The Favourite (2018)
: Yorgos Lanthimos ♥♥♥♥
‘ฉันพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออำนาจ เติมเต็มความฝัน ได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง!’ นี่คือค่านิยม’โปรด’ของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ฟังดูช่างน่ายกย่องสรรเสริญในความทุ่มเทพยายาม แต่มองอีกด้านกลับพบเห็นความบิดเบี้ยวคอรัปชั่น กัดกร่อนบ่อนทำลายจิตวิญญาณความเป็นคนให้ค่อยๆสูญสิ้นไป
ขณะที่ Queen Anne (รับบทโดย Olivia Colman) และ Sarah Churchill (รับบทโดย Rachel Weisz) พยายามเล่นตามกฎในกรอบรูป(ภาพโปสเตอร์) หญิงสาวเมื่อวานซืน Abigail Masham (รับบทโดย Emma Stone) กลับหาได้ใคร่แคร์ระเบียบแบบแผนสังคม นั่งแผ่พังพาบเหมือนอสรพิษทอดกายอยู่เบื้องหลัง พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไต่เต้าเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนโปรด
Yorgos Lanthimos เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบนำเสนอเรื่องราวระดับจุลภาคในอาณาขอบเขตบริเวณจำกัด แล้วสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความหมายระดับมหภาค เปรียบเทียบขยายขนาดหรือช่วงเวลายุคสมัยไหนก็ได้เช่นกัน, สิ่งที่ผมมองเห็นใน The Favourite คือราคาแห่งความฝันแลกมาด้วยการกระทำอัปลักษณ์มากมาย นั่นเป็นสิ่งที่ใครๆยุคสมัยนี้ต่างยินยอมรับ … กันได้อย่างไร!
รับชม The Favourite ทำให้หวนระลึกถึงภาพยนตร์หลากหลายเรื่องมากๆ อาทิ All About Eve (1950), Tom Jones (1963), Cries & Whispers (1972), Barry Lyndon (1975), Amadeus (1984), The Draughtsman’s Contract (1982), Dangerous Liaisons (1988), The Madness of King George (1994) ฯ เผื่อใครใคร่สนใจแนวคล้ายๆกันนี้จะได้หามาดูต่อเนื่อง
จุดเริ่มต้นของ The Favourite มาจากนักเขียนหญิงสัญชาติอังกฤษ Deborah Davis เมื่อปี 1998 อ่านบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ พบเจอประโยคข้อความ
“Everyone knows Queen Anne was having an affair with Sarah, Duchess of Marlborough”.
นั่นเป็นสิ่งที่ Davis ไม่เคยล่วงรับรู้มาก่อน! จึงเกิดความสนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ครุ่นคิดว่านำเสนอด้วยสื่อภาพยนตร์มีความเหมาะสมกว่าพัฒนาเป็นละครเวทีหรือนวนิยาย แต่ความที่เจ้าตัวไม่เคยเขียนบทหนังมาก่อนเลยใช้เวลาพอสมควร ตั้งชื่อ Working Title ว่า The Balance of Power
“I did a lot of research and as it turns out, there is a wealth of original sources. You have historical accounts of the period. One of the best sources is Winston Churchill who wrote the story about his ancestor who was the Duke of Marlborough and he covers the female triangle and the relationship between Anne, Sarah and Abigail in his four-part biography”.
– Deborah Davis
พัฒนาบทร่างแรกเสร็จส่งให้โปรดิวเซอร์หญิง Ceci Dempsey ตราตรึงกับ ‘Passion’ สันชาติญาณเอาตัวรอดของสามตัวละครเป็นอย่างมาก ออกค้นหาสตูดิโอให้ทุนสร้างแต่ติดปัญหายุคสมัยนั้น ไม่มีใครไหนให้ความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอิสตรีแสวงหาอำนาจ และมีฉากเลสเบี้ยนกันด้วยนะ
เกือบๆทศวรรษถัดมา บทหนังผ่านมาถึงมือโปรดิวเซอร์ Ed Guiney ซึ่งก็หลงใหลคลั่งไคล้กับมันมากเช่นกัน ส่งต่อให้ Yorgos Lanthimos ขณะนั้นกำลังโด่งดังกับ Dogtooth (2009) อ่านแล้วซาบซึ้งในสัมพันธ์ตัวละคร ทั้งๆไม่เคยล่วงรับรู้สนใจประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษมาก่อนเลยสักนิด!
“It was just reading about these people, these women, how they related to each other, their personal history, especially Anne’s, and what she went through as a person. I can’t pretend that I thought we need more women represented in a certain way, it was just an instinctive thing. I was interested in that which I hadn’t seen very often”.
– Yorgos Lanthimos
Georgios ‘Yorgos’ Lanthimos (เกิดปี 1973) ผู้กำกับสัญชาติกรีก เกิดที่ Pangrati, Athens อาศัยอยู่กับแม่จนเธอเสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 17 ปี ร่ำเรียนการตลาดแล้วเปลี่ยนมาสาขาภาพยนตร์ เริ่มต้นทำงานโฆษณา Music Video ทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก My Best Friend (2001), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Kinetta (2005) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Thessaloniki, Dogtooth (2009) คว้ารางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film, โกอินเตอร์กับ The Lobster (2015), The Killing of a Sacred Deer (2017) ฯ
หลังจาก Lanthimos แสดงความสนใจในโปรเจค ดึงตัวอีกนักเขียน Tony McNamara สัญชาติ Australian ให้เข้ามาร่วมขัดเกลาปรับปรุงบทหนัง -เห็นว่าแทบไม่เคยพบเจอหน้าตรงๆ พูดคุยสนทนาผ่าน E-Mail และ Skype- พร้อมเริ่มโปรดักชั่นปี 2016 แต่ผู้กำกับต้องการสร้าง The Killing of a Sacred Deer ให้เสร็จสิ้นลงเสียก่อน
พื้นหลัง ค.ศ. 1708, ระหว่างสหราชอาณาจักรกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส War of the Spanish Succession (1701–1714) ในยุคสมัยสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ (1665 – 1714, ครองราชย์ 1702 – 1714)
เรื่องราวของ Abigail Masham (รับบทโดย Emma Stone) ญาติห่างๆที่กำลังตกอับของ Sarah Churchill (รับบทโดย Rachel Weisz) เดินทางมาของานทำในพระราชวังของ Queen Anne (รับบทโดย Olivia Colman) เริ่มต้นจากคนรับใช้ชั้นต่ำ ค่อยๆไต่เต้าด้วยมารยาเสน่ห์ เล่ห์เหลี่ยมอสรพิษ กลายเป็นคนรับใช้ส่วนตัว Sarah, ต่อด้วยนางสนองพระโอษฐ์ Queen Anne และที่สุดแต่งงานกับ Baron Samuel Masham (รับบทโดย Joe Alwyn) กลายเป็น Baroness Masham สุขสบายสมหวังดั่งใจ
นำแสดงโดย Sarah Caroline Olivia Colman (เกิดปี 1974) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Norwich, Norfolk ตอนเด็กวาดฝันเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ แต่ถูกแม่ผลักดันอาชีพนักแสดง เข้าเรียนที่ Bristol Old Vic Theatre School จบออกมามีผลงานโทรทัศน์ โด่งดังจากซีรีย์ Peep Show (2003–2015), สำหรับภาพยนตร์มีบ้างประปราย อาทิ Hot Fuzz (2007), Tyrannosaur (2011), The Iron Lady (2011), Hyde Park on Hudson (2012), ก่อนหน้านี้ร่วมงานผู้กำกับ Lanthimos เรื่อง The Lobster (2015)
รับบท Anne, Queen of Great Britain ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงพระครรภ์ทั้งหมด 17 ครั้ง แต่มีเหตุให้แท้ง/เสียชีวิตหมดสิ้นจนไร้ทายาทสืบสกุล แถมยังเจ็บป่วยโรคเกาต์ ทรมานแสนสาหัสอยากฆ่าตัวตายแต่ทำไม่ได้ ข้างกายมีนางสนองพระโอษฐ์สุดที่รัก Sarah Churchill แบกรับภาระหน้าที่แทนทุกอย่าง กระทั่งการมาถึงของ Abigail Masham รับฟังคำป้อยอหวานหู กระทำสิ่งที่อาจเหมาะสมกับประเทศชาติ แต่ทำให้ตนเองจมปลักความทุกข์ชั่วนิรันดร์
Colman เป็นตัวเลือกแรกเดียวของผู้กำกับ ไม่ใช่เพราะเคยร่วมงานเรื่อง The Lobster (2015) แต่คือความประทับใจจาก Hyde Park on Hudson (2012) ที่รับบท Queen Elizabeth, The Queen Mother ได้อย่างตราตรึง
การแสดงของ Colman อาจไม่โดดเด่นจัดจ้านที่สุดในสามสาว แต่ถือว่าสมควรคู่กับรางวัล Oscar: Best Actress เพราะรูปร่าง (เพิ่มน้ำหนักถึง 16 กิโลกรัม) ภาพลักษณ์ และ Charisma สามารถทำให้ผู้ชมเชื่ออย่างสนิทใจ เธอคือ Queen Anne ราชินีสาวใหญ่นิสัยราวกับเด็กน้อย ใบหน้าเบี้ยวบูดทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดรวดร้าว ทั้งภายนอกไข้เจ็บเรือนร่างกาย และจิตใจแสนสาหัสต่อการต้องจากไปของลูกๆและสุดที่รักคนสุดท้าย
สังเกต: ภาพวาดติดฝาผนังเบื้องหลัง Queen Anne แม้ดูเบลอๆไม่คมชัด แต่เห็นว่าคือหญิงสาวโป๊เปลือยอก นั่นสะท้อนตัวตนได้เป็นอย่างดี
Emily Jean ‘Emma’ Stone (เกิดปี 1988) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Scottsdale, Arizona ขึ้นเวทีการแสดงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ วาดฝันเป็นตลก ตามด้วยนักร้อง โตขึ้นสมัครงานทดสอบหน้ากล้องมากมาย ได้รับเลือกแสดงซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ Superbad (2007), เริ่มมีชื่อจาก Ghosts of Girlfriend Past (2009), ตามด้วย Zombieland (2009), Easy A (2010), The Help (2011), The Amazing Spider-Man (2012-14), Birdman (2015), คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง La La Land (2017)
รับบท Abigail Masham จากลูกคุณหนูเคยมีชีวิตสุขสบาย บิดากลับเล่นการพนันหมดตัว ตกต่ำต้อยจนไม่หลงเหลืออะไร ตั้งปณิธานกับตนเองว่าจะทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไต่เต้าหวนกลับสู่ความเป็นชนชั้นสูงในสังคม เดินทางสู่พระราชวังของานคนรับใช้จากญาติห่างๆ Sarah Churchill ใช้เล่ห์เสน่ห์มารยาเรียกร้องความสนใจจาก Queen Anne และที่สุดได้แต่งงานกับ Samuel Masham กลายเป็น Baroness Masham
ใครติดตามผลงานการแสดงของ Stone น่าจะรับรู้ถึงความ ‘Bitchy’ ได้เป็นอย่างดี เก่งกาจเรื่องปั้นแต่งสีหน้า ลีลาคำพูด เล่นละครตบตา มารยามากแผนการ เรื่อยๆมาเรียงๆแต่หวังผลข้างเคียงระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับอสรพิษร้าย และเมื่อทุกอย่างสำเร็จคลี่คลาย ก็ไม่มีอะไรต้องปกปิดบังตัวตนแท้จริงอีกต่อไป
เกร็ด: Stone เป็นนักแสดงอเมริกันคนเดียวในหนัง เลยได้โค้ชฝึกพูดสำเนียงอังกฤษ แต่จะไม่ให้หนักหนาลึกนัก เพราะจักสร้างภาระวุ่นวาย/ดึงดูดความสนใจผู้ชมมากเกินไป
แซว: Abigail เป็นตัวละครที่เน่านอก เน่าใน เน่าเสมอต้นเสมอปลายจนจบเรื่อง!
Rachel Hannah Weisz (เกิดปี 1970) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westminster, London พ่อเป็นชาว Hungarian แม่เชื้อสาย Austria ทั้งคู่อพยพหนีนาซีสู่อังกฤษช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง, ครอบครัวเลี้ยงดูแบบอิสระ อายุ 14 ได้เป็นนางแบบโมเดลลิ่งแต่ยังไม่ใคร่สนใจรับงานการแสดง เข้าเรียนวิจิตรศิลป์ Trinity Hall, Cambridge จบเกียรตินิยมอันดับสอง จากนั้นเข้าสู่วงการโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Death Machine (1994), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Mummy (1999), คว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง The Constant Gardener (2005), The Fountain (2006), The Lobster (2015), Disobedience (2017) ฯ
รับบท Sarah Churchill, Duchess of Marlborough นางสนองพระโอษฐ์คนโปรดของ Queen Anne รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก ให้ความช่วยเหลือดูแลทุกสิ่งอย่าง รวมทั้งหน้าที่บริการปกครองประเทศแทน พยายามผลักดันสามี John Churchill ให้กลายเป็นวีรบุรุษ แต่การมาถึงของ Abigail Masham แรกๆไม่ล่วงรู้ว่ายัยนี่คืออสรพิษร้าย ตระหนักได้เมื่อสาย ทุกสิ่งอย่างสร้างมาจึงค่อยๆพังทลาย แถมยังถูกขับไล่ไสออกจากวัง ผิดพลาดพลั้งครั้งนี้ถึงคราล่มจมเลยทีเดียว
เกร็ด: Sarah Churchill คือบรรพบุรุษของรัฐบุรุษ/นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร Sir Winston Leonard Spencer-Churchill (ดำรงตำแหน่ง 1940-45 และ 1951-55)
เดิมนั้นบทบาทนี้ ผู้กำกับ Lanthimos ติดต่อได้ Kate Winslet แต่ไม่รู้ทำไมถึงขอถอนตัวออกไป คนต่อมาคือ Cate Blanchett บอกปัดปฏิเสธ ก่อนมาลงเอย Rachel Weisz คิวงานว่างพอดีเลยตอบตกลง
มาดสาวแกร่งของ Weisz พบเห็นสวมใส่ชุดเหมือนชาย ช่างมาดแมนดูมีสง่าราศี แถมการวางมาด ท่วงท่าทาง ลีลาคำพูด ทะนงด้วยเกียรติ แฝงความเย่อหยิ่งจองหอง พร้อมชี้ชักนำประเทศมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง (หรือหายนะก็ไม่รู้นะ) รอยบากบนใบหน้าถือเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ผิดพลาดพลั้งรับเลี้ยงอสรพิษไว้ข้ายกาย เลยถูกแว้งกัดไม่มีทางเยียวยารักษาหาย สูญเสียทุกสิ่งอย่างเลยทำให้จิตใจอ่อนโยนลง แม้ไม่คิดยินยอมพ่ายแพ้แต่ก็มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกต่อไป
สังเกต: รูปภาพวาดด้านหลัง Sarah Churchill ไม่ใช่แค่ที่อยู่ในกรอบแต่ยังบนผืนผ้าขนาดใหญ่ สะท้อนลักษณะสองตัวตน ต่อหน้า-ลับหลัง มีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Lanthimos ค่อนข้างแปลกพิศดารสักหน่อย ก่อนหน้าถ่ายทำจะมีการซักซ้อมเตรียมตัว 3 สัปดาห์ ให้นักแสดงท่องบทขณะกำลังกระโดด กลิ้งไปมาบนพื้น มัดตัวเองกับเชือก ฯ นี่น่าจะเป็นวิธีสร้างสมาธิไม่ให้วอกแวกต่อสิ่งเร้าภายนอก และเสียเวลาครุ่นคิดค้นหาแรงจูงใจตัวละคร
กล่าวคือ Lanthimos ไม่เคยสนทนากับนักแสดงถึงสิ่งที่เป็นแรงผลักดัน เบื้องหลังที่มาที่ไปของตัวละคร แค่บอกให้พูด-เคลื่อนไหว-แสดงออก ส่วนที่เหลือไม่จำเป็นต้องรับรู้เข้าใจ เล่นออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติเท่านั้นเพียงพอ
ถ่ายภาพโดย Robbie Ryan ตากล้องสัญชาติ Irish ผลงานเด่นๆ อาทิ Fish Tank (2009), I, Daniel Blake (2016), American Honey (2016), The Meyerowitz Stories (2017) ฯ
การเลือกใช้เลนส์ไวด์ (Lens Wide) และบางครั้งตาปลา (Fisheye) ไม่เพียงเพื่อขยายขอบเขตการมองเห็นภาพ ขณะเดียวกันผู้ชมจะรู้สึกว่าด้านข้างมีความบูดบิดเบี้ยว (สะท้อนภาพลักษณ์ คำพูด การกระทำอันสุดอัปลักษณ์ของเหล่าตัวละคร) ราวกับหนังดำเนินเรื่องในโลกแห่งความวิปลาส
เช่นเดียวกันกับการถ่ายด้านข้าง มุมก้ม-เงย กล้องค่อยๆเคลื่อนไหล (ใช้ลางเลื่อนและเครน ไม่ใช่กล้อง Hand-Held) มีความผิดแผกแปลกตา แรกๆอาจไม่คุ้นเคยแต่สักพักจักเริ่มชินชา และการจัดแสงพยายามใช้จากธรรมชาติ กลางคืนเพียงเทียนไขส่องสว่าง ยุคสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันนะครับ
เครดิตของหนังจะมีการจัดเรียงตัวอักษรให้มีลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม บรรทัดละคำ สะท้อนขนบวิถีธรรมเนียมประเพณี กฎระเบียบชาววัง ราวกับถูกคุมขังไว้ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ ไม่ได้รับอิสรภาพไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี (บางครั้งดูเหมือนตั่งเตียงของพระราชินี)
ช็อตแรกปรากฎภาพด้านหลัง Queen Anne นี่เป็นการสะท้อนทุกสิ่งอย่างของหนัง เรื่องราวแก่งแย่งฉกชิงอำนาจโดยบุคคลผู้อยู่’เบื้องหลัง’ราชินีแห่งสหราชอาณาจักร
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ออกแบบโดย Sandy Powell เจ้าแม่หนัง Period อาทิ Gangs of New York (2002), The Young Victoria (2009), Carol (2015) ฯ ซึ่งปีนี้มีอีกผลงาน Mary Poppins Returns (2018) แถมได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design ทั้งสองเรื่อง!
เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งสะท้อนวิทยฐานะของตัวละคร
– Queen Anne เน้นความสง่างาม สีสว่างขาว จะมีความอลังการงานสร้างที่สุด
– Sarah Churchill จะมีสองสไตล์ เข้มแข้งเหมือนผู้ชาย (ชุดสีขาว) และสง่างามในแบบนางสนองพระโอษฐ์ (ชุดสีเข้มๆ)
– ขณะที่ชุดของ Abigail Masham จะมีวิวัฒนาการ ‘Rags-to-Rich’ จากสาวรับใช้ชั้นต่ำ ไต่เต้ากระทั่งสูงศักดิ์เลอค่า
เจ้ากระต่ายน้อย คือตัวแทนลูกๆทั้ง 17 คนของ Queen Anne ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเธอ ไม่สามารถดิ้นรนหลุดพ้นพันธการกรงขัง นำพาตนเองสู่โลกกว้างไปไกลกว่าขอบเขตพระราชวัง
การเหยียบย่ำกระต่ายน้อยด้วยรองเท้า ‘Foot Fetish’ ของ Abigail Masham สะท้อนถึงความไม่ยี่หร่าสนใจ แสร้งทำเป็นรักเพื่อไต่เต่าสู่เป้าหมาย เมื่อสมหวังดั่งใจก็พร้อมสลัดทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน สยายเขี้ยวเล็บพ่นพิษออกมา สุขสำราญกับการกดขี่ย่ำยีผู้อ่อนแอต่ำต้อยกว่า
สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือ Hatfield House ก่อสร้างตั้งแต่ปี 1497 เดิมเป็น Royal Palace of Hatfield พระราชวังที่ประทับโปรดของ Queen Elizabeth I (1533-1603, ครองราชย์ 1558-1603) แต่กษัตริย์องค์ถัดมา King James I ไม่ชื่นชอบสถานที่แห่งนี้นัก เลยมอบให้หัวหน้ารัฐมนตรี Robert Cecil ส่งต่อลูกหลาน, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองคือศูนย์บัญชาการ Civil Resettlement Unit, ปัจจุบันเป็นบ้านของ Robert Gascoyne-Cecil เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้ทั่วไป
การถ่ายทำภายในสถานที่แห่งนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างเรื่องมาก เพราะมีความเก่าแก่และเริ่มเปราะบาง ถ่ายทำกลางคืนด้วยเทียนไขต้องระมัดระวังอย่างมาก แต่เจ้าของให้ความร่วมมือกับทีมงานอย่างดีเลิศ
เป็ด เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความครึ่งๆกลางๆ มีปีกแต่บินไม่ได้นาน ว่ายบนผิวน้ำแต่ดำลึกไม่ได้ไกล การจับนำมาแข่งขันวิ่งวนเข้าเส้นชัย (เดินบนบกน่าจะเป็นสิ่งที่เป็ดถนัดสุดกระมัง) สะท้อนวังวนของชนชั้นกลาง ต่อสู้ชีวิตมีแพ้-ชนะ อันดับหนึ่งเท่านั้นถึงได้รับการจดจำ
หนังนำเสนอฉากการแข่งขันวิ่งเป็ดด้วยภาพสโลโมชั่น ต่อเนื่องจาก Sarah Churchill ยินยอมรับ Abigail Masham เข้าทำงานเป็นคนรับใช้ ตีความได้คือวังวนแห่งการต่อสู้ที่หญิงสาวต้องแข่งขันไต่เต้า ต้องการความสุขสบายต้องได้รับชัยชนะอันดับหนึ่งเท่านั้น
สามสาวในหนังต่างได้รับบาดเจ็บทุกข์ทรมานบางอย่าง และพวกเธอมีเรื่องให้ต้องอาเจียนออกมา
– Queen Anne ป่วยโรคเกาต์ ปวดขาอย่างมากจนใบหน้าบูดบิดเบี้ยว รับประทานอะไรก็ไม่ได้ต้องอ๊วกออกมา
– Sarah Churchill ถูกวางยาพิษอ๊วกแตกอ๊วกแตนตกหลังม้า ใบหน้าเกิดรอยบากบาดแผลเป็น
– Abigail Masham โดนกลั่นแกล้งจนมือเป็นแผลไม้ กลางเรื่องเอาหนังสือทุบหน้าตนเอง แสร้งทำเป็นว่าถูก Sarah กลั่นแกล้งทำร้าย แต่ช่วงท้ายเพราะดื่มไวน์มากไปเลยอ๊วกออกมาแบบทำตัวเอง
ช็อตความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของ Queen Anne ถ่ายภาพลักษณะกลับหัวกลับหาง เป็นการสะท้อนถึงช่วงขณะนี้ทุกสิ่งอย่างยังคงกลับตารปัตรจากสิ่งที่ควรเป็น
ครั้งแรกที่ Sarah ให้ความสนใจในตัว Abigail สังเกตว่าถ่ายทำภาพย้อนแสง โทนสีน้ำเงิน-ดำ ดูทะมึนเยือกเย็น เงามืดอาบฉายใบหน้าทั้งสอง ราวกับเป็นสิ่งที่เธอไม่อยากยินยอมรับความจริงนัก แต่ผลลัพท์ยาสมุนไพรทำให้ Queen Anne บรรเทาอาการดีขึ้น เป็นสิ่งต้องพูดบอกขอบใจในไมตรี
หนังมีการแบ่งฝักฝ่ายซ้าย-ขวา ผ่านสองขั้วอำนาจ Abigail-Sarah ฝ่ายค้าน-รัฐบาล หัวก้าวหน้า-อนุรักษ์นิยม ตำแหน่งที่นั่ง สีวิก ทิศทางแสงก็เฉกเช่นกัน
การดำเนินไปของสงครามอังกฤษ-ฝรั่งเศส ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบคู่ขนานระดับมหภาคของหนัง ต่อการแข่งขันฉกแย่งชิงนางสนองพระโอษฐ์คนโปรดระหว่าง Abigail-Sarah … ซึ่งผู้ชมจะไม่พบเห็นฉากการสู่รบปรบมือกันแม้แต่น้อย คอยเพียงสร้างบรรยากาศคุกรุ่นของสงคราม แม้ห่างไกลแต่ยังสัมผัสรับรู้ได้
หนังเรื่องนี้อิสตรีคือผู้มีอำนาจ ขณะที่บุรุษสวมวิกแต่งหน้า(เหมือนผู้หญิง)คือขี้ข้ารับใช้ แม้หลายๆอย่างดูกลับตารปัตรแต่ค่านิยมทางสังคมผู้ชายยังคงเป็นใหญ่, ช็อตนี้ที่ Robert Harley (รับบทโดย Nicholas Hoult) พยายามวางท่าข่มขู่ Sarah มุมกล้องเงยสูงเห็นเพดาน แต่สุดท้ายเมื่อเธอไม่ยินยอมเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้
แซว: ช็อตนี้แอบนึกถึงภาพวาดของ Marc Chagall ขึ้นมา
อาการตกตะลึงในความลับที่ Abigail พบเห็นเข้ากับตา ทำให้เธอมีแต้มต่อและโอกาสไขว่คว้า มุ่งหวังสู่เป้าหมายความสำเร็จดั่งฝันต้องการ, ฉากนี้ถ่ายทำเพียงแสงเทียนส้มอร่าม รอบข้างตัวละครมืดมิดสนิทมองไม่เห็นอะไร
หลังจาก Abigail เอาตัวรอดออกจากห้องสมุดนี้ได้ พานพบเจอกับ Robert Harley พากันเดินท่ามกลางความมืดจนสิ้นสุดแสงไฟ แล้วถูกผลักไสตกข้างทาง นั่นเปรียบได้กับจุดตกต่ำสุดของหญิงสาว กำลังครุ่นคิดวางแผนกระทำสิ่งชั่วร้ายไร้ผู้เท่าเทียม
ครึ่งแรกของหนังจะมีแทรกการแข่งขันยิงปืนระหว่าง Sarah และ Abigail นี่เป็นวิธีเปรียบเทียบคู่ขนาน(ระดับจุลภาพ)ต่อสัมพันธ์ภาพกับ Queen Anne ใครกำลังได้เปรียบเสียเปรียบ แต้มต่อถึงเท่าไหร่แล้ว?
– เริ่มแรก Abigail ยังยิงไม่ค่อยถูก เลยได้รับการสอนเชิงจาก Sarah เป้าคือชุดเกราะทหาร (ของผู้ชาย)
– พอเริ่มคล่องมือก็เปลี่ยนมายิงนก ครั้งหนึ่ง Sarah ยกปืนจ่อ Abigail เพราะตนเองขณะนั้นยังอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่า
– และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งแข่งขันกันได้อย่างสูสีเท่าเทียม แต่ Abigail มีแต้มต่อคะแนนนำ ถึงคราตนเองยกปืนส่อง Sarah บ้าง และยิงนกระยะใกล้เลือดสาดกระเซ็นเข้าใบหน้า
การมาถึงของช็อตนี้ นัยยะถึง Sarah กำลังพ่ายแพ้ศึกชิงนางสนองพระโอษฐ์คนโปรดจาก Queen Anne ถูกเลือดชั่วของ Abigail สาปส่ง งูพิษแว้งกัด ค่อยๆครุ่นคิดขึ้นได้ว่าให้โอกาสเด็กใหม่นี้มากไปจนลุ่มเหลิง แต่อะไรๆกลับสายเกินแก้ไขเสียแล้ว
หลังจาก Sarah โดนวางยาพิษ มีการตัดสลับกับกิจกรรมปาส้มใส่ชายเปลือยอย่างสโลโมชั่น ไม่รู้นี่เป็นการลงโทษทัณฑ์หรือเล่นอะไร แต่นั่นเปรียบเทียบได้กับปฏิกิริยาความรู้สึกของหญิงสาวที่กำลังประสบพบเจอเข้ากับตัว ถูกเด็กเมื่อวานซืนกระทำอนาจารให้อับอายขายขี้หน้า ตกหลังมาถูกลากไปกับพื้น
ฉากตกหลังม้าเห็นว่า Weisz เล่นเองเลย ตระเตรียมป้องกันอันตรายไว้พร้อมพรัก ขณะโดนลากจะมีแผ่นไม้รองพื้นและใช้รถลากไม่ใช่ม้า เลยสามารถถ่ายช็อต Close-Up โดยไม่ต้องใช้ CG ช่วยเหลือ
รอยบากบนใบหน้าของ Sarah ทำให้เธอต้องปกปิดตาข้างหนึ่ง เป็นเหตุให้มืดบอดต่อการกระทำถัดมา ตั้งใจจะ Blackmail พระราชินี นั่นถือเป็นการตัดสินใจผิดพลาดอย่างรุนแรง ทำให้ถูกยึดกุญแจ (ไขประตูห้องหัวใจ) ขับไล่ไสส่งออกจากพระราชวัง ครุ่นคิดสำนึกได้ก็สายเกินแก้
ก็ไม่เชิงว่าตัดสลับ แต่หลังจาก Sarah คืนกุญแจห้องบรรทมให้ Queen Anne ฉากนี้คือการสนทนาจากลาครั้งสุดท้าย
– Queen Anne อยู่ในห้องบรรทมที่มีแสงสว่างสาดส่อง รายล้อมด้วยภาพวาดประดับฝาผนังงามวิจิตร
– Sarah ติดอยู่ในห้องระหว่างทางเดิน รอบข้างมืดมิดสนิท เพียงแสงไฟเล็กๆส่องสว่างนำทาง
เมื่อ Sarah ถูกขับไล่ไสส่งจากไป ความผ่อนคลายทำให้ Abigail ค่อยๆเปิดเผยธาตุแท้ตัวตนออกมา เริ่มจากงานเลี้ยงราตรี แต่งหน้าเขียนคิ้วขอบตาทาลิปสติก กลายเป็นอสรพิษนางมารร้ายไปโดยทันที!
ช็อตสุดท้ายของหนังเป็นการซ้อนทับของสามภาพ
– ใบหน้าของ Queen Anne เงยขึ้นเชิดหน้าชูตาหันขวา ชัดเจนว่ามีความเย่อหยิ่งทะนงตนในอำนาจ เกียรติ ศักดิ์ศรี
– ตรงกันข้ามกับ Abigail ถูกสั่งให้นวดเท้าจึงต้องนั่งลงหันซ้าย พยายามอย่างยิ่งจะไม่ก้มหัว แต่แสดงสีหน้าอาการไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่
– และสุดท้ายซ้อนกับภาพกระต่ายน้อย ทำตาใสๆไร้เดียงสา
การตีความฉากนี้เปิดกว้างมากๆ อาทิ
– Queen Anne ต้องการเสี้ยมสั่งสอนให้ Abigail ล่วงรับรู้วิทยฐานะของตนเอง ก็แค่คนรับใช้ต้อยต่ำ อย่ากระแดะทำตัวเย่อหยิ่งหัวสูงกว่าตน (ล้อกับการกระทำก่อนหน้าที่ Abigail เหยียบย่ำกระต่ายน้อยน่าสงสาร)
– ทั้ง Queen Anne และ Abigail แม้จะมากด้วยอำนาจหรือเล่ห์เหลี่ยม แต่สุดท้ายไม่ต่างอะไรกับกระต่ายน้อยที่แสนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ถูกบริบทสังคมถาโถมกระทำชำเราจนชอกช้ำระกำทรวง
– หนังมีสามตัวละครหลักแต่พบเห็นเพียงสอง นั่นอาจหมายถึง Sarah เทียบแทนด้วยกระต่ายน้อย ชีวิตของพวกเธอซ้อนทับกันด้วยทิศทางแห่งอำนาจ ขึ้นสูง ตกต่ำ และเสมอตัว
ฯลฯ
ตัดต่อโดย Yorgos Mavropsaridis สัญชาติกรีก ขาประจำผู้กำกับ Lanthimos ร่วมงานกันตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก (ถึงชื่อเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นญาติอะไรกันนะ)
ดำเนินเรื่องผ่านสามตัวละครหลัก Queen Anne, Abigail Masham, Sarah Churchill พยายามอย่างยิ่งจะไกล่เกลี่ยถัวเฉลี่ยในปริมาณเทียบเท่า และแบ่งสรรออกเป็นทั้งหมด 8 องก์
– This Mud Stinks
– I Do Fear Confusion and Accidents
– What an Outfit
– A Minor Hitch
– What if I Should Fall asleep and Slip Under
– Stop Infection
– Leave That I Like It
– I Dreamt I Stabbed You in the Eye
การตั้งชื่อองก์ประหลาดๆ ก็เพื่อชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดติดตาม ใคร่อยากรู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งถือว่านั่นคือสาระใจความสำคัญของแต่ตอนเลยก็ว่าได้
สำหรับเพลงประกอบไม่มีเครดิต เพราะคัดเลือกสรรค์จากผลงานคีตกวีชื่อดังในอดีต ล้วนมีกลิ่นอาย Baroque และ Classcial สอดคล้องรับกับพื้นหลังดำเนินเรื่อง อาทิ
– Vivaldi: Viola D’Amore Concerto in A Minor, RV 397 *** เพลงแรกของหนัง
– Vivaldi: Violin Concerto in E Minor, Op. 11, No. 2, RV 277, Il Favorito
– W.F. Bach: Concerto No. 1 en Ré Majeur, Falk. 41 – Andante
– W.F. Bach: Concerto No. 5 en La Mineur, Falk. 45 – Allegro Ma Non Molto
– J.S. Bach: Fantasia in C Minor, BWV 562 *** เมื่อตอน Sarah ตกม้า
– Handel: Concerto Grosso, Op. 6, No. 7 in B – Flat Major, I. Largo
– Purcell: Trumpet Sonata in D Major, Z. 850: II. Adagio
– Purcell: Fantazia Three Parts on a Ground
– Purcell: Musick for a While
– Schubert: Sonata in B Flat D960
– Schumann: Il. In Modo D’Una Marcia. Un Poco Largamente – Agitato
– Messiaen: Jésus Accepte La Souffrance (from La Nativité du Seigneur)
– Messiaen: Les Bergers (from La Nativité du Seigneur)
– Ferrari: Didascalies
ฯลฯ
Viola D’Amore Concerto in A Minor, RV 397 ของ Antonio Lucio Vivaldi (1678 – 1741) คีตกวีเอกสัญชาติอิตาเลี่ยน แทบจะถือได้ว่าคือ Main Theme ของหนัง ได้ยินซ้ำๆหลายรอบทีเดียว แม้ด้วยสัมผัสสไตล์ Baroque ไม่สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกใดๆออกมา แต่ท่วงทำนองลีลาจังหวะอันรุกเร้าเร่งรีบ เทียบคล้ายคลึงการต่อสู้แข่งขัน มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นจักได้รับชัยชนะ
อีกบทเพลงที่อยากนำเสนอมากๆคือ Fantasia in C Minor, BWV 562 ของ Johann Sebastian Bach (1685 – 1750) ได้ยินเพียงเสี้ยววินาทีแรก หลายคนคงตระหนักได้ทันทีว่านี่คล้ายบทเพลงงานศพ ซึ่งหนังใส่มาในจังหวะที่ Sarah ดื่มน้ำชายาพิษ การันตีเลยว่าโชคชะตาต้องขาดสะบั้นแน่ๆ
ไฮไลท์ของบทเพลง มาจากการรังสรรค์ของ Johnnie Burn นักออกแบบเสียง (Sound Designer) ได้ใช้เครื่องสังเคราะห์ (Equalization) กรีดกรายเบาๆระหว่าง Queen Anne ทุกข์ทรมานจากโรคเกาท์ เสียงที่เหมือนการดีดกีตาร์/เชลโล่ สร้างสัมผัสความเจ็บปวดทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ (แต่จริงๆจังหวะของเสียง Tempo เท่ากันตลอด เป็นความรู้สึกของเราเองที่บอกว่ามันเจ็บปวดขึ้นเรื่อยๆ)
Closing Song ชื่อเพลง Skyline Pigeon (1972) แต่งโดย Elton John และ Bernie Taupin ซึ่งหนังนำฉบับ Harpsichord ซึ่งมีความเป็น Baroque เข้ากับพื้นหลังเรื่องราวได้อย่างกลมกลืน และเนื้อหาคำร้องความหมายเข้ากันมากๆด้วย
เรื่องราวของ The Favourite ประกอบด้วยสามสาระ
– การไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจของ Abigail Masham พยายามทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ศีลธรรม (ขาขึ้น)
– เผชิญหน้าความท้าทายแล้วพ่ายแพ้ จากสูงศักดิ์ค่อยๆตกต่ำของ Sarah Churchill (ขาลง)
– และ Queen Anne ราชินีผู้ใสซื่อบริสุทธิ์กำลังค่อยๆสูญเสียความไร้เดียงสา แต่ราวกับเติบโตขึ้นจนสามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วย ‘อำนาจ’ ของตนเอง (มีทั้งขึ้น-ทั้งลง)
สามตัวละคร สามสาระสำคัญ สะท้อนการมี ‘อำนาจ’ เคยได้มาสักวันต้องสูญเสีย ขาขึ้นย่อมมีขาลง แต่คงไม่มีใครสูงส่งไปกว่าประเทศชาติ กษัตริย์/ราชินี ไม่ว่าครุ่นคิดกระทำอะไรย่อมถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ
มุมหนึ่งเราสามารถเปรียบ Queen Anne คือตัวแทนแผ่นดินอังกฤษ/สหราชอาณาจักร ถูกเกมการเมืองฝั่งซ้าย-ขวา ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีครอบครองเป็นเจ้า มีอำนาจปกครองบริหารประเทศ เอาจริงๆก็ไม่มีฝั่งไหนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขึ้นกับทัศนคติผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจ สมัยก่อนคือกษัตริย์/ราชินี ปัจจุบันนี้ประชาธิปไตยของประชาชน!
สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบไดเรคชั่นหนังมากๆ คือการไม่ชี้ชักนำความคิดผู้ชม โดยเฉพาะพฤติกรรมการกระทำของ Abigail Masham มันจะผิด-ชอบ ชั่ว-ดี ใครๆคงมีวิจารณญาณตัดสินว่ากล่าวได้ด้วยตนเอง
‘ฉันพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออำนาจ’ ค่านิยมสุดโปรดของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ล้วนเพื่อสนองตัณหา-ราคะ-กิเลสส่วนตน หมกมุ่นยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ตรงหน้า หาได้สนใจใคร่มองจิตวิญญาณความเป็นคนที่หลบซ่อนอยู่ข้างหลัง สังคมที่ใครๆมีพฤติกรรมแสดงออกดังกล่าว อีกไม่กี่คราวคงได้พานพบจุดจบล่มสลาย
นัยยะของหนังสามารถตีความได้มากกว่าแค่ ‘อำนาจ’ ยังคือการเติมเต็มความฝัน แข่งขันต่อสู้เอาชนะ เกียรติศักดิ์ศรี ชนชั้นวิทยฐานะ ฯ เหล่านี้ทำให้หนังเปิดกว้างทางความคิด วิเคราะห์ต่อยอดไม่รู้จบ ไร้ขอบเขตเล็ก-ใหญ่ ใกล้-ไกล และระยะเวลาอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เรียกได้ว่าสากลครอบจักรวาล
แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนต่างคือกระต่ายน้อยไร้เดียงสา จำต้องมาพัวพันกลเกมแห่งวัฏจักรชีวิต เกิดความลุ่มหลงใหลยึดติดในสิ่งไร้ตัวตนจับต้องไม่ได้ จมปลักอยู่กับปัญหา ความเห็นแก่ตัวเบื้องหน้า อนาคตหลังความตายเป็นเรื่องของคนบ้า(ศาสนา) แต่อีกไม่นานพวกเขาย่อมตระหนักรับรู้ได้เองถึง กฎแห่งกรรม
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 2 รางวัล
– Grand Special Jury Prize
– Volpi Cup for Best Actress (Olivia Colman)
ด้วนทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาถึง 28 มีนาคม $32.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $83.8 ล้านเหรียญ ดูแล้วมีแนวโน้มถึง $100 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จใช้ได้เลย
เข้าชิง Oscar ถึง 10 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Directing
– Best Actress (Olivia Colman) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Rachel Weisz)
– Best Supporting Actress (Emma Stone)
– Best Original Screenplay
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Production Design
– Best Costume Design
ทั้งๆควรเป็นสามนักแสดงหลักเข้าชิงพร้อมกันในสาขา Best Actress แต่คือการตลาด ‘Oscar Campaign’ ที่เลือกดันเฉพาะ Olivia Colman เพราะการคว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง ถือว่ามีโอกาสลุ้นรางวัลสูงสุด ซึ่งก็ขับเคี่ยวกับ Glenn Close ได้อย่างสูสีแบบคาดคิดไม่ถึง, ขณะที่อีกสองสาว Weisz และ Stone ต่างเคยคว้า Oscar มาแล้ว เลยมิได้คาดหวังอะไรมากมาย
หลายคนอาจคิดว่าหนังถูก SNUB สาขา Best Original Score แต่อย่างที่บอกไป Soundtrack นำจากบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ หาได้คือ ‘Original’ อย่างแท้จริง! (สมัยนี้มันไม่มีสาขา Best Adaptation Score แล้วนะครับ)
ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก หลงใหลการถ่ายภาพ เสื้อผ้าหน้าผม ออกแบบฉากงามวิจิตร การแสดงของสามสาว และไดเรคชั่นผู้กำกับ Yorgos Lanthimos โปรดักชั่นสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งปีก็ว่าได้
แนะนำคอหนัง Period Drama อิงประวัติศาสตร์อังกฤษ ต้นศตวรรษที่ 18, งานภาพสวยๆ โปรดักชั่นเลิศ กลิ่นอาย Baroque & Classical, แฟนๆผู้กำกับ Yorgos Lanthimos และนักแสดง Olivia Colman, Emma Stone, Rachel Weisz และ Nicholas Hoult ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความส่อเสียดทางเพศ คำพูดล่อแหลมหยาบคาย การแก่งแย่งชิงอำนาจอย่างโหดเหี้ยมร้าย
Leave a Reply