The Isle (2000) : Kim Ki-duk ♥♥♥♡
แพกลางน้ำ รีสอร์ทตกปลา เริ่มต้นคือสถานที่หนีคดี/หลบซ่อนตัวของ Hyun-shik (รับบทโดย Kim Yu-seok) แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นเหยื่อของหญิง(แสร้งว่า)ใบ้ Hee-jin (รับบทโดย Suh Jung) เกี่ยวเบ็ด ตกขึ้นมา พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน (เหมือนปลาติดเบ็ด) ก่อนยินยอมศิโรราบ ตกเป็นทาสบำเรอกาม
Everyone longs for their own island.
Kim Ki-duk
แปลแบบทกวี: Everyone yearns for their own private paradise.
ผกก. Kim Ki-duk ไม่เคยร่ำเรียนภาพยนตร์ ไม่เคยเข้าร่วมโปรดักชั่นใดๆมาก่อนสรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996) แม้ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ถูกนักวิจารณ์(ในเกาหลีใต้)โจมตีขยะสังคม แต่ยังคงได้รับโอกาสโปรเจคถัดๆไป Wild Animals (1997), Birdcage Inn (1998), จนกระทั่งเรื่องที่สี่ The Isle (2000) ค้นพบทิศทาง/สไตล์ลายเซ็นต์ และเมื่อมีโอกาสเดินทางไปฉายต่างประเทศ คาดไม่ถึงจะได้เสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม
During Venice Film Festival [2000], when I encountered the description of myself as a “filmmaker with an extraordinary talent for poetic expression,” I was overwhelmed with happiness that The Isle was not understood as grotesque but as beautiful poetry.
การจะทำความเข้าใจ The Isle (2000) เหมือนไม่ยุ่งยาก แต่ผู้ชมส่วนใหญ่มัวตกตะลึงอยู่กับฉากเกี่ยวเบ็ดสุดสยอง (Fishhook Penetration) จนไม่สามารถขบครุ่นคิด ค้นหาเหตุผล มันเคลือบแฝงนัยยะอะไร? ยุคสมัยนี้มีคำวัยรุ่น “ตก” มาจาก “ตกหลุมรัก” ซึ่งการที่หญิง(แสร้งว่า)ใบ้ทำการเกี่ยวเบ็ด “ตก” ฝ่ายชายขึ้นมาจากน้ำ มันก็มีความหมายตรงๆคือ เธอตกหลุมรักเขา ต้องการครอบครอง เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ร่วมรักหลับนอน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายยินยอมศิโรราบต่อตนเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือความน่าตื่นตาตื่นใจของทิวทัศน์ธรรมชาติ ตัดกับสีสันของรีสอร์หาปลา ยามกลางวัน-ค่ำคืน ฝนตก แดดออก หมอกหนา งดงามราวกับต้องมนต์ ดั่งภาพวาดศิลปะ นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คำนิยามอันน่าอึ่งทึ่ง “as if the Marquis de Sade had gone in for pastel landscapes” สะสมประสบการณ์ก่อนผลงานชิ้นเอก Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003)
ปล. ระหว่างรับชม The Isle (2000) ไม่รู้ทำไมผมระลึกถึง Audition (1999) ของ Takashi Miike อาจเพราะเป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ พร้อมลุกขึ้นมาโต้ตอบเอาคืนด้วยความรุนแรง
Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม (Bully) แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง (Child Abuse), พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือห้าปี (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์
พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบท Korea Scenario Writers Association แล้วพัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), กำกับผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996) และแจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)
เมื่อตอนอาศัยอยู่ฝรั่งเศส นอกจากเป็นศิลปินข้างถนนในกรุง Paris ยังเคยเดินทางไปปักหลักอยู่ Montpellier ทางตอนใต้ฝรั่งเศสติดกับทะเล Mediterranean วาดภาพทิวทัศน์ท้องทะเล กลายเป็นภาพติดตาฝังใจ จุดเริ่มต้นภาพผืนน้ำของภาพยนตร์ 섬, The Isle
Water was the first image I had when I started the film. The water with its many faces, depending on the weather and wind, like the diversity of human nature. Men fish there, and you should see the thin lines of their fishing rods as the subtle threads that connect people to each other, where they are sometimes the fisher and sometimes the fish that is caught.
Kim Ki-duk
สำหรับเรื่องราวของหนัง ผมหารายละเอียดไม่ได้ว่าผกก. Kim Ki-duk นำแรงบันดาลใจจากอะไรหรือเปล่า? แต่บทสัมภาษณ์กล่าวถึงการจำลอง The Isle คือสัญลักษณ์แทนจุลภาคสังคม ตัวละคร Hee-jin คือเจ้าของแพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา สร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นภายในสังคมเกาหลีใต้ที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) แต่เฉพาะสถานที่แห่งนี้ที่ตนมีอำนาจเหนือใคร
Everyone has their own island they want to escape to. Hee-Jin is a woman with a past in a male-dominated society. She left it and created her own kingdom. Even though she does everything for those men there and even sells her body, she still maintains control. The men think they can decide everything, but it’s like in real society: apparent power, the woman decides.
เกร็ด: บทหนังดั้งเดิมนั้นเห็นว่าเต็มไปด้วยบทพูดสนทนาทั่วๆไป แต่ระหว่างการถ่ายทำผกก. Kim Ki-duk เลือกที่จะตัดทิ้งส่วนใหญ่ออกไป “I got rid of most of their lines after I realized how powerful their silence would be.”
อดีตนายตำรวจ Hyun-shik (รับบทโดย Kim Yu-seok) จับได้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจ ลงมือกระทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต หลบหนีมาซ่อนตัวอยู่แพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลาของหญิง(แสร้งว่า)ใบ้ Hee-jin (รับบทโดย Suh Jung) ครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย ก่อนถูกเตือนสติโดยหญิงสาวจนสามารถหยุดยับยั้งชั่งใจ
วันหนึ่งสายตรวจออกติดตามหาตัวฆาตกรมาถึงรีสอร์ทตกปลาแห่งนี้ Hyun-shik ตัดสินใจเอาตะขอตกปลาเกี่ยวลำคอตนเอง หลบซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นผิวน้ำ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากไป Hee-jin จึงเกี่ยวเบ็ดขึ้นมา พยายามอ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน แต่ฝ่ายชายกลับดิ้นรนขัดขืน ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้ เธอจึงใช้ไม้เด็ดที่ทำให้เผด็จศึก ครอบครองเป็นเจ้าของเขาได้สำเร็จ!
Suh Jung, 서정 (เกิดปี ค.ศ. 1972) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul เข้าสู่วงการตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แสดงหนังสั้น โฆษณา จนกระทั่งได้รับบทสมทบเล็กๆ Peppermint Candy (1999) เล่นเป็นเลขาสาวที่แอบสานสัมพันธ์พระเอก, ก่อนแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Isle (2000), จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์/ซีรีย์อีกหลายเรื่อง ก่อนรีไทร์ออกจากวงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เพื่อก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง The Cora Studio
รับบทหญิง(แสร้งว่า)ใบ้ Hee-jin เจ้าของแพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา อาศัยอยู่บ้านชายฝั่งอย่างโดดเดี่ยว กับสุนัขตัวเดียว เป็นคนปล่อยเนื้อปล่อยตัว บริการลูกค้าแบบไม่ยี่หร่า ไร้อารมณ์ แต่ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ ดำผุดดำว่ายอยู่ใต้พื้นผิวน้ำ, การมาถึงของ Hyun-shik เกิดความลุ่มหลงใหล พบเห็นบางสิ่งอย่างละม้ายคล้ายกันตนเอง จึงคอยสอดส่อง แอบถ้ำมอง ไม่ยินยอมให้อีกฝ่ายฆ่าตัวตาย พยายามปรนเปรอปรนิบัติ ให้ความช่วยเหลือหลบซ่อนจากสายตรวจ คาดหวังจะครอบครอง ร่วมรักหลับนอน สุดท้ายแล้วจักทำสำเร็จหรือไม่?
ดั้งเดิมนั้นตัวละครนี้ก็มีบทพูดทั่วๆไป แต่ระหว่างถ่ายทำผกก. Kim Ki-duk เลือกตัดทิ้งทั้งหมด! แสร้งว่าเป็นใบ้ (ไม่ใช่ความผิดปกติทางร่างกาย) แล้วให้ทำการแสดงผ่านสีหน้า กิริยาท่าทาง ราวกับสัตว์ป่า/อสูรกายใต้น้ำ หลงเหลือเพียงสันชาตญาณเอาตัวรอด ส่งเสียงกรีดร้องเฉพาะตอนเจ็บปวด หรือขณะร่วมเพศสัมพันธ์
การแสดงออกในช่วงแรกๆของ Suh Jung ดูเหน็ดเหนื่อย เอื่อยเฉื่อย ไร้อารมณ์ ราวกับซากศพเดินได้ แต่เมื่อลูกค้าปฏิบัติต่อเธออย่างไม่เห็นหัว โยนเงินลงน้ำ ก็พร้อมโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” จากนั้นเมื่อพบเห็น Hyun-shik คอยสอดส่อง แอบถ้ำมอง เกิดความลุ่มหลงใหล พยายามปรนเปรอนิบัติ โทรเรียกโสเภณีมาให้บริการ กลับรู้สึกอิจฉาริษยา หน้ามืดตามัว เลยลงมือกำจัดทิ้งทุกสิ่งอย่างขวางหน้า เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของเขาแต่เพียงผู้เดียว
ตอนเกี่ยวเบ็ด Hyun-shik ว่าน่าจะสะพรึงแล้ว แต่ผมว่าการเกี่ยวเบ็ดของ Hee-jin สั่นสะท้านยิ่งกว่า! สีหน้าท่าทางจัดเต็ม โคตรๆสมจริง(กว่าตอนฝ่ายชายเสียอีก) นั่นคือท่าไม้ตายที่สามารถซื้อใจเขา พิสูจน์ตนเองว่าฉันพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่าง ด้วยสันชาตญาณของฝ่ายชายจึงไม่สามารถดิ้นหลบหนี ยินยอมศิโรราบต่อเธอในที่สุด
Kim Yu-seok, 김유석 (เกิดปี ค.ศ. 1966) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Dalseo District, ระหว่างเรียนมัธยมเข้าร่วมคณะการแสดง Theater Sanwoollim เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละคอนเพลง แล้วเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์และการละคอน Dongguk University ออกเดินทางไปเรียนต่อที่รัสเซีย M.S. Schepkin Higher Theatre School และ Boris Shchukin Theatre Institute กลับเกาหลีใต้ปี ค.ศ. 1996 เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ ก่อนก่อตั้งโรงเรียนสอนการแสดง, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Power of Kangwon Province (1998), แจ้งเกิดกับ The Isle (2000), จากนั้นก็มีผลงานภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ติดตามมาอีกมากมาย
รับบทอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ Hyun-shik น่าจะเป็นคนซื่อตรง จงรักภักดี พอจับได้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจเลยมิอาจควบคุมตนเอง กระทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนเสียชีวิต หลบหนีมาซ่อนตัวอยู่แพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา วางแผนจะฆ่าตัวตายก่อนได้รับการเตือนสติจากหญิง(แสร้งว่า)ใบ้ Hee-jin จึงล้มเลิกความตั้งใจ ถึงอย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป โดยไม่รู้ตัวค่อยๆถูกคุกคาม บีบบังคับโน่นนี่ แม้ติดหนี้บุญคุณเธอที่ช่วยเหลือจากสายตรวจ แต่เพราะหวาดกลัวการสูญเสียอำนาจ(ชาย)เป็นใหญ่ จึงพยายามดิ้นรนขัดขืน ไม่ต้องการก้มหัวศิโรราบ ก่อนท้ายสุดจะมิอาจเอาชนะสันชาตญาณตนเอง
ภาพลักษณ์ของ Kim Yu-seok ดูเคร่งขรึม ตึงเครียด ชัดเจนมากๆว่าเป็นนักแสดงสาย ‘method acting’ ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความเก็บอด อัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ที่พลั้งพลาดลงมือฆาตกรรมภรรยา) เลยครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ความเจ็บปวดทางกายเพียงเล็กน้อย (โดย Hee-jin) ทำให้บังเกิดสติ หยุดยับยั้งชั่งใจ ค่อยๆคลายความทุกข์โศก ใช้เวลาว่างกับการดัดเหล็ก ตกปลา ทอดทิ้งลมหายใจ ล่องลอยคออยู่กลางอ่างเก็บน้ำไปวันๆ
ด้วยความขลาดหวาดกลัวจะถูกจับกุม Hynu-shik จึงกระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง เอาตะขอตกปลาเกี่ยวลำคอตนเอง ทั้งก็รู้ว่ามันแค่ของปลอม แต่การแสดงของ Kim Yu-seok กลับโคตรๆสมจริง ตาถล่น ชักกระตุก เกร็งร่างกาย แม้งรอดตายได้ยังไง? เข้าใจอารมณ์เจ้าปลาที่ถูกมนุษย์ตกเบ็ด พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน นั่นคือสันชาตญาณในการเอาตัวรอด
บทบาทของ Kim Yu-seok อาจไม่น่าจดจำเท่า Suh Jung เพราะตัวละครสูญเสียความเป็นตัวตนเอง ทำให้ใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย ดำเนินไปอย่างไร้แก่นสาน เพียงดิ้นรนเอาตัวรอดตามสันชาตญาณ ก่อนยินยอมศิโรราบ ตกเป็นเบี้ยล่างสตรีเพศ … นั่นคือสิ่งที่ผู้ชม(ทั้งชาย-หญิง)ไม่อยากจดจำ
- ในกรณีของผู้ชาย มันเกิดความรู้สึกสูญเสียอำนาจ สถานะทางเพศ ชายเป็นใหญ่
- ส่วนฟากฝั่ง Feminist มองการใช้อำนาจ(ทางเพศ)ของ Hee-jin เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ตีตราผกก. Kim Ki-duk นำเสนออคติต่อสตรีเพศ (Anti-Feminist)
- นี่เป็นสิ่งมองได้สองขั้วตรงข้ามเลยนะ ผมแอบรู้สึกว่า The Isle (2000) คือหนึ่งในภาพยนตร์มีความเป็น Feminist มากที่สุดของผกก. Kim Ki-duk ด้วยซ้ำไป!
ถ่ายภาพโดย Hwang Seo-shik,황서식 (เกิดปี ค.ศ. 1961)
งานภาพของหนัง ถ่ายทิวทัศน์ทะเลสาป/อ่างเก็บนำได้อย่างงดงาม วิจิตรศิลป์ เวลาหมอกลง หรือฝนตกพรำ ช่างดูลึกลับ ราวกับต้องมนต์ ตัดกับบ้านพัก/รีสอร์ทตกปลาถูกแต่งแต้มด้วยสีพาสเทล แต่ละหลังก็มีสีสันแตกต่างกันไป เฉกเช่นเดียวกับความหลากหลายของมนุษย์ และเมื่อเปรียบเทียบธรรมชาติกว้างใหญ่ คนเราช่างตัวเล็กกระจิดริด แทบไม่มีความสลักสำคัญอันใด
The Isle (2000) เรียกได้ว่าเป็น “Mature Film” ของผกก. Kim Ki-duk เพราะได้ค้นพบแนวทางภาพยนตร์ของตนเอง โดยจุดสังเกตคือมักให้ความสำคัญกับทิวทัศน์ สถานที่ ลูกเล่นการถ่ายภาพ (พยายามทำออกมาให้มีความงดงามเหมือนภาพวาดศิลปะ) มากกว่าตัวละครที่เป็นแค่เพียงผู้อาศัย ใช้ชีวิต ล่องลอยไป และมักไม่ค่อยพูดคุยสนทนาอะไร แต่สามารถทำให้เรื่องราวดำเนินไป
To me, the boat was more important than the female character and the floating yellow house more significant than the male character… The ideal acting to me is when the actor/actress presents the character in a documentary-like style, as if he/she is actually living that life.
Kim Ki-duk
นอกจากทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ อีกสิ่งโดดเด่นของการถ่ายภาพคือการจัดวางองค์ประกอบ บ่อยครั้งพยายามทำให้บ้านกลางน้ำหลังอื่นๆ เข้ามาติดอยู่ในกรอบเฟรมภาพด้วย! ผมครุ่นคิดว่าเป็นการเติมเต็มช่องว่าง/รายละเอียดภาพ ไม่ให้ดูโหลงเหลง พื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งบางครั้งบ้านอีกหลังยังเคลือบแฝงนัยยะที่สอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอีกด้วย!
หนังปักหลักถ่ายทำยังอ่างเก็บน้ำ Gosam Reservoir (고삼저수지) ตั้งอยู่ยัง Gosam-myeon, เมือง Anseong, จังหวัด Gyeonggi สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1963 กินอาณาบริเวณกว่า 3.1 ล้านตารางกิโลเมตร
ภาพนี้ชื่อว่า The Reflection of Lights ถ่ายโดย Cheon Eun-hui ชนะรางวัล Top Prize ภาพถ่ายด้วย Smartphone เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 จัดโดย Anseong City Hall (Gyeonggi Tourism Organization)
ภาพแรกของหนัง ถ่ายมุมกว้างอ่างเก็บน้ำ Gosam Reservoir ปกคลุมด้วยเมฆหมอก มอบสัมผัสลึกลับ (Mythical) สถานที่แห่งความพิศวง ช่างดูมีมนต์ขลัง ราวกับสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … นี่เป็นการเปิดโสตประสาทของผู้ชม นำเข้าสู่เรื่องราวเหนือจินตนาการ
The fishing seat of the main character is yellow. For me, this color represents paleness, a kind of surrealistic and fantastic sensibility. Yellow is also the color of the mentally sick. The scene showing the man and the woman embracing each other while still attached to the fishhook, out-of-focus for around ten seconds, suggests that they have gone mad.
Kim Ki-duk
รีสอร์ทกลางน้ำแต่ละหลัง มีขนาดเล็กกระทัดรัด แค่ให้มนุษย์เข้าไป(ร่วมรัก)หลับนอน พักอยู่อาศัย แทบไม่สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด เน้นความธรรมดา เรียบง่าย ‘minimalist’ เพียงพอต่อการดำรงชีวิต … แต่มันก็ไม่ต่างจากนกในกรงสักเท่าไหร่
และแต่ละหลังต่างทาสี Pastel (สีที่มีสีขาวมาผสมเพื่อลดความเข้มข้นของเนื้อสีลง) ที่แตกต่างกัน! ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร ผมขออ้างอิงจากคำอธิบายผกก. Kim Ki-duk เลยก็แล้วกัน, Hyun-shik เลือกบ้านสีเหลืองที่ไม่ได้มีความกลมกลืน ตัดกับธรรมชาติพื้นหลัง สร้างสัมผัสเหนือจริง แฟนตาซี และยังเป็นสีของผู้ป่วยอาหารซึมเศร้า (ครุ่นคิดอยากฆ่าตัวตาย)
เครดิตชื่อหนัง 섬, The Isle ปรากฎขึ้นระหว่าง Hee-jin ทิ้งตัวลงนอนบนเรือ ปล่อยให้มันล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ยามพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน (พบเห็นแสงสีทอง ‘Golden Hour’ สะท้อนพื้นผิวน้ำ) แสดงถึงชีวิตที่เรื่อยเปื่อย ไร้หลักแหล่ง ปล่อยไปตามวิถีแห่งสันชาตญาณ
เมื่อตอนที่ Hyun-shik สะดุ้งตื่นจากฝันร้าย มุมกล้องถ่ายติดบ้านสีเขียวด้านหลัง ผู้เข้าอยู่อาศัยตกปลาขึ้นมาพอดิบดี นี่เป็นลักษณะของการเปรียบเทียบ แอบบอกใบ้เหตุการณ์กำลังจะเกิดขึ้น Hyun-shik = ปลาที่ติดเบ็ด ไม่สามารถดิ้นหลบหนีโชคชะตากรรม
Hyun-shik ตั้งใจจะกระทำอัตวินิบาต แต่ถูกขัดขวางโดย Hee-jin ใช้ของแหลมทิ่มแทงเข้าที่บริเวณต้นขา ดูราวกับตีตราสัญลักษณ์ทาส (นายเป็นของฉัน!) ทำให้เขาสะดุ้งตื่น ฟื้นคืนสติ บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแต่สะดีดสะดิ้งแทบเป็นแทบตาย เลยไม่สามารถลงมือฆ่าตัวตายได้ลง
หลังจากเหตุการณ์ค่ำคืนนั้น Hee-jin พยายามขายขนมจีบให้กับ Hyun-shik นำเหยื่อมาติดเบ็ด หาอาหารให้นก รวมถึงแกล้งส่องแสงสะท้อนกระจกเข้าไปที่ใบหน้า แต่เขากลับไม่ได้ให้ความสนใจ ยังไม่มีความรู้สึกใดๆต่อเธอ (การปล่อยปลาลงน้ำ สื่อถึงตัวเขาขณะนี้ที่ยังไม่ยินยอมให้ถูก’ตก’ขึ้นมา) แค่เพียงมอบสิ่งของตอบแทนที่เคยช่วยชีวิต เหล็กดัดชิงช้า (ชิงช้า คือสิ่งที่สามารถสะท้อนสภาวะอารมณ์ตัวละคร อารมณ์ดีก็แกว่งไหว อารมณ์ร้ายก็หยุดนิ่งเฉย)
แซว: ทั้งสามช็อตนี้ต่างถ่ายติดบ้านกลางน้ำอีกหลังแอบอยู่ไกลๆ ทีแรกผมนึกว่าช่วงขายขนมจีบจะติดสีชมพู แต่ภาพสุดท้ายกลับหลังสีม่วง เหมือนจะสื่อว่าฝ่ายชายเริ่มหมดความอดทน
เห็นความละม้ายคล้ายกันของสองภาพนี้ไหมเอ่ย? สงสารเจ้าเยอรมันเชพเพิร์ด ถูกล่ามไว้กลางสายฝน ปล่อยให้เปียกปอน พยายามดิ้นหลบหนี แต่ก็ไม่สามารถทำอะไร … Hyun-shik ก็เฉกเช่นเดียวกัน
ทั้งๆที่ Hee-jin พยายามอ่อยเหยื่อ ขายขนมจีบ แต่เหตุไฉนเมื่อ Hyun-shik เข้ามาโอบกอด ถอดเสื้อ ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์ เธอกลับปฏิเสธขัดขืน ซะงั้น? ผมครุ่นคิดว่าขณะนี้ เธอมองเขาไม่ต่างจากเจ้าเยอรมันเชพเพิร์ด มีชีวิตอยู่ด้วยสันชาตญาณ กิน-ขี้-ปี้-นอน ยังไม่บังเกิดความสัมพันธ์ทางจิตใจ … อธิบายง่ายๆก็คือเล่นตัวนะแหละ!
ถึงแม้ Hee-jin จะปฏิเสธร่วมเพศสัมพันธ์กับ Hyun-shik แต่เธอก็โทรศัพท์ติดต่อหาโสเภณี เรียกมาให้บริการกับเขา แต่ขณะนั้นฝนตกหนัก หญิงสาวจึงเต็มไปด้วยความหงุดหงิด เปียกปอน เรียกร้องโน่นนี่นั่น ปฏิเสธร่วมเพศสัมพันธ์ แต่หลังจากปลดทุกข์ ฟ้าสาง ได้เงิน ได้ของขวัญ (รถจักรยาน = สัญลักษณ์ของการเดินทาง เริ่มต้นชีวิตใหม่) เกิดความระริกระรี้ ตรงเข้าโอบกอดจูบ … พฤติกรรมของโสเภณีคนนี้ ช่างไม่แตกต่างกับ Hee-jin เริ่มจากเรื่องมาก เล่นตัว หลังพานผ่านพายุฝน ก็รี่ตรงเข้าหา
พบเห็น Hyun-shik ระริกระรี้กับโสเภณี สร้างความอิจฉาริษยาให้ Hee-jin เลยทอดทิ้งเขาให้ลอยคออยู่กลางทะเล แต่เดี๋ยวนะ? จะฉุดกระชากลากพาเจ้าเยอรมันเชพเพิร์ดไปปล่อยทิ้งไว้บ้านกลางน้ำด้วยทำไม?? มันทำผิดอะไร??? … ความผิดของมันคือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ ตัวตายตัวแทนของ Hyun-shik
Once, the actress in The Isle asked me if the characters were actually [lower] than the dog starring in the film. I answered by saying that I see them the same as the dog, if not [lower].
Kim Ki-duk
- ยามค่ำคืนระหว่างใช้บริการ Hee-jin พอปลาติดเบ็ดรีบออกมาฉุดดึง หยุดกามกิจชั่วคราว เสร็จแล้วมุดกลับไปเข้าร่วมรักกับเธอต่อ
- ยามกลางวัน ตกปลา ทำซาชิมิ พออิ่มหนำ ก็ชักชวนหญิงสาวเข้าไปร่วมเพศสัมพันธ์
ลูกค้าสองรายนี้ต่างมีพฤติกรรมคล้ายๆกัน สามารถสื่อถึงสันชาตญาณ/ความสนใจของบุรุษเมื่ออาศัยอยู่กับธรรมชาติ ประกอบด้วยการตกปลา รับประทานซาชิมิ (กิน-ขี้) และร่วมเพศสัมพันธ์ (ปี้-นอน)
เฉกเช่นเดียวกับ Hyun-shik ขณะนี้ตกปลาขึ้นมาได้สำเร็จ พอดิบพอดีกับการมาถึงของโสเภณี บอกว่าวันหยุดเลยแวะเวียนมาหา … หรือจะมองว่า Hyun-shik ตกเธอคนนี้ขึ้นมาก็ได้กระมัง
การทำความเข้าฉากเกี่ยวตะขอ ตกเบ็ด มันไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ! ตั้งแต่ต้นเรื่องพบเห็นการตกปลามานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งภาพช็อตนี้ก็สื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมา Hyun-shik = ปลาที่ถูกตกขึ้นมา
มันอาจเพราะภาพความรุนแรง น่าขยะแขยง และการแสดงอันสมจริงของ Kim Yu-seok ทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดสะพรึง อกสั่นขวัญแขวน จนไม่อยากจะขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจเหตุผลของซีเควนซ์นี้!
สำหรับนัยยะของการ ‘ตก Hyun-shik’ ไม่ใช่แค่หลบซ่อนตัวจากสายตรวจ (เพราะเขาติดคดีฆาตกรรมภรรยาและชู้) แต่ยังคือภาพช็อตนี้ที่ Hee-jin ระหว่างดึงตะขอออกจากปาก พร้อมๆปลดกระดุมกางเกง จากนั้นขึ้นนั่งค่อม Woman on Top กระบวนท่าที่ฝ่ายหญิงสามารถควบคุมการร่วมเพศสัมพันธ์ ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของฝ่ายชาย
ช่วงระหว่างพักรักษาตัวจากบาดแผลตะขอเกี่ยวช่องคอ สังเกตว่า Hyun-shik ต้องใช้ไม้ดาม อ้าปากค้าง (เหมือนปลาอ้าปากหวอ=อวัยวะเพศหญิง) ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดย Hee-jin ครั้งหนึ่งพานั่งเรือมายังพงหญ้าในหนองน้ำ ใครดูหนังถึงตอนจบคงสามารถทำความเข้าใจ นี่คือป่าผืนน้อย สัญลักษณ์แทนขนเพชร/ขนหัวหน่าวปกคลุมอวัยวะเพศหญิง
ระหว่างที่ Hee-jin กำลังเปลี่ยนน้ำในตู้ปลา พอดิบพอดีโสเภณีคนเดิมเดินทางมาเยี่ยมเยียน Hyun-shik เรียกร้องขอให้ขับเรือพาไปส่ง ด้วยความอิจฉาริษยาเลยนำพาเธอไปยังบ้านอีกหลัง จับมัด ปิดปาก ซุกซ่อนไม่ให้ไปไหน
โสเภณีสาวพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน เหมือนเจ้าปลาขาดน้ำในตู้ แต่มนุษย์ไม่ใช่ปลา เมื่อเธอพลัดตกน้ำ(ในสภาพถูกมัด)จึงไม่สามารถแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย ท้ายที่สุดเลยจมน้ำเสียชีวิต! … ยามเช้าก็มีปลาตัวหนึ่งนอนเสียชีวิต อยู่นอกตู้ปลา
ความตายของโสเภณี ทำให้เช้าวันถัดมาหมอกควันปกคลุมหนา ได้บรรยากาศทะมึน อึมครึม (ชวนนึกถึง Silent Hill) ราวกับหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา มองเห็นภาพขมุกขมัว แต่สันชาตญาณของเจ้าสุนัขเยอรมันเชพเพิร์ด เหมือนพบเห็นอะไรบางอย่างเหนือธรรมชาติ วิญญาณล่องลอย?
การสูญหายไปของโสเภณีสาว ทำให้แมงดาหนุ่มออกติดตามหาเรื่องชกต่อยกับ Hyun-shik ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใดๆ ก่อนถูก Hee-jin ฉุดกระชากลงน้ำ ดำผุดดำว่าย กลายเป็นศพ = แบตเตอรี่หมดไฟ ถูกถ่วงทิ้งลงสู่ก้นเบื้องอ่างเก็บน้ำ
อาจเพราะไม่ใช่ศพแรกของ Hee-jin เลยสามารถปรับตัวได้อย่างเร็วไว! ผิดกับ Hyun-shik แสดงสารพัดอาการผิดปกติ สภาพจิตใจปั่นป่วน ตกปลาขึ้นมาสับเป็นชิ้นๆ ดัดเหล็กรูปทรงเหมือนมนุษย์แขวนคอ (Hangman) กระทั่งตกปลาตัวที่เคยถูกแล่ทำซาชิมิ พบเห็นสภาพร่อแร่ ตายแหล่มิตายเหล่ กลับยังพยายามต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน อดรนทนเพื่อดำรงชีวิตต่อไป … วินาทีนั้น Hyun-shik จึงหยุดการเข่นฆ่าผักปลา
เหล็กดัดมนุษย์แขวนคอ (Hangman) มันช่างละม้ายคล้ายตอนที่ Hyun-shik ยกสายเบ็ดตกปลาขึ้นมาเชยชม นั่นเพราะหนังทำการเปรียบเทียบมนุษย์ = ปลา, ถูกแขวนคอ = ตะขอเกี่ยวเบ็ด
เกร็ด: แน่นอนว่าองค์กร People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) รับฉากนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน เห็นว่าเคยมีผู้ชมอ๊วกแตกอ๊วกแตนในโรงหนัง ซึ่งผกก. Kim Ki-duk ภายหลังก็รู้สึกผิดเช่นกันที่ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเหี้ยมโหดร้ายเช่นนี้
แม้ว่า Hyun-shik จะสามารถสงบสติอารมณ์ แต่กลับขับไล่ ผลักไส Hee-jin ยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เธอจึงโต้ตอบด้วยการนำกรงนกโยนลงน้ำ (แต่ไม่เห็นนกในกรงขณะจมลงใต้น้ำนะครับ) นั่นคือจุดแตกหักของฝ่ายชาย ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ “ฉันไม่ใช่ผู้ชายของเธอ” ขณะกำลังเก็บข้าวเก็บของ หญิงสาวจึงรีบขับเรือเผ่นหนีไปเสียก่อน
นกในกรงมันยังมีพื้นที่เล็กๆสำหรับกระโดดไปกระโดดมา แต่เมื่อถูกโยนลงน้ำ ไม่มีกระทั่งอากาศหายใจ ค่อยๆจมดิ่งลง มันคือการดิ้นรนก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้าย … เปรียบเทียบตรงๆถึง Hyun-shik ต่อจากนี้จะคือโอกาสสุดท้ายที่จะหลบหนีไปจากแพกลางน้ำ รีสอร์ทตกปลาแห่งนี้
ผมมองว่าการที่ Hee-jin ทำการช็อตไฟฟ้า ทารุณปลาขณะนั้น ไม่น่าจะสื่อถึงการทัณฑ์ทรมาน Hyun-shik แต่สะท้อนความรู้สึกของตัวเธอเองในขณะนี้มากกว่า เจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน จับจ้องมองกระจกด้วยสีหน้าสิ้นหวัง และแกว่งไกวชิงช้าเหล็กดัด โหยหาความรัก ครุ่นคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขที่ผ่านมา
Hyun-shik ทำการดิ้นรนเฮือกสุดท้าย ด้วยการกระโดดลงน้ำ พยายามแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย แต่ยามค่ำคืนมองไม่เห็นชายฝั่ง ไม่รู้จะล่องลอยไปยังทิศทางไหน เลยถูก Hee-jin ใช้เบ็ดตกกลับมาอีกครั้ง!
ซึ่งพอลากพากลับมาถึงบ้าน ดึงตะขอเบ็ดออกจากมือ Hyun-shik ลงมือข่มขืน Hee-jin โดยตัวเขาอยู่ด้านบน (ท่ามิชชันนารี) คอยกำหนดจังหวะท่าทาง พยายามอวดอ้าง สำแดงบารมี ฉันคือบุรุษ ชายเป็นใหญ่ ต้องมีอำนาจเหนือกกว่าสตรีเพศ ระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา
ยามเช้าตื่นขึ้นมา Hyun-shik ฉกฉวยโอกาสตอนที่ Hee-jin ยังนอนหลับใหลในการล่องเรือหลบหนี แต่เธอก็ตัดสินใจใช้ไม้ตายท่าสุดท้าย เอาตะขอเกี่ยวอวัยวะเพศตนเอง ส่งเสียงกรีดร้อง เลือดไหลอาบนอง เปลอะเปลื้อนกระโปรงขาว นั่นทำให้เขามิอาจตัดใจทอดทิ้ง (เพราะเธอเคยช่วยเหลือเขาไว้ เลยมิอาจตัดใจทอดทิ้ง) หวนกลับมาตกเบ็ดหญิงสาว แล้วให้การดูแล รักษาพยาบาล ย้อนรอยกับเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้น
In The Isle I wanted to dispose of any fear of the world and reach a peaceful state by presenting the rigorous conflict between the man and the woman through their repetitive sadomasochism. When the man attempts to leave the woman, she self-inflicts pain by impaling herself with a fishhook. These types of psychic energy, which include intensive attachment, love, anger, and jealousy, are the unique energy our society carries. The dominant image in this film is the two fishhooks facing each other in the shape of a heart.
Kim Ki-duk
นัยยะของการตกเบ็ดครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างจากครั้งไหนๆ แค่ว่ามันการเกิดสลับสับเปลี่ยน Hyun-shik คือคนตก Hee-jin กลายมาเป็นปลา ซึ่งถ้าเรานำเอาตะขอตกปลาสองอันมาวางติดกัน มันจะได้รูปหัวใจ สัญลักษณ์แทนความรักใคร่
ส่วนบริเวณที่ตะขอเกี่ยวนั้น มันคือตำแหน่งที่เป็นสิ่งล่อลวงใจของอีกฝ่าย
- ในกรณีของ Hyun-shik ผมอ่านเจอว่าไม่ใช่ลำคอ แต่คือล้วงเข้าไปในหัวใจ นั่นคือสิ่งที่ผู้หญิง(ส่วนใหญ่)ต้องการได้รับจากผู้ชาย
- ขณะที่ Hee-jin ก็คืออวัยวะเพศ นั่นคือสิ่งที่ผู้ชาย(ส่วนใหญ่)ระริกระรี้ โหยหาจากผู้หญิง
แม้ว่า Hyun-shik จะเป็นฝ่ายตก Hee-jin ครุ่นคิดว่าตนเองมีอำนาจ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของป่าผืนน้อย แต่แท้จริงคือเสร็จมารยาหญิงไปเรียบร้อย ตกเป็นเบี้ยล่าง ทาสบำเรอกาม ตอนนี้เริ่มต้นทาสีบ้านใหม่ (สัญลักษณ์ของการกลบเกลื่อน ลบเลือน ละทอดทิ้งอดีต) จากเดิมสีพาสเทลอ่อนๆ กลายมาเป็นสีเหลืองเข้มๆ สรวงสวรรค์ของเราสอง และช็อตสุดท้ายเมื่อทาสีเสร็จ มีการเอาแปรงมาเคล้าคลอเคลีย (เหมือนหนุ่มสาวระหว่างร่วมเพศสัมพันธ์)
ภาพช็อตนี้ไม่มีอะไรมาก ผมแค่บังเอิญสังเกตเห็นเหล็กดัดรูปปลาอยู่เคียงข้างทั้งสอง นี่ก็สื่อถึงพวกเขาต่างเคยตกกันและกัน กลายเป็นของกันและกันในที่สุด
เหตุการณ์วุ่นๆวายๆเกิดขึ้นเมื่อนาฬิกาทองตกน้ำ ด้วยมูลค่ามากมายมหาศาล จึงสร้างความเกรี้ยวกราด ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ แสดงอาการไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง โทรศัพท์เรียกลูกน้องมาดำน้ำค้นหา กลับกลายเป็นว่าพบเจอลับลมคมใน หลายสิ่งอย่างซุกซ่อนอยู่ภายใต้
ใครที่รับชมหลายๆผลงานของผกก. Kim Ki-duk ย่อมรับรู้ถึงพฤติกรรมต่อต้านระบอบทุนนิยม (Anti-capitalism) กับแค่นาฬิกาตกน้ำ ทำราวกับจะเป็นจะตาย สิ่งอื่นๆล้วนไม่มีค่าอันใด
ภาพสุดท้ายของหนังมีการเปรียบเทียบถึงโคตรภาพยนตร์แห่งสหภาพโซเวียต Solaris (1972) กำกับโดย Andrei Tarkovsky ซึ่งผมก็รู้สึกว่าแนวคิดละม้ายคล้ายกันอยู่ คือกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ทำให้พบเห็นภาพระดับจุลภาคแปรสภาพสู่มหภาค พบเห็นสถานที่ที่ตัวละครพักอยู่อาศัย แท้จริงแล้วเมื่อมองจากระยะไกลกลับคือ !@#$%^
An “island” is to a woman as a woman is to a man. The last scene in this film’s epilogue defines the entire image of this film. I wanted to convey my desire to return to a supernatural state by means of a love story.
Kim Ki-duk
Hyun-shik กำลังแหวกพงหญ้าบนเกาะเล็กๆ กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังก่อนทำการ Cross-Cutting หญิงสาวนอนเปลือยกาย จมน้ำ อยู่ภายในเรือ ซึ่งบริเวณพงหญ้านั้นพอดิบพอดีกับบริเวณขนเพชร ขนหัวหน่าว ปกปิดอวัยวะเพศหญิง นี่เป็นการเปรียบเทียบ The Isle แพกลางน้ำ รีสอร์ทตกปลา = อวัยวะเพศหญิง
แซว: ตอนต้นเรื่องเมื่อปรากฎชื่อหนัง Hee-jin ทิ้งตัวลงนอนบนเรือ บางคนอาจตีความว่าตลอดทั้งเรื่องต่อจากนั้น คือจินตนาการเพ้อฝันของหญิงสาว ก่อนเรือจะรั่ว จมน้ำตายโดยไม่รู้ตัวในขณะนี้ … ก็ได้กระมังนะ!
ตัดต่อโดย Kyeong Min-ho, 경민호 (เกิดปี ค.ศ. 1969)
แพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของหนัง ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองหญิง(แสร้งว่า)ใบ้ Hee-jin ตั้งแต่การมาถึงของ Hyun-shik คอยสอดส่อง แอบถ้ำมอง เกิดความหลงใหล พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครอง ร่วมรักหลับนอน เป็นเจ้าข้าวเจ้าของอีกฝ่าย
- แพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา
- Hyun-shki เดินทางเข้าพักรีสอร์ทตกปลา
- ยามค่ำคืน Hee-jin ให้บริการลูกค้า
- Hyun-shki ฝันถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้น พยายามจะฆ่าตัวตาย แต่ได้รับการช่วยเหลือโดย Hee-jin
- Hee-jin พยายามเกี้ยวพาราสี Hyun-shki
- แม้ว่า Hyun-shki ล้มเลิกความตั้งใจฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร วันๆนั่งดัดเหล็ก ตกปลา
- ลูกค้าบ้านพักหลังหนึ่งโทรศัพท์เรียกโสเภณีมาใช้บริการ
- Hee-jin โทรศัพท์นัดหมายโสเภณีมาให้บริการกับ Hyun-shki
- แต่ไปๆมาๆ Hee-jin เกิดความอิจฉาริษยาโสเภณีคนนั้น
- การมาถึงของสายตรวจ
- วันหนึ่งสายตรวจเข้าตรวจค้นรีสอร์ทแห่งนี้
- Hyun-shki เอาตะขอตกปลาเกี่ยวลำคอตนเอง หลบซ่อนตัวใต้น้ำ
- หลังสายตรวจจากไป Hee-jin ทำการประคบประหงม Hyun-shki
- พอโสเภณีเดินทางมาหา Hyun-shki จึงจัดการลักพาตัว ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่า แต่อีกฝ่ายพลัดจมน้ำเสียชีวิต
- แมงดาของโสเภณีพยายามออกติดตามหา เกิดการต่อสู้กับ Hyun-skh ก่อนถูกจับถ่วงน้ำเสียชีวิต
- ศิโรราบต่อความรัก
- Hyun-shki พยายามหาหนทางหลบหนีไปจากรีสอร์ทแห่งนี้
- แต่ทว่า Hee-jin ใช้ไม้เด็ดที่ทำให้ Hyun-shki ยินยอมศิโรราบต่อตนเอง
- ลูกค้าขาประจำของโรงแรม พลัดทำนาฬิกาทองหล่นน้ำ เรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยงม พบศพที่ถูกถ่วงน้ำไว้
- Hee-jin เลยล่องลอยแพ หลบหนีไปกับ Hyun-shki
เพลงประกอบโดย Jeon Sang-yun, 전상윤 (เกิดปี ค.ศ. 1966) เกิดที่กรุง Seoul สำเร็จการศึกษาจิตรกรรมตะวันตก Chung-Ang University จบออกมาทำงานเป็นช่างภาพอยู่สักพัก ก่อนได้รับชักชวนจากผกก. Kim Ki-duk ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Isle (2000), Real Fiction (2000) ฯ
งานเพลงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพยนตร์ของผกก. Kim Ki-duk สำหรับเติมเต็มช่องว่าง หลายครั้งใช้แทนบทสนทนา สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร
สำหรับ The Isle (2000) บทเพลงฟังดูเนิบนาบ เบาบาง ราวกับเมฆหมอกกำลังเคลื่อนคล้อย ล่องลอยเข้ามาปกคลุมพื้นผิวน้ำ แต่ภายในนั้นซุกซ่อนบางสิ่งอย่างน่าหวาดสะพรึง อดีตที่เลวร้าย ปัจจุบันเลือนลาง อนาคตดำเนินไปอย่างไร้ความหวัง หลงเหลือเพียงสันชาตญาณนำทางชีวิต
The Isle (2000) นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวผู้มีความโดดเดี่ยวอ้างว้าง พบเจอชายวัยกลางคนชอกช้ำในรัก บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล คอยสอดส่อง แอบถ้ำมอง ให้ความช่วยเหลือสารพัด พยายามปรนเปรอนิบัติ เกี้ยวพาราสี ต้องการครอบครอง เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ร่วมรักหลับนอน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายยินยอมศิโรราบต่อตนเอง
อธิบายแบบง่ายๆ หนังนำเสนอเรื่องราวความรักที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้เข้าหาฝ่ายชาย แต่นั่นคือสิ่งผิดแปลกประหลาดในเกาหลีใต้ (ที่เลื่องชื่อในสังคมชายเป็นใหญ่) ช่วงแรกๆเขาจึงพยายามต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน จนยินยอมรับรักเธอในที่สุด!
Hyun-Sik is a man who flees because he can think of nothing else but dying. He can only continue living because Hee-Jin gives him a chance. Their love is a fight, with changing chances. He comes there to be alone, but can do nothing and is caught like a fish. If he wants to let her go, he can’t. That keeps repeating itself, it’s a vicious circle. Men don’t know what they want if they can’t hold on to their apparent social power. They can’t act, except when they kill or fuck. At least women do.
Kim Ki-duk
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรากฐานทางวัฒนธรรม สังคมชายเป็นใหญ่ ระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ปลูกฝังอยู่ใน DNA เลยก็ว่าได้! ซึ่งการที่ตัวละคร Hyun-shik ถูกภรรยาทรยศหักหลัง ทำให้อับอาย สูญเสียความเป็นชาย หมดสิ้นศรัทธาในตนเอง เดินทางมาแพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลาเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อไม่สามารถลงมือกระทำได้ ชีวิตจึงดำเนินไปอย่างเคว้งคว้างล่องลอย ไร้จุดมุ่งหมาย เหลือเพียงสิ่งตอบสนองสันชาตญาณ ความต้องการพื้นฐาน กิน-ขี้-ปี้-นอน ไม่แตกต่างจากเดรัจฉาน
แพกลางน้ำ/รีสอร์ทตกปลา ราวกับอาณาจักรของ Hee-jin สถานที่ที่เธอมีอำนาจ สิทธิ์ขาด สามารถทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็แค่คนแปลกหน้า พานผ่านมาประเดี๋ยวก็พานผ่านไป จนการมาถึงของ Hyun-shik ไม่ต่างจากปลาที่ตกเบ็ดได้ ช่วงแรกๆมันก็พยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางหลบหนี ก่อนท้ายสุดจะยินยอมศิโรราบต่อโชคชะตากรรม
เหตุผลที่ Hyun-shik ยินยอมศิโรราบตอบ Hee-jin มีความละม้ายคล้ายกับตอนเธอตกเขาขึ้นมาระหว่างหลบซ่อนตัวจากสายตรวจ คราวนี้ฝ่ายหญิงนำตะขอมาเกี่ยวอวัยวะเพศให้ฝ่ายชายตกขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่สตรีสามารถใช้เป็นอำนาจต่อรอง ให้บุรุษได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
ภาพสุดท้ายของหนัง ถือเป็นการอธิบายใจความสำคัญ, Hyun-shik แหวกว่ายอยู่ในพงหญ้า เกาะกลางน้ำ ป่าผืนน้อยๆที่พอกล้องเคลื่อนถอยออกมา เปิดเผยว่าคือขนเพชร/ขนหัวหน่าวปกคลุมอวัยวะเพศหญิง นั่นคือสิ่งที่บุรุษต่างโหยหา ไม่สามารถดิ้นหลบหนี ต้องการครอบครองเพื่อสืบพงศ์เผ่าพันธุ์ ตอบสนองสันชาตญาณชีวิต … สรุปแล้ว The Isle ก็คืออวัยวะเพศหญิงนั่นเองแหละครับ!
สำหรับผกก. Kim Ki-duk ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น “Love Story” เคยให้คำนิยามความรัก คือสิ่งมาพร้อมกับความเจ็บปวด คลื่นอารมณ์ การต่อสู้ระหว่างชาย-หญิง ชีวิตจริงหาได้สวยงามอย่างที่ใครๆวาดฝันจินตนาการ เหมือนพื้นผิวน้ำที่ดูราบเรียบ สงบงาม แต่ภายใต้กลับเต็มไปด้วยกระแสรุนแรง อะไรไม่รู้ซุกซ่อนอยู่มากมาย
People often try to imagine love as a pure emotional extreme or exchange. But to go beyond the surface, there is a passion, even some other power that exists to sustain this feeling of love. What the man and woman in The Isle represent isn’t simply anger but the frightening nature of the human relationship itself. The man will drown if he refuses to hang onto the thin fishing line, but excruciating pain follows when he does. I wanted to present the seemingly cruel, yet fragile and inevitable, qualities of relationships. I believe that behind the contempt and destructiveness of it lies something so alluring, the most beautiful love of them all.
หนังใช้ทุนสร้างประมาณ $50,000 เหรียญ ถือว่าน้อยนิดกระจิดริด แต่เสียงตอบรับติดลบในเกาหลีใต้ เลยไม่สามารถจะคืนทุนได้ด้วยซ้ำ ถึงอย่างเมื่อได้รับเลือกเข้าฉายสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Netpac Award – Special Mention แม้จะไม่ใช่รางวัลในสายการประกวด แต่ก็ทำให้หนังมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังอื่นๆอีกมากมายทั่วโลก!
Kim Ki-duk For its intense consistent and graphic metaphorical expression of love desire subjugation and sacrifice.
คำนิยมเมื่อคว้ารางวัล Netpac Award – Special Mention
เกร็ด: The Isle (2000) เพิ่งจะเป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี(ใต้)เรื่องที่สองถัดจาก The Surrogate Woman (1986) เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice
ผมไม่แน่ใจว่าแผ่น Blu-Ray ของค่าย Umbrella Entertainment ที่วางจำหน่ายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2024 คือฉบับบูรณะหรือแค่แสกนใหม่ (หนังที่วางขาย Blu-Ray ในปัจจุบันนี้มักจะ 2K หรือ 4K กันหมดแล้ว! แต่เรื่องนี้กลับไม่มีระบุคุณภาพ) แต่ถ้าใครไม่อยากอดใจรอก็ลองหา Nova Media ฉบับปี ค.ศ. 2015 และ ค.ศ. 2017 (Plain Edition) พอดูแก้ขัดไปก่อน
แค่ภาพแรกทะเลสาป/อ่างเก็บน้ำท่ามกลางสายหมอก ก็สร้างมนต์สะกดให้ลุ่มหลงใหล ชวนนึกถึง Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ขึ้นมาโดยพลัน! จากนั้นพบเห็นลีลาการเล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย ตัดกับทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ แม้เรื่องราวยังไม่ค่อยกลมกล่อมสักเท่าไหร่ แต่สไตล์ลายเซ็นต์ของผกก. Kim Ki-duk มีความโดดเด่น ชัดเจน เอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบใคร
แนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่อยากเชยชมผลงานของผกก. Kim Ki-duk พยายามค้นหาฉบับบูรณะ หรือคุณภาพดีที่สุด! เพื่อซึมซับความงดงามของหนังที่ราวกับภาพวาดศิลปะ
จัดเรต 18+ กับโสเภณี คบชู้นอกใจ คดีฆาตกรรม และเกี่ยวเบ็ดตกปลา
Leave a Reply