The Hole (1960)
: Jacques Becker ♥♥♥♥
นักโทษห้าคนร่วมกันวางแผน ขุดอุโมงค์ หลบหนีออกจากเรือนจำ พล็อตเรื่องมีแค่นั้น แต่วิธีนำเสนอของผู้กำกับ Jacques Becker พยายามทำออกมาให้เรียบง่าย บริสุทธิ์
โดยปกติแล้วภาพยนตร์แนว ‘prison film’ หรือ ‘prison escape’ มักนำเสนอแรงจูงใจของนักโทษ เบื้องหลัง สาเหตุผล เพราะเหตุใด? ทำไม? ถึงต้องการแหกคุกหลบหนี
แต่ทว่า Le Trou หรือ The Hole หรือ The Night Watch จุดประสงค์เพียงนำเสนอวิธีการแหกคุก ขุดอุโมงค์ ตรงไปตรงมาแค่นั้น! ถึงขนาดว่าจ้างอดีตนักโทษมาเป็นที่ปรึกษา พยายามทำออกมาให้มีความซื่อตรง สมจริง ตั้งกล้องถ่ายทำนักแสดงผลัดกันทุบพื้นปูนความยาวสี่นาทีไม่มีตัดต่อ ไม่มีเปลี่ยนมุมกล้อง เห็นแล้วเหนื่อยแทน
การรังสรรค์ภาพยนตร์ด้วยวิธีการอันเรียบง่าย บริสุทธิ์ ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม ทำไมผกก. Becker มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ต้องการนำเสนออะไร? บอกใบ้ให้ว่า Le Trou (1960) คือผลงานเรื่องสุดท้าย เสียชีวิตก่อนหนังออกฉายเพียงสองสัปดาห์ ก็น่าจะตัดต่อเสร็จแล้วกระมัง
How many pages would be necessary to catalogue all the marvels of this masterpiece, of this film (Le Trou) which I consider — and I choose my words carefully — as the greatest French film ever made?
Jean-Pierre Melville
Jacques Becker (1906-60) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัว Upper-Middle Class บิดาคือคณะกรรมการบริษัทผลิตแบตเตอรี่ Fulmen Batteries ส่วนมารดาเป็นเจ้าของ Fashion House รับรู้จักคนในแวดวงบันเทิง ศิลปะ แรกพบเจอลุง Jean Renoir ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 มีความชื่นชอบหลายๆอย่างคล้ายคลึงกัน เลยได้รับชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Le Bled (1929), เป็นผู้ช่วยผู้กำกับถึง 9 เรื่อง อาทิ Boudu Saved from Drowning (1932), La Grande Illusion (1937), Partie de campagne (1946) [ถ่ายทำปี ค.ศ. 1936] ฯ
Becker เกือบได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก L’Or du Cristobal (1939) แต่จำต้องถอนตัวกลางคัน เพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ฝรั่งเศสถูกยึดครอง โดนทหารนาซีจับกุม กลายเป็นนักโทษสงคราม (Prisoner-of-War) ณ Pomerania อยู่ปีกว่าๆถึงได้รับการปล่อยตัว, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก (ที่กำกับเองทั้งหมด) Dernier Atout (1942), Goupi Mains Rouges (1943), รวบรวมกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ก่อตั้ง Comité de libération du cinéma français สรรค์สร้างสารคดีขนาดสั้น La Libération de Paris (1943) ออกฉายทันทีเมื่อทหารเยอรมันถอนทัพออกจากฝรั่งเศส!
ภายหลังสงคราม แนวทางภาพยนตร์ของผกก. Becker ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เน้นสร้างผลงานที่นำเสนอกิจวัตร ชีวิตประจำวันของคนหนุ่มชาวในฝรั่งเศส Antoine et Antoinette (1947), Rendezvous de juillet (1949), รังสรรค์ผลงานชิ้นเอก Casque d’or (1952), Touchez pas au grisbi (1954), Montparnasse 19 (1958)
สำหรับผลงานเรื่องสุดท้าย ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน Le Trou (1957) ชื่อภาษาอังกฤษ The Break แต่งโดย José Giovanni นามปากกาของ Joseph Damiani (1923-2004) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส (ก่อนโอนเป็น Swiss) ช่วงสงครามโลกครั้งสอง เข้าร่วมสมาชิก Milice française (ส่วนหนึ่งของรัฐบาล Vichy Government) เคยทำการกวาดต้อน จับกุม (รีดไถเงิน) ประหารชีวิตชาวยิว หลังสงครามจึงถูกตัดสินโทษประหารด้วยกีโยติน แต่รอดตายอย่างหวุดหวิดเพราะได้รับการอภัยโทษจากปธน. Vincent Auriol เปลี่ยนมาใช้แรงงานหนักตลอดชีวิต ภายหลังลดมาเหลือ 20 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัววันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1956 หลังจากติดคุกนาน 11 ปีครึ่ง!
หลังออกจากเรือนจำ Giovanni ผันตัวมาเป็นนักเขียนนวนิยาย ผลงานแรกแจ้งเกิด Le Trou (1957) นำจากเหตุการณ์จริง/ประสบการณ์ตรง เขาคือหนึ่งในนักโทษพยายามหลบหนีออกจากเรือนจำ La Santé Prison เมื่อปี ค.ศ. 1947, ผลงานเด่นๆอื่นๆที่ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ อาทิ Le deuxieme souffle (1958), Classe tous risques (1958), L’Excommunié (1959) ฯ
เห็นว่าผกก. Becker เคยอ่านข่าวนักโทษพยายามหลบหนีออกจากเรือนจำ La Santé Prison ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1947 ครุ่นคิดอยากดัดแปลงภาพยนตร์ แต่ไม่รู้จะทำออกมายังไง? จนกระทั่ง Robert Bresson สรรค์สร้าง A Man Escaped (1956) ตามด้วยค้นพบนวนิยาย Le Trou (1957) จึงรีบติดต่อผ่านสำนักพิมพ์ และชักชวน Giovanni ร่วมกันดัดแปลงบทภาพยนตร์
เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อ Claude Gaspard (รับบทโดย Marc Michel) ถูกโยกย้ายมาอยู่ห้องขังใหม่ ร่วมกับเพื่อนนักโทษอีกสี่คน Geo Cassine (รับบทโดย Michel Constantin), Roland Darbant (รับบทโดย Jean Keraudy), Manu Borelli (รับบทโดย Philippe Leroy) และ Vossellin/Monseigneur (รับบทโดย Raymond Meunier) พวกเขาต่างมีความสนิทสนม เพราะได้รับโทษสถานหนัก จึงจำต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน
นักโทษทั้งสี่พยายามสอบถามเหตุผลการติดคุกของ Gaspard เปิดเผยว่าแอบคบชู้น้องสาวภรรยา โดนจับได้ แก่งแย่งชิงอาวุธปืน กระสุนลั่น โดนตั้งข้อหาพยายามฆ่า ประมาณการณ์น่าจะติดคุกไม่น้อยกว่า 10-20 ปี เลวร้ายอาจถึงขั้นประหารชีวิต!
ด้วยเหตุนี้นักโทษทั้งสี่จึงตัดสินใจเปิดเผยรายละเอียด แผนการ เตรียมที่จะลงมือขุดอุโมงค์หลบหนี Gaspard ตัดสินใจตอบตกลงเข้าร่วม … ท้ายที่สุดพวกเขาทั้งห้าจะสามารถหลบหนีออกจากเรือนจำสำเร็จหรือไม่?
หลายคนอาจมักคุ้นกับทีมนักแสดงชุดนี้ ยกตัวอย่าง Marc Michel โด่งดังกับ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), หรืออย่าง Philippe Leroy เคยรับบท Leonardo Da Vinci จากมินิซีรีย์ The Life of Leonardo Davinci (1971) ได้เข้าชิง Emmy Award: Best Actor ฯ
แต่ทั้งหมดเมื่อตอนเล่นหนังเรื่องนี้ ต่างคือนักแสดงสมัครเล่น ไร้ประสบการณ์ ยังไม่เป็นที่คุ้นหน้าในวงการ บางคนอาจเคยพานผ่านละคอนเวที ตัวประกอบหนัง ก็หาใช่เรื่องสลักสำคัญประการใด เพราะการแสดงในหนังของผกก. Becker มุ่งเน้นความสมจริง เป็นธรรมชาติ ไม่เน้นขายศักยภาพด้านการแสดงสักเท่าไหร่
ในเครดิตขึ้นชื่อ(ปลอม) Jean Keraudy ผู้รับบท Roland Barbat (ก็คือ Roland Barbat ตัวจริงๆนะแหละ) เพื่อนร่วมห้องขัง José Giovanni ปรากฎตัวตอนเกริ่นนำ ร่วมแสดง (ปรากฎตัวบนโปสเตอร์หนัง ยืนอยู่ด้านหลัง) และยังเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำอธิบายด้านเทคนิคว่าต้องทำอะไรยังไง เห็นว่าตัวจริงเป็นบุตรของช่างตีเหล็ก (Blacksmith) โตขึ้นทำงานช่างยนต์ จึงมีความเชี่ยวชำนาญด้านกลไก ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองปล้นขบวนรถไฟเป็นว่าเล่น สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ถูกจับกุม หลบหนีจากเรือนจำมาแล้วหลายครั้ง จนได้รับฉายา ‘King of Escape’ โดยครั้งสุดท้ายตัดสินโทษจำคุก 9 ปี ณ La Santé Prison พยายามหลบหนีครั้งสุดท้าย ค.ศ. 1947
ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet (1924-81) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerp, Belgium ย้ายมาเรียนต่อ Paris แล้วได้สัญชาติเมื่อปี 1940, เริ่มต้นถ่ายทำหนังสั้น Night and Fog (1956), มีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Fire Within (1963), Au hasard Balthazar (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) ** คว้า Oscar: Best Cinematography
งานภาพของหนังมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ได้ใช้ลูกเล่นลีลา ภาษาภาพยนตร์ใดๆ เพียงเก็บรายละเอียด สิ่งที่ตัวละครกำลังกระทำ พยายามนำเสนอออกมาให้ดูสมจริง (Realist) เป็นธรรมชาติมากที่สุด
นอกจากทิวทัศน์กรุง Paris, ภายในเรือนจำ รวมถึงใต้ห้องขัง ล้วนเป็นการจำลองสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอทั้งหมด โดยอ้างอิงจากสถานที่จริง La Santé Prison ตามคำแนะนำของอดีตนักโทษเคยหลบหนีที่ว่าจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Consultants) ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 10 สัปดาห์
ตัดต่อโดย Marguerite Renoir และ Geneviève Vaury,
หนังเริ่มต้นที่การมาถึงของ Claude Gaspard ย้ายเข้าอยู่ห้องขังร่วมกับนักโทษอีกสี่คนที่ดูสนิทสนมชิดเชื้อ พวกเขาพยายามสอบถามเคยกระทำความผิดอะไร พอเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจึงเล่าแผนการหลบหนี จากนั้นร้อยเรียงภาพการขุดรู ปีนป่ายลงใต้ห้องขัง ค้นหาหนทางออกผ่านอุโมงค์ระบายน้ำใต้เรือนจำ
- การมาถึงของ Claude Gaspard
- ด้วยความที่แดนขังของ Gaspard กำลังปรุบปรุง ซ่อมแซมใหม่ เลยถูกย้ายมาห้องขังใหม่ ทำความรู้จักกับเพื่อนนักโทษทั้งสี่
- Gaspard พูดเล่าข้อกล่าวหา ความผิดที่ทำให้ติดคุก
- หลังจาก Gaspard เดินทางไปรับพัสดุอาหาร กลับมารับฟังแผนการหลบหนี
- เริ่มต้นแผนการหลบหนี
- ตระเตรียมความพร้อม แบ่งหน้าที่ Gaspard ได้รับมอบหมายให้ดูต้นทาง
- จากนั้นเริ่มทุบพื้นปูนจนเป็นรู สามารถมุดลงใต้ห้องขัง
- Roland กับ Manu ปีนป่ายลงด้านล่าง ออกสำรวจสถานที่ ค้นพบอุโมงค์ระบายน้ำ แต่ถูกซีเมนต์ปิดกั้นขวาง
- หวนกลับมาพูดคุยวางแผน คาดว่าต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆกว่าจะขุดทางออกสำเร็จ
- อุโมงค์ระบายน้ำ
- Geo แวะเวียนมาห้องพยาบาล ลักขโมยกระปุกแก้ว สำหรับใช้เป็นนาฬิกาทรายบอกเวลา
- ผลัดกันขุดอุโมงค์ในอุโมงค์ระบายน้ำ
- เรื่องวุ่นๆของการซ่อมก็อกน้ำไหล
- อุบัติเหตุอุโมงค์ถล่ม เกือบคร่าชีวิต Geo
- แฟนสาว (น้องสาวภรรยา) เดินทางมาพบเจอ Gaspard
- ในที่สุดก็สามารถขุดอุโมงค์สำเร็จ ค้นพบทางออกสู่ท้องถนนกรุง Paris
- วันสุดท้ายในเรือนจำ
- Geo ตัดสินใจไม่หลบหนีไปกับคณะ
- พัสดีเรียกคุยกับ Gaspard นานนับชั่วโมง บอกเล่าเกี่ยวกับคดีความ ภรรยาใกล้จะถอนฟ้อง
- พอกลับมาห้องขัง Manu สำแดงความหวาดกลัวว่า Gaspard จะทรยศหักหลัง
- ค่ำคืนนี้เตรียมพร้อมที่จะหลบหนี
หนังไม่มีเพลงประกอบ (นอกจาก Closing Credit แต่งโดย Philippe Arthuys) ได้ยินเพียงเสียงประกอบ (Sound Effect) มีความโดดเด่นอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งการทุบพื้น เลื่อยเหล็ก ไขกุญแจ เงี่ยหูฟังเสียงฝีเท้าผู้คุม ฯ
Le Trou (1960) เป็นภาพยนตร์ที่มีลักษณะคล้ายสารคดี (documentary-like) นำเสนอวิธีการ ความพยายามหลบหนีของห้านักโทษจากเรือนจำ La Santé Prison เมื่อปี ค.ศ. 1947 แม้สุดท้ายจะทำไม่สำเร็จ แต่ก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างไม่น้อย!
การฉายภาพวิธีการหลบหนี มันไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอกหรอกหรือ? ผมอยากแนะนำให้มองหนังคล้ายๆแบบ Pickpocket (1959) หรือ Thief (1981) จริงอยู่มันคือดาบสองคม แต่เราสามารถรับชมเพื่อเป็นบทเรียน ตระเตรียมตนเองให้รู้จักระแวดระวังภัย ไม่ต้องห่วงเรือนจำเหล่านั้นหรอกนะครับ ตั้งแต่วันเกิดเหตุย่อมต้องมีการตรวจสอบ ปรับปรุง พัฒนา ให้มีความเข้มงวดกวดขัน ไม่มีทางปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมโดยง่ายดาย
เอาจริงๆการรับชมภาพยนตร์ลักษณะนี้ มันไม่ได้แฝงสาระข้อคิด คติสอนใจอะไร เพียงตอบสนองสุนทรียะ/ความต้องการของผู้สร้าง ซึ่งในกรณีผกก. Becker ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเคยถูกจับ กลายเป็นเชลยสงคราม ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันแรงงาน ไม่รู้ว่าเคยครุ่นคิดหาหนทางหลบหนีหรือเปล่า? แต่มันคงคือแรงกระตุ้นให้เขาอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวคล้ายๆเดียวกัน
แซว: ผมครุ่นคิดว่าผกก. Becker คงอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการหลบหนีออกจากค่ายกักกันแรงงาน แต่ทว่า Robert Bresson ชิงตัดหน้า A Man Escaped (1956) ไปเรียบร้อยแล้ว จึงจำต้องมองหาเรื่องราวที่มีพื้นหลังอื่นมาทดแทน
ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่า ผกก. Becker รับรู้ตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าล้มป่วยโรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) แต่ค่อนข้างเชื่อว่า Le Trou (1960) ต้องมีความตั้งใจสร้างให้เสร็จก่อนเสียชีวิตอย่างแน่แท้ เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามหลบหนีจากเรือนจำ สามารถเปรียบเทียบถึงอาการเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน (พยายาม)มองหาสรรพวิธีในการรักษา จนแล้วจนรอด ความตายคืบคลานเข้ามา หมดปัญญา ไร้หนทางดิ้นหลบหนี
ความเรียบง่าย บริสุทธิ์ของหนัง ยังทำให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิดจินตนาการ เปิดโลกกว้างไร้จุดสิ้นสุด ไม่จำเป็นว่าต้องเรื่องนักโทษแหกคุก เชลยศึกหนีค่ายกักกัน ฯ สัญญะที่ผมชื่นชอบสุดของหนังแนวนี้ ผนังกำแพง=กฎกรอบ ขนบประเพณี สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อห้อมล้อมรอบ ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ผู้อื่นต้องก้มหัวศิโรราบ ปฏิบัติตามคำสั่ง, แหกคุกจึงคือการต่อต้าน สำแดงอารยะขัดขืน ไม่ยินยอมเป็นเบี้ยล่าง ทาสรับใช้ พยายามหาหนทางดิ้นหลบหนี โหยหาอิสรภาพ โบยบินเหมือนนกบนท้องฟ้า
ปล. Jacques Becker อาจไม่ใช่ผู้กำกับรุ่น French New Wave แต่ถือเป็นอีกบุคคลสำคัญที่ช่วยบุกเบิก ถากถาง สร้างแรงบันดาลใจ ก่อนการมาถึงของคลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์มักถูกใช้เป็นสถานที่หลบหนี ลี้ภัย ‘escapist’ จากโลกความจริงที่โหดร้าย เศรษฐกิจตกต่ำ เศษซากปรักหักพัง โรคระบาด Great Depression ฯ จะว่าไป Le Trou (1960) ยังคือภาพสะท้อนยุคสมัยนั้น และตอนจบเหมือนจะสื่อว่าไม่มีใครสามารถดิ้นหลบหนีจากโลกความจริง!
หนังเข้าฉายหลังผกก. Becker เสียชีวิตได้สองสัปดาห์! แม้เสียงตอบรับจะดียอดเยี่ยม แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เข้าร่วมสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes ก็ไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา เพียงติดอันดับ 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma
นักวิจารณ์ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม แม้ชื่นชมในรายละเอียดของหนัง แต่แสดงความไม่พึงพอใจที่ผกก. Backer มองข้ามเบื้องหลังตัวตนของนักเขียน José Giovanni ชายผู้เคยฝักใฝ่นาซี ฆาตกรสังหารโหดชาวยิว สิ่งนี้ไม่สมควรถูกมองข้ามเลยสักนิด!
Becker details the ambient violence of prison life, the hidden negotiations between captives and captors, and the solidarity of detainees, but his deeply empathetic, fanatically specific view of his protagonists leaves out some elements. Giovanni was no common criminal—a Nazi collaborator, he blackmailed, tortured, and murdered Jews during, and even after, the Occupation.
นักวิจารณ์ Richard Brody จากหนังสือพิมพ์ The New Yorker
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Studio Canal แต่ผมแนะนำให้หาซื้อคอลเลคชั่น Becker: The Essential Collection (2022) รวมห้าผลงานชิ้นเอก Falbalas (1945), Edward and Caroline (1951), Casque d’Or (1952), Touchez Pas au Grisbi (1954) และ Le Trou (1960)
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆ เพราะมันไม่มีอะไรซับซ้อน ซุกซ่อนเร้น ตรงไปตรงมา เหมือนหญิงสาวเปลือยกาย ไร้ซึ่งความเหนียงอาย ด้วยจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ มันช่างเป็นภาพที่มีความงดงามจับใจ (แต่โปรดอย่ามองด้วยสายตาหื่นกระหาย)
จัดเรต pg กับนักโทษพยายามหลบหนี
Leave a Reply