Dogtooth

Dogtooth (2009) Greek : Yorgos Lanthimos ♥♥♥

ครอบครัวที่ปกครองเลี้ยงดูแลบุตรเหมือนสุนัข พยายามเสี้ยมสั่งสอนครอบงำ ปลูกฝังความเข้าใจผิดๆให้คิดว่าซอมบี้คือดอกไม้ ลูกแมวน้อยเป็นสัตว์อันตราย มันช่างเต็มไปด้วยความอึดอัดคลุ้มคลั่ง สักวันคงต้องมีใครปะทุระเบิดออกมา!

ผลงานแจ้งเกิดระดับนานาชาติของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Prix Un Certain Regard (สายการประกวดรอง) แถมปลายปีติดหนึ่งในห้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film พลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์กรีกอีกครั้งนับตั้งแต่รุ่นของ Theo Angelopoulos

เห็นคะแนนน้อยไม่ใช่ว่าด้อยคุณภาพ แต่เป็นหนังที่รับชมให้เกิดความบันเทิงยากเสียหน่อย บรรยากาศเต็มไปด้วยความอึดอัดตึงเครียด จนอยากจะเขวี้ยงขว้างอะไรสักอย่างเพื่อระบายอาการคลุ้มคลั่งออกมา ในสายตาคนนอกเติบโตบนโลกเสรีก็มักเป็นแบบนี้ ตรงกันข้ามกับสังคมเผด็จการ คงต้องเรียกอุดมคติเลยก็ว่าได้


Georgios ‘Yorgos’ Lanthimos (เกิดปี 1973) ผู้กำกับสัญชาติกรีก เกิดที่ Pangrati, Athens อาศัยอยู่กับแม่จนเธอเสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 17 ปี ร่ำเรียนการตลาดแล้วเปลี่ยนมาสาขาภาพยนตร์ เริ่มต้นทำงานโฆษณา Music Video กำกับละครเวที ทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก My Best Friend (2001), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Kinetta (2005) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Thessaloniki

แรงบันดาลใจของ Dogtooth เกิดขึ้นระหว่างสนทนากับเพื่อนที่กำลังจะแต่งงานมีครอบครัว พูดแซวเล่นๆว่า

“there was no point in getting married!”

แค่นั้นเองทำให้พวกเขาแสดงปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง ไม่เห็นด้วยต่อแนวความคิดดังกล่าว

“This made me realise how someone I knew and who I would never have expected to react that way freaks out when you mess about with his family”.

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ Lanthimos ครุ่นคิดต่อแบบสุดโต่ง ถึงครอบครัวที่พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องบุตรหลานของตน กีดกันไม่ให้เรียนรู้จัก รับอิทธิพลใดๆจากโลกภายนอก นั่นอาจเป็นวิธีดีสุดในการเลี้ยงดูแลพวกเขาก็เป็นได้

ร่วมพัฒนาบทกับ Efthymis Filippou นักเขียนสัญชาติกรีก ที่ได้กลายเป็นขาประจำต่อจากนี้ The Lobster (2015), The Killing of a Sacred Deer (2017) ฯ

เรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง อาศัยอยู่ห่างไกลชุมชนเมือง ล้อมรอบบ้านด้วยผนังกำแพงสูง
– พ่อ (รับบทโดย Christos Stergioglou) ทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ไม่ค่อยสุงสิงสังสรรค์กับใคร วางแผนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชี้ชักนำ ครอบงำ ให้ลูกๆต้องอยู่ใต้อาณัติ จนมิต้องการ/สามารถออกไปเผชิญหน้าโลกภายนอก
– แม่ (รับบทโดย Michelle Valley) อ้างว่าพิการแต่แท้จริงร่างกายเข้มแข็งแรง คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแนวคิด/วิธีการของพ่อ แต่ก็ไม่สิทธิ์เสียงอะไรไปมากกว่านั้น
– ลูกสาวคนโต (รับบทโดย Angeliki Papoulia) มีความใคร่รู้ใคร่สนใจในโลกภายนอก ชื่นชอบเครื่องบิน สนิทสนมกับ Christina เฝ้ารอคอยวันเวลาฟันเขี้ยวหลุดจะได้ออกนอกกำแพงบ้าง แต่หลังจากถูกกดขี่ข่มเหงทำร้าย ที่สุดคือร่วมรักกับน้องชาย ถึงจุดแตกหักจึงหลบหนีออกจากบ้าน
– ลูกชาย (รับบทโดย Christos Passalis) แม้ร่างกายเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจขี้ขลาดเขลาอ่อนแอ แนวโน้มเป็นเกย์สูงมาก ไม่อภิรมณ์เริงใจนักเมื่อร่วมรักกับ Christina ชอบเหม่อมองออกไปนอกรั้ว แต่ไม่ครุ่นคิดทำอะไรมากกว่านั้น
– น้องสาวคนเล็ก (รับบทโดย Mary Tsoni) เป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ นิสัยร่าเริงสดใสซื่อ เหมือนจะยังไร้เดียงสาเลยมักอยู่ติดพี่สาว

Christina (รับบทโดย Anna Kalaitzidou) คือบุคคลเดียวที่สามารถเข้า-ออกบ้านหลังนี้ เพื่อให้บริการ Sex กับลูกชาย แต่ทั้งเขาและเธอเหมือนจะไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมนัก ทำให้ต้องหาคนช่วยบำบัดด้วยการแลกเปลี่ยนบางอย่างกับลูกสาวคนโต อันเป็นเหตุให้ครอบครัวนี้ค่อยๆล่มสลายลงอย่างเชื่องช้า

นักแสดงทั้งหมดของหนังคือมือสมัครเล่น ไม่ได้เน้นขายการแสดงแต่อย่างไร หลายคนเคยร่วมงานกับ Lanthimos ตั้งแต่สมัยสร้างละครเวที มีเพียง Mary Tsoni เป็นนักร้องวง Mary and The Boy


ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Lanthimos จะมีการซักซ้อมบทล่วงหน้า พูดคุยสนทนาพร้อมๆกระโดดโลดเต้นวิ่งเล่น จนกระทั่งนักแสดงเลิกครุ่นคิดทำความเข้าใจอดีต เบื้องหลัง หรือวิเคราะห์ตัวละคร พยายามถ่ายทอดออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์

การถ่ายภาพก็เช่นกัน มิได้ครุ่นคิดวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนบท ค่อยมาสนทนาหาข้อตกลงกับตากล้องขาประจำ Thimios Bakatakis ช่วงระหว่างเริ่มซักซ้อมตระเตรียมการแสดง จนได้ข้อสรุปสร้างบรรยากาศอันเย็นยะเยือก เลือกวิธีแช่ภาพค้างไว้ Long Take และหลายครั้งพบเห็นเพียงบางส่วนตัวละคร

ตัดต่อโดย Yorgos Mavropsaridis สัญชาติกรีก อีกหนึ่งขาประจำของ Lanthimos (แม้ชื่อเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไร), หนังดำเนินเรื่องโดยมีครอบครัวนี้เป็นจุดหมุน ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้าน มีเพียงพ่อเท่านั้นสามารถออกไปข้างนอกด้วยรถเท่านั้น

หนังไม่มีบทเพลงประกอบ แต่จะได้ยิน Diegetic Music ประกอบด้วย
– Fly Me to the Moon (1954) แต่งโดย Bart Howard แต่ฉบับโด่งดังสุดที่ใช้ในหนัง ขับร้องโดย Frank Sinatra เมื่อปี 1964 แปลเป็นภาษากรีกได้ WTF มากๆ
– S’ aparnithika tris (2006) แต่งโดย Kostas Hatzis, คำร้อง Sotia Tsotou, ขับร้องโดย Marinella
– Pou na ‘sai tora agapimeni แต่งโดย Nikos Gounaris, คำร้อง Kostas Kofiniotis , ขับร้องโดย Christos Stergioglou
– Casino Blues แต่งโดย Pierre Delanoë, René Denoncin and Jack Ledru
– Matteo Carcassi: Etude, Op. 60, No. 7

Matteo Carcassi (1792 – 1853) นักกีตาร์/แต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ประพันธ์ Etude, Op. 60 ทั้งหมด 25 ท่อน (โด่งดังมากๆคือท่อน 1 กับ 6) สำหรับ No. 7 ตั้งใจฟังให้ดีๆจะได้ยินเสียงเบสกับโซโล่แยกจากกัน ด้วยจังหวะอันเร่งเร้าชี้ชักนำอารมณ์ ให้เกิดความคลุ่มคลั่ง อยากดิ้นพร่านระบายบางสิ่งอย่างออกมา

การตีความ Dogtooth เท่าที่ผมสามารถครุ่นคิดได้ประกอบด้วย
– หน้าหนัง: เรื่องราวของครอบครัวที่ปกครองเลี้ยงดูแลบุตร ทะนุถนอมมิให้โลกภายนอกเข้ามาสัมผัสระแคะคาย
– ระดับมหภาค: สังคม/ประเทศชาติ ที่พยายามครอบงำแนวความคิดของประชาชน ให้เห็นผิดชอบชั่วดีเป็นไปตามอำนาจ ‘เผด็จการ’ของผู้นำ
– ระดับจุลภาค: สะท้อนจิตวิทยาผู้อยู่อาศัยภายในการควบคุม ครอบงำ ดั่งนกในกรงขัง เป็นเหตุให้พวกเขาเก็บสะสมความอึดอัดอั้น ที่สุดระเบิดไม่ยั้งด้วยความเกรี้ยวกราดคลุ้มคลั่ง

สิ่งแรกสุดของการครอบงำความคิดคือภาษา(ดอกไม้) กำหนดถ้อยคำอย่าง
– ทะเล แปลว่า เก้าอี้
– ซอมบี้ คือ ดอกไม้
– ลูกแมวน้อยเป็นตัวอันตราย
ฯลฯ

เมื่อเกิดความเข้าใจผิดๆ จะทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกรู้เรื่องตรงกัน การคลาดเคลื่อนดังกล่าวจักค่อยๆกลายเป็นปมด้อยอ่อนไหว จนสูญเสียความมั่นใจ เกิดความขลาดหวาดกลัว ไม่สามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นโดยง่าย

เกมแรกที่น้องสาวคนเล็กครุ่นคิด ใครสามารถเอามือจุ่มน้ำร้อนได้เนิ่นนานสุดคือผู้ชนะ … นี่คือเกมแห่งความอดทน คนไหนจะอยู่ในโลกเผด็จการใบนี้ยาวนานกว่ากัน

อีกประเด็นน่าสนใจมากๆทีเดียว เราจะตั้งชื่อเกมนี้ว่าอะไร? ผมขอเรียกว่า Survival แล้วกันนะ!

หลายครั้งทีเดียวที่ใบหน้า/ตัวละคร หลุดออกจากกรอบเฟรมภาพ นี่มิใช่ความผิดพลาดแต่จงใจ นัยยะสื่อถึงความไม่ปกติ ‘Dysfunctional’ ของครอบครัวนี้ มักเป็นช็อตที่มีเรื่องราว/เหตุการณ์อัปลักษณ์พิศดาร ชาวบ้านอื่นคงไม่มีใครเขาทำกัน

วิธีการเลี้ยงดูแลบุตรของครอบครัวนี้ สามารถเปรียบเทียบตรงๆกับการเลี้ยงสุนัข มีห้าระยะตามคำอธิบายเจ้าของร้านถือว่าตรงเผง เป้าหมายคือเสี้ยมสอนให้อยู่ภายใต้อาณัติ ซึ่งเราสามารถพบเห็นอากัปกิริยาอื่นๆ อาทิ การดมกลิ่น(น้ำหอม) เลียอวัยวะ คุกเข่าเดินสี่ขา ทำท่าเห่า ฯ

การให้รางวัลก็เฉกเช่นกัน เมื่อลูกๆแข่งขันกันเองแล้วเป็นผู้ชนะ (ท่องศัพท์, ปิดตาพบเจอแม่คนแรก, ดำน้ำนานสุด ฯ) พ่อจะมอบสติ๊กเกอร์ โมเดลเครื่องบิน หรือให้เลือกกิจกรรมยามค่ำคืน ฯ ถือเป็นการสร้าง ‘พฤติกรรมการเรียนรู้’ หลอกหมาสั่นกระดิ่งน้ำลายไหล พอนำมาใช้กับมนุษย์ … เดรัจฉานไม่แตกต่างกัน

อภิสิทธิ์ของพ่อ-แม่ ชนชั้นผู้นำ อ้างตนเองว่าถูกไว้ก่อนเสมอ เวลาจะทำอะไรต้องปิดประตูล็อกห้อง หลบซ่อนโทรศัพท์ติดต่อโลกภายนอก ฯ ลับๆล่อๆเพื่อมิให้ลูกๆ/ประชาชน พบเห็นจับผิด เกิดความคิดเรียกร้องโหยหาอิสรภาพ

Sex และการเลีย สื่อถึงความพึงพอใจ สุขเกษมสำราญทางกาย แรกเริ่มก็แลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก Christina แต่เมื่อถูกพ่อกีดกันจึงปิดประเทศ Incest เอากันเองภายใน!

แซว: ช็อตนี้พี่สาวคนโต นั่งเหมือนหมา ทำท่าเลีย มอบความพึงพอใจให้เจ้านาย

PETA คงด่ากราด แมวน้อยผู้น่ารักกล่าวเป็นสัตว์อสูรกายโดยไม่รู้ตัว! นี่คล้ายๆการล้างสมอง ฝีมือของผู้มีอำนาจถึงสามารถครอบงำเปลี่ยนแปลงความคิด เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรคือดอกบัว โชคร้ายคือบุคคล/สัตว์ไร้เดียงสา ข้าไม่ได้รับรู้เห็นทำอะไรเลยสักนิด

จริงๆแมวอาจเป็นสัตว์ชั่วร้ายมากๆเลยก็ได้นะ! วันก่อนผมพบเห็นคลิปของกลุ่มคนที่ยังเชื่อว่าโลกแบน ‘The Flat Earth Society’ ไม่เคยคิดว่าวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขนาดนี้ ยังมีคนหลงเชื่อเช่นนั้นอยู่จริง ไปเอาหลักฐานมาเถียงอะไรพวกเขาคงไม่มีวันชนะอย่างแน่นอน

ท่าทางการเต้นของสองสาวค่อนข้างจะวิตถาร คลุ้มคลั่ง เสียสติแตก แรกๆก็แค่โยกๆไปมาจากนั้นค่อยๆเริ่มสั่นสะท้าน พอน้องสาวเหนื่อยขอไปพัก ครานี้วาดลีลาร่านสวาท ก่อนลงไปกลิ้งดิ้นกับพื้นราวกับคนบ้า ทั้งหมดสามารถสะท้อนถึงจิตวิทยา อารมณ์ความรู้สึกตัวละคร สะสมเก็บกดอัดอั้น นี่ฉันต้องอดรนทนต่อโลกใบนี้ไปอีกนมนานเท่าไหร่!

คำว่าฟันเขี้ยว ภาษาอังกฤษจริงๆคือ Fang Tooth แต่ในบริบทของหนังให้นิยามว่าคือ Dogtooth สอดคล้องวิธีการเลี้ยงดูลูกๆของครอบครัวนี้ ไม่ต่างอะไรจากสุนัข

ถ้าในเวลาปกติ ฟันเขี้ยวจะหลุดก็เมื่อมนุษย์ย่างถึงวัยชรา อายุเกิน 60-70 ปีขึ้นไปโน่น! นั่นแปลว่าความตั้งใจของพ่อ-แม่ ต่อคำอ้าง ‘จะสามารถออกจากบ้านเมื่อฟันเขี้ยวหลุด’ ก็แปลว่าโตแค่ไหนคงไม่ได้ออกไป เป็นคำลวงหลอก โป้ปด ให้ชีวิตพวกเขาเหมือนมีเป้าหมายก็เท่านั้น

พี่สาวคนโตผู้มีความสนใจต่อโลกภายนอก เกิดอาการ ‘Culture Shock’ เมื่อรับชมวีดิโอได้จาก Christina คลุ้มคลั่งต่อการกระทำของพ่อ โกรธเกลียดขณะต้องร่วมรักกับน้องชาย แปรสภาพเป็นระเบิดเวลา แต่ยังติดหลงเชื่อในมโนคติ ‘ต้องฟันหมาหลุด ถึงสามารถออกจากบ้านได้’ นี่จึงคือวิธีการที่เธอทำ เห็นร่องรอยเลือดแบบนี้ชวนให้ระลึกถึง Psycho (1960) อยู่เล็กๆ

หนึ่งในลายเซ็นต์ผู้กำกับ Lanthimos คั่งค้างคาให้เป็นปริศนาตอนจบของหนัง ท้ายรถเก๋งมีพี่สาวคนโตหลบซ่อนตัวอยู่ แต่มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปช่างน่าฉงนสงสัย จงไปครุ่นคิดต่อเอง
– พี่สาวเปิดกระโปรงรถออกมา สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากครอบครัวบ้าๆนี้ได้สำเร็จ
– พี่สาวหลับยาวในกระโปรงรถ (หรืออาจขาดอากาศหายใจ ม่องเท่งไปเรียบร้อยแล้ว) พ่อเปิดออกมาพบเห็นพอดิบพอดี
ฯลฯ

เมื่อมนุษย์เก็บกดสะสมความอึดอัดอั้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือบีบบังคับให้กระทำสิ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งโดยไม่รู้ตัวจะแสดงอาการก้าวร้าว ตอบโต้ด้วยเลือด ความรุนแรง เพื่อระบายสิ่งคลุ้มคลั่งค้างคาภายในออกมา หรือไม่ก็พยายามหลบหลีกหนีดิ้นรนเอาตัวรอด ให้หลุดออกจากกฎกรอบระเบียบของครอบครัว สังคม ประเทศชาติ

ลูกๆสามคนในหนัง ต่างเป็นตัวแทนของ
– พี่คนโต โหยหาอิสรภาพ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมิอาจอดรนทนต่อไปได้จึงกระทำการหลบหนี
– ลูกชาย จับจ้องมองออกไปเบื้องนอก แต่ไม่เคยครุ่นคิดตั้งใจก้าวเดินออกไป
– น้องสาวคนเล็ก ข้างในนี่แหละสุขสบายดีอยู่แล้ว จะไปต่อสู้ดิ้นรนต่อโลกภายนอกอยู่ทำไม

แซว: กราฟคลื่นที่ดูเหมือนเขี้ยวบนโปสเตอร์ สังเกตให้ดีๆจะพบว่ามีสามเส้น สามารถใช้เป็นตัวแทนลูกๆสามคนที่มีทัศนคติต่อโลกดังกล่าวแตกต่างออกไป

คือเราต้องเข้าใจนะครับว่ามนุษย์แบ่งออกเป็นสองฝั่งฝ่ายซ้าย-ขวา ประชาธิปไตย-เผด็จการ ซึ่งมันก็มีทั้งดี-ชั่ว ไม่มีข้างไหนประเสริฐเลิศสมบูรณ์แบบ เหตุการณ์แบบในหนังมันก็ไม่ใช่เรื่องของเราจะไปติดสินถูก-ผิด เพราะผู้กำกับ Lanthimos จงใจไม่เล่าอดีตเบื้องหลังที่มาที่ไป พ่อ-แม่ทำไมถึงเลี้ยงดูแลลูกแบบนี้? ซึ่งพอไม่เอ่ยกล่าวถึงเราจึงต้องมองเหตุการณ์เฉพาะหน้า มุมมองข้าว่าเช่นไร กลับตารปัตรตรงกันข้ามย่อมเฉกเช่นเดียวกัน

อย่าเอาทัศนคติเสรีชนไปตัดสินอนาธิปไตย! การวางตัวเป็นกลางต่างหากมีความเหมาะสมที่สุด เพราะต่อให้คุณถือกำเนิดยังผืนแผ่นดินแดนเผด็จการ(หรือประชาธิปไตย) ย่อมสามารถค้นพบเจอความสุข พึงเพียงพอภายในจิตใจตนเองได้

มีนักข่าวสัมภาษณ์ถาม ครอบครัวในอุดมคติของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos หลังจากสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แน่นอนว่าถ้ามีลูกคงต้องการเลี้ยงดูแบบเสรี ไม่พยายามกีดกันครอบงำความคิดใดๆเป็นอันขาด

“I grew up with only my mother, she got divorced when I was very young, and she died when I was 17 years old. From then on, I was by myself, so I had to go out into the world quite early and earn a living and study and do all these things. So, in a way I am observing the characters and the story in the film from a very different point of view. But even so, I really don’t know what I would do if I was a parent. If you asked me today how I would raise my children I would say that I’d try to have them experience freedom and be much more in contact with the world, and I think I would live somewhere in the centre of the city where they can come into contact with as many different elements of life as possible”.


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามาสองรางวัล
– Award of the Youth
– Un Certain Regard Award

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้  Greek Film Committee มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งหนังเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film สามารถติดหนึ่งในห้าเรื่องสุดท้าย ก่อนพ่ายให้ In a Better World (2010) จากประเทศเดนมาร์ก [เป็นความพลิกล็อกคาดไม่ถึง เพราะตัวเต็งปีนั้นคือ Biutiful (2010) ของผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu]

เกร็ด: มีภาพยนตร์เม็กซิกัน The Castle of Purity (1973) ว่ากันว่าพล็อตคล้ายคลึงกับหนังเรื่องนี้มาก ผมไม่เคยรับชมเลยบอกไม่ได้ เผื่อใครสนใจลองหามาดูนะครับ

ถึงโดยส่วนตัวชื่นชอบไดเรคชั่นและแนวคิดของหนัง แต่ความอึดอัดทุกข์ทรมานที่ถาโถมเข้าใส่ ไร้ซึ่งความบันเทิง/อภิรมณ์เริงใจเลยสักนิด ขอละไว้ในฐานไม่เข้าใจแล้วกัน

แนะนำคอหนังดราม่า Surrealism, เกี่ยวกับครอบครัวประเภท Dysfunctional สะท้อนถึงระบอบการปกครองเผด็จการ, นักปรัชญา การเมือง ชอบครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความ, จิตแพทย์ นักจิตวิทยาเด็ก ทำความเข้าใจสภาวะทางจิต, และแฟนๆผู้กำกับ Yorgos Lanthimos ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะพ่อ-แม่ ที่มีความเข้มงวดกวดขันต่อการเลี้ยงดูบุตรหลาน รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามครุ่นคิดตามสักหน่อย นั่นคืออุดมคติที่คุณต้องการจริงๆนะหรือ!

จัดเรต 18+ กับอึดอัดทุกข์ทรมานที่จะถาโถมเข้าใส่ผู้ชม

คำโปรย | ฟันอันแหลมคมของ Dogtooth โดยผู้กำกับ Yorgos Lanthimos ฝังเขี้ยวเล็บที่แสนเจ็บปวดไว้ในจิตใจผู้ชมไม่รู้ลืม
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | อึดอัดทรมาน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: