Cool Hand Luke

Cool Hand Luke

Cool Hand Luke (1967) hollywood : Stuart Rosenberg ♥♥♥♥♡

เรื่องราวของ Luke (บทบาทยอดเยี่ยมที่สุดของ Paul Newman) ผู้มีความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ เป็นที่รักของเพื่อนนักโทษ พยายามหลบหนีจากค่ายแรงงาน (Chain Gang) แต่จนแล้วจนรอดถูกจับกลับมา จนหมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาต่อตนเอง-พระเจ้า เลยจำยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อระบบ

What we’ve got here is failure to communicate. Some men you just can’t reach. So you get what we had here last week, which is the way he wants it. Well, he gets it. And I don’t like it any more than you men.

ผู้คุมพยายามทำทุกสิ่งอย่างให้นักโทษก้มหัวศิโรราบ ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับ ปฏิบัติตามคำสั่งทุกสิ่งอย่าง, แต่ในทิศทางตรงกันข้าม นักโทษก็พยายามต่อต้านขัดขืน หาหนทางแหกกฎระเบียบ ดิ้นหลบหนีจากการถูกจองจำ … นี่คือลักษณะของ ‘failure to communicate’ ไม่มีทางที่มนุษย์ทุกคนจะสามารถพูดคุยสื่อสาร แล้วเกิดความเข้าใจตรงกัน

เรื่องราวของ Cool Hand Luke (1967) เริ่มต้นอย่างเท่ห์ พิสูจน์ตนเองจนได้รับการยินยอมรับจากเพื่อนนักโทษ ทำในสิ่งไม่มีใครหาญกล้า หลบหนีจากค่ายแรงงาน (Chain Gang) กลายเป็นวีรบุรุษ ฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่ แต่พอถูกจับกลับมากลายสภาพเหมือนหมา เลียแข้งเลียขาผู้คุม ร้องขอให้ไม่ลงโทษ ทัณฑ์ทรมาน ยินยอมก้มหัวศิโรราบ กลายเป็นทาสรับใช้ ใครพบเห็นย่อมต้องสิ้นสูญเสื่อมศรัทธา

ผมนึกถึงปรากฎการณ์ล่าสุดที่เกิดกับ Joker (2019) หนึ่งในภาพยนตร์ Anti-Hero ประสบความสำเร็จสูงสุด นั่นเพราะ Arthur Fleck ได้ทำในสิ่งโคตรเท่ห์ เจ๋งเป้ง กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อต้านระบบ (Anti-Establishment) แต่การกลับมาของภาคต่อ Joker: Folie à Deux (2024) กลับกลายสภาพเหมือนหมา นำเสนอสิ่งแตกต่างตรงกันข้ามต่อความคาดหวังผู้ชม … นี่คือลักษณะของ ‘failure to communicate’ อีกเช่นกัน!

(ผมยังไม่ได้รับชม Joker: Folie à Deux (2024) แค่อ่านจากหลายๆบทวิเคราะห์วิจารณ์ เลยคิดว่าน่าจะสะท้อนใจความสำคัญของ Cool Hand Luke (1967) ได้กระมัง)

นอกจากพล็อตเรื่องราวที่โคตรๆลึกล้ำ คำคมทรงพลัง ยังการแสดงของ Paul Newman แม้พลาดรางวัล Oscar: Best Actor แต่น่าจะเป็นบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต! ครึ่งแรกอย่างหล่อ โคตรเท่ห์ มาดนักเลง ก่อนกลายสภาพเหมือนหมา เลียแข้งเลียขาผู้คุม มันช่างสุดโต่ง ขั้วตรงข้าม ใบหน้าแห่งความสิ้นหวัง และรอยยิ้มที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืม


Stuart Rosenberg (1927-2007) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Beverly Hills, California โตขึ้นร่ำเรียนวรรณกรรม Irish ณ New York University ก่อนทำงานตัดต่อรายการโทรทัศน์ ไต่เต้าขึ้นมากำกับซีรีย์ดังๆอย่าง Alfred Hitchcock Presents (1955-62), Naked City (1958-63), Twilight Zone (1959-64), คว้ารางวัล Emmy Award: Best Director จาก The Defenders (1961-65), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Murder, Inc. (1960) แต่ความล่าช้าเพราะประท้วงหยุดงานของ Screen Actors Guild และ Writers Guild เลยจำต้องส่งไม้ต่อให้โปรดิวเซอร์ Burt Balaban, ผลงานเด่นๆ อาทิ Question 7 (1961), Cool Hand Luke (1967), The Amityville Horror (1979) ฯ

ต้นฉบับของ Cool Hand Luke คือนวนิยายชื่อเดียวกันของ Donn Pearce ชื่อจริง Donald Mills Pearce (1928-2017) นำจากประสบการณ์ตรงหลังออกจากทหารเรือ United States Merchant Marine ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พอปลดประจำการออกมากลายเป็นนักปลอมแปลง (Counterfeiter) ไขตู้เซฟ (Safecracker) หลังโดนจับกุม ถูกส่งไปค่ายแรงงาน (Chain Gang) ณ Florida Department of Corrections นานสองปี!

หลังจากนวนิยายตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1965 ก็ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์แก่สตูดิโอ Warner Bros. สนราคา $80,000 เหรียญ และเพิ่มอีก $15,000 สำหรับดัดแปลงบทภาพยนตร์ แต่เนื่องจาก Pearce ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้นัก พอบทร่างแรกจึงส่งต่อให้ Frank R. Pierson  (ว่าที่ผู้กำกับ A Star Is Born (1976)) ช่วยขัดเกลาจนเสร็จสิ้น

เกร็ด: สิ่งเดียวที่ผกก. Rosenberg ปรับเปลี่ยนจากบทหนังระหว่างถ่ายทำ คือแก้ไขตอนจบให้มีลักษณะ “upbeat ending” และแทรกใส่รอยยิ้มที่เป็นเครื่องหมายการค้าของ Paul Newman


ช่วงต้นทศวรรษ 1950s ณ Florida, ทหารผ่านศึกประดับเหรียญเกียรติยศ Lucas ‘Luke’ Jackson (รับบทโดย Paul Newman) หลังจากดื่มเหล้ามึนเมา ทำลายทรัพย์สินราชการ ลักขโมยมิเตอร์ที่จอดรถ โดนตำรวจจับกุม ถูกส่งไปค่ายแรงงาน (Chain Gang) ระยะเวลาสองปี Luke เป็นคนปากเก่ง หัวขบถ ปฏิเสธก้มหัวให้ใคร

แรกเริ่มเผชิญหน้าหัวหน้านักโทษ Dragline (รับบทโดย George Kennedy) ท้าชกต่อยแต่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ต่อมาเล่นชนะโป๊กเกอร์โดยที่ไม่มีอะไรในมือ เลยได้รับฉายา ‘Cool Hand Luke’ กลายเป็นบุคคลได้รับนับหน้าถือตาจากเพื่อนๆนักโทษ

ภายหลังมารดาเสียชีวิต Luke ตัดสินใจหลบหนีออกจากค่ายนักโทษ แต่จนแล้วจนรอดถูกผู้คุมไล่ล่าติดตามกลับมาสำเร็จ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายล่อหลอกว่ายินยอมศิโรราบ จำนนต่อผู้คุม แล้วจู่ๆขับรถบรรทุกหลบหนีร่วมกับ Dragline ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถไปไหนได้ไกล โดนล้อมจับในโบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง


Paul Leonard Newman (1925-2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Shaker Heights, Ohio ในครอบครัว Jewish ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แสดงเป็นตัวตลกในละครเวทีของโรงเรียน โตขึ้นอาสาสมัครทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สังกัด Pacific Theater ไม่ได้ขับเรือรบเพราะตาบอดสี, ปลดประจำการออกมาเข้าเรียน Kenyon College จบ Bachelor of Arts ต่อมากลายเป็นลูกศิษย์ของ Lee Stransberg ที่ Actors Studio, เริ่มทำงานเป็นนักแสดง Broadway สู่วงการภาพยนตร์ด้วยการแข่งขันกับ James Dean เรื่อง East of Eden (1955) แม้จะไม่ได้บทแต่กลายเป็นตัวตายตัวแทน (หลัง Dean พลันด่วนเสียชีวิต) Somebody Up There Likes Me (1956) กับ The Left Handed Gun (1958), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Long, Hot Summer (1958), ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Exodus (1960), The Hustler (1961), Cool Hand Luke (1967), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), The Sting (1973), The Verdict (1982), คว้ารางวัล Oscar: Best Actor เรื่อง The Color of Money (1986) ฯ

รับบท Lucas ‘Luke’ Jackson ชายผู้มีความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ นิสัยหัวขบถ ปากเก่ง ไม่ชอบก้มหัวให้ใคร แต่ตนเองก็ไม่มีอะไร ภายในว่างเปล่า ไร้เป้าหมาย ไร้อนาคต ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เรียกร้องความสนใจไปวันๆ สามารถหลบหนีออกจากค่ายแรงงานหลายต่อหลายครั้ง แล้วยังไงต่อ? สนทนากับพระเจ้าก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

ในตอนแรกผกก. Rosenberg ทำการติดต่อ Jack Lemmon อ่านบทแล้วชื่นชอบมากๆ ถึงขนาดตอบรับเป็นโปรดิวเซอร์ ดูแลงานโปรดักชั่น Jalem Productions แต่เล็งเห็นว่าตนเองไม่เหมาะกับตัวละคร และอาจคือคนแนะนำ Paul Newman ด้วยกระมัง

Newman เมื่ออ่านต้นฉบับนวนิยายก็มีความสนอกสนใจมากๆเช่นกัน พอได้เซ็นสัญญา เตรียมตัวด้วยการเดินทางไปรัฐตอนใต้ West Virginia พูดคุยกับชาวบ้าน สังเกตกิริยาท่าทาง ฝึกฝนสำเนียง Southern นั่นคือส่วนยากสุดของการแสดงก็ว่าได้!

เรื่องความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ คือภาพจำของ Newman ติดตัวมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แต่ทว่าจุดเปลี่ยนคือ Cool Hand Luke (1967) หลังจากถูกจับกลับมาครั้งแรก ครั้งที่สอง วินาทียินยอมรับความพ่ายแพ้ ศิโรราบต่อผู้คุม นั่นทำให้ใครต่อใครแทบหัวใจแตกสลาย หมดสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา แม้ภายหลังอาจมองว่าเป็นการเล่นละคอนตบตา แต่เจ้าตัวก็รับสารภาพว่าวินาทีนั้นถูกทำลายจริงๆ … ต่อให้เข้มแข็งแกร่งเพียงไหน น้ำหยดลงหิน สักวันหินมันยังกร่อน

Could another actor than Paul Newman have played the role and gotten away with it? Of the stars at the time, I would not be able to supply one. Warren Beatty? Steve McQueen? Lee Marvin? They would have the presence and stamina, but would have lacked the smile. The physical presence of Paul Newman is the reason this movie works: The smile, the innocent blue eyes, the lack of strutting. Look at his gentle behavior in the touching scene with his mother (Jo Van Fleet)… Newman as a star had a powerful unforced charisma: We liked him. Could Kennedy have descried Lee Marvin as “you wild, beautiful thing?”
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

บรรดาบทบาททั้งหมดของ Newman ผมครุ่นคิดว่า Cool Hand Luke (1967) น่าจะเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด! มีทั้งความหล่อเท่ห์ รอยยิ้มที่เป็นเครื่องหมายการค้า และความสุดขั้วตรงข้าม สภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง หมาจนตรอก ความพยายามหลบหนีไม่ใช่แค่ออกจากค่ายแรงงาน แต่ยังรวมถึงตัวตนเอง (ตัวแทนชาวอเมริกาทศวรรษ 1960s)

แซว: ในขณะที่ใครต่อใครต่างประทับใจการแสดงของ Newman แต่ทว่าผู้แต่งนวนิยาย Donn Pearce กลับไม่ชอบทั้งตัวหนัง “They screwed it up ninety-nine different ways.” และให้ความเห็นต่อ Newman ว่า “too scrawny”


George Harris Kennedy Jr. (1925-2016) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, โตขึ้นอาสาสมัครทหารราบในสังกัดของ General George S. Patton รับใช้ชาตินาน 16 ปี ประดับยศกัปตัน และได้รับเหรียญ Bronze Star ถึงสองครั้ง! ปลดประจำการเพราะอาการบาดเจ็บแผ่นหลัง, เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดง Sitcom ตัวประกอบซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์นับร้อยๆเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Cool Hand Luke (1967), Airport (1970), Thunderbolt and Lightfoot (1974) ฯ

รับบท Clarence ‘Dragline’ Slidell หัวหน้านักโทษ แรกพบเจอไม่ค่อยถูกชะตากับ Luke เพราะอีกฝ่ายคอยพูดจาหาเรื่อง ทนไม่ไหวจึงท้าชกต่อย หมัดแล้วหมัดเล่า ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้ จนยินยอมรับนับถือน้ำใจ หลังจากพ่ายแพ้เกมโป๊กเกอร์ ตั้งฉายาให้ ‘Cool Hand Luke’ กลายเป็นสาวกอันดับหนึ่ง แสดงความเชื่อมั่น ยกยอปอปั้น แม้ตอนก้มหัวให้ผู้คุมจะมีไขว้เขวไปบ้าง แต่พอพบเห็นขับรถหลบหนีเลยเกาะติดตาม ด้วยรูปร่างบึกบึน สูงใหญ่

ก่อนหน้านี้ Kennedy จึงมักได้เล่นบทตัวร้าย จนกลายเป็น ‘typecast’ สำหรับภาพยนตร์ Cool Hand Luke (1967) เริ่มต้นเป็นหัวหน้านักโทษ ไม่ถูกชะตาพระเอก แต่หลังจากกลายเป็นแฟนคลับ/สาวกอันดับหนึ่ง เชื่อมั่นในทุกสิ่งอย่างที่เขาทำ นั่นคือการพลิกบทบาทครั้งสำคัญที่สุดในอาชีพการงานเลยก็ว่าได้

แต่ไฮไลท์ที่ใครต่อใครมักเปรียบเทียบกับ Judas คือหลังจากร่วมกันหลบหนีครั้งสุดท้ายแล้วถูกล้อมจับกุม อาสาเข้ามาโน้มน้าว Luke ให้ยินยอมจำนน พบเห็นอีกฝ่ายตอบปฏิเสธ ถูกยิงเสียชีวิต ใบหน้าตกตะลึง แต่หลังจากเหตุการณ์วันนั้นกลับพูดบอกใครต่อใคร “You know, that Luke smile of his. He had it on his face right to the very end.” นั่นแสดงถึงมิตรภาพ ความจงรักภักดี … เขาอาจไม่ใช่ตำนาน แต่คือผู้สร้างตำนาน อัครสาวกที่แท้จริง!

เมื่อตอนประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง Oscar ปีนั้นมีตัวเต็งหลายคนในสาขา Best Supporting Actor หลังพลาดรางวัล Golden Globe ทุ่มเงิน $5,000 เหรียญ ซื้อโฆษณา โปรโมทตนเองจนคว้ารางวัลสำเร็จ! ทำให้ชีวิตหลังจากนั้นสบายขึ้นเยอะ ได้ค่าจ้างเพิ่มสิบเท่า “the happiest part was that I didn’t have to play only villains anymore”.


ถ่ายภาพโดย Conrad Lafcadio Hall (1926-2003) ตากล้องสัญชาติ French Polynesian เกิดที่ Papeete, Tahiti (ขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคม French Polynesia) บิดาคือ James Norman Hall ผู้แต่งนวนิยาย Mutiny on the Bounty (1932), โตขึ้นเข้าศึกษาคณะวารสารศาสตร์ University of Southern California แต่เกรดไม่ค่อยดีเคยย้ายไปเรียนภาพยนตร์ USC’s School of Cinema-Television (ปัจจุบันคือ USC School of Cinematic Arts) ได้เป็นลูกศิษย์ของ Slavko Vorkapić, หลังเรียนจบร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นก่อตั้งสตูดิโอ Canyon Films สรรค์สร้างโฆษณา สารคดี หนังสั้น ทำให้ Hall กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง ถ่ายทำซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Wild Seed (1964), ผลงานเด่นๆ อาทิ Morituri (1965), The Professionals (1966), In Cold Blood (1967), Cool Hand Luke (1967), คว้าสามรางวัล Oscar: Best Cinematography ประกอบด้วย Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), American Beauty (1999) และ Road to Perdition (2002)

แม้พื้นหลังจะคือรัฐทางตอนใต้ (Deep South) แต่ทว่าหนังปักหลักถ่ายทำ สร้างค่ายแรงงานขึ้นยัง Stockton, California ไม่ห่างไกลจาก San Joaquin River Delta โดยส่งทีมงานไปบันทึกภาพ เก็บรายละเอียด Tavares Road Prison ณ Florida สถานที่ที่ผู้เขียนนวนิยาย Donn Pearce เคยต้องโทษใช้แรงงาน (Chain Gang)

การเลือกสถานที่ Stockton, California ซึ่งความรกร้าง เวิ่งว้าง ท้องทุ้งกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ลีลาการถ่ายภาพของ Conrad ด้วยกล้อง Panavision อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.35:1) ช่วยสร้างสัมผัสมอดไหม้ ร้อนระอุ นักโทษใช้แรงงานหนัก ทำงานเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด เหงื่อไคลไหลย้อย เปลอะเปลื้อน เกรอะกรัง มันช่างอึดอัด ทุกข์ทรมานใจยิ่งนัก

The director, Stuart Rosenberg, working with the great cinematographer Conrad Hall, evokes the punishing heat of the location, where shirts stick to skin and dust sticks to everything. The prisoners cut weeds, dig ditches, and tar roads–in the road job, urged on by Luke to shove gravel on fresh oil so quickly the boss can hardly keep up.
นักวิจารณ์ Roger Ebert

หนังเริ่มต้นด้วย Luke ในสภาพมึนเมากำลังงัดแงะมิเตอร์ที่จอดรถ ถือเป็นการทำลายทรัพย์สินราชการ มีความผิดทางกฎหมาย แต่ทำไมต้องมิเตอร์ที่จอดรถ? ผมมองว่าต้องการสื่อถึงทุกแห่งหน(ในสหรัฐอเมริกา)ล้วนมีเจ้าของ ใครบางคนครอบครอง แสวงหาผลประโยชน์ เข้าจอดรถก็ต้องจ่ายเงินตามกฎระเบียบข้อบังคับ บีบรัดมัดแน่น ไร้อิสรภาพแท้จริง

การกระทำของ Luke ก็เพื่อปลดปล่อยตนเอง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยใคร ผมอ่านเจอว่าฉากนี้ถ่ายทำยัง Lodi, California ซึ่งทีมงานลงมืองัดแงะมิเตอร์ที่จอดรถจริงๆ (แต่ขออนุญาตทางการแล้วนะครับ) หลังถ่ายทำเสร็จก็ถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นหลายปีกว่าจะเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นจุดท่องเที่ยว มีคนแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่สักพักใหญ่ๆ

แซว: นอกจากข้อความ Violation (ละเมิด, ฝ่าฝืน) วินาทีที่ Luke ลงมืองัดแงะมิเตอร์ที่จอดรถ ไฟจราจรด้านหลังยังเปลี่ยนเป็นแสงสีแดง ในกรณีนี้เหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่าห้ามกระทำผิดกฎหมาย

ในขณะที่นักโทษใหม่ต้องมาห้อมล้อมรอบ รายงานตัวต่อหัวหน้านักโทษ Dragline (นั่งอยู่ด้านหลัง) แต่ทว่าเทพบุตร Luke กลับไม่สนใจใยดี แยกตัวออกมา ยืนหันหลัง แถมยังแอบนินทาลับหลังอีกต่างหาก

การเลือกใช้กล้อง Panavision อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.35:1) ทำให้ภาพมีขนาดกว้างใหญ่ สามารถยัดเยียดนักแสดงจำนวนมากเข้ามาในเฟรมโดยไม่รู้สึกแออัดคับแคบ และยังสามารถละเล่นกับตำแหน่ง ระยะทาง รายละเอียดพื้นหลัง รวมถึงทิวทัศน์ไกลสุดลูกหูลูกตา

แม้ส่วนตัวจะไม่ชอบซีเควนซ์นี้สักเท่าไหร่ แต่ลีลาการนำเสนอถือว่าเซ็กซี่ เร้าใจ ตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างหญิงสาวกำลังล้างรถ กับบรรดานักโทษที่พยายามสรรหาข้ออ้างระหว่างการขุดดิน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแอบถ้ำมอง ส่งเสียงกระเจี๊ยวกระจ๊าว ‘stereotypes’ ของบุรุษหิวกระหายสตรีเพศ

ลีลาตัดต่อสลับกลับไปกลับมาแบบนี้ ชัดเจนว่าทั้งสองฟากฝั่งไม่ได้ถ่ายทำพร้อมกัน Joy Harmon ใช้เวลานานถึงสามวัน จากแผนการเดิมแค่ครึ่งวันเท่านั้น ไม่มีใครรู้เพราะอะไร? ฟุตเทจยาวกว่า 80,000 ฟุต เก็บไว้แห่งหนไหน??

Somewhere…there’s 80,000 feet of film with Joy Harmon washing that car!
George Kennedy

ส่วนฟากฝั่งหนุ่มๆ ด้วยความที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำภรรยา/แฟนสาวเข้ามาในกองถ่าย (หลับนอนจริงๆในห้องขังที่สร้างขึ้น) พอถึงซีนนี้ก็นำพาเชียร์ลีดเดอร์สาววัย 15 ปี หน้าตายังละอ่อน ปลุกความหื่นกระหายของนักแสดงได้เป็นอย่างดี

Luke ไม่ชอบความปากเก่ง อวดอ้างตนเองของ Dragline วางตัวเป็นใหญ่ สร้างกฎระเบียบขึ้นมาห้อมล้อมรอบ จึงท้าชกต่อยวันหยุดสุดสัปดาห์ แน่นอนว่าสู้ไม่ได้ ขนาดร่างกายแตกต่างกันมาก ถึงอย่างนั้นเขากลับไม่ยินยอมพ่ายแพ้ ล้มแล้วลุก ครั้งแล้วครั้งเล่า จากเสียงเชียร์กลายเป็นเงียบงัน จากความเกลียดชังแปรเปลี่ยนเป็นให้ความเคารพนับถือ

ซีเควนซ์นี้ใช้เวลาถ่ายทำถึงสามวัน ถึงมันชกกันหลอกๆแต่ก็ทำเอา Newman ล้มกลิ้ง หัวทิ่มหัวตำ เพราะต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลาจนหมดเรี่ยวแรงจริงๆ

เกมไพ่โป๊กเกอร์ ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ตัวตนของ Luke ทั้งๆในมือไม่ได้มีไพ่อะไร แต่กลับกล้าคุยข่ม (Buff) จนผู้เล่นคนอื่นยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยปริยาย (ย้อนรอยตอนชกต่อยกับ Dragline สู้ไม่ได้แต่ปฏิเสธยินยอมรับความพ่ายแพ้ จนอีกฝ่ายแพ้ใจตนเอง) ด้วยเหตุนี้ Dragline จึงมอบฉายา ‘Cool Hand Luke’ ทำตัวหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ แต่ภายในกลวงโบ๋ ว่างเปล่า ไม่มีอะไรสักสิ่งอย่าง!

การสนทนาระหว่าง Luke กับมารดา Arletta Jackson (รับบทโดย Jo Van Fleet) สำหรับผู้ชมหนังครั้งแรกอาจรู้สึกเยิ่นเย้อ ยือยาวนาน คุยอะไรกันไม่รู้จบจักสิ้น แต่เมื่อคุณหวนกลับมาดูหนังรอบถัดๆไป ตระหนักว่านี่คือครั้งแรก ครั้งเดียว ครั้งสุดท้ายที่แม่-ลูกจะได้พูดคุย พบเจอหน้า มันจะมีความเจ็บปวด จุกแน่นอก ต่างคนต่างไม่อยากให้เห็นตนเองในสภาพนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่พลัดพรากจากลา กลายเป็นรับรู้สึกว่าฉากนี้สั้นเกินไปเสียด้วยซ้ำ –“

แซว: แตกต่างจากฉากสาวล้างรถ Jo Van Fleet ไม่ได้มีเวลาว่างมากนัก คิวของเธอแค่วันเดียวกับบทสนทนาแปดหน้ากระดาษ โชคดีว่าทั้งเธอและ Newman ต่างเคยเป็นนักแสดงละคอนเวที มีประสบการณ์ท่องบทยาวๆ เลยสามารถพานผ่านฉากนี้ตามกำหนดการ

หลังการสนทนาสิ้นสุด ต่างฝ่ายต่างแยกย้าย จะได้ยิน Harry Dean Stanton ขับร้อง+เล่นแบนโจ บทเพลง Just a Closer Walk With Thee

Just a closer walk with Thee
Grant it, Jesus, is my plea
Daily walking close to Thee
Let it be, dear Lord Let it be
Through the days of toil that’s near
If I fall, dear Lord, who cares?
Who but Thee My burden shares?
None but Thee, dear Lord None but Thee

วันดีคืนดี Luke ท้าทาย Dragline แข่งขันกันตักทรายราดยางมะตอย (Road Tarring) นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหมู่นักโทษ Chain Gang เพราะโดยปกติต่างขี้เกียจคร้าน สันหลังยาว จะรีบเร่งไปทำไม ทำงานเสร็จเร็วผู้คุมอาจหางานอื่นให้ทำ แต่ทว่าวันนี้พอยางมะตอยหมด ไม่ได้เตรียมการอะไรเผื่อไว้ ก็เท่ากับว่างานเสร็จ เวลาที่เหลือคือหยุดพักผ่อน

เหตุการณ์นี้บังเกิดขึ้นได้เพราะ Luke (และ Dragline) คือศูนย์กลางทางจิตใจของบรรดานักโทษ ทั้งสองทำตัวเป็นต้นแบบอย่าง ใครๆจึงเลียนแบบตาม ปรากฎว่าได้ผลลัพท์ที่คาดไม่ถึง งานเสร็จเร็ว มีเวลาหลงเหลือ ราวกับได้รับชัยชนะ … ใจตนเอง?

ระหว่างการประกาศชัยชนะของ Luke มีการซ้อนภาพผู้คุม และกล้องเคลื่อนเลื่อนไปยังป้าย STOP นี่เคลือบแฝงนัยยะถึงความไม่พึงพอใจ(ของผู้คุม) เพราะนายคนนี้เข้ามาสร้างความวุ่นวาย ทำลายวิถีเคยเป็น สามารถปลุกระดม กลายเป็นที่พึ่งพึงของฝูงชน … นั่นคือสิ่งที่พวกผู้อำนาจ/ชนชั้นปกครองไม่ต้องการอย่างยิ่ง

วันดีคืนดี Luke ประกาศกร้าวจะกินไข่ต้ม 50 ฟอง! มันช่างเป็นกิจกรรมไร้สาระจะคุย บางคนมองว่ามันคือการท้าทายขีดจำกัดตนเอง แต่เอาจริงๆมีแค่นักกินจุเท่านั้นที่จะทำได้! ในบริบทนี้ผมมองเหมือนการสร้างปาฏิหารย์เสียมากกว่า! และพอทำสำเร็จ เขาก็นอนแผ่พังพาบ กางมือสองข้าง ราวกับพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน … วินาทีที่ Luke กลายเป็นวีรบุรุษ พระผู้มาไถ่ ได้รับนับหน้าถือตาจากบรรดาสมาชิกนักโทษในค่ายแรงงานแห่งนี้

แซว: มีการต้มไข่เตรียมไว้ 200 ฟอง แต่ทว่า Newman รับประทานจริงแค่ 8 ฟอง! ที่เหลือแจกจ่ายนักแสดง ทีมงาน ทำเอาท้องอืดกันเป็นทิวแถว

วันหนึ่งจู่ๆฟ้าฝนพรำลงมา ทั้งนักโทษและผู้คุมต่างรีบวิ่งขึ้นรถหลบฝน แสดงความหวาดกลัวต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ หลงเหลือเพียง Luke ชายผู้ไม่กลัวเปียกปอน ไม่กลัวห่าเห่วอะไรทั้งนั้น พร้อมท้าทายทุกสิ่งอย่าง ไม่เว้นแม้แต่พระบิดาผู้สร้าง อยากได้อะไรให้บอกมา

ซึ่งสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ในค่ำคืนนี้ (ภายนอกฝนยังตกอยู่เลย) คือจดหมายแจ้งว่ามารดาของ Luke ได้เสียชีวิตลง นั่นสร้างความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง เดินไปนั่งบนเตียง (บรรดาเพื่อนนักโทษต่างร่วมใจกันเดินไปด้านหลัง เพื่อให้เวลา Luke ได้อยู่ตามลำพัง) เล่นแบนโจ-ขับร้องเพลง Plastic Jesus

จริงๆเนื้อร้องแฝงความหมายถึงการมีไม้กางเขน/พระเยซูติดตัวไปทุกหนแห่ง แต่ในบริบทนี้อาจสามารถสื่อถึง ‘พลาสติก’ วัสดุสำเร็จรูป ไร้มูลค่า ไร้ราคาทางจิตใจ เพียงใช้อำนวยความสะดวก ตอบสนองประโยชน์บางอย่างเท่านั้นเอง

นี่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์การตัดต่อ นักโทษต่างกำลังเฉลิมฉลอง ขับร้อง-เล่น-เต้น วันชาติ 4 กรกฎาคม (Independence Day) ตัดสลับกลับไปกลับมากับ Luke ทำการเลื่อยพื้นไม้ (เสียงร้องรำทำเพลง กลบเสียงเลื่อยไม้ได้อย่างแนบเนียน) เตรียมตัวประกาศอิสรภาพ/หลบหนีออกจากเรือนจำ

ส่วนวินาทีที่ Luke มุดหายตัวออกจากเรือนจำ Dragline ล่อหลอกให้ผู้คุมอ่านข้อความในหนังสือ สังเกตจากท่าทางกระอักกระอ่วน คาดเดาไม่ยากว่าต้องมีเนื้อหา 18+ แต่ยังไม่ทันที่จะอ่านจบ พลันล่มปากอ่าว เพราะเสียงวุ่นวายจากภายนอก นักโทษหลบหนี เกิดอาการคั่งค้างคา น้ำไม่ทันแตกก็แยกทาง

วิธีการที่ Luke ใช้หลบหนีจากสุนัขดมกลิ่น คือกระโดดไปกระโดดมา ข้ามรั้วฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง บุกป่าฝ่าดง ห้วยหนองคลองพึง ฯ กระทำสารพัดวิธีเพื่อกลบกลิ่น ไม่ให้ถูกไล่ล่าติดตาม … ผมชอบฉากกระโดดรั้วไปมา มันเคลือบแฝงนัยยะถึงการไม่ยินยอมอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ ชอบที่จะแหก แหวก ข้ามไปข้ามมา อิสรภาพไร้ขอบเขตจำกัด

What we’ve got here is failure to communicate. Some men you just can’t reach. So you get what we had here last week, which is the way he wants it. Well, he gets it. And I don’t like it any more than you men.
พัศดี/Captain

เกร็ด: คำพูดนี้ของพัศดี/Captain (รับบทโดย Strother Martin) ได้กลายเป็นคำคมยอดนิยมของหนัง AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes #ติดอันดับ 11

คำกล่าวนี้ของพัศดี/Captain ฟังดูหรูหรา เหมือนผู้มีการศึกษาสูง ซึ่งผู้เขียนนวนิยาย Donn Pearce ได้ให้ข้ออ้างว่าผู้คุมต้องผ่านการฝึกอบรมอาชญากรวิทยา (Criminology) และทัณฑวิทยา (Penology) ถึงสามารถดำรงตำแหน่งพัศดีประจำทัณฑสถาน แสดงว่าต้องมีความรู้ระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจดจำมาจากแห่งหนไหนก็ได้เช่นกัน

ช่วงท้ายของหนังตอนที่ Luke พูดว่า “What we’ve got here is a failure to communicate.” สังเกตว่ามีการเพิ่ม “a failure” ผมอ่านเจอว่าสามารถใช้ได้ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับบริบท ความจริงจังของผู้พูด

The omission of the “a” in the original delivery by Strother Martin adds to the character’s gruff and authoritative tone. However, when Paul Newman repeats the line later in the film, he includes the “a,” which emphasizes the phrase as a complete thought. สอบถามจาก AI Bard

ในบริบทของหนัง พัศดีต้องการสื่อสารถึงการกระทำของ Luke คนบางคนฟังหูซ้าย ทะลุหูขวา ปฏิเสธทำตามกฎระเบียบข้อบังคับ ครุ่นคิดว่าตนเองสามารถดิ้นหลบหนี แต่ท้ายที่สุดย่อมไม่มีหนทางรอด แถมเมื่อถูกจับกลับมาจักต้องโดนทัณฑ์ทรมานหนักกว่าเก่า พูดเอาไว้เพื่อย้ำเตือนนักโทษคนอื่นๆ แต่เราสามารถตีความคำพูดประโยคนี้ สามารถสื่อถึงการสื่อสารไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาล/ชนชั้นผู้นำ กับประชาชนทั่วไป นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักพาดพิงถึงสงครามเวียดนาม ส่งทหารไปรบทำไม? ผมครุ่นคิดว่ามันยังมีประเด็นอื่นๆมากมาย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความพยายามปกปิดข่าวสาร ชวนเชื่อสร้างภาพ คอรัปชั่นภายในองค์กร ฯ

การหลบหนีครั้งที่สองเกิดขึ้นระหว่างแสร้งว่ากำลังถ่ายท้อง (Take a Shit) ต้องเขย่าต้นไม้ให้ผู้คุมพบเห็นว่ายังอยู่ตรงนั้น แต่ทว่า Luke แอบผูกเชือกแล้วดึงๆ พอพ้นระยะปืนถึงออกวิ่งหนี … เหมือนจะสื่อว่าการหลบหนีครั้งนี้ของ Luke ไม่ต่างจากการขอไปขี้ ถ่ายท้องเสร็จแล้วจะกลับมา

ระหว่างการหลบหนีครั้งที่สอง Luke ถ่ายภาพกับสองนางแบบ แนบใส่นิตยสาร ส่งมาให้กับ Dragline เพื่อเป็นการอวดอ้าง สร้างภาพ ทำตัวหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ แต่ยังไม่ทันไร ฉากถัดไปเมื่อถูกจับกลับมาค่ายแรงงาน เปิดเผยความจริงที่ไม่ใครเชื่อ ทั้งหมดคือของปลอม ภาพมายา ลวงหลอกตา ทำงานทั้งสัปดาห์กว่าจะได้ภาพถ่ายนี้มา … นี่ก็สะท้อนฉายา ‘Cool Hand Luke’ ภายในกลวงโบ๋ ว่างเปล่า ไม่มีห่าเหวอะไรทั้งนั้น!

ถูกจับกลับมาครั้งนี้ นอกจากล่ามโซ่ตรวนสองชั้น Luke ยังโดนลงทัณฑ์ กลั่นแกล้งจากบรรดาผู้คุม สั่งให้ขุดหลุม(ฝังศพ )แล้วกลบ แล้วขุด แล้วกลบ จนหมดเรี่ยวแรงกาย-ใจ ตกอยู่ในความสิ้นหวัง จำยินยอมก้มหัวศิโรราบ เลียแข้งเลียขา ขอเพียงให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานครั้งนี้

การทิ้งตัวลงนอนในหลุม(ศพ) คือสัญลักษณ์ของความตาย (ตัวตนเก่าได้ตายจากไป) จากนั้นฟื้นคืนชีพ (Resurrection) ลุกขึ้นมากลายเป็นคนใหม่ สุนัข/ทาสรับใช้ผู้คุม ไม่หลงเหลือความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ของ Cool Hand Luke อีกต่อไป

แซว: ระหว่างการขุดหลุมจะได้ยิน Harry Dean Stanton ขับร้องบทเพลง Ain’t No Grave ชื่อเต็มๆ There Ain’t No Grave Gonna Hold My Body Down บทเพลง Traditional American Gospel แต่งโดย Claude Ely (1922–1978) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 แต่บันทึกเสียงครั้งแรก ค.ศ. 1942 โดย Bozie Sturdivant

จากเคยเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ พอหลงเหลือสภาพเหมือนหมา กลับเข้ามาในโรงนอน ทุกคนต่างหันหลัง สำแดงความขี้ขลาดเขลา ปฏิเสธให้ความสนใจ ไม่มีใคร(แม้แต่ Dragline)จะเข้ามาช่วยเหลือพาขึ้นเตียง จนล้มลุกคลุกคลาน นอนกองอยู่บนพื้น ช่างเป็นภาพที่เศร้าสลดหดหู่ สำแดงสันดานธาตุแท้ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์กลับตีตนออกห่าง พระเอกต้องเป็นอย่างที่ต้องการเท่านั้นฤา?

After one punishment session, Luke pleads for mercy from the boss. The boys on the chain gang are stunned; how could good old Luke ever break down and surrender? Their vicarious hero has failed them and now they are left with nothing but their own cowardice. The movie hero used to be an inspiration, but recently he has become a substitute. We no longer want to be heroes ourselves, but we want to know that heroes are on the job in case we ever need one.
นักวิจารณ์ Roger Ebert

เต่า คือสัตว์สัญญะของสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด, Luke ถูกผู้คุมสั่งให้ไปเก็บขึ้นมา สำหรับปรุงอาหารกลางวัน แต่เขากลับใช้จังหวะนี้ขับรถหลบหนี (พร้อมกับ Dragline) แล้วปลดปล่อยสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เทกระจาดลงพื้น ถือเป็นการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

แทนที่ Luke จะทำการหลบหนี เขากลับมาหยุดอยู่ที่โบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง แล้วทำการพูดคุยสนทนากับพระบิดาผู้สร้าง อยากรับรู้เป้าหมายชีวิต เกิดมาทำไม? อยากให้ไปไหน? ปลายทางคืออะไร? แต่นั่นเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่เคยพูดบอก มนุษย์ต้องมองหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งคำตอบของพระเจ้าขณะนี้คือ Luke ถูกห้อมล้อมทุกทิศทาง ไม่สามารถดิ้นหลบหนี และยังส่ง Dragline มาโน้มน้าวให้ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยดี

แต่ทว่า Luke ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ แบบเดียวกับ Jesus Christ ไม่ยินยอมจำนนต่อจักรวรรดิโรมัน พยายามโต้ตอบพัศดี/Captain ด้วยคำเคยกล่าวของอีกฝ่าย ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดจาก “failure to communicate” และวินาทีนั้นแทนที่พวกเขาจะพูดคุยสนทนา กลับโต้ตอบด้วยความรุนแรง ใช้กระสุนปืนแก้ปัญหา … แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูต กลับเลือกใช้ความรุนแรง ส่งทหารเข้าร่วมสงคราม ส่งตำรวจหยุดยับยั้งการชุมนุมประท้วง ฯ นี่ถือเป็น “failure to communicate” อย่างแท้จริง

ปฏิกิริยาของ Luke หลังถูกยิง คือตกตะลึง คาดไม่ถึง สีหน้าซีดเผือก ตกอยู่ในความสิ้นหวัง หมดสูญศรัทธาต่อทุกสิ่งอย่าง มันช่างแตกต่างตรงกันข้ามกับคำบรรยายปัจฉิมบทของ Dragline พรรณาช่วงเวลาสุดท้าย(ของ Luke)ว่ายังคงเข้มแข็ง สำแดงรอยยิ้มแห่งชัยชนะ .. นี่มันหลอกลวงกันชัดๆเลยนี่หว่า?

That’s right. You know, that Luke smile of his. He had it on his face right to the very end. If they didn’t know it before they could tell right then that they weren’t ever gonna beat him. That old Luke smile. Oh, Luke. He was some boy. Cool Hand Luke, hell. He’s a natural-born world-shaker.
Clarence “Dragline” Slidell

ระหว่างที่รถฉุกเฉินนำพา Luke ไปส่งโรงพยาบาล สังเกตสัญญาณ(ของพระเจ้า)ไฟจราจร จะเปลี่ยนจากขาว(เขียว)เป็นแดง นั่นแสดงถึงจุดจบ ความตาย ไม่ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตต่อจากนี้

หลังการร้อยเรียง/ประมวลชุดภาพความทรงจำ + คำสรรเสริญเยินยอของ Dragline ภาพสุดท้ายของหนัง ‘Helicopter Shot’ เลือกถ่ายบริเวณสี่แยกที่ดูเหมือนสัญลักษณ์ไม้กางเขน ซ้อนภาพถ่าย Luke กับสาวๆ (ที่เคยส่งมาให้ตอนหลบหนีรอบสอง แล้วโดนฉีกทิ้งไปแล้ว) ราวกับภาพวิญญาณล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ ชายคนนี้ได้กลายเป็นอมตะนิรันดร์ของนักโทษในค่ายแรงงานแห่งนี้

ตัดต่อโดย Sam O’Steen (1923-2000) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Paragould, Arkansas แต่มาเติบโตยัง Burbank California ตั้งแต่เด็กใฝ่ฝันอยากทำงานสตูดิโอ Warner Bros. เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อนานแปดปี ก่อนได้รับเครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก Youngblood Hawke (1964), ผลงานเด่นๆ อาทิ Who’s Afraid of Virginia Woolf (1966), Cool Hand Luke (1967), The Graduate (1967), Rosemary’s Baby (1968), Chinatown (1974), Silkwood (1983) ฯ หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Luke ตั้งแต่ถูกจับกุม ส่งตัวมายังค่ายแรงงาน ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตนักโทษ หลังจากมารดาเสียชีวิต พยายามหาหนทางหลบหนี ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ล้วนโดนผู้คุมไล่ล่าติดตามกลับมา จนกระทั่งครั้งสุดท้ายหนีไปพร้อมกับ Dragline ก่อนจนมุมยังโบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง

  • นักโทษชื่อ Luke
    • Luke ลักขโมยมิเตอร์ที่จอดรถ ถูกจับกุม ส่งตัวมายังค่ายแรงงาน
    • ได้รับการต้อนรับจากพัศดี เรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ
    • หนึ่งวันทำงานของนักโทษ ตื่นเช้า ขึ้นรถ ทำงานตัดหญ้า เดินทางกลับ ใครคนหนึ่งถูกแยกขังเดี่ยว
    • บรรดานักโทษกับหญิงสาวล้างรถ
    • Luke ท้าต่อยกับ Dragline
    • ค่ำคืนนั้นเล่นโป๊กเกอร์ชนะ ได้รับฉายา Cool Hand Luke
  • Luke และมารดา
    • มารดาเดินทางมาเยี่ยมเยียน Luke
    • เช้าวันถัดมา Luke แข่งขันทำงานกับ Dragline
    • อีกหลายวันถัดมา Luke ทานไข่ต้ม 50 ฟอง
    • ระหว่างทำงานฝนตก มีเพียง Luke ทำการ Singin’ in the Rain
    • Luke ได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตมารดา จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ค่ำคืนนี้เลยถูกขังแยกเดี่ยว
  • ความพยายามหลบหนีของ Luke
    • Luke ทำการเลื่อยพื้นระหว่างเพื่อนนักโทษกำลังร้องเล่นดนตรี หลบหนีออกจากค่ายแรงงาน
    • ผู้คุมพยายามไล่ล่าติดตาม แต่เจ้าสุนัขหมดแรงไปเสียก่อน
    • Luke ถูกจับกลับมา ล่ามโซ่ตรวน แต่ก็พยายามหลบหนีเป็นครั้งที่สอง
    • หายไปครั้งนี้ Luke ส่งจดหมายพร้อมรูปถ่ายเคียงข้างสาวๆมาให้กับ Dragline
  • Luke ผู้สิ้นหวัง
    • Luke ถูกจับกลับมาในสภาพโดนซ้อมหนัก
    • Luke ถูกผู้คุมสั่งให้ขุดหลุม กลบดิน ขุดหลุม กลบดิน จนตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง
    • Luke ยินยอมศิโรราบต่อผู้คุม กลายเป็นทาสรับใช้ ก่อนหาจังหวะขับรถหลบหนี โดยมี Dragline เกาะติดตามมาด้วย
    • ค่ำคืนนี้ Luke และ Dragline ถูกต้อนจบมุมในโบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง
    • คำไว้อาลัยของ Dragline ต่อ Luke ผู้กลายตำนาน

ช่วงแรกๆของหนังอาจมีความเอื่อยเฉื่อย ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ฉากสนทนา Luke กับมารดาช่างเยิ่นยาวนานเหลือทน แต่ครึ่งหลังเหมือนเร่งความเร็วขึ้นพอสมควร ดูกระชับ เนื้อหาน่าติดตาม แตกต่างตรงกันข้ามกับครึ่งแรกโดยสิ้นเชิง!

ลีลาการตัดต่อก็มีความแพรวพราวอยู่ไม่น้อย ชอบที่จะตัดสลับกลับไปกลับมา (มีสองไฮไลท์ หญิงสาวล้างรถและตอน Luke หลบหนีครั้งแรก) ไม่ก็ร้อยเรียงปฏิกิริยาสีหน้าบรรดานักโทษ ต่างคนต่างแสดงออกต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นแตกต่างกันไป


เพลงประกอบโดย Boris Claudio ‘Lalo’ Schifrin (เกิดปี ค.ศ. 1932) นักเปียโน/นักแต่งเพลง สัญชาติ Argentine เกิดที่ Buenos Aires ในครอบครัวเชื้อสาย Jews บิดาเป็นนักไวโอลินวงออร์เคสตรา ตัวเขาเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ มีความสนใจในดนตรี Jazz โตขึ้นเข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ University of Buenos Aires ก่อนได้ทุนเรียนดนตรี Conservatoire de Paris, เมื่อเดินทางกลับ Argentina ก่อตั้งวงดนตรี Jazz Orchestra ทั้งเล่นทั้งแต่ง ออกอัลบัมแรก Buenos Aires Blues (1963), จากนั้นมีโอกาสเซ็นสัญญาสตูดิโอ MGM เดินทางสู่ Hollywood โด่งดังจาก Main Theme ซีรีย์ Mission Impossible, ภาพยนตร์ Cool Hand Luke (1967), Bullitt (1968), Dirty Harry (1971), THX 1138 (1971), Starsky and Hutch (1975), The Amityville Horror (1979), The String II (1983), Rush Hour (1998) ฯ

ด้วยความที่หนังมีพื้นหลัง Deep South บทเพลง Main Theme จึงเลือกใช้เครื่องสายกีตาร์ แบนโจ ฮาร์โมนิก้า ฯ สไตล์ดนตรี Bluegrass สร้างบรรยากาศ Southern พรรณาความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า โหยหาบางสิ่งอย่าง/ใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง เพื่อนำทางชีวิตให้บังเกิดประกายความหวัง

Tar Sequence เป็นบทเพลงที่ไม่มีใครคาดคิดถึงว่าจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม! หลายๆสถานีโทรทัศน์ในเครือ ABC, Nine Network (ของ Australia) ฯ นำมาใช้เป็น ‘Music Package’ สำหรับนำเข้าสู่รายการข่าว เพราะท่วงทำนองมีความตื่นเต้น รุกเร้าใจ บังเกิดไฟในการทำงาน (ไฟ = ความกระตือลือร้นที่จะทำบางสิ่งอย่าง)

เกร็ด: ว่ากันว่าหนึ่งในสาเหตุที่ Tar Sequence ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะท่วงทำนองมีความละม้ายคล้ายกับเสียงของโทรเลข (Telegraph) สำหรับติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข่าวสาร

ในบรรดาบทเพลงทั้งหมดของหนัง ผมครุ่นคิดว่า Egg Eating Contest มีความแพรวพราว จัดจ้าน อลังการงานสร้างที่สุดแล้ว ทำการผสมผสานหลากหลายท่วงทำนองคุ้นหู มาบรรเลงด้วยสารพัดเครื่องดนตรีคันทรี่ พื้นบ้านอเมริกันตอนใต้ (เหมารวมเรียก Bluegrass) ลูกเล่นที่ผมชอบสุดคือการสลับเปลี่ยนเครื่องดนตรี ขลุ่ย ฮาร์โมนิก้า ทรัมเป็ต แล้วจบลงด้วยไวโอลิน เพื่อสร้างความตื่นเต้น เร้าใจ จังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อีกบทเพลงที่โชว์อ็อฟสลับเปลี่ยนเครื่องดนตรีไปเรื่อยๆก็คือ Criss-Crossing the Fence ระหว่างหลบหนี(ครั้งแรก) Luke กระโดดซ้ายที ขวาที ปีนป่ายข้ามคูคลอง พยายามทำให้เจ้าสุนัขดมกลิ่น หมดสิ้นเรี่ยวแรง … ผู้คุมที่วิ่งติดตามก็เช่นกัน

อีกบทเพลงที่ต้องกล่าวถึงคือ Plastic Jesus (1954) บทเพลง American Folk Song แต่งโดย Ed Rush & George Cromarty ในหนังขับร้อง+เล่นแบนโจโดย Paul Newman หลังจาก Luke ทราบข่าวการเสียชีวิตของมารดา

Newman ไม่มีความสามารถด้านการร้องเพลง หรือเล่นแบนโจ แต่ยืนกรานว่าต้องการร้อง-เล่นบทเพลงนี้ด้วยตนเอง จึงทำการฝึกฝนจาก Harry Dean Stanton (ที่ขับร้องหลายบทเพลงในหนัง) จนสามารถเข้าฉาก ถ่ายทำวันรองสุดท้ายก่อนปิดกล้อง อาจไม่ได้ไพเราะเพราะพริ้ง แต่กลั่นความรู้สึกออกมาอย่างทรงพลัง จับจิตจับใจ เศร้าโศกเสียใจ ยากจะกลั้นหลั่งธารน้ำตา

I don’t care if it rains or freezes
As long as I got my plastic Jesus
Sittin’ on the dashboard of my car
Comes in colors, pink and pleasant
Glows in the dark, ’cause iridescent
Take it with you when you travel far
Get yourself a sweet madonna
Dressed in rhinestone, settin’ on
A pedestal of Abalone Shells
Goin’ 90, I ain’t scary
Cause I got the Virgin Mary
Assuring me that I won’t go to hell

Luke เทพบุตรสุดหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ นิสัยหัวขบถ ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ชอบก้มหัวศิโรราบใคร จึงพยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางหลบหนีออกจากค่ายแรงงาน แต่จุดประสงค์แท้จริงนั้นไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า ไร้เป้าหมาย เหมือนตอนเล่นไฟโป๊กเกอร์ ในมือไม่มีไพ่อะไร เพียงทำเก๋ไก๋ เลยได้รับฉายา ‘Cool Hand Luke’

เรื่องราวของหนังมีพื้นหลังต้นทศวรรษ 1950s พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาไม่นาน Luke คือทหารผ่านศึก ประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ทว่ากลับทำตัวเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา นี่ชัดเจนถึงอาการ Shell Shock, PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีพลเรือน โหยหาชีวิตที่มีความตื่นเต้น ท้าทาย เสี่ยงอันตราย ใกล้ชิดความตาย

  • แรกเริ่มต้น Luke กระทำสิ่งท้าทายกฎหมาย ดื่มสุราเมามาย พยายามจะลักขโมยมิเตอร์ที่จอดรถ
  • พอเข้ามาในค่ายแรงงาน เผชิญหน้ากับหัวหน้านักโทษ Dragline ท้าชกต่อย ไม่ยินยอมรับพ่ายแพ้ เกมไพ่โป๊กเกอร์ รวมถึงการทานไข่ต้มด้วยเช่นกัน
  • ต่อมาคือการเผชิญหน้าผู้คุม/พัศดี พยายามหลบหนีออกจากค่ายแรงงาน แต่ทุกครั้งล้วนถูกไล่ล่า จับกุม ลากพาตัวกลับมา
  • การหลบหนีครั้งสุดท้ายเข้ามาในโบสถ์ร้าง พูดคุยสอบถามพระบิดาผู้สร้างถึงเป้าหมายชีวิต เกิดมาทำไม? อยากให้ฉันทำอะไร? พยายามท้าทายอำนาจจักรวาล แต่กลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ

ท้ายที่สุดแล้วนั้น Luke ก็ไม่สามารถหลบหนีจากอะไรสักสิ่งอย่าง ความพยายามทั้งหมดล้วนสูญเปล่า แถมตัวตนของเขายังถูกแปรสภาพกลายเป็นฮีโร่ วีรบุรุษ สัญลักษณ์ของการต่อสู้ บุคคลผู้ไม่เคยย่นย้อท้อแท้ ก้มหัวศิโรราบผู้อื่นใด ตายจากโลกนี้ด้วยรอยยิ้ม … ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงทุกสิ่งอย่าง!

การเปรียบเทียบที่พบเห็นบ่อยคือ Luke = Luke the Evangelist, นักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร (เสียชีวิตประมาณ ค.ศ. 84) นายแพทย์อาศัยอยู่ Antioch, Ancient Syria เพื่อนร่วมเดินทาง St. Paul the Apostle ต่างเป็นข้ารับใช้พระเจ้า ไม่เคยแต่งงาน ไม่เคยมีบุตร เต็มไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่มีความเชื่อว่าทรงเสียชีวิตแบบ Martyr’s Death (ถูกฆ่าด้วยเรื่องศาสนา) แขวนคอใต้ต้นมะกอก (Olive Tree)

แต่ผมว่าเปรียบเทียบ Luke = Jesus Christ น่าจะใกล้เคียงกว่า ต่างเป็นบุคคลกล้าคิด กล้าทำสิ่งแตกต่าง สร้างปาฏิหารย์ ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบต่อระบบ ทำให้ต้องทนทุกข์ ถูกทัณฑ์ทรมาน, เมื่อตอน Luke พยายามสนทนากับพระบิดาผู้สร้าง พระคัมภีร์ Gospel of Luke ก็มีการอ้างถึงพระเจ้าและ Jesus สนทนากันยัง Garden of Gethsemane, จากนั้น Dragline คล้าย Judas พยายามโน้มน้าวให้ Luke ยินยอมรับความพ่ายแพ้ ศิโรราบต่อผู้คุม

ผมรู้สึกว่าผู้เขียนนวนิยาย Donn Pearce แม้มีการอ้างอิงถึงมากมาย แต่ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาต่อศาสนา/พระเจ้ามากนัก ทั้งการสนทนาที่ไม่มีคำตอบ และหลังความตายของ Luke เรื่องเล่าปัจฉิมบทโดย Dragline ล้วนตรงกันข้ามกับความเป็นจริง … เหมือนต้องการจะสื่อว่าทุกสิ่งที่ Jesus Christ เสี้ยมสอนชาวโลกนั้นคือคำโป้ปด หลอกลวง สร้างภาพชวนเชื่อ ปรุงปั้นแต่งขึ้นมาโดยบรรดาสาวก แท้จริงแล้วกลวงเปล่าไม่ต่างจาก Luke?

เท่าที่อ่านจากหลายๆบทความวิจารณ์ ความคิดเห็นเกี่ยวกับหนัง ทำให้ผมแอบตกตะลึง คาดไม่ถึง รู้สึกสิ้นหวังอยู่เล็กๆ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่มักมองหนังเพียง ‘Cool Hand Luke’ พระเอกหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ จิตวิญญาณอันแน่วแน่ เข้มแข็งแกร่ง ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบต่อระบบ แบบเดียวกับตอนจบที่ Dragline พรรณาสรรพคุณความยิ่งใหญ่ ยกยอปอปั้นราวกับวีรบุรุษ ไม่มีใครจดจำว่าแท้จริงแล้วชายคนนี้ว่างเปล่า กลวงโบ๋ ภายในไม่มีอะไรสักสิ่งอย่าง ทั้งหมดเป็นเพียงการสร้างภาพชวนเชื่อ เพื่อให้เพื่อนนักโทษบังเกิดความหวัง ที่พึ่งพักพิงทางใจ

ผู้ชนะคือคนเขียนประวัติศาสตร์ ในบริบทนี้ Dragline กลายเป็นนักเล่าเรื่อง/ผู้เขียนตำนาน (คล้ายๆ Bard, Minstrel) ทำการปรุงปั้นแต่งเรื่องราว บิดเบือนเหตุการณ์ เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องการนำเสนออกมา … จะว่าไปผู้สร้างภาพยนตร์ ก็ไม่แตกต่างสักเท่าไหร่!

มาครุ่นคิดดู หนังสร้างขึ้นระหว่างสงครามเย็น (Cold War) ช่วงเวลาแห่งการสร้างภาพชวนเชื่อ โอ้อวด เบ่งกล้าม ฉันมีระเบิดนิวเคลียร์อานุภาพทำลายล้างมหาศาล แต่แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่มีอะไรสักสิ่งอย่าง กลวงโบ๋ ว่างเปล่า แค่การคุยข่ม (Buff) ของเกมไพ่โป๊กเกอร์ (Poker) เท่านั้นเอง!

โลกยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยการบิดเบือน สร้างภาพ สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองผลประโยชน์บางอย่าง นี่อาจไม่ใช่สิ่งผิดในมุมมองคนสมัยใหม่ ตราบใดไม่สร้างความเสียหาย หรือความจริงยังไม่ถูกขุดคุ้ย เปิดโปง แต่มันก็เป็นเรื่องเศร้าใจ สังคมแห่งการโกหกหลอกลวง จะหลงเหลือใคร/สิ่งใดสำหรับพึ่งพักพิงทางใจได้บ้างไหม?

“Failure to communicate” นี่ไม่ใช่การสื่อสารผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ผมมองว่าเป็นการปิดกั้น ปฏิเสธการสื่อสารเสียมากกว่า พระเจ้าไม่เคยบอกอะไรมนุษย์ รัฐบาลปกปิดความจริงต่อประชาชน ฯ ซึ่งเมื่อความจริงเหล่านั้นได้รับการเปิดเผย สิ่งหลงเหลือย่อมคือความเสื่อมสลาย หายนะ ความตาย


ด้วยทุนสร้าง $3.2 ล้านเหรียญ ด้วยเสียงตอบรับดีเยี่ยม สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $16.2 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แถมยังได้เข้าชิง Oscar, Golden Globe Award อีกหลายสาขา

  • Academy Award
    • Best Actor (Paul Newman)
    • Best Supporting Actor (George Kennedy) **คว้ารางวัล
    • Best Adapted Screenplay
    • Best Original Score
  • Golden Globe Award
    • Best Actor – Drama (Paul Newman)
    • Best Supporting Actor (George Kennedy)

ปัจจุบัน Warner Bros. ได้ทำการบูรณะ ‘digital restoraion คุณภาพ 4K Ultra HD สำหรับจัดจำหน่าย Blu-Ray เมื่อปี ค.ศ. 2023 หรือหารับชมออนไลท์ทางสตรีมมิ่งของ Prime Video, Apple TV ฯ

ครึ่งชั่วโมงแรกของหนังอาจดูเอื่อยๆเฉื่อยๆ แต่หลังจากต่อยมวยไม่ยอมแพ้ ทานไข่ต้ม 50 ฟอง ค้นพบความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ของ Paul Newman จักเริ่มรู้สึกน่าติดตามขึ้นมากๆ หลบหนีครั้งแรก หลบหนีครั้งสอง พอทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร บระเจ้าโจ้ก เรื่องราวมันลึกล้ำ เคลือบแฝงนัยยะซับซ้อน และจบลงอย่างขื่นขม ‘failure to communicate’

ผมละอยากจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่รู้สึกว่าผู้ชมส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงความลึกล้ำของหนัง เพียงมองแค่ความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ เรื่องราวของนักโทษพยายามหลบหนีจากเรือนจำ ปฏิเสธครึ่งหลังความจริงแบบเดียวกับ Joker: Folie à Deux (2024)

จัดเรต 15+ กับความรุนแรง นักโทษหลบหนี

คำโปรย | ความหล่อ เท่ห์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ของ Paul Newman ทำให้ Cool Hand Luke กลายเป็นอมตะนิรันดร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | โซคูล

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ในไทย คาดว่ามีการนำหนังเรื่องนี้มาสร้างเป็น “มนุษย์ 100 คุก” (2522) กำกับโดย ม.ร.ว.ธิติสาร สุริยง (หม่อมเบอะ) แสดงโดย ปิยะ ตระกูลราษฎร์ แม้จะอ้างว่าสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของ คำพูน บุญทวี ซึ่งช่วงแรกๆนั้นคงใช่ แต่ช่วงหลังๆไป จะสังเกตได้ว่า น่าจะลอกหนังเรื่องนี้เอามา มีดัดแปลงบางอย่างแตกต่างไปบ้าง แต่โดยรวมเหมือนกันมาก

%d bloggers like this: