul Bass เลยครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน! เริ่มต้นค่อยๆปรากฎภาพมือโอบอุ้มนกน้อย คั่นแถบดำๆที่ดูเหมือนซี่กรงขัง แต่หลังจากขึ้นชื่อ Birdman of Alcatraz แถบดำๆเหล่านั้นจักค่อยๆเลือนหาย เพื่อสื่อถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณกระมัง

ภาพสุดท้ายของ Opening Credit มีการแปลงภาพให้เหลือแค่สีขาว-ดำ นำมาซ้อนเข้ากับเกาะ Alcatraz ให้บริเวณตัวนกอยู่ตำแหน่งพอดิบพอดีกับเรือนจำ … สอดคล้องชื่อหนัง Birdman of Alcatraz

เรื่องราวของ Stroud เริ่มต้นระหว่างโดยสารขบวนรถไฟมายังเรือนจำ Leavenworth Prison ภายในตู้โดยสารมีอากาศร้อนอบอ้าว  เหงื่อแตกโซก เขาจึงทุบกระจกให้อากาศถ่ายเทสะดวก แต่ทว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจต่อผู้คุม เพราะมันขัดต่อกฎระเบียบข้อบังคับ ทำลายทรัพย์สินราชการ จักต้องถูกลงโทษทัณฑ์ … การกระทำเล็กๆของ Stroud สะท้อนถึงพฤติกรรมหัวขบถ นอกคอก ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบ พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ ทำลายทุกสิ่งอย่างเพื่ออิสรภาพ/สายลมเย็น 

พฤติกรรมของ Stroud คงต้องเรียกว่า “มารดาข้าใครอย่าแตะ” ผู้ใดก็ตามพยายามอวดอ้าง เบ่งอำนาจ เสือกเรื่องชาวบ้าน ก็พร้อมที่จะต่อสู้ โต้ตอบ ใช้ความรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน ทุกที่ทุกเวลา ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น

แซว: เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำยังสถานที่จริง เครื่องซักผ้าไอน้ำ (Steam Laundry) จึงต้องหาซื้อของเก่าเมื่อปี ค.ศ. 1914 สำหรับใช้เข้าฉากประมาณ 90 วินาที!

กฎหมายมีไว้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อทุกคนจักได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ถ้ากฎหมายนั้นสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์คนบางกลุ่ม หรือยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจนเกินไป ย่อมสร้างความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ นำสู่การต่อสู้ ความรุนแรง เข่นฆ่าแกง

การที่ผู้คุมปฏิเสธไม่ให้มารดาเข้าเยี่ยม Stroud ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ย่อมเห็นด้วยกับการกระทำ เพราะมันไม่ตรงวันเยี่ยม ไม่ควรมีนักโทษได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ แต่กิริยาท่าทาง น้ำเสียง ถ้อยคำพูด ล้วนสำแดงความเย่อหยิ่งจองหอง สมน้ำหน้า ปฏิเสธสนใจความรู้สึกอีกฝ่าย แถมยังจะบีบบังคับใช้กฎระเบียบ ไร้ความโอนอ่อน สงสารเห็นใจ … ถ้าเรามองในมุม Stroud ก็จะเห็นว่าผู้คุมคนนี้ก็หาใช่คนดี มีแต่ความเห็นแก่ตัว ปลาหมอตายเพราะปาก

  • ฉากรับประทานอาหารที่บรรดานักโทษต้องก้มหน้าก้มตา (ถ่ายมุมก้ม) ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับเรือนจำ ไม่มีใครกล้าโต้ตอบขัดขืน
  • จนวินาทีที่ Stroud สำแดงอารยะขัดขืน ลุกขึ้นยืนต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน เข่นฆ่าผู้คุมที่ปฏิเสธไม่ให้ให้มารดาเข้าเยี่ยมเยียน สังเกตว่ากล้องถ่ายมุมเงยจากพื้นเห็นหลังคา (ตรงกันข้ามกับการก้มหัวศิโรราบ คือเงยหน้า ท้าทายสวรรค์)

ความตายของผู้คุม ทำให้ Stroud ถูกแยกขังเดี่ยว ในห้องแห่งความมืดมิด เมื่อตอนพัศดีเปิดประตูเข้ามา ยืนบดบังแสงสว่างภายนอก ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด ประกาศกร้าวว่าตราบตนเองยังมีชีวิต จะทำให้เขาไม่มีโอกาสเห็นเดือนเห็นตะวัน ก้าวออกจากเรือนจำ!

ราวกับฟ้าฝนดลบันดาล ในวันที่พายุโหมกระนำ รังนกร่วงหล่นจากต้นไม้ Stroud ตัดสินใจรับเลี้ยงจนเติบใหญ่ ฝึกฝนให้มันโบยบิน เดินเข้า-ออก เปิด-ปิดกรงขัง ทั้งๆที่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสรภาพ แต่ทุกครั้งเลือกหวนกลับมาหา ยินยอมอาศัยอยู่ในกรงขัง เพื่ออะไร?

โดยปกติแล้ว นกคือสัตว์สัญญะแห่งอิสรภาพ แต่การที่มันเลือกอาศัยอยู่ภายในกรงขัง นั่นแปรว่าอิสรภาพไม่จำเป็นต้องหมายถึงลักษณะทางกายภาพ โบยบินอยู่บนท้องฟากฟ้า ขอแค่เพียงได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ แม้อาศัยอยู่ในกรงขังก็มีอิสรภาพได้เช่นกัน!

สิบกว่าปีที่ Stroud ถูกแยกขังเดี่ยว ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับใคร จนกระทั่งได้รับเลี้ยงดูแลลูกนก บังเกิดความรับผิดชอบ ค้นพบเป้าหมาย(ชีวิต) ต้องการจะทำบางอย่าง(ให้ลูกนก) ระหว่างพยายามร้องขอสิ่งข้าวจากผู้คุม อีกฝ่ายจู่ๆระเบิดอารมณ์ ระบายความรู้สึกอัดอั้น ทำให้เขาเพิ่งเริ่มตระหนักถึงตัวตนเองที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ในตอนแรกยืนหลบข้างประตู ก่อนก้าวออกมาเผชิญหน้า ยินยอมรับสารภาพผิด พูดกล่าวคำขอโทษ ต่อจากนี้จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่

ภาพการถือกำเนิดลูกนก ฟักออกจากไข่ ช่างมีความงดงาม มหัศจรรย์ พบเห็นการต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน อยากมีชีวิตของสัตว์ทุกชนิด นี่จักคือบทเรียน(ชีวิต)ของ Stroud และสามารถใช้เป็นจุดกำเนิด เริ่มต้นการเป็น Birdman of Leavenworth 

หนังใช้นกประมาณ 400 ตัวในห้องขัง ได้รับการฝึกฝนจาก Harold Sodaman (1922-2016) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยง ฝึกฝน ขยายพันธุ์นก (Aviculture) หนึ่งในผู้บุกเบิกทำการแสดงนก เคยเป็นประธาน The National Bird Show, กรรมการตัดสิน American Federation of Aviculture, ร่วมก่อตั้ง International Gloster Breeders Association และ International Old Variety Canary Association ถือเป็นบุคคลสำคัญแห่งวงการเลี้ยงนกเลยก็ว่าได้!

Birdman of Alcatraz

มารดาพยายามเกลี้ยกล่อมเกลาบุตรชาย ให้เลิกราหย่าร้างภรรยา เพราะไม่ชอบขี้หน้าผู้หญิงคนนั้น มีการนำเสนอ ‘Mise-en-scène’ น่าสนใจทีเดียว

  • มารดาเข้ามาโอบกอด โน้มน้าว ยืนค้ำศีรษะ พยายามชักจูงบุตรชายให้เลิกราหย่าร้างภรรยาคนนั้น
  • แต่ทว่า Stroud กลับลุกขึ้นยืน หันมาเผชิญหน้า บอกปัดปฏิเสธ ไม่อยากแสดงความคิดเห็นใดๆ
  • สองภาพสุดท้าย แม่-ลูกยืนอยู่คนละเฟรม แถม Stroud ยังหันหลังให้ มองหน้ากันไม่ติดอีกต่อไป

แม้ธุรกิจค้าขายนกจะดำเนินไปด้วยดี มีการขยับขยาย ทุบกำแพงห้องขัง แต่ทว่ามารดากลับปฏิเสธคำร้องขอทัณฑ์บนบุตรชาย เชื่อว่าห้องขังคือสถานที่ปลอดภัย ทำให้เขาตัดสินใจเผาทำลายรูปภาพถ่าย (สื่อถึงความตายของมารดาได้ด้วยเช่นกัน) … ภาพช็อตนี้เหมือนต้องการสื่อถึงการทลายกำแพงห้องขัง/เอาชนะข้อจำกัดบางอย่างสังคม แต่ต้องแลกกับการสูญเสียบางสิ่งอย่าง

หนังใช้ชนวนเหตุถูกปฏิเสธทัณฑ์บน (รวมถึงการเสียชีวิตของมารดา) ทำให้ Stroud สูญเสียการควบคุมตนเอง แอบลักลอบปรุงเหล้าในเรือนจำ ดื่มด่ำเมามาย ปลดปล่อยนกทั้งหมดออกจากรัง (มุมกล้องเอียงๆ เฉียงๆ Dutch Angle) ภายหลังถูกค้นพบโดยผู้คุม ได้รับคำสั่งย้ายไปอยู่เรือนจำ Alcatraz สั่งห้ามเลี้ยงนกอีกต่อไป

ปล. จริงๆน่าจะมีอธิบายสักหน่อยว่าหลังถูกย้ายเรือนจำ นกของ Stroud ที่เลี้ยงไว้จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกมัน? ได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ? หรือถูกส่งต่อภรรยา/หุ้นส่วน Elizabeth McCartney Stroud? หรือขายให้ผู้เพาะพันธุ์นก? 

เมื่อครั้นได้รับกล้องจุลทรรศน์ ส่องเห็นเซลล์ขนาดเล็ก ราวกับได้เปิดประตู ก้าวออกสู่โลกใบใหม่ นั่นคืออิสรภาพของ Stroud ไม่จำเป็นต้องโบยบินบนท้องฟากฟ้า ยังสามารถศึกษาค้นคว้า ทำการทดลอง วิจัยจุลภาคชีวิต ตีพิมพ์หนังสือ Diseases of Canaries (1933) กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์เกี่ยวกับนก ได้รับการยกย่องจากคนในแวดวงปักษีวิทยา (Ornithology)

Alcatraz Island หรือ The Rock เกาะเล็กๆห่างจากชายฝั่ง 1.25 ไมล์ (2.01 กิโลเมตร) ในอ่าว San Francisco Bay, California แรกเริ่มได้รับการจดบันทึกโดยนักสำรวจชาวสเปน Juan Manuel de Ayala ตั้งชื่อ Alcatraz แปลว่า Pelican, นกกระทุ้ง (เลยได้รับฉายา Bird Island) ต่อมากลายเป็นที่ตั้ง Fort Alcatraz จนกระทั่งช่วงระหว่าง American Civil War (1861-65) ถึงมีเริ่มก่อสร้างห้องขังนักโทษ

กระทรวงยุติธรรม (United States Department of Justice) เมื่อได้รับกรรมสิทธิ์ใน Alcatraz ปรับเปลี่ยนเกาะแห่งนี้ให้กลายเป็น Alcatraz Federal Penitentiary ก่อสร้างเรือนจำสมัยใหม่ ถูกสุขอนามัย เปิดใช้บริการครั้งแรก 11 สิงหาคม ค.ศ. 1934, สำหรับ Stroud ย้ายเข้ามาอยู่เรือนจำ Alcatraz ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1942 หมายเลขนักโทษ No. 594 อาศัยอยู่ในบล็อก D 

แม้จะมีห้องขังใหม่เอี่ยมอ่อง สะอาดสะอ้าน ถูกสุขอนามัย แต่ทว่าปัญหาแท้จริงของระบบเรือนจำ/ทัณฑวิทยา (Penology) ดังคำอธิบายของ Stroud ระหว่างสนทนากับพัศดี Shoemaker อยู่ที่ทัศนคติของผู้คุม พยายามสร้างบรรทัดฐานให้นักโทษต้องปฏิบัติตามโน่นนี่นั่น แต่การทำเช่นนั้นจักทำให้พวกเขาสูญเสียอัตลักษณ์ ความเป็นตัวของตนเอง … การปฏิบัติตามกฎหมาย ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อระบบ ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมเสมอไป!

ถ้าสมัยยังหนุ่มๆ Stroud อาจเป็นบุคคลแรกๆเข้าร่วมยุทธการแหกคุก! แต่หลังจากได้เรียนรู้ เติบโต ค้นพบอะไรมากมาย เข้าใจความหมาย ตระหนักว่าสิ่งสำคัญสูงสุดก็คือการมีชีวิต! พยายามเสี้ยมสอนคนรุ่นใหม่ ไม่ควรนำมากล้า-ท้า-เสี่ยง พร่ำบ่นถึงความสิ้นหวัง ทุกข์ทรมาน  ถึงอย่างนั้นพวกเขากลับไม่เห็นคุณค่าใดๆ อยู่ไปทำไม ตายไปเสียยังดีกว่า

มันไม่มีเหตุผล ความจำเป็นใดๆที่ Stroud จักต้องแหกคุกในวัย 60-70 ปี มันไม่ใช่ว่ากลัวการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ แต่เขาค้นพบอิสรภาพของตนเองนานแล้ว ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ขวนขวายออกจากเรือนจำอีกต่อไป

เมื่อปี ค.ศ. 1959, Stroud ย้ายออกจากเรือนจำ Alcatraz ไปพักรักษาตัวอยู่ยัง Medical Center for Federal Prisoners ณ Springfield, Missouri มีนักข่าวเข้ามาสอบถามถึงโลกยุคสมัยใหม่ เขาแหงนหน้ามองท้องฟ้า พบเห็นเครื่องบิน Boeing 707 พรรณาคุณสมบัติโน่นนี่นั่น กล่าวว่าเรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่ปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง นักโทษสามารถรับรู้ข่าวสาร เรียนรู้จักโลกกว้าง ค้นพบอิสรภาพในตัวตนเอง “Just because a man’s in prison doesn’t mean he’s a boob.”

ตัดต่อโดย Edward Mann (1912-99) ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นหนังเกรดบี แต่ก็พอมีเรื่องเด่นๆ อาทิ Public Enemies (1941), Attack of the 50 Foot Woman (1958), Birdman of Alcatraz (1962) ฯ

นำเสนอผ่านมุมมองของ Robert Stroud ตั้งแต่ถูกส่งตัวจาก Alaska มาจองจำยัง Leavenworth Prison หลังเข่นฆ่าผู้คุม ถูกตัดสินโทษประหาร ก่อนมารดายื่นอุทธรณ์ปธน. Woodrow Wilson ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ระหว่างแยกขังเดี่ยวให้ความช่วยเหลือลูกนกได้รับบาดเจ็บ เกิดความเอ็นดู สงสารเห็นใจ ช่วยเหลือจนเติบใหญ่ กลายเป็น Birdman of Alcatraz

  • อารัมบท
    • Opening Credit
    • Thomas E. Gaddis เจ้าของหนังสือชีวประวัติ Birdman of Alcatraz พรรณาสรรพคุณของ Robert Stroud เฝ้ารอคอยพบเจอในวันที่กำลังจะย้ายออกจากเรือนจำ Alcatraz
  • การมาถึงของ Robert Stroud
    • ระหว่างโดยสารรถไฟมายัง Leavenworth Prison ในตู้โดยสารมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว Stroud จึงทุบกระจกแตก 
    • พบเจอพัศดีคู่อาฆาต Harvey Shoemaker
    • ร้อยเรียงชีวิตในเรือนจำ ทำงานแผนกซักรีด
    • ไม่พึงพอใจผู้คุมที่ปฏิเสธมารดาไม่ให้เข้าเยี่ยม จึงลงมืดฆาตกรรม
    • ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ทว่ามารดายื่นอุทธรณ์ต่อปธน. Woodrow Wilson ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
  • Birdman of Leavenworth 
    • ระหว่างถูกคุกขังเดี่ยว พบเจอลูกนกตกลงมาจากต้นไม้ ให้ความช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล เลี้ยงดูจนเติบใหญ่
    • Stroud ทำการแสดงนก สร้างความประทับใจให้พัศดีคนใหม่ อนุญาตให้เขาเลี้ยงนกในห้องขัง
    • วันเวลาว่างๆ Stroud ทำการทดลอง งานวิจัย รักษาโรคสำเร็จ
    • นักวิจัยสาว Stella Johnson เดินทางมาเยี่ยมเยียน Stroud ในเรือนจำ รับหน้าสื่อทำธุรกิจซื้อขายนก
    • มีออกกฎหมายไม่ให้นักโทษเลี้ยงสัตว์ รวมถึงทำธุรกิจในเรือนจำ, Stroud จึงครุ่นคิดหาวิธีโต้ตอบจนได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
    • หลังจากมารดาปฏิเสธทัณฑ์บนของบุตรชาย, ผู้คุมจับได้ว่าเขาแอบผลิตแอลกอฮอล์ในห้องขัง เลยถูกสั่งย้ายไปยังเรือนจำ Alcatraz 
  • Birdman of Alcatraz 
    • หวนกลับมาพบเจอพัศดีคู่อาฆาต Harvey Shoemaker ไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงนกในห้องขัง
    • วันว่างๆ Stroud เขียนหนังสือชีวประวัติ และประวัติศาสตร์ระบบเรือนจำ สร้างความไม่พึงพอใจให้พัศดี
    • Battle of Alcatraz (1946) ปฏิเสธเข้าร่วมปฏิบัติการแหกคุก หลังจากสองหัวโจ๊กถูกยิงเสียชีวิต ยินยอมศิโรราบต่อพัศดี ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้
    • ภายหลังการเสียชีวิตของพัศดีคู่อาฆาต และสุขภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆของ Stroud ทำให้ถูกย้ายไปพักรักษาตัวอยู่ Medical Center for Federal Prisoners

บทหนังของ Trosper ยึดตามชีวประวัติของ Robert Stroud แทบจะเป๊ะๆ (ตามคำร้องของโปรดิวเซอร์) ทำให้ฉบับตัดต่อแรก (Rough Cut) ความยาวกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งพอตัดทิ้งเรื่องราวใช้ไม่ได้ มีเยอะจนต้องถ่ายซ่อมใหม่หลายฉาก ก่อนจบลงที่หนังความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งผมก็ยังรู้สึกเยิ่นยาวเกินไปอยู่ดี!


เพลงประกอบโดย Elmer Bernstein (1922-2004) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Leonard Bernstein) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจหลายอย่าง วาดรูป นักเต้น นักแสดง กระทั่งได้ทุนการศึกษาร่ำเรียนเปียโนตอนอายุ 12 ก่อนค้นพบความชื่นชอบด้านการประพันธ์เพลง (อิทธิพลจาก Aaron Copland) เริ่มมีผลงานประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50s อาทิ The Man with the Golden Arm (1955), The Ten Commandments (1956), Sweet Smell of Success (1957), Some Came Running (1958), The Magnificent Seven (1960), To Kill a Mockingbird (1962), The Great Escape (1963), True Grit (1969), Airplane! (1980), Cape Fear (1991), The Age of Innocence (1993), Far from Heaven (2002), คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง Thoroughly Modern Millie (1967)

คนส่วนใหญ่อาจดจำผลงานเพลงของ Bernstien ถึงความเว่อวังอลังการกับแจ็สวงใหญ่ ไม่ก็ออร์เคสตราเต็มวง แต่เขายังมีด้านอ่อนไหวเหมือน Burt Lancaster (และตัวละคร Robert Stroud) รังสรรค์เพลงประกอบ Birdman of Alcatraz (1962) ด้วยความละมุน นุ่มลึก นกน้อยโผบิน อิสรภาพจิตวิญญาณ

แซว: ในปีเดียวกันนี้ Elmer Bernstein ยังทำเพลงประกอบหนังนกอีกเรื่อง To Kill a Mockingbird (1962) ซาบซิ้งกินใจไม่แพ้กัน

เพลงประกอบของหนังเริ่มมีความน่าสนใจเมื่อ Stroud พบเจอลูกนกตกลงมาจากต้นไม้ บทเพลง The Sparrow คือตัวแทนเจ้านกกระจอกตัวนั้น มันช่างน่ารัก บริสุทธิ์ สดใส ไม่รับรู้/ไม่สนใจว่าอีกฝ่ายคือนักโทษ อาชญากรเคยกระทำสิ่งชั่วร้าย เพียงบุคคลเคยให้ความช่วยเหลือ เลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ เกิดความสนิทสนม ไว้เนื้อเชื่อใจ ต่อโบยบินไปแค่ไกลแค่ไหนก็ยังคงหวนกลับมา

ตลอดระยะเวลาที่ Stroud มีสถานะ Birdman of Leavenworth บทเพลงได้ยินล้วนมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย หลากหลายอารมณ์ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งสีสัน โดยเฉพาะบทเพลง The Birth วินาทีแรกเกิดลูกนกฟักออกจากไข่ มันช่างงดงาม ซาบซึ้ง มหัศจรรย์แห่งชีวิต = การถือกำเนิดใหม่ของ Stroud

ทิ้งท้ายกับบทเพลง Leaving the Rock เริ่มต้นประมาณวินาทีที่ 0:50 ได้ยินประสานเสียงเชลโลทุ้มต่ำ สร้างสัมผัสโหยหวน คร่ำครวญ หัวใจว้าเหว่ คงเพราะเรือนจำคือบ้านของ Stroud มากนานกว่า 40+ ปี คงมีความหวาดกังวลต่อการเปลี่ยนแปลง อิสรภาพชีวิตที่แทบจะหลงลืมไปแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ไม่ถูกห้อมล้อมรอบด้วยผนังกำแพงอีกต่อไป

Robert Stroud คือชายหัวขบถ อารมณ์ร้อน ชอบใช้ความรุนแรง ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เข่นฆ่าผู้คุมอย่างเลือดเย็น โดยไม่รู้สาสำนึกถูก-ผิด ดี-ชั่ว กลายเป็นภัยคุกคาม เลยได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต!

พฤติกรรมต่อต้านสังคมของ Stroud ทำให้เขาถูกตีตราอาชญากรชั่วร้าย ฆาตกรเลือดเย็น แต่นั่นคือการตัดสินของศาล ผู้พิพากษา ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบ้านเมือง พิจารณาคดีความจากหลักฐาน พยาน การแสดงออกของผู้ต้องสงสัย ถึงอย่างนั้นไม่มีใครรับรู้จักสันดาน ธาตุแท้ตัวตน เบื้องหลังเท็จจริง … ผมขอเรียกว่าการตัดสินทางโลกก็แล้วกัน!

When they kept on questioning him, he straightened up and said to them, “Let any one of you who is without sin be the first to throw a stone at her.

John 8:7

การตัดสินทางธรรม ไม่ว่าจะพุทธหรือคริสต์ล้วนพิจารณาจากความตั้งใจเป็นหลัก การกระทำของ Stroud อาจดูโฉดชั่วร้าย ฆ่าคนตาย แต่อีกฝ่าย/ผู้คุมก็มีความเลือดเย็น เห็นแก่ตัวไม่แพ้กัน ปฏิเสธมารดาไม่ให้เข้าเยี่ยม แถมยังมาพูดอวดอ้าง สายตาดูถูกเหยียดหยาม … ผมไม่ได้จะสื่อว่าการกระทำของ Stroud ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราควรต้องทำความเข้าใจมุมมองทั้งสองฟากฝั่ง แล้วจักพบว่าต่างฝ่ายต่างก็มีความชั่วร้ายไม่แตกต่างกัน

แม้รอดพ้นโทษประหาร Stroud ยังต้องถูกคุมขัง ติดคุกตลอดชีวิต! การอยู่ตัวคนเดียวทำให้เขามีเวลาครุ่นคิด ทบทวนตนเอง แล้วราวกับโชคชะตาฟ้าลิขิต พบเจอลูกนกตกจากต้นไม้ ตัดสินใจรับเลี้ยงดูแล กลายเป็นนักวิจัยรักษาโรค ทำคุณงามความดีความชอบ สร้างคุณูประโยชน์แก่สังคม นั่นราวกับการไถ่โทษ/ไถ่บาป (Redemption) แม้มันอาจไม่สามารถลบล้างความผิด แต่ก็ทำให้จิตวิญญาณได้รับการปลดปล่อย 

อิสรภาพไม่จำเป็นว่าต้องมีลักษณะทางกายภาพ โบกโบยบินเหมือนนกบนท้องฟ้า ดำเนินเดินทางไปยังสถานที่ทุกแห่งหน หรือกระทำสิ่งต่างๆตอบสนองตัณหาอารมณ์ แท้จริงแล้วมันคือความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณที่ไม่หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับวัตถุ สิ่งข้าวของ ขนบกฎกรอบ กำแพงห้อมล้อมรอบ หรือถูกพันธนาการคุมขัง … อิสรภาพแท้จริงคือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทนทุกข์ทรมานในไตรภพภูมิ

ระบบสตูดิโอ Hollywood ตั้งแต่ไหนแต่ไรเลื่องชื่อลือชาในการควบคุมครอบงำ ไม่แตกต่างจากระบบเรือนจำ ผู้กำกับคือนักโทษที่ต้องก้มหัวศิโรราบ คอยปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อตอนผกก. Charles Crichton เดินทางมาสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ ครุ่นคิดว่าตนเองคงได้รับอิสระในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ แต่ที่ไหนได้ ยังกะ Alcatraz

ผกก. Frankenheimer ก็คงรู้สึกเฉกเช่นเดียวกัน เพราะแทบไม่มี ‘input’ ใดๆกับภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงมองว่าตนเองเป็นเพียงมือปืนรับจ้าง ถ่ายทำหนังตามคำสั่งโปรดิวเซอร์ ก้มหัวศิโรราบต่อระบบ … ผลลัพท์มันจึงเป็นความขัดย้อนแย้งในตนเองระหว่างภาพยนตร์ และจิตวิญญาณผู้สร้าง


ด้วยทุนสร้าง $2.6 ล้านเหรียญ แม้เสียงตอบรับจะดียอดเยี่ยม แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ รายรับในสหรัฐอเมริกาเพียง $3 ล้านเหรียญ อาจเป็นเหตุผลที่หนังพลาดเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

  • Academy Award
    • Best Actor (Burt Lancaster)
    • Best Supporting Actor (Telly Savalas)
    • Best Supporting Actress (Thelma Ritter)
    • Best Cinematography, Black-and-White
  • Golden Globe Awards
    • Best Actor – Drama (Burt Lancaster)
    • Best Supporting Actress (Thelma Ritter)
  • Venice International Film Festival
    • Volpi Cup for Best Actor (Burt Lancaster) **คว้ารางวัล
    • San Giorgio Prize

ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ เพียงสแกนใหม่ HD Digital Transfer เมื่อปี ค.ศ. 2018 สามารถหาซื้อ Blu-Ray คอลเลคชั่น Master of Cinema ของค่าย Eureka Entertainment

ส่วนตัวค่อนข้างเสียดายอะไรหลายๆ เพราะการเปลี่ยนผู้กำกับกลางคัน (เอาจริงๆผมอยากเห็นวิสัยทัศน์ของ Charles Crichton น่าสนใจว่าจะทำออกมาเช่นไร) มันเลยทำให้ทิศทางหนังไขว้เขวไปไกล ทั้งๆที่มีนักแสดงชั้นเลิศ บทยอดเยี่ยม แต่ดูจบแทบไม่หลงเหลืออะไรให้จดจำ

ผมมีความสองจิตสองใจว่าจะจัดเข้ากลุ่ม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะแนวคิดเกี่ยวกับอิสรภาพแท้จริงอยู่ภายในจิตวิญญาณ เป็นสิ่งทรงคุณค่าอย่างมากๆ แต่ทิศทางของหนังไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกนึกคิดเช่นนั้น ออกไปทางเรียกร้องสิทธินักโทษ การเผชิญหน้าระหว่างบุคคล vs. กฏหมาย/ประเทศชาติ เลยขอละเอาไว้ก็แล้วกัน!

จัดเรต 13+ ความรุนแรงในเรือนจำ

คำโปรย | Birdman of Alcatraz แม้ว่า Burt Lancaster ถูกจองจำ ติดคุกตลอดชีวิต แต่อิสรภาพแท้จริงอยู่ภายในจิตวิญญาณ 
คุณภาพ | โบยบิน
ส่วนตัว | ปลิดปลิว

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: