Dial M for Murder (1954) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥
ภาพยนตร์สามมิติ (3D) เรื่องแรกเรื่องเดียวของผู้กำกับ Alfred Hitchcock, ชายวัยกลางคน Ray Milland ครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรมภรรยาสุดสวย Grace Kelly เพราะแอบคบชู้นอกใจกับหนุ่มอเมริกันสุดหล่อ Robert Cummings ด้วยการหยิบยืมมือเพื่อนเก่า Anthony Dawson แต่แผนการที่(เกือบ)สมบูรณ์แบบ มักเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงเสมอๆ
บ้างเรียกว่า “Golden Age of 3-D Movies” ไม่ก็ “Hollywood’s first great 3-D Wave” คือกระแสนิยมภาพยนตร์สามมิติ (3D) ระหว่างปี ค.ศ. 1952-54 เริ่มต้นจาก Bwana Devil (1952) ถ่ายทำด้วยกระบวนการชื่อว่า “Natural Vision” ตั้งกล้องสองตัวเอียงต่างองศาเล็กน้อย ขณะฉายก็ต้องใช้โปรเจคเตอร์สองตัว และเวลารับชมสวมใส่แว่นโพลารอยด์สองสี (Dual-Strip) จะทำให้พบเห็นความลึก นั่นเรียกว่าภาพสามมิติ!
เอาจริงๆควรจะเรียกว่ายุคตื่นทอง “Gold Rush Age of 3-D Movies” เพราะความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Bwana Devil (1952) ทำให้แทบทุกสตูดิโอเกิดความกระตือรือล้น หวนระลึกถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านหนังเงียบ (Silent Film) สู่หนังพูด (Talkie) จึงแห่กันทดลองสรรค์สร้างภาพยนตร์สามมิติ แทบจะครบทุกแนวหนัง ไม่เว้นแม้แต่ผู้กำกับชื่อดังอย่าง Alfred Hitchcock, Jack Arnold, Douglas Sirk, Raoul Walsh ฯ รวมๆแล้วในระยะเวลา 2-3 ปี มีจำนวนกว่า 50+ เรื่อง! ที่ดังๆก็อย่าง House of Wax (1953), It Came from Outer Space (1953), Inferno (1953), Creature from the Black Lagoon (1954) ฯ
แต่แล้วจู่ๆกระแสนิยมหนังสามมิติ (3D) ก็สิ้นสุดลงอย่างปัจจุบันทันด่วน อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี บรรดาโรงหนังปฏิเสธลงทุนซื้อเครื่องฉายเพิ่มเติม (เพราะมันต้องใช้สองเครื่องฉายพร้อมกัน) แถมกระแสนิยมก็ลดลง ผู้ชมเกิดความเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็ว และเหตุผลสำคัญคือการมาถึงของ CinemaScope สามารถเปิดประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ได้ยิ่งใหญ่อลังการกว่า
It’s a nine-day wonder, and I came in on the ninth day.
Alfried Hitchcock
จริงๆแล้วผกก. Hitchcock ไม่ได้มีความกระตือรือล้นต่อเทคโนโลยีสามมิติสักเท่าไหร่ ไม่เคยคิดอยากจะร่วมสังฆกรรม แต่เพราะสตูดิโอของตนเอง Transatlantic Pictures ปิดกิจการลงไป เลยจำยินยอมสร้างหนังสามมิติเรื่องนี้ให้กับ Warner Bros.
แม้ว่า Dial M for Murder (1954) ได้รับการยกย่องหนึ่งใน “greatest 3D films ever made” แต่ระหว่างการถ่ายทำ ผกก. Hitchcock พบเห็นข้อจำกัดมากมาย ถึงขนาดเคยพยากรณ์ไว้ด้วยว่าสุดท้ายแล้ว หนังจะถูกนำออกฉายแบบสองมิติทั่วไป … ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะออกฉายตอนที่กระแสหนังสามมิติหมดสิ้นลงพอดิบดี!
มันมี Blu-Ray ของสตูดิโอ Warner Bros. ที่ทำออกมาเป็นภาพสามมิติ แต่ผมไม่มีแว่นหรือโทรทัศน์(ที่สามารถฉายภาพสามมิติ) เลยรับชมแค่หนังสองมิติ คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ไม่รู้จะเชียร์ใครดีระหว่างสามี-ภรรยา หรือตำรวจสืบค้นหาข้อเท็จจริง
(ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนคงจดจำ Dial M for Murder (1954) ในสถานะหนังสามมิติของผกก. Hitchcock, แต่ผู้ชมยุคหลังๆคงคือหนัง Crime Thriller ที่มีความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ในสไตล์ Hitchcockian)
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Shadow of a Doubt (1943), Spellbound (1945), Notorious (1946) ฯ
หลังหมดสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ Selznick ได้รับบทเรียนการทำงานภายใต้บุคคลอื่น ผกก. Hitchcock จึงร่วมกับเพื่อนสนิท Sidney Bernstein ก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Transatlantic Pictures ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 สรรค์สร้างผลงาน Rope (1947), Under Capricorn (1949), Stage Fright (1950), I Confess (1953) แต่กลับไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ Bernstein จึงขอถอนตัว ปิดกิจการสตูดิโอ
เกร็ด: หลังเสร็จจาก I Confess (1953), ผกก. Hitchcock มีแผนดัดแปลงนวนิยาย The Bramble Bush (1948) ของ David Duncan แต่เพราะ Bernstein ตัดสินใจปิดกิจการสตูดิโอ Transatlantic Picture โปรเจคดังกล่าวเลยถูกล้มเลิกโดยพลัน
นั่นทำให้ผกก. Hitchcock จำใจเซ็นสัญญากับสตูดิโอ Warner Bros. แต่ด้วยบทเรียนจากโปรดิวเซอร์ Selznick จึงพ่วงข้อตกลงที่จะไม่มีใครเข้ายุ่งย่ามก้าวก่ายในตัวหนัง เท่านี้ก็เพียงพอจะสรรค์สร้างผลงานอย่างอิสรภาพ Strangers on a Train (1951), Dial M for Murder (1954) และ The Wrong Man (1956)
สำหรับ Dial M for Murder จุดเริ่มต้นจากโปรดักชั่นละคอนโทรทัศน์ Sunday Night Theatre (1950-59) SS3 EP12 พัฒนาบทโดย Frederick Knott ออกฉายทางสถานี BBC Television วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1952 จากนั้นถูกดัดแปลงเป็นละคอนเวที West End (425 รอบการแสดง) และ Broadway (552 รอบการแสดง) สตูดิโอ Warner Bros. จึงขอซื้อต่อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์มูลค่า $75,000 เหรียญ และยังได้ Knott กลับมาพัฒนาบทหนัง
บทหนังของ Knott ไม่ได้มีการปรับปรุง แก้ไขอะไรมากมาย เหตุการณ์(แทบ)ทั้งหมดยังคงปักหลักอยู่ภายอพาร์ทเม้นท์ (Limited Setting หรือ Single Location) แต่ภาพยนตร์สามารถเพิ่มเติมฉากภายนอก มองออกไปนอกหน้าต่าง รวมถึงระหว่าง Tony Wendice และ Mark Halliday เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ (ขณะเกิดเหตุฆาตกรรม)
เรื่องราวของอดีตนักเทนนิสวัยกลางคน Tony Wendice (รับบทโดย Ray Milland) แต่งงานกับหญิงสาวไฮโซ Margot Mary Wendice (รับบทโดย Grace Kelly) แต่แอบจับได้เธอคบชู้นอกใจ สานสัมพันธ์รักกับหนุ่มนักเขียนชาวอเมริกัน Mark Halliday (รับบทโดย Robert Cummings) จึงครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรมภรรยา ด้วยการหยิบยืมมือเพื่อนเก่าสมัยเรียน Charles Alexander Swann (รับบทโดย Anthony Dawson) ด้วยค่าจ้าง £1,000 ปอนด์
แต่ทว่าแผนการวางไว้กลับเกิดเหตุผิดพลาด ระหว่าง Charles กำลังฆ่ารัดคอ Margot เธอสามารถดิ้นรนขัดขืน แล้วใช้กรรไกรทิ่มแทงอีกฝ่ายจนเสียชีวิต Tony จึงรีบเดินทางกลับมาห้องพัก ปลอมแปลกหลักฐาน เพื่อให้นักสืบ Chief Inspector Hubbard (รับบทโดย John Williams) ค้นพบว่านี่คือคดีฆาตกรรม จงใจฆ่า (เพราะบุคคลนั้นคือคนแบล็กเมล์ Margot) ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต ถึงอย่างนั้นกลับมีสิ่งหนึ่งที่เขาหลงลืม พลั้งพลาด ทำให้ข้อเท็จจริงถูกเปิดโปงอย่างคาดไม่ถึง
Ray Milland ชื่อจริง Alfred Reginald Jones (1907-86) นักแสดงสัญชาติ Welsh-American เกิดที่ Neath, Wales อาศัยอยู่บ้านฟาร์มเพาะพันธุ์ม้า โตขึ้นเลยอาสาสมัครทหารม้า Household Cavalry เข้าร่วมแข่งขันยิงปืนได้รับรางวัลชนะเลิศ ช่วงระหว่างประจำการอยู่ London ค้นพบความหลงใหลด้านการแสดง เริ่มจากเป็นตัวประกอบหนังเงียบ Piccadilly (1929), The Informer (1929), ได้รับบทเด่นครั้งแรกกับ The Flying Scotsman (1929) ทำให้มีโอกาสเซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M ออกเดินทางสู่ Hollywood กลายเป็น ‘Stock Player’ เคยถูกเหยียดหยามสารพัด ไปๆกลับๆอังกฤษ-สหรัฐอเมริกา กระทั่งแจ้งเกิดกับ Three Smart Girls (1936), The Jungle Princess (1936), Easy Living (1937), The Uninvited (1944), Ministry of Fear (1944), The Lost Weekend (1945), Dial M for Murder (1954) ฯ
รับบท Tony Wendice ชายวัยกลางคน เคยเป็นนักเทนนิสสมัครเล่น เกษียณออกมาเพื่อแต่งงานกับนักธุรกิจสาวสวย Margot วันๆใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย เกาะกินหญิงสาว ราวกับแมงดา แต่พอรับรู้ว่าอีกฝ่ายคบชู้นอกใจ จึงครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรม พยายามทำออกมาให้เป็น ‘Perfect Murder’ ด้วยการจ่ายเงินให้บุคคลแปลกหน้า/อดีตเพื่อนสมัยเรียนที่กลายเป็นอาชญากร เคยติดคุกติดตาราง แต่เหตุการณ์เลวร้ายมักมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นเสมอๆ
แซว: ตัวละครนี้คืออดีตนักเทนนิส? นี่มันภาคต่อของ Strangers on a Train (1951) หรือเปล่าเนี่ย?? เรื่องนั้นสะดีดสะดิ้งไม่ยินยอมทำ ‘Perfect Murder’ แต่คราวนี้เหมือนจะเพิ่งครุ่นคิดได้
ความตั้งใจแรกเริ่มของผกก. Hitchcock อยากได้ทีมนักแสดง Cary Grant, Deborah Kerr, William Holden แต่ทว่า Kerr กับ Holden ติดพันโปรเจคอื่น ส่วน Grant ก็เข้าอิหรอบเดิม สตูดิโอไม่ยินยอมให้รับบทตัวร้าย/ฆาตกร จึงจำต้องเปลี่ยนมาเป็น Ray Milland จากความประทับใจภาพยนตร์ The Lost Weekend (1945)
แต่เอาจริงๆบทบาท Tony Wendice แทบไม่มีเค้าโครงใดๆของ Don Birnam (ภาพยนตร์ The Lost Weekend (1945)) จากคนขี้เมา นักเขียนไส้แห้ง กลายเป็นมาชนชั้นสูง ผู้เย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง ทุกถ้อยคำพูดล้วนผ่านการขบครุ่นคิด วางแผนอย่างแยบยล ไม่ไก่อ่อน ไม่เร่งรีบร้อน สามารถสงบสติอารมณ์ เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งอย่างอยู่ในการควบคุม … ละม้ายคล้ายตัวละคร Brandon Shaw ภาพยนตร์ Rope (1948)
แม้ผมรู้สึกว่า Milland ก็เล่นได้ดี เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ตัวละคร แต่พี่แกไม่ค่อยมีรัศมีดารามากนัก เลยไม่ได้ช่วยสร้างความเปร่งประกายให้กับหนัง คือเอาจริงๆถ้าได้นักแสดงดังๆอย่าง Cary Grant อาจช่วยสร้างความเจิดจรัส น่าสนใจเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว!
Grace Patricia Kelly (1929-82) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ที่ต่อมาได้กลายเป็น Princess of Monaco หลังแต่งงานกับ Prince Rainier III เมื่อปี 1956, เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania บิดาคือผู้อพยพชาว Irish ส่วนมารดามีเชื้อสาย German ครอบครัวมีเคร่งครัด Catholic, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง American Academy of Dramatic Arts, New York ทำงานโมเดลลิ่ง ละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Fourteen Hours (1951), แจ้งเกิดโด่งดังกับ High Noon (1952), ร่วมงานผู้กำกับ Alfried Hitchcock สามครั้ง Dial M for Murder (1954), Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), คว้ารางวัล Oscar: Best Actress จากผลงาน The Country Girl (1954)
เกร็ด: Grace Kelly ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Female Legends ติดอันดับ #13
รับบทสาวไฮโซ Margot Mary Wendice ผู้มีธุรกิจเป็นของตนเอง แม้แต่งงานอยู่กินกับสามี Tony แต่กลับแอบสานสัมพันธ์ชู้ชาว Mark Halliday ทั้งสองเขียนจดหมายหากันอยู่เป็นประจำ โดยเมื่ออ่านจบทุกครั้งจะเผาทำลาย ยกเว้นเพียงฉบับหนึ่งต้องการเก็บรักษาเอาไว้ กลับถูกลักขโมย โดนแบล็กเมล์ และยังพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย
ภาพลักษณ์ของ Kelly มีลักษณะของ ‘Hitchcock’s Blonde’ ผมสีบลอนด์ แต่งตัวสวยสง่า ท่าทางเย็อกเย็นชา ภายนอกทำตัวบริสุทธิ์ สวยใส ไร้เดียงสา แต่กลับแอบคบชู้นอกใจสามี ทำทองไม่รู้ร้อนหนาว เหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น ผลลัพท์เลยถูกแบล็กเมล์ ลอบฆ่า ได้รับบาดแผลทางจิตใจ แม้สามารถเอาชีวิตรอดอย่างหวุดหวิด กลับถูกเข้าใจผิดๆ ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสหวนกลับมาช่วงท้าย สายตาเหม่อลอย ท่าทางห่อเหี่ยว สูญเสียขวัญ กำลังใจ ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย และตื่นตกใจ ดวงตาลุกโพง เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด
The female characters in his films reflected the same qualities over and over again: They were blonde. They were icy and remote. They were imprisoned in costumes that subtly combined fashion with fetishism. They mesmerised the men, who often had physical or psychological handicaps. Sooner or later, every Hitchcock woman was humiliated.
คำอธิบาย Hitchcock’s Women ของนักวิจารณ์ Roger Ebert
การร่วมงานครั้งแรกระหว่าง Kelly และผกก. Hitchcock แม้เป็นเพียงบทบาทสมทบ ไม่ได้เน้นขายการแสดงมากนัก แต่ภาพลักษณ์ของเธอถือว่าเจิดจรัส ดวงตาสีฟ้าเปร่งประกายแสง โดดเด่นเข้ากับชุดสวมใส่ที่มีความหลากหลายสีสัน (จากแดงแรดร่าน ขาวบริสุทธิ์ ช่วงท้ายสีคมเข้ม ล้วนสื่อถึงสภาพจิตใจตัวละคร) และถือได้ว่า Hitchcock คืออาจารย์ (Mentor) ของ Kelly ให้คำแนะนำอันดี ทั้งสองจึงมีความสนิทสนมในชีวิตจริง ตอนเธอกลายเป็นเจ้าหญิง ก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่เสมอๆ
Charles Clarence Robert Orville Cummings (1910-90) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Joplin, Missouri ช่วงระหว่างเรียนมัธยมปลาย ค้นพบความหลงใหลด้านการบิน เข้าศึกษาวิศวกรรมการบิน Carnegie Institute of Technology แต่เรียนได้แค่ปีเดียวต้องลาออกเพราะสถานะทางการเงิน (จากวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นล่ม ค.ศ. 1929) เลยจำต้องเปลี่ยนความสนใจสู่การแสดง เข้าศึกษาต่อ American Academy of Dramatic Arts เริ่มจากออกทัวร์ทำการแสดง เข้าร่วมโปรดักชั่น Broadway เล่นหนังเรื่องแรก So Red the Rose (1935) แล้วได้เซ็นสัญญา Paramount Pictures มีผลงาน Millions in the Air (1935), Desert Gold (1936), โด่งดังกับหนังแนว Comedy อาทิ The Devil and Miss Jones (1941), Princess O’Rourke (1943), และเคยร่วมงานผู้กำกับ Alfred Hitchcock สองครั้ง Saboteur (1942), Dial M for Murder (1954)
รับบท Mark Halliday นักเขียนนวนิยายอาชญากรรมไส้แห้ง รูปหล่อ หน้าตาดี วาทะศิลป์เป็นเลิศ เลยสามารถเกี้ยวพาราสี พร่ำพรอดรัก Margot ให้คบชู้นอกใจสามี หลังเธอถูกใส่ร้ายคดีฆาตกรรม พยายามครุ่นคิด จินตนาการเรื่องราว กล่าวหาว่า Tony เป็นคนอยู่เบื้องหลัง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้หญิงคนรัก (ทั้งๆเป็นแค่ชู้) รอดพ้นโทษประหาร
เมื่อตอนร่วมงาน Saboteur (1942) ผกก. Hitchcock ไม่ได้มีความประทับใจ Cummings มากนัก เห็นว่าอีกฝ่ายไม่ค่อยมีพลังการแสดง เล่นได้เพียงหนังตลก ซึ่งนั่นอาจคือเหตุผลที่ตัดสินใจเรียกตัวมารับบทบาทนี้
หลายคนคงขบขำกลิ้งกับการจินตนาการเรื่องราว กล่าวหาว่า Tony เป็นคนอยู่เบื้องหลัง แถมยังเรียกร้องให้อีกฝ่ายเสียสละตนเองเพื่อหญิงคนรัก เอ๊ะ? มึงเป็นใคร แค่เพียงชู้ไม่เหรอ? ต่อให้สิ่งที่พยายามครุ่นคิดใกล้เคียงความจริงสักเท่าไหร่ แต่การกระทำเช่นนั้นมันช่างวิปลาส บ้าบอคอแตก … แต่ก็ทำให้ผู้ชมหัวเราะท้องแข็ง
เอาจริงๆ Cummings ก็พอจะเล่นบทดราม่าได้ระดับหนึ่ง เคยแสดงเป็นลูกขุน #8 (ตัวละครของ Henry Fonda ในฉบับภาพยนตร์ 1957) ต้นฉบับ (Teleplay) Twelve Angry Men (1954) ฉายผ่านรายการโทรทัศน์ Westinghouse Studio One และคว้ารางวัล Emmy Award: Best Actor in a Single Performance แต่ตัวละครนี้ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนทางอารมณ์มากนัก ภายหลังพี่แกเลยไปเอาดีในการเป็นพิธีกร The Bob Cummings Show (1955-59)
John Williams (1903-83) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chalfont St Giles, Buckinghamshire เริ่มเป็นนักแสดงละคอนเวทีตั้งแต่อายุ 13 ขวบ โตขึ้นเดินทางสู่ Broadway มีผลงานประสบความสำเร็จมากมาย และโปรดักชั่น Dial M for Murder สามารถคว้ารางวัล Tony Award for Best Featured Actor in a Play เลยได้รับโอกาสแสดงภาพยนตร์ Dial M for Murder (1954), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sabrina (1954), To Catch a Thief (1955), Witness for the Prosecution (1957), ขาประจำซีรีย์ Alfred Hitchcock Presents (1955-65) ฯ
รับบท Chief Inspector Hubbard ได้รับมอบหมายให้ทำคดีฆาตกรรม เป็นคนสุขุม เยือกเย็น ละเอียดรอบคอบ สุนัขกัดไม่ปล่อย แม้หลักฐานมัดตัว Margot แต่ด้วยความตงิดใจถึงกุญแจสูญหายไปไหน? พอค้นพบคำตอบคาดไม่ถึง จึงให้ฆาตกรตัวจริงลิ้มรสชาดยาพิษของตนเอง
ผกก. Hitchcock น่าจะเคยรับชมโปรดักชั่นละคอนเวที Dial M for Murder จึงมีความประทับใจการแสดงของ Williams เลยชักชวนมาร่วมแสดงภาพยนตร์ ทั้งยังกลายเป็นขาประจำรับเชิญผลงานอื่นๆอีกมากมาย
ด้วยวัยวุฒิของ Williams รวมถึงความเป็นผู้ดีอังกฤษ ทำให้ตัวละครนี้เป็นนักสืบที่ดูน่าเชื่อถือ สุขุมเยือกเย็น เฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง สามารถซักไซร้ไล่เลียงด้วยน้ำเสียงสุภาพอ่อนน้อม เชาวน์ปัญญาหลักแหลม เรื่องการทำคดีความน่าจะได้รับฉายา ‘สุนัขกัดไม่ปล่อย’ ใช้สันชาตญาณขุดคุ้ยจนพบเจอหลักฐาน ล้อมจับกุมผู้ร้ายตัวจริงด้วยรายละเอียดไม่มีใครคาดคิดถึง!
ในบรรดาทีมนักแสดงทั้งหมด Williams ได้รับคำชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ นี่ไม่ใช่เพราะเขาเพิ่งคว้ารางวัลจากโปรดักชั่นละคอนเวทีเท่านั้นนะครับ แต่คือความปราชญ์เปรื่องในการไขคดีความ และสารพัดถ้อยคำถากถาง แดกดัน สร้างสีสันให้หนังเป็นอย่างมากๆ … ตัวละครอื่นๆแค่เล่นตามบทบาท ไม่ได้เป็นตัวของตนเองสักเท่าไหร่
The characters are fitted to their situations, and hardly exist in themselves (nor are they enlivened by the rather drab performances of Ray Milland, Grace Kelly and Robert Cummings); only John Williams’ dry, sardonic police inspector has a touch of individuality.
นักวิจารณ์จาก The Monthly Film Bulletin
Anthony Douglas Gillon Dawson (1916-92) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Edinburgh, Scotland หลังเข้าเรียนการแสดง Royal Academy of Dramatic Art และรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก They Met in the Dark (1943), ติดตามด้วย The Way to the Stars (1945), The Queen of Spades (1948), The Wooden Horse (1950), โกอินเตอร์กับ Dial M for Murder (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Curse of the Werewolf (1961), Dr. No (1962) ฯ
รับบท Charles Alexander Swann หรือ Captain Lesgate อดีตเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียน Cambridge University ของ Tony Wendice แต่ชีวิตกลับตกต่ำจนกลายเป็นหัวขโมย อาชญากร เคยถูกจับติดคุกติดตาราง ไร้อาชีพการงาน ขณะนั้นกำลังพยายามเกาะกินหญิงสูงวัยคนหนึ่ง (น่าจะ)ลักขโมยรถหรูมาขาย ก่อนถูกแบล็กเมล์โดย Tony ขอให้ทำการฆาตกรรมภรรยา แลกกับค่าจ้างเงินสด £1,000 ปอนด์
Dawson ก็เป็นอีกคนที่มาจากโปรดักชั่นละคอนเวที (แบบเดียวกับ John William) ผกก. Hitchcock คงประทับใจรูปร่างหน้าตา ดูโหดเหี้ยมพอใช้ได้ ออร่าตัวร้าย ใครพบเห็นย่อมรู้สึกหวาดกลัวเกรง … นี่ถือเป็นบทบาทการันตีความมั่นคงในอาชีพการงาน แม้จะทำให้เขากลายเป็น ‘Typecast’ แต่ก็กลายเป็นอมตะกับบทตัวร้ายรอง Dr. No (1962)
I had never met Hitchcock before, and yet he was about to do me the most fantastic good turn I could imagine. In that wonderful fat man’s Cockney voice, he said, slowly, drooping every word separately, as though he had all day: ‘Tony, I just called to let you know that I want you for this picture, so you’re quite safe to make yourself a nice deal.’ What could I say? I mumbled my thanks and put the phone down, feeling rather dazed, electrified, stunned; all of these. The full impact of this call from Hitch was very soon to come home to me.
Anthony Dawson
ถ่ายภาพโดย Leslie Robert Burks (1909-68) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chino, California พออายุ 19 เข้าทำงานแผนก Special Effect ในห้องแลป Warner Bros. ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยตากล้องเมื่อปี ค.ศ. 1929, ควบคุมกล้อง ค.ศ. 1934, แล้วได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944, ร่วมงานขาประจำผกก. Alfred Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955)
ด้วยกระแสนิยมหนังสามมิติในยุคสมัยนั้น สตูดิโอ Warner Bros. จึงได้พัฒนา Camera Rig ตั้งชื่อว่า All-Media Camera ซึ่งสามารถตั้งกล้องสองตัว บันทึกภาพพร้อมกัน … มันอาจดูเหมือนไม่ยุ่งยาก แต่เราต้องคำนึงถึงขนาดกล้องฟีล์มสีสมัยนั้น Technicolor มีน้ำหนักกว่า 685 ปอนด์ (310 กิโลกรัม)
ด้วยเหตุนี้ผกก. Hitchcock จึงมองหาโปรเจคที่มีลักษณะคล้ายๆ Rope (1948) ดำเนินเรื่องในสถานที่เดียว (Limited Setting หรือ Single Location) ออกแบบอพาร์ทเม้นท์ให้สามารถแยกชิ้นส่วน-ประกอบเข้าใหม่ และมีการกำหนดจุดไว้บนพื้น เพื่อกล้องสามารถเคลื่อนเข้าเลื่อนออกได้อย่างอิสระ
เกร็ด: หนังสร้างฉากถ่ายทำยัง Warner Brothers Burbank Studios ระหว่าง 30 กรกฎาคม – 25 สิงหาคม ค.ศ. 1953
ปัญหาใหญ่ของการใช้กล้องสองตัวถ่ายทำพร้อมกัน คือภาพถ่ายระยะใกล้มากๆ (Extreme Close-Up) ผกก. Hitchcock ต้องการภาพแรกของหนัง พบเห็นกำลังหมุนหมายเลขโทรศัพท์ ‘Dial M’ วิธีแก้ปัญหาก็คือสร้างโทรศัพท์ขนาดใหญ่ขึ้นมา (พร้อมกับนิ้วยักษ์) เพียงเท่านี้หมดสิ้นปัญหา!
เนื่องจากผมจะไม่ได้รับชมหนังสามมิติ เลยบอกไม่ได้ว่าทำออกมาเป็นเช่นไร แต่บรรดานักวิจารณ์ต่างให้การยกย่องสรรเสริญ “greatest 3D films ever made” จากคำอธิบายคือพยายามเลือกมุมกล้อง ทิศทางขยับเคลื่อนไหวที่สามารถมองเห็นความตื้น-ลึกของภาพ ยกตัวอย่าง
- วางกล้องต่ำกว่าระดับสายตา บางครั้งก็วางลงบนพื้น แล้วถ่ายมุมเงยขึ้นมา
- ยกกล้องระดับเพดานแล้วถ่ายมุมก้มลงมา
- ก่อนลงมือฆาตกรรม ระหว่างหญิงสาวตื่นมารับโทรศัพท์ มีการหมุนวนรอบ 180 องศา
- เวลาก้าวเดินหรือกล้องขยับเคลื่อนไหว มักเลื่อนผ่านวัตถุสิ่งของบางอย่าง
- นักแสดงมักยืน-นั่ง ระยะห่างใกล้-ไกล หรือไม่ก็มีวัตถุบางอย่าง(โดยเฉพาะโคมไฟ)ขวางหน้า-หลบหลัง
(ภาพแรกตั้งกล้องกับพื้น ถ่ายมุมเงยเห็นสองนักแสดง, ภาพหลังกล้องถ่ายมุมก้ม ลงจากเบื้องบนเพดาน)
ใครที่รับชมหนังสามมิติ น่าจะพบสิ่งสร้างความรำคาญ ขวางหูขวางตาอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือโคมไฟตั้งโต๊ะ ผมครุ่นคิดว่าผกก. Hitchcock น่าจะใช้เป็นจุดอ้างอิงสายตา สำหรับสังเกตความตื้นลึกของภาพ ขณะเดียวกันมันอาจแฝงนัยยะถึงการมีลับลมคมในของตัวละคร ใครบางคนขวางหูขวางตา รอคอยเวลาถูกกำจัดให้พ้นภัยทาง
ใครอยากรับรู้ว่าภาพสามมิติของ Dial M for Murder (1954) ยอดเยี่ยมยังไง ให้รับชมคลิปอธิบายของผกก. Martin Scorsese สร้างอิทธิพลอย่างมากๆต่อภาพยนตร์ Hugo (2011)
การปรากฎตัว (Cameo) ของผกก. Hitchcock หลบซ่อนอยู่ในภาพถ่ายงานเลี้ยงรุ่น Cambridge University (แต่ผกก. Hitchcock ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้นะครับ)
แทนที่จะนำเสนอการไต่สวน พิจารณาคดีความ ถูกตัดสินโทษทัณฑ์ ตามวิธีการขึ้นศาลแบบปกติทั่วไป หนังกลับใช้ภาพนามธรรม (Abstract) หญิงสาวค่อยๆถูกอาบฉาบด้วยแสงสีแดง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ได้กระทำความผิดจริง สภาพจิตใจจึงค่อยๆมืดหมองหม่น ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวังอาลัย
หลังค้นพบว่าตนเองถูกต้อนจนมุม ไร้หนทางหลบหนี Tony Wendice แสดงออกแบบเดียวกับ Brandon Shaw ภาพยนตร์เรื่อง Rope (1948) ต่างตรงไปยังเคาน์เตอร์เครื่องดื่ม รินสุรา ดื่มฉลองรับความพ่ายแพ้
รูปภาพพื้นหลังขณะกำลังรินสุราอยู่นี้ คือทิวเขา ท้องฟ้า แมกไม้ (Landscape) ผลงานของจิตรกรสัญชาติฝรั่งเศส Rosa Bonheur (1822-99) แต่แม้เป็นความพ่ายแพ้ ถูกต้อนจนมุม แต่จิตวิญญาณของเขาราวกับได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ หมดทุกข์หมดโศก คลายกังวล ไม่ต้องคอยครุ่นคิดหาหนทางเอาตัวรอดอีกต่อไป
สำหรับฟากฝั่ง Margot และ Mark ด้านหลังของพวกเขาหลายคนอาจคาดเดาว่าคือดอกกุหลาบ ความรักที่เต็มไปด้วยหนามแหลม แต่ผมบังเอิญขุดคุ้นพบเจอว่าจริงๆแล้วคือดอกรักเร่ Dahlias (1927) โดยจิตรกรชาวอังกฤษ Paul Nash (1889-1946)
เกร็ด: แค่ชื่อก็บ่งบอกว่าไม่ใช่ดอกไม้มงคล (ประเทศไทยเลยไม่นิยมปลูก) แต่ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ Mexico อยู่ในวงศ์เดียวกับดอกกุหลาบ ใครเคยรับชมภาพยนตร์ The Black Dahlia (2006) ก็น่าจะมักคุ้นอยู่กระมัง
ตัดต่อโดย Rudolf ‘Rudi’ Fehr (1911-99) สัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish, วัยเด็กใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรี แต่ถูกเกณฑ์เข้าวงการภาพยนตร์ ตัดต่อหนังเรื่องแรก Der Schlemihl (1931), อพยพลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่สองสู่สหรัฐอเมริกา ทำงานในสังกัด Warner Bros. ผลงานเด่นๆ อาทิ A Stolen Life (1946), Humoresque (1946), Key Largo (1948), I Confess (1953), House of Wax (1953), Dial M for Murder (1954), Prizzi’s Honor (1985) ฯ
หลายคนอาจถกเถียง ไม่ค่อยเห็นด้วยว่า Dial M for Murder (1954) ควรเป็นภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในสถานที่เดียว (Limited Setting หรือ Single Location) เพราะแม้เรื่องราวกว่า 95% เกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์ แต่ก็มี 2-3 ครั้งถ่ายทำจากภายนอก รวมถึงค่ำคืนฆาตกรรมที่ Tony & Mark เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ … อันนี้คงแล้วแต่ความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างเหมารวม Dial M for Murder (1954) คือภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในสถานที่เดียว
- ครึ่งแรก
- ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง Tony, Margot และ Mark
- Margot & Mark คือชู้รัก กอดจูบกันอย่างดื่มด่ำ เฝ้ารอคอยการกลับมาของ Tony
- Margot เล่าถึงจดหมายรักของ Mark ที่ถูกสูญหายไป และตนเองกำลังโดนแบล็กเมล์
- การมาถึงของ Tony ชักชวน Mark ไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้วันพรุ่งนี้
- Margot & Mark เดินทางไปรับชมภาพยนตร์
- แผนการฆาตกรรม
- Tony คุยโทรศัพท์กับอดีตเพื่อนร่วมรุ่น Charles
- Charles เดินทางมาถึงอพาร์ทเม้นท์ เริ่มจากพูดคุยระลึกความหลัง
- จากนั้น Tony ทำการแบล็กเมล์ Charles ให้ร่วมแผนการฆาตกรรมภรรยา
- จำลองสถานการณ์ฆาตกรรม
- เหตุการณ์ฆาตกรรม
- ค่ำคืนวันถัดมา Tony พยายามโน้มน้าวให้ Margot อยู่บ้าน ขณะที่ตนเองกับ Mark เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้
- Charles แอบเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ เฝ้ารอคอยเวลานัดหมาย
- เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น Charles รัดคอ Margot แต่เธอพยายามต่อสู้ดิ้นรน จนพลั้งพลาดฆาตกรรมอีกฝ่าย
- Tony รีบกลับมาอพาร์ทเม้นท์ ปลอบประโลมภรรยา ปลอมแปลงหลักฐาน แล้วถึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ
- ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง Tony, Margot และ Mark
- ครึ่งหลัง
- การสืบสวนสอบสวนของนักสืบ Chief Inspector Hubbard
- ก่อนการมาถึงของตำรวจ Tony ให้คำแนะนำภรรยาว่าควรให้การเช่นไร
- การมาถึงของนักสืบ Hubbard พูดคุยสอบถาม เค้นหาคำตอบ
- นักสืบ Hubbard ขอให้ Margot จำลองเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
- การมาถึงของ Mark ทำให้นักสืบ Hubbard สอบถามความสัมพันธ์ ขุดคุ้ยเบื้องหลังจดหมาย
- หลังจากความสัมพันธ์ชู้สาวเปิดเผย นักสืบ Hubbard อธิบายข้อสรุปคดีฆาตกรรม
- คำให้การของ Margot และคำตัดสินของศาล
- ฆาตกรตัวจริง
- หลังจาก Margot ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต Mark เดินทางมาหา Tony พยายามครุ่นคิดหาวิธี สร้างเรื่องราว เพื่อให้ความช่วยเหลือหญิงคนรัก
- นักสืบ Hubbard เดินทางมาเยี่ยมเยียน Tony ขอดูสมุดบัญชี และเล่าถึงปริศนาที่ยังติดค้างคาใจ
- หลังจากทุกคนแยกย้ายออกจากอพาร์ทเม้นท์ Tony เดินทางไปฝากเงินเข้าธนาคาร, นักสืบ Tony แอบไขกุญแจ (ของ Tony) เข้ามาในอพาร์ทเม้นท์
- ติดตามด้วย Mark และตำรวจพาตัว Margot ที่ไม่สามารถไขกุญแจเข้าอพาร์ทเม้นท์
- Tony กลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์แต่ไขกุญแจไม่เข้า แวะเวียนไปโรงพักเพื่อเอากระเป๋าของ Margot ก่อนค้นพบว่าไขไม่ออกเช่นกัน ก่อนตระหนักถึงความผิดพลาด
- เปิดประตูเข้ามาพบเจอกับทุกคน จึงยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยดี
- การสืบสวนสอบสวนของนักสืบ Chief Inspector Hubbard
เพลงประกอบโดย Dimitri Zinovievich Tiomkin (1894-1979) นักแต่งเพลงสัญชาติ Russian-American เกิดที่ Kremenchug, Poltava Governorate (ปัจจุบันคือ Kremenchuk, Ukraine) ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish มารดาเป็นครูสอนเปียโนให้บุตรชายตั้งแต่เด็ก ก่อนเข้าศึกษาต่อ Saint Petersburg Conservatory เป็นลูกศิษย์ของ Felix Blumenfeld และ Alexander Glazunov, การมาถึงของ Russian Revolution 1917 ตัดสินใจอพยพมาลี้ภัยอยู่ Berlin ตามด้วย Paris และมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา เริ่มจากทำงานละคอนเวทีที่ New York หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นล่ม ค.ศ. 1929 เดินทางสู่ Hollywood เริ่มมีชื่อเสียงจากร่วมงานขาประจำ Frank Capra, Howard Hawks อาทิ Lost Horizon (1937), Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), It’s a Wonderful Life (1946), Red River (1948), High Noon (1952), Rio Bravo (1959), ผลงานเด่นอื่นๆ Shadow of a Doubt (1943), Duel in the Sun (1946), Strangers on a Train (1951), Dial M for Murder (1954), The High and the Mighty (1954), Giant (1956), Gunfight at the O.K. Corral (1957), The Old Man and the Sea (1958), The Guns of Navarone (1961) ฯ
การร่วมงานกับ Tiomkin ถือเป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติของผกก. Hitchcock ต่อการใช้บทเพลงประกอบภาพยนตร์โดยสิ้นเชิง! เพราะพี่แกเลื่องชื่อในการลงรายละเอียดออร์เคสตรา พยายามรังสรรค์ตัวโน๊ต จังหวะ ท่วงทำนอง ให้สอดคล้องเข้ากับอารมณ์ เหตุการณ์ รวมถึงน้ำเสียงสนทนา กล่าวคือไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าแต่งเพลงตามใบสั่ง หรือเพียงฟังคำแนะนำผู้สร้าง แต่ยังพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ให้มากที่สุด … Tiomkin เข้าชิง Oscar จำนวน 22 ครั้ง คว้ามา 4 รางวัล ต้องถือว่าระดับตำนาน
After reading the script, Tiomkin would then outline the film’s major themes and movements. After the film itself has been filmed, he would make a detailed study of the timing of scenes, using a stopwatch to arrange precise synchronization of the music with the scenes. He would complete the final score after assembling all the musicians and orchestra, rehearse a number of times, and then record the final soundtrack.
Dave Epstein นักดนตรีวิทยา (Musicologist) อธิบายการทำงานของ Dimitri Tiomkin
บทเพลงที่สำแดงอัจฉริยภาพ/แนวทางการทำงานของ Tiomkin ได้อย่างชัดเจนที่สุด! ก็คือระหว่างฆาตกรรม Dial M for Murder ให้ลองสังเกตรายละเอียดเล็กๆ ท่าทางเคลื่อนไหวตัวละคร มีความสอดคล้องท่วงทำนองเพลงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
- ระหว่างเฝ้ารอคอยช่วงเวลานัดหมาย ท่วงทำนองจะมอบความรู้สึกลุกลี้ร้อนรน เหมือนจังหวะเสียงเต้นหัวใจตุบๆตับๆ
- ขณะรับโทรศัพท์ ท่วงทำนองจะมีความเร่งเร้า ลุ้นระทึก พอผ้ารัดคอโผล่ขึ้นมา จะได้ยินเสียงที่สร้างความตื่นตกใจ
- แม้แต่ตอนที่ Charles เลิกคิ้ว (รอจังหวะฆ่ารัดคอ) ก็ยังมีเสียงดนตรีสอคคล้องรับท่าทางดังกล่าว
- พอถึงขณะรัดคอ กำลังยื้อแย่ง บีดไปบิดมา ยังมีการค่อยๆไล่ระดับตัวโน๊ต (Crescendo)
- และพอถูกกรรไกรทิ่มแทง ดิ้นไปดิ้นมา (ระบำแห่งความตาย) ท่วงทำนองยังสอดคล้องรับกับท่วงท่า การตัดต่อสลับไปมา ก่อนล้มพับสิ้นลมหายใจ
ผมแนะนำให้รับชมซีนนี้ [Youtube] แล้วลองสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพ & เพลงประกอบ มันช่างสอดคล้อง เข้ากันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย
Dial M for Murder (1954) นำเสนอเรื่องราวของสามี ครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรมภรรยาที่แอบคบชู้นอกใจ คล้ายๆแบบ Strangers on a Train (1951) ต้องการหยิบยืมมือผู้อื่น บุคคลแปลกหน้า ให้ลงมือเข่นฆ่า แต่กลับมีบางสิ่งอย่างผิดพลาด คาดไม่ถึง สุดท้ายจึงต้องรับผลแห่งกรรม
แตกต่างจาก Rope (1948) ที่เหตุผลการฆ่ารัดคอ เพราะต้องการพิสูจน์ ‘intellectual superiority’ หรือ Superiority Complex ฉันดีเด่น เก่งกว่าใครอื่น สามารถครุ่นคิดแผนฆาตกรรมสมบูรณ์แบบ ‘Perfect Murder’, ขณะที่ Dial M for Murder (1954) เกิดจากสามีไม่พึงพอใจพฤติกรรมนอกใจของภรรยา ต้องการเงินมรดก อิสรภาพชีวิต แล้วไปเกาะกินผู้หญิงคนถัดไป
แม้ภรรยาจะไม่ใช่คนดีนักที่ไปคบชู้นอกใจ แต่สิ่งเลวร้ายกว่าคือการพยายามฆ่า (Attempted Murder) ต่อให้หยิบยืมมือผู้อื่น ตามกฎหมายยังถือว่าเป็นผู้บงการเบื้องหลัง มีความผิดสถานนักกว่า และแม้กระทำการไม่สำเร็จ โทษขั้นต่ำติดคุกติดตาราง เสียชื่อเสียง เสียโอกาส เสียสูญทุกสิ่งอย่าง
ความล้มเหลวของสตูดิโอโปรดักชั่น Transatlantic Pictures ที่ผกก. Hitchcock ร่วมก่อตั้งกับ Sidney Lewis Bernstein, Baron Bernstein (1899-1993) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Rope (1948), Under Capricorn (1949), Stage Fright (1950), I Confess (1953) แต่กลับไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จ ทำกำไรกลับคืนมา ท้ายที่สุด Bernstein จึงขอถอนตัว ปิดกิจการสตูดิโอ
เมื่อตอน Stage Fright (1950) ขาดทุนย่อยยับ ผกก. Hitchcock ยินยอมเซ็นสัญญา Warner Bros. เพื่อพยุงสตูดิโอเอาไว้ ประสบความสำเร็จอย่างมากกับ Strangers on a Train (1951) แต่ทว่าพอหวนกลับมาสรรสร้าง I Confess (1953) กลับยังคงเจ๊งสนิท เลยต้องปิดกิจการในที่สุด
แน่นอนว่าผกก. Hitchcock ย่อมรู้สึกผิดหวังที่สตูดิโอของตนเองไม่ได้ไปต่อ ตอบตกลงสรรค์สร้าง Dial M for Murder (1954) ที่ไม่ได้ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย ถือเป็นโปรเจคง่ายๆ ปลอดภัย ‘Play Safe’ การันตีความสำเร็จ ชาร์ทแบตเตอรี่ให้เต็ม ก่อนมองหาเส้นทางชีวิตใหม่
I was running for cover. When your batteries run dry, when you are out creatively, and you have to go on, that’s what I call running for cover. Take a comparatively successful play that requires no great creative effort on your part and make it. Keep your hand in, that’s all. When you’re in this business, don’t make anything unless it looks like it’s going to promise something. If you have to make a film–as I was under contract to Warners at the time–play safe. Go get a play and make an average movie–photographs of people talking. It’s ordinary craftsmanship.
Alfred Hitchcock
หลังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 18 พฤษภาคม และอีกสี่รอบฉายวันถัดมา ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ที่ Philadelphia โทรศัพท์หาสตูดิโอ Warner Bros. เรียกร้องขอให้ล้มเลิกแผนการฉายหนังสามมิติ หวนกลับมาฉายระบบสองมิติตามเดิม … ข้อเรียกร้องดังกล่าวแสดงถึงการสูญสิ้นกระแสนิยม แทบจะเป็นจุดจบของหนังสามมิติเลยก็ว่าได้
ด้วยทุนสร้าง $1.4 ล้านเหรียญ ถ้าสตูดิโอยังดื้อรั้นฉายระบบสามมิติ เชื่อว่าอาจขาดทุนย่อยยับแน่ๆ แต่โชคดีที่ยินยอมปรับเปลี่ยนกลับมาฉายระบบสองมิติ เลยสามารถทำเงิน $6 ล้านเหรียญ กลายเป็นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!
แม้กระแสหนังสามมิติในช่วงทศวรรษตื่นทอง 1950s จะสิ้นสุดลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความพยายามรื้อฟื้น หวนกลับมาฉายระลึกอดีต (Retrospect) อยู่หลายครั้ง ถึงขนาดสตูดิโอ Warner Bros. เมื่อทำการบูรณะ 4K เมื่อปี ค.ศ. 2019 ยังมีการแยกแผ่น Blu-Ray 3D สำหรับโทรทัศน์ที่สามารถฉายหนังสามมิติ … ถ้าคุณจะซื้อแผ่น 3D กรุณาตรวจสอบโทรทัศน์เสียก่อนนะครับว่าฉายได้ไหม ไม่งั้นซื้อมาดูไม่ได้จริงๆนะ
- AFI’s 100 Years…100 Thrills (2001) อันดับ #48
- AFI’s 10 Top 10: Mysteries (2008) อันดับ #9
ถึงผมจะไม่ได้รับชมฉบับสามมิติ แต่ก็พอสังเกตรายละเอียดที่น่าจะออกมาดูดี (ถ้าฉายในระบบสามมิติ) ถึงอย่างนั้นมันก็เทียบไม่ได้กับหนังสมัยใหม่ (Modern 3D) เพียงกิมมิคน่าตื่นตาตื่นใจ … ดูแบบสองมิติทั่วๆไปน่าจะดีกว่า ไม่ต้องพะว้าพะวังเกี่ยวความตื้นลึกหนาบาง ใจจดใจจ่อกับเรื่องราว ความตื่นเต้น ลุ้นระทึก จะสามารถฆาตกรรมสมบูรณ์แบบ (Perfect Murder) สำเร็จหรือไม่?
จัดเรต 13+ กับการวางแผนฆาตกรรม แบล็กเมล์ คบชู้นอกใจ
Leave a Reply