Crocodile (1996) : Kim Ki-duk ♥♥♥♡
ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Kim Ki-duk ทำการเปรียบเทียบมนุษย์ = จระเข้, คนไร้บ้านอาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River ใช้ชีวิตด้วยสันชาติญาณ ตอบสนองตัณหาอารมณ์ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ แต่พวกเขาเหล่านี้ใช่ขยะสังคมจริงๆนะหรือ?
Crocodile คือชื่อของชายไร้บ้านคนหนึ่ง นิสัยหัวร้อน เจ้าอารมณ์ ชอบใช้ความรุนแรงเวลาไม่พึงพอใจอะไร ได้เงินมามักเอาไปเล่นพนันหมดตัว โกหกหลอกลวง แบล็กเมล์ ต้มตุ๋นคนอื่นไปทั่ว ครั้งหนึ่งเคยให้ความช่วยเหลือหญิงสาวกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย จากนั้นพยายามข่มขืนกระทำชำเรา … สารพัดการกระทำของชายคนนี้ต้องเรียกว่า ‘ขยะสังคม’ แต่เราเคยพยายามทำความเข้าใจเบื้องหลัง สาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้?
แต่สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Kim Ku-duk ไม่ได้ต้องการอธิบายเบื้องหลัง สาเหตุผล ไอ้จระเข้ตัวนี้เคยเป็นใคร? มาจากไหน? เพียงนำเสนอผลของการกระทำ กรรมสนองกรรม ระหว่างพยายามข่มขืนหญิงสาวถูกไอ้เด็กเมื่อวานซืนขัดจังหวะบ่อยครั้ง แถมยังใช้มีดเฉือนไอ้จ้อนจนเกือบขาด!, เล่นการพนันโดนโกงซ้ำๆซากๆ, แบล็กเมล์คนอื่นเลยโดนรุมกระทืบบาดเจ็บสาหัส, ดื่มด่ำมึนเมาถูก(เกย์)หลอกไปข่มขืน ฯ นี่คือความดิบ (Raw) เถื่อน (Violence) ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กลายเป็นบทเรียนเสี้ยมสอนให้ Crocodile เข้าใจวิถีแห่งชีวิต กลับตัวกลับใจ กลับกลายเป็นคนดีได้หรือไม่?
ผมตั้งใจจะเขียนถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Kim Ki-duk ตั้งแต่ได้ยินข่าวคราวเสียชีวิตจาก COVID-19 พยายามมองหาโอกาสเหมาะๆอยู่นาน ก่อนเพิ่งตระหนักว่าผ่านมา 4 ปีแล้วเหรอเนี่ย! (เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2020) ดูสิว่าเดือนนี้ที่เหลือจะเขียนได้สักกี่เรื่อง
Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม เพราะสถานะทางสังคมต่ำกว่าใคร แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง, พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบีบบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือ (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์
พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบทกับ Korea Scenario Writers Association พัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน)
สำหรับ Crocodile, 악어 ได้แรงบันดาลใจจากข่าวเคยได้ยินเกี่ยวกับกลุ่มคนไร้บ้าน อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River หากินด้วยการตกปลา งมร่างบุคคลที่กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ฉกชิงปล้นทรัพย์ ไม่ก็นำมาขายคืนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
บทหนังดังกล่าวดูแล้วไม่น่าจะขายได้! แต่ดันไปเข้าตาสองโปรดิวเซอร์หน้าใหม่ Kim Byung-soo, 김병수 และ Kim Sun-young, 김선영 แสดงความกระตือรือล้น สนอกสนใจ แต่ทว่า Kim Ki-duk กลับยื่นข้อเสนอว่าต้องอนุญาตให้ตนเองเป็นผู้กำกับ ทั้งๆไม่เคยมีประสบการณ์ หรือร่ำเรียนด้านภาพยนตร์มาก่อน!
ด้วยเหตุนี้สองโปรดิวเซอร์จึงขอความช่วยเหลือจากตากล้อง Lee Dong-sam, 이동삼 ให้ช่วยทดสอบ/ประเมินความเสี่ยง ซึ่งระหว่างการพูดคุยพอหลังรับรู้อีกฝ่ายเคยเป็นศิลปิน/จิตรกรมาก่อน เลยพร้อมเปิดโอกาสให้ลองสรรค์สร้างภาพยนตร์โดยพลัน!
เรื่องราวของชายไร้บ้าน Crocodile (รับบทโดย Cho Jae-hyun) อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River ร่วมกับเด็กชาย Yang-byul (รับบทโดย Ahn Jae-hong) และคุณปู่ Grandfather (รับบทโดย Jeon Moo-song) เมื่อไหร่มีคนกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แทนที่จะให้การช่วยเหลือกลับปล้นเงินทอง สิ่งของมีค่า นำมาจับจ่ายใช้สอย เล่นพนันจนหมดเนื้อหมดตัว
กระทั่งวันหนึ่งมีหญิงสาวกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย Crocodile ตัดสินใจช่วยชีวิต พากลับขึ้นฝั่ง พยายามจะข่มขืน แต่ถูกขัดจังหวะโดยทั้งเด็กชายและคุณปู่ สอบถามไถ่ได้ชื่อพี่สาว Hyun-jung (รับบทโดย Woo Yun-kyeong) ปฏิเสธเดินทางกลับบ้าน เลยอาศัยอยู่ร่วมกับทั้งสาม พานผ่านช่วงเวลาสุข-ทุกข์ เผชิญหน้าความจริง ก่อนที่จะตัดสินใจ…
Cho Jae-hyun, 조재현 (เกิดปี ค.ศ. 1965) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Gyeongju, North Gyeongsang Province ครอบครัวฐานะยากจน อาศัยอยู่เพิ้งบนเนินเขา กระทั่งบิดาทำธุรกิจร้านอาหารประสบความสำเร็จเลยย้ายมาอาศัยอยู่ย่าน Jongno ในกรุง Seoul, วัยเด็กเป็นคนหัวขบถ ชอบออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน ใฝ่ฝันอยากเป็นจิตรกรแต่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยหนีออกจากบ้านเดินทางสู่ Busan ทำงานรับจ้างทั่วไป จนแล้วจนรอด เอาตัวไม่รอดเลยหวนกลับบ้าน จากนั้นได้เขียนเรียนภาพยนตร์และการละคอน Kyungsung University พอเรียนจบกลายเป็นนักแสดงในสังกัด KBS (Korea Broadcasting System) ใช้เวลาส่วนใหญ่กับละคอนเวที มีผลงานภาพยนตร์ประปราย ร่วมงานบ่อยครั้งกับผกก. Kim Ki-duk อาทิ Crocodile (1996), Wild Animals (1997), The Isle (2000), Address Unknown (2001), Bad Guy (2001), Moebius (2013) ฯ
รับบท Crocodile ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน เป็นคนหัวร้อน เจ้าอารมณ์ ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็ขึ้นเสียง ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River เฝ้ารอคอยคนกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย แหวกว่ายลงไปเก็บเกี่ยวสิ่งของมีค่า มาจับจ่ายใช้สอยตอบสนองตัณหาพึงพอใจ จนกระทั่งวันหนึ่งตกหญิงสาวสวยขึ้นมา แล้วลงมือข่มขืนกระทำชำเรา … สารพัดพฤติกรรมของนายคนนี้ สามารถเรียกได้ว่า ‘ขยะสังคม’
ด้วยความที่ Hyun-jung ไม่ยอมกลับบ้านเสียที เลือกที่จะอาศัยอยู่กับ Crocodile และผองเพื่อน จึงพอคาดเดาปัญหาครอบครัว จนวันหนึ่งแอบพบเจอเธอถ้ำมองชายแปลกหน้า คาดเดาไม่ยากว่าคืออดีตคนรัก พยายามพูดเตือนสติให้ตัดใจจากอีกฝ่าย ถึงขนาดเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เปิดเผยเบื้องหลังความจริงที่โหดร้าย … แม้สุดท้ายเธอจะไม่มีใจให้ฉัน แต่วันตายของเราขอแค่ได้อยู่เคียงข้างกัน
ระหว่างค้นหาประวัติของ Cho Jae-hyun ผมแอบคาดไม่ถึงว่ามีความละม้ายคล้ายผกก. Kim Ki-duk ถือเป็นโชคชะตาโดยแท้ เลยไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะร่วมงานกันอีกหลายครั้ง มองตาเข้าใจ รับรู้ความต้องการ เคยพานผ่านประสบการณ์คล้ายๆคลึงกัน
การแสดงของ Cho Jae-hyun ต้องใช้พละกำลังทั้งร่างกายและจิตใจ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเล่นบทตัวละครที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย โหวกเหวกโวยวาย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ หลายครั้งจึงดูเหมือนโอเว่อแอ็คติ้ง (Ovar Acting) เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะคลุ้มคลั่งอยู่ตลอดเวลา, ส่วนไฮไลท์คือสารพัดกรรมสนอง เมื่อสิ่งต่างๆย้อนแย้งกลับเข้าหาตนเอง ถูกเฉือนอวัยวะเพศ โดนรุมกระทืบ ติดคุกติดตาราง จากคนที่ดูเหมือนไม่มีอะไรดี ค่อยๆซึมซับบทเรียนเหล่านี้ จนสามารถกลับตัวกลับใจ พยายามปกป้อง Hyun-jung และเลือกที่จะอยู่เคียงข้างตลอดไป
ถ่ายภาพโดย Lee Dong-sam, 이동삼 (เกิดปี ค.ศ. 1960) ตากล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี ผลงานเด่นๆ อาทิ Come to Me (1996), Crocodile (1997) ฯ
การเคยเป็นศิลปิน/จิตรกร ทำให้ผกก. Kim Ki-duk มีมุมมอง วิสัยทัศน์ ภาพที่อยากนำเสนออย่างเด่นชัด! นั่นคือสิ่งที่ตากล้อง Lee Dong-sam มอบความเชื่อมั่นว่าจักสามารถรังสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้สำเร็จ แม้มันอาจยังไม่ตรงตามใจปรารถนาทั้งหมด แต่ผลลัพท์ต้องถือว่าน่าประทับใจ … น่าเสียดายคุณภาพ DVD แค่เพียงตามมีตามเกิดเท่านั้น
Whether it is editing or shooting, I tend to rely on my own instincts. Many people think that it is this style that determines everything about my films. But I believe that it is during the process of writing the film script and recording the movements of the characters through the camera that a large portion of the film is determined.
Kim Ki-duk
แซว: ด้วยความที่ Kim Ki-duk ไม่เคยกำกับภาพยนตร์มาก่อน จึงไม่รับรู้หน้าที่ของตนเอง เปิดกองวันแรกมาสายสองชั่วโมง เพราะรอซื้อของร้านอเนกประสงค์ พอมาถึงกองถ่ายเลยโดนโปรดิวเซอร์ถีบส่งเพราะนึกว่าทิ้งงาน แถมฟุตเทจสามวันแรกก็ใช้ไม่ได้ ถ่ายอะไรไม่รู้ต้องเริ่มต้นใหม่หมด
หนังมีช็อตสวยๆเยอะมาก งดงามราวกับภาพวาด แต่คุณภาพ DVD ตามมีตามเกิน มันเลยค่อนข้างยากจะชื่นชมวิสัยทัศน์ของผกก. Kim Ki-duk, หนึ่งในฉากตื่นตาตะลึงมากๆ (แม้ด้วยงานภาพห่วยขนาดนี้) คือระหว่าง Crocodile ให้การช่วยเหลือ Hyun-jung
- ระหว่างถอดเสื้อผ้าเตรียมกระโดดลงน้ำ แสงไฟสะท้อนระยิบระยับบนพื้นผิวน้ำ
- ขณะแหวกว่ายภายใต้พื้นผิวน้ำ พบเห็นลำแสงสว่างสาดส่องลงมาจากด้านบน
- และเมื่ออุ้มพาขึ้นบก กล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านราวสะพานที่มีเสารั้วแนวตั้ง ให้ความรู้สึกเหมือนสถานที่ใต้สะพานแห่งนี้ ราวกับอยู่ภายในกรงขัง หญิงสาวติดกับดักของจระเข้
แม้หนังจะไม่มีการกล่าวถึงเบื้องหลัง Crocodile คือใคร? มาจากไหน? เคยทำงานอะไร? แต่เราสามารถสังเกตจากสิ่งต่างๆรอบข้าง ซึ่งวินาทีนี้ที่แสดงอารมณ์เกี้ยวกราดกับเรือกระดาษ ทำให้ผมเอะใจถึงผกก. Kim Ki-duk ที่เคยสมัครทหารเรือนานถึงห้าปี!
สามตัวละครหลักของหนัง (ไม่นับรวมหญิงสาว) ต่างคือตัวตายตัวแทนผกก. Kim Ki-duk หรืออาจจะเปรียบเทียบถึง Id-Ego-SuperEgo ก็ได้กระมัง
- Crocodile เป็นคนฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ชอบใช้ความรุนแรง แสดงออกด้วยสันชาตญาณ (Id)
- คุณปู่ Grandfather เป็นผู้มีความสุขุม เยือกเย็น (ตรงกันข้ามกับ Crocodile) ใช้สติปัญหาครุ่นคิดแก้ปัญหา และสามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ทุกสิ่งอย่าง (SuperEgo)
- เด็กชาย Yang-byul คือตัวแทนผกก. Kim Ki-duk เมื่อครั้นยังเป็นเด็ก มักถูกบิดา(ในบริบทของหนังคือ Crocodile)ใช้ความรุนแรง กระทำร้ายร่างกาย (Abused) เลยเต็มไปด้วยอคติต่อต้าน แต่เพราะยังละอ่อนวัย ไร้ประสบการณ์ต่อโลก หลายครั้งจึงยังไม่สามารถหยุดยับยั้ง ควบคุมตนเอง (Ego ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Id กับ SuperEgo)
ปล. เอาจริงๆหญิงสาว Hyun-jung ก็มีส่วนหนึ่งที่มาจากผกก. Kim Ki-duk คือชื่นชอบการวาดรูปศิลปะ
เห็นความสกปรกของแม่น้ำ Han River ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Summertime (1955) เมื่อครั้น Katharine Hepburn จำต้องเข้าฉากพลัดตกน้ำในเมือง Venice ถึงพยายามจะใช้สารเคมีฟอกขาว แต่ก็ทำเธอต้องติดเชื้อตาแดง รักษาไม่หายตลอดชีวิต!
ด้วยเหตุนี้ทุกฉากที่นักแสดง Cho Jae-hyun ต้องกระโดดลงน้ำ หรือถ่ายทำใต้น้ำ จึงเป็นการถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด เพื่อสามารถควบคุมรายละเอียดทุกสิ่งอย่าง รวมถึงแสงสว่างที่สาดส่องลงมาภายใต้ … ถ้าได้ภาพคุณภาพดีกว่า คงมีความงดงามอย่างมากๆ
ครั้งแรกที่ผู้ชมพบเห็นสรวงสวรรค์ใต้บาดาลของ Crocodile มันยังไม่มีอะไรสักสิ่งอย่างนอกจากเสาสะพาน กำลังเป่าลูกโป่งแดง ก่อนปล่อยล่องลอยขึ้นสู่พื้นผิวน้ำ … นี่ก็ชวนนึกถึงโคตรหนังสั้น The Red Balloon (1959) ลูกโป่งแดงคือสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ มิตรภาพ จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ และความมหัศจรรย์ที่ราวกับต้องมนต์ขลัง
ผมยังจดจำ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ที่เด็กน้อยทำการทรมานสรรพสัตว์ เลยถูกลงโทษให้ต้องแบกหามก้อนหินไว้บนหลัง, Crocodile (1996) อาจไม่ได้ทรมานสัตว์ แค่เพียงทาสีน้ำเงินบนกระดองแล้วปล่อยลงน้ำ (เต่า = จระเข้ = สัตว์เลื้อยคลาน/ครึ่งน้ำครึ่งบก) พบเจออีกครั้งช่วงท้ายก่อนฆ่าตัวตาย ราวกับผู้พิทักษ์ที่คอยปกปักษ์รักษาสรวงสวรรค์ใต้ผืนแผ่นน้ำ
เต่าคือสัตว์สัญลักษณ์ของปัญญา (Wisdom), อายุยืนยาว (Longevity) และการปกป้อง (Protection) ตรงกันข้ามกับจระเข้ที่มีพละกำลัง (Power), ขยันสืบพันธุ์ (Fertility), สามารถปรับตัว (Adaptability), เอาตัวรอดในทุกสถานการณ์ (Survival)
แบบเดียวกับ Ikiru (1952) วันเกิดของคุณปู่ คือจุดเปลี่ยนของ Crocodie จากเคยกระทำสารพัดสิ่งชั่วร้าย ไม่ต่างจากขยะสังคม หลังจากค่ำคืนนี้ราวกับได้ถือกำเนิด เกิดใหม่ เริ่มแสดงด้านอ่อนไหว เป็นห่วงเป็นใย ให้เด็กชายทานส่วนแบ่งเค้กของตน พร้อมมอบของขวัญแว่นตาใหม่ (สัญลักษณ์ของการมองเห็นสภาพเป็นจริงของโลกใบนี้ได้อย่างชัดเจน)
ตู้กาแฟหยอดเหรียญที่ถูกทิ้งขว้าง สามารถเป็นตัวแทนบรรดาคนไร้บ้าน (Crocodile และผองเพื่อน) ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ เทคโนโลยี/สิ่งต่างๆผันเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับคุณปู่ผู้ซ่อมแซมได้ทุกสิ่งอย่าง เล็งเห็นโอกาสหาเงิน จึงเข้าไปหลบซ่อนเป็นคนชงกาแฟภายในตู้ … นี่อาจฟังดูไร้สาระ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถปรับตัวของคนรุ่นเก่าให้เข้ากับวิถีสมัยใหม่
ผมมองสองเหตุการณ์นี้ต่างเคลือบแฝงนัยยะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ชายทั้งสองต่างหน้าตาดี มีการมีงาน มีเงินมีทอง และยังมีหน้ามีตาในสังคม แต่เบื้องหลังตัวตนกลับบิดเบี้ยว คอรัปชั่น
- ชายคนแรกทำงานให้กับตำรวจ วาดภาพร่างผู้ต้องสงสัย แต่กลับมีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ทำการล่อหลอก Crocodile พาขึ้นห้องตอนมึนเมา ตั้งใจจะร่วมรักประตูหลัง
- อดีตคนรักของ Hyun-jung เป็นคนมีเส้นสาย มีหน้ามีตา ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่เห็นผู้หญิงเพียงแค่ของเล่น ใช้แล้วทิ้ง เบื่อเมื่อไหร่ก็ว่าจ้างพวกมาเฟียให้รุมข่มขืน เชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง
เด็กชาย Yang-byul อยากได้รถเด็กเล่นไฟฟ้า (ก่อนหน้านี้พบเห็นธนบัตรตกหล่น ก็ทอดทิ้ง Crocodile ไม่สนใจอะไรอย่างอื่น) ยินยอมตอบรับคำขอของชายแปลกหน้า เอาปืนยิงตู้กาแฟหยอดเหรียญ โดยไม่รู้ตัวทำให้คุณปู่ที่แอบชงกาแฟอยู่ด้านหลังพลันเสียชีวิต! … นี่แสดงถึงความตายของคุณลุง เกิดจากพฤติกรรมหมกมุ่นในวัตถุ เงินทอง สิ่งข้าวของ ระบอบทุนนิยม คนรุ่นใหม่พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน จนไร้วิจารณญาณในการครุ่นคิดตัดสินใจ
Crocodile ทำการกลบฝังศพคุณปู่พร้อมกับตู้กาแฟหยอดเหรียญ (แทนโลงศพ) นี่เป็นการแสดงทัศนะของผกก. Kim Ki-duk ที่ต้องการกลบฝังระบอบทุนนิยม คือสิ่งทำลายสังคมให้มีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ สร้างความแตกแยก แบ่งแยกชนชั้นรวย-จน สูง-ต่ำ ผู้คนมากมายถูกกลืนกินจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์
Crocodie นำพา Hyun-jung มาเผชิญหน้าคนรักเก่า เปิดคลิปวีดิโอแอบถ่าย ทำให้รับรู้ว่าอีกฝ่ายคือคนอยู่เบื้องหลัง จ่ายเงินให้พวกมาเฟียรุมข่มขืนกระทำชำเรา คาดหวังให้เธอเลิกราหย่าร้าง ฆ่าตัวตายไปเลยก็ดี พฤติกรรมเหล่านี้มันช่างเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ขยะสังคมในคราบคนดี สวมสูทผูกไทด์ มองหน้าไม่รู้ใจ
สถานที่แห่งนี้คือโกดังเก็บรูปปั้นแกะสลัก/ของสะสมเก่า ผมแค่พอมองเห็นเค้าลางๆ Hyun-jung ยิงโดนศีรษะรูปปั้น (เข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ตายจากไปในความรู้สึก/จิตวิญญาณ) สำหรับ Crocodile ยิงเข้าบริเวณหน้าอก ส่วนอีกภาพเหมือนศีรษะราชสีห์ก่อนร่วงหล่นลงมา (สัญลักษณ์ของการกระชากหน้ากาก/เปิดโปงตัวตนแท้จริงของผู้ยิ่งใหญ่ในสังคม)
หลังรับรู้เบื้องหลังความจริงทั้งหมด Hyun-jung ในสภาพห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว ไม่หลงเหลืออะไร เข้ามานั่งพิงบ่า Crocodile แสงสะท้อนพื้นผิวน้ำอาบฉาบเรือนร่างทั้งสอง แสดงสภาพจิตใจพริ้วไหว สั่นคลอน จากนั้นเธอยินยอมร่วมรักหลับนอน ครั้งแรกครั้งเดียวเลยกระมังด้วยความรู้สึกเต็มใจ ไม่ใช่วัตถุทางเพศสำหรับระบายความใคร่! บางคนอาจมองเป็นการขอบคุณ ตอบแทนทุกสิ่งอย่างที่อีกฝ่ายมอบให้ ถึงอย่างนั้นหญิงสาวก็ไม่สามารถปล่อยวางความรู้สึกต่ออดีตชายคนรัก นั่นคือเหตุผลของการกระโดดน้ำฆ่าตัวตายอีกครั้ง
Crocodile รับรู้และเข้าใจว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยเหลือ Hung-jung เพราะเธอได้สูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง ความรักเราสองก็ไม่มีวันเบ่งบาน วิธีเดียวจักได้ครองคู่ชั่วนิรันดร์ก็คือยินยอมตายอยู่เคียงข้าง (Double Suicide) … ตอนที่ Crocodile เริ่มสำลักน้ำ เคยแสดงท่าทางดิ้นรน กระเสือกระสน อยากเปลี่ยนความตั้งใจ แต่กุญแจมือคล้องไว้เลยไม่สามารถดิ้นหลบหนี ท้ายสุดจึงต้องยินยอมรับการตัดสินใจตนเอง ได้ภาพความตายสวยๆเคียงข้างกัน
สรวงสวรรค์ของคนทั่วไป คือการปีนป่ายบันได ไต่เต้าสู่จุดสูงสุด มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง กลายเป็นดาวดาราเจิดจรัสค้างฟ้า! แต่ไม่ใช่สำหรับ Crocodile สรวงสวรรค์อยู่ใต้ผืนผิวน้ำ สถานที่ที่เขาสามารถจมอยู่กับตนเอง (และคนรัก) โดยไม่ต้องสนใจความวุ่นวายของโลกเบื้องบน เพียงแสงสว่างเลือนลาง ก็สร้างความสุขสงบภายในจิตวิญญาณ
ตัดต่อโดย Park Gok-ji, 박곡지 (เกิดปี ค.ศ. 1965) สัญชาติเกาหลี ผลงานเด่นๆ อาทิ Seopyeonje (1993), The Day a Pig Fell into the Well (1996), Crocodile (1996), Shiri (1999), My Wife Is a Gangster (2001), Save the Green Planet! (2003), Taegukgi (2004), A Frozen Flower (2008) ฯ
ตามสไตล์ของผกก. Kim Ki-duk เรื่องราวมักไม่ค่อยมีความต่อเนื่องลื่นไหล สามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ (Episode) คล้ายๆจิ๊กซอว์ กระเบื้องโมเสก นำมาร้อยเรียง แปะติดปะต่อ สร้างความเชื่อมโยง แล้วขมวดปมเข้าสู่ตอนจบ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองชายหนุ่ม Crocodile และผองเพื่อน อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River ร้อยเรียงสารพัดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ เต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย พร้อมผลกรรมตอบสนองทันควัน! กลายเป็นบทเรียนให้ตัวละครสามารถปรับปรุงตนเอง บังเกิดสามัญสำนึกขึ้นในจิตวิญญาณ
- ครอบครัว Crocodile
- Crocodile, เด็กชาย Yang-byul และคุณปู่ อาศัยอยู่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำ Han River หาเลี้ยงชีพจากการตกคนกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- วันๆของ Crocodile มอบหมายให้เด็กชาย Yang-byul ขายหมากฝรั่ง ส่วนตนเองนำเงินมาเล่นพนันหมดตัว
- การมาถึงของ Hyun-jung
- หญิงสาวสวยกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย Crocodile ดำลงไปให้ความช่วยเหลือ พอฟื้นคืนสติเรียกร้องขอสิ่งตอบแทนด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา
- Hyun-jung ปฏิเสธเดินทางกลับบ้าน ตัดสินใจอาศัยอยู่ร่วมกับ Crocodile แลกกับการเป็นที่ระบายความใคร่
- เด็กชาย Yang-byul ไม่พึงพอใจพฤติกรรมของ Crocodile จึงพยายามหาทางแก้เผ็ดด้วยการเฉือนอวัยวะเพศ แต่งรถมอเตอร์ไซด์ให้เสียศูนย์ แต่อีกฝ่ายก็ยังสามารถเอาตัวรอดกลับมา
- ทำมาหากิน
- เด็กชาย Yang-byul เดินเร่ขายหมากฝรั่ง นำเงินมามอบให้ Crocodile ก่อนถูกพวกนักเลงเจ้าถิ่นรุมทำร้าย
- สังเกตเห็นการเร่ขายอุปกรณ์เสริมพลังชาย Crocodile เลยทำการลอกเลียนแบบอย่าง
- พอได้เงินมาก็เล่นพนันหมดตัว ก่อนเพิ่งสังเกตว่าถูกโกง มีกล้องแอบถ่ายด้านหลัง
- วันหนึ่งเด็กชาย Yang-byul เห็นธนบัตรหล่นใต้ล้อรถ เลยทอดทิ้ง Crocodile นำเงินไปซื้อโน่นนี่นั่น
- Crocodile ทำการแบล็กเมล์นักธุรกิจที่แอบมาเล่นชู้ แต่สุดท้ายโดนพวกนักเลงกระทืบเจ็บตัว
- วันเกิดคุณปู่
- หลังวันเกิดคุณปู่ ต่อรองเจ้าของตู้ขายกาแฟหยอดเหรียญ แล้วทำการซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้อีกครั้ง
- Crocodile บังเอิญพบเจอ Hyun-jung เห็นเธอแอบถ้ำมองชายคนหนึ่ง
- ค่ำคืนนั้น Crocodile ดื่มด่ำในบาร์ ถูกเกี้ยวพาโดยเกย์หนุ่ม พาไปห้องพัก ขณะกำลังจะโดนข่มขืน ฟื้นคืนสติโต้ตอบด้วยความรุนแรง
- Crocodile พยายามเกลี้ยกล่อม Hyun-Jung ไม่ให้หวนกลับหาอดีตคนรัก ก่อนตนเองถูกลักพาตัว(มาเฟียจ้างมาโดยอดีตคนรักของ Hyun-Jung) โชคดีสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้หวุดหวิด
- ขยะสังคม
- เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นในสวนสาธารณะ เกย์หนุ่มคนนั้นทำการแก้เผ็ด Crocodile ถูกจับกุม ติดคุกติดาราง กลายเป็นผู้ต้องสงสัย
- คุณปู่ช่วยชี้ตัวคนร้าย แต่หลังจากฆาตกรได้รับการปล่อยตัว เลยลงมือฆ่าปิดปาก
- Crocodile นำพา Hyun-Jung เผชิญหน้าอดีตคนรัก เปิดเผยเบื้องหลังความจริง และให้เธอลงมือตัดสินอีกฝ่าย
- ค่ำคืนนี้หญิงสาวยินยอมร่วมรักหลับนอนกับเขา ก่อนเช้าวันถัดมาจะตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- Crocodile เลยตัดสินใจดำผุดดำว่าย …
เพลงประกอบโดย Lee Moon-hee, 이문희
งานเพลงในภาพยนตร์ของผกก. Kim Ki-duk ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างมากๆต่อการดำเนินเรื่อง เพราะมักถูกนำมาใช้แทนบทสนทนา พรรณาความรู้สึกภายในออกมา, แต่ทว่า Crocodile (1996) เพิ่งเป็นผลงานเรื่องแรก จึงยังทดลองผิดลองถูก หนังเต็มไปด้วยบทพูด เพลงประกอบเลยต้องแทรกแซมอยู่ตามช่องว่าง พรรณาอารมณ์ สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตวิญญาณตัวละคร Crocodile
โดดเด่นกับเสียงขลุ่ยโหยหวน ก่อนแปรสภาพสู่เสียงร้องคร่ำครวญ แสดงถึงความเจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมานใจ แม้ไม่รับรู้ว่า Crocodile เคยพานผ่านอะไรมา แต่บรรดาสรรพเสียงได้ยิน ล้วนสะท้อนจิตวิญญาณแท้จริง เก็บกด อดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง โลกใบนี้ช่างเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย สิ่งชั่วร้าย โหยหาความสงบสุขภายใน
จระเข้คือสัตว์เลื้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีความเลือดเย็น น่าเกรงขาม ชอบเฝ้ารอคอยเหยื่อ นักฉกฉวยโอกาส สามารถปรับตัวเข้ากับทุกสภาพแวดล้อม ละม้ายคล้ายตัวละคร Crocodile เป็นคนหัวร้อน เจ้าอารมณ์ ชอบใช้ความรุนแรง ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ใช้ชีวิตตอบสนองสันชาตญาณ ความพึงพอใจส่วนตน
แม้หนังไม่มีการอธิบายว่า Crocodile และผองเพื่อน เป็นใคร? มาจากไหน? เคยพานผ่านอะไร? ทำไมถึงกลายเป็นคนไร้บ้าน? แต่เอาจริงๆเราสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก พวกเขามักถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก อกหักรักคุด ผิดหวังในอาชีพการงาน คู่ครอง สังคม การเมือง และทุกสิ่งอย่างรอบข้าง จึงเลือกมาใช้ชีวิตที่ไม่ต้องแบกความคาดหวัง ภาระรับผิดชอบ ปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ เพียงหาเช้ากินค่ำ ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ โดยไม่จำเป็นต้องสนห่าเหวอะไรใครทั้งนั้น … มีคำเรียกกลุ่มคนชายขอบ (Marginal People) แต่ทว่าผกก. Kim Ki-duk เหมือนจะไม่ชอบคำนี้สักเท่าไหร่
I am opposed to people calling the characters in my film “marginal.” What does it mean to be in the mainstream? Does it refer to the middle-class people living in Seoul? To me, it is the people in my films who are the mainstream.
Kim Ki-duk
ตั้งแต่เด็กที่ผกก. Kim Ki-duk ถูกบิดากระทำร้ายร่างกาย ถูกผองเพื่อนดูถูกเหยียดหยาม ถูกสังคมรอบข้างกดดัน ถูกสตูดิโอภาพยนตร์เรียกร้องโน่นนี่นั่น รวมถึงประเทศชาติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เขากลายเป็นคนหัวขบถ เก็บกด ต่อต้านวิถีทางสังคม ไม่ต่างจาก Crocodile เต็มไปด้วยความรุนแรงอัดอั้นตันใจ จึงพยายามหาหนทางระบายอารมณ์คลุ้งคลั่งภายในออกมา
ผมเคยอธิบายไปแล้วว่า Crocodile และผองเพื่อน นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของผกก. Kim Ki-duk ยังคือตัวแทนของ Id-Ego-SuperEgo สันชาติญาณ-การเรียนรู้-คุณธรรมสูงส่ง เมื่อต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละบุคคลจักแสดงออก ได้รับบทเรียน และปรับปรุงตัวเองที่แตกต่างออกไป
มนุษย์เราชอบตัดสินคนอื่นจากเพียงเปลือกภายนอก พฤติกรรมของ Crocodile ในช่วงครึ่งแรกของหนังเรียกได้ว่า ‘ขยะสังคม’ กระทำสารพัดสิ่งชั่วร้าย ชอบใช้ความรุนแรง กระทำร้ายทั้งผู้หญิงและเด็ก โกหกพกลม ต้มตุ๋นหลอกลวง ฯ แต่เมื่อเขาได้รับผลกรรมตอบสนองทันควัน จึงค่อยๆเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง เกิดความห่วงใย สงสารเห็นใจ พร้อมปกป้องสมาชิกครอบครัว โดยไม่รู้ตัวสามารถสำแดง ‘ความเป็นมนุษย์’ ออกมา!
ตรงกันข้ามกับสารพัดคนดี มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ผู้ยิ่งใหญ่ค้างฟ้า แต่เมื่อเปิดเผยเบื้องหลังตัวตน สันดานธาตุแท้จริง กลับเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว คอรัปชั่น สนเพียงผลประโยชน์ กำไร-ขาดทุน กระทำสิ่งตอบสนองตัณหาความใคร่ ไม่สนห่าเหวอะไร นั่นต่างอะไรกับ Crocodile ใครกันแน่คือ ‘ขยะสังคม’ แท้จริง?
สิ่งที่ผกก. Kim Ki-duk รังเกียจหนักหนาคือระบอบทุนนิยม (Capitalism) โลกปัจจุบันนี้ “เงินคือทุกสิ่งอย่าง” คือมูลเหตุแห่งความละโมบ โลภมาก ไม่รู้จักเพียงพอดี เมื่อมีมากก็นำมาอวดอ้าง สร้างอำนาจบารมี กดขี่ข่มเหง แบ่งแยกชนชั้น สถานะทางสังคม ดูถูกเหยียดหยามพวกข้างถนน ราวกับไม่มีตัวตน ขยะสังคม … กลายเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพของคน
Crocodile และผองเพื่อน ต่างก็ลุ่มหลงในเงินทอง อยากได้อยากมี พยายามหาหนทางทำทุกสิ่งอย่างให้ได้มา เพื่อนำไปสนองตัณหา เติมเต็มความต้องการตนเอง แต่สิ่งแตกต่างจากพวกชนชั้นกลาง-สูง คือจิตสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ใช้อำนาจการเงินไปกดขี่ข่มเหง ดูถูกเหยียดหยาม อวดอ้างบารมี ชีวิต-ความตาย ซื้อขายได้ทุกสิ่งอย่าง
อีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจสำหรับผกก. Kim Ki-duk แม้เติบโตมาในสังคมคริสเตียน เคยอาสาทำงานโบสถ์ Baptist ใฝ่ฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์ แต่กลับมีความเข้าใจวิถีธรรมชาติซึ่งสอดคล้องหลักการพุทธศาสนา (ตอนนั้นน่าจะยังไม่ได้ค้นพบศาสนาพุทธ กระมังนะ) ตลอดทั้งเรื่องล้วนมีลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กระทำสิ่งใดย่อมได้รับสิ่งนั้นคืนตอบสนอง พยายามข่มขืนหญิงสาว เลยถูกเกย์หนุ่มเกือบถูกข่มขืนประตูหลัง, แบล็กเมล์คนอื่น เลยโดนรุมกระทืบ, ได้เงินจากการต้มตุ๋นหลอกลวง สุดท้ายเสร็จพวกโกงการพนัน ฯ มันน่าอึ่งทึ่งที่การแสดงออกโดยสันชาตญาณ ทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจสัจธรรมชีวิตได้อย่างถ่องแท้
ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ผกก. Kim Ki-duk เคยกล่าวโดยอ้อมถึงการไม่สามารถเป็นบาทหลวงนักเทศน์ เพราะตนเองไม่สามารถยกโทษให้อภัยคนบางกลุ่มที่พบเจอในสังคม (ตามคำสอนศาสนาคริสต์เมื่อสารภาพบาป ก็เท่ากับเป็นการล้างบาป) แบบเดียวกับ Crocodile (1996) ใครทำอะไรก็สมควรต้องได้รับผลกรรมตอบสนองอย่างสาสม แต่ผลงานผลงานของเขาไม่ต่างจากการเทศนาสั่งสอน เคลือบแฝงนัยยะศาสนาแทบทั้งหมดทั้งสิ้น!
Since my first film Crocodile (1996), I have tried to make films with religious motifs. These motifs are mixed with themes of sin and self-wounding situations. People can choose whatever they want to see in my films. I leave the choice up to the audience. However, the religious elements in my stories offer a return to Mother Nature and innocence.
ด้วยทุนสร้าง ₩250 ล้านวอน (เทียบค่าเงินสมัยนั้นประมาณ $302,000 ดอลลาร์) ด้วยเสียงวิจารณ์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ผู้ชมสมัยนั้นยังรับไม่ได้กับความรุนแรง สุดโต่ง ขยะสังคม ถึงขนาดมีคำเรียก “Trash Movie” เลยทำให้มียอดจำหน่ายตั๋วเพียง 3,000+ กว่าใบ แน่นอนว่าขาดทุนย่อยยับ!
แต่ก็มีนักวิจารณ์อีกหลายคนส่งเสียงชื่นชมในความสมจริง ทรงพลัง ด้วยลีลาดำเนินเรื่องที่แปลกใหม่ ผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบวิถี(ภาพยนตร์)ยุคสมัยนั้น และโดยไม่รู้ตัวสามารถเปิดประตูวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ New Korean Cinema
โอกาสที่หนังจะได้รับการบูรณะ หรือแค่สแกนใหม่ ค่อนข้างจะน้อยมากๆ คงขึ้นอยู่กับหอภาพยนตร์ Korean Film Archive ซึ่งก็ไม่รู้ต้องรอคอยอีกนานเท่าไหร่ ตอนนี้ก็ตามมีตามเกิดไปก่อน ของหายาก แต่สามารถรับชมได้ทาง Youtube
นอกจาก Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ผมยังไม่รับชมผลงานอื่นๆของผกก. Kim Ki-duk แต่ก็เคยได้ยินเสียงลือเล่าขานถึงความดิบ เถื่อน รุนแรงสุดโต่ง เลยเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าประเมินผู้กำกับต่ำไปนิด … เอาผลงานรุนแรงที่สุดของ Park Chan-wook อย่าง Old Boy (2003) แล้วทวีคูณไปอีกสองสามเท่า นั่นแหละ Kim Ki-duk ในเกาหลีใต้ไม่น่าจะมีใครไปสุดขอบได้ไกลกว่านี้
และสิ่งที่ทำให้หนังของ Kim Ki-duk ไปไกลกว่าใครอื่น ไม่ใช่แค่รุนแรงสุดโต่ง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แต่ยังคือความเข้าใจต่อวิถีธรรมชาติ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง และโดยเฉพาะขยะสังคมอย่าง Crocodile ใครจะไปคาดคิดว่ามี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากกว่ามนุษย์เสียอีก!
ปล. ถ้าหนังเรื่องนี้หาดูยากเกินไป แนะนำให้ลองหา Pieta (2012) ภาพยนตร์คว้ารางวัล Golden Lion ของผกก. Kim Ki-duk มีหลายสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึง Crocodile (1996) เอาไว้รับชมแก้ขัดไปก่อน
จัดเรต 18+ กับความรุนแรงสุดโต่งในสไตล์ Kim Ki-duk
Leave a Reply