Duck Soup

Duck Soup (1933) hollywood : Leo McCarey ♥♥♥♥

Groucho Marx ให้คำอธิบายชื่อหนังแบบจับไปกระเดียดว่า “นำเอาไก่งวงสองตัว ห่านอีกหนึ่ง กะหล่ำปลีสี่หัว แต่ไม่มีเป็ด ผสมคลุกเคล้าเข้ากัน หลังจากนั้นลิ้มชิมรสชาติ แล้วคุณจะ ‘Duck Soup’ ตลอดชั่วชีวิต” เอาจริงๆทำให้ผมนึกถึงสแลง “Once you go black, you never go back”

“Take two turkeys, one goose, four cabbages, but no duck, and mix them together. After one taste, you’ll duck soup the rest of your life”.

– Groucho Marx

คำว่า Duck Soup ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นศัพท์สแลง American English แปลว่า Something easy to do. ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ To duck something ที่แปลว่าพยายามหลีกเลี่ยง to avoid it, แต่หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ แปลสภาพกลายเป็นประมาณว่า การกระทำบ้าๆบอๆ จากเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก

ในบรรดาภาพยนตร์ของ Marx Brothers แทบจะเป็นเอกฉันท์สำหรับนักวิจารณ์ (และผมเองด้วย) Duck Soup คือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดระดับ Masterpiece ไม่เพียงตลกขบขันอย่างลุ่มลึก แต่ยังแฝงใจความต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) เสียดสีล้อเลียนบรรดาผู้นำเผด็จการ(จากยุโรป) โดยเฉพาะ Adolf Hitler เพิ่งขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแห่ง Nazi, Germany และยังพยากรณ์การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างแม่นยำ!

อดไม่ได้จะต้องเปรียบเทียบหนังกับ The Great Dictator (1940) ของ Charlie Chaplin และ To Be or Not to Be (1942) ของ Ernst Lubitsch ต่างพยายามเสียดสีล้อเลียนผู้นำเผด็จการ แต่ต้องถือว่า Duck Soup (1933) คือต้นฉบับเรื่องแรกสุด (ไล่ลำดับความชื่นชอบส่วนตัวคงเป็น To Be or Not to Be > Duck Soup > The Great Dictator)

ด้วยเหตุนี้โชคชะตากรรมของหนังเมื่อตอนออกฉาย ถูกตีตราว่า ‘bad taste’ เครียดเกินขำไม่ออก! ด้อยคุณภาพกว่าผลงานเรื่องก่อนๆหน้า แถมยังไม่ประสบความสำเร็จทำเงินเท่าไหร่ (แต่เห็นว่าก็ไม่ขาดทุนนะ) กาลเวลาเท่านั้นถึงค่อยพิสูจน์คุณค่า เหนือกว่าผลงานอื่นๆใด


Thomas Leo McCarey (1898 – 1969) ผู้กำกับ/นักเขียนสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California บิดาเป็นโปรโมเตอร์มวยชื่อดังที่สุดในโลกขณะนั้น โตขึ้นสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย University of Southern California เอาเวลาว่างไปต่อยมวย เขียนเพลง ไปๆมาๆได้งานผู้ช่วยผู้กำกับ Tod Browning ซึ่งคือเพื่อนสนิทวัยเด็ก กลายเป็นนักเขียนบทตลกในสังกัด Hal Roach Studios กระทั่งเริ่มทำหนังสั้น และเมื่อมาถึงยุคหนังพูด โดดเด่นมากในการคิดมุกตลก ‘dialect comedies’ จนกระทั่งถูก Marx Brothers ร้องขอให้กำกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

เห็นว่า McCarey ไม่ได้อยากร่วมงานกับ Marx Brothers เพราะรับรู้ความเรื่องมาก ยุ่งยาก เอาแต่ใจ ยื้อยักไม่ยอมต่อสัญญากับ Paramount จนกระทั่งได้ยินว่าสี่พี่น้องมีปัญหาขัดแย้งจนยกเลิกสัญญา แต่ที่ไหนได้กลับแค่คำลวง

“I don’t like (Duck Soup) so much…I never chose to shoot this film. The Marx Brothers absolutely wanted me to direct them in a film. I refused. Then they got angry with the studio, broke their contract and left. Believing myself secure, I accepted the renewal of my own contract with the studio. Soon, the Marx Brothers were reconciled with (Paramount)…and I found myself in the process of directing the Marx Brothers.

The most surprising thing about this film was that I succeeded in not going crazy, for I really did not want to work with them: they were completely mad.”

– Leo McCarey

ผลงานเด่นอื่นๆของ McCarey อาทิ Make Way for Tomorrow (1937) ** ว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ Tokyo Story, The Awful Truth (1937) ** คว้า Oscar: Best Director, Going My Way (1944) ** คว้า Oscar: Best Picture และ Best Director, An Affair To Remember (1957) ฯ

ความสำเร็จของ Horse Feathers (1932) แม้ทำเงินสูงสุดให้สตูดิโอ Paramount แต่ภาพรวมกลับอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย ไม่มีผลงานอื่นใดที่สามารถทำกำไร เลยต้องการเร่งรีบให้ Marx Brothers สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไปโดยไว แรกเริ่มตั้งชื่อโปรเจค Oo La La พื้นหลังคือ Mythical Kingdom และวางตัวผู้กำกับ Ernst Lubitsch

สำหรับ Marx Brothers หลังจากพบเห็นความระหองระแหงของ Paramount เกิดความหวาดวิตกว่าเงินจะไม่หล่นถึงท้อง ขู่ว่าจะยกเลิกสัญญาแล้วไปตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ของตนเอง Marx Bros., Inc. วางแผนไว้แล้วด้วยจะดัดแปลงละครเพลงรางวัล Pulitzer Prize เรื่อง Of Thee I Sing และให้ Norman McLeod เป็นผู้กำกับ

แต่ท้ายสุด Paramount ก็ยังสามารถเกลี้ยกล่อม ต่อรอง Marx Brothers ได้อีกหน (Duck Soup เป็นผลงานสุดท้ายของสี่พี่น้องกับ Paramount ก่อนจะย้ายไป MGM) ด้วยการมอบหมายให้ Arthur Sheekman, Harry Ruby, Bert Kalmar พัฒนาบทภาพยนตร์ชื่อ Firecrackers ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Cracked Ice ตามด้วย Grasshoppers (สอดคล้องกับชื่อสัตว์ตามผลงานก่อนๆหน้าของ Marx Brothers)

เกร็ด: สำหรับชื่อหนัง Duck Soup มาจากความครุ่นคิดของผู้กำกับ McCarey

เรื่องราวของมหาเศรษฐีนีหม้าย Mrs. Teasdale (รับบทโดย Margaret Dumont) ต้องการให้ Rufus T. Firefly (รับบทโดย Groucho Marx) ขึ้นเป็นผู้นำเผด็จการคนใหม่ของประเทศ Freedonia ซึ่งก็ได้ปกครองด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน Sylvanian โดยเฉพาะกับท่านทูต Trentino (รับบทโดย Louis Calhern) ที่ส่งสายลับมาสองคน Chicolini (รับบทโดย Chico Marx) และ Pinky (รับบทโดย Harpo Marx) แต่กลับพลิกแพลง ตลบแตลง ยิ่งกว่าปลาไหล นกสองหัว จนเกิดสงครามสู่รบพุ่งกันขึ้น

เกร็ด: ที่ New York มีเมืองชื่อ Fredonia ซึ่งค่อนข้างสอดพ้องกับ Freedonia (ต่างที่ e สองตัว) ยื่นจดหมายแสดงความไม่พึงพอใจที่หนังนำชื่อนี้ไปใช้ Marx Brothers ตอบว่า

“Change the name of your town, it’s hurting our picture.”


Groucho Marx รับบทผู้นำเผด็จการคนใหม่ Rufus T. Firefly เต็มไปด้วยความกะล่อน ปลิ้นปล้อน กลับกลอก พูดอย่างทำอีกอย่าง ถะเหลถะไหล ไม่ชอบขี้หน้าใครก็หาเรื่องจนเกิดความขัดแย้งบานปลาย ทุกสิ่งอย่างต้องสนองความต้องการสูงสุดตนเองเพียงผู้เดียว … ใครจะไปคิดว่าคาแรคเตอร์ของ Groucho จะเหมาะสมกับบทบาทนี้เปะๆ โดยเฉพาะสไตล์การพูดที่มีความตลบแตลง พลิกแพลง และภาพลักษณ์ไว้หนวดดกครึ้ม ผู้ชมสมัยนั้นย่อมหวนระลึกถึง Adolf Hitler ขึ้นมาโดยทันที!

เกร็ด: ก่อนหน้าที่ Groucho จะเลือกคาแรคเตอร์คิ้วหนา หนวดดก ใส่แว่นจมูกโด่ง (Grouch glasses) ลักษณะนี้ ช่วงแรกในวงการตลก เล่นเป็นชาวเยอรมัน ทำหน้าเริดเชิดหยิ่ง ยโสโอหัง แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ถูกโห่ไล่ เลยกลับตารปัตรทุกสิ่งอย่างจนกลายเป็นปัจจุบัน

“I could dance with you ‘til the cows come home. On second thought, I’d rather dance with the cows ‘til you came home”.

– Rufus T. Firefly

เกร็ด: ก่อนจะมาเป็นชื่อ Rufus T. Firefly แรกสุดเลยคือ Rufus T. Firestone


สองคู่หูสายลับ Pinky (รับบทโดย Harpo Marx) และ Chicolini (รับบทโดย Chico Marx) คนหนึ่งไม่เคยพูด อีกคนหนึ่งไม่เคยหยุดพูด สติปัญญาไม่ค่อยเต็มสักเท่าไหร่ งานได้รับมอบหมายก็ไม่เคยสำเร็จลุล่วง หลายเป็นนกสองหัว จากนั้นก็หัวสองนก สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆจน … จะเข้าข้างฝั่งฝ่ายไหนก็ช่างมันเถอะ (เหมือนการสลับหมวกเปลี่ยนหัวไปมา)

ปกติแล้วสองคู่หูจะต้องมีฉากเดี่ยว Harp และ Piano แต่เรื่องนี้เหมือนจะหาจังหวะและโอกาสไม่ได้ ถึงอย่างนั้น Harpo พบเห็นเปียโน แต่ทำท่ากำลังจะดีดพิณ คิดไปได้!

เกร็ด: ก่อนชื่อตัวละครจะมาลงเอยที่ Pinky เคยผ่าน Snoopy, Skippy, Brownie


สำหรับ Zeppo Marx ผู้อาภัพ รับบท Lt. Bob Roland ผู้ช่วยของ Rufus T. Firefly น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่มีบทรอง รักโรแมนติก เลยแทบจะไร้ตัวตน ปริมาณปรากฎตัวพอๆกับ The Cocoanuts (1929) เลยละ!

ก็ด้วยเหตุนี้ นี่จึงคือผลงานสุดท้ายของ Zeppo ร่วมกับพี่น้อง Marx Brothers เพราะตระหนักรับรู้ตนเองขึ้นได้ว่า ไม่สามารถทำตัวโดดเด่นเท่ากับพี่ๆ … จริงๆก็เพราะคาแรกเตอร์ของเขามันขาดเสน่ห์ เหมาะกับหนังรักโรแมนติก หรือรอมคอม ไม่ใช่คอมเมอร์ดี้เสียดสีล้อเลียนแบบนี้

หลังออกจากวงการ Zeppo ได้สานฝันทำงานวิศวกรดั่งใจ เปิดบริษัท Marman Products Co. of Inglewood ณ California (ก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อ Aeroquip Company) ผลิตรถมอร์เตอร์ไซด์ Marman Twin สร้างขึ้นจากเครื่องยนต์เครื่องบินขับไล่ ร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (คือนำเอาสิ่งของเหลือใช้/ทอดทิ้ง นำมาประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ)


และที่ขาดไม่ได้ ‘fifth Marx brother’ นั่นคือ Margaret Dumont รับบท Mrs. Gloria Teasdale มหาเศรษฐินีหม้าย ผู้ดูแลทรัพย์สินของ Freedonia ถือเป็นนายทุนผู้คอยชักใยบงการทุกสิ่งอย่าง แต่ก็ไม่รู้ไฉนถึงลุ่มหลงใหล Rufus T. Firefly ทั้งๆถูกล้อเลียน กลั่นแกล้งสารพัดเพ กลับยังรัก ยินยอมความให้ทุกสิ่งอย่าง

Dumot ถือเป็น ‘Comic Foil’ ขาประจำของ Marx Brothers ร่วมงานกันหลายครั้ง ด้วยน้ำเสียง ท่วงท่าทาง เต็มไปด้วยความเว่อวังอลังการ ลีลาประมาณว่าหลุดออกมาจากโลกแห่งความเพ้อฝัน พยายามชี้ชักนำทางตัวละครให้ได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายไม่มีใครตอบสนองความต้องการได้สักอย่าง … กล่าวคือบทบาทของเธอ มีบุคคลิกที่ขัดแย้งแตกต่างจาก Marx Brothers แต่สามารถย้อนแย้ง-เข้ากันได้ดีกับคุณลักษณะสี่พี่น้อง

“Remember, you’re fighting for this woman’s honor, which is probably more than she ever did”.

– Rufus T. Firefly


ถ่ายภาพโดย Henry Sharp สัญชาติอเมริกัน มีผลงานกว่าร้อยเรื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Don Q Son of Zorro (1925) ก้าวมาสู่ยุคหนังพูด Duck Soup (1933) ส่วนใหญ่จะเน้นทุนสร้างต่ำ เกรดบี

ตัดต่อโดย LeRoy Stone (ไม่ได้รับเครดิต), ดำเนินเรื่องโดยมี Marx Brothers คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว

ภาพพื้นหลังของ Opening Credit พบเห็นเป็ดสี่ตัวแหวกว่ายเวียนวนอยู่ในหม้อต้มน้ำ ถือว่าสอดคล้องกับชื่อหนัง Duck Soup และจากนี้ผู้ชมจะไม่เห็นทั้งเป็ด และซุป ปรากฏขึ้นอีกเลย! คนส่วนใหญ่อาจครุ่นคิดว่า เป็ดสี่ตัวย่อมแทนด้วยสี่พี่น้อง แต่เราสามารถตีความได้ไกลกว่านั้นอีกนะครับ!

จัดขบวนต้อนรับมาอย่างดี แต่ Rufus T. Firefly กลับลงทางลัด มายืนข้างๆแบบไม่ทันให้ใครได้สังเกตเห็น! ลักษณะดังกล่าวแฝงนัยยะถึงการขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสูงสุด ไม่ได้จากขนบวิถี พิธีรีตรอง ตามธรรมนองคลองธรรม (คือไม่ได้เดินจากด้านนอกเข้ามา) แต่ใช้วิธีข้างๆคูๆ แบบการปฏิวัติ สืบทอด ลุอำนาจ เบื้องบนสั่งมา ก็สามารถยืนอยู่ตำแหน่งสูงสุดได้เช่นกัน

ทุกพฤติกรรมการแสดงของที่ผิดแผก ผิดปกติของ Marx Brothers ล้วนแฝงนัยยะความหมายบางสิ่งอย่างไว้, อย่างเมื่อตอนที่ตัวละครของ Margaret Dumont พูดประโยค ‘โลกกำลังจับตามองดูเราอยู่ รายล้อมด้วยพันธมิตรมากมาย’ แต่ท่าทางของ Groucho กับเดินกระต่ายขาเดียว ซึ่งมีนัยยะถึงการไม่สนใจ ใครอื่นจะทำไมช่างหัวมัน ความต้องการของฉันเท่านั้นสำมะคัญสุดๆ

มีผู้นำประเทศแบบ Rufus T. Firefly ประเทศชาติมันจะขับเคลื่อนไปได้เช่นไร สุดท้ายก็เวียนวนกลับมาที่เดิม … แต่บางประเทศผมว่ามันถดถอยหลังลงคลองไปเลยนะ!

มุกเล่นกับไฟนี่ทำเอาผมสะดุ้งเลยนะ นัยยะก็ตรงๆคือ Harpo ต้องการจุดซิการ์ หาไฟแช็กไม่ได้ก็พ่นแก๊สแม้งเลย ให้เปลวเพลิงแห่งความคอรัปชั่น ลุกโชติช่วงชัชวาลย์

สำหรับ Ambassador Trentino แห่ง Sylvania (รับบทโดย Louis Calhern) คือบุคคลผู้ครุ่นคิดวางแผนอันชั่วร้าย เต็มไปด้วยลับลมคมใน ต้องการหักหลัง ก่อปฏิวัติ Rufus T. Firefly เพื่อให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด ผลกรรมแห่งการครุ่นคิดกระทำ โดนกัปดักหนู ถูกตัดหางสูท และกาวแปะก้นติดหนังสือพิมพ์ ล้วนย้อนแย้งเข้าหาตนเองทั้งหมดสิ้น

น่าจะเป็น Comedy Routine ตลกสุดของ Chico+Harpo ต่างพยายามล้อเล่น สลับสับเปลี่ยนหมวกกับ Edgar Kennedy ซึ่งสะท้อนถึงความเป็น ‘นกสองหัว’ สลับเปลี่ยนข้างไปมาอย่างไร้ความจงรักภักดี ใครมอบผลประโยชน์ให้มากกว่าก็อยู่ฝั่งฝ่ายนั้น ไม่ยินยอมตกระกำลำบากเป็นอันขาด

ตอนจบของ Routine คือการเผาหมวก สื่อความว่า ฉันไม่ได้เข้าข้างฝั่งฝ่ายไหนทั้งนั้น ซึ่งจะมีความรุนแรงขึ้นคือล้มรถเข็น และเข้าไปยืนในถังน้ำมะนาว ดีมาดีตอบ ชั่วมาชั่วตอบ ก็เท่านั้นเอง!

หมาเห่าจากรอยสักช็อตนี้ เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์ผู้ชมอย่างมาก จากรูปภาพนามธรรมกลายเป็นสิ่งเคลื่อนไหวจับต้องได้ ซึ่งบ้านที่ตัวละครของ Harpo เปิดโชว์นี้ อยู่บริเวณหน้าอกตรงกับหัวใจ สุนัขเฝ้าบ้านจึงสามารถตีความได้สองอย่าง 1) ปกป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้ามารบกวน 2) ตัวตนแท้จริงของเขาก็คือเจ้าตัวนี้นะแหละ

Mirror Scene คือฉากที่กลายเป็นตำนาน ทรงอิทธิพล ลือเล่าขาน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเต็มในการถ่ายทำ ครุ่นคิดโดยผู้กำกับ McCarey ได้แรงบันดาลใจจากการแสดงของ Mime, ใครกันคือ Rufus T. Firefly ที่แท้จริง?

เพื่อที่จะเอาตัวรอดในสังคมเผด็จการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องลอกเลียนแบบ คล้อยทำตามคำสั่งเจ้านาย/ผู้นำประเทศ เพื่อให้ตนเองสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ถูกจับผิด ติดคุก ล่าแม่มด หรือหลบหนีออกนอกประเทศ! … แต่ก็ใช่ว่าใครๆจะสามารถลอกเลียนแบบได้ทุกสิ่งอย่าง

ตบมุกของซีนนี้ คือการโผล่มาของ Rufus T. Firefly อีกคนหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุดของการคัทลอกเลียนแบบ

ทั้งๆกำลังพิพากษาตัดสิน Chicolini ว่ามีความผิดฐานเป็นสายลับ แต่เมื่อเรื่องใหญ่กว่าอย่างสงครามบังเกิดขึ้น ก็ไม่มีอะไรในโลกที่สำคัญ สำเริงสำราญใจยิ่งกว่า

ฉากนี้คือสุดตรีนเลยละ! แทนที่การประกาศสงครามจะนำมาซึ่งความเดือดเนื้อ หนักอก ร้อนใจ แต่บรรดาผู้นำ/ขุนนาง/ชนชั้นปกครองทั้งหลาย กลับกระโดดโลดเต้น สนุกสนาน สำเริงราญ เฮฮาปาร์ตี้ ไม่ใคร่แคร์ว่าสิ่งร้ายๆกำลังบังเกิดขึ้นประการใด

ระหว่างที่ Harpo ได้รับมอบหมายให้ไปป่าวประกาศ สงครามเริ่มต้นแล้ว หนังใช้การมี Sex แทนด้วยจุดสูงสุดของความสำเริงราญ … แต่ข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น วิธีที่หนังเบี่ยงเบนคือการเคลื่อนภาพรองเท้า 1 คู่ 2 คู่ และเกือกม้า 4 ข้าง ตัดมาภาพนี้ ทั้งคนทั้งม้านอนอยู่บนเตียง

ม้า คือสัตว์แห่งความคึกคะนอง อารมณ์เร่าร้อนรุนแรงระหว่างการมี Sex แต่ก็สามารถตีความได้ถึงการลักร่วมเพศกับสัตว์ ซึ่งถือว่าอัปลักษณ์ ผิดมนุษย์มนา … ประกาศสงครามแล้วเริงร่า ก็เฉกเช่นกัน!

ระหว่างสงคราม กระสุนปืนใหญ่ทะลุข้ามกำแพงด้านหนึ่งไประเบิดอีกด้านหนึ่ง ทำให้ Rufus T. Firefly หยิบปืนขึ้นมา แทนที่จะกราดยิงศัตรูกลับพวกเดียวกันเอง … นี่เป็นการเสียดสีล้อเลียนที่ตรงเผง สงครามไม่ใช่แค่การเข่นฆ่าทำลายล้างศัตรู แต่คือการลดปริมาณประชากรเพื่อให้เพียงพอต่อทรัพยากรที่มีจำกัด

แซว: ว่าไปฉากนี้ชวนให้ระลึกนึกถึง Dr. Strangelove (1964) อยู่เล็กๆนะครับ พฤติกรรมของ Rufus T. Firefly แทบไม่ต่างอะไรกับ Brigadier General Jack D. Ripper (รับบทโดย Sterling Hayden)

เกมหาตัวตายตัวแทนก็เช่นกัน ประเด็นคือ Chico เล่นถึงสามครั้งครา พอนับโดนตนเองก็อ้างโมฆะ จับได้ Harpo ไม่สามารถส่งเสียงเรียกร้องเรียนใดๆ เลยกลายเป็นแพะผู้โชคร้าย ถูกขังในห้องเก็บระเบิด เฝ้ารอวันเวลา ความตาย (รอดมาได้ยังไงเนี่ย!)

ความช่วยเหลือกำลังมาถึง ร้อยเรียงภาพฟุตเทจการเดินเท้าของ
– รถดับเพลิงออกจากสถานี
– ตำรวจกำลังพึ่งมอเตอร์ไซด์
– ขบวนวิ่งมาราธอน
– นักแข่งว่ายน้ำ
– ฝูงลิงเดินข้ามสะพาน
– ฝูงช้างกรูเข้ามา
– โลมากระโดดเล่นน้ำ
ฯลฯ

เป็นการร้อยเรียงฟุตเทจการเดินทางที่เจ๋งเป้ง คลาสสิกมากๆ เรียกเสียงหัวเราะขบขัน ด้วยเทคนิคเกิดจากภาษาภาพยนตร์ได้อย่างงดงามที่สุด (ในบรรดาภาพยนตร์ของ Marx Brothers)

ชัยชนะในสงครามเป็นสิ่ง ‘Futile’ ที่ไร้ค่าสาระประโยชน์ อาจได้ยินผิดเพี้ยนเป็นผลไม้ (Fruit) แต่ชาวโรมันสมัยก่อนก็มีประเพณี ผู้ชนะจักถูกขว้างด้วย…

ซึ่งบุคคลที่ถูกขว้าง คนแรกคือ Ambassador Trentino ต้นชวนเหตุขัดแย้งแห่งสงคราม และคนสอง Mrs. Gloria Teasdale ผู้อยู่เบื้องหลัง คอยชักใยให้ Rufus T. Firefly กลายเป็นผู้นำสูงสุดแห่ง Freedonia (สองคนนี้ถือว่า สมควรถูกขว้างที่สุดแล้วในหนังนะครับ)

สำหรับเพลงประกอบ ส่วนใหญ่จะนำจาก Archive Music แต่ก็มี Original Song แต่งโดย Bert Kalmar และ Harry Ruby จำนวน 4-5 บทเพลง
– Freedonia Hymn และ Sylvania Hymn
– His Excellency Is Due ขับร้องโดย Zeppo Marx, Margaret Dumont และวงคอรัส
– These Are the Laws of My Administration ขับร้องโดย Groucho Marx, Margaret Dumont และวงคอรัส
– The Country’s Going to War ขับร้องโดย Marx Brothers (ทั้งสี่คน) และวงคอรัส (ถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียว ครั้งสุดท้ายที่สี่พี่น้อง ร่วมร้องเล่นเต้น ประกอบเพลงๆเดียวในภาพยนตร์)

Freedonia National Anthem เป็นบทเพลงที่ได้ยินซ้ำบ่อยๆในหนัง มีทั้งบรรเลงและขับร้อง ล้อมาจากบทเพลง John Philip Sousa: The Stars and Stripes Forever (1896) ทำนองยังมีส่วนผสมจาก Daniel Decatur Emmett: (I Wish I Was in) Dixie’s Land (1860) และเพลงพื้นบ้าน The Sailor’s Hornpipe

ขณะที่สามพี่น้องสนุกสนานเต็มอารมณ์กับบทเพลง The Country’s Going to War ลองสังเกต Zeppo ทำหน้าทำตา ‘ฉันกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย’ แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า นั่นคือคาแรกเตอร์ของเขา ซึ่งคงจะเป็นวิธีแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการสงคราม เลยเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่อยากเข้าพวกใคร

สำหรับบทเพลงคุ้นหูอื่นๆ อาทิ
– Frédéric Chopin: Military Polonaise in C minor, Op. 40, No. 2 (1838)
– Gioachino Rossini: William Tell Overture (1829)
– Milton Ager: Ain’t She Sweet (1927)
– Good Night, Sweetheart (1930) แต่งโดย Ray Noble, Jimmy Campbell, Reginald Connelly
– Richard A. Whiting: One Hour with You (1932)
– F.W. Meacham: American Patrol (1885)
– Franz von Suppé: Light Cavalry Overture (1866)
– Stephen Foster: Oh! Susanna (1848)
– Victor Herbert: Sylvania Hymn (1933)
– เพลงพื้นบ้าน The Old Grey Mare
– Who’s Afraid of the Big Bad Wolf (1933) แต่งโดย Frank Churchill,Ted Sears


เป็ดสี่ตัวในหม้อเมื่อตอน Opening Credit ไม่ใช่แค่สื่อถึงสี่พี่น้อง Marx Brothers เราสามารถมองว่านั่นคือผู้ชม ประชาชน ที่กำลังโดนต้มตุ๋นเสียเปื่อยจากรัฐบาล ผู้นำเผด็จการ บริหารประเทศด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเอง เรื่องแบบนี้สมควรยินยอมรับได้ที่ไหน!

Duck Soup นำเสนอโคตรพฤติกรรม/สันดานผู้นำเผด็จการ ตัวเขาเองก็แค่หิ่งห้อยกระเปียก แต่ทำตัวสว่างไสว เจิดจรัสจร้า ราวกับพระอาทิตย์ส่องแสงทั่วผืนพสุธา กลบดาวดาราอื่นๆบนฟากฟ้า มองไม่เห็นสิ่งมีคุณค่าอื่นใดยิ่งใหญ่กว่าตนเอง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เรียกได้ว่าช่วงแห่งการผลัดเปลี่ยนมุมมองทางการเมือง “ประชาธิปไตย vs. เผด็จการ” ประเทศมหาอำนาจออกแสวงหาพันธมิตร ใครครุ่นคิดต่างก็ใช้กำลังรุนแรงเข้าควบคุม ครอบงำ จากจุดเล็กๆแห่งความเป็นแก่ตัว บานปลายขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นมหาสงครามแห่งมวลมนุษยชาติ

“You’re a brave man. Go and break through the lines. And remember, while you’re out there risking your life and limb through shot and shell, we’ll be in be in here thinking what a sucker you are”.

– Rufus T. Firefly

สงคราม มันก็แค่ ‘เกม’ การเมืองของผู้นำ/ประเทศมหาอำนาจ ด้วยข้ออ้างหรูๆ ยึดถือมั่นในความถูกต้อง มนุษยธรรม อ้างประชาธิปไตย-เผด็จการ  แต่แท้จริงแล้วล้วนเป็นเรื่องผลประโยชน์ การต่อรอง นำเอาของเก่าๆไปใช้ให้หมดสิ้น จักได้เริ่มต้นครุ่นคิดอะไรใหม่ๆ ลดปริมาณประชากรที่กำลังมากล้น และท้าแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่งครองโลก!

จุดประสงค์ของการเสียดสีล้อเลียนการเมืองนี้ ก็เพื่อจะต่อต้านระบอบเผด็จการ เป้าหมายชัดเจนคือหลากหลายประเทศในยุโรป กำลังค่อยๆถูกแนวคิดสังคมนิยมกลืนกิน … มองย้อนกลับมาที่สหรัฐอเมริกา แม้จะคนละทวีปซีกโลก แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีภาพยนตร์ลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ เพื่อปกป้องกัน ไม่ให้ประเทศชาติถูกควบคุม ครอบงำ สูญเสียอำนาจประชาธิปไตยไปจากมือ

หนึ่งในแนวคิดที่มองยุคสมัยปัจจุบันอาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่ ‘เผด็จการมักคือผู้ก่อสงคราม’ มันคือการมองโลกด้านเดียวแบบเห็นแก่ตัวเกินไปหน่อย เป็นไปไม่ได้หรืออย่างไรประเทศประชาธิปไตยจะริเริ่มต้นสงคราม … สหรัฐอเมริกานี่ตัวดีเลยนะ สงครามอิรัก เร็วๆนี้ก็สงครามการค้ากับจีน ใครกันแน่คือผู้ร้ายแท้จริง?


เมื่อตอนออกฉาย เพราะสตูดิโอ Paramount ทำการเปรียบเทียบรายได้กับ Horse Feathers (1932) เลยบอกว่า Flop ค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่แท้จริงนั้นคือทำเงินสูงสุดอันดับ 6 แห่งปี ถือว่าสูงมากๆอยู่ดี!

เหตุผลที่หนังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จากความเห็นของนักวิจารณ์สมัยนั้น
– ช่วงเวลาดังกล่าวคาบเกี่ยวยุคสมัย Great Depression ผู้ชมมองประเด็นการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ไม่ตลกขบขัน ไร้ความบันเทิงรมณ์
– “Take the comedy, leave the story.” แม้มุกตลบจะขบขัน แต่เรื่องราวไร้เนื้อหาสาระ ไม่มีอะไรให้น่าลุ้นระทึกติดตาม ขาดพล็อตรองที่สร้างสีสันชวนให้ฝันใฝ่
– เทียบกับผลงานก่อนหน้าของ Marx Brothers พบเห็นการรีไซเคิล นำกลับมาใช้ หาความสดใหม่ไม่ได้สักเท่าไหร่
– และหนังถูกแบนห้ามฉายในหลายๆประเทศเผด็จการขณะนั้น อาทิ Nazi Germany, Fascist Italy ฯ

แซว: เมื่อ Marx Brothers ได้ยินว่า Benito Mussolini แบนหนังไม่ให้ฉายในอิตาลี พวกเขามีความ ‘Ecstatic’ ปลื้มปีติยินดีอย่างล้นหลาม … ยังไงกัน?

แต่กาลเวลาได้พิสูจน์คุณภาพหนัง นักวิจารณ์ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘ภาพยนตร์ตลกยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล’ แถมยังมีความโดดเด่น ลงตัวกว่าผลงานเรื่องอื่นๆของ Marx Brothers

“Although they were not taken as seriously, they were as surrealist as Dali, as shocking as Stravinsky, as verbally outrageous as Gertrude Stein, as alienated as Kafka”.

– นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert

ในบรรดาภาพยนตร์ของ Marx Brothers ถึงผมจะยังรับชมไม่ทั้งหมด แต่ก็รู้สึกว่า Duck Soup มีความกลมกล่อมลงตัวที่สุดแล้ว  แม้ในส่วนเนื้อเรื่องราวจะเป็นรอง A Night at the Opera (1935) แต่เสียงหัวเราะ ความขบขัน ลุ่มลึก ตราตรึงกว่ามาก

จัดเรต 13+ กับการเสียดสีล้อเลียน ความไร้สาระเรื่องราว และพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของผู้นำเผด็จการ

คำโปรย | รสชาดของ Duck Soup อาจไม่ถูกปากทุกคน แต่เมื่อได้ลิ้มลองเพียงครั้งเดียว น้อยนักจะสามารถหลบหลีกหนี Marx Brothers ได้อีกต่อไป
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: