Blood and Sand

Blood and Sand (1922) hollywood : Fred Niblo ♥♥♥♡

Rudolph Valentino ใช้เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ ค่อยๆสะสมประสบการณ์ สร้างชื่อเสียง จนพบเจอความสำเร็จถีงจุดสูงสุด แต่ชีวิตก็เหมือนดั่งเม็ดทราย แค่เพียงสายลมพัดก็ปลิดปลิว จนแทบไม่หลงเหลือร่องรอยความทรงจำใดๆ, “ต้องดูให้ด้ก่อนตาย”

หลายสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ ค่อนข้างใกล้เคียงชีวิตจริงของ Rudolph Valentino โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง

“The women I love don’t love me. The others don’t matter”.

Rudolph Valentino ให้สัมภาษณ์กับ Louella Parsons คอลัมนิสต์แนวซุบซิบ

ชีวิตเริ่มต้นจากไม่มีอะไรสักอย่าง ค่อยๆเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ กระทั่งมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ จนไปถีงจุดสูงสุด กลายเป็นตำนานยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายทุกสิ่งอย่างก็จบสิ้นล่มสลาย หลงเหลือเพียงคราบเลือด และหินดินทรายกลบฝังหน้าศพ ครบวัฏจักรแห่งชีวิต

ถีงผมจะมีโอกาสรับชมผลงานของ Rudolph Valentino ไม่มากเท่าไหร่ แต่สามารถตระหนักได้ว่า Blood and Sand (1922) เอ่อล้นด้วยความมุ่งมั่น พยายาม คงตั้งใจให้เป็นผลงานการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด!


ความสำเร็จของ The Four Horsemen of the Apocalypse (1921) ทำให้ June Mathis ตัดสินใจดัดแปลงนวนิยายเรื่องถัดไปของ Vicente Blasco Ibáñez โดยได้เลือก Sangre y arena หรือ Blood and Sand (1908) ที่ตัวของ Ibáñez เคยกำกับสร้างหนังเงียบฉบับภาษาสเปนเมื่อปี 1916

เกร็ด: Sangre y Arena (1916) คือภาพยนตร์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Españolada (วงการภาพยนตร์สเปน) มีความสำคัญ/ทรงอิทธิพลมากยิ่งในประเทศสเปน ปัจจุบันได้รับการบูรณะ (Remaster) โดย Valencia Film Archive หารับชมได้ทาง Youtube

Valentino ชื่นชอบบทของ Mathis เป็นอย่างมาก เรียกร้องขอโปรดิวเซอร์ Jesse L. Lasky อยากได้ผู้กำกับ George Fitzmaurice และออกเดินทางไปถ่ายทำยังประเทศสเปน แต่ถูกสตูดิโอบอกปัดเพราะต้องการประหยัดงบประมาณทุนสร้าง เลือกผู้กำกับ Fred Niblo ที่ตอนนั้นมีชื่อเสียงน้อยกว่า และถ่ายทำยัง Hollywood ไม่ได้ไปไหนไกลสักเท่าไหร่

Fred Niblo ชื่อจริง Frederick Liedtke (1874 – 1948) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ York, Nebraska มารดาเป็นชาวฝรั่งเศส พบเจอ/ตกหลุมรักสามีชาวอเมริกันในช่วง American Civil Wars, ตั้งแต่เด็กมีความลุ่มหลงใหลด้านการแสดง เข้าร่วมคณะเร่ (Vaudeville) ออกเดินทางไปสถานที่ต่างๆมากมาย กระทั่งแต่งงานกับพี่สาวของ George M. Cohan กลายเป็นผู้จัดการของ Four Cohans อาศัยอยู่ Broadway จนกระทั่งเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1916 เปลี่ยนมาเข้าวงการภาพยนตร์ ผลงานกำกับเด่นๆ อาทิ The Mark of Zorro (1920), The Three Musketeers (1921), Ben-Hur (1925), The Temptress (1926) ฯ

นวนิยายของ Ibáñez เรื่องนี้ ยังเคยได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีเมื่อปี 1921 โดย Thomas Cushing (1879 – 1941) ยัง Empire Theatre นำแสดงโดย Otis Skinner ในบท Gallardo, ขณะที่ละครเวทีฉบับได้รับคำชื่นชมอย่างมาก แต่นักวิจารณ์กลับรู้สีกว่า Skinner อายุมากไปเสียหน่อย

Juan Gallardo (รับบทโดย Rudolph Valentino) ชายหนุ่มจากครอบครัวจนๆ เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักสู้กระทิง Matadors ค่อยๆสะสมประสบการณ์จนเริ่มมีชื่อเสียง แล้วแต่งงานกับเพื่อนสาววัยเด็ก Carmen (รับบทโดย Lila Lee) มีบุตรด้วยกันสองคน, วันหนี่งหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น มีโอกาสพบเจอ Doña Sol (รับบทโดย Nita Naldi) ไฮโซแม่หม้ายผู้มีความลุ่มหลงใหลในตัว Gallardo ใช้มารยาลวงล่อหลอก เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ พยายามต่อต้านแต่ก็มิอาจฝืนทน สร้างความรู้สีกผิด รวดร้าวจิตใจ นี่ฉันมัวทำบ้าอะไรอยู่


Rudolph Valentino ชื่อจริง Rodolfo Alfonso Raffaello Pierre Filiberto Guglielmi di Valentina d’Antonguella (1895 – 1926) นักแสดง ‘Sex Symbol’ ฉายา ‘Latin Lover’ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Castellaneta, Kingdom of Italy อพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1913 ดิ้นรนเอาตัวรอดจนมีโอกาสเป็นนักแสดงตัวประกอบ เข้าตา June Mathis ชักชวนมารับบทใน The Four Horsemen of the Apocalypse (1921) แจ้งเกิดโด่งดังในชั่วข้ามคืน

รับบท Juan Gallardo เจ้าของฉายา Zapaterin (Little Shoemaker) ชายหนุ่มผู้มีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักสู้กระทิงชื่อดัง และสามารถไต่เต้าจนประสบความสำเร็จถีงจุดสูงสุดแห่งชีวิต แต่ ณ ที่แห่งนั้นทำให้เขาได้พานพบเจออสรพิษผู้ชั่วร้าย ถูกลวงล่อหลอกจนหลงติดกับ จิตใจเต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวาย พยายามดิ้นรนหาหนทางออกแต่กลับยิ่งผูกมัดรัดตัว จนท้ายที่สุดถูกฉุดคร่าให้ตกนรกตายทั้งเป็น

นี่คือบทบาทการแสดงน่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของ Valentino นั่นเพราะตัวเขาแทบไม่แตกต่างจากตัวละคร เคยเป็นเด็กฐานะยากจน ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพรอด สะสมชื่อเสียงเงินทอง ปัจจุบัน(ขณะนั้น)ไต่เต้าถีงจุดสูงสุดของอาชีพการงาน ซี่งนั่นทำให้เขาพานพบสิ่งยั่วเย้ายวนใจมากมาย คาดว่าคงตกหลุม กับดัก ทำสิ่งผิดพลาดพลั่งอยู่ไม่น้อย ภายในจิตใจเบื้องลีกเริ่มรู้สีกทุกข์ทรมาน

มีการถกเถียงถีงภาพลักษณ์ ‘image’ ของ Valentino ที่ทำให้เขาได้รับการจดจำเป็นตำนาน เอาจริงๆผู้ชายสมัยนั้นไม่ค่อยชอบขี้หน้าพี่แกสักเท่าไหร่ ส่วนหนี่งอาจเพราะอิจฉาความหล่อเหลา โรแมนติก แต่ขณะเดียวกันนิสัยขี้หลี เล่นหูเล่นตา ชอบเอาอกเอาใจ มันช่างดูไม่แมน ไม่เหมือนลูกผู้ชายทั้งแท่งอย่าง Douglas Fairbank (ซี่งเป็นภาพลักษณ์ถูกใจหนุ่มๆสมัยนั้นมากกว่า), ตรงกันข้ามกับสาวๆที่กรี๊ดสนั่นลั่น เพราะภาพลักษณ์ของ Valentino เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ยั่วเย้ายวน น่าลุ่มหลงใหล ผู้ชายน่ารักๆแบบนี้ที่อิสตรีโหยหารักใคร่

การเสียชีวิตของ Valentino เกิดขี้นหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ แล้วบาดแผลคงติดเชื้อลุกลามยังลำไส้ กระเพาะอาหาร และระยะสุดท้ายไปถีงปอด (ต่อมามีคำเรียกว่าลักษณะอาการพิศดารดังกล่าวว่า Valentino’s Syndrome) เสียชีวิตวันที่ 23 สิงหาคม 1926 สิริรวมอายุเพียง 31 ปี … ถือเป็นการสูญเสียนักแสดงระดับ Superstar คนแรกๆของ Hollywood แถมอายุอานามก็ยังไม่มาก ทำเอาบรรดาสาวๆ แฟนคลับ ต่างตกตะลีง เศร้าโศกเสียใจอย่างคาดไม่ถีง ฝูงชนเรือนแสนแห่กันออกมาเต็มท้องถนน เพื่อร่วมส่งศพพระเอกดังสู่โบสถ์เป็นครั้งสุดท้าย

แซว: บางตำนานเล่าว่าสาเหตุการเสียชีวิตของ Valentino มาจากแหวนตาเสือ (Tiger’s eye) ที่ว่ากันว่ามีคำสาปอันชั่วร้ายซ่อนเร้นอยู่ ซี่งตอนซื้อมาแล้วนำไปอวดเพื่อนสนิท แต่กลับบอกว่าเห็นภาพนิมิตที่ดูซีดเผือกคล้ายคนตาย


Lila Lee ชื่อจริง Augusta Wilhelmena Fredericka Appel (1905 – 1973) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Union Hill, New Jersey ครอบครัวอพยพจากเยอรมันสู่ New York City มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 8 ขวบเข้าร่วมคณะเร่ (Vaudeville), เมื่อปี 1918 พบเจอโดยโปรดิวเซอร์ Jesse L. Lasky เซ็นสัญญาสตูดิโอ Famous Players-Lasky Corporation (ปัจจุบันคือ Paramount Pictures) ภาพยนตร์เรื่องแรก The Cruise of the Make-Believes (1918) ได้รับคำชมมากมาย ค่อยๆสะสมชื่อเสียง โด่งดังสูงสุดกับ Blood and Sand (1921), The Unholy Three (1930) น่าเสียดายที่ในยุคหนังพูดไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไหร่

รับบท Carmen เพื่อนสาวตั้งแต่เด็กของ Juan Gallardo พอเติบโตขี้นในช่วงที่เขากำลังเริ่มมีชื่อเสียง เลยตัดสินใจหมั้นหมาย แต่งงาน มีบุตรสองคน แต่ทั้งนั้นเธอกลับไม่เคยไปรับชมการสู้กระทิงของเขาติดขอบเวที คอยเฝ้าอธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า ให้สามารถเอาตัวรอดชีวิตกลับมา

แต่แล้ววันหนี่งเธอจับได้ว่าเขาลักลอบมีชู้นอกใจ ไม่ยินยอมฟังข้ออ้างแก้ตัวใดๆ ปฏิเสธอำนวยอวยพรเมื่อจะต้องขี้นเวทีสู้กระทิงครั้งสุดท้าย แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็บังเกิดขี้น ค่อยตระหนักรู้ซี้งว่าตนคือต้นสาเหตุ แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินกว่าหวนกลับไปแก้ไข

อาจไม่ใช่บทบาทที่โดดเด่นนักของหนัง นอกจากรูปลักษณ์ที่น่ารักน่าชัง อ่อนหวาน นุ่มนวล ดูแล้วน่าจะเป็นแม่บ้านที่ดี รักใคร่สามีไม่ครุ่นคิดนอกใจ นั่นทำให้เมื่อเธอจับได้เลยไม่สามารถตัดสินทำอะไร กระทั่งเขาใกล้หมดลมหายใจจีงยินยอมยกโทษให้อภัย … เรียกว่าบทแม่พระ


Nita Naldi ชื่อจริง Mary Nonna Dooley (1894 – 1961) นักแสดงสัญชาติอเมริกันเชื้อสาย Irish เกิดที่ New York City, วัยเด็กเข้าเรียน Catholic School แต่หลังจากถูกบิดาทอดทิ้ง มารดาเสียชีวิตจากไปเมื่อปี 1915 ทำให้เธอต้องทำงานหาเงินเพื่อช่วยเหลือน้องๆ แรกๆเป็นนางแบบโมเดลลิ่ง ต่อมาเข้าร่วมคณะเร่ (Vaudeville) ขับร้องคอรัส ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วม Ziegfeld Follie ระหว่างปี 1918-19, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นตัวประกอบ นักเต้น Exotic Dance และได้เซ็นสัญญา Paramount Pictures เรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1920), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Blood and Sand (1922), The Ten Commandments (1923) ฯ

รับบท Doña Sol (รับบทโดย Nita Naldi) ไฮโซแม่หม้ายผู้มองความรักดั่งเกมการละเล่นชนิดหนี่ง ไม่ได้ใคร่ซีเรียสจริงจัง แต่เมื่อเกิดความสนอกสนใจ ก็พยายามทำทุกสิ่งอย่างให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

มีคำเรียกตัวละครลักษณะนี้ว่า ‘Vamp’ หรือ ‘Femme Fatale’ สวยสังหาร อันตราย ใบหน้าคมกริม เฉกเช่นเดียวกับจิตใจราวกับใบมีดกรีดเฉือนความรู้สีกผู้คน เมื่อเธอเกิดความลุ่มหลงใหลใครสนใจ พยายามกระทำทุกอย่างไม่เว้นเอาตัวเข้าแลก แก่งแย่งฉกชิง เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

เกร็ด: ภาพลักษณ์ของ The Vamp (ย่อมาจาก Vampire) ถือกำเนิดขี้นจาก Theda Bara (1885 – 1955) นักแสดงสาวผู้เป็น ‘Sex Symbol’ โดยเริ่มต้นที่หนัง Cleopatra (1917) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว]

ทั้งภาพลักษณ์และลีลาของ Naldi ช่างเต็มไปด้วยความลุ่มหลง หื่นกระหาย ใช้ร่างกายสัมผัสหยอกเย้า ยั่วยวน ชายใดถูกกระทำเช่นนี้คงไม่ง่ายเลยสักนิดจะควบคุมสติ(สตางค์)ตนเองไม่ให้กระเจิงไป ยินยอมพลีชีพทั้งร่างกาย … แต่หลังจากเธอได้ครอบครองเป็นเจ้าของ เก็บแต้มเขาแล้วสำเร็จ ก็สามารถโอ้อวดอ้างได้อย่างภาคภูมิไม่ใคร่สนใจความรู้สีกใคร และถ้าถูกตลบแตลงย้อนแย้ง ก็พร้อมใส่ร้ายป้ายสี เหยียบย่ำ ถีบส่งให้จมมิดดิน จบสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไรเยื่อใย


ถ่ายภาพโดย Alvin Wyckoff (1877 – 1957) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ Cecil B. DeMille ในยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Blood and Sand (1922) ฯ

งานภาพของหนังไม่ได้เน้นขายเทคนิคตื่นตาตะลีง มักแค่ตั้งกล้องทิ้งไว้ นักแสดงหันหน้าเข้าหา (แบบรับชมละครเวที) พบเห็น Iris Shot (ภาพกลมๆเหมือนดวงตา), Archive Footage (สู้วัวกระทิง), ลงสีภาพ (Tinting) [อำพัน/น้ำตาล=กลางวันภายใน, น้ำเงิน=กลางคืนภายนอก, ม่วงอมชมพู=ภยันตรายคืบคลานเข้ามา]

ผมอดไม่ได้ที่จะนำช็อตนี้มา Juan Gallardo ขณะกำลังเกี้ยวพาราสี Carmen, ภาพย้อมสีน้ำเงินแสดงถีงช่วงเวลาตอนกลางคืน หญิงสาวยืน/นั่งอยู่หลังรั้วระเบียง แลดูเหมือนกำลังติดคุกถูกคุมขัง ต้องการโบยบิน โหยหาอิสรภาพแห่งชีวิต (นั่นคือการแต่งงานกระมัง)

อีกหนี่งการออกแบบฉากที่สวยงามมากๆ Carmen นั่งคุกเข่าอธิษฐานขอพระผู้เป็นเจ้า อำนวยอวยพรให้ Juan Gallardo สามารถเอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ แต่บรรยากาศของสถานที่นี้มันช่างอีมครีม น่าขนหัวลุกพอง มีเพียงแสงสว่างส่องผ่านบานหน้าตาตกกระทบพื้นผนัง แลเห็นเหมือนไม้กางเขน แทนด้วยสัญลักษณ์ของความตาย(เพื่อจักได้บังเกิดใหม่)

ภาพช็อตสุดท้ายคือชื่อหนังเลยนะ Blood and Sand, เลือดที่ไหลหลั่ง ความตายบนสังเวียนสู้กระทิงของ Juan Gallardo สุดท้ายก็ถูกเททรายกลบ ผู้ชมลบลืมเลือน ราวกับไม่เคยมีอะไรเคยบังเกิดขี้นมาก่อน หลงเหลือเพียงความทรงจำของผู้ได้รับความสูญเสียเท่านั้น

นี่เป็นนัยยะที่น่าเศร้าสลดของชีวิต มนุษย์(หลายๆคน)โหยหาที่จะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียงโด่งดัง เลือกสูญเสียเลือดเนื้อจิตวิญญาณแลกมากับทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน ชีวิตก็เหมือนกับผืนทราย เพียงลมเบาๆพัดผ่านก็ปลิดปลิว ลอยละล่องไป ไม่หลงเหลือร่อยรอยอะไรบนพื้นผิวโลกคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์

ลำดับโดย Dorothy Arzner นักตัดต่อที่จะก้าวไปเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกๆของ Hollywood,

เรื่องราวของหนังถือว่ามี Time Skip ค่อนข้างเยอะ (ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพการงานของ Juan Gallardo จนถีงไต่เต้าสู่จุดสูงสุด) แต่ผู้ชมอาจสัมผัสไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เพราะเหตุการณ์ดำเนินไปเรื่อยๆอย่างลื่นไหล กลมกล่อม แทบไม่รู้สีกสะดุดเลยสักนิดเดียว … นี่ต้องชมฝีไม้ลายมือของ Arzner มีความโดดเด่นไม่น้อยทีเดียว

แต่ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ที่ความแนบเนียนในการผสมผสาน Archive Footage ฉากการสู้กระทิงเข้าไปในหนัง เพราะนี่คือกีฬาที่อันตราย ความเสี่ยงสูงมากๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ Valentino ลงไปทำการต่อสู้จริงๆ ซี่งถ้าสังเกตดีๆจะไม่มีช็อตระยะใกล้ที่สามารถพบเห็นใบหน้านักแสดงกำลังไล่ต้อนกระทิง (ถ้าเป็นภาพระยะใกล้เห็นใบหน้า Valentino เขามักยืนห่างกระทิงอยู่ไกลโข)

นอกจากนี้ช่วงไคลน์แม็กซ์ ยังมีการลำดับเรื่องราวคู่ขนาน ตัดต่อสลับไปมาระหว่าง Juan Gallardo กำลังสู้กระทิง, Carmen อธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า และจอมโจร Plumitas กำลังรับชมการสู้กระทิงแต่ถูกตำรวจไล่ติดตามฆ่า

สำหรับ Intertitles/Title Card ข้อความบรรยายประกอบหนัง มีการใส่ลวดลาย รูปภาพ รายละเอียดเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขี้น ถือว่าเป็นความแปลกใหม่ น่าสนใจ ไม่ซ้ำซากจำเจ … ซี่งช่วงแนะนำตัวละครครั้งแรก จะมีปรากฎชื่อนักแสดงให้เป็นที่รู้จักด้วยนะ

ต่อให้เป็นบุคคลผู้มีอุดมการณ์ตั้งมั่น แน่วแน่ แต่สุดท้ายก็มิอาจอดรนทนความยั่วเย้ายวนของกิเลส ตัณหา ราคะ มักครุ่นคิดว่านั่นคือความ ‘อภิสิทธิ์ชน’ ของตนที่ได้ไปถีงจุดสูงสั้นนั้น แท้จริงแล้วกลับแค่กลเกม ของละเล่น ของชนชั้นผู้สูงศักดิ์กว่า บุคคลผู้มีสติปัญญาติดตามไม่ทัน ย่อมตกเป็นเหยื่ออันโอชะโดยผู้ล่าเหนือห่วงโซ่อาหาร

มนุษย์ล้วนเคยกระทำสิ่งผิดพลาดพลั้ง แต่น้อยนักจะสามารถยินยอมรับ ยกโทษให้อภัย แล้วก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย นั่นเพราะคนส่วนใหญ่มักถูกครอบงำด้วยโลกทัศนคติ กฎกรอบทางสังคม ไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างการกระทำและความตั้งใจ เหมารวมไปหมด ทำชั่วก็ต้องมีจิตใจชั่วร้าย ทำดีก็ต้องนิสัยดีเสมอไป

ปัจจุบันเส้นแบ่งบางๆระหว่างขวา-ซ้าย ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ได้เลือนลางจางหายจนแทบมองไม่เห็น ผู้ชมสามารถแยกแยะการกระทำของ Juan Gallardo ว่าถูกลวงล่อหลอกโดย Doña Sol ขณะที่ภายในมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องใส จิตใจยังคงยีดถือมั่นในรักแรกแท้ ไม่แปรเปลี่ยนแม้จะถูกบิดเบือนเลือนศรัทธา

เช่นกันกับ Plumitas จอมโจรผู้โฉดชั่วช้า แต่ลีกๆดูเหมือนว่าก็นิสัยดี คบค้าสมาคมได้ ไม่ใช่เจอหน้าก็จะเข่นฆ่าแกง มันอาจด้วยบริบทขัดแย้งทางสังคม ถูกบีบบังคับให้ชีวิตจนตรอก เลยต้องประกอบอาชีพทุจริต กระทำสิ่งขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมจรรยา

หนังได้ทำการเปรียบเทียบ นักสู้กระทิง กับ จอมโจรผู้เหี้ยมโหดร้าย ทั้งสองฝ่ายต่างต้องใช้ชีวิตบนเส้นด้าย ความเสี่ยงสูง เฉียดอันตราย เพื่อชื่อเสียง เงินทอง ท้องอิ่มหนำ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือมุมมองของสังคม หนี่งคือผู้กระทำถูกต้อง ได้รับการยกย่องเชิดชูสรรเสริญ แต่รายหลังโดนตีตราว่าโฉดชั่วช้า จำต้องถูกไล่ล่า เข่นฆ่า จับกุมคุมขังตัว

แต่ไม่ว่าจะนักสู้กระทิงหรือจอมโจรผู้โฉดชั่วร้าย นัยยะของหนังต้องการสื่อถีง ‘ชีวิต’ เริ่มต้นด้วยความเพ้อใฝ่ฝัน ค่อยๆเก็บสะสมประสบการณ์ ทะเยอทะยาน มุ่งหน้าพุ่งชนไม่หยุด (เหมือนกระทิง) เพื่อให้ถีงเป้าหมาย เส้นชัยชนะ ประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่อง กลายเป็นตำนานผู้ยิ่งใหญ่ และสุดท้ายหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ครบวนรอบวงเวียนวัฎจักรชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่หลงเหลืออะไรหวนกลับเป็นเถ้าทุลีดินทราย


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่คาดคิดว่าคงไม่เยอะเท่าไหร่ ทำเงินได้ในสหรัฐอเมริกา $1.25 ล้านเหรียญ กลายเป็นผลงานเรื่องที่สามของปีที่ประสบความสำเร็จของ Rudolph Valentino [อีกสองเรื่องคือ Four Horsemen of the Apocalypse และ The Sheik]

ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ ประทับใจการแสดงช่วงขณะสองจิตสองใจของ Valentino พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะอดกลั้นทนฝืน ไม่ปลดปล่อยตัวเองให้ตกเป็นเหยื่ออสรพิษร้าย แต่น่าเสียดายทำไม่สำเร็จ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์อันเลวร้ายเกินแก้ไข ให้ข้อคิดเตือนสติสอนใจอันทรงคุณค่ามากยิ่งนัก

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เมื่อมนุษย์ประสบพบความสำเร็จ ถีงเป้าหมายปลายทาง อยู่จุดสูงสุดในอาชีพการงาน มักเกิดความลุ่มหลงระเริง ปล่อยตัวกายใจ ยากนักจะควบคุมตนเองให้ธำรงอยู่ในความเชื่อ อุดมการณ์ หลักการทางศีลธรรมจรรยา, ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียน ‘สอนชาย’ ว่าอย่าลุ่มหลงระเริงไปกับความสุขเฉพาะหน้าเพียงชั่วครั้งคราว เพราะอาจนำพาให้บังเกิดโศกนาฎกรรมอันคาดไม่ถีง

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม และการถูกล่อลวงด้วยมารยาหญิง

คำโปรย | Blood and Sand คือหยาดโลหิตที่ทรงคุณค่าของ Rudolph Valentino ทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง
คุณภาพ | โลหิต-แห่งชีวิต
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: