
Blackmail (1929)
: Alfred Hitchcock ♥♥♥
เริ่มต้นตั้งใจให้เป็นหนังเงียบ แต่พอเทคโนโลยีเสียงเดินทางมาถึงเกาะอังกฤษ ผู้กำกับ Alfred Hitchcock จึงเลือกถ่ายทำหลายๆฉากขึ้นใหม่ ครั้งแรกของการพากย์เสียงทับ (Dubbing) และกลายเป็นภาพยนตร์พูดทั้งเรื่อง (All-Talkie) ครั้งแรกของสหราชอาณาจักร
Well, we finished earlier tonight than I expected.
คำพูดประโยคแรกในภาพยนตร์ ‘All-Talking’ เรื่องแรกของประเทศอังกฤษ มันช่าง … ไม่มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่ นั่นเพราะผกก. Hitchcock ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเป็นหนังพูดตั้งแต่แรก ถ่ายทำไปแล้วเกินกว่าครึ่งในสไตล์หนังเงียบ แล้วจู่ๆสตูดิโอ British International Pictures เพิ่งได้ของเล่นใหม่ เรียกร้องขอให้ใส่เสียงเฉพาะช่วงไคลน์แม็กซ์ (ฟีล์มม้วนสุดท้าย)
ผกก. Hitchcock มองว่าแนวคิดของสตูดิโอ ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีเสียงเฉพาะฟีล์มม้วนสุดท้าย เป็นแนวคิดที่ไร้สาระ (absurd idea) เลยแอบโปรดิวเซอร์ เลือกถ่ายทำหลายๆฉากขึ้นใหม่ บางซีเควนซ์ก็ให้นักแสดงพากย์เสียงใส่ฟีล์มหนังเงียบที่ถ่ายทำไว้แล้ว และเห็นว่านักแสดงนำหญิง Anny Ondra มีสำเนียง Czech หนาเกินไป จึงจำต้องใช้นักแสดงแทน Joan Barry หลบอยู่หลังกล้องพากย์เสียงทับแทน … นี่ถือเป็นครั้งแรกของการพากย์เสียงทับ (Dubbing) อย่างแท้จริง!
ด้วยความที่เทคโนโลยีเสียงยังเป็นของเล่นใหม่ในยุคสมัยนั้น Blackmail (1929) จึงมีออกฉายสองฉบับ
- ฉบับหนังเงียบ ความยาว 6,740 ฟุต = 76 นาที
- ฉบับหนังพูด ความยาว 7,136 ฟุต = 85 นาที
แต่รู้สึกว่าเสียงตอบรับค่อนไปทางฉบับหนังเงียบ เพราะโรงภาพยนตร์สมัยนั้นยังไม่ค่อยติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียง เป็นเทคโนโลยีใหม่ ราคาค่อนข้างสูง เลยไม่คุ้มค่าความเสี่ยง แต่ฉบับหนังพูดได้รับการกล่าวขวัญโดยนักประวัติศาสตร์ ยกให้เป็น ‘Landmark’ ของวงการภาพยนตร์สหราชอาณาจักร
ผมขี้เกียจรับชมสองรอบ เลยเลือกดูเฉพาะฉบับหนังพูด (Talkie) คุณภาพโดยรวมถือว่าพอใช้ได้ พบเห็นลูกเล่นสไตล์ Hitchcock อยู่พอสมควร แต่เรื่องราวไม่ค่อยมีอะไรให้น่าจดจำสักเท่าไหร่ ตอนจบก็แบบงงๆ อิหยังว่ะ? รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลังยังไงชอบกล?
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ
Blackmail (1929) ผลงานลำดับที่ 9 ของผกก. Hitchcock ดัดแปลงจากบทละคอนชื่อเดียวกัน สร้างโดย Charles Bennett (1899-95) ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1928 ณ Comedy Theatre ก่อนย้ายมา Globe Theatre เสียงตอบรับเหมือนจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เปิดการแสดงได้เพียง 38 รอบเท่านั้น!
ถึงอย่างนั้น ผกก. Hitchcock เมื่อมีโอกาสรับชมละคอนเวที เกิดความชื่นชอบหลงใหล ติดต่อขอให้ British International Pictures ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ และเห็นว่า Michael Powell คือหนึ่งในผู้ช่วยขัดเกลาเรื่องราว (แต่ไม่ได้รับเครดิต)
เกร็ด: ความสำเร็จของภาพยนตร์ Blackmail (1929) ทำให้ Charles Bennett ผันตัวสู่การเป็นนักเขียนบทหนัง ร่วมงานขาประจำผกก. Hitchcock ในยุคแรกๆ อาทิ The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), Secret Agent (1936), Sabotage (1936), Young and Innocent (1937), Foreign Correspondent (1940) ฯ
วันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1929, นักสืบหนุ่ม Frank Webber (รับบทโดย John Longden) พาแฟนสาว Alice White (รับบทโดย Anny Ondra) เดินทางมาดินเนอร์ยังร้านอาหารหรู แต่เธอกลับยื้อยักเล่นตัว ปฏิเสธไปกับเขาต่อ ก่อนแอบค้นพบว่านัดหมายอยู่กับจิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe (รับบทโดย Cyril Ritchard) ชักชวนขึ้นอพาร์ทเม้นท์ เกี้ยวพาหยอกล้อ ระหว่างกำลังจะขืนใจ หญิงสาวใช้มีดทิ่มแทงอีกฝ่ายจนเสียชีวิต
Frank ได้รับมอบหมายให้สืบคดีฆาตกรรมดังกล่าว พบเห็นถุงมือแฟนสาวจึงแอบเก็บซ่อนหลักฐานไว้ เดินทางมาหา Alice บอกจะให้ความช่วยเหลือ แต่โดยไม่รู้ตัวกำลังถูกแบล็กเมล์โดยชายแปลกหน้า Tracy (รับบทโดย Donald Calthrop) ครอบครองถุงมืออีกข้าง พร้อมจะเปิดโปงความจริงทุกสิ่งอย่าง
Anny Ondra ชื่อจริง Anna Sophie Ondráková (1903-87) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Tarnów, Austria–Hungary (ปัจจุบันคือ Poland) เริ่มเป็นนักแสดงละคอนเวทีตั้งแต่อายุ 17, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Gilly in Prague for the First Time (1920), มีผลงานทั้งทั้ง Czech, German, Austrian, French และอังกฤษ The Manxman (1929), Blackmail (1929), การมาถึงของยุคหนังพูด ด้วยสำเนียงพูด Czech ค่อนข้างหนา ทำให้ต้องปักหลักทำงานใน Czech และ German แต่เธอปฏิเสธแสดงหนังชวนเชื่อ Nazi ทั้งยังเคยให้ที่หลบซ่อนครอบครัวชาวยิว
รับบท Alice White หญิงสาวรักอิสระ ตกหลุมรักผู้ชายหลายคน ยังไม่อยากลงหลักปักฐานกับใคร ขณะนั้นคบหาอยู่กับนักสืบ Frank Webber และจิตรกร Mr. Crewe สับรางรถไฟวุ่นวาย ค่ำคืนนี้ได้รับชักชวนให้ขึ้นมาเยี่ยมชมอพาร์ทเม้นท์ ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคงเป็นสุภาพบุรุษ แต่กลับถูกหยอกล้อ ข่มขืนใจ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เลยหยิบมีดขึ้นมาทิ่มแทงอีกฝ่ายจนเสียชีวิต
ด้วยความรู้สึกผิดแต่ไม่ต้องการติดคุกติดตาราง จึงขอความช่วยเหลือจากนักสืบ Frank โดยไม่รู้ตัวถูกแบล็กเมล์โดยชายแปลกหน้า ต่อมาเธอตัดสินใจจะเข้ามอบตัว รับสารภาพผิด แต่ทว่ากลับรอดตัว เพราะตำรวจจับกุมผู้ต้องหาอีกคน เป็นแพะรับบาป
เกร็ด: ด้วยความที่ Ondra มีสำเนียง Czech หนาเกินไป จะเปลี่ยนนักแสดงถ่ายทำใหม่คงไม่ไหว จึงจำต้องใช้นักแสดง Joan Barry หลบอยู่หลังกล้องพากย์เสียงทับแทน
Ondra เป็นนักแสดงเงียบ กิริยาท่าทาง ภาษากายของเธอจึงมีการปั้นแต่ง ดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ การที่จู่ๆโปรดักชั่นเปลี่ยนมาเป็นหนังพูด แถมยังต้องลิปซิงค์ (ขยับปากให้ตรงเสียงพากย์คนอื่น) ย่อมสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน พะว้าพะวัง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง … แต่โดยไม่รู้ตัวเข้ากับสภาวะทางอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี
ผมพบเจอคลิปที่ผกก. Hitchcock (ตอนนั้นยังผอมอยู่) ทดลองบันทึกเสียงกับ Anny Ondra เอาจริงๆสำเนียงของเธอก็ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น แค่มันฟังดูหรูหรา ผู้ดีมีสกุล ไม่ค่อยเหมาะเข้ากับสถานะตัวละครที่ควรเป็นหญิงสาวชนชั้นกลาง-ล่าง (ควรจะมีสำเนียงอังกฤษที่เด่นชัด)
ถ่ายภาพโดย Jack E. Cox (1896-60) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Fanny Hawthorne (1927), Blackmail (1929), Week-End Wives (1929), The Lady Vanishes (1938) ฯ
ด้วยความที่ Blackmail (1929) เริ่มต้นโปรดักชั่น ถ่ายทำในสไตล์หนังเงียบไปประมาณครึ่งเรื่อง ก่อนถูกสตูดิโอเรียกร้องขอให้มีการบันทึกเสียง ผกก. Hitchcock จึงเลือกบางฉากถ่ายทำใหม่ ไม่ก็ใช้วิธีพากย์เสียงทับ นั่นทำให้กว่าจะได้ยินเสียงสนทนาแรกก็นาทีที่ 8:30
Blackmail (1929) มีหลายๆองค์ประกอบที่กำลังพัฒนากลายเป็น ‘สไตล์ Hitchcock’ อาทิ นางเอกผมบลอนด์, จัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง ละเล่นกับแสง-เงา, เรื่องราวเกี่ยวกับการแบล็กเมล์ก็พบเห็นอยู่เรื่อยๆ, เลือกใช้สถานที่สำคัญๆในฉากไคลน์แม็กซ์ ฯ รวมถึงการปรากฎตัวรับเชิญ (Cameo) ของผกก. Hitchcock ในฉากรถไฟใต้ดิน

เทคโนโลยีบันทึกเสียงสมัยนั้นมีความละเอียดอ่อนไหวมากๆ ทำให้อิสรภาพในการถ่ายทำนอกสถานที่สูญสิ้นไปโดยปริยาย ทุกช็อตฉากต้องถ่ายทำในสตูดิโอ แถมยังต้องใช้กล้องใส่ตู้กันเสียง (Soundproof Booth) พร้อมกระจกใส เวลาจะบันทึกเสียงอะไรก็ต้องบันทึกสดๆขณะนั้น (ทั้ง Sound Effect และเพลงประกอบ) ยังไม่มีกระบวนการ Sound Mixing, Sound Editing … ตากล้องที่เป็นโรคกลัวความแคบน่าจะมีปัญหามากแน่ๆ
เกร็ด: ด้วยความที่เป็นโปรดักชั่นหนังเสียงเรื่องแรกของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 สมาชิกราชวงศ์ Duke & Duchess of York (ว่าที่ King George VI และพระราชินี Elizabeth Bowes-Lyon) จึงหาโอกาสเสด็จมาเยี่ยมเยียนกองถ่าย ซึ่งผกก. Hitchcock กลายเป็นไกด์แนะนำการทำงานของตู้ถ่ายทำนี้

เมื่อตอนจิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe ชักชวนแฟนสาวขึ้นห้องพัก กล้องถ่ายจากด้านข้างขณะเดินขึ้นบันได ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบร้อน ทีละขั้นละตอน แต่ขากลับของหญิงสาว (หลังลงมือฆาตกรรมแฟนหนุ่ม) กล้องถ่ายมุมก้มจากบนเพดาน พบเห็นบันไดวนที่ชวนให้เกิดอาการหน้ามืดตาลาย คล้ายกลัวความสูง (Vertigo) … เป็นสองมุมกล้องที่สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของหญิงสาวได้อย่างชัดเจน


ภาพวาด คือสิ่งที่จิตรกรถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดภายในออกมา
- ภาพวาดตัวตลก ผมมองว่าเป็นตัวแทนของ Mr. Crewe ครุ่นคิดกระทำสิ่งชั่วร้าย ก่อนได้รับผลตอบแทน ไม่ต่างจากตัวตลกสักเท่าไหร่
- ซึ่งหลังจาก Alice ลงมือฆาตกรรม Mr. Crewe เธอยังทำลายภาพวาดนี้อีกด้วย (จริงๆน่าจะใช้มีดทิ่มแทงภาพวาด มันจะสื่อความชัดเจนกว่าเอามือข่วน)
- ส่วนภาพหลัง Alice วาดใบหน้าตนเอง ยุ่งๆเหยิงๆ (พร้อมเซ็นชื่ออีกต่างหาก) ส่วน Mr. Crewe วาดเค้าโครงเรือนร่าง ในสภาพเปลือยเปล่า นี่ชัดเจนถึงความต้องการของเขา ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว


ช่วงระหว่างที่จิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe กำลังหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี Alice จะมีวินาทีหนึ่งที่เงาโคมไฟอาบฉาบใบหน้า (ก่อนจะลงมือข่มขืนใจ) แลดูละม้ายคล้ายผู้ร้ายไว้หนวดที่พบเห็นบ่อยในหนังเงียบ ผกก. Hitchcock เรียกสัมผัสนี้ว่า “my farewell to silent pictures”

ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง “Bread-Knife Killer” โดย Frances Kirkwood ใช้มีดหั่นขนมปังฆาตกรรมสามีตนเองที่ Queen, New York เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1928 กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้ชมสมัยนั้นน่าจะยังจดจำได้ดี
มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของยุคสมัยนั้น ยังไม่สามารถนำเสนอภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมแบบตรงๆ วิธีการก็คือนำเสนอภาพจิตรกรโถมตัวเข้าใส่ Alice พบเห็นผ้าม่านพริ้วไหว หญิงสาวเอื้อมมือออกมาหยิบมีดหั่นขนมปัง จากนั้นมือฝ่ายชายยื่นออกมา ทุกอย่างจึงสงบลง … ปลดปล่อยจินตนาการผู้ชมให้เป็นอิสระ
เกร็ด: นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ของ Hichcock ที่มีการใช้มีด “Knife Scene” อาวุธสำหรับคดีฆาตกรรม และมักถือด้วยท่าทางแปลกพิศดาร เพื่อสะท้อนความผิดปกติทางอารมณ์ของตัวละคร (คนปกติไม่มีใครจับมีดแบบนี้)


หลังเหตุการณ์ฆาตกรรม สภาพจิตใจของ Alice เต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัว จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ซึ่งการถ่ายภาพดูจงใจทิ้งร่องรอยความรู้สึกของเธอ อาทิ
- ระหว่าง Crossing-Cutting ขณะกำลังจะออกจากห้อง พบเห็นภาพซ้อนหญิงสาวลอยอยู่ตรงประตู
- เมื่อออกมาภายนอกพบเห็นเงาขนาดใหญ่ของตนเอง
- พอเดินจากไปเห็นเงาของชายลึกลับคืบคลานเข้ามา
- เงาชายลึกลับผู้นี้คือใคร? หลายคนคงคาดเดาว่าคือแฟนหนุ่ม/นักสืบ Frank Webber แต่มันก็มีความเป็นได้ว่าอาจคือชายแปลกหน้า Tracy ที่ทำการแบล็กเมล์/ครอบครองถุงมือข้างหนึ่งของหญิงสาว และมีพยานชี้ตัวว่าพบเห็นหมอนี่ในค่ำคืนดังกล่าว
- แม้แต่ป้ายโฆษณายังสร้างความหลอกหลอก ย้ำเตือนการกระทำของหญิงสาว
- และเมื่อพบเห็นมือใครบางคนยื่นออกมาภายนอก พลันนึกถึงความตายของจิตรกร ยังคงติดค้างคาตา ไม่สามารถลบเลือนหาย





ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง คือตอนเช้าระหว่างรับประอาหารเช้า ได้ยินเสียงซุบซิบเพื่อนบ้านถึงคดีฆาตกรรม มีการกล่าวถึงมีดใช้ทำโน่นนี่นั่น เน้นๆย้ำๆ แต่สำหรับ Alice White มันกลายเป็นคำต้องห้าม สร้างความหวาดระแวง วิตกจริต แค่หยิบจับยังขลาดกลัว ตัวสั่นไหว ทุกถ้อยคำมันช่างกรีดบาดทรวงใน ภาพความตายยังคงหลอกหลอนจิตใจ
A good clean honest whack over the ‘ead with a brick is one thing. There’s something British about that. But knives? Nope. Knives is not right. I must say, that is what I think and that is what I feel. Whatever the provocation, I could never use a knife. Now, mind you, a knife is a difficult thing to handle. I mean any knife. I mean, if you used a pen knife or a pocket knife. They wouldn’t be long enough. Or a butcher’s knife.
Alice, cut us a bit of bread, will you?
What’s that other knife? I know that knife. A knife is a dangerous thing. You must be careful of a knife. You come up against a knife. I mean, in Chelsea, you mustn’t use a knife!
Dear, you ought to be more careful. Might have cut somebody with that.

ใครที่รับชมผลงานของผกก. Hitchcock มาปริมาณหนึ่ง น่าจะมักคุ้นเคยกับซีเควนซ์แบล็กเมล์ จุดเริ่มต้นก็จาก Blackmail (1929) อ้างว่าล่วงรู้ความลับบางอย่าง จึงทำการข่มขู่ กรรโชก เรียกร้องหาผลประโยชน์ใส่ตน … เอาจริงๆมันถือเป็นพล็อตคลาสสิกของหนัง Crime, Spy, Thriller ยกตัวอย่าง Sabotage (1936), Rebecca (1940), Strangers on a Train (1951), Dial M for Murder (1954) ฯ

ไคลน์แม็กซ์ของหนังถ่ายทำยัง British Museum ออกวิ่งไล่ล่าจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย (ชายคนที่พยายามแบล็กเมล์นางเอก) นี่ถือเป็นอีก ‘สไตล์ Hitchcock’ เลือกใช้สถานที่สำคัญเป็นฉากพื้นหลัง กำหนดทิศทางมุมกล้อง นักแสดงเข้าออก … ใครเคยรับชม North by Northwest (1959) น่าจะรู้สึกมักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ในซีเควนซ์นี้มีการใช้เทคนิคชื่อว่า Schüfftan process (ร่ำเรียนจาก Fritz Lang ระหว่างไปดูงานที่ German) มันคือทริกละเล่นกับสายตา โดยใช้มุมกล้อง ฉากภาพ/โมเดล/ภาพวาดบนกระจก และนักแสดงเบื้องหลัง ทำเหมือนว่ามีการออกวิ่งไล่ล่ากันในพิพิธภัณฑ์ แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอภาพยนตร์ (คือไปถ่ายภาพนิ่งยังสถานที่จริง แล้วนำมาฉายผ่านฉาก/กระจก วางเอียงๆ องศาเฉียงๆ แล้วให้นักแสดงในสตูดิโอออกวิ่งไล่ล่า)

ว่ากันว่าบุคคลที่เสนอแนะผกก. Hitchcock ให้ถ่ายทำยัง British Museum ก็คือ Michel Powell แต่ผมยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าทำไมถึงเลือกใช้สถานที่แห่งนี้? หลบซ่อนตัวในประวัติศาสตร์? เรื่องพรรค์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน?
แต่ที่แน่ๆมันกลายเป็นความ ‘Ironic’ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นหมุดไมล์ ‘Landmark’ หนังพูดเรื่องแรกของอังกฤษ จึงได้รับการจัดเก็บ/แสดงในพิพิธภัณฑ์ British Museum





ความตั้งใจดั้งเดิมของผกก. Hitchcock เริ่มต้น-สิ้นสุดด้วยการจับกุมผู้ต้องหา อารัมบทคือชายแปลกหน้า ส่วนตอนจบก็คือหญิงสาวภายหลังเข้ามอบตัว แต่ทว่าจบแบบนี้คงขายไม่ได้แน่ๆ เลยเปลี่ยนให้เธอสามารถเอาตัวรอดพ้นความผิด พร้อมเสียงหัวเราะ รูปภาพตัวตลก สร้างความอ้ำๆอึ้งๆ กล้ำกลืนฝืนทน กลายเป็นตลกร้ายไปซะงั้น!
began with the arrest of the felon and ended with the arrest of the girl. Two unknown detectives, in the very last shot, were to be shown talking about the girls they were going to take out to Lyons. Coda.
Alfred Hitchcock

ตัดต่อโดย Emile de Ruelle (1880-1948) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Informer (1929), Blackmail (1929), Week-End Wives (1929) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองนักสืบ Frank Webber หลังเสร็จภารกิจประจำวัน เย็นวันนั้นนัดเดทแฟนสาว Alice White แอบติดตามเห็นคบชู้นอกใจ ขึ้นอพาร์ทเม้นท์ของจิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe นำสู่เหตุการณ์ฆาตกรรม ได้รับมอบหมายสืบสวนคดีความ แต่พยายามปกป้องแฟนสาว จึงพบเจอกับชายแปลกหน้าทำการแบล็กเมล์
- อารัมบท, ภารกิจของ Scotland Yard ไล่ล่าจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีความ
- เรื่องวุ่นๆของ Alice White
- นักสืบ Frank Webber พาแฟนสาว Alice White มารับประทานดินเนอร์หรู แต่เธอกลับยื้อๆยักๆ เล่นตัวอยู่นั่น
- ก่อนค้นพบว่า Alice White แอบนัดหมายชายอีกคน จิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe หลังรับประทาน พยายามชักชวนเธอขึ้นไปยัอพาร์ทเม้นท์ของตน
- บนอพาร์ทเม้นท์ของ Mr. Crewe พยายามหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี เมื่อสบโอกาสก็ข่มขืนใจ เป็นเหตุให้ Alice ใช้มีดหั่นขนมปังทิ่มแทงอีกฝ่ายเสียชีวิต
- ถูกแบล็กเมล์โดยชายแปลกหน้า Tracy
- ค่ำคืนนั้น Alice ออกเดินเรื่อยเปื่อย เหม่อล่องลอย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง กว่าจะกลับถึงบ้านก็เช้าอีกวัน
- นักสืบ Frank ได้รับมอบหมายให้ทำคดีฆาตกรรม ค้นพบหลักฐานถุงมือข้างหนึ่งของ Alice
- เดินทางมา Alice แล้วถูกแบล็กเมล์โดยชายแปลกหน้า Tracy
- แม่บ้านให้การกับตำรวจ พบเจอผู้ต้องสงสัยคือ Tracy
- นักสืบ Frank เล็งเห็นโอกาส จึงพยายามล้อมจับ Tracy แต่อีกฝ่ายหลบหนีไปได้ทัน
- ไล่ล่าจับกุมผู้ต้องสงสัย Tracy ยัง British Museum
- Alice ต้องการมอบตัว สารภาพผิดกับตำรวจ แต่ทว่านักสืบ Frank ให้การปกป้อง ช่วยเหลือเธอเอาไว้ได้สำเร็จ
หนึ่งในซีเควนซ์ที่สำแดงความเป็น ‘Master of Suspense’ ของผกก. Hitchcock คือระหว่างการถูกแบล็กเมล์ ชายแปลกหน้าคนนั้นทำเหมือนรับรู้ล่วงรู้อะไรบางอย่าง จึงไม่มีความเร่งรีบร้อน ขอบุหรี่ราคาแพงมาสูบก่อน แล้วแสร้งไม่มีเงินจ่าย ขอให้อีกฝ่ายจ่ายค่าซิการ์ให้ เป็นลีลาการดำเนินเรื่องแบบไม่เร่งรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป แต่สร้างบรรยากาศตึงเครียด อัดอั้น พะว้าพะวัง หมอนี่จะเอาอะไรยังไง เกิดความลุ้นระทึก ใจจดใจจ่อ ลึกลับลมคมใน
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง คือการสร้างสัมผัสเหมือนมีใครบางคนแอบจับจ้อง ถ้ำมอง คอยติดตามหญิงสาวอยู่ตลอดเวลา ในตอนแรกที่ Alice (หลังลงมือฆาตกรรม)ออกจากอพาร์ทเม้นท์ หลายคนคงคาดเดาว่าเงาพบเห็นน่าจะคือแฟนหนุ่ม/นักสืบ Frank Webber แต่ครุ่นคิดไปมามันมีความเป็นไปได้ว่าอาจคือชายแปลกหน้า Tracy (เพราะหมอนี่ครอบครองถุงมือข้างหนึ่ง และมีพยานชี้ตัวว่าอยู่บริเวณนั้น)
เพลงประกอบโดยคู่ดูโอ้สัญชาติอังกฤษ Jimmy Campbell (1903-67) และ Reg Connelly (1895-63) บางครั้งใช้นามปากกา Irving King ไม่ก็ Campbell Connelly
แม้ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยที่นักดนตรี/วงดนตรีต้องบรรเลงเพลงสด หลบอยู่หลังกล้องระหว่างถ่ายทำ (ยุคสมัยนั้นยังไม่มี Sound Mixing และ Sound Editing ทุกสิ่งอย่างเกิดจากการบันทึกสดๆ พร้อมกับการถ่ายทำ) แต่งานเพลงของหนังถือว่าล้ำยุคสมัยมากๆ ไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีแหล่งกำเนิดเสียง (diegestic music) คอยแทรกแซมอยู่ตามช่วงเวลาเงียบๆ พรรณาความรู้สึกหญิงสาวหลังก่อเหตุฆาตกรรม หรือฉากไล่ล่าติดตามผู้ต้องสงสัยยัง British Museum ฯ
สำหรับบทเพลง Miss Up-to-Date แต่งโดย Billy Mayerl, ขับร้อง-บรรเลงเปียโนโดย Cyril Ritchard (ผู้รับบทจิตรกร Mr. Crewe) บังเอิญพบเจอคลิปใน Youtube เลยนำมาให้รับฟังกัน
Blackmail ในทางกฎหมายมีความหมายว่า การขู่เข็ญเอาเงินโดยอ้างว่าจะเปิดเผยความลับ, รีดเอาทรัพย์, ขู่เข็ญเอาเงิน, แสดงกิริยาอาการจะกระทำร้าย สร้างความเสียหาย ถ้าผู้ถูกข่มขู่ไม่ยินยอมกระทำตามข้อเรียกร้อง
ถ้าเอาตามความหมายตรงๆของ Blackmail จะสอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์ชายแปลกหน้า Tracy ล่วงรับรู้ความลับของหญิงสาว Alice White ที่ลงมือฆาตกรรมจิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe และรวมถึงนักสืบ Frank Webber ที่พยายามให้ความช่วยเหลือเธอ ซุกซ่อนหลักฐาน ไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีความ
แต่ความหมายของ Blackmail ยังเหมารวมถึงการทรยศ หักหลัง เบื้องหน้าแสดงออกอย่างหนึ่ง ลับหลังกระทำอีกอย่างหนึ่ง เช่นนั้นแล้วสามารถสื่อถึงเหตุการณ์ …
- หญิงสาว Alice White คบหานักสืบ Frank Webber แต่ลับหลังแอบนัดหมายจิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe
- จิตรกรหนุ่ม Mr. Crewe แสร้งว่าตกหลุมรัก Alice White แต่ทำการล่อลวงขึ้นอพาร์ทเม้นท์ แล้วพยายามจะข่มขืนใจ
- นักสืบ Frank Webber ได้รับมอบหมายให้ทำคดีฆาตกรรม แต่ลับหลังแอบให้ความช่วยเหลือฆาตกร/แฟนสาว Alice White ให้รอดพ้นความผิด
สารพัดการ Blackmail ที่บังเกิดขึ้นในหนัง ล้วนมีสาเหตุจากพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยของ Alice White สามารถใช้เป็นบทเรียนสอนหญิง (สมัยนั้น) ให้รู้จักระแวดระวัง รักนวลสงวนตัว ไม่หลงคารมคนแปลกหน้า คบหาชายหลายคน หรือยินยอมขึ้นห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์ผู้อื่นโดยง่าย
ถึงอย่างนั้นตอนจบเป็นอะไรที่มึนๆงงๆ แม้การกระทำของหญิงสาวคือการปกป้องตนเองไม่ให้ถูกข่มขืน แต่หนังกลับทำเป็นเรื่องตลกร้าย ฆ่าคนตายไม่ผิด แฟนหนุ่มที่เป็นนักสืบก็พยายามปกป้องคนรัก (ทั้งๆรับรู้ว่าเธอคบชู้นอกใจตนเอง) แถมยังโยนความผิดใส่อาชญากรอีกคน ตรรกะแม้งโคตรผิดเพี้ยน พิศดาร รับชมเพื่อความบันเทิง ตอบสนองตัณหาผู้สร้าง
แซว: ตอนจบเพี้ยนๆของหนัง ฆาตกรลอยนวล หญิงสาวรอดพ้นผิด ชวนให้รู้สึกว่าผกก. Hitchcock ทำการ ‘Blackmail’ ผู้ชม แทนที่ทุกสิ่งอย่างจะจบลงอย่างสมเหตุสมผล ก็ค้างๆคาๆ คลุมเคลือไว้ให้หงุดหงิด รำคาญใจ เนื้อหาภาพยนตร์จำเป็นต้องมีคุณธรรมสูงส่งหรือไร?
ฉบับหนังพูดเข้าฉายก่อน วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1929 ณ โรงภาพยนตร์ Regal, Marble Arch (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Odeon Marble Arch) ส่วนฉบับหนังเงียบเข้าฉายภายหลังยัง Capitol Cinema, London ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1929 เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม กลายเป็นหนังพูด ‘All-Talkie’ เรื่องแรกประสบความสำเร็จในอังกฤษและทวีปยุโรป (แต่ฉบับหนังเงียบทำเงินได้มากกว่า)
ฉบับหนังเงียบได้รับการบูรณะ 2K โดย British Film Institute (BFI) ร่วมกับ The Hollywood Foreign Press Association และ The Film Foundation ใช้งบประมาณสูงถึง £2 ล้านยูโร เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012, ส่วนฉบับหนังพูดเหมือนยังไม่ผ่านการบูรณะ น่าจะแค่เพียงสแกนใหม่ ยังเต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน … สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber มีทั้งสองฉบับในแผ่นเดียว “1 Movie, 2 Cuts” หรือใครจะรอคอยปีหน้า ค.ศ. 2025 กลายเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain)
เกร็ด: Blackmail (1929) ได้รับการโหวตติดอันดับ #59 ชาร์ท TIMEOUT: The 100 Best British Films (2017)
เนื่องจากผมไม่ได้รับชมฉบับหนังเงียบ เลยบอกไม่ได้ว่าดีหรือแย่กว่าหนังพูด (นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะบอกหนังเงียบดีกว่าหนังพูด) แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ‘สไตล์ Hitchcock’ เหมาะสำหรับหนังพูดมากกว่า ยิ่งลูกเล่นเกี่ยวกับการใช้เสียง ช่วยสร้างความลึกลับ ลุ้นระทึก ดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่าไหนๆ
แต่ผลงานในยุคแรกๆของผกก. Hitchcock ยังขาดความกลมกล่อม เรื่องราวไม่ค่อยสมเหตุสมผล จบลงอย่างตลกร้าย เพียงความบันเทิงสนองตัณหา เหมือนยังต้องใช้เวลาสะสมประสบการณ์อีกพอสมควร … แต่ก็เห็นแวว ‘สไตล์ Hitchcock’ โดดเด่นขึ้นชัดเจน
จัดเรต pg กับคดีฆาตกรรม และการแบล็กเมล์
Leave a Reply